น่าน เปิดตลาดลำไย-กันราคาตกเกษตรและสหกรณ์จังหวัดน่าน

เผยถึงการทำบันทึกข้อตกลงซื้อ-ขายลำไยล่วงหน้าเพื่อรวบรวมผลผลิตในพื้นที่จังหวัดน่าน รูปแบบเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ลำไยในจังหวัดน่าน ถูกส่งออกไปยังต่างจังหวัดเพื่อทำอบแห้งมากถึง 60% ของลำไยที่ผลิตได้ทั้งจังหวัด และทำให้เกษตรกรผู้ค้าลำไยนั้นถูกกดราคา โดยทางเกษตรและสหกรณ์จังหวัดน่าน เล็งเห็นความสำคัญและได้ร่วมหาทางออกร่วมกันได้

ด้าน นายชัยนันท์ หาญยุทธ ประธานห้างหุ้นส่วนจำกัด ธัญชนกพืชผล กล่าวว่า เราได้ขยายโรงอบลำไยให้ใหญ่ขึ้น รองรับลำไยที่จะส่งมาอบได้มากกว่า 10,000 ตันในแต่ละปีเมื่อผลผลิตออกมามาก บางครั้งมีมากถึง 50,000 ตัน ทำให้ราคาตกต่ำ เมื่อนำลำไยไปขายก็จะถูกกดราคา การเปิดตลาดกลางขึ้นมา ทำให้ทางเกษตรกรมีตัวเลือกเพิ่มขึ้นดึงราคาให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

นพ. นพวุฒิ ตรีพรชัยศักดิ์ จักษุแพทย์ ศูนย์รักษาตาท็อปเจริญ กล่าวถึงวิธีการดูแลดวงตาให้ปลอดภัยในช่วงสงกรานต์ว่า การเล่นสงกรานต์ในช่วงฤดูร้อน สิ่งที่หนีไม่พ้นคือ แสงแดด ที่ก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสายตาได้หลายประการ คนเล่นน้ำสงกรานต์กลางแจ้งเป็นเวลานาน อาจทำให้ดวงตาได้รับแสงยูวี มากจนเกินไป จึงก่อให้เกิดสายตาล้าและปวดกระบอกตาได้ จึงควรสวมแว่นกันแดด เพื่อป้องกันทั้งรังสียูวีและน้ำ รวมไปถึงแป้งดินสอพอง หรือสิ่งสกปรกต่างๆ ที่อาจปนเปื้อนมาในน้ำสงกรานต์ ที่สาดเล่นกันก็เป็นได้

นพ. นพวุฒิ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ควรป้องกันดวงตาอักเสบติดเชื้อไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ อย่างการ “สวมแว่นเซฟตี้” หรือแว่นที่มีขนาดใหญ่เพื่อป้องกันดวงตา หรือแว่นสำหรับว่ายน้ำกรณีใส่ คอนแท็กต์เลนส์อยู่ หากบังเอิญโดนสิ่งสกปรกเข้าดวงตา จนทำให้เกิดอาการแสบเคืองตา ปวดตา ควรรีบทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ไม่ควรขยี้ตา เพราะอาจทำให้ผิวตาลอกหรือถลอกได้ ควรหลับตาไว้ก่อนซักครู่ และหาน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือล้างแผลมาล้างที่ดวงตา หากอาการแสบเคืองตาไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบจักษุแพทย์ทันที
“อย่างไรก็ตามการเล่นน้ำสงกรานต์อาจเกิดเหตุการณ์ไม่ คาดคิด จึงควรเพิ่มการ “ระวังอุบัติเหตุ” ที่อาจเกิดขึ้นได้ อย่างการสาดน้ำแข็งใส่กันหรือการใช้กระบอกฉีดแรงดันสูงฉีดน้ำ หากโดนหน้าหรือดวงตาก็อาจทำให้ เกิดการบาดเจ็บได้” นพ. นพวุฒิ กล่าว

นายสมคิด สมศรี อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยในการแถลงข่าวเปิดตัว “ยานยนต์เพื่อคนพิการและทุกคนในสังคม (Friendly taxi for all)” ซึ่งมีผู้บริหาร พม. และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน ณ หน้าศูนย์บริการคนพิการกรุงเทพมหานคร บ้านราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ว่าเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนพิการ พก.จึงได้ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ดำเนินโครงการออกแบบและผลิตรถยนต์แท็กซี่มิเตอร์สำหรับคนพิการระยะที่ 2 และโครงการออกแบบ พัฒนา และผลิตรถสามล้อสำหรับคนพิการ ซึ่งบัดนี้เสร็จสิ้นเป็นรถยนต์ต้นแบบทั้ง 2 ประเภทดังกล่าวแล้ว และได้จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกแล้วเช่นกัน

นายสมคิด กล่าวอีกว่า ในส่วนแท็กซี่ต้นแบบ เป็นการนำรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้าอินโนว่ามาดัดแปรงปรับปรุง ให้สามารถรองรับคนพิการทางการเคลื่อนไหวต่อการสะดวกขึ้น-ลง ออกแบบให้รองรับทางลาด และสามารถเข็นรถวีลแชร์ขึ้นบนรถได้เลย ซึ่ง พก.กำลังศึกษาระเบียบเพิ่มเติม ว่าจะให้บริษัทเอกชนนำไปผลิตต่อได้อย่างไร เพื่อเพิ่มจำนวนรถแท็กซี่เพื่อคนพิการ ขณะที่รถสามล้อต้นแบบ มีราคาต่อคันที่ 80,000 บาท ก็มองไว้ว่าคนพิการสามารถยื่นกู้กับกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อออกรถดังกล่าวได้ โดยเปิดให้จองแล้วตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เมื่อยอดถึงจำนวนก็จะสั่งให้โรงงานผลิตต่อไป อย่างไรก็ตาม คนพิการสามารถเรียนใช้รถแท็กซี่เพื่อคนพิการได้ ผ่านการโทรสายด่วน 1479 หรือศูนย์บริการคนพิการ กทม. โทร. (02) 354-3388

ผศ.ดร. นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ จำนวน 30 คน เข้าร่วมประชุมสัมมนาแนวทางการพัฒนา มรภ.สงขลายุค 4.0 โดยผู้เข้าประชุมได้ชี้แนะถึงสูตรสู่ความสำเร็จ ประการแรก พันธกิจด้านการจัดการศึกษา ต้องให้ความสำคัญกับการผลิตบัณฑิตและการจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองตลาดแรงงานและความต้องการของผู้ประกอบการอย่างแท้จริง โดยคำนึงถึงศาสตร์ที่เหมาะกับสภาพการณ์การเปลี่ยนแปลงในการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่อาศัยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ประการที่ 2 พันธกิจด้านการวิจัย มหาวิทยาลัยมีนักวิชาการที่พร้อมไปด้วยศักยภาพทำงานวิจัยที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศ สามารถนำ นวัตกรรม งานวิจัย มาผลิตและสร้างรายได้ ทั้งยังเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

อธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าวต่อไปว่า ประการที่ 3 พันธกิจด้านการบริการวิชาการแก่สังคม โดยเฉพาะในยุคไทยแลนด์ 4.0 การสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมให้ชุมชน ตลอดจนธุรกิจต่างๆ ที่จำเป็นจะต้องอาศัยองค์ความรู้จากนักวิชาการและนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย และประการที่ 4 พันธกิจด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยต้องตระหนักและให้ความสำคัญในระดับต้น เพื่อเยาวชนให้ความสำคัญกับความเป็นไทยและวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม

ผศ.ดร. นิวัต กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมอีกหลายประเด็น อาทิ ควรพัฒนานักศึกษาอย่างรอบด้าน ทั้งความรู้ ทักษะ เพื่อให้มีความรอบรู้และสามารถปฏิบัติงานได้ เป็นบัณฑิตรูปแบบใหม่ที่เน้นความเชี่ยวชาญในวิชาชีพเฉพาะและให้สามารถทำงานได้หลากหลาย ขณะที่การสร้างหลักสูตรควรคำนึงถึงความต้องการของชุมชน พัฒนาหลักสูตรตามอัตลักษณ์ภาคใต้ตอนล่าง ควรลดวิชาบังคับลงและเพิ่มวิชาเลือกให้มากขึ้น เพื่อให้นักศึกษามีโอกาสเลือกวิชาเรียนที่ตนเองสนใจ ส่วนอาจารย์ก็ต้องพัฒนาตัวเองเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงและทันต่อยุคสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถทางด้านภาษา และต้องสร้างจุดยืนและเอกลักษณ์ของ มรภ.สงขลา ให้ความสำคัญกับการพัฒนาท้องถิ่นที่สร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้ มหาวิทยาลัยจะต้องส่งเสริมการเรียนการสอนแบบออนไลน์ให้มากขึ้น เพื่อให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

“ในส่วนของงานวิจัยควรเป็นงานวิจัยต่อเนื่องจนสามารถพัฒนาท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ได้จริง สร้าง นวัตกรรมระดับชาติและนานาชาติที่เป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่น และส่งเสริมสนับสนุนทุนวิจัยแก่นักศึกษา โดยน้อมนำพระราโชบายด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 มาเป็นแนวทางในการพัฒนา ควบคู่ไปกับสร้างเครือข่ายความร่วมมืออย่างเข้มแข็งกับทุกภาคส่วน ทั้งส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยเป็นสมาร์ต ยูนิเวอร์ซิตี้” อธิการบดี มรภ.สงขลากล่าว

เมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่เกาะสมุย จ.สุราษฏร์ธานี ได้มีกิจกรรมเดินรอบเกาะ “เดินกินห่อ สาวย่าน ตำนานสมุย” ระหว่างวันที่ 8 เมษายน ถึง 2 พฤษภาคม นำโดยนักวิชาการ นักปรัชญาอาวุโส รวมทั้งพระสงฆ์ ที่เป็นชาวเกาะสมุยโดยกำเนิด เป็นแกนนำ ประกอบด้วย นายประมวล เพ็งจันทร์ นักปรัชญา ศ.ภญ.กฤษณา ไกรสินธุ์ เภสัชกรยิปซี เจ้าของรางวัล แมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะปี 2552 และ พระภาวนาโพธิคุณ(โพธิ์ จันทสาโร) เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลาราม วันแรกมีชาวเกาะสมุยในพื้นที่ มาร่วมเดินประมาณ 40 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาเหตุของการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นเพราะ ชาวเกาะสมุยพื้นถิ่น ต้องการจะสื่อความหมายไปยังบุคคลภายนอกว่า เครือญาติของชาวเกาะสมุยที่อาศัยอยู่บนเกาะสมุย สามารถพลิกฟื้นในพื้นที่กลับมาเป็นพื้นที่ ที่มีความน่าอยู่เหมือนเดิม เพราะเวลานี้พื้นที่เกาะสมุยถูกบุคคลภายนอก และนายทุน เข้ามาครอบครองพื้นที่เกือบหมด แม้แต่โรงเรียนก็มีนักเรียน ที่เป็นลูกหลานของชาวเกาะสมุยแท้ๆไม่ถึง 20% ที่เหลือคือ ลูกหลานของคนภายนอกที่มาทำมาหากินบนเกาะเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ความรู้สึกอนุรักษ์ หวงแหนพื้นที่มีน้อย ระยะเวลา ไม่ถึง 20 ปี ที่ผ่านมาพื้นที่เกาะสมุย มีความเสื่อมถอยทางด้านสิ่งแวดล้อมลงอย่างมาก ซึ่งกิจกรรมระหว่างการเดินนั้น จะมีการพูดคุยกับชาวบ้านพื้นเมืองเกาะสมุยให้มีความเชื่อมันในการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม ในพื้นที่เกาะ เพื่อทำให้เกาะสมุยกลับไปน่าอยู่เหมือนในอดีต

นายประมวล กล่าวว่า ตั้งใจว่า การเดินครั้งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง แม้ไม่อาจเปลี่ยนแปลงในชั่วพริบตา แต่อยากให้คนเกาะสมุยคิดหวงแหนพื้นที่บ้านเกิดของตัวเองมากขึ้น ซึ่งในอดีตพื้นที่เกาะสมุยมีป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในภาคใต้ และเกาะสมุยมีปริมาณน้ำฝนในแต่ละปีมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยมีป่าเป็นแหล่งกักเก็บน้ำเหมือนกับพระแม่ธรณีบีบมวยผม ต้นไม้ทุกต้นเหมือนกับเส้นผมที่ค่อยๆปล่อยน้ำออกมากลายเป็นลำน้ำไหลลงโดยรอบเกาะสมุย แต่เมื่อป่าไม้ลดหายไปมากก็เกรงว่าจะทำให้เกิดพิบัติภัยในอนาคต ดังนั้นหากทุกคนกลับมาช่วยกันรักษาธรรมชาติให้กลับคืนมาก็จะช่วยให้ไม่ขาดแคลนน้ำและไม่เกิดพิบัติภัย

“วันแรก ที่เราเดิน ได้แวะชุมชนและคารวะคนเฒ่าคนแก่และแหล่งธรรมชาติ ได้เจอกับแม่เฒ่าอายุย่าง 102 ปีซึ่งรุ่นเดียวกับแม่ของผม โดยแม่เฒ่ายังมีสุขภาพและความจำดีทำให้สาวย่านโยตจนรู้ว่าเป็นเครือญาติกันอย่างไร นอกจากนี้ยังได้พบกับคนตาบอดซึ่งแม้มองไม่เห็นแต่รับรู้ได้ด้วยใจว่าตนกำลังทำอะไรและได้อวยพรให้กิจกรรมการเดินครั้งนี้ประสบความสำเร็จ”นายประมวล กล่าว

นายสถิตพงศ์ สุรินทร์วรางกูร เครือข่ายพลเมืองสมุยกล่าวว่า เกาะสมุยมีสภาพเหมือนกะลาคว่ำ ด้านบนเป็นป่าและรอบๆมีลำน้ำ 14 สายไหลลงพรุ ซึ่งมีฝนคอยเติมน้ำให้ป่าอยู่ตลอด โดยมีปริมาณน้ำราว 500 คิวต่อปี ขณะที่ปริมาณการใช้น้ำเฉลี่ยแค่ปีละ 10 ล้านคิว หากร่วมกันดูแลป่าและบริหารจัดการที่ดีเชื่อว่าบนเกาะสมุยมีน้ำเหลือใช้เพราะต้นไม้เหมือนกับฟองน้ำสามารถดูดน้ำในอากาศที่มีปริมาณมากมาใช้ได้ตลอด

ด้านนายไพชนม์ แย้มบาน อดีตเกษตรอำเภอเกาะสมุย ซึ่งเป็นคนเกาะสมุยโดยกำเนิด กล่าวถึงสถานการณ์ต้นมะพร้าวซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ของเกาะสมุยว่า มีความน่าเป็นห่วงมากในอนาคตมะพร้าวอาจจะสูญพันธุ์ไปจากเกาะสมุย เนื่องจากพื้นที่ปลูกมะพร้าวมีปริมาณลดลงทุกปี โดยข้อมูลเกษตรกรที่มาลงทะเบียนในปี 2548 มีพื้นที่ปลูกมะพร้าวจำนวน 9.8 หมื่นไร่ และในปี 2556 เหลือพื้นที่ปลูกมะพร้าวประมาณ 6 หมื่นไร่ ลดลงถึง 1 ใน 3

“ในอนาคตหากไม่มีการแก้ปัญหาเชื่อว่าต้นมะพร้าวบนเกาะสมุยจะหายไปภายใน 60 ปี ซึ่งเหตุผลที่ทำให้เกษตรกรเลิกทำสวนมะพร้าวมีปัจจัยหลัก คือ การเปลี่ยนการถือครองที่ดินคืนมีนายทุนจากข้างนอกมาซื้อ และการนำที่ดินไปใช้สร้างบ้านอยู่อาศัยและการสร้างโรงแรม รวมถึงสภาพสังคมที่คนรุ่นใหม่หันไปทำอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวแทนการทำสวน”นายไพชนม์ กล่าว

นายไพชนม์ กล่าวต่อว่า ชาวสวนบนเกาะสมุยเคยพยายามร่วมกันแก้ปัญหา โดยส่งเสริมให้มีการปลูกมะพร้าวแถวแรกเสริมในพื้นที่ชายหาดและพื้นที่สาธารณะ และปลูกเสริมในสวนเพื่อทดแทนต้นเก่า แต่ก็ทำได้ไม่เต็มที่เพราะอาชีพทำสวนในปัจจุบันไม่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ คนรุ่นใหม่เลือกไปประกอบอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวแทน หรือขายสวนทิ้ง แต่ตนเองอยากบอกว่าต้นมะพร้าวมีคุณค่าต่อการท่องเที่ยวของเกาะสมุย เพราะถือเป็นจุดกำเนิดของการท่องเที่ยวทั้งหมด ดังนั้นจึงอยากเห็นทุกคนช่วยกันเพิ่มปริมาณต้นมะพร้าว โดยการเริ่มปลูกมะพร้าวในที่สาธารณะและในสวนที่เหลืออยู่

“ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งได้ประโยชน์จากมะพร้าวไปเต็มๆ เพราะมะพร้าวคือจุดขายเห็นได้จากการประชาสัมพันธ์ท่องเที่ยวเกาะสมุยก็มักมีต้นมะพร้าวเป็นโลโก้ ก็ควรออกมาสนับสนุนการปลูกและร่วมดูแลต้นมะพร้าว นักท่องเที่ยวทั่วโลกเดินทางมาที่เกาะสมุย เพื่อมาสัมผัสเกาะแห่งมะพร้าวหรือโคโคนัทไอซแลนด์”นายไพชนม์ กล่าว

นายธนิต พงเพชร เจ้าของสวนมะพร้าว กล่าวว่า ตนเองมีสวนมะพร้าวประมาณ 100 ไร่ แต่ทุกวันนี้ไม่ได้เข้าไปดูแลสวนแล้ว เพราะการทำสวนมะพร้าวไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบัน และยังมีปัญหาราคาตกต่ำ สวนมะพร้าวที่เหลือส่วนใหญ่เป็นต้นแก่ ขาดการบำรุงรักษา จึงถูกโค่นเพื่อขายเป็นไม้ ทำให้จำนวนต้นมะพร้าวลดลงทุกปีโดยไม่มีการปลูกทดแทน ทุกวันนี้อาชีพทำสวนมะพร้าวจึงเป็นเพียงอาชีพเสริมเท่านั้น

ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ปิ๊ง!!!! ไอเดีย นำข้อดีด้านทรัพยากรในจังหวัดและวิถีประชากรที่เป็นเกษตรกรรม ต่อยอดยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ของรัฐบาล จัดโครงการพัฒนาการผลิตและการตลาดพืชผักปลอดภัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เน้นถ่ายทอดความรู้ นำผู้เชี่ยวชาญสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการพัฒนาการผลิตและการตลาดพืชผักปลอดภัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ณ ที่ทำการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตผักปลอดสารพิษเพื่อการส่งออก อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรีว่า ภายในปี 2564 รัฐบาลมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในประเทศให้เป็น 600,000 ไร่ ตามยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564

จังหวัดนนทบุรีได้เล็งเห็นความสำคัญ โดยนำยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ฯ ดังกล่าว มาต่อยอดด้วยการสนับสนุน และสร้างเกษตรกรให้หันมาทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย อาทิ เกษตรกร ผู้เชี่ยวชาญ ปราชญ์ชาวบ้านและศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร

สำหรับการขับเคลื่อนการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์นั้น จังหวัดนนทบุรี กำหนดกรอบการทำงานไว้ 3 ด้าน ได้แก่ การสร้างแรงจูงใจเพื่อปรับเปลี่ยนเข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ การสร้างองค์ความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อจูงใจการผลิตตลอดจนการส่งเสริมด้านการตลาดให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ไปสู่ผู้บริโภคได้โดยตรง นอกจากนั้น ยังส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนสารเคมีให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และวิถีของประชากรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมของนนทบุรี ในพื้นที่ที่สามารถผลิตผักทั้งหมดของจังหวัดนนทบุรี จำนวน 2,253 ไร่ จึงเป็นโอกาสที่จะสร้างแหล่งผลิตอาหารใกล้ชุมชนเมือง โดยดึงจุดแข็งคือ การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำคือ ตัวเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิต กลางน้ำคือ ขั้นตอนการผลิต ไปถึงปลายน้ำคือ ผู้บริโภค ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันเรื่องนี้ เกษตรอินทรีย์แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เราเชื่อว่าหากทุกฝ่ายร่วมมือก็จะทำให้ยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์เป็นไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน” ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี กล่าว

ด้าน นายสมนึก ศรีเที่ยงตรง เกษตรจังหวัดนนทบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐาน จึงมีการจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมด้านเกษตรอินทรีย์ครั้งที่ 1 ด้วยการคัดเลือกเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี จำนวน 100 ราย เข้ารับการอบรมกระบวนการด้านเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร

โดยจะมีการประเมินผู้ร่วมการอบรมว่าอย่างน้อย ร้อยละ 80 จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการผลิตและการตลาดพืชปลอดภัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (การผลิตพืชผักเกษตรอินทรีย์) และร้อยละ 60 จะต้องมีคุณสมบัติเพื่อยื่นการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ได้ ซึ่งจะมีการติดตามความคืบหน้าการผลิตด้านเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรที่เข้ารับการอบรมทุกคน

และผู้ที่ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตร ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดของการอบรมคือ การสร้างเครือข่ายการผลิตและการตลาดพืชผักปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่สูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์ เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคที่สินค้าสุขภาพ มีแนวโน้มได้รับความนิยมสูงขึ้น แม้มีราคาสูงกว่าผลผลิตทางการเกษตรทั่วไปก็ตาม

การปรับตัวของพืชพรรณและสัตว์โลก บนโลกใบนี้ มันเป็นสิ่งน่าอัศจรรย์ แม้อากาศจะเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลหรือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะโลกทั้งพืชพรรณและสัตว์ต่างปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ดีเยี่ยม

เสียงจักจั่นระงมไปทั่วผืนป่า ในหน้าแล้ง เหมือนคำสัญญาที่ให้ไว้กับสรรพสิ่ง ในเปลวแดดที่ร้อนระอุ ของปลายเดือนมีนาคม และจะก้าวย่างสู่เดือนเมษายนที่จะมาเยือน

การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ที่ก้าวสู่และพานพบกับความแห้งแล้งของฤดูร้อน ชีวิตสรรพสัตว์ไม่ได้เลวร้ายไปตามสภาพของอากาศ แม้ไม้ใหญ่บางพันธุ์ จะทิ้งใบร่วงโรยสู่พื้น ก็ยังอวดโชว์เรียวกิ่งให้ดูแปลกตา คราเปลี่ยนถ่ายฤดู ยังทำให้เกิดชีวิตใหม่ๆ พรรณไม้ใหม่ที่รอช่วงของฤดูกาลนี้ แถวทิวผืนป่า ธรรมชาติยังให้อาหาร ป่าเป็นตลาดสดของคนชนบท ได้หาอยู่หากิน เก็บใช้ผลผลิตเหล่านั้นมากินเป็นอาหาร ธรรมชาติกับสรรพสัตว์ต่างเอื้อประโยชน์ต่อกันและกันมาชั่วนาตาปี

จักจั่น ไข่มดแดง แมงจินูน ผักหวานป่า ยอดลำเท็ง ก็จะมีแมงจินูน ทั้งพืชผักและแมลง ก็มากมีตามแต่ละพื้นถิ่น ต่างก็ยังประโยชน์เป็นอาหารให้กับผู้คน ตามเมนูตามสภาวะของพื้นถิ่นนั้นๆ

แม้พืชผักหรือสัตว์บางชนิด จะลบหายไปเพราะสาเหตุเกิดจากความไม่พอของมนุษย์ แต่การปรับตัวทำให้มนุษย์อยู่ได้ แม้อาจแร้นแค้นกว่าเก่าก่อน นอกเหนือจากเมนูอาหาร ที่มาจากวงจรธรรมชาติแล้ว ธรรมชาติยังชดเชยด้วยความสวยงาม

ต้นไม้หลายชนิดเบ่งบานในฤดูร้อนแล้งนี้ ตามผืนป่าจะเห็นสีสัน สวยงามเป็นทิว แม้ตามถนนหนทาง มนุษย์เองเป็นผู้รังสรรค์ ด้วยการปลูก ไม่ว่าเหลืองปรีดิยาธร ตะแบก คูน กัลปพฤกษ์ พญาเสือโคร่ง ต่างออกดอกสีสันสดสวย ในยามหน้าแล้ง

ถึงแม้ความเปลี่ยนแปลงจะย่ำกราย การปรับตัวของพืชและสัตว์บนโลกในนี้ยังคงปรับตัวอยู่ได้ วันที่ 9 เม.ย. นายเสน่ห์ จันทร์กระจ่าง อายุ 64 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 47/121 ม.9 ต.พลับพลา อ.เมือง จ.จันทบุรี ได้เก็บลูกเสือปลา 1 ตัว มาเลี้ยง เนื่องจากคิดว่าเป็นลูกแมวธรรมดา เมื่อเพื่อนบ้านมาพบต่างบอกว่าไม่ใช่ลูกแมว แต่เป็นลูกเสือปลา หรือ ลูกเสือแผ้ว สัตว์ป่าคุ้มครองหายาก จากนั้นจึงได้ประสานเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มารับนำไปดูแลต่อ

เมื่อเดินทางไปที่บ้านหลังดังกล่าวพบ นางสว่างจิตต์ ศรจันทร์ อายุ 46 ปี ภรรยาของ นายเสน่ห์ อยู่บ้านกับลูกๆ เนื่องจากนายเสน่ห์ออกไปทำงาน โดยบนแคร่หน้าบ้านพบลูกเสือปลา ถูกเลี้ยงไว้ในตะกร้าพลาสติก จากการสังเกตเบื้องต้นพบว่า ลูกเสือปลา อายุประมาณ 3 สัปดาห์ รูปร่างคล้ายลูกแมว ขนสีน้ำตาลอมทอง มีลายจุดสีดำสลับตลอดทั้งตัวคล้ายเสือดาว ร่างกายแข็งแรงดี และส่งเสียงขู่เป็นระยะ

นางสว่างจิตต์ กล่าวว่า เมื่อวันก่อนสามีได้เดินทางไปเยี่ยมพี่สาว อยู่ที่บ้านพัก ม.8 ต.ทุ่งเบญจา อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี และได้ยินเสียงร้องของสัตว์อยู่ภายในบ้านของพี่สาวจึงเดินไปดู จนพบลูกเสือปลาตัวดังกล่าว โดยคิดว่าเป็นลูกแมวที่พลัดหลงกับแม่ แต่ด้วยความไม่รู้และเกิดสงสาร จึงนำกลับมาเลี้ยงที่บ้าน เหมือนกับลูกแมวทั่วไป หลังเลี้ยงได้เพียง 1 วัน เพื่อนบ้านข้างเคียงที่ทราบข่าวต่างเดินทางมาดู พร้อมทั้งบอกว่า ไม่น่าจะใช่ลูกแมว ทั้งเสียงร้อง ขน และจุดสีดำสลับที่ตัว เมื่อสืบค้นข้อมูลจากเว็บไซต์ จึงรู้ว่าเป็นลูกเสือปลา หรือ เสือแผ้ว ด้วยความตกใจจึงโทร.ประสานไปยังสายด่วน 1362 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้เข้ามาตรวจสอบและนำกลับไปดูแลต่อ เนื่องจากลูกเสือปลาเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองไม่สามารถนำมาเลี้ยงได้

นางสว่างจิตต์ กล่าวต่อว่า ส่วนสาเหตุที่ลูกเสือปลาพลัดหลงเข้ามาในบ้าน คาดว่าเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา เกิดพายุลมแรง ประกอบกับบ้านอยู่ติดกับเขาลูกช้าง ต.ทุ่งเบญจา แม่เสือปลาอาจคาบลูกหนีพายุฝนมาหลบติดกับบ้านของพี่สาวก่อนที่จะพลัดหลงกันจนเข้ามาในบ้าน และส่งเสียงร้องเรียกตามหาแม่ จนสามีของตนเข้าไปพบ และเกิดความสงสารจึงนำมาเลี้ยง โดยไม่รู้ว่าเป็นลูกเสือปลา ดังกล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับเสือปลา เสือแผ้ว หรือแมวปลา เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกเสือ ถูกจัดว่าเป็นแมวป่าชนิดหนึ่ง โดยนิสัยของเสือปลาค่อนข้างจะดุร้ายกว่าแมวทั่วไป แต่ไม่ทำร้ายคนก่อน เป็นสัตว์ที่ไม่สามารถนำมาฝึกให้เชื่องได้ และเป็นสัตว์ที่ห้ามนำมาเพาะเลี้ยง เพราะเป็นหนึ่งในสัตว์คุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 หากลักลอบนำมาเลี้ยงมีความผิดทางกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญา ซึ่งปัจจุบัน เสือปลา ทั่วโลกอยู่ในขั้นใกล้จะสูญพันธุ์

กรมปศุสัตว์ ระบุจีนรับผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกล็อตแรกของไทยแล้ว พร้อมตรวจสอบความปลอดภัยในอาหารอย่างเข้มงวด พบเนื้อไก่ไทยผ่านเกณฑ์การตรวจสอบทั้ง 24 รายการ เร่งประสานทางการจีนเดินหน้ารับรอง โรงงานเพิ่มอีก 12 แห่ง จากที่รับรองแล้ว 7 แห่งก่อนหน้านี้ เชื่อหากครบทั้ง 19 โรงงาน จะช่วยผลักดันมูลค่าส่งออกปีละ 20,000 ล้านบาท

นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ไก่สดล็อตแรกของไทยเดินทางถึงท่าเรือ กวนเหล่ย เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เรียบร้อยแล้ว โดยมีรองผู้ว่าสิบสองปันนา เป็นประธานในพิธีรับอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและประชาชนรอรับอย่างคับคั่ง ทุกฝ่ายล้วนยินดีกับความสำเร็จในการเปิดรับเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกที่ของไทยได้มาตรฐานสากล มีความปลอดภัย สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และถือเป็นครั้งแรกในการเปิดรับผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกแช่แข็งและผลพลอยได้ (By-Product) จากเนื้อไก่สดของไทยเพื่อป้อนผู้บริโภคชาวจีน โดยหลังจากที่เรือบรรทุกสินค้ามาถึง สัตวแพทย์จากสำนักงานกำกับการควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบ และกักกันแห่งชาติ หรือ AQSIQ ทำการทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่สำคัญประมาณ 24 รายการ เช่น โรคระบาดสัตว์ เชื้อจุลินทรีย์ และสารตกค้างต่างๆ

“จากการตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารโดย AQSIQ พบว่าเนื้อไก่ของไทยผ่านเกณฑ์การตรวจสอบทั้งหมด ซึ่งเป็นที่พอใจของทางการจีนเป็นอย่างมาก กระบวนการเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มงวดในเรื่องความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค และแสดงให้เห็นว่าเนื้อไก่ของไทยมีมาตรฐานและได้รับการยอมรับจากชาวจีนอย่างแท้จริง” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

ด้าน นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์และโฆษกกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสำนักงานการขึ้นทะเบียนรับรองและหน่วยรับรองระบบงานแห่งสาธารณรัฐประชาชน จีน หรือ CNCA ได้ให้การรับรองโรงงานไทยจำนวน 7 แห่งแล้ว ส่วนอีก 12 แห่งที่รอการพิจารณานั้น กรมปศุสัตว์ได้ประสานงานกับ CNCA ในการผลักดันให้เร่งตรวจสอบเอกสาร และตรวจสอบรายละเอียดการแก้ไขปรับปรุงโรงงานตามที่ฝ่ายจีนได้แจ้งไว้หลังการเข้าตรวจ ขณะเดียวกันได้เร่งผลักดันให้ผู้ประกอบการทุกโรงงานเดินหน้าแก้ไขปรับปรุงตามข้อเสนอแนะของจีนให้แล้วเสร็จ ซึ่งจะช่วยให้การรับรองโรงงานมีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น เพื่อขยายการส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกและผลพลอยได้จากเนื้อไก่สดให้มากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่สนับสนุนการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ และผลักดันการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไปยังตลาดใหม่ๆ และการส่งออกครั้งนี้ยังตรงกับนโยบาย One Belt One Road ของจีนที่ส่งเสริมการขนส่งสินค้าโดยกองเรือพาณิชยนาวีแม่น้ำโขงด้วย

“ผลิตภัณฑ์ไก่ที่มีคุณภาพของไทย ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในมณฑลยูนนานและจังหวัดใกล้เคียงได้เป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันตลาดเหล่านี้ยังมีความต้องการทั้งส่วนของเนื้อไก่และ By-Product อาทิ เครื่องใน ขา และเท้าไก่ คาดว่าหากโรงงานได้รับการรับรองครบทั้ง 19 แห่ง จะสร้างรายได้ให้กับไทยประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี” น.สพ.สมชวน กล่าว

อุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยได้รับการยอมรับไปทั่วโลก เนื้อไก่และผลิตภัณฑ์จากเนื้อไก่ถือเป็นสินค้าส่งออกสูงถึงร้อยละ 85 ของกลุ่มสินค้าปศุสัตว์ทั้งหมด โดยกรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสัตว์ปีก เกษตรกรและสมาคมที่เกี่ยวข้อง พัฒนาคุณภาพมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากบราซิลและอเมริกา ขณะเดียวกัน หลายประเทศอาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และยุโรป ยังอนุญาตให้โรงงานของไทยส่งออกผลิตเนื้อไก่สดแช่แข็งและเนื้อไก่ปรุงสุกไปจำหน่ายได้