นายกัมปนาท วงศ์ชูวรรณ ผู้จัดการกลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์

จ.ยะลา ผู้ผลิตยางและแปรรูปยางส่งออกรายใหญ่ของภาคใต้ เปิดเผยว่า การเปิดประมูลยางพาราของ กยท.ก่อนหน้านี้ส่งผลทำให้ราคายางแผ่นรมควันปรับตัวลดลงจากราคา 95 บาท/กก. จนกระทั่งตอนนี้ราคาอยู่ที่ประมาณ 75 บาท/กก. ราคาต่ำลงไปประมาณ 20 บาท/กก.

ทั้งนี้ สถาบันเกษตรกรก็สนับสนุนให้นำยางค้างสต๊อกออกมาประมูลขาย แต่ต้องเป็นเวลาที่เหมาะสม เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนยาง ส่วนการประมูลครั้งนี้ก็จะต้องโปร่งใส ไม่มีการฮั้วราคากัน และ กยท.ต้องมีวิสัยทัศน์ ไม่ใช่วันนี้ยกเลิก พรุ่งนี้บอกว่าจะเปิดประมูล ส่วนกลุ่มเกษตรกรที่สต๊อกยางเอาไว้เพื่อจะขายในช่วงราคาขาขึ้นตอนนี้ก็มีทั้งประสบภาวะขาดทุนและมีกำไร เพราะราคายางสะวิงขึ้นลงเร็วมาก ไม่มีเสถียรภาพ ปัจจุบันผลผลิตยางส่วนใหญ่ตกไปอยู่ในมือกลุ่ม 4-5 บริษัทผู้ส่งออกแล้ว

ด้านนายสมพร ศรียวง ผู้จัดการสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านพรุนายขาว จำกัด จ.พัทลุงกล่าวว่า ขณะนี้ฝั่งอันดามันหยุดกรีดยางแล้ว แต่ทางฝั่งอ่าวไทยยังกรีดอยู่ แต่เมื่อมีข่าวว่า กยท.จะเปิดประมูลยางก็ทำให้ราคายางร่วงลงมา 3 บาท/กก. กระทบต่อสถาบันเกษตรกรที่สต๊อกเอาไว้ ซึ่งราคาไม่นิ่ง ขึ้นลงวูบวาบ จึงต้องยอมปล่อยขายแม้ว่าจะขาดทุนประมาณ 50%

“ไม่รู้ว่ามีใครยืนอยู่ข้างพ่อค้า หรือเกษตรกรและเหมือนว่าจะหายางราคาถูกให้กับพ่อค้าด้วยซ้ำ สำหรับยางในสต๊อกของรัฐบาลที่เหลืออยู่ควรจะเปิดประมูลในเดือนเมษายน 2560 จะเหมาะสมกว่า” นายสมพรกล่าว

กรมหม่อนไหม มุ่งสืบสานพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อนุรักษ์ และสืบทอดภูมิปัญญาหม่อนไหมสู่เยาวชนรุ่นใหม่ ร่วมกับ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สร้างทายาทหม่อนไหมในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั่วประเทศ

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เป็นประธานพิธี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการสร้างทายาทหม่อนไหมในโรงเรียน เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่างกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายในการพัฒนาอาชีพการเกษตรเพื่อยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น โดยพัฒนาเกษตรกรไปสู่ Smart Farmer เป็นเกษตรกรมืออาชีพ ซึ่งปัจจุบันการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีอาชีพหนึ่ง ดังนั้น จึงได้มีการบันทึกข้อตกลงด้านความร่วมมือโครงการสร้างทายาทหม่อนไหมในโรงเรียนเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีระหว่างกรมหม่อนไหมและกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานตำรวจแห่งชาติขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน ในการส่งเสริมอาชีพด้านหม่อนไหมให้แก่เด็กและเยาวชนในโรงเรียน ให้มีความรู้ความสามารถในอาชีพด้านหม่อนไหม ตลอดจนการสร้างรายได้ โดยช่วยเด็กและเยาวชนในโรงเรียน ให้มีรายได้ระหว่างเรียน ลดภาระของผู้ปกครองและมีความมั่นคงในอาชีพหลังจากจบการศึกษา และสามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต อีกทั้งยังช่วยการสร้างคนด้วยการการสร้างทายาทหม่อนไหม เพื่ออนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาหม่อนไหมให้คงอยู่คู่ประเทศไทยต่อไปอีกด้วย

“การพัฒนาศักยภาพของบุตรหลานของเกษตรกรให้เป็นผู้สืบทอดอาชีพด้านหม่อนไหมจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการขับเคลื่อนเพื่อเข้าสู่ Smart Farmer ซึ่งกรมหม่อนไหม ได้ดำเนินโครงการสร้างทายาทหม่อนไหมในโรงเรียนเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เพื่อพัฒนาบุตรหลานเกษตรกรให้สืบทอดอาชีพหม่อนไหม เป็นการสืบทอดปณิธานของสมเด็จพระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาหม่อนไหมสู่เยาวชนรุ่นหลังต่อไป” นายธีรภัทร กล่าว

ด้านนางสุดารัตน์ วัชรคุปต์ เหล่าวิชยา อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า สมเด็จพระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงส่งเสริมให้ราษฎรที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ให้พัฒนาความสามารถและรักษาภูมิปัญญาอันทรงคุณค่านี้ไว้ให้ลูกหลานได้สืบทอดต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน) และในแนวทางเดียวกันนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ทรงให้ความสนพระทัยและทรงมีพระราชดำริในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เด็ก เยาวชน ประชาชนในถิ่นทุรกันดาร และผู้ด้อยโอกาส ทรงยึดการดำเนินงานโดยให้คนเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้การพัฒนา และใช้โรงเรียนเป็นฐานของการพัฒนาให้ครอบคลุมมิติต่างๆ

เพื่อแก้ไขปัญหา และยังประโยชน์สุขแก่ประชาชนอย่างสมดุล ทั้งทางด้านอาหารโภชนาการ สุขอนามัย การศึกษา การงานอาชีพ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น กรมหม่อนไหม มีนโยบายที่จะดำเนินการถ่ายทอดความรู้และส่งเสริมอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ให้แก่ เด็กและเยาวชนในโรงเรียน จึงได้จัดทำโครงการสร้างทายาทหม่อนไหมในโรงเรียนเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อส่งเสริมอาชีพด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้แก่เด็กและเยาวชนในโรงเรียนได้มีรายได้ระหว่างเรียน มีอาชีพที่มั่นคงหลังจากจบการศึกษา สามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ด้วย

“สำหรับในปี 2560 กรมหม่อนไหมได้ดำเนินงานโครงการสร้างทายาทหม่อนไหมอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายสร้างทายาทหม่อนไหม 3 ระดับ จำนวน 628 ราย แบ่งเป็น ทายาทระดับโรงเรียน 571 ราย (รร.ตชด. 12 โรงเรียน และ รร.สพฐ. 7 โรงเรียน) ทายาทระดับสถาบันอุดมศึกษา 36 ราย (6 สถาบัน) และทายาทระดับชุมชน 21 ราย (ดำเนินการในพื้นที่ ศมม. 21 ศูนย์ทั่วประเทศ) โดยมีแนวทางดำเนินงาน คือ สร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนถ่ายทอดความรู้ด้านหม่อนไหมทั้งระบบ สร้างแหล่งเรียนรู้ด้านหม่อนไหมในโรงเรียนเชื่อมโยงเครือข่ายทายาทและเจ้าของภูมิปัญญา เพื่อให้เด็กและเยาวชนตระหนักถึงการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และการแปรรูปผลิตภัณฑ์หม่อนไหมร่วมกับเกษตรกร ทำให้เกิดการสร้างอาชีพทางด้านหม่อนไหม อันจะเป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพ สร้างความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชนในอนาคต รวมทั้งเป็นการปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ และสืบทอดภูมิปัญญาด้านหม่อนไหมให้คงอยู่คู่ประเทศไทย ทั้งนี้จะจัดให้มีการประกวดทายาทหม่อนไหมในทุกระดับด้วย” นางสุดารัตน์ กล่าว

ด้านพล.ต.ท.เทพ อมรโสภิต ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กล่าวเพิ่มเติมว่า ตำรวจตระเวนชายแดน มีหน้าที่ต้องตระเวนพื้นที่ตามแนวชายแดน จึงมีหน้าที่เสมือนรั้วของชาติ ได้พบเห็นหมู่บ้านต่างๆ มีเด็กซึ่งอยู่ในวัยเรียนที่ยังไม่ได้เรียนหนังสือเป็นจำนวนมาก จึงได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นสอนหนังสือให้แก่ชาวเขาครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2499 ที่จังหวัดเชียงราย และต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และต่อมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชดำริให้จัดทำโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันและโครงการตามพระราชดำริต่างๆ ขึ้นในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน

สำหรับความร่วมมือระหว่างกรมหม่อนไหมกับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ได้เริ่มทดลองดำเนินการส่งเสริมอาชีพด้านหม่อนไหมให้กับเด็กและเยาวชนในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน มาตั้งแต่ ปี 2558 – 2559 รวม 55 โรงเรียน ซึ่งการดำเนินงานนับว่าเป็นผลดี และในปี 2560 กรมหม่อนไหม ได้ขยายการดำเนินงานในโครงการดังกล่าวเพิ่มเติมอีก 12 โรงเรียน

“ซันสวีท” ผู้ส่งออกข้าวโพดหวาน เบอร์ 1 ของประเทศ ปลื้มผลประกอบการ ปี’59 แตะ 1,500 ล้าน ชี้ธุรกิจอาหารในตลาดโลกยังโตไม่หยุด ตั้งเป้า ปี’60 ยอดส่งออกพุ่ง 2,000 ล้าน จากฐานลูกค้า 70 ประเทศ ลุยเพิ่มไลน์ผลิตสินค้าใหม่ ส่ง “ถั่วขาวในซอสมะเขือเทศ” นำร่องวางจำหน่ายห้าง San-A เมืองโอกินาวา ญี่ปุ่น เผย เตรียมนำสินค้ากลุ่มน้ำนมข้าวโพด ข้าวโพดคลุกเนย ข้าวโพดปิ้ง เปิดตลาดกลางปีนี้ พร้อมทุ่ม 200 ล้าน ใช้หุ่นยนต์ช่วยทำงาน มุ่งสู่สมาร์ทฟาร์ม

เบอร์ 1 ส่งออกข้าวโพดหวาน นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานกรรมการ บริษัท ซันสวีท จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกข้าวโพดหวานรายใหญ่ อันดับ 1 ของประเทศไทย ภายใต้แบรนด์ “KC” มีฐานการผลิตอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการส่งออกข้าวโพดหวานของบริษัทและสินค้าในเครือ ในปี 2559 เติบโตขึ้นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมียอดขายมากกว่า 1,500 ล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออก 80% และขายในประเทศ 20% ซึ่งแม้ว่าในปีที่ผ่านมาจะมีปัจจัยเรื่องสภาพภูมิอากาศที่ร้อนและภาวะแล้ง แต่ก็สามารถซ่อมแซมและแก้ปัญหาวัตถุดิบไม่ให้เกิดความเสียหายได้

ขณะที่ความต้องการด้านอาหารของตลาดโลกยังเพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นผลให้ยอดการส่งออกของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยมีวัตถุดิบข้าวโพดหวานที่ส่งออกในปีที่ผ่านมาราว 1 แสนตัน สำหรับปี 2560 ตั้งเป้ายอดส่งออกข้าวโพดหวานและสินค้าในเครือไว้ที่ 2,000 ล้านบาท ตามคำสั่งซื้อสินค้าที่เพิ่มขึ้น และการเพิ่มไลน์การผลิตสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดอีกหลายชนิด ทำให้มั่นใจว่ายอดขายในปีนี้จะเป็นไปตามที่กำหนดไว้

“สินค้าหลักที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ ข้าวโพดหวานชนิดเมล็ดบรรจุกระป๋องพร้อมรับประทาน ข้าวโพดหวานชนิดฝักในถุงสุญญากาศพร้อมรับประทาน ซึ่งมีฐานตลาดลูกค้าราว 300 ราย อยู่ใน 70 ประเทศทั่วโลก และข้าวโพดหวานแช่แข็ง (Frozen) ชนิดเมล็ดบรรจุถุง มีตลาดหลักคือญี่ปุ่นและอิหร่าน”

เพิ่มไลน์การผลิตเปิดตลาดใหม่

นายองอาจ กล่าวว่า ในปี 2560 ได้เพิ่มไลน์การผลิตสินค้ากลุ่มอาหารหลายชนิด อาทิ ถั่วขาวในซอสมะเขือเทศ ซึ่งได้นำเข้าซอสมะเขือเทศมาจากออสเตรเลีย และเมล็ดถั่วขาวแห้งจากสหรัฐอเมริกา โดยผลิตที่โรงงานซันสวีทเชียงใหม่ ถือเป็นไลน์ผลิตใหม่นอกเหนือจากข้าวโพด ตลาดแรกที่เริ่มเปิดคือ ญี่ปุ่น ล่าสุดบริษัทได้ทำสัญญาซื้อขายกับห้างสรรพสินค้า San-A ซึ่งเป็นช็อปปิ้งมอลล์ขนาดใหญ่ในเมืองโอกินาวา ขณะเดียวกันก็เตรียมขยายตลาดสินค้ากลุ่มนี้ไปยังฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่ราว 300 ราย ใน 70 ประเทศ

นอกจากนี้ ยังได้เตรียมนำสินค้ากลุ่ม Cooking Corn หรือสินค้าที่ผลิตจากข้าวโพด นำออกจำหน่ายทั้งต่างประเทศและในประเทศ อาทิ น้ำนมข้าวโพดพร้อมดื่ม ข้าวโพดคลุกเนย และข้าวโพดปิ้ง ซึ่งทั้งหมดผ่านการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) แล้ว คาดว่าจะเริ่มเปิดตลาดได้ประมาณกลางปี 2560 นี้

นายองอาจ กล่าวต่อว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ขยายไลน์ทำข้าวสารบรรจุถุง ภายใต้แบรนด์ KC โดยจ้างโรงสีข้าวในจังหวัดแถบภาคกลางเป็นผู้ผลิตให้ และส่งออกไปยังประเทศกลุ่มเซาท์แอฟริกา ซึ่งมีความต้องการข้าวเป็นจำนวนมาก มีมูลค่าส่งออกเฉลี่ยต่อปีราว 20-30 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีไลน์การผลิตผักปลอดภัยภายใต้แบรนด์ KC 10 ชนิด วางจำหน่ายในห้างริมปิงซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็นห้างท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ มีมูลค่าการขายต่อปี 1-2 ล้านบาท ซึ่งในอนาคตก็มีแผนจะพัฒนาไปสู่ผักออร์แกนิก ขณะเดียวกันในช่วงนี้ (มกราคม-มีนาคม) เป็นฤดูการผลิตหอมหัวใหญ่ มีแหล่งปลูกใหญ่อยู่ที่อำเภอสันป่าตองและแม่วาง โดยปีนี้มียอดส่งออก 20-50 ตู้คอนเทนเนอร์ มูลค่าราว 20 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของข้าวโพดหวานยังคงเป็นสินค้ากลุ่มหลักที่มีสัดส่วนการส่งออก 70-80% คาดว่าวัตถุดิบข้าวโพดหวานที่ส่งออกในปีนี้จะเพิ่มขึ้นราว 30% หรือ 130,000 ตัน ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรที่เข้าร่วมทำ Contract Farming หรือเกษตรพันธสัญญากับบริษัท กว่า 20,000 ราย ครอบคลุมพื้นที่ในเขตภาคเหนือตอนบนและล่าง พื้นที่ปลูกทั้งหมด 50,000-100,000 ไร่

ทุ่ม 200 ล. ใช้หุ่นยนต์ช่วยทำงาน นายองอาจ กล่าวว่า ปีนี้บริษัทได้ลงทุน ราว 200 ล้านบาท ในการนำเข้าเครื่องจักรเทคโนโลยีทันสมัย เพื่อช่วยระบบการทำงานภายในโรงงานทั้งชุดฆ่าเชื้อและชุดแพ็กกิ้ง ซึ่งจะทำให้ระบบการผลิตมีมาตรฐานสูงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะได้นำเข้าหุ่นยนต์ จำนวน 2 ตัว ตัวละ 3-5 ล้านบาท จากประเทศเยอรมนี เพื่อช่วยยกของภายในโรงงาน สามารถช่วยให้ระบบการทำงานมีความเสถียรและลดต้นทุนการใช้แรงงานได้ถึง 50% โดยแรงงาน 50% ที่หุ่นยนต์มาทำงานแทนนั้น ก็ได้ปรับเปลี่ยนไปทำงานในส่วนอื่นแทน แต่ไม่ได้มีการปรับลดหรือเลิกจ้างงาน เนื่องจากกำลังขยายงานเพิ่มขึ้นหลายส่วน แรงงานจึงยังมีความจำเป็นและยังต้องการเพิ่มขึ้นด้วย

ฟาร์มอัจฉริยะ KC Smart Farm นายองอาจ กล่าวด้วยว่า ระบบแปลงเพาะปลูกข้าวโพดหวานแบบแม่นยำในรูปแบบฟาร์มอัจฉริยะ หรือ Smart Farm มีความสำคัญมาก โดยเริ่มทำโครงการ Smart Farm ตั้งแต่ปี 2555 กระบวนการจะเริ่มจากการนำดินในพื้นที่เกษตรกรปลูกข้าวโพดหวานมาวิเคราะห์ธาตุอาหารหลักในดิน (N-P-K) การปลูกจะใช้วิธีการย้ายกล้าเพื่อให้ได้จำนวนต้นต่อไร่มากขึ้นตามเกณฑ์ที่กำหนด การวางระบบน้ำหยดในแปลงปลูกข้าวโพดหวานเพื่อให้ต้นข้าวโพดหวานได้รับความชื้นที่เหมาะสม และสามารถให้ปุ๋ยทางระบบน้ำหยดซึ่งประหยัดต้นทุนและเป็นการใส่ปุ๋ยที่มีคุณภาพได้ ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 2,800-3,500 กิโลกรัม ต่อไร่

ทั้งนี้ ระบบการชลประทาน เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการเพาะปลูกพื้นที่แปลงขนาดใหญ่ ซึ่งปริมาณของผลผลิตมีความสัมพันธ์กับระดับความชื้นในดินโดยตรง ดังนั้น ระบบควบคุมการให้น้ำแบบอัตโนมัติ ที่มีความเที่ยงตรงและแม่นยำ ทำให้ได้ผลผลิตและคุณภาพที่สูงขึ้น ซึ่งบริษัทได้มีการประยุกต์ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่หาได้ในประเทศนำมาพัฒนาเป็นชุดอุปกรณ์ตรวจวัดค่าความชื้นในดิน และมีระบบเปิด-ปิด จ่ายน้ำในพื้นที่นั้นๆ อย่างแม่นยำ

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยว่า สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่ง ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ได้ดำเนินงานเฝ้าระวังความปลอดภัยของผักสด ผลไม้สด ในประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ส่วนการเฝ้าระวังโดยการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยสถานการณ์การตกค้างของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้ที่ผลิตภายในประเทศและที่นำเข้าจากต่างประเทศ ระหว่างปี 2556-2559 มีการสุ่มตรวจผักและผลไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศประมาณ 800 ตัวอย่างต่อปี พบการตกค้างประมาณร้อยละ 10

“ ส่วนปี 2559 ได้มีการสุ่มเก็บผักและผลไม้สดที่คนไทยนิยมบริโภคสูงจากตลาดค้าส่ง จาก 5 ภาคๆละ 2 จังหวัด ผลไม้สด ได้แก่ ส้ม มะม่วง ฝรั่ง เงาะ ลิ้นจี่ ลำไย แก้วมังกร ชมพู่ รวม 99 ตัวอย่าง ตรวจพบสารตกค้างร้อยละ 51 จากการตรวจทั้งผลรวมเปลือก ซึ่งมีผลไม้ ที่สารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ร้อยละ 7 ทั้งนี้ ชนิดสารเคมีที่มีอัตราตรวจพบสูง คือ คาร์เบนดาซิม และไซเปอร์มีทริน ส่วนผักสด ได้แก่ คะน้า ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง แตงกวา พริกขี้หนู ผักชี โหระพา และมะเขือเปราะ จำนวน 112 ตัวอย่าง มีสัดส่วนการตกค้างร้อยละ 50 และร้อยละ 5 ของผักสดดังกล่าวมีสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน รวมทั้งตรวจพบการตกค้างวัตถุอันตรายทางการเกษตรห้ามใช้ 2 ชนิด ได้แก่ เอนโดซัลแฟน และเมธามิโดฟอสในคะน้า และถั่วฝักยาว 3 ตัวอย่าง” นพ.สุขุม กล่าว

นพ.สุขุม กล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมาในช่วงปี 2555-2557 ได้จัดทำโครงการพัฒนาตลาดกลางค้าส่งผัก/ผลไม้สด และเมกะสโตร์ (megastores) เพื่อส่งเสริมให้ตลาดค้าส่งทั่วประเทศ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 29 แห่ง แหล่งรวบรวมสินค้าของห้างค้าปลีก (modern trade) แหล่งรวบรวม ตัดแต่ง และคัดแยกผักและผลไม้ กลุ่มเกษตรกรและองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ให้มีห้องปฏิบัติการตรวจสอบเบื้องต้นหรือระบบตรวจสอบสินค้าและผลผลิตของตนเอง และในช่วงเดือนธันวาคม 2559 ถึงเดือนมกราคม 2560 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เก็บตัวอย่างผักสด 12 ชนิด จำนวน 42 ตัวอย่าง และผลไม้สด 5 ชนิด จำนวน 18 ตัวอย่าง ผลการตรวจพบสารตกค้างเพียง 3 ตัวอย่างที่เกินค่ามาตรฐานกำหนด รวมทั้งกำลังดำเนินการสำรวจคุณภาพและความปลอดภัยของส้ม ทั้งที่ปลูกภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนั้นได้ศึกษาประเมินความเสี่ยงการได้รับสารพิษตกค้าง

“ผู้บริโภคสามารถบริโภคผักผลไม้ได้อย่างปลอดภัย โดยเลือกซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่เชื่อถือได้ และก่อนบริโภคล้างอย่างถูกวิธี เช่น การล้างด้วยน้ำไหลผ่าน การแกะกลีบ ใบ ตัดส่วนที่ไม่รับประทานออก หรือเคาะดินออกจากรากก่อนนำไปล้างด้วยความแรงของน้ำพอประมาณ คลี่ใบผักแล้วถูไปมาบนผิวใบของผัก ผลไม้นานประมาณ 2 นาที จะช่วยลดสารพิษลงได้ร้อยละ 25-65 การใช้ผงฟูหรือเบคกิ้งโซดาครึ่งช้อนโต๊ะผสมกับน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา 10 ลิตรแช่ทิ้งไว้ 15 นาทีแล้วล้างด้วยน้ำสะอาด ช่วยลดสารพิษได้ร้อยละ 90-95 การใช้น้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะกับน้ำ 4 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 10 นาทีแล้วล้างด้วยน้ำสะอาดช่วยลดสารเคมีได้ร้อยละ 60-84 และช่วยลดไข่พยาธิได้อีกด้วย” นพ.สุขุม กล่าว

วันที่ 20 มีนาคม 2560 ในห้วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงในเดือนเมษายนนี้ ทำให้หลายพื้นที่มีการเตรียมสถานที่ไว้รองรับนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมาเยือนเป็นจำนวนมาก โดยล่าสุดทางอำเภอเชียงของได้ร่วมกับ อบต.สถาน และชาวบ้าน 5 หมู่บ้าน เปิดแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ชื่อว่า“หนองสลาบ” ขึ้นตั้งอยู่บ้านห้วยน้ำม้า หมู่ 10 ตำบลสถาน อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย โดยมีนาวาเอกชลทัย รัตนเรือง ผู้บังคับการหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง(นรข.)เขตเชียงราย เป็นประธานและมีนายทัศนัย สุธาพจน์ นายอำเภอเชียงของนำหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ชาวบ้านเข้าร่วมงานจำนวนมาก

“หนองสลาบ” เป็นหนองน้ำสาธารณะประจำตำบลที่ชาวบ้านทั้ง 5 หมู่บ้านใช้ประโยชน์ร่วมกันทั้งการใช้น้ำเพื่อเกษตรและเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจในพื้นที่รวมทั้งหมด 99 ไร่ ดังนั้นทางฝ่ายภาคราชการและประชาชนในพื้นที่ จึงรวมใจกันพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ประจำตำบล โดยมีการจัดสร้างสะพานไม้ไผ่ แพสำหรับนั่งทานอาหาร มีการจำหน่ายอาหารพื้นเมือง สินค้าโอท็อป เครื่องจักรสาน เสื้อผ้าพื้นเมือง ไว้คอยบริการนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์มที่จะมาถึงเร็วๆนี้ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยว สร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับชุมชน

ด้านความปลอดภัยก็ได้จัดเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยประจำหมู่บ้านหมุนเวียนกันมาดูแลนอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเชียงของ เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง เขตเชียงราย นำเรือกู้ภัยมาเตรียมพร้อมให้การช่วยเหลือนักท่องเที่ยวกรณีมีอุบัติเหตุทางน้ำ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาเที่ยวที่หนองสลาบแห่งนี้

นอกจากนี้ ภายในงานยังจัดให้มีการแข่งขันลาบปลาขึ้น โดยกติกาของการแข่งขันผู้แข่งขันจะต้องแข่งกันทำลาบปลาซึ่งปลาที่ใช้เป็นปลานิล ซึ่งผู้จะชนะได้จะต้องทำลาบให้ออกมาตามเวลาที่กำหนด มีท่าทางประกอบการทำและจัดประดับตกแต่งในโตกอาหารให้น่ารับประทานและที่สำคัญมีความอร่อยถูกคนกิน โดยมี 5 หมู่บ้านของตำบลสถานส่งตัวแทนเข้ามาร่วมแข่งขัน 5 ทีม โดยแต่ละทีมโชว์ลีลาการลาบอย่างเร็วโดยใช้สองมีด บ้างก็มีการโชว์ลีลาท่าเต้นประกอบอย่างสนุกสนานเป็นที่ชื่นชอบของทั้งบรรดาผู้ร่วมแข่งขันเอง ของกรรมการตัดสินและผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก ซึ่งผลแข่งการแข่งขันปรากฎว่าทีมบ้านทุ่งงิ้วหมู่ 2 ตำบลสถานชนะใจกรรมการและคนดูได้เงินรางวัลพร้อมใบประกาศไปครอง

นายอัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหารพร้อมคณะ www.sbobetsix.com เดินทางเยือน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เมื่อเร็วๆนี้ เพื่อประชุมหารือกับผู้บริหารของมหาวิทยาลัย และ เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ อาคารผลิตทดลองหรือโรงงานนำร่องด้านการแปรรูปอาหาร และการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวของผักและผลไม้ โรงเรือนเพาะปลูกอัจฉริยะ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ของมหาวิทยาลัยที่พร้อมให้บริการวิจัยพัฒนาแภ่ภาคเอกชน ภายใต้โครงการเมืองนวัตกรรมอาหารอย่างครบวงจร ตั้งแต่การปรับปรุงพันธุ์ ผลิตเม็ดพันธุ์พืชผักอินทรีย์ การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การแปรรูป และการสร้างเครื่องจักรในการผลิตแปรรูปอาหาร โดยคาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ช่วยขับเคลื่อนเมืองนวัตกรรมอาหารของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

“จากความพร้อมที่เห็น มหาวิทยาลัยแม่โจ้พร้อมที่จะเป็นหัวรถจักรในการขับเคลื่อนเมืองนวัตกรรมอาหารสายเหนือได้” ซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหาร กล่าว ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นหนึ่งใน 11 มหาวิทยาลัย เข้าร่วมบันทึกลงนามความร่วมมือ กับกระทรวงวิทยาศาสตร์ และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสิ้น 35 องค์กร เพื่อพัมนาเทืองนวัตกรรมอาหาร เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ปีที่แล้ว

วันที่ 20 มีนาคม 2560 ประชาชนในพื้นที่อำเภอสุไหงปาดี และอำเภอใกล้เคียง หลบร้อนขึ้นไปท่องเที่ยวและเล่นน้ำที่น้ำตกฉัตรวาริน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ตำบลโต๊ะเด็ง อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เพราะแม้จะเป็นช่วงหน้าแล้ง แต่ที่น้ำตกแห่งนี้ยังมีปริมาณน้ำที่ไหลไล่ระดับลงมาให้เล่นได้อย่างสนุกสนาน ประกอบกับสภาพแวดล้อมร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิดจึงเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่ประชาชนในจังหวัดนราธิวาสและชาวมาเลเซียนิยมมาท่องเที่ยว

ด้านนายรุ่งเรือง ธิมาบุตร นายอำเภอสุไหงปาดี ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ อส.เข้าไปดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว พร้อมขอความร่วมมือให้ทุกคนช่วยกันรักษาความสะอาด ไม่ทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลลงในน้ำตกเพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวให้กับน้ำตกฉัตรวารินที่คาดว่าตลอดช่วงหน้าแล้งนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาอีกเป็นจำนวนมาก

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้กล่าวว่า สืบเนื่องจากช่วงกลางเดือนมีนาคม 2560 ที่ผ่านมามีพายุฤดูร้อนเข้าสู่ประเทศไทยตอนบน โดยมีลักษณะของฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตกบางพื้นที่ ยังความเสียหายในหลายพื้นที่เกษตรกรรม บ้านเรือนประชาชน สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ และบางพื้นที่มีประชาชนเสียชีวิต เรื่องของภัยธรรมชาติเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากมาก และต้องยอมรับว่านับจากนี้ไปภัยธรรมชาติจะถี่และทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้ภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงไปเยอะ ซึ่งสิ่งที่ตนได้ปรับตัวและทำมาตลอดคือการปลูกต้นไม้รอบพื้นที่หมดเลย ไม้ใหญ่ ไม้เล็กเพื่อใช้เป็นแนวกันลม ต้นไม้ที่ปลูกส่วนใหญ่จะเป็นต้นไผ่ สะเดา ซึ่งถึงแม้ลมจะแรงแค่ไหนก็ไม่เคยเกิดความเสียหาย เพราะต้นไม้ที่เป็นแนวกันลมสามารถทำให้ความรุนแรงของลมลดลงไปหรือไม่ก็ข้ามไป

เกษตรกรเองควรคิดในเรื่องของการทำแนวกันลมด้วยการปลูกต้นไม้ เช่น ไผ่ สะเดา รอบที่ดินตัวเองหรืออาจเป็นต้นไม้อื่นๆที่สามารถปะทะแรงลมได้ โดนลมแรงๆไม่หักโค่น ส่วนเกษตรกรที่เสียหายจากพายุฤดูร้อนที่ผ่านมา หากต้องการให้สภาเกษตรกรฯเป็นหน่วยงานกลาง ประสานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะมาดูแลเยียวยา สภาเกษตรกรฯ ก็พร้อมประสานให้ เพราะสภาเกษตรกรฯไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการเข้าไปเยียวยา และบรรเทาสาธารณภัย แต่ในฐานะที่เป็นตัวแทนเกษตรกรก็พร้อมที่จะเป็นคนกลางร่วมประสานกับส่วนราชการ เพื่อที่จะเร่งรัดให้ลงไปดูแลเยียวยา ชดเชยค่าเสียหายตามระเบียบราชการสภาเกษตรกรฯสามารถทำให้ได้ ซึ่งเกษตรกรสามารถขอความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดในพื้นที่ของตนเอง