ประสบการณ์ด้านการเกษตรให้กับสามเณรโดยแบ่งพื้นที่จัดกิจกรรม

สำหรับการเรียนรู้ 2 โครงการ คือ โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน และโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช โดยมีเป้าหมายให้สามเณรนักเรียนใช้ระบบของสหกรณ์ในการทำงานร่วมกันเพื่อผลิตวัตถุดิบด้านการเกษตรส่งไปยังโรงครัวของโรงเรียน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายอาหารเลี้ยงสามเณร ซึ่งหากใช้แนวทางตามพระราชดำริจะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ไม่น้อยกว่า 1ใน 3 ของงบประมาณ ซึ่งแต่ละเดือนค่าใช้จ่ายในการจัดซื้ออาหารสูงถึง 50,000 บาท

“ศูนย์การเรียนรู้ที่จัดตั้งขึ้นนี้ จะทำให้สามเณรได้เรียนรู้เกี่ยวกับการรวมกลุ่มเพื่อการผลิตด้านการเกษตรด้วยตนเอง เพื่อว่าในอนาคตสามเณรเหล่านี้ เมื่อได้ลาสิกขาไป จะได้มีความรู้อาชีพการเกษตรเพื่อใช้ประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ พื้นที่รกร้าง 11 ไร่ของโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดไผ่ดำถูกพัฒนาให้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้โดยแบ่งเป็น 5 โซน ประกอบด้วย โซนที่ 1 พื้นที่การเรียนรู้ด้านการเกษตร แปลงปลูกผักกางมุ้ง เพื่อปลูกผักปลอดภัยและผักทั่ว ๆ ไป ผักเหล่านี้จะได้รับการดูแลจากนักเรียนหรือสามเณร

ผลผลิตที่ได้ส่วนหนึ่งจะถูกส่งเข้าโรงครัวของวัดเพื่อนำไปปรุงเป็นอาหารเพื่อเลี้ยงสามเณร เพื่อเป็นการลดต้นทุนของโรงเรียน โซนที่ 2 จะเป็นโซนต้นไม้หายากและสมุนไพร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และการอนุรักษ์พันธุ์ไม้หายาก โซนที่3 ต้นไม้ในพุทธศาสนา โซนที่ 4 ไม้ป่าเบญจพรรณต่างๆ เป็นไม้ใหญ่ โดยสร้างเป็นสวนป่า และโซนที่ 5 เป็นสระน้ำ สร้างเป็นวังปลา นำพันธุ์ปลาหายาก มาปล่อยและเลี้ยงไว้ในสระแห่งนี้ เพื่อให้ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งเรื่องพันธุ์พืช พันธุ์ปลา และในอนาคตก็จะเปิดให้นักเรียนและเยาวชนที่อยู่ในละแวกนี้ก็เข้ามาศึกษาเรียนรู้ในที่นี้ได้ด้วย” นายพิเชษฐ์ กล่าว

กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เปิดตัวโครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้โรงเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดไผ่ดำ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา และได้รับความร่วมมือจากสำนักงานสหกรณ์จังหวัดและขบวนการสหกรณ์จากจังหวัดต่าง ๆ สนับสนุนพันธุ์ไม้หายาก พันธุ์ปลา อุปกรณ์ในการปลูกต้นไม้และงบประมาณในการดำเนินโครงการฯ ซึ่งทุกฝ่ายได้ร่วมใจกันสนับสนุนการดำเนินโครงการ เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืช รวมถึงการพัฒนาพันธุ์พืชเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป ในอนาคต ซึ่งจะต้องเริ่มจากการสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนและคนในชุมชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และการนำพันธุกรรมพืชไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การส่งเสริมกิจกรรมสหกรณ์นักเรียนในโรงเรียนภายใต้ถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผลที่ได้ปัจจุบัน นักเรียนที่ผ่านการเรียนและฝึกทักษะในวิชาสหกรณ์จะมีความรู้ความสามารถในเรื่องการทำเกษตร ปลูกพืช มีวิธีบริหารจัดการผลผลิต การแปรรูป การทำบัญชี สามารถนำหลักการของสหกรณ์ไปใช้ในชีวิตประจำวันและนำความรู้ที่ได้ติดตัวไปใช้เมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และคาดหวังว่าในอนาคตเยาวชนเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยพัฒนาขบวนการสหกรณ์ต่อไป

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตร เช่น การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รวมถึงเอกชนรายอื่นๆ เพื่อสร้างนิคมฯในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จังหวัดฉะเชิงเทรา เพราะเป็นตำแหน่งที่มีศักยภาพทางโลจิสติกส์สามารถเชื่อมไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) และต่อไปลาวได้ เบื้องต้นคาดใช้พื้นที่ 1,000 กว่าไร่ น่าจะสรุปความชัดเจนและสัดส่วนการลงทุนได้ภายในปีนี้

เปิดดำเนินการปี 2562 วงเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 1,000 ล้านบาท หากรวมที่ดินมูลค่าจะกว่า 5,000 ล้านบาท ตั้งเป้ารองรับโรงงานผลิตแบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เฟส 1 และโรงงานใหม่เพิ่มการผลิตไบโอดีเซลของบริษัทเองที่มีแผนลงทุนปี 2561-2562 ส่วนโรงงานผลิตรถอีวียังไม่ได้สรุป ยังอยู่ระหว่างหารือกับพันธมิตรเพื่อสร้างรถอีวีต้นแบบ โดยจะหาหุ้นส่วนคนไทยก่อน ช่วงเริ่มต้นบริษัทจะถือหุ้นใหญ่ ประเมินการใช้เงินวิจัยและพัฒนาประมาณ 100 ล้านบาท ตั้งเป้ารถอีวีต้นแบบเสร็จทันงานมอเตอร์โชว์ในปลายเดือนมีนาคมนี้ และเตรียมพัฒนาสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป

นายอมร กล่าวว่า สำหรับแผนปี 2561-2562 มีงบฯ ลงทุนรวม 24,700 ล้านบาท จากการกู้ยืม การออกหุ้นกู้ และกระแสเงินสด แบ่งธุรกิจเป็น 5 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. สายธุรกิจไบโอดีเซล 2,000 ล้านบาท ที่จะสร้างโรงงานเพิ่มเน้นกรีนดีเซล เพิ่มการผลิตไบโอดีเซลเป็น 1.2 ล้านลิตร ต่อวัน ในปีหน้า จากปัจจุบัน 800,000 ลิตรต่อวัน 2. ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมหนุมาน จังหวัดชัยภูมิ ขนาด 260 เมกะวัตต์ งบฯ 17,700 ล้านบาท เริ่มจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ปลายปีนี้

รวมกับโครงการผลิตไฟฟ้าปัจจุบันทั้งพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) จะเพิ่มเป็น 664 เมกะวัตต์ 3. โครงการก่อสร้างโรงงานและผลิตแบตเตอรี่ เฟส 1 ขนาด 1 กิกะวัตต์-ชั่วโมง และโครงสร้างพื้นฐาน รวม 4,000 ล้านบาท 4. โครงการผลิตและติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ (EV Charging) 700 ล้านบาท ภายใต้แบรนด์ EA Anywhere จะติดตั้งทั่วประเทศให้ครบ 1,000 สถานี ภายในปีนี้ และ 5. การวิจัยและพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ในกลุ่มที่เกี่ยวข้อง 300 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนถึงวันแห่งความรัก หรือวันวาเลนไทน์ ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ ดอกกุหลาบในหลายจังหวัดต่างขายดีคึกคักรับเทศกาลแห่งความรัก ขณะที่หลายจังหวัดจัดงานต้อนรับเทศกาลวันวาเลนไทน์

โดยที่จังหวัดหนองคาย มีรายงานว่า บรรยากาศก่อนถึงช่วงเทศกาลแห่งความรักที่จังหวัดหนองคายเป็นไปอย่างคึกคัก โดยเฉพาะที่ร้านจำหน่ายไม้ดอก-ไม้ประดับในตัวเมืองหนองคาย มีลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวลาว มาซื้อต้นไม้เพื่อไปขายในช่วงวันแห่งความรักเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะต้นดอกกุหลาบที่ตอนนี้ขายดีจนไม่เพียงพอกับความต้องการ แม้ว่าทางร้านจะไปรับเพิ่มมาจากจังหวัดเชียงใหม่

นายอดิศร ธรรมนิยม เจ้าของร้านเจี๊ยบพันธุ์ไม้ กล่าวว่า ในปีนี้ยอดจำหน่ายไม้ดอกไม้ประดับดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ที่ใกล้จะเข้าสู่เทศกาลวันแห่งรัก ดอกกุหลาบ ดอกเบญจมาศ ดอกดาวเรือง และดอกผีเสื้อ จะขายดีเป็นพิเศษ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะมาจาก สปป.ลาว จะมาซื้อในปริมาณมาก ๆ ครั้งละไม่ต่ำกว่า 1,500 ต้น เพื่อที่จะนำไปขายต่อ และว่า ในปีนี้ยอดสั่งซื้อต้นกุหลาบดีมาก จนไม่เพียงพอกับความต้องการของลูกค้าทั้งไทยและ สปป.ลาว ประกอบกับปีนี้อากาศค่อนข้างแปรปรวนทำให้ต้นแม่พันธุ์ตาย จึงทำให้ต้นกุหลาบมีน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดในตอนนี้ แม้ว่าจะไปรับต้นกุหลาบเพิ่มมาจากจังหวัดเชียงใหม่มาเพิ่มแล้วก็ตาม

ส่วนที่จังหวัดสงขลาบรรยากาศการซื้อขายดอกกุหลาบ เนื่องในเทศกาลวันแห่งความรักหรือวันวาเลนไทน์นั้น พบว่าเป็นไปอย่างคึกคัก แม่ค้าดอกไม้ต่างนำสินค้าดอกกุหลาบมาวางจำหน่าย วางโชว์หน้าร้านกันแล้ว พร้อมทั้งมีการจัดช่อดอกกุหลาบ สร้างสีสัน โดยแผงขายดอกไม้ในอำเภอหาดใหญ่ เริ่มมีลูกค้ามาเลือกซื้อดอกกุหลาบและสั่งทำช่อกุหลาบ สำหรับมอบให้กับคนรักกันแล้ว

นางสาวธิดาวรรณ เพชรเกื้อ แม่ค้ารายหนึ่งเปิดเผยา ในปีนี้นั้นราคาดอกกุหลาบปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งทางร้านจะจำหน่ายดอกกุหลาบ ที่เป็นดอกกุหลาบทั่วไปราคาดอกละ 50 บาท และปีนี้ได้สั่งดอกกุหลาบฮอลแลนด์ ที่มีดอกขนาดใหญ่กว่ามาจำหน่ายเพิ่มขึ้น ในราคาดอกละ 100 บาท ซึ่งพบว่าดอกกุหลาบฮอลแลนด์ได้รับความนิยมจากกลุ่มลูกค้ามากกว่าแม้จะมีราคาสูง โดยลูกค้านิยมทั้งแบบดอกเดี่ยว รวมถึง แบบจัดช่อ ที่จะมีราคาตั้งแต่ 500 บาทไปจนถึง 2,000 บาท ซึ่งมีลูกค้ามาสั่งจัดช่อ รวมถึงนำช๊อคโกแล๊ต มาจัดช่อรวมกับกุหลาบอีกด้วย

นางสาวธิดาวรรณ กล่าวว่า ในปีนี้เทศกาลวันแห่งความรัก ตรงกับกิจกรรมปัจฉิมนิเทศก์ของนักเรียนหลายโรงเรียน ทำให้ยอดการจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทั้งนิยมแบบดอกเดียว แบบจัดช่อ แต่กุหลาบสีแดง ยังเป็นกุหลาบที่ได้รับความนิยมกว่าสีอื่นๆ นอกจากกุหลาบก็จะมีทิวลิปและคาร์เนชั่น ที่ได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน โดยขณะนี้มียอดสั่งจัดช่อกุหลาบเข้ามาอย่างคึกคักตั้งแต่เมื่อวานนี้ ต่อเนื่องจนถึงวันพรุ่งนี้

ที่นครราชสีมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศก่อนถึงเทศกาลวันวาเลนไทน์ ที่จังหวัดนครราชสีมา เริ่มมีความคึกคัก โดยเฉพาะที่ตลาดแม่กิมเฮง บรรดาร้านจำหน่ายดอกไม้ต่างๆ ได้นำดอกกุหลาบมาวางจำหน่ายหน้าร้าน เพื่อบริการลูกค้าที่จะซื้อไปฝากคนรักในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ โดยมีลูกค้ามาเลือกซื้อกันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีสินค้าชนิดอื่นๆ ที่เกี่ยวกับวันวาเลนไทน์ อาทิ ดอกลิลลี่ ดอกคาเนชั่น ช๊อกโกแลต และตุ๊กตาหมี เป็นต้น

นางนันทนา บรรลุการกิจ แม่ค้าร้านจำหน่ายดอกไม้ตลาดแม่กิมเฮง เปิดเผยว่า เนื่องจากปีนี้อากาศในประเทศไทยตอนบนแปรปรวน เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวร้อน ทำให้ดอกกุหลายออกดอกช้ากว่าทุกปี ส่งผลให้ราคาดอกกุหลาบพุ่งสูงขึ้นกว่าปีที่แล้วเกือบ 50% อาทิ ดอกกุหลาบขนาดเล็ก จากเดิมที่เคยขายดอกละ 10 บาท ก็จะเพิ่มเป็น 20 บาท ส่วนดอกขนาดใหญ่ ก็จะราคาดอกละ 200-250 บาท ขณะที่เป็นช่อก็จะอยู่ที่ราคา 800-1,200 บาท แล้วแต่ขนาดและปริมาณของดอก โดยลูกค้าจะเริ่มซื้อมากในช่วงค่ำวันที่ 13 ถึงตลอดวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่เป็นวันวาเลนไทน์ ซึ่งคาดว่าปีนี้ยอดขายจะลดลงประมาณ 20% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว.

ที่อำเภอเมืองเลยร่วมกับเทศบาลตำบลน้ำสวย ได้เตรียมจัดพีธีแต่งงานพร้อมกับมอบทะเบียนสมรส ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการแต่งงานแต่อย่างใด โดยมีนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นผู้มอบทะเบียนสมรสและของที่ระลึก ท่ามกลางบรรยากกาศธรรมชาติ แห่งขุนเขาที่สลับซับซ้อน สายน้ำ สายหมอก และมวลดอกไม้แสนโรแมนติก ที่ภูผาล้อม โดยใช้ชื่องาน “บอกรักให้โลกรู้ที่ภูผาล้อม ได้มีคู่บ่าวสาว 11 คู่รัก ร่วมเข้ากิจกรรม

ทั้งนี้ ภูผาล้อม ตั้งอยู่ตำบลน้ำสวย อ.เมือง จ.เลย มีสภาพทั่วไปเป็นภูเขาหินปูนสลับซับซ้อน มียอดเขาสูงชันที่เป็นยอดสลับซับซ้อน มีขนาดกว้างใหญ่ราว 700 ไร่ ปกคลุมด้วยป่าเบญจพรรณ นับเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่ซุกซ่อนอยู่ภายในหุบเขา ได้มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติประมาณ 2 กม. สำหรับเที่ยวชมธรรมชาติของภูผาล้อมที่มีถ้ำและชะง่อนหินอยู่ตามเพิงผาที่สวยงาม

โดยจุดเริ่มต้นเส้นทางอยู่ด้านหลังที่ทำการ เดินไต่ขึ้นไปบนเขาที่ตั้งตระหง่านดุจกำแพงสูงประมาณ 450 ม. ระหว่างทางจะพบพันธุ์ไม้ทนแล้งที่น่าสนใจหลายชนิด เช่น กล้วยผา จันทน์ผา ปรงผา ตะบอบเพชร ฯลฯ บนจุดสูงสุดเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สามารถมองเห็นผืนป่าแน่นทึบในหุบเขาซึ่งล้อมรอบด้วยผาหินสูงชันทุกด้าน สุดเส้นทางที่ถ้ำภูผาล้อม ซึ่งเป็นถ้ำขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 1 กม. ภายในเต็มไปด้วยโพรงหินมากมายและมีหินงอกหินย้อยงดงาม ซึ่งเป็นสถานที่กำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเลย และได้รับขนานนามว่า “ภูผาล้อม จางเจี้ย เมืองไทย ดินแดนอวตารแห่งเมืองเลย”

ส่วนที่ไร่ปฐมเพชร ตำบลช่องแคบอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ผู้ประกอบการปลูกดอกกุหลาบ และผลิตดอกกุหลาบมหัศจรรย์ ได้เตรียมการ จัดสถานที่ ตบแต่งสวนกุหลาบ ให้มีความสวยงาม พร้อมทั้งมีการเตรียมการ จัดทำดอกกุหลาบมหัศจรรย์พันปีที่บรรจุไว้ในโหล ให้สำหรับนักท่องเที่ยว และคู่บ่าวสาว ที่ไปจดทะเบียนสมรสแล้ว งานดังกล่าวจัดขึ้นโดย ทางจังหวัดตาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ( ททท. ) ที่ว่าอำเภอพบพระ และไร่ปฐมเพชร ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ของจังหวัดตาก คาดว่าจะมีผู้ไปเที่ยวงานวาเลนไทน์ที่อำเภอพบพระจำนวนมาก

นายภราดร กานดา ผู้ประกอบการปลูกดอกกุหลาบอำเภอพบพระ และเจ้าของไร่ปฐมเพชร กล่าวว่า อำเภอพบพระมีพื้นที่ปลูกดอกกุหลาบกว่า 2000 ไร่ ถือว่าเป็นแหล่งปลูกดอกกุหลาบที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และในวันวาเลนไทน์ปีนี้ ทางไร่ปฐมเพชร ร่วมกับทางจังหวัดตาก อำเภอพบพระ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมวันวาเลนไทน์ขึ้นมา เพื่อให้หนุ่มสาว หรือคนทั่วไป ร่วมกิจกรรมในพื้นที่ไร่ปฐมเพชร ภายใต้สโลแกน ว่า “ พบพระ พบรัก เก็บรักใส่โหล ” สำหรับผู้ประสงค์จดทะเบียนสมรส 50 คู่แรก ทางไร่ปฐมเพชร ได้เตรียมแก้วกุหลาบมหัศจรรย์ ไว้ให้ฟรี และทางที่ว่าการอำเภอพบพระ ได้จัดทำทะเบียนสมรสให้ อย่างสมเกียรติ

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ นพ. ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า โรคอัลไซเมอร์คือภาวะสมองเสื่อมที่พบมากที่สุด เกิดจากการฝ่อตัวของสมอง ซึ่งส่งผลกระทบต่อโครงสร้างและการทำงานของสมองบริเวณนั้นๆ นอกจากนี้ยังพบว่าเส้นเลือดในสมองค่อยๆ ถูกทำลาย ส่งผลให้ประสิทธิภาพของเซลล์ประสาทลดลงและถูกทำลายทีละน้อยจนแพร่กระจายไปสู่สมองหลายๆ ส่วน โดยเฉพาะสมองที่ทำหน้าที่ควบคุมความคิด ความทรงจำ และการใช้ภาษา

“อาการของโรคอัลไซเมอร์ในระยะเริ่มต้นคือการหลงลืมที่ไม่รุนแรง เช่น ลืมบทสนทนาหรือเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น วางของในที่ที่ไม่น่าจะไปวางไว้ ทำอะไรซ้ำๆ หลายครั้ง อารมณ์แปรปรวน ระยะกลางคือ ผู้ป่วยจะยิ่งมีปัญหาด้านความทรงจำ จำชื่อของคนรู้จักไม่ได้ ทำกิจวัตรประจำวันที่มีหลายขั้นตอนได้ยากขึ้น ระยะสุดท้าย มีอาการประสาทหลอน อาละวาด เรียกร้องความสนใจ น้ำหนักลด ชัก บางครั้งอาการของโรคที่แย่ลงอย่างกะทันหันอาจมีผลมาจากการใช้ยา การติดเชื้อ โรคหลอดเลือดในสมอง ทั้งนี้ ปัญหาเกี่ยวกับความทรงจำอาจไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคสมองเสื่อมเพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดขึ้นได้จากภาวะซึมเศร้า ความเครียด ผลข้างเคียงจากยารักษาโรค หรือปัญหาสุขภาพอื่นๆ” นพ. ปานเนตร กล่าว

ด้าน นพ. ประพันธ์ พงศ์คณิตานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กล่าวถึงการรักษาโรคอัลไซเมอร์ว่า ปัจจุบันมีเพียงการใช้ยารักษาและการดูแลที่จะช่วยบรรเทาอาการด้านความคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วยได้เพียงชั่วคราว หรืออาจช่วยให้พัฒนาการของโรคช้าลงได้ในบางรายโดยการดูแลรักษา ได้แก่ 1. วางแผนดูแลผู้ป่วย โดยแพทย์ร่วมกับสาขาวิชาชีพอื่นๆ 2. สร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย 3. ออกกำลังกาย โดยอาจให้ผู้ป่วยเดินเป็นประจำทุกวัน เพื่อปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น

สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการเดินอาจขี่จักรยานอยู่กับที่ หรือออกกำลังกายโดยนั่งบนเก้าอี้แทน 4. รับประทานอาหาร ควรเสริมด้วยน้ำปั่นจากผลไม้ผสมนมหรือโยเกิร์ตที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ มีแคลอรี่สูง และอาจเพิ่มผงโปรตีน หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน 5. ใช้ยารักษา และ 6. บำบัดทางจิต เช่น กระตุ้นสมองช่วยปรับปรุงความสามารถด้านความทรงจำ ความสามารถทางภาษา และทักษะการแก้ปัญหา รวมทั้งบำบัดด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม ดนตรีบำบัด ศิลปะบำบัด

4,741 โครงการอันเนื่องมาจากแนวพระราชดำริ ตลอดรัชสมัย 70 ปี แห่งการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (ร.9) ประจักษ์แก่สายตาพสกนิกรชาวไทย-ชาวโลก
มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ พาสัญจร-ไขรหัส “ศาสตร์พระราชา” ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี 1 ใน 6 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

เปรียบเสมือนดั่ง “คลังปัญญา” แห่ง “ศาสตร์พระราชา” อันเป็นมรดกของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งยังคงเป็นศาสตร์แห่งภูมิปัญญา-สร้างปราชญ์ชาวบ้านทั่วทุกพื้นที่-ทั่วทุกภูมิภาค

นายนเรศ แสงอรุณ นักประชาสัมพันธ์ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฉายภาพพระราชดำริของในหลวง ร.9 ให้มีศูนย์การศึกษาทั่วทุกภูมิภาคว่า การพัฒนาจะต้องเป็นไปตามภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์และตามภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์ในสังคมวิทยา ในนิสัยใจคอของคน จะไปบังคับคนให้คิดอย่างอื่นไม่ได้ ดังนั้นพระองค์ท่านจึงยึดหลักของภูมิสังคม

“พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสชัดเจนว่า จุดประสงค์ของการตั้งศูนย์ศึกษาเพราะต้องการให้เป็นสถานที่สำหรับการค้นคว้า วิจัยในท้องที่ เพราะแต่ละท้องที่ฝนฟ้าอากาศและประชาชนในท้องที่แตกต่างกัน”

นอกจากการตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ตามภูมิสังคมในท้องถิ่นนั้น ๆ แล้ว อีก 1 จุดประสงค์ คือ การพัฒนาที่ทำกินของราษฎรให้มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น โดยการพัฒนาที่ดิน พัฒนาแหล่งน้ำ ตลอดจนการฟื้นฟูป่า โดยใช้หลักทางวิชาการเกษตรในการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์

“การตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเพื่อการศึกษา ทดลอง วิจัยแล้ว ให้ขยายผลสู่ประชาชน รวมกลุ่มจัดเป็นหลักสูตรอบรม และจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงขยายออกไปอีก เพื่อสร้างปราชญ์ชาวบ้านเพื่อเผยแพร่ให้เข้าถึงประชาชนในทุกระดับ”

พระราชดำริในการตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนในวันนั้น เป็น “ศาสตร์พระราชา” ซึ่งสามารถนำมาแก้ปัญหาการกีดกันทางการค้าได้ทั้งในปัจจุบัน-อนาคต หลักคิด-หลักพัฒนาของในหลวง ร.9 กว่า 37 ปีเต็ม เพื่อส่งเสริมอาชีพการเกษตรในพื้นที่รอยต่อป่าชายเลนและเชิงเขา โดยการศึกษา-ทดลอง-วิจัยและทดสอบพันธุ์พืชเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยปลอดจากภัยสารพิษ อาทิ การปลูกผัก-ผลไม้ปลอดสารพิษ เช่น ชมพู่ทับทิมจันทร์ ละมุดพันธุ์ละลายทอง หม่อนพันธุ์แม่ลูกดก ซึ่งผ่านการทดลอง-วิจัยแล้วว่า เหมาะกับภูมิประเทศ

“เนื่องจากพื้นที่เป็นดินตะกอนทรายจากทะเลและเค็ม เนื่องจากอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล ไม่สามารถนำต้นอะไรมาปลูกก็ได้ จึงต้องปลูกพืชใบหนา เป็นมัน เติบโตในดินทรายและเค็ม”

1 ในประเด็นท้าทายเศรษฐกิจโลกในอนาคต คือ การกีดกันทางการค้า โดยใช้ประเด็น “ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เป็นการกีดกันทางการค้าทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันประเทศไทยยังคงถูกสหภาพยุโรป (อียู) ให้ “ใบเหลือง” ในการทำประมงผิดกฎหมาย

ในอดีตจังหวัดชายฝั่งภาคตะวันออก จันทบุรี เป็นแหล่งอัญมณีและผลไม้สำคัญ รวมถึงทรัพยากรด้านการประมงลำดับต้น ๆ ของประเทศ แต่เมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้น ความก้าวหน้าที่เทคโนโลยี เครื่องมือประมงในการจับสัตว์น้ำ ส่งผลให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ-ป่าชายเลนถูกทำลาย

“งานประมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกุ้งทะเล ปลาเก๋า ปลากะพงขาว ให้ได้มาตรฐานการเลี้ยงกุ้งอย่างปลอดภัยไร้สารพิษ หรือระบบโค้ดออฟคอนดักต์ (code of conduct) หรือซีโอซี (COC) และ good aquaculture practice (GAP) เพื่อให้สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ การให้บริการคลินิกโรคสัตว์น้ำ ตรวจโรคสัตว์น้ำให้แก่เกษตรกรเลี้ยงกุ้งและปลาในโครงการ”

สัตว์น้ำทางเศรษฐกิจหลายชนิดที่ได้รับการส่งเสริมในด้านวิชาการเกษตร การวิจัย-พัฒนา อาทิ กุ้งกุลาดำ กุ้งแชบ๊วย ปลากะพงขาว ปลาเก๋า ปลาแขยงกง หอยหวาน ได้รับการพัฒนาให้ผ่านมาตรฐานสากล-พ้นระดับการกีดกันทางการค้าของต่างประเทศ

เมื่อปี 2530 มีการส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งกุลาดำรอบอ่าวคุ้งกระเบน โดยจัดสรรพื้นที่ป่าชายเลนเสื่อมโทรมรอบอ่าวคุ้งกระเบน จำนวน 728 ไร่ เพื่อให้ประชาชนที่มีฐานะยากจนประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งกุลาดำ อย่างไรก็ตาม การสูบน้ำในทะเลเพื่อเลี้ยงกุ้งและสูบออกลงทะเลโดยตรง ไม่บำบัด จึงเกิดการปนเปื้อนของน้ำทะเล ส่งผลกระทบต่อหญ้าทะเล แนวปะการัง ป่าชายเลน และเกิดโรคระบาดรอบอ่าวคุ้งกระเบน รวมถึงการเลี้ยงกุ้งของเกษตรกร

“พระองค์พระราชทานแนวพระราชดำริว่า มีวิธีที่ทำให้การเลี้ยงกุ้งทะเลเป็นรายได้และไม่มีมลพิษ และสามารถส่งออกกุ้งจำนวนมากและมีคุณภาพสูง จึงเป็นที่มาของมาตรฐาน COC และ GAP เนื่องจากต่างประเทศสร้างเงื่อนไขเป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้าว่า การเลี้ยงกุ้งเป็นการทำลายป่าชายเลนและสิ่งแวดล้อม”

ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล พระองค์ทรงมีพระราชดำริการพัฒนาการเลี้ยงกุ้งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยระบบ “ชลประทานน้ำเค็ม” โดยการบำบัดน้ำเลี้ยงกุ้งก่อนใช้ประโยชน์ต่อไป-ลงทะเล

ท่ามกลางคลื่นลมเศรษฐกิจทุนนิยมโลก-โลกาภิวัตน์ และภัยเศรษฐกิจรูปแบบใหม่-การกีดกันทางการค้า “ศาสตร์แห่งพระราชา” จึงเป็น “หลักชัย” ยึดเหนี่ยวไม่ตกเทรนด์โลก

เชียงใหม่ – พล.ท. สมพงษ์ แจ้งจำรัส แม่ทัพน้อยที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาคส่วนหน้า หรือ ศอ.ปกป.ภาค (สน.) กล่าวว่า จากข้อมูลสถานการณ์คุณภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือ ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ พบว่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าระหว่าง 40-103 ไมโคกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร (มคก. ต่อลบ.ม.) คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับดีถึงปานกลาง นอกจากนี้จากการตรวจพบจุดความร้อนหรือฮอตสปอต ส่วนมากเกิดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ

พล.ท. สมพงษ์ กล่าวว่า ศอ.ปกป.ภาค (สน.) ปรับแผนการปฏิบัติของชุดรณรงค์ป้องกันไฟป่าและหมอกควันทั้ง 14 ชุด ออกลาดตระเวนร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทำแนวกับไฟร่วมกับชุมชนร่วมกับการออกประกาศมาตรการบังคับใช้กฎหมายในการแก้ไขปัญหาของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ประชาชนลดการเผาป่า

วันเดียวกัน นายบุญเลิศ ศิริษา นายอำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ เป็นประธานในพิธีกิจกรรมรณรงค์และสร้างความตระหนักในชุมชนพื้นที่เสี่ยงเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจังหวัดแพร่ ที่โรงเรียนม่วงไข่พิทยาคม จากนั้นจัดขบวนเดินรณรงค์ให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบ ร่วมกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน โดยมีหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ทหาร ตำรวจ กำนันผู้ใหญ่บ้าน จิตอาสา นักเรียน นักศึกษา เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 500 คน