ทำความรู้จักกับ Assamese lemon พันธุ์ลูกใหญ่นั้นเป็นพันธุ์เบา

ออกดอกติดผลง่าย โดยไม่ต้องรอฤดูกาลหรือสภาพอากาศ ผลมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก หนักประมาณผลละ 4-6 ขีด เท่าที่รู้มาเลม่อนพันธุ์นี้มาจากประเทศอินเดีย” เอาละซิคะ มาเจอโจทย์ยากว่าเลม่อนพันธุ์ลูกใหญ่ที่คุณอังคณาปลูกไว้มันคือ เลม่อนพันธุ์อะไรกันแน่ รันตีรับโจทย์มาแล้ว ก็มาค้นหาข้อมูลทั้งจากหนังสือ จากอินเตอร์เน็ตอยู่หลายวัน ก็มาได้คำตอบว่า มันคือ Assamese lemon หรือ Kaji nemu หรือเรียกตามชื่อและแหล่งปลูกว่า เลม่อนอัสสัม ซึ่งสอดคล้องกับที่คุณอังคณาบอกว่า

รู้ว่าเลม่อนพันธุ์ลูกใหญ่นี้มาจากประเทศอินเดีย รัฐอัสสัม เป็นรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งมีฝนตกชุก จึงมีพืชพรรณที่อุดมสมบูรณ์ จึงน่าจะมีความหลากหลายของพันธุ์พืช ดังนั้น ในบทความนี้ รันตีจึงขอเรียกเลม่อนพันธุ์ลูกใหญ่นี้ว่า เลม่อนอัสสัม นะคะ จะถูกจะผิดวานผู้รู้มาตอบให้กระจ่าง ก็คงจะดีไม่น้อยเลยค่ะ แต่รันตีต้องขออนุญาตบอกไว้ตรงนี้ว่า

แม้คุณอังคณาจะบอกว่า เลม่อนอัสสัม ออกดอกติดผลได้โดยไม่คำนึงถึงฤดูกาล แต่รันตีคิดว่าเลม่อนอัสสัมคงจะต้องการความเย็น ต้องการอุณหภูมิต่ำพอสมควร ในการเจริญเติบโต ติดดอกออกผลและให้ผลผลิตที่ดี เพราะดูจากแหล่งกำเนิดในอินเดียและสังเกตจากแหล่งที่ปลูกคือ สวนของคุณอังคณาที่อยู่ใกล้เขา และมีสภาพพื้นที่เป็นที่สูงชายป่า ที่มีอุณหภูมิสบายๆ ในตอนกลางวัน และน่าจะค่อนข้างเย็นในตอนกลางคืน ส่วนในฤดูหนาวคงจะมีอุณหภูมิต่ำพอสมควร คงจะมีส่วนทำให้การเจริญเติบโตและผลผลิตเลม่อนอัสสัมมีคุณภาพดีอย่างที่เห็น

เลม่อนอัสสัม บังคับให้ออกดอกได้ ขายกิโลละ 150 บาท

เลม่อนอัสสัมนั้น คุณอังคณา บอกว่า เป็นเลม่อนพันธุ์เบา ปลูกจากกิ่งตอน ประมาณ 6 เดือน ก็ออกดอก โดยไม่รอฤดูกาล “การปลูกเลม่อนอัสสัม ก็เหมือนกับการปลูกมะนาวทั่วไป แต่เราปลูกแบบอินทรีย์ จึงไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยที่เราให้คือ ปุ๋ยคอกขี้วัว ขี้แพะ ต้นละประมาณ 1 กิโลกรัม ให้ปุ๋ย 3 เดือนครั้ง ส่วนการบังคับให้เลม่อนอัสสัมออกดอกทำได้โดย ตัดแต่งใบออกให้เหลือใบจำนวนน้อย 3-4 ข้อใบ หลังจากนั้นเลม่อนจะออกใบใหม่มาพร้อมกับช่อดอก ระยะเวลาตั้งแต่เลม่อนอัสสัมออกดอกจนถึงสีผลเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เก็บเกี่ยวได้ ใช้เวลาประมาณ 5 เดือน โดยที่ไม่ต้องห่อผล ไม่มีโรคและแมลงทำลาย ลักษณะพิเศษของเลม่อนอัสสัมคือ ผิวเปลือกไม่มีรสขม มีกลิ่นหอม ปริมาณผลผลิตสูง ประมาณต้นละ 80-100 กิโลกรัม” คุณอังคณา เล่า

มีบริษัทมารับซื้อผลผลิตให้ราคาสูง

สำหรับผลผลิตเลม่อนทั้งเลม่อนพันธุ์ลูกกลมและเลม่อนอัสสัมนั้น จะมีบริษัทมารับซื้อผลผลิตถึงสวน สัปดาห์ละ 2 ครั้ง “เราผลิตแบบอินทรีย์ ที่มีกลุ่มเกษตรกรให้การรับรอง ทำให้เรามีตลาดที่แตกต่างจากคนอื่น บริษัทที่มารับซื้อผลผลิตของเราเป็นบริษัทที่ผลิตและส่งออกอาหาร ผักผลไม้อินทรีย์ ที่ต้องการผลผลิตจำนวนมาก เลม่อนลูกกลมบริษัทจะรับซื้อราคา กิโลกรัมละ 50-60 บาท ส่วนเลม่อนอัสสัม บริษัทจะรับซื้อราคา กิโลกรัมละ 150 บาท เอาไปใช้ทำแยม ทำเค้กผิวส้ม ส่วนมะนาวควายก็ขายได้ราคา กิโลกรัมละ 20 บาท มะนาวควายลูกใหญ่ น้ำหนักดี ลูกหนึ่งหนักกิโลกว่าๆ แต่การที่จะขายให้ได้ราคาดีแบบนี้ ตัวเราเองต้องมีความซื่อสัตย์ ผลิตแบบเกษตรอินทรีย์จริงๆ ไม่ใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี เพื่อรักษาความเชื่อใจกันไว้” คุณอังคณา เล่า

เตรียมขยายพื้นที่ปลูก ขายกิ่งพันธุ์

คุณอังคณา บอกว่า ตอนนี้ราคาและตลาดของเลม่อนทั้ง 2 พันธุ์ ไปได้ดีมาก คงจะเป็นเพราะยังมีเกษตรกรปลูกน้อยราย ผลผลิตจึงยังมีน้อย ตอนนี้จึงได้ตอนกิ่งเลม่อนทั้ง 2 พันธุ์ เอาไว้เพื่อเตรียมขยายพื้นที่ปลูกออกไปอีก โดยจะเน้นปลูกเลม่อนอัสสัม เพราะปลูกง่าย ให้ผลผลิตสูง ราคาดี ส่วนเลม่อนพันธุ์ลูกกลมนั้นปลูกง่าย แต่ปริมาณผลผลิตต่ำ “ก็จะพยายามขยายพันธุ์เลม่อนทั้ง 2 พันธุ์ เอาไว้เพื่อขยายพื้นที่ปลูกออกไปอีก ส่วนต้นพันธุ์ที่มีก็จะขาย ใครสนใจสามารถติดต่อมาได้ค่ะ” คุณอังคณา บอก ใครสนใจติดต่อไปได้ที่ โทร. (085) 429-7821 หรือ (096) 131-1907 ค่ะ

เป็นอย่างไรบ้างคะ เรื่องราวดีๆ ที่รันตีนำมาเสนอ แต่ก่อนจะเชื่อแบบหมดใจ หรือเชื่อจนจะกระโดดเข้าไปลงทุน ควรศึกษาข้อมูลประกอบให้รอบด้านก่อนนะคะ ด้วยความปรารถนาดีจากรันตีสาวสวยรวยน้ำใจค่ะ ฉบับนี้ลากันไปก่อน รันตีขอพาหน้าไปเข้าสปารักษาอาการแดดเผาให้หายดีก่อนนะคะ แล้วจะพาออกไปหาความรู้ ประสบการณ์ ท่องโลกกว้างทางการเกษตรกันต่อไป ฉบับนี้สวัสดีค่ะ

วิธีลดความเสี่ยงด้วยการปรับเปลี่ยนจากไม้ผลเชิงเดี่ยวมาเป็นแบบผสมผสานถือเป็นแนวทางประกอบอาชีพของเกษตรกรยุคใหม่ที่นับวันจะประสบความสำเร็จกันมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างเช่น “ไร่คุณชาย” ที่ไทรโยค เมืองกาญจน์ ที่ประสบความสำเร็จจากการปลูกไม้ผลหลายชนิดแบบผสมผสานด้วยวิธีทางธรรมชาติ ควบคู่กับหลักวิชาการ ผนวกกับภูมิปัญญาดั้งเดิม จึงช่วยลดโรค/แมลง ลดต้นทุน สร้างคุณภาพผลไม้เกรดพรีเมี่ยมเน้นส่งขายตลาดนอก พร้อมเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวดึงชาวต่างชาติเข้ามาอุดหนุนสินค้ากันอย่างคึกคัก

คุณสมชาย แซ่ตัน เจ้าของ “ไร่คุณชาย” ที่ตั้งอยู่เลขที่ 296 หมู่ที่ 4 ตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เล่าว่า เดิมครอบครัวยึดอาชีพทำสวนอยู่แล้ว ส่วนตัวเขากลับออกไปตระเวนหางานตามรีสอร์ตและโรงแรมในละแวกบ้าน เมื่อมีเวลาว่างจะมาช่วยดูแลสวนมะม่วงของคุณพ่อ

กระทั่งเกิดความคิดทดลองทำมะม่วงนอกฤดูด้วยการศึกษาหาความรู้จากแผ่นพับที่ได้รับแจก จนประสบความสำเร็จได้ผลดีมาก แล้วยังต่อยอดด้วยการผลิตมะม่วงนอกฤดูส่งขายให้กับญี่ปุ่นสร้างรายได้อย่างงดงาม แต่ภายหลังต้องหยุดชะงักเพราะจากผลของมาตรการเข้มงวดเรื่องคุณภาพผลไม้ส่งออก

ขณะเดียวกัน ในสวนมะม่วงมีต้นมะนาวปลูกแซมไว้ ดังนั้น คุณสมชายจึงเบนเข็มมาทำมะนาวนอกฤดูสำหรับไว้ขายตลาดในประเทศแทน เป็นพันธุ์มะนาวแป้นรำไพ ซึ่งพันธุ์นี้ตลาดมีความต้องการแล้วราคาดีมาก

คุณสมชายใช้แนวทางการทำมะนาวนอกฤดูของเขาเช่นเดียวกับเมื่อครั้งทำมะม่วงนอกฤดูซึ่งจะไม่ใช้ราดสาร แต่จะใช้วิธีสร้างความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ พร้อมกับเผยวิธีการทำมะนาวนอกฤดูในแบบฉบับของตัวเองว่าในช่วงต้นเดือนสิงหาคมจะใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 จำนวน 1 ครั้ง แล้วปลายเดือนใส่อีกสัก 1 ครั้ง ในอัตรา 2-3 ขีด ต่อต้น (ต้องเริ่มกับต้นมะนาวอายุ 5 ปี) หลังจากนั้น ใช้ปุ๋ยทางใบสูตร 0-52-34 ฉีดพ่นช่วย

ขณะที่จะต้องแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง ควรตัดกิ่งด้านในที่หนาแน่นออกให้หมด เพื่อให้แสงแดดส่องผ่านได้ง่าย แล้วให้ใส่ปุ๋ยสูตร 13-0-46 ในอัตราส่วน 300 กรัม ใช้ไทโอยูเรีย 30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสาหร่ายอีก 20 ซีซี แล้วฉีดพ่นทั้งต้นให้ชุ่ม หลังจากนั้นอีก 7 วัน ให้ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 หรือ 16-16-16 หว่านลงดินแล้วรดน้ำตามในทุกสัปดาห์ละครั้ง และระหว่างนั้นถ้าฝนตกไม่ต้องให้น้ำ แล้วให้เสริมแคลเซียมโบรอนด้วย

คุณสมชายกล่าวยอมรับว่า การราดสารเพื่อให้มีผลผลิตนอกฤดูกาลเป็นแนวทางที่สะดวก แล้วขายได้ราคาดี แต่มีข้อเสียตรงที่จะทำให้พืชมีอายุสั้น พร้อมทั้งชี้ว่าแนวทางของเขาเป็นไปตามธรรมชาติที่ช่วยทำให้ดอกมีความสมบูรณ์มากกว่า ส่งผลให้มีผลผลิตดกและมีคุณภาพน้ำหนักดีมากด้วย

มะนาวที่คุณสมชายปลูกมีจำนวนกว่า 1,000 ต้น โดยเน้นผลิตมะนาวนอกฤดูเท่านั้นเพราะราคาดี ถึงแม้จะมีผลผลิตทยอยออกมาบ้าง แต่เขาไม่ต้องการ ทั้งนี้ เพื่อจะปล่อยให้ต้นมะนาวได้พัก ระหว่างนั้นจะตัดแต่งกิ่งและบำรุงดิน เพื่อรอเตรียมการผลิตในรุ่นต่อไป

ผลสำเร็จของมะนาวทำให้คุณสมชายวางแผนปลูกไม้ผลชนิดอื่นในพื้นที่ทั้งหมด 40 ไร่ ตามมาอีก ไม่ว่าจะเป็น มะละกอฮอลแลนด์ กล้วยไข่ กล้วยหอม เงาะ ปลูกอยู่รวมกันโดยอาศัยความเป็นธรรมชาติ ตลอดจนคุณสมบัติเฉพาะที่มีในไม้ผลแต่ละชนิดช่วยเกื้อกูลกัน

นอกจากการปลูกไม้ผลร่วมในแปลงเดียวกันแล้ว ยังต้องปลูกสลับแถวเพื่อป้องกันการเกิดโรคไวรัส ซึ่งแนวทางนี้ช่วยให้อัตราการเป็นโรคไวรัสลดลงมาก โดยปกติในพื้นที่ละแวกนี้จะปลูกมะละกอฮอลแลนด์ไม่ได้เลยเพราะเจอโรคไวรัสอย่างหนัก แต่พอได้ทดลองปลูกมะละกอจำนวน 2 แถว สลับกับกล้วยไข่จำนวน 1 แถว ปรากฏว่าอัตราการเป็นโรคไวรัสเหลือไม่ถึงเปอร์เซ็นต์ แล้วยังพบว่าไม่มีแมลงศัตรูมารบกวนเหมือนอย่างเมื่อก่อน จึงทำให้ช่วยลดต้นทุนการใช้ยา

ขณะเดียวกัน ผลมะละกอของต้นที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตกมักจะถูกแดดเผาจนไหม้ได้รับความเสียหาย แต่เมื่อปลูกกล้วยไข่สลับทำให้ผลมะละกอได้รับร่มเงาจากใบกล้วย จึงทำให้มีความสมบูรณ์มาก ทั้งยังช่วยทำให้ได้จำนวนผลผลิตเพิ่มขึ้น สมบูรณ์มากขึ้น แล้วมีคุณภาพอีก

สำหรับสวนของคุณสมชายใช้ปุ๋ยคอกเพื่อเสริมสร้างคุณภาพไม้ผลเป็นหลัก ทั้งนี้ การใส่ปุ๋ยบำรุงต้นจะใช้หลักทางวิชาการผสมกับความเป็นธรรมชาติร่วมกับแนวทางภูมิปัญญาของชาวบ้านในไม้ผลแต่ละชนิด พร้อมกับชี้ว่ามีหลายคนเข้าใจว่าถ้าใส่ปุ๋ยคอกเพียงครั้งเดียวพืชจะอยู่ได้ไปถึง 3 เดือน แต่พอเขาทำเช่นนั้นกับกล้วยและมะละกอพบว่าใบเหลือง จึงอาจจำเป็นต้องสลับกับเคมี (เล็กน้อย) บ้าง เนื่องจากปุ๋ยคอกมีธาตุอาหารน้อย แต่ข้อดีของปุ๋ยคอกอยู่ตรงที่ช่วยปรับโครงสร้างดินให้ร่วนซุยจึงทำให้พืชได้รับอาหารในดินอย่างเต็มที่

แนวทางการปลูกไม้ผลแบบผสมผสานเพื่อให้ธรรมชาติเกื้อกูลกันจึงทำให้ผลไม้ทุกชนิดในสวนคุณชายมีคุณภาพสมบูรณ์เต็มที่ ทั้งขนาด รสชาติ และทรงผล อีกทั้งยังมีผลผลิตสลับผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตลอดทั้งปี ในบางเวลามีพร้อมกัน หรือบางเวลาอาจเหลื่อมกันเล็กน้อย

ฉะนั้น มะละกอฮอลแลนด์ที่ปลูกมีจำนวนพันกว่าต้นจะได้ผลผลิตรวมต่อปีเฉลี่ยประมาณ 90 กว่าตัน มีน้ำหนักต่อผลไม่ต่ำกว่า 1 กิโลกรัม กล้วยไข่ให้ผลผลิตดีมาก ปลูกแล้วส่งขายตลาดต่างประเทศ

ไม่เพียงใส่ใจกับการปลูกไม้ผลเพื่อให้มีคุณภาพ แต่คุณสมชายมองว่าการรักษาความชุ่มชื้นในสวนจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติให้ดีขึ้นด้วย เหตุนี้เองบริเวณทางเดินภายในสวนถูกปูด้วยหญ้ามาเลเซียเพื่อสร้างบรรยากาศให้ดูสวยงามเป็นระเบียบ อีกทั้งยังช่วยรักษาหน้าดินให้มีความสมบูรณ์ รวมถึงยังช่วยรักษาอุณหภูมิในสวนได้อย่างดี โดยเฉพาะหน้าร้อนอุณหภูมิในสวนจะไม่ร้อนมาก เพราะหญ้าที่คลุมดินได้อุ้มความชื้นไว้แล้วจะคายความชื้นออกมา

นอกจากไม้ผลหลักที่กล่าวมาแล้วบริเวณรอบที่ดินของคุณสมชายยังปลูกพืชไม้ผลชนิดอื่นๆ อีก อย่างฝรั่ง ทุเรียน หรือผักใบ ไม้ดอก เพื่อเป็นการวางแผนดึงนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นคนไทย คนจีน คนรัสเซีย ที่มีตลอดทั้งปีสลับหมุนเวียนกัน ซึ่งวัตถุประสงค์ที่ต้องการจัดสวนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพราะต้องการให้ได้เรียนรู้วิถีชีวิตการเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวน ให้มารู้จักกับไม้ผลชนิดต่างๆ รวมถึงยังมีการนำไม้ผล พืชผัก และของใช้ทางหัตถกรรมมาจำหน่ายด้วย

ปัจจุบันไร่คุณชายมีไม้ผลไว้จำหน่ายตลอดทั้งปี นอกจากนั้น ยังมีไม้ดอกสวยๆ อย่างดาหราตัดส่งขายตามรีสอร์ตและโรงแรมเพื่อสร้างรายได้ สำหรับปี 2561 คุณสมชายวางแผนเชิงรุกด้วยการปลูกไม้ผลเพิ่มอีกหลายชนิด พร้อมได้รับความร่วมมือกับทางชุมชนคุณธรรมพุตะเคียน เพื่อต้องการสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้มีความสมบูรณ์แบบต้อนรับกับนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น

คุณสมชายถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความสำเร็จของชาวสวนผลไม้ ด้วยการนำความรู้ที่เป็นทั้งภูมิปัญญา หลักวิชาการ และความเป็นธรรมชาติมายึดโยงเชื่อมต่อกันจนเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีหรือสารเคมี จึงนับเป็นตลาดสินค้าที่มีความก้าวหน้าอีกแห่ง

สอบถามรายละเอียดสั่งซื้อไม้ผลคุณภาพ หรือต้องการเข้าเยี่ยมชมไร่คุณชายแนวท่องเที่ยวเชิงเกษตรแบบได้สาระ ติดต่อที่ คุณสมชาย แซ่ตัน โทรศัพท์ (081) 981-7355

เป็นกระแสข่าวเรื่องราคายางพาราไม่เว้นแต่ละวันมาตลอดปี 2560 ทั้งราคาขึ้นและราคาลง เพราะยางพาราเป็นสินค้าทางการเกษตร เป็นพืชเศรษฐกิจระดับโลก

ข้อข้องใจในหลายประการของเกษตรกร โดยเฉพาะคำถามที่ต้องการคำตอบ ในเรื่อง “ราคายาง” แต่เหมือนว่า ยังไม่มีความชัดเจนในแนวทางการแก้ปัญหาทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน หรือองค์กรพัฒนาเอกชน ที่จัดตั้งขึ้นมาในรูปแบบต่างๆ ล้วนแต่มีเป้าหมายในการแก้ปัญหาให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารามีความคุ้มทุนและมีผลกำไรตอบแทน

ดร. ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ให้ข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์ยางพารา ที่ผ่านมาตลอดปี 2560 ไว้ดังนี้ ในการประชุมสมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 7 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย อินเดีย มาเลเซีย ไทย ปาปัวนิวกินี สิงคโปร์ และศรีลังกา ชี้ถึงสาเหตุและปัจจัยที่ส่งผลต่อสถานการณ์ราคายาง ดังนี้

ปี 2554 มีความต้องการใช้ยางและการเก็งกำไรสูง ทำให้ราคายางพุ่งสูงมากที่สุด สิ่งที่เกิดขึ้นคือ หลายประเทศได้ขยายพื้นที่ปลูกยางเพิ่มขึ้น ประมาณ 11.9 ล้านไร่

ปี 2559 พื้นที่ปลูกยางดังกล่าว เก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว โดยเฉพาะประเทศผู้ปลูกยางรายใหม่ เช่น กัมพูชา ผลผลิตเพิ่มขึ้น ประมาณร้อยละ 33.1 รองลงมาคือ อินเดีย ผลผลิตเพิ่มขึ้น ประมาณร้อยละ 21.0 และเวียดนาม ผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.3 แต่ขณะเดียวกัน มีเหตุจากอุทกภัยภาคใต้ ปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ยางถึง 300,000 ตัน

ในปี 2560 ปริมาณผลผลิตมากกว่าความต้องการใช้ ประมาณ 50,000 ตัน และในอนาคตมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดการณ์ในปี 2561 จะมีปริมาณผลผลิตมากกว่าความต้องการใช้ ประมาณ 438,000 ตัน

การเก็งกำไรในตลาดล่วงหน้า ทำให้บางบริษัทขนาดใหญ่มีการขายทำกำไรไว้แล้วในราคาที่สูง จึงมีความพยายามทำให้ราคาลดต่ำลง เพื่อให้ได้ผลกำไรในตลาดล่วงหน้า

โดยสรุป ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อสถานการณ์ราคายางในช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมา ทั้งราคายางในตลาดล่วงหน้า (โตเกียว เซี่ยงไฮ้ ไซคอม) และตลาดในประเทศที่ปรับตัวลดลงทุกตลาดไปในทิศทางเดียวกัน

มาตรการต้นทาง

โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการกิจการยาง (วงเงิน 10,000 ล้านบาท) โครงการนี้ มีขึ้นเพื่อให้ผู้ประกอบการแปรรูปน้ำยางข้นใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการรับซื้อผลผลิตน้ำยางสด ช่วยดูดซับน้ำยางออกจากระบบได้เร็ว ประมาณ 200,000 ตัน จากการผลิตทั้งปี แนวทางในการดำเนินงานคือ สนับสนุนเงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบกิจการแปรรูปน้ำยาง มีบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 39 บริษัท ครอบคลุม 57 โรงงาน ทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าผลที่ได้จะทำให้ราคาน้ำยางสดปรับตัวสูงขึ้น จากเดิมราคารับซื้ออยู่ที่ กิโลกรัมละ 38 บาท ปัจจุบันราคาปรับขึ้นอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 43 บาท
การตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์ยางพารา เมื่อราคายางและปริมาณยางผิดปกติ ศูนย์ดังกล่าวจึงมีขึ้นเพื่อติดตามข่าวสาร การซื้อขายและสถานการณ์ราคายางผันผวน มีการดำเนินงานในการติดตามด้วยการลงพื้นที่ ตรวจสอบข้อมูลโรงงานผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น ปริมาณยาง บัญชีซื้อขาย เพื่อให้เห็นว่า ไม่มีการกักตุนหรือกดราคาเกษตรกร จัดว่าเป็นมาตรการเชิงปรามและป้องกัน
มาตรการกลางทาง เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหายางแผ่น

ตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายาง ภาคใต้ชื่อ บริษัทร่วมทุนยางพาราไทย จำกัด เนื่องจาก กยท. เห็นว่า เป็นวิธีที่รัฐและเอกชนจะร่วมกันระดมทุนเพื่อสร้างแรงซื้อในตลาด แก้ปัญหาราคายางให้เกิดเสถียรภาพ ราคาเป็นธรรม นำไปสู่ราคาอ้างอิงที่จะตกลงซื้อขายผ่านตลาดเอกชนทั่วไป และทดแทนการแก้ปัญหาของรัฐบาลในการพยุงราคา
บริษัทร่วมทุนฯ นี้ จะเข้าซื้อยางในราคาชี้นำสูงถึง 2 บาท ในตลาดกลางยางพาราของ กยท. ทั้ง 6 แห่ง และนำยางที่ประมูลได้ไปแปรรูปเพิ่มมูลค่าต่อไป โดยปัจจุบัน บริษัทร่วมทุนฯ ทำหน้าที่ซื้อยางในระบบไปแล้ว 15,137 ตัน คิดเป็นเงิน 844 ล้านบาท

เพิ่มกำลังซื้อและบริหารจัดการตลาดของ กยท. ให้มีมาตรฐาน มีคุณภาพ และสะดวกรวดเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ซื้อผู้ขายทั้งในและต่างประเทศ โดยปฏิรูปใหม่ตั้งแต่

การกำหนดระเบียบตลาดยางพาราในการประมูลยางผ่านตลาดกลาง กยท. โดยการประกาศราคากลางเปิดการซื้อขายแต่ละวันทำการ เพื่อให้มีราคาอ้างอิงราคาอย่างเป็นธรรม ซึ่งการประมูลยางแต่ละครั้งจะไม่สูงหรือต่ำกว่าราคากลางเกินกว่า 2 บาท แต่หากเกิดประมูลต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ผู้ซื้อและผู้ขายยังสามารถใช้วิธีตกลงราคาร่วมกันได้

เพิ่มช่องทางตลาด โดยเปิดบริการตลาดประมูลยางล่วงหน้าผ่านตลาดกลาง กยท. เพื่อให้ผู้ขายมีตลาดรองรับแน่นอนและผู้ซื้อมีสินค้าที่แน่นอนตามคุณภาพที่กำหนด โดยจะส่งมอบสินค้าจริงตามจำนวนและคุณภาพที่ตกลงไว้ ภายใน 7 วัน

เปิดตลาดกลางซื้อขายน้ำยางสด เพื่อให้พ่อค้าและเกษตรกรสามารถซื้อขายโดยตรง เพราะหากวัตถุดิบต้นทางที่มีประมาณ 80% ของปริมาณผลผลิตทั้งหมดมีระบบซื้อขายเป็นธรรม จะช่วยแก้ปัญหาการกดราคาได้ โดยเริ่มต้นที่จังหวัดสงขลา เพราะเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำยางสดมากที่สุด และจะขยายต่อไปในพื้นที่ตลาดกลางอื่นๆ

การพัฒนาตลาดเครือข่ายสถาบันเกษตรกรฯ ให้เป็นตลาดเครือข่ายของตลาดกลาง กยท. เพื่อให้ราคาซื้อขายเป็นราคาเดียวกับการขายที่ตลาดยางพารา กยท. ซึ่งปัจจุบัน มีหลายสถาบันเกษตรกรที่เข้าสู่ระบบตลาดเครือข่ายแล้ว

มาตรการปลายทาง เน้นส่งเสริมการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาง

ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการใช้ยางในอีก 3 ปีข้างหน้า จากเดิม 10% เป็น 30% โดยหน่วยงานรัฐ ต้องนำยางไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม โดยปี 2560 มีหน่วยงานรัฐเข้าร่วมโดยใช้น้ำยางข้น จำนวน 10,213.49 ตัน และยางแห้ง จำนวน 1,453.48 ตัน งบประมาณทั้งสิ้น 15,074,604,881.57 บาท และในปี 2561 มีหน่วยงานรัฐแจ้งความประสงค์นำยางไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ แบ่งเป็นน้ำยางข้น จำนวน 9,916.832 ตัน ยางแห้ง 1,132.3895 ตัน งบประมาณรวม 11,583,115,494.570 บาท

ตัวอย่าง หน่วยงานรัฐนำร่อง ได้แก่ กรมทางหลวง ทำเรื่องเสาหลักนำทางด้วยยางพาราแทนปูน ประมาณ 120,000-130,000 ต้น โดยเสา 1 ต้น ใช้ยางแห้ง ประมาณ 15-20 กิโลกรัม ในปี 2560 จะใช้ยางแห้ง ประมาณ 2,250 ตัน งบประมาณ 400 ล้านบาท โดยไม่ได้ของบประมาณจากรัฐเพิ่มเติม ซึ่งแนวโน้มนี้แสดงให้เห็นว่า จะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ

มาตรการแก้ปัญหาราคายาง

ลดพื้นที่ปลูกยางที่ไม่เหมาะสม เพื่อจำกัดปริมาณผลผลิตให้มีความสมดุลกับความต้องการใช้ เป้าหมายปีละ 400,000 ไร่
เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางด้วยระบบเกษตรผสมผสาน โดยการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมชาวสวนยางจากการปลูกพืชเดี่ยว เป็นปลูกยางแบบผสมผสาน ตลอดปี 2560 มีชาวสวนยางโค่นยางแล้วปลูกแทน จำนวน 42,036 ราย พื้นที่ 422,728.50 ไร่ หันมาปลูกแบบผสมผสานมากขึ้น ประมาณร้อยละ 7 ของจำนวนเกษตรกรทั้งหมดที่โค่นยางแล้วปลูก (จำนวน 3,043 ราย พื้นที่ 32,315.30 ไร่) และส่งเสริมให้ชาวสวนยางที่ปลูกยางอยู่แล้วมีรายได้เสริม เช่น ปศุสัตว์ ประมง พืชผักสวนครัว พืชร่วมยาง เป็นต้น มีผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 521 ราย คิดเป็นเงิน 21,486,500 บาท
เพิ่มการใช้ยางในประเทศ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อลดการพึ่งพิงการส่งออกในรูปวัตถุดิบมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่า
เพิ่มรายได้ของคนในประเทศจากยางพารา ผลักดันให้มีการส่งออกในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้น ซึ่ง กยท. มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579)

ในท้ายที่สุด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ยังให้ข้อมูลถึงสถานการณ์ยางพาราในอนาคต ซึ่งวางไว้เป็นโครงการของ กยท. เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา ว่ายังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการขอความเห็นชอบจาก คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) และคณะรัฐมนตรี คือ โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท ซึ่งหากโครงการนี้ผ่านความเห็นชอบและอนุมัติโครงการ สถาบันการเงินจะสามารถให้ผู้ประกอบการยางพารากู้ยืมเงินดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) ช่วยดูดซับปริมาณยางแห้งในประเทศ เช่น ยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน เป็นต้น อันจะช่วยให้ยางแห้งในประเทศลดลงได้มากถึง 400,000 ตัน หากคิดราคาที่กิโลกรัมละ 50 บาท

วังน้ำเขียวเมืองหนาว ภูเขามากมาย น้ำตกหลากหลาย ผลไม้นานาพันธุ์ แดนสวรรค์เมืองในหมอก ที่บอกว่า “สวิสต์เซอร์แลนด์แดนอีสาน” แน่นอนว่าหากพูดถึง อำเภอวังน้ำเขียว สิ่งที่ทุกท่านเห็นภาพคือ แหล่งธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้นานาพรรณ พร้อมอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี ด้วยปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้อำเภอวังน้ำเขียวกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวติดอันดับอย่างรวดเร็ว เดินทางสะดวก ระยะทางไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก

นอกจากอากาศที่เย็นสบายตลอดทั้งปีแล้ว ที่อำเภอวังน้ำเขียวยังขึ้นชื่อในเรื่องของการปลูกผลไม้เมืองหนาว ไม่ว่าจะเป็นองุ่น สตรอเบอรี่ เมล่อน ล้วนได้ผลดี แต่ผลไม้ที่ขึ้นชื่อที่สุดของอำเภอวังน้ำเขียวคือ “พุทรานมสด” มาแล้วต้องได้กิน หากไม่ได้กินถือว่าพลาด และมีหลายท่านพูดว่ากินพุทรานมสดที่ไหนก็ไม่อร่อยเท่าที่วังน้ำเขียว ดังนั้น เราจะพามาเปิดเคล็ดลับการปลูกพุทรานมสดให้หวาน กรอบ กับลุงวิโรจน์ เจ้าของสวนพุทรานมสดขึ้นชื่อของอำเภอวังน้ำเขียว

ลุงวิโรจน์ สุขพรหม เจ้าของสวนพุทรานมสด บ้านเลขที่ 160 หมู่ที่ 2 บ้านท่าวังไทร ตำบลวังหมี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เล่าว่า ลุงปลูกพุทรานมสดมานานกว่า 10 ปี บนพื้นที่ 6 ไร่ สร้างรายได้ดีมาตลอด เนื่องจากพุทรานมสดเป็นอะไรที่ดูแลยาก โรคแมลงเยอะ ใช้ต้นทุนสูง เพราะมีนมเป็นส่วนประกอบหลักในการดูแล เกษตรกรบางรายสู้ไม่ไหวในเรื่องของต้นทุน จึงอาจดัดแปลงสูตรไปจากเดิม ถึงเวลาใส่นมแล้วไม่ใส่ เมื่อผลผลิตออก เก็บไปขายจึงขายไม่ได้ เพราะรสชาติไม่หวานตามที่ตลาดต้องการ หรือบางพื้นที่อากาศไม่เหมาะสมกับการปลูกก็ไม่สามารถทำได้ ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกษตรกรหลายรายถอดใจและทิ้งอาชีพนี้กันไป แต่ลุงยังโชคดีที่ปลูกมานาน มีประสบการณ์ลองผิดลองถูกมามาก คิดว่าในเมื่อเรามีแหล่งผลิตที่อุดมสมบูรณ์ ทุกสิ่งทุกอย่างเอื้ออำนวยขนาดนี้ ถ้าไม่ยอมแพ้ยังไงก็ทำได้ และก็อยู่มาได้ถึงทุกวันนี้

ปลูกพุทรานมสด ให้ได้ผลดี

ที่สวนลุงวิโรจน์ ปลูกพุทราลูกผสม ไม่ใช่ซุปเปอร์จัมโบ้อย่างที่หลายคนเข้าใจ ผลมีลักษณะเป็นทรงรี ผลไม่กลม และขนาดของผลจะมีทั้งลูกเล็ก กลาง ใหญ่ ผสมในต้นเดียวกัน

พุทรา เป็นไม้ผลที่สามารถปลูกได้ทุกพื้นที่ และปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่จะได้ผลดีในช่วงฤดูหนาวและในพื้นที่มีอากาศเย็น ดังนั้น ในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียวจึงได้เปรียบพื้นที่อื่น และนอกเหนือจากอากาศที่เหมาะสมแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการปลูกและการดูแลเป็นพิเศษ…ต้นให้ตัดแต่งทุกปี ให้เหลือแต่ตอ ต้องการให้ต้นสูงขนาดไหนก็ตัดเท่านั้น ที่วังน้ำเขียวมีพุทราหลายสวนมาก แต่พุทราลุงวิโรจน์ติดตลาดเพราะเราทำตามสูตร ไม่มีลดหรือเพิ่ม การดูแล…ต้องดูสภาพอากาศว่าพุทราชอบแบบไหน เหมาะกับพื้นที่อย่างไร พุทราชอบอากาศเย็น ถ้าอากาศร้อนก็ให้น้ำที่โคนต้น ช่วง 2-3 เดือนแรกลงเคมี จะไม่เป็นอันตราย เพราะพุทราจะเริ่มมีลูกเดือนที่ 4 เมื่อพุทราออกลูกให้หยุดการใช้สารเคมี ให้ใช้ชีวภาพแทน พุทราเก็บผลได้ช่วงเดือนที่ 8

การปลูกพุทรานมสดต้องใส่ใจตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดินที่ดี ระบบน้ำอย่าให้ขาด หากจะปลูกนอกพื้นที่ต้องเข้มงวดเรื่องการดูแลรดน้ำ ให้ปุ๋ย ตามอัตราส่วนที่พุทราต้องการ

เจ้าของขุดหลุมปลูก กว้างxลึก 50×50 เซนติเมตร เว็บ SBOBET ใส่แกลบดำ ปุ๋ยขี้วัว รองก้นหลุม ระยะห่างระหว่างต้น 3×3 เมตร เพื่อให้กิ่งของต้นพุทราแผ่ได้เต็มที่ ในพื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกพุทราได้ 64 ต้น ระบบน้ำ ให้พอประมาณอย่าให้แฉะเกิน มีแสงแดดส่องพอประมาณ ระบบน้ำสปริงเกลอร์ให้วันละครั้ง ถ้าวันไหนร้อนจัดควรให้น้ำช่วงเช้า

ปุ๋ย ให้ทุก 10-15 วัน ปุ๋ยที่สวนลุงวิโรจน์ใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์หมักจากมูลสัตว์ หรือเก็บใบไม้ร่วง ผลพุทราที่ตกเน่าใต้ต้นก็สามารถนำไปหมักเป็นปุ๋ยได้ ถือว่าเป็นการลดต้นทุน และปลอดภัยต่อตัวเกษตรกรและผู้บริโภค

ป้องกันโรคแมลงด้วยวิธีธรรมชาติ

ต้องหมั่นเก็บผลพุทราที่ร่วงเสียทิ้งให้ไวที่สุด และใช้ตัวล่อดัก ห้อยไว้รอบสวน แต่ถ้าวิธีธรรมชาติใช้แล้วเอาไม่อยู่ ไม่สามารถกำจัดแมลงได้ แนะนำให้ใช้สารเคมีตามที่สำนักงานเกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัดแนะนำ

พุทรา หวาน กรอบ ด้วยนมวัว

ถ้าอยากให้พุทราที่ปลูกมีความหวาน กรอบ ลุงวิโรจน์ บอกว่า สิ่งสำคัญคือ การดูแล การทำชีวภาพ ทำตามสูตรไม่ลดไม่เพิ่มส่วนผสม อย่างที่สวนจะใช้นมวัวหมักกับ พด. กากน้ำตาล ไว้ประมาณ 1-2 เดือน เมื่อได้ตามกำหนด จึงนำมารดที่โคนพุทราส่วนหนึ่ง อีกส่วนใช้ฉีดทางใบ ความถี่ในการรดนม 10 วัน ต่อครั้ง ต้นทุนในการผลิตจึงสูงพอสมควร ถ้าทำเองได้ต้นทุนก็จะถูกลงมา แต่ถ้าซื้อจากบริษัท ราคาลิตรละ 100 บาท อย่างที่สวนลุงวิโรจน์ปลูกพุทรานมสด 6 ไร่ จะต้องใช้นม 50 ลิตร ต่อครั้ง ซึ่งถือว่ามีต้นทุนที่สูงมาก แต่หากทำเองได้และทำตามสูตรรับรองได้ว่าจะได้พุทราที่หวาน กรอบ อร่อย และขายได้ราคา