นายวีระศักดิ์ บอกด้วยว่า ชาวบ้านใช้หลักความพอเพียงพอประมาณ

ในการบริหารกิจการท่องเที่ยวนี้ ไม่ยอมเปิดเป็นร้านอาหารเพราะนั่นคือการต้องทำเมนูตามใจตลาด แต่ชาวบ้านตัดสินใจว่านักท่องเที่ยวต้องเลือกทานแต่สิ่งที่ที่นี่มีในวันนี้จากเรือประมงเท่านั้น ดังนั้น..ที่นี่จึงต้องสั่งวัตถุดิบมาจากข้างนอก ขายในสิ่งที่มี กินแต่สิ่งที่หา ซึ่งลูกค้าชมมากว่าอร่อย สด และได้บรรยากาศจริงแท้ของชาวบ้าน จึงเพิ่มปริมาณมาดูงานศึกษากิจกรรมทั้งประมง ทั้งการปลูกพืชผัก การเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น และอื่นๆที่ชาวบ้านใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นทำไว้

“โดยชุมชนเมื่อประชุมและพาผมตักลูกปูไปปล่อยแล้ว..ชาวบ้านขอรับการช่วยเหลือจากกระทรวงการท่องเที่ยวฯเรื่องป้ายบอกทาง ห้องน้ำสำหรับคนเดินทาง และขอรถรางนำชม เพราะที่ใช้อยู่คือรถสามล้อแดงซึ่งเล็กเกินกว่าจะรับนักท่องเที่ยวดูงานที่มักมาเป็นคันรถบัส และขอรูปปั้นปูตัวโตๆมาเป็นสัญลักษณ์ด้านหน้าให้เป็นแลนด์มารค์ให้นักท่องเที่ยวมาถูก มาถึงง่ายขึ้น มีรถพาชมฐานงานพัฒนาไปตามจุดต่างๆของชุมชนที่สะดวกขึ้น ซึ่งรองอธิบดีกรมการท่องเที่ยวซึ่งมาด้วยในคณะได้รับประเด็นนี้ไปตั้งคำของบมาดำเนินการให้ในปี 62 ต่อไปครับ “นายวีระศักดิ์ กล่าว

“คืนนี้ผมมุ่งหน้าต่อไปประจวบคีรีขันธ์ ค้างแรมในโฮมสเตย์ของชมรมท่องเที่ยวชุมชนอ่าวน้อย พรุ่งนี้จะเยี่ยมประชุมกับชุมชนท่องเที่ยวของกลุ่มชาวบ้านเผ่าไทยทรงดำ แล้วจึงแล่นย้อนมาพบกับชุมชนที่แก่งกระจาน ของจ.เพชรบุรีต่อไปครับ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวทิ้งท้าย

มนุษย์รู้จักและบริโภคองุ่นมาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 15,000 ปี องุ่น เป็นพันธุ์พืชป่าที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในทวีปอเมริกาก่อนจะกระจายพันธุ์เข้าสู่ทวีป ยุโรป จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ มีการบ่งบอกว่ามีการปลูกองุ่นกันมามากกว่า 5,000 ปี

สำหรับประเทศไทยไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่านำเข้ามาในสมัยใด แต่ในกฎมณเทียรบาลสมัยกรุงศรีอยุธยา มีข้อความกล่าวถึง “ป้อมสวนองุ่น” จึงเป็นไปได้ว่าน่าจะมีการนำพันธุ์องุ่นมาปลูกแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา เมืองไทยเริ่มสนใจปลูกองุ่นในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 อันเกิดแต่การติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ และทรงเสด็จเยี่ยมเยือนนานาชาติอยู่เสมอ จึงโปรดเกล้าให้นำ “ องุ่น ” หนึ่งในพันธุ์ไม้แปลกจากต่างประเทศที่ได้เสด็จประพาสมาปลูกในประเทศไทยด้วย

องุ่นเป็นพืชเมืองหนาว กว่าจะปลูกและพัฒนาพันธุ์ให้เหมาะสมกับการปลูกในประเทศไทยซึ่งเป็นพื้นที่เขตร้อนได้ ต้องใช้เวลาทดลองปรับปรุงพันธุ์กันนานมาก ช่วงรัชกาลที่ 7 เมืองไทยเริ่มมีการปลูกองุ่นกันบ้าง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะผลองุ่นที่ได้มีรสเปรี้ยว ทำให้การปลูกองุ่นซบเซาลง ปี พ.ศ. 2493 หลวงสมานวนกิจ ได้นำเข้าสายพันธุ์องุ่น จากมลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาเข้ามาปลูกองุ่นอย่างจริงจังแต่ยังไม่สำเร็จเท่าที่ควร จนกระทั่งปี พ.ศ.2497 ดร.พิศ ปัญญาลักษณ์ ได้นำพันธุ์องุ่น จากทวีปยุโรปเข้ามาปลูก เริ่มได้ผลผลิตคุณภาพดี สร้างแรงจูงใจให้เกิดการปลูกองุ่นกันแพร่หลายมากขึ้น

ในระยะแรก ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และเศรษฐีมีทรัพย์ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล นิยมปลูกต้นองุ่นเพื่อใช้เป็นไม้ประดับเพิ่มความสวยงาม ดูความสวยงามเขียวขจีของใบและผล เมื่อเกิด น้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ.2475 และปัญหาโรคแมลงทำลาย ต้นองุ่นที่ปลูกในบ้านเรือนผู้มีอันจะกินก็ล้มตายสิ้น ทำให้การปลูกองุ่นในกรุงเทพฯ ขาดช่วงไปนาน

การปลูกองุ่นเพิ่มฟื้นฟูตัวกันใหม่ ในสมัยที่ ศาสตราจารย์ หลวงสมานวนกิจ ได้รับแต่งตั้งเป็นคณบดี คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรฯ บางเขน เนื่องจากท่านมีนิสัยชอบปลูกต้นไม้ในบ้าน แต่เนื่องจากพื้นที่คับแคบ ท่านจึงเลือกปลูกองุ่นที่กินพื้นที่ไม่มาก ประมาณปี พ.ศ.2493 เพื่อนชาวอเมริกันผู้หนึ่ง ส่งพันธุ์องุ่นให้ท่านถึง 10 ชนิด นำมาเพาะรอดอยู่ถึง 9 ชนิด

ศาสตราจารย์ หลวงสมานวนกิจ ได้นำพันธุ์องุ่นที่บ้านไปมอบให้แผนกไม้ผลทดลองปลูกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน ปรากฏว่าผลการทดลองได้ผลที่ดี ท่านจึงแต่งตำราว่าด้วยการปลูกองุ่น ที่ท่านสะสมประสบการณ์ดูแลนานถึง 10 ปี จนได้ข้อพิสูจน์ว่า องุ่นสามารถเติบโตได้ดีในพื้นที่เขตร้อน หากมีการดูแลอย่างใกล้ชิด สามารถผลิตองุ่นเป็นพืชเศรษฐกิจได้ โดยใช้พื้นที่ปลูกแค่ 4-5 ไร่ก็เพียงพอ เพราะองุ่นเป็นพืชที่มีอายุยืนยาวถึง 30-40 ปี

องุ่นในเอเชียไมเนอร์มีมาก่อนยุโรป ต่อมาอาณาจักรโรมันเรืองอำนาจ แผ่อานุภาพไปไกล จึงนำพันธุ์องุ่นเอเชียไมเนอร์มาปลูกในยุโรป และประเทศบริวาร สมัยนั้นยุโรปทั้งบริโภคสด ทำเหล้าไวน์ และทำองุ่นแห้ง (ลูกเกด)

องุ่นดั้งเดิมบางชนิดของอเมริกา รสชาติสู้พันธุ์ยุโรปไม่ได้ ข้อดีขององุ่นพันธุ์อเมริกาคือ ลำต้นมีความทนทานสูง จึงนิยมใช้พันธุ์องุ่นอเมริกาเป็นต้นตอ ใช้ยอดพันธุ์ยุโรปที่ต้นอ่อนแอกว่ามาทาบ เพราะองุ่นพันธุ์อเมริกาใช้รากหาอาหารเก่ง และใช้องุ่นพันธุ์ยุโรปปรุงรสของผล ทำให้ผลองุ่นมีรสชาติหวาน อร่อย เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง

ปลูกองุ่นในไทยได้ผลผลิตปีละหลายรุ่น

องุ่น เป็นพืชเมืองหนาว ให้ผลผลิตปีละครั้ง เมื่อปลูกในพื้นที่เมืองหนาว ย่อมให้ผลผลิตคุณภาพดี อร่อยชาติอร่อยกว่าปลูกในเขตร้อนหรือเขตอบอุ่น แต่เรื่องเหลือเชื่อคือ เมื่อนำมาปลูกในเมืองไทย ซึ่งเป็นประเทศเขตร้อน กลับให้ผลผลิต มากกว่าหนึ่งครั้ง ต่อปี และสามารถบังคับให้ผลสุกช่วงเวลาไหนก็ได้ หากมีการดูแลรักษาอย่างดีแล้ว ต้นองุ่นที่ปลูกในไทยยังให้ผลผลิตคุณภาพดีไม่แพ้องุ่นของต่างประเทศเช่นกัน

ธรรมชาติของพันธุ์องุ่น

ข้อแตกต่าง ระหว่างองุ่นเขตหนาวกับเขตร้อนคือ เขตหนาว เป็นพืชผลัดใบ จะผลัดใบในฤดูใบไม้ร่วง พักตัวในฤดูหนาว ไปแตกตาแตกใบในฤดูใบไม้ผลิ และเติบโตจนผลแก่ในหน้าร้อน ส่วนองุ่นเขตร้อน ใบจะเขียวทั้งปี ไม่พักตัวตามธรรมชาติ ต้องตัดแต่งให้พักตัว และแตกตาแตกใบ โดยธรรมดาจะหวานอร่อยสู้เขตหนาวไม่ได้ เว้นแต่จะดูแลเป็นอย่างดี

สายพันธุ์องุ่น

สายพันธุ์องุ่นที่นิยมปลูกทั่วไป แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ

พันธุ์ยุโรป และเอเชียไมเนอร์ เป็นองุ่นที่รู้จักก่อนยุคประวัติศาสตร์ ใช้บริโภคสด ทำไวน์ และลูกเกด เป็นพันธุ์ผลดก ช่อผลใหญ่ ผลก็ใหญ่ เมล็ดในน้อย ไม่แข็ง รสหวานมากกว่าเปรี้ยว
องุ่นพันธุ์พื้นเมืองอเมริกา เป็นพันธุ์ป่ามาแต่เดิม ใช้บริโภคไม่ได้หลายชนิด คุณภาพสู้ของยุโรปไม่ได้ ช่อผลเล็ก ผลก็เล็ก รสอมเปรี้ยว เมล็ดในแข็ง ส่วนดีคือ ใช้ลำต้นทาบด้วยพันธุ์ยุโรป
องุ่นพันธุ์ลูกผสม ส่วนมากเป็นพันธุ์ผสมในหมู่พันธุ์ยุโรปด้วยกัน มีปลูกกันแพร่หลาย เพราะรสหวานอร่อย มีทั้งลูกผสม ที่ผสมระหว่างพันธุ์ยุโรปและอเมริกา ที่ชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ผสม จึงเรียกว่า ลูกผสมฝรั่งเศส และลูกผสมอเมริกา ที่ผสมระหว่างพันธุ์ยุโรปกับพันธุ์อเมริกา มีชาวอเมริกันทำการผสม
การปลูก

องุ่น ชอบพื้นที่อุณหภูมิค่อนข้างสูง แดดจัด และความชื้นอากาศต่ำ ในสภาพอุณหภูมิเช่นนี้ ผลจะให้คุณภาพหวานอร่อย ถ้าความชื้นสูงมักมีโรคแมลง ต้องลงทุนป้องกันและกำจัดสูง ว่าไปเมืองไทยไม่เหมาะในการปลูก เนื่องจากมีฝนชุก ต้องดูแลรักษากันมากดังกล่าวแต่ต้น ส่วนดินนั้นองุ่นชอบดินเหนียว อาจเป็นนาข้าวหรือสวนผลไม้ชนิดอื่น การปลูกที่ดีควรยกร่อง เพื่อให้เกิดน้ำเข้าออกคล่อง ทำให้ถ่ายเทอากาศบนดินสะดวก ที่ดินดอนหรือดินทรายก็ปลูกได้ แต่ต้องเป็นดินสมบูรณ์ บนไหล่เขา ต้องลงรากลึกถึง 2 ฟุต และไม่ควรเป็นดินดาน

การขยายพันธุ์

การขยายพันธุ์องุ่น มีทั้งเพาะเมล็ด ทาบกิ่ง ตอน ปักชำ ติดตา และต่อกิ่ง ส่วนการปลูก มีทั้งยกร่อง และปลูกในที่ดอน ทั้งสองแบบต้องขุดหลุม เมื่อองุ่นอายุครบปีควรขึ้นค้าง ทำค้างเป็นเสาคู่ ถ้าใช้เสาซีเมนต์ค่าใช้จ่ายสูงแต่ได้ความทนทาน ถ้าค้างไม้ ต้องเป็นไม้เนื้อแข็ง ในแปลงหนึ่งใช้เสาเพียง 3 คู่ มีมากไปก็สิ้นเปลือง ปักหัวแปลง กลางแปลง และท้ายแปลง จากนั้นก็ขึงด้วยเส้นลวดแข็ง และใช้ไผ่รวกค้ำคานหรือเสา และค้ำเส้นลวดให้มั่นคงตึงตัว

การดูแลรักษา

องุ่นเมื่อเติบโตแล้ว ต้องตัดแต่งกิ่ง ไม่เช่นนั้นจะไม่ออกดอกหรือออกดอกน้อย ผลจะไม่สมบูรณ์ อายุตัดแต่งกิ่งยังขึ้นกับพันธุ์ เช่น พันธุ์คาร์ดินาล ตัดแต่งเมื่ออายุ 9-10 เดือน ภายหลังนำลงแปลงจริง ส่วนพันธุ์ไวท์มะละกา ตัดแต่งเมื่ออายุ 11-12 เดือน หลังจากนำลงแปลงจริง การตัดแต่งกิ่งสั้นหรือยาว ก็แล้วแต่พันธุ์เช่นกัน พันธุ์คาร์ดินาล ตัดเหลือ 3-4 ตา พันธุ์ไวท์มะละกา เหลือ 5-6 ตา และพันธุ์ลูสเพอเรส เหลือ 7-12 ตา เป็นต้น

หลังตัดแต่งกิ่งแล้วยังต้องตกแต่งและจัดกิ่งต้นองุ่นอีก เพื่อเอากิ่งเล็กกิ่งน้อยออก เหลือแต่กิ่งที่มีช่อดอกและกิ่งใหญ่ที่มีใบ ใบโคนกิ่งก็เด็ดออกเพื่อให้ต้นโปร่ง ส่วนช่อดอกถ้ามีมาก ก็ต้องปลิดทิ้งบ้าง เพื่อลำต้นจะเลี้ยงได้ ด้านผลถ้าแน่นก็ต้องปลิด ป้องกันผลลีบเล็ก เวลาผู้ดูแลเข้าสวนต้องสวมหมวก ป้องกันเส้นผมโดนผล จะทำให้เกิดเน่าเสีย

การใช้ฮอร์โมนองุ่นควรทำสองครั้ง ครั้งแรก เมื่อดอกบาน 3-7 วัน ครั้งที่สอง หลังครั้งแรก 7 วัน ควรใช้ฮอร์โมนพ่นช่อดอกและผล แต่สิ้นเปลืองน้ำยา ทั้งโดนไม่ทั่วช่อดอกช่อผลด้วย ควรใช้วิธีชุบดอกและผล องุ่นเป็นต้นไม้ต่างแดนที่ต่างเขตภูมิอากาศ การปลูก และดูแลรักษาต้องจริงจัง

การเก็บเกี่ยว

การเก็บผลองุ่น เมื่อแก่แล้วเก็บเลย ไม่ต้องรอให้รสหวานขึ้น มันทั้งไม่สุกมากขึ้นและหวานมากขึ้นอีก เพียงไม่เก็บตอนแก่เกินไป ถ้าไม่แก่ดีก็จะเปรี้ยวและฝาด สีผลไม่สวย ถ้าแก่เกินไปผลจะเน่าเร็ว เก็บไว้ได้ไม่นาน จากวันตัดแต่งจนผลแก่ใช้เวลาราว 3 เดือน ก็เก็บได้ บางครั้งอาจต้องเก็บก่อนแก่บ้าง ถ้ากรณีจะมีฝนชุก ทำให้ผลแตกเสียหาย

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ที่ จ.พิษณุโลก สภาพอากาศเริ่มร้อนอบอ้าว และทุกฤดูร้อน จ.พิษณุโลกมีอาหารการกินตามฤดูกาลหลากหลาย โดยเฉพาะผักหวาน ไข่มดแดง ขณะนี้กำลังมีวางขายตามท้องตลาดจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ตลาดใต้ ตลาดเทศบาล 1 อ.เมืองพิษณุโลก ตลาดเช้าที่คึกคักมากที่สุด “ร้านเจ๊ยงค์” ของนางลำยงค์ เพ็ญวิจิตร เจ้าของร้านค้าได้จำหน่ายแอ่บผึ้ง หรือรังผึ้งหลวงห่อใบตองมากว่า 20 ปี ช่วงนี้ได้รับความสนใจอุดหนุนจากลูกค้ามาก วันนี้ที่ร้านเจ๊ยงค์มีไข่มดแดงสดๆ วางจำหน่ายราคาขีดละ 70 บาท เคียงคู่กับผักหวาน กำละ 20 บาท

นอกจากนี้ เจ๊ยงค์ยังได้ทำหมกไข่มดแดง หรือห่อหมกไข่มดแดง อาหารพื้นบ้านสูตรของเจ๊ยงค์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของร้านนี้ โดยนำไข่มดแดงมาปรุงกับเครื่องแกงสูตรพิเศษอย่างถึงเครื่อง ผสมด้วยผักหวาน ใบโหระพา จากนั้นนำมาใส่ในห่อใบตอง นำไปย่างบนเตาถ่านร้อนๆ จะได้กลิ่นหอมของเครื่องแกง ใบตอง และรสชาติแสนอร่อย สำหรับหมกไข่มดแดงสนนราคาห่อละ 100 บาท ปรากฏว่าได้รับความนิยมจากชาวเมืองพิษณุโลกให้การอุดหนุนจำนวนมากเช่นกัน

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า เจ้าหน้าที่จัดสรรน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยบง ต.ประสุข อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา ได้ปิดประตูอ่างเก็บน้ำ งดจ่ายน้ำให้กับเกษตรกรที่มีพื้นที่ทำการเกษตร อยู่ท้ายอ่างเก็บน้ำ หลังพบว่า ปริมาณน้ำภายในอ่างเก็บเหลือน้อยกว่าทุกปี จากความจุทั้งหมด 25 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกักเพียง 15 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากปริมาณน้ำฝนตกลงมาเหนืออ่างเก็บน้ำ น้อยกว่าปีที่แล้ว ทำให้เจ้าหน้าที่จัดสรรน้ำ อ่างเก็บน้ำห้วยบง จำเป็นต้องงดจ่ายน้ำให้กับเกษตรกรที่มีพื้นที่เพาะปลูกท้ายอ่างเก็บน้ำ เพื่อเตรียมสำรองปริมาณน้ำไว้ให้ประชาชนในตำบลประสุข ต.ชุมพวง จำนวนกว่า 800 หลังคาเรือน ใช้อุปโภคบริโภคตลอดช่วงฤดูแล้ง

นายประดิษฐ์ ดีมาก อายุ 65 ปี เกษตรกรผู้ปลูกถั่วลิสง ต.ประสุข กล่าวว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยบง ปีนี้น้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา ตนจึงลงทุนปลูกถั่วลิสง จำนวน 2 ไร่ แทนการปลูกข้าวนาปรัง หลังจากเจ้าหน้าที่จัดสรรน้ำเปิดประตูอ่างเก็บน้ำให้กับเกษตรกรเป็นช่วงๆ ตนจึงได้ถือโอกาส สูบน้ำเก็บกักไว้ในบ่อของตนเอง หลังจากที่ทางอ่างเก็บน้ำงดจ่ายน้ำ จึงสูบน้ำขึ้นมาใช้ในการปลูกพืชผักเอง

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่ จ.นครพนม ผลกระทบจากสภาพอากาศที่เริ่มร้อนอบอ้าว เริ่มส่งผลกระทบต่อการดูแลสุนัขภายในด่านกักกันสัตว์นครพนม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสุนัขกลุ่มเสี่ยงที่นำมาจาก จ.ร้อยเอ็ด จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย ทางกรมปศุสัตว์จึงได้มีการตรวจสอบจับสุนัขกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่เกิดโรคระบาดรัศมีประมาณ 5 กิโลเมตร มากักบริเวณไว้ตรวจสอบดูแล ตัดวงจรการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องจากปีนี้ในพื้นที่ภาคอีสาน เริ่มมีปัญหาการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า

ขณะเดียวกันพบว่า ในการดูแลสุนัขเริ่มพบปัญหาสุนัขทยอยป่วยตายวันละประมาณ 4 -5 ตัว เนื่องจากอากาศร้อน รวมถึงสุนัขบางตัวมีอาการเจ็บป่วยมาก่อน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เร่งตรวจสอบ ตรวจรักษา พร้อมฉีดวัคซีนป้องกันโรค คัดแยกสุนัขป่วยและเฝ้าดูอาการต่อเนื่อง มีสุนัขบางตัวที่มีความเสี่ยงติดเชื้อพิษสุนัขบ้า แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ แต่มีการเก็บตัวอย่างส่งไปตรวจยังกรมปศุสัตว์ ส่วนสุนัขที่ป่วยตายได้เก็บตัวอย่างไปตรวจสอบและนำซากไปทำลาย เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าไม่มีปัญหาเรื่องผลกระทบต่อการแพร่ระบาดในพื้นที่ เนื่องจากโรคพิษสุนัขบ้าไม่สามารถแพร่ระบาดได้ หากไม่ถูกสุนัขที่ป่วยกัด ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบอาการสุนัขทั้งหมดอย่างต่อเนื่อง ยืนยันว่ายังมีอาหารเพียงพอ ไม่กระทบต่อการดูแล

เบื้องต้นนายณรงค์ รัตนตรัยวงศ์ หัวหน้าด่านกักกันสัตว์นครพนม ประสานไปยังปศุสัตว์พื้นที่ จ.นครพนม ระดมเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์เข้ามาตรวจสอบดูแล ให้ความรู้ประชาชน พร้อมระดมฉีดวัคซีนให้กับสุนัขและแมวที่มีกลุ่มเสี่ยง เพื่อวางแนวทางป้องกันการแพร่ระบาด พร้อมแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ ให้หมั่นตรวจสอบดูแลและนำสุนัขไปฉีดวัคซีนที่ปศุสัตว์ใกล้บ้าน เนื่องจากปีนี้เริ่มมีปัญหาเกิดโรคระบาดในพื้นที่ภาคอีสาน จึงต้องมีการเฝ้าระวังเข้มงวด

ไทยเดินหน้าหารือ 3 ประเทศหยุดกรีดยาง 3 เดือนหวังดันราคา กก.ละ 80 บาท “กฤษฎา” เสนอ 2 แนวทางหยุดกรีด ยืนยันไทยจะไม่ทำเพียงประเทศเดียว ชาวสวน-ผู้ส่งออกเชียร์สุดตัว TDRIไม่เชื่อดันราคาขึ้นได้จากปัจจัยราคาน้ำมันในตลาดโลก

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอแนวคิดที่จะแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำด้วยการใช้มาตรการหยุดกรีดยาง 2 แนวทาง คือ หยุดกรีดยาง 3 ล้านไร่ เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2561 กับหยุดกรีดยางทุกไร่ แต่ให้กรีดแบบวันเว้นวัน หรือให้กรีด 15 วันกับหยุดกรีด 15 วัน เพื่อลดปริมาณยางที่จะออกสู่ตลาด พร้อมกับเตรียมที่จะหารือกับตัวแทน 3 ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ในการประชุมร่วมกันในวันที่ 2 มีนาคมนี้ ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า มาตรการลดการกรีดยางอยู่ระหว่างพิจารณาโดยแนวทางที่มีความเป็นไปได้ 2 แนวทาง คือ ลดกรีดยาง 3 ล้านไร่ ระยะเวลา 3 เดือน แต่จะมีการจ่ายเงิน “ชดเชย” ให้ชาวสวนยางที่หยุดกรีดรายละ 4,500 บาทต่อไร่ หรือจะลดกรีดยางแบบวันเว้นวันตลอดทั้งปี ซึ่งอยู่ระหว่างการคำนวณตัวเลขผลผลิตยางที่จะออกสู่ตลาดที่ชัดเจน รวมถึงงบประมาณรองรับในระหว่างที่ชาวสวนยางไม่สามารถกรีดยางได้ โดยมาตรการหยุดกรีดยางครั้งนี้ ประเทศไทยจะไม่ทำ
เพียงประเทศเดียว

ชาวสวนหนุนหยุดกรีดยาง

นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การหารือหยุดกรีดยางพาราร่วมกันของทั้ง 4 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นเวลา 3 เดือนในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมนี้
“จัดเป็นแนวทางที่ถูกต้อง” เกษตรกรชาวสวนยางสนับสนุนเต็มที่ เพราะที่ผ่านมาชาวสวนยางได้เรียกร้องให้หยุดกรีดยางมาแล้ว เพื่อลดซัพพลายผลผลิต “ส่วนเกิน” ในตลาดโลกที่เกินไปเล็กน้อยออกไป ซึ่งจะทำให้พ่อค้าที่รับซื้อยางและกดราคามาตลอดต้องรีบซื้อยางมากขึ้น “น่าจะทำให้ราคายางพุ่งขึ้นจาก กก.ละ 40 กว่าบาท ขึ้นไปถึงเป้าหมายที่ กก.ละ 80 บาทได้” โดยสัปดาห์ที่ผ่านมายางแผ่นดิบที่ซื้อขายในตลาดท้องถิ่นได้ขยับขึ้นจาก กก.ละ 41 บาทเป็น กก.ละ 45 บาทเศษแล้ว

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนของประเทศผู้ผลิตยางทั้ง 3 ประเทศจะนำเรื่องนี้กลับไปหารือกับหน่วยงานของประเทศตัวเองเพื่อตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของฝ่ายไทยควรหารือกับผู้มีอำนาจตัดสินใจใน 3 ประเทศโดยตรง เพื่อให้มาตรการนี้มีผลเร็วขึ้น แต่หากมาตรการนี้ 3 ประเทศตกลงหยุดกรีดยางกันไม่ได้ และประเทศไทยดำเนินการเพียงประเทศเดียว ราคายางที่จะวิ่งสู่เป้าหมาย กก.ละ 80 บาทก็จะใช้เวลานาน ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯควรเรียกตัวแทนชาวสวนยางมาหารือ เพราะการหยุดกรีดยาง 3 วันกรีด 1 วัน อาจมีปัญหาน้ำยางไม่ไหล ซึ่งเป็นเรื่องเทคนิคก่อนจะเสนอเรื่องนี้เข้าคณะรัฐมนตรี

“ผมทราบมาว่า รัฐบาลมีวงเงินชดเชยให้ชาวสวนยางหยุดกรีด 13,000 ล้านบาท จ่ายชดเชยให้ชาวสวนไร่ละ 1,500-3,000 บาทต่อเดือน โดยเงินส่วนนี้จะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนมากกว่าที่รัฐอัดฉีดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปีละนับแสนล้านบาทอย่างแน่นอน เพราะอำนาจในการจับจ่ายอยู่ในมือชาวสวนยางโดยตรง” นายบุญส่งกล่าว

ขณะที่ นายสมพงศ์ ราชสุวรรณ ประธานกรรมการกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง สกย.นาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา กล่าวว่า นโยบายกรีดยางเว้นวัน เพื่อสนุบสนันการปฏิบัติของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้แนะนำไว้ถูกต้องแล้ว ซึ่งตามปกติเกษตรกรชาวสวนยางกรีดยาง 3 วัน หยุด 1 วัน หรือกรีดยาง 4 วัน หยุด 1 วัน หากเกษตรกรกรีดยางเว้นวัน หรือกรีดยางเดือนละ 15 วัน จะทำให้ปริมาณยางลดลง ฉะนั้นในทางธุรกิจการกรีดยางประมาณ 15 วัน/เดือน จะมีผลผลิตออกมาขายช้าลง สรุปแล้วเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่จะดึงราคายางให้ขยับขึ้นมาได้ โดยราคายางรมควันจาก 49-50 บาท/กก. จะขึ้นมาอยู่ที่ 60 บาท/กก. ส่วนน้ำยางสดราคา 48-50 บาท/กก. จะขยับขึ้นมาอยู่ที่ 50 บาท/กก.

สำหรับแนวโน้มทิศทางปี 2561 ราคายางจะดีขึ้น ทั้งยางแผ่นดิบ ยางรมควัน และน้ำยางสด ประกอบกับโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น และผู้นำเกษตรกรก็มีการผลักดันโครงต่าง ๆ เพื่อทำให้ราคาดีขึ้นเช่นกัน “ยางรมควัน 60 บาท/กก. ขณะนี้อยู่ที่ 49-50 บาท น้ำยางสดไม่ต่ำกว่า 50 บาท/กก. จากราคาขณะนี้อยู่ที่ 48-49 บาท/กก. ถือว่าราคาระดับนี้ดีกว่า 2 ปีที่ผ่านมา” นายสมพงศ์กล่าว

นายประยูรสิทธิ์ คณานุรักษ์ ประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง การยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นโยบายที่จะให้เกษตรกรชาวสวนยางกรีดวันเว้นวัน จะทำให้กรีดยางเท่ากับ 1 เดือนกรีดยาง 15 วัน ทำยางหายไปจากตลาดประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้า 1 เดือนหยุดกรีดยาง 10 วัน ยางจะหายไปประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ “นโยบายนี้จะใช้ได้กับทุกพื้นที่หรือไม่และรัฐจะดำเนินการชดเชยกันอย่างไร และหากหยุดกรีดยางกันทั้งหมดจะเป็นการบีบบังคับเกษตรกร แต่ที่เป็นห่วงคือจะมีพ่อค้าเอายางมาขายหมุนเวียนในตลาดเพื่อทำราคา หากยางราคาสูงก็จะเข้าหมุนเวียนเพื่อทำราคาต่ำ กระบวนการนี้รัฐบาลน่าจะนำ พ.ร.บ.ควบคุมยาง พ.ศ. 2542 มาบังคับใช้ เพื่อทำการตรวจเช็กสต๊อกยางป้องกันการเอายางมาขายหมุนเวียน” นายประยูรสิทธิ์กล่าว

TDRI บอกทำแล้วไม่ได้ผล

ทพ.พงษ์ศักดิ์ เกิดวงศ์บัณฑิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงษ์บัณฑิต จำกัด ผู้ส่งออกยางรายใหญ่ของไทย กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯมีความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ “ผมเห็นด้วยที่ท่านจะใช้มาตรการหยุดกรีดยาง เพราะราคายางขณะนี้แย่มาก ทั้งที่ไม่ค่อยมีสต๊อกยางกัน ดังนั้น หากทำได้จะช่วยชาวสวนยางได้มาก”

ทางด้าน นายวิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า มาตรการที่รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯมีแนวคิดลดกรีดยางนั้น “ผมไม่เชื่อว่าจะผลักดันราคายางขึ้นมาได้” ทั้งกรณีการสนับสนุนเกษตรกร 4,500 บาท/ไร่ ไม่เกิน 10 ไร่ต่อราย หรือการชะลอการส่งออก เนื่องจากปัจจัยชี้นำราคายางพาราคือ ราคาน้ำมันในตลาดโลก รัฐบาลต้องสื่อสารให้ชาวสวนยางรู้ว่า ขณะนี้ยางเป็นพืชที่ไม่มีอนาคตอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นหากจะให้เกษตรกรเลิก ลดปลูก ต้องทำด้วยความสมัครใจของตัวเกษตรกรเอง เมื่อไม่ไหวเกษตรกรก็ต้องเลิกปลูกเอง “ไม่ใช่อัดเม็ดเงินไปให้แล้วบอกว่า ต้องเลิกปลูก” นายวิโรจน์กล่าว