นายไซ แสง ทิบ หลวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแห่งรัฐฉาน

เปิดเผยว่า งบฯการลงทุนที่รัฐฉานอนุมัติร่วมทุนกับต่างประเทศ ปัจจุบันสามารถอนุมัติให้รวมแล้วไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์ โดยสิ่งที่รัฐฉานต้องการที่สุด คือ การลงทุนทางด้านไฟฟ้า ตอนนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้มีการลงทุนร่วมกับบริษัทท้องถิ่นในนามบริษัท ไตรสยาม จำกัด เพื่อให้ดำเนินการนำไฟฟ้าเข้ามาในรัฐฉาน มีการอนุมัติให้นำไฟฟ้าเข้ามาได้เพียง 30 เมกะวัตต์ แต่หากเกินกว่านั้นต้องผ่านการอนุมัติจากรัฐบาลกลาง ขณะนี้กำลังทำการสำรวจพื้นที่อยู่

“การลงทุนที่ทำได้ทันทีภายในรัฐฉาน คือ การท่องเที่ยว รัฐฉานกำลังทำการประชาสัมพันธ์และสำรวจพื้นที่ เพราะยังมีพื้นที่หลายแห่งยังไม่ได้เปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ปัจจุบัน รีสอร์ตในรัฐฉานส่วนใหญ่ยังคงเป็นของคนในท้องถิ่น ส่วนนักลงทุนที่เข้าไปทำรีสอร์ตนั้นยังไม่สามารถเป็นเจ้าของที่ดินได้ตามกฎหมาย เป็นเพียงการเปิดให้เช่าเท่านั้น ระยะเวลาอย่างน้อย 30 ปี หากทางฝั่งไทยสนใจเข้าไปลงทุน ทางรัฐฉานก็ยินดี” นายไซ แสง ทิบ หลวง กล่าว

การลงทุนในรัฐฉาน นอกจากประเทศไทยแล้ว ประเทศจีนเริ่มเข้ามาคุยการลงทุนในเรื่องการสร้างถนน รถไฟ สนามบิน เน้นไปทางคมนาคม เป็นโครงการใหญ่ที่ยังไม่ลงตัว ส่วนญี่ปุ่น การลงทุนจะเน้นในเรื่องการให้ความรู้ด้านการผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ญี่ปุ่นสนใจการสานผ้าจากใยบัวในหนองอินเลของรัฐฉาน รวมไปถึงเรื่องโรงงาน การเกษตร การส่งออกไปยังยุโรป คาดว่าการลงทุนและการส่งออกของรัฐฉานจะมีการเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน

ด้าน นายนิติ แสงสุขแสง ผู้อำนวยการกองความร่วมมือการค้าการลงทุน กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการไปจัดแสดงสินค้าที่เมืองตองยี เมื่อปีที่แล้ว มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 118 ราย คาดว่ามียอดเงินสะพัดรวม 50 ล้านบาท และจะมียอดการสั่งซื้อสินค้ารวมระยะเวลาอีก 1 ปี มูลค่าประมาณ 170 ล้านบาท ทั้งมีการจับคู่ธุรกิจรวมมูลค่าประมาณ 20 ล้านบาท โดยนักธุรกิจคนไทย 18 ราย กับหอการค้า 4 จังหวัดของรัฐฉาน ได้แก่ เมืองตองยี เชียงตุง ท่าขี้เหล็ก และมูเซ-น้ำคำ ส่วนงานมหกรรมการค้าที่อำเภอแม่สาย คาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีเช่นกัน

นางพิมล ปงกองแก้ว พาณิชย์จังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า ในปี 2559 มูลค่าการค้าชายแดนไทย ทั้งนำเข้าและส่งออกประมาณ 4.4 หมื่นล้านบาท แยกเป็นระหว่างไทย-ลาว 18,198.15 ล้านบาท ไทย-เมียนมา 12,379.24 ล้านบาท และไทย-จีน 14,236.82 ล้านบาท ด่านหลักที่มีการค้าส่งออกคือ ด่านเชียงของ ด่านแม่สาย และด่านเชียงแสน คาดว่าปีนี้น่าจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แต่ยังคงมีปัจจัยภายนอกทั้งเรื่องกฎระเบียบของประเทศต่างๆ ทำให้มูลค่าการค้าไทยยังประเมินไม่ได้ ซึ่งการจัดมหกรรมการค้าชายแดนถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นการค้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ส่วนการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างไทยกับรัฐฉาน ถือเป็นโอกาสที่ดีของการลงทุนในด้านต่างๆ แม้จะยังไม่มีนักลงทุนจากรัฐฉานเข้ามาทางฝั่งไทย แต่รัฐฉานอยากให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนด้วย

โมเดลสามเหลี่ยมเมืองหนองจิก ปัตตานีคืบ รัฐทุ่มงบฯ 186 ล้านบาท หนุนโครงการเกษตร-ปศุสัตว์ ดันเอกชนลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ให้สิทธิพิเศษเพียบ นายอำเภอเตรียมหนุนใช้นาร้าง 2.4 หมื่นไร่ ปลูก “ข้าว มะพร้าว ปาล์ม” ตั้งเป้ายกรายได้ต่อหัวผ่านเกณฑ์ จปฐ. ท้องถิ่นตั้งกลุ่มผลิตกุเลาเค็มตันหยงเปาว์สินค้าพรีเมี่ยม
ด้าน บริษัทปาล์มเตรียมขยายกำลังการผลิตภายใน 3 ปี เพิ่มขนาด 120 ตันทะลาย ต่อชั่วโมง หนุนเกษตรกรปลูกปาล์ม เพิ่มสัดส่วนรับผลผลิตในพื้นที่ 70%
ชูหนองจิกโมเดล

นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอหนองจิก และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการอำเภอหนองจิก เปิดเผยว่า ปี 2560 ได้ขับเคลื่อนโครงการสนองนโยบายรัฐบาลพัฒนาพื้นที่อำเภอหนองจิกให้เป็นหนึ่งในเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยความคืบหน้าปี 2560 ได้รับงบประมาณรวม 154,707,000 บาท สำหรับโครงการส่งเสริม และพัฒนาศักยภาพการแปรรูปสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม และการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน โดยมีสำนักงานเกษตรจังหวัดปัตตานีเป็นผู้รับผิดชอบ
แบ่งออกเป็น 1. พัฒนาศักยภาพกลุ่มชุมชนประมงพื้นบ้านบ้านตันหยงเปาว์ 6,846,160 บาท 2. เพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารทะเล วิสาหกิจชุมชนปลาแห้งท่ายาลอ งบประมาณ 892,800 บาท สมาชิก 35 คน 3. ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพการผลิตข้าวบ้านท่าด่าน งบประมาณ 2,110,000 บาท สมาชิก 159 คน และ 4. กิจกรรมส่งเสริมและขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 2,800 ไร่ สำหรับอำเภอหนองจิก 465 ไร่ โดยสนับสนุนงบฯขุดร่อง ซื้อพันธุ์ปาล์ม ซื้อปุ๋ย ไม่เกิน 15 ไร่ ต่อครัวเรือน นอกจากนี้ยังส่งเสริมนำร่องปลูกมะพร้าว 4,000 ไร่ โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ และจังหวัดปัตตานี โดยในพื้นที่อำเภอหนองจิก นำร่อง 200 ครัวเรือน

นายอำเภอหนองจิก กล่าวว่า อำเภอหนองจิกมีความสำคัญด้านเกษตร ในอดีต รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินมาที่หัวเมือง ทรงบรรยายสภาพเมืองไว้ว่า หนองจิกเป็นอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญ ยาสูบดี โดยสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มอยู่ปลายน้ำ โดยต้นน้ำอยู่ที่เบตง ธารโต ไหลมาปัตตานีผ่านอำเภอเมือง อำเภอหนองจิก แล้วเป็นอ่าวไทย แต่มาปัจจุบันมีการขุดคลองใหม่ๆ ขึ้น ทำให้น้ำเค็มรุกเข้ามา จนสร้างความเสียหายนาข้าว 2.4 หมื่นไร่ กลายเป็นนาร้าง มองว่าภาครัฐสามารถเข้ามาส่งเสริมให้ปลูกปาล์มเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมได้

ยกระดับกุเลาเค็มตันหยงเปาว์
นายเอก กล่าวว่า จุดเด่นของปัตตานี คือ ประมง โดยภายหลังจากการร่วมมือของชุมชนฟื้นฟูอ่าวปัตตานีทำให้ความอุดมสมบูรณ์กลับมา ในอดีตมีชื่อเสียงเรื่องแปรรูปปลาแห้ง แต่วันนี้ได้ยกระดับเรื่องปลากุเลาเค็ม หลายคนอาจติดหูกุเลาตากใบ แต่ขณะนี้ที่บ้านตันหยงเปาว์ ต.ท่ากำชำ อำเภอหนองจิก ทำมาได้ระยะหนึ่งแล้ว มีตลาดรองรับ มีออร์เดอร์เข้ามาจำนวนมาก เป็นอีกความภูมิใจของชาวบ้านที่มีอาชีพรายได้ มองว่าในอนาคตหนองจิกต้องมีเครือข่าย เช่น ที่สายบุรี และยะหริ่ง จับปลาเก่ง ก็ส่งให้หนองจิก โดยทุกคนเป็นพาร์ตเนอร์ชิป ได้รับประโยชน์ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทุกช่วงต้องมีรายได้

ส่วนด้านปศุสัตว์มีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ โครงการจัดสร้างตลาดกลางปศุสัตว์จังหวัดปัตตานี ระยะที่ 1 ได้รับงบประมาณประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2560 จากจังหวัดปัตตานี วงเงิน 4,417,000 บาท และระยะที่ 2 อยู่ระหว่างก่อสร้างอาคาร งบประมาณ 17,099,000 บาท
“ตลาดกลางปศุสัตว์ ขณะนี้อยู่เฟส 1 และเฟส 2 กำลังก่อสร้าง อนาคตอาจจะมีพื้นที่ให้เอกชนมาบริหารจัดการคล้ายฟาร์มโชคชัย จำหน่ายอาหาร สเต๊ก หรือ กาแฟให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว”

พร้อมกันนี้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการปศุสัตว์โดยส่งเสริมการปลูกหญ้าเนเปียร์ ได้รับงบประมาณจากงบฯ กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี 2560 (เพิ่มเติม) วงเงิน 6,607,000 บาท และสนับสนุนกลุ่มโอท็อปปัจจุบันมี 73 กลุ่ม 137 ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็นโอท็อป 5 ดาว 1 ผลิตภัณฑ์ คือ กลุ่มปลาแห้งยาลอ 2.โอท็อป 4 ดาว 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1. น้ำพริกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ตำบลบ่อทอง 2. สาธิตา ขนมพื้นเมือง ตำบลดอนรัก 3 เครื่องแต่งกายมุสลิม ตำบลบางเขา 3. โอท็อป 1 ดาว 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1. น้ำพริกกุ้งเสียบ ตำบลบ่อทอง 2. ขนมทองม้วน ตำบลดาโต๊ะ 4. โอท็อปอยู่ระหว่างการส่งเสริมคุณภาพ 131 ผลิตภัณฑ์

ชงงบฯ 600 ล้านสร้างบายพาส
นายอำเภอหนองจิก กล่าวอีกว่า นอกจากงบประมาณในโครงการต่างๆ แล้ว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุน ล่าสุดผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี อยู่ระหว่างทำเรื่องของบประมาณ 600 ล้านบาท ในการตัดถนนบายพาสเลี่ยงเมือง ถนนหมายเลข 43 สายหาดใหญ่-มะพร้าวต้นเดียว จากวงเวียนมะพร้าวต้นเดียว ตำบลลิปะสะโง อำเภอหนองจิก เชื่อมกับ ถนนหมายเลข 42 ตำบลบาราโหม อำเภอเมืองปัตตานี เป็นระยะทาง 14 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีแนวคิดในการพัฒนาสนามบินบ่อทอง ที่อยู่ในความดูแลของกองกำลังทหารอากาศเฉพาะกิจที่ 9 จะพัฒนาเป็นสนามบินพาณิชย์ต่อไป

ขณะที่ภาคเอกชนสนใจจะมาลงทุนภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สอดคล้องกับศักยภาพพื้นที่ โดยคาดการณ์ว่าจะมีการลงทุนประมาณ 12,000-15,000 ล้านบาท อาทิ โครงการโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม ของบริษัท ปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ จำกัด ที่จะเพิ่มกำลังการผลิตจาก 60 ตันทะลาย ต่อชั่วโมง เป็น 120 ตันทะลาย ต่อชั่วโมง ภายในปี 2563 นอกจากนี้ ยังมีโรงงานแปรรูปผลไม้ โรงงานแปรรูปอาหารทะเล และล่าสุด กลุ่มอำพลฟู้ดส์ แสดงความสนใจจะมาลงทุนโรงงานแปรรูปมะพร้าวครบวงจร

ตั้งเป้าลดยากจนตกเกณฑ์ จปฐ.
นายอำเภอหนองจิก กล่าวอีกว่า ปัจจุบันชาวอำเภอหนองจิกมีช่องว่างทางรายได้สูง โดยข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) สำนักงานพัฒนาชุมชน พ.ศ. 2559 ที่จัดเก็บตัวเลขครัวเรือนที่ตกเกณฑ์รายได้ 30,000 บาท ต่อคน ต่อปี ปรากฏว่าหนองจิกตกเกณฑ์ถึง 862 ครัวเรือน มากที่สุดในปัตตานี ทำให้รัฐบาลเข้ามาส่งเสริม วันนี้รัฐบาลสนับสนุนการลงทุนที่หนองจิกโดยให้สิทธิพิเศษมากมาย ไม่ว่าจะเป็นมาตรการทางภาษี การนำเข้าเครื่องจักร หรือซอฟท์โลน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ประกอบการต้องวิเคราะห์ความมั่นคงเป็นลำดับแรก ซึ่งยุทธศาสตร์วันนี้อำเภอหนองจิกเป็นตัวประสานศูนย์ปฏิบัติการอำเภอหนองจิก ที่ผสานพลังประชารัฐ คือ ประชาชน กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ และรัฐ ซึ่งเชื่อมั่นจะว่าค่อยๆ คลี่คลายปัญหา

สำหรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนภายใต้โครงการเมืองต้นแบบ มีสิทธิพิเศษดังนี้ ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรขาเข้าร้อยละ 90 สำหรับวัตถุดิบนำเข้ามาผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเป็นเวลา 10 ปี ยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี (ไม่จำกัดวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล) ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี หักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปา 2 เท่าของค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นเวลา 20 ปี หักเงินลงทุนในการติดตั้งหรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกร้อยละ 25 ของเงินลงทุน อนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือในโครงการที่ได้รับการส่งเสริม และสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษีอากร
บ.ปาล์มขานรับเพิ่มกำลังผลิต

ด้าน นางสาวณัฐศศิ มณีโชติ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ จำกัด กล่าวว่า ในปี 2559 กำลังการผลิตเดิมอยู่ที่ 45 ตันทะลายปาล์มผลสด ต่อชั่วโมง รองรับได้วันละ 1,000 ตัน ต่อวัน มูลค่ารับซื้อวัตถุดิบปี 2559 จำนวน 869 ล้านบาท โดยเป็นผลผลิตในพื้นที่ 30% ของการซื้อขายทั้งหมด เหตุที่รับซื้อได้น้อยเนื่องจากเกษตรกรยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในการปลูกปาล์ม ทำให้ผลผลิตไม่มีคุณภาพ และ ผลผลิตต่อไร่ต่ำ บางรายผลิตได้เพียงไร่ละ 1 ตัน ต่อปี ขณะที่ในพื้นที่อื่น เช่น กระบี่ สามารถผลิตได้ถึง 5 ตัน ต่อไร่ ต่อปี ปัจจุบันเรามีการรวมกลุ่มให้ความรู้ จ่ายเงินปันผลเพื่อให้เกษตรกรตื่นตัว คาดหวังว่าจะเพิ่มได้เป็น 3 ตัน ต่อไร่ ต่อปี ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการรับซื้อผลผลิตภายในพื้นที่เป็น 70% รองรับการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป

“เราพยายามพยุงราคาไม่ให้ต่างมากนัก พยายามอธิบายให้เข้าใจเหตุที่ราคาต่ำ เพราะพันธุ์ไม่ดี ได้เปอร์เซ็นต์น้ำมันต่ำ เราไม่สามารถให้ราคาที่ดีได้ นอกจากนี้เกษตรกรต้องไม่ตัดปาล์มดิบ โรงงานก็พร้อมจะช่วยสนับสนุนราคา”
สำหรับแผนขยายการผลิต ภายในปี 2561 จะเพิ่มกำลังการผลิตจาก 45 เป็น 60 ตันทะลาย ต่อชั่วโมง วงเงินลงทุนราว 100 ล้านบาท และปี 2563 จะขยายเพิ่มเป็น 120 ตันทะลาย ต่อชั่วโมง เงินลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท นอกจากนี้ จะขยายโรงงานไบโอแก๊ส จากเดิมสามารถผลิตขายการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 2 เมกะวัตต์ เป็น 4.8 เมกะวัตต์ ในอนาคต ส่วนทะลายปาล์มนำไปผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล เป้าหมาย ซีโร่ เวส กำจัดหมดในโรงงาน
“การขยายของโรงงานแม้จะเพิ่มคนงานอีกไม่มาก เพราะเราใช้เครื่องจักร แต่ตรงนี้จะเป็นห่วงโซ่อุปทาน เริ่มจากเกษตรกรมีการเพาะต้นกล้าขาย ร้านค้า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องก็โตตาม กลุ่มแรงงานรับจ้างปลูก รับจ้างตัดปาล์มก็ขยายตัว”

ใครที่เดินทางไปจังหวัดจันทบุรี เวลานี้จะเห็นของฝากแปลกตามากมาย ส่วนมากเป็นสินค้าโอท็อปที่มีคุณภาพ ทำมาจากสินค้าพื้นเมือง หนึ่งในนั้นคือ “น้ำพริกเผามังคุด” เป็นน้ำพริกเนื้อมังคุดแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ และที่สำคัญ เป็น “มังคุดจันทบุรี”

“มังคุดจันทบุรี” ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์พื้นเมือง มีพัฒนาบ้างเพื่อให้ได้ต้นเตี้ย สะดวกแก่การเก็บ และมีลักษณะแตกต่างจากมังคุดในภาคอื่นๆ กล่าวคือมีผลขนาดเล็กกว่า รูปทรงค่อนข้างเรียว และมีเปลือกค่อนข้างบาง สีของกลีบที่ปลายขั้วผลมีสีแดง ผลสุกจะมีสีม่วงดำ เนื้อนุ่ม รสจัดจ้าน มังคุดจันทบุรีจะออกผลประมาณเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมของทุกปี การทำสวนมังคุดมีพื้นที่เพาะปลูกเป็นอันดับ 3 ของจังหวัด ปัจจุบันนี้มีพื้นที่ปลูกมังคุดในจันทบุรี ประมาณ 85,906 ไร่ ทำเงินในระดับ 2,000 กว่าล้าน ต่อปี นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดทีเดียว

สวนมังคุดหลักๆ อยู่บริเวณอำเภอมะขาม, นายายอาม, ขลุง, ท่าใหม่, เมือง, แก่งหางแมว, โป่งน้ำร้อน, แหลมสิงห์, สอยดาว และกิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ มังคุดจันทบุรีขึ้นชื่อลือชาว่าอร่อยที่สุด ปัจจุบันมีการรวมกลุ่มกันและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพาะปลูกมังคุด เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชาวสวนมังคุด นอกจากนั้น ชาวสวนมังคุดที่จันทบุรียังหันมาใช้เกษตรอินทรีย์ และพัฒนาเรื่องการเพาะปลูกให้สามารถเก็บผลได้ก่อนฤดูกาล ซึ่งทำให้ขายได้ราคามากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม มังคุดก็ยังเป็นเหมือนผลไม้ชนิดอื่นของไทย ที่บางฤดูกาลอาจเกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาด ส่งผลให้ราคาตกต่ำกว่าที่ควรเป็น สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรชาวสวนมังคุด ดังนั้น ปัญหานี้จึงได้รับการแก้ไขด้วยการพยายาม “แปรรูป” มังคุดเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ซึ่งนอกจากสามารถแก้ปัญหาเรื่องราคาตกต่ำแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลไม้ในจันทบุรีอีกด้วย ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวคือ นำมังคุดมาแปรรูปทำเป็น “น้ำพริกเผามังคุด”
น้ำพริกเผามังคุด เกิดมาจากการรวมกลุ่มของ “แม่บ้านเกษตรกรปลายคลอง” ในจังหวัดจันทบุรี โดยมี “แอ๊ด-จิรฐา มีผิว” ประธานกลุ่มคิดแก้ปัญหามังคุดล้นตลาดในช่วงฤดูกาล ให้กับชาวสวนที่เป็นสมาชิกกลุ่ม ถือเป็นเจ้าแรกที่บุกเบิกสินค้าดังกล่าวขึ้น

“จิรฐา” หรือ “แอ๊ด” เล่าว่า ที่คิดมาทำน้ำพริกเผามังคุด funlok.com เพราะในตอนแรกที่บ้านเป็นสวนมังคุด ชื่อ “สวนคุณยาย 200 ปี” มีเนื้อที่ประมาณ 9 ไร่ ได้เริ่มจัดงานบุฟเฟต์ผลไม้ พอแขกมาก็ทำน้ำมังคุดให้ดื่ม โดยกรองเอาแต่น้ำ จึงเหลือกากจำนวนมาก ไม่รู้ว่าจะนำไปทำอะไรดี เลยไปหารือกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี อาจารย์แนะนำว่า ให้ลองนำมาทำน้ำพริกมังคุด จึงทดลองทำกันดูว่ารสชาติเป็นอย่างไร จะเข้ากันได้หรือไม่ ซึ่งก็ได้ทดลองทำเรื่อยมา ได้ปรับปรุงแก้ไขพัฒนา จนออกมาเป็นน้ำพริกเผามังคุดในปัจจุบัน

“กากใยมังคุดจะเต็มไปด้วยคุณประโยชน์ รวมถึงสารที่เรียกว่าแซนโทน ซึ่งต้านอนุมูลอิสระได้อย่างดี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีเชี่ยวชาญในการสอนทำน้ำพริกเผา ก็แนะให้ทำน้ำพริกเผามังคุด ซึ่งยังไม่เคยทำมาก่อน จึงลองผิดลองถูกกันไปเป็นเวลา 1 ปีเต็ม กระทั่งสำเร็จออกมาเป็นน้ำพริกเผามังคุดในปัจจุบัน สิ่งที่ได้ในน้ำพริกเผา คือ ประโยชน์จากมังคุด ประโยชน์จากสมุนไพรในน้ำพริกด้วย เป็นสองคุณค่าในหนึ่งเดียว คิดว่าถึงวันนี้ทุกอย่างลงตัวหมดแล้ว ตอนนี้กำลังยื่นขอเครื่องหมายจาก “อย.” กำลังรออยู่ว่าจะได้เมื่อไหร่” ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรกล่าว

ตั้งแต่ที่เริ่มออกวางจำหน่าย จิรฐาบอกว่า สามารถขายได้เรื่อยๆ โดยใช้วิธีประชาสัมพันธ์แบบปากต่อปาก และให้ทดลองชิมด้วยตัวเอง ซึ่งทุกคนที่ชิมยอมรับในรสชาติที่อร่อย และจะซื้อกลับไปแทบทุกคน เธอบอกด้วยว่า น้ำพริกมังคุดเคยไปออกร้านในงานโอท็อปที่เมืองทองธานี ได้รับป้ายเป็นสินค้าขายดีในงาน แต่ละครั้งขายได้ไม่ต่ำกว่า 300-400 ขวด นอกจากขายในงานออกร้านต่างๆ แล้ว ยังฝากขายตามร้านขายของฝากในจังหวัดจันทบุรีด้วย ซึ่งวางขายเฉพาะในจันทบุรีเท่านั้น ยังไม่มีการวางขายในจังหวัดอื่น ส่วนสนนราคาขายปลีก กระปุกละ 70 บาท ขายส่งอยู่ประมาณ 50 บาท ตราสินค้าของกลุ่มคือ “ดาวจันทน์”

สำหรับใครที่สนใจอยากรู้ว่า “มังคุด”ทำเป็นน้ำพริกเผาได้อย่างไร แอ๊ด-จิรฐา บอกเล่าคร่าวๆ ว่า ใช้หอม กระเทียม แบบเดียวกับที่ทำน้ำพริกเผา และมะขามเปียกมาทำให้สุก แคะเอาเฉพาะเนื้อมังคุดขาวๆ มาปั่นทั้งเมล็ดให้ละเอียด จากนั้นนำไปรวนให้แห้งเหนียว ก่อนนำขวดแก้วมาบรรจุน้ำพริกต้องต้มในน้ำเดือดก่อน แล้วปิดฝาให้สนิท นำไปสเตอริไลซ์

“น้ำพริกเผามังคุดของเราได้รับรางวัลที่ 1 ของดีบ้านฉัน ประเภทอาหาร เคล็ดลับที่ไม่มีใครเหมือนก็คือ ใช้เนื้อมังคุดจากต้นที่มีอายุ 100 ปี ซึ่งเนื้อจะฟูมาก และมีเปลือกบาง รสชาติหวาน ตอนนี้เริ่มทำขายทางไปรษณีย์บ้างแล้ว นอกจากน้ำพริกเผามังคุด ยังมีสินค้าโอท็อปของกลุ่มแม่บ้านตัวอื่นๆ ด้วย อาทิ มังคุดกวน ทุเรียนกรอบ ลองกองอบแห้ง ท็อฟฟี่ผลไม้”

น้ำพริกเผามังคุดของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปลายคลอง นอกจากจะทำรายได้ให้กับคนในชุมชนแล้ว กำลังจะขยายเพื่อส่งไปขายในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้กำลังรอการพิจารณาของ “อย.” หากแสามารถมีตรารับประกันจาก อย.แล้ว น้ำพริกเผามังคุดจันทบุรี ก็จะเป็นสินค้าขึ้นชื่ออีกสินค้าหนึ่งของจันทบุรี เป็นความภูมิใจของคนจันทบูรที่ใช้ภูมิปัญญาให้เป็นประโยชน์ทั้งต่อชุมชนและตนเอง

การปรับเปลี่ยนโมเดลการปลูกข้าวโพดใหม่ ซึ่งถูกขับเคลื่อนโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้รับแรงสนับสนุนจากภาคเอกชน มุ่งแก้ปัญหาคุณภาพของผลผลิตข้าวโพดในช่วงต้นฝน ที่จะออกมากระจุกตัวและมีคุณภาพต่ำกว่า 70% ของผลผลิตให้เหลือ 20% นำไปสู่การเพิ่มการปลูกข้าวโพดรุ่น 2 ซึ่งเป็นข้าวโพดฤดูหนาวจาก 25% เป็น 30% และเพิ่มสัดส่วนข้าวโพดหลังนาที่เคยปลูกได้ 5% เป็น 50% โดยจะเริ่มอย่างเป็นทางการได้ในปีการผลิต 2561/2562
ในอีกมุมหนึ่ง “ทรงศัก ส่งเสริมอุดมชัย” นายกสมาคมการค้าพืชไร่ เห็นว่าโมเดลนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะการที่เกษตรกรจะลดพื้นที่ปลูก 70% ให้เหลือ 20% และส่วนการเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวโพดหลังนาจาก 5% เป็น 50% นั้น จำเป็นต้องหาแหล่งน้ำเพิ่มหรือไม่ และการปลูกช่วงปลายฝนที่ต้องการเพิ่มเป็น 30% หมายถึงช่วงต้นฝนจะให้ปล่อยพื้นที่นี้ว่างเปล่า หรือจะให้เงินชดเชย ทั้งหมดนี้จึงเชื่อว่าเกษตรกรไม่ทำตามอย่างแน่นอน ประการสำคัญลักษณะพื้นที่ที่ใช้ปลูกมีความต่างกัน โดยลักษณะพื้นที่ปลูกข้าวโพดเป็นไร่แบ่งพื้นที่เป็นตอน ส่วนพื้นที่ปลูกข้าวเป็นนา ลักษณะเป็นที่ต่ำที่มีน้ำท่วมขังระหว่างที่ข้าวเจริญเติบโต ส่วนข้าวโพดไม่ต้องการน้ำท่วมขัง เพราะจะทำให้ลำต้นเฉาตาย ดังนั้น หากจะเปลี่ยนพื้นที่ต้องแปรสภาพพื้นที่ ลักษณะลำต้นต่างกันต้องใช้เครื่องมือที่ต่างกัน ทั้งรถเกี่ยว เครื่องอบ ทั้งหมดนี้จะทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
การลดรุกป่าไม่คืบ

ขณะที่การลดพื้นที่รุกป่าซึ่งมีอยู่มากกว่า 50% ของพื้นที่ปลูกข้าวโพดทั้งหมด หรือ 3.72 ล้านไร่นั้น จำเป็นต้องปรับลดลง แต่ “ไม่ควรใช้วิธีการหักดิบ” ควรทำความเข้าให้ถ่องแท้เสียก่อน เนื่องจากเกษตรกรมีภาระค่าใช้จ่ายหากปลูกไม่ได้ จะทำให้ขาดรายได้ไปเลย ส่วนพื้นที่ที่รัฐวิเคราะห์ว่าเป็นพื้นที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวโพดอีก 0.89 ล้านไร่ ไม่เหมาะสมอย่างไร และหากจะปรับเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรมอย่างอื่น เช่น ปลูกพืชอื่น เลี้ยงสัตว์ สามารถทำได้หรือไม่
งดซื้อข้าวโพดผิดกฎหมายทันที

สมาคมเห็นด้วยที่จะ “ยุติการซื้อข้าวโพดที่ผิดกฎหมายทันที” และให้ส่งออกไปต่างประเทศพร้อมกับข้าวโพดที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นการยุติปัญหาการเผาป่า ทั้งยังควรส่งเสริมให้เกษตรกรที่ปลูกบนพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิถูกต้อง ควรได้รับราคาบวกเพิ่มอย่างเหมาะสม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาผู้ส่งออกและผู้ผลิตอาหารสัตว์มีการซื้อราคาที่ต่างกันอยู่แล้ว นอกจากนี้ ภาครัฐควรเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชแบบ GAP เพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการปลูกต่อไร่ลดลง เกษตรกรจะได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น