ประสบการณ์ทำสวนกว่า 30 ปีคุณวุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์ จบปริญญา

สาขาพืชสวน จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปี 2522 สร้างสมประสบการณ์เรื่อยมาทั้งสวนส้ม สวนปาล์ม ยางพารา และมาถึงปัจจุบันทำสวนทุเรียน เงาะ มังคุด ประมาณ 300-400 ไร่ ที่จังหวัดตราด ส่วนใหญ่เป็นทุเรียน ที่ผ่านมาเคยนั่งตำแหน่งประธานหอการค้าจังหวัดตราดมา 2 วาระ และปัจจุบันยังคงเป็นประธานสหกรณ์การเกษตรเพื่อการแปรรูปและส่งออกจังหวัดตราด จำกัด และกรรมการหอการค้าไทย

คุณวุฒิพงศ์ เล่าถึงการทำเกษตรกรรมหรือทำสวน ไม่ว่าจะเป็นสวนอะไร ความเหมาะสมตามธรรมชาติคือ สภาพดิน สภาพภูมิอากาศ และความจำเป็นคือการใช้ปุ๋ย น้ำ ธาตุอาหารเสริม ส่วนใหญ่ชาวสวนมักจะให้น้ำ ให้ปุ๋ยเกินความต้องการของพืช เพราะคาดว่าจะให้ผลผลิตได้สูง จากประสบการณ์ดูงานที่อิสราเอล เมื่อ 30 ปีที่แล้วได้นำระบบการให้น้ำที่แม่นยำ ใช้น้ำน้อย เกิดประสิทธิภาพสูงมาใช้กับสวนผลไม้ ทุเรียน เงาะ มังคุด ทั้งระบบการให้น้ำและปุ๋ย โดยต่อหัวสปริงเกลอร์ติดตั้งกับท่อยางที่วางพาดผ่านต้นไม้ระยะสูงจากพื้นดิน 30-40 เซนติเมตร การติดหัวเหวี่ยงสปริงเกลอร์เหวี่ยงอยู่ในระยะปลายทรงพุ่มตรงบริเวณปลายรากที่ดูดรับน้ำและปุ๋ย ถ้าเป็นทุเรียนอายุ 5-6 ปี ระยะห่างที่ให้น้ำประมาณ 5-6 เมตร ระบบนี้จะช่วยลดปริมาณการสิ้นเปลืองน้ำได้ 2-3 เท่า และช่วยประหยัดปุ๋ยเช่นเดียวกัน การดูแล ซ่อมแซมสะดวกกว่าการการติดตั้งสปริงเกลอร์กับท่อพีวีซีที่ต่อเชื่อมจากท่อใหญ่ที่ฝังในพื้นดิน

“การรดน้ำต้องให้พอดีที่ต้นไม้นำไปใช้ประโยชน์ ถ้าใช้หัวสปริงเกลอร์ใหญ่ติดตั้งกับท่อพีวีซี เมื่อให้น้ำมากดินรับไม่ไหว รดแค่ 10-20 นาที น้ำนองแต่ซึมลงดินน้อย ที่เหลือไม่ได้ใช้ประโยชน์ ถ้าใช้ท่อยางติดหัวสปริงเกลอร์เหวี่ยงได้ระยะปลายรากส่วนที่จะดูดน้ำให้ต้น ตามขนาดอายุของต้น ต้นเล็กใช้เวลา 10-20 นาที ต้นใหญ่ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง โดยให้น้ำพร้อมๆ กันทั้งแปลง น้ำจะซึมลงดินทั้งหมด” คุณวุฒิพงศ์ กล่าว

แรกๆ ทำสวนแต่ละปีต้องใช้เงินซื้อปุ๋ยเคมีราคาเป็นแสนๆ บาท ได้ปริมาณน้อย เมื่อประมาณ 8-9 ปีมานี้ เห็นชาวสวนด้วยกันนำขี้หมูใช้รดสวนผลไม้ได้ผลดี จึงนำมาใช้กับสวนทุเรียน มังคุด เงาะบ้าง ประกอบกับมีฟาร์มหมูที่อยู่ไม่ไกลจากสวนมากนัก ทำให้บริหารจัดการการขนส่งสะดวก โดยขี้หมูเป็นปุ๋ยอินทรีย์ใช้ผสมผสานกับปุ๋ยเคมี ที่ปกติใส่ปีละ 3-4 ครั้งอยู่แล้ว ต้นไม้เติบโตแข็งแรง ให้ผลดกสม่ำเสมอ และคุณภาพสมบูรณ์ดีทุกปี ลบความเชื่อเดิมๆ ของชาวสวนที่ว่า ผลไม้จะดกปีเว้นปี เพราะผลไม้ถ้าแข็งแรงมีความสมบูรณ์สามารถให้ผลผลิตที่มีคุณภาพได้มากๆ ทุกปี

การทำสวนองค์ประกอบสำคัญคือดิน ต้นไม้เติบโตได้จากการใช้รากดูดธาตุอาหารต่างๆ จากดิน แต่เมื่อคนเราใช้ธาตุอาหารในดินมากเกินไป โดยเฉพาะการปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือการปลูกทุเรียน เกษตรกรหวังผลผลิตเป็นแสนเป็นล้านจึงเร่งใส่ปุ๋ยเคมี ทำให้ธาตุอาหารลดลงมากอย่างรวดเร็ว ต้องเติมธาตุอาหารบำรุงคือปุ๋ยเคมีชนิดต่างๆ ซึ่งมีธาตุอาหารหลักๆ แต่ธาตุอื่นๆ มีไม่ครบตามที่พืชต้องการ ถ้าใช้ขี้หมูมีธาตุไนโตรเจนสูง ธาตุหลักอื่นๆ มีน้อย แต่มีธาตุรองครบทุกอย่าง เพียงแต่ไม่เข้มข้นเท่าปุ๋ยเคมี ดังนั้น ความเหมาะสมโดยใช้ผสมผสานกันไปทั้งปุ๋ยเคมีและอินทรีย์ ลดเคมีให้น้อยลง เปลี่ยนสูตร ใช้ไนโตรเจนและธาตุอาหารรองจากธรรมชาติ เมื่อเปรียบเทียบกับราคาปุ๋ยเคมีปัจจุบันที่ราคาแพงขึ้นถึง 2-3 เท่า จากกระสอบละ 500-700 บาท เป็น 1,500-2,000 บาท ปีหนึ่งเราใส่ปุ๋ยเคมี 3-4 ครั้ง และยังใส่ปุ๋ยชีวภาพ ใช้สารเร่งฮอร์โมนอีก ถ้าใช้ปุ๋ยขี้หมูที่เป็นปุ๋ยอินทรีย์ช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีได้ 50% และจะช่วยลดค่าใช้จ่ายปุ๋ยเคมีได้ประมาณ 20-30% ความสำคัญกว่านั้นคือช่วยเสริมธาตุอาหารทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ในระยะยาว

กระบวนการนำขี้หมูมาใช้
ผลผลิตสม่ำเสมอทุกปี
ฟาร์มเลี้ยงหมูปัจจุบันเลี้ยงระบบปิด มีการตรวจป้องกันเชื้อโรคและมีการทำความสะอาดฟาร์มที่ต้องบำบัดถ่ายเทของเสียทิ้งอยู่แล้ว ดังนั้น ฟาร์มที่ได้มาตรฐานจะมีกระบวนการต่างๆ เริ่มจากการระบบทำความสะอาด ฉีดน้ำล้างทำความสะอาดโรงเรือนเลี้ยงหมู สิ่งปฏิกูล ขี้หมู ปัสสาวะจะถูกชะล้างลงท่อไปสู่ “บ่อหมักแก๊ส” ใช้ระยะเวลา 2-3 เดือน เพื่อให้จุลินทรีย์ย่อยสลายของเสียเป็นน้ำ และถ่ายเทไว้ในบ่อพักน้ำนำไปใช้ทางการเกษตรรดต้นไม้ ถ้าอยู่ใกล้ๆ บ่อพักน้ำติดตั้งเครื่องปั๊มน้ำต่อท่อไปรดในแปลงได้เลย

หลังการเก็บเกี่ยวและตกแต่งกิ่งการเตรียมต้นเพื่อผลผลิตฤดูกาลต่อไป บางรายที่เป็นสวนผลไม้ชนิดเดียว อยู่ในโซนติดทะเลอาจทำทุเรียนออกก่อนฤดูจะมีเวลาเก็บเกี่ยวเร็วและเตรียมต้นให้สมบูรณ์ตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน แต่เกษตรกรที่ต้องทำผลไม้หลายชนิดและอยู่ในโซนทั่วไป มีเวลาเตรียมต้นกันประมาณเดือนกรกฎาคม ต้องสร้างความสมบูรณ์ต้น เพื่อกระตุ้นให้สร้างใบ พัฒนาไปสู่การออกดอก ติดผล และการเติบโตของผลไปถึงการเก็บเกี่ยวพฤษภาคม-มิถุนายน การให้น้ำต้องให้เหมาะสมกับอายุ สิ่งแวดล้อม และพัฒนาการของพืชที่มีความต้องการน้ำต่างกัน น้ำขี้หมูเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ใส่ได้ตลอดเวลาเหมือนการรดน้ำ ต้องดูให้สัมพันธ์กันกับการให้น้ำ ทุเรียนเป็นพืชที่ต้องการน้ำมากระยะแรกๆ ที่เตรียมต้นให้ 7-15 วันต่อครั้ง หรือทุกวัน แต่ตอนแตกใบอ่อนก่อนออกดอกต้องลดปริมาณลง และไปต้องการปริมาณน้ำมากช่วงพัฒนาการของดอกและการเติบโตของผล จนกระทั่งผลแก่ การใช้ปุ๋ยเคมีจะใช้ควบคู่ไปตามปกติ 3-4 ครั้ง ที่ให้ผลคุ้มค่ามากคือปุ๋ยขี้หมูนี้มีผลให้แร่ธาตุในดินอุดมสมบูรณ์ในระยะยาว

ชาวสวนติดปัญหาการขนย้าย
ขอหน่วยงานรัฐช่วย
จริงๆ แล้วเกษตรกรชาวสวนรู้ถึงข้อดีน้ำขี้หมูกันมานานแล้ว แต่ติดขัดระบบการบริหารจัดการ 2 เรื่อง คือ ระบบข้อมูลของฟาร์มที่พร้อมให้เกษตรกรได้เข้าถึงนำไปใช้ เพราะปกติเป็นของเสียที่เจ้าของต้องการกำจัดทิ้งอยู่แล้ว ควรมีรายชื่อข้อมูลฟาร์มแจ้งเกษตรกร และระบบการขนส่งที่สะดวก ประหยัด เพื่อช่วยเกษตรกรรายย่อย เพราะการนำน้ำขี้หมูมารดต้นไม้ในสวนต้องขนย้ายจากฟาร์มมีเครื่องมือเพิ่มขึ้น ต้องใช้รถบรรทุกน้ำไปดูดน้ำมาจากบ่อพักน้ำ ใช้ถังบรรจุขนาดใหญ่ 1,000 ลิตร เมื่อนำมาใช้ที่สวนต้องมีเครื่องสูบน้ำขนาดเล็กสูบน้ำจากถังต่อสายยางไปรดที่ต้นไม้ ควรออกแบบเครื่องมือแบบง่ายๆ ใช้ระบบการขนส่งและการนำมาใช้สะดวก ด้วยราคาประหยัด 10,000-20,000 บาท เช่น รถเทเลอร์บรรทุกถังปุ๋ย 2-3 ถัง พ่วงกับรถบรรทุกเล็กอย่างปิกอัพที่ชาวสวนมีใช้กัน เพื่อความสะดวกและคุ้มค่าในการขนย้ายแต่ละครั้ง ถ้าจังหวัดส่งเสริมให้สถาบันอาชีวะช่วยคิดออกแบบให้สะดวกขึ้น คาดว่าน่าจะขยายผลสู่เกษตรกรได้ในวงกว้าง สอดคล้องกับการเกษตรกรแบบ BCG เรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เป็นต้นแบบการทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืน

“ประโยชน์ของปุ๋ยอินทรีย์ที่มีประโยชน์คุ้มค่ากว่าการใช้ปุ๋ยเคมี ท่ามกลางสถานการณ์ที่ปุ๋ยมีราคาแพงและตั้งรับการแข่งขันของตลาดทุเรียนในภายในประเทศและเพื่อนบ้านระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี ที่ปริมาณทุเรียนจะออกมากมหาศาล” คุณวุฒิพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย

สนใจสวนปุ๋ยอินทรีย์ต้นแบบ สอบถาม คุณวุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์ โทร. 085-432-0230 วิจัยปุ๋ยขี้หมู
คุณชยุทกฤดิ นนทแก้ว เกษตรจังหวัดตราด กล่าวว่า คุณชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ตั้งเป้าหมายใช้สวนคุณวุฒิพงศ์ เป็น “โมเดลน้ำขี้หมูแก้วิกฤตปุ๋ยแพง”

มีโครงการขยายต้นแบบในจังหวัดตราด รองรับปัญหาปุ๋ยเคมีแพงและผลผลิตทุเรียนจำนวนมาก โดยมีแกนนำเครือข่ายคือ ปศุสัตว์รวบรวมฟาร์มหมูในจังหวัดตราด มี 47 แห่ง เพื่อสำรวจความพร้อมที่จะให้บริการ สถานีพัฒนาที่ดินที่จะวิเคราะห์สภาพดินค่าความเป็นกรด-ด่าง ที่เหมาะสมกับการใช้ปุ๋ยขี้หมู และสถาบันอาชีวศึกษาที่จะช่วยออกแบบเครื่องบรรทุกขนส่งที่ช่วยให้เกษตรกรประหยัดและมีความสะดวก ขณะนี้ได้นำตัวอย่างดินและน้ำขี้หมูส่งให้ ดร.สุทิศษา ไชยกุล คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีจันทบุรี ตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารแล้ว เพื่อยืนยันธาตุอาหารและปริมาณที่มีอยู่จริงครอบคลุมพื้นที่ดินที่นำเป็นตัวอย่าง 15 ไร่ เมื่อนำไปขยายผลให้เกษตรกรสอดคล้องกับค่าวิเคราะห์ มีความแม่นยำตรงความต้องการของพืชในแต่ละช่วงของการเจริญเติบโต

“สวนเกษตรกรจังหวัดตราด ที่ใช้กันอยู่แล้วตอนนี้ที่เห็นผลชัดเจน มีสวนปาล์ม สวนมังคุด สวนทุเรียน สวนเงาะ ทำให้ลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ 60-70% ประหยัดต้นทุนลงไปได้มาก ถ้ามีการขยายผลต้องวิเคราะห์สภาพดินก่อนนำไปใช้ ปุ๋ยเคมีบางตัวแทบไม่จำเป็นต้องใช้ เลือกใช้เฉพาะที่จำเป็นในแต่ละช่วงของพืช ซึ่งต้องให้ความรู้กับเกษตรกร ให้นำไปใช้ได้จริง พยายามเร่งให้ทันต้นฤดูกาลผลไม้เดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ เพื่อรองรับราคาปุ๋ยเคมีที่ราคาสูงขึ้น เตรียมตัวรองรับกับราคาทุเรียนในอนาคตที่จะปรับลดลงมาก เพราะผลผลิตเพิ่มขึ้นมหาศาล ตลาดมีการแข่งขันสูง รวมทั้งพืชเศรษฐกิจหลักอื่นๆ ด้วย แนวทางที่จะประสบความสำเร็จเกษตรกรต้องทำจริง ภาครัฐต้องสนับสนุนขยายผลให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด” คุณชยุทกฤดิ กล่าว

น้อยหน่า (sugar apple) คำว่าน้อยหน่าใครๆ ก็รู้จัก เป็นผลไม้ที่ราคาไม่ตก คนไทยนิยมบริโภคกันอยู่แล้ว แต่การพัฒนาพันธุ์ก็มีมาตลอดเวลา ต้องยอมรับนักพัฒนาสายพันธุ์ที่ทำให้สีสันและรสชาติที่หวานกลมกล่อม บางสายพันธุ์หวานอมเปรี้ยว บางสายพันธุ์กลิ่นเหมือนสับปะรดก็มี น้อยหน้าที่น่าพูดถึงที่สวนของ คุณสุพัฒนา นิรังกูล คือน้อยหน่าสายพันธุ์เรดอิสราเอล ที่รวมเอาข้อดีของน้อยหน่า คือหลากสีสัน เช่น ม่วง แดง เปลือกแดงในขาว

นอกจากนี้ ยังมีจุดเด่นคือ ต้นเตี้ย กลิ่นหอมเฉพาะตัว เนื้อนุ่มไม่เหนียว เนื้อเยอะ รสชาติดี โดยเฉพาะสีสัน เปลือกม่วงแดง กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด ขนาดของลูกไม่ใหญ่จนเกินไป ลักษณะผลสวย มีปุ่มเรียงสวยงาม

จุดเด่นของสายพันธุ์เรดอิสราเอล
เรดอิสราเอล เป็นลูกผสมชั้นยอดของน้อยหน่า ชื่อสามัญ เรียกว่า แอนโนน่าอะเตโมญ่า เป็นลูกผสมของแอนโนน่า สคัวโมซ่า และแอนโนน่า เชอริโมล่า (Annona atemoya, or Annona squamosa x Annona cherimola) จากวิกิพีเดีย

เรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่เสมอ สหประชาชาติ หรือยูเอ็น ได้คาดการณ์เอาไว้ว่าในอนาคตข้างหน้า เราอาจจะเกิดภาวะขาดแคลนอาหารเพราะคนมากขึ้น และยังมีการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อนขึ้น อีก 30 ปีข้างหน้า โลกจะต้องเพิ่มปริมาณการผลิตอาหารเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า จึงมีการคิดค้นอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารสูงสุดเพื่อลดปริมาณการรับประทาน และพื้นที่เพาะปลูกให้น้อยลงแต่ให้ผลผลิตสูงสุด และได้ประโยชน์คุณค่าจากอาหารให้มากที่สุด จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญที่โลกจะต้องเรียนรู้และปรับตัว น้อยหน่า ก็เป็นผลไม้ที่อยู่ในการวิจัยและการพัฒนาพันธุ์เพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งจากความหวาน เนื้อสัมผัส ที่เป็นพืชที่มีประโยชน์และเส้นใยอาหาร

คุณสุพัฒนา กล่าวว่า น้อยหน่านั้นมีหลากหลายสายพันธุ์มาก แต่ที่เมืองไทยเราก็นำเอาสายพันธุ์ใหม่ๆ เข้ามา หนึ่งในนั้นก็คือสายพันธุ์เรดอิสราเอล น้อยหน่าสายพันธุ์เรดอิสราเอล ยังปลูกกันที่ในเมืองไทยน้อยมาก แต่ที่ สวนกันเอง ทั้งปลูกและขยายพันธุ์ ที่ได้ทดลองแล้วประมาณ 50 ต้น โดยปลูกแทรกต้นไม้อื่นและปลูกลงท่อซีเมนต์ ก็ได้ผลค่อนข้างดี ดูแลง่าย และออกผลดก สายพันธุ์นี้ลูกจะไม่ใหญ่มาก กำลังสวย ประมาณ 300-400 กรัม ถือว่าเหมาะทั้งเป็นของฝากผู้ใหญ่ และราคาค่อนข้างสูง เป็นผลไม้ที่ทรงคุณค่าทั้งคุณค่าอาหารและคุณค่าราคา

น้อยหน่า ปัจจุบันมีการนำเข้าสายพันธุ์ใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย แต่สายพันธุ์ลูกผสมเรดอิสราเอล ก็ชัดเจนแล้วว่า มาจากประเทศอิสราเอล เป็นประเทศที่มีความล้ำหน้าเรื่องของการเกษตรแผนใหม่ ยังมีอีกหลากหลายพันธุ์มากที่นำเอาเรดอิสราเอลมา เพราะว่าปลูกในเมืองไทยแล้วได้ผลจริงๆ ถือว่าเข้ากันได้กับภูมิอากาศในบ้านเรา เนื้อสัมผัสผลสุกจะมีความเป็นน้อยหน่าหนังบวกกับน้อยหน่าฝ้าย จึงมีความนุ่มและเนื้อจะล่อนจากเมล็ดได้ง่าย นี่คือความชัดเจนและจุดเด่นของสายพันธุ์เรดอิสราเอล เมล็ดก็ไม่เยอะมากจนเกินไป ถ้ามีความเป็นน้อยหน่าหนังมากเนื้อสัมผัสจะเหนียว และความหวานของน้อยหน่าเรดอิสราเอลจะไม่หวานแหลมจนเกินไป จะมีความปนเปรี้ยวนิดๆ ทั้งรสสัมผัสและรสชาติชวนน่ากินมากกว่า

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
อยู่ในตระกูล Annonaceae, Annona atemoya น้อยหน่า เป็นไม้ยืนต้น ที่มีความสูงประมาณ 3-5 เมตร ใบ ออกเป็นใบเดี่ยว รูปหอกแกมขอบขนาน ออกเรียงสลับกัน ส่วนใบนั้นจะกว้างและยาวใหญ่ ปลายแหลม แตกต่างจากน้อยหน่าทั่วใบชัดเจน มีขนาดความกว้างของใบประมาณ 8-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ผล มีรูปร่างคล้ายรูปหัวใจ และกลมรี เป็นแบบผลกลุ่ม

ส่วนการตลาด ในตอนนี้มีผู้ปลูกไม่มากนัก จึงมีราคาค่อนข้างสูง อยู่ที่กิโลกรัมละ 70-80 บาท ต่อกิโลกรัม เพราะเป็นผลไม้ที่มีสีสันจัดจ้านสวยงามเมื่อนำมาใส่กระเช้าผลไม้เพื่อเป็นของฝากแล้วก็ทำให้มีคุณค่า ทำให้กระเช้าผลไม้มีราคา เพิ่มความหลากหลาย และสร้างรายได้เสริม นับแล้วก็ได้หลักหลายหมื่น เป็นไม้ผลที่สร้างรายได้รวมไม่น้อยเลยทีเดียว

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสายพันธุ์น้อยหน่าและน้อยหน่าลูกผสมอยู่มากกว่า 100 สายพันธุ์ โดยแยกสายพันธุ์ตามลักษณะของผลทั้งภายในและภายนอก ทั้งส่วนที่เป็นสีผิว สีผล และสีของใบ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1. น้อยหน่าฝ้ายเป็นน้อยหน่าพื้นเมือง ซึ่งแยกย่อยออกได้อีก 2 สายพันธุ์ คือ
1.1 น้อยหน่าฝ้ายเขียว มีผลสีเขียว มีเนื้อสีขาวยุ่ย หยาบเป็นทราย ไม่จับตัวเป็นก้อน มีกลิ่นหอม รสหวาน เนื้อไม่ล่อนออกจากเปลือกเมื่อสุก เละง่าย

1.2. น้อยหน่าฝ้ายครั่ง มีผลสีม่วงเข้ม มีเนื้อสีขาวอมชมพู ส่วนลักษณะอื่นๆ จะเหมือนกับพันธุ์ฝ้ายเขียว

2. น้อยหน่าหนัง หรือน้อยหน่าญวนแบ่งย่อยออกได้อีก 3 สายพันธุ์ คือ
2.1 น้อยหน่าหนังเขียว มีผลสีเขียว มีเนื้อผลสีขาว เหนียวละเอียด

2.2 น้อยหน่าหนังทอง มีผลสีเหลืองทอง ซึ่งเกิดจากการกลายพันธุ์เมื่อเพาะด้วยเมล็ด มีเนื้อสีขาวอมเหลือง

2.3 น้อยหน่าหนังครั่ง มีผลสีม่วงเข้ม เกิดจากการกลายพันธุ์จากเมล็ดเช่นเดียวกัน มีเนื้อผลสีขาวอมชมพู ทั้ง 3 สายพันธุ์ เมื่อผลสุกจะมีกลิ่นหอม รสหวาน เปลือกสามารถหลุดล่อนออกจากเนื้อได้

3. น้อยหน่าลูกผสมที่มีชื่อสามัญว่า อะติมัวย่า (atemoya) เป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่างพันธุ์ A. squamosa Linn. กับ เชริมัวย่า (A. cherimola Mill.) เช่น เรดอิสราเอล
4. น้อยหน่าพันธุ์ลูกผสมอื่นๆเกิดจากการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ และมีลักษณะต่างๆ แตกต่างกันออกไป ไม่สามารถระบุชื่อพ่อแม่พันธุ์ได้
แหล่งปลูก
ปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย มีแสงแดดจัดๆ ส่องได้ทั่วถึง เจริญเติบโตได้ดีในสภาพของดินร่วนปนทราย หรือเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง สามารถระบายน้ำได้ดีไม่มีน้ำท่วมขัง มีหน้าดินลึกลงไปประมาณ 40 เซนติเมตร มีค่า pH ของดิน ประมาณ 5.5-7.4 เป็นพื้นที่ที่ปราศจากโรคและสารตกค้างจะดีมาก มีแหล่งน้ำอย่างเพียงพอตลอดฤดูกาลปลูกน้อยหน่า เป็นพืชที่ต้องการน้ำสม่ำเสมอแต่ไม่ต้องการน้ำมาก

การคัดเลือกสายพันธุ์
การคัดเลือกสายพันธุ์เพื่อมาทำเป็นไม้ผลเศรษฐกิจนั้น น้อยหน่าเรดอิสราเอล เป็นน้อยหน่าที่น่าปลูกที่สุดในตอนนี้ เพราะปลูกง่าย เนื้อเยอะ มีความนุ่มละมุน เป็นการเลือกปลูกพันธุ์ที่ตรงกับความต้องการของตลาด และสามารถเติบโตได้ดีในสภาพภูมิอากาศเกือบทุกพื้นที่ในเมืองไทย เลือกกิ่งพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์และแข็งแรงดี เพื่อลดความเสี่ยงจากการกลายพันธุ์ ต้องเป็นกิ่งพันธุ์เสียบยอด หรือทาบกิ่งจะดีมาก

การปลูก
หลังจากวิเคราะห์และปรับค่าของดินจนเหมาะสมแก่การเพาะปลูกแล้ว ก็ให้ทำการไถพรวนตากดินทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ ต้นน้อยหน่าจะเจริญเติบโตและสามารถตั้งตัวได้ดี หากปลูกในช่วงต้นฤดูฝน นำกิ่งพันธุ์ปลูกลงในหลุมในลักษณะตั้งตรง โดยใช้ระยะปลูกที่ 4×4 เมตร หรือ 2×2 เมตร สำหรับผู้มีพื้นที่น้อยและปลูกลงท่อซีเมนต์ เร่งการแตกพุ่มใหม่และลดการคายน้ำด้วยการตัดยอดจากกิ่งพันธุ์ออกเล็กน้อย ปักไม้ค้ำยันข้างหลุมปลูก คลุมหน้าดินบริเวณหลุมปลูกด้วยฟาง หญ้าแห้ง หรือแกลบ ตามด้วยรดน้ำให้ชุ่ม ในพื้นที่ 1 ไร่ จะสามารถปลูกต้นน้อยหน่าได้ประมาณ 100 ต้น เพราะน้อยหน่าเรดอิสราเอลต้องการที่โปร่งโล่ง จะให้ผลดีที่สุด เพราะจะออกผลตามโคนกิ่งได้ดี และควรตัดแต่งกิ่งเพื่อให้อากาศถ่ายเท หรือแสงแดงเล็ดลอดเข้าไปถึงในโคนกิ่ง

การดูแลรักษา
ดูแลเรื่องวัชพืชบริเวณโคนต้น หรือรอบๆ สวน เพื่อป้องกันโรคและแมลงที่จะมากับวัชพืช และเรื่องการพรวนดินรอบๆ โคนต้น ดูแลเรื่องน้ำอย่าให้ขาด ถ้าใช้ระบบน้ำหยดยิ่งดี ปุ๋ย ก็ต้องมีการให้บ้าง อาหารพืชต่างๆ ก็ต้องให้เพื่อลำต้นแข็งแรง การตกแต่งพุ่มเพื่อลดความสูงก็จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการทำสวนไม้ผลปัจจุบันจะเน้นเรื่องการลดความสูงของพืชเพื่อง่ายต่อการเก็บเกี่ยว การช่วยผสมเกสรจะสามารถติดผลผลิตได้สูงสุด และการเจริญเติบโตของผลจะเร็วกว่าปกติ ทำให้เก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้น หากรักษาความชื้นในดินให้สม่ำเสมอประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ควรให้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยเคมีควบคู่กันไป ในแต่ละกิ่งควรเด็ดผลให้เหลือไว้เพียง 1-2 ผล ห่อผลเพื่อป้องกันแมลงวันทองก่อนการเก็บเกี่ยวประมาณ 1 เดือนเป็นอย่างน้อย หากปล่อยให้มีการผสมเกสรเองตามธรรมชาติ มักทำให้ขนาดและปริมาณของผลไม่มีคุณภาพ

การป้องกัน และกำจัดศัตรูพืช
ควรหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากน้อยหน่ามักมีแมลงที่เป็นศัตรูสำคัญ ได้แก่ แมลงวันผลไม้ หนอนเจาะกิ่ง ด้วงกินใบ แมลงค่อมทอง ด้วงทำลายดอก หนอนผีเสื้อเจาะผล และเพลี้ยแป้ง โดยเฉพาะในช่วงผลแก่ใกล้สุกมักพบการระบาดของแมลงวันทอง หากเกิดปัญหาดังกล่าว ควรใช้วิธีป้องกันและกำจัดเสียตั้งแต่เริ่มแรกด้วยสมุนไพรตามธรรมชาติ หากมีการใช้สารเคมีกำจัดควรเก็บผลผลิตหลังจากทำการฉีดพ่นไม่ต่ำกว่า 1 เดือน การห่อผลเป็นการป้องกันอีกวิธีที่ดีมาก นอกจากปลอดจากแมลงแล้วยังทำให้สีของผลสะอาดและสดใส ควรตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง เพื่อให้แสงแดดส่องได้อย่างทั่วถึง มีลมโกรกผ่านสามารถระบายอากาศได้ดี เป็นการป้องกันโรคสำคัญที่มักจะเกิดขึ้นกับต้นน้อยหน่า เช่น โรคกิ่งแห้ง โรคมัมมี่ โรครากเน่า โรคผลเน่าดำ และโรคแอนแทรกโนส ควรใช้ยาเคมีฉีดพ่นหากพบการระบาด และปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง

เพลี้ยแป้ง
เพลี้ยแป้ง ลักษณะตัวสีขาว netmarketingmastery.com มีสารสีขาวคล้ายแป้งติดอยู่ตามตัว เป็นของคู่กันกับน้อยหน่าเลยก็ว่าได้ เพลี้ยแป้งมีลักษณะการทำลายโดยดูดกินน้ำเลี้ยงที่ผล ขั้วผล และใบ มักพบตัวเพลี้ยแป้งเกาะอยู่ตามร่องตาของผล โดยในขณะเดียวกันจะผลิตสารพิษออกมาทำให้ผลเหี่ยว การป้องกันกำจัด ใช้มาราไธออนผสมสารจับใบ หรือผสมไวท์ออยฉีดพ่น

การเก็บเกี่ยว
น้อยหน่าเป็นไม้ผลที่ไม่ได้เก็บตอนสุก เก็บเกี่ยวตอนแก่จัด นำไปวางในที่ร่ม ทำการคัดแยกขนาดของผล หลังจากนั้นไม่เกิน 3 วัน ผลก็จะนิ่มรับประทานได้ ควรใช้มีดหรือกรรไกรที่คมและสะอาดตัดตรงขั้วผลในระดับของไหล่ผล ควรส่งถึงมือลูกค้าในขณะที่ผลยังดิบอยู่เพื่อความสะดวกในการขนส่ง

ข้อแนะนำสำหรับท่านที่ปลูกน้อยหน่าอยู่แล้ว ให้ปลูกแทรกในต้นที่มีอยู่แล้ว โดยปลูกลงท่อซีเมนต์จะให้ผลดีมาก หรือทำเป็นไม้ผลเศรษฐกิจก็ดีมากเพราะมีการปลูกยังไม่มาก คู่แข่งน้อย สีสันของผลเป็นที่ดึงดูดสายตา อีกทั้งรสชาติดี เป็นที่ต้องการของตลาด

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณสุพัฒนา นิรังกูล เลขที่ 199/7 หมู่ที่ 6 ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เบอร์โทร. 080-661-8899 ต้นไม้ก็เหมือนคนเรานั่นแหละ ต้องมีการเสริมแต่ง อาจจะเพื่อความสวยงาม เพื่อความเหมาะสม ลองนึกภาพดูว่า หากคนปล่อยผมยาวกันทั้งประเทศ ไม่มีการตัดแต่ง เส้นผมคงพันกันยุ่ง หรือไม่ก็อาจเหยียบเส้นผมกันวุ่นวาย

ต้นไม้จําเป็นต้องมีการตัดแต่งกิ่งให้ เพื่อความสวยงาม เพื่อความสมบูรณ์ รวมทั้งความสามารถในการออกดอกติดผล กิ่งมะม่วงที่ควรตัดมีดังนี้

– กิ่งที่อยู่ตรงปลายและผ่านการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว เจ้าของมะม่วงบางคน เวลามีผลผลิตก็เก็บเฉพาะผลผลิต ไม่ได้ตัดขั้วผลออก ทั้งที่ตรงขั้วผลไม่สามารถเจริญต่อได้อีก แต่หากมีการตัดปลายกิ่งเข้ามา 4-5 นิ้ว จะช่วยให้แตกยอดใหม่เร็วขึ้น กิ่งแห้งรวมทั้งกิ่งที่โรคแมลงทําลาย นอกจากไม่สวยงามแล้ว อาจจะเป็นตัวแพร่เชื้ออีกด้วย

– กิ่งที่ทํามุมแคบกับทรงพุ่ม กิ่งในทรงพุ่มแทบไม่ติดผล ควรตัดทิ้งดีกว่า

– เมื่อปลูกไปนานๆ ต้นมะม่วงอายุมากอาจจะตัดกิ่งออกมากๆ ให้แตกยอด ขึ้นมาใหม่ เลี้ยงกิ่งไว้ไม่ต้องมากนัก เรียกว่า “ทําสาว” ให้กับมะม่วงก็ได้ โดยทั่วไปแล้วเกษตรกรมักตัดแต่งกิ่งมะม่วงตรงปลายยอด เรียกว่า “เปิดกระหม่อม” ให้ข้างในทรงพุ่มโปร่ง แสงอัลตราไวโอเลตส่องเข้าถึง แสงอัลตราไวโอเลตมีผลต่อการออกดอกติดผลของมะม่วงอย่างมาก
หลายคนอาจจะเสียดายกิ่งมะม่วงเก็บไว้เป็นร่ม จึงไม่ตัดกิ่ง…ก็เลือกเอาทางใดทางหนึ่ง หรือจะเลือกตัดบางส่วนให้ได้ทั้งร่มและผลผลิต “ขมิ้นชัน” เป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคยกันดีในทุกภาค มีการนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยนิยมนำมาปรุงช่วยเพิ่มสีสันแต่งกลิ่นและรสชาติของอาหาร มีตำรับอาหารและตำรับยามากมายเป็นทั้งยาภายนอกและยาภายใน สำหรับยาภายในใช้เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงร่างกาย บำรุงธาตุ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ เป็นต้น ส่วนยาภายนอก เชื่อว่าขมิ้นชันช่วยรักษาและสมานแผล ทำให้แผลไม่เป็นหนอง

และขมิ้นชันยังเป็นสมุนไพรเครื่องสำอางได้ดีอีกด้วย “ขมิ้นชัน” เป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่ใช้กันมายาวนานของคนไทย กล่าวได้ว่าคนในตระกูลไตที่กระจายกันอยู่แถบเอเซีย ทั้งในรัฐอัสสัม พม่า ไทย จีน ลาว ต่างรู้จักในชื่อเดียวกันทั้งสิ้น