ประชากรในพื้นที่แม่ออนเกือบ ร้อยละ 80 ทำอาชีพเกษตร

และเลี้ยงวัวนม จึงมีเศษวัสดุต่างๆ เช่น เศษไม้ เศษหญ้า ข้าวโพดที่โคนมกินไม่หมด ครูอินสอน แนะนำให้เกษตรกรนำไปทำปุ๋ยหมักเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผู้สูงอายุหรือผู้ว่างงานสามารถเก็บขยะมาขายได้แทนที่จะเอาไปเผา ซึ่งได้ราคากระสอบละ 3 บาท ซากเห็ดต่างๆ เช่น ก้อนเห็ด เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม ก็ยังใช้ทำปุ๋ยหมักได้

ปุ๋ยหมักที่นี่ ไม่ได้ใช้มูลสัตว์อย่างเดียวไม่เช่นนั้นธาตุอาหารจะไม่เพียงพอ ดังนั้น ครูอินสอน จึงใช้วัสดุต่างๆ เกือบ 10 อย่าง ผสมผสานซึ่งก็รวมถึงเปลือกไข่ ซึ่งมีการรับซื้อจากร้านอาหารด้วย ครูบอกว่า เปลือกไข่หรือเปลือกหอยต่างๆ จะมีฟอสฟอรัสกระตุ้นให้เกิดการออกดอก นอกจากนั้นแล้ว หินภูเขาไฟก็ยังถูกนำมาผสมให้ปุ๋ยมีธาตุอาหารสูงขึ้นอีกด้วย

ปกติการทำปุ๋ยหมักมักใช้ยูเรียหรือสารเร่งต่างๆ ซึ่งกว่าปุ๋ยจะหมักได้ที่ ต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือน แต่ครูอินสอน สามารถทำปุ๋ยหมักคุณภาพดีที่พร้อมใช้งานได้ภายใน 24 ชั่วโมง หรือ 3 วัน หรือ 7 วัน ก็ใช้ได้แล้ว

ปุ๋ยหมักที่ทำขึ้นนอกจากใช้บำรุงพืชหรือรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสามารถนำไปหว่านลงบ่อปลา เพื่อบำบัดน้ำเสียได้ด้วย ญี่ปุ่น เรียกว่า “โบกาชิ” โดยใช้มูลสัตว์ต่างๆ เช่น มูลเป็ด มูลไก่ มูลวัว มูลควาย 3 ส่วน รำละเอียด 1 ส่วน เป็นตัวช่วยให้จุลินทรีย์เกิด และใช้แกลบหยาบหรือพืช 10 ส่วน ก่อนจะหมักและเอาจุลินทรีย์รดราดหมักออกมาเป็นโบกาชิ

โบกาชิ ที่หว่านลงในกองขยะหรือลำคลองจะไม่มีกลิ่นเน่าเสีย เพราะน้ำเสียถูกบำบัดด้วยจุลินทรีย์ก้อน และเอาโบกาชิ หรือปุ๋ยหมักโยนลงไป จะทำให้น้ำเขียว เกิดแพลงตอน สามารถเลี้ยงปลาได้

นอกจากนั้น พวกผักตบชวา ผักบุ้งอะไรต่างๆ ที่ปลูกไว้ที่ท้องร่องก็ยังนำมาหมักเป็นส่วนเสริมเลี้ยงหมู ไก่ ปลา โดยใช้พืชผักต่างๆ 100 กิโลกรัม กากน้ำตาล 3 กิโลกรัม จุลินทรีย์ 1 ลิตร และเกลือ 1 ลิตร คลุกเข้าด้วยกันหมักไว้สัก 7-10 วัน เอาไปผสมให้สัตว์กินไม่มีกลิ่นเหม็น นอกจากนี้ มะละกอหรือผลไม้ต่างๆ ที่ปลูกไว้ หากขายไม่หมด ให้นำมาทำน้ำหมัก เร่งราก เร่งผล และยังสามารถเอามาหมักให้สัตว์กินได้ด้วย

ครูอินสอน ใช้พื้นที่ว่างข้างรั้ว ปลูกผักพืชสวนครัว เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ และ กะเพรา นับดูแล้วมีพืชที่มีกลิ่นฉุนกว่า 20 ชนิด ส่วนหนึ่งจะถูกนำมาหมักด้วยจุลินทรีย์ บางอย่างก็เอามาต้ม แล้วผสมกับน้ำส้มควันไม้ซึ่งมีส่วนผสมสำคัญคือ คาร์บอน ที่ได้จากการเผาถ่านเพื่อใช้ไล่แมลง นอกจากนั้น ก็ยังมีสมุนไพรดับกลิ่น ซึ่งทำโดยผสมน้ำส้มสายชู 1 ส่วน กากน้ำตาลหรือน้ำตาลทรายแดงและจุลินทรีย์ 1 ส่วน น้ำ 10 ส่วน หมักไว้ประมาณ 14 วัน เอามาผสมร่วมกัน ซึ่งนอกจากจะดับกลิ่นได้ดีแล้วยังช่วยขับไล่แมลงและบำบัดน้ำเสียได้อีกด้วย ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด

“ โบกาชิดิน” ดินพร้อมปลูก สินค้าขายดี

ครูอินสอน ยังรับซื้อขยะใบไม้หรือเห็ดต่างๆ ทำให้เกษตรกรมีรายได้วันละ 300-500 บาท ขณะที่ฟาร์มเห็ดจะรับซื้อในราคาสูงถึง 500 บาท แต่ 1 คันรถปิกอัพ นอกจากนั้น ก็มีใบไม้หรือข้าวโพดต่างๆ ที่สัตว์กินไม่หมดก็รับซื้อเหมือนกันเพื่อจะใช้เป็นส่วนผสมของดินพร้อมปลูก

วิธีการทำง่ายๆ คือ ใช้ดินร่วน 5 ส่วน แกลบดำ 2 ส่วน รำละเอียด 2 ส่วน และมูลสัตว์ 2 ส่วน ผสมเข้าด้วยกัน ใช้จุลินทรีย์รดแล้ว คลุมด้วยกระสอบพลิกทุกวันใช้เวลา 7 วัน หลังจากนั้นก็ใช้อินทรียวัตถุเช่นใบไม้ต่างๆ ทุกอย่าง 10 ส่วน รำละเอียด 1 ส่วน แกลบดำ 1 ส่วน มูลสัตว์ 2 ส่วน แล้วใช้ปุ๋ยหมักหัวเชื้อที่หมักแล้วมาผสมและรดราดด้วยจุลินทรีย์ ความชื้นประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ มาเก็บในกระสอบแล้วก็ทิ้งไว้ ใช้ไม้มากั้นตรงกลางให้อากาศผ่านเพราะจุลินทรีย์บางอย่างต้องการอากาศ ไม่ต้องตากแดด ผ่านไป 5 ชั่วโมง หรือ 1 วัน ก็จะเริ่มร้อน และความร้อนจะสูงถึง 40 องศาเซลเซียส

ในวันที่ 3 มีการระบายความร้อนตลอด โดยกระสอบที่เลือกต้องมีการระบายได้ เมื่อได้อย่างนี้แล้วก็เอามาเป็นส่วนผสมของดินพร้อมปลูกซึ่งขายดีมากเลย ในญี่ปุ่น เรียกว่า โบกาชิดิน ซึ่งประกอบด้วย ดิน หัวเชื้อ แล้วก็แกลบ อินทรีวัตถุที่หมักแล้วผสมกัน

ครูอินสอน ระบุว่า ดินพร้อมปลูกทั่วไปที่วางขายตามท้องตลาดนั้นส่วนมากจะใช้ดินมาผสมสิ่งต่างๆ โดยไม่มีการหมัก ทำให้แก๊ชแอมโมเนีย แก๊ชไข่เน่า ยังมีอยู่ ซึ่งเมื่อนำไปใส่ต้นพืช พืชก็จะเน่าตายในที่สุด

ข้าวนอกนา ภูมิปัญญาพอเพียง

ข้าวนอกนา เป็นนวัตกรรมบ้านๆ ที่หลายคนอาจนึกไม่ถึง ครูอินสอน ยืนยันว่าข้าวปลูกที่ไหนก็ทำได้ แต่ต้องรับแสงแดดได้ครึ่งวัน วิธีการก็คือเอาท่อนไม้หรือซีเมนต์บล็อกมาเรียงไปรองด้วยพลาสติก หนา 200 ไมคอน หน้ากว้าง 3 เมตร ยาว 8 เมตร ลึกไม่เกิน 15 เซนติเมตร ใส่ดินและน้ำลงไปแล้วก็ปลูกเลย ผลผลิตจะแตกต่างจากการปลูกในถังกลม เรียกว่าเป็นการปลูกข้าวนอกนา เป็นข้าวลอยน้ำ ผลผลิตได้น้อยกว่าในบ่อพลาสติก แก้ปัญหาให้คนในพื้นที่ลุ่มได้ ระยะการเก็บเกี่ยวไม่เกิน 100 วัน ระวังอย่าให้วัชพืชขึ้น

การปลูกข้าวในพื้นที่นอกแหล่งชลประทาน สามารถใช้น้ำประปาได้หรือน้ำสุดท้ายของการล้างจานเอามาใส่ก็ได้ โดยใช้ถังกลมกว้าง ประมาณ 80 เซนติเมตร ใช้ฟลินโค้ตทาเพื่อไม่ให้น้ำซึมและใช้ดินร่วน 8 ส่วน ใช้ปุ๋ยหมัก 2 ส่วน ใช้อินทรีวัตถุเก่าๆ ลงไปส่วนหนึ่ง และใส่แกลบดำส่วนหนึ่ง เติมน้ำให้ขลุกขลิกแล้วก็ปลูกข้าวลงไป ใช้ได้ทั้งนาดำและนาหว่าน

หากปลูกข้าวแบบหยอดเมล็ด ให้คัดข้าวพันธุ์เบา เช่น สันป่าตอง สันป่าตอง 1 ปทุม 1หรือ สุพรรณ 1 ปลูกข้าวเหนียวก็ได้ ข้าวเจ้าก็ได้ แต่ละถังซีเมนต์จะได้ผลผลิตข้าวประมาณ 1.3 กิโลกรัม จากต้นข้าวที่ปลูก 10 กว่าต้น หลังจากปลูกข้าว ควรโรยปุ๋ยหมักลงไป พอต้นข้าวเริ่มออกดอก ให้ฉีดสมุนไพรไล่แมลงที่ทำเอง เช่น ขิง ข่า และตะไคร้ เมื่อข้าวเติบโตใกล้ตั้งท้อง ใช้น้ำหมักหอยเชอรี่หรือน้ำหมักผลไม้ฉีดพ่นกระตุ้นให้ข้าวออกรวงสมบูรณ์ ครูอินสอน ยืนยันว่าไม่ต้องใช้เคมีใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแค่นี้จะได้ข้าวอินทรีย์ ร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อข้าวออกรวงก็หยุดการให้ปุ๋ย หลังเกี่ยวข้าวแล้ว

หากต้องการปลูกผัก ก็เอาผักไปปลูกต่อไปได้เลย เป็นการทำเกษตรผสมผสานแบบต่อเนื่องที่นี่ปลูกข้าวประมาณ 4 รอบ ต่อปี วันเกี่ยวคือ วันปลูก เกี่ยวเสร็จก็ปลูกซ้ำไปเรื่อยๆ ไม่ต้องเปลี่ยนดิน ไม่เสียค่าไถหรือค่าน้ำมัน ไม่เสียค่าแรง ประหยัดน้ำ ภูมิปัญญาเดิมบอกว่าข้าวไม่ต้องการน้ำมาก หากใส่น้ำน้อยข้าวแตกกอมาก หากใส่น้ำมาก ข้าวแตกกอน้อย เพราะน้ำมากข้าวกลัวจะตาย ก็แทงตัวสูงขึ้นไป จึงไม่มีโอกาสแตกกอ เพื่อไม่ให้ต้นข้าวแย่งอาหารกัน ควรใส่ราว 13-14 กอ

ปลูกไม้สัก เป็นหลักประกันชีวิต

หลายพื้นที่ประสบปัญหาความแห้งแล้ง น้ำไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรม ครูอินสอน แนะนำให้ปลูกไม้สักไว้เป็นมรดกยามแก่ เพราะเกษตรกรไม่มีหลักประกันในชีวิตเหมือนข้าราชการไม้สัก หากปลูกได้ 20 ปี ขายได้ราคาต้นละ 5,000-10,000 บาท พื้นที่1 ไร่ สามารถปลูกไม้สักได้หลายพันต้น ปัจจุบัน ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์แม่ออน ปลูกไม้สักเกือบหนึ่งหมื่นต้น ครูอินสอน ปลูกเสริมทุกปี หลังจากไม้สักโตประมาณ 2-3 ปี ไม่ต้องรดน้ำอีก แค่ดูแลตัดแต่งกิ่ง อีก 5 ปีก็ตัดไปใช้สอยหรือขายได้

เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 3 ได้จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัมพันธ์ ระดับภาค โดยมี พล.ท. กิตติศักดิ์ แม้นเหมือน รอง ผอ.ศปป.กอ.รมน. ภาค 3 เป็นประธานเปิดงาน โดยมีสื่อมวลชนจากจังหวัดเชียงใหม่ พะเยา และจังหวัดน่าน เข้าร่วมงาน ประมาณ 100 คน โครงการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชพระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2560 บนพื้นที่ 200 ไร่ สืบเนื่องจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ภายในค่ายเอกาทศรถ จังหวัดพิษณุโลก มีพระราชดำริให้มีการอนุรักษ์พันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ดั้งเดิมของไทยไว้ใช้เพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืน ให้มีการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์กันในหมู่เพื่อนบ้าน

ซึ่งทุกวันนี้มีโอกาสหายาก เพราะทุกวันนี้ในท้องตลาดมีแต่เมล็ดพันธุ์ลูกผสมที่สามารถปลูกได้เพียงครั้งเดียว ไม่สามารถเก็บไว้ขยายพันธุ์ต่อไปได้ จะปลูกพืชในฤดูกาลต่อไป จะต้องไปหาซื้อจากภาคเอกชนในท้องตลาด

เริ่มจากนำเมล็ดพันธุ์พืชมาจากศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดเชียงราย เริ่มต้นจาก 10 ไร่ ปี 2561 ขยายเพิ่มเป็น 50 ไร่ และปัจจุบันขยายพื้นที่ออกไปจนถึง 200 ไร่ โดยมีนายทหารแต่ละหน่วยรับผิดชอบ จึงใช้ชื่อว่า “กิจกรรมโครงการทหารพันธุ์ดี” ระยะแรกปลูกขยายพันธุ์บวบงู ถั่วพู แตงกวา มะเขือเปราะเจ้าพระยา ผักปลังแดง พริกขี้หนู มะเขือยาว กะเพราแดง ถั่วฝักยาวสีม่วงสิรินธร เบอร์ 1

ในปีนี้เป็นโครงการระยะที่ 2 ได้แบ่งพื้นที่ปลูกพืชผักแต่ละชนิด 2 งาน ใช้ปุ๋ยหมักและปุ๋ยอินทรีย์ โดยไม่ใช้สารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น เรียกได้ว่าเป็นเกษตรอินทรีย์ 100%

ขณะนี้สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์พืชผักได้ดังนี้ กะเพราแดง 5 กิโลกรัม มะเขือยาวลายเสือจักรพันธ์ เบอร์ 1 ได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ 3 กิโลกรัม กระเจี๊ยบเขียว ได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ 10 กิโลกรัม มะเขือเปราะเจ้าพระยา ได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ 13 กิโลกรัม น้ำเต้า ได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม มะเขือยาว 0.5 กิโลกรัม ถั่วฝักยาวสีม่วงสิรินธร เบอร์ 1 ได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ 30 กิโลกรัม บวบเหลี่ยม ได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ 15 กิโลกรัม บวบงู ได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ 11 กิโลกรัม พริกขี้หนู ได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ 8 กิโลกรัม ถั่วพู ได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ 10 กิโลกรัม

นอกจากนี้ ยังได้ขยายพื้นที่ออกไปอีก 68 ไร่ เตรียมดิน ปรับสภาพดินด้วยการปลูกปอเทือง ใส่ปุ๋ยขี้ไก่ แกลบดำ เยื่อมะพร้าว ปูนโดโลไมท์ รอบๆ แปลงปลูกถั่วมะแฮะเป็นแนวล้อมรอบปรับปรุงดินและแปรรูปเป็นอาหารได้

พืชพื้นบ้านบางอย่างที่ใกล้จะสูญพันธุ์ และสามารถปลูกได้ในช่วงฤดูฝน ทำให้ขายได้ราคาดี คือ ผักชีพันธุ์พื้นบ้านอุดรธานี ปลูกบริเวณบ้านพักนายสิบ ร้อย.บร.พัน.สบร.23 แปลงขนาด 1.5×12 เมตร พื้นที่ปลูก 72 ตารางเมตร จำนวน 5 แปลง ได้ผลผลิต 30 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 80 บาท ได้เงิน 2,400 บาท ใช้บริโภคในครอบครัวแล้วเหลือจึงนำไปขาย กิโลกรัมละ 120-140 บาท ขึ้นอยู่กับความสวยงามของผักชี ใช้เวลาปลูก 55 วัน ต้นทุน 383 บาท แต่เป็นการลงทุนแบบถาวรในครั้งแรกเท่านั้น เช่น โครงลวดและผ้าพลาสติกกันฝน

โครงการเลี้ยงแพะพระราชทาน พันธุ์แบล็คเบงกอล เริ่มต้นจากการรับพระราชทานพันธุ์แพะสายพันธุ์แบล็คเบงกอล จำนวน 20 ตัว เป็นตัวผู้ 10 ตัว ตัวเมีย 10 ตัว ข้อดีของแพะพันธุ์นี้คือ ขนาดลำตัวเล็ก เนื้อราคาแพง หนังเรียบสวยงาม แต่มีน้ำนมน้อย

ทางโครงการจึงได้นำแพะพันธุ์ชาแนน ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ให้น้ำนมมาก ลำตัวใหญ่ สีขาว ออกลูกครั้งละ 2-4 ตัว เลี้ยงเพียง 8 เดือน ก็สามารถขายเป็นแพะเนื้อได้ นำพันธุ์ชาแนนมาผสมพันธุ์กับพันธุ์แบล็คเบงกอลเพื่อให้ได้ลูกผสมที่เหมาะสมกับสภาพอากาศภาคเหนือตอนล่าง เลี้ยงขยายพันธุ์จนถึงปัจจุบันนี้มีแพะ จำนวน 124 ตัว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานแก่เกษตรกรในภาคเหนือตอนล่างนำไปเลี้ยงแล้ว จำนวน 94 ครอบครัว

แพะลูกผสมได้คลอดลูกออกมาและเป็นลูกแพะแฝด พระราชทานชื่อลูกแพะตัวผู้ว่า “อกร่องทอง” ลูกแพะตัวเมียชื่อว่า “อกร่องเขียว” แพะแฝดคู่นี้เกิดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2561 อาหารที่ใช้เลี้ยงแพะทำเป็นแปลงปลูกหญ้าต่างๆ เช่น หญ้าแพงโกล่า หญ้ารูซี่ หญ้ากินนีสีม่วง หญ้าเนเปียร์ หญ้าจัมโบ้ โดยการแบ่งเป็นสัดส่วน ปล่อยให้แพะลงไปกินในแปลง บางส่วนตัดไปให้ในคอกเลี้ยงด้วย

การเพาะเลี้ยงปลานิลจิตรลดา พบได้ในแหล่งน้ำจืดทั่วไป ได้ถูกนำเข้ามาประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2508 โดยสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต จัดส่งมาน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จำนวน 50 ตัว ระยะแรกนำไปเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ที่สวนจิตรลดา ต่อมาได้ขยายและกระจายแก่เกษตรกรทั่วไป ลักษณะของปลานิลจิตรลดา สีบนลำตัวปลาเพศผู้จะเข้มกว่าตัวเมีย สีใต้คางเพศผู้เป็นสีม่วงอมแดง มีอวัยวะเพศยาว เพศเมียลำตัวสั้นและกลม เมื่อตัวเมียวางไข่แล้วตัวผู้จะปล่อยน้ำเชื้อเข้าผสม ตัวเมียจะอมไข่ไว้ในปากและวางไข่ไปเรื่อยๆ จนหมด ระยะเวลาจนลูกปลาพร้อมที่จะนำไปอนุบาล ใช้เวลาประมาณ 7-8 วัน จากนั้นจึงนำลงเลี้ยงในสระน้ำขนาดใหญ่

นอกจากนี้ ทางโครงการยังได้ ขยายพันธุ์ปลาสลิด โดยนำพ่อแม่พันธุ์ดีมาจากอำเภอบางบ่อ ซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงปลาสลิดรายใหญ่ของประเทศ เป็นปลาที่ทนทานต่อดินเลน ปกติผสมพันธุ์ได้ในฤดูฝน ขยายพันธุ์ได้ง่ายและปริมาณมาก ประมาณ 9,000 กว่าตัว เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ระยะเวลาเพียง 6 เดือน ก็ขายได้ นอกจากนี้ ยังได้เพาะขยายพันธุ์ปลาช่อนและปลาหมอไทย สายพันธุ์ชุมพร 1

เกษตรกรที่สนใจเข้ารับการอบรมการเพาะเลี้ยงปลา ขอให้รวมตัวกันเป็นกลุ่ม ประมาณ 20 คน ต่อรุ่น จะได้รับความรู้ด้านรูปแบบและวิธีการเลี้ยงปลาน้ำจืด คุณภาพน้ำและการจัดการบ่อ โรคพยาธิปลาและการป้องกัน อาหารปลา การผลิตอาหารปลาด้วยตนเอง เมื่อเกษตรกรผ่านการอบรมแล้ว จะได้รับพันธุ์ปลาไปเลี้ยงได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่จะต้องมีความพร้อมในการเตรียมบ่อปลาให้เรียบร้อยก่อน

กิจกรรมการทำปุ๋ยไส้เดือนดิน โดยใช้ไส้เดือนสายพันธุ์บลูเวิร์ม พันธุ์ไทเกอร์ ผลผลิตที่ได้นำไปใช้ในโครงการทั้งสิ้น กิจกรรมการเลี้ยงกระบือ เพื่อเป็นการขยายพันธุ์กระบือในประเทศที่นับวันจะลดน้อยลง จนถึงขั้นจะต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ กิจกรรมการปลูกไม้ยืนต้นขนาดเล็ก เช่น มะนาว มะกรูด เลมมอน มะละกอ การเพาะเห็ดในเรือนโรง

จากผลงาน กิจกรรมต่างๆ ภายในศูนย์ฯ ค่ายเอกาทศรถ มีเป้าหมายในภาพรวมเพื่อเป็นการอนุรักษ์ทั้งพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ ในการผลิตให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหารแก่ประชาชนทั่วไป เป็นการผลิตที่ปลอดภัยจากสารเคมี จึงได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน จำนวน 3 ล้านบาท สร้างอาคารคัดบรรจุผลิตภัณฑ์ที่ได้จากศูนย์ และได้เปิดทำการเรียบร้อยแล้ว

สวัสดี ท่านผู้อ่านทุกท่านครับ วันนี้คอลัมน์ “ตั้งวงเล่า” มีเรื่องราวของสวนแตงกวาลอยฟ้ามาฝากครับ เป็นการใช้งานพื้นที่ๆ มีอยู่จำกัดได้อย่างเต็มที่ และที่สำคัญ สร้างรายได้ให้เจ้าของได้ทุกวันอีกด้วย ผมนัดกับพี่เจมส์ – โฉม อังสุวรรณ เจ้าของสวนเกษตรศิลป์ โทร. (083) 598-8462 ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลอาษา (อบต.) อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ในวันที่พี่เจมส์เปิดอบรมกิจกรรมการเกษตรให้สมาชิก เพื่อถวายเป็นปฏิบัติบูชาที่ตั้งใจไว้

ด้วยพื้นที่อันจำกัด ดังนั้นจึงนัดมาทำกิจกรรมที่ อบต. อาษา ซึ่งอยู่ติดกับสวน ทำให้ผมมีเวลาเดินชมสวนได้อย่างสะดวก เพราะสมาชิกต่างก็เข้าอบรมอยู่ด้านนอก ผมเดินชมและชิมผักในสวนนี้ได้อย่างสบายใจ เพราะรู้ที่มาว่าปลูกแบบอินทรีย์ ใช้ปุ๋ยหมักสูตรแม่โจ้ ใช้ฮอร์โมน-น้ำหมักที่ผลิตเองจากผลผลิตในสวน ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงหรือเคมีใดๆ

ในเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน แบ่งเป็นที่อยู่อาศัย 1 งาน ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง 1 งาน เหลือเนื้อที่ให้ปลูกพืชผลทั่วไปอีก 3 งาน ขุดคูด้านหลังไว้เลี้ยงปลา คันคูกว้าง 2.5 เมตร ปลูกชะอม กล้วย ข่า ตะไคร้ กระชาย ขมิ้น ชะพลู ผักสลัด แตงร้าน เมล่อน เรียกว่าใส่กันเต็มพื้นที่ มุมหนึ่งของสวนเป็นแปลงเพาะพันธุ์กล้าไม้ไว้ทั้งแจกและจำหน่าย พืชผักสวนครัว มะกรูด มะนาว สมุนไพร บอนสี สารพัด

พี่เจมส์ บอกว่า ทำไว้จำหน่ายให้เพื่อนๆ ในราคาไม่แพง ให้แบ่งไปปลูกกัน พอได้ค่าน้ำค่าไฟ” ด้านหลังมีเตาเผาถ่านน้อยๆ

“พ่อเขาสานตะกร้าขาย มีเศษไม้ไผ่เหลือวันละนิดหน่อย ก็สะสมไว้ พอเยอะๆ ก็เอามาเผาถ่านไว้ใช้เอง ควันก็ไล่แมลงในสวนอย่างดีเลย” พี่เจมส์ บอก

ผมเดินมาถึงมุมหนึ่งของสวนที่อยู่ข้างบ้าน กระถางแตงกวาลอยฟ้าแขวนอยู่เป็นระเบียบ จำนวน 49 กระถาง ด้านบนมีตาข่ายให้ยอดแตงได้เกาะเกี่ยวและทอดยอด ผลผลิตห้อยระย้าดูน่าตื่นตาตื่นใจยิ่งนัก นี่เองที่เป็นจุดสนใจของงานในวันนี้ ทุกคนที่มาซื้อผักที่สวนนี้จะได้เก็บเอง ชั่งน้ำหนักเอง และชิมกันสดๆ มองดูสนุกสนานและเป็นกันเองมากๆ

การปรุงดิน สำหรับสูตรปรุงดินของสวนนี้ก็ไม่มีอะไรมาก สมัคร Royal Online ขุยมะพร้าว 1 ส่วน กาบมะพร้าวสับ 1 ส่วน ปุ๋ยหมักสูตรแม่โจ้ 1 ส่วน ผสมคลุกเค้ากับไตรโคเดอร์ม่าเพื่อป้องกันเชื้อรา ผสมใส่ลงในกระถาง ขนาด 12 นิ้ว เสร็จแล้วแขวนขึ้นร้านที่จัดไว้ รอย้ายกล้ามาลงปลูก ครั้งนี้ปลูก 49 กระถาง เพาะกล้า เริ่มเพาะเมล็ดในวัสดุเพาะ วันที่ 26 ตุลาคม 2559 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2559 จึงย้ายกล้ามาลงกระถางปลูก เริ่มวงจรชีวิตแตงกวาลอยฟ้า การให้น้ำช่วงนี้จะเป็นแบบน้ำหยด โดยใช้ขวดพลาสติกเจาะรูให้น้ำหยดลงกระถาง ปุ๋ย

อาหารพืช มีการให้ปุ๋ยเป็นระยะ โดยตั้งแต่แรกปลูกจะให้น้ำหมักปลาเป็นเวลา 25 วัน พอถึงระยะออกผลจะให้น้ำหมักผลไม้ผสมน้ำหมักปลาอย่างละครึ่ง ในอัตราส่วนน้ำหมัก 0.5 ลิตร ต่อน้ำ 100 ลิตร ผ่านระบบน้ำหยดในขวดนั่นเอง

ผลผลิต เริ่มเก็บผลผลิตครั้งแรกในวันที่ 1 ธันวาคม 2559 และเก็บมาตลอด จนมารื้อแปลงในวันที่ 18 ธันวาคม 2559 ได้ผลผลิตรวมทั้งสิ้น 207 กิโลกรัม จากแตงลอยฟ้า 49 กระถาง จำหน่ายในชุมชน กิโลกรัมละ 30 บาท (มาเก็บเอง) เรียกว่าปลูกเล่นๆ ก็เห็นเงินไม่น้อยจริงๆ ที่สำคัญตั้งแต่แตงกวาเริ่มให้ผลผลิต มักจะมีสมาชิกเข้ามาขอถ่ายภาพและซื้อผลผลิตกลับบ้านกันจำนวนมาก สิ่งที่ได้จากการปลูกแตงกวาลอยฟ้า

พี่เจมส์ เล่าว่า ระยะเวลาเดือนกว่าๆ เจอคำพูด คำบ่น คำกระแนะกระแหนมากมาย บ้างก็ว่าบ้า ดินก็มีให้ปลูกดันอุตริมาปลูกลอยฟ้า แต่ก็ผ่านวันเวลานั้นมาด้วยแรงใจของคนในครอบครัว ลูกเมียช่วยลุ้นเป็นแรงใจ ทำให้ไม่หวั่นต่อการจะเดินหน้าโครงการนี้ เห็นได้ชัดมากคือลูกๆ มาช่วยดูแล ช่วยเก็บ ช่วยขายอย่างสนุกสนาน เท่านี้ก็ถือว่าได้กำไรมากกว่ารายได้จากการขายแตงกวามากๆ แล้ว

ถามว่าจะเดินหน้าต่อไปไหม แกยิ้มและตอบเบาๆ

“ผมว่าจะขยายพื้นที่ปลูก เพราะตอนนี้ลูกค้าขอจองไว้เยอะเลย” ถามต่ออีกนิด หากมีคนมาขอคำแนะนำจะได้ไหม แกก็ยิ้มและตอบหนักแน่นขึ้น “มาเลยครับ ใครผ่านบ้านนาแวะมาหาผมได้เลย มีแตงให้กินแน่นอน สอนให้ฟรีๆ ครับ ใครอยู่ไกลไม่สะดวกก็โทร.มาได้ครับ”

ผมลาจากพี่เจมส์ในค่ำวันที่อิ่มแตงกวารสหวาน กรอบ อร่อย อย่างสบายอารมณ์เลยครับ ท่านใดสนใจก็ขอเรียนเชิญนะครับ บอกว่าอ่านเจอจากนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน แกอาจแจกสูตรน้ำพริกแสนอร่อยแกล้มแตงกวาให้ด้วยนะ