นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กล่าวว่า เนื้อที่เพาะปลูก

กล้วยในพื้นที่จังหวัดสตูล มีทั้งหมด 950 ไร่ ปลูกในพื้นที่อำเภอควนโดน มากสุด 420 ไร่ โดยผลผลิตในปี 2559 ได้จำนวน 319 ตัน ซึ่งแปลงของเกษตรกรจุดนี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากสวนยางพารามาเป็นไร่กล้วยและมะละกอ จากเกษตรกรที่ประสบปัญหาราคายางพาราตกต่ำ หันมาปลูกกล้วยให้กิโลกรัมละ 20-30 บาท/กิโลกรัม มีการบริหารจัดการแบบครบวงจร มีตลาดรองรับ และกล้วยเป็นพืชเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้อีก ซึ่งทางเกษตรจังหวัดและเกษตรอำเภอพร้อมจะส่งเสริมให้เป็นจุดเรียนรู้ให้กับเกษตรกรรายอื่นได้ต่อไป

พร้อมกันนี้ยังมีนโยบายส่งเสริมอาชีพ โดยเน้นให้เกษตรกรมีรายได้จากหลายแหล่งด้วยการทำการเกษตรแบบผสมผสานตามความถนัด ทั้งประมง ปศุสัตว์ และเกษตร หากเกษตรกรที่สวนยางพาราหมดอายุ สนใจจะปรับเปลี่ยน สามารถมาศึกษาดูงานได้ที่จุดเรียนรู้ หรือติดต่อทางเกษตรจังหวัดเพื่อติดต่อดูงานได้

คุณประเสริฐ บางแดง เจ้าของสวนเมล่อน “น้ำเพชรฟาร์มเมล่อน” อยู่บ้านเลขที่ 3/3 หมู่ที่ 7 ตำบลเนินปอ อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร โทร. (089) 641-5176, (061) 469-8262

เมล็ดพันธุ์เมล่อน คุณประเสริฐ บางแดง เล่าว่า ตอนนี้ปลูกเมล่อนอยู่ 2-3 สายพันธุ์หลักๆ แต่จะเน้นสายพันธุ์ที่ปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์ในบ้านเราแล้ว เพราะจะมีการปรับตัวและความแข็งแรงดีกว่าสายพันธุ์เมล่อนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศโดยตรง ส่วนราคาเฉลี่ยแล้วจะตกเมล็ดละ 4-5 บาท (แล้วแต่สายพันธุ์) ยกตัวอย่าง พันธุ์ “กรีนเน็ต 99” เนื้อเขียว เนื้อนุ่มหอมหวาน ผิวมีตาข่ายเส้นเล็ก มีลักษณะทนโรคและปลูกง่าย อายุการเก็บเกี่ยวสั้น ประมาณ 65-70 วัน เท่านั้น เหมาะสำหรับมือใหม่ ตลาดยอมรับทั่วไป อีกพันธุ์ คือ “กาเลีย” ผิวผลสีเหลือง เนื้อเขียว หอมหวาน โดยจะเน้นปลูกเมล่อนสายพันธุ์การค้าทั่วไปและเป็นพันธุ์ที่ได้ปรับปรุงพันธุ์ในบ้านเราแล้ว

เหมือนการเริ่มต้นที่ดีย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง การเพาะเตรียมกล้าเมล่อนก็เช่นกัน โดย คุณประเสริฐ อธิบายว่า ตนเองมักจะแช่เมล็ดเมล่อนด้วยน้ำอุ่น ราว 4 ชั่วโมง ในช่วงเวลาเช้า ช่วงเวลาบ่ายก็จะเอาขึ้นจากน้ำที่แช่ มาบ่มในผ้าสะอาดหมาดน้ำ (หรือวางบนกระดาษทิชชู) ใส่ในกล่องพลาสติก กล่องโฟม หรือกระติกน้ำปิดฝาทิ้งไว้ 1 คืน เพื่อให้รากเมล่อนแทงออกมาจากเมล็ดเล็กน้อย เช้าวันรุ่งขึ้นก็จะนำเมล็ดไปเพาะต่อในดินมีเดีย (พีทมอสส์) หรือวัสดุเพาะสำเร็จซึ่งเป็นวัสดุปลูกสูตรสำเร็จ เหมาะสำหรับต้นกล้าทุกชนิด อุ้มน้ำได้ดีแต่ไม่แฉะ ช่วยรักษาระดับความชื้นให้ต้นกล้า (pH เป็นกลาง) สะอาด ปราศจากเชื้อรา ซึ่งเป็นสาเหตุโรคพืช ปราศจากวัชพืช

หลังจากนำดินใส่ถาดเพาะแล้ว รดน้ำให้ดินชุ่มชื้นก่อน 1 รอบ แนะนำให้ใช้ฟ็อกกี้สเปรย์รดน้ำต้นไม้หรือว่าฟ็อกกี้ฉีดน้ำรีดผ้าก็ได้ เพื่อไม่ให้น้ำแรงจนทำให้ดินเพาะหลุดออกจากถาดเพาะ จากนั้นใช้ไม้จิ้มทำหลุมที่กลางหลุมเพาะลึกลงไป ประมาณ 0.5 เซนติเมตร เวลาเราหยอดเมล็ด เมล็ดจะได้อยู่ตรงกลาง ต้องระวังไม่ให้รากอ่อนเสียหาย และกลบด้วยดินมีเดียบางๆ พร้อมกับรดน้ำให้ชุ่มชื้น หลังจากนั้น นำถาดเพาะกล้าไปเก็บในที่ที่มีแสงแดด หรือเก็บที่โรงเรือนเพาะที่ได้รับแสงแดดเต็มที่

ต้นกล้าเมล่อนอยู่ในเกณฑ์ที่พอเหมาะ ซึ่งมักจะอยู่ในระยะ 10-15 วัน ต้องรดน้ำให้ชุ่มอยู่ตลอดทุกวัน แต่ที่สวนของตนเองจะย้ายกล้าเร็ว คือ ประมาณ 8-10 วัน คือต้นกล้างอกขึ้นมา มีใบเลี้ยง 2 ใบ และมีใบจริง 1 ใบ ก็จะย้ายกล้าปลูกลงแปลงเลย เพราะคิดว่าอยากให้กล้าเมล่อนมันไปเจริญเติบโตต่อในแปลงจะดีกว่าที่โตในถาดเพาะ เนื่องจากสังเกตว่าเมื่อย้ายปลูกเร็ว ต้นกล้ามีการปรับตัว ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการย้ายกล้าคือ ช่วงเย็น เพราะอากาศจะไม่ร้อน ความกว้างของหลุมปลูก ควรมีขนาดพอๆ กับหลุมถาดเพาะกล้า กลบดินต้นกล้าเมื่อย้ายเสร็จแล้ว หลังจากนั้น ก็จะให้น้ำทุกๆ วัน วันละ 1-3 เวลาตามความเหมาะสมและสภาพอากาศ

คุณประเสริฐ อธิบายว่า อาจจะปรับเปลี่ยนไปตามฤดูการปลูก ยกตัวอย่าง

ช่วงหน้าร้อน ก็ปลูกระยะระหว่างต้น 30 เซนติเมตร

ส่วนหน้าหนาว ก็ต้องปลูกระยะให้ห่างมาเล็กน้อย ก็ปลูกระยะระหว่างต้น 35 เซนติเมตร เพื่อให้แสงแดดส่องถึง อากาศหรือลมถ่ายเทได้เร็ว ไม่ให้สภาพแวดล้อมมันเย็นจนเกินไป

ถ้าเราปลูกถี่อากาศไม่ถ่ายเท เกิดความชื้นสะสมสูง ก็จะมาสู่เรื่องของโรคเชื้อราตามมา หลังย้ายกล้าปลูกลงแปลงได้ 2 วัน ก็จะเริ่มให้ปุ๋ยไปพร้อมกับระบบน้ำ ซึ่งอัตราที่ให้ คุณประเสริฐ อธิบายการให้ปุ๋ยว่า เราจะคิดคำนวณแบบง่ายๆ คือ 1 ต้น จะต้องได้ปุ๋ยประมาณ 1 กรัม ถ้าเมล่อนใน 1 โรงเรือน เรามีต้นเมล่อน จำนวน 600 ต้น ตนเองก็จะผสมปุ๋ยเกล็ด คือ ปุ๋ยสูตร 30-20-10 ที่จะใช้ในช่วงแรกของการเจริญเติบโต เพราะมีไนโตรเจน (N) สูง โดยจะชั่งปุ๋ยเกล็ดมา 600 กรัม (6 ขีด) นำมาผสมน้ำสัก 40 ลิตร (น้ำใช้กี่ลิตรก็ได้) ผสมกวนให้ปุ๋ยเกล็ดละลาย แล้วปล่อยไปพร้อมระบบน้ำได้เลย การให้ปุ๋ยผ่านน้ำที่สวนเน้นการให้น้อยแต่บ่อยครั้ง

ดังนั้น การให้ปุ๋ยผ่านระบบน้ำจะให้แบบวันเว้นวัน โดยจะใช้ปุ๋ยเกล็ด สูตร 30-20-10 ที่จะมีสูตรตัวหน้าหรือไนโตเจน (N) สูง เพื่อเน้นการเจริญเติบโตของใบกับยอด ให้ประมาณ 5 ครั้ง การให้ปุ๋ยจะให้แบบวันเว้นวัน ก็จะใช้ระยะเวลา 10 วัน สำหรับการใช้ปุ๋ยเกล็ด สูตร 30-20-10 จากนั้นก็จะต้องปรับเปลี่ยนสูตรปุ๋ยเกล็ดให้เหมาะกับระยะการเจริญเติบโตของเมล่อน โดยจะใช้ปุ๋ยเกล็ดสูตรเสมอ คือ สูตร 20-20-20 มาผสมร่วมในอัตราผสม 1 ต่อ 1 ส่วน

วิธีการใช้ จะใช้ปุ๋ยเกล็ด สูตร 20-20-20 จำนวน 300 กรัม (3 ขีด) ผสมกับปุ๋ยเกล็ด สูตร 30-20-10 จำนวน 300 กรัม (3 ขีด) ให้ผ่านระบบน้ำแบบวันเว้นวันเหมือนเดิม จะใช้สูตรนี้ไปจนกว่าเมล่อนจะติดเป็นผลอ่อน (ผลโตเท่าไข่ไก่) หรือราวๆ 35-40 วัน หลังปลูก ก็จะมาปรับเปลี่ยนสูตรปุ๋ยเกล็ด โดยยังคงใช้ปุ๋ยเกล็ด สูตร 20-20-20 ยืนพื้นอยู่ แต่จะใช้ปุ๋ยเกล็ดที่มีสูตรตัวท้ายสูง คือ โพแทสเซียม (K) เพื่อช่วยเรื่องของการสร้างเนื้อและเรื่องของความหวาน คือ สูตร 10-20-30 มาผสมร่วม ในอัตราผสม 1 ต่อ 1 ส่วน

วิธีการใช้ จะใช้ปุ๋ยเกล็ด สูตร 20-20-20 จำนวน 300 กรัม (3 ขีด) ผสมกับ ปุ๋ยเกล็ด สูตร 10-20-30 จำนวน 300 กรัม (3 ขีด) ปล่อยเข้าระบบน้ำแบบวันเว้นวันจนเกือบจะเก็บเกี่ยว

การฉีดพ่นทางใบ

จะกำหนดคร่าวๆ คือ ฉีดป้องกันกำจัดโรคและแมลง และปุ๋ยฮอร์โมนต่างๆ จะฉีดทุกๆ 5-10 วัน (พิจารณาตามความเหมาะสมและการระบาด) โดยจะใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แมนโคเซบ โพรพิเนบ เป็นต้น จริงๆ สำหรับการป้องกันกำจัดแมลงนั้น ครั้งแรกก่อนการปลูกเราจะฉีดโรงเรือนคล้ายๆ การอบหรือรมควัน การฉีดก็จะพ่นให้ทั่วจากด้านหลังโรงเรือนมาหาด้านหน้าแล้วเดินออก ปิดโรงเรือนอบทิ้งไว้ก่อนการปลูก เพื่อฆ่าหรือป้องกันแมลงศัตรูต่างๆ ที่มีอยู่ในโรงเรือน วิธีนี้ช่วยได้มากทีเดียว ส่วนยาฉีดป้องกันกำจัดแมลงก็จะเน้นกลุ่มเพลี้ยไฟ และแมลงหวี่ขาวที่เป็นศัตรูสำคัญของการปลูกเมล่อน ส่วนฮอร์โมนก็จะเน้นกลุ่มแคลเซียม-โบรอน โดยประมาณ 15 วัน หลังปลูกก็จะใช้ฉีดร่วมทุกครั้ง ปุ๋ยเคมีทางใบก็จะใช้สูตรเดียวกับที่ใช้ทางดิน เพื่อให้สอดคล้องกันตามระยะการเจริญเติบโต

ตัดแต่งเด็ดแขนงออกเป็นประจำ

หลังปลูกได้ประมาณ 8-10 วัน ต้นเมล่อนเริ่มจะมีแตกแขนงข้างเล็กๆ ออกมา แขนงมีขนาดเล็ก (เท่าหัวไม้ขีด) ก็จะเด็ดออกก่อน ไม่ปล่อยให้ยาวมากถึงค่อยเด็ดออก เพราะถ้าเราสามารถเด็ดออกได้เร็ว ต้นก็จะโตทางยอดได้เร็ว แผลที่เกิดก็จะมีขนาดเล็กตาม เชื้อราก็เข้าไปทำลายได้น้อยลงตาม แต่แนะนำว่าควรเด็ดแขนงในช่วงเวลาเช้าถึงเวลาเที่ยงจะดีที่สุด
อายุต้นได้ประมาณ 15 วัน ก็จะต้องเริ่มมัดต้นให้ต้นตั้งตรงเลื้อยขึ้นเชือก คุณประเสริฐ อธิบายว่าการมัดต้นถ้าทำได้เร็วต้นจะตรง เถาไม่บิดงอ แต่ถ้าจับต้นมัดช้า ต้นงอ เมื่อดึงต้นมัดขั้นเชือก ยอดหรือต้นอาจจะหักเสียหายได้ง่าย ขั้นตอนนี้ควรต้องทำด้วยความระมัดระวัง ประณีตเป็นพิเศษ ส่วนการเลือกใช้เชือกสำหรับการผูกต้นเมล่อน เชือกที่เลือกใช้จะเป็นเชือกที่เขาเอาไว้ใช้สานเสื่อ โดยสังเกตว่ามีความทนทาน ใช้ได้นานมาก ราคาถูก ไม่ดูดซับน้ำที่อาจจะมีปัญหาหรือเป็นแหล่งสะสมโรคเชื้อราต่างๆ ได้ ถ้าใช้เชือกสีขาวที่นิยมใช้กันอยู่ตามสวนเมล่อนต่างๆ

หลังจากที่เด็ดแขนงข้างออกในทุกๆ เมื่อต้นเมล่อนมีใบหรือช่วงข้อหรือใบที่ 8-12 ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เหมาะสม ติดผลและเลี้ยงผลได้มีคุณภาพที่สุด (จริงๆ จะปล่อยให้มีแขนงไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ ใบที่ 8 ขึ้นไป จนกว่าจะผสมดอกติดผลอ่อนจนพอใจ ว่าต้นเมล่อนติดผลแน่นอน) เราจะเริ่มปล่อยไว้แขนง ไม่เด็ดออกเพื่อปล่อยให้แขนงออกดอกตัวเมียเพื่อผสมเกสร ช่วยให้ (ดอกตัวเมียจะเกิดที่ส่วนของแขนง ส่วนดอกตัวผู้จะออกที่ซอกใบของลำต้นหลัก)

จากที่สังเกตต้นเมล่อนหลังปลูกแล้ว หลังมีการปล่อยไว้แขนงเพื่อให้เกิดดอกตัวเมียที่กิ่งแขนง ราวๆ 28-30 วัน หลังปลูกดอกตัวเมียจะเริ่มบาน ส่วนดอกตัวผู้จะออกมาตลอดทุกๆ ข้อ ตามลำต้น ตั้งแต่ 20 วันหลังปลูก เมื่อสังเกตว่าดอกตัวเมียเริ่มบาน ก็จะต้องมาช่วยผสมเกสรทุกๆ เช้า ช่วงเวลาประมาณ 07.00-11.00 น. ของทุกๆ วัน เนื่องจากดอกตัวเมียจะบานในช่วงเวลาเช้า วิธีการผสมก็จะนำละอองเกสรตัวผู้มาแต้มบนเกสรตัวเมีย

ซึ่งคุณประเสริฐ เล่าว่า ตนเองถนัดที่จะใช้ดอกต่อดอกเลย คือเด็ดดอกตัวผู้ที่สวย ดูสมบูรณ์ มาใช้มือฉีกเด็ดกลีบดอกตัวผู้ทิ้งไปให้หมด เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการผสม จากนั้นก็จะนำเกสรไปแต้มให้ทั่ว เขี่ยวนไปสัก 2-3 รอบ ส่วนคุณพ่อจะถนัดในการใช้พู่กันขนาดเล็กในการช่วยผสมเกสร วิธีการเหมือนเดิมคือเลือกดอกตัวผู้ เด็ดกลีบดอกออกให้หมด ใช้พู่กันเขี่ยละอองเกสรตัวผู้อย่างเบามือ ซึ่งคุณพ่อจะใช้ดอกตัวผู้ 2 ดอก ต่อการผสมดอกตัวเมีย 1 ดอก เพื่อความมั่นใจให้ติดผลดี

หลังจากที่ผสมเกสรเสร็จ ผู้ผสมเกสรก็จะใช้กรรไกรตัดปลายยอดของแขนงที่ผสมทิ้งไป ให้เหลือใบติดที่แขนงนั้นเพียง 2 ใบ เท่านั้นแล้ว เพื่อเป็นการทำสัญลักษณ์ว่าเราได้ผสมเกสรไปแล้ว ไม่เสียเวลาที่มาผสมซ้ำอีก อีกอย่างการตัดปลายยอดแขนงก็ทำให้ต้นส่งอาหารไปเลี้ยงที่ผลได้ดี เนื่องจากการผสมเกสรจะต้องทำทุกๆ วัน เดินผสมทุกๆ ต้น ในแต่ละวัน ต้องเดินผสมต้นที่หนึ่งจนถึงต้นสุดท้ายทุกๆ วัน ไล่ผสมขึ้นไป จะใช้เวลาผสมเกสรทั้งโรงเรือน ประมาณ 3-5 วัน เมื่อผสมเสร็จ 1-2 วัน ดอกตัวเมียที่ได้รับการผสมที่ดีก็จะกลายเป็นผลอ่อนขนาดเล็ก ใน 1 ต้น อาจจะมี 3-5 ผลอ่อน ที่เรามองแล้วว่ามีการติดผลแน่นอน เราก็จะเริ่มแต่งแขนงที่ไม่ต้องการออกในรอบแรก

เมื่อต้นเมล่อนติดผลมีขนาดเท่าไข่ไก่ ให้ตัดสินใจเลือกไว้แค่ผลเดียว ที่ทรงผลสวยสุด ลักษณะผลรียาว ผิวสวย จากนั้นต้องเร่งแต่งแขนงผลที่ไม่ต้องการทิ้ง หรือนำผลอ่อนไปขายให้หมด เพื่อให้อาหารส่งมายังผลที่เราเลือกเอาไว้ ราวๆ 35 วัน หลังปลูกก็จะเป็นการแขวนผล การแขวนผลจะใช้เชือกฟาง เพราะมีความอ่อนนุ่ม ไม่บาดขั้วผล มีราคาถูก ส่วนการแขวนผลนั้นจะช่วยให้ต้นไม่ต้องรับน้ำหนักมาก เพราะเถาเมล่อนอยู่ได้แค่เชือกเส้นเดียว หลังแขวนผลแล้ว เมื่อใบเมล่อนมีประมาณ 25-30 ใบ (นับจากใบล่างสุดขึ้นไป) หรือราวๆ 40 วัน ก็จะต้องตัดปลายยอดทิ้ง เพื่อให้อาหารถูกส่งมาเลี้ยงที่ผลเพียงอย่างเดียว เหลือเวลาอีก 20-25 วัน โดยประมาณ ก็จะเป็นการเฝ้าดูแลเรื่องน้ำ ปุ๋ย ฮอร์โมน อาหารเสริม รวมถึงสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงตามความเหมาะสม ที่ต้องเฝ้าระวังคือ เรื่องของโรคเชื้อรา ที่มักจะสร้างความเสียหายอย่างรวดเร็วกับผู้ปลูกเมล่อน

การใช้ปุ๋ยทางใบ

จะเริ่มใช้แบบเป็นระยะในช่วงของการติดผลอ่อนเป็นต้นไป จะใช้ปุ๋ยเกล็ดดังที่อธิบายไปบางส่วนในตอนต้น อย่างปุ๋ยเกล็ด สูตร 30-20-10 ซึ่งเป็นปุ๋ยเกล็ดที่สามารถฉีดพ่นทางใบได้ และนำมาละลายน้ำปล่อยเข้าระบบน้ำ ปุ๋ยสูตรนี้นอกจากจะช่วยในเรื่องของการเจริญเติบโตทางลำต้น ยอด และใบ (ซึ่งจะปล่อยปุ๋ยสูตรนี้มาทางระบบน้ำและฉีดพ่นให้เป็นระยะ) ปุ๋ยสูตรนี้ยังช่วยในเรื่องของการขยายขนาดผล เราจะฉีดให้ทุกๆ 4 วันครั้ง แล้วเมล่อนอายุได้ราว 50 วัน ไปแล้ว ก็จะเปลี่ยนสูตรปุ๋ยเกล็ด สูตร 10-20-30 สูตรที่มีตัวท้ายหรือโพแทสเซียม (K) สูง เพื่อช่วยเรื่องของความหวาน

เรื่องของความหวาน ที่สวนจะเน้นก่อนการเก็บเกี่ยวช่วงสัปดาห์สุดท้าย โดยใช้ปุ๋ยสูตร 0-0-60 ปล่อยให้ไปกับระบบน้ำ ให้ปุ๋ยแบบวันเว้นวัน สัก 3 ครั้ง

ส่วนการให้น้ำก่อนการเก็บเกี่ยว ถ้าเป็นสวนอื่นที่ปลูกในถุงที่อาจจะมีความชื้นสะสมในถุงมากพอ อีกทางหนึ่งที่เป็นการช่วยเพิ่มความหวานให้กับผลเมล่อน คือ การงดน้ำ 5-7 วัน ก่อนการตัดผลจำหน่าย คุณประเสริฐ เน้นย้ำว่า เนื่องจากที่สวนตนเองปลูกเมล่อนบนดิน การงดไม่ให้น้ำเลยนั้นไม่สามารถทำได้ ถ้างดเลยก็ทำให้ดินแห้งอย่างรวดเร็ว แล้วส่งผลให้ต้นเมล่อนขาดน้ำตายเสียก่อน ดังนั้น วิธีที่ใช้อยู่และได้ผลดีสำหรับสวนตนเองนั้นคือ ค่อยๆ ลดปริมาณการให้น้ำ ได้กินน้ำน้อยลงแต่ต้องไม่งดน้ำ ความหวานเมล่อนที่สวนตอนนี้ก็ถือว่าน่าพอใจ ราวๆ 15-18 องศาบริกซ์

ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย พืชผลทางการเกษตรราคาตก พืชที่ได้รับผลกระทบหนักคงจะหนีไม่พ้น ข้าว พืชหลักทำเงินเข้าประเทศ สร้างปัญหาเป็นวงกว้างแก่ชาวนา โดยเฉพาะในเรื่องปากท้อง ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ได้สร้างความท้อถอยให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก แต่มีชาวนาบางกลุ่มยังมุ่งที่จะทำเกษตรต่อไป จนเกิดการพลิกผืนนามาปลูกแตงโม สร้างรายได้มากกว่าปลูกข้าวหลายเท่านัก

คุณอุดร หอมกลิ่น อยู่บ้านเลขที่ 57 หมู่ที่ 15 หมู่บ้านค่ายพัฒนา ตำบลเวียงสะอาด อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม เกษตรกรผู้พลิกฟื้นผืนนา หันมาปลูกแตงโมทั้งสายพันธุ์ที่มีเมล็ดและไร้เมล็ด คุณอุดรจบการศึกษาระดับอนุปริญญา ก่อนหน้าที่จะหันมาเป็นเกษตรกร มีอาชีพรับจ้างเดินสาย ใครจ้างทำอะไรที่ไหนไปหมด และได้เปลี่ยนวิถีจากงานรับจ้างมาทำงานที่ฟาร์มวัวเนื้อ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำนานกว่า 10 ปี แต่ด้วยที่ทำงานประสบปัญหาในเรื่องของพื้นที่เลี้ยง ตนจึงลาออกจากงานมาค้าขาย ได้มีเวลากลับมาคิดว่าตัวเองเริ่มอายุมากแล้ว ไม่อยากเปลี่ยนอาชีพบ่อยๆ ได้มองเห็นคนแถวบ้านทำเกษตรกันเยอะ จึงมีความคิดทำเกษตรปลูกข้าว แต่ทำไปทำมาข้าวราคาตก อยู่ไม่ได้จึงมองหาพืชอย่างอื่นที่เหมาะกับสภาพพื้นดินที่ตนเองอยู่ คือมีสภาพเป็นดินปนทราย เหมาะที่จะปลูกแตงโม ตนจึงได้เข้าไปสอบถามข้อมูล การปลูก การลงทุน กับเกษตรกรผู้ปลูกแตงโม ก็ได้คำตอบมาว่า ปลูกได้ ใช้เงินลงทุนน้อย ผมจึงตัดสินใจพลิกผืนนามาลองปลูกแตงโมดูสักครั้ง คุณอุดร กล่าว

ปลูกแตงโม 12 ไร่ ลงทุนเพียงไร่ละหมื่น

คุณอุดร เริ่มปลูกแตงโมบนพื้นที่ 12 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่เช่า ปกติทำนาไม่ค่อยได้ผล เพราะเป็นพื้นที่สูง ถ้าฝนไม่ดีจริงๆ น้ำจะไม่ขัง คนที่เช่าทำนาก็สู้ไม่ไหว เช่าแล้วขาดทุน “ผมจึงดูที่ดินตรงนี้ด้วยสภาพดินปนทราย และมีการเจาะบาดาลเขาออก เลยคิดว่าปลูกแตงโมน่าจะดี ผมก็เลยมาเช่าปลูกครั้งแรก” โดย คุณอุดรให้ข้อมูลว่า ตนปลูกแตงโม 12 ไร่ ใช้เงินลงทุนเพียง 10,000 บาท ต่อไร่ 1 ไร่ ปลูกได้ประมาณ 1,000 ต้น คิดแล้วได้ผลผลิตประมาณ 4 ตัน ต่อไร่ เพราะแตงโมไร้เมล็ดเป็นแตงโมที่ลูกใหญ่ ให้น้ำหนักลูกละกว่า 4 กิโลกรัม เพราะฉะนั้นผมปลูก 12 ไร่ จะได้ผลผลิต ประมาณ 48 ตัน ขายได้กิโลกรัมละ 20 บาท ลองคิดดูว่าผมได้กำไรกี่บาท และคุณอุดรยังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า แต่ผมคิดว่าได้ 30 ตันผมก็อยู่ได้แล้ว

เทคนิคการปลูกแตงโม การเตรียมดิน

แตงโม เป็นพืชที่ต้องดูแลอย่างพิถีพิถัน ไม่เหมือนพืชอย่างอื่น เราต้องใส่ใจตั้งแต่การเตรียมแปลง อย่างแปลงของผม ผมจะให้คนงานถางหญ้า ทำความสะอาดรอบๆ แปลงปลูก เตรียมดินโดยการไถดะ ตากแดดไว้ 2 สัปดาห์ เพื่อฆ่าเชื้อในดินตามธรรมชาติ หลังจากนั้นไถพรวนอีกครั้ง ยกแปลงใส่ปุ๋ยคอก ยกร่องขึ้น ความห่างระหว่างแปลง แถวละ 5-6 เมตร เพื่อให้ลูกแตงโมรับแสงแดดได้เต็มที่ ถ้าลูกแตงโมได้รับแสงแดดไม่เต็มที่ ลูกจะไม่โต และยังเป็นการป้องกันโรคแมลงได้ ความกว้างของแปลง ประมาณ 1-1.20 เมตร โดย 1 ไร่ จะใส่ปุ๋ยคอกโรย ประมาณ 300-400 กิโลกรัม ต่อไร่ และใส่ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ 15:15:15 25 กิโลกรัม หลังจากนั้นใช้จอบหมุนพรวนดินโรตารี่พรวนดินให้ร่วนซุย วางระบบสายน้ำ ใช้พลาสติกคลุมแปลง เอาดินกลบและดึงพลาสติกให้ตึง เจาะรูระยะห่าง 45 เซนติเมตร ต่อรู แปลงหนึ่งจะปลูกได้ 2 แถว ระหว่างแปลงทำระบบน้ำอยู่ตรงกลาง

ต้นกล้าต้องเตรียมให้แข็งแรง ถ้าต้นกล้าไม่แข็งแรงจะเกิดปัญหาตั้งแต่ตอนปลูก ต้นจะไม่เสมอกัน วิธีการดูแลต้นกล้า คือให้สังเกตว่า มีเชื้อรา หรือมีรากเน่าหรือเปล่า ที่ไร่ของผมจะใช้ถาดเพาะที่มี 104 หลุม

ใส่ดินลงหลุมให้เต็ม ไม่ต้องกดให้แน่น เพราะถ้ากดแน่นดินจะมีความชื้นสูง น้ำไม่ระบายทำให้รากเน่า หลังจากใส่ดินเสร็จให้ใช้ฝักบัวรดน้ำ ปล่อยให้ดินหมาด
ใช้ไม้จิ้มฟัน เจาะลงในหลุมเพาะแล้วเอาเมล็ดแตงโมกดลงไป
ใช้หนังสือพิมพ์ 2 แผ่น ปิดถาด และใช้พลาสติกคลุมทับปิดให้สนิท ทิ้งไว้ 3 วัน เพื่อดูดความชื้น หลังจากนั้นต้นกล้าจะเริ่มงอก ให้นำต้นกล้ามาวางไว้ที่มีแดดรำไร ประมาณ 2 วัน จะเริ่มมีใบเลี้ยงขึ้นมา และให้สังเกตจะมีเมล็ดแตงเกาะตามใบเลี้ยงให้ดึงออกให้หมด แล้วเอาต้นกล้ามารดน้ำ เช้า-เย็น ประมาณ 10-12 วัน ก็พร้อมลงแปลง

วิธีการปลูก

ก่อนที่จะลงต้นกล้าให้รดน้ำในแปลงทิ้งไว้ 1 วัน วันรุ่งขึ้นก็เริ่มปลูกได้ เมื่อปลูกเสร็จให้รดน้ำ ติดกัน 3 วัน ให้น้ำเช้า กลางวัน เย็น เพราะช่วงแรกรากต้นกล้ายังไม่ยาว ไม่สามารถดูดน้ำที่พื้นดินได้ เมื่อเข้าวันที่สี่ก็เริ่มให้น้ำตามสายด้วยระบบน้ำพุ่งวันละครั้ง ใส่ปุ๋ย 25:5:5 ในอัตราส่วน ปุ๋ย 10 กรัม ต่อน้ำ 10 ลิตร ละลายน้ำใส่ถังหยอดในหลุม ต้นละ 1 แก้ว หลังจากนั้น ประมาณ 10-14 วัน ให้ตัดยอดแตงเหลือไว้เพียง 3-4 ใบ ให้แตงแตกยอด เพื่อที่จะให้ออกมาเป็นเถาแตง ต่อจากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์ เถาแตงจะยาวประมาณ 2 ฟุต 1 ต้น ให้คัดไว้เหลือแค่ 3 เถา ต้นแตงโมจะเริ่มเลื้อยเถา พอหลังจากนั้นแตงจะติดลูก แล้วให้คัดเอาลูก ข้อที่ 14-19 ห้ามขาดห้ามเกิน โดยนับจากต้นแปลง เพื่อที่จะได้ลูกแตงที่สมบูรณ์ ลูกใหญ่ ไส้ไม่แตก เนื้อแน่น ส่วนในเรื่องการเก็บเกี่ยว 45-60 วัน ก็เก็บได้แล้ว

ปลูกแตงโมด้วย ระบบน้ำพุ่งได้ผลดี

จริงๆ แล้ว แตงโมมีวิธีให้น้ำ 3 วิธี

ระบบให้น้ำแบบร่อง คือขุดเป็นร่องแล้วแหวกดินออกคลุมผ้าข้างๆ แล้วปลูก ให้น้ำอยู่ตรงกลาง
ระบบน้ำพุ่ง
ระบบน้ำหยด แต่เหตุผลที่ผมเลือกปลูกแตงโมด้วยระบบน้ำพุ่ง เพราะการให้น้ำจะสะดวกรวดเร็ว ถ้าเปรียบกับให้ระบบแบบร่อง ถ้าร่องไม่เสมอจะไหลไปที่ต่ำ บางทีทำกับแฟนจะทะเลาะกันเพราะน้ำล้น แล้วไม่มีใครปิด คุณอุดรพูดด้วยเสียงหัวเราะ ซึ่งระบบน้ำพุ่งคือ ช่วยลดปัญหา ไม่ต้องกลัวว่าน้ำจะล้น ที่สวนผมใช้วิธีสูบน้ำบาดาล ในการปลูกระบบน้ำพุ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการปลูกแตงโม เพราะแตงจะได้กินน้ำอย่างรวดเร็ว ส่วนระยะเวลาในการให้น้ำ จะให้น้ำเพียงเวลาเดียว คือช่วงเช้า รดน้ำเพียง 2 นาที ก็พอ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับพืชชนิดอื่นแล้วถือว่าใช้น้ำน้อยมาก แต่ผลรับที่ได้กลับตรงกันข้าม ที่สำคัญทำสองคนผัวเมียสบายมาก จะเสียเงินจ้างแรงงานก็ตอนถางหญ้าเตรียมแปลงปลูกใหม่เท่านั้นเอง

ช่วงระยะเวลา ที่เหมาะสมในการปลูกแตง

ช่วงฤดูปลายฝนต้นหนาว คือช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม และจะปลูกได้ดีอีกครั้งในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ซึ่ง 2 ฤดูกาลนี้ เป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุด จากประสบการณ์ปลูกช่วงนี้แตงโมจะไม่มีปัญหา ให้ผลผลิตดี ใครปลูกก็รอดทุกราย แต่ถ้าฤดูอื่นผมจะไม่แนะนำให้ปลูก เพราะผมเคยทำมาแล้วได้ผลผลิตไม่ดี คุณอุดร กล่าว

ทำแตงโมให้ดี ต้องหมั่นดูกลไกการตลาด

คุณอุดร ใช้วิธีแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด โดยการดูราคาแตงโมจากหลายๆ ที่ ทุกวันนี้คุณอุดรมีทั้งพ่อค้ามารับซื้อถึงสวน ส่งตลาดไทเอง และกำลังเปิดร้านขายแตงโมเป็นของตัวเอง เพราะเมื่อใดราคาที่ตลาดไทดี คุณอุดรก็นำส่งตลาดไทหมด แต่ถ้าดูแล้วราคาไม่ค่อยดี ก็จะแบ่งสินค้ามาขายที่ร้านของตัวเอง หรือถ้าราคาตกจริงๆ ก็จะนำผลผลิตมาลงขายที่ร้านของตนเองทั้งหมด วิธีนี้ถือว่าช่วยป้องกันการถูกกดราคาสินค้าได้เป็นอย่างดี

สำหรับท่านที่สนใจ อยากเรียนรู้วิธีการปลูก และดูแลรักษา อยากลองเป็นเกษตรกรผู้ปลูกแตงโมมือใหม่ ติดต่อที่ คุณอุดร หอมกลิ่น อยู่บ้านเลขที่ 57 หมู่ที่ 15 หมู่บ้านค่ายพัฒนา ตำบลเวียงสะอาด อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม โทร. (063) 1132-7102 คุณอุดร ยินดีให้คำปรึกษา หรือถ้าอยากชิมแตงโมหวานๆ ของคุณอุดร เชิญได้ที่ ร้านอุดรแตงโมปลอดสาร ตั้งอยู่ หลักกิโลเมตรที่ 2 อำเภอวาปีปทุม

08.45 น. คุณเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ รองประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ประธานในพิธีเปิดการสัมมนา

09.30-12.00 น. “ผลิตกล้วยหอมทอง กล้วยน้ำว้า ให้ได้ผลผลิตดี เป็นที่ต้องการของตลาด”

– คุณณัชคิรากร ดำชมทรัพย์ เกษตรกรปริญญาโท เมืองแปดริ้ว ผู้คลั่งไคล้ในกล้วยน้ำว้า

– อาจารย์พัชนี ตุษยะเดช เจ้าของแปลงกล้วยน้ำว้ายักษ์ ใหญ่และดี ตลาดต้องการสูง คุณสมยศ คำเพ็ง เกษตรกรรุ่นใหม่ เผยเทคนิคง่ายๆ ทำกล้วยหอมทองให้ตลาต่างประเทศ

– คุณวิไล ประกอบบุญกุล เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมพื้นที่ปทุมธานี มานานกว่า 30 ปี

ดำเนินรายการโดย อาจารย์ถวิล สุวรรณมณี

12.00 -13.00 น. พักรับประทานอาหาร

13.00-16.00 น. “ตลาดกล้วยหอมทอง กล้วยน้ำว้า ในและต่างประเทศ”

– คุณเสาวณี วิเลปะนะ เจ้าของแบรนด์ “คิง ฟรุทส์” กล้วยหอมทอง ส่งออกปีละ 200 ล้าน

– คุณศิลาพร สิงหลักษณ์ รองประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะคู จังหวัดพิษณุโลก ทายาทรุ่นที่ 3 ของธุรกิจกล้วยตากในระดับอุตสาหกรรม

– คุณมานะ บุญสร้าง หัวหน้าฝ่ายการตลาด GClub สหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด สหกรณ์ที่ส่งออกกล้วยหอมทองใหญ่ที่สุด คุณนิชาภา กาเรียน ผู้ค้ากล้วยรายใหญ่ ตลาดไท

ดำเนินรายการโดย คุณเสาวลักษณ์ สวัสดิ์กว้าน

กำหนดการ อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบ

ค่าใช้จ่าย ท่านละ 600 บาท

ภายในงาน มีชิม ชม ช็อป

– ชิมชาเปลือกกล้วยน้ำว้า

– กล้วยตาก บางกระทุ่ม

– กล้วยน้ำว้ายักษ์!!

– สายพันธุ์กล้วยน้ำว้า

– หน่อกล้วย หลากหลายสายพันธุ์ มีไว้ให้ช็อป

การชำระเงิน

โอนเงิน ธนาคารกรุงเทพ สาขาถนนประชาชื่น เลขที่บัญชี 1930239361 บัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) Fax (02) 580-2300 เลขที่ผู้เสียภาษี 0107536001451

หมายเหตุ โทรศัพท์สำรองที่นั่ง พร้อมชำระเงินภายใน 3 วัน หลังจากวันที่รับสมัคร (ขอสงวนสิทธิ์ในการชำระเงินด้วยการโอนเข้าบัญชีเท่านั้น) ไม่รับสมัครและชำระเงิน ณ วันสัมมนา