นอกจากมะม่วง ขนุน เป็นไม้อีกชนิดหนึ่ง ที่นิยมปลูกกัน

ในอดีตมีขนุนฟ้าถล่ม ทองสุดใจ จำปากรอบ ของ คุณสมปอง ตวงทอง ตำบลบ้านพระ อำเภอเมืองปราจีนบุรี ทุกวันนี้มีขนุนยอดนิยมอย่าง สายพันธุ์ 8 เดือน หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ปีเดียวทะวาย สาเหตุที่ได้ชื่อนี้เพราะหลังปลูก 8 เดือน หากต้นสมบูรณ์ สามารถไว้ผลบนต้นได้แล้ว ขนุนพันธุ์นี้ออกลูกดก ออกลูกทั้งปี หากปลูกไว้ 4-5 ต้น ตลอดทั้ง 12 เดือนระหว่างปี ขนุนจะมีผลผลิตหมุนเวียนทั้งปี

ไม้ดอกไม้ประดับ ไม้กลิ่นหอมยังได้รับความนิยม

ไม้ดอกไม้ประดับรอบบ้าน นอกจากไม้ตระกูลปาล์มแล้ว ไม้ไทยไม้หอมก็นิยมปลูกกัน

ง่ายๆ เลยสำหรับไม้ดอกหอมคือ จำปี สาเหตุที่มีปลูกกันมาก เพราะทุกวันนี้เกษตรกรขยายพันธุ์กันไม่ยาก ต้นพันธุ์จึงถูกลง เมื่อปลูกไปไม่นาน จำปีก็ให้ดอกได้ แถมให้ดอกเก่ง มือใหม่หัดปลูกหากสนใจปลูกจำปี ถือว่าคิดถูกแล้ว แต่จำปีมีข้อจำกัด คือไม่ทนน้ำท่วม หากน้ำแช่ต้นวันสองวันก็ตายแล้ว

ส่วนไม้ที่อึดและทนเรื่องน้ำ ต้องยกให้ โมก ไม้ชนิดนี้หากต้นใหญ่เท่าข้อมือ น้ำท่วมนานกว่า 2 เดือน ยังอยู่ได้ เมื่อก่อนโมกมีสนนราคาค่อนข้างแพง แต่เพราะนักขยายพันธุ์ที่ปราจีนบุรีใช้ภูมิปัญญาเข้าช่วย ราคาจึงลดลง หาซื้อได้ทั่วไป ทั้งจำปีและโมก หากปลูกไว้ริมหน้าต่าง อากาศชื้น ดอกจะส่งกลิ่นหอมไกล

ไม้ที่ปลูกรอบบ้านนั้น ควรใช้ปัจจัยการผลิตน้อย หากไม่ใช้ได้ยิ่งดี โดยเฉพาะปัจจัยที่จะเป็นพิษเป็นภัยต่อผู้อยู่อาศัย

ส่วนเรื่องประโยชน์นั้น ต้นไม้ที่ปลูกแล้ว ล้วนแต่เป็นคุณทั้งสิ้น “ตอนนี้อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่ผมภูมิใจมากๆ นะ แต่ก่อนต้องยอมรับตรงๆ ว่า ผมไม่มีความศรัทธาในอาชีพนี้เลย เพราะเราเป็นลูกชาวสวนมาตั้งแต่เด็กๆ เห็นพ่อแม่ลำบากมากจากการทำสวน เราจึงพยายามหนีอาชีพนี้มาตลอด ทำทุกอย่างเพื่อที่ไม่ต้องกลับมาเป็นชาวสวน แต่สุดท้ายก็มาพบว่า สิ่งที่เราหนีมาทั้งชีวิต จริงๆ แล้วเราไม่ได้เกลียดนะ

เพียงแค่เรายึดติดกับภาพเดิมๆ ที่ทำเกษตรแล้วลำบาก แต่เมื่อได้มาทดลองลงมือทำจริงๆ กลับรู้สึกหลงรักการเป็นชาวสวนโดยไม่รู้ตัว เพราะทำแล้วสบายใจ เป็นอิสระ กลายเป็นชีวิตจิตใจ และคิดอยู่ตลอดว่าอยากจะพัฒนาสวนมะพร้าวของพ่อให้ดียิ่งขึ้น อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่ยิ่งทำยิ่งภูมิใจในตัวเองขึ้นเรื่อยๆ”

คุณสุรพงษ์ เกียรติพงสา หรือ พี่เอ ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์จังหวัดราชบุรี อยู่บ้านเลขที่ 139 หมู่ที่ 7 ตำบลศรีสุราษฎร์ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เกษตรกรรุ่นใหม่ที่เข้ามาปรับเปลี่ยนสวนมะพร้าวจากรุ่นพ่อ สร้างมาตรฐาน GAP, GI เพื่อต่อยอดการตลาดในอนาคตให้มั่นคงมากขึ้น เพราะเล็งเห็นแล้วว่ามาตรฐานเหล่านี้จะเปรียบเสมือนใบเบิกทางด้านการตลาด ที่ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็มีแต่คนต้องการ

พี่เอ เล่าถึงจุดเริ่มต้นการทำเกษตรว่า ตนเป็นลูกชาวสวนมาตั้งแต่เด็กๆ แต่อยากที่จะหลีกหนีอาชีพดั้งเดิมของพ่อแม่ ไปศึกษาเล่าเรียน และได้ทำงานเป็นประชาสัมพันธ์อยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ จนถึงเวลาที่ต้องกลับมาดูแลคุณพ่อที่สูงอายุ ซึ่งที่บ้านคุณพ่อทำสวนมะพร้าวน้ำหอมอยู่แล้ว ในระหว่างที่กลับมาดูแลท่าน ก็ได้ซึมซับวิธีการทำสวนมาจากคุณพ่อ และกลายมาเป็นเกษตรกรเต็มตัวถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลากว่า 4 ปี

ปลูกมะพร้าวน้ำหอม 350 ต้น
งานสร้างรายได้ที่มั่นคง
ปัจจุบัน พี่เอ ปลูกมะพร้าวน้ำหอมบนพื้นที่ประมาณ 9 ไร่ สายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมที่ปลูกคือ อ่างทองบ้านแพ้ว เป็นพันธุ์เดียวกันกับฟาร์มอ่างทอง แต่เกษตรกรมีชื่อเรียกพันธุ์ต่างกันไป บางคนก็เรียกว่า ก้นจีบบ้านแพ้ว เพราะจุดเริ่มต้นมาจากฟาร์มชื่ออ่างทอง ตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เป็นพันธุ์ดั้งเดิมมาตั้งแต่สมัยรุ่นคุณพ่อกว่า 17 ปีมาแล้ว และเป็นสายพันธุ์ที่มีชื่อเสียงมาเนิ่นนาน ประจวบเหมาะกับพื้นที่ตรงนี้ค่อนข้างเหมาะกับการปลูกมะพร้าวเป็นทุนเดิม จึงส่งผลให้มะพร้าวน้ำหอมดำเนินสะดวกได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ขนาดของผลได้มาตรฐาน น้ำหวานโดยธรรมชาติ เคยวัดได้ประมาณ 8 องศาบริกซ์ จะแตกต่างจากมะพร้าวที่อื่นๆ ที่ถึงแม้ผลจะใหญ่ แต่ความหวานไม่เทียบเท่า

การปลูก มีการจัดสรรพื้นที่ปลูกแบบยกร่อง เนื่องจากพื้นที่บริเวณสวนเป็นที่ลุ่ม จะปลูกในระบบสวนด้วยการยกร่องแปลงปลูกให้สูง แล้วปลูกพืชอายุสั้นแซม เช่น กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า มะละกอ และพืชผักสวนครัวชนิดต่างๆ เพื่อนำผลผลิตมาเป็นอาหารและขายเป็นรายได้เสริม เพราะมะพร้าวปลูกแล้วกว่าจะได้ผลผลิตต้องใช้ระยะเวลานานกว่า 3 ปี จึงจะเก็บผลผลิตได้ มะพร้าวน้ำหอมที่ดีต้องเริ่มจากการคัดสายพันธุ์ที่ดีมาปลูก คือต้องเลือกต้นพันธุ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว มะพร้าวน้ำหอมเป็นพืชที่คนนิยมปลูกกันแพร่หลาย ทำให้มีพ่อค้าแม่ค้าที่ขายต้นพันธุ์หลายเจ้าฉวยโอกาสนำพันธุ์อื่นมาผสมด้วย หรืออีกวิธีสังเกตของคนสมัยก่อน ว่าเป็นมะพร้าวน้ำหอมแท้หรือไม่ ให้เด็ดรากมาดม หากเป็นมะพร้าวน้ำหอมแท้ รากจะต้องมีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย

การขุดหลุมปลูก กว้าง ยาวและลึก ประมาณ 50-70 เซนติเมตร นำปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ใบไม้แห้ง หรือขุยมะพร้าว กับดินบนที่ตากแห้งใส่คลุกเคล้าให้เข้ากัน ใส่รองก้นหลุมปลูก หรือจะใช้ดินเลนก็ได้ จากนั้นวางต้นพันธุ์เสมอกับปากหลุมในกรณีที่ปลูกในที่ลุ่ม และวางต้นพันธุ์ปลูกต่ำกว่าปากหลุมในกรณีปลูกในที่ดอน เกลี่ยดินกลบ ควรปลูกให้ระยะระหว่างต้นและแถวห่างกัน 6×6 เมตร ให้น้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง หรือตามการดูแลของพืชหน้าดินที่ปลูกหมุนเวียนช่วงแรกนั่นเอง

เทคนิคการดูแล บำรุงรักษา
หลังจากมะพร้าวน้ำหอมเริ่มโต อายุได้ 1 ปี ให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือมูลสัตว์ เพื่อช่วยในการปรับปรุงดินให้มีคุณภาพและใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 13-13-21 ประมาณ ต้นละ 1 กิโลกรัม โดยหว่านรอบทรงต้น หลังจากปีที่ 3 เป็นต้นไป ใส่ปุ๋ยเคมี สูตรที่มีการเพิ่มแมกนีเซียมหรือโบรอน ประมาณต้นละ 2 กิโลกรัม โดยใส่อย่างน้อย 2 ครั้ง ต่อปี ในช่วงเดือนพฤษภาคมและเดือนตุลาคม ตอนนี้ที่สวนมีการทดลองแบ่งใส่ปุ๋ยให้ถี่ขึ้น เป็นทุก 2 เดือน แต่ลดปริมาณต่อต้นลง และหมุนเวียนสูตรปุ๋ยที่ใส่ เช่น 16-16-16, 8-24-24 และปุ๋ยสูตรที่ใช้ N-P-K ในอัตราส่วน 2-1-4 เช่น 12-6-24, 15-5-20 หรือ 14-7-28 เป็นต้น เพื่อให้มะพร้าวได้รับธาตุอาหารที่หลากหลายและเหมาะสมกับแต่ละช่วงเวลาที่มีภูมิอากาศแตกต่างกัน

สำหรับการให้น้ำ เนื่องจากที่สวนเป็นแบบระบบยกร่อง รากมะพร้าวจะแผ่ลงริมร่องสวน ดูดซับน้ำได้ส่วนหนึ่ง ทำให้ต้นเจริญเติบโตดีและได้ผลดกอยู่แล้ว แต่ต้องระวังในฤดูแล้ง หรือฝนไม่ตก ต้องให้น้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นอย่างน้อย ด้วยเรือรดน้ำกระจายขึ้นท้องร่อง ให้ได้รับน้ำสม่ำเสมอ ลดการขาดช่วงการออกดอกและติดผลของมะพร้าวน้ำหอม

ผลผลิตต่อปี…
มะพร้าว จะเก็บขายได้ทุก 18-20 วัน พื้นที่ 9 ไร่ โดยเฉลี่ยสามารถเก็บผลผลิตได้ประมาณ 50,000 ลูก ต่อปี สำหรับที่สวนถือเป็นผลผลิตที่น่าพอใจ ได้ไซซ์ตามมาตรฐานกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เช็กจากพ่อค้าที่เข้ามารับซื้อมะพร้าวที่สวน โดยค่าเฉลี่ยมะพร้าวของที่สวนผลค่อนข้างจะใหญ่กว่าค่าเฉลี่ยโดยทั่วไปที่เขารับซื้อ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะพันธุ์จากที่คุณพ่อนำมาปลูก เป็นพันธุ์เก่า ต่างจากรุ่นใหม่ที่จะนิยมนำพันธุ์ต้นเตี้ยมาปลูก เน้นดก เมื่อผลดกขนาดก็จะเล็กลงไปด้วย

การตลาด
มีพ่อค้ามารับซื้อถึงหน้าสวน เพื่อนำไปส่งโรงงานแปรรูปมะพร้าวแถบพื้นที่จังหวัดราชบุรี ราคาขึ้นลงตามกลไกของตลาด มะพร้าวเป็นพืชที่ค่อนข้างมีความผันผวนทางราคาค่อนข้างสูง ในช่วงหน้าร้อนมะพร้าวจะมีราคาสูง เนื่องจากปริมาณผลผลิตน้อย แต่ความต้องการของตลาดสูง ซึ่งจะแปรผันตรงข้ามกับในช่วงหน้าหนาวที่ผลผลิตออกเยอะ ในขณะที่ความต้องการทางตลาดน้อย ยกตัวอย่างช่วงที่มะพร้าวราคาสูงสุด เฉลี่ยอยู่ที่ ลูกละ 20-30 บาท แต่ถ้าช่วงไหนราคาตก จะตกลงไปเหลือเพียงลูกละ 3-6 บาท เท่านั้น จะเห็นว่าราคามีความแตกต่างกันมาก ช่วงที่มะพร้าวราคาแพงจะมีแค่ 3 เดือน จึงได้มีการวางแผนพัฒนาเพื่อต่อยอดรายได้จากเดิม ด้วยการคิดค้นเทคนิคการปลูกให้ผลผลิตในช่วงหน้าร้อน สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและโอกาสเพิ่มรายได้ที่มากขึ้น

สืบทอดมรดกสวนมะพร้าวจากพ่อ
สู่การพัฒนาต่อยอดการตลาดในอนาคต
ปัจจุบัน สวนมะพร้าวน้ำหอม ที่สวนญาณภัทร ดูแลบริหารจัดการโดยพี่เอ ซึ่งเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ มีความคิดก้าวหน้า เป็นนักคิดค้น ทดลองทำเกษตรผสมผสานองค์ความรู้ใหม่ๆ ประกอบกับการทดสอบทฤษฎีและภูมิปัญญาทั้งใหม่เก่า เพื่อให้เป็นการทำสวนแบบผสมผสาน ทั้งมิติของผลผลิตทางการเกษตร พืชพันธุ์ และความรู้หลากหลาย ได้นำมาปรับใช้กับสวนของตนเอง พร้อมกับน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ด้วย เพื่อเป้าหมายการทำให้อาชีพเกษตรกรรมกลายเป็นธุรกิจแห่งความสุข เป็นแหล่งอาหารปลอดภัย เป็นพื้นที่ของจินตนาการและการเรียนรู้ จนเกิดเป็นสวนแบบผสมผสานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรปลอดภัย (GAP) และได้รับรองพืชมะพร้าวน้ำหอมอัตลักษณ์เฉพาะ (GI) ราชบุรี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา และมองว่ามาตรฐานเหล่านี้จะกลายเป็นใบเบิกทางการตลาดในอนาคตได้เป็นอย่างดี

สืบเนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ทุกคนต่างหันมารักสุขภาพของตัวเองกันมากขึ้น เพราะฉะนั้นผู้บริโภคจะต้องเลือกหาแหล่งอาหารที่เชื่อถือได้และปลอดภัย มาตรฐานที่ได้พยายามทำมาถือว่าตอบโจทย์กระแสที่เปลี่ยนไปได้เป็นอย่างดี รวมถึงเป็นการช่วยเพิ่มรายได้จากสินค้าเมื่อมีมาตรฐาน ก็ได้ราคาที่สูงขึ้น ถัดมาคือ ได้สุขภาพที่ดีกลับมาทั้งตัวชาวสวนเองและผู้บริโภค และถือเป็นจุดเริ่มต้นพัฒนาจากสวนธรรมดาให้กลายเป็นธุรกิจเกษตรครบวงจร ปลูกเอง ขายเอง แปรรูปเอง

ฝากถึงเกษตรกร
“สำหรับคนทำงานประจำ หรือทำอย่างอื่นแล้วอยากทำเกษตรในอนาคต ก็อยากจะแนะนำเลยว่า ให้วางแผนในช่วงที่ยังทำงานประจำอยู่ วางแผนเพื่อที่จะเริ่มต้นมีที่ดินเป็นของตัวเองก่อนเลย เสร็จแล้วก็วางแผนในการเลือกพืชที่เราจะปลูก ในช่วงเริ่มต้นอาจจะเลือกพืชที่แข็งแรง ทนแดด ทนฝน ดูแลบำรุงรักษาได้ง่ายหน่อย เพื่อที่เวลาทำจริงจะได้มีกำลังใจ ถ้าเลือกปลูกพืชที่ยากแล้ว เราจะเสียกำลังใจ ค่อยๆ สะสมประสบการณ์ไปเรื่อยๆ และอย่าเพิ่งทิ้งงานประจำ หรือทิ้งความสามารถอื่นๆ ที่ทำได้ อาจจะทำร่วมกันไปก่อน

พอถึงจุดที่ตัวเองมั่นใจกับอาชีพเกษตรกรรมก็ค่อยๆ ออกมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว และถ้าใครสนใจอยากจะทดลองปลูกมะพร้าวน้ำหอมดูบ้าง ผมก็ยังคิดว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะมะพร้าวเป็นพืชที่ดูแลไม่มาก อย่างผมหลักๆ ทำด้วยตัวเองหมด ทั้งดูแล รดน้ำ ใส่ปุ๋ย และยังแบ่งเวลาส่วนหนึ่งดูแลบริษัทโปรดักชันเฮาส์ รับผลิตงานด้านดิจิทัลคอนเทนต์ และช่วยเพื่อนเกษตรกรในพื้นที่ทำกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตร และดูแลคุณพ่อที่สูงอายุด้วย” คุณสุรพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

ถึงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ฤดูทุเรียนเวียนมา ทางภาคตะวันออกอย่างจังหวัดจันทบุรี ก็ยังเป็นเจ้าแห่งวงการทุเรียนเหมือนเดิม ด้วยเป็นพื้นที่ปลูกมานาน จนกลายเป็นแหล่งที่มีพื้นที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดในประเทศไทย มาช่วงหลายปีหลัง ทุเรียนเริ่มได้รับกระแสนิยมจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก เกษตรกรในหลายพื้นที่ทั่วประเทศหันมาสนใจปลูกทุเรียนกันอย่างหนาแน่น รวมถึงจังหวัดปราจีนบุรี นับเป็นภาคตะวันออกที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ แต่ก็สามารถปลูกทุเรียนได้อร่อยไม่แพ้ทางจันทบุรี

คุณวันเพ็ญ สนลอย เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน พ่วงด้วยตำแหน่งหมอดินอาสาประจำจังหวัดปราจีนบุรี อยู่บ้านเลขที่ 62/1 หมู่ที่ 5 ตำบลไม้เค็ด อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี เล่าว่า พ่อแม่ทิ้งมรดกที่ดินไว้ให้ 3 ไร่ พื้นที่เดิมพ่อกับแม่ใช้ปลูกทุเรียน แต่ไม่ค่อยได้ผล ดินไม่ดี เป็นกรดเยอะ ไม่สามารถสานต่อสวนทุเรียนได้ หลังเรียนจบจึงเข้าทำงานเป็นเสมียน แต่งงานมีครอบครัวมีลูก แต่เงินเดือนเสมียนกับเงินเดือนสามีรับข้าราชการในสมัยนั้นเลี้ยงลูกไม่พอ จึงตัดสินใจลาออกจากงานกลับมาทำเกษตรลองสู้อีกสักตั้งบนที่ดินมรดก

เมื่อเจอสถานการณ์บังคับแบบนี้จะทำยังไงดี ลูกก็ยังเรียนไม่จบ ต้องกัดฟันเพื่อลูก หาวิธีพาครอบครัวให้รอด ในใจก็ยังคิดจะทำเกษตรต่อไป และคิดว่าทางรอดคือต้องทำแบบลดต้นทุนให้ได้ โชคดีที่เปิดทีวีไปเจอรายการเกี่ยวกับเกษตรพอดี เขาสอนทำเกษตรแบบลดต้นทุน มีการทำสารชีวภาพ เขามาช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยก็เริ่มสนใจ เริ่มศึกษาข้อมูลเพิ่ม ตอนนั้นที่ดูก็ไม่เข้าใจทั้งหมด เขาบอกให้เตรียมโอ่ง 1 ใบ กับน้ำตาลโมลาส เราก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ที่จริงมันคือกากน้ำตาล แต่เขาไม่บอก เมื่อไม่เข้าใจไปหาข้อมูลเพิ่มอีก ออกไปหาหนังสือมาอ่าน ซื้อมาอ่านเป็น 10 เล่ม เพื่อทำความเข้าใจ แล้วลงมือปฏิบัติ เริ่มทดลอง ในแปลงเกษตร 3 ไร่ ที่มีอยู่

การทดลองครั้งที่ 1 ใช้วิธีการหมัก นำผลไม้ในสวนหลากหลายชนิดมาผสมหมักลงถัง ขนาด 60 ลิตร ลองผิดลองถูกอยู่ 1 เดือน คิดว่าได้สูตรที่ดีแล้ว จึงนำสารที่ทำไปใช้ที่แปลงทดลอง แรกๆ ต้นก็งามแตกยอดดี ชาวบ้านเข้ามาเห็นต้นไม้ที่สวนแล้วแตกยอดดี เขาก็ถามว่าใช้อะไร เราบอกไปว่าใช้น้ำหมักที่ทำเอง เราก็บอกสูตรไปอย่างไม่หวง พอเขาใช้ไปสักพักเริ่มได้ผล ต้นงามดี เขาก็แถมสูตรใส่เพิ่มเอง ทีนี้ใส่มากไป ใบเริ่มไหม้ เราจึงบอกว่าอย่าใส่เกินสูตร ให้ตัดลงเท่าเดิม แล้วฉีดสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ใช้แล้วได้ผลดี แต่พอเริ่มเข้าปีที่ 4 ปัญหาเริ่มเกิดทั้งของเราและของชาวบ้าน ต้นไม้ไม่ยอมแตกใบอ่อน เพราะใช้สารในอัตราที่มากไป ทั้งฉีดทางใบและรดที่ต้น ทำให้ต้นไม่ยอมแตกใบอ่อน ในที่สุดต้นก็เริ่มตายไปทีละต้น ครั้งแรกถือว่าล้มเหลว

การทดลองครั้งที่ 2 เปลี่ยนจากการหมักเป็นการกลั่น กลั่นเอาแต่น้ำ เอากากไปทำปุ๋ยหมัก แล้วเอาน้ำหมักไปทำฮอร์โมน ได้ผลดี แต่กว่าจะลงตัวก็ต้องทำทิ้งไปเยอะ พอใช้แล้วดี ชาวบ้านเข้ามาขอสูตรกันเยอะ และด้วยความที่เป็นหมอดินออกงานกับทางราชการบ่อย มีคนรู้จักหลายกลุ่ม ทั้งเกษตรกร หน่วยงานราชการ รวมถึงภาคเอกชนที่ติดต่อให้เราทำฮอร์โมนส่ง เดือนละ 2,000 ลิตร ทุกอย่างต้องนิ่ง เริ่มจากทำฮอร์โมนสมุนไพร 2 อย่าง ทำจนตอนนี้มีมากกว่า 20 สูตร แจกเกษตรกรให้ลองใช้ เพราะเราลองใช้คนเดียว เราจะไม่รู้ถึงปัญหา นอกเหนือจากของสวนเรา ถ้าดีเขาต้องกลับมา พอทำแจกเยอะมากๆ เริ่มไม่ไหว เกษตรกรบอกให้ขายสิ เราก็เริ่มทำขาย ลิตรละ 120 บาท พร้อมทั้งตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้อบรมความรู้เผยแพร่สูตรแบบไม่หวง หรือเกษตรกรอยากมากินนอนอาศัยครูพักลักจำก็มาได้

ปลูกทุเรียนให้รอด บนพื้นที่นาดอน
การปลูกทุเรียน ถือเป็นงานเกษตรที่ท้าทาย ค่อยๆ ขยายปลูกมาเรื่อยๆ จาก 30 ต้น ขยายเป็น 20 ไร่ เน้นปลูกหมอนทอง ชะนี พวงมณี และพันธุ์ดั้งเดิมของปราจีนฯ

คุณวันเพ็ญ บอกว่า ดั้งเดิมพ่อปลูกทุเรียนอยู่แล้ว แต่มีปัญหาตรงพื้นที่เป็นนาดอน ดินเป็นกรด ปลูกอะไรก็ไม่งามลงแต่เงิน เราเลยเปลี่ยนจากการปลูกทุเรียนมาทำกิ่งพันธุ์ขาย พอขยายพันธุ์ไม้แต่ก็ยังไม่โค่นต้นทุเรียนทิ้งทั้งหมด ต้นไหนตายก็ปล่อยให้ตาย ต้นไหนรอดก็เลี้ยงตามสภาพ ตอนนั้นจำได้ว่าทุเรียนเหลืออยู่ประมาณ 30 ต้น

แต่สังเกตว่าทุเรียนมีแค่นี้ก็จริง แต่สามารถสร้างรายได้ให้เราได้ต้นละ 20,000-30,000 บาท สร้างรายได้ดีกว่ากิ่งพันธุ์ที่ทำขายเสียอีก นี่จึงเป็นการจุดประกายครั้งใหม่ที่ทำให้เราหันมาปลูกทุเรียนอีกครั้ง แต่ด้วยสภาพดินเป็นกรด เป็นที่นาดอนมาก่อน เราจึงต้องมาปรับปรุงดินใหม่ อย่างตอนนี้เกษตรกรหลายภาคหันมาปลูกทุเรียนกันเยอะ แต่ปลูกแล้วตายหมด เราจะสอนตั้งแต่วิธีการบริหารจัดการพื้นดิน พื้นที่จะปลูกเป็นที่สูงหรือที่ต่ำ ถ้าเป็นที่ต่ำให้ทำเป็นร่องลูกฟูก ถ้าเป็นที่สูงต้องทำลูกฟูกเตี้ย เพื่อเป็นการระบายน้ำลดลงได้ดี

วิธีการปลูก
เริ่มขยายพันธุ์ด้วยวิธีเสียบยอด พอต้นสูงประมาณ 1 เมตร จะเริ่มเสียบยอดในแปลงเลย เคล็ดลับสำคัญจะปลูกทุเรียนให้โตต้องหันต้นไปทางทิศตะวันออก เมื่อลมมาจะพัดปากใบให้เปิดจะได้รับแสงทันที เมื่อฉีดอาหารเข้าไปทางปากใบต้นจะโตไว และสมัยก่อนเกษตรกรชอบใช้ต้นใหญ่ปลูก พอปลูกต้นใหญ่ระบบรากวน ต้นไม่โต ทางที่ดีให้เปลี่ยนจากปลูกต้นใหญ่มาปลูกต้นเล็กสูง 20 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างต้น 6×6 เมตร หรือ 8×8 เมตร ปลูกพื้นต่ำไม่ต้องขุดหลุม วางต้นไว้เฉยๆ เอาถุงพลาสติกออกแล้วถากหญ้าถมดินขึ้นโคกเป็นลักษณะคล้ายกระทะคว่ำสัก 2 สัปดาห์ หญ้าที่คลุมไว้จะสลาย ดินจะฟูขึ้น รากจะหาอาหารได้เก่ง เพราะดินโปร่ง ไม่ต้องทำร่ม พอกลบต้นเสร็จให้ปล่อยสารชีวภาพที่หมักไว้ใช้แทนปุ๋ยปล่อยไปพร้อมน้ำทุก 2 วัน ต้นทุเรียนจะเจริญเติบโตได้ดี

ปลูกทุเรียนปัญหาที่พบบ่อย คือโรครากและโคนเน่า
แก้ได้ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน
เจ้าของบอกว่า ตั้งแต่ปลูกทุเรียนมาปัญหาที่เจอคือ เรื่องโรครากและโคนเน่า เนื่องจากพื้นดินตรงนี้เป็นนายกร่องมาก่อน เราอยู่กับร่องสวนมาแต่เล็ก รู้สึกว่าขี้เกียจกระโดดข้ามร่องไปมา จึงเริ่มปล่อยให้ร่องตื้น แต่การปลูกทุเรียนพอปล่อยให้ร่องตื้นปัญหาเกิดตรงฤดูฝน ระดับน้ำกับต้นเสมอกัน ทีนี้ระบบรากของทุเรียนไม่ชอบแฉะ รากก็เน่า พอฝนหมดต้นสลัดใบ โรคเริ่มเกิดก็ต้องมานั่งคิดอีกว่า จะทำอย่างไร หาอะไรมาแก้ จึงใช้ภูมิปัญญาที่มีมาคิดค้นสูตรแก้ปัญหาโรครากเน่าโคนเน่าอีกครั้ง

สูตรแก้โรครากและโคนเน่า ทำได้ง่ายเห็นผลดี
เตรียมถัง 200 ลิตร
ขี้เถ้าแช่น้ำไว้ 2-3 คืน
ตักน้ำขี้เถ้าใสๆ ใส่ขมิ้นลงไป จะเป็นขมิ้นผง ขมิ้นสด หรือขมิ้นแห้งก็ได้ อัตราการใส่ขมิ้นสด ใส่ 3-5 กิโลกรัม ถ้าเป็นขมิ้นผง ใส่ 1-2 กิโลกรัม
ใส่ปูนกินหมากผสมลงไปอีก 1-2 กิโลกรัม
ผสมกระดูกปลาป่น เพื่อสร้างแคลเซียมให้ต้น
คนส่วนผสมทุกอย่างให้เข้ากัน น้ำจะออกเป็นสีแดง
วิธีใช้ นำไปฉีดทางใบ หรือรดทางดิน อัตราการฉีดพ่นทางใบ สารชีวภาพ 200 ซีซี ต่อน้ำ 200 ลิตร อัตราการรดทางดิน สารชีวภาพ 1 ลิตร ต่อน้ำ 200 ลิตร ใช้รักษาได้ทั้งโรครากและโคนเน่า หรือพริกเป็นกุ้งแห้งใช้ได้หมด

ฝากถึงเกษตรกร
อยากให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรแบบปลอดสาร เรียนรู้การทำเกษตรแบบลดต้นทุน ถ้าอยากได้สูตรปุ๋ยชีวภาพเพิ่มเติม ให้โทร.มาสอบถามได้ตลอด เพราะตนเคยล้มเหลวมาก่อน ประสบปัญหาค่าปุ๋ยแพง เจ๊งไม่เป็นท่า เมื่อลืมตาอ้าปากได้แล้วก็อยากถ่ายทอดความรู้ช่วยเพื่อนเกษตรกร เพราะตอนนี้ถือว่าตนประสบผลสำเร็จกับอาชีพเกษตรกรรมแล้ว สามารถทำแบบลดต้นทุนได้ ผลผลิตที่ได้เป็นที่น่าพอใจ

อย่างทุเรียนต้นที่มีอายุมากหน่อย ให้ผลผลิตต้นละ 150 ลูก 2 ไร่ เก็บได้เกือบ 5 ตัน รสชาติยิ่งไม่ต้องห่วงเพราะใช้สารชีวภาพ รสชาติหวานมัน เนื้อละเอียด เม็ดลีบ ราคาดี กิโลละ 180 บาท ผลผลิตไม่เคยพอขาย การันตีความปลอดภัย มีเงินเก็บเพิ่มขึ้นทุกปี จากฝากปีละ 2,000 ขยับเป็น 5,000 จนตอนนี้เงินเหลือฝากประจำได้ทุกเดือน เดือนละ 50,000 บาท ด้วยการทำเกษตรแบบลดต้นทุน ใช้สารชีวภาพเข้าช่วย

จำได้ว่าสมัยก่อน ผักหวานป่า หากินยากมาก บาคาร่าออนไลน์ เพราะจะมีอยู่แต่ในป่าและได้กินเฉพาะช่วงหน้าร้อน-หน้าฝน เท่านั้น แต่หลายปีมานี้มีการนำเมล็ดพันธุ์ผักหวานป่ามาปลูกกันอย่างแพร่หลาย ทำให้ผู้ที่ชื่นชอบผักชนิดนี้มีกินได้ตลอดทั้งปี ในราคาที่จับต้องได้

สวนผักหวานป่า อมรฟาร์ม ตั้งอยู่เลขที่ 5 หมู่ที่ 2 ตำบลโพนสุง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี เป็นอีกแห่งที่ปลูกผักหวานป่าขายทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นฤดูไหนก็ตาม โดยมี คุณพิมพ์พกานต์ ซ้ายกาละคำ อดีตพยาบาลสาว เป็นเจ้าของ ซึ่งในสวนนี้มีเนื้อที่ 23 ไร่ นอกจากจะปลูกผักหวานป่า 6.5 ไร่ ยังแบ่งปลูกพืชผักผลไม้อื่นๆ อีก อาทิ ไผ่บงหวาน 6.5 ไร่ ปลูกข้าว รวมถึงมะม่วง มะขามเทศ หม่อน ฝรั่งไส้แดง มะเดื่อฝรั่ง สมุนไพรหลากหลาย พืชผักสวนครัวนานาชนิด และเห็ดขอนขาว

เดิมนั้น คุณพิมพ์พกานต์ ทำงานเป็นพยาบาล อยู่ที่โรงพยาบาลกรุงเทพฯ และเป็นพยาบาลอิสระ รวมระยะเวลากว่า 10 ปี กระทั่งเริ่มสนใจการทำเกษตรอย่างจริงจังเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว แรงจูงใจที่อยากมาทำเกษตร เนื่องจากเจ้าตัวมองแล้วว่าคนต้องกินอาหารทุกวัน การทำธุรกิจอาหารและการเกษตรน่าจะเหมาะกับยุคปัจจุบันที่พืชผักอาหารราคาแพงขึ้น ในส่วนของราคาผักหวานป่าก็แพงมากทีเดียว อีกทั้งยังนำมาปรุงอาหารได้หลายชนิด เช่น แกงเลียง แกงจืด แกงส้ม เป็นต้น

ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2551 ทางครอบครัวได้ลองปลูกผักหวานป่า เพราะเห็นว่าคนอีสานชอบกินแกงผักหวานป่ามาก อีกทั้งคนในพื้นที่ยังไม่มีใครปลูกได้ ดูแล้วมีตลาดรองรับแน่นอน และได้ไปดูแนวทางการปลูกผักหวานป่าจากอำเภอบ้านหมอ จังหวัด สระบุรี จากนั้นสั่งเมล็ดพันธุ์มาเพาะกล้า หลังจากปลูกผักหวานป่ามาได้สัก 7 ปี พ่อก็เสียชีวิต ทำให้แม่ต้องดูแลสวนผักหวานป่าคนเดียว คุณพิมพ์พกานต์จึงได้เข้ามาช่วยงานในสวนเต็มตัว และยังเน้นการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โดยใช้ผลผลิตในสวนมาทำทั้งหมด