ประจำปี 2560 ประเภท “รางวัลการบริหารจัดการองค์กรดีเด่น”

รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น เป็นรางวัลที่มอบให้รัฐวิสาหกิจที่มีระบบบริหารจัดการองค์กรดีเด่น มีศักยภาพในการแข่งขัน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่รัฐวิสาหกิจและมีการเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2560 ประเภท “รางวัลประชารัฐวิสาหกิจดีเด่น” เป็นรางวัลที่มอบให้รัฐวิสาหกิจที่ดำเนินกิจกรรมตรงหลักการของประชารัฐวิสาหกิจจนเกิดผลสัมฤทธิ์ ออกผลิตภัณฑ์รองรับผู้สูงอายุ และมีการดำเนินการต่อยอด และขยายผลของกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง จนเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืน

ศูนย์ “หนึ่งใจ…ช่วยเหลือเกษตรกร” มูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์ฯ ขอขอบพระคุณ คุณชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ที่ได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ ของศูนย์ “หนึ่งใจ…ช่วยเหลือเกษตรกร” มูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์ฯ ด้วยดีตลอดมา ฉบับหน้าจะพาท่านผู้อ่านร่วมชื่นชมกับประวัติศาสตร์อันยาวนานของธนาคารออมสิน ผ่าน “พิพิธภัณฑ์ออมสิน” ติดตามให้ได้

ติดต่อประสานงาน รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ (อาจารย์แมว) ผู้อำนวยการ ศูนย์ “หนึ่งใจ…ช่วยเหลือเกษตรกร” มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ฯ ที่ตั้งสำนักงาน คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม 73140 อีเมล

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2561 สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร โดยมี นายสุรจิตต์ อินทรชิต เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม เป็นประธาน นายปราโมทย์ ยอดแก้ว ผู้อำนวยการสำนักจัดการปฏิรูปที่ดิน เป็นผู้กล่าวรายงาน นายอัครเดช เรียนหิน ปฏิรูปที่ดินจังหวัดชลบุรี ให้การต้อนรับและนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ศึกษาดูงานติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการจัดที่ดินตามโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายของรัฐบาลในเขตปฏิรูปที่ดิน ณ พื้นที่แปลงหมายเลข ๔๖๘ ตำบลบ่อทอง อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี

นายสุรจิตต์ อินทรชิต เลขาธิการ ส.ป.ก. เปิดเผยว่า การดำเนินการจัดที่ดินตามโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายของรัฐบาลในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดชลบุรี อยู่ในกรณีที่ 1 คือ ที่ดินที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม ที่มีเนื้อที่ตั้งแต่ 500 ไร่ ขึ้นไป โดยผลการดำเนินการตรวจสอบพื้นที่เป้าหมาย สามารถยึดคืนพื้นที่มาดำเนินการจัดที่ดินตามโครงการจัดที่ดินทำกินฯ จำนวน 2 แปลง ได้แก่ 1. แปลงหมายเลข 378 ตำบลเขาซก อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 569.75 ไร่ 2. แปลงหมายเลข 468 ตำบลบ่อทอง อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 535.27 ไร่

โดยพื้นที่ที่มาศึกษาดูงานในวันนี้ คือ แปลงหมายเลข 468 ตำบลบ่อทอง อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรีจัดสรรให้เกษตรกร จำนวน 42 ราย รายละ 5+1 ไร่ (แบ่งเป็นแปลงเกษตรกรรม 5 ไร่ และแปลงที่อยู่อาศัย 1 ไร่) พื้นที่แปลงรวม 47 ไร่ 38 ตารางวา พื้นที่ส่วนกลาง 74 ไร่ 1 งาน 09 ตารางวา พื้นที่แหล่งน้ำ 125 ไร่ 76 ตารางวา

และจัดตั้ง “สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินอำเภอบ่อทอง (คทช.) จำกัด” ส.ป.ก. ชลบุรี ได้ดำเนินการจัดที่ดินแล้ว ในรูปแบบกลุ่มหรือสถาบันเกษตรกร มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคด้านต่าง ๆ มีความคืบหน้าไปแล้ว ประมาณ ร้อยละ 67.6 โดยบูรณาการร่วมหน่วยงานในสังกัดภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานราชการอื่นๆ อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ที่ดินสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินอำเภอบ่อทอง (คทช.) จำกัด ได้มีการปรับพื้นที่ ปูผังแบ่งแปลง ก่อสร้างถนนสายหลัก สายซอย การจัดหาแหล่งน้ำ การขุดบ่อน้ำบาดาล และการวางระบบท่อส่งน้ำเข้าไปยังพื้นที่ส่วนต่างๆ การขุดบ่อน้ำชั่วคราว ทั้งนี้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้สร้างบ้านให้แก่เกษตรกรที่ได้รับการจัดที่ดินเสร็จแล้ว 15 หลัง คาดว่าการดำเนินงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในไม่เกินสิ้นปีนี้

สำหรับการคัดเลือกเกษตรกรเข้าทำกินตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วทั้ง 42 ราย เกษตรกรได้รวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินอำเภอบ่อทอง (คทช.) จำกัด เพื่อขอเช่าที่ดินจาก ส.ป.ก. ขณะนี้เกษตรกรบางส่วนได้เข้ามาอยู่อาศัย และเริ่มทำการเพาะปลูกบ้างแล้ว

เนื่องจากพื้นที่แปลงหมายเลข 468 สภาพดั้งเดิมก่อนที่ ส.ป.ก. จะยึดคืนมา เป็นแปลงปลูกปาล์มน้ำมันทั้งหมด ปาล์มบางส่วนโตเต็มที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว ส.ป.ก. จึงได้โค่นต้นปาล์ม ปรับพื้นที่เฉพาะในส่วนที่เป็นบ้านพักอาศัยและพื้นที่สำหรับจัดสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ส่วนที่เป็นแปลงรวมและแปลงเกษตรกรรมที่จัดให้เกษตรกรทำกิน รายละ 5 ไร่ ยังคงเป็นสวนปาล์ม อีกทั้ง เมื่อใช้ระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก ( Agri-Map) มาพิจารณา ปรากฏว่าพื้นที่มีความเหมาะสมในการปลูกปาล์มน้ำมัน

คณะอนุกรรมการพัฒนาอาชีพจึงเห็นสมควรว่า ให้คงปาล์มน้ำมันไว้ เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ในส่วนเกษตรกรที่ได้รับการจัดที่ดินก็เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค เกษตรกรยังไม่สามารถทำการเพาะปลูก ไม่มีรายได้ การตัดปาล์มน้ำมันขาย จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ประมาณ 4,000-7,000 บาท ต่อเดือน ต่อราย

รวมทั้งเกษตรกรที่ได้เข้ามาอยู่อาศัยบางส่วนได้ทำการเพาะปลูก มีรายได้จากการขายพืชผักอีกประมาณวันละ 100-200 บาท ดังนั้น แนวทางการพัฒนาอาชีพในระยะแรก เกษตรกรจะมีรายได้หลักจากการขายปาล์มน้ำมัน รายได้อีกส่วนหนึ่งก็จะมาจากการทำเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงในแปลง ที่อยู่อาศัย 1 ไร่ และในระยะต่อไป ส.ป.ก. จะพยายามผลักดันให้เกษตรกรในพื้นที่มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน ไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท ต่อเดือน

เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวต่อไปว่า จุดเด่นของเกษตรกรในพื้นที่นี้คือ มีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง ร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เกษตรกรบางส่วนเข้ามาอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่ยังไม่มีบ้านโดยสร้างเป็นเพิงชั่วคราว และมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่มาตลอด และมีแนวทางร่วมกันในการพัฒนาชุมชนอย่างชัดเจน แม้แหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคยังสร้างไม่เสร็จ แต่เกษตรกรบางส่วนก็ได้ลงแรงขุดบ่อน้ำตื้นในพื้นที่ของตัวเอง จนสามารถทำการเพาะปลูกได้ และมีรายได้จากการขายพืชผัก ส่วนราชการต่างๆ ก็ร่วมกันทำงานอย่างแข็งขัน การพัฒนาจึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว คาดว่าภายใน ปี 2561 การพัฒนาทุกด้านจะเสร็จเรียบร้อย

นางสาวศรัญญา วงศ์สุนทร เหรัญญิกสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินอำเภอบ่อทอง (คทช.) จำกัด เปิดเผยว่า ในส่วนของเกษตรกรที่ได้รับการจัดที่ดินมีการพูดคุยและปรับแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันมาโดยตลอด หลังจากรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินอำเภอบ่อทอง (คทช.) จำกัด เมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 สมาชิกจึงได้ตกลงร่วมกันว่าจะเก็บปาล์มน้ำมันในแปลงรวมและแปลงเกษตรกรรมไว้

เพราะในระหว่างที่เกษตรกรยังไม่สามารถทำการเกษตรได้ ก็จะยังมีรายได้จากการขายปาล์มน้ำมัน โดยใช้วิธีบริหารแบบแปลงรวม รวบรวมผลผลิต และขายผ่านสหกรณ์ แล้วนำรายได้มาแบ่งเท่าๆ กัน เพื่อให้เกษตรกรทุกคนสามารถอยู่ได้และร่วมใจกันพัฒนาพื้นที่ ใน 1 เดือน ตัดปาล์มได้ 2 ครั้ง ขายได้เป็นเงินประมาณ 200,000-300,000 บาท หักค่าจ้างในการตัดปาล์ม ตันละ 850 บาท หรือประมาณ 20,000-40,000 บาท ต่อเดือน เหลือเป็นรายได้ 180,000-260,000 บาท ต่อเดือน

หลังหักค่าดำเนินงานของสหกรณ์แล้วจึงนำรายได้ทั้งหมดมาแบ่งเท่า ๆ กัน ในแต่ละเดือนเกษตรกรมีรายได้ จากการขายปาล์มน้ำมันประมาณ 4,000-7,000 บาท สำหรับแนวทางการพัฒนาในอนาคตกลุ่มมีความเห็นร่วมกันว่าจะยังคงพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันไว้จนกว่าจะหมดอายุแล้วจึงค่อยพิจารณาว่าจะเพาะปลูกอะไรต่อไป ส่วนในแปลงที่อยู่อาศัยและพื้นที่ส่วนกลางจะทำเกษตรผสมผสาน โดยเน้นการทำพืชผักอินทรีย์ และในพื้นที่แต่ละแปลงจะพยายามตกแต่งให้สวยงาม เพื่อผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรต่อไป

กรมส่งเสริมสหกรณ์ ปรับแผนเตรียมรับปัญหาลำไยล้นตลาด เล็งคัดลำไยคุณภาพ 3,000 ตัน มูลค่า 90 ล้านบาท ใช้กลไกสหกรณ์เร่งกระจายสู่ผู้บริโภคภายในประเทศ สั่งซื้อโดยตรงที่สหกรณ์และสั่งซื้อผ่านไปรษณีย์ไทย พร้อมการันตีผลไม้จากสหกรณ์ทุกชนิดก่อนส่งถึงผู้บริโภค ต้องเป็นสินค้าดีมีคุณภาพ พร้อมสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่สั่งซื้อลำไยจากสหกรณ์ หากได้รับสินค้าที่มีคุณภาพไม่ตรงตามที่ต้องการ ยินดีคืนเงิน หรือส่งสินค้าใหม่ไปเปลี่ยนให้ทันที

นายเชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในการแก้ปัญหาลำไยราคาตกต่ำว่า ปีนี้ลำไยภาคเหนือคาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตออกมาจำนวนมาก ซึ่งอาจส่งผลทำให้ราคาปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้หาแนวทางเสริมในการช่วยแก้ไขปัญหาราคาลำไยตกต่ำและช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์ โดยใช้ระบบสหกรณ์เป็นกลไกในการรวบรวมผลผลิตและกระจายผลผลิตลำไยออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ และจะร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการกระจายลำไยด้วย

ซึ่งเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมตัวแทนสหกรณ์ที่รวบรวมลำไยสดใน 6 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 15 แห่ง วางแผนในการรวบรวมลำไยสด และส่งกระจายผ่านช่องทางตลาดต่างๆ โดยกระทรวงพาณิชย์จะมีงบอุดหนุนให้กับสหกรณ์ในการระบายผลผลิต และสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้สหกรณ์รวบรวมลำไยไว้แปรรูปเป็นลำไยอบแห้ง เพื่อรอการจำหน่ายในฤดูกาลหน้า เพื่อดึงพ่อค้าที่ต้องการซื้อลำไยอบแห้งเข้ามา คาดว่าน่าจะทำตลาดได้ดีกว่าขายเป็นลำไยสด

“เป้าหมายสหกรณ์ในการรวบรวมผลผลิตลำไยแบบสด คาดว่าจะดำเนินการได้ประมาณ 3,000 ตัน มูลค่า 90 ล้านบาท เพื่อทำตลาดลำไยสดช่อคุณภาพ ลูกสม่ำเสมอ ซึ่งขณะนี้มีสหกรณ์ 7 แห่ง ใน 3 จังหวัดภาคเหนือ คือ พะเยา เชียงใหม่ และน่าน ได้ส่งเสริมสมาชิกให้ผลิตลำไยคุณภาพอย่างต่อเนื่องและพยายามรักษาตลาดเดิมเอาไว้ เพื่อให้ผู้บริโภคในประเทศได้รับประทานลำไยรสชาติดีมีคุณภาพ โดยทางบริษัท ไปรษณีย์ไทย จะเปิดรับออเดอร์จากผู้บริโภคปลายทาง แล้วแจ้งยอดการสั่งซื้อลำไยกับทางสหกรณ์ ซึ่งสหกรณ์จะดำเนินการตามกลไกตลาดปกติ ดูดซับลำไยบางส่วนออกมาจากพื้นที่ นำมาคัดเกรดเป็นลำไยสดช่อคุณภาพดี ขนาดไม่เกิน 80 ลูก ต่อกิโลกรัม

มีสัดส่วน ขนาด AA : A 70 : 30 ก้านช่อยาวไม่เกิน 6 นิ้ว และบรรจุลงตะกร้า ขนาด 10 กก. ตะกร้าขนาด 3 กก.และกล่องกระดาษขนาด 10 กก. ราคาขายจะเป็นราคารับซื้อจากเกษตรกรบวกค่าบริหารจัดการตามระยะทาง ที่กำหนดในเบื้องต้นราคาจำหน่ายลำไยคุณภาพสดช่อถึงมือผู้บริโภค 30-34 บาท ต่อกิโลกรัม และจะมีการรับประกันสินค้าด้วย หากเปิดกล่องออกมาไม่ได้คุณภาพตามที่ผู้บริโภคต้องการ ทุกสหกรณ์ยินดีคืนเงินให้ หรือส่งสินค้าใหม่ไปเปลี่ยนให้ทันที เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่สั่งซื้อลำไยจากสหกรณ์” รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว

รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวต่อว่า ภาพรวมตลาดลำไยของ 7 สหกรณ์ ผลผลิตส่วนใหญ่นำไปอบแห้งทั้งเปลือก ส่งขายตลาดในประเทศจีนเป็นหลัก ซึ่งการทำตลาดลำไยรูดอบแห้ง สัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 70% ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด ซึ่งการขายลำไยอบแห้งจะขายได้ดีกว่าลำไยสด และคุ้มค่ากับต้นทุนมากกว่า ซึ่งสหกรณ์จะแบ่งตลาดชัดเจน ลำไยสดจะขายตลาดในประเทศ ลำไยอบแห้งส่งขายประเทศจีน เนื่องจากคนจีนนิยมลำไยอบแห้ง เพราะเขาใช้ลำไยอบไปเซ่นไหว้ และกินเป็นยาอายุวัฒนะ

ที่ผ่านมา ราคาลำไยสดจะขึ้นอยู่กับตลาดลำไยอบแห้งเป็นหลัก แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะอยู่ที่กิโลกรัมละกี่บาท เพราะในแต่ละปี ตลาดลำไยสดขนาดใหญ่ของไทยคือ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งไทยได้ส่งลำไยไปขายอินโดนีเซีย ปีละประมาณ 90,000 ตัน และในฤดูกาลปีนี้ที่ลำไยกำลังจะออกสู่ตลาด ทางอินโดนีเชียห้ามนำลำไยสดจากประเทศไทย จึงคาดการณ์ว่าเมื่ออินโดนีเซียไม่นำเข้าลำไยสดจากไทยอาจส่งผลกระทบให้ลำไยในประเทศราคาตกต่ำ จึงต้องใช้กลไกสหกรณ์เข้ามาช่วยรองรับผลผลิตลำไยของเกษตรกรและเร่งกระจายสู่ตลาด

อย่างไรก็ตาม กรมฯ มีนโยบายในการส่งเสริมตลาดผลไม้ของสหกรณ์ จะคัดเฉพาะที่มีคุณภาพทั้งหมด เพื่อให้ผู้บริโภคที่อยู่นอกแหล่งผลิตได้บริโภคสินค้าดีมีคุณภาพ เนื่องจากที่ผ่านมา เกษตรกรส่วนใหญ่จะคัดของคุณภาพดีส่งขายตลาดต่างประเทศก่อน ดังนั้น จะต้องปรับบทบาทให้สหกรณ์เป็นผู้ผลิตผลไม้คุณภาพดีส่งให้ผู้บริโภคในประเทศได้รับประทาน โดยจะเริ่มจากการทำตลาดลำไยคุณภาพในเดือนกรกฎาคมนี้

กรมปศุสัตว์ แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาการใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสัตว์ และคณะทำงานปราบปรามการใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสุกรและโคขุน หวังขจัดการลักลอบใช้สารอันตรายให้หมดจากประเทศไทย

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต รักษาการอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ มีนโยบายปราบปรามการใช้สารเร่งเนื้อแดงทั้งระบบ โดยเฉพาะในสุกรและโคขุนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์ปัจจุบันมีการใช้สารเร่งเนื้อแดงลดน้อยลงอย่างมาก ดังจะเห็นได้จาก เมื่อปี 2557 พบสารเร่งเนื้อแดงในปัสสาวะสุกร ร้อยละ 3.5 ขณะที่ในปี 2560 ที่ผ่านมา พบร้อยละ 0.7

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เนื้อสัตว์ของไทยปลอดจากสารเร่งเนื้อแดงอย่างแท้จริง รวมทั้งเป็นการยกระดับมาตรฐานการผลิตและจำหน่ายเนื้อสัตว์ปลอดภัย (Food Safety) สู่ผู้บริโภค กรมปศุสัตว์จึงแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาการใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีหน้าที่วางแผนและขับเคลื่อนการปฏิบัติงาน กำหนดรูปแบบการปราบปรามการใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสัตว์ทั้งการลักลอบใช้การนำเข้าเคมีภัณฑ์ การผสมสารดังกล่าวในอาหารสัตว์ที่โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ที่ฟาร์มสุกร และที่ฟาร์มโคขุน ตลอดจนการตรวจสอบที่โรงฆ่าสัตว์ และสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์

“หลังจากนี้ การปราบปรามสารเร่งเนื้อแดง จะดำเนินการอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้น หากมีการกระทำความผิด ฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ หรือฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ มีโทษหนักทั้งจำคุก หรือปรับเงินในอัตราสูง หรือทั้งจำทั้งปรับ ขอเตือนผู้ที่ยังทำผิดอยู่ขอให้หยุดการกระทำในทันที” น.สพ. สรวิศ กล่าว

ด้าน นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาการใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสัตว์ กล่าวว่า จากการประชุมวางแผนการดำเนินการของคณะกรรมการฯมีข้อสรุปว่า จากนี้เป็นต้นไปจะเริ่มปฏิบัติการปราบปรามการใช้สารเร่งเนื้อแดงที่โรงฆ่าสัตว์ทั่วประเทศ โดยจะใช้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการฆ่าและเพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังมีมติให้ตั้งคณะทำงานปราบปรามการใช้สารเร่งเนื้อแดง เพื่อวางแผนปราบปราม รับแจ้งเหตุหรือเบาะแส ผู้ที่กระทำความผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องควบคู่ไปด้วย

ทั้งนี้ หากคณะทำงานฯ เข้าตรวจสอบในโรงฆ่าสัตว์แล้วพบการกระทำความผิด ฝ่าฝืนนำสัตว์ที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างเข้าฆ่า หรือลักลอบนำสัตว์ที่มีสารเร่งเนื้อแดงออกจากโรงฆ่าสัตว์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานตรวจโรคสัตว์ จะต้องได้รับโทษตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนโรงงานอาหารสัตว์และฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ผู้ใดผลิต-นำเข้า-ขาย หรือใช้อาหารสัตว์ที่มีสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งเป็นวัตถุที่ห้ามใช้ผสมในอาหารสัตว์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามบทลงโทษของกฎหมายว่าด้วยการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์

สำหรับผู้ที่พบเห็นการกระทำผิด โปรดแจ้งเบาะแสผ่านแอปพลิเคชั่น (Application) “DLD 4.0” ที่สามารถดาวน์โหลดและติดตั้งได้ทั้งระบบ iOS ผ่าน App Store และระบบ Android ผ่าน Google play เพื่อให้คณะทำงานสามารถเข้าตรวจสอบการกระทำความผิดและจัดการได้อย่างทันท่วงที

ผู้สื่อข่าว ‘ประชาชาติธุรกิจ’ รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงได้เข้ายื่นแถลงการณ์ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ทบทวนมติและกระบวนการพิจารณาเพื่อยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เพื่อปกป้องสุขภาพของเกษตรกร ผู้บริโภค ป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และประโยชน์ของประเทศ

สาระสำคัญของแถลงการณ์ระบุว่าตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีการประชุมครั้งที่ 30-1/2561 พิจารณาการควบคุมวัตถุอันตราย 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 และมีมติไม่ยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3ชนิด

โดยให้เหตุผลว่าข้อมูลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังไม่เพียงพอ ซึ่งขัดแย้งกับผลการพิจารณาของคณะกรรมการหลายชุดก่อนหน้านี้ รวมทั้งความเห็นของประชาคมวิชาการและมติของสภาเกษตรกรแห่งชาติ ในการนี้เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง

เครือข่ายภาคประชาชน 686 องค์กร ที่ได้ติดตามสถานการณ์เรื่องนี้และสนับสนุนมติของกระทรวงสาธารณสุข มีข้อสังเกตต่อกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายและการทำงานของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตราย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ดังนี้

1) ในขณะที่กรมวิชาการเกษตรขอปรึกษาคณะกรรมการวัตถุอันตรายในประเด็นผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อควบคุมสารทั้ง ๓ ชนิด แต่การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตรายฯ กลับเลือกตัวแทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และอดีตข้าราชการกระทรวงเกษตรฯถึง ๔ คน และอีก ๔ คนเลือกจากผู้ที่แสดงจุดยืนสนับสนุนกระทรวงเกษตรฯ จากคณะกรรมการที่มีจำนวน ๑๒ คน ซึ่งล้วนแต่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านผลกระทบต่อสุขภาพ

2) อนุกรรมการเฉพาะกิจฯดังกล่าวใช้ข้อมูลเก่าล้าสมัย เพื่อโน้มน้าวให้มีการใช้สารพิษร้ายแรงดังกล่าวต่อไป โดยเพิกเฉยต่อข้อมูลเชิงประจักษ์และรายงานใหม่ๆเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งเครือข่ายนักวิชาการจากหลายสถาบัน เช่น สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยนเรศวร ต้องจัดเวทีให้ข้อเท็จจริงทางวิชาการ

3) กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 มีกรรมการอย่างน้อย 3 คนมีส่วนได้เสียกับสมาคมค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช แต่กลับไม่มีการแสดงการมีส่วนได้เสียและไม่มีการสละสิทธิ์ลงคะแนน ซึ่งอาจขัด พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มาตรา 12 วรรค 2

ทางเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงจึงขอกราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้โปรดพิจารณาบัญชาให้มีการดำเนินการ ดังนี้ 1) ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายทบทวนมติ และพิจารณายกเลิกพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ในเดือนธันวาคม2562 ตามกรอบเวลาที่กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอไว้ โดยกระบวนการพิจารณาข้อมูลและลงมติต้องไม่มีผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วม เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มาตรา 12 วรรค 2ใช้ข้อมูลที่ทันสมัย เป็นกลางทางวิชาการ และมาจากหน่วยงานที่มีความเชียวชาญโดยตรง ได้แก่ ผลการพิจารณาของกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และข้อมูลจากเครือข่ายประชาคมวิชาการ ซึ่งเพียงพอต่อการพิจารณายกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เนื่องจากเป็นเหตุผลที่สอดคล้องกับ 53 ประเทศที่ยกเลิกการใช้พาราควอตไปก่อนหน้านี้ และเป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำประเทศมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

2) ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการศึกษาหาวิธีการทดแทน ตามมติของสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค ทั้งนี้จากการสำรวจของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พบว่า เกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ข้าว อ้อย ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และมันสำปะหลัง ร้อยละ 63 ไม่ได้ใช้พาราควอตในการกำจัดวัชพืช นั่นหมายถึงมีสารกำจัดวัชพืชชนิดอื่นและวิธีการในการจัดการวัชพืชที่มีประสิทธิภาพมากกว่าพาราควอตอยู่แล้ว หากแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้รวบรวมองค์ความรู้เหล่านี้มาเผยแพร่ในวงกว้าง

3) ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ก่อนจะยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสในปี 2562 หากพบว่ามีผลกระทบต่อต้นทุนของเกษตรกร เสนอให้กระทรวงการคลังศึกษาและจัดเก็บภาษีจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง มาใช้ในการเยียวยาผลกระทบและสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีจัดการวัชพืชที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะลดผลกระทบจากการถูกกีดกันทางการค้าจากความไม่ปลอดภัยของสารพิษตกค้าง การละเมิดสิทธิเกษตรกรที่ใช้สารพิษที่อันตรายร้ายแรง ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกในระยะยาว

น.ส.จิราพร ขาวสวัสดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท. ทราบถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวไร่สับปะรดที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำ เนื่องมาจากผลผลิตสับปะรดออกสู่ตลาดจำนวนมากช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้ จนทำให้ราคาสับปะรดเหลือเพียง กิโลกรัมละ 2.20-2.40 บาท ขณะที่ต้นทุนอยู่ที่ประมาณ กิโลกรัมละ 4.60 บาท ปตท. จึงเปิดพื้นที่ภายในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ทั่วประเทศ ให้เป็นศูนย์กลางของชุมชนในการนำสับปะรดเข้ามาจำหน่ายโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อเร่งระบายผลผลิตสับปะรดให้ส่งตรงถึงมือผู้บริโภค โดยไม่ผ่านคนกลาง ทำให้เกษตรกรได้ราคาจำหน่ายที่ดีขึ้น ช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร

น.ส.จิราพร กล่าวว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ปตท. ยังร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด เกษตรจังหวัดและพลังงานจังหวัด เปิดจุดจำหน่ายผลผลิตสับปะรดภายในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ในพื้นที่ 4 อำเภอ ของจังหวัดฉะเชิงเทรา ลำปาง อุตรดิตถ์ แพร่ พิษณุโลก และพื้นที่อื่นๆ อีกทั้งร่วมมือกับกลุ่มเกษตรกรจังหวัดเชียงรายนำผลผลิตจากสับปะรด เช่น สับปะรดสด น้ำสับปะรดพันธุ์นางแล และภูแล อีกทั้งสินค้าดีมีคุณภาพมาจำหน่าย ณ บริเวณข้างร้าน คาเฟ่ อะเมซอน หน้าอาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่ ถ.วิภาวดีรังสิต ตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 มิถุนายน 2561

กระทรวงเกษตรฯ ชง นายกฯ ตั้งกองทุนช่วยเหลือ-สวัสดิการเกษตรกร ‘บิ๊กตู่’ กำชับต้องดูแล ‘เกษตรกร-ชาวนา’ เหมือนอาชีพอื่น จนกระทั่งเสียชีวิต ต้องมีเงินค่ชดเชยให้ คุ้มครองเหมือนต่างประเทศ พร้อมเงินเยียวยาเมื่อประสบภัยพิบัติ อัด 2 หมื่นล้าน หนุนชาวนา เลิกปลูกข้าว จ่ายไร่ละ 2 พันบาท

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้นำเสนอแนวทางการตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนสวัสดิการให้เกษตรกร ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นนายกรัฐมนตรีเห็นด้วย และสั่งการนำเรื่องของสวัสดิการ การดูแลเกษตรกร รวมไปจนถึงเรื่องของการเสียชีวิตแล้วมีค่าชดเชย เหมือนการประกอบอาชีพอื่น เพื่อยกระดับอาชีพเกษตรกรรม โดยเกษตรกรทุกสาขาจะต้องมีสวัสดิการดูแล มีเงินจากกองทุนคุ้มครอง เหมือนกับเกษตรกรต่างประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น ที่มีการให้สวัสดิการแก่เกษตรกรดูแลตลอดชีพจนกระทั่งเสียชีวิต มีเงินเยียวยาเกษตรกรเมื่อเจอปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ อาทิ น้ำท่วม ภัยแล้ง เป็นต้น