ทั้งนี้ โครงการสานพลังประชารัฐเป็นนโยบายของรัฐบาล

เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยมุ่งเน้นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม (E6) มียุทธศาสตร์หลัก 5 โครงการเร่งด่วน ประกอบด้วย 1. การจ้างงานผู้พิการ 2. การจ้างงานผู้สูงอายุ 3. การส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณอายุ 4. ที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่อาศัย และ 5. ความปลอดภัยบนท้องถนน

“ยางพารา” เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีช่วงการเปิดกรีดนาน 25-30 ปี ซึ่งแต่ละปี จะมีค่าใช้จ่ายสำหรับบำรุงรักษาต้นยางค่อนข้างมาก ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา เจ้าของสวนยางพาราส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย มักประสบปัญหาขาดแคลนเงินทุน เพราะมีรายได้จากการขายยางน้อยลง สวนทางกับปัจจัยการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรบำรุงรักษาต้นยางได้ไม่เต็มที่

องค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬและจังหวัดบึงกาฬ ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักจัดงานวันยางพาราบึงกาฬ 2562 ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้เชิญ คุณประสงค์ หลวงทำเม ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี มาเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “ทำได้จริง ลดต้นทุนในสวนยาง ด้วยปุ๋ยอินทรีย์” บนเวทีเสวนาปราชญ์ชาวบ้าน เมื่อวันอังคารที่ 18 ธันวาคม 2561

ลดต้นทุนในสวนยางด้วย “ปุ๋ยอินทรีย์”

คุณประสงค์ หลวงทำเม ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี ได้แนะนำให้เกษตรกรชาวบึงกาฬลดต้นทุนในสวนยาง ด้วยปุ๋ยอินทรีย์ “สูตรวิศวกรรมแม่โจ้ 1” ของ ผศ. ธีระพงษ์ สว่างปัญญางกูร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้

การผลิตปุ๋ยอินทรีย์สูตรนี้ ใช้เศษพืชกับมูลสัตว์เพียง 2 อย่าง เท่านั้น เป็นการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ไม่ต้องพลิกกลับกอง เกษตรกรจะสามารถผลิตได้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดีปริมาณมาก ครั้งละ 10 – 100 ตัน ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้มีค่าตามมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร พ.ศ. 2551 เสร็จภายในเวลาเพียง 60 วัน โดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งปัญหาเรื่องกลิ่นและน้ำเสีย

ขั้นตอนการผลิตใช้เพียงฟางข้าว เศษข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 4 ส่วน วางเป็นชั้นบางๆ สูงไม่เกิน 10 เซนติเมตร ฐานกว้าง 2.5 เมตร โดยไม่ต้องเหยียบ โปรยทับด้วยมูลสัตว์ 1 ส่วน แล้วรดน้ำทำแบบนี้เป็นชั้นบางๆ 15-17 ชั้น รดน้ำแต่ละชั้นให้มีความชื้น กองปุ๋ยเป็นรูปสามเหลี่ยม สูงประมาณ 1.50 เมตร เพื่อให้จุลินทรีย์ที่มีอยู่ในมูลสัตว์ได้ใช้ธาตุคาร์บอนและธาตุไนโตรเจน เจริญเติบโตและย่อยสลายวัตถุดิบได้อย่างรวดเร็ว

การกองปุ๋ยวิธีนี้จะมีความร้อนจัดใน 5 วันแรก จะสังเกตเห็นไอร้อนลอยออกมาจากกองปุ๋ยเลยทีเดียว ส่งผลให้อากาศเย็นกว่าที่อยู่ด้านนอกไหลเวียนเข้าไปแทนที่ จุลินทรีย์ในกองปุ๋ยจึงได้รับออกซิเจนไว้ใช้ในกิจกรรมการย่อยสลายโดยไม่ต้องพลิกกลับกองเลย

ภายในเวลา 2 เดือน เกษตรกรต้องคอยดูแลน้ำอย่างประณีต โดยรดน้ำวันละครั้ง ในปริมาณที่ไม่ทำให้น้ำไหลนองออกมามากเกินไป และทุก 10 วัน ต้องเอาไม้เจาะกองปุ๋ยถึงพื้นดิน กรอกน้ำลงไปในปริมาณพอเหมาะ ที่ทำให้ภายในกองปุ๋ยชื้นพอดีๆ ไม่มีน้ำไหลนองออกมามาก เสร็จแล้วปิดรู เจาะรวม 5 ครั้ง พอครบสองเดือน กองปุ๋ยก็จะยุบเหลือแค่ 1 เมตร ถือว่าสิ้นสุดกระบวนการหมักปุ๋ย โดยไม่ต้องพลิกกองเลย ปล่อยให้กองปุ๋ยแห้งก่อน จึงค่อยนำไปปุ๋ยอินทรีย์ไปใช้งานหรือเก็บใส่กระสอบ การผลิตปุ๋ยวิธีนี้สามารถเก็บปุ๋ย ไว้ในร่มได้นาน 3-4 ปี

ข้อห้ามสำคัญในการผลิตปุ๋ยสูตรนี้คือ ห้ามขึ้นเหยียบกองปุ๋ยให้แน่น หรือเอาผ้าคลุมกองปุ๋ย เพราะจะทำให้อากาศไม่ถ่ายเท คอยดูแลให้กองปุ๋ยมีความชื้นตามคำแนะนำ หากปล่อยให้กองปุ๋ยแห้งเกินไปจะทำให้ปุ๋ยอินทรีย์มีคุณภาพต่ำ ห้ามระบายความร้อนออกจากกองปุ๋ยเพราะความร้อนสูงในกองปุ๋ยจะทำให้เชื้อจุลินทรีย์ทำงานได้ดีมากขึ้น และเกิดการไหลเวียนของอากาศผ่านกองปุ๋ยอีกด้วย

คุณประสงค์ แนะนำให้ตั้งกองหมักปุ๋ยอินทรีย์ ระหว่างแถวต้นยาง เพราะสะดวกในการกระจายปุ๋ยหลังทำเสร็จแล้ว ผลการศึกษาพบว่า ต้นยางที่อยู่ใกล้บริเวณกองปุ๋ยหมักอินทรีย์จะ มีใบเขียวมัน แสดงว่า ความร้อนจากกองปุ๋ยไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการเติบโตของต้นยาง ปุ๋ยอินทรีย์สูตรนี้มีราคาต้นทุนการผลิตต่ำ เพียงแค่ 5-7 บาท ต่อกิโลกรัม เท่านั้น ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลสวนยางพาราได้อย่างดี

สำหรับต้นยางที่เปิดกรีดแล้ว มักมีปัญหาเรื่องโรคเส้นดำหรือโรคที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปทอร่า คุณประสงค์แนะนำให้แก้ปัญหาโดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า โดยนำเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าที่เพาะเลี้ยงเชื้อแล้วในข้าวเจ้า จำนวน 1 ถุง (250 กรัม) มาผสมน้ำ 5 ลิตร ทิ้งไว้ 10 นาที กรองเอาเศษข้าวออก แล้วผสมน้ำให้ได้ 20 ลิตร นำไปฉีดพ่นบริเวณหน้ายางที่เปิดกรีดแล้วจะสามารถควบคุมการเกิดโรคเส้นดำในหน้ายางได้

หรือนำเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า จำนวน 1 ถุง (250 กรัม) มาผสมน้ำ 1 ลิตร แล้วนำมาป้ายหน้ายางโดยใช้พู่กันก็สามารถควบคุมโรคดังกล่าวได้ ช่วยเกษตรกรประหยัดค่าใช้จ่ายในดูแลสวนยางพารา โดยไม่ต้องพึ่งสารเคมีราคาแพง และช่วยให้ต้นยางพารามีผลผลิตที่ดีขึ้นอีกต่างหาก

ปลูกข้าวอินทรีย์ ให้ได้ผลผลิตสูง

ในวันเดียวกันนี้ คณะผู้จัดงานวันยางพาราบึงกาฬ 2562 ได้เชิญ คุณชัชวาล ท้าวมะลิ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำนา ประจำปี 2561 มาเป็นวิทยากรให้ความรู้ ในหัวข้อ “ทำนาข้าว รายได้ดี ด้วยระบบอินทรีย์”

กลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ ตำบลเชียงเพ็ง ภายใต้การนำของ คุณชัชวาล ท้าวมะลิ นับเป็นกลุ่มชาวนาต้นแบบที่มีความเข้มแข็งแห่งหนึ่ง ของจังหวัดอุดรธานี เพราะมีสมาชิกมากถึง 200 ราย มีเนื้อที่ปลูกข้าวรวมกัน 3,170 ไร่ พวกเขาแบ่งปันความรู้เรื่องการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ โดยร่วมกันผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว วางแผนการปลูก การเก็บเกี่ยว และพัฒนาตลาดร่วมกันอย่างเป็นระบบ จนได้สินค้าข้าวของพวกเขาผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

กลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ ตำบลเชียงเพ็ง สามารถควบคุมต้นทุนการผลิตให้ลดลงจากเดิม 3,650 บาทต่อไร่ เหลือแค่ 2,683 บาท ต่อไร่ พร้อมเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้มากขึ้นจากเดิม 500 กิโลกรัม ต่อไร่ เป็น 600 กิโลกรัม ต่อไร่ การขายข้าวเปลือกเสี่ยงต่อการถูกพ่อค้ากดราคารับซื้อ พวกเขาจึงนำข้าวเปลือกมาแปรรูปเป็นข้าวสาร ขายในชื่อการค้า “ข้าวทุ่งทอง” และปลูกพืชอายุสั้น เช่น ถั่วลิสง พืชผัก เพื่อเป็นรายได้เสริมหลังนา

ปัจจุบัน คุณชัชวาลย์ ได้เปิดบ้านเป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) บ้านโนนทอง ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี มีเกษตรกรและประชาชนผู้สนใจจากทั่วประเทศแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมกิจการอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

กว่าคุณชัชวาลย์จะประสบความสำเร็จได้อย่างทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะอาชีพทำนาเป็นงานหนักและเหนื่อย เขาขยันทำงานด้วยความอดทน เพื่อสร้างฐานะ ส่งลูก 2 คน เรียนจนจบปริญญาตรี

คุณชัชวาล ย้อนอดีตให้ฟังว่า เขาเคยตัดสินใจผิดพลาด คิดว่า ทำนาไม่รวย สู้ไปขายแรงงานที่ประเทศญี่ปุ่นดีกว่า ปรากฏว่า ถูกโกง เสียเงินฟรี ไม่ได้ไปทำงานญี่ปุ่น แถมต้องขายที่นาใช้หนี้ 2 แสน ท้ายสุดต้องไปกู้เงิน ธ.ก.ส. มาซื้อที่นาคืนมา ต่อมาเขามีโอกาสเข้าอบรมเรื่องเกษตรแนวใหม่ ตามหลักปรัชญาเกษตรพอเพียง ที่ศูนย์ศึกษาพัฒนาภูพาน จังหวัดสกลนคร จึงหันมาทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ปลูกข้าวระบบเกษตรอินทรีย์ ปลูกปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน ทำปุ๋ยหมัก เชื้อโตรโคเดอร์ม่าขึ้นใช้เอง ทำให้สภาพดินดีขึ้น ลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น

จากเดิมที่เคยข้าวเปลือก ก็หันมาขายข้าวสารและแปรรูปข้าวฮางเป็นเครื่องดื่มชนิดผง เจาะกลุ่มคนรักสุขภาพ ทำให้มีรายได้มากขึ้น สามารถซื้อที่ดินทำกินเพิ่มอีก 10 ไร่ ผู้สนใจสามารถแวะเยี่ยมชมกิจการ ศพก. บ้านโนนทอง ของ คุณชัชวาลย์ ท้าวมะลิ ได้ที่บ้านเลขที่ 102 หมู่ที่ 7 ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี โทรศัพท์ (086) 221-4393

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศในช่วง วันที่ 19-24 ธันวาคม 2561 โดยระบุว่า บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีฝนบางแห่ง แต่ยังคงมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังปานกลาง
ภาคเหนือ อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ โดยอุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส กับมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-14 องศาเซลเซียส

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ โดยอุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส กับมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 17-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-15 องศาเซลเซียส

ภาคกลาง อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ โดยอุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส กับมีฝนเล็กน้อยบางแห่งอุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-34 องศาเซลเซียส ส่วน กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส

ภาคตะวันออก อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ โดยอุณหภูมิสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส กับมีฝนเล็กน้อยบางแห่งอุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนอง 40-60% ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) มีฝนฟ้าคะนอง 30-40% ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส

ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คิดค้นผลิตภัณฑ์ยารักษาอาการภูมิแพ้-หอบหืดจาก “ไพล” สมุนไพรดั้งเดิมของประเทศไทย ด้าน“องค์การเภสัชกรรม”ให้ทุนสนับสนุนกว่า 10 ล้านบาท มุ่งหวังให้คนไทยใช้ยาคุณภาพดีราคาถูกได้ ภายใน 2 ปี

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับ องค์การเภสัชกรรม เพื่อต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมยาสมุนไพรชนิดแคปซูลที่ได้จาก “ไพล” ซึ่งมีสรรพคุณรักษาอาการโรคภูมิแพ้และหอบหืด

ศาสตราจารย์ พญ. อรพรรณ โพชนุกูล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืด และโรคระบบหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยว่า นวัตกรรมยาสมุนไพรจาก ไพลเกิดขึ้นจากการพบผู้ป่วยโรคภูมิแพ้และหอบหืดในประเทศไทยจำนวนมาก แต่ยาที่มีประสิทธิภาพกลับต้องนำเข้าจากต่างประเทศในราคาแพง ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงริเริ่มนำจุดเด่นของสมุนไพรไทยมาผลิต เพื่อให้คนไทยเข้าถึงยาในราคาถูกลง และพบว่า ไพลซึ่งมีแหล่งปลูกในไทยเพียงประเทศเดียว มีคุณสมบัติลดอาการภูมิแพ้ได้ดี จึงคิดค้นร่วมกับนักวิจัยจากหลายสถาบันและโรงพยาบาล อาทิ โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และโรงพยาบาลวชิระ รวมระยะเวลาการพัฒนายาสมุนไพรชนิดนี้ถึง 12 ปี

“การลงนาม MOU ระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองค์การเภสัชกรรมครั้งนี้ เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตยาสมุนไพรจากไพลให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น โดยองค์การเภสัชกรรมมอบทุนสนับสนุนต่อยอดงานวิจัยจำนวนมากกว่า 10 ล้านบาท เพื่อดำเนิน 4 โครงการ ให้ครบสมบูรณ์ นำไปสู่การผลิตตัวยาที่คิดค้นโดยคนไทย เพื่อคนไทย รวมถึงคนทั่วโลก ได้ใช้ยาคุณภาพดี ราคาถูก จากสมุนไพรที่ทุกคนยอมรับ”

ศาสตราจารย์ พญ. อรพรรณ กล่าวอีกว่า ขณะนี้งานวิจัยยาสมุนไพรจากไพล ได้ก้าวเข้าสู่ระยะที่ 3 แล้ว โดยมีการทดลองในคนไข้กลุ่มใหญ่ ประมาณ 400-500 คน เพื่อสร้างความมั่นใจและนำไปสู่การขึ้นทะเบียนกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต่อไป ซึ่งจากการทดสอบในเบื้องต้นได้ผลดีมากสามารถลดอาการภูมิแพ้ทั้งอาการคัดจมูก ไอ จาม คันตา ผื่นแพ้ผิวหนัง และหอบหืด

ด้าน นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการพัฒนาพืชสมุนไพรไทยให้เป็นพืชเศรษฐกิจ สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์สมุนไพร องค์การเภสัชกรรมจึงได้กำหนดให้มียุทธศาสตร์ด้านสมุนไพร เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐโดยมุ่งเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สารสกัดสมุนไพรที่มีการควบคุมคุณภาพตามมาตรฐานสากล

มีผลการศึกษาวิจัยทางพรีคลินิกและทางคลินิกรองรับเพื่อยืนยันประสิทธิผลและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สมุนไพร สามารถมีข้อมูลขึ้นทะเบียนเป็นยาพัฒนาจากสมุนไพรแผนปัจจุบัน อีกทั้งยกระดับผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้เป็นที่ยอมรับของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป โดยองค์การเภสัชกรรมมีการพัฒนาและเตรียมความพร้อมตลอดเวลา ทั้งในด้านบุคลากร เทคโนโลยีการสกัดสารสำคัญจากสมุนไพร การควบคุมคุณภาพ ตลอดจนโรงงานผลิตยาได้การรับรองมาตรฐาน PIC/S GMP

องค์การเภสัชกรรมจะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตยาแคปซูลสารสกัดไพลในการรักษาโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และโรคหอบหืด จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจะขยายกำลังการผลิตสู่ระดับกึ่งอุตสาหกรรมภายใต้มาตรฐานการผลิตที่ดี (GMP) เพื่อนำไปใช้ในการศึกษาทางคลินิก โดยองค์การเภสัชกรรมพร้อมที่จะให้การสนับสนุนทุนการศึกษาวิจัยทางคลินิกแบบสหสถาบันให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และความร่วมมือในครั้งนี้จะสามารถพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยของ
มหาวิทยาลัยให้สามารถขึ้นทะเบียนเป็นยาพัฒนาจากสมุนไพรแผนปัจจุบัน และผลิตจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของแพทย์และประชาชนทั่วไปในการรักษาโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และในอนาคตจะศึกษาวิจัยทางคลินิกเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคหอบหืดต่อไป

“การร่วมมือทางการวิจัยและพัฒนาในครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายมุ่งหวังที่จะก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายและยกระดับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยของประเทศให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยมีข้อมูลทางวิชาการรองรับทั้งในด้านคุณภาพ ประสิทธิผลและความปลอดภัย ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศที่มีราคาสูงและประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยาให้กับประเทศ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติต่อไป” ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าว

ปัจจุบัน การคิดค้นผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรที่ได้จากไพล มีการจดสิทธิบัตรยาเรียบร้อยแล้ว นับเป็นยาตัวแรกและตัวเดียวที่ใช้สมุนไพรเป็นตัวยาหลักไม่ใช่ตัวยาผสม โดยเชื่อว่าอีกไม่เกิน 2 ปี จะสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ และส่งออกไปต่างประเทศในอนาคต

โครงการฝึกทักษะ Marine Shrimp สร้างรายได้ให้นักศึกษา เป็นการสร้างทักษะการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่มีการลงมือปฏิบัติจริง เจอสถานการณ์จริง สามารถนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาตามศาสตร์ต่างๆ มาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น มีทักษะในการเลี้ยงกุ้งทะเล เพิ่มพูนประสบการณ์ในการทำงานเพื่อเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพในอนาคต นักศึกษารู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตกุ้งที่เลี้ยงไว้ เป็นรายได้พิเศษระหว่างเรียน ทั้งนี้ นักศึกษามีการพัฒนาในด้านความคิด มีความตรงต่อเวลา ทำงานเป็นทีม และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

จากการจัดทำโครงการในครั้งนี้ ผศ.สิทธิโชค จันทร์ย่อง อาจารย์ที่ปรึกษาการจัดโครงการ กล่าวว่า ผลที่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ นักศึกษามีทักษะต่างๆ เพิ่มขึ้น ทั้งในการเลี้ยงกุ้งและด้านอื่นๆ เป็นการบูรณาการรายวิชาอื่นๆ เข้ามาใช้ด้วย เช่น วิชาแพลงก์ตอน วิชาสมุทรศาสตร์เคมี วิชาคุณภาพน้ำ
วิชาสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง มีการทำงานร่วมกันเป็นทีมได้อย่างดี มีการพัฒนาในด้านความรับผิดชอบมากขึ้น นักศึกษาสามารถทำงานทดแทนกันได้ ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เป็นแนวทางในการประกอบอาชีพได้ในอนาคต ตลอดทั้งได้เพิ่มพูนประสบการณ์ในการทำงานและมีรายได้จากการจำหน่ายกุ้งขาว Litopenaeus vannamai

นอกจากนี้ นักศึกษาได้ทำการเลี้ยงกุ้งเป็นระยะเวลา 61 วัน ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2561 – วันที่ 7 มีนาคม 2561 ในวันจับจำหน่าย กุ้งมีขนาดเฉลี่ย 62 ตัว/กิโลกรัม ใช้ปริมาณอาหารทั้งหมด 1,106.5 กิโลกรัม ผลผลิตกุ้งที่ได้จำนวน 1,160 กิโลกรัม คิดอัตราการแลกเนื้อ (FCR) ได้ = 0.97 ตลอดระยะเวลาการเลี้ยงกุ้ง ไม่มีการใช้ยาอื่น (ใช้คลอรีนฆ่าเชื้อในขั้นตอนของการเตรียมบ่อ) ใช้เพียงแร่ธาตุเสริมใส่ลงในน้ำและใช้นมสดกับแร่ธาตุรวม (ซี-มินเนอร์) ผสมอาหารให้กุ้งกินทุกมื้อ

นางสาวฉัตรจิตรา ทองภิรมย์ นักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง กล่าวว่า “ความรู้สึกที่ได้จัดโครงการเลี้ยงกุ้ง มีความรู้สึกดีมากเลยคะที่ได้จัดโครงการนี้ขึ้นมา เพราะเป็นประสบการณ์ครั้งแรกคะ ที่ได้ไปสัมผัสการทำงานแบบจริงๆ และได้สัมผัสในสิ่งที่ไม่ได้ทำมาก่อน เช่น การเตรียมบ่อ การปรับสีน้ำ การปล่อยกุ้ง การสุ่มนับลูกกุ้ง มันเป็นอะไรที่ดีมาก มีความสุขมากที่ได้เลี้ยงกุ้ง ได้เห็นเพื่อนมีความสามัคคีกันตลอดการทำงาน และมีอาจารย์ให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงกุ้ง และการแก้ไขปัญหาภายในบ่อ และให้คำปรึกษาตลอดการทำงาน ในอนาคตอยากให้มีการจัดโครงการนี้ต่อ เพราะสิ่งที่ได้ปฏิบัติทั้งหมดสามารถนำเอาไปประกอบอาชีพได้ และจะเป็นความรู้ติดตัวไปตลอด”

นายวรรณเฉลิม หลานช่วย นักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเล – ชีววิทยาทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง เป็นหัวหน้ากลุ่มในการจัดโครงการ กล่าวว่า “โครงการส่งเสริมให้นักศึกษามีรายได้ระหว่างเรียน (marine shrimp) ให้ได้มากกว่าคำว่าวิชาการแต่ได้ลงมือทำ และสามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพได้ในอนาคต สำหรับผู้ที่สนใจสามารถนำไปพัฒนาและต่อยอดได้

นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้สามารถนำไปพัฒนาและต่อยอดธุรกิจของตนเอง มีความรู้และเทคนิคใหม่ๆ รู้ถึงการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด สามารถควบคุมการทำงานให้เป็นระบบ ตรงต่อเวลา และมีความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น อยากให้มีโครงการส่งเสริมให้นักศึกษามีรายได้ระหว่างเรียน (marine shrimp) ต่อไปเรื่อยๆ และหากเป็นไปได้อยากให้มีโครงการดังกล่าวในปีการศึกษาถัดไป ขอบคุณอาจารย์และบุคลากร สาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง”

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.สิทธิโชค จันทร์ย่อง อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการฝึกทักษะ Marine Shrimp สร้างรายได้ให้นักศึกษา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง โทรศัพท์ 089-651-0266

วันนี้ขอนำเยี่ยมชมป่ากับชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข นายธนิต พันธ์หินกอง นายอำเภอสุวรรณภูมิ นำคณะเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติเพื่อการเสริมสร้างสุขภาวะตามแนวพุทธศาสนาป่าชุมชนดงทำเลดอนใหญ่ 1,200ไร่ บ้านหนองบั่ว หมู่ 5 ตำบลช้างเผือก อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด สนับสนุนโดยสำนักงานเจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด สถาบันวิจัยพุทธศาสน์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จังหวัดร้อยเอ็ด ศูนย์ประสานงานปฏิบัติการที่ 4 กองอำนวยการรักษา (ศปป.4กอ.รมน.) ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักงานจังหวัดร้อยเอ็ด องค์การบริหารส่วนตำบลช้างเผือก ประชาชนชาวบ้านหนองบั่ว ทุกๆ คน ป่าชุมชนที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในพื้นที่รอยต่อทุ่งกุลาร้องไห้

เป็นไปตามคำสั่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดแต่งตั้งอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ 2243/2560 ลงนามโดย นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผวจ.ร้อยเอ็ด ในขณะนั้น มีปลัดจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธาน รอง ผอ.กอ.รมน.จว.ร้อยเอ็ด (ทหาร) นายล้วน โสดก นายปองพล คงมั่น นายกองแก้ว สามพัน นายดวงจันทร์ พาลำโกน สั่ง ณ วันที่ 27 กรกฎาคม 2560 มีอำนาจทุกประการที่กำหนดไว้ ในการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าแห่งชาติ ที่ 2/2559 ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2559 ประชาชนคิดและลงมือทำป่าผืนเดียวแห่งท้องทุ่งกุลาร้องไห้ 1,200 ไร่ ยังคงเหลือและอุดมสมบูรณ์ที่สุด ประชาชนอยู่กับป่าอย่างมีความสุข

นายคำเพียร จอมคำสิงห์ กำนันตำบลช้างเผือก กล่าวว่า เป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ ที่สุดในบริเวณนี้ มีสัตว์ป่า นก หนู ไก่ป่า สุนัขจิ้งจอก งู สัตว์อื่นมากมาย ป่าแห่งนี้มี ต้นพยุง จำนวน 1,775 ต้น ตีตราขึ้นทะเบียนทุกต้น และต้นเล็กต้นน้อยนับหมื่นต้น ตั้งแต่เส้นผ่าศูนย์กลาง 50-120 เซนติเมตร มูลค่าประเมินมิได้ ที่นี้มีศูนย์กลางการบัญชาการ เวรยามป้อมยามล้อมรอบป่า แต่มีคนพยายามลักลอบตัดโค่นไม้พยุงหลายครั้ง เวรยามป้องกันไว้ได้