นักดัดแปลงเครื่องมือการเกษตร จากเครื่องตัดหญ้า

สู่ระบบให้น้ำพร้อมปุ๋ย ประหยัดต้นทุน จากที่เคยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการปลูกสับปะรดแนวใหม่ที่จังหวัดลำปาง ฝีมือของ คุณกฤษณะ สิทธิหาญ ด้วยการนำวิธีการปลูกสับปะรดโดยใช้พลาสติกสีดำปกคลุมแปลงที่ไถพรวนและยกร่องไว้แล้ว เป็นการป้องกันวัชพืชโดยไม่ต้องใช้สารเคมี อีกทั้งยังช่วยรักษาความชื้นในดินอีกทางหนึ่งด้วย

ในเนื้อหามีการดัดแปลงเครื่องมือใช้เจาะพลาสติกให้เป็นรูหรือช่องที่ทำง่ายและรวดเร็ว โดยใช้เส้นลวดความร้อนที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ที่สะดวกในการพกพา อีกทั้งยังมีเครื่องชาร์จแบตเตอรี่ในตัวด้วย เพื่อนำต้นกล้าสับปะรดปลูกในแต่ละช่องหรือรูที่เจาะไว้ให้เหมาะสมกับขนาดของต้นกล้าสับปะรด ใช้เศษแผ่นป้ายไวนิลปิดยอดหรือจุกสับปะรด ป้องกันแสงแดดถูกผลสับปะรดโดยตรง

โดยปกติแล้วเกษตรกรทั่วไปจะใช้วิธีนำใบสับปะรดห่อตัวเองแล้วใช้ตอกมัด เป็นการทำได้อย่างล่าช้าและเสียค่าจ้างแรงงาน ดัดแปลงเครื่องพ่นสารเคมีหรือพ่นสารจุลินทรีย์ที่ใช้เครื่องพ่นแรงสูง ดัดแปลงเป็นแบบใช้รถเข็นและสามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้ในตัว อุปกรณ์อีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากผู้สนใจ สั่งซื้อสั่งทำเป็นจำนวนมาก นั่นคือ เครื่องตัดหญ้าแบบสะพายบ่า ดัดแปลงให้มาเป็นแบบรถเข็นเดินตาม ทำงานสะดวกสบาย ไม่ต้องสะพายบนไหล่ให้ปวดเมื่อย ตัดหญ้าบนพื้นราบได้วงกว้างมากขึ้น

สำหรับเครื่องตัดหญ้าแบบรถเข็น ได้มีผู้สนใจสั่งซื้อมาจากทุกภาคของประเทศ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดบางประการที่จะต้องแก้ไขและปรับปรุงคือ ระหว่างที่ตัดหญ้านั้น ยังไม่เกิดความคล่องตัวระหว่างที่เหวี่ยงเครื่องตัดหญ้าไปทั้งซ้ายและขวา จึงได้หาซื้อลูกกลิ้งที่มีตลับลูกปืนมาติดตั้งใต้จานรองใบมีด หมุนตัวได้อย่างอิสระ คือไม่หมุนตามใบมีด ทำให้เกิดความคล่องตัวยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการปรับระดับหญ้าที่ตัดด้วย ปรับปรุงส่วนประกอบต่างๆ ของรถตัดหญ้าทั้งหมดให้แข็งแรงขึ้น

ความคิดดัดแปลงของคุณกฤษณะยังไม่หยุดเพียงแค่นี้ เครื่องพรวนดินที่มีบริษัทเอกชนสั่งซื้อจากต่างประเทศมาจำหน่ายในเมืองไทย แต่การทำงานยังไม่มีประสิทธิภาพ เวลาใช้งานจะมีเศษหญ้าติดที่ระหว่างเพลาของใบมีดพรวน คล้ายกับรถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่ที่ใช้จอบหมุนพรวนดิน จะมีเศษหญ้าติดที่ระหว่างใบมีดและเพลาหมุน จะต้องหยุดรถแล้วลงมาดึงเศษหญ้าออก จึงเกิดความคิดว่าหากหาวิธีป้องกันไม่ให้เศษหญ้าติด ควรจะใช้อุปกรณ์ป้องกันติดตั้งไว้ระหว่างเพลาหมุนกับใบมีด จึงหาซื้อเครื่องพรวนดินมาดัดแปลงตามแนวคิด ผลปรากฏว่าทำงานได้ดีมากกว่าที่สั่งซื้อมาจากต่างประเทศ

ที่สำคัญคือ สามารถปรับเปลี่ยนจากเครื่องตัดหญ้าแบบรถเข็นนั้น เปลี่ยนมาใช้เครื่องพรวนดินได้ด้วย เพียงแต่เปลี่ยนก้านใบมีดที่ส่วนปลายเพลาของเครื่อง มาใช้เป็นเครื่องพรวนดิน เรียกว่าใช้เครื่องตัดหญ้าแบบรถเข็นที่ดัดแปลงไปแล้วนั้น ยังสามารถใช้พรวนดินได้ทั้งที่ใช้เครื่องเพียงเครื่องเดียว ขณะนี้กำลังขยายการผลิตเครื่องพรวนดินให้เป็นแบบอย่างและจำหน่ายให้แก่เกษตรกรในราคาถูก

ผลงานล่าสุดคือ ให้ความร่วมมือกับสถาบันวิจัยเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง สร้างระบบการให้น้ำพืชผักพร้อมให้ปุ๋ยในคราวเดียวกัน โดยมีข้อคิดว่าการให้น้ำพร้อมปุ๋ยนี้มีมานานแล้ว แต่ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศในราคาแพง จึงได้ทดลองทดสอบกับพืชตระกูลแตงในบริเวณสถาบันวิจัยเทคโนโลยีการเกษตร โดยแบ่งออกเป็นระบบส่งน้ำ ระบบส่งปุ๋ยน้ำที่ผ่านการกรองละเอียดแล้ว จึงส่งผ่านระบบน้ำผ่านท่อพีวีซี มีท่อย่อยต่อไปในแปลงเป็นแบบระบบน้ำหยด คาดหมายว่าจะประสบผลสำเร็จ ซึ่งจะได้สรุปผลงานเร็วๆ นี้

แต่ที่สำคัญคือ เป็นการลงทุนต่ำกว่าการซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ ลงทุนประมาณ 20,000 กว่าบาท ขึ้นอยู่กับขนาดของแปลงปลูกพืชผักที่จะต้องเพิ่มจำนวนท่อพีวีซีและท่อยางอ่อน หรืออาจจะต้องเพิ่มชุดระบบน้ำและปุ๋ยให้เพียงพอกับพื้นที่ปลูก

ทางก้าวเดินบนถนนของชีวิตกับเวลาที่ผ่านมาบนโลกใบนี้ มีเส้นทางที่สามารถให้เราเลือกก้าวเดินได้หลากหลาย มีเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นบนเส้นทางระหว่างก้าวเดิน ล้วนคือบทเรียนของชีวิตทั้งสิ้นเช่นกัน จะสมหวังหรือผิดหวังไปบ้างในบางครั้งช่างปะไร เพราะชีวิตนี้ยังคงก้าวเดินต่อไป ไม่มีเส้นทางที่จะก้าวเดินไปได้อย่างราบรื่นสบายเท้าตลอดเวลาหรอกครับ คนที่สู้ชีวิตจะไม่มีคำว่าท้อแท้ หรือยอมแพ้อย่างเด็ดขาด บุคคลที่มีคุณสมบัติเช่นนี้สำหรับบนถนนเส้นทาง เดินห่าง…จากความจน ยินดีต้อนรับเสมอ ช้ากันอยู่ทำไม ก้าวกันมาได้เลยครับ เพียงแค่อย่าลืมพกความขยันและอดทนมาด้วยจะได้ช่วยให้สามารถก้าวเดินได้อย่างสบายเท้ามากยิ่งขึ้น

ก่อนอื่น เหมือนเช่นทุกครั้งเบื้องต้นนี้ขอได้รับความขอบพระคุณอย่างมากๆ จากนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านและผู้เขียน ผมเป็นปลื้มอย่างที่สุดของที่สุด ไม่ว่าจากการส่งเสียงไปหาไม่ขาดระยะ หรือจากเฟซบุ๊ก ที่ใช้ชื่อ นายสมยศ ศรีสุโร ทุกเรื่องยังคงเป็นเรื่องราวของ ชะอมไม้เค็ด 2009 ทั้งสิ้นชนิดไม่รู้เบื่อ และแฟนๆ จะเน้นอีกว่า ไปเขียนเรื่องอื่นไปบ้างแต่ห้ามลืมเรื่องราวที่เกี่ยวกับ ชะอมไม้เค็ด 2009 เด็ดขาด เพราะเป็นเรื่องที่รออ่านกันอยู่ ขอบคุณอีกครั้ง ติดตามกันต่อไปนะครับแฟนๆ

ปักษ์นี้ขอนำเสนอถึงเรื่องราวของสวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง หลังจากเมื่อปีที่ผ่านมาผมได้นำเสนอเรื่องนี้ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากแฟนๆ ที่สนใจเยอะมาก ทั้งที่ต้องการผลผลิตและต้องการไปเยี่ยมหาที่สวน จากคำบอกเล่าของเจ้าของสวนคือ คุณนที เมฆรุ่งโรจน์ ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมการค้าไทยไหหลำ (THAI HAINANESS TRADE ASSOCIATION)

คุณนที ได้บอกกับผมไปว่า มีผู้สนใจติดต่อเข้ามาหาในหลากหลายความต้องการ ไม่ว่าเรื่องการขอเข้าไปเยี่ยมชมเพื่อศึกษาเรื่องราวรายละเอียดต่างๆ ภายในสวน หรือบางท่านต้องการผลผลิต เป็นต้น ให้ผมได้รับทราบ เมื่อเป็นเช่นนี้ผมจึงได้นัดหมายพร้อมกลับไปเยี่ยมหาอีกครั้ง เพื่อนำมาเสนอสำหรับแฟนๆ ที่กำลังสนใจเรื่องราวเช่นนี้ สำหรับเป็นการตัดสินใจในทุกรายละเอียดก่อนลงมือ

ก่อนอื่น ผมขอย้อนความหลังสักนิดก่อนนะครับสำหรับการต่อเนื่องกับแฟนๆ ทั้งที่เคยติดตามมาก่อน และแฟนๆ คนใหม่ที่สนใจ เรื่องราวมีเช่นนี้ครับ คุณนที มีเนื้อที่สวนทั้งสิ้น ประมาณ 100 ไร่ ตั้งอยู่เลขที่ 49 หมู่ที่ 7 บ้านโพธิ์ศรี ตำบลหนองกระทุ่ม อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ได้แบ่งเนื้อที่ดังนี้คือ ใช้ที่ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองทั้งสิ้น ประมาณ 60 ไร่ เนื่องจากต้องการที่จะเน้นเรื่องการปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเป็นพระเอก ดังนั้น จึงต้องนำมาคิดก่อนเป็นอันดับแรก

สวนแห่งนี้ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองโดยใช้ระยะห่างของต้น 3 เมตร และระยะห่างแต่ละแถว 5.70 เมตร ใช้จำนวนต้นมะม่วง แถวละ 50 ต้น แถวซ้ายมือมีจำนวน 70 แถว ขวามือจำนวน 40 แถว รวมทั้งสิ้น 110 แถว ต้นมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองที่นำปลูกลงไปจึงมีจำนวนทั้งสิ้น 5,500 ต้น

ทำไมจึงเลือกปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจำนวนมากเช่นนี้ หลังจากที่ได้ศึกษาถึงมะม่วงสายพันธุ์นี้ คุณนทีพบว่า เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ พร้อมกับมีความต้องการในเบื้องต้นคือจะเน้นการส่งออกให้ได้มากที่สุด แม้ว่าจะเป็นการลงทุนจำนวนที่สูงไปบ้างก็ตาม อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญมากคือ ต้องการทำให้มีผลผลิตออกนอกฤดูกาลให้ได้มากที่สุดเช่นกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ทุกเรื่องราวของมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองที่นี่จึงได้ออกแบบสวนออกมาให้เป็นลักษณะต่อไปนี้คือ เน้นต้นที่มีพุ่มที่ไม่สูงมาก ใช้แรงงานคนยืนห่อลูกมะม่วงหรือเก็บผลผลิตได้สะดวก เมื่อถึงเวลาสามารถลงมือปฏิบัติงานโดยไม่ต้องพึ่งอุปกรณ์มาปีนป่าย สำหรับประเด็นต่อมาเมื่อต้องการตัดแต่งกิ่งมะม่วงหลังจากเก็บผลผลิตเรียบร้อยแล้วก็จะสามารถทำงานได้ง่ายสะดวกรวดเร็วอีกด้วย

ที่สำคัญอีกประเด็นคือ ไม่จำเป็นต้องให้มีผลผลิตจำนวนมากในแต่ละต้น แต่ที่เน้นอย่างมากคือคุณภาพของผลผลิตต้องเยี่ยมสุดๆ เป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงหรือรสชาติ ต้องการผลผลิตที่ออกมานั้นส่วนใหญ่จะต้องให้มีน้ำหนัก 3 ผล ต่อ 1 กิโลกรัม หรือใกล้เคียงมากที่สุด เพราะนี่คือความต้องการของตลาดสำหรับนำมาบรรจุเพื่อการส่งออกโดยทั่วไป

ประเด็นสุดท้ายที่เน้นชนิดสุดยอดมากๆ แบบว่าเยี่ยมจริงๆ คือ แปลงที่ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองนี้ต้องดูสวยงาม เป็นแนวระดับทุกจำนวนต้นของระยะแถว สามารถมองดูแล้วเรียบร้อย สดสวย สะอาดตา และบริเวณสวนทั้งหมดต้องสะอาด น่าสัมผัสอีกด้วยเมื่อมีผู้มาเยี่ยมหา มองแล้วไม่เบื่อตาจริงๆ ครับแฟนๆ

สำหรับเนื้อที่ที่เหลืออยู่อีกประมาณ 40 ไร่ แบ่งออกเป็นที่พักอาศัย ที่พักคนงาน ที่เก็บของใช้ต่างๆ และใช้ปลูกมะนาวในถังซีเมนต์ด้านหน้าสวน ประมาณ 3 ไร่ สำหรับที่เหลือใช้ปลูกมะม่วงอีกหลายสายพันธุ์ เช่น มะม่วงมันเดือนเก้า จำนวน 50 ต้น มะม่วงงามเมืองย่า มะม่วงโชควิเชียร และมะม่วงสายพันธุ์ปลาตะเพียน อย่างละประมาณ 10 ต้น และอีกประมาณ 10 ไร่ ได้ลงมือปลูกมะม่วงโชคอนันต์และมหาชนกไว้อีกเต็มพื้นที่ เนื่องจากมะม่วงสายพันธุ์ที่มีอยู่นี้จะมีแม่ค้าเข้ามารับซื้อถึงสวนเมื่อถึงฤดู มีจำนวนแค่ไหนไม่ปฏิเสธทั้งสิ้น ขอเพียงบอกไปเท่านั้นจะเข้าไปหาทันที

สำหรับเรื่องราวของสวนนี้ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก หากท่านใดที่ต้องการเรื่องราวรายละเอียดต่างๆ ของการปลูกมะม่วงและเรื่องราวของระบบน้ำที่นำมาใช้ เนื่องจากภายในสวนนี้จะสะอาด ร่มรื่น น่าสัมผัสมาก ทั้งที่ใช้แรงงานที่อยู่ประจำแค่ 2 คน เท่านั้น จะมีการจ้างแรงงานท้องถิ่นเป็นรายวันเพิ่มขึ้นบ้างหากต้องการงานเร่งด่วน เช่น การกำจัดวัชพืช การเก็บเกี่ยวผลผลิตหรือการตัดแต่งกิ่ง เป็นต้น

สำหรับในส่วนของการให้น้ำนั้น ภายในสวนทั้งหมดจะวางระบบน้ำแบบให้เครื่องกรองน้ำก่อนแล้วจึงจะปล่อยไปให้ต้นมะม่วงด้วยระบบน้ำหยด หรือการให้ปุ๋ย สวนนี้จะเน้นปุ๋ยขี้หมูไปตามสายน้ำหยดเช่นกันตลอดทั้งสวน และจะมีการจัดวางระบบมินิสปริงเกลอร์หลังจากที่ต้นมะม่วงมีระยะเวลาตั้งแต่ปีที่ 2 เป็นต้นไป ที่เริ่มเจริญเติบโตและต้องการน้ำเพิ่มมากขึ้น นับว่าเป็นสวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองที่ครบเครื่องทุกเรื่องราวจริงๆ ครับ

จากประสบการณ์ที่ผ่านมากว่า 6 ปี ที่คุณนทีได้ลองผิดลองถูก หรือบางครั้งที่เกิดจากสภาวะของภูมิอากาศที่ทำให้เกิดความเสียหายชนิดที่แบบว่าไม่คาดคิด ทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นผ่านมานั้นจึงเป็นประสบการณ์ที่ได้ศึกษามาแล้วทั้งสิ้น คุณนทีบอกกับผมอย่างมั่นใจว่า ปีนี้จะพลาดไม่ได้อีกแล้วครับ จึงได้มีการวางแผนสำหรับปีนี้ว่า ผลผลิตสำหรับมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองนั้นจะให้มีผลผลิตออกนอกฤดูมาอย่างต่อเนื่องได้อย่างแน่นอน

ขั้นตอนที่ได้ลงมือปฏิบัติคือการวางแผนให้มีผลผลิตออกมาครั้งละประมาณ 1,000 ต้น จาก 5,000 กว่าต้นที่มีอยู่ โดยแบ่งออกเป็นรุ่น รุ่นละ 1,000 ต้น โดยให้ได้ผลผลิตออกมาห่างกันในระยะเวลาประมาณ ครั้งละ 2 สัปดาห์ แบบว่าจะไม่ให้ขาดช่วง ให้ได้จำนวนทั้งสิ้น 5 รุ่น ก่อนที่จะถึงเดือนเมษายนที่เป็นฤดูปกติสำหรับที่มะม่วงสายพันธุ์นี้จะออกมาจนล้นในตลาด ดังนั้น มะม่วงรุ่นแรกของสวนนี้ได้วางแผนที่จะเริ่มออกตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป

ผมนั้นยังจำประโยคหนึ่งสำหรับคุณนทีที่ได้เคยพูดกับผมไว้เมื่อพบกันครั้งแรกว่า จะไม่กลัวกับทุกๆ ปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมแก้ไข ปรับปรุง ทั้งสิ้น ขอแค่เพียงให้ผลผลิตที่ได้ออกมานั้นต้องมีคุณภาพที่ดีเยี่ยมเป็นอันดับแรกเสียก่อน แบบว่าเมื่อทุกคนได้เห็นและสัมผัสแล้วต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าดีเยี่ยมทุกอย่างพร้อมเป็นที่ยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นสีของผิวและรูปทรงของมะม่วง ตลอดไปจนถึงรสชาติเมื่อได้สัมผัสลิ้น หากได้ผลเช่นนี้ ปัญหาต่างๆ คงไม่น่าจะมีให้ปวดหัวหรือจะมีบ้างก็คงน้อยมาก

หลังจากที่ผมได้นำมาเสนอในคอลัมน์นี้ ปรากฏว่าได้มีแฟนๆ สนใจติดต่อไปเยี่ยมหาหลายรายเพื่อมาศึกษาระบบต่างๆ ภายในสวน ที่สุดยอดกว่านั้นเมื่อประมาณต้นเดือนตุลาคมของปีที่ผ่านมา ได้มีองค์กรภาครัฐจากรัฐเปอร์ลิส (PERLIS STATE ECONOMIC DEVELOPMENT CORPERATION) ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐด้านเกษตรและกลุ่มนักธุรกิจจากประเทศมาเลเซีย ได้มาเยี่ยมชม ทุกท่านที่มาล้วนประทับใจกับทุกเรื่องราวที่ได้พบเห็นทั้งสิ้น

และในครั้งนี้เช่นกันที่คุณนทีได้บอกกับผมเป็นประโยคสุดท้ายก่อนจากกันว่า ปีต่อไปผมจะพยายามทำให้สวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองนี้เป็นแบบสวนอินทรีย์ทั้งหมด ระยะนี้เริ่มลงมือบ้างแล้วในเรื่องของปุ๋ยชีวภาพ คิดว่าปีหน้าหากผมมาเยี่ยมหาจะพบว่าทุกอย่างเรียบร้อย จะสามารถเรียกว่าสวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองแบบอินทรีย์เต็มรูปแบบแน่นอนครับ และเมื่อถึงเวลานั้นผมจะแวะไปเยี่ยมหาอีกสักครั้งครับท่าน

แฟนๆ ครับ สวนนี้จึงถือได้ว่าเป็นสวนที่มีเนื้อที่ใช้ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเป็นจำนวนมากอีกสวนหนึ่งที่มีรายละเอียดต่างๆ ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง หากท่านใดมีความสนใจจะไปเยี่ยมหาก่อนตัดสินใจลงมือกับเรื่องราวเช่นนี้ หรือติดต่อเรื่องของผลผลิต กรุณาติดต่อ คุณนที โทร. (094) 328-7945 ทุกรายละเอียด เรียนเชิญนะครับ ยินดีต้อนรับ กรุณาสอบถามเส้นทางก่อนไปเยี่ยมหาเพื่อการนัดหมายนะครับ

สุดท้าย หากเราจะลองย้อนกลับมามองรอยเท้าตามเส้นทางที่ได้เคยเดินมาก่อน บางครั้งบนรอยเท้าที่เราเดินนั้นเชื่อไหมว่าจะมีเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่เดินสะดุดหรือไม่ราบรื่นนัก เราพร้อมที่จะปรับแต่งเพื่อนำไปประยุกต์กับการก้าวเดินในก้าวปัจจุบันให้ได้ชนิดสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น แม้ว่าเราจะคงอยู่กับสิ่งเดิมๆ ที่เกิดขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นกลางวัน กลางคืน หรือดวงตะวันดวงเดิมก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เหมือนกันคือระยะการก้าวเดินกับระยะเวลาที่เราได้สัมผัสระหว่างการเดินในเวลาที่เหลืออยู่ของชีวิต

แฟนๆ ครับ เห็นแสงของคืนวันเพ็ญในยามค่ำคืนไหม พระจันทร์เต็มดวงสีนวลสดสวยเต็มท้องฟ้า ถึงแม้บางครั้งจะมีก้อนเมฆทะมึนมาบดบังแสงจันทร์บ้างก็ตาม แต่ก็เป็นแค่ช่วงหนึ่งของเวลาเท่านั้น ในที่สุดแสงจันทร์ก็จะกลับมาส่องแสงสีนวลเต็มท้องฟ้าใหม่เช่นเดิม เช่นกัน คนที่ไม่ยอมแพ้ พร้อมสู้และสู้ จะสามารถพยุงตัวเองให้ยืนพร้อมก้าวออกเดินไปบนเส้นทางชีวิตกับเวลาที่เหลืออยู่ได้อย่างเต็มแน่นทั้งสองเท้าของตัวเองอย่างมั่นคงและมั่นใจอย่างแน่นอน พร้อมกันหรือยังครับ? ขอบคุณ สวัสดี

เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บนเนื้อที่ 2 ไร่ติดชายเขาพื้นที่หมู่ 5 ต.ควนสะตอ อ.ควนโดน จ.สตูล ซึ่งประกอบด้วยพืชผักและพรรณไม้นานาชนิด ที่ปลูกอย่างผสมผสานเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

น.ส.ฟ้าใส บุญส่ง เจ้าของฟ้าใสฟาร์ม วัย 42 ปี เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปว่า “ย้อนกลับไปเมื่อปี 2553 ขณะนั้นสำเร็จการศึกษาปริญญาโทด้านการส่งเสริมกรเกษตรจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช(มสธ.) เริ่มอาชีพการเป็นนักวิจัยอิสระ ควบคู่กับทำงานประจำ และได้ศึกษาแนวทางเกษตรธรรมชาติของมาซาโนบุ ฟูกูโอกะ เจ้าของแนวคิดชาวญี่ปุ่น กระทั่งเล็งเห็นว่าปัจจุบันคนเรามีอายุเฉลี่ยที่สั้นลง เนื่องจากกินพืชผักที่มีสารพิษไปสะสมในร่างกาย จึงผันตัวมาทำการเกษตรที่ปลอดภัย ก่อนจะตัดสินใจลาออกจากงานประจำ โดยมีความตั้งใจแน่วแน่มาทำการเกษตรตามแนวทางเกษตรธรรมชาติ ซึ่งเน้นให้การเพาะปลูกพืชทุกชนิดเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้สารเคมีใดๆทั้งสิ้น”

น.ส.ฟ้าใส กล่าวต่อว่า จากนั้นในปี 2554 ได้เข้ามาซื้อที่ต่อจากเจ้าของเดิมบนพื้นที่ 2 ไร่ ลงมือลงแรงร่วมกับนายนิเวศ ชายฝั่ง ผู้เป็นคู่ชีวิต ซึ่งลาออกจากงานประจำตำแหน่งนักพัฒนาองค์กรเอกชนมาช่วยกันปรับเปลี่ยนพื้นที่ เพาะปลูกพืชผักและพรรณไม้นานาชนิดเท่าที่จะหาพันธุ์มาปลูกได้ อาทิ ผักกวางตุ้ง คะน้า อ้อย ชะพลู ขมิ้น พริกขี้หนู เตยหอม กระชาย บัวบก อัญชัน กุหลาบ ตลอดจนพันธุ์ไม้พื้นเมืองอีกหลายชนิด โดยปลูกตามแนวคิดเกษตรธรรมชาติให้ทุกอย่างอยู่กันอย่างสมดุลเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ท่ามกลางสายตาผู้คนหาว่า“บ้า” แต่ก็ไม่ได้สนใจ เพราะรู้ว่ากำลังทำอะไรกันอยู่ ต้นทุนการเพาะปลูกจะต่ำมากๆ เนื่องจากพันธุ์ก็หาได้จากท้องถิ่น ไม่ใช้ปุ๋ยและสารเคมี ทำให้ไม่มีรายจ่ายในส่วนนี้ ต่อมามีเจ้าหน้าที่เข้ามาแนะนำให้ขอมาตรฐาน organic thailand จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จึงได้ยื่นคำขอไป และได้รับการตรวจสอบมาตรฐานโดยอยู่ในระยะปรับเปลี่ยน เพียง 3 เดือนก็ผ่านมาตรฐาน ได้รับการรับรองอย่างถูกต้อง

ผลผลิตของฟาร์มในระยะแรกเริ่มจะเน้นการบริโภคเองและแจกจ่ายเพื่อนบ้าน ต่อมาเริ่มมีคนเข้ามาติดต่อขอซื้อจึงแบ่งขาย ปัจจุบันผลผลิตบางส่วนจะนำมาวางจำหน่ายที่ตลาดเกษตรกร หน้าศาลากลางจังหวัด ผลผลิตอีกจำนวนหนึ่งจะทำการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆของฟาร์ม อาทิ แชมพูสระผมจากดอกอัญชัน ชาใบหม่อน ชารางจืด สบู่ขมิ้น ฯลฯ จำหน่ายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ สร้างรายได้เป็นอย่างดี อีกทั้งรายได้อีกทางของฟาร์มมาจากการเพาะและจำหน่ายพันธุ์ไม้ท้องถิ่น ซึ่งบางชนิดหายากเป็นที่ต้องการ เช่น ยอบ้าน แคนา จำปาดะ หมากหมก ผักหวานบ้าน ผักปรัง เป็นต้น

ทั้งนี้ได้ยึดถือและน้อมนำเอาแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเป็นแนวปฏิบัติเจริญรอยตามพระองค์ ซึ่งทุกอย่างตามแนวพระราชดำรินั้นสามารถทำได้ทันที เน้นการพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด สร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง จนขณะนี้ฟ้าใสฟาร์มเป็นสถานที่ศึกษาดูงานด้านเศรษฐกิจพอเพียงและด้านเกษตรอินทรีย์ ของผู้สนใจทั่วไป เยาวชน ชุมชน ต่างๆ ติดต่อเข้ามาศึกษาดูงานอย่างไม่ขาดสาย

มีความตั้งใจจะพัฒนา “ฟ้าใสฟาร์ม” ให้มีหลักสูตรเรียนรู้ด้านการพึ่งพาตนเอง และด้านเกษตรอินทรีย์ ให้บุคคลที่สนใจเข้ามาฝึกอบรมได้ต่อไป หากถามว่าวันนี้ถือว่าประสบความสำเร็จสำหรับชีวิตแล้วหรือยัง เจ้าของฟ้าใสฟาร์ม ตอบไว้อย่างน่าสนใจ ว่า ประสบความสำเร็จแล้วตั้งแต่ลงมือทำ เพราะตนกับแฟนทำด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ และเลือกที่จะใช้ชีวิตตามแนวคิดของ จอน-จัน-ได คือ “ทำชีวิตให้มันง่าย หากมันยากแสดงว่ามันผิด” และเป็นความโชคดีที่ผลิตผลที่ออกจากฟาร์มนำไปจำหน่ายหมดทุกครั้ง จากการทำบัญชีครัวเรือนทำให้ฟ้าใสฟาร์ม พบว่ามีรายได้ต่อปี 200,000 บาท ซึ่งก็พอใจและพร้อมจะเผยแพร่ให้กับคนในชุมชน และเปิดฟาร์มให้เป็นที่ศึกษาดูงาน

ด้านนายไชยพงค์ ทะนันชัย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กล่าวว่า สถานที่แห่งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเป็นต้นแบบของเกษตรกรอินทรีย์ และเป็นหนึ่งในสมาชิกสมาร์ทยังฟาร์มเมอร์ เกษตรกรรุ่นใหม่ตัวอย่าง ที่ประสบความสำเร็จจากความชอบส่วนตัวมาถึงขั้นตอนการเรียนรู้อย่างจริงจังจนประสบความสำเร็จ ซึ่งตอบโจทย์ยุคสมัยของการบริโภคพืชผักและสินค้าปลอดภัยสารเคมี

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มะเขือเทศ ผักผลไม้ ที่มาไกลจากต่างแดน ได้เข้าสู่วิถีครัวไทยมานานพอสมควร โดยเฉพาะเมนูอาหารเหนือและอีสาน เช่น ส้มตำ น้ำพริกอ่อง อาหารยำ ต้มยำ ฯลฯ สายพันธุ์มะเขือเทศที่คนไทยคุ้นเคยมาอย่างยาวนาน คือ มะเขือเทศผลเล็ก สีชมพู ที่เรียกว่า มะเขือเทศสีดา ปัจจุบัน มีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ เกษตรกรบ้านทุ่งเดิ่น ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ส่วนใหญ่มีอาชีพ ทำไร่ ทำนา ต่างพากันหันมาปลูกมะเขือเทศส่งขายในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งเป็นพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อย เก็บผลผลิตรายได้งามวัน ละ 1,500 บาท

นางดวงมณี สายบัว อายุ 38 ปี หนึ่งในเกษตรกรที่ปลูกมะเขือเทศ ที่บ้านทุ่งเดิ่น ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ตนและครอบครัวยึดอาชีพปลูกมะเขือเทศมากว่า 10 ปีแล้ว มะเขือเทศเป็นพืชที่ปลูกง่าย ดูแลง่าย โตเร็ว น้ำหนักเยอะ ใช้น้ำน้อย ทนต่อโรค ใช้เวลา 75 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตขายได้ ซึ่งตอนนี้ ก็เก็บเกี่ยวผลผลิตออกขายแล้ว โดยมะเขือเทศที่ส่งขาย จะมีพ่อค้า แม่ค้า มารับซื้อที่สวน ปัจจุบัน ราคากิโลกรัมละ2 บาท ใน 1 วันตนและครอบครัว จะเก็บมะเขือเทศขายรายได้เฉลี่ย 1,500 – 2,000 บาท ต่อวัน ทั้งนี้เรื่องของราคาปรับขึ้นลงตามกลไกของตลาด สำหรับมะเขือเทศที่ปลูกคือพันธุ์เพชรชมพู มีคุณลักษณะเด่น คือ ให้ผลผลิตสูง ติดลูกเร็ว ค่อนข้างต้านทานโรคเหี่ยวเขียว พ่อค้า แม่ค้าขายส้มตำ นิยมนำไปใช้เป็นส่วนผสมในส้มตำ

เห็ดตับเต่า ได้พึ่งพาต้นโสนเป็นพืชอาศัยเพื่อทำให้เชื้อเห็ดเดินและเจริญเติบโตได้ดี เห็ดตับเต่าเป็นอาหารโปรตีนชั้นยอดที่มีผู้นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลายในทุกภูมิภาคของไทย ปัจจุบันความก้าวหน้าทางด้านการศึกษาวิจัยเห็ดและผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงมีผู้สนใจได้นำผลงานมาต่อยอดด้วยการเพาะเห็ดตับเต่าขายในเชิงการค้า เห็ดตับเต่าเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่จะผลิตสร้างรายได้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตในแบบวิถีพอเพียง มั่นคง วันนี้จึงนำเรื่อง เห็ดตับเต่า…พืชเศรษฐกิจในดงโสน ผลิตเพื่อการค้าด้วยวิถีพอเพียง มาบอกเล่าสู่กัน

คุณวิภาดา สุภานันท์ เกษตรอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล่าให้ฟังว่า ในช่วงฤดูฝนมักจะมีเห็ดตับเต่าและเห็ดอีกหลายชนิดเจริญเติบโตในป่าธรรมชาติ และเห็ดตับเต่าเป็นชนิดหนึ่งที่มีผู้นิยมบริโภคกันแพร่หลายในทั่วทุกภูมิภาคของไทย โดยเฉพาะหมู่คนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เห็ดตับเต่ามีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงตับ บำรุงปอด บำรุงกำลัง หรือดับพิษร้อนภายในร่างกาย นอกจากนี้ ยังช่วยบำบัดอาการปวดข้อ ปวดเส้นเอ็น หรือปวดหลัง

เห็ดตับเต่า มีชื่อเรียกต่างกัน ภาคเหนือ เรียกว่า เห็ดห้า เนื่องจากพบอยู่ใต้ต้นหว้า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกว่า เห็ดผึ้ง เพราะเมื่อนำเห็ดตับเต่าไปแกงสีของน้ำแกงจะเหมือนกับสีของน้ำผึ้งที่ชวนให้ชิมลิ้มลองรสชาติ

เห็ดตับเต่า จัดอยู่ในกลุ่มเอคโตไมคอร์ไรซ่า (Ectomycorrhiza, ECM) คือ เป็นเชื้อราที่มีความสัมพันธ์กับระบบรากอาหารของต้นพืชชั้นสูง เป็นการอาศัยอยู่ร่วมกันแบบเอื้ออำนวยประโยชน์ซึ่งกันและกันคือ ต้นไม้ได้รับน้ำและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตจากเชื้อรา และเชื้อราช่วยป้องกันรากพืชจากการเข้าทำลายของเชื้อโรค ในส่วนเชื้อราก็ได้รับสารอาหารจากต้นไม้ที่ปลดปล่อยออกมาทางระบบราก ได้แก่ โปรตีน วิตามิน หรือน้ำตาล

พืชอาศัย เห็ดตับเต่าเป็นพืชที่ต้องพึ่งพาหรืออยู่ร่วมกับรากพืชอาศัยหลายชนิด เช่น ต้นมะกอกน้ำ ยางนา หรือต้นโสน เพื่อให้เชื้อเห็ดเดินและเจริญเติบโตเป็นดอกเห็ดที่สมบูรณ์พร้อมให้เก็บไปบริโภค เห็ดตับเต่าไม่สามารถเพาะให้เกิดดอกเห็ดในสภาพโรงเรือนเหมือนกับเห็ดชนิดอื่นได้ ปัจจุบัน เห็ดตับเต่า เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญในท้องถิ่นที่เกษตรกรนำมาเป็นอาชีพทางเลือกในการยกระดับรายได้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการดำรงชีพที่พอเพียงและมั่นคง

ป้าเดือนเพ็ญ รื่นรส ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเห็ดตับเต่าคลองโพ เล่าให้ฟังว่า สาเหตุที่เพาะเห็ดตับเต่าเนื่องจากได้ไปเก็บเห็ดในป่าและดงโสนมาทำอาหารกินในครัวเรือน เมื่อพ่อค้าเร่เข้ามาซื้อขายสินค้าเกษตรในชุมชน และพบว่าตนเองและมีเพื่อนบ้านหลายคนได้นำเห็ดตับเต่ามาปรุงรสอาหารกิน จึงแสดงความต้องการว่า ถ้ามีเห็ดตับเต่าปริมาณมากก็จะขอรับซื้อไปขายที่ตลาดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย

เมื่อมีทางเลือกที่ดี จึงใช้พื้นที่ 1 งาน ทดลองเพาะเห็ดตับเต่าในดงโสน การเพาะเลี้ยงได้ใช้วิธีการลองผิดลองถูกแบบธรรมชาติ ปรากฏว่าได้ผลผลิตเกือบ 10 กิโลกรัม นำออกขายให้กับพ่อค้า ได้ 20 บาท ต่อกิโลกรัม และระหว่างที่เพาะเห็ดเพื่อนบ้านได้เข้ามาเรียนรู้วิธีการเพาะเลี้ยงเห็ดตับเต่าไปด้วยกัน พร้อมกับนำไปปฏิบัติในพื้นที่ของตนเอง ทำให้ทุกคนประสบความสำเร็จมีเห็ดตับเต่ากินและขายเป็นรายได้มีวิถีที่มั่นคงขึ้น

ปี 2549 เพื่อนเกษตรกรจึงรวมตัวกัน แล้วไปขอจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเห็ดตับเต่าคลองโพ ที่สำนักงานเกษตรอำเภอบางปะอิน ปัจจุบัน มีสมาชิก 107 คน มีเป้าหมายเพื่อรวมกันผลิตรวมกันขาย ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน พร้อมกับมีหน่วยงานภาคเอกชนและรัฐได้เข้ามาให้การสนับสนุนความรู้ด้านวิชาการและเสริมทักษะด้วย

สมาชิกแต่ละรายจะเพาะเลี้ยงเห็ดตับเต่าในบริเวณพื้นที่ดงโสนของตน ใช้พื้นที่เพาะตั้งแต่ 1 งานขึ้นไป บางรายใช้พื้นที่เพาะเห็ด 7-10 ไร่ แต่ละรายจะได้ผลผลิตเห็ดเฉลี่ย 600 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อฤดู

โดยส่วนตัวได้เพาะเห็ดตับเต่าในดงโสน พื้นที่ 7 ไร่ โดยใช้ต้นโสนเป็นพืชอาศัยให้เห็ดตับเต่าเจริญเติบโต

วิธีการเพาะเลี้ยง จะเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงมกราคม เป็นช่วงที่ต้นโสนเริ่มแก่ต้องทยอยตัดทิ้ง เมล็ดโสนแก่จะร่วงลงในบริเวณพื้นที่ก็ปล่อยให้งอกและเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นต้นใหม่ เมื่อต้นโสนมีความสูงประมาณ 1 ฟุต ได้ถอนแยกให้เหลือต้นที่สมบูรณ์ไว้พร้อมกับเว้นระยะระหว่างต้นและแถวห่างกัน 70×70 เซนติเมตร เพื่อให้ดงโสนโปร่ง เมื่อต้นโสนมีความสูง 1 เมตรขึ้นไป ก็เหมาะสมที่จะให้เป็นพืชอาศัยในการเพาะเห็ดตับเต่าได้ดี

ในราวเดือนมีนาคม-เมษายน ได้ปรับบริเวณพื้นที่ดงโสนให้เสมอกัน รดน้ำเพื่อปรับพื้นที่ให้มีความชื้นที่เหมาะสม นำเชื้อเห็ดตับเต่าที่มีส่วนผสมของเชื้อเห็ด 1 ส่วน กับน้ำ 3 ส่วน คนให้เข้ากัน นำไปตักสาดให้กระจายรอบๆ โคนต้นโสน หลังจากนั้นถ้าสังเกตพบว่าดินในบริเวณพื้นที่เพาะเห็ดแห้งก็รดน้ำเพิ่ม เพื่อปรับสภาพพื้นที่ให้มีความชื้นพอเพียง แต่ถ้าดินในบริเวณพื้นที่เพาะยังมีความชื้นดีอยู่ ใน 2-3 วัน จึงจะให้น้ำเพื่อรักษาความชื้น และถ้าสังเกตว่าเชื้อเห็ดไม่เดินหรือไม่มีการเจริญเติบโตได้ ต้องผสมเชื้อเห็ดแล้วนำมาตักสาดให้กระจายซ้ำลงไปบริเวณพื้นที่เดิมนั้นอีกครั้ง

แต่ถ้าสังเกตว่าเชื้อเห็ดที่ตักสาดกระจายในครั้งแรกมีการเดินหรือเจริญเติบโตได้ดีในช่วง 30-40 วัน ก็จะเริ่มเก็บเห็ด โดยเฉลี่ยพื้นที่กว้าง 2 เมตร และยาว 20 เมตร จะเก็บเห็ดได้ประมาณ 20 กิโลกรัม นำออกขาย ราคา 120-130 บาท ต่อกิโลกรัม มีเห็ดตับเต่าให้เก็บทุก 7 วัน ต่อครั้ง และเก็บได้นาน 4 เดือนกว่า จากนั้นก็จะเป็นช่วงพักแปลง

ในช่วงพักแปลงนี้ได้ปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกกล้วย เลี้ยงเป็ดหรือเลี้ยงไก่ เพื่อเป็นอาหารและขายสร้างรายได้ จากกิจกรรมผสมผสานกันหลายชนิด จึงมีงานให้ทำทั้งปี มีกินมีรายได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะเห็ดตับเต่าพืชเศรษฐกิจสำคัญเป็นชนิดที่มีผู้ชื่นชอบและซื้อไปบริโภคกันแพร่หลาย จึงทำให้มีรายได้พอเพียงในการดำรงชีพอยู่ได้อย่างมั่นคง

เรื่อง เห็ดตับเต่า…พืชเศรษฐกิจในดงโสน ผลิตเพื่อการค้าด้วยวิถีพอเพียง เป็นการเพาะเห็ดตับเต่าในดงโสนพืชอาศัย เมื่อได้ระยะเวลาเหมาะสมก็เก็บมากินและขายสร้างรายได้ เป็นทางเลือกการดำรงชีพด้วยวิถีพอเพียงที่มั่นคง สอบถามเพิ่มเติมที่ ป้าเดือนเพ็ญ รื่นรส 53 หมู่ที่ 3 บ้านสามเรือน ตำบลสามเรือน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โทร.(087) 014-6038 หรือ คุณวิภาดา สุภานันท์ สำนักงานเกษตรอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โทร. (081) 347-8495 ก็ได้ครับ

ใครที่มีพื้นที่ข้างบ้านว่างๆ ไม่มากนัก มะเฟืองเป็นอีกไม้ผลหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากขนาดต้นไม่ใหญ่ (หากแตกกิ่งก้านมาก ก็ใช้วิธีตัดแต่งกิ่งเอา) ซึ่งการตัดแต่งกิ่ง ยังช่วยให้ ห่อผลง่าย และเก็บผลง่ายอีกด้วย

จากข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ มะเฟืองเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงกลาง สูงประมาณ 5-12 เมตร อยู่ในวงศ์เดียวกับตะลิงปลิง ลำต้นสีน้ำตาลอ่อน เปลือกลำต้นค่อนข้างขรุขระ มีตุ่มเล็ก ๆ ทั่วไป แตกกิ่งก้านสาขามาก ทรงพุ่มหนา ไม่เป็นระเบียบ

ใบเป็นใบรวมออกเรียงกันเป็นคู่ๆ ลักษณะคล้ายขนนก ใบคล้ายใบมะยม แต่ขนาดเล็กกว่า ใบอ่อนสีม่วงแดง ใบแก่สีเขียวเข้ม ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม ผิวใบเรียบเป็นมัน หลังใบมีขนละเอียดปกคลุม คล้ายกำมะหยี่สีเขียวอมเหลือง ด้านล่างใบสีอ่อน เนื้อใบบาง เส้นใบเล็ก ก้านใบประกอบมีม่วงแดง

ดอก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ออกช่อเป็นกระจุกสั้น ๆ ออกดอกตามง่ามใบ หรือตามกิ่งลำต้น ช่อดอกสั้น ดอกสีแดงเข้ม สีม่วงอมชมพู และขาว มีหลายสีในช่อเดียวกัน ดอกตูมมีลักษณะเป็นตุ่มขนาดเล็ก ออกดอกและติดผลตลอดปี ผลมีลักษณะสะดุดตาคือ เป็นเหลี่ยมหยักลึกตามยาวเป็นเฟือง 5 เฟือง หน้าตัดตามขวางของผล เป็นรูปดาว 5 แฉก ยาวประมาณ 5-14 เซนติเมตร ผิวผลบางเรียบ ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีเหลืองอมเขียว แก่จัดสีเหลืองเข้ม เนื้อนุ่มกรอบฉ่ำน้ำ รสหวานอมเปรี้ยว เมล็ดสีต้ำตาลอ่อน

มะเฟืองสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกประเภท แต่ชอบดินที่มีการระบายน้ำได้ดี ชอบอากาศร้อนชื้น แม้ในที่แห้งแล้งก็สามารถเจริญเติบดตได้ดี ไม่ชอบสภาพอากาศเย็นจัด ไม่ชอบน้ำท่วมขัง

นิยมรับประทานผลสด หรือแปรรูปเป็นน้ำผลไม้ ผลสดค้นน้ำกินมีสรรพคุณแก้บิด ขับน้ำลาย แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้ไข แก้กระหาย แก้ท้องร่วง หรือผสมกันสุรากินแก้โรคนิ่วได้

ส่วนดอกใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ หรือใช้ดอกสดตำละเอียดทาแก้กลากเกลื้อน แก้ปวดฟัน และใช้ทาอีสุกอีใส เป็นต้น

งานปลูกมะเฟืองไม่มีความยุ่งยาก พื้นที่ที่ไม่มีการระบาดของแมลงวันผลไม้ไม่จำเป็นต้องห่อผลให้ก็ได้ แต่ที่ใดที่เป็นแหล่งปลูกผลไม้ต้องห่อผล วิธีห่อ คือเมื่อผลมะเฟืองโตพอประมาณอย่าให้ใหญ่มาก ใช้ถุงพลาสติกที่เรียกกันว่าถุงก๊อบแก๊บห่อ โดยเจาะที่ส่วนก้นของผล อาจห่ออีกชั้นหนึ่งด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ก็ได้

โดยปกติแมลงวันผลไม้จะเจาะผลไม้เมื่อผลเริ่มมีการเปลี่ยนสีของผิว ห่อก่อนจึงปลอดภัย

วิธีการปลูกมะเฟืองไม่ยุ่งยาก รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก โดยรวมแล้วเหมือนไม้ทั่วไป เป็นไม้ผลที่ปลูกง่าย ติดผลง่ายกว่ามะม่วง ดอกของมะเฟืองรวมทั้งผลติดสวยน่ารักดี เคยมีผู้ฝากซื้อต้น เมื่อนำไปให้ เป็นต้นในกระถาง มีผลติดต้นอยู่ 3-4 ผล เจ้าตัวกรี๊ดกร๊าดดีใจใหญ่

บ้านเราไม่ค่อยนิยมมะเฟือง อาจมีความเชื่อว่ากินแล้วเครื่องรางของขลังจะเสื่อม สตรีกินแล้วเลือดจะเสีย ทำนองนั้น

ที่มาเลเซียเป็นประเทศที่พัฒนามะเฟืองได้ไกล สมัครเว็บแทงบอล เขาผลิตแล้วนำไปทดลองให้คนอเมริกันชิม ขณะนี้จึงเป็นผลไม้ที่สำคัญส่งไปอเมริกา ปีหนึ่งมูลค่าไม่น้อย เคยโดนสบประมาทจากเพื่อนบ้านว่าพ่อแม่อุตสาห์ส่งเสียให้เรียนสูงจบปริญญาตรี แต่กลับเลือกมาเป็นเกษตรกร จากคำดูถูกนั้น เป็นแรงผลักดันให้สาวนักบัญชีเจนวาย มุ่งมั่นและทุ่มเท ปลูกสตรอว์เบอรี่ ดูสักตั้ง ที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันเธอเก็บผลสดขายทุกวันวันละเกือบ 40 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 350 บาท เรียกว่ามีรายได้หลักล้านบาทต่อปี มีเงินใช้สบายๆ

ปัจจุบันสตรอว์เบอร์รี่ไม่ได้เป็นผลไม้เมืองหนาวอีกต่อไปแล้ว จะเห็นได้ว่าทุกภาคในประเทศไทยสามารถปลูกสตรอว์เบอรี่ได้ ดั่งเช่นที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เจ้าของไร่ คือ คุณพิมพ์วรัตน์ คำเรือง หรือคุณน็อต สาวนักบัญชี จากรั้วมหาวิทยาลัยสยาม

น็อต เล่าว่า หลังเรียนจบคณะบัญชี จากมหาวิทยาลัยสยาม ก็ไม่คิดทำงานประจำ คิดแต่เพียงว่าจะกลับบ้าน ไปช่วยพ่อแม่ทำไร่ เพราะพ่อแม่เป็นเกษตรกร ปลูกมะนาว ปลูกแตงกวา แต่ทว่ามะนาวราคาไม่แนนอน เลยทดลองหาผลไม้แปลกๆ มาปลูก ในที่สุดเลือกปลูกสตรอว์เบอรี่