นอกจากนี้ การบริโภคกล้วย ยังได้คุณค่าอาหารประเภทโพแทสเซียม

มีโซเดียม (เกลือ) ต่ำ ในผลกล้วย จะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคความดันเลือดสูงและหลอดเลือดแตกได้ ตอนนี้ โรคฮิตของคนไทยคือ โรคกรดไหลย้อน หากกินกล้วยมื้อละ 1-2 ผล ประมาณ 1 เดือน ก็หายขาดจากโรคกรดไหลย้อนได้ แถมกล้วยยังมีวิตามินบี 6 ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย หากบดกล้วยน้ำว้าให้เด็กทารกอายุ 4 เดือน ขึ้นไป โปรตีนที่อยู่ในกล้วย คือ กรดอะมิโนอาร์จินิน และฮีสติดิน จะช่วยในการเจริญเติบโตของทารก ในระยะหลัง คนไทยเริ่มหันมาตระหนักถึงคุณประโยชน์ของกล้วยว่า เป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทั้งด้านอาหารและยา ยิ่งทำให้กล้วยขายดี เป็นที่ต้องการของตลาดในวงกว้างมากขึ้น

การปลูกกล้วยให้ได้ผลผลิตที่ดี อันดับแรกต้องเริ่มจากปรับสภาพพื้นที่ปลูกให้มีความเหมาะสมเสียก่อน สำหรับสวนกล้วยของคุณมุกในอดีตเคยเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลามาก่อน เธอจึงปรับสภาพพื้นที่ใหม่เป็นแปลงยกร่อง ขนาดความกว้าง 4 เมตร แม้จะปลูกต้นกล้วยได้ปริมาณน้อย แต่ช่วยป้องกันปัญหาน้ำท่วมได้ดี หลังจากเตรียมแปลงปลูกเสร็จ หว่านปูนขาวเพื่อปรับสภาพความเป็นกรดด่างของดิน หลังจากนั้น จึงค่อยนำหน่อพันธุ์กล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 มาปลูก ในระยะห่าง 2×4 เมตร หากใครต้องการปลูกกล้วยน้ำว้ายักษ์ คุณมุก แนะนำให้ปลูกในระยะห่าง 3×4 เมตร หากใครอยากได้กล้วยหวีใหญ่ๆ ควรกำหนดระยะห่างระหว่างต้นให้มากสักหน่อย เพื่อช่วยในเรื่องคุณภาพของกล้วย

กล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 ปลูกดูแลรักษาง่าย ระวังอย่าให้ต้นกล้วยขาดน้ำ เพราะน้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญของต้นกล้วย เธอใช้ปุ๋ยหมักบำรุงต้นกล้วยเพื่อประหยัดต้นทุน หลังปลูกจะใส่ปุ๋ยหมักโบกาฉิ ที่ทำจากปุ๋ยขี้ไก่ ประมาณเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อกระตุ้นให้ต้นกล้วยเกิดการเจริญเติบโตทางด้านลำต้น โรยรอบทรงพุ่ม ประมาณ ต้นละ 2 กิโลกรัม

พอเข้าเดือนที่ 4-5 เป็นต้นไป คุณมุก เปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยหมักจากขี้หมูและขี้แดดนาเกลือ เดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ต้นกล้วยได้รับธาตุอาหารประเภทฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม ทั้งนี้ ต้นกล้วยจะให้ผลผลิตเร็วหรือช้า ก็ขึ้นกับสภาพภาวะอากาศและการดูแลเป็นสำคัญ สำหรับสวนกล้วยของคุณมุก เมื่อปลูกได้เดือนที่ 7-8 ต้นกล้วยจะเริ่มแทงปลีออกมา รอไปอีก 3-4 เดือน ก็สามารถเก็บผลผลิตออกขายได้แล้ว

คุณมุก แนะนำว่า ระหว่างที่ปลูกกล้วยในช่วงเดือนที่ 1-8 เกษตรกรควรมองหาตลาดรับซื้อผลผลิตไว้ล่วงหน้า เพื่อลดความเสี่ยงทางการตลาด ผลผลิตกล้วยรุ่นแรกที่เก็บขาย ประมาณ 4-5 ตะกร้า คุณมุก นำไปฝากขายหน้าร้านขายอาหารสัตว์ในท้องถิ่น ออกจากร้านไม่ถึง 15 นาที เจ้าของร้านโทรศัพท์มาบอกว่า กล้วยขายหมดแล้ว เพราะกล้วยสวย แม่ค้าเหมาซื้อทั้งหมด ในราคาหวีละ 25 บาท สร้างความภูมิใจให้กับเธอมาก เพราะเป็นผลผลิตรุ่นแรกที่นำออกขาย

ทุกวันนี้ คุณมุก ก็เน้นขายกล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 ให้กับแม่ค้าแผงในตลาดสด และแม่ค้ากล้วยทอด โดยอาศัยวิธีแนะนำตัวและแจกนามบัตรกับแม่ค้าให้รู้จักว่า สวนของเธอปลูกกล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 หากแม่ค้าต้องการผลผลิตช่วงไหน โทร.สั่งซื้อได้ มีสินค้าส่งถึงมือได้ตลอด อาศัยเทคนิคการขายลักษณะนี้ ทำให้เธอมีฐานลูกค้ากระจายอยู่ในตลาดท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก

ก่อนตัดสินใจปลูกกล้วย คุณมุก บอกว่า ควรศึกษาแหล่งที่รับซื้อด้วยว่า ตลาดต้องการกล้วยพันธุ์ไหน หากตลาดต้องการซื้อกล้วยเพื่อนำไปแปรรูปในลักษณะกล้วยตาก ควรปลูกกล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง หากตลาดต้องการซื้อเพื่อทำกล้วยทอด กล้วยฉาบ ควรปลูกกล้วยพันธุ์ปากช่อง 50 เพราะเป็นพันธุ์กล้วยที่ให้ผลผลิตสูง สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้เป็นอย่างดี กล้วยพันธุ์ปากช่อง 50 ที่ปลูกรุ่นแรก จะมีขนาดผลใหญ่ เท่าขวดกระทิงแดง กล้วย 1 ผล จะผ่าได้ 4 ชิ้น เมื่อนำไปทำกล้วยทอด แม่ค้าจะชอบมาก เพราะขายแล้วได้กำไรงาม

การปลูกกล้วยของแต่ละพื้นที่ ไม่เหมือนกัน คุณมุก มีโอกาสสำรวจพื้นที่การทำเกษตรในรัศมี 30 กิโลเมตร รอบจังหวัดอุบลราชธานี พบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตนาข้าว ที่มีศักยภาพในการปลูกกล้วยน้ำว้าได้มากมายมหาศาล เพียงแค่ปลูกกล้วยน้ำว้าบนคันนาสัก 1-2 กอ ต่อครัวเรือน ก็จะมีกล้วยสำหรับบริโภคในครัวเรือนและส่งขายตลาด หากใครมีผืนนา 30 ไร่ ปลูกกล้วยล้อมรอบคันนา ก็มีโอกาสสร้างรายได้ก้อนโต จากการขายหน่อกล้วย ขายผลกล้วย ป้อนเข้าตลาดสด หรือห้างสรรพสินค้าทั่วไป

ในช่วงนี้มีฝนตกชุกและมีความชื้นสัมพัทธ์สูง กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกพริกเฝ้าระวังการระบาดของโรคราขนแมว สามารถพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของพริก มักพบที่ยอดอ่อนและกิ่งอ่อน โดยแสดงอาการมีแผลช้ำฉ่ำน้ำ และแผลจะขยายลุกลามลงมาตามกิ่งอย่างรวดเร็ว ทำให้กิ่งแห้งหักพับ

หากต้นพริกแสดงอาการรุนแรง ใบและดอกพริกจะร่วงจนเหลือแต่ก้าน และต้นพริกจะไม่มีการแตกยอดใหม่ ส่วนที่ผลอ่อนจะเกิดอาการช้ำฉ่ำน้ำ เน่า และหลุดร่วงได้ง่าย กรณีที่ในอากาศมีความชื้นสูงมากๆ จะเห็นก้านใสของเชื้อราชูสปอร์คล้ายขนแมวขึ้นมาจากส่วนของพืชที่เป็นโรค ส่วนปลายของก้านใสที่เป็นส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อราจะเห็นกลุ่มสปอร์เป็นตุ่มสีดำ สปอร์เชื้อราสาเหตุโรคสามารถปลิวแพร่ระบาดไปสู่พริกต้นอื่นได้โดยง่าย เนื่องจากอาศัยติดไปกับสิ่งที่เข้าไปสัมผัส อาทิ น้ำ ลม ฝน น้ำค้าง และแมลง ทำให้เกิดการระบาดรุนแรงมากยิ่งขึ้น

เกษตรกรควรหมั่นสำรวจตรวจแปลงและกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกพริกอย่างสม่ำเสมอ และควรปรับระยะปลูกพริกไม่ให้แน่นจนเกินไป เพื่อลดความชื้นในแปลงปลูก และมีอากาศถ่ายเทสะดวก ในช่วงที่อากาศมีความชื้นสูงและร้อนอบอ้าว หากเริ่มพบต้นพริกแสดงอาการยอดช้ำ หรือสังเกตเห็นยอดพริกมีเชื้อราเกิดขึ้น ให้เกษตรกรรีบตัดส่วนที่เป็นโรคใส่ถุงหรือภาชนะปิดตั้งแต่ในแปลงปลูก

หรือหากพบต้นที่แสดงอาการของโรครุนแรง ให้รีบถอนต้นพริกและเก็บเศษซากพืชส่วนที่เป็นโรคออกจากแปลงไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของสปอร์เชื้อราสาเหตุโรค จากนั้น ให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชไดโคลแรน 75% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

หรือสารไตรโฟรีน 19% อีซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไอโพรไดโอน 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นทุก 5 วัน กรณีพบการระบาดของโรค ให้เกษตรกรหลีกเลี่ยงการให้น้ำแบบพ่นฝอย

การขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำแม่แตง-แม่งัด บริเวณอุโมงค์ส่งน้ำเข้า-ออก หมายเลข 2 บ้านทับเดื่อ ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่นั้น กรมชลประทาน ได้ดำเนินโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปัจจุบันภาพรวมของการก่อสร้างมีความคืบหน้าไปมากกว่า ร้อยละ 24

มีการลงพื้นที่ดูความคืบหน้าการก่อสร้าง โดย นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร. ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ดร. ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง

ทั้งนี้ เพื่อติดตามการขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำแม่แตง-แม่งัดฯ ซึ่งหากแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา หวังแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง ในลุ่มน้ำปิงอย่างยั่งยืน

ดร. ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำเข้า-ออก หมายเลข 2 เป็นการขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำ ระยะที่ 2 ช่วงลำน้ำแม่แตง (ประตูระบายน้ำแม่ตะมาน) -เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เมตร ระยะทาง 25.624 กิโลเมตร ปริมาณน้ำผ่านอุโมงค์สูงสุด 28.50 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที พร้อมอาคารประกอบ

ขณะนี้สามารถขุดเจาะได้ระยะทางประมาณ 1,264 เมตร คิดเป็นความก้าวหน้า ร้อยละ 14 หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถผันน้ำส่วนเกินจากลำน้ำแม่แตง ประมาณ 113 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อปี ในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ก่อนจะส่งต่อไปยังอ่างเก็บน้ำ เขื่อนแม่กวงอุดมธาราตามลำดับ

ในส่วนของความคืบหน้าการขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำ ระยะที่ 1 ช่วงเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.20 เมตร ระยะทางประมาณ 22.975 กิโลเมตร ปริมาณน้ำไหลผ่านอุโมงค์สูงสุด 26 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมอาคารประกอบ

ปัจจุบันสามารถขุดเจาะได้ระยะทางประมาณ 6,319 เมตร คิดเป็นความก้าวหน้า ร้อยละ 33.577 ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลในช่วงฤดูฝน ที่มีปริมาณน้ำเกินความต้องการ เฉลี่ยได้ประมาณ ปีละ 47 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยลดการสูญเสียน้ำโดยเปล่าประโยชน์ได้เป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ทั้ง 2 ระยะ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จตามกำหนด ในปี 2564 สามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธาราได้เฉลี่ยปีละประมาณ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม และรักษาระบบนิเวศ ช่วยเพิ่มเสถียรภาพการใช้น้ำในช่วงฤดูฝนของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ได้ประมาณ 175,000 ไร่ ส่วนในช่วงฤดูแล้ง เพิ่มจาก 17,060 ไร่ เป็น 76,129 ไร่

นอกจากนี้ ยังสามารถสนับสนุนการใช้น้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง ได้อีกประมาณ 14,550 ไร่ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน จากปีละ 13 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 50 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำปิงตอนบน

ซึ่งกรมชลประทานได้นำระบบโทรมาตรและระบบเตือนภัยน้ำท่วมมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำและเตือนภัยจากน้ำหลากที่เกิดขึ้นล่วงหน้า เพื่อบรรเทาอุทกภัยและลดความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ได้อีกด้วย

งานเกษตรสร้างชาติ จัดโดยกรมส่งเสริมการเกษตร ณ สวนลุมพินี กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม-2 กันยายน 2561 งานดังกล่าวจัดขึ้นในวาระ 50 ปีกรมส่งเสริมการเกษตร ในงานมีกิจกรรมอบรมความรู้ทางการเกษตร จำหน่ายผลิตผลและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ

เมื่อเร็วๆ นี้ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการ กยท. ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง พร้อมด้วยหน่วยธุรกิจ (BU) ได้เข้าร่วมเจรจาการค้า จับคู่ธุรกิจกับคู่ค้าจีน ณ โรงแรม Bangkok Marriott Marquis Queen’s Park สุขุมวิท กรุงเทพฯ

การยางแห่งประเทศไทย ได้เข้าร่วมกิจกรรมเจรจาการค้า ภายใต้โครงการผลักดันการค้าระหว่างประเทศกับพันธมิตรในตลาดจีน จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ภายในงานมีการเจรจาการค้ากับผู้นำเข้าสินค้าในกลุ่มยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง และไม้ยางพารา ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีทางการค้าที่จะเอื้อประโยชน์ในอนาคต ทั้งนี้ จากการเจรจาดังกล่าว มีบริษัทผู้นำเข้าจากประเทศจีนสนใจรับซื้อยางเครฟไม่จำกัดจำนวน และไม้ยางพาราแปรรูปทุกประเภท โดยภายหลังจากการเจรจาครั้งนี้ คู่ค้า จะติดต่อเพื่อนัดหมายเข้าเยี่ยมชมสวนยางและโรงงานผลิตยางต่อไป

เช็คอิน ปราจีนบุรี เมืองอันซีนแห่งภาคตะวันออก กับ “แดเนียล เฟรเซอร์” และ “มิ้น มิณฑิตา” ทริป “วันธรรมดาน่าเที่ยว หรรษาใกล้กรุง” สัมผัสวัฒนธรรมสุดอันซีนแห่งปราจีนบุรี ร่วมวงเซิ้งฉบับชาวไทยพวนหนึ่งปีมีครั้งเดียว โดยฝรั่งหัวใจไทย “แดเนียล เฟรเซอร์” ควงสาวหน้าคม “มิ้น มิณฑิตา” ร่วมทริป “วันธรรมดาน่าเที่ยวหรรษาใกล้กรุง” สัมผัสวิถีชุมชนบ้านดงกระทงยาม ท้าสายฝนกับกิจกรรมแอดเวนเจอร์ล่องแก่งสุดมันส์ ตบท้ายด้วยคาเฟ่สไตล์โมเดิร์น Cafe Kantary 304 Prachinburi

รายการหลงรักยิ้ม ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ชวนเที่ยวใกล้กรุง พาลุยดินแดนภาคตะวันออก จังหวัด นครนายก, ปราจีนบุรี และสระแก้ว ปลุกกระแสการท่องเที่ยวเปลี่ยนวันธรรมดา ให้เป็นวันพิเศษ ภายใต้แคมเปญ “วันธรรมดาน่าเที่ยว หรรษาใกล้กรุง” โดยพิธีกรอารมณ์ดี “แดเนียล เฟรเซอร์” ควงสาวหน้าคม “มิ้น มิณฑิตา” ร่วมหรรษาในเส้นทางปราจีนบุรี

สัมผัสวิถีชุมชนบ้านดงกระทงยาม อำเภอศรีมหาโพธิ์ แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสุดอันซีน ชมการแสดง “เซิ้งฉบับชาวไทยพวน” พิเศษสุดๆ เพราะหนึ่งปีมีหนเดียว จากนั้นไปเรียนรู้กรรมวิธีการทำขนมกระยาสาทร และแกงมะมี๊ อาหารพื้นบ้านจานเด็ดแห่งบ้านดงกระทงยาม สัมผัสบรรยากาศคาเฟ่สไตล์ โมเดิร์น จิบกาแฟแก้วโปรดที่ Cafe Kantary 304 Prachinburi ปิดท้ายด้วยกิจกรรมสุดแอดเวนเจอร์ล่องแก่งท้าสายฝน ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ธรรมชาติใกล้กรุงที่ไม่ควรพลาด

เที่ยววันธรรมดา หรรษาใกล้กรุง สัมผัสวัฒนธรรมเก่าแก่ และจุดเช็คอินสุดชิค จังหวัดปราจีนบุรี ได้ในรายการหลงรักยิ้ม วันเสาร์ ที่ 1 กันยายน 2561 เวลา 16.30 น. ทางช่อง 28 (3SD) ติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ ทาง Facebook: https://www.facebook.com/longrukyim/ และโปรโมชั่นเที่ยววันธรรมดาทาง Website: http://weekdayspecialthailand.com/

ชวนเช็คอิน น่าน…เมืองเก่าที่มีชีวิต ตามเหล่าบล็อกเกอร์ท่องเที่ยวชื่อดัง ช่างภาพมืออาชีพ ไปเดินสายทุกมุมน่าเที่ยว สัมผัสวิถีชุมชนแสนน่ารักษ์ กับแคมเปญ “Season NAN” สีสันน่าน น่านเที่ยวได้ทุกฤดู

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. “สำนักงานพื้นที่พิเศษ 6” ชวนเที่ยวเมืองเก่าน่าน ตามรอยบล็อกเกอร์และช่างภาพชื่อดัง ปังในโซเชียล อย่าง เพจแบกกล้องเที่ยว เพจมานีใจ และเพจกาแฟดำไม่เผ็ด ในช่วงปลายฝน ต้นหนาว อากาศเย็นสบายแบบนี้ มีกิจกรรมให้ชิวมากมาย เริ่มต้นด้วยกิจกรรมทำสวยดอกไม้ ถวายพระ ณ วัดพระธาตุช้างค้ำ งานใบตองสู่หัตถศิลป์ของถิ่นล้านนา ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวน่าน แวะทำโคมมะเต้า หรือ โคมเมืองน่าน ถวายที่วัดพระธาตุแช่แห้ง พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวน่าน อายุกว่า 600 ปี จากนั้นไปโฮงเจ้าฟองคำ สัมผัสมนต์เสน่ห์บ้านพื้นถิ่น อายุกว่า 100 ปี แวะชมตึกรังสีเกษม ตึกเก่าสวยคลาสสิก เรียนรู้เมืองน่านในวันวาน ปิดท้ายด้วยการปั่นจักรยานชมวิวเมืองน่าน สัมผัสวิถีชีวิต ชมพระอาทิตย์ตกดินริมแม่น้ำน่าน และที่พลาดไม่ได้ต้องแวะชมการสาธิตทอผ้าพื้นบ้านอันโด่งดัง “แบรนด์น่านเน้อเจ้า”

ปลายฝน ต้นหนาวนี้ เที่ยวเมืองเก่าน่านที่มีชีวิต ไปกับ “Season NAN” สีสันน่าน น่านเที่ยวได้ทุกฤดูติดตามสอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวเมืองเก่าน่าน ได้ทาง Facebook Fanpage : อพท. สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน https://www.facebook.com/dastananthailand/

ปัจจุบัน สาธารณรัฐประชาชนจีน กำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรเพิ่มมากขึ้น เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ก้าวเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัย’ ขณะที่คนรุ่นใหม่วัยหนุ่มสาวก็ไม่สนใจอาชีพทำการกษตรเพราะงานหนัก เหนื่อย และมีรายได้น้อย รัฐบาลจีนจึงหันมาส่งเสริมให้เกิดการรวมพื้นที่ทำกินของเกษตรกรรายย่อยเข้ามา และให้คณะกรรมการหมู่บ้านเป็นตัวแทนเจรจากับภาคเอกชนเข้ามาลงทุนทำ “เกษตรแปลงใหญ่”

สำหรับนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ของจีน จะเน้นใช้เทคโนโลยีเกษตรที่มีความแม่นยำสูงมาใช้เสริมแรงงานภาคเกษตรในระยะยาว เช่น เทคโนโลยีการให้น้ำ ปุ๋ย และการวิเคราะห์สภาพดินในแปลงเพาะปลูกพืชประเภทนาข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด พืชผัก เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของพืช รวมทั้งสร้างโรงเรือนเพาะปลูก โดยภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุน เนื้อที่กว่า 5 แสนไร่ และมีตลาดรองรับผลผลิตภายในประเทศจีน และส่งออกผลผลิตบางส่วนไปจำหน่ายในต่างประเทศ เช่น รัสเซีย และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ปัจจุบัน เมืองซานตง นับเป็นเมืองอุตสาหกรรมการเกษตร ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลและเอกชนของจีน เกษตรแปลงใหญ่ของที่นี่ เน้นปลูกผักในโรงเรือนและใช้เทคโนโลยีแทนแรงงานคน ซึ่งล้ำหน้ากว่าการเกษตรของไทย มีการใช้ดาวเทียมวิเคราะห์ดินและสภาพพื้นที่ และเชื่อมโยงกับฐานข้อมูล Big Data และมีแอปพลิเคชั่นเพื่อการบริหารจัดการพื้นที่การเกษตรบนคอมพิวเตอร์ พร้อมทั้งบูรณาการข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับพื้นที่การเกษตรจากทุกหน่วยงาน

ซึ่งข้อมูลภายในแอปพลิเคชั่นดังกล่าว ประกอบด้วย 1.ข้อมูลพื้นที่ด้านการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรเข้าไปดูข้อมูลสภาพพื้นที่ของเกษตรกร เพื่อให้ปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพดินในพื้นที่ตัวเอง ซึ่งก่อนจะปลูกพืชแต่ละชนิด เกษตรกรจะต้องลงทะเบียน โดยในหมู่บ้านจะมีอินเตอร์เน็ตตำบลสำหรับให้เกษตรกรเข้าไปคีย์ข้อมูลในระบบว่าจะเพาะปลูกอะไร ต้นทุน ผลตอบแทนต่อไร่เท่าไร และมีแหล่งรับซื้อจากที่ไหน ซึ่งระบบจากประมวลผลและแสดงผลการวิเคราะห์ข้อมูลการเกษตรในรูปแบบสถิติ กราฟ ตัวเลข

2. ข้อมูลทรัพยากรพื้นฐานการผลิตด้านดิน น้ำ และพืช 3. ข้อมูลด้านการตลาดและการซื้อขาย จะมีบริษัทเข้ามาดูข้อมูลที่เกษตรกรปลูกพืชและจะมีการจับคู่ทำการซื้อขายระหว่างกันทันที 4. ข้อมูลด้านการประเมินเพื่อขอสินเชื่อจากธนาคาร กรณีการให้สินเชื่อ ถ้าไม่เกิน 1 แสนหยวน จะมีระบบตรวจสอบใบหน้าบุคคลโดยไม่ต้องทำสัญญา แต่จะใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบใบหน้าในการประเมินการให้สินเชื่อ

ระหว่างการเดินทางไปอำเภอเบตง คุณขนิษฐา มะลิสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน. จังหวัดยะลา พา พลเอกวิษณุ ไตรภูมิ ที่ปรึกษาสำนักงาน กศน. และ พันเอกหญิงสุนทรี ไตรภูมิ ผู้แทน กอ.รมน. ไปเยี่ยมชมศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน ของ กศน. อำเภอบันนังสตา ที่ส่งเสริมอาชีพการแปรรูปกล้วยหิน ให้ชาวบ้านในชุมชน ได้มีงานมีอาชีพและเกิดรายได้อย่างยั่งยืน

“กล้วยหินบันนังสตา” หรือ “กล้วยซาบา (Saba Banana)” มักขึ้นอยู่ตลอดฝั่งลำน้ำปัตตานี ในเขตตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา กล้วยหิน มีลักษณะผลป้อมสั้น เป็นเหลี่ยม เปลือกหนา เนื้อผลสีขาวครีมละเอียด กล้วยหินมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่ไม่เหมือนใคร เพราะถือกำเนิดจากสายพันธุ์กล้วยป่า ที่มีเนื้อแข็ง เมื่อผลสุกจะมีรสชาติออกเปรี้ยวเล็กน้อย

สาเหตุที่ถูกเรียกว่า กล้วยหิน เนื่องจากพื้นที่ของอำเภอบันนังสตา ร้อยละ 90 เป็นภูเขา กล้วยป่าพันธุ์นี้สามารถเจริญเติบโตได้ดีในบริเวณเหมืองแร่ดีบุกร้าง ซึ่งมีสภาพดินเป็นกรวดหินและดินลูกรัง จึงนิยมเรียกกล้วยสายพันธุ์นี้ว่า “กล้วยหิน”

แต่ชาวบ้านบางรายเล่าว่า คนหาแร่ พบกล้วยชนิดหนึ่งขึ้นปะปนกับกล้วยป่า เห็นนกกินได้ จึงเก็บมากิน รสชาติออกเปรี้ยว จึงนำมาต้มกิน ปรากฏว่า อร่อยกว่ากล้วยชนิดอื่น ถึงแม้เนื้อจะออกแข็งๆ สักหน่อย ชาวบ้านจึงเรียกขานกล้วยชนิดนี้ว่า “กล้วยหิน”

ในอดีตชาวบ้านในอำเภอบันนังสตา นิยมนำกล้วยหินมาบริโภคเป็นอาหารมื้อเช้า โดยนำมาต้มแล้วตำให้ละเอียด คลุกกับมะพร้าวอ่อนขูดผสมกับน้ำตาลทรายและเกลือ ปั้นเป็นก้อนกินกับกาแฟ เพราะกล้วยหินมีสารอาหารปริมาณมากที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์นั่นเอง

ขณะเดียวกัน ชาวบ้านจำนวนมากนิยมใช้กล้วยหิน เป็นอาหารขุนนกกรงหัวจุก เพราะนกที่เลี้ยงด้วยกล้วยหินมักจะมีอาการร่าเริง แจ่มใส ส่งเสียงขันไพเราะได้ตลอดทั้งวัน และมีขนดกสวยเป็นเงาแวววาวสะดุดตาอีกด้วย ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นของพันธุ์พืชชนิดนี้ ทำให้กล้วยหินบันนังสตาได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อยแล้ว

กล้วยหิน เป็นพืชปลูกง่าย โตเร็ว ทนต่อสภาพแห้งแล้ง ในพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ ประมาณ 100 ต้น ประมาณ 8 เดือน เริ่มออกหัวปลี เครือหนึ่งมี 6-10 หวี ใช้เวลา 4 เดือน ผลจะเริ่มทยอยสุก ผลกล้วยหินมีขนาดใหญ่ ดูคล้ายก้อนหิน เป็นรูปห้าเหลี่ยมมีเปลือกแข็ง เนื้อแน่นและเหนียว นิยมต้มก่อนบริโภค ผลการวิจัยสารอาหารในกล้วยหิน พบมีสารเบต้าแคโรทีนในปริมาณสูง ปัจจุบัน กล้วยหินบังนังสตา จึงกลายเป็นสินค้าแปรรูปที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผลิตภัณฑ์โอท็อปเด่นของจังหวัดยะลา ที่สร้างอาชีพและรายได้ให้กับชาวบ้านในท้องถิ่นอย่างเป็นกอบเป็นกำตลอดทั้งปี