ทุเรียนภาคใต้ปีนี้ ให้ผลผลิตกว่า 4.4 แสนตัน เพิ่มขึ้น 46%

เหตุราคาดี จีนต้องการสูงนายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ทุเรียนภาคใต้ปี 2562 ทั้ง 14 จังหวัด (กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา ระนอง สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี) ซึ่งคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ ได้เห็นชอบผลพยากรณ์ในปี 2562 ครั้งที่ 3 (ข้อมูล ณ 8 พฤษภาคม 2562) พบว่า เนื้อที่ยืนต้นของทุเรียนภาคใต้ ปี 2562 มีจำนวน 501,845 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 35,290 ไร่ หรือร้อยละ 8 เนื้อที่ให้ผล มีจำนวน 387,822 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 28,515 ไร่ หรือร้อยละ 8 ปริมาณผลผลิตรวม 445,220 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 140,953 ตัน หรือร้อยละ 46 โดยผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผล อยู่ที่ 1,148 กิโลกรัม ต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 301 กิโลกรัม หรือร้อยละ 36

เนื้อที่ยืนต้นเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาของทุเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรจึงปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นโดยปลูกแทนพืชอื่น เช่น ยางพารา เงาะ ลองกอง ซึ่งเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้นจากทุเรียนที่ปลูกในปี 2557 เริ่มให้ผลผลิตในปีนี้ ส่งผลปริมาณผลผลิตรวมเพิ่มขึ้น โดยผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นเนื่องจากราคา ในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรมีการดูแลรักษาต้นทุเรียน กอปรกับปีที่ผ่านมาต้นทุเรียนไม่ติดผลหรือให้ผลผลิตน้อย จึงมีเวลาในการพักต้นสะสมอาหารต้นสมบูรณ์ขึ้น

สำหรับผลผลิตทุเรียนของทางภาคใต้จะออกมาที่สุดที่จังหวัดชุมพร รองลงมาคือ นครศรีธรรมราช โดยผลผลิตในฤดูของทางภาคใต้เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน และจะออกมากในช่วงกลางเดือนถึงปลายเดือนสิงหาคม 2562 (ร้อยละ 34 ของผลผลิตภาคใต้ทั้งหมด) ซึ่งราคาเฉลี่ยทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่เกษตรกรขายได้ที่สวนเฉลี่ยอยู่ที่ 93.29 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 19

ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาราคาทุเรียนค่อนข้างสูง เนื่องจากยังมีความต้องการนำเข้าไปที่ประเทศจีนจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนให้การเอาใจใส่ดูแลมากขึ้นเพื่อให้ได้ปริมาณผลผลิตเพิ่มและมีคุณภาพดี เช่น การตัดผลอ่อนบางส่วนทิ้ง ทำให้ผลที่เหลือมีขนาดและน้ำหนักใหญ่ขึ้น ในขณะเดียวกันเนื้อที่ให้ผลของทุเรียนเพิ่มขึ้น และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเกษตรกรที่โค่นต้นแก่ของไม้ผลอื่นๆ และโค่นยางพาราที่ราคาไม่จูงใจ หันมาปลูกทุเรียนแทน อย่างไรก็ตาม หน่วยงานรัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้ส่งออกควรควบคุมคุณภาพของทุเรียน ทั้งเรื่องทุเรียนอ่อน และวัตถุปนเปื้อนที่อาจทำให้เกิดปัญหาการส่งออกได้ ซึ่ง สศก. จะได้ร่วมติดตามสถานการณ์การผลิตและปริมาณผลผลิตไม้ผลร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการเตรียมมาตรการนโยบาย โดยคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ จะมีการประชุมเพื่อสรุปผลอีกครั้งในเดือนกรกฎาคมนี้

กรมวิชาการเกษตร ปลื้มเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอทับทิมสยาม GAP และสวนเกษตรกรอินทรีย์เมืองจันทร์ คว้า2 รางวัลเกษตรกรดีเด่นด้านGAP-เกษตรอินทรีย์ระดับชาติ พร้อมรับประกาศเกียรติคุณในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2562

นางสาวปรียานุช ทิพยะวัฒน์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช ในฐานะรองประธานคณะทำงานคัดเลือกเกษตรกรดีเด่นด้านการผลิตพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีนโยบายให้แต่ละหน่วยงานคัดเลือกเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ที่มีผลงานดีเด่นตามสาขาอาชีพที่กำหนด เพื่อยกย่องประกาศเกียรติคุณและเผยแพร่ผลงานดีเด่นให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จักยึดถือเป็นแบบอย่างในการทำการเกษตรที่ประสบความสำเร็จ

ซึ่งในปีนี้ กรมวิชาการเกษตรได้พิจารณาเกษตรกรที่ผ่านหลักเกณฑ์การคัดเลือกเพื่อเข้ารับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำ ปี 2562 จำนวน 2 สาขาคือ คือสาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช(GAP) ได้แก่ นางอัมพร สวัสดิ์สุข เจ้าของแปลงส้มโอทับทิมสยาม ตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนสาขาเกษตรอินทรีได้แก่นายรัฐไท พงษ์ศักดิ์ เจ้าของสวนผลไม้อินทรีย์ อ.มะขาม จ.จันทบุรี ซึ่งเกษตรกรดีเด่นทั้ง 2 สาขา ได้รับการเชิดชูเกียรติเกษตรกรเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2562 ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวงที่ผ่านมา

นางสาวปรียานุช กล่าวด้วยว่า สำหรับนางอัมพรนับเป็นเกษตรกรตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จด้านการพัฒนาแปลงส้มโอทับทิมสยามระบบ GAP จนเป็นที่ยอมรับของตลาดและผู้บริโภค ปัจจุบันได้ปลูกส้มโอทับทิมสยามบน พื้นที่ 19 ไร่มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตปีละไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จและความภาคภูมิใจของกรมวิชาการเกษตร ในการส่งเสริมเกษตรกรผลิตพืช/ผลไม้ให้มีคุณภาพมาตรฐานปลอดภัยจากสารตกค้าง จนสร้างความเชื่อมั่นและยอมรับแก่ผู้บริโภคและตลาดอย่างกว้างขวางและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เกษตรกรรุ่นต่อไปในอนาคต

สำหรับความสำเร็จของนางอัมพรนั้น เกิดจากการสมัครเข้าสู่ระบบ GAP กับกรมวิชาการเกษตรแล้วได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด โดยมุ่งเน้นที่จะผลิตส้มโอให้ได้คุณภาพมาตรฐานและปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง มีการกำจัดวัชพืชโดยการตัดหญ้าแทนการใช้ สารเคมี และนำเศษวัชพืชมาคลุมโคนตันเพื่อรักษาควานขึ้นในดิน มีการปลูกหญ้าแฝกเพื่อช่วยลดการพังทลายของดิน และช่วยดูดซับสารเคมีไม่ให้ไหลลงคู่แหล่งน้ำ รวมทั้งยังสามารถนำหญ้าแฝกมาหั่นย่อยทำเป็นปุยหมักใช้ใน สวนส้มโอได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ นางอัมพร ยังทำน้ำหมักชีวภาพ เพื่อนำมาใช้เสริมร่วมกับการใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้ช่วยลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งยังแนะนำเกษตรกรในกลุ่มให้ใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและเหมาะสมอีกด้วย โดยเฉพาะก่อนใช้ให้มีการสำรวจศัตรูพืชก่อนและงดเว้นสารเคมีต้องห้าม (ว.4) การทำสวนส้มโอ ได้เข้าสู่ระบบการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ตามมาตรฐานการรับรองการผลิต GAP ของกรมวิชาการเกษตรเมื่อปี 2547 ได้รับการรับรองแหล่งผลิตพืช (ส้มโอ) รหัสรับรอง กษ 03-02-3601-6034-136 ในฐานะผู้ผลิตส้มโอคุณภาพ มาตรฐานปลอดภัย จนเป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นกับผู้ประกอบการและกลุ่มเกษตรกรในตำบลคลองน้อยและตำบลใกล้เคียง

ทางด้านเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว ก่อนการเก็บเกี่ยว 1 เดือน จะงดการฉีดพ่นสารเคมีทุกชนิด เนื่องจากหลีกเลี่ยงสารเคมีตกค้างในผลผลิตโดยหากมีปัญหาโรคแมลงในช่วงนั้นจะใช้สารสกัดจากพืช หรือวัชภัณฑ์ แทน ช่วงการสุกแก่เมื่อผลส้มโอแก่ อายุ 8 เดือน โดยใช้กรรไกรตัด วางในตะกร้าและจำหน่ายที่กลุ่มซึ่งตนเองเป็นประธานกลุ่ม ทำการคัดแยก บรรจุลงกล่องส่งผลผลิตไปยังลูกค้ากลุ่มต่างๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน ส่งผลให้ปัจจุบัน นางอัมพรมีรายได้จากการปลูกส้มโอGAP ประมาณปีละ 3.2 ล้านบาท แบ่งเป็นจำหน่ายผล 10,000 ผลๆ ละ 200 บาท รวม 2 ล้านบาท และรายได้การขายต้นพันธุ์ 5,000 ต้นๆ ละ 250 บาทสร้างรายได้อีก 1.2 ล้านบาท/ปี รายได้ดังกล่าวกำไรสุทธิ 2ล้าน

ส่วนนายรัฐไท พงษ์ศักดิ์ เจ้าของรางวัลสาขาเกษตรอินทรีย์นั้น นับเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ได้รับการยอมรับและเชื่อเสียงในการปลูกผลไม้อินทรีย์ในจังหวัดจันทบุรี ปัจจุบันนายรัฐไทยเป็นประธานศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชนบ้านปัถวีและเป็นเจ้าของสวนผลไม้ที่ผ่านปัญหามาสารพัด แต่หลังจากเข้าสู่ระบบการผลิตตามมาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์และได้รับการรับรองการผลิตพืชอินทรีย์จากสำนักงานวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 กรมวิชาการเกษตร จนสามารถนำใบรับรองไปใช้ในการจำหน่ายผลผลิตให้แก่ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศและยื่นขอต่ออายุการรับรองมาจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันนายรัฐไท วางเป้าหมายที่จะนำสมาชิกจำนวน 30 รายยื่นขอรับรองมาตรฐานอินทรีย์แบบกลุ่ม เพื่อรวบรวมผลผลิตจำหน่ายให้กับลูกค้าที่มีความต้องการผลไม้อินทรีย์เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันได้รวบรวมผลไม้อินทรีย์จากสมาชิกที่มีใบรับรองแล้ว ส่งจำหน่ายไปยังบริษัทเอกชน 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ ได้แก่ 1. บริษัท เนชั่น พรีเมี่ยมแอนด์ฟรุ๊ต จำกัด เพื่อส่งออกต่อไปยังกลุ่มประเทศยุโรป 2.บริษัท พีแอนด์เอฟ จำกัด เพื่อส่งออกต่อไปยังประเทศญี่ปุ่น และ 3. ห้างสรรพสินค้า ท๊อปซุปเปอร์มาเก็ต ได้ซื้อผลไม้ไปจำหน่ายแบบซื้อขาด โดยในปี 62 ที่ผ่านมานายรัฐไทยได้ผลิตผลไม้ระบบอินทรีย์ ประกอบด้วย มังคุด เงาะ ลองกองและทุเรียนรวมปีละ12ตันสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท

“กรมวิชาการเกษตรจะเร่งขับเคลื่อนเพื่อเดินหน้าส่งเสริมให้เกษตรกรทั่วประเทศเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP และอินทรีย์อย่างต่อเนื่องและครอบคลุมพื้นที่เกษตรทั่วประเทศมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันไทยนอกจากการเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญอันดับต้นๆของโลกแล้ว ประเทศไทยยังมีความเหมาะสมและมีศักยภาพที่จะผลิตสินค้าผลไม้และผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาดโลกมากขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากผู้บริโภคยุคใหม่คำนึงถึงสุขอนามัยความปลอดภัยในการบริโภคและรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น” นางสาวปรียานุช กล่าว

“ซินเจนทา” จัดทำโครงการรักษ์ผึ้ง สร้างความรู้ระหว่างเกษตรกรชาวสวนและผู้เลี้ยงผึ้ง พร้อมสนับสนุนงานประชุม International Conference on Biodiversity 2019

งานประชุมวิชาการนานาชาติและนิทรรศการทางวิชาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (International Conference on Biodiversity) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 24 พฤษภาคม 2562 ณ เซนทาราแกรนด์ บางกอกคอนเวนชันเซนเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร เพื่อนำเสนอผลงานและเทคโนโลยีด้านความหลากหลายทางชีวภาพ นำไปสู่การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน ภายใต้การสนับสนุนจาก บริษัท ซินเจนทา ประเทศไทย ผู้นำนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ด้านเกษตรและอาหาร

นางสาววัชรีภรณ์ พันธุ์ภูมิพฤกษ์ หมอพืชและผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนธุรกิจ ประเทศไทย ซินเจนทา เปิดเผยว่า “วิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพในภูมิศาสตร์เขตร้อน กำลังเป็นที่สนใจไปทั่วโลก เนื่องด้วยเป็นเขตที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง แต่ปัจจุบันเกิดการสูญเสีย จากปัจจัยต่างๆมากขึ้น เช่น จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น การขยายตัวของชุมชน การใช้ปัจจัยทางการเกษตร โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ที่ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง เพราะระบบนิเวศ ห่วงโซ่อาหาร สูญเสียสมดุล”

การเข้าร่วมจัดงานครั้งนี้ ซินเจนทา ตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะ ผึ้งและแมลงผสมเกสร ที่มีบทบาทหลักในระบบการผลิตอาหารและการเกษตร ร้อยละ 90 ของพืชอาหารทั่วโลก อาศัยการผสมเกสรของแมลงขนาดต่าง ๆ หากการผสมเกสรของพืชไม่เพียงพอ จะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง คิดเป็นมูลค่า 17.3 ล้านล้านบาท หรือ 577 พันล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น ซินเจนทา จึงได้วิจัยและพัฒนาโครงการรักษาสมดุล สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ มากถึง 301 โครงการใน 39 ประเทศทั่วโลก ประสบความสำเร็จในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้มากกว่า 31,250 ไร่ และอบรมเกษตรกรไปแล้วกว่า 2,500 รายในปีที่ผ่านมา

สำหรับประเทศไทย ซินเจนทา ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยมหิดล นครสวรรค์ และศูนย์ผึ้งจันทบุรี เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนผลไม้จังหวัดจันทบุรี จัดทำ โครงการรักษ์ผึ้ง (Bee love project) เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือและสร้างความรู้ระหว่างเกษตรกรชาวสวนและผู้เลี้ยงผึ้ง ขยายผลไปยังกระบวนการผลิตทางการเกษตรด้วยการผสมเกสรของผึ้ง การใช้สารเคมีเกษตรได้อย่างถูกต้อง ถูกเวลา ลดผลกระทบต่อสุขภาพผึ้ง ช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ขณะเดียวกัน เกษตรกรชาวสวนและผู้เลี้ยงผึ้งต่างก็ได้ประโยชน์ร่วมกัน มีผลผลิตทางการเกษตรที่สูงขึ้น และน้ำผึ้งมีคุณภาพดีได้มาตรฐาน และในเร็วๆ นี้ ซินเจนทา วางแผนจะก่อตั้งศูนย์เรียนรู้รักษ์ผึ้ง และร่วมกับชุมชนสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยและอาหารของผึ้งและแมลงผสมเกสรในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและนครสวรรค์

“การแก้ไขปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพ จำเป็นต้องใช้เวลา และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซินเจนทา พร้อมนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านเกษตรและอาหาร มาใช้พัฒนาและช่วยเหลือเกษตรกร ควบคู่ไปกับการปกป้องรักษาโลกให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นด้วย” หมอพืช วัชรีภรณ์ พันธุ์ภูมิพฤกษ์ กล่าวสรุป

ประเพณีสุดม่วนเสน่ห์แดนอีสาน โดยฝรั่งหัวใจไทย “แดเนียล เฟรเซอร์” พาสัมผัสวิถีชีวิต และประเพณีต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองสุดมัน ออกสเต็ปการเต้นบาสโลบกับชาวบ้านโนนศิลา พร้อมชมความมหัศจรรย์จากธรรมชาติ ที่สร้างสรรค์อาหารประจำถิ่นเป็น ไข่เค็มดินจอมปลวก อร่อยเด็ด ณ จังหวัด บึงกาฬ

บึงกาฬ จังหวัดที่มากไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น หินสามวาฬ ภูทอก น้ำตกเจ็ดสี เป็นต้น ซึ่งนอกจากธรรมชาติอันงดงาม บึงกาฬ ยังมีเสน่ห์ที่ทำให้ “แดเนียล เฟรเซอร์” เกิดอาการ ตกหลุมรักซ้ำแล้วซ้ำเล่า เริ่มด้วยเรื่องราวของวิถีชีวิต และวัฒนธรรมโบราณ อย่าง การเต้นบาสโลบ ประเพณีต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ของชาวบ้านโนนศิลา ที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศเพื่อนบ้าน จากนั้นไปลองลิ้มชิมรสผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่ออย่าง “ไข่เค็มดินจอมปลวก” เรียกได้ว่าเป็นความมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติมอบให้ เพราะกระบวนการผลิตนั้น นำดินจอมปลวกที่มีน้ำลายปลวกผสมอยู่ตามธรรมชาติ มาพอกไข่เค็ม ซึ่งดินจอมปลวกมีส่วนช่วยดับกลิ่นคาว ทำให้ไข่เค็มปราศจากกลิ่นไม่พึงประสงค์นั่นเอง

จากนั้นแวะไปชิมขนมชื่อแปลกอย่าง “ขนมข้าวโปร่งหูช้าง” ที่บ้านใกล้เคียงอย่าง บ้านโนนสว่าง ขนมชนิดนี้มีลักษณะคล้ายข้าวเกรียบเว้า เป็นขนมที่นิยมไว้ทานเล่น หรือจัดเป็นของว่าง ปิดท้ายการเดินทางสุดม่วน และฝากท้องไว้กับชาวบ้านขี้เหล็กใหญ่ ทานอาหารพื้นบ้านสุดแซ่บ ไม่ว่าจะเป็น แกงหวาย แหนมคลุก ลาบไข่มดแดง เป็นต้น พร้อมผ่อนคลายความเหนื่อยล้าด้วยการนวดประคบสมุนไพร ที่สร้างรายได้เข้าชุมชนอย่างยั่งยืน

สัมผัสวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของชาวบึงกาฬ ชมประเพณีน่ารักๆ ณ ดินแดนเหนือสุดภาคอีสาน จังหวัดบึงกาฬ ไปกับฝรั่งหัวใจไทย “แดเนียล เฟรเซอร์” วันเสาร์ ที่ 18 พฤษภาคม 2562 เวลา 16.30 น. ทางช่อง 28 (3SD) Facebook: https://www.facebook.com/longrukyim/

22 พฤษภาคม 2562 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรี สิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานประชุมวิชาการด้านความ หลากหลายทางชีวภาพ (International Conference on Biodiversity 2019: IBD2019) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 พฤษภาคม 2562 ณ ชั้น 22-23 เซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ จัดโดย

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ สพภ. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรด้านความหลากหลายทางชีวภาพ อาทิ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมป่าไม้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันยกระดับงานวิจัยและอนุรักษ์ รวมทั้งการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพจากความหลากหลายทางชีวภาพ อันจะมีประโยชน์อย่างสูงในการส่งมอบทรัพยากรที่มีคุณค่าให้กับประเทศ สร้างความมั่นคั่ง และยั่งยืนต่อไป

รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กราบบังคมทูลว่า การจัดงานประชุม IBD2019 ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ อาทิ ด้านอนุกรมวิธาน เทคโนโลยีและนวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ การอนุรักษ์และฟื้นฟูถิ่นอาศัยทั้งในและนอกถิ่นกำเนิด เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพอย่างยั่งยืน ตลอดจนการเผยแพร่ผลงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย จากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย และชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันวางแนวทางการพัฒนาทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนไทย

ภายในงานมีกิจกรรมหลัก ประกอบด้วย การสัมมนาวิชาการ ซึ่งเป็นการนำเสนอความก้าวหน้าของการวิจัยและพัฒนา โดยวิทยากรรับเชิญที่มีชื่อเสียง ในระดับโลก ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 116 คน ในหัวข้อหลัก 4 หัวข้อ ได้แก่ สายพันธุ์ในระบบนิเวศ (Species in Natural Ecosystem) การใช้ประโยชน์ (Utilization) ผลกระทบและภัยคุกคาม (Impact and Threat) และ การจัดการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Management) นอกจากนี้ ได้เชิญนักพฤกษศาสตร์ 16 ท่าน จากสวนพฤกษศาสตร์ชั้นนำของโลก มาบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับพืชและการรวบรวมพืชในสวนพฤกษศาสตร์ ในฐานะเป็นแหล่งรวมความรู้และรักษาเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ

พร้อมการจัดนิทรรศการ “ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยจากภูผาสู่มหานที (Discovers the Treasures and Unique Biodiversity in Thailand (From the Mountain to the Sea)” และกิจกรรมสาธิตเพื่อส่งเสริมอาชีพ และการแสดงผลิตภัณฑ์ของชุมชน

ดร. วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กราบบังคมทูลว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ร่วมกับหน่วยงาน ภาคเอกชน และชุมชนท้องถิ่น รวม 31 องค์กร 25 ชุมชน ซึ่งล้วนแต่เป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติงานสนองพระราชดำริของใต้ฝ่าละอองพระบาทด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและความหลากหลายทางชีวภาพ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมนิทรรศการ ภายใต้แนวคิด “เมืองแห่งความอุดมสมบูรณ์

ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ” หรือ “Bio-Wealth Country” ประกอบด้วยนิทรรศการ 9 ส่วน อาทิ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ นิทรรศการวิทยาศาสตร์และลานเรียนรู้สำหรับเยาวชน นิทรรศการด้านการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของชุมชนท้องถิ่น นิทรรศการความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการเก็บรักษาในระยะยาว นิทรรศการด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและอนุรักษ์ รวมทั้งกิจกรรมสาธิตเพื่อส่งเสริมอาชีพ และการแสดงผลิตภัณฑ์ของชุมชน ทั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ถึงความอุดมสมบรูณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพบนผืนแผ่นดินไทย ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำมาใช้สร้างประโยชน์ พัฒนาประเทศ และสร้างเสริมความอยู่ดีกินดีของประชาชนอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงการดูแลรักษา และการคงอยู่ของความหลากหลายทางชีวภาพนั้นๆ ด้วย

พร้อมกันนี้วันที่ 22 พฤษภาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็นวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ในปีนี้ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพกับอาหาร และสุขภาพของมนุษย์ ภายใต้หัวข้อ “ความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างอาหาร เสริมสุขภาพ (Our Biodiversity, Our Food, Our Health)” เพื่อยกระดับความรู้ และความตระหนักในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของอาหารและโภชนาการที่หลากหลาย จึงได้มีการจัดแสดงนิทรรศการในโอกาสเดียวกันนี้ด้วย

ดร. ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กราบบังคมทูลเบิกวิทยากร ได้แก่ ดร.ราเชล วามิงตัน ผู้จัดการทีมวิทยาศาสตร์ โครงการ Eden Project สหราชอาณาจักร ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจจับและควบคุมโรคพืชโดยทำงานเกี่ยวกับเชื้อโรคที่มีผลกระทบต่อพืชมากกว่า 400 สายพันธุ์ที่มาบรรยายเรื่อง “สวนพฤกษศาสตร์ผาแดง: ต้นแบบของสวนพฤกษศาสตร์เขตร้อนที่ เกิดจากการฟื้นฟู”และ นายอาลี โยฮันน์ ไฮเออร์ บริษัท อาร์ดับเบิ้ลยูอี เทคโนโลยี อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศเยอรมัน ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเหมืองแร่ขนาดใหญ่ในการทำเหมืองแร่แบบเหมืองหาบ บรรยายเรื่อง “มุมมองทางวิชาการของการฟื้นฟูเหมืองแร่ในแอ่งลิกไนต์จากแม่น้ำไรน์ และวิธีการที่เป็นไปได้ของความหลากหลายทางชีวภาพ เศรษฐกิจฐานชีวภาพ และการใช้ประโยชน์ร่วมกันของประชาชน”

จากนั้น ผศ.ดร. รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ขอพระราชทาน พระบรมราชานุญาต เบิก 2 ผู้แทนเยาวชนดีเด่นด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อกล่าวคำปฏิญญาเยาวชนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีใจความสรุปว่า ในฐานะเยาวชนไทยมีความตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนเกิดความรัก หวงแหน และจะช่วยกันรักษาระบบนิเวศและธรรมชาติ

จากนั้นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิรา ลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงตัดแถบแพรเปิดนิทรรศการ เรื่อง “ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยจากภูผาสู่ มหานที (Discovers the Treasures and Unique Biodiversity in Thailand (From the Mountain to the Sea)” และทอดพระเนตรนิทรรศการจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ Smart Patrol

เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความมั่นคงของทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ซึ่งเป็นระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถดูแลทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สัตว์ป่าและพืชมีค่าใกล้สูญพันธุ์รอดพ้นจากการคุกคาม การขยายพันธุ์ปะการังอ่อนจากฟาร์มต้นแบบ เพื่อใช้ประโยชน์ในการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและการสร้างแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลเชิงนิเวศ การฟื้นฟูป่าชายเลนโดยใช้นวัตกรรมไม้โกงกางเทียม ด้วยนวัตกรรม “ซีออส” (C-Aoss/CapsultArtoOcean Sediment System)

เป็นนวัตกรรมทางเลือกใหม่ในการช่วยเร่งการตกตะกอนของหาดเลน ทำจากวัสดุเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ออกแบบให้มีรากคล้ายโกงกาง ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ติดตั้งง่ายและชุมชนสามารถดำเนินการเองได้ การอนุรักษ์เต่ามะเฟือง พบได้ในประเทศไทยและเป็นเต่าทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก และไม่พบการขึ้นมาวางไข่บนชายหาดของไทยนานถึง 5 ปี จนล่าสุดเมื่อปี 2561 ได้พบไข่ของแม่เต่ามะเฟืองที่หาดคึกคัก และหาดท่าไทร จังหวัดพังงา ทำให้มีลูกเต่ามะเฟืองที่สามารถคลานลงสู่ทะเลได้ทั้งสิ้น 127 ตัว อันส่งผลความสำเร็จเป็นอย่างสูงในการอนุรักษ์ฟื้นฟูเต่าทะเลที่เป็นสัตว์ทะเลหายาก เป็นต้น การนำเสนอเห็ดเศรษฐกิจของประเทศไทย เพาะเลี้ยงง่าย สร้างรายได้ในครัวเรือน แสดงผลิตภัณฑ์จากเห็ด เช่น น้ำเห็ด เยลลี่เห็ด เฉาก๊วยเห็ด เห็ดเป็นยา เป็นอาหาร และสถานการณ์การผลิตเห็ดของประเทศไทย เป็นต้น

ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานเพื่อชมนิทรรศการที่จะเปิดให้เข้าชม ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 24 พฤษภาคม 2562 เวลา 09.00 – 17.00 น. ณ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.ibd2019.org หรือสอบถาม โทร. (02) 564- 8000