นาย​กฤษฎา ​กล่าว​ว่า​ ได้ปรับกระบวนการ​ทำงานของหน่วยงานต่างๆ​

ของ​กระทรวง​ใหม่​ให้บูรณาการ​กัน​ โดยก่อนเริ่มโครงการ​ปลูก​ข้าวโพด​หลัง​นา​นั้น​ กรม​พัฒนา​ที่ดิน ​จะสำรวจพื้นที่​ที่ดินมีคุณสมบัติ​เหมาะสม​ กรม​ชลประทาน​สำรวจและเพิ่มศักยภาพ​การจัดสรรน้ำให้เพียงพอ​ตลอด​ฤดูกาล​เพาะปลูก​ 4 เดือน​ กรมส่งเสริมการเกษตร​เข้ามาให้​คำแนะนำ​ในการปลูกและ​ดูแล​แปลง​ กรมวิชาการเกษตร ​เข้ามาช่วยแนะนำ​เรื่อง​การให้ปุ๋ยและการกำจัด​แมลงศัตรู​พืช​

กรมปศุสัตว์​ประสาน​สมาคม​ผู้ผลิต​อาหารสัตว์​ในการเข้าทำข้อตกลง​รับซื้อ​ผลผลิต​ กรมส่งเสริม​สหกรณ์​สนับสนุน​ให้​สหกรณ์​การเกษตร​ทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรกิจ​จัดหาเมล็ด​พันธุ์​ ปัจจัย​การผลิต​ รวมทั้ง​ตั้งจุดรวบรวม​และรับซื้อผลผลิต​เพื่อ​ส่งให้บริษัท​ผู้​ผลิต​อาหาร​สัตว์​ต่อไป​ ซึ่ง​ขณะนี้​สามารถ​จัดตั้ง​จุดรับ​ซื้อ​ได้ครอบคลุม​ทุกอำเภอใน​ 37​ จังหวัด ​ของ​โครงการ​ ทำให้​เกษตร​กรไม่ต้องขนผลผลิต​ไปขายเป็น​ระยะทางไกล​ เพิ่มต้นทุน​ค่าขนส่งขึ้นอีก

นาย​กฤษฎา ​กล่าวว่า​ ในจังหวัด​ขอนแก่น​นั้น​ เกษตรกร​เริ่มปลูกข้าว​โพดได้​ 45​ วันแล้ว​ คาดว่า​ จะเก็บผลผลิต​ได้ปลายเดือน​เมษายน​ถึงต้นพฤษภาคม​ ซึ่ง​ข้าวโพด​เลี้ยง​สัตว์​หน้าแล้ง​นั้น​ สมาคม​ผู้ผลิต​อาหารสัตว์​ระบุว่า​ มีคุณภาพดี​ ความชื้นต่ำเนื่องจาก​เมื่อข้าวโพด​แก่​ ยังไม่มีฝน​ เมล็ดเสียจึงน้อย​ อีกทั้งสมาคม​ผู้ผลิต​เมล็ด​พันธุ์ของ​ไท​ย​ร่วมให้ความรู้​ จัดทำแปลงสาธิต​ เป็น​พี่​เลี้ยง​ทุกขั้นตอน​จนกระทั่ง​เก็บผลผลิต​ จึงคาดว่า​ ผลผลิต​ต่อไร่ เฉลี่ย​ 1,200​ กิโลกรัม​ หากดูแล​ดีสามารถ​สูงถึง​ 1,500 ถึง​ 1,800​ กิโลกรัม ต่อไร่

ดังเช่นที่แปลงนำร่องในจังหวัด​อุตรดิตถ์​และพิษณุโลก​ประสบผลสำเร็จ​มาแล้ว​ เมื่อหักต้นทุน​การผลิต​ทั้งหมด​จะมีกำไร​ 3,000​ ถึง​ 4,000​ บาท​ ขณะที่​ข้าวนาปรังได้กำไรเพียง​ 300​ ถึง​ 400​ บาท ต่อไร่​ การปลูกข้าวโพด​เลี้ยง​สัตว์​จึงได้กำไรมากกว่า​ 10 เท่า​ โดยกระทรวง​เกษตร​ฯ​ จะใช้​เป็นต้นแบบ​ส่งเสริม​เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชชนิดอื่นๆ หลังฤดูทำนาในปีต่อๆ​ ไป เช่น ถั่วเหลือง​ ถั่วเขียว​ และพืชผัก​ โดยจะต้องทำเกษตร​แบบแปลงใหญ่​หรือสหกรณ์​เพื่อ​ให้​เกษตรกร​สามารถ​ลดต้นทุน​การผลิต​และมีกำลัง​ในการต่อรองราคา​ขายให้ได้รับความเป็​นธรรม​ ไม่ถูก​กดราคา​จากคนกลางเหมือน​ที่ผ่านๆ​ มา

“ตามฐานข้อมูล​เกษตร​กรนั้น​ ประเทศ​ไทยมีผู้ประกอบอาชีพ​เกษตร​กรรม​ 7.5 ล้านครัวเรือน ​ซึ่ง​จากนี้ไปจะต้องเข้า​สู่แผนการผลิต​ภาค​การเกษตร​ของ​ประเทศ​เพื่อ​สร้างความมั่นใจว่า​ มีผู้รับซื้อผลผลิต​ทั้งหมด​ ได้รับราคาเป็น​ธรรม​ หากเกิดภัยพิบัติ​มีระบบประกันภัยจ่ายค่าชดเชย​ให้​ ดังนั้น ต่อไป​รัฐไม่ต้องนำงบประมาณ​เป็น​จำนวน​มาก​มารับจำนำผล​ผลิต​หรือรับซื้อในราคานำตลาด​ ซึ่งที่ผ่านมา​ แต่ละปีต้องใช้งบหลายแสนล้านบาท​ อีกทั้งเมื่อ​ซื้อผลผลิต​แล้ว​ ยังต้องเสียค่าเช่า​โกดังเก็บรักษา​ ผล​ผลิต​เสื่อม​คุณ​ภาพ​ หรือเกิด​ปัญหา​ผล​ผลิต​ที่เก็บไว้หาย​ ต้นแบบนี้เป็น​ ‘กฤษฎาโมเดล’ ซึ่ง​แม้ว่า​จะเปลี่ยนรัฐบาล​ ยังคง​ใช้​เป็น​แนวทางการดูแลเกษตรกร​ให้มีรายได้มั่นคง​และยั่งยืน​ได้ต่อไป​” นายกฤษฎา​ กล่าว

ทางด้าน นายวิศิษฐ์​ ศรี​สุวรรณ​ รองอธิบดี​กรม​ส่งเสริม​สหกรณ์ ​กล่าว​ว่า​ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น ร่วมกับหน่วยงานสำรวจเกษตรกรที่มีความพร้อมและสมัครใจเข้าร่วมโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อการสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา จำนวนทั้งสิ้น 1,053 ราย พื้นที่เพาะปลูก 6,389.75 ไร่ คาดว่าจะได้ปริมาณผลผลิตข้าวโพด 9781 ตัน ในจำนวนนี้เป็นสมาชิกสหกรณ์ จำนวน 64 ราย พื้นที่เพาะปลูก 315 ไร่ ซึ่งสหกรณ์จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว โดยทำหน้าที่บริหารจัดการผลผลิตเริ่มตั้งแต่การส่งเสริมการผลิตให้เกษตรกร จัดหาเมล็ดพันธุ์

ปัจจัยการผลิตต่างๆ ประสานหน่วยงานที่มีนักวิชาการเกษตรเข้ามาถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการดูแลพื้นที่เพาะปลูก การเก็บเกี่ยวผลผลิต การรวบรวมผลผลิต ตลอดจนจัดหาตลาดมารับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกร ซึ่งในจังหวัดขอนแก่นมีสหกรณ์ภาคเกษตรที่มีความพร้อมเปิดจุดรับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรหนองเรือ จำกัด สหกรณ์การเกษตรบ้านฝาง จำกัด สหกรณ์การเกษตรภูเวียง จำกัด สหกรณ์การเกษตรชุมแพ จำกัด สหกรณ์การเกษตรน้ำพอง จำกัด สหกรณ์การเกษตรเขาสวนกวาง จำกัด

สหกรณ์การเกษตรกระนวน จำกัด สหกรณ์การเกษตรอุบลรัตน์ จำกัด สหกรณ์การเกษตรมัญจาคีรี จำกัด สหกรณ์การเกษตรชนบท จำกัด ซึ่งสหกรณ์มีอุปกรณ์การตลาดทั้งโกดัง ลานตาก พร้อมสำหรับการเก็บรวบรวมข้าวโพดจากเกษตรกร ก่อนจะส่งขายให้กับบริษัทเอกชนในอำเภอชุมแพ เพื่อนำไปอบลดความชื้นและแยกสิ่งเจือปน เพื่อส่งให้กับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งโครงการนี้เป็นการเชื่อมโยงความร่วมมือจัดการข้าวโพดแบบครบวงจรระหว่างภาครัฐ สหกรณ์ และภาคเอกชน
สำหรับแปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของ

นางทองเที่ยง สุดจอม และ นายสำลี ล้นทม ซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรหนองเรือ จำกัด นั้น เกษตรกรทั้ง 2 รายนี้ ได้เริ่มทดลองหันมาปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ พื้นที่เดิมเคยทำนาและปลูกผักสวนครัว และใช้น้ำใต้ดิน (น้ำบาดาล) ในการเพาะปลูก ซึ่งการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา เนื่องจากมีความมั่นใจในมาตรการที่ภาครัฐให้การสนับสนุน

ทั้งการสนับสนุนสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 0.01 การทำประกันภัยพืชผลเพื่อป้องกันความเสี่ยงเมื่อเกิดความเสียหายในการเพาะปลูก และยังได้มีการประสานกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์และภาคเอกชนในการเข้ามารับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ โดยมีสหกรณ์เป็นตัวกลางในการดูแลและบริหารจัดการผลผลิตให้กับเกษตรกร

ส่วนต้นทุนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของสมาชิกสหกรณ์/เกษตรกรในพื้นที่อำเภอหนองเรือ เฉลี่ย 4,980 บาท ต่อไร่ โดยรวมต้นข้าวโพดมีความเจริญเติบโตสมบูรณ์ คาดว่าจะได้ผลผลิตเฉลี่ย 1,500 – 2,000 กิโลกรัม ต่อไร่ ซึ่งสหกรณ์จะรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด โดยรับซื้อเป็นข้าวโพดฝักแก่เมล็ดติดฝักปอกเปลือก

ในราคาไม่ต่ำกว่า 5 บาท ต่อกิโลกรัม ในระดับความชื้น 27-30​% หรือ​หากสีแกะเมล็ด​ นำไปปรับปรุง​คุณภาพ​จนได้ความชื้น ร้อยละ​ 14.5​ จะขายได้ไม่ต่ำกว่า​กิโลกรัม​ละ​ 8​ บาท แน่นอน​ ซึ่งจากแปลงนำร่องที่เก็บเกี่ยว​และขายแล้ว​ เกษตรกรมีรายได้ไม่ต่ำกว่า ไร่ละ 9,000 บาท เมื่อหักต้นทุนการผลิตแล้ว มีกำไรเฉลี่ย 4,020 บาท ต่อไร่ และคาดว่าโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาจะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในจังหวัดขอนแก่นไม่น้อยกว่า 48 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 24 มกราคม นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจติดตามผลการดำเนินงานโครงการสานพลังประชารัฐ สนันสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาใน ตำบลโนนทัน อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น โดยมี นายปานทอง สระคูพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวรายงานและต้อนรับ พร้อมด้วย นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ เลขานุการ รมว.กษ. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์ศีลธรรม วราอัศวปติ ปศุสัตว์เขต 4 และผู้บริหารระดับสูง ร่วมลงพื้นที่ สรุปการลงพื้นที่ ดังนี้

1.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม นายสำลี ล้นทม สมาชิกเกษตรหนองเรือ จำกัด บ้านเปือย ม.5 ต.โนนทัน อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ปลูกเมื่อ วันที่ 13 ธันวาคม 2562 จำนวน 4 ไร่

2.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม นางทองเที่ยง สุดจอม สมาชิกสหกรณ์การเกษตรหนองเรือ จำกัด บ้านเปือย ม.5 ต.โนนทัน อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ปลูกเมื่อ วันที่ 7 ธันวาคม 2561 จำนวน 3 ไร่

3. เกษตรกรอำเภอหนองเรือเข้าร่วมโครงการ จำนวน 31 ราย พื้นที่ปลูก 182 ไร่

4.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม นายประดิษฐ์ ศิริธรรมจักร หมอดินอาสา ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่นาข้าว 19 ไร่ เป็นเกษตรผสมผสาน จัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำปรับปรุงดินโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี

นอกจากนี้ นายกฤษฎา ยังได้พบปะเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นพืชชนิดใหม่ที่สร้างรายได้ดี เกษตรกรร่วมโครงการสานพลังประชารัฐปลูกข้าวโพดหลังนา และกลุ่มเกษตรกรพื้นที่ดินเค็ม

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ให้ความมั่นใจกับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาว่าผลผลิตจากโครงการดังกล่าวจะมีตลาดรับซื้ออย่างแน่นอนและขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม เนื่องจากความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศยังมีมาก ปัจจุบัน ข้าวโพด ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ข้าวโพดในการเลี้ยงสัตว์และคาดหวังว่าการปฎิรูปภาคการเกษตรในครั้งนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาภาคการเกษตรไทยได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) สุวรรณภูมิ โดยคณะศิลปศาสตร์ ได้เข้าร่วมโครงการสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยงโรงเรียนเครือข่ายเพื่อการพัฒนาการอุดมศึกษาภาคกลางตอนบน ซึ่งเป็นนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาที่ผลักดันสนับสนุนการดำเนินงานการพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น สนับสนุนสถาบันอุดมศึกษา โรงเรียน และชุมชนที่มีความพร้อมทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย

เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ช่วยกันพัฒนาการศึกษาและท้องถิ่นให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่ เป้าหมายดังกล่าว มหาวิทยาลัยได้นำบุคลากรที่มีรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านวิชาการและเทคโนโลยีไปช่วยแก้ไขปัญหา และถ่ายทอดบริการวิชาการแก่ชุมชนท้องถิ่น โรงเรียนเครือข่ายเพื่อพัฒนาโรงเรียนให้ผลิตนักเรียนที่มีคุณภาพเข้าสู่สถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสูงในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ ไทยแลนด์ 4.0

ผศ. ว่าที่ร้อยเอก ดร.ธนู ทดแทนคุณ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วยผู้บริหาร คณาจารย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) สุวรรณภูมิ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยงโรงเรียนขนาดเล็ก/ขยายโอกาสเขตพื้นที่ภาคกลางตอนบน

โดยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงโรงเรียน ผู้แทนโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนขยายโอกาสในเครือข่ายของคณะศิลปศาสตร์ ซึ่งผลการดำเนินโครงการได้รับคัดเลือกให้เป็นโครงการแบบอย่าง เข้ารับรางวัล จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการสร้างศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ เพื่อโรงเรียนและชุมชน โดยโรงเรียนบ้านคลองพระพิมล และ 2. โครงการพัฒนาการสอนภาษาและวัฒนธรรมแบบชุมชนมีส่วนร่วม (จีน, ญี่ปุ่น) โดยโรงเรียนวัดแดง (นนทคุณพิพัฒน์ราษฎร์อุปถัมภ์)

ผศ. ว่าที่ร้อยเอก ดร.ธนู ทดแทนคุณ กล่าวต่อว่า ในฐานะประธานอนุกรรมการกลุ่มสถาบันพี่เลี้ยงเครือข่ายเพื่อการพัฒนาอุดมศึกษาภาคกลางตอนบน กลุ่มที่ 4 U-School Mentoring ดีใจมากๆ ที่การดำเนินงานของสถาบันพี่เลี้ยงโรงเรียน ในรอบปีที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ส่งผลให้ได้รับรางวัลจากการดำเนินโครงการ รวมเป็นเงินรางวัล 200,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตรรางวัล

นายชัยยุทธ ทิพย์สุวรรณพร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ซีพี เฟรชมาร์ท ร่วมฉลองเทศกาลตรุษจีนปี 2562 ส่งโปรโมชั่นชุดไหว้เสริมสิริมงคลเอาใจคนไทยเชื้อสายจีน จัดชุดผลิตภัณฑ์แช่แข็งสำเร็จรูปในราคาพิเศษ มีให้เลือก 2 แบบ คือ “ชุดไหว้ ซาแซ” ที่ครบถ้วนด้วยของไหว้ 3 อย่าง ทั้งไก่ต้มพร้อมเครื่องใน เป็ดพะโล้พร้อมเครื่องใน และสะโพก หมูต้มสุก (หมูบะแซ) และ “ชุดไหว้โหงวแซ” ประกอบด้วยของไหว้ 5 อย่าง ทั้งไก่ เป็ด หมู ปลากะพงนึ่ง และกุ้งต้มสุก พร้อมจัดแคมเปญมอบส่วนลดชุดไหว้ทั้งสองแบบ พิเศษสำหรับลูกค้าซีพีเซอร์ไพรส์และลูกค้า ทรูมันนี่วอลเล็ทที่สั่งจองสินค้าชุดไหว้ที่ร้าน ซีพี เฟรชมาร์ทครบ1,200 บาท ต่อใบเสร็จ รับฟรี “กระเป๋า เฮง เฮง” เพื่อเสริมโชคลาภในปีหมูทอง

“ภาพรวมการจับจ่ายของไหว้ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้น่าจะคึกคัก ขณะที่ซีพี เฟรชมาร์ท ทั้ง 400 สาขาทั่วประเทศ มีความพร้อมทั้งด้านกำลังคนและการให้บริการที่ครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า รวมทั้งมีการเก็บข้อมูลและสำรวจความต้องการของลูกค้าล่วงหน้า โดยตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถจำหน่ายชุดไหว้เสริมมงคลได้ถึง 45,000 ชุด ทำให้ตลอดช่วงตรุษจีนนี้น่าจะมียอดขายไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท เติบโตประมาณ 15% จากปีที่ผ่านมา” นายชัยยุทธ กล่าว

นอกจากนี้ ที่ร้านยังวางจำหน่ายของไหว้เสริมมงคล อาทิ เมล่อนเจียไต๋ แอปเปิ้ล สาลี่ ขนมเข่ง ขนมเทียน ที่ล้วนเป็นสินค้าคุณภาพเพื่อเป็นทางเลือกเสริมให้กับลูกค้า สำหรับใช้ในเทศกาลมงคลนี้ โดยลูกค้าสามารถสั่งจองล่วงหน้ากับชุดไหว้ซาแซ ราคาพิเศษ 688 บาท และชุดโหงวแซ พิเศษ 1,118 บาท

ลูกค้าสามารถสั่งจองได้ที่ร้านซีพีเฟรชมาร์ททุกสาขาทั่วประเทศ หรือโทร. 1788 หรือสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ www.cpfreshmartshop.com พิเศษสำหรับลูกค้าสั่งซื้อออนไลน์ได้สิทธิ์ 2 ต่อ โดยต่อที่ 1 ซื้อชุดไหว้ครบ 688 ฟรีค่าจัดส่ง (ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการจัดส่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล) และต่อที่ 2 ซื้อชุดไหว้ครบ 1,000 บาท รับฟรีบัตรเซ็นทรัลมูลค่า 100 บาท เพียงกรอกโค้ด CPFMCNY โดยลูกค้าสามารถจองสินค้าได้ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ และรับสินค้าได้ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม- 6 กุมภาพันธ์ ศกนี้

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีวัตถุประสงค์หลักในการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากงานวิจัยที่แล้วเสร็จ จากการดำเนิน “โครงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะพลาสติกในชุมชนเพื่อการบูรณาการอย่างยั่งยืน” ภายใต้การบริหารจัดการโครงการโดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม วว. ลงสู่ชุมชนด้านการจัดการขยะที่ต้นทาง เพื่อเพิ่มมูลค่าและการนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นการใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และงานวิจัยเพื่อถ่ายทอดจากหิ้งสู่ห้าง ผลักดันการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยในการสร้างมูลค่าเพิ่มเกิดแรงจูงใจในการคัดแยกขยะชุมชนได้อย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรม เพื่อก้าวสู่ประเทศไทย 4.0

“ถ่านหอม 3 in 1” เป็นนวัตกรรมการเพิ่มมูลค่าขยะเปลือกผลไม้จากตลาดสด โดยการใช้องค์ความรู้พื้นฐานในการกำจัดกลิ่นน้ำมันดินที่เกิดจากการเผาถ่านเปลือกผลไม้ มีการพัฒนาการใช้องค์ความรู้ด้านการผลิตถ่านกรองก๊าซจากกะลาปาล์มโดยเทคนิคการกระตุ้นการใช้เทคโนโลยีเอิบชุ่ม เพื่อเกิดองค์ความรู้ในการพัฒนาคุณสมบัติถ่านเพื่อทำการปล่อยกลิ่นหอม และดูดกลิ่นอับชื้น หรือกลิ่นเหม็นในห้องน้ำ/ตู้เสื้อผ้า/รถยนต์

“ถ่านหอม 3 in 1” มีความโดดเด่นในเรื่องของการปล่อยกลิ่นหอม ดูดกลิ่นอับชื้น และเมื่อหมดสภาพยังใช้เป็นวัสดุปรับปรุงดินปลูกต้นไม้ได้อีกด้วย

เป็นการสร้างมูลค่าให้แก่ขยะถึง 1,200 บาท ต่อกิโลกรัม เพื่อการบริหารจัดการขยะ ตามแผนปฏิบัติการประเทศไทยไร้ขยะด้วยนวัตกรรม มุ่งสู่ประเทศไทย 4.0โครงการวิจัยนี้เป็นการเพิ่มมูลค่าขยะเปลือกผลไม้ซึ่งเป็นขยะสด ผลิตเป็นถ่านหอม และใช้ขยายผลต่อยอดการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ในช่วงที่มีผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ

พื้นที่ขยายผลโครงการ องค์การบริหารส่วนตำบลตาลเดี่ยว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โดยถ่ายทอดสู่ชุมชน จัดตั้งเป็นหมู่บ้านต้นแบบสีเขียวในการจัดการขยะ ณ หมู่ที่ 9 ตำบลตาลเดี่ยว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี และองค์การบริหารส่วนตำบลทั่วประเทศ

♦ ผลที่ได้รับเชิงสังคม

1. เกิดความตระหนักในการใช้ทรัพยากร โดยการเพิ่มมูลค่าขยะ เพื่อเป็นกลไกให้เกิดการคัดแยกขยะที่ต้นทางได้อย่างถูกต้อง

2. ลดปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี

3. เกิดการกระตุ้นให้ชุมชนได้มีการนำแนวคิดและความรู้ที่ได้ไปประยุกต์และปรับใช้ให้เหมาะสมกับชุมชนให้เกิดความยั่นยืนและเป็นชุมชนปลอดขยะในอนาคต

4. ลดปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะ

5. เกิดกิจกรรมบูรณาการจากทุกภาคส่วนในการดำเนินงาน

♦ ผลที่ได้รับเชิงเศรษฐกิจ

1. เกิดรายได้ของชุมชน จากการเพิ่มมูลค่าเปลือกผลไม้จากการนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าเปลือกผลไม้ หรือผลผลิตทางการเกษตรที่มีราคาตกต่ำ เกิดเป็นรายได้ประมาณการ 800-1,200 บาท ต่อกิโลกรัม (29-50 บาท ต่อชิ้น)

2. เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพในชุมชน

3. เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน และสามารถส่งขายเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกได้ในอนาคต

4. เกิดเป็นแนวทางเลือกหนึ่งในการใช้นวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มกับสินค้าจากเกษตรเมื่อราคาตกต่ำ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม “ถ่านหอม 3 in 1” ได้ที่ ศูนยเชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม วว. (ดร.เรวดี อนุวัฒนา) โทร. 0 2577 9000, 0 2577 9479 ในวันและเวลาราชการ

เครือเจริญโภคภัณฑ์เสนอแนวทางแก้ปัญหามะพร้าวล้นตลาดราคาตกต่ำ ระยะสั้นต้องชะลอหรืองดการนำเข้า หากมีการนำเข้าภาครัฐต้องกำหนดปริมาณการนำเข้า เร่งใช้สต๊อกเก่าให้หมดก่อน ระยะยาวควรส่งเสริมเกษตรกรปลูกมะพร้าวพันธุ์ดีทดแทนการนำเข้า สนับสนุนการแปรรูปเพื่อส่งออกกะทิ อาหารและขนมไทยไปทั่วโลก เพราะคุณภาพมะพร้าวไทยดีที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก เผยเครือเจริญโภคภัณฑ์พัฒนา “ทับสะแกโมเดล” ส่งเสริมเกษตรกรพัฒนาสายพันธุ์มะพร้าวให้ได้ผลผลิตเพิ่ม พร้อมรับซื้อเพื่อส่งเป็นวัตถุดิบป้อนบริษัทในเครือผลิตอาหาร

นายขุนศรี ทองย้อย ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่าสถานการณ์มะพร้าวล้นตลาดและราคาตกต่ำเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ ปี 2559 เนื่องจากพื้นที่ปลูกมะพร้าวในประเทศไทยมีเพียง 1 ล้านไร่ ผลผลิตจึงไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่วนหนึ่งเพราะพื้นที่ปลูกมะพร้าวลดลง ในขณะที่ปริมาณการใช้มะพร้าวสูงขึ้น จึงมีการนำเข้าโดยปราศจากการตรวจสอบ จนถึงปัจจุบันมีปริมาณมะพร้าวมากกว่าความต้องการใช้จริงในประเทศ สร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวโดยเฉพาะในภาคใต้

เครือเจริญโภคภัณฑ์เล็งเห็นว่า รัฐบาลควรเร่งหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นสามารถที่จะชะลอการนำเข้าหรืองดการนำเข้า หากมีการนำเข้าต้องกำหนดปริมาณการนำเข้า และที่สำคัญต้องป้องกันการลักลอบนำเข้า เร่งใช้สต๊อกเก่าเพื่อลดซัพพลายในตลาดฯ

ส่วนมาตรการระยะยาว ภาครัฐควรส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมะพร้าวพันธุ์ดี เพื่อลดการนำเข้า โดยการกำหนดโซนนิ่งเพื่อให้ผลผลิตออกมาเพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ นอกจากนี้ ควรส่งเสริมการแปรรูปเพื่อส่งออกกะทิ อาหาร และขนมหวานไทยไปทั่วโลก เนื่องจากคุณภาพกะทิของประเทศไทยเป็นที่ 1 ของโลก ในขณะที่ผลผลิตมีมากเป็นอันดับ 7 ของโลก

ปัจจุบัน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ทดลองพัฒนาโครงการ “ทับสะแกโมเดล” จ.ประจวบคีรีขันธ์ เริ่มดำเนินงานเมื่อ 3 ปี ที่ผ่านมา โดยส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้ได้ผลผลิตดี ปัจจุบันสามารถพัฒนาจนได้ผลผลิต 800 กิโลกรัม/ไร่ จากเดิม 500 กิโลกรัม/ไร่ และรับซื้อในราคาที่เป็นธรรมบวกราคาเพิ่มให้อีกหากผลผลิตดีให้น้ำกะทิคุณภาพสูง ผลผลิตที่ได้ป้อนเข้าบริษัทในเครือ ได้แก่ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ ซีพีเอฟ และ บจก. ซีพีแรม เพื่อผลิตอาหารคุณภาพดี โดยปัจจุบันมีการรับซื้ออยู่ที่ 50,000 ผล/เดือน ไม่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากเชื่อมั่นในคุณภาพมะพร้าวของประเทศไทย

กล้วยไข่ เป็นผลไม้ที่มีระยะเวลาการเก็บรักษาค่อนข้างสั้น เมื่อตัดออกจากเครือยังเป็นสีเขียว วางจำหน่ายไม่กี่วันก็จะเหลืองสุกและขั้วหวีจะเน่าตามมา กล้วยไข่เป็นผลไม้ที่มีการส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเช่นเดียวกับผลไม้ประเภทอื่น ๆ ซึ่งจะต้องมีระยะเวลาในการเดินทางและระยะเวลาในการวางจำหน่ายอยู่ในร้านประมาณ 15 วัน

คุณจารุวรรณ บางแวก ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การส่งออกกล้วยไข่ไปจำหน่ายต่างประเทศพบว่ามีปัญหาเรื่องการส่งออก คือ ขั้นตอนของการบ่มและการวางจำหน่าย มีปริมาณการสูญเสียมากที่สุดประมาณ 64 % สาเหตุการสูญเสียที่สำคัญคือ โรคขั้วหวีเน่า60 % ที่มีสาเหตุจากการทำลายของเชื้อรา ทำให้ผลผลิตส่วนหนึ่งเกิดการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ทำให้อายุการวางจำหน่ายสั้นลงที่ปลายทาง และเมื่อเกิดโรคขั้วหวีเน่าก็จะทำให้ขายไม่ได้

การสูญเสียของผลิตผลหลังการเก็บเกี่ยวสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากปัจจัยในตัวของผลิตผลเอง ได้แก่ การหายใจ การคายน้ำซึ่งทำให้ผลิตผลเกิดการสูญเสียน้ำหนัก และปัจจัยภายนอกได้แก่ การทำลายของโรคและแมลง การเกิดบาดแผลอันเนื่องมาจากของมีคมเวลาเก็บเกี่ยว รวมไปถึงภาชนะบรรจุ และการขนส่ง

คุณจารุวรรณ อธิบายว่า การสุกของผลไม้เกิดจากเอทธิลีนซึ่งเป็นสารที่เกิดขึ้นเป็นตัวเร่งให้เกิดการสุกของผลไม้ ถ้าเราจะยับยั้งให้เกิดการสุกช้าลง ก็ต้องยับยั้งให้เกิดเอทธิลีนลดลง เพราะเมื่อกล้วยไข่สุกก็จะเกิดโรคขั้วหวีเน่าตามมา

ส่วนการป้องกันไม่ให้เกิดขั้วหวีเน่า เกษตรกรจึงจำเป็นต้องพยายามหาทางป้องกันมิให้เกิดเชื้อราเข้ามาทำลายตั้งแต่ในสวน โดยเฉพาะในฤดูฝนจะเกิดเชื้อราสูงมาก เกษตรกรใช้สารที่เป็นส่วนประกอบของคาร์เบนดาซิมฉีดพ่นในแปลงกล้วยไข่ในปริมาณมาก เพื่อป้องกันมิให้เกิดเชื้อรา ซึ่งจะมีผลทำให้สารตกค้างมาถึงเวลาเก็บเกี่ยวด้วย ถ้าเกษตรกรใช้ในอัตราตามที่กำหนดก็จะไม่มีปัญหาในเรื่องของสารตกค้าง

การศึกษาวิจัยนี้เพื่อหาสาเหตุของการสูญเสียของกล้วยไข่หลังการเก็บเกี่ยวตลอดถึงการจำหน่ายที่ตลาดปลายทาง และหาวิธีการเหมาะสมในการยืดอายุการเก็บรักษากล้วยไข่ และหาชนิดของสารเคมีในการควบคุมโรคขั้วหวีเน่าของกล้วยไข่ทดแทนการใช้สารคาร์เบนดาซิม

“เราจะต้องศึกษาวิจัยตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บเกี่ยว การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การขนส่ง จนกระทั่งการวางจำหน่าย นอกจากจะได้คุณภาพที่ดีแล้ว การยืดอายุการเก็บรักษากล้วยไข่ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้สามารถขนส่งและวางจำหน่ายได้นานมากขึ้น”

พบการใช้ 1-MCP ชะลอการสุกของกล้วยไข่

ผู้เชี่ยวชาญจารุวรรณ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการนำสาร 1-MCP (1-methyleyclopropene) มาใช้ในการชะลอกระบวนการสุกของผลิตผลเกษตรหลายชนิดโดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค มีความเป็นพิษต่ำมาก ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม สาร 1-MCP สามารถลดการเกิดเอทธิลีน ซึ่งเป็นตัวเร่งให้ผลไม่สุกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากการศึกษาวิจัยทุกขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บเกี่ยวไปจนถึงการวางจำหน่าย พบว่า การใช้ 1-MCP ยืดอายุการเก็บรักษากล้วยไข่ด้วยความเข้มข้น 1000 ppb รวมกับการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 14 องศาเซลเซียส สามารถเก็บรักษากล้วยไข่ได้นาน 21 วัน

เมื่อนำกล้วยไข่มาบ่มด้วยสารเร่งการสุก ผลกล้วยไข่จะสุกหลังการบ่มประมาณ 11-13 วัน เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ใช้สาร ใช้เวลาหลังการบ่มได้นานเพียง 7 วัน สามารถสรุปได้ว่า สาร 1-MPC สามารถชะลอการสุกของกล้วยไข่ได้ ทำให้ยืดอายุการวางจำหน่ายได้นานขึ้น

โรคขั้วหวีเน่าปัญหาสำคัญการส่งออกกล้วยไข่

คุณจารุวรรณ กล่าวต่อไปว่า เกษตรกรยังขาดความรู้เรื่องการใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อราควบคุมโรคขั้วหวีเน่าของกล้วยไข่ในการคัดบรรจุ โดยนำสารคาร์เบนดาซิมที่ใช้ฉีดพ่นป้องกันกำจัดเชื้อราในแปลงกล้วยมาใช้ในการจุ่มล้างหวีกล้วยไข่ในการคัดบรรจุอีกด้วย จึงทำให้ตรวจพบมีปริมาณสารคาร์เบนดาซิมตกค้างในกล้วยไข่ที่ส่งออกไปยังประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเกินค่าปริมาณสารตกค้างสูงสุด 0.1 มก./กก.

ประกอบกับกรมวิชาการเกษตรได้รับรายงานจากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 จังหวัดจันทบุรี ว่า พบสารคาร์เบนดาซิมตกค้างในกล้วยไข่ที่ส่งออกไปในปริมาณสูงกว่า 100 ppm ขอให้กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร ทำการศึกษาวิจัยทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องสารคาร์เบนดาซิมตกค้างในกล้วยไข่ที่จะส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

จึงได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพของสารเคมี 4 ชนิด คือ อิมาซาลิล โปรคลอราช ไดฟิโคนาโซล และโปแตสเซียมชอร์เบต พบว่า สารโปคลอราช 250 มก./ลิตร มีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมโรคขั้วหวีเน่าหลังการเก็บเกี่ยว สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราได้ดีไม่แตกต่างจากการใช้สารคาร์เบนดาซิม และ เบโนบิลได้อย่างดี

อย่างไรก็ตามการเกิดโรคและความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับการดูแลในช่วงก่อนการเก็บเกี่ยวและระหว่างการเก็บเกี่ยว ถ้าเกษตรกรมีการปฏิบัติที่ดีมีการปนเปื้อนของเชื้อราที่เป็นสาเหตุน้อย ก็จะทำให้ผลผลิตมีคุณภาพดี อาจไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีหรือใช้ในอัตราความเข้มข้นต่ำ ก็สามารถลดการเกิดโรคและความรุนแรงของขั้วหวีเน่าของกล้วยไข่ได้อยากจะเตือนเกษตรกรที่ปลูกกล้วยไข่ว่าการจัดการในแปลงปลูกกล้วยไข่เป็นสิ่งสำคัญและไม่ควรพ่นสารเคมีในอัตราที่สูงเกินไป เพราะจะทำให้มีสารตกค้างในผลกล้วย ผู้เชี่ยวชาญกล่าวย้ำในที่สุด

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวพืชสวน กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-29406363 ต่อ 1813 และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 จังหวัดจันทบุรี โทร. 0-3939-7134