ที่นี่ได้เลือกใส่ปุ๋ยมูลสัตว์แห้ง มีทั้งปุ๋ยมูลวัวและปุ๋ยมูลหมูถ้าเลือก

ใส่ปุ๋ยมูลวัวแห้งซึ่งมีวางขายที่ตลาดต้นไม้อยู่ทั่วไป ได้ใส่ 2-5 กำมือ ต่อต้น โรยรอบๆ ทรงพุ่ม รดน้ำให้ชุ่ม โดยแบ่งใส่ 3-4 ครั้ง ต่อปี ถ้าเลือกใส่ปุ๋ยมูลหมูแห้ง ต้องไปหาซื้อจากแหล่งที่มีการทำบ่อก๊าซชีวภาพ หรือจากฟาร์มเลี้ยงหมู มูลหมูแห้งบรรจุในถุง น้ำหนัก 15 กิโลกรัม จะซื้อในราคา 60 บาท ต่อถุง มูลหมูแห้งที่ไล่แก๊สออกแล้วเมื่อนำไปหมักน้ำจะไม่มีกลิ่น ถ้าเป็นมูลหมูแห้งชนิดที่ไม่ไล่แก๊สออกเมื่อนำไปหมักน้ำจะมีกลิ่นเหม็น การใช้มูลหมูแห้งจะนำไปหมักเป็นปุ๋ยน้ำมูลหมูก่อน โดยจะหมักในถังพลาสติกคือใส่น้ำลงไป 10 ลิตร ใส่มูลหมูแห้ง 1 กิโลกรัม ลงไปผสมใช้ไม้กวนหรือคนให้ทั่ว ปิดฝาแล้วหมักทิ้งไว้ 1 วัน 1 คืน

ลุงพิชิต จุ้ยสุขะ เล่าให้ฟังอีกว่า การใช้ปุ๋ยน้ำมูลหมู จะนำปุ๋ยน้ำมูลหมู 1 ส่วน ผสมกับน้ำ 10 ส่วน กวนหรือคนให้ทั่วนำไปราดรอบๆ ทรงพุ่ม อัตรา 2 ลิตร ต่อต้น แล้วตักปุ๋ยน้ำมูลหมูไปกรองเอากากออกเทใส่ภาชนะ แล้วนำปุ๋ยน้ำมูลหมู 1 ส่วน ผสมกับน้ำ 20 ส่วน กวนหรือคนให้ทั่ว กรองเอากากอีกครั้งแล้วเทใส่ภาชนะนำไปฉีดพ่นทางใบรอบทรงพุ่ม ให้เป็นปุ๋ยเสริมทางใบ การราดรอบโคนต้นและฉีดพ่นทางใบ จะทำ 15-30 วัน ต่อครั้ง

นอกจากใส่ปุ๋ยคอกแล้วก็ต้องใส่ปุ๋ยเคมีเสริมด้วย โดยใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ ในอัตรา 1 ช้อนแกง หรือ 1 กำมือ ต่อต้นต่อเดือน โรยปุ๋ยรอบทรงพุ่ม รดน้ำพอชุ่ม การปรับปรุงบำรุงดินในโอ่งปลูกมะนาวสามารถปลูกพืชตระกูลถั่วเป็นพืชคลุมดินเพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นและเมื่อพรวนดินกลบต้นถั่วจะถูกย่อยสลายเป็นปุ๋ย ส่วนการป้องกันกำจัดศัตรูมะนาวนั้นต้องคอยมั่นสำรวจตรวจดูแลต้นมะนาวเสมอๆ หากพบในปริมาณไม่มาก ก็เก็บไปทำลายทิ้งอย่าปล่อยให้แพร่กระจายก็จะช่วยทำให้ต้นมะนาวแตกใบอ่อนพร้อมติดดอกออกผลได้ดี

วิธีการปลูกมะนาวในโอ่ง หรือในวงถังส้วม สามารถผลิตมะนาวนอกฤดูได้ด้วย โดยการงดใส่ปุ๋ยและให้น้ำ 10-14 วัน หรือสังเกตดูแล้วพบว่า ใบมะนาวเริ่มเหี่ยวเฉา ก็เริ่มให้น้ำและใส่ปุ๋ย ตามระยะเวลา ก็จะทำให้ต้นมะนาวแตกใบอ่อนติดดอกออกผล ทุกวันนี้พึงพอใจมากที่ทำให้ต้นมะนาวที่ปลูกในทุกโอ่งและวงบ่อซีเมนต์หรือวงถังส้วม ติดดอกออกผลได้ทั้งในและนอกฤดู แต่ละครั้งมะนาวติดผลดก 80-100 ผล ต่อโอ่งหรือวงถังส้วม ทำให้ได้เก็บผลมะนาวไปกินในครัวเรือนและเหลือแบ่งขายพอทำให้มีรายได้นำมาหมุนเวียนในการผลิต ถึงจะเป็นรายได้ที่ไม่มาก แต่ก็ทำให้มีความสุขมีความเป็นอยู่อย่างพอเพียงและดำรงชีพอยู่อย่างมั่นคง

ลุงสังเวย นาคน้อย ผู้ปลูกมะนาวรายหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า ปลูกมะนาวเพื่อเก็บผลไปบริโภคในครัวเรือน เสริมรายได้และเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งของตนเองและผู้ที่สนใจ โดยเฉพาะการปลูกมะนาวในโอ่งจะมีข้อดีที่เคลื่อนย้ายหรือยกไปปลูกที่อื่นได้ง่าย ช่วยลดต้นทุนการผลิต และยังควบคุมให้มะนาวติดดอกออกผลนอกฤดูได้ โดยวิธีการควบคุมจะใช้พลาสติกปิดคลุมรอบโคนต้นมะนาว และรอบปากโอ่งจากนั้นปล่อยทิ้งไว้ 7-14 วัน เพื่อให้ต้นมะนาวขาดปุ๋ยและน้ำ หรือสังเกตเห็นว่าใบเริ่มเหี่ยวก็จะเปิดพลาสติกออก

จากนั้นก็จะบำรุงต้นโดยการให้น้ำและปุ๋ย ส่วนปุ๋ยที่ใช้จะเป็นปุ๋ยน้ำมูลหมูที่ผสมตามอัตราส่วนนำไปราดรอบทรงพุ่มและฉีดพ่นทางใบรอบทรงพุ่มทุก 15-30 วัน ต่อครั้ง นอกจากนี้ ก็จะใส่ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ 1 กำมือ ต่อต้น ทุกเดือน เสร็จแล้วรดน้ำให้ชุ่ม การปลูกมะนาวในโอ่งปุ๋ยและน้ำที่ใส่ลงไปต้นมะนาวจะดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ ทำให้ลดต้นทุนการผลิต ส่วนการผลิตมะนาวนอกฤดูควรจะเริ่มทำในเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม เพื่อให้ไปติดดอกออกผลในราวเดือนมีนาคมถึงเมษายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มะนาวมีน้อยราคาจะแพงหาซื้อก็ยาก การปลูกมะนาวในโอ่งไม่ใช่เรื่องยาก เมื่อปลูกแล้วมีการปฏิบัติดูแลเหมาะสมต้นมะนาวก็จะติดดอกออกผลดกพอเก็บไปกินและนำออกขายเป็นรายได้และอยู่ได้อย่างพอเพียง

จากเรื่อง มะนาวติดผลดก…ปลูกในโอ่งแบบพอเพียงหรือเชิงธุรกิจ วิธีไหนก็ดีได้กล่าวถึงมะนาวราคาแพงหาซื้อยาก การเลือกมะนาวพันธุ์ดีปลอดโรคมาปลูก การใส่ปุ๋ยและให้น้ำสม่ำเสมอ การปฏิบัติดูแลรักษา

การผลิตมะนาวนอกฤดู เป็นการปลูกมะนาวที่ลดต้นทุนการผลิต หากปฏิบัติดูแลรักษาดีเชื่อว่ามะนาวที่ท่านปลูกต้องติดดอกออกผลดก 70-100 ผล ต่อโอ่ง ท่านจะมีความสุขกับการปลูก ได้ดูการเจริญเติบโตและเก็บมะนาวไปกิน ลดรายจ่ายที่ไม่ต้องซื้อมะนาวแพงอีกต่อไป ส่วนผู้ผลิตในเชิงธุรกิจจะนำวิธีเดียวกันนี้ไปผลิตมะนาวนอกฤดูเพื่อเพิ่มผลผลิตมะนาวให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดผู้บริโภค เป็นการสร้างรายได้ต่อเนื่องทั้งปี

ท่านที่สนใจหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถแวะไปเยี่ยมชมหรือพูดคุยกับ ลุงพิชิต จุ้ยสุขะ ได้ที่ 58/4 หมู่ที่ 3 ตำบลเชียงรากน้อย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี โทร. 086-9013-119 หรือ 029-798-128 หรือ คุณลุงสังเวย นาคน้อย ได้ที่ 39 หมู่ที่ 2 อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี โทร. 085-902-4900 ก็ได้เช่นกัน

ติดตามไทยนิยม กษ. ปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกยาง พัฒนาอาชีพเกษตรกรเพื่อความยั่งยืน

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการติดตามโครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อยเพื่อความยั่งยืน ภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรตัดโค่นต้นยาง ในพื้นที่ 65 จังหวัด เพื่อลดพื้นที่ปลูกยางพาราและปริมาณผลผลิตที่จะเข้าสู่ระบบ อีกทั้งลดความเสี่ยงผลกระทบจากราคายางตกต่ำและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยาง มีการสนับสนุนเงินอุดหนุนค่าตัดโค่นต้นยางให้เกษตรกร 2 งวด ได้แก่ งวดที่ 1 ไร่ละ 4,000 บาท และ งวดที่ 2 ไร่ละ 6,000 บาท นอกจากนี้ ยังส่งเสริมด้านการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมใหม่เพื่อทดแทนการทำอาชีพชาวสวนยาง โดยการจัดอบรมให้เกษตรกรเพื่อพัฒนาอาชีพด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง หลังการตัดโค่นต้นยาง

ในการนี้ สศก. ได้ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานโครงการ พบว่า โครงการได้เริ่มดำเนินการ ตั้งแต่ 1 เมษายน 2561 จนถึง 30 กันยายน 2561 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 14,623 ราย พื้นที่เข้าร่วมโครงการ 93,062 ไร่ เกษตรกรตัดโค่นต้นยางแล้วเสร็จ 13,030 ราย ในพื้นที่ 69,080 ไร่ (เป้าหมาย 30,000 ราย พื้นที่ 150,000 ไร่) โดยเกษตรกร ร้อยละ 37 ตัดสินใจนำพื้นที่เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากเห็นว่า ต้นยางไม่สมบูรณ์ ให้ผลผลิตน้อย ส่วนร้อยละ 28 เห็นว่าราคายางพาราตกต่ำ และร้อยละ 23 ต้องการปรับเปลี่ยนอาชีพ ในขณะที่ ร้อยละ 12 ขาดแรงงานในการดูแลสวนยาง

ขณะนี้ เกษตรกร ร้อยละ 74 ได้รับเงินอุดหนุนค่าตัดโค่นต้นยาง งวดที่ 1 แล้ว และเข้ารับการอบรมการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมใหม่เพื่อทดแทนการทำอาชีพชาวสวนยาง โดยพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่มีความสนใจด้านการปลูกไม้ผล/ไม้ยืนต้น พืชไร่ และพืชผักสวนครัว ตามลำดับ และงวดที่ 2 เกษตรกร ร้อยละ 61 ได้รับเงินอุดหนุนค่าตัดโค่นต้นยางเรียบร้อยแล้ว ซึ่งการยางแห่งประเทศไทยและกรมส่งเสริมการเกษตร ได้เร่งดำเนินการให้เกษตรกรได้รับเงินอุดหนุนให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไป

สำหรับภาพรวม เกษตรกรมีความพึงพอใจต่อภาพรวมโครงการระดับมาก และยังคงต้องการให้ภาครัฐขยายโครงการและสนับสนุนเงินอุดหนุนรวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาอาชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเกษตรกรให้ข้อคิดเห็นว่า ภาครัฐควรปรับลดหลักเกณฑ์การกำหนดคุณสมบัติของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เช่น เกษตรกรที่มีพื้นที่สวนยางมากกว่า 50 ไร่ และกำหนดอายุของยางในการเข้าร่วมโครงการเป็นยางที่เปิดกรีดแล้วเท่านั้น ซึ่งหากปรับลดหลักเกณฑ์ลง เกษตรกรจะให้ความสนใจในการเข้าร่วมโครงการมากยิ่งขึ้นรวมทั้งต้องการให้จัดหาตลาดเพื่อรองรับผลผลิตจากเกษตรกรที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนอาชีพเพิ่มเติม

“ศรีมหาโพธิ์คู่บ้าน ไผ่ตงหวานคู่เมือง ผลไม้ลือเลื่อง เขตเมืองทวารวดี”

จากคำขวัญของจังหวัดปราจีนบุรี แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า ไผ่ตง นับเป็นพืชที่ขึ้นชื่อของจังหวัด และเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่มาอย่างยาวนาน

ท่ามกลางความสำคัญของพืชเศรษฐกิจชนิดนี้ มีสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นและได้สร้างชื่อเสียงให้เป็นอย่างยิ่งคือ สายพันธุ์ไผ่ตงศรีปราจีน ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นและเป็นที่ยอมรับ มีการนำสายพันธุ์ไปปลูกกันอย่างกว้างขวาง ด้วยมีลักษณะเด่น คือ เป็นพันธุ์ไผ่ที่โตเร็ว และแตกให้หน่อดี ปริมาณหน่อเยอะ หน่อให้น้ำหนักประมาณ 2-3 กิโลกรัม สามารถเก็บหน่อได้หลังปลูกเพียง 1-2 ปี อีกทั้งลำต้นก็มีขนาดใหญ่ หน้าตัดตั้งแต่ 4 จนถึง 6 นิ้ว ทำให้เหมาะกับการนำไปใช้ในกิจกรรมการเกษตรกรรม เช่น การนำไปทำหลักปัก เพื่อเลี้ยงหอยแมลงภู่ อีกทั้งหลังจากลงปลูกครั้งแรก ประมาณ 1 ปี ก็สามารถตอนกิ่งจำหน่ายเป็นรายได้ได้อีกทางหนึ่ง

ไผ่ตงศรีปราจีน เกิดขึ้นครั้งแรกที่สวนของ นายสอาด ใจเชื่อม ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 55 หมู่ที่ 11 บ้านไชยคลี ต.หนองแก้ว อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี โทร.086-839-2258

เก็บจากเมล็ดงอกมาเลี้ยง จนได้ไผ่ตงศรีปราจีนเดิมพี่สอาดเป็นชาวนา แต่ต้องประสบปัญหาว่า ทำนาแล้วได้ผลผลิตไม่คุ้มค่ากับการลงทุน จึงปรับเปลี่ยนอาชีพมาสู่การทำสวน

โดยเฉพาะการปลูกไผ่ตงจำหน่าย ซึ่งเดิมนั้นสายพันธุ์ที่ปลูกกันโดยทั่วไปคือ ไผ่ตงหม้อ

“ผมก็ปลูกเรื่อยมาจากที่ทำกับแม่ ในพื้นที่ 10 ไร่ เป็น 20 ไร่ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้เป็นอย่างดี” พี่สะอาด ปลูกไผ่เรื่อยมา จนกระทั่งมาประสบปัญหาในช่วงประมาณปลายปี พ.ศ. 2537 ​ไผ่ตงที่​เกษตรกรปลูกอยู่ทั่วประ​เทศ​ได้ออกดอก ​ทำ​ให้ต้น​ไผ่ตงตาย สภาพ​การณ์​เช่นนี้​ทำ​ให้​เกิด​ความ​เสียหาย​แก่​เกษตรกร​ผู้ปลูก​ไผ่ตง​เป็นจำนวนมาก​และกว้างขวาง

จากเกษตรกรชาวสวนไผ่ตงที่มีผลผลิตออกจำหน่ายทุกปี เมื่อเจอภาวการณ์ดังกล่าวทำให้ต้นไผ่ในสวนตายเกือบหมด แต่ท่ามกลางความโชคร้ายก็มีความโชคดีปรากกฏขึ้น

“พอไผ่ออกดอกติดเมล็ดมา ก็มีบ างส่วนร่วงหล่นมาในแปลง และตามลำห้วยข้างสวน เมล็ดเหล่านี้บางส่วนก็งอกขึ้นมาเป็นต้น ผมเลยไปขุดเอามาใส่ถุงตั้งไว้ในแปลงเพาะชำ ผมเก็บมาชำไว้ได้มากกว่า 1,000 ต้น เลยทีเดียว” ซึ่งต้นไผ่ 1 ในจำนวน 1,000 กว่าต้น ได้แสดงถึงคุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างจากต้นไผ่ต้นอื่นในรุ่นเดียวกัน คือ มีการเจริญเติบโตที่ดีกว่า ต้นสูงกว่า ในขณะที่ต้นอื่นจะมีลักษณะโตไม่ดีต้นเล็กเตี้ย เป็นส่วนใหญ่ พี่สะอาด จึงนำต้นไผ่ต้นดังกล่าวไปปลูก และพบว่าให้ลักษณะที่เด่นมาก แตกต่างจากต้นไผ่ตงที่เคยมีมาในเขตจังหวัดปราจีนบุรี จึงได้เริ่มนำมาเพาะขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มจำนวน และนำลงปลูกในแปลงของต้นเอง ในปี 2540

ต้นไผ่ตง ดังกล่าวได้สร้างความสนใจให้กับทุกฝ่ายที่ได้รับทราบข้อมูลและเข้ามาดู

“ส่วนที่มีชื่อ ไผ่ตงศรีปราจีนนั้น เป็นเพราะทางสำนักงานเกษตรจังหวัดปราจีนบุรีได้พาไปจดขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชและตั้งชื่อนี้ออกมา” พี่สอาด กล่าว

เมื่อได้มีชื่ออย่างเป็นทางการ พี่สะอาด นอกจากจะเพาะขยายพันธ์ด้วยวิธีการตอนเพื่อลงปลูกในแปลงของตนเองแล้ว ยังได้ขยายพันธุ์จำหน่ายให้กับเกษตรกรที่สนใจด้วยเหตุที่โตไว แตกหน่อดี ซึ่งปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และได้หลายเป็นสายพันธุ์ขึ้นชื่อของจังหวัดปราจีนบุรี มีเกษตรกรนำไปปลูกเพาะจำหน่ายพันธุ์กันอย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา

“ผมเองก็รู้สึกภูมิใจมาก ที่ต้นไผ่ของเราได้รับความสนใจ ซึ่งผมก็สามารถขายกิ่งพันธุ์ ในราคากิ่งละ 100 บาท จนสามารถมีเงินไปซื้อที่ดินเป็นของตนเองได้ถึง 20 ไร่ ที่ทำกินมาจนถึงทุกวันนี้” พี่สะอาดกล่าว

“พอดีว่า พื้นที่สวนของผมมีปัญหาเรื่องแหล่งน้ำที่นำมาใช้รด ซึ่งการปลูกไผ่ตง โดยเฉพาะการทำไผ่ตงนอกฤดูนั้นต้องมีน้ำมารดให้ไผ่ตงอย่างสม่ำเสมอ พอไม่มีน้ำ ทำให้เราไม่สามารถทำนอกฤดูได้ จึงลดพื้นที่ปลูกลง แต่ในกลุ่มพี่น้องผมที่มีสวนอยู่ติดแม่น้ำหรือมีแหล่งน้ำก็ยังปลูกไผ่ตงกันมากอยู่เหมือนเดิม” พี่สอาด กล่าว

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน พี่สอาดได้ขยายกิจกรรมการทำสวนเพิ่มเติม โดยเพิ่มการปลูกไม้ขุดล้อม ในกลุ่มของไม้ไทยนานาชนิดที่ตลาดต้องการและไม้ผล เช่น เงาะ กระท้อน ลำไย จำหน่ายเพิ่มเป็นรายได้อีกทาง โดยมีร้านจำหน่ายตั้งอยู่ที่บ้านดงบัง อำเภอเมืองปราจีนบุรี

ไผ่ตง อนาคตยังมี แต่ต้องทำนอกฤดู

พี่สอาด ได้กล่าวถึงการทำสวนไผ่ตงในปัจจุบันว่า ไผ่ตง ยังถือเป็นพืชที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี เพียงแต่มีข้อแม้ว่า ต้องทำไผ่ตงนอกฤดูถึงจะได้ราคา

ทั้งนี้ พี่สอาด ได้ขยายความถึงความหมายของการทำไผ่ตงนอกฤดูว่า เป็นการเร่งให้ต้นไผ่ตงออกหน่อเร็วขึ้น เป็นการทำให้ออกก่อนฤดูกาลปกติ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ ราคาจำหน่ายดีกว่า โดยเคล็ดลับสำคัญอยู่ที่การให้น้ำ

พี่สอาด บอกว่า การทำไผ่ตงนอกฤดูนั้น จะต้องมีการเริ่มเตรียมการตั้งแต่เตรียมต้น ให้น้ำแก่ต้นไผ่ตั้งแต่เดือนธันวาคม ทั้งนี้ระบบการให้น้ำในปัจจุบันที่ดีที่สุดคือ การให้น้ำด้วยระบบสปริงเกลอร์ เพราะนอกจากจะแก้ปัญหาในการขาดแคลนแรงงานที่ทำหน้าที่รดน้ำแล้ว ยังสามารถทำงานได้สะดวกรวดเร็ว โดยการให้น้ำนั้นจะให้ทุก 3-4 วัน โดยดูที่ความชื้นของดินในแปลงปลูกไผ่ตงเป็นหลัก

ไผ่ตง จะสามารถให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวจำหน่ายได้ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาดี แต่พอเข้าพรรษาแล้ว จะเริ่มราคาลดลง เนื่องจากเป็นช่วงที่หน่อไม้ปีออกสู่ตลาด

“ถ้าทำไผ่ตงให้ออกตามฤดู จะไม่ค่อยได้ราคาเท่าไร แต่ถ้าสามารถทำให้ออกนอกฤดูได้ ซึ่งต้องมีแหล่งน้ำเป็นปัจจัยสำคัญจะทำให้มีรายได้อย่างน่าสนใจ อย่างปีนี้ราคาไผ่ตงช่วงนอกฤดู เมื่อตอนออกใหม่ๆ อยู่ที่กิโลกรัมละ 30 บาท แต่ตอนนี้ลงมาหน่อยเหลือที่กิโลกรัมละ 27-28 บาท”

สำหรับการทำไผ่ตงนอกฤดู จะทำไปจนกว่าเมื่อเข้าพรรษา และเมื่อฝนตกลงไผ่ตามฤดูกาลออก สวนที่ทำนอกฤดูก็จะหยุดพักต้น ตัดแต่งกิ่ง ให้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เพื่อรอทำนอกฤดูครั้งใหม่ในปีต่อไป

“ทำนอกฤดูในช่วงนี้ชาวจะได้เงินดี เพราะตัดครั้งหนึ่ง ทุก 3 วัน พื้นที่ประมาณ 10 ไร่ จะได้น้ำหนักรวมประมาณ 300 กว่ากิโลกรัม ในราคาขายที่กิโลกรัม 30 บาท ก็จะมีรายได้เกือบหมื่นบาทแล้ว”

และอีกหนึ่งในเทคนิคของชาวสวนไผ่ตงของปราจีนบุรีได้พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับและแก้ไขปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นคือ การ​ทำหน่อ​ไม้หมก ​หรือตงหมก ​

วิธีการดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มรสชาติของหน่อไม้ที่ได้ให้มีความหวานหอมน่ารับประทาน และเป็นที่ตลาดการของตลาด

โดยวิธีการดั้งเดิมที่ทำกันมา คือ การใช้ขี้เถ้าแกลบเป็นวัตถุดิบสำคัญในการหมก แต่ด้วยที่ปัจจุบันแกลบดำมีราคาแพง จึงมีการพลิกแพลงไปใช้ใบไผ่แห้งแทน ซึ่งนอกจากจะลดต้นทุน โดยเสียเงินเพียงค่าซื้อถุงดำเท่านั้น อีกทั้งยังสามารถเก็บถุงดำมาใช้งานได้อีกหลายครั้ง

“แตกต่างจากการใช้แกลบดำที่นอกจากจะต้องหาซื้อในราคาแพงแล้ว บางครั้งก็มีปัญหาว่าหมกไม่ดีทำให้ถุงแตกต้องเสียเงินซื้อถุงดำใบใหม่มาทดแทน แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้ใบไผ่แห้งแล้วแล้ว หมดปัญหาทุกอย่างไปเลย ถุงดำก็สามารถใช้ได้หลายครั้ง”

ทั้งนี้จุดประสงค์สำคัญที่เกษตรกรชาวสวนไผ่ตงต้องมีการหมกหน่อไม้เพื่อทำให้หน่อไม้ที่ได้มีลักษณะผิวเปลือกขาว และมีรสชาติหวาน“เมื่อหน่อไม้โผล่พ้นดินมาได้ประมาณ 3 อาทิตย์ จะใช้ถุงดำมาบรรจุใบไผ่ที่ร่วงบนพื้นในสวนให้เต็มถุงยิ่งอัดให้แน่นยิ่งดี แล้วนำครอบที่หน่อไม้ที่ขึ้น โดยทิ้งไว้นานประมาณ 7-8 วัน ก็สามารถเปิดถุงและตัดหน่อไม้ไปจำหน่ายได้” พี่สอาด กล่าว

ผักเชียงดา เป็นผักพื้นบ้านที่คนทางภาคเหนือนิยมรับประทาน เป็นไม้เถาเลื้อย ใบกลมรี ปลายใบแหลมฐานใบมน ผิวเรียบไม่มีขน ทั่วไปนิยมปลูกตามรั้วบ้าน ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดหรือปักชำ ในตำรายาแพทย์แผนไทยใช้ใบผักเชียงดาตำละเอียดพอกกระหม่อมเพื่อรักษาไข้ อาการหวัด จากการวิจัยพบว่า สารออกฤทธิ์ในผักเชียงดาช่วยบำรุงสายตา ควบคุมการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติ และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นต้นเหตุให้เกิดมะเร็งตับ มะเร็งในกระเพาะอาหาร โรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน โรคต้อกระจกในผู้สูงอายุ ปัจจุบัน มีบริษัทยาของประเทศญี่ปุ่นได้ผลิตผักเชียงดาเป็นชาชงสมุนไพร เพื่อลดน้ำตาลในเส้นเลือด ผักเชียงดาพบมากที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน และจังหวัดแม่ฮ่องสอน

สถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา ได้รวบรวมสายพันธุ์ผักเชียงดา จำนวน 101 สายพันธุ์ เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระ โดยนำมาศึกษาการปลูกดูแลรักษา การขยายพันธุ์ และพัฒนากระบวนการแปรรูป เพื่อพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์อาหาร และเพื่อการผลิตในเชิงพาณิชย์ คัดสายพันธุ์เหลือผักเชียงดาที่มีคุณสมบัติตามต้องการเพียง 2 สายพันธุ์ เท่านั้น

การปลูกที่เหมาะสม คือ การปลูกแบบใช้ค้างตั้งฉากร่วมกับการพรางแสง ทำให้ได้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 1,500 กิโลกรัม ต่อไร่ จำหน่ายกิโลกรัมละ 20 บาท คิดเป็นมูลค่าผลผลิตสดประมาณเกือบ 30,000 บาท ในด้านอาหารนั้น ผักเชียงดาให้ประโยชน์ทุกส่วน มีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระ มีสารประกอบฟีนอลิกและคลอโรฟิลล์ พบมากในผักเชียงดาชนิดกระโดงใบอ่อน ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผักเชียงดานั้น ได้ศึกษาและแปรรูปหลายประเภท เช่น แกงผักเชียงดาบรรจุกระป๋อง ใบชาผักเชียงดา ผักเชียงดาบรรจุแคปซูล น้ำผักเชียงดาพร้อมดื่ม น้ำผักเชียงดาเข้มข้น ผักเชียงดาผง

สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ สถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา 202 หมู่ที่ 17 ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง 52100 โทรศัพท์ 0-5434-2553

มะม่วง เป็นไม้ผลเพียงไม่กี่ชนิดที่มีจำนวนพื้นที่การปลูกเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีแนวโน้มทางการตลาดค่อนข้างดี ผลผลิตมะม่วงในประเทศไทยมีพื้นที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น

อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา มีสภาพพื้นที่และสภาพอากาศที่เหมาะสมในการปลูกไม้ผลหลายชนิด รวมถึงมะม่วงกินสุกสถานีวิจัยปากช่อง เป็นหน่วยงานที่ถ่ายทอดความรู้เรื่องการปฏิบัติดูแลรักษามะม่วงการติดตา ต่อกิ่ง เปลี่ยนยอด และการป้องกันโรคและแมลง ให้แก่เกษตรกรชาวสวนมะม่วงหลายสิบรุ่น โดยใช้หลักการปลูกระยะชิด เพื่อควบคุมทรงพุ่มไม่ให้สูงใหญ่มากนัก สะดวกในการดูรักษา และการเก็บเกี่ยวที่ไม่เกิดการเสียหายต่อคุณภาพของผล รวมถึงการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย จึงมีการทดลองนำมะม่วงน้ำดอกไม้มาปลูกในระบบชิดเป็นครั้งแรกที่สถานีวิจัยปากช่องแห่งนี้ เพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกร นับแต่นั้นมาการปลูกมะม่วงในระบบปลูกชิดก็เป็นที่นิยมปลูกสำหรับเกษตรกรชาวสวนมะม่วงโดยทั่วไป

มะม่วง ที่ปลูกในอำเภอปากช่อง เป็นมะม่วงที่คุณภาพดี เหมาะแก่การส่งออก ทำให้วันนี้เราต้องมาคุยกับ คุณมนตรี ศรีนิล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งออกมะม่วงโป่งตาลอง อำเภอปากช่อง โทรศัพท์ 089-533-8594 ถึงความเป็นมาที่เริ่มก่อตั้งวิสาหกิจชุมชน

“ก่อนหน้าที่จะเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ต่างคนต่างปลูกมะม่วงแล้วต่างคนต่างขาย ก็มีปัญหาเรื่องการขายผลผลิตไม่ได้ราคา ขายตัดราคากันบ้าง ขายไม่ได้บ้าง และมีการขายแบบเหมาสวนยกแปลงตั้งแต่มะม่วงยังเขียวอยู่ โดยพ่อค้าจะนำถุงมาห่อเอง พอมะม่วงตัดได้ก็จะเอาไปขาย ผมก็ทำสวนมะม่วงอยู่เหมือนกันรวมกับพี่น้องพรรคพวกไม่กี่คน คัดมะม่วงคุณภาพเกรดเอขายให้บริษัทเพื่อการส่งออก แต่ไม่ได้ราคา ราคามะม่วงเกรดเอสำหรับส่งออกตอนนั้น ได้แค่กิโลกรัมละ 40 บาท ทั้งที่ของบางคล้าได้ราคากิโลกรัมละ 50-60 บาท เมื่อเจรจากับบริษัทเราจะได้คำตอบว่า มะม่วงของคุณไม่ได้คุณภาพบ้าง ไม่มีจำนวนบ้าง ทั้งที่คุณภาพเหมือนกัน นั่นเป็นเพราะเราไม่ได้เป็นกลุ่มก้อนจึงไม่มีอำนาจต่อรอง”

“ผมจึงชักชวนชาวสวนมะม่วงทั้งหมดในบริเวณนี้มารวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน ตอนแรกๆ ชาวสวนก็ยังไม่เข้าใจเรื่องการรวมกลุ่มกันเพื่ออะไร หลังจากดำเนินการของกลุ่มไปได้ระยะหนึ่ง เราก็สามารถทำต่อไปได้จนประสบผลสำเร็จ”

บริษัทผู้ส่งออกมะม่วงที่มาทำความตกลงเรื่องการซื้อขายกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโป่งตาลอง เป็นบริษัทที่ทำการค้าติดต่อกันมาหลายปี บริษัทใหม่ๆ ที่เข้ามาขอซื้อถูกปฏิเสธจากกลุ่มในช่วงนี้ เนื่องจากผลผลิตยังไม่พอจำหน่าย ในการขายมะม่วงให้กับบริษัท กลุ่มจะขายให้หลายบริษัท เพื่อลดความเสี่ยงและเป็นการกระจายสินค้าไปหลายประเทศ รวมถึงกลุ่มจะมีความมั่นใจในการผลิตมะม่วงให้แก่ผู้ซื้อตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า

โดยปกติราคามะม่วงเกรดเอจากสวนในฤดูปกติ จะอยู่ที่ประมาณ 40-60 บาท ต่อกิโลกรัม ส่วนนอกฤดูกิโลกรัมละ 90 บาท มะม่วงที่ได้คุณภาพส่งออกจะมีน้ำหนักต่อผล ตั้งแต่ 300 กรัม จนถึง 550 กรัม เมื่อมะม่วงเริ่มติดผลในเดือน ก.ค.-ส.ค. กลุ่มจะเริ่มสำรวจปริมาณผลผลิตทั้งหมดของสมาชิกกว่าสี่สิบราย ว่ามีปริมาณผลผลิตจำนวนเท่าไร โดยการตรวจสอบจากถุงที่สั่งเข้ามาว่าแต่ละสวนใช้ถุงห่อไปเท่าไร ห่อรุ่นเดือนไหนให้จดบันทึกไว้ เพื่อรู้ว่าต่อไปแต่ละเดือนจะมีผลผลิตออกกี่ตัน จึงจะแจ้งไปที่บริษัทส่งออก เพื่อให้บริษัททำการตลาดล่วงหน้า

โดยปกติกลุ่มจะทำมะม่วงเกรดเอในฤดู เพื่อส่งออกได้ประมาณ 200-300 ตัน ต่อปี ที่เหลืออีกประมาณครึ่งหนึ่งเป็นมะม่วงเกรดรองจะส่งออกไม่ได้จึงต้องไปอีกตลาดหนึ่ง คือ ตลาดในประเทศ มะม่วงที่ถือว่าตกเกรดคือ ผิวไม่สวย มีรอยขูดขีด มีแผลจากโรคแอนแทรกโนส เพลี้ยไฟ บนผิวมะม่วง มะม่วงเราจำเป็นต้องห่อทุกผลเนื่องจากมะม่วงตกเกรดที่ออกนอกฤดูราคาก็ยังสูง อายุที่ห่อนับจากดอกบาน 45 วัน ซึ่งจะมีผลขนาดไข่ไก่ ความยาวของผลประมาณ 7 เซนติเมตร ถ้านับหลังจากการบานก็จะรวมเป็น 90-100 วัน มะม่วงก็จะแก่พอดี

ต้องวางแผนการผลิตทั้งปี

ในการทำนอกฤดูของปากช่องจะแบ่งเป็นแปลงย่อยๆ หลายแปลง โดยจะเริ่มตัดแต่งกิ่งในเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน ทยอยกันไป ไม่พร้อมกัน บางคนอาจเลยไปถึงเดือนพฤษภาคมก็ได้ การที่ทำอย่างนี้ เพื่อให้มีผลผลิตทยอยกันในช่วงนอกฤดู ผลผลิตดังกล่าวก็จะออกตั้งแต่เดือนสิงหาคมไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน การทำนอกฤดูก็มีการราดสารแพคโคลบิวทราโซลตามวิธีการที่บอกไว้ในฉลาก การทำนอกฤดูไม่ควรซ้ำถึงสองสามปี เพราะต้นจะโทรม เกษตรกรจำเป็นต้องสลับแปลง เพราะถ้าต้นโทรมแล้วจะแก้ไขยากมาก

การทำมะม่วงนอกฤดูจะใช้ปุ๋ยยามากกว่าปกติ ซึ่งต้นทุนของการผลิตจะเพิ่มขึ้นแต่มีข้อดีเป็นการกระจายผลผลิตให้มีสม่ำเสมอทุกเดือน ถ้าสวนมะม่วงทั้งประเทศทำกันในฤดูหมด ผลผลิตออกมาตลาดไม่สามารถรองรับได้

เกษตรกรชาวสวนมะม่วงมีอยู่ทั่วประเทศแล้วมีการวางแผนการผลิตกันอย่างไร คำถามนี้คุณมนตรีตอบว่า

“ปัจจุบัน ชาวสวนมะม่วงมีการรวมตัวกันเป็นสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันตลอดเวลา และการประชุมของสมาคม 2-3 เดือน ต่อครั้ง มีการวางแผนการผลิตที่ทำต่อเนื่องมาหลายปีแล้วจนทำให้ผลผลิตมะม่วงไม่ประสบปัญหาเหมือนผลไม้อื่น โดยปกติในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนเป็นมะม่วงในฤดู ชาวสวนในจังหวัดฉะเชิงเทรา พิจิตร พิษณุโลก ชัยนาท จะเป็นผู้ผลิตส่งตลาด ส่วนระหว่างเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกรกฎาคม จะเป็นผลผลิตของจังหวัดภาคเหนือตอนบน มี เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และลำปาง เพราะสภาพอากาศเหมาะสมผลผลิตนี้ถือเป็นมะม่วงหลังฤดู”

“เมื่อมะม่วงจากทางเหนือหมด จะเป็นมะม่วงนอกฤดูของทางอำเภอปากช่องและของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจะมีผลผลิตตั้งแต่กรกฎาคมจนถึงเดือนธันวาคม ส่วนโซนที่เสริมจะเป็นมะม่วงของภาคอีสาน เช่น ขอนแก่นและอุดรธานี แต่มีจำนวนไม่มาก จะมีผลผลิตช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม การวางแผนการตลาดของมะม่วงจะครอบคลุมตลอด 12 เดือน เพื่อให้มีผลผลิตในการส่งออกอย่างสม่ำเสมอ สมาชิกในสมาคมตระหนักถึงปัญหานี้ดีว่า ถ้ามะม่วงออกทับซ้อนกันความเสียหายเรื่องราคาผลผลิตตกต่ำจะเกิดขึ้นแน่นอน”