ทุกครั้งก่อนลงพื้นที่ เราจะร่วมมือกับทางสำนักงานสาธารณสุข

จังหวัดต่างๆให้คัดกรองกลุ่มเสี่ยง เช่น มีก้อนที่เต้านม มีเลือดหรือน้ำเหลืองออกทางหัวนม เคยเป็นมะเร็งเต้านมอีกข้างหนึ่ง หรือมีญาติสายตรง เช่น แม่ พี่สาว น้องสาว เป็นมะเร็งเต้านม เป็นต้น เมื่อชุดเคลื่อนที่เดินทางไปถึงสตรีกลุ่มเสี่ยงก็จะได้รับการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม และสอนวิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง ก่อนเข้ารับการตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หากพบความผิกปกติก็จะได้รับการเอ็กซเรย์เต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม แล้วส่งต่อไปรับการรักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิขั้นพื้นฐาน

ดร.นพ. สมยศ กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบัน เข้าสู่รอบปีที่ 6 ของการออกหน่วย เรามีการคัดกรองมะเร็งเคลื่อนที่ รวมทั้งสิ้น 794 ครั้ง ในพื้นที่ 654 อำเภอ (ณ วันที่ 05 มิถุนายน 2562) มีการตรวจคัดกรองมะเร็งให้กับผู้หญิงกลุ่มเสี่ยงไปแล้วกว่า 277,900 คน และเอกซเรย์เต้านมด้วยเครื่องเครื่อง Mammogram 16,557 ราย ส่งคนไข้ที่สงสัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมไปตรวจวินิจฉัยโดยละเอียดเพิ่มเติม 1,834 ราย ซึ่งปลายเดือนกรกฎาคมนี้ ทางมูลนิธิฯ เตรียมเปิดตัวโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอ็กซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส ในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ต่อยอดเพิ่มรถเอ็กซเรย์เต้านมเคลื่อนที่อีก 2 คัน คาดจะรองรับการตรวจคัดกรองผู้ป่วยด้วยเครื่องแมมโมแกรมเพิ่มขึ้นเป็น วันละ 120 คน จากปัจจุบันที่สามารถคัดกรองได้เพียงวันละ 30-40 คน เพื่อให้บริการประชาชนได้ครอบคลุมทุกพื้นที่อย่างแท้จริง

หนึ่งในพื้นที่ที่มะเร็งเต้านมถูกยกให้เป็น 1 ใน 3 สาเหตุแรกของการเสียชีวิต อย่างจังหวัดเลย จากสถิติที่ผ่านมา พบสตรีที่ป่วยด้วยมะเร็งเต้านมปีละไม่ต่ำกว่า 100 ราย และ 1 ใน 4 ของผู้ป่วยเหล่านี้มักมาโรงพยาบาลในช่วงที่ป่วยระยะสุดท้าย คือ ระยะที่ 3-4 ทำให้การรักษาเป็นไปได้ยาก และมีโอกาสเสียชีวิตสูง “นพ. ปรีดา วรหาร” นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย เล่าว่า ก่อนที่ทางมูลนิธิฯ จะเข้ามาทำโครงการดังกล่าว ผู้ป่วยที่ต้องการตรวจด้วยเครื่อง Mammogram จะต้องเดินทางไปตรวจที่จังหวัดขอนแก่นหรืออุดรธานี ซึ่งใช้เวลาเดินทางนานกว่า 3 ชั่วโมง ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและเสียเวลา ประกอบกับประชาชนกว่าครึ่งของจังหวัดเลย มักอาศัยอยู่ตามพื้นที่ราบสูง ซึ่งเป็นถิ่นทุรกันดาร เดินทางเข้าถึงยาก โครงการนี้จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทำให้สามารถคัดกรองผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะแรกได้ และนำสู่กระบวนการรักษาได้ทัน

“ไม่ว่าจะลำบากแค่ไหน พวกเราก็ไม่เคยย่อท้อ เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนองพระราชปณิธานพระองค์ท่าน โครงการนี้เป็นโครงการที่ทรงคุณค่า สามารถช่วยเหลือคนไข้ในถิ่นทุรกันดาร ให้มีโอกาสเข้ารับการตรวจคัดกรองและรักษามะเณ้งเต้านมในระยะเริ่มแรกได้ ทุกคนต่างซาบซึ้งที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยและคำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรไทย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้” ดร.นพ. สมยศ ดีรัศมี กล่าวทิ้งท้าย

กาลเวลาจะไม่สามารถรักษาได้ทุกสิ่ง แต่สำหรับการยอมรับความจริงจะสามารถรักษาได้ทุกอย่าง หากเราลองย้อนไปมองดูรอยเท้าตามเส้นทางที่ได้เคยเดินมา เชื่อไหมว่าทุกรอยเท้าจะช่วยเก็บความทรงจำทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นไว้ให้กับเราเสมอ แม้ทุกวันนี้เราจะคงอยู่กับสิ่งเดิมๆ ที่เกิดขึ้นทุกวันก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เหมือนกัน คือระยะการก้าวเดินกับระยะเวลาที่เราได้สัมผัสระหว่างการเดินในเวลาที่เหลืออยู่ จะท้อได้เช่นไรถ้ายังมีลมหายใจดีอยู่ คนที่ไม่ยอมแพ้พร้อมสู้ และสู้จะสามารถพยุงตัวเองให้ยืนพร้อมก้าวออกเดินไปบนเส้นทางชีวิตกับเวลาที่อยู่ แม้ว่าการก้าวเดินจะช้าไปบ้าง ในเมื่อเขามีความขยันและอดทนติดตัวไปทุกเส้นทาง แน่นอนว่าต้องไปถึงจุดหมายได้สักวันหนึ่ง เพราะเขาไม่ยอมหยุดเดินและยอมแพ้กับชีวิตตัวเอง

ก่อนอื่นขอ สวัสดี และขอบพระคุณอย่างมากมายกับกับแฟนๆ จากนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านและผู้เขียน ที่เป็นแฟนประจำพร้อมให้กำลังใจกันมาตลอดเวลา ทั้งที่ส่งเสียงไปหา โทร. (081) 846-0652 และทางเฟซบุ๊ก ที่ใช้ชื่อ สมยศ ศรีสุโร หรือ ID Line. Janyos ผมเป็นปลื้มอย่างมากมายขึ้นไปอีก เพราะบอกว่าชอบทุกเรื่องที่นำมาเสนอ ที่ย้ำมากคือขอให้สุขภาพแข็งแรง อย่าหายไปไหนเสียก่อน ขอสัญญาว่าจะดูแลตัวเองให้ดีที่สุด ขอบคุณจริงครับเมื่อมีแฟนๆ ให้แรงใจตลอดมา

ปักษ์นี้ขอนำเสนอถึงเรื่องราวของสวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ผมได้นำเสนอเรื่องนี้เมื่อ 3 ปีผ่านมา ได้รับการตอบรับจากแฟนๆ ที่สนใจเยอะมาก ทั้งที่ต้องการผลผลิตและต้องการไปเยี่ยมหาที่สวน จากคำบอกเล่าของเจ้าของสวนคือ คุณนที เมฆรุ่งโรจน์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสมาคมการค้าไทยไหหลำ (THAI HAINANESS TRADE ASSOCIATION) ประธานกิตติมศักดิ์ถาวรตระกูลฮุนอนุสรณ์ มูลนิธิ อุปนายกสมาคมไหหลำแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการบริษัทไวท์คลาวน์ ผู้ผลิตปูนฉาบตราสิงห์

คุณนที ได้ส่งข่าวไปหาผมบอกว่า หลังจากที่ได้นำเสนอในคอลัมน์นี้ไปแล้วได้มีผู้สนใจหลายท่านที่ได้ติดต่อมาหาในหลากหลายความต้องการ ไม่ว่าเรื่องการขอเข้าไปเยี่ยมชมเพื่อศึกษาเรื่องราวรายละเอียดต่างๆ ภายในสวน หรือบางท่านต้องการผลผลิตเพื่อไปจำหน่าย

แต่สำหรับผมสนใจ ที่สนใจอย่างมากหลังจากห่างหายไป 2 ปี เนื่องจากคุณนทีได้บอกทิ้งท้ายในครั้งนั้นว่า “ผมจะเปลี่ยนสวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองนี้ให้เป็นแบบสวนแบบอินทรีย์ทั้งหมดนะครับ เริ่มลงมือบ้างแล้วในเรื่องของปุ๋ยชีวภาพพร้อมกับทุกเรื่องราวที่นำมาใช้ในสวน คิดว่าอาจจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี หากมาเยี่ยมหาอีกครั้งจะพบว่าทุกอย่างเรียบร้อย สามารถเรียกว่าสวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองแบบอินทรีย์แน่นอนครับ” ผมได้บอกคุณนทีไปว่า “เมื่อถึงเวลานั้นผมจะแวะไปเยี่ยมหาอีกสักครั้งครับท่าน”

หลังจากผมได้ไปเยี่ยมหาครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2560 ปีนี้ 2562 จึงได้กลับไปเยี่ยมหาตามที่ได้รับปากคุณนทีไว้ และพร้อมกับได้ข่าวว่าจะมีสำนักงานเกษตรอำเภอแปลงยาว ฉะเชิงเทรา ได้ประสานงานกับสำนักงานเกษตรอำเภอปากท่อ จะนำเกษตรกรจำนวน 40 กว่าท่านมาเยี่ยมหา เนื่องจากได้รับทราบว่าทางสวนได้ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองแบบอินทรีย์เต็มรูปแบบจริง และเป็นความต้องการของสำนักงานเกษตรราชบุรีอีกด้วย จึงได้มอบหมายให้ คุณดรุณี ขันทองแดง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรตำบลหนองกระทุ่ม เป็นผู้ประสานงานทุกเรื่องราว

และก่อนหน้านั้นได้มีที่สุดยอดกว่านั้น เมื่อประมาณต้นเดือนตุลาคมของปีที่ผ่านมา ได้มีองค์กรภาครัฐจากรัฐเปอร์ลิส (PERLIS STATE ECONOMIC DEVELOPMENT CORPERATION) ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐด้านเกษตรและกลุ่มนักธุรกิจ จากประเทศมาเลเซีย ได้มาเยี่ยมชมจากการประสานงานจากสำนักงานเกษตรราชบุรีเช่นกัน

ขอย้อนความหลังสักนิดก่อนนะครับ อย่างน้อยแฟนๆ ที่สนใจจะได้ทราบไว้เป็นข้อมูลสำหรับเบื้องต้น คุณนที ได้ใช้เนื้อที่สวนทั้งสิ้นประมาณ 100 ไร่ ตั้งอยู่เลขที่ 49 หมู่ที่ 7 บ้านโพธิ์ศรี ตำบลหนองกระทุ่ม อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ได้แบ่งเนื้อที่ใช้ที่ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองทั้งสิ้น ประมาณ 60 ไร่ เนื่องจากต้องการที่จะเน้นเรื่องการปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเป็นตัวหลัก โดยจะใช้วิธีปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองในระยะห่างของต้น 3 เมตร ระยะห่างแต่ละแถว 5.70 เมตร ได้ใช้จำนวนต้นมะม่วงทั้งสิ้น แถวละ 50 ต้น แถวซ้ายมือมีจำนวน 70 แถว ขวามือ จำนวน 40 แถว รวมทั้งสิ้น 110 แถว มีต้นมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองที่นำปลูกลงไปจำนวนทั้งสิ้น ประมาณ 5,500 ต้น

คุณนที บอกว่า ที่ต้องการเน้นปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองนั้นเพราะหลังจากได้ศึกษาพบว่า เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ตัวเองก็มีความต้องการที่จะเน้นการส่งออกให้ได้มากที่สุด ถึงแม้ว่าจะเป็นการลงทุนจำนวนที่สูงไปบ้างก็ตาม ประเด็นที่จะเน้นจากมากคือไม่จำเป็นต้องให้มีผลผลิตจำนวนมากในแต่ละต้น เน้นคุณภาพของผลผลิตต้องให้ออกมาได้ยอดเยี่ยมสุดๆ เป็นอันดับแรก และจะต้องให้มีน้ำหนัก 3 ผล ต่อ 1 กิโลกรัม หรือใกล้เคียงมากที่สุด เนื่องจากเป็นความต้องการของตลาดสำหรับการบรรจุเพื่อการส่งออกโดยทั่วไป

ต่อมาที่เน้นประเด็นสุดท้ายชนิดสุดยอดมากๆ แบบว่าเยี่ยมจริงๆ คือ แปลงที่ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้นั้นต้องดูสวยงาม เป็นแนวทุกจำนวนต้นของระยะแถว มองดูแล้วเรียบร้อย สวยงาม สะอาดตาอีกด้วย บริเวณพื้นทั้งหมดต้องสะอาด หญ้าใต้โคนมะม่วงต้องตัดสั้นตลอดทั้งสวน เมื่อผู้มาเยี่ยมหาได้มองเห็นแล้วจะได้ไม่เบื่อตา และก็เป็นจริงดังกล่าว เมื่อแฟนๆ ได้ไปเยี่ยมหาทุกคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าสวนสะอาดมองแล้วสบายตา เยี่ยมมากกว่าทุกสวนที่ได้ไปพบเห็นมาก่อนหน้านี้

เมื่อเป็นเช่นนี้การปลูกต้นมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองคุณนทีมีความคิดหลังจากได้ไปเยี่ยมหามาหลายๆ สวนที่ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองในหลายจังหวัด ในที่สุดคุณนทีจึงมีความคิดว่าต้นมะม่วงนั้นต้องมีพุ่มไม่สูงมาก เหตุผลคือสามารถใช้แรงงานคนยืนห่อลูกหรือเก็บผลผลิตได้อย่างสะดวกเมื่อถึงเวลา โดยไม่ต้องพึ่งอุปกรณ์มาปีนป่าย สำหรับประเด็นต่อมาหลังเก็บผลผลิตเรียบร้อยแล้ว เมื่อต้องการตัดแต่งกิ่งมะม่วงก็จะสามารถทำงานได้ง่าย แถมสะดวก รวดเร็ว อีกด้วย

สำหรับพื้นที่อีกประมาณ 40 ไร่ แบ่งออกเป็นที่พักอาศัยที่เก็บของใช้ต่างๆ และพื้นที่ที่เหลือได้ปลูกมะม่วงอีกหลายสายพันธุ์ เช่น มะม่วงมันเดือนเก้า มะม่วงงามเมืองย่า มะม่วงโชควิเชียร และมะม่วงสายพันธุ์ปลาตะเพียน มะม่วงโชคอนันต์ และมหาชนก ไว้อีกด้วย เพราะมะม่วงสายพันธุ์ที่มีอยู่นี้จะมีแม่ค้าเข้ามารับซื้อถึงสวนเมื่อถึงฤดูที่มีผลผลิต มีจำนวนแค่ไหนไม่ปฏิเสธทั้งสิ้นขอเพียงบอกไปเท่านั้น ส่วนที่เหลือได้ลงขนุนสายพันธุ์ทองประเสริฐ และเพชรดำรง พร้อมด้วยทุเรียนก้านยาวและหมอนทองอีกจำนวนหนึ่ง

เรื่องราวของสวนนี้ที่น่าสนใจเป็นอย่างมากสำหรับแฟนๆ ที่ต้องการจะไปเยี่ยมหาและสนใจเรื่องราวเช่นนี้ ประเด็นแรกที่น่าสนใจอย่างมากคือระบบน้ำที่นำมาใช้ เป็นการวางระบบน้ำแบบให้ผ่านเครื่องกรองน้ำเสียก่อนแล้วจึงจะปล่อยไปให้ต้นมะม่วงด้วยระบบน้ำหยด หรือการให้ปุ๋ยสวนนี้จะเน้นปุ๋ยชีวภาพให้ไหลไปตามสายน้ำหยดเช่นกัน ทำเช่นนี้ไปตลอดทั้งสวน ประเด็นต่อมาที่น่าสนใจอีกเช่นกันคือ การจัดวางระบบมินิสปริงเกลอร์หลังจากที่ต้นมะม่วงมีระยะเวลาตั้งแต่ปีที่ 2 เป็นต้นไปที่เริ่มเจริญเติบโตและต้องการน้ำเพิ่มมากขึ้น

จากประสบการณ์ที่ผ่านมากว่า 7 ปี ที่จนคุณนทีต้องการที่จะเปลี่ยนมาเป็นสวนมะม่วงที่เป็นอินทรีย์เพื่อจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้บริโภคได้รับสิ่งดีๆ ที่สำคัญอีกอย่างคือบรรยากาศภายในสวนจะได้มีแต่สิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้น ในที่สุดได้มอบหมายให้ คุณจรัล ปางบุญยนนท์ ที่มีความรู้ในเรื่องเช่นนี้ หลังจากที่ได้ศึกษาเรื่องราวต่างๆ ที่จะนำมาใช้กับสวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองมาเป็นอย่างดี ให้เป็นผู้ดูแลทุกอย่างภายในสวน ไม่ว่าจะเป็นการทำปุ๋ยหมักชีวภาพทุกขั้นตอน

เช่น จุลินทรีย์จาวปลวก หน่อกล้วย ฮอร์โมนไข่หรือที่เรียกว่าอาหารจานด่วน ที่ต้องนำมาใช้ให้ได้ตามความต้องการของต้นมะม่วงในทุกขั้นตอนของการให้ปุ๋ย ตั้งแต่เริ่มตัดแต่งกิ่งจนแตกใบอ่อน ออกดอก ตลอดจนน้ำหมักที่ใช้กำจัดแมลงที่เป็นศัตรูตัวร้ายของมะม่วงคือเพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง และเพลี้ยจักจั่น รวมไปถึงการดูแลพื้นที่สวนทั้งหมด สวนนี้ทุกพื้นที่ไร้มลพิษทั้งสิ้น นับว่าเป็นสวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองอินทรีย์ ที่ครบเครื่องทุกเรื่องราวจริงๆ ครับ

แฟนๆ ครับ สวนนี้จึงถือได้ว่าเป็นสวนที่มีเนื้อที่ใช้ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองแบบอินทรีย์เต็มรูปแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญถือว่ามีจำนวนต้นมากอีกสวนหนึ่ง หากท่านใดมีความสนใจจะไปเยี่ยมหาก่อนตัดสินใจลงมือกับเรื่องราวเช่นนี้ กรุณาติดต่อคุณนที โทร. (094) 328-7945 และ คุณจรัล (081) 810-9350 ที่สามารถให้ได้ทุกรายละเอียด เรียนเชิญนะครับ ยินดีต้อนรับ กรุณาสอบถามเส้นทางก่อนไปเยี่ยมหาเพื่อการนัดหมายนะครับ

ทุกเรื่องราวที่ผ่านมานั้นถือว่าคือบทเรียนอย่างมีค่าของชีวิต อย่าพยายามเก็บมาทำร้ายชีวิตในวันนี้ วันที่เราหายใจดีอยู่ เราต้องอยู่กับวันนี้เท่านั้น ไม่มีเมื่อวานหรือพรุ่งนี้ ไม่มีใครหรอกครับที่เกิดมาบนโลกที่น่ารักและน่าอยู่ใบนี้อย่างไร้ค่า ดังนั้น เราอย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าชีวิตเรานี้ทำไมมันถึงแย่เหลือเกิน เพราะบางครั้งนั่นคืออาจจะเป็นแค่จุดเปลี่ยนของชีวิตที่จะสามารถทำให้เราได้เจอกับชีวิตใหม่ที่ดีกว่าก็เป็นได้ การก้าวเดินในวันนี้ไม่ต้องไปกังวลว่าปลายทางจะเป็นเช่นไร ขอเพียงในระหว่างเส้นทางที่เดินนั้นเราเดินไปอย่างมีความสุขเท่านี้ก็พอแล้ว ขอบคุณ สวัสดี

มะขามป้อม ชื่อพื้นเมือง มะขามป้อม ทางเขมร-จันทบุรี เรียกว่า กันโตด จังหวัดราชบุรี เรียกว่า กำทวด ส่วนทางกะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน เรียกว่า มั่งลู่ สันยาส่า

ผลมะขามป้อม มีวิตามินซีสูงมากที่สุดในบรรดาพืชทุกชนิดที่มีในโลก ในผลมีสารป้องกันการเกิดออกซิไดซ์วิตามินซี ทำให้วิตามินซีคงตัวอยู่ได้นาน ผลแห้ง เก็บไว้ในที่เย็น เช่น ในตู้เย็น นาน 365 วัน จะเสียวิตามินซีไป ร้อยละ 20

ผลสด ถ้าเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง (29-37 องศาเซลเซียส) นาน 365 วัน จะเสียวิตามินซีไป ร้อยละ 67

เนื้อผลตากแดดให้แห้ง จะเสียวิตามินซีไปประมาณ ร้อยละ 60 ถ้าทำให้แห้งที่อุณหภูมิห้อง จะเสียวิตามินซีไปไม่มากนัก เนื้อผลแห้งเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องจะเสียวิตามินซีไป ร้อยละ 25 ในเวลา 2 สัปดาห์ เสียวิตามินซีไป ร้อยละ 50 ในเวลา 4 สัปดาห์ และเสียไป ร้อยละ 60 ในเวลา 48 สัปดาห์

น้ำคั้นจากผล ใส่ขวดเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องนาน 2 สัปดาห์ จะเสียวิตามินซีไปมากกว่า ร้อยละ 50 แต่ถ้าเก็บในตู้เย็นนาน 9 สัปดาห์ จะเสียวิตามินซีไปน้อยกว่า ร้อยละ 50 ในน้ำคั้นจากผลที่ใส่ขวดเก็บไว้ จะมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้นและมีความเป็นกรดคงที่ ที่ pH2 ผลมะขามป้อม จะมีช่องแบ่งระหว่างผลหรือเรียกว่ากลีบก็ได้ บางลักษณะมีช่องแบ่งผล 6 ช่อง บางลักษณะมี 8 ช่อง ส่วนใหญ่แล้วพบ 6 ช่อง หรือ 6 กลีบ มากกว่า

การใช้ประโยชน์มะขามป้อมได้เกือบทุกส่วน ราก ลำต้น ต้น เปลือก ใบ ดอก ยาง เมล็ด

คนอินเดียใช้มาเป็นพันๆ ปี ในฐานะเป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงสายตา บำรุงสมอง ซึ่งคนอินเดียเรียกมะขามป้อมว่า Amla หรือ Amalaka แปลว่า พยาบาลหรือแม่ ซึ่งสะท้อนสรรพคุณทางยาอันมากมายของมะขามป้อมได้เป็นอย่างดี

“พลังงาน” นับเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมมนุษย์ ยิ่งโลกพัฒนามากขึ้นเท่าไร ปริมาณความต้องการใช้พลังงานก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น พลังงานหลัก เช่น ถ่านหิน ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ ที่ได้จากฟอสซิล มีแนวโน้มลดลงและมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น จากการสำรวจและขุดเจาะแหล่งน้ำมันใหม่ๆ รวมทั้งสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเพราะปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมหาศาล เป็นที่มาของปัญหาภาวะเรือนกระจก และวิกฤตโลกร้อนในปัจจุบัน

ทุกวันนี้ หลายประเทศทั่วโลกหันมาสนใจใช้ “พลังงานทดแทน” ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานชีวมวล ฯลฯ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกที่สะอาดปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม เป็นพลังงานหมุนเวียนที่ไม่มีเวลาหมด (Renewal Energy) และมีต้นทุนต่ำ ประหยัดทรัพยากรแรงงานและค่าใช้จ่าย ช่วยแก้ปัญหามลพิษด้านสิ่งแวดล้อม ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เป็นอย่างดี

ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ รองประธานคณะกรรมการกำกับโครงการวิจัยท้าทาย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาด้านพลังงานมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน แต่ที่ผ่านมาเป็นการวิจัยขนาดเล็ก ขาดการบูรณาการ จึงทำให้ไม่สามารถนำไปแก้ไขปัญหาในเรื่องการใช้พลังงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

วช. จึงได้เริ่มโครงการวิจัยขนาดใหญ่แบบบูรณาการ ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และบูรณาการองค์ความรู้จากสหสาขาวิชาการต่างๆ โดยมีเป้าหมายให้ได้ผลงานวิจัยที่สำเร็จพร้อมประยุกต์ใช้งานได้จริง ภายใต้แผนงานวิจัยตอบสนองต่อนโยบายและเป้าหมายรัฐบาล โครงการวิจัยท้าทายไทย ในหัวข้อ การพัฒนาพลังงานทดแทนและการประยุกต์ใช้ ในชุมชนสีเขียว ปัจจุบัน เป็นปีที่ 2 โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. ทนงเกียรติ เกียรติศิริโรจน์ แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะ ร่วมกันวิจัย เพื่อนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากการวิจัยด้านพลังงานไปใช้ในชุมชน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อพัฒนาชุมชนให้เป็นชุมชนสีเขียว อันเป็นแนวทางในการสร้างงานสร้างคนในชุมชน เพื่อให้ประชาชนกลับคืนสู่ท้องถิ่นต่อไป

ศาสตราจารย์ ดร. ทนงเกียรติ เกียรติศิริโรจน์ แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการ “การพัฒนาพลังงานทดแทนและการประยุกต์ใช้ ในชุมชนสีเขียว” กล่าวว่า การดำเนินงานของโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัย ภายใต้โครงการการพัฒนาพลังงานทดแทนและการประยุกต์ใช้ในชุมชนสีเขียว มีทั้งหมด 8 โครงการ ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้งานพลังงานแสงอาทิตย์ และพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิง เพื่อผลิตไฟฟ้า แสงสว่าง และความร้อน และการนำชีวมวลและของเสียเหลือทิ้งมาผลิตเชื้อเพลิงในรูปเชื้อเพลิงของแข็ง น้ำมันชีวภาพ หรือก๊าซเชื้อเพลิง รวมถึงการพัฒนาก๊าซชีวภาพ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้า และความร้อน การพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้า จากชีวมวล การพัฒนากังหันลม การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบอื่นๆ การพัฒนาระบบควบคุม เพื่อให้เกิดการจัดการระบบพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาวัสดุพลังงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดการใช้พลังงาน

ที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาโครงการต้นแบบเพื่อไปประยุกต์ใช้ในชุมชน ให้เข้าสู่การเป็นชุมชนสีเขียว เช่น โครงการชุมชนต้นแบบเลี้ยงปลาอัจฉริยะสีเขียว เพื่อลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล กรณีศึกษาชุมชนบ้านทุ่งยาว อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนที่มีการประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น ปลานิล และปลาดุก ซึ่งมักเกิดปัญหาปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำน้อยกว่าความต้องการของปลา ทำให้ปลาตายหรือปลาน็อกน้ำ นักวิจัยจึงได้ใช้เทคโนโลยีระบบผลิตไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ หรือ Solar PV (Solar photovoltaic) มาใช้ในระบบเติมอากาศ และพัฒนาการเลี้ยงปลา โดยระบบอัจฉริยะ รวมถึงศึกษาการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลมาใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลในเครื่องสูบน้ำของบ่อเลี้ยงปลา ซึ่งขณะนี้ได้มีการขยายผลใช้งานแก่เกษตรกรในชุมชนดังกล่าว จำนวน 7 ราย

ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “หริภุญไชย” จังหวัดลำพูน

ศาสตราจารย์ ดร. ทนงเกียรติ เกียรติศิริโรจน์ หัวหน้าแผน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กลยุทธ์ ปัญญาวุธโธ หัวหน้าโครงการวิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรรถกร อาสนคำ หัวหน้าโครงการย่อย ดร. ธรณิศวร์ ดีทายาท หัวหน้าโครงการย่อย พาผู้บริหาร วช. และสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “หริภุญไชย” จังหวัดลำพูน

ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการศึกษาศักยภาพในการใช้วัฏจักรสารอินทรีย์ขนาดเล็กผลิตไฟฟ้าจากไอเสียของอุปกรณ์ทางความร้อน ซึ่งเป็นระบบที่ติดตั้งเพื่อทดสอบชุดทำน้ำร้อนที่ใช้เชื้อเพลิงจากชีวมวลไบโอดีเซล และน้ำมันดีเซล โดยศึกษารูปแบบในการนำไอเสียมาผลิตน้ำร้อนให้แก่วัฏจักรแรงคินสารอินทรีย์เพื่อผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ศึกษาศักยภาพในการผลิตความร้อนร่วมกับไฟฟ้า

ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ศึกษาการใช้โมดูลเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับผลิตไฟฟ้าแสงสว่าง หรือเครื่องปรับอากาศ เพื่อใช้ศึกษารูปแบบการระบายความร้อน เพื่อลดอุณหภูมิโมดูลให้สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้มากที่สุด ทั้งในแง่การวิเคราะห์ตามทฤษฎีร่วมกับการทดลอง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กลยุทธ์ ปัญญาวุธโธ หัวหน้าโครงการวิจัยต้นแบบการผลิตพลังงานจากพลังงานทดแทนที่ไม่พึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล กล่าวว่า พลังงานแสงอาทิตย์ได้รับเลือกเป็นพลังงานทดแทนที่นำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับโครงการวิจัยนี้ เพื่อลดการพึ่งพาไฟฟ้าจากระบบสายส่ง (การไฟฟ้า) เนื่องจากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นพลังงานที่ขาดความต่อเนื่อง เพื่อให้ระบบอยู่ได้อย่างยั่งยืน จึงพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานไว้ในแบตเตอรี่ที่เป็นต้นแบบในการนำไปใช้กับรถจักรยานยนต์ ด้วยการแปลงระบบไฟฟ้าเคมี คือการเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าให้เป็นไฮโดรเจน โดยใช้น้ำ ผ่านกระบวนการอิเล็กโทรไลเซอร์ หรือเซลล์แยกน้ำด้วยไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ระบบมีการทำงานได้ตลอดเวลา และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ

การผลิตไบโอดีเซล ด้วยสนามไฟฟ้าการผลิตไบโอดีเซล เป็นกระบวนการผลิตเชื้อเพลิงเหลวที่อาศัยปฏิกิริยาเคมีในการเปลี่ยนรูปอินทรียสารในกลุ่มไขมัน ด้วยปฏิกิริยาที่เรียกกันทั่วไปว่า “ทรานเอสเทอริฟิเคชั่น” กระบวนการดังกล่าวสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเมทิลเอสเทอร์ (Methyl Ester) หรือโบโอดีเซลที่สามารถนำมาใช้ทดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิลในกลุ่มน้ำมันดีเซล

โดยทั่วไป กระบวนการผลิตไบโอดีเซลจะต้องใช้เวลาเพื่อรอให้เกิดการแยกชั้นระหว่างไบโอดีเซลและกลีเซอรีนค่อนข้างมาก โดยทั่วไปมักต้องทิ้งให้เกิดการตกตะกอน ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง เพื่อเป็นการลดระยะเวลาและลดการใช้พลังงานในกระบวนการผลิต ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้นำเทคโนโลยีด้านสนามไฟฟ้ามาปรับใช้เพื่อลดระยะเวลาและลดพลังงาน ในขั้นตอนการแยกชั้นน้ำมัน โดยพิจารณาลักษณะ ขนาด และระยะห่างของอิเล็กโทรด รวมถึงปริมาณของแรงดันไฟฟ้าที่ป้อนเข้าสู่ขั้วอิเล็กโทรดซึ่งมีผลต่อปริมาณน้ำมันไบโอดีเซลที่ผลิตได้ ผลการศึกษา พบว่า ระบบสามารถลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทางด้านพลังงานลงได้ถึง 26 เท่า ของกระบวนการผลิตไบโอดีเซลที่ใช้ขดลวดความร้อนในกระบวนการผลิต โดยใช้เวลาในการแยกชั้นเพียง 5-10 นาที

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดประชุมสัมมนาการจัดทำแผนธุรกิจสำหรับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เมื่อวันที่ 12-13 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมโรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เตรียมความพร้อมทำธุรกิจร่วมกันระหว่าง กยท. กับสถาบันเกษตรชาวสวนยาง เพื่อขับเคลื่อนตลาดยางพาราในประเทศให้เป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประชุมสัมมนาในพื้นที่เขตภาคใต้ครั้งนี้ เป้าหมายหลักคือการเตรียมความพร้อมในเรื่องของการดำเนินธุรกิจระหว่าง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กับเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อร่วมกันพัฒนาและให้องค์ความรู้เรื่องการจัดทำแผนธุรกิจ ในเบื้องต้น กยท.จังหวัด กยท.สาขา จะทำการสำรวจปริมาณผลผลิตยางในพื้นที่ว่ามียางประเภทใด ปริมาณเท่าไร โกดังที่มีอยู่มีความพร้อมในการจัดเก็บสินค้าหรือไม่

เพื่อเตรียมการหากมีความจำเป็นต้องจัดเก็บยางที่ออกมาในช่วงฤดูฝนเพื่อขายในช่วงฤดูแล้งต่อไป จากนั้นจะนำปริมาณผลผลิตที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อวางแผนการตลาด กยท.ในพื้นที่จะทำหน้าที่ประสานงานกับโรงงานเอกชนเพื่อตกลงราคา และทำสัญญาการซื้อขายยาง สถาบันเกษตรทุกแห่งที่เข้าร่วมจะต้องผลิตยางที่มีคุณภาพดีภายใต้มาตรฐานที่ยอมรับ เช่น GAP GMP มีปริมาณเพียงพอที่จะป้อนเข้าสู่โรงงาน และโรงงานที่รับซื้อจะต้องซื้อยางในราคาที่เป็นธรรมต่อเกษตรกรตามที่ตกลงกันไว้เช่นกัน ซึ่งเป้าหมายสำคัญคือการรักษาเสถียรภาพราคายางภายในประเทศ

รักษาการผู้ว่าการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่าง กยท. และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ จับมือกันในการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ ตั้งแต่การบริหารจัดการต้นทุนการผลิตยาง การตั้งราคาขายจากต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งต้องเป็นที่ยอมรับร่วมกัน การจัดการคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐาน ส่งเสริมการปลูกยางในพื้นที่เหมาะสม การพัฒนาพันธุ์ยางที่ดีเหมาะกับพื้นที่ปลูกเพื่อให้ได้ยางที่มีคุณภาพ รวมถึงการจัดการสวนยางที่ดี หากทำได้เช่นนี้จะสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้

“ในส่วนของการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคายาง หากมีความจำเป็นเมื่อราคายางตกต่ำหน่วยธุรกิจ กยท. (BU) จะเข้าประมูลยางตลาดกลางยางพาราในราคาชี้นำตลาด เมื่อประมูลแล้วจะนำยางออกขายสู่ตลาดในปริมาณที่ตลาดต้องการ”

“สิ่งสำคัญที่นอกเหนือจากเรื่องการพัฒนาธุรกิจ คือการพัฒนาการศึกษาของลูกหลานเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งเป็นแนวคิดที่ กยท. จะผลักดันให้เกิดขึ้นต่อไป เพราะคนที่มีความสามารถจะต้องผ่านการเรียนรู้ พัฒนาทางความคิดในเชิงสร้างสรรค์ การสนับสนุนการศึกษาให้กับลูกหลานเกษตรกรชาวสวนยางเป็นส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาวงการยางพาราไทยในอนาคต นอกจากนี้ การค้นคว้าวิจัยเชิงพาณิชย์ในเรื่องนวัตกรรมยางพาราเป็นอีกทางหนึ่ง เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลให้กับเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และเอกชนนำไปใช้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้นำไปสู่ภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจต่อไป” นายเยี่ยม กล่าวทิ้งท้าย