นับเป็นข่าวดีในวงการอุตสาหกรรมโคนมไทย แม้จะมีกำลังผลิตยัง

ไม่มากในช่วงแรก แต่หวังให้เป็นโรงงานนำร่อง รองรับน้ำนมดิบที่ผลิตได้จากสมาชิกสหกรณ์ 12 แห่ง ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาด ลดความเสี่ยงของเกษตรกรให้มีรายได้มั่นคง รับมือการเปิดการค้าเสรี FTA ในอนาคต เนื่องจากไทยเป็น 1 ในภูมิภาคอาเซียนที่ไม่มีมาตรการภาษีน้ำนม จึงถึงเวลาที่ต้องยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมโคนมภูมิภาคเพื่อการส่งออก

โดยในอนาคตคาดว่าจะขยายกำลังการผลิตไปสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์นมอัดเม็ด เนื่องจากโอกาสและตลาดยังมีความต้องการอีกมาก โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น น่าจะเป็นกลุ่มตลาดหลัก จากนั้นจะผลักดันสู่การส่งออก ซึ่งจะช่วยให้สามารถขยายการรับซื้อน้ำนมดิบจากสหกรณ์ทุกรายในอนาคต เป็นการเตรียมพร้อมสู่แปลงใหญ่โคนมทั่วประเทศด้วย

นายชัยยา เพียรเสมา รองผู้จัดการ สหกรณ์โคนมไทยมิลค์ กล่าวว่า สหกรณ์โคนมไทยมิลค์มีกำลังการผลิตน้ำนมดิบ 100 ตัน/วัน ส่วนหนึ่งได้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมสดแท้ 100% แต่ยังไม่เป็นที่ต้องการของตลาดมากนัก จึงอยากขอให้รัฐมาสนับสนุนในการรวมแบรนด์นมพาณิชย์ให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมายังเป็นเพียงการให้เฉพาะนมโรงเรียน และให้รัฐบาลเข้ามาดูแลการลดต้นทุนการผลิต และประชาสัมพันธ์ถึงข้อดีของน้ำนมสดที่มีคุณประโยชน์แตกต่างกับนมผงให้มากขึ้น ก่อนที่จะถึงวันที่ต้องรับมือผลกระทบเอฟทีเอที่ต้องเผชิญต้นทุนสูงมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งนำเข้านมผงอัตรา 0% และหากอนาคตมีโรงงานแปรรูปจะช่วยเพิ่มมูลค่า และลดปัญหาความเสี่ยงจากน้ำนมดิบล้นตลาดได้อีกทาง

ผู้สื่อข่าวรายงานข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า แนวโน้มผลผลิตน้ำนมดิบในปี 2561 คาดว่ามีปริมาณ 1,233,483 ตัน เพิ่มขึ้น 2.99% จากปี 2560 ซึ่งมีปริมาณ 1,197,658 ตัน ส่วนปริมาณการบริโภค 1,233,483 ตัน เพิ่มขึ้น 2.99% จาก ปี 2559 ซึ่งมีปริมาณ 1,197,658 ตัน

ส่วนการส่งออกและการนำเข้าผลิตภัณฑ์นม ในปี 2560 มีปริมาณ 171,990 ตัน มูลค่า 7,282 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.30% จากปี 2559 ที่ส่งออก 166,488 ตัน มูลค่า 7,099 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.58% จากปีก่อน

โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งออกผลิตภัณฑ์นมจากการนำเข้ามาแปรรูปส่งออก ในรูปแบบครีมหรือนมผง ของเหลวหรือข้นเติมน้ำตาล เนย นมข้นหวาน นมเปรี้ยว โยเกิร์ต เป็นต้น สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ เช่น กัมพูชา สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ สปป.ลาว และเมียนมา เป็นต้น

พาณิชย์ปลื้มส่งออกข้าวหอมมะลิไปฮ่องกงปี 2560 สูงสุดรอบ 10 ปี ปริมาณ 2.06 แสนตัน ตั้งเป้าปี 2561 ส่งออกข้าวหอมมะลิไปฮ่องกง 2.15 แสนตัน เตรียมโดดร่วมประมูลข้าวฟิลิปปินส์ 2.5 แสนตัน มี.ค.นี้ รับมือนาปรังทะลัก

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกข้าวหอมมะลิไปฮ่องกงในปริมาณสูงถึง 2.06 แสนตัน เพิ่มขึ้น 10.18% จากปี 2559 ที่ส่งออกปริมาณ 1.87 แสนตันนับเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีจากที่เคยทำได้ 2.02 แสนตันในปี 2550 เป็นผลจากความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งระบบ และที่สำคัญคือ นโยบายรัฐบาลที่ช่วยพยุงราคาข้าวให้มีเสถียรภาพ สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ซื้อ อีกทั้งการขยายฐานการตลาดข้าวชนิดใหม่ๆ ทั้ง ข้าวออร์แกนิก ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ส่งผลให้ยอดการส่งออกข้าวไปยังฮ่องกงเติบโตต่อเนื่อง 4 ปี จนทำให้ไทยมีส่วนแบ่งตลาดในฮ่องกง 65% รองจากสหรัฐ และจีน

“ปี 2561 แม้ว่าราคาข้าวหอมมะลิไทยยังอยู่ในระดับสูงกว่า 1,000 เหรียญสหรัฐ/ตัน แต่ความต้องการยังมีอย่างต่อเนื่อง เพราะตลาดฮ่องกงชอบข้าวหอมมะลิไทยคุณภาพดี มีความหอม จึงคาดว่าปีนี้จะส่งออกข้าวไปฮ่องกงเพิ่มขึ้นเป็น 2.15 แสนตัน”

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ไทยเตรียมเข้าร่วมประมูลขายข้าวขาวปริมาณ 2.5 แสนตัน ซึ่งหน่วยงานองค์การอาหารแห่งชาติ (NFA) ฟิลิปปินส์จะเปิดประมูลช่วงเดือน มี.ค. 2561 หากไทยได้คำสั่งซื้อข้าวจากฟิลิปปินส์จะเป็นผลดีต่อราคาผลผลิตข้าวนาปรัง ปี 2561 ที่จะทยอยออกมาตั้งแต่เดือน เม.ย.เป็นต้นไป

สำหรับในการส่งออกข้าวตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-6 ก.พ. 2561 ส่งออกข้าวได้ 1 ล้านตัน สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยเป็นข้าวขาว 7.7 แสนตัน ราคาส่งออก 422-470 เหรียญสหรัฐ/ตัน คิดเป็นราคาข้าวเปลือก 7,558-8,200 บาท/ตัน

โดยหลังจากนี้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งส่งเสริมการผลิตข้าวขาวพื้นนิ่ม ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย จะขายได้ราคาดีกว่าข้าวขาวพื้นแข็งที่ขายปกติประมาณ 50-70 เหรียญสหรัฐ/ตัน ด้านการส่งออกข้าวชนิดอื่นๆ ของไทย ได้แก่ ข้าวหอมมะลิไทย และข้าวคุณลักษณะพิเศษ เช่น ข้าวอินทรีย์ (organic) ข้าวสีชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นข้าวคุณภาพสูง ทำให้สามารถจำหน่ายได้ในราคาสูงขึ้น

เพจ สนุกคลิป (สดๆร้อนๆ) จากคำแนะนำของคุณ onusa praewa ได้โพสต์คลิปเรื่องราวของเด็กชายจอมขยันคนหนึ่ง ที่ทำหน้าที่เลี้ยงยาย ด้วยการพับกุหลาบเตยหอมขายระบุว่า ฝึกทำจนชำนาญ สู้หาเงินเลี้ยงยายและตนเอง อยากให้น้องได้เรียนสูงๆ ที่ ตลาดโต้รุ่งหัวหิน “มาโต้รุ่งหัวหินอุดหนุนกุหลาบเตยหอมน้องกันนะ น้องน่ารักใครให้ทิป ใครให้เงินน้องไม่รับเปล่าๆให้แลกกับดอกกุหลาบเตยหอม 1 ดอก น้องขายไม่แพงช่อเล็ก 20บาท กระเช้าเล็กๆ30บาท สนับสนุนให้เด็กคิดดีทำดี

อีกทั้งที่หน้าร้านของเด็กชายคนดังกล่าวยังติดป้ายทั้งภาษาไทย อังกฤษ และจีน ด้วยว่า “ช่วยหน่อยครับ หนูช่วยยายหาทุนเรียนในวันหยุดเเพื่อการศึกษาและอาหาร ช่วยค้ำจุนด้วยนะครับ ขอผลบุญจงบังเกิดกับทุกๆท่านนะครับ” ส่วนอีป้ายเขียนว่า “หนาวก็ต้องทน ฝนก็สู้ เพราะชีวิตหนูเลือกเกิดไม่ได้ พ่อแม่ก็ตาย มีแต่ยายที่เลี้ยงดู” หลังเรื่องดังกล่าวเผยแพร่ออกไปมีคนมาแสดงความเห็นว่าหากมีโอกาสไปเที่ยวหัวหินจะไปอุดหนุนเด็กชายคนนี้แน่นอน

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ปริมาณอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิตประจำปี 2560/61 ทยอยเปิดหีบตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 จนถึงขณะนี้มีแนวโน้มว่าจะสูงเกิน 110 ล้านตัน ทำให้ปริมาณอ้อยปีนี้ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง

เนื่องจากช่วงปีที่ผ่านมามีปริมาณฝนต่อเนื่องช่วยให้อ้อยเติบโตได้ดี ประกอบกับเกษตรกรเพาะปลูกข้าวหันมาปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นทำให้พื้นที่ปลูกอ้อยที่ผ่านมาสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่แม้จะเป็นข่าวดีแต่ต้องจับตาราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกเพราะพบว่าราคาค่อนข้างต่ำ

“ขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกค่อนข้างต่ำ ราคาซื้อขายน้ำตาลทรายดิบบวกพรีเมียมเฉลี่ยเพียง 14 เซ็นต์ต่อปอนด์เท่านั้น ถือว่าเป็นระดับต่ำ” นายบุญถิ่น กล่าว

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกยังคงตกต่ำเฉลี่ยเพียง 14 เซ็นต์ ต่อปอนด์ เท่านั้น ส่งผลให้ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2560/61 มีโอกาสต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่ประกาศไว้ 880 บาท ต่อตัน ชาวไร่อ้อยเองได้เรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นอีก 50 บาท ต่อตัน

ขณะนี้ กองทุนจึงอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการเพื่อช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อยให้ชาวไร่ปัจจุบันกองทุนมีหนี้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 1,227 ล้านบาท ปกติรัฐจะจัดงบประมาณให้ปีละ 450 ล้านบาท เพื่อชำระหนี้โดยจะหมดหนี้ใน 3 ปีข้างหน้า

ดังนั้น กองทุนจึงมีแนวคิดเสนอของบกลางปี 1,227 ล้านบาท ขณะที่หนี้กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 4,415 ล้านบาท จะขอปรับโครงสร้างหนี้ยืดออกไป 3 ปี เพื่อนำเงินมาจ่ายเพิ่มค่าอ้อยให้ชาวไร่แต่คงจะไม่ถึง 50 บาท ต่อตัน

“คาดว่าราคาขั้นสุดท้ายจะต่ำกว่าขั้นต้น 40 บาท ต่อตัน ทำให้กองทุนต้องจ่ายเงินชดเชย ดังนั้น อาจจ่ายเป็นค่าอ้อยขั้นต้นก่อนล่วงหน้าเพื่อช่วยชาวไร่ให้ได้ราคาอ้อยที่ดี โดยอาจเพิ่ม 40 บาท ต่อตัน หรือต่ำกว่านี้ โดยจะพิจารณาอีกครั้ง” นายวีระศักดิ์กล่าว

ลำปาง – นายชัยพร ไพฑูรย์ ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ กฟผ.แม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ เผยว่าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ พร้อมรับมือหมอกควันและไฟป่าในภาคเหนือ เรื่องการงดเว้นการเผา การเฝ้าระวัง สนับสนุนการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันในท้องที่ กำหนดระยะวิกฤต นับตั้งแต่ วันที่ 10 กุมภาพันธ์-10 เมษายน นี้ โดยรอบพื้นที่ กฟผ.แม่เมาะ มีจำนวนสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศมากที่สุดในประเทศไทยถึง 19 สถานี ที่ผ่านมาผลตรวจวัดจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ กฟผ.แม่เมาะ เป็นปกติมาโดยตลอด ไม่เกินค่ามาตรฐานยืนยันว่าสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่เกิดจากไฟป่า ไม่ได้เกิดจากกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างแน่นอน

การป้องกันไฟป่าจำแนกพื้นที่เฝ้าระวังออกเป็น 3 จุด คือบริเวณที่ดินด้านตะวันตกเฉียงเหนือ บริเวณด้านตะวันตกเฉียงใต้และบริเวณพื้นที่ฟื้นฟูด้านตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนั้น ยังกำจัดวัชพืชที่ปกคลุมและขนไปทิ้งนอกแนวปลูกป่า และทำแนวกันไฟป่า รวมถึงการรับซื้อปุ๋ยหมักจากเศษพืชจากราษฎร

บ้านสาแพะ อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง เคยเป็นหมู่บ้านที่แห้งแล้งที่สุดเพราะผืนดินเบื้องล่างเป็นดินจากเขาหินปูน ไม่อุ้มน้ำ แต่วันนี้ชุมชนแห่งนี้ประสบความสำเร็จกับบริหารจัดการน้ำ ด้วยระบบ “สระพวง”

ไม่เพียงมีน้ำกินน้ำใช้ ยังสามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี คนในชุมชนมีชีวิตใหม่ที่ไม่มีการพนันเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง เพราะทุ่มเวลาทั้งหมดไปทำเกษตร

ถามว่าชุมชนมีรายได้มากแค่ไหน?

“พ่อหลวงคง” ยิ้มบางๆ ก่อนจะตอบว่า ปีที่แล้วมีรายได้ 18 ล้านบาท ส่วนปีนี้ชุมชนตั้งเป้าที่ 20 ล้านบาท

“บ้านสาแพะ” คือหนึ่งในชุมชนต้นแบบที่ใช้ศาสตร์พระราชามาเป็นแนวคิดในการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้โครงการ “เอสซีจีรักษ์น้ำ…เพื่ออนาคต” เริ่มจากการจัดการน้ำชุมชน แล้วขยายผล มีการวางระบบ โดยสร้างสระขนาดใหญ่บนพื้นที่ด้านบน แล้วต่อท่อกระจายน้ำยังสระลูก-สระหลานที่อยู่พื้นที่ลดหลั่นลงมา ตามระดับความสูงของพื้นที่ ทำให้มีแหล่งน้ำสำรองเพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อการทำเกษตรกรรม เรียกว่า “ระบบเกษตรแบบสระพวง”

“บ้านผมก็เหมือนหมู่บ้านทั่วไปในภาคเหนือที่มีการบุกรุกทำลายป่า พอมีคนสัมปทานตัดไม้ในป่า ชาวบ้านรู้จักคำว่าเลื่อย หนักเข้ากลายเป็นว่ามือใครยาวสาวได้สาวเอา ป่าก็เริ่มพังแล้ว ถ้าเราไม่เปลี่ยน เราก็ตายหมู่”

พ่อหลวงคง-คงบุญโชติ กลิ่นฟุ้ง ผู้ใหญ่บ้านสาแพะ หมู่ที่ 3 อำเภอแจ้งห่ม จังหวัดลำปาง บอกและอธิบายเพิ่มเติมว่า ภูเขาบ้านผมเป็นดินขาวทั้งหมด ต้นไม้ใหญ่ไม่สามารถขึ้นได้ นอกจากร่องลำห้วยเท่านั้น แต่เรื่องการชะลอน้ำเป็นการนำแนวของพระองค์ท่านมาทำ ประกอบกับได้โอกาสจากผู้ใหญ่พาไปดูการจัดการน้ำในหลายๆ ที่และเอามาประยุกต์เข้ากับชุมชน

ทว่าการจะให้ลูกบ้านเปลี่ยนวิถีความเชื่อแบบเดิมๆ ไม่ง่าย “ผมใช้วิธีเดียวกับการขายประกัน ขาย (แนวคิด) พี่น้องก่อน เริ่มแรกมีแค่ 12 คน เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ญาติผู้ช่วยและญาติผม ค่อยๆ ทำกัน โดยเอสซีจีมีการนำนักศึกษาจากหลายๆ ที่มาช่วยทำ เป็นเหมือนการตบหน้าว่าทำไมคนในหมู่บ้านไม่ลุกขึ้นมาทำ ปล่อยให้ที่อื่นต้องมาช่วย

“ผมเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องใหม่ของชุมชน ซึ่งทุกอย่างมีงานวิจัยรองรับ ในตอนเริ่มต้นต้องอาศัยความเข้มแข็ง ข่มขู่บ้าง ใช้กฎหมู่บ้านบ้าง ทุกคนห่อข้าวมากินด้วยกันเหมือนเป็นการละลายพฤติกรรม ค่อยๆ เห็นความสำคัญของป่า แล้วเห็ดที่เคยหายไปก็เริ่มมีให้เห็น หมูป่าก็กลับมา” พ่อหลวงคงบอก และย้ำว่า

“บางคนคิดว่าคนเฉพาะพื้นที่ตรงนี้ได้น้ำ แต่ตาน้ำใต้ดินเริ่มกลับมา แอ่งน้ำใต้ดินคือประปาหมู่บ้านที่เราใช้อยู่ เมื่อปี 2558-2559 แล้งมาก ต้นไม้ยืนต้นตาย แต่บ้านผมผ่านวิกฤตนี้มาได้ มีน้ำหล่อเลี้ยง 163 ครัวเรือน เราทำ 2,000 กว่าฝาย ลำห้วย 800 ฝาย สามารถบันดาลน้ำให้เราได้เลยจากปีเริ่มต้น 2556 ค่อยๆ ทำไป แต่ใช้เวลานานหน่อย หัวใจสำคัญคือ การเสียสละ อย่าง ‘สระพวง’ นี้ ทุกคนเสียสละที่ดิน คนละ 2-3 งาน บางคน 1-2 ไร่ เป็นการเสียสละด้วยกัน”

ทว่าจะให้เกิดความยั่งยืนมีใช้เพียงพอทั้งปี ต้องมีการบริหารจัดการที่ดีที่เรียกว่า “เกษตรประณีต” แบบใช้น้ำน้อย ที่สำคัญคือ ทุกกระบวนการจัดการน้ำต้องมีการวางแผนอย่างเข้าใจ เพราะแม้จะมีระบบสระพวง แต่ถ้าไม่รู้ต้นทุนน้ำที่มีอย่างแท้จริง เกษตรกรใช้น้ำอย่างไม่มีแผน น้ำย่อมไม่เพียงพอที่จะใช้ไปตลอดทั้งปีกับพื้นที่ที่มีน้ำจากธรรมชาติเพียงปีละ 3 เดือนเท่านั้น

เช่นที่บ้านสาแพะแห่งนี้ที่พ่อหลวงคง บอกว่า เรื่องน้ำควบคุมได้ โดยไม่ต้องรอฝน แต่ละรอบกำหนดให้การใส่น้ำห้ามเกิน 300 ลิตร ทั้งหมดมี 1 ล้านกว่าลิตร เป็นเกษตรที่ไม่ใช่น้ำเยอะ

“การทำงานโดยทุกอย่างต้องมีการวางแผนตั้งแต่การเตรียมดิน ความลึกของร่องดิน หมู่บ้านผม 10 หมู่บ้านร่วมงานวิจัยหมด โดยมี สกว.ส่วนหนึ่ง และมีเอสซีจีเข้ามาสนับสนุนส่วนหนึ่งได้ผลงานมาใช้จริง เมื่อก่อนชาวบ้านไม่รู้ว่าต้นไม้หนึ่งต้นใช้สามารถแปรรูปได้อย่างไร เดี๋ยวนี้ชาวบ้านรู้แล้ว เช่นรู้ว่าหน้าแล้งไม้ต้นขนาดนี้ สามารถอุ้มน้ำให้เราได้กี่ลิตร เราก็จะเก็บเรื่องใบไม้โซนที่เราดูแลว่าปีนี้ร่วงเท่าไหร่มาชั่งน้ำหนัก ก็จะรู้แล้ว

“ตอนนี้หลังจากทำเกษตรประณีต ที่เราเห็นชัดเจน ไม่มีการพนันแล้ว อย่างมวยตู้แทบไม่รู้จักแล้ว เพราะเรามีรายได้ 2-3 หมื่นบาทต่อเดือนต่อคน” สำหรับผลผลิตทางการเกษตรของบ้านสาแพะ คือ การทำเมล็ดพันธุ์เพื่อการส่งออก เพราะแม้จะมีระบบสระพวง แต่ถ้าจะปลูกไม้ผลเหมือนที่อื่นคงทำไม่ได้เพราะน้ำไม่พอ ฉะนั้นต้องเลือกพืชที่ใช้น้ำน้อย ที่นี่จึงทำเกษตรเมล็ดพันธุ์เพื่อการส่งออก โดยที่การผสมพันธุ์พืชนั้นจะไม่ปล่อยให้เป็นตามธรรมชาติ เพราะไม่สามารถควบคุมคุณภาพของผลผลิตได้

“เรามีหน้าที่แค่ดูแลและทำคุณภาพให้ได้ ฉะนั้นไม่ว่าจะมีวิกฤตข้าว ตรงนี้ไม่เกี่ยว หมู่บ้านผมจะตื่นเช้ากว่าหมู่บ้านอื่น 2 ชั่วโมง และกลับหลังหมู่บ้านอื่น 2 ชั่วโมง ตอนนี้เรามีน้ำ เราทำได้ 12 เดือน โดยที่เราต้องเอาความขยันมาเป็นตัวตั้ง เมล็ดพันธุ์บวบส่งจีน ส่วนอินเดียค่อนประเทศกินมะระของที่นี่”

แม้จะไม่ต้องกังวลเรื่องของตลาด เรื่องการขนส่ง เพราะมีคนจัดการให้และมารับผลผลิตถึงไร่ แต่พ่อหลวงคงบอกอย่างมุ่งมั่นว่า เมล็ดพันธุ์ถือเป็นเงินเดือนของทุกคน แต่อีก 5 ปี จะมีผลผลิตที่บริหารจัดการเอง คือ “มะม่วงโชคอนันต์” โดยใช้ตอจากมะม่วงป่าคือมะม่วงกะล่อน ที่ทนแล้ง ส่วนมะม่วงโชคอนันต์ปีหนึ่งให้ผล 3 ครั้ง

“ถ้าประเมินไม่ผิด ผมคิดว่ามะม่วงโชคอนันต์จะได้รับความนิยมรองจากทุเรียน ซึ่งญี่ปุ่นเพิ่งนำเข้าเป็นครั้งแรก ตรงนี้จะเป็นเหมือนโบนัสให้กับชุมชนของเรา”

ปัจจุบัน บ้านสาแพะมีสระพวง 7 สระ ทำให้มีน้ำใช้ทำการเกษตรได้ตลอดปี 30,400 ลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร 500 ไร่ สามารถทำการเพาะปลูกได้มากถึง 7 ครั้งต่อปี สร้างรายได้เฉลี่ยให้เกษตรกร 100,000 บาท ต่อปี ต่อราย เกิดรายได้รวมในชุมชนปี 2560 มากถึง 18 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน(GIZ) ประจำประเทศไทย ร่วมสรุปผลการดำเนินงานและความสำเร็จของโครงการริเริ่มข้าวที่ดีขึ้นแห่งเอเชียหรือ “เบรีย” พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางและนโยบายในการดำเนินงานระยะต่อไป เพื่อขยายความร่วมมือไปยังภาคส่วนอื่นๆ หวังมุ่งเป้าสู่การพัฒนาภาคการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ

โครงการเบรีย ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย และมีองค์ภาครัฐและเอกชนอื่นๆ ร่วมดำเนินโครงการ ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร บริษัทไบเออร์ (ไทย) จำกัด และบริษัทโอแลมอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เบรียดำเนินงานอยู่ในประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการผลิตข้าวและโภชนาการข้าวด้วยวิธีการแบบองค์รวมห่างโซ่คุณค่า เพื่อเสริมสร้างรายได้ของผู้ผลิตและส่งเสริมโภชนาการที่ดีของครอบครัวเกษตกร

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า “กรมการข้าวมีภารกิจรับผิดชอบด้านการศึกษา วิเคราะห์และเสนอแนะเพื่อจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ข้างของประเทศ รวมทั้งศึกษา วิจัย ทดลองและพัฒนาเกี่ยวกับพันธุ์เทคโนโลยีการผลิต การอารักขา วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและการแปรรูป และมาตรฐานข้าว รวมทั้งดำเนินการเกี่ยวกับความร่วมมือกับต่างประเทศในเรื่องข้าว ตัวอย่างเช่น โครงการริเริ่มข้าวที่ดีขึ้นแห่งเอเชียหรือเบรีย ถือเป็นความร่วมมือที่กรมการข้าวได้ดำเนินงานกับ GIZ ตั้งแต่ปี 2557

ตลอดระยะเวลา 4 ปี ที่ผ่านมา เราได้ผนึกกำลังร่วมกันดำเนินกิจกรรมในการพัฒนาการผลิตข้าวเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนจนบรรลุเป้าหมายประสงค์ตามที่วางไว้ โดยในประเทศ ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี องค์ความรู้ให้กับเกษตรกรรายย่อยในศูนย์ข้าวชุมชน ซึ่งองค์กรเกษตรกรที่กรมการข้าวจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งผลิตข้าวคุณภาพ ให้สามารถนำองค์ความรู้เทคโนโลยีการผลิตเพื่อการลดต้นทุนไปสู่การปฏิบัติ เพิ่มผลผลิตและเพิ่มพูนรายได้ อันจะเป็นต้นแบบให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง

นอกจากนี้ โครงการฯ ยังสามารถสร้างโมเดลการเชื่อมโยงตลาดให้กับกลุ่มเกษตกรผู้ผลิตข้าวตามมาตรฐานการปลูกข้าวอย่างยั่งยืน (SRP) และแนวทางการปฏิบัติที่ดีในการทำการเกษตร (GAP) ครอบคลุมศูนย์ข้าว 200 แห่งในจังหวัดอุบลราชธานี สุรินทร์ ศรีสะเกษ และร้อยเอ็ด และโครงการฯ ยังมีการรณรงค์การผลิตข้าวผ่านสื่อโทรทัศน์รายการซีรี่ย์ Famers Love ที่ช่วยส่งเสริมการใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่ปลอดภัย การจัดการดิน เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ และการผลิตข้าวที่ยั่งยืนซึ่งออกอากาศระหว่างปีพ.ศ.2558-2560 ตลอดจนได้จัดทำเอกสารเผยแพร่เกี่ยวกับการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อช่วยเกษตรกรลดความสูยเสีย และปรับปรุงคุณภาพข้าว นับว่าโครงการเบรียสามารถพัฒนารูปแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวไปสู่ชาวนาได้อีกทางหนึ่ง”

นายสุริยัน วิจิตรเลขการ ผู้อำนวยการโครงการริเริ่มข้าวที่ดีขึ้นแห่งเอเชียหรือเบรีย องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “นอกจากการดำเนินงานในประเทศไทยแล้ว โครงการฯ ยังได้ส่งเสริมการพัฒนาข้าวในประเทศอินโดนีเซีย โดยจัดตั้งศูนย์การผลิตข้าวอย่างยั่งยืนขึ้น 375 แห่งในสองจังหวัด คือจาวาตะวันออก และสุมาตราเหนือ และมีผู้ประสานงานภาคสนามจำนวน 125 รายที่ได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน

สำหรับประเทศฟิลิปปินส์ โครงการฯ ได้สนับสนุนเป้าหมายระยะยาวของประเทศที่จะผลิตข้าวเพื่อตอบสนองต่อความมั่นคงด้านอาหารและ ความสามารถในการแข่งขันระดับโลก และยังฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกรในจังหวัดอิโลอิโล เลย์เตใต้และออโรรา ซึ่งจะให้บริการกับเกษตรกรในท้องที่อีกกว่า 8,000 ราย

ในส่วนขของประเทศเวียดนาม โครงการฯ ได้รับกับสถาบันนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาเกษตรกรและชนบท (IPSARD) และภาคเอกชน ริเริ่มโครงการปลูกข้าวในนาแปลงใหญ่ที่เป็นมิตรต่อนิเวศวิทยาบนพื้นที่สามจังหวัด คือ ดองทับ เฮาเซียงและเคียนเซียง เพื่อปรับปรุงคุณภาพข้าว เพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่คุณค่า และสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และสมารถเข้าถึงตลาดที่มีคุณภาพ

อาจกล่าวได้ว่าใน 4 ประเทศเข้าร่วมทั้งหมด เบรียได้สนับสนุนการจัดฝึกอบรมให้แก่เกษตรกรมากกว่า 20000 ราย และช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรถึงร้อยละ 10-25 สำหรับประเทศไทยคิดเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 29,111 บาทต่อครัวเรือนต่อปี นับได้ว่าเบรียประสบความสำเร็จในการผลิตข้าว ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต จัดการทรัพยากรการผลิตที่เป็นมิตรภาพต่อสิ่งแวดล้อมและปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกร” สุริยัน กล่าว

พิจิตร – นายมนตรา บุญเรือง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ตำบลบ้านบุ่ง อำเภอเมือง เผยถึงกรณีฝายกั้นน้ำแก้ปัญหาภัยแล้งและป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ ตำบลบ้านบุ่ง ว่า ปัญหาเรื่อง ภัยแล้งในพื้นที่ตำบลบ้านบุ่งนั้นเป็นปัญหาซ้ำซากทุกปี โดยเฉพาะปัญหาเรื่องน้ำท่วม ภัยแล้ง ฝายกั้นน้ำที่สร้างที่บริเวณหมู่ที่ 6 ไม่สามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมได้ สาเหตุเนื่องจากฝายกั้นน้ำนั้นไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งฝายแห่งนี้สร้างมาแล้ว 2 ปี แต่ก็เกิดปัญหาทุกปี โดยเฉพาะน้ำท่วม เมื่อน้ำมามากพนังปูนที่กั้นน้ำพังทลายลง เนื่องจากใช้ปูนแผ่นเรียบไม่ได้มาตรฐาน

ส่วนปัญหาภัยแล้งนั้น ฝายแห่งนี้กักเก็บน้ำไม่ได้เลย เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ทำนามากกว่า 3-4 พันไร่ ประสบปัญหาเรื่องน้ำท่วมและภัยแล้งมาโดยตลอดทุกปี ชาวบ้านเคยร้องไปยัง อบต.บ้านบุ่งให้เข้ามาดำเนินการ แต่เรื่องก็เงียบ เมื่อสร้างมาแล้ว ไม่เข้ามาดูแลแบบนี้เท่ากับทำให้งบประมาณในการสร้างฝายสูญเปล่า หากสามารถใช้การได้จะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรชาวนาตำบลหนองปลาไหลถึง 5-6 พันไร่ และเกษตรกรชาวนาตำบลบ้านบุ่งอีก 3-4 พันไร่ เพราะคลองแห่งนี้เชื่อมต่อกัน 2 ตำบล

แต่เมื่อฝายใช้การไม่ได้ เกิดปัญหาเรื่องการกักเก็บน้ำ ซึ่งในปีนี้ปัญหาภัยแล้งดูท่าทีแล้วจะหนักกว่าทุกปี น้ำในลำคลองเวลานี้ก็แห้งเพราะกักเก็บน้ำไม่ได้เลย

“อยากให้ผู้ใหญ่เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพราะฝายแห่งนี้สร้างมาไม่นาน แต่ใช้การไม่ได้ ตอนนี้ชาวบ้านหมดหนทางที่จะแก้ไข เพราะไม่มีน้ำทำนา”
สำหรับฝายกั้นน้ำนี้สร้างมาตั้งแต่ปี 2559 ที่บริเวณหมู่ที่ 6 ตำบลบ้านบุ่ง โดยฝายนี้เชื่อมระหว่างตำบลหนองปลาไหล และตำบลบ้านบุ่งเพื่อใช้แก้ปัญหาภัยแล้ง และป้องกันปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ แต่หลังจากที่สร้างเสร็จ ฝายกั้นน้ำแห่งนี้กลับใช้การไม่ได้ โดยเฉพาะแผ่นปูนที่กั้นน้ำในลำคลองที่ทางผู้รับเหมาใช้ปูนแผ่นเรียบที่ไม่ได้มาตรฐานมาก่อสร้าง เมื่อน้ำหลากมาทำให้พนังกั้นน้ำพังทันที