นายยานอัครราชทูตและรองหัวหน้าปฏิบัติการ สถานเอกอัครราชทูต

สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย กล่าวว่าที่ผ่านมา ประเทศเยอรมนีได้พัฒนาความร่วมมือกับประเทศไทยมากว่า 60 ปี และมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้แก่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนร่วมกันของรัฐบาลสหราชอาณาจักรและรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีผ่านกองทุน NAMA Facility จะสามารถนำประโยชน์ต่อหลายภาคส่วนในประเทศไทย และการดำเนินงานของกองทุน RAC NAMA ถือเป็นตัวอย่างที่สำคัญและเป็นต้นแบบในด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมทำความเย็นของประเทศไปสู่การใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพพลังงานสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นายทิม มาเลอร์ ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย กล่าวว่า “ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในศูนย์การผลิตที่สำคัญของโลกในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น กองทุน RAC NAMA จึงมุ่งเน้นส่งเสริมเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพพลังงานสูงและใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่มีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (GWP) ที่ต่ำมาก และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าสารทำความเย็นสังเคราะห์ทั่วไปถึง 100-1,000 เท่า นอกจากนี้การใช้สารทำความเย็นธรรมชาติดังกล่าวควบคู่ไปกับการพัฒนาอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ จะสามารถลดการใช้พลังงานได้ถึงร้อยละ 5-25”

“GIZ ขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งที่กฟผ. เข้ามารับบทบาทผู้บริหารกองทุน RAC NAMA Fund ในนามประเทศไทย ซึ่งเห็นได้ชัดว่า กฟผ. เป็นหน่วยงานที่มีความเป็นผู้นำ มีวิสัยทัศน์ก้าวไกล และมีความพร้อมทั้งทางด้านบุคลากรและองค์ความรู้จากประสบการณ์ในการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกและการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น โครงการฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 เป็นต้น ในส่วนของ GIZ จะทำหน้าที่สนับสนุนด้านเทคนิค โดยส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงองค์ความรู้และความร่วมมือจากต่างประเทศ รวมทั้งช่วยให้ประเทศไทยเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์และเหมาะสม ในท้ายที่สุดผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากองทุน RAC NAMA นี้จะเป็นตัวอย่างของกลไกทางการเงินสีเขียวที่ประสบความสำเร็จในการลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” นายทิม มาเลอร์กล่าวเสริม

กองทุน RAC NAMA อยู่ภายใต้ “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น” หรือ “Thailand RAC NAMA” ซึ่งถือเป็นโครงการในการดำเนินกลไกการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแรกของประเทศไทยที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกองทุน NAMA Facility ด้วยงบประมาณรวมทั้งสิ้น 14.7 ล้านยูโร (ประมาณ 565 ล้านบาท) โดยมอบหมายให้ GIZ ดำเนินงานร่วมกับรัฐบาลไทย ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)

นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า จังหวัดตรังยังคงเข้มงวดการดำเนินการตามแผนการบูรณาการตรวจคุ้มครองแรงงานในเรือประมงทะเล บริเวณน่านน้ำทะเลตรัง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เป็นการคุ้มครองแรงงานในเรือประมงทะเล ตามนโยบายของรัฐบาล
“เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ออกตรวจสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน และการค้ามนุษย์ ด้านแรงงานในเรือประมงทะเล และกิจการที่เกี่ยวข้องในน่านน้ำทะเลตรัง อ. กันตัง เรียกตรวจเรือประมงพาณิชย์ ขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอส ขึ้นไป ซึ่งไม่พบการกระทำผิดแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ได้มีการทำความเข้าใจกับนายจ้าง/ผู้ประกอบการ ถึงกฎกระทรวงแรงงานว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในเรือประมงทะเล พร้อมกำชับการนำไปปฏิบัติต่อแรงงานให้ถูกต้อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาประเทศ ในความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง และคงความเป็นมาตรฐานที่ยั่งยืน” นายชัชวาล กล่าว

ด้าน นพ. บรรเจิด สุขพิพัฒปานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า จากมติของคณะรัฐมนตรีที่ได้เร่งรัดการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2561 ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้เร่งดำเนินการเพื่อรองรับการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวให้ครอบคลุมและทั่วถึง

ทั้งนี้ ได้ปรับจำนวนการให้บริการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวตามจำนวนแรงงานต่างด้าวที่มารับบริการ ตามศักยภาพที่มีของแต่ละโรงพยาบาลชุมชน มีการตรวจสุขภาพโดยให้บริการนัดหมายล่วงหน้า และเสริมทีมรองรับการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวใน 7 โรงพยาบาลชุมชน ที่เปิดให้บริการพิเศษในวันเสาร์ ประกอบด้วย โรงพยาบาลกันตัง โรงพยาบาลห้วยยอด โรงพยาบาลสิเกา โรงพยาบาลย่านตาขาว โรงพยาบาลรัษฎา โรงพยาบาลนาโยง และโรงพยาบาลวังวิเศษ พร้อมขอความร่วมมือสถานประกอบการและนายจ้างนำแรงงานต่างด้าวเข้ารับการตรวจสุขภาพภายใน 31 มีนาคม 2561 นี้

กรมควบคุมมลพิษ จับมือบริษัทผลิตน้ำดื่มรายใหญ่ 5 รายงดใช้แคปซีลหุ้มฝาขวด วางเป้าปลายปี ’62 งดใช้ทั่วประเทศ ชี้ช่วยลดขยะถึง 2,600 ล้านชิ้น/ปี หรือ 520 ตัน/ปี

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีการผลิตขวดพลาสติกเพื่อบรรจุน้ำดื่มประมาณ 4,400 ล้านขวด/ปี มีการใช้แคปซีลร้อยละ 60 หรือประมาณ 2,600 ล้านขวด ก่อให้เกิดขยะพลาสติก 2,600 ล้านชิ้น หรือคิดเป็นน้ำหนักประมาณ 520 ตัน แคปซีลผลิตจากพลาสติกพีวีซี มีขนาดชิ้นเล็ก น้ำหนักเบา ง่ายต่อการทิ้งกระจัดกระจายลงในสิ่งแวดล้อม แต่ยากต่อการรวบรวมและจัดเก็บเพื่อนำกลับมารีไซเคิลและไม่คุ้มทุนในการดำเนินการ หากไม่มีการรวบรวมไปกำจัดอย่างถูกต้อง แคปซีลจะเป็นส่วนที่ก่อให้เกิดปัญหาการอุดตันตามท่อระบายน้ำ บางส่วนตกค้างในสิ่งแวดล้อมบนบก บางส่วนไหลลงสู่แม่น้ำ ลำคลอง และท้องทะเล จากข้อมูลการผ่าซากสัตว์ทะเลที่ตายจะพบว่ามีสาเหตุจากการกินแคปซีลซึ่งรวมอยู่กับพลาสติกอื่นๆ

นางสุณีกล่าวต่อว่า คพ.ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือการเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมประชาสัมพันธ์ สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย สถาบันพลาสติก กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย และสมาคมผู้ค้าปลีกไทย โดยมีบริษัทผู้ผลิตน้ำดื่มรายใหญ่ 5 ราย ประกอบด้วย 1. บริษัท บุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตน้ำดื่มสิงห์ 2. บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตน้ำดื่มคริสตัล 3. บริษัท ไทยดริ้งค์ จำกัด ผู้ผลิตน้ำดื่มช้าง 4. บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ผู้ผลิตน้ำดื่มเนสท์เล่ เพียวไลฟ์ และ 5. บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตน้ำดื่มคาราบาว เป็นผู้นำในการเลิกใช้แคปซีลในการผลิตน้ำดื่ม โดยดีเดย์ในวันที่ 1 เมษายนนี้

อธิบดี คพ.กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ คพ.ได้ขยายผลส่งเสริมการยกเลิกใช้แคปซีล ขอความร่วมมือไปยังทุกกระทรวง เช่น การประชุมที่มีการบริการน้ำดื่มที่ไม่ใช้แคปซีล เป็นต้น รวมทั้งประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ ความเข้าใจในประเด็น “น้ำสะอาดไม่ต้องมีแคปซีล” ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน รวมทั้งประชาชนทั่วไปทางช่องทางสื่อต่างๆ ทั้งนี้เป้าหมายภายในปี 2562 ประเทศไทยจะไม่มีการใช้แคปซีลในขวดน้ำดื่มทั่วประเทศ ซึ่งจะสามารถช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะพลาสติก โดยสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมทั้งทางบกและทางทะเลได้ถึง 2,600 ล้านชิ้น/ปี หรือ 520 ตัน/ปี

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่การวิพากษ์วิจารณ์ผ่านโซเชียลมีเดียว่ารับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชื่อดังแล้วมีอาการใจสั่น นอนไม่หลบ แน่นหน้าอก ชาตามปลายมือปลายเท้าจนต้องเข้าโรงพยาบาล และต่อมามีการต่อข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับผลการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชื่อดังยี่ห้อดังกล่าวมีการลอบใส่สารไซบูทรามีนซึ่งเป็นสารต้องห้ามมีปลอมปนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารว่า การตรวจวิเคราะห์สารที่อยู่ในเสริมอาหารนั้นจะมี 2 รูปแบบคือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด และอีกแบบคือที่ประชาชนส่งเข้ามาให้ตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งในส่วนของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อดังที่มีการพูดถึงนั้น มีประชาชนส่งเข้ามาตรวจเมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา ผลก็พบว่ามีการปลอมปนของไซบูทรามีนซึ่งเป็นสารต้องห้าม เพราะเป็นยาแผนปัจจุบัน ที่มีผลข้างเคียงอันตราย ที่เรากลัวคือทำให้หัวใจวายตายได้

นพ.สุขุมกล่าวต่อว่า ปกติกรมมีหน้าที่ในการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านี้เป็นประจำอยู่แล้วเพื่อป้องกันการลักลอบใส่สารปลอมปน ซึ่งต้องระวังมีอยู่ 6 กลุ่มคือ 1. ยารักษาโรคสมรรถภาพทางเพศ 2. ยาลดความอ้วน 3. ยาลดความอยากอาหาร 4. ยาระบายสมัยใหม่ 5. กลุ่มยาสเตียรอยด์ และ 6. ยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ซึ่งจากการตรวจสอบกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีการปลอมปนสารเหล่านี้มาตลอด เช่น ยาลดน้ำหนักมีการปลอมปนร้อยละ 13 โดยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นผลิตภัณฑ์ที่ห้ามใส่ยาแผนปัจจุบัน หากลักลอบใส่จะมีความผิดตามกฎหมาย ทั้งจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นพ.สุขุมกล่าวต่อว่า การลดน้ำหนักเป็นสิ่งสำคัญ เพราะคนไทยมีปัญหาเรื่องการอ้วน ลงพุง แต่วิธีการที่ดีที่สุดคือการควบคุมอาหาร ปริมาณที่รับประทานเข้าไปอย่าให้เกินที่ร่างกายต้องการ หลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน พยายามออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 20-45 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน เพื่อช่วยควบคุมน้ำหนัก ส่วนเรื่องการใช้ยาหรือการรับประทานเสริมอาหาร หากจำเป็นจริงๆ หรือมีโรคประจำตัวที่ต้องลดน้ำหนักก็ขอให้พบแพทย์เพื่อให้ได้รับการดูแลที่เหมาะสม ซึ่งจะมีแพทย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องการควบคุมน้ำหนักอยู่ มีการควบคุมอาหารที่รับประทานเข้าไป ควบคุมเรื่องการให้ยา ซึ่งต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะยาแต่ละตัวเหมาะสมกับคนแตกต่างกัน

ขณะที่รัฐบาลกำลังพุ่งเป้าหมายใหญ่ในการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) 3 จังหวัด ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยมอบหน้าที่ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็น “หัวหอก” หลักในการขับเคลื่อน งานทุกอย่างกำลังก้าวหน้าไปอย่างดี

รวมถึงโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor :EFC) แห่งแรกของประเทศไทยในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม Smart Park ถือเป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ

เมื่อเร็วๆ นี้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้พาคณะสื่อมวลชนไปดูงาน “ตลาดกลางโอตะ กรุงโตเกียว” ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำมาเป็นแม่แบบในการพัฒนาตลาดกลางผลไม้ในภาคตะวันออกของไทยต่อไป

ดึงโมเดลญี่ปุ่น ใช้กับ EFC

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (บอร์ด กนอ.) กล่าวว่า ตลาดกลางโอตะ กรุงโตเกียว มีรูปแบบการค้าขายในลักษณะของการประมูลผัก ผลไม้ ครบวงจรมากที่สุด โดยรัฐบาลไทยตั้งใจดึงโมเดลจากญี่ปุ่นไปใช้ในโครงการ EFC บนพื้น 30 ไร่ และอีก 70 ไร่ จะถูกแบ่งออกเป็นโซนสำหรับโกดังพักสินค้า ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park พร้อมเปิดดำเนินการเต็มระบบภายใน 2-3 ปีข้างหน้า

“ตลาดกลางโอตะ” จะบริหารจัดการโดยจังหวัดโตเกียว มีกฎหมายมาตรฐานเกษตรของญี่ปุ่น (Japanese Agricultural Standard : JAS) กระทรวงเกษตรญี่ปุ่นควบคุมอยู่ ผู้ประกอบการที่เข้ามาขายส่งสินค้าในตลาดกลางจะต้องมีใบอนุญาตผู้ซื้อผู้ขายประจำตลาดกลาง (Central Wholesale Market)

ขณะเดียวกันตลาดกลางแต่ละแห่งจะมีโควต้าจำนวนผู้ประกอบการขายส่งสินค้าและผู้ประมูล โดยระบบการประมูลจะใช้สำหรับผลไม้เกรดพรีเมี่ยมที่มีสัดส่วนประมาณ 20% ของผลไม้ทั้งหมด ส่วนอีก 80% จะใช้ระบบการค้าขายปกติ

โดยกระบวนการประมูลราคาสินค้าเกษตรได้มีการตกลงกับเกษตรกรไว้แล้ว โดยอิงราคาที่ประมูลในวันก่อนหน้า 1 วัน จากนั้นสหกรณ์การเกษตรญี่ปุ่น (JA) จะมาเป็นตัวกลางรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรที่เป็นสมาชิก และนำไปขายต่อแก่ตลาดขายส่งสินค้าเกษตรขนาดใหญ่หรือสู่ตลาดกลาง โดยมีตัวแทนบริหารรายใหญ่ 4 ราย บริหารจัดการการประมูล จากนั้นผู้ร่วมประมูลจะกระจายสู่เครือข่าย สู่สาขาประจำจังหวัด/อำเภอ จบที่ร้านขายปลีก

อย่างไรก็ตาม จุดที่ตลาดกลาง EFC ไทย จะต่างจากญี่ปุ่น คือไทยมีผลไม้หลายเกรด ดังนั้น ระดับการแบ่งเกรดจะถูกคัดเลือกตั้งแต่เกษตรกร เช่น เกรดพรีเมี่ยม จะถูกนำมาประมูล เกรดธรรมดาที่ขายในประเทศจะถูกส่งเข้าห้องเย็นรอการขาย ส่วนที่ตกเกรดจะถูกส่งไปแปรรูป เป็นต้น

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า นิคมอุตสาหกรรม Smart Park บนพื้นที่ 1,500 ไร่ เป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง จะเริ่มพัฒนาในปี 2562 และเปิดบริการในปี 2564 รองรับการลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมด้านดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ การที่มีระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ดีที่สุดและศูนย์รวม Data Center ที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งถือเป็นอีกภารกิจสำคัญจากนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการปั้นให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่รองรับอุตสาหกรรม 4.0 โดย 8 โครงการหลัก ที่จะเกิดขึ้นใน Smart Park อยู่ภายใต้ความร่วมมือกับ 6 พันธมิตร

ประกอบด้วย 1. บริษัท พีทีที โพลีเมอร์ โลจิสติกส์ จำกัด 2. บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท โกลบอล ยูทิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด 4. บริษัท บางกอก อินดัสเทรียล แก๊ส จำกัด 5. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ 6. สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ทุกรายอยู่ในขั้นตอนการศึกษาต้องเกิดขึ้นในปี 2561 ทั้งหมด ระหว่างนี้ กนอ. ต้องใช้พื้นที่ทั้งหมดที่มีมาจัดวางให้แต่ละโครงการเพื่อปูทางไว้ให้

BCPG ลงทุนโซลาร์ลอยน้ำ

ผู้ว่าการ กนอ. เล่าให้ฟังถึงโครงการของ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG ว่า คือ 1 ใน 8 โครงการสำคัญที่จะเกิดขึ้นใน Smart Park ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ภายใต้กรอบเวลา 3 เดือน เพื่อลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) และโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำกำลังผลิตประมาณ 60-100 เมกะวัตต์ ในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park จ.ระยอง บนพื้นที่ 200 ไร่ มีพื้นที่โรงงานที่ประมาณ 1,000 ไร่ ซึ่งจะเป็นพื้นที่แรกและแห่งเดียวของอาเซียนที่ถูกพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะแบบครบวงจร (Smart Grid) นำมาใช้ภายในนิคมอุตสาหกรรม

โดยโรงงานจะเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ซื้อ ใครผลิตเกินสามารถขายส่วนที่เกินได้ และสามารถแลกเปลี่ยนไฟฟ้ากันได้ในนิคมผ่านระบบสมาร์ทกริด โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท หรือ 40 ล้านบาท/เมกะวัตต์ และอาจใช้รูปแบบ

การลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) หรือเปิดให้เอกชนลงทุนพัฒนาแบบเช่าพื้นที่เองทั้งหมด ซึ่งถือเป็นการลดการลงทุนโรงไฟฟ้าลงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

ต้น เม.ย. ฟังวิสัยทัศน์ 4 ผู้สมัคร

สำหรับความก้าวหน้าในการคัดเลือกผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. คนใหม่ แทน “วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม” ซึ่งดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการ กนอ. มาครบ 2 วาระ พอดี รวม 4 ปี (2558-2561) ในปีนี้ ล่าสุดมีผู้สนใจสมัคร 4 คน และเตรียมเปิดแสดงวิสัยทัศน์ ในวันที่ 4 หรือ 5 เม.ย. 2561

วีรพงศ์ กล่าวว่า จากนี้สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ จับตารอดูแผนของผู้ว่าการคนใหม่ที่เตรียมเสนอให้กับคณะกรรมการสรรหา หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายใหญ่จะเป็นเพียงการปรับปรุงกลยุทธ์ หรือแผนรายปีเท่านั้น กนอ. มีแผนยุทธศาสตร์ล่วงหน้า 5 ปี มีวิสัยทัศน์ เป้าหมาย แผนชัดเจน หลายเรื่องเป็นโครงการระยะยาว เป็นยุคที่ กนอ. เตรียมทำโครงสร้างพื้นฐานอย่างท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 นิคมยางพารา (Rubber City) นิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ปรับปรุงการให้บริการของ กนอ.

สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลทุกอย่าง โครงการต่างๆ ตามแผนที่วางไว้ การเริ่มลงมือวันนี้อีก 2-3 ปีกว่าจะเสร็จ อย่างน้อยได้รู้สึกว่า กนอ. ได้เริ่มและกำหนดทิศทางมาถูก งานต่างๆ จะได้เดินไปอย่างราบรื่น เมื่อบอร์ดรับทราบจะทำให้การต่อยอดไปได้ไร้รอยต่อ

กรมทรัพย์สินทางปัญญาลงพื้นที่สวน “มะยงชิด-มะปรางหวานนครนายก” ชมกระบวนการผลิตและตรวจสอบความอร่อย พร้อมผลักดันให้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรและดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก่อนช่วยโปรโมตดึงนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมและซื้อสินค้าถึงในสวน เผยยังได้ไปตรวจสอบกล้วยหอมทองปทุม เพื่อผลักดันให้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI ต่อไป

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ลงพื้นที่แหล่งผลิตสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจังหวัดนครนายก ที่สวนนพรัตน์ อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก เพื่อตรวจสอบกระบวนการผลิต พิสูจน์ความอร่อย และผลักดันแหล่งผลิตสินค้ามะยงชิดนครนายกและมะปรางหวานนครนายกให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตร และสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัด ก่อนผลักดันให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยว เพื่อช่วยขยายโอกาสในการทำตลาดให้กับสินค้า GI และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

สำหรับสินค้ามะยงชิดนครนายกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI มีลักษณะเด่น คือ ผลใหญ่ รูปไข่ มีสีเหลืองส้ม เนื้อแน่น กรอบ มีกลิ่นหอม เม็ดลีบสีน้ำตาลอ่อน รสชาติหวานอมเปรี้ยว มีค่าความหวาน 18 – 22 องศาบิกซ์ ส่วนมะปรางหวานนครนายก มีลักษณะผลใหญ่ยาวรี ปลายเรียวแหลม สีเหลืองทอง เปลือกบาง มีกลิ่นหอม รสชาติหวานกรอบ ค่าความหวานอยู่ในช่วง 16 ถึง 19 องศาบริกซ์สินค้าทั้ง 2 ประเภทปลูกในเขตพื้นที่อำเภอเมืองนครนายก อำเภอบ้านนา อำเภอปากพลี และอำเภอองครักษ์

นอกจากนี้ กรมฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบกล้วยหอมทองปทุม ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีรสชาติความอร่อยไม่แพ้กล้วยหอมจากแหล่งอื่น โดยกรมฯ ได้เตรียมผลักดันสินค้ากล้วยหอมทองปทุมให้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI เพื่อควบคุมมาตรฐานการผลิตให้สามารถคงเอกลักษณ์ของสินค้าชนิดนี้ต่อไป

โดยลักษณะเด่นของกล้วยหอมทองปทุม คือ รูปทรงผลใหญ่ยาว หน้าตัดค่อนข้างกลม ปลายคอดเล็กน้อย เปลือกบาง ผิวนวล ผลดิบสีเขียวนวล ผลสุกสีเหลืองทองนวล เนื้อเหนียวแน่น ไม่มีเม็ด รสชาติหอมหวานมาก และมีค่าความหวานตั้งแต่ 16 องศาบริกซ์ขึ้นไป ปลูกในพื้นที่ทั้งจังหวัดปทุมธานี เดิมเป็นกล้วยที่นำพันธุ์มาจากจังหวัดเพชรบุรี โดยนำมาปลูกครั้งแรกเมื่อราวๆ 70 ปีก่อน ร่วมกับการปลูกพืชชนิดอื่นๆ และเริ่มเป็นที่นิยมปลูกมากช่วงปี พ.ศ.2540 โดยปลูกทดแทนส้มรังสิตที่มีผู้นิยมปลูกน้อยลง ด้วยความอุดมสมบูรณ์และชนิดของดินซึ่งเป็นดินเหนียวที่มีความเป็นกรด ลักษณะของพื้นที่ที่มีคลองชลประทานซึ่งมีน้ำตลอดทั้งปี และการปลูกพืชแบบร่องน้ำที่มีการนำเลนจากร่องคูน้ำมาทับบนแปลงปลูก จึงทำให้กล้วยหอมทองปทุมมีลักษณะผล เปลือก และรสชาติที่ดีแตกต่างจากกล้วยหอมพื้นที่อื่น จนเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล) และคณะ เดินทางมาตรวจเยี่ยมสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมมอบนโยบายในการปฏิบัติงานแก่บุคลากร วช. โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ ในวันที่ 28 มีนาคม 2561 เวลา 13.00 น.

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) แถลงภายหลังการประชุมตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้แก่บุคลากร วช. ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการนำ “งานวิจัย” มาเป็นอีกกลไกสำคัญที่ใช้สร้างโอกาสและผลักดันให้ประเทศก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง