นางจันทิรา กล่าวว่า สำหรับโอกาสในการขยายตลาดข้าวเหนียว

นอกจากการส่งออกในรูปของข้าวเหนียวขาวแล้ว กรมยังพบว่าข้าวเหนียวดำเริ่มเป็นที่นิยมนำไปใช้เพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นข้าวเหนียวที่มีสี และมีสารอาหารสูงกว่าข้าวเหนียวปกติ มีผลดีต่อสุขภาพร่างกาย ทำให้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการผลักดันการส่งออกข้าวเหนียวดำเข้าสู่ตลาดจีน และเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อให้ชาวจีนรู้จักข้าวเหนียวดำเพิ่มมากขึ้น

นางจันทิรา กล่าวว่า นอกจากนี้จะผลักดันข้าวเหนียวไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตสีทาบ้าน ซึ่งกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เพราะเป็นสีที่ปราศจากสารเคมี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาดวัสดุก่อสร้าง หากส่งเสริมเข้าไปได้ จะทำให้ความต้องการข้าวเหนียวเพิ่มขึ้นอีก โดยปี 2559 จีนนำเข้าข้าวเหนียวจากต่างประเทศ รวม 839,261 ตัน มูลค่า 475 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากเวียดนามปริมาณ 802,420 ตัน มูลค่า 436 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมา คือ ไทย 33,201 ตัน มูลค่า 33 ล้านเหรียญสหรัฐ ลาว 2,926 ตัน มูลค่า 1.99 ล้านเหรียญสหรัฐ และ ญี่ปุ่น 139 ตัน มูลค่า1.77 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ไทยส่งออกข้าวเหนียวไปตลาดโลก ปี 2560 มูลค่ารวม 4,454 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากช่วงเดียวกันของปี 2559 ตลาดข้าวเหนียวหลักของไทย อันดับแรก คือ จีน มูลค่า 1,683 ล้านบาท สหรัฐฯ มูลค่า 603 ล้านบาท มาเลเซีย มูลค่า 325 ล้านบาท ลาว มูลค่า 201 ล้านบาท และเวียดนาม มูลค่า 185 ล้านบาท เป็นต้น

ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.พ.ลดลงเล็กน้อย แต่ ส.อ.ท.ชี้ คาดการณ์ 3 เดือน ความเชื่อมั่น ส่งสัญญาณบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 คาดทั้งปีผลิตรถยนต์ได้ 2 ล้านคัน ประธานกลุ่มยานยนต์คนใหม่ ห่วงเวียดนามคุมรถนำเข้าทำไทยส่งออกลดลง

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมไทย ประจำเดือน ก.พ. 2561 อยู่ที่ 89.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 91.0 เป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากความกังวลต่อต้นทุนการผลิตทั้งจากราคาวัตถุดิบ ค่าจ้างขั้นต่ำที่เตรียมปรับขึ้น

“แต่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ยังยืนอยู่เหนือกว่าระดับ 100 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 เห็นได้จากดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 102.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ระดับ 101.1 มั่นใจว่ายังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป จากความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยังอยู่ในระดับดี มียอดรับคำสั่งซื้อต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น”

นายสุรพงษ์ พิสิฐพัฒนพงษ์ รักษาการรองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า ยอดผลิตรถยนต์เดือน ก.พ. 2561 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.37% อยู่ที่ 178,237 คัน ผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น 13.33% อยู่ที่ 98,625 คัน ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เพิ่มขึ้น 4.05% อยู่ที่ 102,217 คัน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 เช่นเดียวกับ ยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น 10.3% อยู่ที่ 75,466 คัน

“หากรักษายอดส่งออกรถยนต์ให้เติบโตในระดับเดือนละ 3-4% ต่อเนื่อง เป็นไปได้ที่ยอดส่งออกปี 2561 จะใกล้เคียงหรือสูงกว่ายอดส่งออกปี 2560 ที่ 1.13 ล้านคัน ส่วนยอดจำหน่ายในประเทศคาดการณ์อยู่ที่ 9 แสนคัน ทำให้คาดการณ์ยอดผลิตรถยนต์ปีนี้อยู่ที่ 2 ล้านคัน”

นายครรชิต ไชยสุโพธิ์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.คนใหม่ กล่าวว่า มาตรการควบคุมการนำเข้ารถยนต์ของประเทศเวียดนาม ที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2561 ที่ผ่านมา คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกรถยนต์ของไทย ปัจจุบันไทยมีสัดส่วนส่งออกรถยนต์ไปเวียดนาม 4% หรือ 40,000-50,000 คัน ต้นปีมีการส่งออกไปเวียดนามแล้ว 2,000 คัน แต่ยังติดค้างที่อยู่ท่าเรือ อยู่ระหว่างตรวจสอบตามกฎระเบียบใหม่

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวเดือนกุมภาพันธ์ 2561 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3,566,898 คน ขยายตัว 19.33% เมื่อเทียบช่วงเดียวกัน ปี 2560 เป็นนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกมากที่สุด 2,342,593 คน โดยจำนวนนี้เป็นนัก ท่องเที่ยวจีนสูงถึง 1,200,479 คน ขยายตัว 51% เทียบช่วงเดียวกันปี 2560 ถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์ สำหรับการเดินทางมาไทยภายในระยะเวลา 1 เดือน สืบเนื่องจากเทศกาลตรุษจีน ทั้งนี้นักท่องเที่ยวทั้งหมดก่อให้เกิดรายได้ 195,262 ล้านบาท ขยายตัว 23.78% เทียบช่วงเวลาเดียวกันปี 2560

นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า ช่วง 2 เดือนแรกของปี 2561 (มกราคม-กุมภาพันธ์) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 7,111,426 คน ขยายตัว 14.96% เทียบช่วงเวลาเดียวกันปี 2560 และสร้างรายได้รวม 384,153 ล้านบาท ขยายตัว 17.47% เทียบช่วงเวลาเดียวกันปี 2560

นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ท่องเที่ยวเมืองรองในเดือนมกราคม 2561 มีสัญญาณเป็นบวก โดย 55 จังหวัดเมืองรอง มีอัตราเข้าพัก 71.13% เพิ่มขึ้น 4.6% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปี 2560 ทั้งนี้ อัตราการเข้าพักทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 3.9% ถือว่าน้อยกว่าอัตราการเข้าพักที่เพิ่มขึ้นของเมืองรองในส่วนของรายได้ เมืองรองมีรายได้ 26,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.42% เทียบช่วงเดียวกันปี 2560 ทั้งนี้ อัตรารายได้ทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 7% ถือว่าน้อยกว่าอัตรารายได้ที่เพิ่มขึ้นของเมืองรองเช่นเดียวกัน

“อัตราการเติบโตทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ของเมืองรองที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ถือเป็นแนวโน้มที่ดีในการผลักดันการท่องเที่ยวเมืองรองต่อไป” นายพงษ์ภาณุ กล่าว

พล.ต. อนุสรรค์ คุ้มอักษร ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาภาค 4 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ลงพื้นที่ปัตตานี เปิดโอกาสการค้าด้านปศุสัตว์ตามนโยบาย 3 เหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ที่ บ้านปิยา ตำบลยามุมัง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี พล.ต. อนุสรรค์ คุ้มอักษร ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาภาค 4 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เปิดการฝึกอบรมให้ความรู้และส่งเสริมการเลี้ยงโค ให้กับเกษตรกรทั้ง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ เปิดโอกาสการค้าขายด้านปศุสัตว์ ตามนโยบาย 3 เหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน การฝึกอบรมให้ความรู้และส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโค นำร่องไปแล้ว รุ่นที่ 1 จากจำนวน 12 รุ่น ผู้เข้ารับการอบรมทั้งหมด 4 จังหวัด จำนวน 40 ราย

เชียงใหม่- นายธนฤทธิ์ รัชตะประกร เจ้าหน้าที่ สนง. คณะ กก.พิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ร่วมกับนายสิทธิศักดิ์ อภิกุลชัยสิทธิ์ นายอำเภอแม่อาย พร้อมหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมชี้แจงหลักเกณฑ์ในการสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำในภาคการเกษตร โดยมีเกษตรกร ต.แม่สาว อ.แม่อาย รับฟังกว่า 800 กว่าราย

ส่วนใหญ่ต้องการอ่างเก็บน้ำแม่สาว ทั้งนี้ทางกรมชลประทานแจ้งว่าอ่างเก็บน้ำดังกล่าวจะสามารถ เก็บน้ำได้มากถึง 13 ล้านลูกบาศก์เมตร (คิวบิกเมตร) ช่วยเหลือเกษตรกรในหน้าแล้งได้มากกว่า 8,000 ไร่ และในหน้าฝนช่วยได้มากกว่า 13,000 ไร่ ซึ่งจะใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท

นายธนฤทธิ์กล่าวว่า จากการที่ทางกลุ่มชาวนาได้แจ้งความต้องการสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อช่วยเหลือประชาชนทั้งอุปโภคบริโภคและการเกษตรนั้น ทาง กปร. ได้มาสำรวจพื้นที่สร้างอ่างเก็บน้ำ และพร้อมที่จะจัดสร้างได้ประมาณ ปี 2562-2563 แต่ต้องขอความร่วมมือกับประชาชนที่จะต้องเสียพื้นที่ทำกินไปบางส่วน โดยเฉพาะรายที่บุกรุกเข้าทำการเกษตรในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดอยปู่หมื่นและป่าอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก

ในการก่อสร้างนั้นจะต้องไม่มีประชาชนคนใดคนหนึ่งคัดค้านหรือต่อต้าน เพราะถ้ามีจะไม่สามารถทำการก่อสร้างได้ หลังจากนี้ทางชุดทำงานจะได้ทำเรื่องขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ ต่อไป ส่วนเรื่องการสำรวจการก่อสร้างนั้นทางกรมชลประทานได้ส่งเจ้าหน้าที่มาทำการตรวจสอบแล้ว และถ้าทุกอย่างพร้อมจะก่อสร้างให้ ซึ่งจะใช้พื้นที่ลำห้วยแม่สาว บ้านโป่งไฮ หมู่ที่ 3 ต.แม่สาว

ด้านนายสิทธิศักดิ์กล่าวว่า ความจริงพื้นที่ใน อ.แม่อาย ถือเป็นพื้นที่ที่มีน้ำสมบูรณ์มากและมีหลายสาย แต่ยังไม่มีการบริหารจัดการที่แท้จริงและถูกต้อง นครราชสีมา – นายสิริพงศ์ อรุณรัตนา รอง กก.ผจก.บริหารธุรกิจครบวงจรส่งออกโคราชและครบวงจรไก่อีสาน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า ได้ดำเนินโครงการ “ส่งเสริมอาชีพและพัฒนาสินค้าชุมชน บ้านหนองพยอม จ.นครราชสีมา” มาอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนการรวมกลุ่มกันของชาวชุมชนบ้านหนองพยอม ซึ่งเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็ง และพร้อมพัฒนาชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อให้ชาวชุมชนมีอาชีพเสริมและมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากอาชีพทำการเกษตรที่เป็นอาชีพหลัก

ล่าสุด เมื่อปี 2560 ซึ่งเป็นช่วงต่อยอดของโครงการ ซีพีเอฟใช้ขีดความสามารถขององค์กรในการเป็นธุรกิจอาหาร จัดทำโครงการพัฒนาขนมไทยพื้นบ้าน เพื่อสร้างโอกาสให้เกิดเป็นอาชีพถาวรของชาวชุมชน โดยเข้าไปพัฒนาให้คำแนะนำ และให้การสนับสนุนยกระดับการทำขนมไทยจนสามารถขายให้แก่นอกชุมชน ขายให้โรงงานเพื่อใช้รับรองแขกหรือลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ทำให้คนในชุมชนกลุ่มทำขนมไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20,000 บาทต่อเดือน หรือไม่ต่ำกว่า 240,000 บาทต่อปี

นายชาติชาย เจียมศรีพงษ์ นายก อบจ.พิจิตร กล่าวว่า จากกรณีที่โรคพิษสุนัขบ้ากำลังระบาดหลายพื้นที่ของ 36 จังหวัดทั่วประเทศ จนเป็นเหตุให้อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สั่งการให้ อบจ. ทุกจังหวัด จัดตั้งศูนย์ดูแลหมาแมวจรจัด โดยจะแจกจ่ายงบประมาณในการจัดซื้อวัคซีนให้

ซึ่งตนเองเห็นด้วย ที่ทางอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จะให้มีการจัดตั้งศูนย์ในการดูแลหมาแมวจรจัดดังกล่าวขึ้น ในส่วนของทาง อบจ.พิจิตร จะได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูล และจัดเตรียมหาสถานที่เป็นศูนย์ในการดูแล พร้อมหาบุคลากร อุปกรณ์ในการจับสุนัขเข้ามาดูแล

นอกจากนี้คงไม่ใช่ อบจ.อย่างเดียวที่จะต้องดูแล แต่ต้องมีปศุสัตว์ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด มาคอยให้ความช่วยเหลือเหมือนกัน เนื่องจาก อบจ.ไม่ได้มีความรู้ด้านนี้มา คงจะต้องร่วมกันทำงานควบคู่กันไป

“ผมยอมรับว่า จ.พิจิตรเองก็มีสุนัขจรจัด โดยเฉพาะสนามกีฬาที่มีคนนำมาปล่อยเยอะ รวมถึงตามตลาดถนนหนทางและวัด ซึ่งตรงนี้จะต้องหาข้อมูลทั้งหมด เนื่องจากทั้งหมาแมวจรจัดมีจำนวนมาก”

“ไข่แดงไม่สุก” เชื่อว่าเป็นเมนูที่หลายคนชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเวลาเห็นไข่แดงไหลเยิ้มออกมา หรือรสชาติฉ่ำๆ ที่แสนอร่อย จนกลายเป็นเมนูมื้อเช้าที่แสนวิเศษ
แต่รู้หรือไม่ว่าไข่นั้นเป็นอาหารที่มีความสี่ยงจะมีเชื้อแซลโมเนลลา ซึ่งวิธีการที่จะฆ่าเชื้อเหล่านี้ได้อย่างสมบูรณ์ก็คือปรุงให้สุก อย่างไรก็ตาม วัยผู้ใหญ่มักมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงพอ แต่กับเด็กๆ ล่ะ? คุณคิดว่าเด็กๆ ควรกินไข่ไม่สุกหรือไม่?

กระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ไข่ไม่สุกที่มีไข่แดงไหลออกมาได้นั้นไม่ปลอดภัยต่อการบริโภคของเด็กๆ โดยแนะนำว่าทั้งเด็กและผู้ใหญ่ควรจะกินไข่ที่สุกแล้วทุกส่วน คือสุกทั้งไข่แดงและไข่ขาว เพื่อป้องกันโอกาสการได้รับเชื้อโรคอย่างแซลโมเนลลา โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์, ผู้สูงอายุ และคนที่กำลังป่วย ซึ่งอาจเจ็บป่วยได้ง่ายกว่า

“แซลลี่ คูเซมแชค” นักโภชนาการในเว็บไซต์ Real Mom Nutrition กล่าวว่า อย่างที่รู้กันว่าไข่แดงไหลเยิ้มนั้นกำลังเป็นเมนูฮิตของใครหลายคน แต่หากให้เด็กกินก็อาจไม่ปลอดภัยได้ โดยจากข้อมูลของหน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ขวบ มีโอกาสติดเชื้อแซลโมเนลลามากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ และเด็กทารกนั้นมีโอกาสติดเชื้อสูงมาก เนื่องจากเป็นวัยที่ระบบภูมิคุ้มกันยังอยู่ระหว่างการพัฒนา

ซึ่งถึงแม้จะดูเป็นข่าวร้ายที่คุณพ่อคุณม่ยังไม่สามารถให้ลูกที่อายุน้อยกว่า 5 ขวบ กินไข่แดงไม่สุกได้ แต่ก็ถือเป็นข่าวดีที่คุณจะสามารถรังสรรค์เมนูไข่ใหม่ๆ ให้กับเด็กๆ เมนูไข่สุกที่คุณยังทำให้น้องๆ หนูๆ กินได้ก็มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ไข่ดาว, ไข่ต้ม ที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กวัยหัดเดินและหยิบอาหารกินด้วยมือ

โดยหลังจากอายุ 5 ขวบแล้ว ความเสี่ยงก็จะค่อยๆ ลดลง เพราะร่างกายของเด็กจะเริ่มพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงมากขึ้น จนคุณสามารถค่อยๆ ปรุงเมนูไข่แดงเยิ้มๆ ให้พวกเขากินได้!

กนป. ระบุ ปี 2561 น้ำมันปาล์มดิบรวม 3.15 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการใช้ภายในประเทศอยู่ที่ 2.34 ล้านตัน สูงกว่าระดับสต็อกที่เหมาะสมอยู่ 0.56 ล้านตัน ย้ำ ต้องผลักดันส่งออกอย่างต่อเนื่อง แก้ปัญหาราคาให้มีเสถียรภาพเป็นธรรมทั้งระบบ ด้าน สศก. เตรียมสรุปรายชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กนป.ชุดใหม่ ที่หมดวาระลงภายใน 26 มีนาคมนี้

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ถึงผลการประชุม กนป. ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2561 ณ ห้องประชุมตึกสันติไมตรีหลังใน ทำเนียบรัฐบาล โดยมี รองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน

ที่ประชุมได้มีมติรับทราบสถานการณ์การผลิตและการตลาดปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม โดยในปี 2561 มีผลผลิตปาล์มน้ำมัน 15.18 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 14.24 ล้านตัน ในปี 2560 หรือร้อยละ 7 เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมารายได้จากการปลูกปาล์มสูงกว่าพืชทางเลือกอื่น ส่งผลให้เกษตรกรหันมาปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น ส่วนผลผลิตต่อไร่ เฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น คิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบ 2.67 ล้านตัน และเมื่อรวมกับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในปี 2560 จำนวน 0.48 ล้านตัน ส่งผลให้ปี 2561 มีน้ำมันปาล์มดิบรวมทั้งสิ้น 3.15 ล้านตัน

และจากการคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงพลังงาน พบว่า ความต้องการใช้ภายในประเทศอยู่ 2.34 ล้านตัน ส่งผลทำให้ ณ สิ้นปี 2561 จะมีสต็อกส่วนเกินความต้องการใช้ในประเทศ 0.82 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าระดับสต็อกที่กำหนดไว้ 0.56 ล้านตัน (กำหนดระดับที่เหมาะสม 0.25 ล้านตัน) ดังนั้น เพื่อให้ปริมาณสต็อกอยู่ในระดับที่เหมาะสม และระบบราคามีเสถียรภาพ จำเป็นต้องผลักดันส่งออกอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยประมาณเดือนละ 46,600 ตัน ขณะที่ราคาปาล์มน้ำมัน (ณ 12 มีนาคม 2561) พบว่า ราคาผลปาล์มน้ำมัน อัตราน้ำมัน 18% เฉลี่ย กก.ละ 4.00 บาท และราคาน้ำมันปาล์มดิบ เฉลี่ย กก.ละ 21.25 บาท

สำหรับการแก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ตามมติ กนป. เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2560 โดยให้ลดปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบ ผลการดำเนินงาน พบว่า ณ เดือนธันวาคม 2560 สามารถส่งออกได้ 88,304 ตัน ส่วนเดือนมกราคม 2561 ส่งออกได้ 86,432 ตัน และจากการรายงานจากผู้ประกอบการส่งออก คาดว่าในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2561 จะมีการส่งออกได้ 66,000 ตัน และ 39,000 ตัน ตามลำดับ ในขณะที่ใช้น้ำมันปาล์มดิบไปผลิตเป็นไบโอดีเซลเพื่อสต็อกนั้น จากการประสานงานกับผู้ค้าน้ำมัน ตามมาตรา 7 พบว่า สามารถจัดเก็บน้ำมันปาล์มดิบได้สูงสุด 60,256 ตัน ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 สามารถจัดเก็บได้รวมทั้งสิ้น 54,169 ตัน หรือประมาณร้อยละ 90 ของความสามารถที่จัดเก็บได้ ส่วนที่ยังไม่ครบนั้น อยู่ระหว่างดำเนินการจัดเก็บต่อไป การช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันกำหนดแนวทางแก้ไขและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายในลักษณะบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) และมอบหมายให้คณะกรรมการบูรณาการกองอำนวยการความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กบข.กอ.รมน.) เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบในการดำเนินการ

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันหารือแนวทางในการบริหารจัดการสต็อกน้ำมันปาล์มดิบเพื่อให้ปริมาณการผลิตและการใช้น้ำมันปาล์มดิบในประเทศเกิดดุลยภาพและราคามีเสถียรภาพ รวมถึงการกำหนดโครงสร้างราคาที่เป็นธรรมทั้งระบบ พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการหาแนวทางความร่วมมือในการรณรงค์การใช้น้ำมันปาล์มภายในประเทศ และส่งเสริมการผลิตปาล์มคุณภาพตามมาตรฐานสากล (RSPO) ตลอดจนการรณรงค์ให้เกษตรกรตัดปาล์มสุกเพื่อเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมัน ยกระดับราคาปาล์มน้ำมันในประเทศให้สูงขึ้น

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบความก้าวหน้าการจัดทำร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดวัตถุดิบและคุณภาพ ผลิตภัณฑ์ของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม พ.ศ. …. ซึ่งอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และร่าง พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน พ.ศ. …. ของ สศก. ซึ่งได้สรุปผลการแสดงความคิดเห็นทั้งหมดส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว พร้อมนี้ ที่ประชุมได้ทำการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติชุดใหม่ทดแทนชุดเดิมที่หมดวาระลง จำนวน 10 ท่าน โดยต้องมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากผู้ประกอบการสวนปาล์มน้ำมัน (เกษตรกร) ไม่น้อยกว่า 3 ท่าน และคณะกรรมการโดยตำแหน่งจะส่งรายชื่อที่คัดเลือกมายัง สศก. รวบรวมภายใน 26 มีนาคม 2561 เพื่อสรุปรายชื่อ 10 อันดับ เสนอประธาน กนป. เสนอนายกรัฐมนตรีลงนามในคำสั่งแต่งตั้งต่อไป

สศก. ชูผลประเมินโครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ช่วยเกษตรกรสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าว รวม 2,244 ตัน ได้ผลผลิตเฉลี่ย 402 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าก่อนเข้าร่วมโครงการไร่ละ 7 กิโลกรัม โดยเกษตรกรมีการคัดผลผลิตเก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ในปีถัดไป

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลประเมินโครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปี 2560/61 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวหอมมะลิในพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพ

การดำเนินโครงการ (มีนาคม – ตุลาคม 2560) กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมการข้าว ได้ส่งเสริมให้ชาวนามีความรู้และสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดีไว้ใช้เอง และจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และ กข15 แก่เกษตรกร โดยได้สมทบเงินค่าจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว กิโลกรัมละ 12 บาท จำนวน 2,244 ตัน แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ใน 21 จังหวัด รวม 1,267 กลุ่ม เกษตรกร 30,907 ราย พื้นที่ 147,554 ไร่

จากการติดตามประเมินผลโครงการฯ พบว่า เกษตรกรซื้อเมล็ดพันธุ์จากโครงการปริมาณเฉลี่ยรายละ 72 กิโลกรัม นำไปปลูกในพื้นที่รายละ 5 ไร่ โดยเกษตรกรร้อยละ 75 ได้เข้าร่วมประชุมและรับการถ่ายทอดความรู้จากเจ้าหน้าที่ศูนย์ เมล็ดพันธุ์ หรือศูนย์วิจัยข้าว ในเรื่องอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสม ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติเพื่อลดต้นทุน การผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง การตรวจสอบคุณภาพเบื้องต้น และการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์เพื่อใช้ในฤดูกาลถัดไป ซึ่งจากความรู้และคำแนะนำที่ได้รับ ทำให้มีการใช้เมล็ดพันธุ์ลดลงจากเดิมที่เคยใช้ไร่ละ 18 กิโลกรัม เหลือไร่ละ 15 กิโลกรัม

ด้านผลผลิตข้าวในโครงการ เฉลี่ย 402 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าก่อนเข้าโครงการประมาณไร่ละ 7 กิโลกรัม โดยเกษตรกร ร้อยละ 87 เก็บผลผลิตคัดไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ใช้ในปีต่อไป เฉลี่ยรายละ 363 กิโลกรัม โดยมีเกษตรกรบางรายจัดทำเป็นแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์โดยเฉพาะอีกด้วย

ทั้งนี้ ภาพรวมโครงการฯ พบว่า เกษตรกรมีความพอใจโครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ฯ ในระดับมากที่สุด และมีความต้องการเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีจากภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ห่างไกลจากศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวและศูนย์วิจัยข้าว โดยยินดีจะจ่ายเงินค่าเมล็ดพันธุ์บางส่วนในอัตรา กิโลกรัมละ 10-15 บาท