นายวรัตน์ แก้วแพง และ นายตนุภัทร สัตยมาศ นักศึกษาสาขา

วิชาวิศวกรรมอิเล็กทรกนิกส์และโทรคมนาคม คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ได้ทำงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์ด้านวิทยาศาสตร์เครื่องช่วยเดิน Walking Assist โดยมีอาจารย์กรภัทร เฉลิมวงศ์ เป็นอาจารย์ ที่ปรึกษา และคอยแนะนำเทคนิคต่างๆ

โดยศึกษาการออกแบบและการสร้างเครื่องช่วยเดินสำหรับการทำกายภาพบำบัดผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำกายภาพบำบัดให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น นักศึกษาจึงมีแนวคิด ในการออกแบบเครื่องช่วยเดิน โดยใช้ระบบบล็อกไดอะแกรมมาช่วยในการควบคุมเครื่องช่วยเดิน

จากการนำเครื่องช่วยเดิน Walking Assist มาใช้เป็นเครื่องกายภาพบำบัดในการฝึกเดินของผู้ป่วยที่มีกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง รับนำหนักของผู้ป่วยไม่เกิน 120 กิโลกรัม ตัวเครื่องสามารถปรับโหมดการทำงานได้ 2 โหมด คือ โหมดอัตโนมัติ (Auto Mode) จะมีให้เลือกระดับของความเร็ว 3 ระดับ ความเร็วในการเดิน 15 , 45 และ 60 รอบ/นาที

สามารถใช้ทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูขาของผู้ป่วยได้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยเหลือตนเองเพื่อให้ทำกิจวัตรประจำวันได้ดีมากยิ่งขึ้น ในการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองอย่างเป็นปกติ ตัวเครื่อง มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานและผู้ดูแล มีราคาต้นทุนในราคา 30,000 บาท ซึ่งถูกกว่าเครื่องที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่อาจารย์กรภัทร เฉลิมวงศ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โทรศัพท์ 086 – 5257155

กระทรวงเกษตรฯ กำหนดแผนการผลิตข้าว ปี 2561/62 จำนวน 70.42 ล้านไร่ ผลผลิต 33.422 ล้านตันข้าวเปลือก ตามกรอบเป้าหมายความต้องการใช้ข้าว ภายใต้ตลาดนำการผลิต (Demand Driven) จำนวน 30.42 ล้านตันข้าวเปลือก

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร (ด้านการผลิต) ณ กรมการข้าว ว่า จากมติที่ประชุมคณะทำงานวางแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ได้มีการเห็นชอบกรอบเป้าหมายความต้องการใช้ข้าว สำหรับการผลิต ปี 2561/62 ภายใต้ตลาดนำการผลิต (Demand Driven) จำนวน 30.42 ล้านตันข้าวเปลือก

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าว จึงได้กำหนดแผนการผลิตข้าว ปี 2561/62 ตามความต้องการใช้ข้าวดังกล่าว จำนวน 70.42 ล้านไร่ ผลผลิต 33.422 ล้านตันข้าวเปลือก แบ่งเป็น รอบที่ 1 จำนวน 58.21 ล้านไร่ ผลผลิต 25.336 ล้านตันข้าวเปลือก และรอบที่ 2 จำนวน 12.20 ล้านไร่ ผลผลิต 8.084 ล้านตันข้าวเปลือก

นายลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบการกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว ปี 2561/62 รอบที่ 1 จำนวน 58.21 ล้านไร่ แยกเป็น ข้าวหอมมะลิ 23.27 ล้านไร่ ข้าวหอมจังหวัด 2.82 ล้านไร่ ข้าวหอมไทย (ข้าวหอมปทุม) 1.03 ล้านไร่ ข้าวเจ้า 14.84 ล้านไร่ (ข้าวเจ้าพื้นนิ่ม 0.74 ล้านไร่ ข้าวเจ้าพื้นแข็ง 14.10 ล้านไร่) ข้าวเหนียว 15.78 ล้านไร่ ข้าว กข43 0.12 ล้านไร่ ข้าวอินทรีย์ 0.28 ล้านไร่ และข้าวสี 0.07 ล้านไร่ โดยได้มอบหมายกรมการข้าวจัดทำข้อมูลพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว ปี 2561/62 รอบที่ 1 เป็นรายชนิดข้าวและรายอำเภอ เพื่อออกประกาศให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 30 เมษายน 2561 นี้

สำหรับผลการดำเนินงานภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปี 2560/61 ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีพื้นที่ปลูกข้าว รอบที่ 1 จำนวน 57.18 ล้านไร่ ผลผลิต 22.65 ล้านตันข้าวเปลือก และรอบที่ 2 มีพื้นที่ปลูกข้าว (ณ วันที่ 18 เม.ย. 61) จำนวน 12.61 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 7.86 ล้านตันข้าวเปลือก

ทั้งนี้ การตลาดข้าว ในปี 2560 ไทยสามารถส่งออกข้าวได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ปริมาณ 11.63 ล้านตัน และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 13 มีนาคม 2561 ประเทศไทยสามารถส่งออกข้าวได้เป็นอันดับ 2 ของโลก จำนวน 1.84 ล้านตัน รองจากประเทศอินเดีย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 คาดว่าการค้าข้าวโลกมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าหลายประเทศมีความต้องการนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มแอฟริกาและตะวันออกกลาง ประกอบกับผลผลิตข้าวของประเทศผู้นำเข้าข้าวสำคัญ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ มีไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ จึงถือเป็นโอกาสที่ดีที่ประเทศไทยจะสามารถส่งออกข้าวสู่ตลาดต่างประเทศต่อไป

กรมส่งเสริมสหกรณ์เร่งขับเคลื่อนนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ยึดหลักการตลาดนำการผลิต ใช้กลไกสหกรณ์มาดำเนินการรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่ พร้อมเชื่อมโยงเอกชนและเครือข่ายสหกรณ์ด้วยกันเป็นตลาดรองรับผลผลิต มีสหกรณ์รวบรวมผลผลิตแปลงใหญ่ จำนวน 103 แห่ง ปริมาณ 122,044 ตัน มูลค่า 943 ล้านบาท

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสริมต่อโครงการตามนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ด้วยหลักคิดใช้ตลาดนำการผลิตสินค้าการเกษตร ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์จะส่งเสริมบทบาทของสหกรณ์เป็นแหล่งรวบรวมผลผลิตจากแปลงใหญ่และจับมือกับภาคเอกชนและเครือข่ายสหกรณ์ในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อเป็นช่องทางตลาดรับซื้อผลผลิตจากพื้นที่แปลงใหญ่

ปัจจุบันมีสหกรณ์ทำหน้าที่รวบรวมผลผลิตจากแปลงใหญ่จำนวน 103 สหกรณ์ ปริมาณ 122,044 ตัน คิดเป็นมูลค่า 943 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่ ส่วนสหกรณ์ขนาดเล็กยังไม่มีเงินทุนและปัจจัยพื้นฐานที่จะสามารถรวบรวมผลผลิตได้ ซึ่งในปีงบประมาณ 2560 กรมฯจึงได้สนับสนุนงบประมาณด้านปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานให้สหกรณ์ที่เข้าร่วมแปลงใหญ่ จำนวน 47 สหกรณ์ และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 สนับสนุนเพิ่มเติมอีก 91 สหกรณ์ ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างการดำเนินการ

ขณะเดียวกันยังมีสหกรณ์อีกจำนวน 112 แห่ง ที่เชื่อมโยงผลผลิตกับภาคเอกชน ส่วนใหญ่เป็นพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าวและพืชไร่ ปริมาณ 113,177 ตัน คิดเป็นมูลค่า 912 ล้านบาท ในส่วนของการจำหน่ายให้ตลาดโมเดินเทรด เช่น เซ็นทรัล เดอะมอลล์ แม็คโคร บิ๊กซี เป็นสินค้าประเภทผักและผลไม้ ยังมีปริมาณไม่มาก ซึ่งกรมฯอยู่ระหว่างดำเนินการส่งเสริมให้ผลผลิตแปลงใหญ่เข้าสู่ตลาดโมเดิร์นเทรดให้มากขึ้น สำหรับสหกรณ์ที่เชื่อมโยงผลผลิตระหว่างสหกรณ์ มีจำนวน 41 สหกรณ์ ปริมาณ 36,799 ตัน คิดเป็นมูลค่า 209 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นข้าว เมล็ดพันธุ์ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และโคเนื้อ

ในปีงบประมาณ 2561 มีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมแปลงใหญ่ จำนวน 411 แห่ง รวม 456 แปลง และผลจากการสำรวจข้อมูลแปลงใหญ่ที่มีพื้นที่รวมกันตั้งแต่ 50 ไร่ขึ้นไป มีจำนวน 308 แปลง ที่สมาชิกหรือสหกรณ์ขายผลผลิตให้กับผู้ซื้อในท้องถิ่นเป็นหลัก เนื่องจากสะดวกในการขนส่ง ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีปริมาณผลผลิตออกมาพร้อมกันจำนวนมาก เช่น ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง สำหรับแปลงใหญ่ที่มีคู่ค้ารองรับ ที่แน่นอน มีจำนวน 148 แปลง ส่วนใหญ่เป็นพืชผัก ผลไม้ ประมง ปศุสัตว์และข้าวอินทรีย์

ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์จะเร่งผลักดันให้สหกรณ์ในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ทำหน้าที่ในการรวบรวมผลผลิตและขยายช่องทางตลาดรองรับเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ เป้าหมายของการดำเนินนโยบายส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ คือ ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่ม ร่วมกันคิด-ร่วมกันทำ วางแผนการตลาดร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง มีผลผลิตสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ที่สำคัญเป็นการเพิ่มโอกาสและขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกร และมีรายได้ที่มั่นคงจากการประกอบอาชีพการเกษตรต่อไป

“ปลาร้า” หรือ “ปลาแดก” เป็นทั้งอาหารหลักและเครื่องปรุงรสสำคัญในวัฒนธรรมอีสาน จนพูดกันว่าเป็นหนึ่งในวิญญาณทั้งห้าของความเป็นอีสาน ได้แก่ ข้าวเหนียว ลาบ ส้มตำ หมอลำ และปลาร้า กลมกลืนในวิถีการบริโภคทั่วทุกภาคของประเทศ

จากทำกินกันเองในครัวเรือน ไปสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรม วันนี้ปลาร้ากำลังถูกกำหนดมาตรฐาน โดยประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดมาตรฐานสินค้าปลาร้าตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมคุณภาพ มาตรฐาน และปลอดภัย

มีผลต่อความเป็นไปและรสชาติ หรือมีอะไรต้องปรับเปลี่ยน ร.ต.ต.วิรัช โตอิ้ม เจ้าของสินค้าผลิตภัณฑ์ปลาร้าจ่าวิรัช ของฝากชื่อดังเมืองนครสวรรค์ ให้ความเห็นว่า การกำหนดมาตรฐานส่งผลกระทบโดยตรงต่อชาวบ้านระดับล่าง จะทำให้เกิดข้อจำกัดในการผลิตปลาร้าจากภูมิปัญญาพื้นบ้าน

เมื่อกำหนดมาตรฐานก็เท่ากับการกำหนดเรื่องการหาวัตถุดิบอย่างเลี่ยงไม่ได้ เช่น การหาปลามาทำปลาร้าต้องชนิดพิเศษ ความยุ่งยากมากเรื่องจะตามมา ต้องไปคัดปลาได้มาตรฐาน ต้องกำหนดสูตร การปรุง กำหนดส่วนผสม เกิดความลำบากยุ่งยากตามมา ต้นทุนการผลิตจะขึ้นตามไปด้วย ทั้งหมดจะไปตกกับผู้บริโภค แต่ในสภาพเศรษฐกิจช่วงนี้การปรับราคาสินค้าก็ทำได้ยาก

กับเหตุผลกำหนดมาตรฐานเพื่อสร้างมั่นใจให้กับผู้บริโภค ร.ต.ต.วิรัชยืนยันว่าปัจจุบันการผลิตก็มีการควบคุมคุณภาพอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องความสะอาด ไร้สารปนเปื้อน เพราะผู้ผลิตต้องคุมคุณภาพตัวเองอยู่แล้ว

แต่การออกเกณฑ์ควบคุมการผลิตปลาร้าจะเป็นช่องว่างให้หน่วยงานรัฐเข้ามาบีบ ไม่สามารถยืดหยุ่นได้ เพราะทุกคนต้องทำตามประกาศ ชาวบ้านไปหาปลาได้มาจะทำปลาร้าไปขายตลาดนัด ต้องมีมาตรฐาน มีการควบคุมการผลิต ชาวบ้านจะทำอย่างไร

“กระบวนการผลิตปลาร้าของผมบอกได้เลยว่าปลอดภัย ผู้บริโภคทราบดี ที่ร้านมีขั้นตอนการผลิตที่สะอาด เริ่มต้นจากการคัดเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ปลาร้าจ่าวิรัชจะรับซื้อปลาจากชาวบ้านที่ออกไปหาตามหนอง บึง แหล่งน้ำธรรมชาติ ชาวบ้านจะออกไปหาปลากัน 1-2 วันรวบรวมปลาได้มากๆ ก็จะนำมาขายที่ร้าน จะรับซื้อปลาจากชาวบ้านที่ทำสะอาด สด เพราะชาวบ้านจะล้างจนสะอาด แช่เกลือไว้ก่อนนำมาขาย ดังนั้นปลาร้าที่ผลิตจากโรงงานผมจะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์” เจ้าของปลาร้าจ่าวิรัชทิ้งท้าย

ขณะที่ นางสมศรี กองสุข ประธานกลุ่มสตรี ปลาร้า ปลารวย บ้านทุ่งขุนน้อย อ.เมือง จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ทางกลุ่มไม่มีอะไรต้องกังวล เพราะผลิตปลาร้าที่มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐานอยู่แล้ว ยืนยันได้จากมีเจ้าหน้าที่จากสาธารณสุขมาตรวจสอบอยู่เสมอ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีและมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีก็มาเก็บตัวอย่างนำไปตรวจวิเคราะห์

ซึ่งไม่เคยเจอสารเจือปนปรุงแต่งแต่อย่างใด แต่ทราบมาว่าจะมีที่อื่นแถวภาคกลางปรุงแต่งด้วยสีหรือกะปิ ซึ่งทางกลุ่มไม่มี มีแต่เกลือกับรำ โดยใช้วิธีคั่วเกลือและรำหมักปลาทิ้งไว้ 1 คืนจึงนำลงไหให้มีน้ำตลอด ถ้าน้ำลดลงก็ต้มน้ำเกลือใส่ตลอด ทางกลุ่มรับรองว่าปลาร้าที่ทำได้มาตรฐานผ่านการรับรองควบคุมอย่างดี

นางกาญจนา สวนานุสรณ์ เจ้าของร้านปลาร้าป้าสงวน แม่แขก จ.อุทัยธานี กล่าวว่า จากข้อมูลที่พอทราบและที่เข้าใจนั้นหลักๆ ของประกาศกระทรวงเกษตรฯเรื่องมาตรฐานปลาร้า จะเป็นในส่วนของการผลิต วัตถุดิบ และองค์ประกอบหลักของการผลิตปลาร้า ที่ให้เน้นความสะอาดและคุณภาพ ซึ่งปลาร้าที่ร้านที่ขายอยู่ทุกวันนี้มั่นใจว่า ทำถูกต้อง

ตามกรรมวิธี มั่นใจว่าที่ร้านมีการผลิตที่สะอาดทุกขั้นตอน นางกาญจนายังเล่าถึงกระบวนการผลิตว่า หากย้อนไปในยุคสมัยรุ่นแม่ของแม่ที่หมักปลาร้ากันในสมัยนั้น จะใช้ปลาเน่าในการทำปลาร้า ก็ไม่ทราบถึงเหตุผลดังกล่าว แต่ในยุคของแม่และตนเอง จะใช้ปลาสดในการหมักเท่านั้น วัตถุดิบและอุปกรณ์ของการหมักไม่ได้มีอะไรมาก ใช้ปลาสด ข้าวคั่ว และเกลือ ซึ่งทุกอย่างต้องใช้ส่วนผสมพอเหมาะและต้องถึงเนื้อปลา โดยเฉพาะเกลือ หากใส่เกลือไม่ถึง ปลาจะบวม พอง เนื้อยุ่ย และมีกลิ่นเหม็น ไม่สามารถนำมาจำหน่ายได้ ส่วนข้าวคั่วต้องหมกให้ท่วมตัวปลา นอกจากจะชูกลิ่นให้หอมน่าทานแล้วยังช่วยให้ปลาร้าไม่เป็นหนอน

ส่วนระยะเวลาการผลิตจะเริ่มจากการคลุกปลาสดกับเกลือทิ้งไว้ 7 วัน จากนั้นนำมาคลุกกับข้าวคั่ว นำใส่ถังหรือโอ่งพร้อมกับปิดผ้าให้แน่นไม่ให้มีอากาศเข้า หมักทิ้งไว้ 1 เดือน จึงทยอยนำออกมาจำหน่าย

ซึ่งที่ร้านมีปลาร้าที่ทำจากปลาหลายชนิด ทั้งปลาแรด ปลาทับทิม ปลาช่อน ปลาสวาย ปลานิล รวมไปถึงปลารวม ซึ่งจะเป็นปลาหมอ ปลากระดี่ และปลาเล็กปลาน้อยต่างๆ ด้านการเก็บรักษา ทางร้านจะแนะนำลูกค้าให้นำไปบรรจุใส่โหลแก้วหรือแช่ตู้เย็นเพื่อคงรสชาติและกลิ่น

สำหรับเรื่องการออกประกาศมาตรฐาน นางกาญจนาบอกว่าเห็นดีด้วย เพราะหากทำให้ถูกต้องและสมเหตุสมผลแล้วก็ไม่มีอะไรต้องกังวล อย่างน้อยก็เป็นการยืนยันคุณภาพและมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางไปมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

นายธวัชชัย มณีกุลทรัพย์ ผู้ประกอบการน้ำปลาร้าปรุงรส ตราแม่น้อย จ.นครพนม ให้การสนับสนุนเช่นกัน โดยระบุว่าเป็นเรื่องดีทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตที่จะต้องมีการปรับตัวพัฒนาคุณภาพการผลิต ทั้งเรื่องของความสะอาด ปลอดภัย รสชาติ กลิ่น เชื่อว่าสามารถพัฒนาได้และไม่กระทบกระบวนการผลิต ถือเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำที่จะทำให้ผู้ผลิตพัฒนาตัวเองเพื่อแข่งขันด้านการตลาด

นอกจากนี้ สิ่งที่ตามมาคือผู้บริโภคจะได้รับประทานปลาร้าที่สะอาดปลอดภัย ในเรื่องการผลิตตั้งแต่ดั้งเดิมภูมิปัญญาชาวบ้าน ปลาร้าที่ดีจะต้องมีการหมักที่สะอาด มีระยะเวลาในการผลิต ไปจนถึงการคัดวัตถุดิบปลาที่นำมาผลิต ส่วนผสมต่างๆ จะต้องมีการคัดสรรเพื่อให้ได้คุณภาพ เป็นการยกระดับอาชีพการผลิตปลาร้าในอนาคต

“ปลาร้า” ถือเป็นอาชีพภูมิปัญญาชาวบ้าน หากผู้ผลิตที่ใส่ใจในคุณภาพ การออกเกณฑ์มาตรฐานก็จะไม่ใช่เรื่องต้องหนักใจเลย (หน้า 1, 9) เมื่อวันที่ 21 เมษายน นางอารมย์ วงษ์มหา ผู้อำนวยการสำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ระยะหลังในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบกระรอกมีปริมาณมากขึ้นเมื่อเทียบกับราว 5-6 ปีก่อน แต่กทม.ยังไม่ได้การสำรวจปริมาณกระรอก จึงไม่ทราบว่าขณะนี้มีจำนวนแน่ชัดเท่าไหร่ แต่ทราบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นแทบทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯ อาจเพราะความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ นโยบายการเพิ่มจำนวนพื้นที่สีเขียว

รวมถึงแนวทางการรักษาต้นไม้และสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในพื้นที่ของสวนสาธารณะของกทม.จะเห็นได้ชัดเจน ปกติแล้วกระรอกจะดำรงชีวิต โดยอาศัยการเจริญเติบโตของธรรมชาติ

“ที่ผ่านมากทม.จึงไม่มีนโยบายในการให้อาหารกระรอก แต่ขณะนี้กลับพบประชาชนลักลอบนำอาหารมาให้กระรอกภายในสวนสาธารณะจำนวนมาก เพราะความน่ารักน่าชัง ดูแล้วเพลิดเพลิน ซึ่งการนำอาหารมาให้สัตว์ไม่ได้มีความผิดตามกฎหมาย แต่กทม.ไม่ได้นิ่งเฉย ได้จัดเจ้าหน้าที่คอยสังเกตการณ์อย่างต่อเนื่อง หากพบเห็นประชาชนให้อาหารสัตว์เกินความจำเป็น จะเข้าไปตักเตือนพฤติกรรมทันที ซึ่งล่าสุดยังพบประชาชนแอบนำบ้านขนาดเล็กมาแขวนที่ต้นไม้เพื่อให้กระรอกอยู่อาศัย ส่วนนี้เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปแจ้งประชาชนไม่ให้กระทำดังกล่าวเด็ดขาด

เพราะ 1.จะทำให้กระรอกมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป หาอาหารเองไม่เป็น และจะรอคอยอาหารจากคนอย่างเดียว ซึ่งปกติแล้วภายในสวนสาธารณะหรือต้นไม้นั้น มีอาหารของกระรอกอย่างสมบูรณ์อยู่แล้ว และ 2.การให้อาหารกระรอก จะทำให้ประชาชนสัมผัสกับสัตว์อย่างใกล้ชิด โดยที่ไม่ทราบว่าสัตว์ตัวนั้นมีพาหะนำโรคหรือไม่ โดยกทม.จะหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เพื่อจัดทำป้ายห้ามให้อาหารกระรอก เช่นเดียวกับการติดป้ายห้ามให้อาหารนกในบางพื้นที่” นางอารมย์ กล่าว

นางอารมย์ กล่าวอีกว่า ปริมาณเพิ่มขึ้นของกระรอกมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยกระรอกจะช่วยสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศน์ ทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ขณะเดียวกัน หากมีจำนวนเยอะเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อพืชพันธุ์ธรรมชาติ เพราะกระรอกจะกัดกินกิ่งไม้ ตัดท่อน้ำเลี้ยงของต้นไม้ ทำให้กิ่งไม้เกิดแห้งตาย

ปัจจุบันสวนสาธารณะที่พบจำนวนกระรอกมากที่สุด ได้แก่ บริเวณอุทยานสวนจตุจักร ประกอบด้วย สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์และสวนจตุจักร ขณะนี้ พืชพันธุ์หรือพืชผลที่กทม.เพาะไว้ในสวนพฤกษศาสตร์ บางส่วนได้รับความเสียหายจากการกัดกินของกระรอกบ้างแล้ว

กทม.จึงใช้วิธีนำถุงพลาสติกมาห่อหุ้มเพื่อป้องกันการกัดกิน อาทิ กล้วย มะพร้าว เป็นต้น เพราะไม่มีนโยบายทำลายหรือกำจัด ทว่าในอนาคตหากกระรอกมีปริมาณเยอะเกินไป กทม.จะประสานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์พืช ให้เข้ามาสำรวจปริมาณความหนาแน่น เพื่อให้เข้ามาจับและนำไปปล่อยในพื้นที่ป่าเช่นเดียวกับกรณีตัวเงินตัวทองที่สวนลุมพินี เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

เมื่อถามว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้นพบเห็นประชาชนนำเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือทำการจับกระรอกตามสวนสาธารณะต่างๆ บ้างหรือไม่ นางอารมย์ กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่าพบเห็นประชาชนมีพฤติกรรมดังกล่าว แต่หากพบเห็นกทม.จะรีบเข้าตักเตือนทันที ส่วนสาเหตุของกระรอกที่ตายส่วนใหญ่จะมาจากศัตรูสัตว์ จำพวกนกหรืออีกามากกว่า

นายสัตวแพทย์(นสพ.)ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ปัจจุบันบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหลังเล็กหลังใหญ่ต่างให้ความสำคัญกับการปลูกต้นไม้มากขึ้น ทำให้กระรอกกระจายจำนวนประชากรมากขึ้นต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันพบไม่มีการล่า รังแก เหมือนในอดีต โดยปกติแล้ว กระรอกมีอิสระ วิ่งไปวิ่งมาอย่างไม่มีขอบเขต เพราะต้นไม้มีลักษณะเป็นกิ่งต่อกิ่งและใบต่อใบ พบในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ ตลอดจนอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งลูกไม้จากธรรมชาติ และอาหารที่คนแบ่งปันให้กับกระรอก

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของกระรอกในขณะนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์แต่อย่างใด กลับเป็นตัวชี้วัดที่ดีว่ากทม.มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้นกว่าอดีต ส่วนบ้านใดอยากเห็นกระรอกวิ่งไปมาแบบอิสระ แนะนำให้ปลูกต้นไม้เยอะๆ กระรอกก็จะมาอาศัยอยู่ตามต้นไม้เอง

ผู้สื่อข่าวถามว่ากระรอกจะมาพร้อมงูหรือไม่ นสพ.ภัทรพล กล่าวว่า งูไม่ใช่ศัตรูของกระรอก เพราะกระรอกเป็นสัตว์ที่มีความรวดเร็ว กลุ่มเดียวกับพังพอน งูจึงกินกระรอกได้ยาก ดังนั้น งูจะไม่ตามกระรอกมา ประชาชนจึงไม่ต้องกลัวว่ากระรอกเยอะแล้วจำนวนงูจะเยอะตามมา

นายไพศาล สังข์มงคล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท กล่าวว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญในเรื่อง การลดต้นทุนการผลิต โดยการรวมแปลงเป็นแปลงใหญ่ที่มีการบริหารจัดการร่วมกัน ให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการดำเนินงาน ผลักดันให้เกษตรกรรวมกลุ่มในการผลิตเพื่อร่วมกันจัดหาปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพดี ราคาถูก และการใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ รวมทั้งผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐาน ตรงตามความต้องการของตลาด มีการผลิตร่วมกันเป็นกลุ่มและมีการเชื่อมโยงกับตลาดเพื่อบริหารจัดการให้เกิดสมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ของสินค้า แก้ปัญหาเรื่องสินค้าล้นตลาดและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

ปัจจุบัน พื้นที่การดำเนินงานของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท ใน 9 จังหวัดภาคกลาง มีจำนวนแปลงใหญ่ทั้งสิ้น 237 แปลง พื้นที่รวม 348,366 ไร่ เกษตรกร 12,666 ราย 24 สินค้า ได้แก่ ข้าว 140 แปลง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 17 แปลง มันสำปะหลัง 16 แปลง พืชผัก 12 แปลง อ้อยโรงงาน 6 แปลง พืชอาหารสัตว์ 2 แปลง ปาล์ม 2 แปลง เผือก 1 แปลง ข้าวโพดฝักสด 1 แปลง ข้าว/ถั่ว 1 แปลง ทุเรียน 5 แปลง กล้วย 3 แปลง กล้วยหอม 3 แปลง มะม่วง 2 แปลง ไม้ประดับ 3 แปลง กล้วยไม้ 2 แปลง ไม้ดอก 1 แปลง โคนม 7 แปลง โคเนื้อ 2 แปลง แพะ 4 แปลง กระบือ 2 แปลง ไก่พื้นเมือง 1 แปลง ปลาดุก 3 แปลง และปลาช่อน 1 แปลง

โดย ในปี 2561 การดำเนินงานขับเคลื่อนแปลงใหญ่ของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท ได้วางแนวทางการขับเคลื่อนโครงการแปลงใหญ่ไว้ 4 หัวข้อสำคัญ ได้แก่

1. การประชุมคณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่ระดับเขต ทุก 2 เดือน เพื่อร่วมกันวางแผนและทิศทางการขับเคลื่อนงานแปลงใหญ่ของเขต โดยจัดประชุมตามหน่วยงานต่างๆ อาทิ ศูนย์วิจัยข้าว ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ที่มาประชุมเรียนรู้เพิ่มเติมเพิ่มเติมนอกเหนือจากการประชุมได้

2. ติดตามและให้คำแนะนำแก่จังหวัดในการประเมินจัดชั้นแปลงใหญ่ รวมถึงการถอดบทเรียนแปลงใหญ่ของจังหวัด เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประชุมคณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่ระดับเขต

3. ให้คำแนะนำ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ปัญหาและอุปสรรค ในการดำเนินงานแปลงใหญ่แก่จังหวัด

4. การพัฒนาผู้จัดการแปลงใหญ่สำหรับแปลงใหญ่ปีที่ 3 (แปลงใหญ่ ปี 2559) โดยกรมส่งเสริมการเกษตรกำหนดจัดอบรมหลักสูตรการพัฒนาเกษตรกรเป็นผู้จัดการแปลงใหญ่ เพื่อปรับเปลี่ยนผู้จัดการแปลงจากเกษตรอำเภอเป็นเกษตรกร มีเกษตรกรในพื้นที่ของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท เข้าร่วมทั้งสิ้น 64 ราย เกษตรกรที่จะเข้าอบรมต้องมีคุณสมบัติ