ทางด้าน นายสุดใจ วามะลุน ผู้ให้บ้าน หมู่ที่ 4 บ้านดอนว่าง ต.หัวตะพาน

กล่าวว่า พื้นที่นาข้าวใน ต.หัวตะพาน และ ต.คำพระ จมใต้น้ำมานาน 1 สัปดาห์ หากน้ำไม่ลดภายใน 7 วัน นาข้าวต้องเน่าตายทั้งหมด ที่สำคัญแม้น้ำฝนจะลดลง แต่น้ำเหนือจากทางด้าน จ.มุกดาหาร และ จ.นครพนม ไหลลงไปสมทบอยู่อย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ระดับน้ำที่ท่วมขังสูงขึ้นตลอดเวลา แต่หากมีฝนตกลงมาอีกถนนหลายสายมีแนวโน้มจะท่วมขังด้วย

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า สภาเกษตรกรฯ ได้ส่งเสริมชาวบ้านให้ปลูกไผ่ ด้วย “ไผ่” มีคุณสมบัติที่เหมาะสมแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายมากกว่าไม้ชนิดอื่น อาทิ อุตสาหกรรมก่อสร้าง งานหัตถกรรม เรื่องสิ่งแวดล้อม เฟอร์นิเจอร์ และจากการวิจัยพบว่าไผ่มีรูพรุนมากกว่าไม้ชนิดอื่นประมาณ 10 เท่า ประโยชน์ของการมีรูพรุนมากจะช่วยดูดซับอนุมูลทั้งหลายได้มากขึ้น และขณะนี้สภาเกษตรกรฯ มาถึงขั้นการพัฒนาต่อยอดทำถ่านขาว หรือ “ไวท์ชาโคล (White Charcoal)” ซึ่งเป็นถ่านคุณภาพเพื่ออุตสาหกรรมอีกเกรดหนึ่ง

หากถ่านคุณภาพสูงจะมีคาร์บอนที่มีการนำไฟฟ้าที่ดีวัดได้จากค่าการนำไฟฟ้าหรือโอห์มมิเตอร์จะต่ำประมาณ 2-4 โอห์ม เป็นอุตสาหกรรมอีกหนึ่งแขนงที่สภาเกษตรกรฯ จะผลักดันให้รัฐบาลแก้ไขในเรื่องกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถแปรรูปไผ่ของตัวเองเข้าสู่อุตสาหกรรมได้ ที่ผ่านมาเกษตรกรเผาถ่านเพื่อใช้ในการหุงต้ม ทำอาหารหรือปิ้งย่างทั่วไป หากมีการพัฒนาผลิตเป็นถ่าน “ไวท์ชาโคล” เวลาปิ้งย่างจะไม่มีควันและสารพิษ ดังเช่น ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ที่ส่งเสริมร้านปิ้งย่างให้ใช้ถ่านไวท์ชาโคลจึงไม่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค ประกอบกับขายได้ราคาดีกว่าถึงกิโลกรัมละ 40-50 บาท ขณะที่ถ่านเผาธรรมดาขายอยู่ที่ราคากิโลกรัม

ละ 10-15 บาท ทั้งนี้ ถ่าน “ไวท์ชาโคล” เกิดจากการนำไม้ไผ่ไปผ่านการเผาในอุณหภูมิความร้อนที่สูงมาก ผลถ่านที่ได้สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรม เครื่องอุปโภค บริโภคต่างๆ โดยสภาเกษตรกรแห่งชาติร่วมกับหน่วยงานพัฒนาขึ้นด้วยมุ่งหวังให้เป็นผงถ่านไผ่เผาคุณภาพสูง การเผาด้วยคุณภาพสูงจะได้ผงคาร์บอนที่บริสุทธิ์ไม่มีสิ่งเจือปนไม่มีสารตกค้างซึ่งจะมีผลต่อมนุษย์ เช่น สารก่อมะเร็ง พยายามทำให้ถ่านเกิดความบริสุทธิ์ให้ได้มากที่สุดเพื่อคุณสมบัติในการช่วยลดความชื้น ดูดซับอนุมูลอิสระ กลิ่น

เป็นถ่านขาวเพื่ออุตสาหกรรมคุณภาพเกรด A ที่ใช้เพื่อแท่งกรองน้ำ ไส้กรองอากาศ ถ่านไฟฉาย จนถึงอุตสาหกรรมอุปโภค/บริโภค เพื่ออาหาร ยารักษาโรค เครื่องสำอาง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เกษตรกรไทยยังไม่มีการผลิตถ่านคุณภาพสูงเพื่ออุตสาหกรรมเพราะเกษตรกรยังไม่มีความรู้ ซึ่งสภาเกษตรกรฯ เก็บรวบรวมความรู้ ทดลองอยู่นานหลายปีและนับเป็นครั้งแรกที่สภาเกษตรกรฯ ส่งเสริมเกษตรกรผลิตถ่านคุณภาพสูงเพื่ออุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้นำร่องเผาถ่านคุณภาพสูงด้วยเตาเผา 2 เตา และอยู่ระหว่างการปรับให้เป็นมาตรฐานที่ดีขึ้นและนิ่งมากขึ้น รวมทั้งเก็บรวบรวมความรู้ทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อไปในอนาคต

“จากนี้ไปประเทศไทยจะก้าวสู่ยุคใหม่ ยุคที่เกษตรกรสามารถจะเป็นผู้ประกอบการได้ ผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพสูงขึ้น ได้ราคาสูงขึ้นและเกษตรกรจะมีรายได้มากขึ้น หากประเทศไทยเผาถ่านคุณภาพสูงเช่นไวท์ชาโคลซึ่งเป็นที่ต้องการของประเทศตะวันออกกลาง เกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น จะสร้างรายได้เข้าประเทศได้อย่างมหาศาลจากอุตสาหกรรมพลังงาน พี่น้องเกษตรกรถ้าสนใจควรทดลองจากเล็กไปหาใหญ่ หากคิดไปถึงเรื่องของการทำถ่านกัมมันต์, ถ่านแอคติเวเตทคาร์บอน, ถ่านไวท์ชาโคล จะต้องใช้ความรู้เชิงขั้นตอน (Know-how) มากขึ้น ลงทุนมากขึ้น ให้เริ่มจากไม่รู้ไปสู่สิ่งที่ต้องรู้ อย่าเริ่มต้นจากสิ่งที่ใหญ่ไปหาเล็กซึ่งอาจเป็นเรื่องไม่จริงจะเกิดปัญหาตามมามากมาย อาจจะล้มเหลวได้ ถ้าลงทุนใหญ่ๆ ก็ไม่เห็นด้วย ให้ศึกษาก่อน” นายประพัฒน์กล่าวปิดท้าย

ทุเรียนยักษ์ / วันที่ 6 ส.ค. ที่สวนสวนเมืองหนาว บ้านห้วยนกแล ต.ช่องแคบ อ.พบพระ จ.ตาก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พบทุเรียนพันธุ์หมอนทองขนาดใหญ่ 1 ลูก น้ำหนักประมาณ 18 กิโลกรัม โดยมี นายธนาพนต์ ไชยนอก อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 33 ม.9 ต.ช่องแคบ อ.พบพระ เป็นเจ้าของ

นายธนพนต์ กล่าวว่า เดิมทีตนทำสวนน้อยหน่าและปลูกดอกดาวเรืองขาย เมื่อมีโอกาสไปเที่ยวบ้านเปิงเคิ้ง ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก ได้เห็นชาวบ้านปลูกทุเรียน จึงคิดว่าที่สวนของตนก็น่าจะปลูกได้ โดยเริ่มแรกตนไปซื้อพันธุ์ทุเรียนมาจาก จ.ระยอง เป็นพันธุ์หมอนทอง 70 ต้น ในราคาต้นละ 70 บาท มาทดลองปลูกในสวน ได้ประมาณ 3 ปี และนำยอดทุเรียนที่ตัดจากต้น ใส่ในถุงสุญญากาศ ไปจ้างชาวสวนที่ จ.ชุมพร เพื่อนำยอดทุเรียนที่ตัดออกมาไปเสียบกับยอดต้นพันธ์ุที่ จ.ชุมพร ได้ครั้งละ 500 ยอด ก่อนนำมาปลูกที่ อ.พบพระ

นายธนพนต์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน ที่สวนของตน มีต้นพันธุ์ประมาณ 2,000 ต้น ปลูกมานาน 7 ปี ปีที่แล้วมีรายได้จากการขายทุเรียน 3-4 ล้านบาท ในปีนี้ได้ตัดทุเรียนขายไป 12 ไร่ ได้เงินประมาณ 4 ล้านบาท โดยขายราคากิโลกรัมละ 85 บาท (ราคาในสวน) และยังมีทุเรียนพร้อมตัดช่วงเดือนสิงหาคมประมาณอีก 4-5 ตัน ซึ่งจะตัดช่วงก่อนและหลังวันแม่เป็นต้นไป

นายธนพนต์ กล่าวอีกว่า ในปีนี้ตนยังพบทุเรียนอยู่ต้นหนึ่ง เป็นพันธุ์หมอนทอง ให้ผลผลิตลูกโตมากขนาดใหญ่ น้ำหนักประมาณ 18 กิโล ยาว 46 ซม. เส้นรอบวง 92 ซม. โดยเมื่อคืนที่ผ่านมา ตนได้นำทุเรียนลูกดังกล่าวมาเปิดประมูลทางอินเตอร์เน็ต ราคาเริ่มต้นที่ 10,000 บาท วันนี้มีคนเข้ามาประมูลให้ราคา 73,000 บาท และจะปิดการประมูลในเวลา 12.00 น. ของวันที่ 12 ส.ค. ที่จะถึง

นายธนาพนต์ กล่าวด้วยว่า ท่านใดสนใจมาเยี่ยมชม หรือมาเรียนรู้ที่สวนเมืองหนาวได้ ตนเองยินดีให้คำแนะนำ ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยว หรือจะซื้อกิ่งพันธุ์ ก็มีจำหน่ายที่สวนเมืองหนาว เลขที่ 333 ม.9 บ้านห้วยนกแล ต.ช่องแคบ อ.พบพระ จ.ตาก ถนนทางหลวงสายแม่สอด-อุ้มผาง หลักกิโลเมตรที่ 31 โทร. 081 282 9810 หรือติดต่อที่เพจ Muangnow Fruit &Flower Farms -สวนเมืองหนาว

สกอ. ผนึกกำลัง 5 หน่วยงานวิจัยหลัก แถลงข่าวเปิดตัว “โครงการทุนบูรณาการเพื่อความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ Thailand MED TECH Excellence Fund (TMTE Fund)” ต่อยอดงานวิจัยที่มีศักยภาพสู่พาณิชย์ โดยฝ่ายอุตสาหกรรม สกว. ตั้งงบปีแรกไว้เบื้องต้น 20 ล้านบาท นักวิจัยและภาคเอกชนที่สนใจส่งข้อเสนอโครงการได้ถึง 30 ก.ย.

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมสัมมนาทางวิชาการเพื่อการพัฒนางานวิจัยด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์สู่ความสำเร็จเชิงพาณิชย์ ภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และเครือข่ายหน่วยงานสนับสนุนด้านงานวิจัย รวม 5 หน่วยงาน พร้อมจัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ “โครงการทุนบูรณาการเพื่อความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ Thailand MED TECH Excellence Fund (TMTE Fund)”ณ ห้องประชุมเบญจสิริ แกรนด์ บอลรูม โรงแรมโนโวเทล สุขุมวิท 20 เป้าหมายเพื่อพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ไทยให้ก้าวสู่สากล

วัตถุประสงค์ของความร่วมมือดังกล่าวคือ เพื่อผลักดันและแก้ปัญหาการพัฒนาผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ในประเทศไทยที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งต้องการการสนับสนุนทุนและความช่วยเหลืออื่นๆ เช่น กฎระเบียบ นโยบายที่เกี่ยวข้อง การประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดงานครั้งนี้จึงมุ่งเน้นประชาสัมพันธ์โครงการทุนบูรณาการสู่ผู้ประกอบการ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตลอดจนประสบการณ์การส่งเสริมสนับสนุนทุนงานวิจัยด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ อันจะนำไปสู่การพัฒนาผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูงให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการ ตลอดจนการจดทะเบียนสิทธิบัตรหรือทรัพย์สินทางปัญญา และการประยุกต์ใช้ผลงานวิจัยในอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคมและประเทศชาติในรูปแบบอุตสาหกรรมที่ทดแทนสินค้านำเข้า และผลิตนวัตกรรมใหม่สู่ตลาดโลก

โครงการทุนบูรณาการฯ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหน่วยงานสนับสนุนด้านงานวิจัยต่างๆ 5 หน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนจากหน่วยงานที่มีกลไกอื่นๆ ซึ่งเชื่อมต่อในกระบวนการพัฒนางานวิจัยผลิตออกสู่เชิงพาณิชย์ ได้แก่ องค์การอาหารและยา (อย.)

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กรมทรัพย์สินทางปัญญา กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ และกลุ่มวิชาชีพ ได้แก่ โครงการศูนย์วิจัยทางคลินิกแห่งชาติ (National Clinical Research Center หรือ NCRC) กลุ่มผู้ซื้อและผู้เกี่ยวข้องกับการใช้ ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อสนับสนุนทุนด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์แก่บริษัทเอกชนหรือสตาร์ทอัพที่มีความพร้อม โดยมีเกณฑ์พิจารณาจากระดับความพร้อมด้านเทคโนโลยี ความพร้อมด้านการตลาด ไปจนถึงความพร้อมด้านการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” เปลี่ยนการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม และเปลี่ยนวิธีการจาก “ทำมาก ได้น้อย” เป็น “ทำน้อย ได้มาก” ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี

ทุนดังกล่าวมีลักษณะพิเศษคือ ดำเนินการพิจารณาตัดสินโครงการที่เหมาะสมโดยคณะกรรมการกลางที่ประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ ตลอดจนผู้ผลิต ผู้ใช้งาน บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงผู้กำกับตรวจสอบกฎระเบียบ นโยบาย และผู้สนับสนุนส่งเสริมทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน โดยการดำเนินงานแบ่งเป็น 3 ขั้นตอนหลัก คือ ขั้นที่ 1 ปรับปรุงต้นแบบ (อบรม ความพร้อมทางการตลาด พัฒนาต้นแบบ และวางแผนจดสิทธิบัตร) ขั้นที่ 2 ทดสอบต้นแบบ (ทดสอบมาตรฐาน ทดสอบปรีคลินิก ทดลองในสัตว์และในคน จดสิทธิบัตร) และขั้นที่ 3 พร้อมจำหน่ายสู่ตลาด (สนับสนุนกาiตลาด ออกผลิตภัณฑ์ ขึ้นบัญชีนวัตกรรม)

ด้าน ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการ สถาบันอุดมศึกษาร่วมภาคเอกชน พัฒนาการศึกษา การวิจัย นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ ระบุว่าสิ่งสำคัญของโครงการนี้ คือทำอย่างไรให้งานวิจัยทางการแพทย์ที่มีศักยภาพต่อยอดให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ สร้างงาน สร้างรายได้มากขึ้น มหาวิทยาลัย/หน่วยงานก็ได้รับประโยชน์กลับขึ้นมาหมุนเวียนในระบบวิจัยในระยะยาวและทำให้มี GDP ของประเทศมากขึ้น

โดยเบื้องต้นในปีแรกทาง สกว. ตั้งกรอบงบประมาณในการสนับสนุนทุนวิจัยไว้ที่ 20 ล้านบาท ขณะที่นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย สวทช. กล่าวว่า ภาคเอกชนที่มีผลิตภัณฑ์แล้วแต่ยังขาดงบประมาณในการทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ เราจะมีคูปองสตาร์ทอัพให้เพื่อนำไปใช้สนับสนุนการแสดงสินค้า ประกวด เปิดตัว เข้าร่วมสัมมนา หรือประชาสัมพันธ์ออนไลน์ รวมถึงค่าตอบแทนให้ผู้ที่มาช่วยงาน ค่าเดินทางหรือจัดสัมมนา เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ประกอบการที่มีผลิตภัณฑ์แล้วแต่ยังขาดการสนับสนุนในส่วนนี้

ส่วน ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการ TCELS กล่าวถึงให้การสนับสนุนงานวิจัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ว่าจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ว่าจะเป็นด้านยา ส่วนผสมที่นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งการไปถึงปลายทางได้นั้นจะต้องมีการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่ โดยงานวิจัยอยู่ที่ต้นทาง นักวิจัยส่วนใหญ่อยู่ในมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานวิจัย เมื่อไปถึงขั้นการทดสอบในปรีคลินิกก็จะเริ่มแตะกลุ่มที่เป็นโรงพยาบาล จนถึงขั้นการผลิตที่ผ่านมาตรฐาน GMP และการขึ้นทะเบียนยากับ อย. ซึ่งนักวิจัยอาจไม่ถนัดเพราะไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อการนี้ เราจึงต้องออกแบบทั้งระบบ ให้สามารถทะลุทะลวงปัญหาทั้งหมด เพื่อหาทางตอบโจทย์ของประเทศให้ได้ ผ่านการสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย หน่วยทดสอบ และผู้ลงทุน

ผู้ที่สนใจโดยเฉพาะผู้ประกอบการภาคเอกชนสามารถส่งข้อเสนอโครงการได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 กันยายน 2561 โดยยื่นข้อเสนอโครงการ พร้อมนำส่งข้อมูลด้วยสื่อบันทึกข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 1 ชุด ไปยังกลุ่มนโยบายการพัฒนาทรัพยากรบุคคลอุดมศึกษา สำนักส่งเสริมและพัฒนาสมรรถนะบุคลากร สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เลขที่ 328 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 ประกาศผลการพิจารณาคัดเลือกทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ที่ http://www.mua.go.th และผ่านทาง Facebook ที่ https://www.facebook.com/TMTEFund สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มนโยบายการพัฒนาทรัพยากรบุคคลอุดมศึกษาสำนักส่งเสริมและพัฒนาสมรรถนะบุคลากร สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา โทร 0 261 5330-1

15 สิงหาคม 2561 เวลา 08.30-16.30 น. ณ โรงแรมวังใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เชิญชวนผู้ประกอบการโอท็อป 3-5 ดาว และโอท็อป ซีเล็ค ในกลุ่มสุขภาพและความงาม เข้าร่วมอบรมเสริมความรู้ด้านการตลาดรูปแบบใหม่ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ดูดีเพิ่มมูลค่า การต่อยอดนวัตกรรมและสร้างแบรนด์ในยุค 4.0 และการผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้ได้มาตรฐาน ผ่านผู้เชี่ยวชาญที่มาให้ความรู้แบบเอกซ์คลูซีฟ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกยังได้รับสิทธิขายสินค้าออนไลน์ในระบบ e-commerce ฟรี ! พร้อมถ่ายภาพสินค้าโดยช่างภาพมืออาชีพ ผู้ประกอบการโอท็อปที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ โทร. 06-1269-4119

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่อาคารที่ทำการ “กลุ่มเกษตรกรทำสวนทุ่งคาวัด” ต.ทุ่งคาวัด อ.ละแม จ.ชุมพร นายวิบูลย์ รัตนาภรณ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ได้ลงพื้นที่ให้การต้อนรับกลุ่มผู้บริโภคกล้วยหอมทองจากประเทศญี่ปุ่นที่เดินทางมาดูขั้นตอนการผลิตกล้วยหอมทองปลอดสารเคมีของกลุ่มเกษตรกรทำสวนทุ่งคาวัด ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ดำเนินการส่งออกกล้วยหอมทองคุณภาพปลอดสารเคมีไปยังประเทศญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 2537 โดยนายวิบูลย์ได้กล่าวยืนยันการรักษาคุณภาพในการผลิตกล้วยหอมทองคุณภาพและปลอดสารเคมี ที่ส่งไปยังประเทศญี่ปุ่น พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นในการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกล้วยหอมทองคุณภาพส่งออกเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น

ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรทำสวนทุ่งคาวัด อ.ละแม จ.ชุมพร ได้จัดงาน “ครบรอบ 25 ปี สานสายใยไทย-ญี่ปุ่น” ขึ้น โดยมีกลุ่มผู้บริโภคกล้วยหอมทองจากประเทศญี่ปุ่นจำนวน 30 คน เดินทางมาศึกษาดูงาน ขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่วิธีการปลูก การเก็บเกี่ยว การแปรรูปกล้วยหอมทอง การคัดเลือกกล้วยคุณภาพเพื่อส่งออก จนถึงวิธีการเก็บรักษา โดยกลุ่มผู้บริโภคกล้วยหอมทองจากประเทศญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจกล้วยหอมทองคุณภาพและปลอดสารเคมีของไทยเป็นอย่างมาก

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่หมู่บ้านเกาะพิทักษ์ ห่างจากฝั่ง ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร ประมาณ 1 กิโลเมตร นายวิบูลย์ รัตนาภรณ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร พร้อมด้วย นางสาวสุทัศนีย์ ราชเรืองระบิน รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ร่วมเป็นประธานเปิด “หมู่บ้านทำมาค้าขาย” ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินโครงการหมู่บ้านทำมาค้าขาย โดยมีเป้าหมายดำเนินการจังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อต้องการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง ซึ่งได้มีการเข้าไปสำรวจหมู่บ้านต่างๆ ว่าผลิตสินค้าอะไร จำหน่ายอย่างไร

แล้วเข้าไปผลักดันให้เกิดการรวมตัวกัน จัดที่ค้าขายให้เป็นรูปแบบเดียวกัน หรือปรับมาตรฐานร้านค้าให้ใกล้เคียงกัน จากนั้นจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยฝึกอบรม ในการทำธุรกิจ ทั้งการทำบัญชี การเงิน การทำการตลาด การบริหารจัดการ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การขนส่ง ซึ่งจะรวมไปถึงการเข้าไปช่วยสร้างเรื่องราวให้กับหมู่บ้านทำมาค้าขายเพื่อแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น นอกจากนี้ จะเข้าไปช่วยเหลือในการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มธุรกิจ เพื่อให้เกิดการจำหน่ายสินค้า บริการ และผลิตภัณฑ์ชุมชน ระหว่างหมู่บ้านทำมาค้าขายไปยังหมู่บ้านอื่นทั้งในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด รวมถึงเชื่อมโยงไปยังตลาดกลาง ตลาดชุมชน รวมทั้งจะผลักดันให้มีการใช้ช่องทางการค้าออนไลน์ ในการจำหน่ายสินค้าของหมู่บ้านทำมาค้าขาย

นายวิบูลย์ เปิดเผยว่า เกาะพิทักษ์เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดชุมพร มีนักท่องเที่ยวเข้ามาพักแรมเป็นจำนวนมากในแต่ละปี เนื่องจากบรรยากาศที่สงบเงียบ ความเป็นธรรมชาติของเกาะ และวิถีชีวิตชุมชนประมงพื้นบ้าน ประกอบกับกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งการศึกษาวิถีชีวิตชุมชน ประมง บริการอาหารทะเลสดๆ มีคุณภาพ รสชาติอร่อย เที่ยวชมเกาะพิทักษ์ การล่องเรือ ชมปะการังน้ำตื้น เป็นต้น นอกจากนี้ สินค้าที่น่าสนใจของเกาะพิทักษ์ ได้แก่ ปลาเค็มฝังทราย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปที่ขึ้นชื่อเป็นอย่างมาก จึงสมควรส่งเสริมอนุรักษ์ให้คงอยู่กับเกาะพิทักษ์และจังหวัดชุมพรสืบไป

นางสาวสุทัศนีย์ กล่าวว่า กรมการค้าภายในเล็งเห็นคุณค่าสถานที่ท่องเที่ยวและวิถีชีวิตของชาวเกาะพิทักษ์ จึงคัดเลือกหมู่บ้านเกาะพิทักษ์เข้าในโครงการส่งเสริมการพัฒนาหมู่บ้านทำมาค้าขาย ปัจจุบันการประกอบธุรกิจทางด้านท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารทะเล มีการแข่งขันที่สูงมาก ผู้ประกอบการมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งการผลิตและการบริการ ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อปริมาณความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งแนวทางความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ชุมชนจึงควรสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้การบริโภคภายในประเทศและเศรษฐกิจท้องถิ่นเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งโครงการดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจในชุมชนมีความเข้มแข็ง มีรายได้ต่อการดำรงชีพและกระตุ้นให้เกิดความสร้างมูลค่าทางการค้าในประเทศทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความเข้มแข็งจากระดับฐานราก อย่างมั่นคงและยั่งยืน

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 ติดตามผลโครงการส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองหลังนาปีที่ 1 จังหวัดเชียงราย เผย เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 600 ราย ส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองหลังนาจำนวน 3,000 ไร่ ในอำเภอดอยหลวงและอำเภอเชียงรุ้ง ช่วยเกษตรกรเสริมองค์ความรู้การผลิตถั่วเหลืองหลังนา สถานการณ์การค้าถั่วเหลืองหลังนาคึกคักมากขึ้น

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยถึงผลการติดตามโครงการส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองหลังนาปีที่ 1 ครั้งที่ 1 ภายใต้กองทุนเพื่อพัฒนาการผลิตถั่วเหลือง จังหวัดเชียงราย ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้รับงบประมาณดำเนินการ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการทั้งหมดจำนวน 600 ราย กิจกรรมที่ดำเนินการ 3 กิจกรรม ได้แก่ 1. การส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองหลังนาจำนวน 3,000 ไร่ ในอำเภอดอยหลวงและอำเภอเชียงรุ้ง 2. การจัดงานเชื่อมโยงการผลิตการตลาด และ 3. การส่งเสริมผลิตเมล็ดพันธุ์จำนวน 360 ไร่

จากการติดตามของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ (สศท.1) พบว่า ผลการดำเนินงาน 9 เดือน นับแต่วันอนุมัติโครงการ (7 สิงหาคม 2560 – 31 พฤษภาคม 2561) ได้มีการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการผลิตถั่วเหลืองหลังนา การสนับสนุนปัจจัยการผลิต (เมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง และเชื้อไรโซเบียม) และการเชื่อมโยงการตลาดให้แก่เกษตรกรที่ร่วมโครงการ ส่งผลให้เกษตรกรได้รับความรู้เพิ่มขึ้นร้อยละ 93 ในเรื่องต่างๆ อาทิ วิธีการตรวจเฝ้าระวังศัตรูพืช ระยะเวลาในการตรวจแปลง การปลูกแบบหว่าน การคัดพันธุ์ปน การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) การใช้ปุ๋ยเคมี และการให้น้ำในระยะเวลาที่เหมาะสม

ด้านการจัดตั้งแปลงเรียนรู้ ได้จัดตั้งแปลงเรียนรู้ จำนวน 3 จุด ได้แก่ ตำบลโชคชัย อำเภอดอยหลวง จำนวน 2 จุด และตำบลป่าซาง อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จำนวน 1 จุด มีเกษตรกรประมาณร้อยละ 37 เข้าไปเรียนรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูล เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่มีประสบการณ์การเพาะปลูกถั่วเหลืองมาก่อนแล้วจึงมีความคุ้นชินกับวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม จึงเห็นว่าแปลงเรียนรู้ควรมีการสาธิตเกี่ยวกับนวัตกรรมใหม่ในการดูแลรักษาแปลงถั่วเหลือง เพิ่มเติมให้มากขึ้น ทั้งนี้ ผลผลิตต่อไร่ของถั่วเหลืองหลังนาของเกษตรกรภายหลังการเข้าร่วมโครงการในปี 2560/61 พบว่า ให้ผลผลิตเฉลี่ย 172 กิโลกรัม ต่อไร่ ราคาเกษตรกรขายได้อยู่ที่ 16.83 บาท ต่อกิโลกรัม สูงกว่าปีที่ผ่านมา 0.51 บาท ต่อกิโลกรัม

ด้านนายธวัชชัย เดชาเชษฐ์ ผอ.สศท.1 กล่าวเสริมถึงการเชื่อมโยงการตลาดว่า มีการดำเนินการโดยเชิญภาคเอกชนเข้าร่วมชี้แจงหลักเกณฑ์การรับซื้อถั่วเหลือง โดยต้องการรับซื้อถั่วเหลืองชั้นคุณภาพที่มีการคัดเกรด อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยังไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากไม่มีเครื่องคัดเกรด ดังนั้น สำนักงานเกษตรอำเภอจึงมีแนวทางส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อการขาย และให้สหกรณ์การเกษตรร่วมดำเนินการด้านการตลาดมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ โครงการได้กำหนดเกณฑ์การคืนเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองให้กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแต่ละกลุ่ม ตามระเบียบข้อตกลงในการคืนเมล็ดพันธุ์ให้กลุ่มในรูปของตัวเงิน โดยคำนวณมูลค่าเท่ากับจำนวนเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับตามราคาตลาด เพื่อการออมเป็นเงินทุนในการปลูกถั่วเหลืองให้แก่สมาชิกในระยะต่อไป

ภาพรวมเกษตรกรมีความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการในระดับมาก โดยหน่วยงานในพื้นที่ได้มีข้อเสนอแนะว่า ควรให้กรมส่งเสริมการเกษตรหรือกรมวิชาการเกษตร มีการจัดซื้อเมล็ดพันธุ์เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการดำเนินงานมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนได้รับเมล็ดพันธุ์มาล่าช้า ล่วงเลยช่วงระยะเวลาการปลูก จึงตัดสินใจใช้เมล็ดพันธุ์ปลายฤดูฝนที่ปลูกไว้เองหรือซื้อจากเพื่อนบ้านหรือพ่อค้าในพื้นที่แทน และควรเพิ่มบทบาทสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงตลาด และเสริมสร้างความเข้มแข็งด้วยการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตถั่วเหลืองพร้อมเพิ่มเติมเทคนิคและองค์ความรู้ต่างๆ มากยิ่งขึ้นในแปลงเรียนรู้ มีการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเห็นประโยชน์ และเข้าไปใช้บริการแปลงเรียนรู้ฯ เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ใน