นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย

การยางแห่งประเทศไทยได้รับเกียรติจาก “สมาคมยางธรรมชาติแห่งอาเซียน” “The Association of Natural Rubber Producing Countries” (ANRPC) เป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านประสิทธิภาพในห่วงโซ่อุปทาน (Towards Supply-Chain Efficiency) ซึ่งมีประเทศสมาชิกเข้าร่วมจำนวน 9 ประเทศ จากทั้งหมด 12 ประเทศ

โดยการหารือร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกในครั้งนี้ เป็นการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ราคายางตกต่ำ ซึ่งเป็นปัญหาต่อเกษตรกรชาวสวนยางทุกประเทศที่มีพื้นที่ปลูกยาง รวมทั้งประเทศไทย แต่ปัญหาดังกล่าวไม่ได้มาจากการที่ปริมาณยางล้นตลาด แต่เกิดจากการการซื้อขายกันที่ตลาดยางเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีการซื้อขายเก็งกำไรล่วงหน้า และในที่ประชุมกำลังหารือทางออกร่วมกัน เพื่อจะหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำร่วมกันโดยพัฒนาระบบห่วงโซ่ อุปทาน

ในส่วนของ กยท. ได้อนุมัติเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 250 ล้านบาท ให้กับตลาดกลางทั้ง 6 แห่งทั่วประเทศ คือที่จังหวัดสงขลา ยะลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี หนองคาย และบุรีรัมย์ ที่มีโรงงาน แปรรูปยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง แล้วก็น้ำยางข้น เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับตลาดในการจ่ายให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง แบบวันต่อวัน เนื่องจากปัญหาที่ผ่านมาคือตลาดส่วนกลางไม่มีเงินมาจ่ายให้กับชาวสวนยางที่เอายางมาขาย ต้องรอให้ผู้ซื้อนำเงินมาให้ก่อน ซึ่งเป็นปัญหาต่อเกษตรกรสวนยางพอสมควร กยท. จึงได้จัดสรรเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 250 ล้านบาท ให้กับ 6 ตลาด เมื่อชาวสวนยางมาขายยางก็ได้เงินกลับบ้านภายในวันเดียวกัน แล้วทางตลาดก็ไปเก็บจากผู้ซื้อในวันรุ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยบรรเทาความลำบากให้กับชาวสวนยางในระดับหนึ่ง คาดว่าจะสามารถอนุมัติวงเงินดังกล่าวได้ภายในสัปดาห์หน้า

ยืนยันยังไม่พบการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง คาดโทษหากพบดำเนินคดีขั้นเด็ดขาด

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กำชับสหกรณ์จังหวัดติดตามการใช้โครงการไทยนิยมยั่งยืน 1,791.5341 ล้านบาท หลังจัดสรรให้สหกรณ์ 307 แห่งไปจัดสร้างอุปกรณ์การตลาดและซื้อเครื่องมือแปรรูปผลผลิตการเกษตร ย้ำทุกขั้นตอนต้องทำด้วยความรอบคอบและรัดกุม คาดว่าจะประหยัดงบประมาณลง 57.499 ล้านบาท พร้อมยืนยันขณะนี้ตรวจสอบไม่พบการทุจริตหรือข้อผิดปกติในการจัดซื้อจัดจ้างของสหกรณ์

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้รับข้อสั่งการจาก นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ติดตามการใช้งบไทยนิยมยั่งยืนอย่างใกล้ชิด ภายหลังจากได้จัดสรรงบกลางปีวงเงิน 1791.5341 ล้านบาท อุดหนุนให้สหกรณ์การเกษตรที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ 307 แห่ง ใน 67 จังหวัดนำไปจัดสร้างสร้างฉางโกดัง ลานตาก เพื่อเก็บชะลอผลผลิตข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และจัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือเพื่อแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร คาดว่าจะช่วยชะลอและกักเก็บผลผลิตการเกษตรเพื่อทยอยกระจายสู่ตลาดได้ไม่น้อยกว่า 900,000 ตัน

ทั้งนี้ ก่อนที่จะประกาศใช้พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯหรืองบกลางปี กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ขอตั้งงบประมาณตามหลักเกณฑ์ เนื่องจากครุภัณฑ์ในโครงการจัดซื้อเครื่องมือแปรรูปผลผลิตการเกษตรบางประเภท ไม่มีกำหนดราคามาตรฐานไว้ในรายการของสำนักงบประมาณ แต่ยังคงต้องปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสำนักงบประมาณ จึงให้สหกรณ์แนบใบเสนอราคาจากผู้ประกอบการอย่างน้อย 3 ราย ส่วนรายการสิ่งก่อสร้างต้องมีรายละเอียดตามที่กำหนด และต้องมีแบบแปลนที่วิศวกรรับรอง หลังจากนั้นคณะทำงานจัดทำคำของบประมาณฯ จะพิจารณาขอตั้งงบบประมาณเสนอสำนักงบฯ เมื่อพ.ร.บ.งบกลางปีมีผลบังคับใช้ สหกรณ์จะต้องปฏิบัติตามและถือใช้ระเบียบจัดซื้อจัดจ้างที่อ้างอิงจากระเบียบของทางราชการ

ขณะนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดสรรงบประมาณให้สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งดำเนินการโดยคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์เอง และได้บริษัทผู้รับจ้างแล้วจำนวน 278 แห่ง ยังอยู่ระหว่างการจัดหาผู้รับจ้างอีก 36 แห่ง ซึ่งทุกสหกรณ์จะยึดระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างที่นายทะเบียนสหกรณ์แนะนำให้ถือใช้ และทุกขั้นตอนสหกรณ์จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการเข้าร่วมกำหนดราคากลาง การรับซองประกวดราคา การพิจารณาผลการจัดซื้อจัดจ้าง และการตรวจรับพัสดุ จะมีภาคประชาชนเข้ามาร่วมในทุกขั้นตอน

และเป็นการประกวดแข่งขันราคากันอย่างเปิดเผย ซึ่งกรมฯ ได้สั่งการให้สหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปกำกับดูแลให้สหกรณ์ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยความโปร่งใส เป็นไปตามระเบียบขั้นตอนของการจัดซื้อจัดจ้าง และห้ามไม่ให้ข้าราชการของกรมส่งเสริมสหกรณ์ไปชี้นำในการจัดหาผู้รับจ้างหรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง แอบอ้างเพื่อเรียกรับผลประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจ้างของสหกรณ์โดยเด็ดขาด ซึ่งได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด หากพบพื้นที่ใดมีความไม่ชอบมาพากลหรือมีการทุจริตเกิดขึ้นให้ดำเนินการลงโทษขั้นเด็ดขาดทันที

“แต่ละสหกรณ์ก็ต้องทำตามแบบที่เสนอขอมา ว่าสิ่งก่อสร้างแบบไหน ครุภัณฑ์แบบไหนที่จำเป็นต้องใช้ เช่น รถโฟล์คลิฟ รถตัก แม้ว่าจะสามารถยกของได้ในปริมาณ 2 ตันเท่ากัน แต่อาจจะราคาต่างกัน เนื่องจากคุณสมบัติและสมรรถนะในการใช้งานของรถไม่เท่ากัน เช่น สามารถยกได้สูงกว่าและยาวกว่า เครื่องยนต์มีความแรง 2,000 ซีซี หรือ 3,000 ซีซี สหกรณ์จะเป็นผู้กำหนดคุณลักษณะของเครื่องมือและอุปกรณ์ เพื่อดำเนินการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งกรมฯได้กำหนดว่าจะต้องมีสมาชิกสหกรณ์เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการด้วยอย่างน้อย 1 คน

เพื่อตรวจสอบทุกขั้นตอนให้เกิดความโปร่งใสและมั่นใจว่าสหกรณ์ดำเนินการอย่างเปิดเผย ซึ่งผลการจัดซื้อจัดจ้างขณะนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและไม่พบว่ามีการกระทำผิดระเบียบ ซึ่งการแข่งขันราคา ส่วนใหญ่สหกรณ์จะจัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือได้ในราคาที่ต่ำกว่างบประมาณที่ขอไป สามารถประหยัดงบประมาณลง 57.499 ล้านบาท ซึ่งแสดงว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเกิดการแข่งขันอย่างมีอิสระ ไม่มีการล๊อคสเปค ซึ่งกรมฯได้วางระบบการกำกับติดตามการดำเนินโครงการนี้ไว้อย่างเข้มข้นรัดกุม เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องทุจริต และหากตรวจพบในภายหลังว่าสหกรณ์ใดมีการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดทันที” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว

นายสุรัตน์ มุนินทรวงศ์ นายกสมาคมชาวไร่สับปะรดไทย รองประธานสภาเกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า หลังจากการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านการตลาดและการส่งออกสับปะรดที่กระทรวงพาณิชย์เพื่อวางแนวทางแก้ปัญหาสับปะรดล้นตลาดใน 29 จังหวัดทั่วประเทศ ที่มีผลผลิตส่วนเกินรวมกว่า 6 หมื่นตัน ล่าสุดมาตรการช่วยเหลือระยะสั้นแต่ละจังหวัดไม่มีความคืบหน้า หลังจากหลายหน่วยงานรัฐช่วยเหลือรับซื้อผลผลิตจากชาวไร่เพื่อเร่งระบายสับปะรดผลสดไปจำหน่าย

“ทุกจังหวัดจะรับซื้อผลฃสดได้ไม่เกิน 4,000 ตัน สำหรับผลผลิตที่เหลือไม่สามารถส่งขายโรงงานแปรรูปได้ คาดว่าช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้สับปะรดผลสดก็จะเสียหายทั้งหมด แม้ว่จะนำไปขายราคาถูก เพื่อนำไปผลิตอาหารสัตว์ก็ไม่คุ้มกับค่าจ้างแรงงาน บางรายจึงปล่อยทิ้งเน่าคาไร่ สำหรับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดในประเทศ ขณะนี้ราคาหน้าโรงงานเหลือกิโลกรัมละ 1.80-2 บาท ที่ผ่านมาเกษตรกรที่มีโควตาส่งสับปะรดให้โรงงานตั้งข้อสังเกตกรณีโรงงานแปรรูปบางแห่งตัดโควต้าเดิมแต่สั่งซื้อสับปะรดจากต่างจังหวัดที่บวกรวมค่าขนส่งมีต้นทุนสูงแทนการรับซื้อสับปะรดของเกษตรกรในพื้นที่” นายสุรัตน์ กล่าว

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นางดวงพร รอดพยาธิ์ ที่ปรึกษา รมช. พาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะเดินทางพร้อมกับกรมการค้าต่างประเทศเข้าร่วมประชุมความร่วมมือทางการค้าข้าวไทย-เวียดนาม ครั้งที่ 14 ระหว่างสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยและสมาคมอาหารเวียดนาม ซึ่งสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล หัวหิน รีสอร์ท จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมีหน่วยงานภาครัฐของทั้ง 2 ประเทศ เข้าร่วมด้วย ในการประชุมครั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ข้าวและนโยบายของแต่ละประเทศ ซึ่งทั้ง 2 ประเทศ ได้มีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากขึ้น

โดยในปี 2561 เวียดนาม คาดการณ์การส่งออกข้าว อยู่ที่ 6.2 ล้านตัน ในขณะที่ไทยคาดว่าจะมีการส่งออกข้าวที่ 10 ล้านตัน และในช่วงครึ่งปีหลังของ ปี 2561 มีการคาดการณ์ว่า อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ และประเทศในภูมิภาคแอฟริกาจะมีความต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น ในขณะที่จีนจะชะลอการซื้อข้าว เนื่องจากมีการนำเข้าข้าวทางชายแดนจากเมียนมาและยังคงระบายสต๊อกข้าวภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่าย ในฐานะประเทศผู้ส่งออกข้าวหลักให้ความสำคัญกับความมั่นคงและความปลอดภัยทางด้านอาหาร (Food Security and Food Safety) รวมทั้งการสร้างความสมดุลและความเป็นธรรมในตลาดค้าข้าว

การประชุมความร่วมมือทางการค้าข้าว ไทย-เวียดนาม ดังกล่าวนอกจากจะเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมืออันดีระหว่างไทยและเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวที่สำคัญของโลกแล้ว ยังเป็นโอกาสดีที่จะได้แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ข้าวที่เป็นประโยชน์ และหารือแนวทางแก้ไขอุปสรรคทางการค้าข้าวร่วมกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าข้าวของทั้ง 2 ประเทศ โดยภาครัฐพร้อมสนับสนุนการรวมกลุ่มและความร่วมมือทางการค้าข้าวของภาคเอกชน ซึ่งจะส่งผลให้สามารถรักษาระดับราคาข้าวให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นและเกิดประโยชน์ต่อทั้ง 2 ประเทศ อย่างยั่งยืนต่อไป

นายถวิล มั่งนุ้ย ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 11 เปิดเผยว่า ตนเองได้รับมอบหมาย จาก นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ให้เร่งความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดภายหลังราคาตก โดยล่าสุดทางสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 11 ได้รับซื้อสับปะรดจากเกษตรกร จำนวน 10 ตัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและหมอดินอาสาที่ประสบปัญหา ราคาสับปะรดตกต่ำ ในการนี้สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 11 ได้แจกจ่ายสับปะรดให้สถานีพัฒนาที่ดินในสังกัดทั้ง 7 จังหวัด นำไปผลิตน้ำหมักชีวภาพ พด.2 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอีกทางหนึ่ง

สารเร่ง พด.2 คือ กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีความสามารถย่อยสลายวัสดุเหลือใช้จากพืชและสัตว์ที่สดหรืออวบน้ำ ในสภาพที่ไม่มีออกซิเจน จะได้ของเหลวที่ประกอบด้วยกรดอินทรีย์และฮอร์โมน สามารถนำไปใช้ในรูปน้ำหมักชีวภาพ เหมาะสำหรับพืชผักและไม้ผล

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถขอรับบริการสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ได้ที่สำนักงานพัฒนาที่ดิน ในเขต 1-12 สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านในชุมชน หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน โทร. 02-981-1565 หรือ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมพัฒนาที่ดิน โทร. 02-579-8515

กรมการค้าภายใน เอาจริง! จับผู้นำเข้ากระเทียม จาก ตปท. ที่ไม่มีใบอนุญาตการขนย้าย พบมีกว่า 1,500 กระสอบ พร้อมดำเนินคดีตามกฎหมาย

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมการค้าภายใน ได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีการลักลอบขนย้ายกระเทียมนำเข้าจากต่างประเทศ มาจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่งผลให้กระเทียมในประเทศราคาตกต่ำ จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่สายตรวจพิเศษเข้าตรวจสอบ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 เวลาประมาณ 20.00 น. ณ ตลาดไท อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

ทั้งนี้ ตรวจพบรถบรรทุกกระเทียมนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่มีหนังสืออนุญาตการขนย้าย จำนวน 1,500 กระสอบ (กระสอบละ 10 กก.) เจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวและขอตรวจเอกสารกำกับการขนย้ายตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2561 เรื่อง การควบคุมการขนย้ายกระเทียมที่นำเข้าจากต่างประเทศ พบว่า รถบรรทุกคันดังกล่าวขนย้ายกระเทียมที่นำเข้าจากต่างประเทศ ต้นทางจากจังหวัดสตูล ซึ่งระยะเวลาการขนย้าย และหมายเลขทะเบียนรถไม่ตรงตามที่อนุญาตไว้ในหนังสืออนุญาตขนย้ายฯ

โดยเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาว่า กระทำการฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการกลาง ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2561 เรื่อง การควบคุมการขนย้ายกระเทียมที่นำเข้าจากต่างประเทศ ลงวันที่ 23 มกราคม 2561 อันเป็นความผิด ตามมาตรา 25 (7) และมีโทษตาม มาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ จึงได้นำตัวพนักงานขับรถบรรทุก พร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรคลองหลวง จ.ปทุมธานี ดำเนินคดีต่อไป

สำหรับการตรวจสอบดังกล่าว ถือว่าเป็นแนวทางแก้ไขอีกมาตรการหนึ่งของกรมฯ เป็นการป้องปรามไม่ให้มีการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศ เป็นการรักษาเสถียรภาพระบบตลาดสินค้าเกษตร ภายในประเทศให้เกิดความเป็นธรรมในด้านราคา และปริมาณ ทั้งนี้ กรมฯ จะได้จัดส่งเจ้าหน้าที่สายตรวจพิเศษตรวจสอบเฝ้าระวังตามจุดผ่านแดนที่สำคัญตามแนวชายแดน เพื่อป้องกันการกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย หากพบว่า มีการกระทำความผิด กรมฯ จะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ดี ขอให้ผู้ประกอบการที่นำเข้ากระเทียมจากต่างประเทศ ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายในเรื่องของการนำเข้า การครอบครอง และการขนย้ายต้องให้มีรายละเอียด ชนิด ปริมาณ ระยะเวลา สถานที่ และพาหนะ ตรงตามที่ระบุในหนังสืออนุญาตขนย้าย สำหรับผู้ประกอบการรับ ซื้อสินค้าเกษตรอื่นๆ ต้องแสดงราคารับซื้อ และเงื่อนไขต่างๆ ในการแสดงราคารับซื้อ และห้ามกดราคารับซื้อโดยเด็ดขาด เพื่อให้เกษตรกรได้รับความเป็นธรรมในการขายสินค้าทางการเกษตร โดยกรมการค้าภายใน จะได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนพฤษภาคมปรับลดลง อยู่ที่ 47.7 จากเดือนเมษายนที่ 49.4 ผลจากสถานการณ์ทางด้านภาคการเกษตรที่ราคาสินค้ายังอยู่ในระดับต่ำ โดยจากการสำรวจตั้งแต่ต้นปีที่ดัชนีปรับดีขึ้นต่อเนื่องทุกเดือน ทั้งนี้ ดัชนีการบริโภคอยู่ที่ 47.0 จากเดือนก่อนที่ 48.7 เพราะประชาชนมีการใช้จ่ายและบริโภคไปจำนวนมากแล้วในช่วงเทศกาลสงกรานต์และเดือนนี้เป็นช่วงเปิดเทอมประชาชนมีภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมมากขึ้น ด้านการลงทุน อยู่ที่ 46.0 จากเดือนก่อนที่ 47.8 การท่องเที่ยว อยู่ที่ 58.7 จาก 60.1 ในเดือนก่อน ภาคการเกษตร อยู่ที่ 39.7 จาก 39.5 ภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ 46.8 จาก 44.9 ภาคการค้า อยู่ที่ 45.5 จากเดิม 46.1 ภาคการค้าชายแดน ที่ 45.3 จาก 50.9 ภาคบริการที่ 52.3 จาก 52.1 และการจ้างงานที่ 45.9 จากเดิม 54.7 อย่างไรก็ตาม มุมมองดัชนีคงความเชื่อมั่นหอการค้าในอีก 6 เดือนข้างหน้าปรับดีขึ้น โดยดัชนีอยู่ที่ 50.1

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์ พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมและรายภาคมีทิศทางที่ปรับดีขึ้น และคาดว่าจะปรับดีขึ้นในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม หากแยกเป็นรายภาค พบว่า เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวแบบกระจุกตัว โดยภาคที่ฟื้นตัวดีสุด คือ ภาคตะวันออก เพราะมีการขยายตัวด้านอุตสาหกรรมจากการส่งออกและมีแรงหนุนจากการท่องเที่ยว รองลงมาคือ กรุงเทพ และปริมณฑล ที่แรงขับเคลื่อนมาจากภาคการค้า รองลงมา คือ ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือที่พึ่งพาภาคเกษตรเป็นหลักยังต้องการการกระตุ้น ต่อมาคือ ภาคกลางมีความหลากหลายทั้งพึ่งพาภาคเกษตรในบางจังหวัด พึ่งพาอุตสาหกรรมในบางจังหวัด และพึ่งพาการท่องเที่ยวในบางจังหวัด จึงได้รับอานิสงส์การฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ขณะที่ภาคใต้ได้รับผลกระทบมากสุด เพราะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวกระจุกในภาคท่องเที่ยวดี แต่ภาคเกษตรยังไม่ฟื้นตัวจากราคายางและราคาปาล์มที่ตกต่ำ

นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร เกษตรจังหวัดพิษณุโลก ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 9 จ.พิษณุโลก กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สสก.9 พิษณุโลก ได้รับงบประมาณจากกรมส่งเสริมการเกษตรเพื่อจัดกิจกรรมพัฒนา Young Smart Farmer และอาสาสมัครเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่กรมส่งเสริมการเกษตรให้ความสำคัญในการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง

โดยกำหนดจัดงานมหกรรมสินค้าเกษตรและนวัตกรรมภาคเหนือตอนล่าง ปี 2561 ขึ้นระหว่างวันที่ 28 มิ.ย.- 1 ก.ค.61 บริเวณสวนชมน่านเฉลิมพระเกียรติ อ.เมือง จ.พิษณุโลก เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอผลงานของ Young Smart Farmerและอาสาสมัครเกษตร 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ประกอบด้วย พิษณุโลก กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ พิจิตร เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี อีกทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายผลิตภัณฑ์ภายใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่างและเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดให้เกษตรกร

“กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย นิทรรศการมีชีวิตเสมือนจริง การจัดแสดงนวัตกรรมทางการเกษตร การจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ โดยนำผลผลิตคุณภาพจากเกษตรกร อาทิ ผลผลิตบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยม ทั้งผลิตภัณฑ์จาก พืช ผลไม้ สมุนไพร เกษตรอินทรีย์ และของดี 9 จังหวัดภาพเหนือตอนล่าง เช่น ทุเรียนหลงหลินลับแล สับประรดห้วยมุ่น ส้มโอท่าข่อย รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงเกษตรนววิถี เป็นต้น

นอกจากนี้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสวนาการจัดแสดงผลงาน ผลิตภัณฑ์ของYoung Smart Farmerและอาสาสมัครเกษตรอีกด้วย จึงขอเชิญชวนมาเที่ยวงาน นอกจากจะได้รับความรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จแล้ว ยังได้เลือกซื้อสินค้าเกษตรปลอดภัยจากเกษตรกรผู้ผลิตโดยตรงในราคาที่ไม่แพงอีกด้วย”นายอาชว์ชัยชาญ ฝากทิ้งท้าย

เว็บไซต์ดิ อินดีเพนเดนต์ ของอังกฤษ รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน เป็นวันเริ่มต้นเทศกาลกินลิ้นจี่และเนื้อสุนัขอวี้หลิน ประจำปี ครั้งที่ 9 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองอวี้หลินในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน โดยเทศกาลนี้จัดขึ้นเป็นเวลา 10 วัน ระหว่าง วันที่ 21-30 มิถุนายน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของปี

ข่าวระบุว่า ในช่วง 10 วัน ของเทศกาลนี้ มีสุนัขที่ถูกกินมากกว่า 10,000 ตัว ทุกปี นอกจากนี้ ยังมีเนื้อแมว ลิ้นจี่ และเหล้าให้ได้กินกันด้วย เทศกาลนี้เกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อปี 2552 เพื่อเป็นการเฉิมฉลองวันครีษมายัน ที่พระอาทิตย์โคจรจนไปถึงจุดหยุดคือ จุดสูงสุดทางเหนือ ในราว วันที่ 21 มิถุนายน ซึ่งป็นจุดในหน้าร้อนที่มีกลางวันนานกว่ากลางคืน นั่นคือ เป็นวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ตรงกับเส้นศูนย์สูตรท้องฟ้ามากที่สุด

ทั้งนี้ การกินเนื้อสุนัขเป็นธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติกันมายาวนานในจีน โดยมีความเชื่อกันว่า การกินเนื้อสุนัขในระหว่างช่วงฤดูร้อนทำให้โชคดีและมีสุขภาพดี บางส่วนเชื่อด้วยว่าเนื้อสุนัขสามารถขจัดโรคและเพิ่มพลังทางเพศของผู้ชายได้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปีหลังๆ เทศกาลนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบ ทั้งจากภายในจีนเองและนานาชาติ โดยนักเคลื่อนไหวระบุว่า สัตว์ในเทศกาลนี้ถูกฆ่าอย่าเหี้ยมโหด โดยการใช้ไม้ตีต่อหน้าที่สาธารณะ และการปฏิบัติด้านสุขอนามัยไม่ได้มาตรฐานตามกฎระเบียบของทางการจีน

นอกจากนี้ ยังมีเสียงตำหนิว่า สุนัขที่นำมากินในเทศกาลนี้ถูกส่งมายังอวี้หลินในสภาพที่ถูกกักขังในที่แออัดคับแคบ ขณะที่ผู้เข้าชมงานเปิดเผยว่า สัตว์บางตัวมีปลอกคอที่บ่งชี้ให้เห็นว่าเป็นสุนัขที่ถูกขโมยมา

“มะระขี้นก และบอระเพ็ด” เป็นพืชที่หลายคนรู้จัก แล้วยังรู้จักมากไปกว่านั้นว่ามีรสขมจนต้องเมินหน้าหนี ความจริงแล้วการมีรสขมของพืช ผัก ผลไม้บางชนิดถือว่ามีสรรพคุณทางยาที่ดีต่อสุขภาพ ดั่งคำว่า “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” กระนั้นก็ยังไม่ทำให้ผู้คนเปลี่ยนทัศนคติได้ง่าย

แต่ความชาญฉลาดของคนรุ่นบรรพบุรุษที่เห็นคุณค่าประโยชน์ของพืชที่มีรสขม จึงหาวิธีแปรรูปเพื่อเปลี่ยนรสขมให้มาเป็นรสหวานแบบธรรมชาติ อีกทั้งยังตั้งใจปลุกให้ชนทุกรุ่นได้รู้จักพืช ไม้ผลเก่าแก่มิให้สูญหายไป แล้วหวังให้สืบทอดภูมิปัญญานี้จากรุ่นสู่รุ่น จนเกิดคำเปรียบเปรยว่า “ผลไม้กลับชาติ”

ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่ตำบลบางพรม สมุทรสงคราม ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลไม้กลับชาติ เพื่อร่วมกันนำพืชไม้ผลในท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าด้วยการแปรรูปแบบแช่อิ่มกับอบแห้ง หวังอนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิมไว้ ถือเป็นการสร้างชื่อเสียงและรายได้ให้แก่ครอบครัวและชุมชนอีกด้วย

คุณฉวีวรรณ หัตถกรรม หรือ ป้าแดง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลไม้กลับชาติ บ้านเลขที่ 27 หมู่ที่ 4 ตำบลบางพรม อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม บอกเล่าถึงความเป็นมาว่า คนในสมัยก่อนนำพืชผักที่ขึ้นตามธรรมชาติที่รั้วบ้านมาต้มจิ้มน้ำพริก แล้วยังนำมาแปรรูปให้มีรสหวานเพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนรับประทานกัน ขณะที่ป้าแดงเองก็ได้ถูกปลูกฝังความรู้เหล่านั้นจากบรรพบุรุษ แล้วเกรงว่าจะหายไป จึงถ่ายทอดให้แก่เพื่อนบ้านเพื่อทำขายจนเกิดเป็นที่สนใจกันทั้งชุมชน

“กระทั่งเมื่อเจ้าหน้าที่ราชการเข้ามาช่วยส่งเสริมและสนับสนุนต่อยอดองค์ความรู้ให้เป็นระบบ พร้อมกับการจัดหาตลาด แล้วยังสนับสนุนให้จัดตั้งเป็นกลุ่มสตรีเกษตรพัฒนา จนกระทั่งมาจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนจนถึงทุกวันนี้”

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลไม้กลับชาติจัดตั้งขึ้นโดยมีเจตนารมณ์เพื่อต้องการให้ชาวบ้านได้ใช้ผลผลิตทางการเกษตรของท้องถิ่นให้มีประโยชน์เกิดมูลค่า เพื่อหวังให้มีรายได้เพิ่มให้ครอบครัวและชุมชน ต้องการสร้างชื่อเสียงให้แก่ชุมชนท้องถิ่นเป็นที่รู้จักทั่วไป ขณะที่สินค้าแปรรูปทุกชนิดมีความสะอาด ปลอดภัยทั้งผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม แล้วยังสร้างเป็นฐานเรียนรู้ให้แก่ผู้สนใจ

ป้าแดง บอกว่า ช่วงแรกพืชไม้ผลที่แปรรูปแช่อิ่มยังมีจำนวนไม่มาก และที่เด่นน่าจะเป็นบอระเพ็ดแช่อิ่มได้ทำส่งเข้าประกวดจนได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทการถนอมอาหารระดับประเทศ ติดต่อกัน 2 ปี พอเริ่มเห็นว่ามีความสนใจจากคนทั่วไปมากขึ้นจึงมองพืชไม้ผลชนิดอื่นในชุมชนที่สามารถนำมาแช่อิ่มได้ ไม่ว่าจะเป็นพริก มะนาว ส้มโอ มะระขี้นก มะละกอ

ขณะเดียวกัน เห็นว่ามีพืชไม้ผลบางชนิดไม่เหมาะนำมาแช่อิ่มจึงได้ต่อยอดทำแบบอบแห้งแทนเพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นตะลิงปลิง มะม่วง กระท้อน มะไฟกระเทย และอื่นๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะในช่วงฤดูผลไม้อย่างลิ้นจี่อบแห้ง หรือส้มโอจะใช้เปลือกมาทำเป็นส้มโออบแห้งตั้งชื่อว่าส้มโอมรกต ขณะเดียวกัน ถ้าเป็นผลส้มโอขนาดเล็กที่ไม่สามารถขายได้เนื่องจากต้องตัดออกจากต้นบ้างก็จะนำมาทำเป็นส้มโอแช่อิ่ม

การกำหนดจำนวนและประเภทผลไม้แช่อิ่มและอบแห้งชนิดใดออกวางขายนั้น ป้าแดง บอกว่า จะพิจารณาจากความต้องการของตลาดควบคู่ไปกับในช่วงนั้นเป็นฤดูผลไม้อะไร อย่างเดือนมีนาคม-เมษายน เป็นช่วงที่มีตะลิงปลิงออกเป็นจำนวนมาก ทางกลุ่มก็จะรับซื้อจากสมาชิกในกลุ่มเท่านั้น โดยมีจำนวนรับซื้อเป็นตันเพื่อสต๊อกไว้ทยอยผลิตส่งขาย หรือในช่วงฤดูส้มโอกับลิ้นจี่

ป้าแดงยกตัวอย่างขั้นตอนการทำผลไม้กลับชาติที่มีรสขมอย่างบอระเพ็ดว่า จะใช้บอระเพ็ดที่มีอายุ 1 ปี มาตัดเป็นท่อนแล้วลอกเปลือกออก นำมาแช่น้ำเกลือในอัตราส่วนน้ำ 5 ลิตร เกลือ 1 ลิตร พร้อมแกว่งสารส้มลอกไส้ออก ให้แช่วัน 1 คืน จากนั้นเปลี่ยนน้ำเกลือทุกวันจนกว่าจะหายขม ล้างน้ำเปล่าให้สะอาด แช่น้ำปูนใส 1 คืน ตั้งน้ำให้เดือด นำบอระเพ็ดต้มสัก 10 นาที นำน้ำตาลทรายตั้งไฟโดยไม่ให้หวานมาก ยกลงจากเตาเมื่อน้ำเชื่อมเย็นแล้วจากนั้นจึงนำบอระเพ็ดแช่ลงในน้ำเชื่อม ให้อุ่นน้ำเชื่อมทุกวัน แล้วตักบอระเพ็ดขึ้น เติมน้ำตาลทรายทุกครั้งที่อุ่นจนครบ 15 วัน จึงรับประทานได้

หรืออย่างมะนาวแช่อิ่มให้ใช้มะนาวผลเขียวสดนำมาขัดผิวให้เกลี้ยงด้วยกระดาษทรายน้ำ จากนั้นนำไปผ่าผลแกะเมล็ดออกแช่น้ำเกลือในอัตราส่วนน้ำเปล่า 5 ลิตร กับเกลือ 1 ลิตร พร้อมกับแกว่งสารส้มโดยเปลี่ยนน้ำเกลือทุกวัน แล้วให้ล้างด้วยน้ำเปล่าอีกครั้ง ให้ตั้งน้ำเดือดแล้วนำผลมะนาวลงใส่ เสร็จแล้วให้ตักผลมะนาวขึ้นนำไปตากแห้ง แล้วให้ทำน้ำเชื่อมที่มีความหวานเล็กน้อยแล้วนำผลมะนาวแช่ในน้ำเชื่อม ในทุกวันให้ตักมะนาวขึ้นอุ่นน้ำเชื่อมแล้วเพิ่มปริมาณน้ำตาลวันละเล็กน้อย ขณะเดียวกัน ให้เติมเกลือป่นลงไปด้วยแล้วให้ชิมรสตามชอบเป็นอันเสร็จ