ที่ผ่านมาการพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดหวานพิเศษสีแดง กรรมการผู้จัดการ

เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญ โดยเป็นเจ้าของโครงการนี้ เรียกว่าเป็นลูกไม้ที่หล่นใต้ต้นจริงๆ เพราะเธอเรียนจบปริญญาโท สาขาปรับปรุงพันธุ์พืช จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ (University of Illinois at Urbana-Champaign) ประเทศสหรัฐอเมริกา และช่วยทำงานด้านพัฒนาสายพันธุ์ข้าวโพด โดยเฉพาะข้าวโพดหวานพิเศษสีแดงที่ทุ่มเทให้กับงานนี้อย่างจริงจัง และมีหน้าที่บรรยายให้ผู้คนในแวดวงการวิจัยและแวดวงเกษตรได้รับรู้ถึงวิธีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดชนิดนี้ในหลายเวที

คุณรวิกานต์ เล่าว่า การพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดสีแดงครั้งนี้ ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีชีวภาพหรือการตัดต่อยีน ทุกขั้นตอนเป็นการปรับปรุงพันธุ์พืชแบบดั้งเดิม (conventional breeding) ทั้งสิ้น และถือเป็นเจ้าแรกที่ทำข้าวโพดหวานพิเศษสีแดง ที่ผ่านมามีแต่ข้าวโพดหวานธรรมดาสีแดง

“ผู้คนมักจะเข้าใจเรื่องข้าวโพดหวานพิเศษสีแดง กับข้าวโพดเหนียวสีแดงสับสนกัน ซึ่งเป็นคนละชนิด ของเราไม่ใช่ข้าวโพดข้าวเหนียว และสามารถทานสดได้เลย เหมือนทานผลไม้ทั่วไป”

วันไหนที่เธอออกบู๊ธในงานต่างๆ ก็จะฝานเนื้อข้าวโพดสีแดงสดๆ ให้ได้ชิมกัน ซึ่งทุกคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า หวานกรอบอร่อย บางคนถึงกับขอซื้อข้าวโพดที่นำมาโชว์ พร้อมกับถามว่าจะหาซื้อได้ที่ไหน เพราะติดใจรสชาติอยากจะนำไปใส่รับประทานกับสลัด เพราะนอกจากจะมีสีสันสวยสดแล้ว ยังมีรสหวานอีกด้วย

สำหรับประโยชน์ของข้าวโพดแดงนี้ เธออธิบายว่า มีปริมาณสารแอนโทไซยานิน (anthocyanin) สูง ซึ่งสารตัวนี้เป็นตัวเดียวกับที่มีในดอกอัญชันที่นำมาต้มดื่มกันเพื่อสุขภาพ เป็นสารรงควัตถุสีม่วง-แดง ที่มีความสามารถในการต่อต้านอนุมูลอิสระสูง โดยมีจำนวนมากทั้งในเมล็ด ซัง และไหมข้าวโพด ซึ่งนำเมล็ดมารับประทานตามปกติก็ได้ หรือจะนำไหมกับซังมาต้มเพื่อสกัดสารตัวนี้ก็ได้ ถ้ารับประทานเมล็ดข้าวโพดตัวนี้มีกลิ่นหอมคล้ายๆ ผลไม้บางชนิด และมีรสชาติหวานกรอบเป็นเอกลักษณ์

เรื่องการปลูก คุณรวิกานต์ กล่าวว่า ปลูกเหมือนข้าวโพดหวานปกติทั่วไป แต่ข้าวโพดหวานสีแดงนี้จะไม่ชอบหน้าฝนที่มีช่วงฝนตกหนักตลอด เพราะอ่อนแอต่อความชื้นสูงๆ มากกว่าพันธุ์อื่น แต่ก็มีเกษตรกรบางคนนำไปปลูกช่วงหน้าฝนและได้ผลผลิตดีด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการปลูกด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงอายุ 45-50 วัน ต้องหมั่นตรวจดูการระบาดของแมลงอีกครั้ง โดยเฉพาะหนอนเจาะลำต้น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ หากพบการระบาดให้กำจัดตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร พร้อมให้ปุ๋ย สูตร 46-0-0 ในอัตรา 10-15 กิโลกรัม ต่อไร่

รับรองปลูกแล้วขายได้ราคา
คุณรวิกานต์ แนะนำว่า ในการปลูกข้าวโพดนั้น ต้องจดวันที่ข้าวโพดออกไหมด้วย และในช่วง 50-65 วัน ให้หมั่นเดินดูแปลงเป็นพิเศษ โดยหลังจาก 20 วัน หลังออกไหม สามารถเก็บเกี่ยวได้เลย

เธอเน้นย้ำว่า ที่ระบุให้นับ 20 วัน หลังออกไหม แทนที่จะเป็นจำนวนวันหลังปลูก เพราะวันออกดอกของข้าวโพดจะเปลี่ยนแปลงได้ 1-2 วัน ขึ้นกับฤดูกาลกับช่วงแสง โดย “65 วัน” ที่ระบุเป็นค่าเฉลี่ยสำหรับใช้เป็นแนวทางในการวางแผนการปลูก เพราะเปลี่ยนได้อย่างมากไม่เกิน 2 วัน

ส่วนกรณีที่ให้นับ 20 วัน หลังข้าวโพดออกไหมแล้ว เพราะข้าวโพดหวานจะมีน้ำหนักดีและรับประทานได้ที่ 20 วัน หลังออกไหม ถ้าเก็บช้าความหวานจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด และจะทำให้ราคาตก

คำแนะนำอีกอย่างคือ ไม่ควรปลูกให้ออกดอกพร้อมกับข้าวโพดพันธุ์อื่น แม้จะเป็นข้าวโพดหวานเหมือนกันก็ตาม ซึ่งข้าวโพดหวานสีแดงนี้อายุเบากว่าข้าวโพดหวานชนิดอื่นๆ คือจะออกดอกภายใน 45 วัน หลังปลูก จะเก็บเกี่ยวได้ที่ 65 วัน หลังปลูก

ว่าไปแล้วตอนนี้เกษตรกรบ้านเรายังปลูกข้าวโพดหวานพิเศษสีแดงไม่มากเท่าไร เพราะเมล็ดพันธุ์เพิ่งจำหน่ายได้ไม่นาน เกษตรกรยังไม่ค่อยรู้จักกันมากนัก แต่ค่อยๆ ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่ม เนื่องจากสามารถขายได้ราคาต่อฝักดีกว่าข้าวโพดหวานทั่วไป ส่วนหนึ่งเพราะคนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น และรู้ว่าสารแอนโทไซยานินมีประโยชน์ต่อร่างกาย

ขณะเดียวกัน บริษัท สวีทซีดส์ฯ ก็กำลังเร่งผลิตเมล็ดพันธุ์เพิ่ม เพื่อให้ทันกับความต้องการของตลาด ซึ่งเกษตรกรมักบ่นว่าไม่รู้จะไปหาซื้อได้ที่ไหน

นอกจากนี้ การที่ ดร. ทวีศักดิ์ และลูกสาว นำผลงานวิจัยดังกล่าวไปออกบู๊ธในงานต่างๆ ของหน่วยราชการ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก็ทำให้สื่อมวลชนนำไปประชาสัมพันธ์กันมากขึ้น

ล่าสุดในงานประชุมวิชาการนานาชาติและนิทรรศการเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านเกษตรและเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (International Conference on Sustainable Agriculture and Bioeconomy 2017 หรือ แอ็กไบโอ AgBio 2017) เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดงานประชุมดังกล่าว ก็ได้นำข้าวโพดหวานพิเศษสีแดงนี้เป็นเมนูพระกระยาหารกลางวันของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ปัจจุบัน ทาง บริษัท สวีทซีดส์ จำกัด ขายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานพิเศษสีแดง กิโลกรัมละ 1,000 บาท และมีขายเป็นซอง ซองละ 500 เมล็ด ราคา 100 บาท ซึ่งมีราคาสูงกว่าพันธุ์ข้าวโพดหวานทั่วไป ที่ขายกิโลกรัมละ 750 บาท

แต่ทางคุณรวิกานต์บอกว่า แม้ราคาจะแพงกว่า แต่ข้าวโพดชนิดนี้ขายได้ในราคาที่สูงกว่าข้าวโพดหวานสีเหลืองด้วย ขายได้ฝักละ 10 บาทขึ้นไป ซึ่งถือว่าพันธุ์นี้เป็นทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกร เพื่อที่จะได้ขายสินค้าเกรดพรีเมี่ยม ด้วยความที่เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานพิเศษสีแดง ยังไม่มีขายอย่างแพร่หลาย จึงมีพ่อค้าแม่ค้าหัวใสบางรายซื้อแล้วไปขายต่อ ในราคา เมล็ดละ 3 บาท

ข้าวโพดหวาน “5 ไร่ ยอด”
ด้าน ดร. ทวีศักดิ์ กล่าวเสริมว่า การปลูกข้าวโพดหวานสีแดงไม่ต่างจากข้าวโพดหวานทั่วไป รวมระยะเวลาในการเตรียมดิน เพาะปลูก และเก็บเกี่ยวประมาณ 80 วัน ปีหนึ่งปลูกได้ถึง 4 รอบ แต่ควรปลูกหลายแปลง หมุนเวียนกันไป ยกตัวอย่าง แปลงแรกเมื่อต้นโตในระยะหนึ่งแล้ว ค่อยปลูกอีกแปลง เพื่อให้ได้ผลผลิตตลอดทั้งปี ส่วนการดูแลบำรุงควรใส่ปุ๋ยรองพื้นในช่วงเตรียมดิน สูตร 15-15-15 อัตรา 30-50 กิโลกรัม ต่อไร่ และฉีดยาพ่นสารกำจัดวัชพืชตั้งแต่วันปลูกหรือหลังวันปลูกไม่เกิน 2 วัน

ดร. ทวีศักดิ์ ให้ข้อมูลด้วยว่า ปัจจุบันพืชเศรษฐกิจหลายตัวที่เกษตรกรไทยปลูกและประสบปัญหาราคาตกต่ำ ไม่ว่าจะเป็นข้าวหรือยางพารา ฯลฯ ตนจึงได้ทำงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ด้วยการสนับสนุนของ สกว. หัวข้อปลูกข้าวโพดหวาน “5 ไร่ ยอด” โดยนำเกษตรกร จำนวน 13 ราย มาอบรมวิธีการปลูกข้าวโพดแบบครบวงจร ตั้งแต่การเตรียมดินจนถึงการบำรุงรักษา รวมถึงการนำผลผลิตที่ได้ไปขายเอง จะสามารถอยู่รอดปลอดภัยได้ในเศรษฐกิจยุคนี้

ปัจจัยที่เป็นแรงผลักดันให้การปลูกข้าวโพดหวานสามารถทำเงินได้เป็นอย่างดี เพราะทุกวันนี้ผู้คนหันมาบริโภคข้าวโพดหวานกันมากขึ้น เพราะรู้ว่าในข้าวโพด 1 ฝัก มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก เนื่องจากอุดมไปด้วยสารอาหาร ไม่ว่าจะเป็นไลโคปีน แอนโทไซยานิน ไฟเบอร์ เกลือแร่ และวิตามินต่างๆ และหากจะทำให้ข้าวโพดหวานอร่อย ไม่ควรจะใช้น้ำต้มเยอะจนท่วมฝักข้าวโพดแล้วปล่อยให้สุกนาน ควรนึ่งดีกว่า หรือใช้วิธีต้มในหม้อโดยใส่น้ำไปแค่ 2 เซนติเมตร แล้วปิดฝา เท่านี้ก็เหมือนวิธีการนึ่งแล้ว ใช้เวลาประมาณ 20 นาที ก็จะได้ข้าวโพดต้มที่หวานหอมอร่อย

เวลานี้เกษตรกรรุ่นใหม่บางรายนำข้าวโพดหวานสีแดงนี้ไปปลูกแล้วชูเป็นจุดเด่นของไร่ อย่างเช่น ไร่ณัฐธยาน์ อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งขายเมล็ดพันธุ์ด้วย ได้เขียนลงในเฟซบุ๊กบรรยายจุดเด่นของพันธุ์ “ราชินีทับทิมสยาม” ว่า รสชาติหวานมาก เนื้อแป้งกรอบ และมีสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

พร้อมกันนั้นยังมีอีกหลายไร่ที่นำข้าวโพดชนิดนี้ไปปลูก เพื่อสร้างจุดขายให้กับไร่ อีกหน่อยหากเกษตรกรปลูกกันมากขึ้น เชื่อว่าคงมีการนำมาแปรรูปทำน้ำข้าวโพดขายแน่ ซึ่งแน่นอนกลุ่มเป้าหมายต้องเป็นกลุ่มผู้รักสุขภาพที่รู้ดีว่าน้ำข้าวโพดสีแดงนี้มีประโยชน์ต่อร่างกาย

วกกลับมาที่ บริษัท สวีทซีดส์ จำกัด ของ ดร. ทวีศักดิ์ กันต่อ ความจริงบริษัทพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดอีกหลายชนิด และส่วนใหญ่จะมีบริษัทของคนไทยและต่างชาติมาซื้อลิขสิทธิ์ แล้วนำไปใส่แบรนด์ตัวเอง โดยเฉพาะในประเทศอาเซียนนั้น เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหลากหลายชนิดของบริษัทได้รับความนิยมมาก

ผู้สนใจ อยากศึกษาดูงานเรื่องการปลูกข้าวโพดหวาน โทร.ติดต่อที่ (036) 716-233-4 หรือ (081) 825-0403 หรือที่เฟซบุ๊ก ของ ดร.ทวีศักดิ์ (taweesak.pulam) หรือจะไปดูที่แปลงของบริษัท ที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ก็ได้ ซึ่งตอนนี้กำลังจะเริ่มปลูกข้าวโพดรอบใหม่ และในช่วงกลางปีจะเปิดไร่ข้าวโพดของบริษัทให้ผู้คนทั่วไปเข้าชมเรียนรู้วิธีการปลูก

ฉะนั้น เกษตรกรหน้าใหม่หรือหน้าเก่ารายใด กำลังหาพืชปลูก ที่สามารถทำรายได้ดี โดยใช้เวลาไม่นานนัก ลองศึกษาหาข้อมูลเรื่องข้าวโพด พันธุ์ “ราชินีทับทิมสยาม” ดู ซึ่งหากปลูกตอนนี้เชื่อว่ามีตลาดรองรับแน่นอน

การปลูกมะม่วงทั่วประเทศไทย มีเกษตรกรกว่า 259,276 ครัวเรือน เนื้อที่ให้ผลผลิตกว่า 816,467 ไร่ โดยพื้นที่กระจายอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือมากที่สุดถึงร้อยละ 42 และอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างกว่า2 แสนไร่ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก กว่าแสนไร่ รองลงมาคือ สุโขทัย พิจิตร เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร และตาก

ภาคเหนือตอนล่าง..ทำเลทองของการปลูกมะม่วงส่งออก ปัจจุบันภาคเหนือตอนล่าง ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตมะม่วงใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในวันนี้ มีจุดเริ่มต้นจากการปลูกมะม่วงแค่ 2 ต้นเพื่อเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัวของ “ ลุงสมหมาย บัวผัน ”เกษตรกรรายหนึ่งในพื้นที่ตำบลวังทับไทร อำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร เมื่อ 30 ปีก่อน ปรากฏว่า มะม่วงที่ปลูกให้ผลผลิตที่ดีและขายได้ราคาดีกว่าพืชชนิดอื่น สร้างแรงจูงใจให้ลุงสมหมายและเกษตรกรในท้องถิ่นหันมาสนใจปลูกมะม่วงเป็นอาชีพกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันในเวลาต่อมา

คุณสายันต์ บุญยิ่ง (โทร.081-887-1964 ) เจ้าของสวนมะม่วงชื่อ “สวนสมบัติ” ในพื้นที่ตำบลวังทับไทรและเป็นเลขาธิการสมาคมชาวสวนมะม่วงแห่งประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า เมื่อ 30 ปีก่อน พื้นที่ส่วนใหญ่ของตำบลวังทับไทรมีสภาพแห้งแล้ง เนื่องจากขาดแหล่งน้ำชลประทาน และมีสภาพดินเสื่อมโทรมมาก ชาวบ้านนิยมปลูกพืชไร่ แต่ไม่ค่อยได้ผลผลิตสักเท่าไหร่ ชาวบ้านจึงออกไปขายแรงงานเมืองนอก พื้นที่ปลูกพืชไม่ได้ ก็ซื้อวัวมาเลี้ยงแทน

ช่วงปี 2524 “ ลุงสมหมาย บัวผัน ” ปักหลักสู้กับสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม โดยทดลองนำมะม่วงเขียวเสวยประมาณ 2 ต้นมาปลูกสลับกับทำไร่ข้าวโพด ปรากฎว่า ต้นมะม่วงให้ผลผลิตน่าพอใจ ลุงสมหมายจึงขยายพื้นที่ปลูกมะม่วงเพิ่มขึ้นเป็น 5 – 10 ไร่ การพัฒนาตลาดในระยะแรกช่วงปี 2524-2528 ค่อนข้างลำบาก ลุงสมหมายต้องหาบมะม่วงไปขายตลาดชานเมือง

ต่อมา หน่วยงานราชการ ธนาคาร สำนักงานเกษตรก็ช่วยหาตลาดให้สนับสนุนให้นำสินค้าไปขายตามงานแสดงสินค้าต่างๆ จนกระทั่งมะม่วงวังทับไทรเริ่มติดตลาด เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคทั่วไป ขายดี เป็นที่ต้องการของตลาดทั่วไป สร้างรายได้สูงกว่าการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ สร้างแรงจูงใจให้ญาติพี่น้องของลุงสมหมายหันมาทำอาชีพการปลูกมะม่วงในระยะเวลาต่อมา

ประมาณปี 2530 -2532 กระแสการลงทุนทำสวนมะม่วงพื้นที่ตำบลวังทับไทรเริ่มแผ่ขยายออกไปเรื่อยๆ จากกลุ่มเครือญาติพี่น้อง กระจายไปสู่เพื่อนบ้านและเกษตรกรในชุมชนเดียวกัน อีกหลายพันไร่ ทำให้ตำบลวังทับไทร ได้รับการยกย่องว่า เป็นแหล่งจุดประกายอาชีพการทำสวนผลไม้ของจังหวัดพิจิตรและพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง

คุณสายันต์เล่าว่า เมื่อเกษตรกรเจ้าของสวนมะม่วงประสบความสำเร็จทางผลผลิตและรายได้ มีผลกำไรเป็นกอบเป็นกำ สร้างแรงจูงใจ ให้เกษตรกรรายอื่นๆ หันมาลงทุนทำสวนมะม่วงเช่นเดียวกัน เมื่อพ่อค้ารู้ว่า ที่นี่เป็นแหล่งผลิตมะม่วงก็เริ่มเข้ามารับซื้อผลผลิตในท้องถิ่น ระยะนั้นเกษตรกรแห่ขยายพื้นที่ปลูกมะม่วงเพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดกิ่งพันธุ์มะม่วงเติบโตขึ้น เจ้าของสวนมะม่วงจึงมีรายได้ 2 ทางคือ ขายผลมะม่วงรวมทั้งขายกิ่งพันธุ์ เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงที่เคยปลูกพืชไร่จึงหันมาทำสวนมะม่วงด้วยเช่นกัน

จากจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2527 ลุงสมหมายปลูกมะม่วง 2 ต้นในพื้นที่ตำบลวังทับไทร จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี ชาวบ้านในท้องถิ่นหันมาทำสวนมะม่วงเป็นอาชีพหลักไม่ต่ำกว่า 200,000 ไร่ครอบคลุมรอยต่อ 3 จังหวัดในเขตภาคเหนือตอนล่าง โดยจังหวัดพิจิตรมีแหล่งปลูกมะม่วงในอำเภอสากเหล็ก อำเภอเนินมะปราง อำเภอวังทอง อำเภอวังสะภู ส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ อยู่ในเขตอำเภอชนแดน ส่วนพิษณุโลกปลูกมะม่วงในพื้นที่อำเภอวังโปร่ง

มะม่วงน้ำดอกไม้ของชุมชนแห่งนี้มุ่งเจาะตลาดส่งออกระดับบนคือ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ส่วนตลาดรองลงมาคือ มาเลเซีย เวียดนาม ลาว มะม่วงพันธุ์เขียวเสวย ฟ้าลั่น มุ่งขายตลาดเวียดนามเป็นหลัก มะม่วงพันธุ์โชคอนันต์ ส่งขายตลาดมาเลเซีย โดยทั่วไปสวนมะม่วงในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ( พิจิตร เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร อุทัยธานี ) จะเริ่มมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมเป็นต้นไป ช่วงเดือนกุมภาพันธุ์จะมีผลผลิตสู่ตลาดมากสุด ย่างเข้าสู่เดือนมีนาคม ผลผลิตจะเริ่มลดลง หลังจากนั้นจะเริ่มมีผลผลิตมะม่วงในฤดูกาลเข้าสู่ตลาด ในช่วงปลายเดือนมีนาคม-เดือนเมษายน พอถึงช่วงเดือนพฤษภาคม ผลผลิตมะม่วงในโซนนี้ก็หมดรุ่นแล้ว

มะม่วงวังทับไทร ตัวอย่างการจัดการเกษตรแปลงใหญ่

ทุกวันนี้ ตำบลวังทับไทร อำเภอสากเหล็ก กลายเป็นแหล่งปลูกมะม่วงส่งออกที่สำคัญของจังหวัดพิจิตร เกษตรกรนิยมปลูกมะม่วงกินสุก คือ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองและมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง เบอร์ 4 เพื่อส่งขายตลาดญี่ปุ่น และปลูกมะม่วงพันธุ์ดิบ ได้แก่ มะม่วงฟ้าลั่น มะม่วงเขียวเสวย

ปัจจุบัน กลุ่มผู้ปลูกมะม่วงวังทับไทร มีพื้นที่ปลูกมะม่วงประมาณ 20,000 ไร่ เมื่อรวมกับแหล่งปลูกมะม่วงในพื้นที่ใกล้เคียง อำเภอสากเหล็ก คือ จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดเพชรบูรณ์ ทำให้โซนแห่งนี้กลายเป็นพื้นที่ปลูกมะม่วงแหล่งใหญ่ของประเทศไทย มีทั้งเกษตรกรรายใหญ่ที่มีพื้นที่ปลูกมะม่วงหลายร้อยไร่ขึ้นไป และสวนมะม่วงขนาดเล็ก พื้นที่ 20-50 ไร่ เมื่อรวมกันแล้ว ทำให้เขตภาคเหนือตอนล่างมีพื้นที่และผลผลิตมหาศาล เข้าหลักการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ ของกรมส่งเสริมการเกษตร

พื้นที่ปลูกมะม่วงในเขตภาคเหนือตอนล่างกว่า 200,000 ไร่ในวันนี้มีผลผลิตขั้นต่ำเฉลี่ยไร่ละ 1 ตัน หรือประมาณปีละ 200,000 ตัน ยกเว้นเจอปัญหาความผันผวนของภาวะอากาศ กำลังการผลิตก็จะปรับตัวลดลง สำหรับเกษตรกรที่มีฝีมือในการบริหารจัดการสวนที่ดีจะมีโอกาสพัฒนาผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็นไร่ละ 2 ตันขึ้นไป โดยแบ่งการผลิตมะม่วงออกเป็นปีละ 2 รุ่น คือ มะม่วงก่อนฤดู และมะม่วงในฤดู ในแต่ละปีเฉพาะตำบลวังทับไทรได้ผลผลิตราว 20,000-30,000 ตัน ตลาดส่งออกที่ได้ขายราคาดีที่สุดคือ ญี่ปุ่นและสิงคโปร์

มะม่วงที่ปลูกในเขตภาคเหนือตอนล่าง ทั้งจากจังหวัดพิจิตร และพื้นที่ใกล้เคียง 3 จังหวัดคือ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุทัยธานี ถูกรวบรวมมาส่งขายที่ตำบลวังทับไทรทั้งหมด ก่อนขายป้อนตลาดส่งออกถึงร้อยละ 70-80 ของผลผลิตทั้งหมด สินค้ามะม่วงน้ำดอกไม้ โชคอนันต์ ที่ตกเกรดคุณภาพ จะส่งขายให้กับโรงงานแปรรูปเพื่อการส่งออก เช่น ทิมฟู้ด เชียงใหม่โฟรเซ่นฟู้ด ลานนาน ฯลฯ เพื่อนำมะม่วงผลสุกเหล่านี้ไปแช่แข็งเป็นไอศกรีมผลไม้ และแปรรูปเป็นน้ำผลไม้

การจัดการสวนมะม่วงเชิงการค้า

โดยธรรมชาติของมะม่วง จะเริ่มให้ผลผลิตในพื้นที่ภาคใต้ก่อนขึ้นภาคเหนือ ไล่ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ขึ้นไปพิจิตร ไปจนถึงจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย สำหรับจังหวัดพิจิตร ต้นมะม่วงจะให้ผลผลิตช่วงเดือนเมษายนเป็นส่วนใหญ่ ส่วนเชียงใหม่ เชียงราย จะเก็บผลผลิตได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม- มิถุนายน

“ ฉะเชิงเทรา ถือเป็นต้นแบบในการผลิตมะม่วงส่งออก เทคนิคการจัดการบางอย่างอาจทำได้ดีกับสวนมะม่วงในจังหวัดฉะเชิงเทรา แต่หากนำมาใช้กับสวนมะม่วงที่จังหวัดพิจิตรอาจจะไม่ได้ผล เพราะมีข้อแตกต่างกันหลายประการ ทั้งเรื่องเงื่อนเวลา สถานที่ ภูมิอากาศ อย่างไรก็ตามเทคนิคการจัดการสวนมะม่วงส่งออกของแต่ละท้องถิ่น อาจมีวิธีการที่คล้ายๆ กัน แต่มีเงื่อนเวลาปฎิบัติที่ต่างกัน การทำมะม่วงเพื่อให้คุณภาพดีนั้น มีความแตกต่างกันตรงที่เงื่อนเวลากับการปฏิบัติของตัวเกษตรกร แต่วิธีการคล้ายกันเกือบทั้งหมด ” คุณสายัณห์กล่าว

คุณสายัณห์มีพื้นที่ปลูกสวนมะม่วง 200 ไร่ อยู่ในอำเภอสากเหล็กและเนินมะปราง ส่วนใหญ่เป็นมะม่วงน้ำดอกไม้โดยทยอยปลูกมะม่วงเป็นหลายรุ่น มะม่วงรุ่นแรก ปลูกในระยะ 6×6 เมตร ประมาณ 45 ต้น/ไร่ รุ่นต่อมา ปลูกในระยะ 4×6 เมตร เฉลี่ย 60 ต้น/ไร่ เมื่อครบเก็บระยะเก็บเกี่ยว มะม่วงทั้งสองรุ่น มีผลผลิตใกล้เคียงกัน สวนมะม่วงที่นี่อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก หลังปลูกต้นมะม่วงจะเริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 3 จะให้ผลผลิตคุณภาพดี ตั้งแต่ปีที่ 5-15 มะม่วงแต่ละต้นจะให้ผลผลิตประมาณ 90 – 200 ก.ก. ส่วนต้นมะม่วงอายุ 10ปีขึ้นไปจะได้ผลผลิตคุณภาพสวยเฉลี่ยต้นละ 100 ก.ก.

การผลิตมะม่วงก่อนฤดูของโซนภาคเหนือตอนล่างจะเริ่มราดสารตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – สิงหาคม เพื่อให้มีผลผลิตเข้าสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมกราคม – เมษายนของทุกปี เมื่อต้นมะม่วงแตกใบอ่อนมักมีปัญหาโรคแมลงรบกวน เช่น แมลงค่อมทอง หนอนผีเสื้อ ฯลฯ ระยะผลอ่อนมักเจอปัญหาหนอนแมลงวันทอง เพลี้ยไฟเข้ามารบกวน คุณสายัณห์จะใช้สารเคมีกำจัดแมลง ควบคู่กับการจัดการแปลงให้สะอาดเป็นหลัก ปัจจุบันสวนสมบัติมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ไร่ละ 6,000-7,000 บาท ส่วนน้ำดอกไม้ มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 13,000-15,000 บาท /ไร่ ส่วนใหญ่เป็นต้นทุนค่าห่อผลและค่าเก็บเกี่ยวผลผลิต

การผลิตมะม่วงนอกฤดู

หลังหมดฤดูการเก็บเกี่ยว จะตัดแต่งกิ่งให้น้อยลงเพื่อไม่เป็นที่สะสมของโรคและแมลง เปิดทางให้แสงแดดส่องได้ทั่วถึง และอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อช่วยให้ต้นมะม่วงผลิดอก ออกผลที่มีคุณภาพดี ทั้งนี้เกษตรกรต้องรู้ใจมะม่วงด้วยว่า ตัดแต่งให้เหมาะสม เพราะหากตัดแต่งมากเกินไป จะไม่ได้ดอก ไม่ได้ลูก จะได้แต่ใบ หากตัดแต่งน้อยไปจะกลายเป็นแหล่งสะสมโรค แมลง เชื้อรา

“ ธรรมชาติของต้นมะม่วง หลังถูกตัดแต่งกิ่ง ต้นมะม่วงจะสร้างกิ่งสร้างใบใหม่มาทดแทนกิ่งเดิมใบเดิม หากตัดแต่งพอประมาณ ให้แสงแดดส่องได้ทั่วถึง ลมถ่ายเทได้ดี เมื่อต้นมะม่วงกระทบแล้ง ช่วงพฤศจิกายน ฝนเริ่มหมด พอเข้าธันวาคมอากาศหนาวมากระทบ ใบที่กำลังแก่ สะสมอาหารเพียงพอก็จะออกช่อ ออกดอกในเดือนมกราคม และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเดือนเมษายน ” คุณสายัณห์กล่าว

การทำมะม่วงนอกฤดูกาล โดยใช้สารแพคโคลบิวทราโซลราดโคนต้น เพื่อหยุดการเจริญเติบโต เมื่อมะม่วงไม่แตกยอด จะต้องให้ปุ๋ยเคมี ที่เน้นตัวกลาง-ตัวท้ายสูง เพื่อเร่งสะสมตาดอก หรือให้ปุ๋ยทางใบที่มีตัวกลาง ตัวท้ายสูงด้วยเช่นเดียวกัน เมื่อใบแก่ ยอดอั้น จึงเปิดตาดอกด้วยสารไทโอยูเรียหรือโพแทสเซียมไนเตรตเพื่อให้มะม่วงแตกช่อดอก เป็นวิธีการที่บังคับให้มะม่วงออกนอกฤดูกาลหรือก่อนฤดูกาล

เมื่อต้นมะม่วงเริ่มผลิดอก ต้องดูแลดอกมะม่วง ช่วงนี้ มักมีปัญหาแมลงศัตรูพืชประเภท เพลี้ยไฟ เพลี้ยจักจั่นที่ทำให้ใบมะม่วงเป็นสีดำ มียางเหนียวออกมา นอกจากนี้ยังมีปัญหาหนอนผีเสื้อ แมลงปีกแข็ง ประเภทแมลงอีนูน แมลงค่อมทอง จะเข้ามาโจมตีช่วงใบอ่อน ช่วงช่อดอก แมลงเหล่านี้จะสร้างเสียหายมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการจัดการแปลง เกษตรกรต้องรู้ว่าแมลงแต่ละตัวกิน อยู่อย่างไร จะควบคุมอย่างไร จัดการอย่างไรไม่ให้ระบาดจนสร้างความเสียหาย อย่างผีเสื้อหรือแมลงหลายตัวที่มาอาศัยอยู่ในสวน หากตัดแต่งกิ่งให้ดี ไม่เป็นที่อาศัยแมลง แสงแดดส่องได้ทั่วถึง แมลงเหล่านี้จะไม่มีที่อยู่ หรืออาจเจอน้อยลง ไม่สร้างความเสียหายแก่ผลผลิต

หากเกษตรกรต้องการหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย ขอแนะนำให้ใช้สารสะเดา สมุนไพร ฉีดพ่น จะช่วยขับไล่แมลงศัตรูพืชไม่ให้เข้ามาหากินในช่วงระยะสั้นๆ หากพ้นช่วงช่อดอก ช่วงใบอ่อน แมลงก็ไม่เข้ามารบกวนแล้ว ปัญหาเรื่องหนอนก็เช่นเดียวกัน หากดูแลจัดการไม่ให้มีที่พักอาศัยอยู่ในแปลง ปริมาณแมลงก็จะน้อยลงตามไปด้วย แต่หากควบคุมแมลงศัตรูพืชไม่ได้ ก็จำเป็นต้องใช้สารเคมี ที่มีความปลอดภัยสามารถสลายตัวได้เร็วภายใน 3 -7 วัน

หากช่วงไหน เจอภาวะอากาศที่มีความชื้นสูง เจอฝนตก มีน้ำค้างแรงๆ ควรล้างต้นกันบ้าง โดยใช้น้ำเปล่าทำความสะอาดต้น เมื่อมะม่วงติดผลอ่อนแล้ว ไม่ต้องดูแลอะไรมาก อาหารเสริม ไม่ต้องใส่มาก ปล่อยให้ต้นมะม่วงหากินเองได้ ค่อยๆ สะสมอาหารกินมาจากทางราก ใบ ปรุงแต่งอาหารมาเลี้ยงลูก เลี้ยงดอก ปล่อยให้ ต้นมะม่วงเจริญเติบโตตามธรรมชาติ สำหรับมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองจำเป็นต้องห่อผลเพื่อให้สีผลสวยงาม ห่ออายุประมาณ 45 วัน พอห่อแล้ว มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 100-110 วัน

ข้อแนะนำการลงทุน

การผลิตมะม่วงเชิงการค้าเพื่อการส่งออก แต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง สารเคมีตกค้าง ขนาด และสีผิวมะม่วง ตลาดต้องการมะม่วง 2 แบบ คือ มะม่วงกินดิบ กับมะม่วงกินสุก ตลาดมะม่วงกินสุกคือ ญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป จีน แต่มะม่วงกินดิบจะมีทางเวียดนาม เป็นพันธุ์ฟ้าลั่น เขียวเสวย เพชรบ้านลาด ฉะนั้น ผู้ที่สนใจที่อยากจะทำมะม่วง อยากจะผลิตมะม่วงเป็นแบบหลังบ้านไว้กินเอง หรือแบบเชิงการค้าก็คงต้องมองว่า จะผลิตมะม่วงอะไร ไปที่ไหน ไปโรงงานแปรรูปใช้พันธุ์อะไรบ้าง ส่งผลสดจะไปที่ไหน แล้วค่อยวางดูตามความเหมาะสมของพื้นที่ของตัวเรา ของแรงงานที่มีความสามารถที่ทำได้

วันนี้ตลาดมะม่วงถือว่ามีอนาคตสดใส Royal Online โดยเฉพาะมะม่วงคุณภาพดี เกรดส่งออก เกษตรกรยังผลิตได้น้อย ไม่เพียงพอสำหรับความต้องการของผู้ซื้อต่างประเทศ หากใครคิดจะปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้แปลงใหญ่เชิงการค้า สิ่งสำคัญประการแรกคือ แรงงานต้องพร้อม และต้องมีเงินทุนพอสมควร ส่วนเกษตรกรทั่วไปที่มีจำนวนแรงงานน้อย และเงินทุนจำกัด แต่สนใจอยากจะปลูกมะม่วงเป็นรายได้เสริมลี้ยงครอบครัว คุณสายัณห์แนะนำให้ปลูกฟ้าลั่น โชคอนันต์ เพราะเป็นสินค้าที่ตลาดเวียดนามมีความต้องการสูง ปลูกดูแลง่าย อายุการเก็บเกี่ยวสั้น

มะม่วงไม่ชอบน้ำ เป็นพืชที่ทนแล้ง เติบโตง่าย ไม่ต้องดูแลอะไรมาก เมื่อถึงช่วงฤดูร้อน ต้นมะม่วงเจออากาศหนาวนิดหน่อยก็ออกดอก ให้ผลตามธรรมชาติในช่วงฤดูแล้ง สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนเมษายน แต่ทุกวันนี้ การทำสวนมะม่วงให้ได้คุณภาพสูงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากขึ้นทุกที เนื่องจากต้องอาศัยเงินลงทุนจำนวนมากขึ้น แถมเจอปัญหาภาวะอากาศแปรปรวนตลอดเวลา ทำให้ควบคุมกระบวนการผลิตได้ยากขึ้น เพราะช่วงตอนกลางวัน อากาศร้อนมาก ช่วงกลางคืนอากาศกลับเย็นลง ทำให้ต้นมะม่วงมีผลผลิตลดน้อยลง หลายพื้นที่เจอปัญหามะม่วงมีขนาดผลที่เล็กลง คือ ต่ำกว่า330กรัม ซึ่งเป็นขนาดที่ตกเกรด ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศสักเท่าไรนัก

เพื่อความอยู่รอด ชาวสวนควรใส่ใจข้อมูลรอบด้านให้มากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะเรื่องความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อาศัยแค่ฟังพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาเหมือนในอดีตแต่เพียงอย่างเดียวคงจะไม่ได้แล้ว ควรปรับตัวเรียนรู้สภาพการเปลี่ยนแปลงของภาวะอากาศ โดยจดบันทึกข้อมูลสภาพภูมิอากาศภายในสวนของตนเองให้ละเอียด เพื่อนำข้อมูลมาใช้วางแผนการผลิต ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้เหมาะสมที่สุด เพื่อช่วยลดความสูญเสียของผลผลิต และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากขึ้นตามที่ต้องการ