นายสุนันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขั้นตอนดำเนินการสำหรับการจัดหาปุ๋ย

เป็นไปตามระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งได้กำหนดไว้ ตั้งแต่การจัดทำขอบเขตของงาน (TOR) และเอกสารประมูลปุ๋ยนำประกาศร่างเอกสารประกวดราคาด้วยวิธีทางอิเลคทรอนิกส์เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของส่วนราชการ เปิดให้มีการเสนอแนะและวิจารณ์โดยมีผู้เปิดเผยตัว ปรับปรุงแก้ไขร่างประกาศและร่างเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์พร้อมความเห็น ประกาศเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ลงเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของส่วนราชการอีกครั้ง ทั้งนี้การประมูลที่ผ่านมา มีผู้ซื้อเอกสารประมูลปุ๋ยเคมี จำนวน 11 ราย และประเภทปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 20 ราย

โดยผู้ที่ยื่นซองประมูลจะต้องดำเนินการประมูลด้วยวิธีทางอิเลคทรอนิกส์ ซึ่งมีผู้รับผิดชอบจัดการประมูล ทำหน้าที่ดำเนินการ สำหรับประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เลือกใช้วิธีการจัดหาเองแทนการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกร เพราะข้อกฎหมายของพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า การให้ทุนเพื่อปลูกแทน ไม่ใช่เงินให้เปล่า แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องไปจัดหาปัจจัยการผลิตเท่านั้น ซึ่งอาจมีบางส่วนที่ได้รับเงินไปแล้วอาจไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ อีกทั้งคุณภาพของปุ๋ยที่ กยท. จัดหาได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร สามารถตรวจสอบได้

“ชนิดและปริมาณปุ๋ยนั้นเป็นไปตามความต้องการใช้ของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางที่อยู่ในการสงเคราะห์ โดยมีการยางแห่งประเทศไทยระดับจังหวัด ประสานกับกลุ่ม/สถาบันเกษตรกร ในการเข้าร่วมโครงการ ซึ่งการจัดหาปุ๋ยครั้งนี้ดำเนินการในพื้นที่ปลูกยางพาราหลัก 18 จังหวัด (ได้แก่ ภาคใต้ 14 จังหวัด รวมกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยอง จันทบุรี และตราด) เป็นปุ๋ยเคมี จำนวน 34,724.2 ตัน (ประกอบด้วย แม่ปุ๋ย ปุ๋ยเคมีผสมสูตร 20-8-20 และปุ๋ยเคมีผสมสูตร 25-8-18) และปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 30,000 ตัน รวมปริมาณทั้งหมด 64,724.2 ตัน ที่สำคัญ มีการตรวจรับและสุ่มตัวอย่างปุ๋ยเพื่อส่งวิเคราะห์ ที่ปลายทางจุดจ่าย มีประมาณ 300 จุด ซึ่งมีตัวแทนเกษตรกรและเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรกรรมการตรวจวิเคราะห์ปุ๋ย ก่อนที่จะส่งปุ๋ยที่มีคุณภาพถึงมือเกษตรกรชาวสวนยางผู้ใช้ต่อไป” นายสุนันท์ กล่าวย้ำ

ร้องแม่ค้าขายมะขามหวานมีแต่เชื้อราแถมโกงตาชั่งในงานกาชาดมุกดาหาร

เมื่อวันที่ 10 มกราคม ได้มีประชาชนที่มาเที่ยวงานกาชาดและ 36 ปี ของดีจังหวัดมุกดาหาร เข้าร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดมุกดาหารว่าได้ซื้อมะขามหวานที่มีแม่ค้านำมาขายในบริเวณงาน แต่เมื่อนำไปรับประทานที่บ้านแล้วพบว่าไม่ใช่มะขามหวานและมีแต่เชื้อราทำให้ไม่สามารถรับประทานได้ ทั้งที่มีป้ายบอกว่าเป็นมะขามหวานคัดพิเศษกิโลกรัมละ 140 บาท อีกทั้งตาชั่งก็ไม่ตรงมีน้ำน้อยกว่าที่ปรากฏ และยังได้มีผู้นำเรื่องดังกล่าวไปลงโพสต์ในสื่อโซเชียล เพื่อแจ้งเตือนให้ระมัดระวัง

ต่อมา นายสุดเขต จันทรสาขา ผู้อำนวยการกลุ่มกำกับและพัฒนาเศรษฐกิจการค้า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดมุกดาหารนายอดุลย์ ศิริมันต์ หัวหน้าฝ่ายป้องกันและรักษาความสงบ เทศบาลเมืองมุกดาหาร และตัวแทนสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดมุกดาหาร ร่วมกันไปตรวจสอบร้านขายมะขามหวานดังกล่าวภายในบริเวณงานกาชาด พบว่าความเป็นจริงดังที่มีการร้องเรียน โดยเมื่อทำการแกะเปลือกมะขามออกดูพบมีเชื้อราเกาะอยู่ตามเนื้อมะขามเป็นจำนวนมาก เมื่อเจ้าหน้าที่สอบถามกับเจ้าของร้านว่าแบบนี้จะรับประทานได้หรือไม่ ซึ่งเจ้าของร้านขายมะขามก็ตอบยอมรับว่ารับประทานไม่ได้ และแจ้งว่าไม่ทราบว่ามะขามที่นำมาขายจะมีลักษณะแบบนี้ โดยมะขามทั้งหมดมีเจ้าสวนมะขามเป็นผู้นำมาขายส่งให้ในราคาคันรถละ 150,000 บาท และเจ้าหน้าที่ได้ทดสอบตราชั่งก็ปลากฎมีน้ำหนักน้อยกว่ามาตรฐานจึงได้ตักเตือนให้ยุติการขาย โดยในวันพรุ่งนี้ (11 มกราคม ) ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดมุกดาหาร ได้มีหนังสือเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบสินค้าอุปโภคเพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป

วันที่ 10 มกราคม ที่สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจังหวัดชุมพร นางวิริยา แก่นแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานชุมพร-ระนอง ให้การต้อนรับ นางพิชญ์สินี ทัศน์นิยม ผู้ช่วย ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานตรัง และคณะผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตรัง ที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงฝั่งทะเลอ่าวไทย และอันดามัน

ด้วยการนำผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวจากจังหวัดตรังกว่า 20 ราย เดินทางสำรวจแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชุมพร-ระนอง ด้วยการแลกเปลี่ยนการขาย“ Table Top Sale” กับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดชุมพร ภายใต้แคมเปญ “เก๋ายกก๊วน ชวนเที่ยวตรัง” เพื่อเพิ่มช่องทางให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวทั้ง 2 จังหวัดได้มีโอกาสเปิดตลาดแหล่งท่องเที่ยวให้มีความหลากหลายและมีตัวเลือกแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น และสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวในภาคใต้ด้วยกัน

นางวิริยา กล่าวว่า ทางสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานชุมพร-ระนอง จัดแผนงานด้านการท่องเที่ยว ในปี 2561 ด้วยการประสานแผนงานกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดตรัง เปิดเส้นทางแหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยง 2 จังหวัด โดยผู้ประกอบการจังหวัดชุมพร และ ตรัง จัดทำแพ็คเกจนำเที่ยวของแต่ละจังหวัด

เบื้องต้นทาง ททท.ชุมพร-ระนอง และ ททท.ตรัง จัดกิจกรรมร่วม นำผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตรัง เดินทางมาสำรวจแหล่งท่องเทียวจังหวัดชุมพรและระนอง พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ ผู้ประกอบการทั้ง 2 จังหวัดได้พบปะแลกเปลี่ยนเสนอขายสินค้าด้วยกัน ด้วยการจัดทำเป็นแพ็กเก็ต ขายแหล่งท่องเที่ยวด้วยโปรโมชั่นพิเศษรับปีจอ

“ที่ผ่านมาจังหวัดชุมพร-ระนอง มีนักท่องเที่ยวจากตรัง สตูล พัทลุง และจังหวัดอื่นๆรวมถึงกรุงเทพฯ เดินทางมาเทียวเป็นจำนวนมาก การท่องเที่ยวมีการขยายตัว ซึ่งทางเรามีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเสนอขายแหล่งท่องเที่ยวอย่างหลากหลาย ทั้งทะเล กิจกรรมดำน้ำ ท่องเทียวชุมชน เชิงนิเวศ อาหาร กาแฟโรบัสต้า ซึ่งเป็นกาแฟที่ดีที่สุดของประเทศไทย

ในส่วนของระนองก็จะเน้นน้ำแร่ แช่น้ำแร่จากุดชี่ และบริการ well net ในสถานประกอบการสปาให้กับผู้ที่มาพักในพื้นที่ และซิกเนเจอร์เมนูอาหาร เป็นตัวนำเสนอเพื่อสร้างจุดสนใจให้แก่นักท่องเที่ยวเพื่อสร้างจุดสนใจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้สายการบินไทยแอร์เอเชียได้มีโปรแกรมที่จะเปิดเส้นทางสายการบินที่จังหวัดระนองในช่วงต้นปีอีกด้วย

นางพิชญ์สินี กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือของสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดตรัง ประสานไปยัง ททท.ชุมพร ภายใต้โครงการ “เก๋ายกก๊วน ชวนเที่ยวตรัง” เชิญชวนพ่อแม่พี่น้องชาวชุมพร ระนอง ไปเที่ยวจังหวัดตรังในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ 2561

ซึ่งมีกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวหลากหลายกิจกรรม อาทิ กิจกรรมวันแห่งความรัก วิวาห์ใต้สมุทร์ 12-14 กุมภาพันธ์ ซึ่งปีนี้มีความพิเศษรับคู่บ่าวสาว 18 คู่เท่ากับปี 2018 จากนั้น 14-16 กุมภาพันธ์ กิจกรรมแข่งลูกลม ชมถ้ำเขาช้างหาย เป็นการจัดกิจกรรมวิถีตรังแบบดั้งเดิม นักท่องเที่ยวจะสามาถหาคำคอบได้ ลูกลมคืออะไร ด้วยการสวมชุดใส่ผ้าถุง หิ้วปินโต ทานข้าวริมคันนา เป็นประเพณีหนึ่งเดียวในประเทศไทย

“วันที่ 15-18 กุมภาพันธ์ เป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน ททท.จะเปิดเส้นทางท่องเที่ยวสีขาว กินบุญอุ่นใจในเมืองตรัง เช่นแต่งงานมาหลายปียังไม่มีบุตร สามารถไปขอพรศาลเจ้าไหนเพื่อขอลูก ได้ หรือการขอให้คู่รักซื่อสัตย์เข้าศาลเจ้ากวนอู เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์และยุติธรรมดังนั้นจึงเป็นเดือนที่ทาง ททท.ตรัง จัดกิจกรรมมากมาย การนำผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจากจังหวัดตรังมาจังหวัดชุมพร จะเชื่อมโยงขายสินค้าท่องเที่ยวด้วยกัน” นางพิชญ์สินี กล่าว

สำหรับกิจกรรมสำรวจแหล่งท่องเที่ยวของผู้ประกอบการธุรกิจจังหวัดตรังครอบครัวม้าน้ำ – ชมวิวเขามัทรี – ชิมกาแฟหอมกรุ่น – อาบน้ำแร่เมืองระนอง- ล่องเรือไทม์แมชชีน ร.ศ.109 ชมความสวยงามของเมืองชุมพรแบบ 360 องศาชุมชนถ้ำสิงห์ ชิมกาแฟดริ๊ป ชิมกาแฟโรบัสต้าหอมกรุ่น ท่าเทียบเรือประภาคารระนองลงเรือโบราณไทม์แมชชีนย้อนเวลาไปในยุคแร่สมัย ร.ศ.109 บนเส้นทางตามรอยเสด็จ ร.5 บริการท่านด้วยชุดโบราณระนองชายหญิงอันแสนสวยงาม เที่ยวชมเกาะสรนีย์ เกาะคณทีย์ ลิตเติ้ลเวนิสเมืองไทย และชมหมู่บ้านชาวประมงชมความงามของอาทิตย์อัสดงทะเลทองคำที่สวยที่สุดแห่งหนี่งของแหลมมาลายู

เมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 11 ม.ค. น.ส.พะเยาว์ เมืองงาม ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก จ.สงขลา เปิดเผยว่า ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ออกประกาศฉบับที่ 8 (8/2561) เรื่อง คลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทย จากอิทธิพลของบริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีน แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนแล้ว

ลักษณะดังกล่าวทำให้ในช่วงวันที่ 11-15 ม.ค. 2561 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ทำให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนหนักบางแห่ง

น.ส.พะเยาว์ กล่าวว่าคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรง ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งทะเล ตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส ระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่ซัดเข้าหาฝั่ง ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 11-15 ม.ค.นี้ และขอให้ประชาชนติดตามข่าวพยากรณ์อากาศจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออกอย่างใกล้ชิด

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 ที่ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน บ้านโนนรัง หมู่ที่ 22 ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น นายชุมพล เดชดำนิล พลังงานจังหวัดขอนแก่น กระทรวงพลังงาน นำสื่อมวลชน ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ลงพื้นที่ ดูงานการเดินหน้าขยายผลเพิ่มจำนวนเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในชุมชนให้สอดคล้องกับศักยภาพและปัญญาของชุมชน พร้อมปลูกฝังและเปลี่ยนทัศนคติคนในชุมชนให้ใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า โดยมีนายวิรัตน์ โพธิ์ศรีเรือง ประธานศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าว ชุมชนตำบลสาวะถี เป็นวิทยากรให้ความรู้และนำชมสถานที่

นายชุมพล เปิดเผยว่า การส่งเสริมพลังงานทดแทนในระดับชุมชนเป็นการขยายผลเพิ่มจำนวนเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในชุมชนและสอดคล้องกับศักยภาพและปัญหาของชุมชนรวมทั้งสนับสนุนแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งของประชาชน และเกษตรกรในพื้นที่ โดยในการดำเนินในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน บ้านโนนรัง ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นการส่งเสริมเทคโนโลยีเตาเศรษฐกิจประยุกต์แบบร้อยเอ็ด และโรงอบแห้ง ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดระยะเวลาในการผลิต ซึ่งจากเดิมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน มีการแปรรูปข้าวด้วยวิธี การนึ่งข้าวโดยใช้เตาแบบ 3 ขา และตากข้าวเปลือกด้วยแสงแดด ซึ่งจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ แต่หลังจากมีการติดตั้งเทคโนโลยีพลังงานทดแทนดังกล่าวแล้ว จะช่วยลดระยะเวลาให้เหลือเพียง 2 ถึง 3 วัน ซึ่งช่วยให้เกิดประสิทธิภาพของการแปรรูปข้าวให้ดียิ่งขึ้น

“โครงการดังกล่าวนอกจากจะผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานทดแทนแล้วยังช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเพิ่มขึ้น โดยรายได้ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ผลิตเม็ดพันธุ์ข้าวชุมชน บ้านโนนรัง อยู่ที่ประมาณ 84,000 ถึง 250,000 บาท และที่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชบ้านป่าหวายนั่ง มีรายได้ประมาณ 50,000 – 56,000 บาท ซึ่งช่วยให้ชุมชนมีรายได้ที่ยั่งยืน และยังได้ช่วยเปลี่ยนทัศนคติของคนในชุมชนให้ใช้พลังงานทดแทนอย่างรู้คุณค่า พร้อมๆ ไปกับการตระหนักเห็นถึงความสำคัญของพลังงานทดแทนมากยิ่งขึ้น”นายชุมพลกล่าว

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศในปัจจุบัน มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 61,733 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 81% ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 37,813 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็น 73% ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2560 จำนวน 9,643 ล้านลบ.ม.

เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 19,707 ล้านลบ.ม. หรือ 79% ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 13,011 ล้านลบ.ม.

โดยทางกรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2560/2561 ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 – 30 เมษายน 2561 เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทานทั่วประเทศ รวมกัน 25,067 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็นการใช้น้ำเพื่อการเกษตร 15,952 ล้านลบ.ม. เพื่อการอุปโภค-บริโภค 2,167 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการรักษาระบบนิเวศและอื่น ๆ 6,948 ล้านลบ.ม. ปัจจุบันทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้ว 8,873 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็น 35% ของแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง

สำหรับในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้วางแผนการใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลัก รวม 14,187 ล้านลบ.ม. แบ่งเป็นการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้ง ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 – 30 เมษายน 2560 จำนวน 7,700 ล้านลบ.ม. แยกเป็นการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 1,140 ล้านลบ.ม. รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 1,450 ล้านลบ.ม. และการเกษตร 5,110 ล้านลบ.ม. ส่วนที่เหลืออีก 6,487 ล้านลบ.ม. จะสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2561 ทั้งนี้ได้กำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาไว้ทั้งสิ้น 6.26 ล้านไร่

ประกอบด้วย ข้าวนาปรัง 5.17 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.06 ล้านไร่ และพืชอื่นๆ 1.03 ล้านไร่ ปัจจุบันพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 2,387 ล้านลบ.ม. หรือ 31% ของแผนจัดสรรน้ำฯ

ในขณะที่ฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญกับพายุฤดูหนาวอย่างรุนแรง อีกซีกโลกหนึ่งที่แทบจะไม่เคยเจอกับอากาศหนาวมาก่อน อย่างทะเลทรายซาฮารา ก็ได้เจอะได้เจอกับหิมะปกคลุมไปทั่วทะเลทราย บางที่หิมะหนาถึง 40 เซนติเมตร ซึ่งถือเป็นหิมะที่ไม่ค่อยปรากฏให้เห็นบ่อยนักสำหรับทะเลทรายซาฮารา ทะเลทรายที่ใหญ่ที่สุดของโลก

โดยที่เมืองเอน เซฟรา ของประเทศแอลจีเรีย ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ใกล้กับทะเลทรายซาฮารามากที่สุด และได้ชื่อว่าเป็นประตูสู่ทะเลทราย ที่ไม่เคยมีหิมะตกลงมานานเกือบ 40 ปีแล้ว ก็ปรากฏมีหิมะตกเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2560 และปีนี้ก็เป็นปีที่ 2 ที่มีหิมะตกที่เมืองนี้ โดยก่อนหน้านี้เมื่อปี 2522 เคยเกิดพายุหิมะขึ้นที่ประเทศแอลจีเรียมาแล้ว แต่เกิดเพียงแค่ราว 30 นาทีเท่านั้น

รายงานระบุว่า พื้นที่บริเวณทะเลทรายซาฮารามีอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงฤดูร้อนอยู่ที่ราว 100 องศาเซลเซียส แต่ในช่วงฤดูหนาวจะมีอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะในช่วงกลางคืนจะเย็นมาก เหมือนกับทะเลทรายทั่วๆไป โดยช่วงเดือนธันวาคม จะมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ราว 50 องศาเซลเซียส

อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศที่รุนแรงเหล่านี้ ไม่ได้เกิดแค่สหรัฐอเมริกา หรือทะเลทรายซาฮารา หากแต่ยังมีหลายเมืองที่มีสภาพอากาศรุนแรงเกิดขึ้น อย่างเช่นที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย มีอุณหภูมิสูงขึ้นทะลุ 47.3 องศาเซลเซียส ซึ่งร้อนที่สุดในรอบ 79 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตรังว่า เทศบาลเมืองกันตัง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง โดยการบริหารของ นายสรนนท์ จิโรจน์มนตรี นายกเทศมนตรีเมืองกันตัง ได้พัฒนาควนตำหนักจันทร์ ซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขาบนถนนป่าไม้ กลางตัวเมือง ในเนื้อที่ประมาณ 350 ไร่ ให้เป็นสวนสาธารณะ เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย และท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ อีกทั้งยังเป็นสถานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ในการรับเสด็จองค์รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งเสร็จประพาสเมืองกันตัง เมื่อปี 2452 ครั้งยังทรงพระอริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอราธิราชสยามมกุฎราชกุมาร

นอกจากนั้น ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี 2484 simpleweightlossplans.com ทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกตามที่ต่างๆ ในประเทศไทย และส่งกำลังมาประจำตามจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ รวมทั้งที่ควนตำหนักจันทร์ด้วย กระทั่งหลังจากสิ้นสุดสงคราม สิ่งก่อสร้างต่างๆ ได้ถูกรื้อถอนไปเกือบหมด คงเหลือแต่ร่องรอยของการขุดอุโมงค์ หลุมหลบภัย สนามเพลาะ และปืนใหญ่ซึ่งต่อมายังมีการปลูกไม้ดอก ไม้ประดับ สนามหญ้า รวมทั้งก่อสร้างศาลาที่พัก ร้านค้า น้ำตก จุดชมวิว ทางเดิน หรืออื่นๆ เพื่อในอนาคตจะได้ใช้เป็นสถานที่จัดภูมิทัศน์วัฒนธรรมของจังหวัดตรัง

นอกจากนี้ที่ทำการปกครองอำเภอกันตัง ได้รับงบประมาณจากทางจังหวัด จำนวน 3.4 ล้านบาท ให้ปรับปรุงภูมิทัศน์วัฒนธรรมควนตำหนักจันทน์ ใน 2 จุดใหญ่ ซึ่งจุดแรกคือ การปรับปรุงอุโมงค์ของเดิม ที่ยาว 33 เมตร และ 17 เมตร พร้อมทำผิวภายในด้วยปูนปั้น ให้มีสภาพมั่นคงแข็งแรง

นอกจากนั้น ยังมีการปรับปรุงบันไดทางขึ้นอุโมงค์ ซุ้มประตูทางเข้าออก ทางเดิน พร้อมระบบไฟฟ้าแสงสว่าง รวมทั้งสนามเพลาะ และหลุมหลบภัย ให้มีความปลอดภัย ส่วนอีกจุดที่มีการปรับปรุงด้วยก็คือ การปรับปรุงลานชมวิว

วีเอ็นยูฯ ร่วมกับพอสซิทิฟ แอคชั่น พับลิเคชั่น จัดงานประชุมวิชาการทางเทคนิคชั้นสูงสำหรับอุตสาหกรรมสุกร, สัตว์ปีก และโคนม ดันกรุงเทพสู่ศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนความรู้สำหรับวงการปศุสัตว์เอเชียในเดือนมีนาคม 2561 นี้!

วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด ร่วมกับพอสซิทิฟ แอคชั่น พับลิเคชั่น สื่อชั้นแนวหน้าจากประเทศอังกฤษ พร้อมประกาศการจัดงานประชุมวิชาการทางเทคนิคชั้นสูงสำหรับอุตสาหกรรมสุกร, สัตว์ปีก และโคนม หรือ “Pig, Poultry & Dairy Focus Asia” (PP&DFA 2018) ซึ่งจัดมาอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 8 นับตั้งแต่ปี 2004 หรือ พ.ศ. 2547

สำหรับในปีนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 มีนาคม 2561 ณ โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ งานประชุมวิชาการทางเทคนิคชั้นสูงนี้เป็นงานสัมมนาภาษาอังกฤษทั้งหมด โดยผู้จัดงานเผยตั้งใจเลือกประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการจัดงานเพราะนานาชาติต่างยกให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ที่น่าจับตามองในระดับภูมิภาค สถานที่ตั้งของประเทศไทยมีความสะดวกสบายและง่ายต่อการเดินทางของนานาชาติ

งานประชุมวิชาการครั้งนี้จัดขึ้นอย่างอัดแน่น 3 วันเต็ม โดยมีการเชิญวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญของแต่ละอุตสาหกรรมมากกว่า 90 รายจากทั่วโลก ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในสาขาการจัดการ, โภชนาการ, สัตวแพทย์ และการผสมพันธุ์สัตว์ มาร่วมอัพเดทองค์ความรู้ งานวิจัย และประเด็นสำคัญต่างๆ ที่ผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ไม่ควรพลาด

Pig Focus Asia 2018 งานประชุมวิชาการทางเทคนิคชั้นสูงสำหรับอุตสาหกรรมสุกร มุ่งเน้นไปที่การประเมินความเสี่ยงของสารพิษจากเชื้อราในอาหารสัตว์, การพัฒนาอาหารสัตว์สำหรับอนาคต, ยาปฏิชีวนะสำหรับสัตว์, การเพิ่มผลกำไรในการทำธุรกิจสุกร, กลยุทธ์การควบคุม Mycoplasma Immunomodulators, การใช้เส้นใยที่ไม่ละลายน้ำที่ส่งผลต่อคุณภาพลูกสุกร, บทบาททางโภชนาการ และยาลดการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ เป็นต้น ซึ่งงานประชุมจะจัด 3 วันเต็ม

Poultry Focus Asia 2018 งานประชุมวิชาการทางเทคนิคชั้นสูงสำหรับอุตสาหกรรมสัตว์ปีก มุ่งเน้นไปที่การจัดระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ให้กลายเป็นข้อมูลทรงประสิทธิภาพ, การดูแลรักษาสัตว์ปีก, การใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์, การผลิตสัตว์ปีกอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน, การเพิ่มผลผลิตไข่ระดับพรีเมี่ยมคุณภาพสูง, กลยุทธ์ Phytogenic เพื่อเพิ่มผลกำไร, การควบคุมและป้องกัน Merek’s disease, วัคซีน In-Ovo และ Mycotoxincosis, การเลี้ยงสัตว์ด้วยระบบควบคุมความเครียด, แบคทีเรียที่มีประโยชน์ และการควบคุมความเสี่ยงของเชื้อโรคที่มักระบาดในสัตว์ปีก เป็นต้น ซึ่งงานประชุมจะจัด 3 วันเต็ม

Dairy Focus Asia 2018 งานประชุมวิชาการทางเทคนิคชั้นสูงสำหรับอุตสาหกรรมโคนม จัดขึ้น 2 วันเต็มในวันที่ 21-22 มีนาคม 2561 การประชุมจะมุ่งเน้นไปที่ประเด็นสำคัญต่างๆ อาทิ การนำวิทยาศาสาตร์มาประยุกต์ใช้ในระบบรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ, การประเมินความเสี่ยงของสารพิษจากเชื้อราในกระบวนการผลิตอาหารสัตว์, การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม, การปรับสูตรการบริโภคของสัตว์ด้วยกระบวนการย่อยสลายด้วยเส้นใย, การปรับปรุงคุณภาพน้ำนม, การควบคุมระบบ Oxidative stress, การเพิ่มผลกำไรของฟาร์ม ตลอดจนสุขอนามัยของโค และการป้องกันโรคเต้านมอักเสบ เป็นต้น

ใครที่เหมาะจะเข้าร่วมงานประชุมวิชาการทางเทคนิคชั้นสูง “Pig, Poultry & Dairy Focus Asia” วิทยากรรับเชิญ กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมงานประชุมในครั้งนี้ควรเป็นผู้ที่มีพื้นฐานและความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการทางเทคนิคชั้นสูงและหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาการอุตสาหกรรมปศุสัตว์ให้ทันสมัยในอนาคต