บังหมัดฉา หันมาทำสวนยางพาราแบบวนเกษตร เมื่อ ปี 2552

สำหรับพื้นที่ที่มีสภาพดินกร้านแข็ง เขาใช้วิธืปลูกหญ้าแฝกล้อมต้นไม้ที่ปลูกร่วมในแปลงสวนยาง วิธีนี้ช่วยรักษาความชี้น หลังจากต้นไม้เติบโตขึ้นจนมีร่มทึบไม่มีแสง ต้นหญ้าแฝกก็ตายไป เมื่อเวลาผ่านไป สภาพดินในสวนยางพาราค่อยๆ ปรับตัวมีความชุ่มชื้นขึ้น เมื่อดินดี ต้นยางก็ให้ผลผลิตดีขึ้น แตกต่างจากสวนยางพาราที่ปลูกเชิงเดี่ยวอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้ง

เทคนิคการปลูกพืชร่วมยาง

ปัจจุบัน บังหมัดฉา เน้นปลูกพืชร่วมยางที่หลากหลายชนิดและเป็นประโยชน์ในการใช้สอย โดยปลูกต้นยางพาราร่วมกับไม้เศรษฐกิจ ประเภท ยางนา พะยอม ตะเคียนทอง ยางแดง เทพทาโร ต้นสัก ต้นพะยูง ฯลฯ สำหรับใช้สอยและจำหน่ายแล้ว เขายังปลูกพืชผักสวนครัว ผลไม้ เช่น สะละอินโดฯ ไผ่ตงลืมแล้ง (ไผ่กิมซุง) มะไฟ กล้วย ตะไคร้หอม กระชายดำ ชะพลู ฯลฯ ในพื้นที่ที่ว่างที่เหลือเพื่อเป็นแหล่งอาหารในครัวเรือนและขายเพื่อสร้างรายได้ นอกจากรายได้จากการกรีดยางแล้ว บังหมัดฉา ยังมีรายได้เสริมจากพืชร่วมยางตลอดทั้งปี เป็นทั้งรายได้ระยะสั้น ระยะปานกลาง และรายได้ในระยะยาวอยู่ภายในสวนแห่งนี้

ประโยชน์การปลูกพืชแบบวนเกษตรในสวนยางพารา สิ่งแรกที่สร้างความประทับใจให้แก่ผู้มาเยือนคือ บรรยากาศที่ร่มรื่นเย็นสบาย คาดว่าอุณหภูมิภายในสวนยางพาราแห่งนี้ต่ำกว่าอุณหภูมิภายนอก ไม่ต่ำกว่า 2-3 องศาเซลเซียส เมื่อสังเกตบนผิวดิน จะเห็นสภาพดินที่อุดมสมบูรณ์ เพราะในสวนยางแห่งนี้มีการผลัดใบของพืชนานาชนิด ทำให้มีปริมาณอินทรียวัตถุสูง วัชพืชในสวนเติบโตช้าลง ช่วยประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการกำจัดวัชพืช ไม่ต่ำกว่า 300 บาท ต่อไร่

นอกจากนี้ บังหมัดฉา ยังใช้พื้นที่บางส่วนในแปลงสวนยางพาราแห่งที่ 2 ใช้เพาะปลูกและขยายพันธุ์ไม้ เช่น โกโก้ สมอ พะยอม รางจืด ผักหวานบ้าน ตะเคียนทอง รวมทั้งปลูกต้นไม้รอบสวนเพื่อใช้เป็นรั้วกั้นอาณาเขต เช่น มะกอก ขี้เหล็ก เป็นต้น

สินค้าเด่นของสวนแห่งนี้ที่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรและประชาชนทั่วไป คือ สะละอินโดฯ เพราะทุกวันนี้ปริมาณสินค้าสะละอินโดฯ ในตลาดยังมีน้อย ขายได้ราคาดี ทั้งผลผลิตและต้นพันธุ์ที่บังหมัดฉาปลูกขยายพันธุ์ไว้สำหรับจำหน่ายให้แก่เกษตรกรและประชาชนที่สนใจโดยทั่วไป ต้นสะละอินโดฯ เป็นพืชที่ปลูกดูแลง่าย สามารถปลูกได้ในสภาพพื้นที่ร่ม อย่างเช่น สวนยางพารา

ประโยชน์ของการสร้างป่าในสวนยาง

บังหมัดฉา บอกว่า ข้อดีของการสร้างป่าในสวนยาง นอกจากมีรายได้เพิ่มจากพืชอื่นๆ แล้ว ยังพบว่า สวนยางใหม่ที่เปิดกรีดมีความเข้มข้นของน้ำยางสูงขึ้น อยู่ที่ร้อยละ 32-35 และมีปริมาณน้ำยางสูงกว่าการทำสวนยางเชิงเดี่ยว ประมาณ ร้อยละ 6-7 เนื่องจากการสร้างป่าในสวนป่า ช่วยให้ดินมีคุณภาพดีขึ้นและมีความชุ่มชื้นมากกว่าเดิมนั่นเอง บังหมัดฉา ยังเลี้ยงผึ้งโพรงแบบพึ่งพาธรรมชาติ ในสวนวนเกษตร เก็บน้ำผึ้งออกขายได้เงินก้อนโต นอกจากนี้ เขายังมีรายได้เสริมจากการนำไม้ไผ่มาเผาเป็นถ่านชาร์โคลออกขายให้กับผู้บริโภคที่รักสุขภาพอีก ทำให้มีรายได้หมุนเวียนเข้ากระเป๋าอีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ การปลูกไม้ใหญ่ ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง รวมทั้งสะละอินโดฯ ร่วมยาง ยังมีส่วนช่วยในการยึดเกาะหน้าดินได้ดีกว่าการปลูกยางเป็นพืชเชิงเดี่ยว ระบบรากของพืชร่วมยางยังช่วยชะลอความแรงของน้ำ ทำให้น้ำไหลผ่านหน้าดินช้าลง ลดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน สวนไผ่ตงลืมแล้ง (ไผ่กิมซุง) ก็มีส่วนช่วยบำรุงดินเช่นกัน เพราะพืชตระกูลไผ่มีรากฝอยจำนวนมาก กระจายตัวช่วยยึดหน้าดินแล้ว ใบไผ่ยังทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์กว่าพืชชนิดอื่นๆ นอกจากมีแร่ธาตุจำนวนมากแล้ว ยังร่วงลงดินเป็นอินทรียวัตถุได้ตลอดปี

ประการต่อมา การสร้างป่าในสวนยาง จะมีการผลัดใบของพืชชนิดต่างๆ ร่วมด้วย ทำให้ปริมาณอินทรียวัตถุในดินมีสูง วัชพืชมีน้อย ประหยัดค่าตัดหญ้าและค่าปุ๋ย บังหมัดฉาคอยดูแลฉีดน้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพเพื่อเพิ่มแร่ธาตุ เร่งการย่อยสลายให้กับอินทรียวัตถุในสวนแห่งนี้ก็เพียงพอแล้ว ซึ่งค่าใช้จ่ายในการผลิตน้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพเหล่านี้ก็ต่ำเพราะทำได้เองในบ้าน คิดเป็นต้นทุนการผลิตแค่เพียงปีละ 600 กว่าบาทเท่านั้น

ข้อดีของการสร้างป่าในสวนยาง ที่เรียกว่า สวนยางแบบวนเกษตรนั้น ถือเป็นการช่วยอนุรักษ์ระบบนิเวศตามธรรมชาติไปด้วยในตัว เพราะการปลูกต้นไม้ เท่ากับเพิ่มปริมาณออกซิเจนและความชุ่มชื้นมากขึ้นด้วย ทำให้บังหมัดฉาเกิดความภาคภูมิใจในการทำสวนยางพาราแบบวนเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีว่า เป็นการตัดสินใจเลือกที่ถูกต้อง เพราะมีสุขภาพกายใจที่ดีขึ้น แถมยังมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าในอดีต

ดังนั้น บังหมัดฉา จึงชักชวนเกษตรกรชาวสวนยางพาราให้หันมาสร้างป่าในสวนยางที่เรียกว่า ระบบวนเกษตรยางพารา เพราะเป็นแนวทางการจัดการทรัพยากรที่ดินให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีความยั่งยืนในระยะยาว เพราะช่วยให้เกษตรกรมีคลังอาหาร คลังยาสมุนไพรสำหรับใช้ในครัวเรือน เป็นภูมิคุ้มกันชีวิตให้พึ่งพาตัวเองได้ สอดคล้องตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นศาสตร์พระราชา ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9)

“ผมปลูกกระชายมานานกว่า 20 ปี แต่ครอบครัวผมปลูกมานานกว่านี้ ปลูกมาตั้งแต่รุ่นพ่อ-รุ่นแม่ การปลูกกระชายในเขตนี้น่าจะเป็นต้นแบบที่ดีของระบบเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากเกษตรกรจะปลูกกระชายแซมในพืชหลัก เช่น ปลูกแซมในสวนผสม ขนุน กล้วย กระท้อน สะเดา มะม่วง ฯลฯ เป็นการใช้ประโยชน์ของพื้นที่เกษตรได้อย่างครบถ้วน” นี่คือคำพูดของ คุณวิโรจน์ เทียนขาว เกษตรกรนครสวรรค์ จัดเป็นเกษตรกรอีกรายหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในอาชีพการปลูกกระชาย หลายคนต่างก็ทราบดีว่า “กระชาย” เป็นพืชผักสมุนไพรที่มีความสำคัญเคียงคู่ครัวไทยมาทุกยุคทุกสมัย ในตำราอาหารคาว “กระชาย” จะใช้เพิ่มรสเผ็ดร้อนและช่วยดับกลิ่นคาวของอาหาร

ประชาชนในชนบทจะนิยมปลูกกระชายเป็นแบบพืชผักสวนครัวในบริเวณบ้านหรือใต้ร่มต้นไม้ผล เกษตรกรบางรายปลูกกระชายเป็นรายได้เสริม แต่สำหรับคุณวิโรจน์ปลูกกระชายในสวนผลไม้เก่าจากที่เคยเป็นรายได้เสริมมาสู่รายได้หลักในปัจจุบัน จากประสบการณ์ในการปลูกกระชายมานานกว่า 20 ปี ทำให้ทราบถึงวิธีการปลูกและบำรุงรักษา รวมทั้งเทคนิคต่างๆ มากมาย

ในทางพฤกษศาสตร์ “กระชาย” จัดเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุยืนและเป็นพืชที่ตอบสนองต่อช่วงแสง คือจะเจริญเติบโตทางลำต้นให้เห็นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม (ต้นฤดูฝน) เรื่อยไปจนถึงเดือนธันวาคม (ฤดูหนาว) หลังจากนั้นใบจะเหลืองและต้นตาย โดยจะคงเหลือแต่เหง้าสดและรากติดอยู่ในดินได้นานถึง 4 เดือน (ตั้งแต่เดือนมกราคม-เดือนเมษายน) ถ้าไม่มีการเก็บเกี่ยวเหง้าออกมา เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนของปีถัดไป ต้นกระชายก็จะเจริญเติบโตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

ไม่ควรปลูกกระชายใต้ร่มเงา
ต้นมะปรางและมะขาม
จากประสบการณ์ของคุณวิโรจน์ เริ่มต้นก่อนปลูกกระชายจะต้องเลือกพื้นที่ให้เหมาะสม เนื่องจากพื้นที่ว่างใต้สวนผลไม้บางชนิดอาจจะไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นกระชาย ตัวอย่าง เกษตรกรที่ทำสวนมะปรางหวานและมะยงชิดพันธุ์ดี หรือทำสวนมะขามหวาน คุณวิโรจน์บอกว่า ไม่ควรปลูกกระชายใต้ร่มเงาของไม้ผลทั้ง 2 ชนิดนี้ เนื่องจากต้นกระชายจะยุบตายก่อนที่ลงหัว แต่ถ้าเป็นไม้ผลชนิดอื่น เช่น ขนุน สะเดา มะม่วงและกล้วย เป็นต้น เมื่อปลูกกระชายแซมในสวนผลไม้เหล่านี้ การเจริญเติบโตของต้นกระชายจะดีมาก มีการลงหัวที่ดี รากอวบใหญ่และได้น้ำหนัก

จะทำสวนกระชาย
ต้องเริ่มต้นอย่างไร
เกษตรกรจะต้องทำความเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่า กระชายเป็นพืชที่ชอบสภาพแสงรำไร ดังนั้น การปลูกกระชายส่วนใหญ่จะต้องปลูกภายใต้ร่มเงาของไม้อื่น ถ้าเป็นสวนผลไม้เก่าจะดีมาก โดยเฉพาะในสภาพพื้นที่ที่มีการปลูกกล้วยจะดีมาก ในการเตรียมดินจะไม่ยุ่งยากเหมือนกับการปลูกพืชอื่น เพียงแต่ตัดต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ออกบ้างให้มีพื้นที่ว่างปลูกกระชายได้ ตามปกติแล้วจะเริ่มขุดพรวนดินประมาณเดือนพฤษภาคม มีเกษตรกรบางรายได้ใช้รถไถเล็กเข้าไปพรวนดิน

สำหรับเคล็ดลับสำคัญในการเตรียมดินปลูกกระชายนั้น คุณวิโรจน์จะมีการขุดตากดินนานอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อให้แสงแดดส่องฆ่าเชื้อโรคและทำลายศัตรูของกระชายให้ลดลง และถ้าจะให้ต้นกระชายเจริญเติบโตลงรากใหญ่ คุณวิโรจน์แนะนำให้ใส่ปุ๋ยขี้ไก่ไปพร้อมกับการพรวนดินเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุ คุณวิโรจน์ย้ำว่า “ปลูกกระชายถ้าใส่ขี้ไก่ ต้นจะเจริญเติบโตดีมาก ปริมาณรากมาก แต่ไม่แนะนำให้ใส่ขี้วัว เพราะหญ้าจะขึ้นมาก กำจัดยากและสิ้นเปลืองเวลา” โดยปกติแล้วสภาพดินที่จะปลูกกระชายควรจะดินร่วนซุย มีความลึกของหน้าดินอย่างน้อย 1 คืบ (กระชายไม่ชอบดินเหนียวและดินลูกรัง) นอกจากนั้น ยังมีเกษตรกรบางรายปลูกกระชายด้วยวิธีการยกร่อง ร่องที่ยกนั้นสูงประมาณ 50 เซนติเมตร ไม่ควรยกร่องให้ต่ำกว่านี้ เพราะเมื่อฝนตกลงมาจะทำให้ร่องต่ำลงไปอีก

เกษตรกรจะต้องอย่าลืมว่า กระชายเป็นพืชที่มีตุ้มต่อจากหัว ส่วนหัวจะเป็นก้อนค่อนข้างกลมติดกับลำต้นเป็นก้อนไม่ใหญ่นัก ผู้ซื้อต้องการได้ตุ้มหรือส่วนที่เป็นรากยาวๆ ถ้าส่วนนี้สั้นๆ มักจะขายไม่ได้ราคา สาเหตุที่ตุ้มหรือรากสั้นนั้นเกิดจากสาเหตุ 2 ประการ คือ ดินใต้ต้นกระชายแข็ง ทำให้ตุ้มเจริญเติบโตลงไปในดินไม่ได้ อีกประการหนึ่งคือต้นกระชายได้ปุ๋ยไม่เพียงพอ

เลือกปลูกกระชายพันธุ์ไหนดี
คุณวิโรจน์ได้อธิบายถึงสายพันธุ์กระชายที่ปลูกอยู่ในบ้านเราในปัจจุบันนี้จะแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ “กระชายพื้นบ้าน” หรือบางคนเรียก “กระชายปุ้ม” กระชายพันธุ์นี้รากจะสั้นและเป็นปุ้มตรงปลายและเป็นพันธุ์ที่จะต้องปลูกใต้ร่มรำไรเท่านั้น แต่กระชายพันธุ์นี้แม่ค้าจะนิยมซื้อและให้ราคาค่อนข้างดี เนื่องจากเป็นกระชายที่มีกลิ่นหอม เหมาะต่อการประกอบอาหารและเป็นส่วนประกอบของเครื่องแกง แต่มีข้อเสียตรงที่หั่นยาก ในขณะที่กระชายอีกสายพันธุ์หนึ่งคือ “พันธุ์รากกล้วย” เป็นกระชายที่นิยมปลูกกันมากในเขตพื้นที่จังหวัดนครปฐม ราชบุรี ฯลฯ เป็นสายพันธุ์กระชายที่สามารถปลูกได้ในสวนผลไม้เก่า ปลูกเป็นพืชแซมหรือจะนำมาปลูกในสภาพกลางแจ้งในเชิงพาณิชย์ก็ได้ ปลูกได้เหมือนกับการปลูกพืชผักชนิดอื่นๆ ลักษณะรากของกระชายพันธุ์รากกล้วยจะมีลักษณะยาวตรงและอวบ เหมือนกับรากกล้วย ให้ผลผลิตค่อนข้างดี น้ำหนักมาก

ปลูกกระชายได้ 2 วิธี คือปลูกโดยใช้ต้นและปลูกโดยใช้เหง้า วิธีการในการเตรียมเหง้าพันธุ์กระชาย ควรคัดเลือกหัวพันธุ์ที่มีอายุเฉลี่ย 7-9 เดือน มีตาสมบูรณ์และไม่มีโรคแมลงทำลาย แบ่งหัวพันธุ์ด้วยการหั่น ขนาดของเหง้าควรจะมีตาอย่างน้อย 3-5 ตาหรือแง่ง มีน้ำหนักประมาณ 15-50 กรัม ต่อแง่ง ก่อนปลูกควรแช่หัวพันธุ์ด้วยยาป้องกันกำจัดเชื้อราและสารฆ่าแมลงที่ป้องกันแมลงในดิน แช่ไว้นานประมาณ 30 นาที

การปลูกกระชายของคุณวิโรจน์ จะขุดหลุมให้มีระยะระหว่างแถวประมาณ 30 เซนติเมตร และระยะระหว่างต้น 20 เซนติเมตร ปลูกต้นกระชายด้วยต้นหรือเหง้าลงไปในดินและกดดินให้แน่น ถ้าฝนไม่ตกอาจจะต้องให้น้ำอย่างน้อย 1-2 ครั้ง จะช่วยให้ต้นกระชายตั้งตัวได้เร็วขึ้น เมื่อต้นกระชายตั้งตัวได้แล้วไม่ต้องทำอะไรอีก นอกจากคอยดูแลเรื่องวัชพืชอย่าให้ขึ้นคลุมต้นกระชายเท่านั้น

สำหรับคำแนะนำในการปลูกกระชายของฝ่ายส่งเสริมการเกษตร สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จะแนะนำให้ปลูกโดยใช้ระยะระหว่างต้นและระหว่างแถว 30×30 เซนติเมตร ขุดหลุมปลูกขนาด กว้าง ยาว และลึก 15 เซนติเมตร ก่อนปลูกให้รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยขี้ไก่เก่า หลุมละ 200 กรัม (ประมาณ 1 กระป๋องนม) คลุมแปลงปลูกด้วยฟางข้าวหนาประมาณ 2 นิ้ว เพื่อป้องกันการงอกของวัชพืชและยังช่วยรักษาความชื้นในดิน หลังจากปลูกเสร็จให้รดน้ำให้ชุ่ม เมื่อต้นกระชายงอกยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร เกษตรกรควรรีบกำจัดวัชพืชและใส่ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต อัตรา 50 กิโลกรัม ต่อไร่

ป้องกันโรคเน่า
ในแปลงปลูกกระชายอย่างไร
คุณวิโรจน์บอกว่า ปัญหาที่สำคัญในการปลูกกระชายคือ ปัญหาโรคเน่า และได้แนะนำให้เกษตรกรผู้ปลูกควรหมั่นตรวจแปลงปลูกกระชายอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากโรคเน่าเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น เมื่อตรวจพบว่าค่าความเป็นกรด-ด่างของดินมีสภาพความเป็นกรดสูงจะต้องรีบแก้ไขด้วยการใส่ปูนขาวในอัตรา 200-300 กิโลกรัม ต่อไร่ โดยหว่านรอบโคนต้นหรือจะใส่ในช่วงของการเตรียมดินก็ได้ อีกประการหนึ่งที่เกษตรกรไม่ควรลืมก็คือ การจุ่มเหง้ากระชายด้วยสารป้องกันและกำจัดเชื้อราก่อนปลูก ช่วยป้องกันการเกิดโรคเน่าได้ นอกจากนั้น คุณวิโรจน์ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการใส่ปุ๋ยเคมีให้กับต้นกระชายมากๆ จะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้นกระชายเน่าตายได้เช่นกัน

ปลูกกระชายไปได้ 8 เดือน
ขุดรากขึ้นมาขายได้
หลังจากปลูกกระชายไปได้นาน 8 เดือน คือเริ่มปลูกตั้งแต่เดือนพฤษภาคมครบ 8 เดือนในเดือนธันวาคม ในช่วงเดือนมกราคมจะเริ่มขุดรากขึ้นมาขายได้ โดยวิธีการสังเกตที่ใบและต้นของกระชาย จะเริ่มมีสีเหลืองและยุบตัวลง จะขุดโดยใช้จอบ คุณวิโรจน์ย้ำว่า ในการขุดกระชายในแต่ละครั้งจะต้องขุดในขณะที่ดินมีความชื้น ก่อนขุดถ้าดินแห้งให้รดน้ำก่อนเพื่อให้ดินนุ่ม วิธีการนี้จะช่วยลดความเสียหายของรากกระชายไม่ให้หักหรือขาดได้ ขณะที่ขุดรากกระชายขึ้นมานั้นมีเกษตรกรหลายรายจะใช้วิธีการฝังเหง้าเล็กๆ ลงไปพร้อมกับตอนขุดเลย เป็นการประหยัดแรงงานไม่ต้องเสียเวลาในการปลูกรุ่นต่อไป ทำงานไปพร้อมกัน แต่ถ้าเราขุดกระชายขึ้นมาพบว่ามีปริมาณของรากน้อยเกินไป ไม่ควรจะขุดขึ้นมา รอให้ถึงปีหน้าถึงจะขุดได้รากกระชายที่มีปริมาณมากขึ้น

กระชายเป็นพืชที่ได้เปรียบ
ตรงที่รอเวลาการขุดขายได้
หลังจากที่ขุดกระชายขึ้นมา เกษตรกรจะต้องนำไปล้างทำความสะอาดและตัดแต่งเหง้าหรือรากที่ฉีกขาดออกก่อนที่จะบรรจุลงถุงขาย แต่ถ้าเราขุดรากกระชายขึ้นมาแล้วปรากฏว่าราคาในขณะนั้นไม่เป็นที่พอใจ คุณวิโรจน์แนะนำให้เก็บรากกระชายที่ขุดขึ้นมาใส่กระสอบปุ๋ยเก็บไว้โดยไม่ต้องล้างทำความสะอาด รากกระชายจะยังคงความสดไม่เน่าเสีย อย่าลืมว่าอย่าล้างน้ำเด็ดขาด จะล้างก็ต่อเมื่อจะนำไปขายเท่านั้น ข้อดีอีกประการหนึ่งของการปลูกกระชายก็คือ กระชายเป็นพืชที่เราไม่ต้องรีบขุดมาขายเหมือนพืชอื่น ช่วงไหนราคาไม่ดีก็ปล่อยทิ้งไว้จนกว่าราคาจะอยู่ในระดับที่พอใจจึงขุดขึ้นมาขาย คุณวิโรจน์ย้ำว่า “การปลูกกระชายเหมือนกับการฝากธนาคาร เก็บไว้นานได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น” จากการสำรวจราคาซื้อ-ขายกระชายในแต่ละปีพบว่า กระชายจะมีราคาสูงสุดในช่วงแล้งก่อนถึงเทศกาลสงกรานต์

กระชายจัดเป็นอีกพืชหนึ่งที่การบำรุงรักษาน้อย มีโรคและแมลงรบกวนไม่มาก มีความต้องการของตลาดตลอดทั้งปี เก็บไว้ได้นาน ไม่เสียหาย ถ้าราคาไม่ดี ชะลอการขุดเพื่อรอราคาได้ เกษตรกรที่มีพื้นที่การเกษตรไม่มากหรือมีสวนผลไม้เก่าควรปลูกกระชายเพื่อเป็นรายได้เสริมเพื่อเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“กระชาย” จึงเป็นอีกพืชหนึ่งที่หมาะต่อการทำการเกษตรแบบพอเพียง แต่สำหรับคุณวิโรจน์ “กระชาย” จากพืชรอง กลับสร้างรายได้หลัก ในช่วงสถานการณ์ โควิด-19 เช่นนี้ เป็นปัญหาอย่างมากในเรื่องของการเดินทางไปยังที่ต่างๆ เพราะทุกคนต้องมีการระมัดระวังตัวมากขึ้น ในเรื่องของการไม่ให้ตัวเองไปสัมผัสเชื้อโควิด-19 จึงทำให้การอยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อ เพื่อลดการกระจายเชื้อหรือสัมผัสเชื้อมีความสำคัญ หลายๆ ท่านจึงมีกิจกรรมที่ทำในช่วงนี้ที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเลี้ยงสัตว์และการปลูกต้นไม้เพื่อเป็นกิจกรรมยามว่าง รวมไปถึงบางท่านเห็นประโยชน์ของการปลูกพืชที่ให้ผลผลิต ที่สามารถสร้างรายได้เสริมนำมาใช้จ่ายได้อีกด้วย

คุณศิรินันท์ บุญอิ่ม อยู่บ้านเลขที่ 24/2 หมู่ที่ 6 ถนนบ้านกล้วย-ไทรน้อย ตำบลพิมลราช อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เป็นผู้ที่เห็นความสำคัญของการมีพืชที่ให้ผลผลิตที่สามารถเสริมรายได้นอกเหนือจากงานประจำ จึงได้มีการปลูกพืชและไม้ผลต่างๆ รอบบริเวณบ้าน ในเนื้อที่ 1 ไร่เศษ โดยดูแลบำรุงเป็นอย่างดี ส่งผลให้มีผลผลิตตลอดทั้งปี

คุณศิรินันท์ เล่าให้ฟังว่า พื้นเพครอบครัวของเธอทำในเรื่องของการเกษตรมานานแล้ว เธอจึงได้มีแรงบันดาลใจศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเอกพืชสวน คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เมื่อจบการศึกษาได้เข้าทำงานเป็นลูกจ้างในหน่วยงานราชการทันที ทำให้ยังไม่ได้มีโอกาสมาทำงานทางด้านการเกษตร แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 จึงได้มีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น เพราะที่ทำงานเริ่มมีการจัดระบบการทำงานแบบ Work From Home ส่งผลให้เกิดการหารายได้เสริม จากนั้นเธอจึงเริ่มดูแลพืชที่ปลูกและไม้ผลรอบบ้านให้สมบูรณ์มากขึ้น

“หลังจากเรียนจบมา เรียกได้ว่ายังไม่ได้ทำงานทางด้านการเกษตรโดยตรงเหมือนที่จบการศึกษามา เพราะเข้าไปทำงานประจำก่อน พอช่วงโควิด เมื่อปี 2563 เรามีโอกาสได้ทำงานอยู่ที่บ้านบ้าง เพราะสถานการณ์โควิด-19 พอมาทำเราก็เห็นว่าช่วงนั้นพ่อปลูกพืชอย่าง มะนาว ไว้รอบบ้านเลย พร้อมกับมีมะม่วง กล้วย เราก็เริ่มมาคิดว่า เราค่อนข้างมีความรู้จากสิ่งที่เรียนมา และผลผลิตที่พ่อปลูก ยังไม่ได้ให้ผลผลิตดีเท่าที่ควร เราเห็นว่าควรมีการสร้างรายได้เสริมจากจุดนี้ จึงค่อยๆ ปลูกพืชเพิ่ม และดูแลที่มีอยู่ให้สมบูรณ์มากขึ้น” คุณศิรินันท์ บอก

ซึ่งเนื้อที่ดินประมาณ 1 ไร่เศษ คุณศิรินันท์ บอกว่า สามารถปลูกพืชได้หลายชนิดในระยะห่างระหว่างต้นที่ไม่ได้กำหนดตายตัว โดยยึดหลักที่ว่ามีพื้นที่ว่างตรงไหนก็ปลูกตรงนั้น ซึ่งในพื้นที่บริเวณรอบบ้านของเธอจะมีมะนาวกับมะม่วงที่ปลูกสลับกันส่วนใหญ่ จากนั้นเสริมด้วยกล้วยหอม กล้วยน้ำว้า ให้เต็มพื้นที่ เพื่อให้มีผลผลิตเก็บสลับกันจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี

การดูแลพืชให้มีความสมบูรณ์และมีผลผลิตที่ดี หลังจากเก็บผลผลิตจำหน่ายจนหมดแล้ว จะเริ่มตัดแต่งกิ่งทันทีโดยเฉพาะมะม่วง จากนั้นนำปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมีเข้ามาใส่เสริมบ้าง รดน้ำตามความเหมาะสมก็จะช่วยให้ต้นมะม่วงมีความสมบูรณ์ ส่วนมะนาวก็จะมีการบังคับให้ออกผลนอกฤดูบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเน้นให้ออกในฤดูกาล เพราะทุกคนในครอบครัวมีงานประจำ จึงไม่ได้มีเวลาดูแลมากนัก

เมื่อผลผลิตอย่าง มะม่วง หมดช่วงการเก็บเกี่ยว คุณศิรินันท์ บอกว่า ก็จะมีมะนาวกับกล้วยที่ออกผลผลิตมาในช่วงถัดไป จึงทำให้มีรายได้อยู่ตลอดทั้งปี ยิ่งสถานการณ์โควิด-19 เช่นนี้ รายได้เสริมจากการจำหน่ายผลผลิตรอบบ้านจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะอย่างน้อยนำมาเสริมค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ไม่น้อยทีเดียว

“พอเรามาเริ่มทำเกษตรแบบเสริมรายได้ มันรู้สึกสนุกมาก เพราะเราเริ่มเห็นความสำคัญของสิ่งที่มีมากขึ้น พอมองไปพื้นที่ที่อำเภอที่เราอยู่ บางคนตกงาน บางคนต้องกลับมาอยู่บ้านเวลานาน เพราะไม่สามารถทำงานได้ แต่เรามีพื้นที่รอบบ้านที่สามารถทำการเกษตรได้ อย่างน้อยเป็นรายได้เสริมในยามนี้ถือว่าดีมาก อีกอย่างพืชต่างๆ เราปลูกเอง เรื่องโรคและแมลงศัตรูพืช ก็ใช้วิธีทางธรรมชาติ จึงทำให้เรามั่นใจว่าไม่เกิดอันตรายแน่นอน คนซื้อก็มั่นใจผลผลิตของเรา” คุณศิรินันท์ บอก

สำหรับในเรื่องของการทำตลาดเพื่อจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรที่ปลูกรอบบ้านนั้น คุณศิรินันท์ บอกว่า จะติดต่อกับร้านค้าในพื้นที่ และบางส่วนจะมีเพื่อนบ้านที่ต้องการซื้อเพื่อนำไปจำหน่ายต่อเข้ามาติดต่ออยู่เป็นระยะ โดยเธอจะเน้นโพสต์ลงทางเฟซบุ๊กส่วนตัวอยู่เสมอว่า ช่วงนี้มีผลผลิตอะไรบ้างที่กำลังจะเก็บจำหน่ายได้ ก็จะมีเพื่อนติดต่อเข้ามาแจ้งความประสงค์ว่าต้องการซื้ออะไรบ้าง

อย่างเช่น ราคามะนาวบางช่วงที่ราคาดี สามารถจำหน่ายได้ ผลละ 2-3 บาท แต่ถ้าช่วงฤดูกาลปกติ ก็อยู่ที่ ผลละ 1 บาท ส่วนมะม่วงอยู่ที่ กิโลกรัมละ 20-40 บาท แล้วแต่สายพันธุ์ และที่สามารถจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี ก็จะเป็นกล้วยสายพันธุ์ต่างๆ ที่มีลูกค้าเข้ามาตัดเองภายในสวน สามารถจำหน่ายแบบยกเครือ อยู่ที่เครือละ 100-200 บาท

“พอเรามาทำอย่างจริงใจ เราเริ่มรู้สึกสนุก เพราะตลอดทั้งปีมีอะไรให้เราได้ทำอยู่เสมอ อย่างมะนาวหมดรุ่นเก็บขายได้ เราก็มีมะม่วงให้ผลผลิตมาขายช่วงถัดมา เราได้เจอลูกค้าที่เขามารับซื้อ เราได้มีกิจกรรมทำอย่างต่อเนื่อง ไม่มีความเครียดจากสถานการณ์โควิด และมีรายได้เสริมเข้ามาช่วยค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ก็ถือว่าค่อนข้างมีความสุขที่ได้ทำเกษตรในช่วงนี้ และอยากให้ทุกคนได้ลองทำดู หากมีพื้นที่บริเวณบ้านเหลือที่จะปลูกพืชได้” คุณศิรินันท์ บอก

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการทำเกษตร ในพื้นที่น้อยรอบบริเวณบ้านในสถานการณ์โควิด-19 เช่นนี้ ต้องการแนวคิดหรือแรงบันดาลใจ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

ปัญหา หนอนหัวดำ แมลงดำหนาม ด้วงแรด ด้วงงวง ล้วนแล้วแต่เป็นแมลงศัตรูมะพร้าวที่เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวไม่ต้องการให้เกิดขึ้นทั้งในสวนของตนเองและสวนของเพื่อนบ้าน เพราะเมื่อพบแล้ว ปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูพืชเหล่านี้จะแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว หากไม่มีการควบคุมหรือกำจัดที่ดีพอ

คุณวิชาญ บำรุงยา เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวในพื้นที่ตำบลโป่ง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ผู้ที่เคยได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่น ประจำปี 2558 ในสาขาอาชีพทำสวน และเราให้คำจำกัดความเขาว่า “ปราชญ์ชาวบ้าน” ในมุมของเกษตรกรทำสวนมะพร้าว

มุมมองของ คุณวิชาญ คือ การแก้ปัญหาแมลงศัตรูพืชทุกอย่างด้วยการงดใช้สารเคมี หรือใช้สารเคมีให้น้อยที่สุดในกรณีที่จำเป็น เพื่อไม่ให้เกิดการตกค้างไปถึงผู้บริโภค แม้สารเคมีบางชนิดที่ได้รับการประเมินปริมาณในการใช้แล้วว่า ไม่ตกค้างจนก่อให้เกิดโทษต่อผู้บริโภคก็ตาม

“หนอนหัวดำ และแมลงดำหนาม เป็นแมลงศัตรูพืชที่ในอดีตไม่เคยมี เกษตรกรของไทยไม่เคยประสบ กระทั่งปีที่เกิดการระบาดในภาคใต้ และไม่นานก็แพร่ระบาดมาถึงภูมิภาคอื่นๆ การแก้ปัญหาที่ภาครัฐแนะนำขณะนั้นคือ การใช้สารเคมีกำจัด เพราะต้องการให้การแพร่ระบาดหมดไปโดยเร็ว อีกทั้งเป็นปัญหาใหม่ที่เพิ่งพบ ทำให้ไม่มีงานวิจัยใดมารองรับการแก้ปัญหาศัตรูพืชชนิดนี้มาก่อน”

ระยะที่พบการระบาด เมื่อได้รับคำแนะนำจากภาครัฐ สิ่งที่เกษตรกรทำได้คือ การทำตาม เพื่อแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด แต่เมื่อภาวะระบาดผ่านพ้นไป การทบทวนถึงวิธีแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนจึงมีขึ้น

ไม่เพียงแต่การป้องกันหรือกำจัด แต่มองไปถึงต้นทุนการผลิตที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ตอบโจทย์เกษตรกรให้ได้รู้ว่า กำไรจากการทำสวนมีมากหรือน้อย

คุณวิชาญ มองว่า การใช้สารเคมีกำจัดหนอนหัวดำและแมลงดำหนาม มีต้นทุนที่สูงมาก สารเคมีปริมาณ 250 มิลลิลิตร ราคาไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท เมื่อใช้ในปริมาณที่แนะนำ สามารถใช้ในมะพร้าว จำนวน 8 ต้น และควบคุมได้ในระยะเวลาเพียง 6-8 เดือน เมื่อคิดเป็นต้นทุนแล้ว เฉลี่ยมีค่าใช้จ่ายต่อต้นอยู่ที่ 150 บาท ต่อ 6-8 เดือน

“แตนเบียนบราคอน” เป็นแมลงตามธรรมชาติที่มีความสามารถในการกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าวได้ ตามทฤษฎีการใช้แตนเบียนกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าว คือ การปล่อยแตนเบียน จำนวน 200 ตัว (1 กล่อง มี 200 ตัว) จะสามารถควบคุมและกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าวได้ ในพื้นที่ 1 ไร่

ที่ผ่านมา มีเกษตรกรหลายรายทำตาม หวังผลที่ดีขึ้น ทางเข้า SBOBET แต่การควบคุมและกำจัดก็ยังไม่ได้ประสิทธิภาพสูงสุด แม้จะลดลง แต่ก็ยังพบการระบาดอยู่ และหากสวนใกล้เคียงไม่ทำไปพร้อมๆ กัน โอกาสควบคุมและกำจัดได้จะประสบความสำเร็จได้ก็ค่อนข้างยาก

แต่ถึงอย่างไร “แตนเบียน” ก็เป็นความหวัง

คุณวิชาญ ใช้ทฤษฎีการปล่อยแตนเบียนเป็นตัวตั้ง แล้ววิเคราะห์จากปัจจัยโดยรอบ พบว่า เมื่อสวนรอบข้างไม่ได้พร้อมใจกันปล่อยแตนเบียนไปกำจัดแมลงศัตรูพืชพร้อมกัน ก็เกิดช่องโหว่ เพราะพื้นที่จะกว้างมากขึ้น จำนวนแตนเบียนที่ปล่อยไปตามพื้นที่สวนของเกษตรกรแต่ละรายก็ไม่เพียงพอ ดังนั้น หากเกษตรกรไม่พร้อมใจกัน เจ้าของสวนที่ปล่อยแตนเบียนก็จำเป็นต้องปล่อยแตนเบียนเพิ่มจำนวนมากขึ้นหรือปล่อยจำนวนเท่าเดิมแต่ระยะเวลาถี่ขึ้น และเริ่มใช้แตนเบียนกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556

คุณวิชาญ ปล่อยแตนเบียนสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละ 10-20 กล่อง ได้ผลดีเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

“ถ้าจะให้ได้ผลดี สวนข้างเคียงต้องทำไปด้วยกัน ไม่อย่างนั้นแตนเบียนจากสวนเราก็กระจายไปสวนอื่นด้วย ยังไงก็ไม่ได้ผล”

เมื่อแตนเบียนจำเป็นต้องใช้จำนวนมากในการปล่อย คุณวิชาญจึงเป็นโต้โผในการเพาะเลี้ยงแตนเบียน เพื่อให้ได้ปริมาณมากพอสำหรับปล่อยทุกสัปดาห์ ทุกสวน เพื่อให้การควบคุมและกำจัดได้ผล

การรวมกลุ่มกันของเกษตรกรสวนมะพร้าวในอำเภอบางละมุงจึงเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทั้งหมด เพราะพื้นที่บางละมุงมีมากถึง 8 ตำบล ปัจจุบัน เกษตรกรสวนมะพร้าวที่พร้อมใจกันรวมกลุ่มผลิตแตนเบียนมีมากถึง 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลห้วยใหญ่ ตำบลหนองปรือ และ ตำบลตะเคียนเตี้ย

การรวมกลุ่มเกิดขึ้นได้ไม่เพียงแค่เห็นผลว่า แตนเบียนสามารถควบคุมและกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าวได้ แต่เพราะเป็นการทำที่ต้นทุนต่ำกว่าการใช้สารเคมีมาก