ทางกลุ่มฯ มีการบูรณาการทํางานเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ

อย่างเป็นระบบ เพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆมาปรับใช้และถ่ายทอดให้สมาชิก ทำงานเชื่อมโยงกับกลุ่มเกษตรกรอื่นๆ ประสานงานแลกเปลี่ยนความรู้และผลิตภัณฑ์ระหว่างกลุ่ม เช่น การแลกเปลี่ยนสินค้า แลกเปลี่ยนจุลินทรีย์ป้องกันและกําจัดโรคพืชกับปุ๋ยอินทรีย์

ขณะเดียวกัน สมาชิกกลุ่มฯ ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้และถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นและประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีการทดลองกระบวนการและรูปแบบการปลูกข้าวอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี ควบคู่กับการลดต้นทุนและทํากําไรได้มากที่สุด

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพันธุ์ข้าวไทย เน้นสร้างความเข้มแข็งทางด้านการตลาด โดยมองความต้องการของตลาดก่อนการเพาะปลูก ว่าตลาดต้องการข้าวชนิดใด แล้วทําตามเพื่อให้ขายข้าวได้ราคาสูง ทางกลุ่มฯ จะแนะนํากึ่งบังคับให้สมาชิกทําตามความต้องการของตลาด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงแนวคิดดังกล่าวส่งผลให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาที่สูง

ศูนย์ปราชญ์เกษตรช้างใหญ่ ส่งเสริมการทำนาแบบชีวภาพ

ศูนย์ปราชญ์เกษตรช้างใหญ่ เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการปลูกข้าว แบบไร่นาสวนผสม สำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่ทำนาไม่มาก 5-20 ไร่ โดยแนะนำให้เกษตรกรปรับปรุงผิวนามาทำเกษตรผสมผสาน หรือไร่นาสวนผสม ตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยแบ่งการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่ามากที่สุด

ภายในศูนย์ฯ ประกอบด้วย บ้านพักอาศัย ทำนา ปลูกพืชผักไม้ผลและสระน้ำ 5 บ่อ สำหรับเพาะปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี มีฟาร์มเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ที่นี่ยังเป็นศูนย์ข้าวชุมชน เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในการปลูกข้าวให้แก่ชาวนาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและชาวนาจากทั่วประเทศ

ลุงประมาณ สว่างจิต เกษตรกรปราดเปรื่อง เจ้าของศูนย์ปราชญ์เกษตรช้างใหญ่ ที่มีอาชีพทำนามาตลอดทั้งชีวิต กล่าวว่า การทำนาไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมาก เพราะข้าวไม่ใช่พืชน้ำ แค่ปลูกในผืนดินที่ชุ่มชื้น ต้นข้าวก็เจริญเติบโตได้งอกงามและให้ผลผลิตที่ดี ข้าวที่ได้น้ำน้อย จะมีลำต้นแข็งแรงกว่า คุณภาพแป้งสูง ให้ผลผลิตต่อไร่ดีกว่าต้นข้าวที่ได้น้ำเยอะ การปลูกข้าวที่ใช้น้ำน้อย ลดต้นทุนการผลิตได้เยอะ

เกษตรกรที่แวะเข้าชมกิจการศูนย์ปราชญ์เกษตรช้างใหญ่ จะได้เรียนรู้เรื่องการทำนาแบบชีวภาพ การคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะกับพื้นที่ การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อจำหน่าย การสาธิตวิธีการทำนาแบบต่างๆ การทำนาแบบหว่านเมล็ด การทำนาแบบใช้คนปักดำ การทำนาแบบใช้เครื่อจักรดำนา การทำนาแบบโยนกล้า

ศูนย์ปราชญ์เกษตรช้างใหญ่ ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนเพื่อให้สมาชิกได้ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ป้องกันปัญหาข้าวดีด ข้าวปน ทั้งยังช่วยเพิ่มรายได้กับสมาชิกที่ทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ นอกจากนี้ ทางศูนย์ยังจัดอบรมการเพาะเชื้อราบิวเวอเรีย เชื้อรากำจัดแมลง สนับสนุนการใช้เชื้อราบิวเวอเรีย กำจัดแมลงซึ่งได้ผลดีกว่าสารกำจัดแมลงแบบเคมี การใช้เชื้อราบิวเวอเรียไม่มีสารตกค้างใดๆ แถมมีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการใช้สารเคมีเสียอีก

ทางศูนย์ส่งเสริมให้สมาชิกใช้น้ำหมักชีวภาพทั้ง ปุ๋ยหมักชีวภาพ น้ำหมักป้องกันแมลง น้ำหมักเพื่อย่อยสลายตอซังแก้ปัญหาข้าวดีด ข้าวเด้ง โดยรวมกลุ่มกันทำน้ำหมักชีวภาพใช้แทนปุ๋ย เพื่อช่วยลดต้นทุนการทำนา และเป็นการเพิ่มจุลินทรีย์ให้กับดิน

ภายในศูนย์ฯ สาธิตการเลี้ยงไก่ไข่ เพื่อลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว แรงงาน 1 คน สามารถเลี้ยงไก่ได้ถึง 300 ตัว โดยใช้เวลาให้น้ำและอาหารเฉพาะช่วงเช้าและช่วงเย็น โดยไม่รบกวนการทำงานตามปกติ ไก่ที่เลี้ยงจะให้ผลผลิตประมาณ 270 ฟอง ต่อวัน เพื่อบริโภคในครัวเรือนและแบ่งขายชาวบ้านในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด เพื่อให้คนในชุมชนได้บริโภคไข่ไก่ที่สดและราคาถูก

ภายในศูนย์มีบ่อเลี้ยงกบและปลาที่ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ประมง อำเภอบางไทร โดยศูนย์มีบ่อเลี้ยงปลา 4 บ่อ เลี้ยงปลา 4 สายพันธุ์ คือ ปลาสวาย ปลานิล ปลาตะเพียน และปลายี่สก ด้านบนมีกระชังเลี้ยงกบ การขุดบ่อเลี้ยงปลายังมีประโยชน์อีกอย่างคือ เก็บกักน้ำสำหรับใช้ในช่วงหน้าแล้ง

ทางกลุ่มฯ สนับสนุนให้สมาชิกเรียนรู้การทำน้ำยาซักล้างประเภทต่างๆ เป็นอาชีพเสริม เช่น น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน สบู่เหลว แชมพูสระผม ช่วยลดรายจ่ายของสมาชิก โดยทางศูนย์จัดฝึกอบรมวิธีการทำและจัดเตรียมวัตถุดิบจำหน่ายสมาชิกในราคาต้นทุนอีกด้วย

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับสมาคมกล้วยไม้แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอเชิญ ผู้สนใจเข้าชมและส่งกล้วยไม้ต้นเข้าร่วมประกวดในงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2562 ในวันอาทิตย์ ที่ 27 มกราคม 2562 ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

สำหรับกล้วยไม้ต้นที่ส่งเข้าประกวดแบ่งตามสกุลเป็นหลัก รวม 9 ประเภท ได้แก่ แวนด้า คัทลียา หวาย ช้าง รองเท้านารี ฟาแลนนอปซิส ออนซีเดียม เป็นต้น

ผู้สนใจสามารถส่งกล้วยไม้ต้นเข้าประกวดได้ในวันที่ 27 มกราคม 2562 เวลา 09.00-12.00 น. ตัดสินการประกวดเวลา 13.30-16.00 น. ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ผศ. กนกวรรณ ถนอมจิตร โทรศัพท์ (081) 861-9694 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติม

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ ชมรมผู้พัฒนาไม้ประดับ 2000 ขอเชิญผู้สนใจเข้าชมและส่ง ไม้ประดับเข้าประกวด ในงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2562 วันเสาร์ที่ 26 มกราคม 2562 ณ บริเวณหน้าอาคารจอดรถงามวงศ์วาน 1 และ 2 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยมีการประกวดดังนี้

แก้วกาญจนา 9 ประเภท อาทิ แก้วกาญจนาเลื้อย (กอ) แก้วกาญจนาลูกผสมโคชิน ใบสีชมพู/แดง (เดี่ยว) แก้วกาญจนาลูกผสมโพธิสัตว์/โพธิ์น้ำเงิน ใบสีชมพู/แดง (กอ) เป็นต้น

ดราซีน่า 12 ประเภท อาทิ จันทน์หอม-จันทน์แดงใต้ ในภาชนะขนาด 12 นิ้ว จันทน์ผา-จันทน์แดงอีสาน-เลือดมังกร ในภาชนะขนาด 15 นิ้ว จันทน์หอมจีน กลุ่มพญามังกรแคระ พญามังกร ที่มีต้นหรือใบแปลก เป็นต้น

แอนธูเรี่ยม (หน้าวัวใบ) 6 ประเภท อาทิ แอนธูเรี่ยมใบด่างเขียวกับขาว-เหลือง ในภาชนะขนาดไม่เกิน 11 นิ้ว แอนธูเรี่ยมใบด่างเขียวกับกลุ่มสีชมพู-ส้ม-แดง ในภาชนะขนาดไม่เกิน 8 นิ้ว แอนธูเรี่ยมใบด่างสีเหลืองทั้งใบ ไม่จำกัดขนาดภาชนะ เป็นต้น

ผู้สนใจสามารถส่งไม้ประดับเข้าประกวดวันที่ 26 มกราคม 2562 เวลา 09.00-12.00 น. ณ บริเวณหน้าอาคารจอดรถงามวงศ์วาน 1 และ 2 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ อาจารย์ทัศไนย จารุวัฒนพันธ์ โทรศัพท์ (086) 393-5688

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การส่งออกข้าวโพดหวานและผลิตภัณฑ์ ช่วง 11 เดือน ของปี 2561 มีปริมาณ 236,775.6 ตัน เพิ่มขึ้น 6.7% มูลค่า 7,329.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% โดยเป็นการส่งออกไปญี่ปุ่นมากเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นสัดส่วน 26.5% ของมูลค่าการส่งออก รองลงมา ได้แก่ เกาหลีใต้ 10.2% และไต้หวัน 10.1% จึงทำให้การส่งออกทั้งปี 2561 สูงกว่าปี 2560 ที่ส่งออกรวม 237,559.6 ตัน เพิ่มขึ้น 3.5% แต่คิดเป็นเงินบาทได้มูลค่า 7,664.9 ล้านบาท และ ลดลง 0.6% ผลจากค่าเงินบาทแข็ง

“ผลจากการส่งออกข้าวโพดหวานและผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไทยครองแชมป์ส่งออกอันดับ 1 ของโลก ตลอดต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยประเทศคู่แข่งสำคัญ คือ ฝรั่งเศส ฮังการี และสหรัฐฯ แต่ก็สู้ไทยไม่ได้ เพราะไทยมีศักยภาพในการผลิตข้าวโพดหวานคุณภาพ รสชาติดีกว่า มีการพัฒนาสายพันธุ์ จนเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก อีกทั้งมีข้อได้เปรียบเรื่องสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการปลูกข้าวโพดหวาน ส่งผลให้มีความได้เปรียบช่วงเวลาการเพาะปลูกที่สามารถปลูกได้หลายครั้งในหนึ่งปี ขณะที่ประเทศคู่แข่งสามารถปลูกได้เพียงปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น” นายอดุลย์ กล่าว

นายอดุลย์ กล่าวว่า ส่วนประเทศคู่แข่งในเอเชีย เช่น เวียดนาม และจีน ซึ่งมีสภาพภูมิอากาศคล้ายไทยและมีการผลิตข้าวโพดหวานเพื่อส่งออกได้บ้าง แต่คุณภาพไม่ได้มาตรฐานตามความต้องการของตลาดโลก ทำให้ข้าวโพดหวานของไทยยังคงเป็นที่ต้องการและเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก โดยตลาดส่งออกหลักของไทยมีทั้งกลุ่มประเทศในเอเชีย ตะวันออกกลาง และรัสเซีย ซึ่งตลาดเอเชียจะได้เปรียบเรื่องต้นทุนการขนส่งถูกกว่า แต่ตลาดตะวันออกกลาง และรัสเซีย เป็นตลาดที่มีศักยภาพด้านกำลังซื้อสูง

นายอดุลย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้ไทยจะประสบปัญหาอุปสรรคในการส่งออกข้าวโพดหวานไปยังสหภาพยุโรปจากการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping Duty : AD) ตั้งแต่ปี 2550 จนปัจจุบันถูกเรียกเก็บอากร AD ในอัตรา 3.1-14.3% ก็ไม่กระทบต่อการส่งออกของไทย โดยไทยยังสามารถส่งออกข้าวโพดหวานไปยังสหภาพยุโรปได้ต่อเนื่อง เพียงปริมาณไม่มาก โดย 11 เดือนแรก ปี 2561 ไทยส่งออกข้าวโพดหวานและผลิตภัณฑ์ไปสหภาพยุโรปมูลค่า 634.4 ล้านบาท คิดเป็น 9.5% ของการส่งออกไปทั่วโลก โดยส่งออกไปสหราชอาณาจักรมากเป็นอันดับหนึ่ง สัดส่วน 3.8% รองลงมาคือ สวีเดน 1.7% และเยอรมนี 1.2%

“ตอนนี้สหภาพยุโรป จะไม่ใช่ตลาดส่งออกหลัก แต่สหภาพยุโรปก็เป็นหนึ่งตลาดที่สำคัญและมีศักยภาพของไทย หากในอนาคตสหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) อาจทำให้ไทยสามารถส่งออกไปยังสหราชอาณาจักรได้มากขึ้น เนื่องจากไม่ถูกเรียกเก็บอากร AD ซึ่งกรมฯ กำลังติดตามเรื่องนี้เพื่อส่งเสริมการส่งออกต่อไป” นายอดุลย์ กล่าว

ในระยะนี้จะมีสภาพอากาศแห้งแล้ง กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองเฝ้าระวังการระบาดของหนอนม้วนใบและหนอนกระทู้ผัก สามารถพบได้ในระยะที่ต้นถั่วเหลืองอายุประมาณ 1 เดือน เกษตรกรควรสังเกตหนอนม้วนใบ มักพบหนอนที่ฟักออกจากไข่ใหม่ๆ อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ชักใยบางๆ คลุมตัวไว้แล้วกัดกินผิวใบ เมื่อหนอนโตขึ้นจะกระจายกันออกไปทั่วทั้งแปลง เพื่อสร้างใยยึดใบพืชจากขอบใบของใบเดียวเข้าหากัน หรือชักใยดึงเอาใบมากกว่า 2 ใบมาห่อรวมเข้าหากัน และอาศัยกัดกินอยู่ในใบที่ห่อม้วนนั้นจนหมด จึงเคลื่อนย้ายเข้าไปทำลายใบอื่นต่อไป

สำหรับในระยะก่อนออกดอกถึงระยะฝักยังเขียวอยู่ หากพบใบถูกทำลาย 30% หรือในระยะหลังดอกบาน 4 สัปดาห์ กรณีพบใบถูกทำลาย 60% ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร

นอกจากนี้ เกษตรกรควรติดตามเฝ้าระวังการระบาดของหนอนกระทู้ผัก จะพบหนอนเข้าทำลายตั้งแต่ต้นถั่วเหลืองเจริญเติบโตทางลำต้นและใบจนถึงระยะออกดอกและติดฝัก โดยหนอนที่ฟักออกมาจากไข่ใหม่ๆ จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มกัดแทะผิวใบด้านล่าง ทำให้เหลือแต่เส้นใบ เมื่อผิวใบแห้งจะมองเห็นเป็นสีขาว หากหนอนโตขึ้น หนอนจะกัดกินเข้าไปจากขอบใบ และจะแยกกลุ่มออกไปกัดกินใบทั่วทั้งแปลง

หากพบการระบาด ให้เกษตรกรพ่นด้วยเชื้อไวรัสของหนอนกระทู้ผัก อัตรา 50 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่น 1-2 ครั้ง กรณีใบถูกทำลาย 30% ให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลงแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคลอร์ฟลูอาซูรอน 5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร

เป็นปัญหาใหญ่ของคนกรุง เมื่อฟ้าปิด ลมไม่ไหวติง ทำให้ปริมาณของฝุ่นในยุคที่กำลังก่อร่างสร้างเมือง ทั้งอาคารที่พักอาศัยที่ผุดกันเป็นดอกเห็ดรายวันตามย่านเส้นทางรถไฟฟ้าพาดผ่านและกำลังจะผ่าน โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสารพัดสี ยังไม่นับฝุ่นควันจากไอเสียและโรงงานอุตสาหกรรมอีกมากมายที่ทวีขึ้นอย่างหนาแน่น โดยเฉพาะฝุ่นขนาดจิ๋ว เพียง 2.5 ไมครอน ที่สามารถเล็ดลอดการดักจับของขนจมูกเดินทางทะลุทะลวงเข้าสู่กระแสเลือด

หันมาดูค่ามลภาวะในอากาศของกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร พบว่า ดัชนีมลภาวะ กทม. ไต่อันดับขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว จากอันดับ 74 ในปี 2558 มาปี 2561 อยู่ที่อันดับ 71 มาถึงปีนี้เดือนมกราคมทะยานสูงไปถึงอันดับที่ 9

โดยปกติถ้าเป็นฝุ่นขนาดใหญ่จะตกลงสู่พื้น แต่ถ้าเล็ก ขนาด 10 ไมครอน (พีเอ็ม 10) ลงไป โดยเฉพาะเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (พีเอ็ม 2.5) จะลอยไปลอยมาอยู่ในอากาศนาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพไม่เพียงกับระบบทางเดินหายใจ ยังรวมไปถึงความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ไปถึงหลอดเลือดสมองทั้งในระยะเฉียบพลันและระยะยาว

ฉะนั้น กรณีที่ต้องเดินทางออกนอกบ้าน การสวมหน้ากาก เอ็น 95 เป็นสิ่งจำเป็น หรือถ้ายังหาซื้อไม่ได้ หน้ากากอนามัยชนิดธรรมดาแต่ซ้อน 2 ชั้น หรือชั้นเดียวแต่ซ้อนด้วยทิชชูอีก 2 แผ่น ช่วยได้มาก ส่วนคนที่อยู่ในบ้าน ถ้าบ้านไม่ได้อยู่ริมถนน การปิด-เปิดประตู/หน้าต่าง ต้องดูช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่น ช่วงพีคที่พีเอ็ม 2.5 หนาแน่นสุดส่วนมากจะเป็นช่วงเช้าๆ หรือเย็นๆ ฉะนั้น ผู้ที่นิยมเดินหรือวิ่งออกกำลังกายควรงดไปก่อน

ส่วนบ้านที่อยู่ริมถนนในเขตพื้นที่สีแดง จะถือโอกาสนี้ปิดบ้านไปพักร้อนชายทะเล หรือต่างจังหวัดสักพักก็ดี หรือไปอาศัยบ้านญาติก็ได้ แต่ถ้าทำไม่ได้ นอกจากปิดประตูปิดหน้าต่าง ถ้ามีเครื่องฟอกอากาศจะช่วยได้มาก แต่ต้องเป็นเครื่องฟอกอากาศที่มีฟิลเตอร์ดักจับฝุ่นขนาดเล็กจึงจะเป็นประโยชน์ เพราะไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศ ถ้าสเป๊กเครื่องไม่ได้แจ้งว่าสามารถดักจับฝุ่นขนาดเล็กจิ๋วได้ก็ไม่ช่วยอะไร

ที่สำคัญคือ การสวมหน้ากาก เอ็น 95 ตลอดเวลาไม่ใช่สิ่งดี!

ศ.ดร. นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สรุปให้ฟังในงานแถลงข่าว “มาตรการการดูแลสุขภาพและการจัดการที่ประชาชนสามารถดำเนินการได้เกี่ยวกับฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5” ที่มหาวิทยาลัยมหิดล

โดยความร่วมมือกันของ 5 คณะ คือคณะแพทยศาสตร์ อายุรศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ และว่า

ยิ่งถ้าคิดว่าการสวมเอ็น 95 แล้วจะปลอดจากฝุ่นจิ๋ว จึงคาดปิดปากจมูกตลอดเวลารวมถึงเวลานอน หรือสวมวิ่งออกกำลังกายตามปกติ อาจถึงกับเสียชีวิตได้ เพราะการสวมหน้ากาก เอ็น 95 ทำให้ต้องหายใจแรงขึ้น ผลคือ ถ้าสวมนานเข้าจะทำให้รู้สึกเหนื่อย ระบบการหายใจต้องทำงานหนักขึ้น

ความที่สภาวะอากาศเช่นนี้ที่จะวนกลับมาทุกปีในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม อยู่ที่ว่าจะสามารถกระจายตัวไปได้อย่างรวดเร็วแค่ไหน วิธีการหนึ่งที่จะช่วยควบคุมคุณภาพอากาศให้เหมาะสม คือการปลูกต้นไม้เพื่อดักจับฝุ่นละอองในอากาศ ซึ่งเป็นการลงทุนน้อยแต่ได้ผลในระยะยาว

มีผลการวิจัยถึงประสิทธิภาพในการดูดซับฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ของต้นไม้ในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะไม้พุ่มและไม้ใบกว้าง จากการติดตามตัวเลขในสหรัฐ โดย U.S. Forest Service และสถาบัน Davey พบว่า ต้นไม้ในเมืองสามารถลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ 1 คน ต่อปี ซึ่งตัวเลขที่ได้จากมหานครนิวยอร์กสูงถึง 8 คน ต่อปี โดยปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ที่ถูกดูดซับโดยต้นไม้อยู่ในช่วง 4.7 เมตริกตัน ต่อปี ในเมืองซีราคิวส์ จนถึง 64.5 เมตริกตัน ต่อปี ในเมืองแอตแลนต้า

รศ.ดร. กัมปนาท ภักดีกุล คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายให้ฟังว่า ทุกวันนี้ในชีวิตประจำวันของเราได้รับผลกระทบจากการพัฒนาค่อนข้างมาก พื้นที่ในเมืองมีการก่อสร้างมีการรุกล้ำเข้ามามากมาย สิ่งที่ลดน้อยไปมากคือ พื้นที่สีเขียว ซึ่งจะช่วยปกป้องความรุนแรงจากสภาวะแวดล้อมที่ผิดแผก โดยเฉพาะฝุ่นที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ ในรายงานสรุปการทำวิจัยของคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า พืชทุกชนิดสามารถดักจับฝุ่นละอองได้ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ผิวใบและสิ่งปกคลุม โดยงานวิจัยในหลายๆ ประเทศ พบว่า ต้นไม้ใหญ่ในเมืองโดยทั่วไปสามารถดักจับฝุ่นละอองที่มีขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน ได้ประมาณ 100 กรัม เช่น ต้นไม้ใหญ่ในกรุงปักกิ่งสามารถดักจับฝุ่นละอองได้ประมาณ 300 กรัม ต่อปี ต้นไม้ที่โตเต็มที่ในประเทศเนเธอร์แลนด์สามารถดักจับฝุ่นละอองได้ถึง 1.4 กิโลกรัม ซึ่งปริมาณการดักจับฝุ่นจะเพิ่มขึ้นตามความเข้มข้นของฝุ่นละอองด้วย

“ปกติพื้นที่สีเขียว 1.5 ไร่ รองรับ 1,000 คน ปัจจุบัน พื้นที่สีเขียวของเราลดน้อยลงไปมาก ปัจจัยที่จะช่วยปกป้องเราก็ลดน้อยลงไปด้วย เราจึงต้องใช้พืชพรรณต่างๆ เข้ามาช่วย จากการศึกษาเราพบว่า พืชแต่ละชนิดมีคุณสมบัติบรรเทาฝุ่นที่จะเข้าสู่ร่างกายได้ในระดับหนึ่ง เราอาจจะต้องสร้างพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น ทั้งในแนวตั้งและแนวดิ่ง อาจจะสร้างในรูปแบบของกรีนรูฟ ใครที่อยู่คอนโดมิเนียม อาจจะต้องใช้พืชกระถางที่เป็นไม้พุ่ม โดยเฉพาะพืชที่มีผิวใบที่มีขน ที่มีความสามารถในการดักจับฝุ่นละออง”

ไม้เลื้อย ไม้พุ่ม ไม้ยืนต้น
เครื่องกรองอากาศสีเขียวใกล้ตัว

ทางด้าน ผศ.ดร. ธรรมรัตน์ พุทธไทย ซึ่งทำวิจัยร่วมการใช้พืชพรรณเพื่อการดักจับฝุ่นละอองในอากาศ กล่าวเสริมว่าต้นไม้เป็นสิ่งกำบัง ดักจับมลพิษทางอากาศที่ดี ในต่างประเทศเราพบว่า มีการศึกษาทั้งในจีนและยุโรปหลายประเทศ

จากการศึกษาพบว่า พืชแต่ละชนิดสามารถดักจับฝุ่นได้อย่างน้อย 10-90% ขึ้นกับชนิดของพืช ไทยเรามีพรรณพืชมากกว่า 10,000 ชนิด แต่เราหยิบมาใช้น้อยมาก

“ผมอยากให้คนไทยสร้างพื้นที่สีเขียว ไม่ว่าจะเป็นไม้กระถาง ไม้เลื้อย สวนแนวตั้ง ซึ่งนอกจากตะขบฝรั่งที่ช่วยได้จริง เพราะใบมีความเหนียว เนื่องจากขนต่อมที่มีลักษณะเหนียวช่วยดักจับฝุ่นละอองได้ดีกว่าพืชชนิดอื่นๆ สำหรับพืชของไทยมีหลายพันธุ์ เช่น อินทนิล เล็บมือนาง พวงชมพู อัญชัน ฯลฯ นอกจากกันฝุ่นยังเพิ่มออกซิเจนในอากาศ ทำให้ภูมิทัศน์ในบ้านเรือนเราสวยงาม ส่วนไม้ยืนต้น มี โมกมัน ชงโค ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นไม้ที่เราคุ้นเคย เวลาเราเพิ่มพื้นที่ก่อสร้าง เราเอาพื้นที่สีเขียวกลับไปคืนได้มั้ย อย่างประเทศสิงคโปร์ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ตัวอย่างได้ดีที่สุด”

สำหรับชนิดของใบพืชที่เหมาะสมในการดักจับฝุ่นละอองที่มีขนาดไม่เกิน 10 ไมครอนนั้น นอกจากพืชที่มีใบลักษณะเรียวเล็ก ใบหยาบ มีขนและเหนียวของไม้ยืนต้น เช่น ตะขบฝรั่ง เถากันภัย กันภัยมหิดล เล็บมือนาง พวงประดิษฐ์ เป็นต้น ควรเลือกพืชที่มีลักษณะลำต้นและกิ่งก้านที่พันกันอย่างสลับซับซ้อน เช่น คริสตินา ข่อย ไทรย้อยใบแหลม ไทรเกาหลี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การปลูกต้นไม้ช่วยบรรเทาฝุ่นได้จริง แต่เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ตราบใดที่ภาครัฐยังไม่มีมาตรการจัดการที่ต้นตอของการเกิดฝุ่นอย่างจริงจัง ปัญหาของฝุ่นครองเมืองจะยังวนเวียนกลับมาทุกปี

รัฐมนตรี​เกษตร​ฯ​ ชู​ “กฤษฎา​โมเดล” จากโครงการ​ปลูก​ข้าวโพด​หลัง​นา​ เป็น​ต้นแบบ​การวางแผน​การผลิต​ภาค​การเกษตร​ของ​ประเทศ​ ซึ่ง​ในอนาคต​เกษตร​กรจะทำเกษตร​กรรม​ใด​ จะต้องรวมกลุ่ม​กัน​ทำและผลิตตามความต้องการของตลาดเพื่อ​ไม่ต้องประสบภาวะราคา​ผลผลิต​ตกต่ำและมีรายได้​มั่นคง​ยั่งยืน​

นาย​กฤษฎา​ บุญ​ราช​ รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​เกษตร​และสหกรณ์ ตรวจความก้าวหน้าโครงการ​สานพลังประชา​รัฐ​เพื่อ​สนับสนุน​การปลูก​ข้าวโพด​เลี้ยง​สัตว์​หลัง​ฤดู​ทำนา ​ที่บ้านเปือย หมู่ที่ 5 ตำบลโนนทัน อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นแปลงปลูกข้าวโพดของ นางทองเที่ยง สุดจอม และ นายสำลี ล้นทม สมาชิกสหกรณ์การเกษตรหนองเรือ จำกัด

นาย​กฤษฎา​ กล่าวว่า​ โครงการ​ส่งเสริมการปลูกพืชหลังนาเป็นนโยบายสำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งหวังที่จะสร้างสมดุลของปริมาณผลผลิตข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง แล้วหันมาปลูกพืชอื่นที่มีศักยภาพและสามารถบริหารจัดการด้านการตลาดได้ทดแทน ในปีนี้นำร่องส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นต้นแบบเนื่องจาก​ได้ศึกษา​ความต้องการ​ของ​ตลาด​พบว่า​ ไทยยังผลิตข้าวโพด​เลี้ยง​สัตว์​ได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ​ ปัจจุบัน ​ผลิตได้ปีละ​ 5 ล้านตัน​ แต่ตลาดต้องการ​ 8​ ล้าน​ตัน​ ยังขาดอยู่​ 3 ล้านตัน​ ทั้งนี้​ ก่อนจะจัดทำโครงการ​นี้​ กระทรวง​เกษตร​ฯ​ ได้ศึกษา​รูปแบบ​การทำการเกษตร​ของ​ประเทศ​ที่พัฒนาแล้ว​ รวมถึง​ให้ผู้ช่วยทูตฝ่ายเกษตร​ซึ่ง​มี​ 11​ สำนัก​งาน ใน​ 9​ ประเทศ ​เช่น​ สหภาพ​ยุโรป​ ออสเตรเลีย​ จีน ​ญี่ปุ่น​ เป็น​ต้น​ พบว่า​ เกษตร​กรจะทำเกษตร​แบบรวมกลุ่ม​ และจะสำรวจความ​ต้องการ​ของ​ตลาด​ก่อน​ แล้วจึงเพาะปลูก​ เลี้ยงสัตว์​ และทำประมง​ให้ผลผลิตสมดุล​กับความต้องการ​ของ​ตลาด ​เพื่อ​ไม่ให้​ผล​ผลิต​ล้นเกิน​ จนราคาตกต่ำหรือถูก​คนกลางกดราคา