บอกด้วยว่า ข้าวชอง เป็นข้าวที่ปราศจากสารพิษใดๆเพราะใช้ปุ๋ยมูล

คือ มูลไก่เลี้ยงเอง ได้มูลธรรมชาติ ในปริมาณปุ๋ย 25 กิโลกรัม ต่อแปลงนา 1 ไร่ ใส่ในช่วงการคราดดิน หรือช่วงการไถดิน ได้ทั้งช่วงไถดะหรือไถแปรก็ได้ ในส่วนของการให้น้ำสำหรับข้าวชองนี้ คุณสมเจตน์ ใช้วิธีวัดระดับน้ำ โดยเทคโนโลยีการใส่ท่อระบายน้ำ ไว้โดยรอบแปลงนา ประมาณ 3 ท่อ โดยฝังบริเวณคันนา ด้านขอบนอกของพื้นที่ (เป็นระบบการระบายน้ำออกเพื่อรักษาระดับ) โดยระยะความสูงหากวัดระดับจากดินพื้นท้องนา ให้สูงขึ้นมาประมาณ 5-10 เซนติเมตรเท่านั้น และให้มีระดับน้ำที่หล่อเลี้ยงต้นข้าว ไว้เพียงระดับปากท่อที่ฝั่งในระยะดั่งที่กล่าวข้างต้น

ข้าวสายพันธุ์ชอง หรือ “แม่พญาทองดำ” นี้ อาจจะอยู่ในลักษณะ ที่เรียกว่า เป็นข้าวนาปี ก็ได้ ข้าวนาปรังก็ได้ ข้าวไร่ก็ได้ หรือจะเป็นข้าวภูเขาปลูกในที่ราบกลางหุบเขา พื้นที่บริสุทธิ์ ไร้สารเคมีจากพื้นที่ใกล้เคียง เป็นผืนนาโดดเดี่ยวกลางหุบเขาได้ยิ่งดี เพราะนี้คือ แผ่นดินแม่ที่อุดมสมบูรณ์ และคือสมบัติมรดกตกทอด จากบรรพบุรุษ พ่อชอง แม่ชอง

“นโยบายเกษตรแปลงใหญ่” เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน ตั้งแต่ ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน โดยไม่จำเป็นต้องมีแปลงติดต่อกัน แต่อยู่ในชุมชนเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน เพื่อลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพผลผลิต เพิ่มโอกาสด้านการแข่งขัน ผ่านตลาดและการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ เกิดการยกระดับอาชีพและรายได้เกษตรกรอย่างยั่งยืน สำหรับ ปี 2561 มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมการเกษตรแบบแปลงใหญ่กว่า 277,127 ราย จำนวน 3,724,607 ไร่ แบ่งเป็น 11 กลุ่ม ได้แก่ ข้าว พืชไร่ ไม้ยืนต้น พืชผัก สมุนไพร เป็นต้น

“โนนเขวาโมเดล” ต้นแบบแปลงใหญ่ปลูกผัก เกษตรกรในพื้นที่บ้านโนนเขวา หมู่ที่ 3 ตำบลดอนหัน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ทำนาเป็นอาชีพหลัก และปลูกผักเป็นอาชีพเสริม ภายหลังเกิดภาวะวิกฤตน้ำท่วม ในปี 2554 เกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาปลูกผักมากขึ้น เนื่องจากใช้เวลาปลูกเก็บเกี่ยวน้อยกว่าการปลูกข้าว แถมขายผลผลิตได้ราคาสูงกว่าการขายข้าว

แต่การปลูกผักของเกษตรกรในชุมชนนี้ยังมีลักษณะการทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยว เพราะเกษตรกรปลูกผักเพียงแค่ชนิดเดียว ทำให้สินค้าไม่มีความหลากหลาย โรคและแมลงศัตรูพืชเข้ามาทำลายพืชผักที่ปลูกได้ง่าย เกษตรกรจำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดแมลงในปริมาณที่มาก เพื่อให้ผลผลิตจำหน่ายเข้าสู่ตลาดได้มากขึ้น เสี่ยงต่อปัญหาสารเคมีตกค้าง ทั้งตัวเกษตรกรและผู้บริโภค

ในปี 2558 เกษตรกรบ้านโนนเขวา กว่า 43 ราย ลดพื้นที่การทำนา และหันมารวมกลุ่มผู้ปลูกผักเป็นอาชีพหลัก เนื้อที่รวม 300 ไร่ ตามคำชักชวนของเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร ตามนโยบายรัฐบาล ที่ส่งเสริมชาวบ้านลดพื้นที่นาปรัง และหันมาปลูกพืชอื่นทดแทน ตามหลัก Zoning by Agi-map เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวไม่มีความเหมาะสมต่อการทำนา

ในระยะแรก กลุ่มผู้ปลูกผักบ้านโนนเขวา ยังคงใช้สารเคมีในปริมาณมากเพราะขาดองค์ความรู้ด้านการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและได้มาตรฐาน ทำให้มีต้นทุนการผลิตสูงจากการใช้สารเคมีเกษตร และมีปัญหาด้านการตลาด เนื่องจากขายพืชผักได้เฉพาะตลาดในท้องถิ่น ทำให้ขาดอำนาจต่อรองราคาสินค้าเกษตรกับพ่อค้าคนกลาง

กรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยงานภาคี จึงเข้าให้ความรู้ด้านการปลูกผักปลอดสารพิษ จนเกษตรกรเกิดความเชื่อมั่น และเล็งเห็นความสำคัญของการทำเกษตรปลอดภัย หันมาเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและได้มาตรฐาน (GAP) ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP ทั้ง 43 ราย ต่อมากลุ่มผู้ปลูกผักบ้านโนนเขวา ได้รวมตัวกันจดทะเบียนเป็นกลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านโนนเขวา เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2559

“การตลาดนำการผลิต” ช่วยเพิ่มรายได้เกษตรกร

ถึงแม้พืชผักที่กลุ่มเกษตรกรปลูกจะผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP แล้วก็ตาม แต่เจอปัญหาราคาพืชผักไม่แน่นอนและโดนกดราคารับซื้อผลผลิตจากพ่อค้าคนกลาง ประกอบกับชาวบ้านบางรายได้มีปัญหากู้หนี้ยืมสินจากพ่อค้าคนกลางมาลงทุนเพาะปลูก กรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยงานภาคีเครือข่ายจึงสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าร่วมกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ ประเภทสินค้าพืชผัก และแก้ปัญหาราคาสินค้า โดยใช้นโยบายการตลาดนำการผลิต

กรมส่งเสริมการเกษตร ประสานงานกับภาคเอกชน คือ บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ผู้บริหารห้างเทสโก โลตัส ให้เข้ามารับซื้อพืชผักสดในชุมชน ในราคาเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย ห้างเทสโก้ โลตัส พึงพอใจกับผลงานเกษตรกร สั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รวมทั้งสนับสนุนเงินทุนสำหรับใช้ก่อสร้างโรงคัดบรรจุพืชผักผลไม้สด (Packing House) ที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยและสุขอนามัย เพื่อรักษาความสดใหม่ของพืชผักตั้งแต่แหล่งผลิต จนถึงปลายทาง ใช้รถควบคุมอุณหภูมิสำหรับขนส่งจากแหล่งผลิตไปยังศูนย์กระจายสินค้า เทสโก้ โลตัส จังหวัดขอนแก่น เพื่อกระจายไปยังสาขาทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งมอบผักสดคุณภาพสูงให้กับลูกค้าต่อไป

คุณสมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ผู้บริหารห้างเทสโก้ โลตัส กล่าวชื่นชมกลุ่มผู้ปลูกผักบ้านโนนเขวา ที่มีการรวมตัวอย่างเข้มแข็ง ช่วยกันพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพมาตรฐานตรงกับความต้องการของตลาด ทำให้ “โนนเขวาโมเดล” กลายเป็นต้นแบบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมของนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ของภาครัฐ

ตลอดจนการประสานงานร่วม “ประชารัฐ” ระหว่างรัฐและ เทสโก้ โลตัส ที่เข้ามาเติมเต็มห่วงโซ่อุปทานด้วยการรับซื้อผักทั้งหมด ซึ่งได้มาตรฐาน GAP เพื่อวางจำหน่ายในร้านค้าของ เทสโก้ โลตัส 98 สาขา ทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วยให้ผู้บริโภคมีโอกาสซื้อผักสดคุณภาพดี ปลอดภัย ในราคาที่เอื้อมถึงได้ทุกวัน

ที่ผ่านมา เทสโก้ โลตัส ได้มอบงบสนับสนุนจำนวน 1 ล้านบาท ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับจัดซื้อปัจจัยการผลิต อาทิ เมล็ดพันธุ์ผักและปุ๋ย หลังจากนั้น กลุ่มเกษตรกรได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ และเทสโก้ โลตัส สำหรับก่อสร้างโรงคัดบรรจุพืชผักผลไม้สด (packing house) เพื่อใช้โรงคัดบรรจุแห่งนี้เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมผลผลิต ขณะเดียวกันเกษตรกรในละแวกใกล้เคียงทั้งในจังหวัดขอนแก่นและมหาสารคาม สามารถรวบรวมพืชผักมาส่ง ณ โรงคัดบรรจุแห่งนี้อีกด้วย

ในอนาคต เทสโก้ โลตัส มีแนวคิดที่จะนำ “โนนเขวาโมเดล” ไปประยุกต์ใช้กับกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดอื่นๆ เช่น อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และอำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาต่อไป เพราะอยู่ใกล้กับศูนย์กระจายสินค้าเทสโก้ โลตัส สามารถใช้รถควบคุมอุณหภูมิขนส่งพืชผักสดจากศูนย์กระจายสินค้า ไปยังสาขาต่างๆ ได้ภายใน 1 วันเท่านั้น

ด้าน คุณอภิสิทธิ์ ชุมยางสิม ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผักปลอดภัยบ้านโนนเขวา กล่าวว่า ปัจจุบัน มีสมาชิกผู้ปลูกผัก 93 ราย เนื้อที่พื้นที่ 370 ไร่ ปลูกพืชผัก 9 ชนิด ได้แก่ คะน้าต้น คะน้ายอด กวางตุ้ง ผักบุ้งจีน ขึ้นฉ่าย ผักชีไทย ใบกะเพรา ผักกาดหอม ต้นหอม โดยผักทุกแปลงผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP เดิมมีรายได้จากการจำหน่ายผักให้เทสโก้ โลตัส สัปดาห์ละ 5-8 ตัน มูลค่า 172,000 บาท แต่ใน 6 เดือนที่ผ่านมา มีผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย สัปดาห์ละ 13 ตัน สร้างรายได้หมุนเวียนเข้าสู่ชุมชนแล้วกว่า 1,354,528 บาท

ปลูกผักส่งห้าง ขายได้วันละ 2,000 บาท

คุณลุงคำปั่น โยแก้ว สมาชิกกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผักปลอดภัยบ้านโนนเขวา เล่าว่า ลุงยึดอาชีพปลูกผักมานาน เพิ่งจะรู้ว่าการปลูกผักเพื่อทำธุรกิจ กับการปลูกผักเพื่อขาย มันไม่เหมือนกัน ตอนที่ เทสโก้ โลตัส เข้ามารับซื้อผักจากชาวบ้านในหมู่บ้านโนนเขวา เป็นครั้งแรกที่พวกเราได้เรียนรู้เรื่องการวางแผนการเพาะปลูกตามยอดสั่งซื้อ ได้มีการตกลงราคาผลผลิตล่วงหน้า เรียนรู้เรื่องการไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิต และปลอดภัยกับทั้งเกษตรกรเองและคนกินผักไปพร้อมๆ กัน

คุณลุงคำปั่น เปิดใจเรียนรู้การเกษตรรูปแบบใหม่จาก เทสโก้ โลตัส พร้อมชักชวนเพื่อนเกษตรกรในหมู่บ้านมาเรียนรู้ร่วมกัน พวกเขารวมกลุ่มกันปลูกผักแปลงใหญ่ เพื่อกระจายยอดสั่งซื้อสู่เพื่อนชาวสวนสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพร่วมกัน ทุกวันนี้กลุ่มเกษตรกรบ้านโนนเขวาส่งผัก 9 ชนิด ขายยัง เทสโก้ โลตัส ทั่วภาคอีสาน ประมาณ 11 ตัน ต่อสัปดาห์

กลุ่มเกษตรกรเรียนรู้การทำงานอย่างเป็นระบบ รับผิดชอบในยอดการสั่งซื้อ และรักษามาตรฐานคุณภาพผักปลอดภัย ซึ่งชาวโนนเขวาได้ผ่านการอบรมการตรวจสอบสารเคมีหลังเก็บเกี่ยวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จนตรวจสอบในเบื้องต้นได้

“เทสโก้ โลตัส สั่งซื้อผักจำนวนมาก ครั้งละ 300 กิโลกรัม ชาวบ้านจึงแบ่งกันปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตตามยอดสั่งซื้อ โดยเทสโก้ โลตัส ส่งรถห้องเย็นมารับสินค้าทุกวันจันทร์ พุธ พฤหัส เสาร์ ปัจจุบัน ตัวผมเองปลูกผักบนพื้นที่ 4 ไร่ มีรายได้ตกวันละ 2,000 บาท ในการขายผักให้กับ เทสโก้ โลตัส” คุณลุงคำปั่น กล่าวในที่สุด

อากาศร้อนชื้นและฝนตกหนักในระยะนี้ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรชาวสวนฝรั่งให้เฝ้าระวังการเกิดโรคราดำที่เกิดจากเชื้อรา มักพบได้ในระยะที่ฝรั่งเริ่มติดผล เริ่มแรกจะพบคราบราดำเหนียวติดตามส่วนต่างๆ ของต้นฝรั่ง เช่น ใบ ยอด ช่อดอก หรือผล ทำให้บดบังการรับแสง หากพบแสดงอาการที่ช่อดอก จะส่งผลต่อการผสมเกสรทำให้ไม่ติดผล ดอกออกน้อย ดอกบานช้า ดอกบานผิดปกติ ดอกเหี่ยว และหลุดร่วงลงได้ กรณีพบแสดงอาการที่ผล อาจทำให้ผลสุกช้า สีผลไม่สม่ำเสมอ ผลเหี่ยว และหลุดร่วง

สำหรับแนวทางในการป้องกันโรคราดำ มักพบเชื้อราเจริญบนสารเหนียวที่แมลงปากดูดขับถ่ายไว้ในช่วงที่มีการระบาด โดยเฉพาะเพลี้ยจักจั่น เพลี้ยหอย และเพลี้ยแป้ง หากพบโรคให้เกษตรกรพ่นด้วยน้ำเปล่า ล้างคราบราดำที่ติดตามส่วนต่างๆ ของต้นฝรั่งในระยะแทงช่อดอกออก เพื่อลดปริมาณเชื้อ

จากนั้นควรพ่นตามด้วยสารกำจัดแมลง หากพบเพลี้ยจักจั่น พ่นด้วยสารกำจัดแมลงแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ส่วนของเพลี้ยหอย พ่นด้วยสารกำจัดแมลงมาลาไทออน 83% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร และเพลี้ยแป้ง ให้พ่นด้วยสารกำจัดแมลงมาลาไทออน 83% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไทอะมีทอกแซม 25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 2.5 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ไม่ควรพ่นสารในช่วงที่ดอกฝรั่งบานหรือเริ่มติดผลอ่อน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อแมลงช่วยผสมเกสร และควรหยุดพ่นอย่างน้อย 7 วัน ก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต

อินทผลัม ไม้ผลทางเลือกใหม่ของเกษตรกรจังหวัดชัยนาท ผู้ที่ประสบวิกฤตเศรษฐกิจจากอาชีพการทำนา ทำให้มีหนี้สิน เป็นเงินนับล้านบาท แต่ก็ยังมีโชคเข้าข้างเมื่อเพื่อนมาเยี่ยมเยียนพร้อมกับนำอินทผลัมผลสดมาฝาก ครั้นกินดูแล้วทำให้ได้กลิ่นหอม รสชาติหวานนุ่มอร่อย เหมือนมีพลังให้ฮึดสู้ ในเวลาต่อมาจึงตัดสินใจหยุดทำนาแล้วเปลี่ยนมาปลูกและผลิตอินทผลัม กระทั่งประสบความสำเร็จให้มาลืมตาอ้าปาก มีรายได้เงินล้านเพื่อสู้กับวิถีนี้ต่อไป

คุณเฉลย ปิ่นทอง เกษตรอำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท เล่าให้ฟังว่า วิถีเกษตรกรรมของเกษตรกรส่วนใหญ่คือ การใช้วิธีการปลูกและผลิตแบบเดิมๆ ขาดองค์ความรู้และการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ใช้ต้นทุนการผลิตสูง ไม่มีตลาดรองรับ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำให้มีหนี้สินและส่งผลต่อรายได้ที่ไม่เพียงพอในการยังชีพ

การใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่เหมาะสมเป็นอีกทางเลือกที่จะทำให้เกษตรกรก้าวสู่ความสำเร็จได้ และการปลูกอินทผลัมก็เป็นหนึ่งในทางเลือกนั้น ถึงแม้อินทผลัมไม่ใช่พืชบ้านเรา เป็นพืชเขตเมืองร้อนทะเลทราย แต่ก็ปลูกได้ในบ้านเรา เพราะทนแล้งทนร้อนได้ดี มีอายุการเก็บเกี่ยวหรือให้ผลผลิตนานกว่า 70 ปีขึ้นไป ที่สำคัญเมื่อมีการปฏิบัติดูแลบำรุงรักษาดีเหมาะสมก็จะทำให้ได้ผลผลิตคุ้มค่าต่อการลงทุน โดยเฉพาะการปลูกและผลิตในระบบเกษตรดีที่เหมาะสม GAP ที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐาน และช่วงเวลานี้ตลาดผู้บริโภคผลอินทผลัมกำลังสดใสไปได้สวย ซึ่งก็เป็นเส้นทางให้นำไปสู่การมีรายได้เพื่อการยังชีพที่พอเพียงและมั่นคง

คุณลุงไพรัช วัฒนะเขตการณ์ หรือ คุณฮวน เกษตรกรผู้ปลูกอินทผลัม เล่าให้ฟังว่า แต่เดิมนั้นมีอาชีพทำนาและรับจ้างทำนา เมื่อกว่า 4 ปีที่ผ่านมาต้องประสบกับปัญหาสภาวะเศรษฐกิจแปรปรวนที่ทำให้ราคาข้าวตกต่ำ ขายข้าวได้ก็ไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต เป็นหนี้เป็นสินเงินล้านบาท จึงทำให้ต้องหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว

เหมือนกับโชคช่วยฟ้าเป็นใจ เพื่อนที่คุ้นเคยกันมาเยี่ยมเยียนและได้นำอินทผลัมผลสดมาฝาก เมื่อทดลองกินปรากฏว่าได้ลิ้มรสชาติที่แปลกอร่อย จึงทำให้เกิดแนวคิดว่าน่าจะเป็นทางเลือกใหม่ในการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา เมื่อพูดคุยหารือกันในครอบครัวแล้ว ก็ได้ข้อสรุปว่าต้องเปลี่ยนจากการทำนามาปลูกและผลิตอินทผลัมดีกว่า

จึงเริ่มต้นปลูกอินทผลัม ด้วยการศึกษาเรียนรู้ ค้นหาข้อมูลจากแหล่งความรู้ทั้งจากสื่อต่างๆ รับฟังข้อเสนอแนะด้านวิชาการจากหน่วยงานภาครัฐ จากเอกชนหรือเกษตรกร แล้วนำมาสู่การปลูกและผลิตอินทผลัม ได้ลองผิดลองถูก แก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาการผลิต กระทั่ง 3 ปีผ่านไป ก็มีผลผลิตให้เริ่มเก็บเกี่ยวและเป็นผลผลิตคุณภาพด้วย

วิธีการเตรียมแปลงปลูก เนื่องจากสภาพโดยรวมดินไม่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงได้ซื้อดินมาถมบริเวณหน้าแปลง พร้อมกับปลูกปอเทืองแล้วไถกลบ 3 รอบ จากนั้นได้ซื้อปุ๋ยคอกแห้งมาหว่านให้ทั่วแปลง เป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุในการปรับปรุงดินให้ได้คุณภาพเหมาะสมต่อการปลูกและผลิตอินทผลัม ปัจจุบัน ปลูกพันธุ์บาร์ฮี กว่า 200 ต้น พื้นที่ 30 ไร่ และมีต้นที่ให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้วกว่า 40 ต้น

วิธีการปลูก ขุดหลุมปลูก กว้าง ยาว และลึก ประมาณด้านละ 1 เมตร นำปุ๋ยคอกแห้ง 2 กระสอบ แกลบดำ 1 ถุง ผสมกับดินบนแบ่งใส่รองก้นหลุม ระยะปลูกระหว่างต้นและแถว ห่างกันประมาณ 8×8 เมตร นำกิ่งพันธุ์อินทผลัมพันธุ์บาร์ฮี ที่มีอายุ 1 ปี สูงเกือบ 1 เมตร ลงปลูกเกลี่ยดินกลบให้น้ำแต่พอชุ่ม

การปฏิบัติดูแลบำรุงรักษา ทั้งการใส่ปุ๋ย ให้น้ำหรือการควบคุมและจัดการศัตรูพืช ได้จัดการดังนี้ การใส่ปุ๋ย บำรุงต้นให้เจริญเติบโตสมบูรณ์ จะไม่ใช้สารเคมีแต่เลือกใช้สิ่งที่ผลิตขึ้นมาเอง ทั้งฮอร์โมน ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ สารกำจัดแมลงหรือกำจัดเชื้อรา วัสดุที่ใช้ในการผลิตก็เป็นพืชสมุนไพรที่มีในท้องถิ่น จัดการผสมผสาน หมัก เมื่อนำไปใช้ทำให้ได้ผลดีและลดต้นทุนการผลิต ปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

การให้น้ำ ต้นอินทผลัมแม้จะเป็นพืชทนแล้ง แต่ก็ต้องให้ได้รับน้ำที่พอเพียง ที่นี่ได้จัดการให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ โดยเฉลี่ยจะให้น้ำ 2 วัน ต่อครั้ง แต่ละครั้งจะให้น้ำนาน 1 ชั่วโมง แต่ถ้าตรวจพบว่าดินแห้ง ใบเริ่มเหี่ยวเฉา ก็ได้จัดการเพิ่มน้ำให้ต้นอินทผลัมแต่พอชุ่ม เพื่อให้มีการเจริญเติบโตสมบูรณ์

เมื่อต้นอินทผลัมที่ปลูกเจริญเติบโตสมบูรณ์ได้ 3 ปี ก็จะเริ่มให้ผลผลิต ในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนของทุกปีก็เริ่มออกดอก ผู้ปลูกจะช่วยผสมเกสร จากนั้นอีก 6-7 เดือน ก็จะเริ่มเก็บผลผลิตได้ ผลจะออกมาเป็นพวงหรือทะลายคล้ายหมาก ในช่วงปีแรกจะให้ผลผลิต 10-15 กิโลกรัม ต่อต้น แต่หลังจาก 5 ปีขึ้นไป ต้นเจริญเติบโตสมบูรณ์ จะให้ผลผลิต 80-100 กิโลกรัม ต่อต้น

ระยะติดผล ได้คลุมด้วยกระดาษทั้งทะลาย และระยะที่ผลเริ่มโต น้ำหนักเพิ่มมากขึ้น ได้ใช้เชือกมัดทะลายกับลำต้นเพื่อป้องกันการฉีกขาด เพราะช่วงนี้จะทำได้ง่ายกว่าทะลายขนาดใหญ่ ผลที่เริ่มสุกได้ใช้กระดาษสีน้ำตาลคลุมทั้งทะลายเพื่อป้องกันนกหรือค้างคาว และยังเป็นการช่วยให้สีของผลเหลืองหรือแดงสวยงาม ช่วยป้องกันรอยขีดข่วนจากลม หลังจากคลุมประมาณ 3 เดือน ก็ตัดเก็บผล

การเก็บเกี่ยว การพัฒนาของผลมี 4 ระยะ คือ ผลดิบ ผลสมบูรณ์เต็มที่ ผลแก่สุกและระยะผลแห้ง เจ้าของได้ตัดเก็บผลที่มีสีเหลืองเข้มหรือผลสุกสีน้ำตาล เก็บรักษาไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิต่ำกว่า 8 องศาเซลเซียส จะเก็บได้นาน 1 ปี

การตลาด ได้เปิดขายผลผลิตอินทผลัมที่หน้าสวน ผลสดขาย 450-800 บาท ต่อกิโลกรัม ตามความสวยของพวงหรือทะลายที่เกิดจากการห่อเพื่อป้องกันน้ำและแมลง โดยเฉลี่ยจะมีรายได้ 40,000-45,000 บาท ต่อต้น ต่อปี

นอกจากนี้ ก็ได้แปรรูปทำเป็นเครื่องดื่มจากผลสดอินทผลัมและจากจั่นตัวผู้ ด้วยการนำมาบรรจุขวดขาย 50 บาท ต่อขวด รับรองว่าเป็นอินทรีย์ 100% ที่มีรสชาติหวานหอมอร่อย ซึ่งทำให้มีรายได้เพิ่มอีก 20,000-25,000 บาท

ผลอินทผลัม ช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บ ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง ป้องกันโรคกระดูกพรุน หรือช่วยเพิ่มสมรรถนะทางเพศ สอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่ คุณลุงไพรัช (ฮวน) วัฒนะเขตการณ์ เลขที่ 82 หมู่ที่ 3 ตำบลวังตะเคียน อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท โทร. (081) 740-2714 หรือที่ คุณเฉลย ปิ่นทอง เกษตรอำเภอหนองมะโมง โทร. (089) 705-4440 ก็ได้ครับ

คุณทองดี กำลังงาม เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรที่เล็งเห็นลักษณะพิเศษของมะละกอสายพันธุ์นี้ จึงได้เลือกปลูกมะละกอแขกนวลในอำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี จำนวนมากถึง 38 ไร่ จึงนับว่าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับเขามากว่า 20 ปี กันเลยทีเดียว

คุณทองดี เล่าให้ฟังว่า เริ่มแรกเดิมทีทำอาชีพทางการเกษตร คือทำไร่ ทำนา ซึ่งการทำนาจะขายผลผลิตได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น จึงคิดว่าไม่สามารถที่จะสร้างรายได้ให้กับเขาได้มากพอ จึงได้คิดมองหาพืชชนิดใหม่ที่น่าจะสร้างรายได้ให้ตลอดทั้งปี หรือ 1 ปี สามารถเก็บผลผลิตได้มากกว่า 1 ครั้ง

“ถ้าย้อนไปเมื่อ 20 ปีก่อน พอคิดว่าไม่อยากทำไร่ทำนาแล้ว ผมก็เลยมองหาพืชสนิทอื่นมาปลูก ก็เลยเลือกเป็นมะละกอ เพราะมะละกอถ้าพูดกันตามตรง ถือว่ายังเป็นที่นิยมบริโภค โดยเฉพาะทางภาคอีสานจะนิยมส้มตำ ผมก็เลยเน้นปลูกมะละกอพันธุ์แขกนวล เป็นมะละกอที่มีรสชาติอร่อย เวลาที่นำมาทำส้มตำ และที่สำคัญเป็นพันธุ์ที่ค่อนข้างติดลูกได้เร็ว และผลดกอีกด้วย” คุณทองดี เล่าถึงที่มา

ซึ่งการทำสวนมะละกอทั้งหมดจากประสบการณ์ที่ผ่านมา คุณทองดี บอกว่า ใช้เมล็ดพันธุ์ที่เกิดจากการคัดสายพันธุ์ภายในสวนเอง โดยดูจากต้นที่มีฟอร์มดีให้ผลผลิตมาก จากนั้นนำเมล็ดพันธุ์ที่ได้นำมาปลูกสำหรับเป็นต้นพันธุ์ทดแทนต่อไป

การปลูกมะละกอไม่เหมาะที่จะหยอดเมล็ดลงแปลงโดยตรง เนื่องจากเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาในขั้นแรกค่อนข้างมาก ก็จะทำให้มีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตามไปด้วย

เนื่องจากคุณทองดีมีเนื้อที่ปลูกมะละกอทั้งหมด 38 ไร่ จะเน้นแรงงานที่ทำกันเองภายในครอบครัว ถ้าจะให้การทำสวนมะละกอมีผลกำไรมากที่สุด จึงจำเป็นต้องจัดการให้มีรายจ่ายต่ำที่สุด หากมีการทำเรื่องระบบน้ำก็จะทำให้มีต้นทุนที่สูงขึ้นตามไปด้วย จึงเน้นการปลูกแบบอิงธรรมชาติ โดยจะเริ่มลงต้นกล้าในช่วงต้นฤดูฝนในเดือนมิถุนายน จึงจะมีน้ำเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของมะละกอ

ในขั้นตอนแรกจะนำเมล็ดมะละกอมาเพาะลงในถุงพลาสติกขนาด 5×8 นิ้ว โดยใช้ดินที่มีส่วนผสมของมูลไก่ หยอดเมล็ดลงในถุงเพาะประมาณ 4-5 เมล็ด รดน้ำให้ชุ่มทุกเช้าและเย็น จากนั้นดูแลต้นกล้าให้มีอายุประมาณ 1 เดือนครึ่ง โดยจะเพาะให้ต้นมะละกอเจริญเติบโตทันกับฝนแรกที่จะตกลงมาในพื้นที่ปลูก “พอฝนเริ่มตกเราก็จะเตรียมปลูกต้นกล้าที่เพาะไว้ได้เลย ช่วงนั้นดินก็จะนิ่มง่ายต่อการปลูก ขุดหลุมเสร็จก่อนจะปลูกก็จะใส่ปุ๋ยก้นหลุมบ้าง เป็นปุ๋ยเคมีสูตร 27-12-6 ซึ่งระยะห่างปลูกประมาณ 2×2 เมตร หรือประมาณ 400 ต้น ต่อไร่ พอมะละกอที่ปลูกลงดินเริ่มได้อายุประมาณ 2 เดือน จะเริ่มออกดอก ซึ่งภายในหลุมจะมี 4-5 ต้น ถ้ารู้สึกว่าต้นไหนไม่สมบูรณ์ตัดทิ้งได้เลย โดยเหลือไว้เพียง 1 ต้นที่คิดว่าสมบูรณ์ที่สุด และดูแลต้นที่เลือกไว้อีกประมาณ 2-3 เดือน มะละกอก็จะมีลูกที่ใหญ่ขึ้น สามารถเก็บผลผลิตได้” คุณทองดี บอกถึงวิธีการปลูก

การใส่ปุ๋ยให้กับมะละกอที่ออกผลแล้ว stacyscreations.net คุณทองดี บอกว่า จะใส่ปุ๋ยเคมีให้ทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง เป็นสูตร 13-3-21 และทุกครั้งที่เก็บผลผลิตออกจากสวนจะใส่ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ 15-15-15 เข้ามาช่วยเสริมด้วย

ซึ่งมะละกอที่ปลูกลงดินทั้งหมดจะมีอายุให้ผลผลิตได้ประมาณ 1 ปี ต้นทั้งหมดก็จะโทรมลง โดยสามารถเก็บผลผลิตได้เดือนละ 1 ครั้ง

เรื่องของโรคและแมลงที่เจอในช่วงที่ปลูกมะละกอ คุณทองดี บอกว่า จะเป็นเพลี้ยแป้ง ป้องกันด้วยการฉีดพ่นยาปราบศัตรูพืช ส่วนโรคไวรัสวงแหวน หากพบเจอการระบาดของไวรัสจะตัดต้นที่เป็นโรคไปเผาทำลายทิ้งทันที

จากประสบการณ์ของชีวิตที่ทำการเกษตรมาตลอด จึงไม่มีปัญหาในเรื่องของการขายผลผลิต เพราะได้รู้จักกับพ่อค้าแม่ค้าที่เป็นลูกค้าประจำกันอยู่แล้วก็จะมารับซื้อถึงสวนเลย และผลผลิตบางส่วนก็จะส่งขายให้กับลูกค้ารายย่อยที่อยู่ในชุมชน

“ราคาของมะละกอต้องบอกก่อนว่า มันสามารถขึ้นลงได้ตามกลไกของตลาด โดยราคาที่ขายได้สูงสุดอยู่ที่กิโลกรัมละ 12 บาท และบางช่วงราคาต่ำสุดอยู่ที่กิโลกรัมละ 1-3 บาทก็มี ซึ่งช่วงไหนที่มะละกอขาดมากก็จะได้ราคาดี นอกจากนี้ ผมยังทำเมล็ดพันธุ์ขายเองด้วย ให้กับคนที่สนใจอยากปลูกได้ซื้อไปปลูก อยู่ที่กิโลกรัมละ 10,000 บาท ราคาก็สามารถขึ้นลงได้เช่นกัน” คุณทองดี กล่าว

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากจะปลูกมะละกอพันธุ์แขกนวล แต่ยังไม่มีความรู้ในเรื่องของวิธีการมากนัก คุณทองดี บอกว่า ยินดีให้ข้อมูลในการปลูกมะละกอเบื้องต้น หรือสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลทางวิชาการได้กับสำนักงานเกษตรอำเภอสิรินธร เพื่อให้มะละกอที่ปลูกมีผลผลิตที่ดีตรงตามความต้องการของตลาด