ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายธุรกิจสัตว์น้ำบริษัท

เปิดเผยว่า บริษัทได้ร่วมมือกับกรมประมงในการจัดตั้งคณะทำงานด้านการประมงอย่างยั่งยืน ประกอบด้วยตัวแทนชาวประมง ผู้เชี่ยวชาญ เจ้าของธุรกิจเรือประมงพาณิชย์ หน่วยงานรัฐ และตัวแทนจากภาคเอกชน เพื่อศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยี และเครื่องมือประมงที่สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงลดปัญหาการทำประมง IUU ตามแนวทางขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) และ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration: IOM) ซึ่งได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะป้องกันการทำประมง IUU และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการปกป้องทรัพยากรทางทะเล รวมทั้งแรงงานในภาคการประมง

จากการเยี่ยมชมอุตสาหกรรมประมงอย่างยั่งยืนที่เมืองบริก ซึ่งเป็นท่าเรือประมงสำคัญของประเทศอังกฤษ คณะทำงานได้ศึกษาและชมการสาธิตเครื่องมือประมงแบบต่างๆ เช่น การใช้อวนลากที่แบบพิเศษที่มีตาขนาดใหญ่ให้ลูกปลา และสัตว์ทะเลขนาดเล็กลอดผ่านไปได้ รวมถึงอวนลากแบบบอลลูนซึ่งสามารถนำไปต่อยอดในประเทศไทยได้

น.สพ.สุจินต์ กล่าวย้ำว่า ประเทศไทยจะต้องหาทางปกป้องทรัพยากรทางทะเล จากการประมงที่ผิดกฎหมาย โดยคาดว่าหากนำเครื่องมือประมงที่ถูกกฎหมาย และตรงกับวัตถุประสงค์การจับจะสามารถลดการจับสัตว์น้ำที่ไม่พึงประสงค์ (By-catch) ลงได้ 50%

นอกจากนี้ คณะผู้แทนจากประเทศไทย ยังได้ศึกษาดูงานบนเรือประมงท้องถิ่น และเรียนรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบ รวมถึงแนวปฏิบัติที่ดีในอุตสาหกรรมประมงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทั้งภาครัฐ และเอกชนของประเทศอังกฤษ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมประมงไทย

ทั้งนี้ ประเทศไทยและประเทศอังกฤษได้มีความร่วมมือมาอย่างต่อเนื่อง โดยการนำเทคโนโลยี VMS มาใช้เพื่อให้เข้าใจถึงพฤติกรรมเรือประมงในทะเล และสามารถตรวจสอบการจับปลาที่ผิดกฎหมาย ภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยมาตรการของรัฐเจ้าของท่า เพื่อป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุมของ FAO (FAO Agreement on Port State Measures to Prevent, Deter and Eliminate Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) รวมทั้งมีส่วนร่วมพัฒนาขั้นตอนการตรวจสอบเรือเข้า-ออก ท่าเทียบเรือประมง ที่มีการบันทึกข้อมูลเรือ และลูกเรืออย่างละเอียด ซึ่งจะทำให้เรือที่ทำประมงผิดกฎหมาย ไม่สามารถออกเรือ หรือนำสินค้าขึ้นฝั่งได้

“สิ่งที่ประเทศไทยได้เรียนรู้จากประเทศอังกฤษจะมีส่วนสำคัญในการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนและโปร่งใส รวมถึงแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน และการค้ามนุษย์ให้หมดไปจากอุตสาหกรรมประมงไทย” น.สพ.สุจินต์ กล่าว

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จับมือกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่สหกรณ์การเกษตรประตูป่า จำกัด จังหวัดลำพูน สำรวจศักยภาพสินค้าลำไย พร้อมจัดเสวนาถกเข้มแนวทางการพัฒนาสินค้าลำไยและแปรรูป และสร้างความรู้ความเข้าใจการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ ยกระดับการแข่งขันของสหกรณ์ไทยสู่ตลาดต่างประเทศ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ดำเนินโครงการ “พัฒนาความพร้อมทางการค้าของสหกรณ์ไทยสู่การค้าเสรี” ในปี 2562 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในภูมิภาคต่างๆ ของไทย โดยในวันที่ 3 กรกฎาคม 2562 มีกำหนดลงพื้นที่พบปะกลุ่มสหกรณ์และจัดเสวนา ครั้งที่ 1 ที่จังหวัดลำพูน จะเน้นสินค้าลำไยซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ โดยลงพื้นที่ ณ สหกรณ์การเกษตรประตูป่า จำกัด เพื่อสำรวจศักยภาพสหกรณ์พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับสมาชิกสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ เกี่ยวกับศักยภาพการผลิตและการตลาดของสินค้าลำไยและผลิตภัณฑ์

และในวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 จะเชิญเครือข่ายสหกรณ์ที่ผลิตลำไยในพื้นที่ มาร่วมวงเสวนากับภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นต่างๆ เช่น ศักยภาพการส่งออกลำไยของไทย การติดอาวุธสหกรณ์ไทยใช้ประโยชน์เอฟทีเอ และการยกระดับการแข่งขันสหกรณ์ไทยให้ก้าวไกลในโลกค้าเสรี เป็นต้น เพื่อให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้ใช้เอฟทีเอสร้างแต้มต่อทางการค้าและขยายตลาดสู่ต่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพและยกระดับมาตรฐานสินค้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสหกรณ์

ทั้งนี้ สหกรณ์การเกษตรประตูป่า จำกัด เป็นศูนย์รวบรวมผลผลิตลำไยจากสมาชิกสหกรณ์ในพื้นที่ โดยสหกรณ์ฯ คาดว่าจะรวบรวมผลผลิตลำไยในฤดูกาลปี 2562 ประมาณ 1,600 ตัน และในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก ซึ่งต้องมีการกระจายผลผลิตออกนอกพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นโอกาสดีที่กรมฯ จะลงพื้นที่ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอให้แก่สหกรณ์ สมาชิกสหกรณ์ และผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบ ซึ่งจะช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดและโอกาสทางการค้าให้กับสหกรณ์ได้มากขึ้น

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฯ มีกำหนดจะลงพื้นที่พบปะกลุ่มสหกรณ์และจัดเสวนาอีก 3 ครั้ง คือ สินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์แปรรูป ระหว่างวันที่ 25 – 26 กรกฎาคม 2562 ณ สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก จำกัด จังหวัดตรัง สินค้าโคเนื้อ ระหว่างวันที่ 6 – 7 สิงหาคม 2562 ณ สหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด จังหวัดมุกดาหาร และสินค้าเงาะและกล้วยหอม ระหว่างวันที่ 19 – 20 กันยายน 2562 ณ สหกรณ์การเกษตรบ้านนาสาร จำกัด จังหวัดสุราษฎร์ธานี

สำหรับลำไยถือเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปประเทศคู่ค้าโดยได้รับยกเว้นภาษีภายใต้เอฟทีเอหลายฉบับ เช่น อาเซียนได้ยกเลิกภาษีนำเข้าลำไยสด ลำไยแช่แข็ง ลำไยกระป๋อง และลำไยอบแห้งให้ไทยแล้ว (ยกเว้นลาวที่ยังเก็บภาษีลำไยอบแห้ง 5%) ญี่ปุ่นและจีน ได้ยกเลิกภาษีสินค้าลำไยสด ลำไยแช่แข็ง และลำไยอบแห้งให้ไทยแล้วภายใต้เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น และเอฟทีเอ อาเซียน-จีน

ส่วนลำไยกระป๋อง จีนลดภาษีให้ไทยภายใต้เอฟทีเอ อาเซียน-จีน จากร้อยละ 15 เหลือร้อยละ 5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ทั้งนี้ ในปี 2561 ไทยส่งออกลำไยบรรจุแบบสูญญากาศมูลค่า 556 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 10.04 โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น และส่งออกลำไยแช่เย็นแช่แข็งมูลค่า 3.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 45.22 โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ เช่น ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง เป็นต้น

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จับมือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ร่วมกัน ศึกษา วิจัย และพัฒนาด้านสัตวแพทย์ เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในภาคใต้ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี ม.อ. รองศาสตราจารย์อุษา เชษฐานนท์ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.อ. นายเรวัติ หทัยสัตยพงศ์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจอาหารสัตว์บก ซีพีเอฟ และ นายจรัส อัศวชาญชัยสกุล รองกรรมการ ซีพีเอฟ ร่วมลงนามในครั้งนี้

การลงนามในครั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายจะร่วมกันศึกษาทดลองในสัตว์เศรษฐกิจ เพื่อการเรียนการสอนและวิจัย โดยอาศัยวิทยากร ผู้ชำนาญการ และอาจารย์พิเศษ ถ่ายทอดวิชาการและประสบการณ์จากมหาวิทยาลัยและบริษัทซึ่งมีความเชี่ยวชาญ อีกทั้งร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการเรียน การสอน ให้สอดคล้องกับภาคปศุสัตว์และสัตว์น้ำในปัจจุบัน รวมถึงการศึกษาและวิจัย พัฒนาองค์ความรู้ด้านสัตวแพทย์บริการ และติดตามภาวะโรคระบาดในพื้นที่ภาคใต้

ผศ.ดร.นิวัติ กล่าวว่า ม.อ. มีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อนวัตกรรมและสังคมที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ และเป็นกลไกหลักในการพัฒนาภาคใต้และประเทศไทย ทั้งนี้ ความเป็นเลิศทางวิชาการเพื่อประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์จะเกิดขึ้นได้ด้วยเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็ง ซึ่งคณะสัตวแพทยศาสตร์ เป็นหน่วยงานของมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมทั้งในด้านองค์ความรู้ บุคลากร และหน่วยงานภายในคณะทั้งศูนย์ คลินิก และโรงพยาบาลสัตว์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับซีพีเอฟจะเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาความร่วมมือที่ให้เกิดผลสัมฤทธิ์กับทุกด้านในอนาคต อันเป็นประโยชน์แก่ มหาวิทยาลัย บริษัท ชุมชน สังคมในภาคใต้ และประเทศไทยอีกด้วย

ด้านนายเรวัติ กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้ ถือเป็นการผนึกกำลังของภาครัฐและเอกชนผลักดันการพัฒนาการเรียนการสอน การวิจัย และการพัฒนาองค์ความรู้ และบุคลากรด้านปศุสัตว์และสัตว์น้ำที่มีศักยภาพและสอดคล้องความต้องการ สถานการณ์ปัจจุบัน และความท้าทายในอนาคต เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ทั้งในภาคใต้ รวมถึงระดับประเทศและภูมิภาค

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมด้วยผู้บริหารกรมปศุสัตว์ลงพื้นที่ตรวจติดตามงานในพื้นที่อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมี นายสุวิทย์ คำดี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเกษตรกรพื้นที่เขาตะเกียบ เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้

เนื่องจากหญ้าที่ขึ้นอยู่เองตามธรรมชาตินั้นมีคุณค่าทางอาหารสัตว์ต่ำ ผลผลิตน้อย และพื้นที่ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์สาธารณะนับวันจะน้อยลง ไม่เพียงพอที่จะปล่อยสัตว์ไปเลี้ยงเหมือนแต่ก่อน ซึ่งวัวจำเป็นต้องกินหญ้าเป็นอาหารหลัก หากลงทุนปลูกหญ้าพันธุ์ดีไว้ในพื้นที่ของตนเอง เช่น บริเวณพื้นที่หัวไร่ปลายนา หรือพื้นที่ว่างเปล่า เพียงครั้งเดียวก็จะมีหญ้าใช้สอยไปได้หลายปีทีเดียว เพราะเป็นแปลงหญ้าคุณภาพดี ให้ผลผลิตสูงเพียงพอสำหรับเลี้ยงวัว ไม่ต้องเสียเวลาต้อนไปเลี้ยงไกลๆ อีกต่อไป นอกจากนี้ ยังช่วยลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ให้กับผู้เลี้ยงวัวได้ทางหนึ่ง ซึ่งผู้เลี้ยงวัวจะมีรายได้จากการจำหน่ายตัววัวเป็นรายปี และหากมีการดูแลหญ้าเป็นอย่างดีให้ได้คุณภาพ ยังสามารถที่จะขายท่อนพันธุ์เพื่อสร้างรายได้ได้อีกต่อหนึ่ง ที่สำคัญยังมีรายได้จากการจำหน่ายขี้วัวเป็นรายเดือนอีกด้วย นับว่าเป็นอาชีพที่จะช่วยพยุงฐานะของครอบครัวให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้กับเกษตรกรอำเภอเขาตะเกียบหญ้าที่นำมาปลูกจะต้องผ่านการคัดเลือก เพื่อให้ได้พันธุ์ที่ดีและมีคุณภาพ เกษตรกรต้องศึกษา เพื่อคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสม และยังต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการเตรียมดิน การปลูก รวมทั้งการดูแล ให้ได้ผลผลิตที่ดีที่สุดและเกิดประโยชน์กับสัตว์มากที่สุดเช่นกัน

ในช่วงฤดูฝน ที่มีฝนตกหนักต่อเนื่อง สัตว์เลี้ยงมักมีสุขภาพอ่อนแอ และอาจไวต่อการติดเชื้อโรคระบาดได้ง่าย กรมปศุสัตว์จึงมีคำแนะนำในการดูแลและป้องกันโรคให้แก่สัตว์เลี้ยงในช่วงฤดูฝน เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ควรจัดเตรียม น้ำ อาหาร พร้อมอาหารเสริมประเภทวิตามิน ให้สัตว์เลี้ยงกินรวมทั้งทำวัคซีนป้องกันโรคไว้อย่างสม่ำเสมอ

เป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วงฤดูฝน สัตว์เลี้ยงมักมีปัญหาเรื่องโรคที่แตกต่างกันออกไป เช่น โคเนื้อ โคนม กระบือ แพะ แกะ มักมีปัญหาเรื่องท้องอืด ท้องเสีย จากการกินหญ้าอ่อนที่เพิ่งแตกยอดเมื่อได้รับน้ำฝนเข้าไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสัตว์กลุ่มนี้จะกินแต่ฟาง หรือหญ้าแห้งตลอดในช่วงฤดูแล้ง นอกจากนี้ ยังเผชิญปัญหาโรคหวัด โรคปอดบวม โรคคอบวม โรคปากและเท้าเปื่อยอีกด้วย

ส่วน สุกร ต้องระวังโรคปากและเท้าเปื่อย และโรคพีอาร์อาร์เอส โดยมักแสดงอาการผิดปกติที่เกษตรกรสามารถสังเกตได้คือ ซึม เบื่ออาหาร หากเป็น โค-กระบือ จะมีขี้ตา หายใจลำบาก มีขี้มูก ไอหรือจาม หรือท้องเสีย และอาจมีอาการแท้งลูกได้

ส่วนสัตว์เคี้ยวเอื้องในเบื้องต้นมักจะไม่มีการเคี้ยวเอื้อง จมูกเปียกแฉะหรือแห้งผิดปกติ ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม หนังไม่สั่นไล่แมลงสัตว์ปีกประเภท เป็ด ไก่ ฯลฯ โรคภัยที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ โรคไข้หวัดนก และโรคหลอดลมอักเสบติดต่อ ที่อาจสร้างความสูญเสียให้กับสัตว์ปีกเป็นจำนวนมาก เพราะสภาพอากาศที่แปรปรวน มักส่งผลกระทบต่อสุขภาพสัตว์ปีกโดยตรง ทำให้อ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำลง อาการที่พบได้ คือ คอตก คอบิด หายใจเสียงดัง หรืออาจมีน้ำมูกไหลได้

ดังนั้น กรมปศุสัตว์ จึงแนะนำให้เกษตรกรใส่ใจให้ความสำคัญกับการดูแลปศุสัตว์ให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์ แข็งแรง โดยเน้นเรื่องการจัดการโรงเรือนหรือคอกสัตว์ที่ดี มีหลังคา ป้องกันฝน ลม และละอองฝนได้เป็นอย่างดี หรือจัดเตรียมสถานที่ให้สัตว์สามารถหลบฝนได้ มีการจัดเตรียมน้ำ อาหาร ยา และเวชภัณฑ์ให้พร้อม เพื่อเสริมสร้างสุขภาพสัตว์ให้แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยได้ง่าย ที่สำคัญควรทำวัคซีนแต่ละชนิดให้ตรงตามระยะเวลาที่กำหนดของแต่ละชนิด

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ได้เตรียมความพร้อมสำหรับมาตรการในการเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาดที่จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน โดยสั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ทั่วประเทศให้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรกรเพื่อให้คำแนะนำ ความรู้ด้านป้องกันโรค การดูแลสุขภาพ การฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด และค้นหาสัตว์ป่วย หรือตายที่มีอาการคล้ายโรคระบาด โดยหากตรวจพบการเกิดโรคให้ดำเนินการควบคุมโรคทันที

ที่บ้านเลขที่ 49/3 หมู่ 5 ต.ตะเสะ อ.หาดสำราญ จ.ตรัง นางภัชรวดี เจริญฤทธิ์ อายุ 43 ปี หันมาใช้พื้นที่ว่างข้างบ้าน ประมาณ 2 งาน เพื่อปลูกขึ้นฉ่ายจีนแบบไร้ดินจำนวนหลายพันต้น โดยใช้ระบบน้ำไหลเวียนให้ปุ๋ยอินทรีย์ สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ใช้เวลาปลูกประมาณ 50 วัน ก็สามารถเก็บขายได้ ในราคากิโลกรัมละ 60-70 บาท แต่หากเป็นหน้าฝนขึ้นฉ่ายก็จะมีราคาสูงขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 160-180 บาท หรือกว่า 1 เท่าตัว

ซึ่งหลังทดลองปลูกเป็นรายแรกใน อ.หาดสำราญ จ.ตรัง จนประสบความสำเร็จ จึงได้ขยายโรงเรือนเพิ่มอีกจำนวนหลายหลังในพื้นที่ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง เพื่อให้ผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการของตลาด ซึ่งปลูกขายมาแล้วกว่า 1 ปี สามารถเก็บขายได้วันละไม่ต่ำกว่า 50-100 กิโลกรัม สร้างรายได้กว่า 5,000 บาท ต่อวัน

นางภัชรวดี เป็นภรรยาของ พ.ต.ท.นายหนึ่ง สังกัด สภ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช แต่หันมาคิดต่างด้วยการใช้ที่ดินของตน ปลูกขึ้นฉ่าย ซึ่งเกษตรกรรายอื่นใน อ.หาดสำราญ ยังไม่มีใครปลูก เพราะคิดว่าการปลูกแบบไร้ดินจะดูแลยุ่งยาก และเสียค่าใช้จ่ายมากกว่า แต่ความจริงแล้ว เป็นการลงทุนแค่ครั้งเดียว สำหรับค่าวัสดุอุปกรณ์

ส่วนระยะเวลาการปลูกแบบไร้ดินก็สั้นกว่าการปลูกแบบลงดินถึงเท่าตัว ทั้งยังไม่มีปัญหาเรื่องหน้าฝนหรือน้ำค้าง เก็บเกี่ยวง่ายกว่า สามารถเลือกถอนขึ้นมาทั้งต้นได้โดยไม่บอบช้ำ ไม่มีโรคและแมลงรบกวน และยังเก็บขายได้ตลอดทั้งปี เป็นพืชสมุนไพรที่ยังเป็นที่ต้องการของตลาด

ส่วนลูกค้ามีหลายจังหวัดในภาคใต้ ทำให้ตอนนี้ไม่ต้องง้อเงินเดือนของสามีแล้ว ส่วนใครที่สนใจสามารถติดต่อขอดูงานหรือสั่งซื้อขึ้นฉ่ายได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-2179-7987

นางภัชรวดี กล่าวว่า ใน อ.หาดสำราญ ส่วนมากจะปลูกแตงกวา ถั่วฝักยาว ตนจึงเปลี่ยนวิธีคิดให้แตกต่างจากคนอื่น โดยปลูกมาปีกว่าแล้ว เก็บขายได้วันละ 50-100 กิโลกรัม ราคาขายกิโลกรัมละ 60-70 บาท และตั้งใจจะขยายพื้นที่ไปอีกใน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล รอยต่อพื้นที่ จ.ตรัง ด้วย

3 กรกฎาคม 2562 ดร.เทพีวรรณ จิตวัชระโกมล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงานสัมมนาธุรกิจคอมโพสิท JEC Forum Bangkok 2019 โดยมี คุณคริสเตียน สตราสเบอร์เกอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรม บริษัท JEC กล่าวต้อนรับ คุณฌัก ลาปูฌ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย กล่าวแสดงความยินดี และ คุณดนู โชติกพนิช ผู้แทนสมาคมไทยคอมโพสิท กล่าวสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้ ณ โรงแรม Chatrium Riverside

ดร.เทพีวรรณ กล่าวว่า งาน JEC Forum Bangkok 2019 เป็นการจัดงานในรูปแบบใหม่ จัดโดย JEC GROUP ร่วมกับ สมาคมไทยคอมโพสิท ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม ภายในงานประกอบด้วย การประชุมสัมมนาตลอด 2 วัน โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากนานาประเทศ การจัดนัดพบทางธุรกิจ Business Meetings และการเยี่ยมชมโรงงาน เพื่อให้ได้เห็นการนำวัสดุคอมโพสิทไปใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับความสนใจจากนักวิชาการของหน่วยงานภาครัฐ สถาบันอุดมศึกษา และผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมคอมโพสิทในประเทศไทยและต่างประเทศ เข้าร่วมงานกว่า 180 คน

โอกาสนี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้นำผลงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเข้าร่วมจัดแสดง ประกอบด้วย เส้นใยสามมิติ PLA คอมโพสิทใยกัญชงเพื่อประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ เส้นใยสามมิติ PEI คอมโพสิทกราฟีนเพื่อประยุกต์ใช้สำหรับอากาศยาน คาร์บอนไฟเบอร์คอมโพสิทกราฟีน ท่อนาโนคาร์บอนเพื่อละลายน้ำแข็งและป้องกันฟ้าผ่าสำหรับเครื่องบิน และสื่อวีดิทัศน์ผลงานวิจัยทางด้านวัสดุคอมโพสิทที่นำไปใช้ประโยชน์อุตสาหกรรมทางการแพทย์และอากาศยาน เช่น รถพยาบาลเคลือบสารต้านจุลชีพ หุ่นยนต์ขนส่งยาและเวชภัณฑ์ และการทดสอบเชิงกลของวัสดุคอมโพสิท เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม และสร้างเครือข่ายความร่วมมือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมคอมโพสิททั้งในประเทศและต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2562 นายยศพนธ์ ทัพพระจันทร์ เกษตรจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดปราจีนบุรี จัดกิจกรรมรณรงค์เฝ้าระวังและป้องกันกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง ณ ตำบลกรอกสมบูรณ์ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี โดยได้รับเกียรติจาก นายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เป็นประธานเปิดกิจกรรมฯ

ทั้งนี้ โรคใบด่างมันสำปะหลัง (Cassava Mosaic Disease) ได้เริ่มระบาดเข้าสู่บางจังหวัดตามตะเข็บชายแดนไทย – กัมพูชา จากการนำพันธุ์ติดเชื้อมาปลูกและมีแมลงหวี่ขาวยาสูบเป็นพาหะนำโรค ซึ่งโรค ดังกล่าวจะทำลายมันสำปะหลังอย่างรุนแรงและไม่มีทางแก้ไข นอกจากจะต้องพัฒนาพันธุ์ใหม่ทดแทนพันธุ์เก่า ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6-7 ปี ทั้งนี้ เพื่อลดความเสียหายต่อเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังและเศรษฐกิจของประเทศ จำเป็นต้องชะลอการระบาดให้น้อยลงและนานที่สุด โดยการให้ความรู้แก่เกษตรกรและประชาชนโดยทั่วไป

การดำเนินการแก้ไขปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลัง ซึ่งจังหวัดปราจีนบุรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แจ้งกำหนดแนวทางการดำเนินการเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง โดยให้ทุกอำเภอดำเนินการสร้างการรับรู้โรคใบด่างมันสำปะหลัง และแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการระบาด

การจัดกิจกรรมรณรงค์ เฝ้าระวัง และป้องกัน กำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลังในวันนี้ จัดให้มีกิจกรรมการฝังกลบท่อนพันธุ์มันสำปะหลังตามแนวทางการดำเนินการของกรมวิชาการเกษตร การถอนทำลายต้น มันสำปะหลังที่แสดงลักษณะอาการใบด่างใส่ถุงพลาสติกสีดำ พร้อมมัดปากถุงตากแดด และการพ่นสารกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้เกษตรกรรู้ถึงผลเสียที่เกิดกับผลผลิตมันสำปะหลังที่เป็นโรคใบด่างมันสำปะหลังในอนาคต ตลอดจนการจัดการโรคใบด่างมันสำปะหลัง ตามแนวทางที่เหมาะสมของกรมวิชาการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรเกิดความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของโรคใบด่างมันสำปะหลัง และสามารถไปปฏิบัติในพื้นที่แปลงปลูกมันสำปะหลังของตนเอง อีกทั้งยังก่อให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจของเกษตรกรในชุมชน ในการสำรวจ ติดตาม และเฝ้าระวัง ป้องกัน กำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลังได้ กิจกรรมครั้งนี้มีส่วนราชการ ผู้นำชุมชน ร่วมกิจกรรมจากทุกภาคส่วน กว่า 150 ราย

ราชบุรี เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางด้านตะวันตก ภูมิประเทศมีความหลากหลาย จากพื้นที่ราบต่ำลุ่มแม่น้ำแม่กลองอันอุดมสมบูรณ์ สู่พื้นที่สูงทิวเทือกเขาตะนาวศรี ทอดตัวยาวทางทิศตะวันตกจรดชายแดนไทย-พม่า

นอกจากนี้ ยังถือเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชผัก และผลไม้เศรษฐกิจนานาชนิด เรียกได้ว่ามีการทำการเกษตรที่หลากหลาย ส่วนด้านการประมงที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในจังหวัดราชบุรีคือ การเลี้ยงกุ้งทะเล กุ้งก้ามกราม และปลาสวยงาม สร้างรายได้หลักพันล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว

คุณวสันต์ อินคล้าย อยู่บ้านเลขที่ 179 หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านไร่ อำเภอดำเนินสะดวก เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรในจังหวัดราชบุรี ที่เลี้ยงปลาแบบแหวกแนว โดยเลี้ยงในรูปแบบที่ไม่เน้นปลาชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่เลี้ยงในรูปแบบผสมผสานหรือเรียกง่ายๆ ว่า เลี้ยงปลารวมแบบประหยัดต้นทุน ซึ่งใน 1 บ่อ มีปลามากกว่า 2 ชนิด จากการเลี้ยงวิธีนี้ทำให้เขาประสบผลสำเร็จ เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้เขาได้เป็นอย่างดี

ทดลองทำหลากหลายอาชีพสุดท้าย จบที่การเลี้ยงปลา
คุณวสันต์ เล่าให้ฟังว่า เริ่มแรกเดิมทีมีอาชีพเย็บผ้าอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เมื่อแต่งงานกับภรรยาจึงมีแนวคิดที่จะย้ายมาอยู่ที่จังหวัดราชบุรี เพราะมองว่าเมื่ออายุมากขึ้นสายตาที่จะทำอาชีพเย็บผ้าต่อไปคงจะไม่ไหว จึงมาเริ่มทำการค้าขายทั่วไปอยู่ที่จังหวัดราชบุรี

“ช่วงที่มาอยู่ก็ค้าขายทั่วไป จำหน่ายค้าขายของได้ดีมากช่วงนั้น ก็เริ่มมีเงินสร้างบ้าน พอมีเงินเก็บได้ก้อนหนึ่งก็เริ่มเปลี่ยนมาเลี้ยงกุ้ง สรุปเลี้ยงกุ้งก็ไม่ได้กำไร เป็นหนี้ พอปี 38 เปลี่ยนมาเลี้ยงปลานิลก็ขาดทุนเหมือนกัน พอมันใกล้จะจับจำหน่ายได้ปลานิลมาตายยกบ่ออีก ช่วงนั้นก็เลี้ยงปลาดุกอยู่ด้วย ก็เลยเอาปลานิลที่ตายทั้งหมดมาบดให้ปลาดุกกิน ทำไปทำมาปลาดุกนี่ทน เลี้ยงแล้วไม่ตายเหมือนปลาอื่นๆ ประสบผลสำเร็จดีกว่าที่คิด” คุณวสันต์ เล่าถึงความเป็นมาของชีวิต

แนวคิดที่มาเลี้ยงปลาหลายชนิดในบ่อเดียวกัน คุณวสันต์ เล่าว่า เกิดจากการที่เขาชอบไปร่วมการประชุมที่ทางประมงจังหวัดจัดขึ้น จึงทำให้เขาได้รับความรู้ในเรื่องต่างๆ นำมาใช้เกี่ยวกับประกอบสัมมาอาชีพที่ทำ