‘นักวิจัยเกษตรกร’ สกว. ลุยช่วยชุมชนบางบาล ปรับตัวพื้นที่รับน้ำ

ปั้นชาวนาพันธุ์ใหม่ “นักวิจัยเกษตรกร” สกว. ลุยช่วยชุมชนบางชะนี อ.บางบาล ปรับตัวพื้นที่รับน้ำ ปลูกข้าวนาปรังปลอดสารพิษ เก็บผลผลิตเร็ว ราคาดี มั่นใจปลดหนี้ภาคเกษตรได้

ศ.ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานบอร์ดสำนักงานคณะกรรมกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พร้อมด้วย ดร. ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะกรรมการบอร์ด สกว. ศ.นพ. สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. ดร.พงษ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกว. และคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ สกว. เดินทางมายัง ชุมชนบางชะนี ต.บางชะนี อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อตรวจเยี่ยมรับฟังความก้าวหน้า ภายหลังจากที่ สกว. ได้ลงมาเป็นพี่เลี้ยง สนับสนุนองค์ความรู้ตลอดจนพันธุ์ข้าวให้กับเกษตรกร

นางเรณู กสิกุล ประธานสภาองกรค์ชุมชนบางชะนี กล่าวว่า ตนเองเกิดและเติบโตในพื้นที่ ต.บางชะนี ทุกฤดูน้ำหลาก บางบาลซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่ม ก็เกิดน้ำท่วมทุกปี แต่เป็นการท่วมตามฤดูกาล ชาวบ้านตั้งรับได้ ปีไหนน้ำมากนานๆ นาจะเสียหายหนัก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า นาล่มสักครั้ง
จนเมื่อ ปี 2514 กรมชลประทาน มาตัดถนนผ่าน เพื่อกั้นน้ำไม่ให้เข้าทุ่งบางบาล ทำให้การทำนาเป็นไปอย่างราบรื่น กระทั่ง ปี 2538 เกิดน้ำท่วมใหญ่ คันกั้นน้ำหักหลายที่ ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ ไร่นาเสียหายเป็นจำนวนมาก และมาปี 2545 เกิดน้ำท่วมใหญ่อีกครั้ง สร้างความเสียหายไม่แพ้กัน การแก้ไขส่วนใหญ่จะเน้นไปในเรื่องการเสริมคันกั้นน้ำ โดยเฉพาะถนนให้สูงขึ้น และที่เสียหายหนักมากคือ ปี 2554 ซึ่ง นางเรณู บอกว่า เป็นการท่วมที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี หรือรอบอายุของตัวเองเลยทีเดียว

“ชาวนาบางบาล ทำนาปีเกือบทั้งหมด ผลผลิตที่ได้ ถามว่าคุ้มไหม ก็พอได้ถ้าไม่คิดค่าแรงตัวเอง แต่ถ้าปีไหนน้ำท่วม คือเราขาดทุนร้อยเปอร์เซ็นต์ รัฐบาลพยายามที่จะให้เราปรับเปลี่ยนมาทำนาปรัง ซึ่งใช้เวลาเก็บเกี่ยวสั้น คือราว 4 เดือน ตอนนั้นเราก็ยังไม่รู้อะไรมาก ก็ยังยืนหยัดทำนาปีเรื่อยมา และเป็นเกษตรกรคนสุดท้ายที่ปรับเปลี่ยนจากนาปีเป็นนาปรัง เพราะสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. มาแนะนำ และมาเป็นพี่เลี้ยง คอยให้คำปรึกษา และทำวิจัยร่วมกับชาวนา ตอนนั้นเราไม่รู้หรอกว่าวิจัยคืออะไร แต่พอทำไปเริ่มซึมซับและเห็นลู่ทาง จึงได้ประชุมหารือกันในกลุ่มเกษตรกร ที่เรียกว่า นักวิจัยเกษตรกร ถึงปัญหาในภาพรวม ตั้งแต่การผันน้ำจากคลองพระขาวที่หล่อเลี้ยงชาวทุ่งบางบาลว่า เริ่มตื้นเขิน หญ้าขึ้นรก การระบายน้ำทำได้ไม่ดี จึงทำการลอกคลอง จนปัญหาน้ำลดลง รวมถึงปรับเปลี่ยนการเพาะปลูก จากเดิมที่ใช้สารเคมีเต็มรูปแบบ มาเป็นแบบปลอดสารพิษ และเปรียบเทียบราคาจำหน่ายที่แตกต่างกันกว่า 2 เท่าตัว ทำให้เริ่มมองเห็นลู่ทางในการพัฒนาผลผลิต ซึ่งในการเริ่มต้นทำรวมกันกว่า 40 ไร่ ก็จะขยายผลเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่เราขาดคือ ช่องทางการตลาด ที่อาจต้องให้ผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญมาแนะนำ” นางเรณู กล่าว

ด้าน ศ.ดร. ยงยุทธ กล่าวว่า เกษตรกรชาว ต.บางชะนี อ.บางบาล เริ่มต้นได้ดี และขอให้กลุ่มเกษตรกร ที่เรียกตัวเองว่า “นักวิจัยเกษตรกร” นี้ ไปเป็นพี่เลี้ยงให้กับเครือข่าย ซึ่งทราบว่ามีการตั้งกันขึ้นมาหลายกลุ่ม โดยให้ใช้ 40 ไร่ เป็นต้นแบบ และขอให้ถอดบทเรียนร่วมกัน เชื่อว่าจะสามารถไปได้ เพราะดูจากกลุ่มนักวิจัยชุมชนแล้ว ก็เป็นคนที่มีองค์ความรู้ดี และดูมีความเข้มแข็ง และการรวมกลุ่มกันทำข้าวปลอดสารพิษ ที่เริ่มจากปลูกเอง กินเอง เหลือจากนั้นก็จำหน่าย โดยยึดตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งคิดว่ามาถูกทางและสามารถพัฒนาต่อได้

สอดคล้องกับ ศ.นพ. สุทธิพันธ์ ที่มองว่า ผลสัมฤทธิ์ของ สกว. ที่ได้ลงมาข่วยชาวบ้านในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่า เป็นแนวทางที่ถูกต้อง สกว. เอง ไม่อาจจะช่วยเหลือได้ตลอดไป แต่อยากเน้นเป็นพี่เลี้ยงเพื่อผลิต นักวิจัยเกษตรกร ที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อให้เกิดเกษตรกรพันธุ์เดียวกัน เชื่อว่าถ้าทำได้ ชุมชนบางชะนี และชาว อ.บางบาล ก็จะสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้น ปลดภาระหนี้สินภาคการเกษตรได้อย่างแน่นอน

สำหรังทุ่งบางบาล มีพื้นที่รวมกว่า 3,000 ไร่ กินพื้นที่ ต.บางชะนี ต.บางบาล ต.บางหัก เกษตรกรทำนากันสืบทอดกันมานับร้อยปี และเป็นการทำนาปีร้อยเปอร์เซ็นต์ ต่อมามีนายทุนมากว้านซื้อที่ดิน ทำให้การทำนาแบบเกษตรดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไป บางพื้นที่ถูกขายเป็นพื้นที่ขุดทราย บางทีแบ่งให้เช่าทำนา การทำนาจึงมีลักษณะไม่สมานฉันท์ บางคนทำนาปี บางคนทำนาปรัง บางคนทำพืชสวน การผันน้ำของชลประทานจึงไม่อาจตอบสนองคนทุกกลุ่มได้ จึงเกิดปัญหาการแย่งน้ำกันในบางครั้ง และเมื่อถูกเลือกให้เป็นพื้นที่รับน้ำ ชาวอำเภอบางบาล จึงต้องตกอยู่สภาวะจำยอม หนี้สินภาคเกษตรเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ แม้จะเป็นพื้นที่รับน้ำ แต่การช่วยเหลือเป็นไปอย่างล่าช้าและไม่ทั่วถึง ทำให้เกษตรกรหาทางออกกันเองไปตามวิถีทางของแต่ละคน และไม่เคยมีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยหลือ มากไปกว่า การมามอบของแจกช่วงน้ำท่วมแล้วก็จากไป กระทั่ง สกว. ได้เข้ามาทำงานร่วมกับชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านได้รู้จัก คำว่า “วิจัย” และศึกษาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน จนกระทั่งมีการรวมกลุ่ม เพื่อผลิตข้าว และพืชสวน เช่น กล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่อง ถั่วฝักยาวปลอดสารพิษ จำหน่ายกันในครัวเรือน พอเป็นรายได้เสริมในฤดูที่ว่างจากการเก็บเกี่ยว

“ยางพารา” เป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่นำรายได้มหาศาลเข้าสู่ประเทศไทยในแต่ละปี แต่ต้องยอมรับว่า กระบวนการผลิตและแปรรูปยางพารา ได้สร้างมลพิษด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ไม่น้อยโดยเฉพาะ โรงงานแปรรูปยางแท่ง ที่ปล่อยกลิ่นเหม็นจากเตาอบยาง และโรงงานแปรรูปน้ำยางข้น ที่ใช้แอมโมเนียเป็นส่วนประกอบในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตตั้งแต่การรับน้ำยางสด การปั่นแยกน้ำยาง ซึ่งการใช้แอมโมเนียเข้มข้นสูงในปริมาณมาก ทำให้มีการระเหยของแอมโมเนียสู่สิ่งแวดล้อม สร้างกลิ่นเหม็น เป็นมลพิษทางอากาศ สร้างผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่พักอาศัยรอบโรงงานด้วยเช่นกัน

องค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ และจังหวัดบึงกาฬ เจ้าภาพหลักในการจัดงานวันยางพาราบึงกาฬ 2562 เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมยางพารา จึงได้จัดเวทีเสวนาปราชญ์ชาวบ้านในหัวข้อ “ การแก้ไขปัญหากลิ่นและน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมยางพารา” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยเชิญ ผศ.ดร. ระพีพันธ์ แดงตันกี รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนางานวิจัยและอุตสาหกรรมสัมพันธ์ สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) มาพูดคุยเกี่ยวกับผลงานวิจัย “ODL ผงแร่จากธรรมชาติ” นวัตกรรมใหม่ของ มจพ. ที่แก้ไขปัญหาด้านกลิ่นที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมยางพารา ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นวัตกรรม “ODL ผงแร่จากธรรมชาติ”

ผศ.ดร. ระพีพันธ์ กล่าวว่า บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด จังหวัดระยอง ประสบปัญหาด้านกลิ่นในอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา จนถูกชาวบ้านท่ี่พักอาศัยรอบโรงงานร้องเรียนผ่านหน่วยงานภาครัฐ หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ก็เสี่ยงถูกปิดโรงงานได้ ที่ผ่านมา ทางบริษัทไทยฮั้วพยายามแก้ไขปัญหากลิ่นเหม็นโดยการฉีดพ่นน้ำจุลินทรีย์แต่ไม่ได้ผล จึงติดต่อ มจพ. ให้เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว

มจพ. พบว่า ปัญหากลิ่นเหม็นในโรงงาน มีต้นเหตุจาก ก๊าซแอมโมเนีย และก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (แก๊สไข่เน่า) ซึ่งมีพลังงานประจุไฟฟ้าลบ มจพ. จึงได้นำ “ODL ผงแร่จากธรรมชาติ” ที่มีส่วนผสมของแร่ธาตุธรรมชาติหลายชนิดที่มีพลังงานประจุไฟฟ้าบวกมาใช้แก้ไขปัญหาดังกล่าว โดย ODL ผงแร่จากธรรมชาติ ทำปฏิกิริยาอย่างเฉียบพลันกับประจุไฟฟ้าลบ ให้เกิดการแตกตัวและจับคู่โมเลกุลใหม่ทำให้กลิ่นเน่าเหม็นในโรงงานแปรรูปยางหมดไปอย่างรวดเร็ว

มจพ. ทดลองนำ ODL ผงแร่จากธรรมชาติ ในอัตรา 1 ก.ก. ไปละลายน้ำและฉีดพ่นบริเวณปล่องควันของโรงงานและโกดังเก็บยางก้อนถ้วย ในช่วงเช้าและเย็น ปรากฏว่า กลิ่นเหม็นค่อยลดลงภายใน 7 วัน หลังจากนั้นได้ประเมินผลจากชาวบ้านที่พักอาศัยอยู่รอบโรงงาน ปรากฏว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่รู้สึกพึงพอใจเพราะกลิ่นเหม็นที่เคยเป็นมลพิษด้านสิ่งแวดล้อมหายไปเกือบหมด

“ ODL ผงแร่จากธรรมชาติ” ไม่มีอันตรายต่อคนและสัตว์ ผ่านการรับรองจากศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมนาโนและไบโอพลาสติก สำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

ผศ.ดร. ระพีพันธ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ODL ผงแร่จากธรรมชาติ กลายเป็นสินค้าโกอินเตอร์ไปแล้ว เพราะมีเอกชนรายหนึ่งในประเทศสิงคโปร์ ขอซื้อนวัตกรรมดังกล่าวไปใช้ดับกลิ่นเหม็นบุหรี่ภายในห้องพักโรงแรมที่ประเทศสิงคโปร์ ผลงานชิ้นนี้ สามารถประยุกต์ใช้ในฟาร์มปศุสัตว์ประเภทต่างๆ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล อุตสาหกรรมแปรรูปน้ำมันปาล์ม ฯลฯ ได้ผลดีเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ มจพ. ยังมีนวัตกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมยางพารา ได้แก่ “สารจับยาง IR” (INNnnovation Rubber) คุณสมบัติของสาร IR เป็นสารประกอบอินทรีย์ใช้จับโมเลกุลเนื้อยาง เพื่อให้แยกส่วนออกจากน้ำ สามารถใช้ได้กับน้ำยางสด ที่มีค่า DRC ต่ำได้ทั้งหมด สารจับยาง IR มีประสิทธิภาพการจับเนื้อยางมากถึง 99.99% ไม่มีผลต่อคุณสมบัติเชิงกลของยางพารา สารจับยาง IR สามารถแยกเนื้อยางออกจากน้ำยางได้ทุกชนิด เช่น น้ำยางที่โดนฝน น้ำยางสดผสมแอมโมเนีย น้ำยางข้น และหางน้ำยาง เป็นต้น

สารจับยาง IR เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยแก้ปัญหาภาคการผลิตได้อย่างดี เพราะบ่อยครั้งที่เจอฝนตกระหว่างกรีดยาง ทำให้น้ำยางได้รับความเสียหายจนต้องทิ้งยางไป สารจับยางตัวนี้ช่วยให้ชาวสวนยางไม่ต้องกลัวฝนอีกต่อไป เพราะหยดสารจับยางในถ้วยยาง จะช่วยให้ยางจับเป็นก้อนได้ทันที ผลงานชิ้นนี้ ใช้งานง่าย สะดวก ที่สำคัญมีราคาถูก และคุ้มค่ากับการใช้งาน

อีกหนึ่งนวัตกรรมของ มจพ. ที่น่าจับตามองคือ ผงน้ำใส SC (Super Clear) เป็นผงเร่งตกตะกอนแบบเฉียบพลัน เป็นนวัตกรรมเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดและการบำบัดน้ำเสีย เหมาะสำหรับภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม

ผู้สนใจสามารถแวะเยี่ยมผลงานนวัตกรรมใหม่ของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้ในงานวันยางพาราบึงกาฬ 2562 ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 19 ธันวาคม 2561 ณ บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ

“ผักกางมุ้งอินทรีย์” สร้างรายได้เสริม
ให้ชาวสวนยางบึงกาฬได้ตลอดทั้งปี

นอกจากนี้ คณะผู้จัดงานยังได้จัดเวทีเสวนาปราชญ์ชาวบ้าน พร้อมความรู้ สู่การสร้างรายได้ ในหัวข้อเสวนา “ปลูกผักกางมุ้งอินทรีย์ อีกหนึ่งรายได้เสริมของเกษตรกรชาวสวนยาง” โดยเชิญ คุณยุทธการ บุญประคม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวไรซ์เบอร์รี่อู่คำ บึงกาฬ มาร่วมแบ่งปันความรู้สร้างอาชีพเสริมรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพารา โดยผู้สนใจเข้าร่วมฟังเสวนาในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก

คุณยุทธการ กล่าวว่า หลังจากเจอปัญหาราคายางพาราตกต่ำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มเกษตรกรที่มีรายได้หลักจากการทำสวนยาง ประสบความเดือดร้อนมากเพราะขาดแคลนรายได้เลี้ยงดูครอบครัว จึงรวมตัวกันปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่เพื่อเป็นรายได้เสริม

ต่อมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายกระตุ้นการใช้จ่ายของเกษตรกรในระดับฐานราก และช่วยส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยสนับสนุนเงินลงทุนเริ่มต้นให้กับเกษตรกรในชุมชน 9,101 แห่ง แห่งละ 2.5 ล้านบาท

คุณยุทธการ ในฐานะแกนนำกลุ่มเกษตรกรที่มีสมาชิกกว่า 40 ราย ได้ยื่นของบประมาณ 2.5 ล้านบาท สำหรับดำเนิน “แปลงผักกางมุ้งอินทรีย์” เพื่อเป็นรายได้เสริมให้แก่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางในท้องถิ่น

เมื่อโครงการได้รับการอนุมัติ ก็นำมาใช้ก่อสร้างโรงเรือนปลูกผักกางมุ้ง จำนวน 5 โรงเรือน ในเนื้อที่ 2 ไร่บนที่ิดินสาธารณะของชุมชน ในระยะแรกสมาชิกปลูกผักหลากหลายชนิดปรับเปลี่ยนตามฤดูกาล ได้แก่ ผักกวางตุ้ง แตงกวา ผักบุ้ง คะน้า บร็อกโคลี่ ผักสลัด ผักชี ฯลฯ

ต่อมาสมาชิกโครงการปลูกผักกางมุ้งอินทรีย์ ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ปลูกผักบุ้ง ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับการลงทุนมากที่สุด เพราะใช้เวลาปลูกดูแลในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 25 วัน เท่านั้น ก็สามารถเก็บผักบุ้งออกขายได้แล้ว โดยขายส่งในราคา กก.ละ 25 บาท ขายปลีกในราคา กก. ละ 30 บาท ลูกค้าหลักคือ ร้านอาหารหมูกระทะ และตลาดสดในท้องถิ่น

“ผักบุ้งกางมุ้งอินทรีย์ เป็นผักปลอดสารพิษ ใบสวย ไม่มีแมลงรบกวน รสชาติหวาน กรอบ อร่อย ขายดีจนผลิตไม่ทันกับความต้องการของตลาด แม้ห้างแม็คโครบึงกาฬจะติดต่อขอซื้อสินค้าก็ต้องปฏิเสธไป เพราะผลิตให้ไม่ทันจริงๆ ทุกวันนี้ ใครอยากได้ผักบุ้งอินทรีย์ ต้องสั่งจองกันล่วงหน้าเท่านั้น ถึงจะได้กิน” คุณยุทธการ กล่าว

ปัจจุบัน ผักบุ้ง ที่ปลูกกลางแจ้ง มักมีปัญหาโรคพืชรบกวน เช่น เชื้อราสนิม ราใบจุด และราน้ำค้าง ทำให้ใบผักบุ้งไม่สวย ขายไม่ได้ราคา เกษตรกรจึงนิยมฉีดพ่นสารเคมีกำจัดโรค ดังนั้น ผู้บริโภคที่ซื้อผักบุ้งในท้องตลาดทั่วไป มักเสี่ยงเจอปัญหาสารพิษตกค้างได้ แต่ผักบุ้งกางมุ้ง ปลูกดูแลแบบเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษ มีต้นทุนต่ำและเกษตรกรสามารถปลูกผักอย่างต่อเนื่องได้ตลอดทั้งปี

โครงการปลูกผักกางมุ้งอินทรีย์ในชุมชนแห่งนี้ ทางกลุ่มได้แบ่งพื้นที่ให้สมาชิกแต่ละรายดูแลรับผิดชอบคนละ 1 แปลง โดยโรงเรือน 1 หลัง จะแบ่งพื้นที่ปลูกผักเป็น 3 แปลง แปลงละ 1 ตารางเมตร จะเก็บผลผลิตออกขายได้ครั้งละ 4 กก./แปลง

สำหรับผลผลิต 1 โรงเรือน จะมีรายได้ รุ่นละ 6,000-7,000 บาท ทางกลุ่มจะแบ่งรายได้ให้สมาชิก 50% และหักเงินอีก 50% เป็นรายได้เข้ากลุ่มเพื่อเป็นกองทุนสวัสดิการสำหรับดูแลสมาชิกในอนาคต และค่าใช้จ่ายสำหรับดูแลซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องมือและโรงเรือนผักกางมุ้งต่อไป

การปลูกผักกางมุ้ง เริ่มต้นจากการเตรียมดิน ตีดินให้ร่วนซุยพร้อมใส่ปุ๋ยน้ำจุลินทรียบำรุงดิน ตากดิน 7 วัน ก่อนปลูก เตรียมเมล็ดพันธุ์ผักบุ้งศรแดง มาล้างทำความสะอาดและนำไปแช่น้ำหมักจุลินทรีย์ 1-2 คืน เมื่อเมล็ดพันธุ์งอกก็นำไปโรยในแปลงที่เตรียมไว้ หลังปลูก 7 วัน ใส่ปุ๋ยคอกจากฟาร์มหมูหลุมบำรุงดิน และจะใช้ปุ๋ยน้ำหมักจุลิทรีย์ฉีดพ่นบำรุงใบ โดยผสมน้ำหมักจุลินทรีย์ร่วมกับการให้น้ำในระบบท่อสปริงเกลอร์ช่วงเช้าและเย็นในแต่ละวัน

เมื่อต้นผักบุ้งอินทรีย์อายุได้ 20- 22 วัน ก็เริ่มเก็บผลผลิตออกขาย เพราะเป็นระยะเวลาที่ผักบุ้งมีรสชาติกรอบ อร่อย ระวังอย่าปล่อยให้ผักบุ้งมีอายุเก็บเกี่ยวเกิน 25 วัน เพราะจะทำให้เนื้อผักบุ้งเหนียว กินไม่อร่อย ปัจจุบัน ทางกลุ่มเปิดฟาร์มแห่งนี้เป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องการปลูกผักกางมุ้งอินทรีย์ ผู้สนใจสามารถแวะเยี่ยมกิจการได้ โดยติดต่อประสานงานล่วงหน้ากับ คุณยุทธการ บุญประคม หมายเลขโทรศัพท์ (084) 519-4669

“เบาหวาน” โรคยอดฮิตของคนไทยที่มีอัตราการเกิดสูงขึ้นทุกปี ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตของคนไทย ซึ่งมีสาเหตุมาจากภาวะอาการเรื้อรังของการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ที่เกิดจากความบกพร่องของการสร้างอินซูลิน หรือการทำงานของอินซูลิน

ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวามมักจะเกิดโรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรงหลายโรคตามมา ที่อาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันผู้คนจะตระหนักถึงปัญหาในเรื่องนี้กันแล้วก็ตาม แต่ผลจากสถิติที่ออกมามันกลับสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง

จากการสำรวจในประเทศไทย พบว่า ในปี 2557 คนไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นเบาหวาน ร้อยละ 8.9 หรือประมาณ 4.8 ล้านคน ส่วนในปี 2558 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานกว่า 5 ล้านคน และในปัจจุบันยังพบว่ากลุ่มคนที่มีอายุน้อยมีอัตราเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยทำงานที่มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 45-60 ปี มีอัตราเสี่ยงเป็นเบาหวาน อยู่ร้อยละ 12 หรือประมาณ 1.7 ล้านคน ซึ่งจำนวนคนกว่า 40% ไม่รู้ว่าตนเองเป็นเบาหวาน

นอกจากนี้ ยังมีจำนวนคนไทยที่มีน้ำตาลในเลือดสูงที่เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานในอนาคต อีกกว่า 7.7 ล้านคน ซึ่งในแต่ละปีพบว่า มีคนไทยที่เป็นเบาหวานเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าปีละ 1 แสนคน จากสถิติทั่วโลกพบว่ามีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคเบาหวานทุก 6 วินาที ซึ่งในปี 2583 ได้มีการคาดการณ์ว่าจะมีประชาชนที่ป่วยด้วยโรคเบาหวานทั่วโลกเพิ่มอีก 227 ล้านคน หรือคิดเป็น ร้อยละ 10.4 ของประชากรทั้งหมด จะเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2558 กว่าร้อยละ 50 ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านระบบสุขภาพเพิ่มประมาณ 129,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายแพทย์เพชร รอดอารีย์ เลขาธิการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคเบาหวานในปัจจุบันมักจะพบกับกลุ่มคนที่มีอายุน้อยมากขึ้น ซึ่งมีผู้ป่วยกว่า 40% ไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็นโรคเบาหวานกว่า 7.7 ล้านคน ซึ่งแต่ละปีมีผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เพิ่มมากขึ้น จากรายงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) ในปี 2561 เปิดเผยว่า ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เข้ารับการรักษาในระบบโรงพยาบาลของรัฐบาล พบว่า ยังมีสัดส่วนของผู้ป่วยที่ยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสะสมได้ตามเป้าหมายสูงอยู่

การสังเกตตนเองในเบื้องต้นนั้น สามารถสังเกตได้จาก “ปัสสาวะ” เมื่อในร่างกายมีน้ำตาลเกินมาตรฐานที่ 180-200 ขึ้นไป จะมีภาวะที่น้ำตาลพ้นออกมาจากปัสสาวะ มีอาการปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะถ้าคนอ้วน อยู่ดีๆ ก็ผอมแบบที่ไม่ได้ตั้งใจลดน้ำหนักด้วยแล้ว นั้นหมายความว่ามีน้ำตาลเกินมาฐานแน่นอน ซึ่งถ้าผู้ป่วยอยู่ในภาวะที่มีอัตราน้ำตาลขึ้นสูงอย่างนี้เป็นเวลานาน อาจจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นได้ เช่น สายตาอาจจะมัวหรือบอดได้ หรืออาจจะก่อให้เกิดโรคหัวใจ และพัฒนาเป็นโรคหัวใจตีบได้

ซึ่งคนที่เป็นทั้งโรคเบาหวานและโรคหัวใจ จะมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าคนที่เป็นเพียงแค่โรคเดียว ซึ่งจากสถิติพบว่าคนไทยที่เป็นโรคเบาหวานเสียชีวิตจากการเป็นโรคแทรกซ้อนหรือโรคหัวใจป ระมาณ 28% ซึ่งนี่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไข้เบาหวาน

วิธีการป้องกัน ไม่ให้ตนเองเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน คือ “การตรวจคัดกรอง” เป็นการตรวจในระยะที่ยังไม่เกิดอาการของโรค ซึ่งควรตรวจอย่างน้อยปีละครั้ง เช่น การตรวจตา หรือเท้าว่ายังมีการตอบสนองที่ปกติดีอยู่หรือไม่ นอกจากนี้การออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาที ต่อสัปดาห์ หรือการลดน้ำหนักลง 7% จากน้ำหนักตัวตั้งต้น ก็สามารถช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้ถึง 60% ต่อให้ตรวจพบว่ามีน้ำตาลสูงในเลือดที่มีโอกาสเป็นเบาหวานแล้วก็ตาม

ส่วนวิธีการรักษาเมื่อพบว่าตนเองเป็นเบาหวานในระยะแรก คือ การควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดรับประทานอาหารที่หวาน มัน เค็มลง เป็นต้น วิธีนี้จะช่วยทำให้ร่างกายของคนไข้เป็นเหมือนปกติ และวิธีนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนไปมากด้วย ซึ่งในการปรับตัวก็มีระยะเวลากำหนดอยู่ ซึ่งจะต้องเห็นผลภายใน 3 เดือน ว่าน้ำตาลในเลือดลดลง สุขภาพเริ่มดีขึ้น แต่ในบางกรณีอาจจะมีการให้ยาควบคู่กันไป

นายแพทย์เพชร ได้อธิบายต่ออีกว่า โรคเบาหวาน สามารถแบ่งได้ 4 ชนิด ได้แก่ เบาหวานชนิดที่ 1 เป็นชนิดที่ต้องพึ่งอินซูลิน (IDDM) ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือพันธุกรรม ซึ่งจะพบเพียงแค่ประมาณ 5-10% เท่านั้น แต่จะพบมากในเด็กที่มีอายุระหว่าง 10-14 ปี

เบาหวานชนิดที่ 2 คือชนิดที่ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน (NIDDM) ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากอายุที่มากขึ้น ความอ้วน บุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ หรือเคยมีประวัติเคยเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดเบาหวานที่เกิดในช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งพบมากถึง 90-95% ของจำนวนโรคเบาหวานทุกชนิด ในเด็กที่มีอายุเกิน 10 ปีขึ้นไป 20-30% มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้มากกว่าผู้ใหญ่ เลยทีเดียว

เบาหวานชนิดที่ 3 เกิดจากการที่ตับถูกทำลาย ที่มีสาเหตุมาจากการอุบัติเหตุการได้รับสารพิษ หรือการดื่มเหล้า ซึ่งพบได้น้อยมาก

และเบาหวานชนิดที่ 4 เบาหวานที่เกิดในช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นเพียง 5-15% ของจำนวนหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด ซึ่งเบาหวานที่เกิดในช่วงตั้งครรภ์เรียกได้ว่าเป็น “เบาหวานชั่วคราว” เนื่องจากการที่มีฮอร์โมนผิดปกติในรกมากจนเกินไป จึงทำให้เกิดเบาหวานขึ้น โดยหลังจากที่คลอดบุตรแล้วเบาหวานชนิดนี้จะหายไป ซึ่งเบาหวานชนิดนี้ถือได้ว่าเป็นอันตรายมาก โดยเฉพาะผู้เป็นแม่ที่อาจจะทำให้เกิดครรภ์พิษได้ง่าย ส่วนอันตรายที่เกิดกับเด็ก คือ เด็กจะตัวใหญ่กว่าปกติทำให้คลอดยาก หรืออาจจะเกิดความพิการของหัวใจตั้งแต่กำเนิดได้ ซึ่งพบมากในภาคอีสาน