นักวิจัยของกรมวิชาการเกษตร ได้คัดเลือกพันธุ์และประเมินผลผลิต

ในสภาพแวดล้อมของประเทศไทย จนแน่ใจว่ามีคุณสมบัติดีเด่น เราจึงได้เสนอขอรับรองเป็นพันธุ์รับรองของกรมวิชาการเกษตร

ก่อนจะได้รับการรับรองพันธุ์ ดร. สายสุนีย์ ได้ทดสอบในศูนย์และสถานีพืชไร่ของทางราชการแล้ว ยังต้องนำไปปลูกเปรียบเทียบและปลูกทดสอบในไร่ของเกษตรกรในจังหวัดต่างๆ ที่เป็นแหล่งปลูกงา จนมั่นใจว่า มีลักษณะเด่นจริง จึงดำเนินการขอรับรองพันธุ์ ซึ่งใช้เวลาทั้งหมด 16 ปี

ลักษณะเด่นของ งาดำพันธุ์อุบลราชธานี 3

ให้ผลผลิตสูง 102 กิโลกรัม ต่อไร่ ในไร่ของเกษตรกร โดยให้ผลผลิตสูงกว่างาดำพื้นเมืองพันธุ์นครสวรรค์ ร้อยละ 7 ให้ผลผลิต 135 กิโลกรัม ต่อไร่ ในศูนย์วิจัยพืชไร่ซึ่งใกล้เคียงกับงาขาวพันธุ์ มหาสารคาม 60
มีขนาดเมล็ดโต โดยมีน้ำหนัก 1,000 เมล็ด เฉลี่ย 3.03 กรัม สูงกว่างาดำพื้นเมืองพันธุ์นครสวรรค์ ร้อยละ 9
มีปริมาณธาตุอาหารที่จำเป็นต่อมนุษย์ ได้แก่ ธาตุแคลเซียม ฟอสฟอรัส และ โพแทสเซียม สูงกว่างาดำพื้นเมืองพันธุ์นครสวรรค์ ร้อยละ 21,22 และ 33 ตามลำดับ
มีปริมาณสารต่อต้านกระบวนการออกซิเดชั่นหรือต้านการเกิดอนุมูลอิสระสูง โดยให้ค่าสูงกว่างาดำพันธุ์นครสวรรค์ ร้อยละ 8

งาดำพันธุ์อุบลราชธานี 3 เมล็ดโตกว่างาดำพันธุ์พื้นเมืองแล้ว ยังให้ผลผลิตสูงกว่างาดำพื้นเมืองนครสวรรค์ ซึ่งให้ผลผลิตเฉลี่ย 102-135 กิโลกรัม ต่อไร่ ในขณะที่งาดำพื้นเมืองให้ผลผลิตเพียง 95 กิโลกรัม ต่อไร่ เท่านั้น สำหรับเปอร์เซ็นต์น้ำมันงาดำพันธุ์อุบลราชธานี 3 มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันงาสูง 49.9

ส่วนงาดำพื้นเมือง มีเปอร์เซ็นต์น้ำมัน 49.1 งาดำพันธุ์อุบลราชธานี 3 มีสารต้านอนุมูลอิสระ (มก./กก.) 12,813 ในขณะที่งาดำพันธุ์พื้นเมืองมี 11,833 ส่วนธาตุแคลเซียมงาดำอุบลราชธานี 3 มี 0.73 เปอร์เซ็นต์ โพแทสเซียม 0.47 เปอร์เซ็นต์ และธาตุฟอสฟอรัส 0.67 เปอร์เซ็นต์ ส่วนงาดำพันธุ์พื้นเมืองมีธาตุแคลเซียม 0.61 เปอร์เซ็นต์ โพแทสเซียม 0.39 เปอร์เซ็นต์ และฟอสฟอรัส 0.51 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่ำกว่างาดำพันธุ์อุบลราชธานี 3 ทุกตัว

งาดำพันธุ์อุบลราชธานี 3 มีการปรับตัวเข้ากับสภาพการปลูกงาได้ดี มีความสม่ำเสมอในการให้ผลผลิตดี สามารถใช้เป็นพันธุ์ปลูกได้ทั่วไปในสภาพการผลิตงาของประเทศไทย

งาดำพันธุ์อุบลราชธานี 3 มีคุณสมบัติเด่นที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของมนุษย์ เนื่องจาก มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระสูง อาหารประเภทชีวจิตจะมีส่วนผสมของงาดำมาก และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นและไต้หวันมีความต้องการในปริมาณสูง อยากจะให้เกษตรกรช่วยกันปลูกงาดำพันธุ์อุบล 3 ให้มากขึ้น ซึ่งเกษตรกรก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกงาดำพันธุ์พื้นเมือง

เกษตรกรที่สนใจติดต่อสอบถามเรื่องเมล็ดพันธุ์งาดำพันธุ์อุบลราชธานี 3 พร้อมกับขอคำแนะนำการปลูกเพื่อขยายพันธุ์ได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี ตู้ ป.ณ. 6 อ.เมือง จ.อุบลราชธานี โทรศัพท์ 045-202-187-9

ทุกวันนี้ “สตรอเบอรี่” กลายเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่น่าจับตามองมากที่สุด เพราะเติบโตเร็วมาก โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน เกษตรกรเจ้าของสวนยางพาราหลายรายนิยมปลูก “สตรอเบอรี่” เป็นพืชเสริมรายได้ในสวนยาง เพราะสตรอเบอรี่ เป็นไม้ผลยอดนิยมในท้องตลาด ขายได้ราคาดี ขายได้ทั้งผลสด ต้นพันธุ์ ฯลฯ เรียกว่า รับทรัพย์ได้เป็นกอบเป็นกำ

“คุณแต๋ง” – ประภัสสร สายวรรณ์ และ “คุณเอส” – อำไพร พลไตร สองสามีภรรยาเจ้าของสวนสตรอเบอรี่สุขสมใจ ซึ่งเป็นสวนสตรอเบอรี่แห่งแรกที่ปลูกกลางป่ายางพารา ของจังหวัดบึงกาฬ ยอดขายสตรอเบอรี่เติบโตสูงมาก ทั้งตลาดผลสดและต้นพันธุ์ ยอดสั่งซื้อไม่ได้เฉพาะพื้นที่ภาคอีสานเท่านั้น แต่มาจากทั่วประเทศเลยทีเดียว

คุณแต๋ง ช่วยสามีดูแลกิจการสวนยาง เนื้อที่ 100 ไร่ ในพื้นที่อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ มีรายได้จากการทำสวนยาง ประมาณเดือนละ 30,000-40,000 บาท ต่อมาปี 2556 เกิดปัญหาราคายางตกต่ำ เธอจึงมองหาพืชตัวอื่นมาปลูกเสริมรายได้ในสวนยางพาราต้นเล็กอายุ 3 ปี เนื้อที่ 4 ไร่ บังเอิญเธอเคยช่วยแม่ปลูกสตรอเบอรี่ที่จังหวัดหนองบัวลำภูมาก่อน จึงนำไหลสตรอเบอรี่จำนวน 23 ต้น มาปลูกกลางร่องสวนยาง เนื้อที่ 1 ไร่ โดยใช้วิธีไถพรวน พร้อมโรยปูนขาว และฉีดพ่นเชื้อไตโครเดอร์ม่ารองก้นหลุมก่อนปลูก หลังปลูกคอยดูแลถอนหญ้าตามปกติ

เมื่อต้นสตรอเบอรี่เริ่มให้ผลผลิต ปรากฏว่า มีรสชาติหวานฉ่ำที่สุด เคล็ดลับความอร่อยอยู่ที่ดินในสวนยางมี “พีทมอสส์” เป็นตัวช่วย ทั้งนี้ “พีทมอสส์” คือพืชสีเขียวชนิดหนึ่งที่เติบโตปกคลุมผิวดินในช่วงฤดูฝน สวนยางที่มีพีทมอสส์ ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเยอะ เพราะพีทมอสส์เปรียบเสมือนปุ๋ยจุลินทรีย์ชีวภาพอยู่แล้ว

เนื่องจากสวนยางแห่งนี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่สูง แต่แปลงปลูกสตรอเบอรี่แห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ เวลาฝนตก จะชะล้างหน้าดินที่มีพีทมอสส์จากแปลงสวนยางที่อยู่ด้านบนลงมาด้วย เท่ากับเติมปุ๋ยจุลินทรีย์ชีวภาพให้กับพื้นที่ปลูกสตรอเบอรี่อยู่ตลอดเวลา ทำให้สตรอเบอรี่ที่ปลูกในสวนแห่งนี้มีคุณภาพดี รสชาติอร่อยโดยไม่ต้องพึ่งปุ๋ยเคมีแต่อย่างใด

เมื่อ 5 ปีก่อน เธอเริ่มต้นทำสวนสตรอเบอรี่เล็กๆ เพื่อสร้างรายได้เสริมในสวนยาง แต่ ณ วันนี้ “สตรอเบอรี่” กลับกลายเป็นรายได้หลักของครอบครัว เมื่อปีที่แล้ว หลังหักต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้ว เหลือผลกำไรก้อนโตจากสวนสตรอเบอรี่ถึง 300,000 บาท

“ทุกวันนี้ ครอบครัวเรามีรายได้จากสวนสตรอเบอรี่ตลอดทั้งปี ยอดขายต่ำสุด เฉลี่ยเดือนละ 30,000 บาท ช่วงขายดี เคยทำรายได้สูงสุดถึงเดือนละ 130,000 บาท ก็เคยเจอมาแล้ว ขณะที่ “สวนยาง” กลายรายได้เสริมของครอบครัวไปเสียแล้ว” คุณแต๋ง กล่าว

ผลกำไรก้อนโต จาก “สตรอเบอรี่” “สตรอเบอรี่” เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้สูง ถึง 5 ช่องทาง คือ “ผลสตรอเบอรี่สด” ขายได้ราคาก.ก.ละ 300 -500 บาท ผลผลิตตกเกรดจะถูกนำไปแปรรูปเป็น “น้ำสตรอเบอรี่และแยมสตรอเบอรี่” ออกจำหน่าย ส่วน “ไหลสตรอเบอรี่” ขายต้นละ 10 บาท “ต้นสตรอเบอรี่ที่กำลังผลิดอกออกผล” ขายต้นละ 150 บาท ส่วนสตรอเบอรี่ต้นอ่อนที่ยังไม่มีผลผลิต ขายต้นละ 50 บาท

ปัจจุบัน สวนแห่งนี้จำหน่ายต้นสตรอเบอรี่หลากหลายสายพันธุ์เช่น พันธุ์ 80 พันธุ์ 329 และพันธุ์โชกุน ที่มีคุณภาพดี ลำต้นแข็งแรง ใบสีเขียวเข้ม คุณแต๋งปลูกขยายพันธุ์ได้เองในท้องถิ่น ต้นสตรอเบอรี่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีกว่า ต้นพันธุ์ที่มาจากภาคเหนือ ที่มีใบเขียวอ่อน เมื่อนำมาปลูกจะไม่ต้านทานโรคเท่าที่ควร

เคล็ดลับผลิต “ ไหลสตรอเบอรี่ ” คุณภาพดี

“ไหลสตรอเบอรี่” ของสวนสุขสมใจ ขายดีเป็นที่ต้องการของเกษตรกรและประชาชนทั่วไป เพราะผลิตจากแม่พันธุ์ไหลคุณภาพดี ในระยะเวลาที่เหมาะสม คือ ช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน โดยทั่วไปต้นสตรอเบอรี่มักมีปัญหาเรื่องเชื้อราเยอะมาก เช่น ราขาว ซึ่งเป็นสาเหตุของโรครากเน่า โคนเน่า คุณแต๋งจึงมุ่งคัดเลือกแม่พันธุ์ ที่มีลักษณะลำต้นใหญ่ ใบเขียวเข้ม ที่สำคัญต้องเป็น “ไหลแรกที่ไม่โดนดิน ” เพื่อป้องกันไม่ให้ไหลติดเชื้อราจากดินในแปลงปลูก

หลังจากคัดเลือกแม่พันธุ์ที่ต้องการได้แล้ว คุณแต๋งจะนำวัตถุปลูกที่มีส่วนผสมของขุยมะพร้าว 70% และดิน 30% ไปรองใต้ไหลเนื้อเยื่อแรกเพื่อกระตุ้นให้เกิดตาดอกและเกิดรากโผล่พ้นผิวดิน หลังจากนั้นจึงค่อยตัดไหลไปเลี้ยงต่อในถุงดำก่อนส่งขายให้ลูกค้า (นำดินจากภายนอกมาใส่ถุงดำ เพราะหมดฤดูปลูก ดินในแปลงปลูกไม่น่ามีสารอาหารเหลืออยู่แล้ว)

เมื่อลูกค้านำไหลสตรอเบอร์รี เนื้อเยื่อไหลแรกไปปลูกลงดิน จะได้ต้นสตรอเบอรี่กอใหญ่ ที่ให้ผลผลิตดก คุณภาพดีสุด คุ้มค่ากับการลงทุน คุณแต๋งแนะนำให้เกษตรกรเลือกปลูก ไหลสตรอเบอร์รี่ พันธุ์ 80เพราะเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะกับสภาพอากาศภาคอีสาน สตรอเบอรี่พันธุ์ 80 ลำต้นใหญ่แข็งแร็ง มีไหลต่อ 2,3,4 ไหล ติดออกมาด้วย ภายใน 1 ถุง จะได้ ต้นไหลที่ติดรากลงดินในถุงดำเป็นส่วนของไหลแรก หรือไหลที่ 1 ส่วนไหล 2-4 จะติดจากไหลแรก เรายกให้ฟรี ต้นไหลที่ติดมาในแต่ละถุงจะได้มากหรือน้อยคือกำไรของลูกค้า เราคิดราค่าเฉพาะไหลแรกที่ลงถุงดำเท่านั้น

ปัจจุบัน คุณแต๋ง จำหน่ายไหลสตรอเบอรี่ปลอดโรคทุกสายพันธุ์ ปลีก-ส่ง ลูกสตรอเบอรี่ ปลีก-ส่ง เปิดให้เข้าชมสวนฟรี สนใจสอบถามข้อมูลหรือสั่งซื้อไหลสตรอเบอรี่ ได้ที่เบอร์โทร. 062-125-5258 หรือทาง m.me/suksoomjai และ เฟซบุ๊ก : ร้านและสวนเบอรี่ สุขสมใจ อำเภอปากคาด

หากใครอยากชิมผลสตรอเบอรี่รสหวานและอยากได้ไหลสตรอเบอรี่คุณภาพดีของสวนสุขสมใจไปปลูก เชิญแวะเข้าชมและเลือกซื้อได้ในงาน “วันยางพาราจังหวัดบึงกาฬประจำปี 2562” ในระหว่างวันที่ 13-19 ธันวาคม 2561 ณ บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ

“พ่อสอนว่า…” ทฤษฎีใหม่ ยืดหยุ่นได้ และต้องยืดหยุ่น เหมือนชีวิตของเราทุกคน ต้องมียืดหยุ่น “

ศูนย์เรียนรู้สวนเกษตรทฤษฎีใหม่ครูเชาว์โชว์ ตามรอยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ตั้งอยู่บ้านหนำหย่อม เลขที่ 363 หมู่ที่ 2 ตำบลหูล่อง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็น “ศูนย์รวมปราชญ์ ศาสตร์แห่งภูมิปัญญาไทย” ของ คุณเชาวรัตน์ รักษาพล หรือครูเชาว์ เขาทะลุ ที่ให้ความสำคัญกับน้ำมากที่สุด “น้ำคือหัวใจของเกษตรกรไทย”

จากแนวความคิดสู่การปฏิบัติ

“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นทางรอดทางเดียวในสังคมปัจจุบัน เพื่อให้พออยู่พอกิน ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหรา พอใจในความต้องการ มีความโลภน้อย ยืนบนขาตนเองได้ พึ่งพาตนเองได้ ชีวิตย่อมมีความสุข โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สามารถนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ได้ และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัยและวิกฤต เพื่อความมั่นคง และความยั่งยืน ของการพัฒนาชุมชนบ้านเกิดของตนเอง

จากพื้นฐานดังเดิมของคนในชุมชนลุ่มน้ำปากพนัง พี่น้องส่วนใหญ่มีอาชีพทางด้านการเกษตร พ่อแม่บรรพบุรุษของเรา ส่งลูกหลานไปเรียนหนังสือ แล้วทำงานราชการ ภาคเอกชน ไม่มีใครกลับมาทำอาชีพทางด้านการเกษตร หรือจะมีก็มีน้อยมาก ฐานทรัพยากรอาหารก็ลดน้อยลงทุกที การเดินทางในแต่ละวันของครูเชาว์ ได้พบได้เห็นช่องทางด้านการเกษตร เห็นช่องทางอาชีพ เห็นผู้ประสบความสำเร็จในอาชีพทางด้านการเกษตรมากมายเช่นกัน จึงเกิดความคิดที่จะริเริ่มการสร้างบ้านหนำหย่อม

ครูเชาว์ เขาทะลุ เป็นที่รู้จักกันในแวดวงสื่อสารมวลชน จากลูกชาวนาที่เติบโต มาตามวิถีแห่งชีวิตคนลุ่มน้ำปากพนัง ได้ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ ทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน ได้เห็นวิถีชีวิตของเกษตรกรไทยที่นับวันยิ่งประสบปัญหาต่างๆ มากมาย มีความเป็นอยู่ที่ถอยหลังลงเรื่อยๆ จนกระทั่งปัญหาต่างๆของเกษตรกรได้สะท้อนสู่สังคม เรียกร้องความช่วยเหลือจากผู้รู้และรัฐบาล

และสัญญาณที่ดีก็ปรากฏ เมื่อรัฐบาลได้มีนโยบายในการส่งเสริม ช่วยเหลือ ตระหนักถึงการแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกร เพื่อให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หลุดพ้นจากภาระหนี้สิน จากการตกอยู่ภายใต้อำนาจนายทุน การจำนองและจำนำพื้นที่ทำกิน เกษตรกรเปลี่ยนสภาพจากในอดีตเป็นเจ้าของที่ดิน กลายมาเป็นผู้เช่าที่ดินจากนายทุน

แต่ในขณะเดียวกันก็มีเกษตรกรกลุ่มเล็กๆ ที่สามารถฝ่าฟันผ่านวิกฤตมาได้ จนมีชีวิตที่ดีขึ้น สามารถพัฒนาความเป็นอยู่คุณภาพชีวิต คุณภาพครอบครัว จนก้าวไปสู่ความสุขได้ ทำให้เห็นความแตกต่างของคนสองกลุ่มทั้งที่มีอาชีพและพื้นฐานชีวิตในแบบเดียวกัน ปัญหาและความแตกต่างดังกล่าวได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นมากขึ้น จนเกิดเป็นการจับกลุ่มพูดคุย ปรึกษาหารือ เวทีการเสวนา พบปะ ทั้งในรูปแบบของชาวบ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน นักวิชาการ จนถึงนักการเมือง พูดคุยกันมากขึ้นตามลำดับจึงเป็นเสมือนเวทีแห่งการเรียนรู้ เพื่อหาทางออกและพัฒนาคุณภาพชีวิตนั่นเอง

ที่มาของศูนย์เรียนรู้สวนเกษตรทฤษฎีใหม่ครูเชาว์โชว์ “เมืองเบี้ยซัด” หรือปัจจุบันคือ อำเภอปากพนัง บ้านเกิดเมืองนอนของครูเชาว์ เดิมมีความเจริญรุ่งเรืองมาก เมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เป็นเมืองท่ามีการทำมาค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้ากันอย่างคึกคัก

จากหลักคิดที่ว่า “เราต้องภูมิใจกับอดีต เราต้องเรียนรู้ปัจจุบัน เราต้องสร้างสรรค์อนาคต” จึงได้คิดรวมพลัง รวมความคิด สร้างสวนเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยการเรียนเชิญผู้รู้ที่ประสบความสำเร็จในแต่ละสาขาอาชีพ มาร่วมกันจัดการเรียนรู้ขึ้น เพื่อให้เป็นเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านประสบการณ์ตรง เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง เกิดจากความตั้งใจ มุ่งมั่น จากผู้ที่มีความรู้ มีประสบการณ์ ผู้ประสบความสำเร็จในแต่ละสาขาอาชีพ ตามรอยพระเจ้าอยู่หัว

โดยยึดหลักการ “หัวใจเกษตร” 3 ประการ คือ 1. พอเพียง พอมีกิน 2. อยู่ดีมีสุข 3. มั่งมีศรีสุข ข้อห้ามเกษตรกร มี 2 ข้อ คือ 1. อย่าเบียดเบียนซึ่งกันและกัน 2. อย่ารุกราน อย่าทำลายทรัพยากรธรรมชาติ

ต่อมาเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2557 ครูเชาว์ เขาทะลุ ได้ตัดสินใจรวบรวมผู้รู้ ผู้สำเร็จของแต่ละสาขาอาชีพ โดยเฉพาะผู้สนใจอาชีพทางด้านการเกษตร ก่อตั้ง ”ชมรม ฅนลุ่มน้ำ พึ่งพาตนเอง” โดยมีเป้าหมายรวบรวมผู้รู้ในพื้นที่ให้เป็นครูผู้สอน เหมือนเข็มทิศในการดำเนินงาน ถ่ายทอดวิชาความรู้ทั้งทางด้านวิชาการและประสบการณ์จริงจากการทำงานด้านการเกษตรมาทั้งชีวิต

สวนเกษตรทฤษฎีใหม่ครูเชาว์โชว์ ตามรอยพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นเสมือนแผนที่นำทางให้กับสมาชิกหรือบุคคลที่มีความสนใจในด้านการเกษตร ใครสนใจเรื่องอะไร สามารถไปเรียนรู้โดยตรงได้จากปราชญ์ ที่ได้แนะนำไว้ให้ชมรม ฅนลุ่มน้ำพึ่งพาตนเอง มีนายสมเกียรติ ทิศนุ่น นักธุรกิจที่ขันอาสามาเป็นประธานชมรมฯ และคณะกรรมการอีก 16 คน จะทำหน้าที่ประสานงาน ให้กับผู้ที่มีใจรักการเกษตร เน้นการพึ่งพาตนเองเหมือนดั่งจุดมุ่งหมายชมรมฯ

บุคคลใดสนใจ เพียงแค่เข้ามาเรียนรู้ เปิดใจ เปิดตา เปิดรับความรู้ จากปราชญ์ ก็สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ได้ทันที การเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จากปราชญ์ผู้รู้ ครูแห่งภูมิปัญญา ทั้ง 10 คน ได้แก่

พ่อแอ็ด บ้านบางดุก ได้รับการยกย่องในเรื่องส้มโอทองดีและส้มโอทับทิมสยาม ซึ่งได้ชื่อว่า “ราชินีส้ม” เมืองลุ่มน้ำปากพนัง 2. ลุงนัน (นายนัน ชูเอียด) บ้านหนองธง เชี่ยวชาญในเรื่อง สะละ อินทผลัม มะละกอเรดเลดี้ จนมีผู้เดินทางไปศึกษาดูงาน 3. น้าเอียด (นายเลื่อน พรหมวี) บ้านหัวคู ขึ้นชื่อเรื่องสวนสมรม (สวนเกษตรผสมผสาน) 4. น้องบ่าว (นายสุรศักดิ์ เกิดคง) ชุมพร ชำนาญเรื่องมะนาว 5. ผู้ใหญ่ชลอ (นายชลอ เอี่ยมสุทธิ์) บ้านน้ำบ่อ เรื่องผักสวนครัว
6. ครูชาญ (นายชาญณรงค์ ไชยรัตน์) บ้านดิน เรื่องไบโอดีเชล และการสร้างบ้านจากดิน บุคคลตัวอย่างมูลนิธิบุคคลพอเพียง 2558 7. นางขวัญใจ กลับสุขใส ปลูกไผ่ควนขนุน ร่ำลือเรื่องพันธ์ุไผ่นานาชนิดและการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ “น้ำไม้ไผ่” 8. คุณชลอ (นายชลอ วรรณสุข) บ้านบางบูชา รู้มากนักเรื่องฟักทอง 9. ผู้ใหญ่นัด (นายนัด อ่อนแก้ว) บ้านปันแต ขึ้นชื่อเรื่องข้าวสังข์หยด นำข้าวในชุมชนขึ้นห้างดัง 10. พี่อ็อต (นายละม้าย เสนขวัญแก้ว) เขาพังไกร เรื่องข้าวไข่มดริ้น ปลูกฟื้นคืนพันธ์ุข้าวพันธ์ุพื้นเมืองนครศรีธรรมราชได้อย่างงดงาม

นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือ และการสนับสนุนจากส่วนราชการหลายภาคส่วน ได้ร่วมกันสร้างเสริมความรู้ให้กับผู้สนใจอย่างถูกวิธี ในสาขาอาชีพด้านการเกษตร เช่น การปลูกส้มโอทับทิมสยาม ส้มโอทองดี มะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ กล้วย หมาก มะนาว ชมพู่ ละมุด เสาวรส สะละพันธุ์สุมาลี ขนุน ไผ่ มะขาม มะละกอ เตย ข่า ชะอม ทุเรียนน้ำ ต้นจาก มะม่วง มะม่วงหิมพานต์ ตะไคร้ มะกรูด ผักหวาน ผักบุ้ง ฯลฯ รวมแล้วมากกว่า 28 พันธุ์ ได้เรียนรู้เรื่องพันธุกรรมพืช ในพื้นที่เดียวกันว่าพืชชนิดไหน มีความเจริญเติบโตเป็นอย่างไร โดยมีปราชญ์ผู้รู้เป็นผู้ดูแล ให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดตลอดมา

ครูเชาว์ เล่าว่า “ถึงวันนี้ สวนเกษตรทฤษฎีใหม่ได้รับความสนใจและต้อนรับหัวหน้าส่วนราชการทั้งระดับท้องถิ่น และระดับชาติจากกระทรวง ทบวง กรม ผู้ที่สนใจจากหลายหลากสาขาอาชีพ น้องๆ นักเรียน นักศึกษา ทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียนที่เข้ามาเยี่ยมชมสวน ร่วมแลกเปลี่ยนเสนอแนะ เรื่องการพัฒนาอาชีพ ณ วันนี้ สวนเกษตรทฤษฎีใหม่ ได้ต้อนรับผู้มาเยือนหลายหมื่นคน ถือเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเกษตรกร และผู้ที่สนใจในด้านการเกษตรเป็นอย่างดี…”

จุดประกายจนประสบความสำเร็จ

ด้วยวิถีแห่งชีวิตลูกเกษตรกร ได้เรียนรู้จากครูผู้สอน เรียนรู้จากครูแห่งภูมิปัญญา ได้เห็นช่องทางที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรอยู่ได้ จากผลผลิตทางด้านการเกษตร แต่ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ครูเชาว์ให้ข้อคิดว่า “เราต้องเป็น “นักธุรกิจเกษตรกร” คนทำสวนเราต้องเรียกว่า “เจ้าหน้าที่สวน” ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน อาทิ 3 ปี เราจะไม่ซื้ออะไรกิน (ยกเว้น เกลือ หัวหอม หัวเทียม) 5 ปี เราต้องรวย เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ มาสนใจอาชีพเกษตรครับ”

ในฐานะที่ครูเชาว์ sshep.com อดีตเคยเป็นครูอาสาสมัครการศึกษานอกโรงเรียน และเป็นผู้ที่มีจิตวิญญาณของครูอยู่ในตัว ไม่เคยลืมอดีตของตนเอง และรักพวกพ้อง จึงได้มีการประสานและร่วมคิดร่วมทำงานกับครู กศน. อย่างสม่ำเสมอ โดย คุณสุรศักดิ์ อนันต์ ผอ. กศน. อำเภอปากพนัง ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอปากพนัง ได้มอบหมายให้ ครูอรวรรณ ศรียาโยชน์ ครูอาสาสมัครฯ และ คุณทวนชัย จันทร์ศรีคง ครู กศน. ตำบล ผู้รับผิดชอบพื้นที่ตำบลหูล่อง สำรวจแหล่งเรียนรู้ และได้คัดเลือกบ้านหนำหย่อมแห่งนี้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง

ประกอบกับครูเชาว์เป็นเจ้าของสวนที่มีจิตอาสา อยากเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้กับคนในชุมชน และมีความประสงค์ให้ศูนย์แห่งนี้เป็นที่เรียนรู้ ศึกษาดูงาน ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน กิจกรรมต่างๆ ของศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอปากพนัง จึงเลือกให้ศูนย์เรียนรู้สวนเกษตรทฤษฎีใหม่ครูเชาว์โชว์ เป็นอีกหนึ่งแห่งที่นักศึกษา ผู้รับบริการได้เข้ามาศึกษาดูงาน เช่น การจัดค่ายส่งเสริมค่านิยม 12 ประการ ฐานการเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของนักศึกษาหลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 นักศึกษาได้มาเรียนรู้ ดูของจริง มีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก

ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดนครศรีธรรมราช โดย คุณเกษร ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน. จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ส่งเสริมให้สถานศึกษาในสังกัด ดำเนินการโครงการส่งเสริมหมู่บ้านเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกฝังให้นักศึกษาและประชาชน มีความตระหนัก ซาบซึ้ง เกิดการรับรู้และเห็นความสำคัญในพระราชกรณียกิจการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในพื้นที่ของตนเอง

คณะทำงานของโครงการวางแผนและถอดองค์ความรู้ ณ ศูนย์เรียนรู้สวนเกษตรทฤษฎีใหม่ครูเชาว์โชว์ ถือเป็นการรวมพลังในการร่วมแรงร่วมใจพัฒนาความรู้และขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นรูปธรรมในระดับชุมชนตามพระราชดำรัส “การพึ่งตนเอง เพื่อพัฒนาแก้ไข ปัญหาความยากจนของราษฎร”

ครูเชาว์ มีคติชีวิตว่า “สังคมดีไม่มีขาย อยากได้ต้องช่วยกันทำ อยากให้สังคมดี มีเงินช่วยเงิน มีแรงช่วยแรง ไม่มีเงินไม่มีแรง ช่วยให้กำลังใจ” ปรัชญาชีวิตที่ยึดมั่นมาตลอดคือ “สืบสาน เจตนารมณ์ อุดมการณ์ของบรรพบุรุษ” จึงได้พัฒนาสวนแห่งนี้ให้เป็นตัวอย่างสำหรับผู้ที่สนใจในเรื่อง การทำสวนเกษตรทฤษฎีใหม่ ให้เป็นต้นแบบและเป็นแหล่งเรียนรู้ดูงานของประชาชนในลุ่มน้ำปากพนัง ท่านใดสนใจพาคณะมาศึกษาดูงานติดต่อที่ คุณเชาวรัตน์ รักษาพล โทร. 08-9474-0111 ศูนย์เรียนรู้สวนเกษตรทฤษฎีใหม่ครูเชาว์โชว์จึงนับเป็นภาคีเครือข่าย กศน. ที่มีส่วนสำคัญในการเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ที่มีค่ายิ่งสำหรับชาวลุ่มน้ำปากพนัง