ทุกอย่างที่จะทำเพื่อให้ประสบผลสำเร็จ ต้องเริ่มที่ตัวเราเองก่อน

ดูว่าเรารักเราชอบที่จะทำจริงไหม จากนั้นถามครอบครัวว่า พร้อมที่จะก้าวเดินไปด้วยกันไหม เพราะบางอย่างเราทำเพียงลำพังไม่ได้ ต้องมีครอบครัวค่อยช่วยเหลือกัน สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ก็จะช่วยให้ทุกอย่างทำไปได้อย่างดี มีต้นทุนแรงงานที่ถูกลง เพราะใช้แรงงานในครอบครัวช่วยเหลือ ก็จะช่วยให้ผลผลิตมีมาตรฐาน และเกิดเป็นรายได้ที่ยั่งยืนต่อไป คุณวิภารัตน์ แนะนำ

เห็ดโคน หรือ เห็ดปลวก คนละชนิดกับเห็ดโคนน้อย ความจริงเห็ดโคนน้อยคือ เห็ดถั่ว โดยทั่วไปมักพบขึ้นอยู่ตามกองซากถั่วเหลือง หรือถั่วเขียว

วงจรชีวิตของเห็ดโคนหรือเห็ดปลวกนั้น ต้องพึ่งพาปลวกเข้ามาช่วย จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ระบุว่า ปลวกงานจะนำเอาสปอร์ ซึ่งเป็นหน่วยขยายพันธุ์ที่มีขนาดเล็กมาก ทำหน้าที่เช่นเดียวกับเมล็ดพืชอื่นๆ ไปปลูกในรังให้เป็นอาหารของปลวกวัยอ่อน ส่วนสปอร์ที่หลงเหลือ เมื่อได้รับความชื้นในฤดูฝนก็จะเติบโตโผล่พ้นผิวดินขึ้นมาปรากฏให้เห็น และเป็นอาหารอันโอชะของมนุษย์เรา

วิธีเพาะหรือปลูกเห็ดโคน ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน เริ่มจากนำจาวปลวก ที่อยู่ภายในจอมปลวก มีขนาดใกล้เคียงกับกะลามะพร้าวผ่าซีก จอมปลวกหนึ่งรังจะมีจาวปลวกหลายอัน มีลักษณะเบา โปร่ง ซุย มีรอยทางเดิน ซอกแซก ทะลุถึงกันได้ จาวปลวกน่าจะเป็นสวนปลูกเห็ดอ่อน เพราะมีเส้นใยขาวเต็มไปหมด สามารถพัฒนาเป็นดอกเห็ดต่อไป

เกษตรกรจะนำส่วนนี้ออกมาถู หรือขยี้ ให้เป็นฝุ่นโปรยลงบนข้าวเหนียวนึ่งสุก ทิ้งให้เย็น เติมน้ำเล็กน้อยแล้วคลุกให้เข้ากัน คล้ายกับการทำสาโท นำไปหมักในถังพลาสติก ปิดปากถังด้วยผ้าขาวบาง เกษตรกรบางท่านอาจฉีกหมวกเห็ดโคนผสมลงไปด้วยก็มี เก็บในร่ม ปล่อยให้เส้นใยเจริญเพิ่มปริมาณจนมองเห็นสีขาวชัดเจน ใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ จึงนำไปหว่านmที่สวนในร่มรำไร อย่าให้แสงแดดจ้า ในช่วงแล้งควรสับฟางข้าว หรือนำใบไม้แห้งโรยลงพื้นเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุเป็นอาหารชั้นดีของเห็ด

เมื่อเตรียมหัวเชื้อไว้เรียบร้อยแล้วจึงนำไปหว่านลงดิน กะให้พอดีกับต้นฤดูฝน หากฝนทิ้งช่วงควรรดน้ำให้บ้างเป็นครั้งคราว จากนั้นอีกประมาณ 30-45 วัน จะมีดอกเห็ดปรากฏให้เห็น ทั้งหมดนี้เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านล้วนๆ ขอให้ใช้ความพยายามทำซ้ำหลายๆ ครั้ง ความสำเร็จย่อมอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทรงตระหนักว่า ยังมีเกษตรกรชาวไทยที่ยากจนอยู่จำนวนมาก เนื่องจากยังขาดเงินทุนสำหรับประกอบอาชีพ และมีพื้นที่ทำประโยชน์จำนวนน้อย ไม่เพียงพอต่อแรงงานและผลตอบแทนเพื่อการดำรงชีพภายในครอบครัว ประกอบกับประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เกษตรดังกล่าวจึงได้เข้าหักร้างถางป่าและเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี อันทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรของประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง

ในปี พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างเสด็จแปรพระราชฐานได้ทรงออกเยี่ยมราษฎรในเขตจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

โดยเฉพาะอำเภอชะอำ อำเภอหัวหิน และอำเภอท่ายาง พระองค์สนพระราชหฤทัยในโครงการหมู่บ้านสหกรณ์หุบกะพง ซึ่งอยู่ในคำแนะนำ ส่งเสริมของศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง กรมส่งเสริมสหกรณ์

ทรงเห็นว่าการดำเนินงานช่วยเหลือราษฎรให้มีที่ทำกินและประกอบอาชีพเป็นที่น่าพอพระราชหฤทัย ประกอบกับราษฎรในเขตอำเภอท่ายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ขาดที่ทำกิน ทูลขอพระราชทานที่ทำกิน พระองค์สนพระราชหฤทัยบริเวณหุบเขาซึ่งมีพื้นที่อาณาเขตติดต่อในท้องที่ตำบลกลัดหลวง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) จึงมีรับสั่งให้ มจ. ภีศเดช รัชนี ติดต่อกรมพัฒนาที่ดินเพื่อให้สำรวจดิน จำแนกดิน รวมทั้งสำรวจภาวะสังคมของราษฎรในบริเวณท้องที่ดังกล่าว จากผลการสำรวจสามารถดำเนินการในพื้นที่ประมาณ 65,000 ไร่ ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ได้

ในปี พ.ศ. 2513 พระองค์จึงทรงมอบให้กรมพัฒนาที่ดิน ร่วมกับส่วนราชการอื่นๆ เป็นคณะกรรมการดำเนินการตามพระราชกระแสรับสั่ง ให้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก บริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง ดินดี เหมาะในการเพาะปลูก ให้ดำเนินการจัดพัฒนาที่ดินให้ราษฎร ส่วนที่ 2 สภาพดินและความอุดมสมบูรณ์ของดินไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก ให้ดำเนินการพัฒนาเป็นที่เลี้ยงสัตว์

สำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดตั้งและส่งเสริมสหกรณ์การเกษตรเพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้จัดให้มีการศึกษาและอบรมเกษตรกรเหล่านี้เกี่ยวกับหลักและวิธีการของสหกรณ์ในเขตขั้นพื้นฐานจนเห็นว่า เกษตรกรเหล่านี้เข้าใจหลักและวิธีการดังกล่าวได้ดีพอสมควรแล้ว จึงได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนสหกรณ์ให้จดทะเบียนเป็น “สหกรณ์การเกษตรหนองพลับ จำกัด”

การบริหารจัดการพื้นที่ในการใช้ประโยชน์ในรูปแบบสหกรณ์ ราษฎรที่เข้ามาอยู่อาศัยและทำกินจึงได้จัดตั้งสหกรณ์ขึ้นมา เริ่มต้นมีประมาณ 400 คน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 900 กว่าคน โดยมีพื้นที่ทำกินครอบครัวละ 25 ไร่ ส่วนหนึ่งสำหรับอยู่อาศัย อีกส่วนเป็นพื้นที่เพาะปลูก ทั้งปลูกพืชหลัก ควบคู่กับพืชอายุสั้นแบบผสมผสาน เช่น พริก มะเขือ เพื่อให้มีรายได้ในระหว่างที่พืชหลักยังไม่ได้ให้ผลผลิต บางรายก็ปลูกควบคู่กันอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถเก็บผลผลิตได้ทั้งพืชหลักและพืชผัก

บางรายก็เลี้ยงสัตว์ เช่น เลี้ยงหมู เลี้ยงวัว ปัจจุบัน ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยสหกรณ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เข้ามาส่งเสริมให้มีการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ และบริหารกิจการภายในครอบครัว เช่น จะไม่ลงทุนเพิ่มหากไม่มีความพร้อมของเงินทุนในการทำการผลิต หมายความว่าต้องมีกำไรจากการขายผลผลิตก่อน แล้วเอากำไรนั้นมาเป็นเงินลงทุนเพิ่มเพื่อเพิ่มผลผลิต ไม่กู้เงินมาเป็นทุนเพื่อเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูก เป็นต้น

ด้าน คุณทัน อุ่นเรือน สมาชิกโครงการ ซึ่งใช้พื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรปลูกมะม่วง เปิดเผยว่า เดิมตนประกอบอาชีพเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน มีรายได้ใช้จ่ายภายในครอบครัวแบบเดือนต่อเดือน ไม่มีเหลือเก็บ จึงหันมาทำการเพาะปลูกอย่างจริงจัง ในพื้นที่ของโครงการ ซึ่งได้รับส่งต่อพื้นที่มาจากครอบครัว เนื่องจากพื้นที่ในโครงการจะไม่สามารถซื้อขายกันได้ แต่สามารถส่งมอบกรรมสิทธิ์ เพื่อการอยู่อาศัยและทำกินได้ภายในครอบครัว โดยปลูกมะม่วง และผลิตเป็นมะม่วงนอกฤดูกาล เช่น พันธุ์เขียวเสวย โชคอนันต์ ฟ้าลั่น เป็นต้น

“มะม่วงนอกฤดูบางปี อย่างโชคอนันต์ ราคากิโลกรัมละ 25 บาท ถือว่าประสบผลสำเร็จ และก็ได้น้อมนำแนวพระราชดำริเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ในเรื่องการใช้ปุ๋ย ใช้น้ำอย่างประหยัด ควบคู่กับการใช้ปุ๋ยชีวภาพที่ผลิตขึ้นมาเองตามที่ได้เข้ารับการอบรมจากวิทยากรด้านการพัฒนาดินที่ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์จัดนำมาให้ ก็สามารถประหยัดและลดต้นทุนได้มาก ทำให้มีกำไรในการขายมะม่วงได้มากขึ้น และทำการผลิตกิ่งพันธุ์มะม่วงจำหน่ายด้วย โดยขายกิ่งละ 25 บาท ทำวันละ 100 กิ่ง ก็มีรายได้เพิ่มขึ้นวันละ 2,500 บาท นอกเหนือจากขายผลมะม่วง ปัจจุบันนี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ลำบากเหมือนเมื่อก่อน” คุณทัน กล่าว

การรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์ขึ้นมานั้น คุณทัน เล่าว่า เป็นผลทำให้เกษตรกรในพื้นที่โครงการมีโอกาสในการทำการเพาะปลูกและจำหน่ายผลผลิตได้มากกว่าแบบต่างคนต่างทำ เมื่อเป็นสหกรณ์ก็สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการทำการเพาะปลูก เมื่อผลผลิตออกมาก็ใช้ระบบสหกรณ์มาทำการตลาด สามารถตัดพ่อค้าคนกลางที่มักจะกดราคาผลผลิตลงได้ แถมสามารถกำหนดราคาได้เองด้วย ซึ่งพ่อค้าคนกลางที่ต้องการซื้อมะม่วงก็ต้องยอมเพราะหากไม่ยอมก็จะไม่มีมะม่วงไปขายต่อ

เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นที่พระองค์ได้พระราชทานพื้นที่ทำกิน และพระราชทานพระราชดำริโครงการตามพระราชประสงค์หนองพลับ-กลัดหลวง ขึ้นมา ทำให้ประชาชนที่ยากไร้ไม่มีที่ทำกิน กลับมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน และนับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สนองงานพระราชดำริมาดำเนินการและประสบความสำเร็จ ยังผลให้เกษตรกรสามารถผลิตและขายผลผลิตได้อย่างมีราคาภายใต้ระบบสหกรณ์

พริกไทยปะเหลียน เป็นพริกไทยสายพันธุ์พื้นบ้านของชาวอำเภอปะเหลียน มีเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่นกว่าพริกไทยสายพันธุ์อื่นๆ ด้วยรสชาติที่เผ็ดร้อน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ฝักแน่น ทำให้ได้รับความนิยมจากร้านอาหารเป็นอย่างมาก สามารถปลูกได้ทุกพื้นที่ มีพื้นที่น้อยก็สามารถปลูกได้ จะปลูกในกระถาง ล้อยางรถยนต์ หรือเข่ง ก็ได้ ดูแลง่าย ให้ผลผลิตเร็ว ทนทานต่อโรค ปลูกได้ทุกสภาพอากาศ ราคาดี ถือเป็นพืชแซมในสวนที่สร้างรายได้ดีอีกชนิดหนึ่ง

คุณมณี นิลละออ หรือ พี่กี้ อยู่ที่ 39/4 หมู่ที่ 7 ตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ผู้ที่เป็นทั้งเกษตรกรและนักอนุรักษ์ในเวลาเดียวกัน และที่มาของนักอนุรักษ์ก็มาจากการที่พี่กี้ได้พัฒนาพริกไทยพื้นบ้านตั้งแต่รุ่นตายายได้ปลูกไว้บริเวณบ้านมาเสียบยอดขยายพันธุ์เพิ่ม เพื่อเป็นการอนุรักษ์และแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้าน จากการแบ่งปันกลายเป็นการต่อยอดสร้างรายได้ มีการพัฒนาจากการปลูกขึ้นค้างแบบเดิมมาเป็นการปลูกในภาชนะทำให้เป็นทรงพุ่ม โดยการเสียบยอดกับต้นโคลูบรินั่ม เพื่อให้ง่ายต่อการปลูก การดูแล

พี่กี้ บอกว่า ก่อนที่จะมีการพัฒนาขยายพันธุ์พริกไทยปะเหลียน ตนเป็นเกษตรกรปลูกยางพาราอยู่แล้ว จำนวน 15 ไร่ ส่วนจุดเริ่มต้นของการเริ่มมาปลูกพริกไทย สืบเนื่องมาจากบริเวณรอบบ้านมีการปลูกพริกไทยมาตั้งแต่สมัยรุ่นปู่ย่า เกิดมาก็เห็นต้นพริกไทยอยู่ก่อนแล้ว แต่ปลูกจำนวนไม่มาก ปลูกไว้แค่กินเองในครอบครัว เหลือถึงนำไปขาย วิธีการปลูกก็ยังเป็นแบบเดิมๆ อยู่ คือปลูกขึ้นเสาขึ้นค้าง ค่อนข้างที่จะต้องใช้พื้นที่เยอะ และต้นทุนที่สูง จนปัจจุบันตนได้มีการพัฒนาทำให้แตกต่าง ปลูกพริกไทยแบบใหม่ ปลูกลงในกระถาง ปลูกในล้อยางรถยนต์ รวมถึงปลูกในเข่ง เพราะพริกไทยทรงพุ่มขึ้นไม่สูง มีพื้นที่น้อยก็สามารถปลูกได้ เก็บง่าย ดูแลง่ายกว่า แต่ได้ผลผลิตดกเหมือนกัน

เทคนิคการปลูกพริกไทยทรงพุ่ม
ในล้อยางรถยนต์ ง่าย ประหยัด ผลผลิตดก
เจ้าของบอกว่า ตนเริ่มทดลองปลูกขยายพันธุ์พริกไทยในกระถางได้ระยะเวลาเพียงปีกว่า ปลูกอยู่จำนวนกว่า 100 กระถาง ตอนนี้ผลผลิตได้ออกมาให้เก็บบ้างแล้ว และเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก เพราะผลผลิตที่ออกมาดกมากเมื่อเทียบกับการปลูกดูแลที่ไม่ยุ่งยาก ดังนี้

ขั้นตอนการปลูก
การเตรียมภาชนะปลูก ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่ในกระถางอย่างเดียว แต่ให้อาศัยความสะดวกเป็นหลัก ที่บ้านใครสะดวกอะไรก็ใช้แบบนั้น ยกตัวอย่าง การปลูกในล้อยางรถยนต์ จะเป็นล้อรถเก๋ง หรือล้อรถกระบะ ปลูกได้ทั้งหมด วิธีการปลูกเหมือนกับการปลูกลงดินแตกต่างที่การดูแล ถ้าปลูกลงในภาชนะจะดูแลง่าย กำจัดวัชพืชง่าย การให้น้ำ ปุ๋ย สามารถควบคุมได้หมด หรือหากที่บ้านทำสวนอยู่แล้วก็สามารถยกกระถางไปปลูกแซมไว้ในสวนได้เลย ถือเป็นการสร้างรายได้เพิ่มอีกช่องทางหนึ่ง และเป็นการใช้พื้นที่ให้คุ้มค่าที่สุด แต่ขอย้ำว่าการนำกระถางไปวางจำเป็นต้องใช้อิฐวางรองเป็นฐานเพื่อไม่ให้ต้นไม้อย่างอื่นเลื้อยขึ้นมาแย่งอาหารได้
การเตรียมดิน สามารถใช้ดินบริเวณรอบบ้านมาปลูกได้เลย ในสัดส่วน 1:1:1 ดิน 1 ส่วน แกลบเก่า 1 ส่วน และปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 1 ส่วน ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วนำใส่ภาชนะปลูกที่เตรียมไว้ได้เลย

จากนั้นนำต้นพันธุ์พริกไทยที่เสียบยอดไว้มาลงดินปลูก โดยต้นพริกไทยที่นำมาปลูกเกิดจากการเสียบยอด โดยใช้กับต้นโคลูบรินั่มเป็นต้นตอ ลักษณะคล้ายกับการเสียบยอดต้นทุเรียนที่มีต้นตอเป็นสายพันธุ์พื้นบ้านแล้วเอาต้นตอหมอนทองมาเสียบยอด
ต้นโคลูบรินั่ม เป็นต้นไม้ที่เกิดจากในป่า แล้วนำมาชำไว้ เป็นไม้เลื้อยคล้ายพริกไทย ทนต่อความแห้งแล้ง แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำได้ ทนทานต่อโรคสูง และรากจะแข็งแรงมาก

ปลูกเสร็จแล้วให้นำไม้มาปักค้ำยันไว้ ขนาดไม้ไม่ต้องใหญ่มาก ความสูงประมาณ 1 เมตร เพื่อประคองต้น

ขั้นตอนการดูแลรักษา
ระบบน้ำ …ใช้สายยางเดินรด หากวันไหนฝนตกก็งดให้น้ำ แต่ถ้าฝนไม่ตกให้รดทุกวันช่วงเช้าหรือเย็นก็ได้ รดจนชุ่มเพราะพริกไทยค่อนข้างชอบความชื้นพอสมควร แต่ก็ไม่ชอบแดดจัดมาก พริกไทยจะชอบแดดประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ถ้าในกรณีที่ปลูกในพื้นที่โล่งแจ้งให้หาซาแรนพรางแสงมาป้องกัน แต่ถ้าปลูกแซมในสวนยางหรือสวนผลไม้ ก็ไม่ต้องใช้ซาแรน เพราะมีร่มเงาจากไม้พี่เลี้ยงพรางแสงให้อยู่แล้ว

ปุ๋ย …ที่นี่เป็นการปลูกแบบอินทรีย์ เพราะฉะนั้นปุ๋ยที่ใช้จะเป็นปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ทั้งหมด ปุ๋ยคอกจะเติมเดือนละครั้ง ปุ๋ยหมักจากผักผลไม้ หรือปุ๋ยหมักปลาทะเลใช้สลับกัน จะเติมทุก 2-3 วันครั้ง ในอัตราส่วน ปุ๋ยหมัก 1 ลิตร ต่อน้ำ 500 ลิตร

ระยะการปลูกถึงเก็บเกี่ยว …ที่สวนเริ่มปลูกพริกไทยทรงพุ่มมาเป็นระยะเวลาปีกว่า ตอนนี้เริ่มเก็บผลผลิตครั้งแรก ค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ ในปีแรกทรงพุ่มอาจจะยังไม่ใหญ่มาก แต่คาดเดาด้วยสายตาแล้วหากทรงพุ่มใหญ่เต็มที่ผลผลิตจะดกมากพอสมควร เฉลี่ยจะได้ผลผลิตประมาณ 10 กิโลกรัม ต่อพุ่ม

การเก็บเกี่ยวผลผลิต …ลักษณะพริกไทยที่แก่พร้อมเก็บเกี่ยวจะมีทั้งสีแดงและสีเขียวอยู่ในพวงเดียวกัน คือ พริกไทยที่แก่เต็มที่แล้ว สามารถเก็บนำมาตากด้วยวิธีธรรมชาติจนแห้งสนิท ถ้าแดดแรงใช้เวลาการตากประมาณ 1 สัปดาห์ เมื่อแห้งสนิทแล้วนำมาเก็บใส่ภาชนะถุงหรือขวดแก้ว ขวดพลาสติกก็ได้ โดยไม่ต้องนำไปเข้าเครื่องอบใดๆ ทั้งสิ้น

ต้นทุนการปลูก …ไม่มาก ยิ่งถ้าหากทดลองปลูกในกระถาง ต้นทุนจะยิ่งต่ำลง สำหรับมือใหม่อยากแนะนำให้ทดลองปลูกดูสัก 20-30 ต้น ใช้เวลาการปลูกประมาณ 1 ปีกว่า ก็สามารถเห็นผลลัพธ์แล้วว่าควรปลูกขยายเพิ่ม หรือว่าควรหยุดไปทำอย่างอื่น พริกไทยถือเป็นพืชที่ทดลองปลูกได้ไม่เสียหาย เพราะใช้ต้นทุนต่ำ การดูแลที่ไม่ยุ่งยาก เงินลงทุนไม่มาก เพราะปลูกแบบอินทรีย์ ใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก แกลบ เป็นหลัก กิ่งพันธุ์ราคาไม่เกิน 80 บาท ต่อต้น แล้วแต่ว่าซื้อมาจากที่ไหน แต่ถ้าหากท่านใดสนใจอยากปลูก ลองติดต่อสอบถามเทคนิคขั้นตอนการปลูกมาที่นี่ได้ถือเป็นการแบ่งปันความรู้ให้เพื่อนเกษตรกรด้วยกัน

ตลาดพริกไทยดำปะเหลียน ยังไปได้อีกไกล
คนปลูกน้อย แต่ความต้องการสูง
พี่กี้ เล่าถึงสถานการณ์การตลาดของพริกไทยปะเหลียนว่า ถึงแม้ตนจะเริ่มปลูกพริกไทยได้ไม่นาน แต่ก็พอที่จะทราบถึงสถานการณ์ความต้องการของพริกไทยพันธุ์นี้มาบ้าง เพราะจากข้อมูลที่กล่าวไปข้างต้นว่า ที่บ้านมีการปลูกพริกไทยไว้บริเวณรอบบ้านมานานแล้ว ถึงแม้จะปลูกไม่มากนัก แต่ก็พอมีได้ขายปีละ 30-40 กิโลกรัม ราคาที่ผ่านมาถือว่าดีมากๆ กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 350-400 บาท และถึงแม้จะให้ราคาตกอย่างไร ก็จะไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 300 บาท มีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงที่บ้านเพื่อนำไปทำพริกแกงใต้

“ทุกวันนี้ผลผลิตที่ทำได้ก็ยังไม่พอขาย จึงได้มีการขยายพื้นที่การปลูกเพิ่ม และมองว่าการตลาดพริกไทยดำปะเหลียนยังไปได้อีกไกล และที่สำคัญตอนนี้ที่จังหวัดตรังมีการสนับสนุนเรื่องการปลูกพริกไทยเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมาไม่เคยเกิดการสินค้าล้นตลาด เพราะเป็นที่ต้องการมาก แต่ในอนาคตเมื่อคนเริ่มปลูกมากขึ้นสินค้ามีมากก็ยังสามารถเก็บรักษาใส่ถุงได้ไม่เสียหาย เก็บไว้ได้นานเป็นปี”

ฝากถึงเกษตรกร
“อยากให้พี่น้องเกษตรกรหันมาปลูกพืชผสมผสานกันมากขึ้น ให้เริ่มจากพื้นที่น้อยๆ ไปก่อนก็ได้ อย่างการปลูกพริกไทย จะเริ่มปลูก 10-20 ต้น ก็ได้ แล้วนำไปวางแซมไว้ในสวนไม้ผลของท่าน ปีหนึ่งผ่านไปไวมาก พริกไทยออกก็สามารถเก็บขายได้แล้ว ราคาก็ดี การปลูกพืชแซมจึงถือเป็นทางแก้ปัญหาสินค้าล้นตลาดได้เป็นอย่างดี ไม่เพียงเฉพาะแค่ปลูกพริกไทย แต่จะปลูกอะไรก็ได้ที่สะดวก แล้วเป็นพืชสร้างรายได้ ขายได้ในท้องถิ่นของเรา” คุณมณี กล่าวทิ้งท้าย

จากพริกไทยสดมาเป็นพริกไทยดำ ผลผลิตจากสวนตากแห้งด้วยวิธีธรรมชาติ รอยต่อระหว่างจังหวัดตากไปลำปาง สองข้างทางดูไม่ร่มรื่นนัก โดยเฉพาะที่อำเภอสามเงา ทั้งนี้ เป็นเพราะอยู่ในอิทธิพลของเงาฝน

กระนั้นก็ตาม เมื่อเลี้ยวลึกเข้าไปตามซอกซอย จะเห็นแปลงปลูกฝรั่ง กล้วยไข่ รวมทั้งมะละกอ เกษตรกรอาศัยความอุมสมบูรณ์ที่แม่น้ำวังไหลผ่าน สำหรับทำการเกษตร มะละกอที่ปลูกกัน ทำรายได้ให้ดี โดยเฉพาะพันธุ์เรดเลดี้

คุณสมจิตต์ บุญมาวงศ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายขายเขตภาคเหนือ บริษัทเพื่อนเกษตรกร จำกัด ให้ข้อมูลว่า พื้นที่ปลูกมะละกอพันธุ์เรดเลดี้ ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตาก กำแพงเพชร นครศรีธรรมราช กระบี่ และจังหวัดอื่นๆ

ลักษณะประจำพันธุ์ “เรดเลดี้”
มะละกอของบริษัทเพื่อนเกษตรกร จำกัด ที่ได้รับความนิยมมีอยู่หลายสายพันธุ์

เรดเลดี้ เป็นสายพันธุ์หนึ่ง ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก จุดเด่นคือให้ผลผลิตเร็ว ลำต้นสูง 60-80 เซนติเมตร ก็เริ่มให้ผลผลิตแล้ว ผลผลิตมากกว่า 40-50 ผล ต่อต้น ต้านทานไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคใบด่างวงแหวนได้ดี

ผลที่เกิดจากดอกตัวเมียจะมีลักษณะกลม-สั้น เนื้อสีส้มแดง ผลที่เกิดจากดอกกะเทย ผลมีลักษณะยาว เนื้อหนา น้ำหนักผลเฉลี่ย 1.5-2 กิโลกรัม เมื่อสุก มะละกอเรดเลดี้ มีกลิ่นหอม ความหวาน 13 องศาบริกซ์

ผลสุกทนทานต่อการขนส่ง

คุณสมจิตต์ บอกว่า ผู้ปลูกมะละกอเรดเลดี้ ปัจจุบันส่งโรงงานและส่งตลาดกินสุก อย่างที่จังหวัดกระบี่ และนครศรีธรรมราช เมื่อมีผลผลิตนำส่งโรงแรมแถบจังหวัดภูเก็ตและหาดใหญ่ หากผลผลิตไม่สวยส่งเข้าโรงงานแปรรูป

พบเกษตรกรผู้ปลูก
คุณนรินทร์ นบนอบ เกษตรกรอยู่บ้านเลขที่ 102 หมู่ที่ 10 ตำบลยกบัตร อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ปลูกมะละกอในพื้นที่ 8 ไร่

เจ้าตัวบอกว่า เดิมเป็นลูกจ้าง ต่อมาเถ้าแก่ลงทุนให้ พื้นที่ 8 ไร่ ลงทุน หมื่นเศษๆ เป็นค่าไถที่ เมล็ดพันธุ์ รวมทั้งปุ๋ย

วิธีปลูกมะละกอเรดเลดี้ เริ่มจากไถดิน แล้วยกแปลงกว้าง 3 เมตร ระหว่างแปลงเป็นร่องน้ำกว้างราว 50 เซนติเมตร จากนั้นปลูกมะละกอลงไปที่สันร่อง ใช้ระยะระหว่างต้นระหว่างแถว 1.50-2 เมตร เมื่อหักพื้นที่บางส่วนออกไป 1 ไร่ ปลูกได้ราว 300 ต้น

ต้นกล้าที่ปลูกใช้เวลาเพาะ ราว 1 เดือน เมื่อปลูกไปแล้ว 8 เดือน สามารถเก็บผลผลิตได้

การดูแลรักษานั้น คุณนรินทร์ บอกว่า ใช้ปัจจัยการผลิตไม่มาก ปุ๋ยเริ่มใส่ให้เมื่อปลูกไปแล้ว 2 เดือน เป็นสูตร 15-15-15 จำนวนต้นละ 1 กำมือ

“มะละกอที่ปลูก เก็บได้จนอายุ 2 ปี รวมแล้วเก็บได้ไม่ต่ำกว่า 100 กิโลกรัม ต่อต้น ลูกหนึ่งมีตั้งแต่ 5 ขีด – 2 กิโลกรัม ตั้งแต่ที่ทำมา ราคาต่ำสุด 2 บาท สูงสุด 8 บาท ผมว่าปลูกแล้วมีรายได้ดี เก็บทุกๆ 7 วัน มะละกอส่งโรงงานกิโลกรัมละ 2 บาท หากคัดผลผลิตแล้วห่อเป็นมะละกอกินสุก กิโลกรัมละ 5 บาท ดีนะผมว่าใช้ได้”

คุณจรัส เล่าว่า ตนเองอ่านพบในหนังสือ สมัคร Game Hall ทราบว่ามะละกอเรดเลดี้ให้ผลผลิตดี ต้านทานโรค จึงขึ้นไปซื้อเมล็ดพันธุ์โดยตรงที่เชียงใหม่ นำมาปลูกเฉพาะของตนเอง 10 ไร่ รวมของพี่ๆ น้องๆ ด้วย เป็น 30 ไร่ เมื่อเริ่มเก็บผลผลิตได้ 2 เดือน ได้เงิน 4 แสนบาท ปรากฏว่าน้ำท่วม เสียหายหมด

เมื่อได้ทดลองปลูกและมีความมั่นใจ ปีต่อๆ มา คุณจรัส และ คุณศิริพักตร์ จึงนำเมล็ดพันธุ์มาปล่อยให้เกษตรกรแถบนั้นปลูก พร้อมกับรวบรวมผลผลิต ส่งต่อให้กับผู้ซื้ออีกทีหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็น “ล้ง” นั่นเอง ปัจจุบัน เกษตรกรผู้ปลูกในกลุ่มของคุณจรัสและคุณศิริพักตร์ รวมแล้วมีประมาณ 300 ไร่ เกษตรกรที่ปลูกมีพื้นที่ตั้งแต่ 3-10 ไร่ คุณศิริพักตร์ พูดถึงตลาดมะละกอเรดเลดี้ ว่า ราว 70 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตส่งโรงงาน บริษัทรับซื้อเข้าไปทำผลไม้รวมและมะละกออบแห้ง ที่เหลือส่งตลาดมะละกอสุก ซึ่งจะคัดผลสวย ห่อด้วยหนังสือพิมพ์ การห่อนี้ ห่อหลังจากเก็บผลผลิตแล้ว ที่ผ่านมาตลาดไม่ค่อยยอมรับมะละกอที่เกิดจากดอกตัวเมีย ซึ่งผลกลม แต่ปัจจุบันยอมรับกันแล้ว เพราะรสชาติไม่แตกต่างกัน ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรแถบยกบัตร ไม่สูงนัก บางราย 8 ไร่ ลงทุนราว 1.4 หมื่นบาทเท่านั้น

ระหว่างปี ทางเจ้าของล้งบอกว่า มะละกอมีมากเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน แต่เป็นเรื่องที่น่าแปลก ช่วงนี้มะละกอราคาดี ช่วงที่มะละกอมีน้อยเดือนเมษายน ราคากลับไม่ดี ทั้งนี้ เป็นเพราะโรงงานซื้อมะละกอน้อย เขาซื้อมะม่วงไปแปรรูป จากนั้นก็เป็นช่วงของเงาะ

“ตอนนี้โรงงานมารับไป 10 ราย มะละกอกินสุก 6 ราย มาจากตลาดไท สี่มุมเมือง เชียงใหม่ ราชบุรี ขอนแก่น มาครั้งหนึ่งก็ 3 ตัน ต่อคัน มะละกอโรงงานถ้าเราซื้อ 3 บาทส่ง 4 บาท มะละกอกินสุกถ้าซื้อ 5 บาท ขาย 6 บาท ได้ 1 บาท เป็นค่าการจัดการ” คุณจรัส บอก

“ช่วงที่มะละกอมีน้อย เดือนเมษายน อาทิตย์ละ 3-5 ตัน แต่ช่วงมีมากๆ วันหนึ่งเป็น 10-20 ตัน” คุณศิริพักตร์ พูดถึงการซื้อขายมะละกอ