ทำการเกษตรแล้วได้อะไรเจ้าของบอกว่าได้แหล่งปัจจัย 4 ของ

ครอบครัวอาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับสมาชิกในครอบครัว สามารถต่อยอดได้ในวัยที่เกษียณอายุ หรือโดนเลิกจ้างงาน

สร้างความรัก ความสามัคคีในครอบครัว ครอบครัวได้อยู่ด้วยกัน สร้างรายได้ให้กับครอบครัวอย่างยั่งยืน

เป็นตัวอย่างและส่งเสริมให้กับเกษตรกรในชุมชน ได้มีความรู้และทำการเกษตรอย่างเข้าใจ

สามารถรวบรวมสินค้าการเกษตรของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีตลาดและมีรายได้ สามารถประกอบประกอบกิจการเป็นธุรกิจส่งขายภายในแประเทศและต่างประเทศได้ อะไรที่โดดเด่นที่สุดในการทำการเกษตรที่ฟาร์ม

การนำพลังงานทดแทนมาใช้ในฟาร์ม โดยยึดหลักการที่ว่า สร้างและประดิษฐ์เอง ซ่อมบำรุง ดูแลเองได้ เช่น ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบให้น้ำพืชแบบอัตโนมัติ เปิด-ปิดตามโปรแกรมที่ตั้งไว้ ทำการเกษตรแบบปลอดภัย (ปลูกผักอินทรีย์) เกษตรกรในชุมชนได้อะไรบ้าง

เกษตรกรจะได้ความรู้ จากการทำเป็นตัวอย่างของฟาร์มเราโดยไม่ต้องลองผิดลองถูกให้เสียต้นทุน

เกษตรกรสามารถนำความรู้ที่เรามอบให้ ไปใช้ได้อย่างยั่งยืน และพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง

เกษตรกรสามารถสร้างรายได้ ปัญหาอุปสรรคในการทำการเกษตร

ขาดแหล่งความรู้บางอย่างและการช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ

คุณสิทธิศักดิ์ บอกอีกว่า จากประสบการณ์ต่างๆ จึงได้จัดตั้งจัดสร้างโครงการวิศวกรรมเพื่อการเกษตร นำเทคโนโลยีมาพัฒนาใช้เกี่ยวกับการเกษตร Agriculture Engineering Project โครงการวิศวกรรมเพื่อการเกษตร โดยบริษัท อเดคนิค เอ็นเจียเนียริ่ง โซลูชั่น (AEP) จำกัด ตั้งอยู่ที่ 282 หมู่ที่ 3 บ้านดอนเชียงบาน ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร

แผนยุทธศาสตร์ของ AEP คือ 1. สร้างแลนด์มาร์ค จุดเยี่ยมชม “สวนเกษตรผสมผสาน ธรรมชาติและเทคโนโลยี” เป้าหมายเป็นจุดท่องเที่ยวติด 1 ใน 10 สถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร 2. สร้างจุดเด่นและสร้างสรรค์ อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่สงเสริมการทำเกษตรว่าด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพผลิตด้วยเทคโนโลยีและการจัดการ 3. มุ่งเน้นหรือแสดงศักยภาพว่าด้วยการทำเกษตรแบบผสมผสาน,เกษตรอินทรีย์ ก็สามารถเข้ากันกับเทคโนโลยี (มีความลงตัว ไม่บ้าเทคโนโลยีมาก ไม่เกษตรอินดี้จ๋า) ซึ่งทำได้จริงและเห็นผลจริง

“หลักปรัชญาของ AEP (Agriculture Engineering Project : โครงการวิศวกรรมเพื่อการเกษตร) คือ คัดสรรและคิดค้นสร้างสินค้าที่เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การทำเกษตร 4.0 โดยนวัตกรรมคนไทยเพื่อเกษตรไทยให้ยั่งยืนและสู่สากล” คุณสิทธิศักดิ์ บอก

กิจกรรมเด่นของ โครงการวิศวกรรมเพื่อการเกษตร

Solar Inverter Pump (อุปกรณ์แปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า)

– ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ปศุสัตว์สกลนคร

– วาว์ลอัตโนมัติ โรงสีพลังงานแสงอาทิตย์

ตัวควบคุม ระยะไกลตัวขับปั๊มน้ำระบบพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ Smart Solar Pump Inverter Monitoring มีให้เลือกใช้ 2 แบบ ได้แก่ NB-IoT GateWay และ WiFi/EtherNet

ด้วยการใช้ AI เฝ้าตรวจสอบระบบสูบน้ำ และการจัดการจ่ายน้ำ ทำให้การบำรุงรักษาเป็นไปด้วยง่ายและประหยัด ในด้านการป้องกัน ความเสียหายสินค้านี้เหมาะกับโครงการประปาหมู่บ้าน หรือหอน้ำบาดาลขนาดใหญ่ ทั้งสวนฟาร์มและสถานที่ที่ใช้น้ำเยอะๆ

ความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกรรม

น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้การดำเนินชีวิตในปัจจุบัน

ได้ทำงานอยู่กับครอบครัวและสร้างรากฐานรายได้ที่มั่นคงไว้ให้ญาติพี่น้อง

เป็นจุดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของ young smart farmer และเป็นจุดถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรของจังหวัดสกลนคร

คิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีให้เหมาะสมและนำมาใช้ในการทำเกษตร ซึ่งเกิดจากเราทำเองและใช้เอง

เป็น young smart farmer ต้นแบบของจังหวัดสกลนคร

“เศรษฐกิจพอเพียง” จึงไม่ใช่แนวคิดลอยๆ ตามกระแสสังคมเท่านั้น หากแต่สามารถนำมาปรับใช้ และแปลงแนวคิดไปสู่การปฏิบัติได้เป็นรูปธรรม ซึ่งปัจจุบันปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากทั้งประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศ

สำหรับหน่วยงานท่านที่สนใจ อยากชม และศึกษา สามารถติดต่อได้ที่ คุณสิทธิศักดิ์ พุ้ยมอม เลขที่ 282 หมู่ที่ 3 บ้านดอนเชียงบาน ตำบลเชียงเครือ อำเภอเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร 47000 โทร. (089) 688-3319

“บลอนด์ดาคิแตน” (Blonde d’ Aquitaine) เป็นโคเนื้อสายพันธุ์ฝรั่งเศสที่มีขนาดใหญ่ ถูกพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมาจากโคเนื้อ 3 สายพันธุ์ดีของฝรั่งเศส ได้แก่ Blonde d’ Pyrénées, Quercy และ Garonnaise มาตั้งแต่ปี 1962 ใช้เวลาปรับปรุงพันธุ์นานหลายปี จนกระทั่งประสบความสำเร็จได้โคเนื้อสายพันธุ์ดี ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ คือ ให้เนื้อคุณภาพดี ที่มีความละเอียด เนื้อนุ่มมาก และมีไขมันน้อย ทำให้โคเนื้อพันธุ์นี้เป็นที่นิยมของผู้บริโภคเนื้อไขมันต่ำ เกษตรกรฝรั่งเศลนิยมเลี้ยงโคเนื้อพันธุ์ บลอนด์ดาคิแตน มากเป็นอันดับ 3 รองจากโคเนื้อพันธุ์ชาร์โรเล่ส์ (Charolais) และโคเนื้อพันธุ์ ลีมูซีน (Limousin ) มาจนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบัน กรมปศุสัตว์ ได้นำโคเนื้อพันธุ์ “บลอนด์ดาคิแตน” มาเลี้ยงในประเทศไทย เพื่อผลิตน้ำเชื้อใช้ผสมเทียมให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ เนื่องจากโคเนื้อสายพันธุ์นี้มีนิสัยเชื่อง เขามีลักษณะโค้งลง สีเหมือนเปลือกข้าวโพด จมูกสีชมพู กีบสีซีด โคพันธุ์บลอนด์ดาคิแตน เป็นโคเนื้อที่มีขนาดลำตัวใหญ่และยาว มีช่วงอกและสะโพกใหญ่ มีกล้ามเนื้อเด่นชัด

แม่โคเนื้อมีความสูงเฉลี่ย ประมาณ 150 เซนติเมตร น้ำหนักระหว่าง 850-1,000 กิโลกรัม และมีกระดูกเชิงกรานกว้างทำให้คลอดลูกง่ายแม้ว่าลูกโคจะมีขนาดใหญ่ ส่วนพ่อโคเนื้อมีความสูงเฉลี่ย 160 เซนติเมตร น้ำหนักอยู่ระหว่าง 1,200-1,500 กิโลกรัม

โคเนื้อพันธุ์นี้มีความทนทานต่อสภาพภูมิอากาศที่หลากหลาย สามารถเลี้ยงได้ในพื้นที่ที่อากาศเย็นจัดถึง -30 องศาเซลเซียส จนถึงร้อนจัด หรือประมาณ 40 องศาเซลเซียส ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อการกินอาหาร

โคเนื้อพันธุ์ “บลอนด์ดาคิแตน” นับเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์โคเนื้อที่น่าสนใจ สามารถนำมาพัฒนาพันธุ์โคเนื้อไทยได้ดี เพราะมีทั้งพันธุกรรมด้านการสร้างกล้ามเนื้อ การเจริญเติบโต ความสามารถในการทนอากาศร้อน และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและรูปแบบการเลี้ยงในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

ผู้สนใจ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์ผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งพ่อพันธุ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โทร. 0-4326-3017 โลกในยุค 4.0 ที่ทุกอย่างกำลังแปรเปลี่ยนสู่จักรกลอัตโนมัติ วิชาชีพหลายแขนงล้วนปรับตัวเพื่อก้าวทันกับความเป็นดิจิทัล โดยเฉพาะแวดวงสถาบันการศึกษา ในระดับอุดมศึกษา เพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์ตลาดแรงงานและสอดรับกับความต้องการของผู้เรียนมากที่สุด

‘เกษตร’ หนึ่งในวิชาชีพสำคัญ และมีความท้าทายหลายด้าน ทั้งจำนวนผู้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ความเป็นเทคโนโลยี และสื่อสังคมออนไลน์ที่รวดเร็ว เข้าถึงง่ายและกลายเป็นทางเลือกสำคัญในการป้อนความรู้ให้ผู้เรียนอย่างไม่จำกัด…ล่าสุดได้พูดคุยกับนักศึกษา ‘รั้วบัวสวรรค์’ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่สะท้อนความคิดคุณค่าหัวใจคนเกษตรได้อย่างน่าสนใจ

เริ่มต้นคนแรกกับหนุ่มหน้าใส “โอ๊ต” ภูริต กีรติกำจร ชั้นปี 3 สาขาวิชาสัตวศาสตร์ บอกถึงความเป็นเกษตรว่า “คนไทยเราโชคดีที่มีพื้นที่ทำเลทอง ในการผลิตอาหารเพื่อปากท้อง หล่อเลี้ยงและจุนเจือผู้คนบนโลกใบนี้ได้” และเกษตร…ยังเป็นวิชาชีพแห่งชีวิต ที่ต้องใช้ความทุ่มเทในการศึกษาและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง จึงจะสามารถประสบความสำเร็จต่อไปได้

จากความชอบเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่เด็ก จึงคลุกคลีและได้เรียนรู้พัฒนาการ พฤติกรรมและลักษณะของสัตว์ด้วยตนเองและจากกลุ่มผู้เลี้ยง เริ่มตั้งแต่ปลา สุนัข อีกัวน่า กิ้งก่าและงู “ความเป็นธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต ทำให้หลงใหลและเกิดเป็นความรัก” จึงเลือกเรียนสัตวศาสตร์ มทร.ธัญบุรี โดยการเรียนจะมุ่งเน้นการผลิตสัตว์เศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น การทำปศุสัตว์ในเนื้อที่จำกัด ไม่มีพื้นที่ในการปลูกพืชอาหารสัตว์ แต่ใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดความคุ้มค่า รวมถึงการบริหารจัดการและวิจัย

“สัตวศาสตร์จะเรียนทฤษฎีและปฏิบัติควบคู่กันไป มีหลายครั้งก็เรียนปฏิบัติมากกว่าด้วย ความสนุกจึงอยู่ที่การได้ออกไปสัมผัสสิ่งมีชีวิตจริง” ในปัจจุบันการเกษตร มีตัวช่วยสำคัญที่มาเสริม เติมคุณภาพและช่วยในการผลิตนั่นคือความเป็นเทคโนโลยี “กระบวนการผลิตสัตว์ มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งการลดระยะเวลาการผลิต การเก็บรักษาผลผลิต การหาวิธีการต่าง ๆ ที่จะเสริมการทำงานเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในที่สุด” และไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวกระโดดไปมากเพียงใด มนุษย์เราก็ยังต้องการอาหาร อาหารก็มาจากการเกษตรเป็นหลัก จึงอยากให้ทุกคนให้เกียรติและยกย่องวิชาชีพการเกษตร

อีกหนึ่งหนุ่มจากสาขาวิชาประมง “ดั๊มพ์” นันทวัฒน์ แก้วเซือง ชั้นปี 3 ดีกรีประธานสาขาวิชาประมง บอกว่า “เรียนประมง…ไม่ได้เรียนเพื่อไปเป็นชาวประมง” แต่มีรายละเอียดเชิงลึกกว่านั้นมากมาย เรียนพื้นฐานจนถึงเชิงลึกตั้งแต่การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การอนุบาลสัตว์ การปรับปรุงสายพันธุ์สัตว์น้ำ โดยเฉพาะพันธุ์ปลาที่หายากและใกล้จะสูญพันธุ์

“คณะเทคโนโลยีการเกษตร” ผู้เรียนต้องมีความพยายาม ความทุ่มเทและอดทน มีหัวใจที่พร้อมลุยงาน และตนนั้นได้ไปฝึกงานกว่า 2 เดือน ที่ศูนย์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเขต 7 จ.ชลบุรี ได้เรียนรู้การเพาะพันธุ์ปลาชะโอน “การไปฝึกงาน จะช่วยเติมเต็มและสร้างประสบการณ์ที่ดี ก่อนจะก้าวสู่โลกการทำงาน ได้เห็นทิศทางของสาขาวิชาชีพ ทำให้สามารถเตรียมพร้อมและกระตุ้นให้เราพัฒนาตนเองได้มากกว่าแค่ในห้องเรียน” และมองว่าจุดแข็งสาขาวิชาประมงของ มทร.ธัญบุรี อยู่ที่การส่งเสริมและกระตุ้นให้นักศึกษาเป็นบัณฑิตนักปฏิบัติมืออาชีพ เรียนของจริง ปฏิบัติจริง รวมถึงชีวิตสังคมการเรียนของที่แห่งนี้มีความเป็นมิตร ช่วยเหลือและให้ความร่วมมือที่ดีระหว่างกัน ทั้งแต่กิจกรรมในสาขา เรื่อยไปจนถึงกิจกรรมระดับมหาวิทยาลัย และระดับประเทศ

“ขิง” ธันยภรณ์ พิมเสน ชั้นปี 2 สาขาวิชาเทคโนโลยีภูมิทัศน์ ขยายความว่าเทคโนโลยีภูมิทัศน์ ได้เรียนเกี่ยวกับต้นไม้ พืชพันธุ์และการออกแบบ เพื่อการจัดวางต้นไม้ในตำแหน่งที่เหมาะสม สามารถสร้างบรรยากาศได้สอดคล้องกับธรรมชาติ สภาพแวดล้อม “การออกไปเรียนรู้หน้างาน ลงมือทำงานจริงๆ จะช่วยสร้างและเติมเต็มความเป็นนักภูมิทัศน์ที่ดีได้” และเห็นว่าสาขาวิชาคณะเทคโนโลยีการเกษตรมีความหลากหลาย ผู้เรียนจะต้องเลือกเรียนตามความสนใจและความถนัด จึงจะสามารถเรียนอย่างมีความสุข และการร่วมกิจกรรมทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย จะทำให้เรามีโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น มีเพื่อนและมีเครือข่ายมากขึ้นด้วย

ปิดท้ายที่ “มิลค์” อนามิกา ทองเหลา สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร ชั้นปี 3 ร่วมแจมไอเดียว่า เมื่อได้มาเรียนที่แห่งนี้ พบว่าเป็นสังคมการเรียนที่มีความใกล้ชิด และได้รับการฟูมฟักจากอาจารย์อย่างอบอุ่น ที่สำคัญมีเครือข่ายความร่วมมือจากสถานประกอบการมากมาย ที่พร้อมจะส่งนักศึกษาไปเรียนรู้และฝึกงาน และส่วนตัวชอบเรียนวิทยาศาสตร์ สนใจเรื่องอาหาร จึงเลือกเรียนสาขานี้ ตั้งเป้าหมายจะเป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพอาหารในโรงงานอุตสาหกรรม และวิจัยอาหาร “ทุกสาขาวิชาชีพมีคุณค่า และมีความน่าสนใจเฉพาะตัว” สำหรับคนที่จะเข้ามาเรียนในสาขา Food Science. ต้องมีพื้นฐานสายวิทย์คณิต ที่แน่นพอสมควร รู้จักอัพเดตความรู้ด้วยตนเองสม่ำเสมอ จะทำให้สามารถเรียนได้อย่างราบรื่น ภายใต้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

นี่เป็นตัวอย่างรุ่นพี่ ที่สะท้อนคุณค่าความเป็นเกษตรในยุค 4.0 ที่ตั้งใจและฝากไปยังน้องมัธยมศึกษาในการเลือกเรียนคณะเทคโนโลยีการเกษตร…ที่สำคัญ อย่ามองข้ามอาชีพเกษตรฯ ที่ขับเคลื่อนและหล่อเลี้ยงผู้คนในโลกใบนี้

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในการประชุมหารือร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตัวแทนภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งตัวแทนจากโรงพยาบาลทั้ง 4 ภูมิภาค จนนำไปสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงกับทางกรมการแพทย์แผนไทย โดยสภาเกษตรกรแห่งชาติจะปลูกกัญชาแบบเกษตรอินทรีย์เท่านั้นส่งให้กับกรมการแพทย์แผนไทย เพราะทำอาหารต้องปลอดภัยมาก ทำเป็นยายิ่งต้องปลอดภัยมากยิ่งกว่า จึงเสนอการปลูกกัญชาแบบเกษตรอินทรีย์แบบลงทุนให้ฟรีเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์อย่างแท้จริง

นำร่อง 4 จังหวัด คือ ลำปาง บุรีรัมย์ กาญจนบุรี และสุราษฎร์ธานี ด้วยพื้นที่ 2×2 เมตร 400 ต้น/ไร่ จังหวัดละ 5 ไร่ ปลูกทั้งแบบในโรงเรือนและนอกโรงเรือนซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะลงพื้นที่ไปตรวจสอบ วิเคราะห์ทุกขั้นตอน เหตุที่เลือก 4 จังหวัดนำร่องดังที่กล่าวไปเพราะมีตัวแทนเกษตรกรที่อาสาสมัครเข้ามาและมีความพร้อม พร้อมทั้งในแง่ของหัวใจ ทุนทรัพย์ ด้วยการปลูกนำร่องนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายอื่นใดให้เลย ทุกคนต้องลงทุนควักกระเป๋าเอง อย่างน้อยที่สุดคนละ 1 ล้านบาท ลงทุนฟรีให้กับราชการจะได้เงินหรือไม่ได้เงินคืนมาไม่ทราบได้ ที่อาสาปลูกเพราะต้องการความรู้และความสำเร็จเพื่อประกาศให้คนไทยทั้งประเทศรู้ว่าเกษตรกรก็สามารถปลูกได้ ได้ผลผลิตดีและมีคุณภาพไม่ต้องพึ่งต่างชาติมากเกินไปเหมือนเช่นปัจจุบันนี้

อย่างไรก็ตาม จากการที่สภาเกษตรกรแห่งชาติได้จัดเวทีโครงการ “ประชุมสัมมนาขับเคลื่อนการพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์” 6 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง สกลนคร นครศรีธรรมราช อุทัยธานี ตรัง กระบี่ มีผู้สนใจเข้าร่วมงาน 3,238 คน และจากการสำรวจออนไลน์เรื่องความสนใจการใช้กัญชาตั้งแต่ วันที่ 23 มีนาคม 2562 ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 มีผู้สนใจทำแบบสอบถามจำนวนทั้งสิ้น 6,195 คน ประกอบอาชีพ เกษตรกร ร้อยละ 72.95% อาชีพอิสระ ร้อยละ 8.58% ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 6.45% รับราชการ 4.57% พนักงานเอกชน ร้อยละ 2.89% เป็นต้น โดยสนใจใช้เพื่อรักษาโรค เหตุผล รักษาตนเอง 3,449 คน คิดเป็นร้อยละ 55.7%, รักษาคนในครอบครัว/คนรู้จัก 2,488 คน คิดเป็นร้อยละ 40.2%, เพื่อความรู้ 2,988 คน คิดเป็นร้อยละ 48.2% และสนใจปลูกกัญชา 3,624 คน คิดเป็นร้อยละ 58.5%

“ขณะนี้การปลูกกัญชาในเชิงพาณิชย์ยังไม่อนุญาต หากเกษตรกรปลูกไปก่อนก็ขายไม่ได้และอาจจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย สภาเกษตรกรฯ จึงขอเริ่มต้นจากพื้นที่ที่มีความพร้อมก่อน ปลูกในเชิงการวิจัยและต้องสละทั้งเงิน เวลา บุคลากรที่จะต้องทุ่มเทให้สำเร็จให้ได้ เพราะฉะนั้นขอให้อดใจรอจนกว่าสังคมจะเปิดกว้างกว่านี้ กฎหมายผ่อนปรนมากกว่านี้ ขอให้สภาเกษตรกรฯ กรุยทางให้เดินก่อนแล้วเกษตรกรค่อยเดินตามหลังมา อดใจรอ 4 จังหวัดนำร่องปลูกไปก่อน และหากเป็นไปได้ก็อยากผลักดันกฎหมายให้ขยายผลการปลูกออกไปได้ทุกพื้นที่จังหวัดในอนาคต” นายประพัฒน์ กล่าวปิดท้าย

วันที่ 10 มิถุนายน 2562 นายประยูร อินสกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กรมส่งเสริมสหกรณ์ (อพ.สธ.-กสส.) ครั้งที่ 1/2562 ณ ห้องประชุม 226 กรมส่งเสริมสหกรณ์ เทเวศร์ กรุงเทพมหานคร โดยมี ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ เลขานุการคณะกรรมการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมากจากพระราชดำริฯ

ผู้เชี่ยวชาญ เลขานุการกรม ผู้อำนวยการสำนัก/กอง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ซึ่งการประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสรุปผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ตามกรอบการดำเนินงานของ อพ.สธ.-กสส. รวมทั้งรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 (ตุลาคม 2561-พฤษภาคม 2562) พิจารณาทบทวนแผนปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 และ พ.ศ. 2563 และการทบทวน และ/หรือ พิจารณาปรับแผนแม่บท อพ.สธ. ระยะ 5 ปี (1 ตุลาคม-30 กันยายน 2564) กรมส่งเสริมสหกรณ์ให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และ พ.ศ. 2564

สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ.2562 กรมส่งเสริมสหกรณ์มีโครงการเพื่อปฏิบัติงานภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 7 โครงการ ตามแนวทางที่ได้ปรับปรุงตามมติที่ประชุม อพ.สธ.-กสส. ครั้งที่ 1/2561 ประกอบด้วย

โครงการสำรวจ เก็บรวบรวมพันธุกรรมพืชในพื้นที่นิคมสหกรณ์
โครงการปลูกรักษาพันธุกรรมพืชในพื้นที่นิคมสหกรณ์
โครงการรวบรวมข้อมูลด้านพันธุกรรมพืช
โครงการอบรมสมาชิกการใช้ประโยชน์ทรัพยากร ดำเนินการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)/สถานศึกษาที่ร่วมสนองพระราชดำริ อพ.สธ.
โครงการสร้างจิตสำนึก
โครงการการสร้างวิทยากร
โครงการการดำเนินงาน การติดตามผลการดำเนินงาน
การดำเนินงานโครงการ ในปี พ.ศ. 2563 จะมีการปรับ/เพิ่มเติมข้อความการดำเนินงานโครงการและกิจกรรมให้ชัดเจน และเพิ่มเติมกิจกรรมการจัดทำ QR Code และกิจกรรมการศึกษาดูงานภายใต้โครงการสร้างจิตสำนึก รวมทั้งจะดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพื่อเชิญชวน อบต. วัด โรงเรียน สมัครเข้าร่วมสนองโครงการต่อไป

กรมหม่อนไหม จัดประชุมวิชาการหม่อนไหม ประจำปี 2562 พร้อมมอบรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ชูผลงานวิจัยที่มีการต่อยอดนวัตกรรม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและลดต้นทุนให้เกษตรกร โดยการพัฒนาเยื่อโครงสร้างไฮโดรเจลจากโปรตีนไหมไฟโบรอินเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางชีวการแพทย์ งานวิจัยที่เพิ่มมูลค่าให้กับไหมไทย เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์เฉพาะทางการแพทย์ที่มีมูลค่าสูง ได้รับรางวัลดีเด่นงานวิจัยประเภทประยุกต์

นางสาวศิริพร บุญชู อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า กรมหม่อนไหม รับผิดชอบงานการพัฒนาหม่อนไหมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำแบบครบวงจร การพัฒนางานวิจัยจึงเป็นเรื่องตั้งแต่วัตถุดิบต้นน้ำ ไปจนถึงการแปรรูปที่เป็นปลายน้ำ ลักษณะของงานวิจัยของไหมที่ออกมาจะต้องเป็นงานวิจัยที่ตอบโจทย์ ทั้งในเรื่องการแก้ปัญหาของเกษตร ผลผลิต การแปรรูป การตลาด และเน้นการต่อยอดนวัตกรรมเพื่อที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าหม่อนไหม นอกจากนี้แล้ว ในปัจจุบันงานวิจัยจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมอีกด้วย

สำหรับการคัดเลือกผลงานวิจัยในปีนี้ คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผลงานวิจัยดีเด่น ประจำปี 2562 ได้พิจารณาผลงานวิจัยที่เข้าร่วมนำเสนอและส่งผลงานเข้าร่วมพิจารณาผลงานวิจัยดีเด่นในงานประชุมวิชาการหม่อนไหมแบ่งประเภทของผลงานเป็น 3 ประเภท ตามวัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน คือ 1.งานวิจัยประเภทพื้นฐาน เพื่อแสวงหาความรู้หรือทฤษฎีใหม่หรือการพิสูจน์ทฤษฎีเดิม 2.งานวิจัยประเภทประยุกต์ เป็นการต่อยอดงานวิจัยพื้นฐาน เพื่อให้ได้แนวทางการปฏิบัติหรือแก้ไขปัญหาและ 3.งานวิจัยประเภทพัฒนา เป็นงานวิจัยด้านการส่งเสริมและบริการ ซึ่งมีกลุ่มเกษตรกรเป็นผู้ร่วมดำเนินการวิจัย

ทั้งนี้ งานวิจัยประเภทพื้นฐาน ผลงานวิจัยระดับดี ได้แก่ การวิเคราะห์ลำดับเบสของ cpDNAtrnL-trnFและ nrDNA ITS ในหม่อนพันธุ์อนุรักษ์ ของ นางบุษรา จงรวยทรัพย์ ผลงานวิจัยระดับชมเชย 2 เรื่อง ได้แก่ การศึกษาการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์โพรลีนเพื่อช่วยคัดเลือกพันธุ์หม่อนในสภาวะขาดน้ำของ นางมนัสวี สุริยวนากุล

และผลของการใช้เส้นไหมไทยที่สาวด้วยวิธีการต่างๆ ต่อคุณสมบัติผ้าไหมของ นายอานุภาพ โตสุวรรณ งานวิจัยประเภทประยุกต์ ผลงานวิจัยระดับดีเด่น ได้แก่ การพัฒนาเยื่อโครงสร้างไฮโดรเจลจากโปรตีนไหมไฟโบรอินเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางชีวการแพทย์ของ นางสาวศศิพิมพ์ ลิ่มมณี

ผลงานวิจัยระดับดี 2 เรื่อง ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผลหม่อนผงจากน้ำหม่อนโดยการทำแห้งแบบโฟมแมทของ นายธนกิจ ถาหมี และกระบวนการผลิตแอนโทไซยานินผงจากผลหม่อนสำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของ นางเสาวนีย์ อภิญญานุวัฒน์ ผลงานวิจัยระดับชมเชย ได้แก่ การศึกษาพันธุ์ไหมไทยที่เหมาะสมในการผลิตกระดาษใยไหมของ นายแดนชัย แก้วต๊ะ

งานวิจัยประเภทพัฒนา ผลงานวิจัยระดับดี ได้แก่ การวิจัยและพัฒนาลวดลายผ้าบาติกไหมไทยภาคใต้เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์แฟชั่นไหมไทยร่วมสมัย ปี 2561 ของ นายสุรเดช ธีระกุล และผลงานวิจัยระดับชมเชย ได้แก่ การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของการผลิตผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานกรณีศึกษา วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ ต.ท่าเรือ อ.นาหว้า จ.นครพนม ในปี พ.ศ. 2561 ของ นางเกศสุดา ใหม่สาร ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจผลงานวิจัยของกรมหม่อนไหม สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1275.

เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เผยที่มาการมีผู้แทนเกษตรกร เตรียมพร้อมเลือกตั้ง 16 มิถุนายน 2562 พร้อมเชิญชวนเกษตรกรสมาชิกออกมาใช้สิทธิให้มาก

นายสไกร พิมพ์บึง รองเลขาธิการ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เปิดเผยว่า การมีผู้แทนเกษตรกร เป็นกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ตาม พ.ร.บ. กองทุนฟื้นฟูฯ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 และมาตรา 13 กำหนดให้มีคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร มีองค์ประกอบ 3 ส่วน ได้แก่

1 กรรมการโดยตำแหน่ง ที่มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธาน

2.กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวน 11 คน และ

3. กรรมการที่เป็นผู้แทนเกษตรกร จำนวน 20 คน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ลงนามแต่งตั้ง ผู้แทนเกษตรกรที่ได้รับเลือกตั้งจากสมาชิกองค์กรเกษตรกรใน 4 ภูมิภาค จำแนกเป็นผู้แทนภาคเหนือ 5 คน ภาคกลาง 4 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 คน และภาคใต้ 4 คน

ตามคำสั่ง คสช. ที่ 26/2560 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 ให้มอบหมายให้คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจดำเนินการตามภารกิจ 3 เรื่อง คือ 1.การแก้ไขปัญหาหนี้เร่งด่วน 2.การแก้ปัญหาภายในสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และ 3.การได้มาซึ่งคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งผู้แทนเกษตรกรในคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของคณะกรรมการ จึงจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรเพื่อเป็นกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ในวันที่ 16 มิถุนายน 2562 นี้