ที่ผ่านมาการที่กลุ่มจัดหลักสูตรอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ

อย่างเข้มข้น นับว่ามีส่วนช่วยทำให้เกษตรกรมือใหม่ สามารถผลิตเมล่อนญี่ปุ่นคุณภาพดี เป็นที่ยอมรับของตลาด ภายในเวลา 1 ปี เกษตรกรสามารถปลูกและเก็บเกี่ยวเมล่อนญี่ปุ่นได้ถึง 3 รอบ หากมีการวางแผนจัดการที่ดีบางรายอาจปลูกเมล่อนญี่ปุ่นได้ถึง 7 รอบ ภายในระยะเวลา 2 ปี

“การปลูกเมล่อนญี่ปุ่น ต้องอาศัยการดูแลอย่างใกล้ชิดพอสมควรเหมือนเลี้ยงดูลูกอ่อน เมล่อนญี่ปุ่นเป็นพืชที่ทนอากาศร้อนได้ดี แถมใช้น้ำน้อยไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำที่ใช้ทำนา ใช้เวลาปลูกดูแลเพียงแค่ 75 วันเท่านั้น สามารถเก็บผลผลิตออกขายได้ เมล่อนแต่ละผลจะมีน้ำหนักเฉลี่ย 1.5-2 กิโลกรัม แต่ละโรงเรือนจะเก็บผลผลิตออกขายได้ประมาณ 1 ตัน ขายส่งในราคากิโลกรัมละ 53-60 บาท เมล่อนญี่ปุ่นนี้ไม่ชอบอากาศหนาวเลย ถ้าเจอหนาวจะทำให้ผลผลิตลดลง” คุณอำนาจ กล่าวและว่า ผู้ที่สนใจปลูกเมล่อน ก่อนอื่นต้องรู้ตัวว่าอดทนที่จะอยู่ในโรงเรือนได้หรือเปล่า เพราะจะร้อนมาก ถ้าอดทนไม่ได้จะลำบาก ซึ่งหากใครสนใจจะเรียนรู้การปลูกเมล่อนสามารถมาศึกษาได้ที่กลุ่ม โดยคิดค่าใช้จ่ายวันละ 1,000 บาท จะสอนทุกขั้นตอน

สมาชิกกลุ่มทุกคนตั้งใจผลิตเมล่อนญี่ปุ่นคุณภาพดีออกจำหน่าย หากผลผลิตไม่หวานไม่ตัดออกขายอย่างเด็ดขาด ทำให้สินค้าเมล่อนญี่ปุ่นทุกลูกที่ผลิตจากชุมชนแห่งนี้ มีคุณภาพดี เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เรียกว่า ผลิตจนไม่ทันกับความต้องการของตลาด สินค้ามีมากเท่าไหร่ก็ผลิตไม่พอขาย

คุณอำนาจ ยืนยันว่า ผลผลิตของกลุ่มแม้จะไม่ได้เป็นออร์แกนิกแต่ก็เป็นเกษตรปลอดภัย สามารถรับประทานได้ไม่ต้องห่วงเรื่องสารตกค้าง แต่หากไปซื้อเมล่อนที่วางขายตามข้างทาง ราคาถูก แต่อาจจะไม่ปลอดภัยพราะไม่มีการควบคุมการใช้ปุ๋ยเคมี

ตอนเช้าเหมาะผสมเกสร

สมาชิกวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกเมล่อนบ้านหนองคางอีกราย คือ คุณชูศักดิ์ แตงโสภา หรือ “ผู้ใหญ่หมู” เล่าว่า ก่อนหน้านี้ปลูกอ้อยเป็นอาชีพหลักแต่หักค่าใช้จ่ายแล้ว ผลกำไรเหลือไม่มาก ต่อมาปี 2554 เห็นเพื่อนเกษตรกรในชุมชนปลูกเมล่อนญี่ปุ่นแล้วได้ผลตอบแทนที่ดี เลยทดลองปลูกเมล่อน ปรากฏว่าสามารถคืนทุนได้ตั้งแต่การปลูกรอบแรก จึงขยายพื้นที่ปลูกเมล่อนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

เขาอธิบายถึงเทคนิคการปลูกเมล่อนญี่ปุ่นให้ได้ผลผลิตที่ดีว่า อยู่ที่เทคนิคการผสมเกสรดอกเมล่อนในระยะเวลาที่เหมาะสมคือ ตั้งแต่ “07.00-11.00 น.” หลังจากนี้ไม่ได้ผลนัก เพราะพืชคายน้ำ ปัจจุบันทางกลุ่มได้ช่วยกันทำงาน โดยลงแขกผสมเกสรต้นเมล่อนญี่ปุ่น ทำให้สมาชิกทุกรายได้ผลผลิตที่ดี โดยทั่วไปดอกเมล่อนเป็นดอกสมบูรณ์ คือมีดอกเกสรตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกตัวผู้จะอยู่ระหว่างข้อบนลำต้น การผสมเกสรจะทำในตอนเช้า ช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือ 07.00-09.00 น. โดยเลือกผสมดอกเพียง 2-3 แขนง ต่อต้น อาศัยการจดบันทึกดอกบานหรือจำนวนดอกที่ผสมในแต่ละวัน เพื่อกำหนดวันเก็บเกี่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ (สนใจติดต่อ โทรศัพท์ (081) 924-8192)

ด้าน ผศ.ดร.ชัยณรงค์ รัตนกรีฑากุล ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ซึ่งเป็นนักวิชาการที่คอยดูแลการปลูกของวิสาหกิจกลุ่มนี้ กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรไทยมีศักยภาพผลิตเมล่อนให้ได้ถึงมาตรฐานสากล (GLOBAL G.A.P.) โดยมีเงื่อนไขในการพิจารณาแบ่งออกเป็น 3 ด้านด้วยกันคือ ผลผลิตปลอดภัยได้คุณภาพไร้สารเคมีตกค้าง คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ส่วน “คุณศิริพร เดชสิงห์” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาดและพัฒนาธุรกิจ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) บอกว่า เมล่อนญี่ปุ่น เป็นผลไม้ที่ตลาดต้องการสูง ในแต่ละปี แม็คโครขายเมล่อนกว่า 700 ตัน โดยรับซื้อจากเกษตรกรในเครือข่าย ที่ปลูกในจังหวัดสุพรรณบุรี ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 150 ตัน โดยแม็คโครควบคุมการผลิตทุกขั้นตอน ตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ได้มาตรฐาน เนื้อแน่น หวาน กรอบ กลิ่นหอมตามธรรมชาติ ควบคุมสภาพดินและน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกในฟาร์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ควบคุมโรงคัดบรรจุตามมาตรฐานหลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดี (GMP) ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้างและยาฆ่าแมลง ที่สำคัญ ผลผลิตทุกลูกสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งเพาะปลูก

ฟังข้อมูลแบบนี้แล้ว เชื่อว่าหลายคนคงคิดอยากปลูกเมล่อนญี่ปุ่นกันบ้าง ซึ่งมีเกษตรกรหลายรายที่ประสบความสำเร็จและร่ำรวยจากการทำแปลงปลูกเมล่อนในโรงเรือน อย่างไรก็ตาม ก่อนลงมือปลูกต้องหาตลาดให้ได้แน่นอนเสียก่อน

แก้วมังกร เป็นพืชอยู่ในวงศ์ Cactaceae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับตะบองเพชร มีแหล่งกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในประเทศแถบอเมริกากลาง เมื่อประมาณ 100 ปีก่อน มีบาทหลวงจากประเทศฝรั่งเศสนำเข้ามาปลูกในประเทศแถบเอเชียแห่งแรกคือเวียดนามก่อน มีการปลูกแพร่หลายตามแนวชายฝั่งทะเลตะวันออกจากเมืองญาตรังไปจนถึงไซ่ง่อน แล้วจึงแพร่หลายมาในประเทศไทย

ในสมัย 10 กว่าปีก่อน แก้วมังกรมีราคาซื้อขายกันในตลาด กิโลกรัมละ 100 บาท ซึ่งถือว่าแพงมาก แต่คนมีกะตังค์ก็ยังนิยมซื้อกิน เนื่องจากเป็นของโก้เก๋ แต่จริงแล้วรสชาติของแก้วมังกรไม่ได้มีอะไรวิเศษวิโสสมกับราคา และอีกประการหนึ่งแก้วมังกรขยายพันธุ์ได้ง่าย มีการปลูกกันอย่างแพร่หลาย จึงทำให้ราคาของแก้วมังกรในเวลาต่อมามีราคาตกต่ำลง แต่เหมือนมีอัศวินม้าขาวมาช่วย เนื่องจากสังคมไทยเริ่มจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย หรือ ชช. ผู้เชี่ยวชาญชีวิต โรคถาวรต่างๆ ที่ต้องติดตัวเราจนตาย เช่น ความดัน ไขมัน และเบาหวาน เป็นโรคฮิตสำหรับท่านเหล่านี้ เผอิญคนไทยนิยมบริโภคอาหารรสจัดจ้าน รวมถึงผลไม้ด้วย เช่น ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ ลองกอง เป็นต้น ผลไม้รสจัดเหล่านี้เป็นผลไม้ต้องห้ามสำหรับโรคดังกล่าว โดยเฉพาะเบาหวาน หันไปหันมาเหลือแต่ลูกตะขบ กะทกรก ชำมะเลียง ซึ่งการนำมาบริโภคอาจจะเป็นที่อุจาดตาและตลกขบขันสำหรับคนเมืองเป็นยิ่งนัก จึงมาลงเอยที่แก้วมังกรผลไม้ต่างชาติต่างศาสนา ซึ่งมีความหวานน้อยและรสไม่จัดจ้าน จนกลายเป็นผลไม้สำหรับสุขภาพไป

สรรพคุณของแก้วมังกรพอสดับได้ดังนี้ คือ ช่วยดับกระหายคลายร้อน ซึ่งแหงๆ อยู่แล้ว ผลไม้ที่มีน้ำเยอะๆ เช่น แตงโม สรรพคุณพื้นฐานคือดับกระหาย เพราะมีน้ำเยอะ แก้วมังกรสามารถช่วยควบคุมระบบน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน บรรเทาโรคโลหิตจาง เพิ่มธาตุเหล็กและช่วยป้องกันหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย เนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีกากใยอาหารสูง นอกจากนี้ แก้วมังกรพันธุ์เนื้อแดง ซึ่งมีสารไลโคปีนอยู่เป็นจำนวนมาก จะมีคุณสมบัติในการต่อต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง

ส่วนสุขภาพด้านอื่นๆ สำหรับคนที่รักสุขภาพแล้ว แก้วมังกร เป็นผลไม้ที่มีแคลอรีต่ำ เหมาะที่เป็นผลไม้สำหรับลดน้ำหนัก กินแล้วอิ่มนานไม่หิวบ่อย และวิตามินต่างๆ ที่จำเป็นต่อผิว ทำให้ผิวพรรณสดชื่นเปล่งปลั่ง อยากจะต่อว่า ดูมีน้ำมีนวลเหมือนกินยาสตรีอะไรก็ว่าไป พอดีเขาไม่ได้ว่าไว้ ส่วนเมล็ดของแก้วมังกรสามารถดูดซับสารพิษที่ค้างอยู่ในร่างกายได้อีกด้วย สรรพคุณมากมายอย่างนี้ สาวๆ ถึงอยากกินแก้วมังกร

แถบบริเวณตำบลหนองย่างเสือของอำเภอมวกเหล็ก สระบุรี และตำบลหนองอีเหลอ อำเภอปากช่อง นครราชสีมา ซึ่งเป็นเขตติดต่อกัน ชาวบ้านนิยมปลูกแก้วมังกร เนื่องจากเป็นพื้นที่ดอน น้ำไม่ท่วม มีพื้นที่ดินส่วนหนึ่งที่เป็นดินลูกรัง เหมาะสำหรับปลูกแก้วมังกร มีโอกาสได้เจอกับ ป้าศรี หรือ คุณบุญศรี จันทบุญ ซึ่งมีที่ทางอยู่ทั้งสองแหล่งที่ว่านี้ และได้ปลูกแก้วมังกรมาหลายปีแล้ว ทำให้มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องนี้ ป้าศรีเล่าให้ฟังว่า “เริ่มปลูกแก้วมังกรตั้งแต่ ปี 2549 เป็นเวลา 10 ปีแล้ว ครั้งแรกปลูกที่บ้านไว้กิน 70 ต้น เนื่องจากเป็นคนชอบกินแก้วมังกร ต่อมาเห็นว่าปลูกเลี้ยงได้ง่าย จึงขยายพื้นที่ไปเรื่อยๆ โดยเอากิ่งจากน้องเขยมาปลูก ประมาณ 40 ไร่ ลงทุนไปเกือบ 2 ล้านบาท ปีที่สามเริ่มให้ผลผลิตเต็มที่ ก็จะมีรายได้ปีละประมาณ 2-3 ล้านบาท โดยยังไม่หักค่าใช้จ่าย

แก้วมังกร เป็นพืชที่พันขึ้นกับหลัก โดยหลักแก้วมังกรไม่ควรที่จะสูงมาก เพื่อสะดวกในการดูแลรักษาและการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยปกติจะใช้หลักปูนเพื่อความคงทนแข็งแรง เนื่องจากแก้วมังกรมีอายุหลายปีและมีน้ำหนักกิ่งมาก จึงควรที่จะใช้เสาปูนหน้าสี่ ซึ่งจะรองรับน้ำหนักได้ดี ความยาวของเสาปูน 2 เมตร ก็เพียงพอ ฝังลงไปในพื้น 50 เซนติเมตร จะเหลือความยาวของเสา 1.5 เมตร ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสมที่สุด ในอดีตที่เคยใช้เสาไม้หรือเสารั้วปูนหน้าสามจะมีปัญหาหักโค่นได้ง่ายเมื่อแก้วมังกรมีอายุหลายปีและจำนวนกิ่งมาก ด้านบนของเสาปูน จะเจาะรูทะลุด้านซ้ายขวา จำนวน 1 รู และด้านหน้า-หลัง จำนวน 1 รู รูทั้งสองจะอยู่ห่างกันประมาณ 1 นิ้ว เพื่อสอดเหล็ก เหล็กที่ใช้ จะมีขนาด 4 หุน เป็นเหล็กปล้องอ้อยเพื่อความแข็งแรง แล้วจึงใช้ล้อยางจักรยานยนต์ที่มีขนาดใหญ่ หรือเป็นยางรถยนต์ที่ตัดมาเฉพาะขอบ ความยาวของเหล็ก 2 เส้น ที่ตัดเส้นละประมาณ 60 เซนติเมตร จะรองรับล้อพอดี แล้วจึงใช้ลวดผูกเหล็กผูกยึดกับล้อ

การปลูกและดูแลรักษาแก้วมังกร

ในพื้นที่ 1 ไร่ จะฝังเสาได้ประมาณ 200 ต้น ซึ่งจะใช้ต้นแก้วมังกร จำนวน 800 ต้น ระยะห่างของหลัก บางสวนใช้ 2.5×3 เมตร หรือ 3×3 เมตร แล้วแต่ชอบ แต่การที่มีพื้นที่ขนาดกว้างจะสามารถใช้เครื่องจักรทำงานได้สะดวก หลังจากฝังหลักเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำต้นแก้วมังกรมาปลูก ต้นที่ปลูกยิ่งมีขนาดยาวใกล้หัวเสามากเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะจะให้ผลผลิตได้เร็ว จำนวนต้นที่ปลูกต่อหลัก จะใช้จำนวน 4 ต้น โดยปลูกทุกด้านของเสาทั้ง 4 ด้าน ในการปลูกจะต้องใช้เชือกมัดต้นให้ติดกับเสา ส่วนโคนฝังลงไปแค่เล็กน้อยก็เพียงพอ เมื่อต้นมีขนาดสูงขึ้นเรื่อยๆ จะต้องใช้เชือกมัดและคอยจัดให้ยอดแก้วมังกรสอดเข้าไปในวงล้อและพาดห้อยออกมา การปลูกในต้นฤดูฝนจะทำให้เกษตรกรไม่ต้องรดน้ำเลย นอกจากเกิดฝนทิ้งช่วงไปนานๆ แก้วมังกรเป็นพืชทะเลทราย ดังนั้น จึงไม่ชอบน้ำแฉะ เพราะจะเกิดโรคเน่าโคนได้ง่าย

ป้าศรี เล่าประสบการณ์เรื่องการปลูกแก้วมังกรว่า “แก้วมังกร เป็นพืชที่ชอบอยู่ในที่โล่ง จึงต้องทำโคนให้เตียนสะอาดอยู่ตลอดเวลา รากแก้วมังกรจะอยู่บริเวณโคนไม่ลึกสานต่อกันหมด รอบโคนจะใช้คนถากหญ้าออก ส่วนทางเดินจะใช้รถไถ เมื่อหญ้าที่ถากแห้งค่อยนำมาใส่โคนเป็นปุ๋ย โดยปกติจะใช้ปุ๋ยขี้วัวแห้งใส่แก้วมังกร ช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี 1 หลัก ใช้ครึ่งถุง ปุ๋ยขี้วัวเราสามารถใส่ติดโคนได้เลย แต่ถ้าเป็นขี้ไก่ควรใส่ห่างโคน เพราะจะทำให้โคนเน่า ส่วนปุ๋ยเคมี จะใช้สูตร 15-15-15 หรือ 20-20-20 เพื่อบำรุงทุกส่วน แก้วมังกรไม่จำเป็นต้องใช้สูตรเร่งอย่างอื่น ใช้สูตรเสมอก็เพียงพอแล้ว เพราะแก้วมังกรเป็นพืชที่ให้ผลผลิตเยอะอยู่แล้ว ปุ๋ยเคมีที่ใช้จะให้ช่วงติดผล ปีละ 2-3 ครั้ง ถ้าติดลูกมากก็ให้มากหน่อย ปริมาณที่ใช้ประมาณ 2-3 ขีด ต่อ 1 หลัก” ดอกของแก้วมังกรจะบานตอนกลางคืน ประมาณ 2-3 วัน ใช้ระยะเวลาประมาณ 20 กว่าวันแก้วมังกรก็จะสามารถเก็บผลได้ ช่วงที่อากาศร้อนแดดจัดแก้วมังกรจะสุกเร็ว ช่วงไหนแดดน้อยอากาศไม่ร้อนแก้วมังกรจะสุกช้ากว่าปกติ

ผลผลิตของแก้วมังกรจะทยอยออกเป็นรุ่นๆ ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนจนถึงปลายเดือนกันยายน เป็นเวลาถึง 5 เดือน เป็นเวลาที่ให้ผลผลิตนานมากถ้านับเป็นรุ่น ได้เกือบ 10 รุ่น แต่ละรุ่นมากน้อยต่างกัน โดยปกติจะสลับกัน รุ่นแรกมาก รุ่นสองก็น้อย รุ่นสามมาก เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ผลผลิตของต้นที่สมบูรณ์จะอยู่ระหว่าง 40-50 กิโลกรัม ต่อฤดูการผลิต แก้วมังกรควรเก็บผลผลิตเมื่อสุกประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ จะเก็บต่อได้อีกหลายวันกว่าจะถึงผู้บริโภค ถ้าเก็บก่อนรสชาติจะไม่อร่อย

เมื่อแก้วมังกรหยุดให้ผลผลิตประมาณเดือนกันยายน เดือนตุลาคมก็จะสามารถตัดแต่งกิ่งได้แล้ว กิ่งที่ตัดแต่งจะเป็นกิ่งที่ให้ผลผลิตในปีนี้ เนื่องจากกิ่งของแก้วมังกรจะให้ผลผลิตแค่ครั้งเดียวจึงจำเป็นต้องตัดกิ่งออก และในช่วงนี้เริ่มหมดฝนจึงเป็นฤดูที่เหมาะสมที่จะตัดแต่งกิ่ง การตัดแต่งควรตัดแต่งให้ชิดโคนกิ่ง เพื่อไม่ให้มีรอยแผลขนาดใหญ่ การตัดกลางกิ่งอาจเกิดเชื้อราที่รอยแผลได้ หรือหลังจากการตัดแต่งกิ่งจะฉีดยากันราเพื่อป้องกันโรคจะเป็นการดี ในช่วงที่มีผลผลิตการฉีดยากันราเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้มีลูกลายเกิดขึ้นมาก

ราคาของแก้วมังกรจะขึ้นๆ ลงๆ อยู่ที่จำนวนของผลผลิตที่ออกสู่ตลาด แก้วมังกรของที่นี่มักจะออกดอกพร้อมๆ กัน จึงทำให้วันเก็บเกี่ยวเป็นวันเดียวกัน ถ้าผลผลิตออกมาเยอะมากจะทำให้มีราคาค่อนข้างต่ำ แต่ราคาโดยเฉลี่ยส่วนใหญ่ 15-20 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรก็ยังมีกำไร ถ้าสวนไหนมีผลผลิตไม่ตรงกับสวนอื่นก็จะได้ราคาดี การปลูกพืชเพื่อจำหน่ายเกษตรกรควรคิดเรื่องตลาดเป็นหลัก ไม่ควรปลูกกันตามกระแส เพราะจะทำให้ผลผลิตล้นตลาดจนกลายเป็นขาดทุนไป

นายวรกุล บุตรดาจักร หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า เมื่อหมดฤดูการทำนาปีแล้ว จำเป็นต้องแนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อยแทนการทำนาปรังในส่วนที่ทำได้ ซึ่งพืชที่แนะนำได้แก่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฟักสด ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ทานตะวัน และพืชผักอื่นๆ ซึ่งพืชไร่อายุสั้นเหล่านี้ใช้น้ำน้อยเพียง 300-400 ลูกบาศ์กเมตรต่อไร่ แต่ถ้าทำนาปรังข้าวจะใช้น้ำถึง 5 เท่าคือ 1,500-2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ แต่การปลูกพืชอายุสั้นนั้นการเตรียมดินจะยุ่งยากเนื่องจากดินนาส่วนใหญ่เป็นดินเหนียว การระบายน้ำค่อนข้างเลว จึงต้องเตรียมดินให้ร่วนแล้ว ทำร่องช่วยระบายน้ำและเป็นการเพิ่มความลึกของหน้าดิน หากการะบายน้ำออกไม่ได้หรือน้ำยังท่วมขังไม่ควรปลูกพืชอายุสั้นใดๆ ขอแนะนำการปลูกพืชอายุสั้น ควรปฏิบัติดังนี้

1.ระยะเวลาปลูก ถั่วเหลือง ข้าวโพดหวาน,ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ควรปลูกในช่วง 15 ธันวาคม- 15 มกราคม เพราะช่วงนี้ดินมีความชื้นสูง และพืชเหล่านี้ยังทนต่ออุณหภูมิต่ำได้ดี ข้าวโพดฝักอ่อนสามารถปลูกได้ถึงเดือนกุมภาพันธ์ แต่ถั่วเขียวควรปลูกในเดือนกุมภาพันธ์

ยกร่องแปลงปลูกกว้าง 1.5 เมตร ทำคลองส่งน้ำและคู ระบายน้ำให้เหมาะสมกับความยาวของร่องปลูกเพื่อสามารถให้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้น้ำท่วมถึงบริเวณสันร่องปลูกแล้วปล่อยน้ำค่อยๆซึมเข้าไปในแปลง
พื้นที่ที่เป็นดินทรายจัด ควรปลูกถั่วเหลืองโดยไม่เตรียมดิน การให้น้ำควรปล่อยน้ำให้ท่วมแปลงแล้วระบายออก เป็นการให้น้ำปริมาณสูงกว่าการให้น้ำแบบยกร่อง ปลูกแต่ประหยัดน้ำกว่าการทำนาปรัง
ควรใช้ฟางข้าวหรือเศษวัชพืชคลุมสันร่องปลูกพืชไร่ เพื่อรักษาความชื้นของแปลง
ระยะเวลาการให้น้ำ ข้าวโพดหวาน, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, ข้าวโพดฝักอ่อน, ถั่วเหลือง, ถั่วลิสง ควรให้น้ำ 14 วันต่อครั้งตั้งแต่ปลูกจนถึงระยะออกดอก จากนั้นให้น้ำ 7 วันต่อครั้ง จนอีก 14 วัน ก่อนจะเก็บเกี่ยวจึงงดให้น้ำโดยสิ้นเชิง (ยกเว้นข้าวโพดหวาน,ข้าวโพดฝักอ่อน ควรงดให้น้ำ 7 วัน ก่อนเก็บเกี่ยว สำหรับถั่วเขียว ควรให้น้ำ 21 วันต่อครั้ง และงดให้น้ำ 14 วันก่อนเก็บเกี่ยวครั้งสุดท้าย
หากมีข้อสงสัยหรืออยากจะสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู โทร.0-4231-2045 หรือ สำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอ และศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลที่ใกล้บ้านท่าน

หนุ่มพนักงานบริษัทเอกชนชาวโคราช นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปทำเกษตรแบบผสมผสาน 1 ไร่ มีกินมีใช้ทั้งปีจนประสบความสำเร็จ เผยเป็นศาสตร์ของพระราชา ทำเท่าที่กำลังมี และจะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

นายปา ไชยปัญหา อายุ 44 ปี พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งชาวจังหวัดนครราชสีมา ที่หันไปศึกษาเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และการทำเกษตรแบบผสมผสานจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ และนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต จนทำให้ทุกวันนี้ครอบครัวของนายปามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นายปา ไชยปัญหา เปิดเผยว่า ตนได้แบ่งใช้พื้นที่ 1 ไร่ จากที่ดินของตนที่มีทั้งหมด 7 ไร่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่บ้านกุดปลาเข็ง ตำบลโนนค่า อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่านมาใช้ในการทำการเกษตรแบบผสมผสาน โดยตนได้ลองลงมือทำเป็นระยะเวลานานถึง 8 ปีจนประสบความสำเร็จ ซึ่งตนเรียกการเกษตรแบบผสมผสานนี้ว่า 1 ไร่ มีใช้ทั้งปี โดยเป็นการปลูกพืชเกษตรอินทรีย์มากกว่า 20 ชนิด ภายในพื้นที่ 1 ไร่ ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตหมุนเวียนกันได้ตลอดทั้งปี สร้างรายได้ให้กับครอบครัวปีละมากกว่า 2 แสนบาท ทำให้ปัจจุบันครอบครัวของตนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และตนได้เป็นแปลงเกษตรต้นแบบให้กับเกษตรกรจากทั่วประเทศเดินทางมาศึกษาดูงาน

ซึ่งหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่านได้สอนให้เรามีอยู่มีกิน เป็นศาสตร์ของพระราชา เราทำแบบพอเพียงไม่ต้องทำเยอะ ไม่ต้องฟุ้งเฟ้อ เราทำแบบพอเพียงเท่าที่เรามีกำลังพอทำได้ ไม่ต้องไปก่อหนี้เพิ่ม แล้วเราจะลดหนี้สินลงได้แบบอัตโนมัติ และสิ่งที่สำคัญคือเราต้องลดรูโลกของชีวิต ซึ่งหมายถึงอบายมุข และสิ่งฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยต่างๆ เพราะถ้าหากเราลดรูโลกของชีวิตได้ การทำเศรษฐกิจพอเพียงก็จะประสบความสำเร็จได้จริงอย่างยั่งยืน

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ บ้านดอยปู่หมื่น เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงด้านการปลูกต้นชามานานแล้ว ทั้งนี้ บ้านดอยปู่หมื่น อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติผ้าห่มปก ที่ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น อุทยานแห่งชาติฟ้าห่มปก บ้านดอยปู่หมื่น ตั้งอยู่ หมู่ที่ 15 ตำบลแม่สาว อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าลาหู่ จำนวน 110 หลังคาเรือน ประชากรประมาณ 550 คน เป็นหมู่บ้านติดชายแดนไทย-เมียนมา

เป็นชุมชนใหญ่ที่อพยพมาจากทิเบตผ่านจีนและเมียนมา มาตั้งเป็นชุมชนใหญ่มากกว่า 120 ปีแล้ว เริ่มต้นจากผู้นำชื่อ ปู่หมื่น พร้อมด้วยลูกบ้านจำนวนหนึ่ง ผู้นำรุ่นที่สองเป็นรุ่นของลูก ที่ชื่อ นายจะฟะ ไชยกอ มีลูกชายและลูกสาว 11 คน ครอบครัวไชยกอเป็นครอบครัวที่จัดเป็นประเภทหัวไวใจสู้ มีโอกาสเข้ารับเสด็จฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 แทบทุกครั้งที่พระองค์ท่านเสด็จฯ ทรงงานที่บ้านดอยปู่หมื่น อ่างขาง ห้วยลึก และหมู่บ้านใกล้เคียง แล้วนำพระราชดำริของพระองค์ท่านมาปฏิบัติเป็นแบบอย่างในหมู่บ้านอย่างสม่ำเสมอ

จากอดีตสมัยก่อนที่เคยเป็นแหล่งปลูกฝิ่นแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ด้านติดชายแดน อาชีพของเกษตรกรจะทำไร่เลื่อนลอย มีการบุกรุกถางป่าเพื่อปลูกพืช ทำให้สภาพป่ากลายเป็นเขาหัวโล้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เยี่ยมชาวไทยภูเขาที่บ้านปู่หมื่นครั้งแรก เมื่อปี 2513 ได้พระราชทานแกะและไก่พันธุ์โรดไอแลนด์ สมุดและขนม แก่ประชาชนที่หมู่บ้านดอยปู่หมื่นและหมู่บ้านใกล้เคียง โดยมี นายจะฟะ ไชยกอ เป็นตัวแทนรับมอบ ต่อมาในปี 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จฯ ที่บ้านดอยปู่หมื่นและได้พระราชทานต้นชาให้นำมาปลูกที่บ้านปู่หมื่น นับเป็นชาต้นแรกที่ปลูกและขยายพันธุ์แก่เกษตรกรในพื้นที่ เป็นชาสายพันธุ์อัสสัม เกษตรกรจะออกไปเก็บใบชาช่วงเวลาเช้า

นำมาคั่วด้วยเตาแบบโบราณที่ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง ผึ่งลมให้แห้งแล้วบรรจุถุง ส่งจำหน่ายให้กับผู้บริโภคใบชาแบบดั้งเดิม ปัจจุบันนี้ บ้านดอยปู่หมื่นเป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่ปลูกชาอัสสัมมากที่สุดแห่งหนึ่ง โดยปลูกบริเวณรอบๆ หมู่บ้าน ทุกบ้านสะอาด สะดวกพร้อมที่จะรับนักท่องเที่ยวเข้าชมและพักผ่อนแบบโฮมสเตย์ ชมต้นชาต้นแรกที่ได้รับพระราชทานจากในหลวง นักท่องเที่ยวเยี่ยมชมโรงงานผลิตชา กิจกรรมร่วมเก็บใบชา ท่องเที่ยวน้ำตกปู่หมื่น ชมวิถีชีวิตและการละเล่นของชาวไทยภูเขาเผ่าลาหู่ อีกทั้งได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมและพัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยการสนับสนุนของหน่วยจัดการต้นน้ำดอยผาหลวง

สนใจติดต่อแหล่งท่องเที่ยวใกล้เมืองเชียงใหม่ ติดต่อได้ที่ นายเจริญชัย ไชยกอ หัวหน้ากลุ่มท่องเที่ยวและเป็นทายาทรุ่นที่สามของหมู่บ้านดอยปู่หมื่น ตำบลแม่สาว อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่

เขาคนนี้ มีแรงบันดาลใจต่อการปลูกและศึกษาเกี่ยวกับต้นยางนาจากในหลวง คุณณรงค์เล่าว่า การที่มีความรู้เรื่องยางนามาทุกวันนี้ เพราะได้ศึกษาตามแนวทางของพ่อหลวง เมื่อ ปี 2504 ที่ทรงรับสั่งว่ามีแต่คนตัด ควรมีการศึกษาเพื่อให้มีการปลูกเพิ่มขึ้น จากนั้นเขาเลยเริ่มศึกษาอย่างจริงจัง แล้วลงมือปลูกทันที ทว่าการปลูกยางนาของคุณณรงค์มีความตั้งใจเพื่อศึกษาและทดลองวิจัย จนกระทั่งสามารถสรุปถึงความเป็นไปได้

คุณณรงค์มีงานประจำอยู่ที่ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาเนินขาม มานานถึง 30 ปี และต้องคลุกคลีอยู่กับลูกค้าที่เป็นชาวบ้าน จึงมองว่ามีหลายรายประสบปัญหาด้านการเงินไม่รู้จบ อันเป็นเพราะพวกเขาขาดความเข้มแข็ง หรือพึ่งตัวเองไม่ได้
ในพื้นที่ทั้งหมด 17 ไร่ ของบ้านเลขที่ 300 หมู่ที่ 10 ตำบลหันคา อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ที่คุณณรงค์จัดวางเป็นห้องเรียนตามธรรมชาติ เพื่อใช้ศึกษา วิจัย ด้วยการปลูกต้นยางนา จำนวน 20,000 ต้น ปลูกไว้เป็นกลุ่มๆ เพื่อใช้ศึกษาวิจัยในแต่ละด้าน แต่ละประเด็น
ตัวอย่างงานวิจัยที่ สรุปแล้วจับต้องได้คือ ศึกษาพื้นที่ปลูกในดินลูกรัง โดยเพื่อหวังให้ชาวบ้านปลูกบริเวณรอบภูเขา หรือสูตรขี้เกียจแต่อยากรวย เป็นงานวิจัยที่แนะว่า ถ้าอยากรวยควรซื้อที่ดินแล้วปลูกต้นไม้ เพราะต้นไม้จะโตทุกวัน ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรกับบ้านเมือง ต้นไม้ก็ยังโตไปตามธรรมชาติ แล้วไม่นานคนที่ปลูกไว้ก็สามารถใช้ประโยชน์ได้

ส่วนชาวบ้านที่ปลูกมันสำปะหลังอยู่ ถ้าต้องการปลูกยางนาในไร่มันสำปะหลัง ให้ใช้ระยะปลูกที่เหมาะสมคือ 4 คูณ 4 เมตร และให้ปลูกบริเวณรอบ ซึ่งจะได้ผลผลิต 4-5 ตัน ต่อไร่ ถ้าราคา ตันละ 2,000 บาท จะมีรายได้เป็นหมื่นบาทต่อไร่ แต่ถ้าขยันทำ จะได้ถึงไร่ละ 200 ตัน
มีงานวิจัยเรื่องปลูกตามนาข้าวว่า หากปลูกบริเวณริมคันนา จะต้องจัดทำคันนาให้ถูกต้อง ใช้ระยะห่าง ต้นละ 1 เมตร จะได้ไร่ละ 80 ต้น ถ้ามีจำนวน 10 ไร่ ได้ถึง 800 ต้น และการปลูกถี่จะป้องกันไม่ให้หญ้าขึ้นที่พื้นดิน แล้วจะไม่แห้ง จะสามารถป้องกันการเกิดไฟไหม้ได้

นอกจากนั้น คุณณรงค์ ยังชี้ให้เห็นว่า ถ้าปลูกไม้ยางนาไม่ต้องกังวลเรื่องระยะห่าง เพราะโดยธรรมชาติแล้ว ไม้แต่ละชนิดจะพยายามเอาตัวรอด ฉะนั้น การปลูกยางนาเพียงชนิดเดียวจึงไม่จำเป็นต้องมีระยะห่างมากและสามารถปลูกถี่ ได้ ระยะต้นยิ่งถี่ ยิ่งทำให้ต้นโตดี แถมยังระบุว่าระยะเพียงแค่งูรอดได้ก็พอแล้ว ต่างกับต้นสักหรือสะเดา ถ้าปลูกถี่มากกลับโตช้า
การ เพาะต้นกล้านั้น คุณณรงค์ชี้ว่า ควรเพาะเองดีกว่า หรืออาจไปติดต่อขอที่ป่าไม้ แต่ถ้าอยู่ไม่ไกลนัก จะแวะมาดูที่ศูนย์ก็ได้ ยางนา ต้นละ 7-8 บาท มีความสูง 70 เซนติเมตร
“สำหรับกิจกรรมของศูนย์เรียนรู้เรื่องยางนา ที่ผ่านมามีผู้คนจากทั่วประเทศให้ความสนใจจำนวนมาก ทั้งมากันเองเป็นกลุ่ม เป็นคณะ หรือบางรายโทรศัพท์มาคุย เพราะได้พบเจอในเว็บไซต์
นอกจาก นั้น ยังได้รับเชิญไปบรรยายให้ความรู้ตามสถานที่ต่างๆ ฉะนั้น จนถึงปัจจุบันมีผู้สนใจเข้ามาศึกษาถึงกว่า 500,000 คน แล้ว หลังจากนั้นมีจำนวนต้นยางนาเกิดใหม่ขึ้นอีกกว่า 10 ล้านต้น” คุณณรงค์ กล่าว

ในงาน “มหัศจรรย์ พันธุ์ข้าวมงคล พืชผลของพ่อ” จัดโดยเครือมติชน ระหว่างวันที่ 24-27 พฤศจิกายน 2559 ที่เดอะมอลล์ บางกะปิ คุณณรงค์ สังขะโห ได้รับคัดเลือกให้เป็น “เกษตรกรตามรอยพ่อ ผู้มีผลงานดีเด่น” จะรับโล่รางวัลจากท่านอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี วันที่ 25 พฤศจิกายน 2559

นอกจากนี้ คุณรงค์ ยังมาจัดนิทรรศการยางนา ผู้สนใจแวะไปพูดคุยได้ระหว่างงาน พลิกโฉมวงการเกษตรไทยด้วยน้ำมือของคนรุ่นใหม่ คุณอ๊อบ-ณัฐชัย อึ๊งศรีวงศ์ เจ้าของฟาร์มฮอปส์ (Hops) พันธุ์ไม้เลื้อยชนิดหนึ่งมีใบและดอก ซึ่งดอกฮอปส์มีคุณสมบัติเป็นเสมือนสารกันบูดจากธรรมชาติ ให้รสขมและกลิ่นที่เฉพาะตัว นิยมนำไปใส่ในคราฟเบียร์ ช่วยให้รสชาติและกลิ่นมีเสน่ห์มากขึ้น

Deva Farm คือ ฟาร์มปลูกฮอปส์แห่งแรกในไทย นอกจากนั้นยังปลูกผัก ผลไม้ ไฮโดรโปนิกส์ ตั้งอยู่ที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

คุณอ๊อบ ณัฐชัย ปัจจุบันอายุ 36 ปี อดีตเคยเป็นเจ้าของบริษัทผลิตซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่นสำหรับโทรศัพท์มือถือนาน 13 ปี ก่อนจะหันหลังให้กับชีวิตมนุษย์เงินเดือน แล้วมาสวมบทบาทเกษตรกรปลูกฮอปส์ในโรงเรือน หนึ่งในวัตถุดิบสำคัญในการทำคราฟเบียร์แห่งแรกในเมืองไทยเมื่อปี 2558

“ผมเป็นคนชอบดื่มเบียร์ เคยไปเรียนทำคราฟเบียร์ เลยรู้ว่าดอกฮอปส์เป็นหนึ่งในวัตถุดิบหลักของการทำเบียร์ ซึ่งมี 4 อย่าง คือ มอลต์ ฮอปส์ ยีสต์ และน้ำ ซึ่งฮอปส์ปลูกได้เฉพาะในเมืองหนาว แต่ด้วยความอยากท้าทาย เลยลองสั่งเหง้าฮอปส์จากสหรัฐอเมริกา 10 เหง้า เป็นเงิน 10,000 กว่าบาท นับเป็นครั้งแรกที่ลองปลูก ฮอปส์ในประเทศไทยซึ่งเป็นเมืองร้อนชื้น”

โดยปกติ คุณอ๊อบ บอกว่า สนใจเรื่องเกษตรอยู่แล้ว ปลูกมะเขือเทศ แตงกวา เมล่อน ในรูปแบบไฮโดรโปนิกส์กินเองอยู่เป็นประจำ คราวนี้นับเป็นความท้าทายมากที่เลือกปลูกฮอปส์ เพราะเคยได้ยินว่าในเมืองไทยมีปลูกกันบ้างที่ภาคเหนือ แต่ผลผลิตไม่เยอะ ในภาคกลางยังไม่มีใครปลูก ราวเดือนตุลาคม 2558 ลองปลูกในกระถางไว้ในห้องขนาด 12 ตารางเมตร เปิดแอร์ 25 องศาเซลเซียส ตลอด 24 ชั่วโมง

ภายหลังที่ปลูกฮอปส์ในกระถางได้ 5 เดือน ปรากฏออกดอก คุณอ๊อบย้ายไปปลูกในโรงเรือน พื้นที่
6 X 24 เมตร ลงทุน 2.5 แสนบาท โรงเรือนแห่งนี้ไม่ได้ติดแอร์ ปลูกเมล่อน มะเขือเทศ และแตงกวาร่วมด้วย

“ผมย้ายต้นฮอปส์มาปลูกในโรงเรือน ราว 200 ต้น นำความรู้เชิงโปรแกรมเมอร์มาประยุกต์ ทุกอย่างควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ รวมถึงสมาร์ตโฟน ซึ่งมีแอพพลิเคชั่นที่ผมเขียนซอฟต์แวร์ควบคุมเอง ทำเซ็นเซอร์เอง เดินระบบให้น้ำ ให้ปุ๋ยเอง”

โรงเรือนฮอปส์จะถูกควบคุมอุณหภูมิไม่ให้ร้อนเกินไป UFABET จะมีที่พ่นหมอก ไม่ได้พ่นมั่ว มีตัวเซ็นเซอร์คอยวัดอุณหภูมิตลอดเวลา หากร้อนเกินไปหมอกจะถูกพ่นออกมาเพื่อรักษาอุณหภูมิและความชื้น รวมถึงระบบปุ๋ยคุณอ๊อบให้ปุ๋ยผ่านระบบน้ำไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งจะมีทั้งปุ๋ยและน้ำ รดวันละ 3 ครั้ง ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์สั่งการทั้งหมด

กล่าวได้ว่าโรงเรือนแห่งนี้ ควบคุมด้วยระบบที่ทันสมัยโดยโปรแกรมเมอร์ ส่วนด้านเกษตร ชายหนุ่ม บอกว่า ศึกษาจากอินเตอร์เน็ต และหนังสือทั้งในและต่างประเทศ

ปัจจุบันฟาร์มปลูกฮอปส์ มี 5 โรงเรือน บนพื้นที่ราว 1 ไร่ ปลูกฮอปส์ 200 ต้น ที่เหลือเป็นพื้นที่สำหรับปลูกผักไว้สำหรับกินเอง ส่วนผลผลิตยังไม่มาก เพราะปลูกได้เพียง 2 ปี ยังคงสั่งซื้อเหง้าฮอปส์จากต่างประเทศเข้ามาเรื่อยๆ เป้าหมายสูงสุด คือ ปลูกฮอปส์สำหรับทำโรงผลิตเบียร์สด