นายมงคลชัย บุญพบ นักศึกษาสาขาวิชาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์

มข.ในฐานะประธานแปลงฝึกงาน กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้ได้จัดให้กับนักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ทั้ง 7 สาขา รวม 390 คน เพื่อเป็นสืบสาน และอนุรักษ์ประเพณีลงแขกดำนา อันเป็นวิถีดั้งเดิมของคนไทยให้คงอยู่ ตระหนักรู้คุณค่าของวิถีเกษตร นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนักศึกษารุ่นพี่รุ่นน้อง และบุคลากรที่ร่วมกิจกรรม ซึ่งกิจกรรมหลักคือการร่วมกันปักดำปลูกข้าวในแปลงฝึกงานคณะเกษตรศาสตร์ โดยใช้ต้นกล้าพันธุ์ธัญสิริน ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวเหนียว และพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวเจ้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศของความร่วมแรงร่วมใจในกิจกรรม “อ้ายน้องมอดินแดง ลงแปลงม่วนใจ” นักศึกษาน้องใหม่ในชุดน้องใหม่สีอิฐที่พร้อมเพรียง ได้ลงไปในแปลงนาที่ได้ไถพรวนไว้เพื่อให้ทุกคนได้ปักดำ โดยมีอาจารย์ และนักศึกษารุ่นพี่ ร่วมลงปักดำ และสอนวิธีการปักดำไปพร้อมในการปฏิบัติงานด้วยภาพที่อบอุ่นยิ่ง ข้าวที่ปักดำในครั้งนี้จะเติบโต และออกรวงในราวปลายเดือนพฤศจิกายน 2561 ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นนักศึกษาทุกคนจะได้กลับมาอีกเพื่อร่วมกิจกรรม “ลงแขกเกี่ยวข้าว สู่ขวัญคูณลานเล้า” อันเป็นกิจกรรมประเพณีของชาวเกษตรศาสตร์ที่จัดต่อเนื่องกันมา

พ.ร.บ.ข้าว – วันที่ 9 ส.ค. นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้าว พ.ศ…. ให้สัมภาษณ์ถึงการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวว่า ขณะนี้มีเสียงพ่อค้าบ่นว่า ร่างพ.ร.บ.ข้าว จะทำให้พวกเขาลำบาก โดยเฉพาะเรื่องออกใบเสร็จการรับซื้อข้าวเปลือกที่ก่อนหน้านี้ยังไม่ชัดเจน โดยบางรายถึงกับผวา เพราะหากมีการออกใบรับรองการซื้อข้าวเปลือกก็จะรู้ที่มาที่ไปของข้าว ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องที่พ่อค้าจะใช้เทคนิคพลิกแพลงเรื่องกฎหมายต่างๆ เพราะจะทำให้มีหลักฐานในการรับซื้อ

ทั้งนี้ใครจะว่าอย่างไรก็ช่าง แต่เจตนาของผู้เสนอร่างกฎหมายคือ การให้เกษตรกรได้รับความเป็นธรรม เพราะก่อนหน้านี้ชาวนามักจะโดนเอาเปรียบในการรับซื้อ เช่น ความชื้นของข้าว ตาสีตาสาจะได้มีที่พึ่งในการตรวจสอบมาตรฐานของข้าวเปลือก นอกจากนี้จะทำให้รัฐมีหลักฐานในการเรียกเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยอีกด้วย

“คนหัวหมอจะเอาข้าวมาสวมสิทธิ์จะต้องกระอักแน่ และหากเจ้าหน้าที่จับได้ นอกจากจะทำลายทิ้งแล้วจะต้องถึงคุกถึงตารางด้วย นอกจากนี้ยังมีมาตรการลดต้นทุนเพื่อช่วยชาวนา อาทิ ผู้รับจ้างใส่ปุ๋ยต้องมีใบอนุญาต มีหลักการทางวิชาการมากำกับ เพื่อแก้ปัญหาการขาดความรู้จนถูกพ่อค้าปุ๋ยยุยงให้ใส่ปุ๋ยหลายๆ แบบ” นายกิตติศักดิ์ กล่าว

อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผย 12สิงหา วันแม่แห่งชาติปีนี้ อุทแห่งชาติทั่วประเทศไทย เปิดให้เที่ยวฟรี!
เมื่อวันที่ 9 ส.ค. นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 86 พรรษา 12 สิงหาคม 2561 โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้ทรงมุ่งเน้นให้ประชาชนร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ พื้นที่ป่าไม้ สัตว์ป่า รวมถึงพันธุ์ไม้ พืชสมุนไพร ในทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ และทรงห่วงใยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อสืบต่อประโยชน์ให้ประชาชนอย่างยั่งยืน อีกทั้งวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปียังเป็นวันแม่แห่งชาติด้วยนั้น

“กรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงยกเว้นเก็บค่าบริการกับบุคคลชาวไทยและยานพาหนะที่เข้ามาท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ทั่วประเทศ ในวันที่ 12 สิงหาคม 2561 เพราะต้องการสนับสนุนให้ประชาชนได้เข้ามาท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติ ตลอดจนสร้างจิตสำนึกและตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และยังเป็นการสานสัมพันธ์ในครอบครัว ลูกพาแม่เที่ยวอีกด้วย” นายธัญญา กล่าว

อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในวันที่ 12 สิงหาคม 61 กรมอุทยานแห่งชาติฯ จะดำเนินโครงการ “ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม” ภายใต้กิจกรรม : การลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและงดใช้โฟมบรรจุอาหารในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการร่วมกัน

จึงขอความกรุณาผู้ที่มาเที่ยวอุทยานแห่งชาติทุกแห่ง งดการนำกล่องโฟมเข้ามาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหาร ขวดน้ำที่มีพลาสติกหุ้มฝาขวด หลอด และช้อน-ส้อม ที่ทำจากพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพราะสิ่งเหล่านี้ย่อยสลายได้ยาก ส่งผลกระทบด้านลบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่า แต่หากท่านใดมีข้อติดขัดไม่สามารถทำตามที่กำหนดได้ ทางอุทยานแห่งชาติ ก็ได้จัดให้ยืมถุงผ้าหรือบรรจุภัณฑ์อื่นๆ ไว้คอยให้บริการ และจัดกิจกรรมโครงการรณรงค์นำขยะคืนถิ่น การมัดจำขยะฯ จึงอยากเชิญชวนประชาชนให้ความร่วมมือและเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว

“คุณดำรงค์ จินะกาศ” เจ้าของสวนลำไยแปลงใหญ่ ได้เปิดบ้านเป็นศูนย์การเรียนรู้ การเพิ่มประสิทธิภาพลำไย หมู่ที่ 1 บ้านท้องฝาย ตำบลทากาศ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน กล่าวว่า ขั้นตอนการผลิตลำไยนอกฤดู ทำได้ไม่ยาก เริ่มจากการเตรียมต้นหลังการเก็บเกี่ยว

ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง ใช้ใบลำไยที่ตัดแต่งกิ่งคลุมใต้โคนต้นบางๆ
ใส่ปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมี สูตร 25-7-7 หรือ 46-0-0 + ปุ๋ย สูตร 15-15-15 ในอัตราส่วน 1: 2 (ใส่รอบทรงพุ่ม 1 กิโลกรัม ต่อต้น)
รดน้ำให้ชุ่ม ทุกๆ 5-7 วัน จนเริ่มแทงยอดอ่อนใน 21 วัน
พ่นปุ๋ยทางใบ สูตร 15-15-15 + ฮอร์โมน+ธาตุอาหารรอง
เมื่อใบแก่จัด 45-60 วัน เริ่มปฏิบัติตาม ข้อ 2-4 ใหม่

การเตรียมต้นก่อนราดสาร 1 เดือนนั้น วันที่ 1 คุณดำรงค์ จะพ่นปุ๋ยทางใบ สูตร 0-52-34 + ปุ๋ย สูตร 10-52-10 อย่างละ 500 กรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร วันที่ 7-21 พ่นปุ๋ยทางใบ สูตร 0-52-34 + ปุ๋ย สูตร 10-52-10 อย่างละ 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร (พ่นอย่างน้อย 2 ครั้ง) วันที่ 10 ใส่ปุ๋ยทางดิน สูตร 8-24-24 จำนวน 1 กิโลกรัม ต่อต้น ทำความสะอาดรอบโคนต้นบริเวณที่ต้องการราดสาร กว้าง 1 เมตร

คุณดำรงค์ ใช้เทคนิคการผลิตลำไยนอกฤดู สูตรราดบนดินโดยใช้โพแทสเซียมคลอเรต จำนวน 6-8 กิโลกรัม โซเดียมคลอเรต จำนวน 1-2 กิโลกรัม ปุ๋ย สูตร 0-52-34 จำนวน 1 กิโลกรัม ปุ๋ยยูเรีย หรือ สูตร 15-15-15 จำนวน 300 กรัม และน้ำ จำนวน 200 ลิตร ฉีดพ่นรอบทรงพุ่มที่เตรียมไว้ 8-10 ต้น (ขนาดทรงพุ่ม 6-8 เมตร)

ส่วนเทคนิคการผลิตลำไยนอกฤดู สูตรพ่นทางใบที่แนะนำคือ โซเดียม จำนวน 500 กรัม ไทโอยูเรีย จำนวน 1 กิโลกรัม น้ำตาลทางด่วน จำนวน 1 กิโลกรัม น้ำ จำนวน 200 ลิตร ฉีดพ่น 2 ครั้ง หลังราดสาร 5 วัน ห่างกัน 7 วัน หลังราดสารต้องดูแลโคนต้นให้มีความชื้นอย่างสม่ำเสมอ หากพบโรคหรือแมลงระบาดให้ฉีดพ่นด้วยยากำจัดศัตรูพืช

“การทำลำไยนอกฤดู ให้ผลตอบแทนที่ดี ช่วยสร้างโอกาสทางการตลาด และขายสินค้าได้ราคาที่ดี เมื่อต้นลำไยให้ผลผลิตก่อนช่วงเทศกาลตรุษจีน หลังจากภาครัฐเข้ามาส่งเสริมนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ โดยแนะนำให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตด้วยวิธีต่างๆ เช่น ทำปุ๋ยหมักจากใบลำไย ก็ทำให้สภาพดินดีขึ้น การใช้สารชีวภัณฑ์ สามารถทดแทนการใช้สารเคมีได้ดี นอกจากนี้ การใช้พลังงานสูบน้ำจากไฟฟ้า ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับการใช้น้ำมัน” คุณดำรงค์ กล่าว

นอกจากนี้ คุณดำรงค์ ยังมีเทคนิคการผลิตปุ๋ยหมักใต้ต้นลำไยที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คุณดำรงค์ กล่าวว่า การผลิตลำไยหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเกษตรกรมักจะตัดแต่งกิ่งลำไยเป็นประจำทุกปี ตนจึงได้นำเศษซากกิ่งลำไยจากการตัดแต่งกิ่งมาทำปุ๋ยหมักใต้ต้นลำไย

วิธีทำ มี 5 ขั้นตอน ได้แก่

นำกิ่งลำไยวางเรียงบนพื้นดินใต้ต้นลำไยตามขนาดความกว้างของทรงพุ่มลำไยแต่ละต้น
แบ่งเศษใบลำไยออกเป็น 2 ส่วน ใช้เททับลงไปในทรงพุ่มเป็นกองชั้นแรก 1 ส่วน
ใช้ปุ๋ยคอกโรยลงไป และใช้ใบลำไยส่วนที่เหลือเททับลงไป
ใช้สารเร่งปุ๋ยหมัก ผสมน้ำราดไปให้ทั่ว
รดน้ำให้ชุ่มอย่างสม่ำเสมอ ประมาณ 3-4 เดือน เศษซากพืชจะสลายตัวเป็นปุ๋ยอินทรีย์

คุณดำรงค์ กล่าวว่า ข้อดีของการใช้เทคนิคนี้ก็คือ ช่วยลดต้นทุนการผลิตลำไยลงได้ 40-50 เปอร์เซ็นต์ โดยทำให้ลดการใช้ปุ๋ยเคมีจากเดิมที่ใช้ 6 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี ลดเหลือ 3 กิโลกรัม และเนื่องจากมีวัสดุคลุมดินทำให้ประหยัดการใช้น้ำ จากเดิมในฤดูแล้งต้องให้น้ำ 3 วัน ต่อ 1 ครั้ง ขยายออกเป็น 7 วัน ต่อ 1 ครั้ง โดยสภาพพื้นดินมีความชุ่มชื้นเพียงพอ ข้อดีประการต่อมาคือ ช่วยทำให้การใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นการออกดอกของลำไยดีขึ้น เนื่องจากบริเวณทรงพุ่มลำไยจะเกิดรากฝอยและรากขนอ่อนใกล้ผิวดิน ทำให้ดูดซับสารซึ่งละลายน้ำฉีดพ่นลงผิวดินในทรงพุ่มลำไยได้มากขึ้นแล้ว ยังช่วยลดมลพิษที่เกิดจากการเผาเศษกิ่งและใบลำไย รวมทั้งลดการระบาดของวัชพืชใต้ต้นลำไย ที่สำคัญช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุลงในดิน เกิดความอุดมสมบูรณ์ของดินอีกด้วย

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยถึงมาตรการของรัฐรับซื้อเรือประมงคืนว่า การควบคุมการจับสัตว์น้ำมิให้เกินกว่ากำลังผลิตของสัตว์น้ำตามธรรมชาตินั้น ตาม พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 36 ได้จำกัดอำนาจในการออกใบอนุญาตทำการประมงว่า จะต้องสอดคล้องกับปริมาณผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน ซึ่งกรมได้รับความเห็นชอบกรอบในการออกใบอนุญาต จากคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติแล้ว ซึ่งการออกใบอนุญาตที่ผ่านมาก็สอดคล้องกับกรอบดังกล่าว ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นการจำกัดจำนวนเรือประมงให้สอดคล้องกับศักยภาพการผลิตของท้องทะเล ส่งผลให้มีเรือประมงจำนวนหนึ่งไม่ได้รับใบอนุญาตทำการประมง หากปล่อยให้เรือประมงดังกล่าวอยู่ในระบบต่อไป จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย

โครงการซื้อเรือคืนนั้น ได้ถูกบรรจุไว้ในแผนบริหารจัดการประมงทะเล (FMP) ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบไว้ ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย. 2558 แผนดังกล่าวเป็นการซื้อเรือที่ไม่มีใบอนุญาตทำการประมงออกนอกระบบ เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงที่จะกลับมาทำประมงผิดกฎหมายอีกต่อไป ซึ่งจะเป็นการลดจำนวนเรือประมงให้สอดคล้องกับสภาวะทรัพยากรสัตว์น้ำของประเทศ และเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเลอย่างยั่งยืน การจัดซื้อจะดำเนินการในราคาตามสภาพที่แท้จริง แต่จะไม่เกินร้อยละ 50 ของราคากลางที่ได้จัดทำไว้ โดยจะมีการนำเสนอต่อ ครม. เพื่อขออนุมัติต่อไป

ผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไมไทยปีนี้ส่อเค้าวูบจาก 3 แสนตัน เหลือเพียง 2.5 แสนตัน หลังกุ้งราคาตกวูบช่วงปลายเมษายน ทำให้เกษตรกรลดการเลี้ยงลงมาก เผยครึ่งปีแรกมีการแจ้งผลผลิตกุ้งที่จำหน่ายได้แก่กรมประมงเพียง 1.2 แสนตัน “สมชาย ฤกษ์โภคี” ระบุครึ่งปีหลังผลผลิตจะน้อยกว่าครึ่งปีแรกจากฝนหนักและพายุมรสุม

นายสมชาย ฤกษ์โภคี อุปนายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์กุ้งขาวแวนนาไมของไทยในช่วงนี้ว่า ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเกษตรกรได้ลงเลี้ยงลูกกุ้งกันมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานีแหล่งเลี้ยงกุ้งใหญ่ที่สุดของประเทศลงเลี้ยงเกือบ 100% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา เนื่องจากกุ้งราคาดีขึ้น ในขณะที่ลูกกุ้งขาดแคลน เพราะ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ มีนโยบายในการผลิตลูกกุ้งให้พอดีกับการเลี้ยง

คาดว่าปีนี้การผลิตกุ้งของไทยจะได้ประมาณ 2.5 แสนตัน เท่านั้น เทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้เมื่อต้นปีที่ระดับ 3 แสนตันบวกลบ โดยครึ่งปีแรกนี้มีการแจ้งใบกำกับการจำหน่ายกุ้งที่จับได้ (MD) เพียง 1.2 แสนตันเศษ ครึ่งปีหลังนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจะเลี้ยงน้อยกว่าครึ่งปีแรกอยู่แล้ว เนื่องจากฝนตกมากทั่วประเทศกับพายุมรสุมช่วงท้ายปีในเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม ที่ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงกุ้งในจังหวัดใหญ่ฝั่งอ่าวไทย เช่น สุราษฎร์ธานี ฝั่งอันดามันที่จังหวัดตรัง หรือแม้แต่ภาคตะวันออก ที่จังหวัดตราด อีกทั้งปัญหาโรคระบาดกุ้งยังไม่หมดไป โรคไวรัสตัวแดงดวงขาวยังพอป้องกันได้ แต่โรคขี้ขาวที่กระจายทั่วไปในแหล่งเลี้ยงทั่วประเทศยังป้องกันลำบาก

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนกันยายนนี้ที่กุ้งจะออกสู่ตลาดล็อตใหญ่ อาจส่งผลกระทบต่อราคากุ้งบ้าง แต่ความต้องการภายในประเทศเพิ่มขึ้นและจีนเข้ามาแย่งซื้อจะช่วยดึงราคากุ้งได้ระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ จากการที่กุ้งราคาตกในปลายเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรเลี้ยงน้อยลง ราคากุ้งจึงฟื้นตัวกลับมาในช่วงเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมที่ผ่านมา

“ทางห้องเย็นและโรงงานแปรรูปกุ้งส่งออกคงกลัวเสียค่าโง่ซื้อกุ้งแพง จึงทุบราคากุ้งลงมารุนแรงในปลายเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมา เพราะผลผลิตทั่วโลกล้นตลาดและราคาตกต่ำหนัก แทนที่จะทยอยลดราคารับซื้อ เกษตรกรจะได้ไม่ตกใจลดการเลี้ยงลง และขณะนี้อินเดียมีปัญหาเรื่องโรคกุ้งตามมา เนื่องจากเกษตรกรอินเดียก็ขาดทุนจากราคากุ้งตกต่ำจึงบำรุงดูแลการเลี้ยงไม่ทั่วถึง เวียดนามที่เลี้ยงแล้วขาดทุนเหมือนไทยช่วงที่ผ่านมาก็เลี้ยงน้อยลงเหมือนไทย ช่วงนี้ห้องเย็นและโรงงานแปรรูปของไทยต้องแย่งซื้อผลผลิตกุ้งภายในประเทศมากขึ้น เห็นได้จากโครงการประชารัฐรับซื้อกุ้ง 1 หมื่นตัน ในราคาประกัน รับซื้อได้เพียง 1,000 ตัน เท่านั้น สถานการณ์ในขณะนี้จึงแตกต่างไปจาก 15 ปีที่แล้ว ที่เกษตรกรต้องพึ่งห้องเย็นเท่านั้น ดังนั้น ห้องเย็นต้องเปลี่ยนบทบาทใหม่หันมาจับคู่เป็นพันธมิตรการค้ากับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงให้มากขึ้น”

อนึ่ง กุ้งขาวราคาขายส่งของกระทรวงพาณิชย์ วันที่ 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา กุ้งขาว ขนาด 40 ตัว/กก. ซื้อขายที่ กก.ละ 175 บาท ขนาด 50 ตัว/กก. ซื้อขายที่ กก.ละ 170 บาท ขนาด 60 ตัว/กก. ซื้อขายที่ กก.ละ 165 บาท ขนาด 70 ตัว/กก. ซื้อขายที่ กก.ละ 155 บาท และขนาด 80 ตัว/กก. ซื้อขายที่ กก.ละ 145 บาท เทียบกับราคาประกันที่ห้องเย็น จะซื้อรวม 1 หมื่นตัน ในเดือนถุนายน-กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่จะซื้อกุ้งขาวขนาด 40 ตัว/กก. ที่ 170 บาท/กก. ขนาด 50 ตัว/กก. ที่ 160 บาท ขนาด 70 ตัว/กก. ที่ 145 บาท ขนาด 80 ตัว/กก. ที่ 135 บาท/กก. และขนาด 100 ตัว/กก. ที่ 125 บาท ซึ่งราคานี้เป็นราคาซื้อหน้าฟาร์ม ยังไม่หักค่าขนส่งอีก กก.ละ 8-10 บาท

ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น! พี่ชายร่ำไห้หนัก รถเกี่ยวข้าวพลิกคว่ำ ทับร่างน้องคอหักดับคาที่
รถเกี่ยวข้าวพลิกคว่ำ / เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 9 ส.ค. ร.ต.อ.มาลา แย้มชม รอง สว.สอบสวน สภ. บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา รับแจ้งเหตุรถเกี่ยวข้าวพลิกคว่ำทับคนเสียชีวิตติดใต้ท้องรถ บริเวณถนน 347 หลัก กม. ที่ 22+500 บางปะอิน มุ่งหน้าบางปะหัน หมู่ 3 ต.เกาะเกิด จึงรุดไปตรวจสอบพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สมาคมอยุธยารวมใจ

ที่เกิดเหตุ พบรถเกี่ยวข้าว พลิกคว่ำล้อชี้ฟ้า ที่เบาะคนขับพบศพ นายภานุวัฒน์ ใจสว่าง อายุ 20 ปี 22 ม. 23 ต.เมืองเตา อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม สภาพศพคอหัก ถูกรถเกี่ยวทับ เจ้าหน้าที่ต้องใช้เครื่องตัดถ่างนำร่างผู้เสียชีวิตออกมาจากตัวรถ ใกล้กันพบรถเทรลเลอร์ 10 ล้อ อีซูซุ สีเขียวคาดดำ ทะเบียน 81-3908 ปทุมธานี จอดอยู่ โดยมี นายชาญณรงค์ ศรีสรรงาม อายุ 25 ปี เป็นคนขับ อยู่ในอาการโศกเศร้า

นายชาญณรงค์ กล่าวว่า ผู้ตายและตนเป็นญาติพี่น้องกัน ก่อนเกิดเหตุได้เกี่ยวข้าวเสร็จและกำลังจะเดินทางกลับที่พัก ผู้ตายขับรถเกี่ยวข้าวขึ้นบนรถเทรลเลอร์ แต่รถเกี่ยวข้าวเอียงมาทางด้านซ้ายเยอะ จนทำให้เสียหลักตกรถสิบล้อ พลิกคว่ำหงายท้องลงข้างถนน ตนตะโกนบอกเเล้วเเต่ผู้ตายไม่ได้ยิน เพราะเสียงท่อรถดัง เมื่อขับรถเกี่ยวขึ้นไปได้เเค่ครึ่งคันก็พลิกตกดังกล่าว ไม่คิดว่าเหตุการณ์อย่างนี้จะมาเกิดขึ้นกับน้องของตน รู้เสียใจมาก

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่จะทำการสอบสวนคนขับรถเทรลเลอร์อย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อหาสาเหตุของการเสียชีวิต ส่วนศพผู้เสียชีวิตนั้นได้ให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยนำไปชันสูตรเพิ่มเติมที่สถาบันนิติเวชโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ต่อไป

เสพธรรมชาติสัมผัสวิถีชุมชน ภายใต้แนวคิด “7 Greens ท่องเที่ยวสดใส ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” กับสามหนุ่มสามเจนเนเรชัน นำทีมโดย คุณจ๊อบ – นิธิ สมุทรโคจร และคุณโกสินทร์ ราชกรม พาน้องเคนโด้ – ธนิก สมุทรโคจร เด็กยุคใหม่มาสัมผัสวิถีชุมชนแบบดั้งเดิม

พบกับสถานที่แรก ชุมชนหัวใจสีเขียว บ้านท่าดินแดง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ดินแดนที่ยังคงความเป็นอัตลักษณ์ดั้งเดิม ดำเนินวิถีชีวิตชุมชนตามธรรมชาติอย่างแท้จริง ชาวชุมชนส่วนใหญ่ใช้สิ่งของจากธรรมชาติ อาทิ การก่อไฟจากถ่านเชื้อเพลิงที่ทำจากกะลามะพร้าว เป็นการนำธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามคอนเซ็ปต์ Green Community “เที่ยวอย่างรู้ค่า รักษาเอกลักษณ์ชุมชน” เป็นการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการใส่ใจสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนเป็นสำคัญ ด้วยยุคเศรษฐกิจแปรปรวนตามสถานการณ์

ชาวเกษตรกรผันตัวมาทำการเกษตรส่วนผสม ปลูกพืชผลตามฤดูกาล ปรับตัวรับกับความต้องการของผู้บริโภค ฟื้นฟูเหมืองแร่เก่า ซึ่งปัจจุบันได้ปิดตัวไปแล้ว แต่ยังคงอนุรักษ์สถานเพื่อรักษาไว้ซึ่งธรรมชาติให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม ต่อเนื่องการโคจรอีกหนึ่งที่ ..เคปพันวา โฮเทล จ.ภูเก็ต ห้องพักสุดหรูติดชายหาดสไตล์โมเดิร์น เหมาะแก่การพักผ่อนแบบธรรมชาติ และที่นี่ยังเป็นสถานที่จัดการแข่งขันเรือใบระดับภูมิภาคชั้นแนวหน้า ซึ่งปีนี้เป็นครั้งที่ 15 อีกหนึ่งกิจกรรมแอดเวนเจอร์ที่เป็นไฮไลต์ กับงาน “เคปพันวา โฮเทล ภูเก็ต เรซวีค 2018” เราจะพาคุณไปชมบรรยากาศการฝึกซ้อมเรือใบ ขั้นตอนการบังคับเรือ เพื่อเตรียมเข้าสู่การแข่งขันจริง

ร่วมเดินทางท่องเที่ยวรักษ์โลกไปกับสามหนุ่มสามเจนเนเรชัน ในรายการ สมุดโคจร On The Way วันเสาร์ ที่ 11 สิงหาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 17:00 น. เป็นต้นไป ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 28 3SD หรือติดตามข่าวสารต่างๆ ได้ที่

นายสมคิค จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการและปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “การปรับโครงสร้างภาคเกษตรโดยกลไกสหกรณ์” และนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “การขับเคลื่อนภาคการเกษตรด้วยระบบสหกรณ์” โดยมีนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะผู้บริหารกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมให้การต้อนรับ ณ หอประชุมกองทัพอากาศ เขตสายไหม กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนสหกรณ์การเกษตรที่เข้มแข็ง 777 แห่ง หน่วยงานราชการและผู้เกี่ยวข้องร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าสหกรณ์คือความหวังของภาคการเกษตรของประเทศ เป็นองค์กรที่จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ให้กับเกษตรกรได้มีความสามารถในการแข่งขัน และลดความเหลื่อมล้ำของสังคมได้ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของสหกรณ์ เพื่อให้เป็นกลไกในการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของทุกชุมชน ซึ่งสหกรณ์ต้องกล้าที่จะริเริ่มในสิ่งใหม่ๆ ใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาและส่งเสริมสมาชิกให้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ใช้หลักตลาดนำการผลิต ผลิตสินค้าที่ตลาดต้องการ แล้วไปเชื่อมโยงกับภาคเอกชน มาขยายช่องทางตลาด โดยเน้นตลาดออนไลน์ เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีทางเลือกในการสั่งสินค้าสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งหน่วยงานและกระทรวงต่างๆ พร้อมที่จะเข้ามาสนับสนุนสหกรณ์ และขอให้สหกรณ์พัฒนาการดำเนินงานเพื่อเป็นที่พึ่งของสมาชิก และช่วยยกระดับอาชีพให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งและมีรายได้ที่มั่นคงต่อไป

วว. เชิญเยี่ยมชม “อาคารเฉลิมพระเกียรติ เรือนกระจกหลังที่ 1 และ เรือนกระจกหลังที่ 2” ณ สถานีวิจัยลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา แหล่งเรียนรู้ทางด้านเกษตรและพฤกษศาสตร์แห่งใหม่ของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ เรือนกระจกหลังที่ 1 และ 2 เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โชว์นิทรรศการ “มหัศจรรย์พรรณไม้ (Flora’s Tale)” พรรณไม้หายากทั้งไทยและต่างประเทศ/พิพิธภัณฑ์อนุรักษ์แมลงเขตร้อนและวิวัฒนาการพืช แสดงแมลงมีชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและทางการเกษตร รวมถึงห้องภาพที่รวบรวมภาพถ่ายแมลงนานาชนิดและงานศิลป์ที่เชื่อมโยงระหว่างวิถีชีวิตของคนและแมลง เชิญชวนนักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไปเที่ยวชม ณ สถานีวิจัยลำตะคอง วว. จังหวัดนครราชสีมา…แหล่งเรียนรู้ทางด้านเกษตรและพฤกษศาสตร์แห่งใหม่ของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้