นอกจากนี้ สภาวะอากาศเอื้ออำนวยประกอบกับเกษตรกรไทย

มีการขยายพื้นที่ปลูกอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คาดว่าในปี 2561 จะมีผลผลิตปาล์มน้ำมัน 15.39 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 14.10 ล้านตัน ในปี 2560 ร้อยละ 9.15 คิดเป็นปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ 2.74 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการใช้ยังคงทรงตัว อยู่ที่ 2.36 ล้านตัน ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2561 คาดว่าจะมีสต็อกน้ำมันปาล์มดิบคงเหลือ 0.40 ล้านตัน (ระดับที่เหมาะสม 0.25 ล้านตัน) ราคาผลปาล์มและราคาน้ำมันปาล์มดิบของไทย ในปี 2561 จะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยราคาผลปาล์มที่เกษตรกรขายได้ และราคาน้ำมันปาล์มดิบเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างกิโลกรัมละ 2.80-3.80 บาท และ 19.00-23.00 บาท ตามลำดับ

คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ในคราวประชุมวันที่ 11 พฤษภาคม 2561 มีมติเห็นชอบมาตรการการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ ดังนี้ 1. เร่งผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ จำนวน 300,000 ตัน เพื่อลดสต็อกน้ำมันปาล์มให้เข้าสู่ระดับปกติ และช่วยรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม โดยใช้งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นวงเงิน 525 ล้านบาท ขณะนี้ อยู่ระหว่างสำนักงบประมาณพิจารณาเสนอขอความเห็นชอบการจัดสรรงบกลางฯ 2. มอบหมายให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดดำเนินการตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่เห็นชอบในหลักการแนวทางการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20

ในรถบรรทุกขนาดใหญ่ (ผลการจำหน่าย น้ำมันดีเซล B20 ข้อมูลวันที่ 2 กรกฎาคม-30 กันยายน 2561 สามารถจำหน่าย B20 ได้ 6.89 ล้านลิตร คิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบ 1,199 ตัน หรือเฉลี่ยวันละ 13.17 ตัน) 3. มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ หารือร่วมกับกรมศุลกากร พิจารณากำหนดแนวทางการบริหารจัดการการถ่ายลำผ่านแดนน้ำมันปาล์มเพื่อสามารถกำกับดูแล ความถูกต้องของสินค้าที่ถ่ายลำและผ่านแดน 4. มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งรัดออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องกำหนดวัตถุดิบและคุณภาพผลิตภัณฑ์ของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มโดยเร็ว ทั้งนี้ อาจพิจารณาจัดทำแผนงานในการปรับข้อกำหนดคุณภาพการสกัดน้ำมันปาล์มของโรงงานฯ ให้มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงขึ้นเป็นลำดับตามระยะเวลาที่กำหนด ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ ปี 2560-2579 โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิต ด้วยการส่งเสริมโครงการปลูกปาล์มน้ำมันโดยใช้ระบบแปลงใหญ่ (ปี 2559 กลุ่มปาล์มน้ำมันแปลงใหญ่สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ ร้อยละ 25 และมีรายได้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 20) และผลจากการที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นจังหวัดนำร่อง โดยการผลักดันของผู้ว่าราชการจังหวัด และสภาเกษตรกรจังหวัดสุราษฎร์ธานี

พัฒนาคุณภาพปาล์มน้ำมัน โดยการตัดปาล์มสุก ประสานความร่วมมือระหว่างเครือข่ายเกษตรกร ลานเท และโรงงานสกัดฯ ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถจำหน่ายผลปาล์มได้ในราคาสูงกว่าราคาทั่วไป สามารถเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมันจาก 17% เป็น 17.81% อีกทั้งยังส่งเสริมให้มีการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และช่วงเวลา (ปี 2561 สามารถดำเนินการได้ 112 แปลง ครอบคลุม 13 จังหวัด) ส่งเสริมการปลูกทดแทนปาล์มน้ำมันด้วยปาล์มพันธุ์ดี ในพื้นที่เหมาะสม (S1,S2) จากข้อมูลการขึ้นทะเบียนของ กสก. พบว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกปาล์มที่มีอายุมากกว่า 20 ปี ประมาณ 4.7 แสนไร่ (ชุมพรร้อยละ 38 กระบี่ ร้อยละ 26 และสุราษฎร์ธานี ร้อยละ 22) และในปี 60 สามารถดำเนินการปลูกทดแทนฯ ในพื้นที่นำร่องได้ 2 พันไร่

นอกจากนี้ ได้กำหนดโครงสร้างราคาปาล์มน้ำมันที่เป็นธรรมและให้ระบบการซื้อขายปาล์มน้ำมันแปรผันตามคุณภาพ โดยให้มีคณะทำงานระดับจังหวัด และอำเภอ กำกับดูแล และแก้ไขปัญหาให้เกิดความเป็นธรรมทุกฝ่าย โดยในปี 2559-2560 กำหนดให้จังหวัด สุราษฎร์ธานี เป็นจังหวัดนำร่อง และในปี 2561-2562 ขยายผลไปยังจังหวัด กระบี่ ชุมพร ตรัง และนครศรีธรรมราช และการปลูกพืช หรือปศุสัตว์ร่วมในสวนปาล์มน้ำมัน เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร

กรมส่งเสริมสหกรณ์ประชุมตัวแทนสหกรณ์ 250 แห่งในพื้นที่ 33 จังหวัดที่เข้าร่วมโครงการสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ภายหลัง 5 หน่วยงานระดมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ชี้แจงมาตรการจูงใจเพื่อสำรวจเกษตรกรสมัครใจเข้าร่วมโครงการ พร้อมเชิญกรมส่งเสริมการเกษตรและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรร่วมชี้แจงแนวทางการดำเนินโครงการและการขอรับสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับเกษตรกร ชี้กลไกสหกรณ์จะช่วยขับเคลื่อนโครงการนี้ให้ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ใช้ตลาดนำการผลิตและสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกร

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการเปิดประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องประชุมคอนเวนชั่นเซนเตอร์ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต ว่าการประชุมครั้งนี้เป็นการขับเคลื่อนโยบายการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายหลังจากที่ 5 หน่วยงาน ทั้งกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน และ ธ.ก.ส.

ได้ส่งเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดลงพื้นที่เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินโครงการและมาตรการจูงใจเพื่อเชิญชวนเกษตรกรทั้งที่อยู่ในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตาม Zoning By Agri-Map จำนวน 33 จังหวัด ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เบื้องต้นมีเกษตรกรให้ความสนใจ พื้นที่รวมประมาณ 850,000 ไร่ และใช้กลไกสหกรณ์เข้ามาบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การรวบรวมผลผลิตและประสานภาคเอกชนกำหนดราคารับซื้อล่วงหน้าและเปิดจุดรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรถึงในพื้นที่

เบื้องต้น มีสหกรณ์การเกษตรเข้าร่วมโครงการ 250 แห่ง ซึ่งโครงการนี้จะใช้กลไกสหกรณ์เข้ามาขับเคลื่อนตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย โดยใช้หลักการตลาดนำการผลิต เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร โดยสหกรณ์การเกษตรจะทำหน้าที่บริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิต ตั้งแต่การประสานหน่วยงานเข้ามาอบรมถ่ายทอดความรู้การปลูกข้าวโพดให้กับเกษตรกร การจัดหาเมล็ดพันธุ์คุณภาพและจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตรมาบริการเกษตรกร การรวบรวมผลผลิตข้าวโพดเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ซึ่งจะเริ่มฤดูกาลเพาะปลูกในเดือนพฤศจิกายนนี้ และคาดว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการในการจูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ โดยสนับสนุนสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. ให้เกษตรกรกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ระยะเวลา 6 เดือน เพื่อเป็นค่าปัจจัยการผลิตและเตรียมแปลง ไร่ละ 2,000 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ และสนับสนุนสินเชื่อให้สหกรณ์และสถาบันเกษตรกรกู้ยืมเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนรวบรวมข้าวโพดจากเกษตรกร ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 พร้อมทั้งสนับสนุนเบี้ยประกันภัย 65 บาท ต่อไร่ เมื่อได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติ น้ำท่วม หรือถูกแมลงศัตรูพืชทำลาย จะได้รับเงินชดเชย ไร่ละ 1,500 บาท

การประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาแก่ตัวแทนสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ มีผู้แทนจากกรมส่งเสริมการเกษตรได้มาร่วมนำเสนอทิศทางการดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา และผู้แทนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มานำเสนอถึงขั้นตอนในการขอรับสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับเกษตรกร ซึ่งเกษตรกรรายย่อยทั่วไปสามารถแจงความประสงค์ขอกู้เงินจาก ธ.ก.ส.

ได้โดยตรง และเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์สามารถแจ้งความประสงค์ขอกู้เงิน ธ.ก.ส. ผ่านทางสหกรณ์ที่ตนเองสังกัดอยู่ นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนสหกรณ์การเกษตรพรหมพิราม จำกัด จังหวัดพิษณุโลก และตัวแทนสหกรณ์การเกษตรเมืองตรอน จำกัด จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องในการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการผลิตและการตลาด หลังจากที่ได้เริ่มโครงการไปก่อนหน้านี้แล้ว คาดว่าการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาจะให้ผลตอบแทนดีกว่าการปลูกข้าว ซึ่งภายหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกแล้วจะไถกลบตอซังปรับปรุงดินเตรียมปลูกข้าวโพดในฤดูต่อไป

“การดำเนินโครงการส่งเสริมปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา เป็นนโยบายสำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งหวังที่จะสร้างสมดุลของปริมาณผลผลิตข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง แล้วหันมาปลูกพืชทดแทนที่มีศักยภาพและสามารถบริหารจัดการด้านการตลาดได้ ซึ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดในประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ยังมีความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์อีกจำนวนมาก

และในวันที่ 19 ตุลาคมนี้ ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เชิญบริษัทเอกชน 13 ราย ซึ่งเป็นตัวแทนสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์มาหารือถึงเรื่องคุณภาพและราคาข้าวโพดที่จะรับซื้อจากเกษตรกร รวมถึงกำหนดจุดรับซื้อในพื้นที่ทั้ง 33 จังหวัด โดยจะมีการแบ่งจุดรับซื้อที่แน่นอนว่าบริษัทใดจะเข้าไปรับซื้อในพื้นที่ใด ซึ่งจะต้องมีความชัดเจนภายในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ และการเปิดจุดรับซื้อต้องเข้าถึงพื้นที่เป้าหมาย

เพื่อให้เกษตรกรมีความสะดวกในการรวบรวมข้าวโพดมาขายได้ในทันทีที่มีการเก็บเกี่ยว และในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ได้เชิญตัวแทนสมาคมผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ มาคุยถึงเงื่อนไขในการขายเมล็ดพันธุ์ให้สหกรณ์เพื่อนำไปกระจายสู่เกษตรกร ทางบริษัทจะต้องส่งนักวิชาการเข้ามาช่วยดูแลและถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกข้าวโพดให้กับเกษตรกร ตั้งแต่แรกเริ่มไปจนถึงการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว

สำหรับการกำหนดราคารับซื้อข้าวโพดสด ต้องไม่น้อยกว่า 5 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งขณะนี้ราคาข้าวโพดสดที่เกษตรกรรวบรวมขายให้เอกชนอยู่ที่กิโลกรัมละ 6.30 บาท ส่วนข้าวโพดแห้งความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 9.70 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคารับซื้อหน้าโรงงาน ทั้งนี้ การกำหนดราคาซื้อขายข้าวโพดจะต้องเป็นไปตามกลไกของตลาด แต่ต้องไม่ต่ำกว่าราคาประกาศของกระทรวงพาณิชย์ และการดำเนินโครงการครั้งนี้ กลไกสหกรณ์จะมีส่วนสำคัญทำให้การขับเคลื่อนโยบายนี้ประสบผลสำเร็จบรรลุตามเป้าหมายในการสร้างรายได้ที่มั่นคงแก่เกษตรกรได้

โดยสหกรณ์การเกษตรจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนตามแนวทางประชารัฐ ในการเจรจากับภาคเอกชนในการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าตามราคาประกาศของกระทรวงพาณิชย์และอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรพันธะสัญญา พ.ศ. 2560 และกำหนดจุดรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจได้ว่าการปลูกข้าวโพดหลังนาจะมีตลาดรองรับที่แน่นอนและขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม โดยมีหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกันเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำและดูแลตลอดระยะเวลาของการดำเนินโครงการ

พลเอก ธงชัย สาระสุข ผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ได้กรุณาอนุมัติให้ รายการ “หนึ่งใจ…ช่วยเหลือเกษตรกร” เข้าถ่ายทำรายการ ตอน ภารกิจนักรบสีน้ำเงิน : ตลาดประชารัฐ โครงการ “สินค้าธงน้ำเงิน” และร้านค้าสมาคมแม่บ้าน กองบัญชาการกองทัพไทย ณ ลานอเนกประสงค์ สำนักสวัสดิการ กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) ภายในบริเวณ ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร

โดย พลเอก ธงชัย สาระสุข กรุณามอบหมาย พันเอก กฤตพันธุ์ รักใคร่ ที่ปรึกษา ศูนย์ “หนึ่งใจ…ช่วยเหลือเกษตรกร” มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ฯ และ รองผู้อำนวยการ สำนักงานสนับสนุน หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เป็นผู้นำชม ตลาดประชารัฐ โครงการ “สินค้าธงน้ำเงิน” และร้านค้าสมาคมแม่บ้าน กองบัญชาการกองทัพไทย

ในวันดังกล่าว พลเอก ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ตรวจเยี่ยมชมการจัดตลาดประชารัฐ โครงการ “สินค้าธงน้ำเงิน” โดยมี พลเอก ธงชัย สาระสุข ผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ให้การต้อนรับ ซึ่งตลาดประชารัฐ โครงการ “สินค้าธงน้ำเงิน” ครั้งนี้ ผู้รับผิดชอบคือ สำนักงานพัฒนาภาค 1 โดย พลตรี สำราญ ไชยริปู ผู้อำนวยการ (ผอ. สนภ.1 นทพ.) และผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ สังกัด สำนักงานพัฒนาภาค 1 จำนวน 6 หน่วยขึ้นตรง

ตลาดประชารัฐ โครงการ “สินค้าธงน้ำเงิน” จัดโดยหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เป็นประจำทุกวันพุธแรกของเดือน ในบริเวณกองบัญชาการกองทัพไทย ตามนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และท่านผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าคุณภาพดี ราคาถูก ให้แก่ข้าราชการและประชาชนในบริเวณใกล้เคียง ผู้ค้าผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาจำหน่าย จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

โดยแบ่งเป็น 5 ภูมิภาคตามสำนักงานภาค 1-5 ที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ เป็นการเปิดโอกาสให้สำนักงานภาคฯ นำสินค้าในท้องถิ่นของแต่ละภูมิภาคที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละพื้นที่ ตามภูมิปัญญาปราชญ์ชาวบ้านในท้องถิ่น รวมถึงสินค้าจากกลุ่มอาชีพ ที่หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ให้การสนับสนุนและส่งเสริมกลุ่มอาชีพต่างๆ มาจำหน่ายในราคาถูก

เป็นมาตรการส่งเสริมกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ได้เป็นที่รู้จักและมีโอกาสด้านการตลาดในวงกว้างมากขึ้น เป็นการเปิดโอกาสให้ราษฎรในทุกพื้นที่ ได้มีโอกาสนำเสนอผลผลิตต่างๆ ของชุมชน การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ตลอดจนการพัฒนางานฝีมือของกลุ่มสินค้าชุมชนอย่างต่อเนื่อง จากการสนับสนุนช่วยเหลือกลุ่มราษฎรของหน่วยขึ้นตรงทั่วทุกภูมิภาค เพื่อเผยแพร่ความเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย สร้างความอยู่ดีมีสุขของประชาชน เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

อีกทั้ง ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้มีนโยบายให้จัดตลาดประชารัฐ โครงการ “สินค้าธงน้ำเงิน” แบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ ได้จัดให้ผู้ขายร้านต่างๆ นำสินค้าบรรจุถุงผ้า เป็นการลดการใช้ถุงพลาสติก สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก และย่อยสลายได้ง่าย

ซึ่งถุงผ้ามีลักษณะสวยงาม น่าใช้ สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก ช่วยลดสภาวะโลกร้อน และเป็นการรณรงค์ ลดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติก เพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในทุกๆ ครั้งที่มีการจัดตลาดดังกล่าวอย่างต่อเนื่องตลอดมา

นอกจากการจัดตลาดประชารัฐ โครงการ “สินค้าธงน้ำเงิน” ทุกวันพุธต้นเดือน สินค้าจากชุมชนภูมิภาคต่างๆ ยังได้นำมาจัดจำหน่ายเป็นประจำ ที่ร้านค้าสมาคมแม่บ้าน กองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งเปิดให้บริการทุกวันราชการ บริเวณชั้น 1 สำนักสวัสดิการ กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.)

สินค้าที่จำหน่ายในร้านค้าสมาคมแม่บ้าน กองบัญชาการกองทัพไทย นั้น ได้รับการคัดสรรมาแล้วเป็นอย่างดี อาทิ ผ้าคราม สกลนคร ผ้าทอ งานฝีมือ คุณภาพดี ราคาย่อมเยา ท่านที่กำลังหาของฝากของขวัญ ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปไกล เชิญแวะมาเยี่ยมชมและอุดหนุนฝีมือชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศได้ที่ร้านค้าสมาคมแม่บ้าน กองบัญชาการกองทัพไทย

พันเอก กฤตพันธุ์ รักใคร่ ที่ปรึกษา ศูนย์ “หนึ่งใจ…ช่วยเหลือเกษตรกร” มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ฯ และ รองผู้อำนวยการ สำนักงานสนับสนุน หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กล่าวว่า หน่วยบัญชาการทหารพัฒนามีความภาคภูมิใจในผลงาน ตลาดประชารัฐ โครงการ “สินค้าธงน้ำเงิน” โครงการนี้เป็นการแสดงผลการทำงานของนักรบสีน้ำเงิน เพื่อพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ อย่างครบวงจร ตั้งแต่ การส่งเสริมอาชีพให้แก่พี่น้องประชาชน

การผลิตสินค้าโดยสมาชิกชุมชน การสนับสนุนการขาย การจัดหาช่องทางการตลาดให้ประชาชน การประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผลิตภัณฑ์สินค้าของชุมชนให้เป็นที่รู้จัก และยังเป็นการเพิ่มช่องทาง ขยายโอกาสทางการตลาดของผู้ผลิตอีกด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าคุณภาพดี ราคาถูก สำหรับข้าราชการและพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ใกล้เคียง

“ผมขอเชิญชวนทุกๆ ท่านที่ผ่านมาแถวถนนแจ้งวัฒนะ ลองแวะมาชมตลาดประชารัฐ โครงการ “สินค้าธงน้ำเงิน” ได้ทุกพุธต้นเดือนครับ รับรองว่า ท่านจะได้พบกับอาหาร ขนม สินค้าอุปโภค บริโภค มากมาย น่าสนุกและน่าตื่นตาตื่นใจมาก”

พันเอก กฤตพันธุ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการถ่ายทำรายการ “หนึ่งใจ…ช่วยเหลือเกษตรกร” เทปนี้ ถือว่าเป็นโอกาสพิเศษมากครับ เราจะเชิญชวนท่านผู้ฟังและท่านผู้ชมร่วมกันสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ ลานหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ กองบัญชาการกองทัพไทย เพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิต และร่วมกันน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย

จากนั้นเราจะนำทุกท่านเยี่ยมชมร้านค้าสมาคมแม่บ้าน กองบัญชาการกองทัพไทย ที่เปิดให้บริการเป็นประจำทุกวัน และเดินสำรวจ ตลาดประชารัฐ โครงการ “สินค้าธงน้ำเงิน” รับรองว่านอกจากอิ่มตา อิ่มใจ และจะอิ่มท้องอย่างแน่นอนครับ

รายละเอียดต่างๆ ของตลาดประชารัฐ โครงการ “สินค้าธงน้ำเงิน” จะเป็นอย่างไร มีผลิตภัณฑ์จากชุมชนใดบ้าง จะน่าสนใจแค่ไหน สามารถติดตามรับชมและรับฟังสดทั้งภาพและเสียง หรือย้อนหลังได้ ใน รายการ “หนึ่งใจ…ช่วยเหลือเกษตรกร” ทุกวันเสาร์ เวลา 10.00-11.00 น. ทางสถานีวิทย มก. AM 1,107 กิโลเฮิรตซ์ และ KU Radio Network พร้อมทั้ง สถานีวิทยุ ในเครือหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา จำนวน 6 สถานีทั่วประเทศ

ขอบคุณภาพประกอบจาก สิบตรี ทศพร วรธรรมาทิพย์ และ จ่าเอก อัครวินท์ ภูกิ่งหิน ติดต่อประสานงาน รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ “หนึ่งใจ…ช่วยเหลือเกษตรกร” มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ฯ ที่ตั้งสำนักงาน คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม 73140 อีเมล molku@ku.ac.th ไลน์ไอดี ajmaew

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ขับเคลื่อนการพัฒนาให้เกษตรกรในระบบคอนแทร็คฟาร์ม ดูแลแรงงานในฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อตามมาตรฐานสากลอย่างจริงจัง ร่วมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนงานที่ทำงานในฟาร์ม และยกระดับมาตรฐานสินค้าไก่เนื้อไทยให้เป็นที่ยอมรับด้านการปฏิบัติที่ดีต่อแรงงานตามหลักมนุษยธรรมในระดับสากล

นายปริโสทัต ปุณณภุม รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ มีนโยบายใน การสนับสนุนเกษตรกรคอนแทร็คฟาร์มนำแนวปฏิบัติที่ดีต่อแรงงานในฟาร์มสัตว์ปีก หรือ Good Labour Practices – Poultry Thailand (GLP- Poultry Thailand) ไปประยุกต์ใช้ตั้งแต่ปี 2560 และในปีนี้ บริษัทฯ ได้จัดตั้งทีมงานตรวจติดตามภายในที่ผ่านการอบรมจากสำนักพัฒนามาตรฐานแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เข้าตรวจประเมินและช่วยให้คำแนะนำแก่เกษตรกรเจ้าของฟาร์มที่อยู่ในระบบคอนแทร็คฟาร์มซีพีเอฟ เพื่อให้มั่นใจว่าเกษตรกรมีความเข้าใจและดูแลแรงงานในฟาร์มของตนเองถูกต้องสอดคล้องกับประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้บรรจุหลัก GLP อยู่ในมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่เนื้อ (Good Agriculture Practices for broiler farms: GAP) ด้วย

“ตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา ทีมงานตรวจติดตามการประยุกต์ใช้ GLP ของบริษัทฯ เข้าตรวจประเมินฟาร์มไก่เนื้อของเกษตรกรคอนแทร็คฟาร์มทั่วประเทศไปแล้วกว่าร้อยละ 80 ซึ่งส่วนใหญ่มีความเข้าใจและสามารถปฏิบัติตามหลัก GLP ได้อย่างถูกต้อง และพร้อมส่งเสริมเกษตรกรเจ้าของฟาร์มที่มีศักยภาพสมัครขอรับการรับรองมาตรฐานแรงงานไทยจากกระทรวงแรงงานต่อไป” นายปริโสทัต กล่าว

การได้รับรองมาตรฐานแรงงานไทย หรือ มรท.8001-2010 (Thailand Labour Standard : TLS 8001-2010) จากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน จะช่วยให้เกษตรกรมีการจัดทำระบบด้านแรงงานในฟาร์มเป็นลายลักษณ์อักษร โดยอ้างอิงมาตรฐานสากล มีหลักฐานในการแสดง และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของฟาร์ม ที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับแรงงาน เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศมีความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

นายปริโสทัต กล่าวต่ออีกว่า ซีพีเอฟยังมีเป้าหมายในการนำฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อที่ดำเนินการโดยบริษัทฯ เข้าสู่การรับรองมาตรฐานแรงงานไทยตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งปัจจุบัน ฟาร์มไก่เนื้อของบริษัท 76 แห่งจากทั้งหมด 100 ฟาร์มได้รับรองมาตรฐานแรงงานไทยขั้นสมบูรณ์แล้ว ตั้งเป้าว่าฟาร์มของบริษัทฯ ที่เหลืออีก 24 แห่งที่อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจขอรับรองมาตรฐานแรงงานไทยจะสามารถได้รับการรับรองมาตรฐาน ใน ไตรมาส 1 ปี 2562 ทั้งหมด

นอกจากนี้ ซีพีเอฟ มีแผนที่จะขยายผลถ่ายทอดความสำเร็จแนวการปฏิบัติที่ดีต่อแรงงานในฟาร์มสัตว์ปีกไปยังกิจการในต่างประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั่วโลกถึงกระบวนการผลิตเนื้อไก่ของ ซีพีเอฟดูแลจัดการแรงงานได้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเหมือนกันทุกประเทศทั่วโลก

กรมส่งเสริมสหกรณ์สำรวจจุดรับซื้อข้าวเปลือกของสหกรณ์การเกษตรในฤดูกาลผลิตปี 2561/62 สหกรณ์ 434 แห่ง ในพื้นที่ 56 จังหวัด เตรียมแผนรับซื้อข้าวเปลือกไม่น้อยกว่า 3.9 ล้านตัน เฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่สำคัญ มีสหกรณ์ 226 แห่ง ทยอยเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือกแล้ว 25 แห่ง คาดปริมาณข้าวเปลือกจะออกมากในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม รัฐบาลร่วมเป็นกองหนุนให้สินเชื่อรวบรวมข้าวแก่สถาบันเกษตรกรผ่าน ธ.ก.ส. ดอกเบี้ยร้อยละ 1 หวังเสริมสภาพคล่องระหว่างการรวบรวมและแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตได้ราคาดี

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว หลายจังหวัดเกษตรกรได้เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตในพื้นที่ ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ติดตามสถานการณ์การเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือกของสหกรณ์การเกษตรที่ทยอยเปิดรับซื้อข้าวจากสมาชิก ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา มีสหกรณ์ในหลายจังหวัดได้ทยอยเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร ได้แก่ ปทุมธานี ชัยนาท อุดรธานี นครพนม สกลนคร นครราชสีมา เชียงราย แพร่ นครสวรรค์ เพชรบุรี และนครศรีธรรมราช รวบรวมผลผลิตไปแล้วปริมาณ 21,607 ตันข้าวเปลือก มูลค่า 159.13 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าในฤดูกาลผลิตปี 2561/62 จะมีสหกรณ์ 434 แห่งในพื้นที่ 56 จังหวัด รวบรวมข้าวเปลือกในปริมาณไม่น้อยกว่า 3.9 ล้านตัน

สำหรับในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่สำคัญ มีสหกรณ์ 226 แห่งที่ดำเนินธุรกิจรวบรวมข้าวและได้ทยอยเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือกแล้ว 25 แห่ง อาทิ สหกรณ์การเกษตรชุมพลบุรี สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.สุรินทร์ จำกัด จังหวัดสุรินทร์ สหกรณ์การเกษตรพิมาย จำกัด จังหวัดนครราชสีมา และสหกรณ์การเกษตรตระการพืชผล จำกัด จังหวัดอุบลราชธานี ส่วนสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด จังหวัดร้อยเอ็ด จะเริ่มเปิดจุดรับซื้อข้าวหอมมะลิ ในวันที่ 20 ตุลาคมนี้ ซึ่งจากการตรวจสอบราคารับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิของสหกรณ์ ความชื้น 25% เฉลี่ยตันละ 12,000-12,500 บาท ส่วนความชื้น 15% ตันละ 15,000-18,000 บาท และเมื่อเทียบราคารับซื้อกับโรงสีเอกชนในพื้นที่ ถือว่าสหกรณ์รับซื้อในราคานำตลาด และเป็นราคาที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ตันละ 2,000-6,000 บาท ซึ่งราคารับซื้อขึ้นอยู่กับคุณภาพและความชื้นของข้าวที่เกษตรกรรวบรวมและนำมาขายให้สหกรณ์