นอกจากนี้ ยังมีลานโล่งให้ไก่ไข่ได้มีอิสระวิ่งเล่น ในช่วงตอน

สำหรับอาหารที่ใช้เลี้ยงไก่ไข่คือ อาหารไก่ไข่ 60 เปอร์เซ็นต์ ใช้หยวกกล้วย เศษผัก ผลไม้ หญ้าเนเปียร์ ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ รำ ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ น้ำหมักชีวภาพ ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ ให้อาหารไก่วันละ 1 ครั้ง ไก่แต่ละตัวต้องการอาหารในปริมาณ 135-150 กรัม ต่อตัว ต่อวัน เลี้ยงไก่ไข่แบบไม่กักขัง มีพื้นที่อิสระ คิดเป็นพื้นที่เลี้ยงไก่ไข่ 1 ตัว ต่อ 2.5 ตารางเมตร

ปัจจุบัน คุณประเสริฐมีรายได้อย่างสม่ำเสมอ แบ่งเป็นรายได้รายวัน จากการขายไข่ไก่ ขายข้าว ผักคะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ส่วนรายได้รายสัปดาห์มาจาก กล้วยขายใบ ไผ่หวาน พืชผักบางชนิด เช่น ผักกูด ผักเหลียง ผักหวาน ส่วนรายได้รายเดือน ได้แก่ การขายกล้วย มะพร้าว ยางพารา ปลานิล ปลาดุก หอยขม น้ำผึ้ง ส่วนรายได้รายปีมาจากการขายไม้ผล เช่น ทุเรียน มังคุด และเงาะ

เนื่องจากคุณประเสริฐทำเกษตรแบบไร่นาสวนผสมที่เน้นผลิตสินค้าเกษตรปลอดสารพิษ ทำให้สวนแห่งนี้ผ่านการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP พืช) พ.ศ. 2559 จำนวน 7 ชนิด ได้แก่ เงาะ ทุเรียน มังคุด ผักบุ้ง กวางตุ้ง มะเขือ คะน้า

คุณประเสริฐ เล่าว่า เขาวางแผนตลาดโดยเน้นการผลิตและจำหน่ายด้วยตัวเองโ ดยเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่รักสุขภาพ สินค้าของเขามีช่องทางการจัดจำหน่ายหลากหลาย เช่น ตลาดเกษตรกร โรงพยาบาลบางสะพาน ทุกวันจันทร์และศุกร์ ตลาดเกษตรกร โรงพยาบาลทับสะแก ทุกวันพุธ นอกจากนี้ ยังนำสินค้าไปวางขายที่ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์โอท็อปเขาโพธิ์ ของบริษัทประชารัฐรักสามัคคีอีกด้วย รวมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมออกบู๊ธจำหน่ายสินค้าของหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานเกษตร กรมพัฒนาชุมชน และ ธ.ก.ส. เป็นต้น

ขณะเดียวกัน เขายังมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าหน้าฟาร์ม โดยแบ่งพื้นที่ของตัวเองในการจัดทำตลาดสีเขียว เพื่อเป็นจุดจำหน่ายสินค้าพืชผักและสินค้าเกษตรปลอดภัยของตัวเอง รวมทั้งเกษตรกรเครือข่ายตามฤดูกาล ใน ปี 2561 ที่ผ่านมา ฟาร์มแห่งนี้มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 472,450 บาท สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ 1,326,500 บาท หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเหลือผลกำไร 854,050 บาท เรียกว่าเขาเดินมาถูกทางจริงๆ

คุณประเสริฐ ยินดีต้อนรับเกษตรกรและนักท่องเที่ยวที่สนใจศึกษาดูงานของเขาได้ตลอดเวลา ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง คุณประเสริฐ ยุวกาฬกุล หมู่ที่ 4 ตำบลร่อนทอง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โทรศัพท์ 0843188844

อกม. เป็นคำย่อ มาจาก “อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน” ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกระเบียบว่าด้วยการบริหารงานอาสาสมัครเกษตร พ.ศ. 2551 เพื่อให้อาสาสมัครเกษตรที่มีอยู่หลากหลายสาขาได้ผนึกกำลังเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาของเกษตรกร แต่ยังขาดผู้ประสานงานระหว่างอาสาสมัครเกษตรกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง จึงกำหนดให้มีผู้แทนอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้านละ 1 คน เรียกว่า อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ทำหน้าที่ประสาน เชื่อมโยงการปฏิบัติงานของอาสาสมัครเกษตรสาขาต่างๆ เกษตรกรในหมู่บ้าน และการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการบูรณาการงานพัฒนาการเกษตรตามภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในหมู่บ้าน อย่างมีประสิทธิภาพ

ความมั่นคงด้านอาหารเป็นวิธีการหนึ่งในการส่งเสริมการเกษตรตั้งแต่ผู้ผลิตจนถึงผู้บริโภค ซึ่งความมั่นคงด้านอาหาร หมายถึง สภาพการณ์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างพอเพียงทั้งปริมาณและคุณภาพ มีความปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสม ตามความต้องการเพื่อการสุขภาวะที่ดี รวมทั้งมีการผลิตที่เกื้อหนุน มีการสำรองอาหารทั้งในภาวะปกติหรือภาวะเกิดภัยพิบัติ เช่น สาธารณภัยหรือการก่อการร้ายอันเกี่ยวเนื่องจากอาหาร โดยมีองค์ประกอบสำคัญ 4 มิติ ได้แก่ 1. การมีอาหารเพียงพอ 2. การเข้าถึงอาหาร 3. การใช้ประโยชน์จากอาหาร 4. เสถียรภาพด้านอาหาร

คุณกนกวรรณ สารวัตร อกม. คนเก่ง วัย 48 ปี แห่งบ้านทุ่งนานายดำ หมู่ที่ 8 ตำบลหนองตรุด อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง เป็น 1 ใน อกม. ที่เป็นแบบอย่างในการสร้างความมั่นคงด้านอาหารในครัวเรือน และการดำเนินชีวิตโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 คุณกนกวรรณเป็นคนขยันและรักในอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน พื้นที่รวมกว่า 30 ไร่ มีการปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันหลายช่วงอายุเพื่อให้สามารถทำการเกษตรได้หลากหลายและมีรายได้สม่ำเสมอ

ในพื้นที่สวนยางพาราและปาล์มน้ำมันที่มีอายุน้อยกว่า 3 ปี จะปลูกพืชแซมยางพาราและปาล์มน้ำมัน ซึ่งพืชแซมที่ให้ความสำคัญมาเป็นลำดับแรก คือ การปลูกข้าวไร่ เพราะข้าวถือเป็นอาหารหลักของครัวเรือน การปลูกข้าวไว้บริโภคเองทำให้มั่นใจได้ว่าจะได้ทานข้าวที่มีคุณภาพและปลอดภัย พันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูก ได้แก่ ข้าวไร่พันธุ์ดอกข่า และข้าวเหนียวช่อไม้ไผ่ โดยจะเริ่มปลูกในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม ของทุกปี นอกจากนี้ ยังปลูกพืชแซมอีกหลายชนิด เช่น สับปะรด ข้าวโพดหวาน กล้วย พริก มะเขือ

ในพื้นที่อีกประมาณ 2 งาน รอบๆ บริเวณบ้าน มีการทำกิจกรรมการเกษตรที่หลากหลาย เน้นการปลูกพืชทุกอย่างที่ชอบทาน ทานทุกอย่างที่ปลูก หากมีเหลือก็แบ่งปันและจำหน่ายในชุมชน ทั้งไม้ผล พืชผัก และสมุนไพร ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ส้มโอ ขนุน จำปาดะ มะนาว สะตอ มะพร้าว มะละกอ เสาวรส กระท้อน มะม่วง ลำไย ไผ่ ถั่วฝักยาว มะระ ฟักทอง ผักกาด ผักบุ้ง ผักชี ผักเหมียง กุยช่าย พริก มะเขือ มะกรูด ตะไคร้ ขิง ข่า ขมิ้น มันแกว ชะอม กะเพรา โหระพา ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว กระชายดำ พริกไทย ฯลฯ ซึ่งปลูกหมุนเวียนต่อเนื่องตลอดทั้งปี

ด้วยความที่เป็นคนมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีจิตอาสาในงานส่วนรวม ชอบทำบุญแบ่งปันสุข และมักบริจาค อาหาร ข้าวของเครื่องใช้ ให้แก่โรงพยาบาล วัด และโรงเรียน มีการแลกเปลี่ยนแบ่งปันผลผลิตกับเพื่อนบ้านและชุมชนเป็นประจำ ทำให้มีผลผลิตที่หลากหลายให้สามารถบริโภคได้อย่างเพียงพอสม่ำเสมอ

คุณกนกวรรณเป็นคนใฝ่รู้ เมื่อมีกิจกรรมการฝึกอบรมต่างๆ ที่หลายหน่วยจัดขึ้น ก็ไม่พลาดที่จะต้องเข้าร่วมอยู่เป็นประจำเพื่อพัฒนาตนเอง จึงทำให้มีความรู้และเครือข่ายมากขึ้น เมื่อเรียนรู้มาแล้วก็จะนำกลับมาปฏิบัติ เช่น การทำปุ๋ยหมักใช้เองเพื่อลดต้นทุนการผลิต การขยายพันธุ์พืช การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน การเลี้ยงผึ้งโพรงไทย การแปรรูปผลผลิต นอกจากนี้ ยังมีความสามารถในด้านเคหกิจเกษตร สามารถปรุงประกอบอาหารและถนอมอาหาร โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและโภชนาการ มีการจัดบ้านเรือนที่ถูกสุขลักษณะ เป็นแบบอย่างของบ้านเกษตรสมบูรณ์

คุณกนกวรรณเป็นคนทันสมัยสามารถใช้การสื่อสารผ่านโลกออนไลน์ โดยเฉพาะเฟซบุ๊กและไลน์ให้เป็นประโยชน์ โดยมีการอัพเดทกิจกรรมการเกษตรที่ทำอยู่สม่ำเสมอ เมื่อมีผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคและแบ่งปันแล้วก็ยังสามารถจำหน่ายได้หมดภายในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งนี้ เพราะมีผลผลิตที่มีคุณภาพปลอดภัยและราคาเป็นกันเอง แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ต้องใช้ชีวิตวิถีใหม่ หรือแบบ New Normal ก็ตาม เชื่อว่า การสร้างความมั่นคงด้านอาหารในแบบที่คุณกนกวรรณ สารวัตร อกม. คนเก่ง ได้ทำมาโดยตลอด จะทำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และผ่านพ้นวิกฤตช่วงนี้ไปได้ด้วยดีอย่างแน่นอน

สนใจเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ คุณกนกวรรณ สารวัตร โทร. 099-487-9890 Facebook : Nok Kanokwan หรือสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองตรัง โทร. 075-218-681 คุณนพดล ศรีพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 นครสวรรค์ (สศท.12) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า “มะขามเปรี้ยว” เป็นอีกหนึ่งสินค้าเกษตรทางเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นผลไม้เขตร้อนที่เติบโตได้ดีในบริเวณพื้นที่ราบจนถึงบนภูเขาสูง สามารถปลูกได้ในทุกสภาพดิน แต่ดินที่เหมาะสมที่สุดจะเป็นดินร่วนปนทราย เพราะระบายน้ำได้ดี มะขามเปรี้ยวเป็นพืชทนแล้ง ให้ผลผลิตดก ผลผลิตสามารถขายได้ทั้งฝักดิบและสุก รวมทั้งนำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและยืดอายุ อาทิ มะขามแช่อิ่ม มะขามคลุกน้ำตาล มะขามคลุกพริกเกลือ และมะขามกวน

จังหวัดเพชรบูรณ์ นับเป็นแหล่งปลูกมะขามเปรี้ยวที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะดิน และสภาพอากาศเหมาะแก่การเจริญเติบโต ประกอบกับเกษตรกรในพื้นที่มีความชำนาญในการปลูกมะขามมายาวนาน ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ (ณ วันที่ 1 มีนาคม 2565) พบว่า ปี 2564 จังหวัดเพชรบูรณ์ มีเนื้อที่ปลูกมะขามเปรี้ยว จำนวน 5,901 ไร่ เกษตรกรผู้ปลูก จำนวน 887 ราย พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอหล่มเก่า อำเภอเมือง อำเภอหนองไผ่ และอำเภอวังโป่ง เกษตรกรนิยมปลูกมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์พันธุ์กระดาน เนื่องจากให้ผลผลิตมาก ผลค่อนข้างใหญ่ อัตราการให้เนื้อมะขามสูง

จากการลงพื้นที่ของ สศท.12 เพื่อติดตามสถานการณ์ผลิตมะขามเปรี้ยวในอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ พบว่า ปัจจุบันเกษตรกรมีการรวมกลุ่มผลิต ซึ่ง 1 ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ประสบความสำเร็จคือ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรขี้นาคแผนใหม่” ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพการผลิตในพื้นที่ และได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในการประกวดวิสาหกิจชุมชนดีเด่นระดับประเทศ ปี 2563 โดยมี คุณไพรัตร โสภาบุญ เป็นประธานกลุ่ม เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2548 ปัจจุบันมีสมาชิก 65 ราย เนื้อที่ปลูก 1,012 ไร่

สำหรับการผลิตมะขามเปรี้ยวของกลุ่มมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 12,769 บาทต่อไร่ต่อปี (เริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 3 และเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 30 ปี) เกษตรกรนิยมปลูกช่วงต้นฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน) เนื่องจากต้นมะขามที่ยังเล็กจะได้รับน้ำฝน สามารถตั้งตัวได้ดีก่อนจะเข้าถึงฤดูแล้ง และเก็บเกี่ยวช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ของทุกปี ให้ผลผลิตรวม 3,013 ตันต่อปี ผลผลิตเฉลี่ย 2,977 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี ผลตอบแทนเฉลี่ย 44,655 บาทต่อไร่ต่อปี คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 31,886 บาทต่อไร่ต่อปี ทั้งนี้ หากคิดเป็นผลตอบแทนของทั้งกลุ่มจะได้กำไร 32.2 ล้านบาทต่อปี

ด้านการจำหน่ายผลผลิตมะขามเปรี้ยวของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรขี้นาคแผนใหม่ ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 70 จำหน่ายในรูปแบบมะขามเปรี้ยวฝักดิบ ในราคาเฉลี่ย 15 บาทต่อกิโลกรัม (ราคา ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565) โดยส่งจำหน่ายร้านค้าของสมาชิกกลุ่มเพื่อแปรรูปเป็นมะขามแช่อิ่ม รองลงมาร้อยละ 20 จำหน่ายในรูปแบบมะขามฝักสุก (ขายทั้งฝักเหมือนมะขามหวานไม่แกะเม็ด) ในราคาเฉลี่ย 23 บาทต่อกิโลกรัม (ราคา ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565) โดยมีพ่อค้าเป็นผู้รวบรวมเพื่อส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา และที่เหลืออีกร้อยละ 10 แปรรูปเป็นมะขามเปียก มะขามจี๊ดจ๊าด มะขามคลุกน้ำตาล มะขามคลุกบ๊วย และมะขามหยีปรุงรสต่างๆ จำหน่ายทั้งปลีกและส่งที่ร้านค้ากลุ่มและร้านขายของฝากในจังหวัด นอกจากนี้ มีจำหน่ายออนไลน์ Facebook ภายใต้แบรนด์ “ภูขาม มะขามหล่มเก่า” และ “มะขามแช่อิ่มสด ปูรณ์กับปัน”

“กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรขี้นาคแผนใหม่” ได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัด อย่างไรก็ตาม เกษตรกรผู้ปลูกมะขามเปรี้ยวในจังหวัดเพชรบูรณ์ ยังมีความต้องการให้หน่วยงานภาครัฐ ส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยี ในการผลิต เทคโนโลยีการเก็บเกี่ยว การแปรรูป การจัดเก็บรักษา และความรู้ด้านตลาด

ทั้งนี้ เกษตรกรควรเฝ้าระวังหนอนในช่วงที่ผลผลิตออกดอกในเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งเป็นศัตรูสำคัญในการปลูกมะขามเปรี้ยว อาจทำลายให้ผลผลิตเสียหายได้ หากเกษตรกรหรือท่านที่สนใจข้อมูลการผลิตและการตลาดมะขามเปรี้ยว สามารถขอคำปรึกษาได้ที่ คุณไพรัตร โสภาบุญ ประธานวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรขี้นาคแผนใหม่ ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ หรือโทร. 089-960-2052 ยินดีให้คำปรึกษา

ปัจจุบันประชากรของโลกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อาหารที่ใช้บริโภคก็ต้องเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นเงาตามตัว องค์การอาหารและยาของสหประชาชาติมีความกังวลเรื่องว่าอาหารที่ใช้บริโภคอาจขาดแคลนในอนาคต การผลิตโปรตีนจากสัตว์เป็นกระบวนการที่ต้องใช้ทรัพยากรมาก อาจมีต้นทุนสูงขึ้นจนทำให้อาหารโปรตีนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงประชาชนโดยทั่วถึงกัน แมลงจึงเป็นตัวเลือก

ในโลกนี้มีแมลงเกือบ 1,000 สายพันธุ์ที่มนุษย์ใช้บริโภคกัน ในประเทศสหรัฐอเมริกาการบริโภคแมลงเพิ่งเริ่มต้นในปี 2554 และในปี 2558 ก็ได้ทำเป็นธุรกิจ ได้มีการตอบรับอย่างกว้างขวาง ในต่างประเทศแมลงที่นำมาทำเป็นอาหารนี้จะต้องเป็นฟาร์มที่มีมาตรฐานความปลอดภัย GAP เท่านั้นจึงจะนำมารับประทานได้ แมลงที่อยู่ในธรรมชาติไม่สามารถนำมาผลิตเป็นอาหารได้

ประเทศไทยมีการบริโภคแมลงกันมาช้านานแล้ว ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรพบว่า ประเทศไทยมีแมลงที่มีคุณค่าอาหารร้อยกว่าชนิดที่นิยมบริโภค แมงอินูน แมงกุดจี่ แมงดานา ตัวอ่อนผึ้ง มดแดง ตัวอ่อนของต่อหัวเสือ จิ้งโกร่ง จิ้งหรีด ตั๊กแตน แมลงกระชอน แมลงตับเต่าหรือด้วงติ่ง แมลงเม่า หนอน หนอนไหม ด้วงมะพร้าวหรือด้วงสาคู โดยที่อำเภออรัญประเทศ เป็นแหล่งนำเข้าแมลงจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อนำมาบริโภคภายในประเทศมูลค่าหลายล้านต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแมลงจากธรรมชาติ

จิ้งโกร่งเป็นแมลงชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านนิยมบริโภคเนื่องจากมีตัวขนาดใหญ่กว่าจิ้งหรีดและรสชาติอร่อยกว่า คุณธเนศ วงษ์สมบูรณ์ หรือ แจ็ค อาศัยอยู่ที่หมู่ที่ 10 ตำบลห้วยขุนราม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี กล่าวความเป็นมาในเรื่องนี้ว่า “ผมมีอาชีพเกษตร ในพื้นที่ 20 ไร่ ได้ปลูกข้าวโพด 10 ไร่ ปลูกมันสำปะหลัง 10 ไร่ มาตลอดระยะเวลาหลายปี แต่ยิ่งทำยิ่งมีหนี้ ต้องกู้ยืมจาก ธ.ก.ส. มาตลอดทำให้เป็นหนี้สะสม จึงมองหาอาชีพเสริมเพื่อเป็นแหล่งรายได้เพิ่มเติมในครอบครัว ได้ซื้อแพะมาเลี้ยงเพราะราคาค่อนข้างดี แต่ระยะเวลาจะต้องรอยาวนานกว่าจะได้ผลผลิต

ต่อมาได้ไปศึกษาดูงานที่ฟาร์มจิ้งโกร่ง ของ ป้าบัวผิน ที่หมู่บ้านวังอ่าง ตำบลหัวลำ อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี ซึ่งเลี้ยงจิ้งหรีดส่งบริษัทที่รับซื้อ จริงแล้ว ธ.ก.ส. มีโควต้าจะให้เงินกู้เพื่อเลี้ยงจิ้งหรีด แต่ผมยื่นเอกสารไม่ทัน จึงต้องใช้ทุนของตัวเอง ครั้งแรกทดลองเลี้ยงซื้อมา 4 ขัน เป็นเงิน 1,000 บาท และลงทุนทำกล่องอีกกล่องละ 1,000 บาท จำนวน 2 กล่อง เนื่องจากเป็นการเลี้ยงครั้งแรกและใช้จำนวนไข่มีน้อยจึงได้ผลผลิตทั้งสองกล่องเพียง 37 กิโลกรัม แต่ก็เป็นแรงบันดาลใจให้เลี้ยงต่อไป” ตัวอ้วนคือตัวเมีย ตัวผอมคือตัวผู้

เมื่อได้ไข่จิ้งโกร่งในขันที่มีอายุประมาณ 8 วัน หรือเริ่มเห็นตัวอ่อนก็จะนำมาใส่กล่อง โดยเราจะใส่แผงไข่จำนวน 150 ใบ ซึ่งปกติจะใช้แค่เพียง 100 ใบ ต่อครึ่งกล่อง แต่คุณแจ็คเห็นว่าถ้าใส่มากจะทำให้ตัวอ่อนที่เพิ่งลอกคราบมีซอกมีมุมที่จะหลบซ่อนจากตัวที่แข็งแรงกว่าที่จะมากินได้มากกว่า จึงใส่ให้แน่นกว่าปกติ แผงไข่จะถูกวางตะแคงและวางไว้เพียงด้านเดียว แล้วจะตัดไม้ไผ่ให้ยาวเท่ากับความยาวของกล่องวางไว้บนพื้นกล่อง 4 อัน เพื่อให้เมื่อเวลาวางแผงไข่จะไม่จมลงไป ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีกข้างจะเอาหนังสือพิมพ์ฉีดน้ำให้เปียกพอประมาณด้วยหัวฉีดพ่นฝอย ปูให้เต็มพื้นที่ แล้วนำไข่ที่อยู่ในขันโรยลงบางๆ เกลี่ยให้เสมอกัน โดย 1 กล่อง ใช้ไข่จำนวน 4 ขัน แล้วเอาพลาสติกขาวใสคลุมอีกชั้นเฉพาะที่โรยไข่

หลังจากนั้น จะเอากระดาษหนังสือพิมพ์ปิดอีกทีพร้อมฉีดน้ำพ่นฝอยให้เปียกพอประมาณ นำต้นกล้วยที่หั่นไว้เป็นชิ้นยาวประมาณ 5 เซนติเมตร มาวางโดยรอบไข่ที่โรยไว้ และโรยอาหารบางๆ ไว้ให้ตัวอ่อน ส่วนใบมันสำปะหลังจะวางไว้ข้างหยวกกล้วยอีกที ส่วนน้ำจะฉีดไม่ให้โดนอาหารจะเน้นฉีดที่ใบมันแทน ตอนที่จิ้งโกร่งตัวเล็กจะฉีดวันละ 4 ครั้ง คือ เช้า สาย บ่าย เย็น และเพิ่มการฉีดน้ำขึ้นเรื่อยๆ ตามขนาดตัว จนกระทั่งมากสุด 10 ครั้ง ต่อวัน และในช่วงกลางคืนอีก 2 ครั้ง คือตอนหัวค่ำและ 4 ทุ่ม การฉีดจะเน้นการฉีดบ่อยแต่ครั้งละไม่มากเกินไป

ในช่วงตัวเล็กอาหารที่ให้จะใช้เวลาหลายวันจึงจะหมด hannaheloge.com ในช่วงประมาณ 1 เดือนไปแล้วจิ้งโกร่งจะเริ่มกินเยอะขึ้น อาหารที่ให้จะเพิ่มปริมาณขึ้นโดยจะให้ 2 ครั้ง ในตอนเช้าซึ่งจะหมดในตอนเย็น และช่วงเย็นให้อีกรอบซึ่งจะถูกกินหมดในคืนนั้น หรือสังเกตว่าจะให้อาหารก็ต่อเมื่ออาหารหมด ถ้าเราใส่อาหารทบลงไปเรื่อยๆ จะทำให้อาหารเป็นเชื้อรา เมื่ออายุครบ 1 เดือนจะนำแผงไข่มาวางเพิ่มขึ้นอีก 150 แผงเพื่อให้เต็มกล่อง จิ้งโกร่งจะมีที่อาศัยเพิ่มและในช่วงเป็นตัวอ่อนจะมีที่ซ่อนให้พ้นจากอันตรายจากการกัดกินกันเองได้มากขึ้น ในช่วงนี้จะถือโอกาสทำความสะอาดกล่องโดยเก็บเศษอาหารหรือขี้จิ้งโกร่งออกจากกล่องให้หมด ในชีวิตของจิ้งโกร่งจะจับจะลอกคราบถึง 8 ครั้ง การลอกคราบครั้งสุดท้ายจิ้งโกร่งจะตัวขาวกว่าปกติในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ถูกกินได้ง่ายเมื่ออายุครบ 60 วันจิ้งโกร่งจะโตเต็มที่ เราสามารถจับขายได้ในช่วงเวลานี้ แต่ก่อนจับประมาณ 2 วัน ใบมันสำปะหลังจะถูกเก็บขึ้นหมด โดยจะเปลี่ยนเป็นกล้วย ฟักทอง มะม่วงสุก หั่นเป็นชิ้นบางๆ ให้จิ้งโกร่งแทน เพื่อให้จิ้งโกร่งมีกลิ่นและรสชาติที่ดี

จิ้งโกร่งจะโตเต็มวัยช่วง 55-60 วัน เมื่อสังเกตเห็นว่าจิ้งโกร่งส่วนใหญ่จะโตเต็มวัยแล้ว ก็จะนำถังพลาสติกมาวางไว้ในกล่อง จับแผงไข่ขึ้นมาทีละแผง พลิกเบาๆ ให้ขี้จิ้งโกร่งที่ติดค้างข้างแผงออกไป แต่จิ้งโกร่งส่วนใหญ่จะเกาะแผงอยู่ แล้วจึงนำมาเคาะใส่ถังพลาสติกจนจิ้งโกร่งออกจากแผงหมดก็เก็บแผงมาไว้ด้านนอก ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจำนวนจิ้งโกร่งจะได้ครึ่งถัง แล้วนำไปสู่ขั้นตอนต่อไป ส่วนจิ้งโกร่งในถังก็จะถูกเก็บไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดเมื่อจำนวนจิ้งโกร่งได้ครึ่งถังก็นำไปเทในกะละมังขนาดใหญ่ซึ่งเตรียมไว้ 4 กะละมัง แช่ไว้ประมาณนาทีเดียวก็ตักมาใส่กะละมังที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 สุดท้าย สิ่งสกปรกที่ติดอยู่ก็จะหมดไป แล้วใส่ตะแกรงพักไว้ให้สะเด็ดน้ำ ต้มน้ำเปล่าในกระทะให้เดือดแล้วใส่ตัวจิ้งโกร่งที่ล้างสะอาดดีแล้วลงในกระทะ ใช้เวลาประมาณ 1 นาทีก็เอากระชอนตักมาวางบนโต๊ะที่ทำเป็นตะแกรง เพื่อทำการคัดแยก จิ้งโกร่งบางตัวที่ยังลอกคราบไม่เต็มวัยเนื่องจากเมื่อบรรจุถุง ตัวที่ยังโตไม่เต็มวัย ซึ่งมีเนื้ออ่อนจะยุ่ยทำให้ตัวอื่นเสียไปด้วยจึงต้องคัดทิ้งและตัวที่มีขนาดเล็กก็ต้องคัดทิ้งเช่นกัน หลังจากนั้น จะนำมาชั่งเป็นถุง น้ำหนักถุงละ 1 กิโลกรัม ส่วนที่แม่ค้ามารับจะบรรจุถุงละ 10 กิโลกรัม แล้วนำไปแช่น้ำแข็งไว้เพื่อให้สดอยู่ตลอดเวลา ราคาขายปลีกหน้าฟาร์มอยู่ที่ 150 บาท ต่อกิโลกรัม ราคาขายส่ง 130 บาท ต่อกิโลกรัม ผลผลิตของฟาร์มจะได้เฉลี่ยกล่องละ 25 กิโลกรัม

การสร้างกล่องแบบประหยัด

กล่องที่สร้างนี้จะใช้เหล็กกล่องขนาด 6 หุน ราคาประมาณ 108 บาท ใช้จำนวน 4 เส้น แผ่นสมาร์ทบอร์ดจะใช้ 2 แผ่นครึ่งพอดีสำหรับ 1 กล่อง ซึ่งกล่องจะมีความยาวเท่ากับ 240 เซนติเมตร กว้าง 120 เซนติเมตร สูง 60 เซนติเมตร ราคาแผ่นละ 122 บาท กาวซิลิโคน หลอดละ 80 บาท ส่วนขารองทั้งสี่ใช้ขวดน้ำอัดลมตัดแล้วใส่น้ำมันเครื่องไม่ให้มดไต่เข้ามาทำอันตรายตัวอ่อนได้ ส่วนด้านบนใช้ผ้ามุ้งเขียวไนล่อนสีฟ้ากว้างประมาณ 150 เซนติเมตร ครอบกล่องอีกที ใช้ท่อพีวีซีผ่าครอบไว้ไม่ให้ผ้ามุ้งปลิว ส่วนด้านในกล่องห่างจากขอบบนประมาณ 1 คืน ให้ติดเทปสีที่มีคุณสมบัติลื่นๆ เพื่อไม่ให้ตัวจิ้งโกร่งปีนออกมา ราคาของกล่องจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาท ต่อกล่อง