บรรยากาศภายในงานมหกรรม ชิมทุเรียนพันธุ์ใหม่ จันทบุรี 1

แต่ละวัน คึกคัก สนุกสนาน มีผู้สนใจทั้งในและต่างจังหวัดเดินทางมาแวะชิมกันจำนวนมาก บรรดาเกษตรกรมืออาชีพต่างให้ความสนใจซื้อกิ่งพันธุ์ลูกผสมกันหมดไปหลายสายพันธุ์ เกษตรกรรายใหม่ๆ หรือบรรดาผู้สูงวัยหลังเกษียณสนใจที่จะปลูกทุเรียน ขอคำปรึกษากับนักวิชาการในงาน…น่าปลื้ม ขอบคุณ ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ที่ได้ทำงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้างและจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ดีๆ รูปแบบใหม่ จับต้องและกินได้ สร้างความสุขให้ผู้มาเยือนท่ามกลางบรรยากาศที่ร้อนตับแตกในเดือนเมษายน ให้คลายร้อนและเต็มไปด้วยรอยยิ้ม…สนใจสอบถามรายละเอียด

มาแอ่วเมืองเหนือครั้งนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณวาท กาไชย เกษตรกรคนเก่งที่ปลูก ฝรั่งกลมสาลี ผสมผสานกับสวนลำไย อยู่บ้านเลขที่ 33 หมู่ 13 ตำบลแม่ลอย อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย

ปัจจุบัน คุณวาทอายุ 54 ปี ยึดอาชีพปลูกลำไยเนื้อที่ 2 ไร่ หาเลี้ยงครอบครัวมาโดยตลอด แต่ระยะหลัง ฝนฟ้าไม่เป็นใจ ผลผลิตน้อยจนน่าใจหาย แถมบางปี เจอปัญหาลำไยล้นตลาด ทำให้มีรายได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เมื่อ 4- 5 ปีที่แล้ว คุณวาท จึงตัดสินใจโค่นต้นลำไยลงบางส่วน และปลูกต้นฝรั่งกลมสาลี แซมระหว่างต้นลำไย

ต้นฝรั่ง เป็นพืชที่มีรากตื้นและแผ่กระจายในระดับความลึกจากผิวหน้าดินลงไปประมาณ 20 เซนติเมตร หากน้ำขังจะทำให้รากอ่อนแอง่ายต่อการเข้าทำลายของโรคและตายได้ง่าย คุณวาทจึงต้องยกร่องปลูกฝรั่ง พร้อมขุดสระ 2 บ่อ เพราะโดยปกติ สวนฝรั่งจำเป็นต้องมีแหล่งน้ำเพียงพอในช่วงการออกดอกและการเจริญของผล หรือมีปริมาณฝนไม่ต่ำกว่าปีละ 1,000-2,000 มิลลิเมตร

สาเหตุที่คุณวาทเลือกปลูกต้นฝรั่ง เนื่องจากเป็นพืชที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี เหมาะสมสำหรับปลูกไม้ผลแบบผสมผสาน ร่วมกับ ลำไยที่เป็นไม้ผล จุดเด่นประการต่อมาคือ

ฝรั่งกลมสาลี ให้ผลผลิตเร็ว ติดผลง่าย ปลูกได้ดีในดินแทบทุกชนิด และเป็นที่ต้องการของตลาดในวงกว้าง

คุณวาท ซื้อกิ่งฝรั่งตอนมาในราคากิ่งละ 20 บาท รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ประมาณครึ่งก.ก.ต่อหลุม พร้อมเติมดินโดโลไมท์ ประมาณ 3-4 ขีด/หลุม เพื่อช่วยปรับสภาพดินและบำรุงให้ต้นฝรั่งแข็งแรงสมบูรณ์ ปลูกต้นฝรั่งในระยะระหว่างต้น 1.5 เมตร และระหว่างแถว 2 เมตร

โดยทั่วไป ต้นฝรั่งกลมสาลี มีการเจริญเติบโตดี ทรงพุ่มเตี้ยแผ่กว้าง ใบค่อนข้างยาวรี อายุให้ผลหลังปลูกเร็ว ติดผลดก ผลกลมแป้น ผิวเขียวอมเหลือง ขนาดผลปานกลาง รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย เนื้อหนาละเอียดแน่นกรอบ สีขาว ผลที่แก่สามารถปล่อยผลไว้บนต้นได้นาน

คุณวาทย้ำว่า การปลูกต้นฝรั่ง น้ำ ถือเป็นตัวช่วยที่สำคัญ ในระยะเริ่มปลูกฝรั่งใหม่ ๆ ควรรดน้ำทุกวันจนกว่าจะตั้งตัวได้ ต้องคอยรดน้ำให้ดินชุ่ม หากปลูกต้นฝรั่ง ในช่วงฤดูฝน ก็จะช่วยประหยัดแรงงานได้อีกทางหนึ่ง เมื่อต้นฝรั่งมีอายุประมาณ 8 เดือนก็จะเริ่มผลิดอกออกผลเป็นจำนวนมาก

คุณวาท กล่าวว่า ระยะนี้ถือว่า ต้นฝรั่งยังไม่โตเต็มที่ ผลฝรั่งยังไม่ค่อยได้คุณภาพ ต้องเด็ดผลฝรั่งส่วนใหญ่ทิ้ง ปล่อยทิ้งอยู่บนต้นแค่ 3- 4 ลูกก็พอแล้ว คุณวาท ปฎิบัติอย่างนี้เรื่อยมา จนกระทั่งต้นฝรั่งมีอายุประมาณ 2- 3 ปี ถือว่าสภาพต้นสมบรูณ์เต็มที่แล้ว

คุณวาท เปิดเผยเทคนิคในการบำรุงต้นฝรั่งว่า หากมีน้ำจำนวนมากเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก ต้นฝรั่งจะก็ผลิดอกออกผลออกเรื่อยๆ ที่ผ่านมา คุณวาทสามารถเก็บผลฝรั่งออกขายได้ถึงปีละ 2-3 รอบทีเดียว

ในระยะที่ต้นฝรั่งเริ่มผลิดอก จะดูแลให้น้ำและปุ๋ยสูตร 13-13-21 อย่างเต็มที่ ประมาณต้นละ 2- 3 กำมือโรยรอบทรงพุ่ม ในช่วงปีแรก เมื่อต้นฝรั่งมีอายุครบ 2 ปีก็จะเพิ่ม

สัดส่วนการให้ปุ๋ยเพิ่มขึ้นเป็น 3- 4 กำมือ การดูแลรักษา ปัญหาเรื่องโรคและแมลง มีน้อยมาก ที่เจอคือ เพลี้ยอ่อน เมื่อเจอต้องรีบแก้ไขโดยฉีดสารเคมีเซฟวันตามอัตราที่ระบุไว้ข้างขวด

ขั้นตอนการบังคับการออกดอกของต้นฝรั่ง โดยทั่วไปเกษตรกรนิยมตัดแต่งต้นฝรั่งเป็นทรงพุ่ม เพื่อให้ต้นฝรั่งมีความสมบูรณ์แข็งแรง พร้อมออกดอก ให้ผลผลิตสม่ำเสมอ โดยเริ่มจากตัดปลายยอดกิ่งออกเล็กน้อยเพื่อช่วยกระตุ้นให้มีการแตกกิ่งแขนง และเลือกกิ่งแขนงที่แตกจากลำต้นหลักไว้ จำนวน 3 กิ่ง โดยเลือกกิ่งสมบูรณ์ มุมกิ่งกว้าง สูงจากพื้นประมาณ 30-40 เซนติเมตร แต่ละกิ่งห่างกันพอประมาณ

รวมทั้งตัดแต่งควบคุมความสูงของทรงพุ่มไม่ให้เกิน 1.5 เมตรและความกว้างของทรงพุ่มไม่เกิน 2 เมตร และตัดแต่งภายในทรงพุ่ม โดยเลือกตัดแต่งกิ่งแขนงขนาดเล็กที่ไม่สมบูรณ์ กิ่งไขว้ กิ่งเป็นโรค โดยยึดหลักตัดแต่งเพื่อให้ทรงพุ่มโปร่งขึ้นเพื่อให้แสงแดดส่องได้ทั่วถึงช่วยลดการระบาดของโรค

การไว้ผลในแต่ละรุ่นของฝรั่ง คุณวาทจะไว้ผลเพียง 1 ผล/กิ่งแขนงย่อย 1 กิ่ง เพราะฝรั่งกลมสาลีมีน้ำหนักมากหากไว้ผลตั้งแต่ 2 ผลขึ้นไป จะทำให้กิ่งฉีกหักได้ง่ายและทำให้ต้นโทรมเกินไป หลังดอกบานประมาณ 1-2 วัน ฝรั่งจะเริ่มติดผล

สำหรับมือใหมที่เริ่มหัดปลูกต้นฝรั่ง ควรฝึกสังเกต หากพบว่า ดอกตัวผู้เริ่มโรยและเหี่ยวแห้ง ที่ปลายยอดเกสรตัวเมียจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล แสดงว่า ฝรั่งเริ่มติดผลแล้ว ผลฝรั่งจะเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนมี ขนาดเกือบเท่าผลมะนาวประมาณ 4 สัปดาห์ หลังติดผล ก็ทำการห่อ ผลทันที โดยใช้กระดาษหนังสือพิมพ์หรือถุงพลาสติกมา คลุมผลฝรั่ง เพื่อช่วยให้ผลฝรั่งมีผิวขาว สวย

คุณวาท นิยมใช้ถุงพลาสติกห่อหุ้มผลฝรั่งมากกว่า เพราะสามารถตรวจเช็คได้ง่ายว่า ผลฝรั่งจะเริ่มสุกในช่วงใด ฝรั่งกลมสาลีจากสวนของคุณวาท มีขนาดผลโต น้ำหนักโดยเฉลี่ย

มากกว่า 6 ขีด -1 ก.ก. ทีเดียว คุณวาทจึงเลี้ยงผลฝรั่งสำหรับเก็บเกี่ยวเพียงต้นละ 40- 50 ผลเท่านั้น

ผลผลิตที่ได้จะเก็บขายส่งให้กับแม่ค้าที่แวะมารับซื้อผลผลิตถึงสวนในราคาก.ก.ละ 10 บาทเท่านั้น ฝรั่งกลมสาลีของสวนแห่งนี้ มีคุณภาพเป็นที่พึงพอใจของแม่ค้า เพราะฝรั่งมีรสชาติหวาน กรอบ อร่อย แถมมีขนาดผลโต เตะตาลูกค้าทำให้ซื้อง่ายขายคล่องกว่าฝรั่งพันธุ์ทั่วๆ ไป

ทุกวันนี้ คุณวาทผลิตกิ่งตอนต้นฝรั่งจำหน่ายให้แก่เพื่อนเกษตรกรที่สนใจปลูกฝรั่งในราคากิ่งละ 20 บาทเท่านั้น หากใครสนใจอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปลูกฝรั่งชนิดนี้สามารถโทรศัพท์พูดคุยกับคุณวาทที่หมายเลขโทรศัพท์ 080-5020169 ได้ตลอดเวลา

หากใครมีที่ว่าง ที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ก็อยากแนะนำให้ลองปลูกฝรั่งเพราะเป็นไม้ผลที่ผลผลิตเร็ว ที่สำคัญมีอนาคตทางการตลาดที่สดใสมาก เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการรักษาสุขภาพเป็นอย่างยิ่ง ทุกวันนี้ คนไทยจำนวนมากนิยมกินฝรั่งทั้งผลสดและฝรั่งดอง ฝรั่งสดมีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมไปด้วย วิตามินซี แคลเซียม และเหล็ก ในปริมาณสูง และยังมีเยื่อใยสูง หากใครสามารถบริโภคฝรั่งสดได้ทุกวันจะช่วยแก้ปัญหาระบบขับถ่ายได้เป็นอย่างดี

บ้านกะลุบี เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ตั้งอยู่ริมเทือกเขาบูโด อยู่ในเขตอำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี สภาพแวดล้อมภูมิอากาศแบบเชิงเขา ประชากรส่วนใหญ่ยึดอาชีพเกษตรกรรม รายได้หลักคือ ยางพารา

กะพ้อ แม้เป็นเพียงอำเภอเล็กๆ แต่มีเรื่องราววิถีชีวิตผู้คนที่น่าสนใจอยู่มากทีเดียว เช่น ปราชญ์ชาวบ้านเกษตรกรนักพัฒนาผู้ริเริ่มโครงการปลูกพืชพันธุ์เกษตรทางเลือกต่างๆ ให้กับชาวบ้าน เพื่อให้ใช้เวลาว่างและเพิ่มเติมรายได้ เนื่องจากราคายางพาราขณะนี้อยู่ในช่วงภาวะที่ตกต่ำ ชาวบ้านที่รู้จักกันเรียกขานกันว่า แบเซ็ง

แบเซ็ง หรือ แวอุเซ็ง แต วัย 61 ปี อาชีพเดิมเป็นเช่นชาวบ้านทั่วไป ยึดอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนยางพารา ด้วยมีความรักในอาชีพเกษตรกรรม จึงหมั่นเพียรเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ผ่านการฝึกอบรมดูงานภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ และกลับมาทดลองในแปลงของตนเอง บนพื้นที่ 2 ไร่ ตั้งอยู่เลขที่ 15/1 หมู่ที่ 7 บ้านกะลุบี อำเภอกะพ้อ โทร. (081) 275-6642 จนเริ่มเข้าใจเรื่องดิน เรื่องสมุนไพรต่างๆ การกินผักเป็นยา แบบคนในสมัยอดีต

จากสิ่งที่เรียนรู้และปฏิบัติ แบเซ็ง บอกว่า จากการที่ได้เรียนรู้อย่างจริงจังและนำมาปฏิบัติจริงจนประสบผลสำเร็จหลายอย่าง โดยเฉพาะการนำผัก พืชพันธุ์ต่างๆ มาขยายผล มาทดลองอย่างจริงจังจนประสบผลสำเร็จ และในช่วงเวลากว่า 10 ปี ได้ถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ให้แก่ชาวบ้านเสมอมา

วันนี้ แบเซ็ง ได้รับการยกย่องเป็นหมอดิน ปราชญ์ชาวบ้านของอำเภอกะพ้อ และอำเภอสายบุรี ภายในพื้นที่การเกษตรของหมอดินแบเซ็ง มีกิจกรรมที่น่าสนใจและเปิดให้ชาวบ้านเข้ามาเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น แปลงเกษตรปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษเพื่อบริโภคเอง หรือผลิตเพื่อจำหน่าย การปรับปรุงดินให้เหมาะสมกับพืช การใช้ปุ๋ยชีวภาพ และการเพิ่มรายได้แก่ชาวบ้านในการปลูกพืชเกษตรทางเลือกอื่นๆ ในยุคยางพาราราคาถูก

พร้อมกันนี้ ยังร่วมทำงานแนวทางการอนุรักษ์ป่า ปลูกป่า กิจกรรมอนุรักษ์นกเงือก การรักษาผืนน้ำ ลำธาร รักษาป่าต้นน้ำ เป็นต้น

แบเซ็ง ยังมองว่า ชาวบ้านไม่ชอบทำเป็นเชิงเกษตรพัฒนามากขึ้นเท่าที่ควร ยังคงทำเกษตรแบบชาวบ้านๆ ไม่แสวงหาความรู้ใหม่ๆ เท่าที่ควร ดังนั้น แบเซ็งจึงคอยมองหา สอดส่องเรียนรู้กรรมวิธีใหม่ๆ หาช่องทางใหม่ๆ เพื่อเพิ่มคุณภาพ เพิ่มปริมาณ ลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น การจัดการคุณภาพยาง การใช้ปุ๋ยชีวภาพ ไม่ต้องซื้อปุ๋ย สามารถทำได้เอง

สำหรับในวันนี้ สิ่งที่แบเซ็งได้ใส่ใจเป็นพิเศษและเน้นย้ำให้ทุกคนได้คิดคือ การลด ละ เลิกการใช้สารเคมีต่างๆ ในการประกอบอาชีพการเกษตร แบเซ็ง ได้เล่าถึงจุดพลิกผันว่า เกิดจากวันหนึ่งลูกลิงกังที่เลี้ยงอยู่ เช้าวันนั้นซื้อแตงโมที่ตลาดมา เมื่อเอามาให้มันกิน พอในช่วงสายๆ ปรากฏว่าเจ้าลูกลิงของเราน้ำลายฟูมปากเลย อยู่มาได้สักพักหนึ่งก็ตายในเวลาไม่นาน

แบเซ็งเห็นดังนั้นจึงคิดได้ว่า ผลไม้มีสารพิษ มันโดนสารพิษเล่นงานแล้ว “เราก็คงไม่ต่างกัน ทานผลไม้ทุกวันๆ สะสมสารพิษไปไม่รู้เท่าไรแล้ว เห็นท่าปล่อยไว้ไม่ดีแน่ ตั้งแต่นั้นมาจึงตัดสินใจปลูกผักไว้ทานเอง ไม่ยอมซื้ออีกต่อไป ตั้งใจหาความรู้ ศึกษาการเกษตรด้วยตนเอง จากแหล่งสื่อต่างๆ และเปลี่ยนพันธุ์ ยกแปลง ทดลอง ลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ จนเข้าใจ และพัฒนาเพิ่มหลายสายพันธุ์เรื่อยๆ มา”

แรกๆ ก็ไม่ค่อยมีใครสนใจเท่าไร ขึ้นอยู่กับเวลา ด้วยความอดทนและใจรัก แบเซ็ง เล่าต่อว่า

“นานๆ เข้าพอชาวบ้านรู้ว่าเรามีอะไร ทำอะไร ก็เริ่มเข้ามาดู มาศึกษาที่เรามากขึ้นๆ เรื่อยๆ จนเมื่อเราได้ขยับขึ้นไปอบรมดูงาน เป็นตัวแทนของชาวบ้าน และติดต่อเชื่อมกับหน่วยราชการ จึงทำให้ได้ทำงานเกษตรอย่างจริงจัง และตั้งใจศึกษาเพื่อเพิ่มพูนความรู้ไปแนะนำชาวบ้าน ให้ประโยชน์แก่ชาวบ้านต่อไป ให้ได้มากที่สุด”

มาระยะหนึ่ง ข่าวการทำแปลงผักปลอดสารพิษของแบเซ็ง ได้ไปถึงคุณหมอ เป็นผู้อำนวยการ โรงพยาบาลกะพ้อ ได้รู้มาว่ามีการปลูกผักปลอดสารพิษที่นี่ จึงสนใจ มาชม มาซื้อถึงที่แปลงเลย จึงทำให้แปลงผักของแบเซ็งเป็นที่รู้จักและสร้างความน่าเชื่อถือแก่ชาวบ้านมาตั้งแต่นั้นมา

พร้อมกันนี้ คุณหมอยังแนะนำให้แบเซ็งปลูกพืชผักสมุนไพร เพื่อให้ชาวบ้านนำไปขยายต่อ เพื่อชุมชนจะได้มีสุขภาพที่ดี มีพลานามัยแข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย เลือกกินอาหาร กินผัก กินพืชสมุนไพรกันมากๆ เพื่อเพิ่มภูมิต้านทาน จะได้ไม่ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลกันบ่อยๆ

ทุกวันนี้ คุณหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล เข้ามาซื้อผักปลอดสารพิษที่นี่กันเป็นประจำอยู่ไม่ขาดสาย ในแปลงผักปลอดสารพิษมีพืชพันธุ์ที่น่าสนใจอย่างหลากหลาย ทั้งพืชในท้องถิ่นและต่างถิ่นที่นำมาปลูกศึกษาทดลอง เช่น เมนทอล หญ้าหวาน แปะตาปี้ รวมถึงพืชป่า เช่น ควายผู้ ปลาไหลเผือก เมล็ดมังกร ส่วนมากที่เป็นประโยชน์ซึ่งสามารถนำมาเป็นยารักษาโรคได้ดี นอกจากนั้น ยังมีพืชที่สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้าน เช่น การปลูกเห็ดในสวนยาง ปลูกข้าวโพดในไร่ข้าว พืชตระกูลถั่ว ฟักทอง มันสำปะหลัง มันเทศ และอื่นๆ

ขณะนี้ ชาวบ้านเริ่มเข้ากลุ่ม จัดการตัวเองเป็นสมาชิก ขยายแปลงปลูกผักกันหลายคนแล้ว ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ระหว่างทดลอง ติดตามผล และไปแนะนำเพิ่มความรู้ให้แก่ชาวบ้านแบบตัวต่อตัว คาดว่าอนาคตจะดีขึ้นอีก เพิ่มผลิตผลออกมาเพิ่มมากขึ้น

ในอนาคต แบเซ็งวางเป้าหมายไว้ว่า ให้ชาวบ้านเข้าใจเรื่องของป่าต้นน้ำ การรักษาป่า รักษาแหล่งน้ำ รักษาสัตว์ป่า “สิ่งที่ดีคือ ชาวบ้านต้องรักษาทรัพยากรในพื้นที่ที่มีอยู่นี้ให้สามารถรักษาไว้ได้ยาวนานที่สุด ต้นน้ำต้องรักษา ไม่สร้างมลภาวะให้กับแหล่งน้ำ ป่าไม้ต้องยังคงอยู่เพื่อรักษาสมดุลธรรมชาติ เมื่อต้นน้ำดี ปลายน้ำดี ตลอดลำธารดี สัตว์ป่ายังคงอยู่ ไม่ทำร้าย ไม่บิดเบือน ธรรมชาติก็จะยังคงอยู่ตลอดไป ข้างบนเขาดี ข้างล่างจะปลูกอะไรก็ไม่มีปัญหา ที่แหล่งแร่ธาตุมีสัตว์ แหล่งน้ำไม่เหือดหายไปไหน ทุกคนก็มีความสุข ปลูกอะไรขึ้นดี ขึ้นงามไปหมด ผักปลอดสารพิษ สุขภาพดี ความเป็นอยู่ย่อมดีมีความสุข” แบเซ็ง กล่าวในที่สุด

สับปะรดพืชเศรษฐกิจของไทยที่ปลูกส่งขายติดอันดับโลกในรูปของผลิตภัณฑ์แปรรูปนานาชนิด สร้างงานสร้างอาชีพให้ผู้เกี่ยวข้องมากต่อมาก โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่ร่ำรวย และขยายการผลิตกันมาโดยตลอด

ประเมินจากการขยายกำลังการผลิต และการลงทุนเพิ่มของโรงงานเก่า และจำนวนการเกิดขึ้นของโรงงานรายใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้น ตรงข้ามกับราคารับซื้อ ผลผลิตสับปะรดจากชาวไร่ที่กลับตกต่ำแบบซ้ำซาก ชาวไร่สับปะรดต้องแบกรับภาระด้านต้นทุนเกือบทุกด้าน จนต้องหันมาพึ่งพาทางภาครัฐให้ช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ขณะที่ชาวไร่หลายคนต้องแก้ปัญหาของตัวเองด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไป

คุณรุ่งเรือง ไล้รักษา ชาวไร่สับปะรด อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่คร่ำหวอดกับอาชีพปลูกสับปะรดมานาน คิดนอกกรอบด้วยการนำพันธุ์สับปะรดฉีกตามาพัฒนาเชิงการค้าจนประสบความสำเร็จขายสับปะรดฉีกตาสร้างรายได้ไร่ละ 200,000 บาท เป็นการสร้างทางเลือกของเขาในอาชีพและได้สร้างโอกาสให้กับเพื่อนๆ ชาวไร่สับปะรดอื่นๆ เป็นการช่วยเหลือตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาภาครัฐและต้องง้อโรงงานแปรรูปแต่อย่างใด

การประกอบอาชีพอะไรของทุกคนก็เป็นไปตามความถนัด ความชอบหรือไม่ ก็สืบทอดกันตามมา การปลูกสับปะรดก็เป็นอาชีพหนึ่งของชาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่เป็นจุดกำเนิดการปลูกสับปะรดของประเทศไทยก็ว่าได้ เรามักจะรู้จักกันในชื่อสับปะรดปราณบุรี สับปะรดสามร้อยยอด มายาวนาน ซึ่งทั้งหมดก็เป็นพันธุ์ปัตตาเวีย ใช้ผลิตป้อนโรงงานแปรรูปที่มีอยู่มากมาย สร้างงานสร้างรายได้ให้ชาวไร่สับปะรดทั้งจังหวัด แต่จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่เป็นชาวหัวหินโดยกำเนิด และคลุกคลีในวงการสับปะรดมานานพอควร ขอสรุปว่าชาวไร่สับปะรดนั้น บางปีจะดูดีเพราะราคารับซื้อของโรงงานปรับขึ้น เช่น ปี 2553 – 2554 ราคาก็ประมาณ 5-6 บาทต่อกิโลกรัม แต่เพียงไม่กี่เดือนราคาจะปรับลงมาอีก อยู่ที่ประมาณ 3-4 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับการลงทุนของชาวไร่

กลับมาที่เรื่องราวของคุณรุ่งเรือง เริ่มจากประวัติที่ไม่ใช่คนหัวหินแต่กำเนิด เพราะเกิดที่อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ก่อนไปอยู่หัวหิน ในปี 2515 กับครอบครัวที่ 136 หมู่ที่ 11 ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบฯ เริ่มด้วยอาชีพรับจ้างทั่วไปในงานเกษตร เมื่อมีเงินพอได้ก็หาซื้อที่ดินไว้ทำไร่ จาก 32 ไร่ จนในปัจจุบันมีที่ทำกินถึง 200 ไร่ ซึ่งก็ใช้ปลูกสับปะรดปัตตาเวียส่งโรงงานตลอดมา แล้วสะสมที่ดินเพิ่มขึ้น นับว่าเป็นเกษตรกรนักพัฒนาชั้นแนวหน้าคนหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นชาวไร่สับปะรดตัวจริง

“ชาวไร่สับปะรดตัวจริง” ที่มอบให้คุณรุ่งเรือง นั้น อยู่ที่ความมุ่งมั่นจนประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพทำไร่สับปะรด สิ่งที่เห็นชัดเจนก็คือระบบการปลูกสับปะรดของคุณรุ่งเรืองนั้นแตกต่างกับชาวไร่สับปะรดคนอื่น เขาใช้หลักวิชาการมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติครบถ้วนตามระบบ GAP ตั้งแต่การเตรียมดินที่ดี ระบบการไถที่ลึก เพิ่มปุ๋ยอินทรีย์ปรับปรุงดิน วิเคราะห์ดิน คัดหน่อพันธุ์แยกปลูกแต่ละแปลงตามขนาด จุ่มหน่อพันธุ์ป้องกันโรคเน่าก่อนปลูก

จำนวนต้นไม่ต่ำกว่า 8,000 ต้น/ไร่ ใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำ ตามสัดส่วน N – P – K และธาตุอาหารรอง มีการให้น้ำในช่วงที่ฝนทิ้งช่วง บังคับการออกดอกตามระยะด้วยการใช้สารเคมีที่ถูกต้อง คุมวัชพืชได้ดี ห่อผลสับปะรดป้องกันผลไหม้ เก็บเกี่ยวตามความแก่สุกของผลสับปะรดตามมาตรฐานของโรงงาน และรักษาข้อสัญญาซื้อขายกับทางโรงงาน และลูกค้าอื่นๆ ด้วยผลผลิตคุณภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อกันด้านซื้อขาย

จากวิธีการปฏิบัติอย่างถูกต้อง ทำให้สามารถผลิตสับปะรดได้ผลผลิตระหว่าง 8,000 – 10,000 กิโลกรัม/ไร่ ผลสับปะรดผ่านมาตรฐาน STD โรงงานเกือบทั้งหมด ส่วนสับปะรดขายผลสดรสชาติก็ยอดเยี่ยม ตรงนี้ทำให้เขามีต้นทุนที่ต่ำกว่าชาวไร่คนอื่นๆ และกำไรสูง แม้ราคาซื้อสับปะรดจะตกต่ำบางปี บางฤดู แต่เขาก็อยู่ได้ และสับปะรดปัตตาเวียที่คุณภาพดี คือ เนื้อแน่นก็จะถูกตัดเพื่อขายตลาดผลสดให้พ่อค้าที่มาซื้อถึงไร่และเป็นแบบขาประจำกัน จึงสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตไปอีก 1 – 2 บาท/กิโลกรัม

สับปะรดฉีกตา : เพิ่มมูลค่าผลผลิต

จากสถานการณ์ด้านราคาสับปะรดส่งโรงงานที่ไม่แน่นอนทำให้ชาวไร่สับปะรดมีความเสี่ยงด้านการทำมาหากิน อาชีพทำไร่สับปะรดดูจะไม่ค่อยมั่นคงหากไม่มีทางเลือกหรืออะไรใหม่ๆ มาเสริมหรือทดแทน

“ต้องยอมรับความจริงที่ว่า ชาวไร่สับปะรดอยู่ได้เพราะมีหน่อพันธุ์ของตัวเอง และได้แรงงานในครอบครัวในการทำกิจกรรมต่างๆ แรงงานนั้นจ้างก็ราคาสูงแล้วก็หาได้ยากมาก ต่อไปชาวไร่สับปะรดจะมีปัญหามากขึ้น ครอบครัวผมทำทุกอย่างในไร่แล้วก็มีแรงงานประจำ 3 คนก็พอได้ ผมต้องวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกันช่วงเวลาและฤดูกาลและเป้าหมายที่ต้องการ ต้องฝึกให้เขาเรียนรู้ทั้งทางวิชาการและการปฏิบัติ ตอนแรกๆ ก็มีปัญหาบ้าง แต่พอเข้าที่ทุกอย่างก็ปล่อยได้ คอยไปดูและให้ข้อแนะนำบ้าง สำหรับสับปะรดฉีกตานั้น ผมนำเข้ามาเมื่อปี 2540-2541 จากการที่ราคาสับปะรดโรงงานตกต่ำมาก ราคาซื้อ 1.20 – 1.50 บาท/กิโลกรัมเท่านั้น ทำให้ผมคิดว่าควรจะหาสับปะรดพันธุ์อื่นๆ มาทดลองปลูกขายผลสด น่าจะเป็นทางเลือกได้” คุณรุ่งเรือง อธิบายความเป็นมาก่อนตัดสินใจนำสับปะรดพันธุ์อื่นมาปลูกเพิ่ม

คุณรุ่งเรือง บอกด้วยว่า ในตอนนั้นได้นำเอาสับปะรดพันธุ์ตราดสีทอง, เพชรบุรี 1, เพชรบุรี 2 (เนื้อขาว), ภูแล, นางแล มาทดลองปลูกดู ซึ่งที่สุดก็เลือกเอาสับปะรดฉีกตา หรือพันธุ์เพชรบุรี1 ของศูนย์วิจัยพืชสวนเพชรบุรี เพราะเห็นว่าดีกว่าทุกสายพันธุ์ แล้วก็ขยายพันธุ์ปลูกเพิ่ม สังเกตดูคุณภาพผลผลิตว่าเป็นอย่างไร เมื่อมีผลผลิตก็ทดลองนำออกขายตลาดหัวหินราคาขาย 10 บาท/กิโลกรัม และไปทดสอบการชิมที่งานพืชสวนโลกจังหวัดเชียงใหม่ ก็มีการตอบรับที่ดี สับปะรดปัตตาเวียขณะนั้นราคาซื้อขายไม่เกิน 2 บาท/กิโลกรัม จุดนี้ทำให้คุณรุ่งเรืองมั่นใจว่า ความเด่นของสับปะรดฉีกตาจะเป็นโอกาสหรือทางเลือกใหม่ จึงขยายพันธุ์และผลิตเป็นการค้า ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกสับปะรดฉีกตาประมาณ 30 – 40 ไร่ ปลูกได้ผลผลิตประมาณ 100 ตัน/ปี ซึ่งตอนนี้ได้ขยายพันธุ์ขายไปพร้อมกันด้วย

เทคนิคการปลูกและดูแลรักษา บปะรดพันธุ์ฉีกตา หรือพันธุ์เพชรบุรี1 นั้นก็ใช้ระบบปลูกเหมือนกับสับปะรดปัตตาเวีย คือ เตรียมต้นให้ดี รองพื้นด้วยปุ๋ยอินทรีย์ (ขี้ไก่) สัก 1 ตัน/ไร่ คัดขนาดหน่อแยกปลูกตามขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ปลูกแบบแถวคู่ใช้ระยะปลูก 30 x 40 x 80 เซนติเมตร (ระยะต้น/ระยะแถว/ระยะแถวคู่) ปลูกได้ประมาณ 8,500 – 9,000 ต้น/ไร่ ฉีดสารคุมหญ้าด้วยไดยูรอนผสมโปรมาซิล ใส่ปุ๋ยหลักสูตร 46-0-0 ผสมสูตร 15-5-20 ช่วงแรกเมื่ออายุ 3 และ 6 เดือน ครั้งละ 10 กรัม/ต้น ประมาณ 2-3 เดือนหลังปลูกอีกด้วย ปุ๋ยทางใบโดยใช้ส่วนผสมของยูเรีย (46-0-0) 4-5 กิโลกรัม เหล็ก 5-6 กิโลกรัม สังกะสี 150 กรัม และโปรแตสเซียม 1.5 กิโลกรัม ผสมน้ำ 1,500 ลิตร ฉีดพ่น 5 ครั้ง (เดือนละครั้ง)

หลังจากฉีดปุ๋ยทางใบครั้งสุดท้ายไป 1 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-16 อัตรา 1 ช้อนกาแฟ/ต้น โดยใส่ที่กาบใบล่าง จนสับปะรดอายุ 9-10 เดือน จึงบังคับการออกดอกด้วยสารเอทีฟอนผสมปุ๋ยยูเรีย ตามคำแนะนำของฉลากรวม 2 ครั้ง ห่างกัน 5 วัน ประมาณ 30 วัน จะเห็นดอกสับปะรดสีแดงที่กลางทรงพุ่มอีก 3 เดือน (90 วัน) ก็เก็บเกี่ยวได้ จะเก็บเกี่ยวผลได้เร็วกว่าสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย ประมาณ 15-20 วัน ฉีดปุ๋ยเสริมสูตร 7-12-34 ผสม 0-0-60 และไมเพลค ต่อน้ำ 1,500 ลิตรอีก 2 ครั้ง และเมื่อออกดอกไป 50-60 วัน ช่วงออกดอกและให้ผลผลิตจะทำการให้น้ำช่วยให้สับปะรดได้สร้างผลผลิตคุณภาพดี มีขนาดผลโตเนื้อแน่นขึ้น

คุณรุ่งเรือง บอกว่า ใช้วิธีการปลูกสับปะรดแบบหมุนเวียนพื้นที่ โดยแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ พื้นที่ปลูกใหม่ไว้ตอนขยายพันธุ์ แปรงพักฟื้นและแปลงเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งจะเก็บผลผลิตรุ่นเดียวแล้วไถกลบทิ้งไว้ แล้วไปปลูกที่แปลงพักฟื้นก่อนหมุนเวียนกันไป แบบทยอยปลูกโดยแบ่งเป็นแปลงละ 5 ไร่ และบังคับดอกครั้งละ 5,000 ต้น เพื่อบริหารจัดการด้านการขายผลผลิต ซึ่งโดยเฉลี่ยสับปะรดพันธุ์ฉีกตาให้ผลผลิตราวๆ 7-8 ตัน/ไร่ ต่ำกว่าพันธุ์ปัตตาเวียประมาณ 2 ตัน/ไร่ แต่เมื่อดูรายได้จากการขายผลผลิตแล้วจะต่างกันมากมาย

สับปะรดฉีกตา ราคาเป็นของผู้ผลิต

หลังจากได้มุ่งพัฒนาสับปะรดฉีกตาจนประสบความสำเร็จด้านผลผลิตและคุณภาพในระดับหนึ่งแล้ว คุณรุ่งเรืองได้เปิดตัวจำหน่ายผลผลิตและทดลองลูกค้าแบบง่ายๆ คือ เปิดร้านแล้วปอกให้คนได้ชิมดู และก็ประเมินผลว่าคนกินชอบหรือไม่ชอบ ก่อนขยายช่องทางจำหน่ายเต็มรูปแบบ เพราะปริมาณผลผลิตเริ่มมากขึ้น ตอนนี้เขามีร้านขายที่ลานจอดรถบริเวณร้านโกลเด้นเพลส (Golden Place) ที่ตัวเมืองหัวหิน ตลาดของอ.ต.ก. (องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร) ห้างแฟชั่นไอร์แลนด์ ตลาดบองมาร์เช่ ร้านค้าถนนสายบายพาสหัวหิน หนองพลับ และบริเวณหน้าวัดห้วยมงคล (หลวงปู่ทวดองค์ใหญ่ที่สุดของโลก)

สำหรับการซื้อขายนั้นส่วนใหญ่จะมีการสั่งจองกันล่วงหน้าทางโทรศัพท์นัดหมายจำนวน/ปริมาณที่ต้องการ ทั้งพ่อค้า-แม่ค้าขาประจำรายใหม่ และนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวหัวหิน และไหว้หลวงปู่ทวด วัดห้วยมงคล ปัจจุบันปริมาณผลผลิตยังไม่พอกับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้นโดยตลอด และจากการที่เขาทราบข้อมูล ได้ลองชิม และอยากทดลองว่ารสชาติที่หวานหอม เนื้อเหลืองทองกรอบว่าจะเป็นอย่างไร จากความแปลกใหม่ที่สามารถฉีกออกเป็นตาย่อยได้โดยไม่ต้องปอกเปลือก ฯลฯ เหล่านี้ทำให้สับปะรดฉีกตามีราคาเพิ่มขึ้นโดยผู้ซื้อไม่เกี่ยงราคา

ขณะที่ผู้เขียนไปเยี่ยมสวนเพชรรุ่งเรือง (บ้านคุณรุ่งเรือง) ประมาณช่วงวันสงกรานต์ ราคาขายแบบเหมาทุกขนาดก็ราคาผลละ 25 บาท ขาดตัว ซึ่งผลผลิตที่ทำได้ก็ประมาณ 7,500 – 8,000 ผล/ไร่ (ราว 7-8 ตัน) น้ำหลักเฉลี่ย 1-1.2 กิโลกรัม/ผล ทำให้คุณรุ่งเรือง มีรายได้จากการจำหน่ายผลสับปะรดฉีกตาระหว่าง 180,000 – 200,000 บาท/ไร่/รุ่น ขณะที่สับปะรดปัตตาเวียส่งโรงงานราคาผลละไม่เกิน 4-6 บาท และสับปะรดปัตตาเวียผลสด กิโลกรัมละ 8 บาทเท่านั้น ไม่ต้องพูดถึงความต่างของรายได้จากผลผลิต หากคำนวณรายได้จากการขายหน่อพันธุ์สับปะรดฉีกตาไปด้วยแล้วจะตกใจ เพราะหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วต้นแม่เดิมจะให้หน่อระหว่าง 3 – 5 หน่อต่อต้น ปล่อยไว้แล้วบำรุงให้น้ำ ให้ปุ๋ยสักพัก หักออกขายตามใบจองอีกหน่อละ 10 บาท เป็นไงครับเห็นทางรวยหรือยัง

สรุปว่าตอนนี้ คุณรุ่งเรือง กลายเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จด้านการปลูกสับปะรดผลสดไปแล้ว ด้วยการคิดนอกกรอบ รับนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ปรับปรุงสับปะรดฉีกตา ผลผลิตปีละกว่า 100 ตัน เขามองว่า ต่อไปในอนาคตผลผลิตจะมากขึ้น จึงคิดหาแนวทางรับสถานการณ์ไว้แล้วโดยการติดต่อหาเครื่องคั้นน้ำ และบรรจุขวดเพื่อทำน้ำสับปะรดฉีกตาซึ่งต่อไปก็จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น จึงเตรียมการด้านการแปรรูปไว้แล้ว

ผู้เขียนเห็นว่า คุณรุ่งเรือง เป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้าที่อัธยาศัยที่ดี ไม่หวงวิชา และไม่เอาเปรียบเกษตรกรและคู่ค้า นับว่าเป็นส่วนเสริมให้สินค้า (ผลผลิตสับปะรดฉีกตา) ไปได้โลดยิ่งขึ้น ปัจจุบันใช้บ้านและสวนเป็นสถานที่จำหน่าย (ติดต่อ) กับลูกค้า เพราะไปมาสะดวกมาก เดินทางจากถนนสายบายพาสชะอำ-ปราณบุรี ระยะทางก็สัก 4-5 กิโลเมตร พอถึงสี่แยกวัดห้วยมงคล (หลวงปู่ทวด) เลี้ยวขวามือ ประมาณ 2-3 กิโลเมตรผ่าน อบต.หินเหล็กไปนิดหน่อยก็ถึงสวนเพชรรุ่งเรืองอยู่ขวามือ ขึ้นถนนไปห้วยมงคลประมาณ 6-7 กิโลเมตรถึงสี่แยกหนองตะเภาเลี้ยวขวาเข้าไป ป้ายเด่นชัดเจน เขาจะรออยู่ที่นั่น โทร.085-2996701

หลังจากแวะพบคุณรุ่งเรือง แล้วได้เดินทางไปวัดห้วยมงคล ไหว้หลวงปู่ทวดองค์ใหญ่ที่สุดของโลก เพื่อเป็นสิริมงคล แล้วออกมาตรงสี่แยกตลาดห้วยมงคล ได้พบกับคุณโสภา พร้อมเพรียง และคุณพรอำนวย รักอยู่ สองสามีภรรยา ที่เปิดร้านจำหน่ายสับปะรดฉีกตาและสับปะรดปัตตาเวียอยู่ใกล้ๆ กับวัดห้วยมงคล

สองสามีภรรยา เล่าให้ฟังว่า ร้านคุณอ้อ เป็นเจ้าแรกที่เริ่มวางขายสับปะรดฉีกตา ซึ่งพันธุ์ที่ปลูกเป็นพันธุ์แท้ผลผลิตรับรองได้ไม่เพี้ยน สั่งมาจากศูนย์ฯ เพชรบุรี ที่ร้านนำหน่อพันธุ์มาขายบางส่วนรับมาจากศูนย์เพชรบุรี เมื่อก่อนขายดีมาก เดี๋ยวนี้ลดลงนิดหน่อยเพราะมีร้านเปิดใหม่เกือบ 20 กว่าแห่ง รอบๆ สี่แยกห้วยมงคลนี้ แต่ภาพรวมยอดขายก็ยังไปได้ ราคาขายนั้นแบ่งเป็น 3-4 เกรด ตามขนาดของผลคือ ผลใหญ่สุดราคาขายผลละ 100 บาท ผลรองลงมาราคาผลละ 70 บาท หรือ 3 ผลคิดให้ 200 บาท เกรดขนาดผลที่ 3 ขายผลละ 50 บาท ส่วนขนาดผลเล็กสุด ประมาณ 300 – 400 กรัม/ผล ขายควบ 3-4 ผลขายควบ 100 บาท ที่ร้านนี้ให้สั่งผู้ปลูกเก็บผลผลิตในระยะตาเต็ม – แก่เต็มที่ถึงสุกตาเหลืองอมเขียวสัก 20 เปอร์เซ็นต์ เพื่อวางขายได้หลายวัน

สำหรับผลสับปะรดฉีกตาที่ขายเหลือสุดท้าย คือ สุกมากจะนำไปกวน ซึ่งให้เนื้อสับปะรดที่กวนแล้วออกเป็นสีเหลืองทอง รสชาติอร่อยมาก กลิ่นหอมกว่าปัตตาเวีย ตอนนี้มีไร่ของตัวเองและกำลังขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น ส่วนหน่อที่นำมาขายนั้น ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หน่อใหญ่ขายหน่อละ 25 บาท ก็มีลูกค้าซื้อไปกันมากเหมือนกัน คิดว่าอีก 4-5 ปีข้างหน้าผลผลิตจะออกมามาก แต่ก็ยังดีกว่าสับปะรดปัตตาเวีย

บริเวณหมู่บ้านห้วยมงคลนี้ สมัครพนันออนไลน์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพราะวัดห้วยมงคลสร้างหลวงปู่ทวดองค์ใหญ่ที่สุดในโลก นักท่องเที่ยวมาก อีกอย่างมีตลาด 2 แห่ง และจะมีตลาดน้ำแห่งใหม่ที่หมู่บ้านห้วยมงคลซึ่งผู้คนหรือนักท่องเที่ยวจะเข้ามามากกว่าเดิม จากการที่มาเที่ยวหัวหินแล้วเลยขึ้นมาตลาดน้ำหัวหิน ตลาดน้ำสามพันนามแล้วตรงขึ้นมาเลย เส้นทางสะดวกมาก ไปมาสะดวก มีอาหารและหลายอย่างให้ท่องเที่ยว ยังไงก็แวะไปอุดหนุนกันบ้าง ติดต่อร้านคุณอ้อ เบอร์ 082-0731100

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์