ประเทศไทยพื้นที่ป่าเพิ่ม 3 แสนไร่ เพชรบูรณ์เพิ่มเยอะสุดแม่

มากสุด เขาหัวโล้นน่าน ค่อยๆ ฟื้นตัวฮ่องสอนถูกรุกเฮ! ประเทศไทยพื้นที่ป่าเพิ่ม 3 แสนไร่ เพชรบูรณ์เพิ่มเยอะสุด 6 หมื่นไร่ แม่ฮ่องสอนถูกรุกมากสุด เขาหัวโล้นน่านค่อยๆ ฟื้นตัว

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ที่กรมป่าไม้ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ พร้อม นางอำนวยพร ชลดำรงค์กุล รองอธิบดีกรมป่าไม้ นายธีรยุทธ สมตน ผู้อำนวยการสำนักจัดการที่ดินป่าไม้ และ ผศ.วีระภาส คุณรัตนสิริ หัวหน้าโครงการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ ร่วมแถลงข่าวกรมป่าไม้ หยุดยั้งการบุกรุกป่า ส่งผลให้พื้นที่ป่าไม้ในภาพรวมของประเทศเพิ่มขี้นกว่า 300,000 ไร่

นายอรรถพล กล่าวว่า กรมป่าไม้ ได้จัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้มาอย่างต่อเนื่อง เมื่อปี 2516 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าทั้งหมด 138,566,875 ไร่ หรือร้อยละ 43.21 ของพื้นที่ประเทศ แต่ในปี 2559 – 2560 ประเทศไทยเหลือพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมด 102,156,350.51 ไร่ หรือร้อยละ 31.58 ของพื้นที่ประเทศ จึงทำให้การป้องกันและรักษาทรัพยากรป่าไม้เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่สำคัญ และรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำหนดให้ ปี 2580 ต้องมีพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ ขณะเดียวกันกรมป่าไม้ยังดำเนินการทวงคืนผืนป่า ซึ่งคาดว่ามีนายทุนบุกรุกกว่า 2 ล้านไร่ ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ดำเนินการทวงคืนมาแล้วกว่า 750,000 ไร่

ด้าน ผศ.วีระภาส กล่าวว่า ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลสภาพป่าไม้ที่แม่นยำ ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับกรมป่าไม้ ทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ ตั้งแต่ปี 2556-2561 เพื่อสนับสนุนแนวทางการจัดการป่าไม้ของประเทศไทยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริง รวมทั้งสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อการติดตามและการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรป่าไม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังสามารถจำแนกเป็นชนิดป่าได้อีกด้วย อาทิ ป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ป่าพรุ ป่าชายหาด ป่าเบญจพรรณ ป่าที่ฟื้นฟูตามธรรมชาติ สวนป่า เป็นต้น โดยใช้จุดตรวจสอบภาคสนาม 741 จุด กระจายในทุกภูมิภาคของประเทศไทย และพบว่าป่าเบญจพรรณมีมากที่สุด ถึงร้อยละ 14.59 ของชนิดป่าทั้งหมด

“ในปี 2560-2561 เป็นครั้งแรกที่ได้นำข้อมูลภาพดาวเทียม Sentinel-2 ซึ่งมีความละเอียดจุดภาพ 10 เมตร มาใช้เป็นหลักในการจัดทำข้อมูล เป็นภาพดาวเทียมที่มีความละเอียดมากที่สุดนับตั้งแต่มีการใช้ข้อมูลภาพดาวเทียมในภารกิจการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของประเทศไทย ส่วนภาพรวมของพื้นที่ป่าไม้ ในปี 2560 มีพื้นที่ป่า 102,156,350.51 ไร่ และล่าสุดในปี 2561 มีพื้นที่ป่า 102,488,302.19 ไร่ พบว่า มีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น 331,951.67 ไร่ ถึงแม้ภาพรวมจะพบว่า มีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีบางพื้นที่ที่มีป่าไม้ลดลง จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐในการกำหนดนโยบายหาแนวทางจัดการต่อไป” หัวหน้าโครงการ กล่าว

นางอำนวยพร กล่าวว่า พื้นที่ป่าไม้ที่เพิ่มขึ้นกว่า 3 แสนไร่ เทียบได้กับพื้นที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งนับว่าเป็นผลมาจากการดำเนินงานของกรมป่าไม้ ตามนโยบายทวงคืนผืนป่าที่ยึดคืนพื้นที่ป่าจากนายทุน ซึ่งนอกจากจะทวงคืนผืนป่าแล้ว กรมป่าไม้ยังฟื้นฟูสภาพป่า และดำเนินการป่าชุมชนเพื่อให้ราษฎรช่วยกันดูแลพื้นที่ป่าต่อไป ส่วนจังหวัดที่ไม่พบพื้นที่ป่าไม้มี 4 จังหวัด ได้แก่ จ.นนทบุรี ปทุมธานี อ่างทอง และอยุธยา เนื่องจากมีแต่พื้นที่ชุมชน ซึ่งทางจังหวัดต้องหาพื้นที่ในการปลูกต้นไม้ โดยตามคำนิยามว่าพื้นที่ป่าไม้ เพื่อให้ดาวเทียมสามารถจับข้อมูลได้ ต้องมีพื้นที่ในบริเวณเดียวกัน 3.125 ไร่

เมื่อถามว่า จ.น่าน มีหลายหน่วยงานเข้าไปแก้ปัญหาเขาหัวโล้น แต่ทำไมยังพบว่ามีพื้นที่ป่าลดลง นายอรรถพล กล่าวว่า พื้นที่ จ.น่าน มีประมาณ 4 ล้านไร่เศษ มีพื้นที่ป่าไม้ลดลง 4,799.53 ไร่ หรือร้อยละ 0.1 เท่านั้น และพบว่า มีพื้นที่ป่าลดลงบริเวณพื้นที่ตามชายขอบที่ติดกับเชียงรายหรือพื้นที่ใกล้เคียง แต่อย่างไรก็ตาม กรมป่าไม้ พยายามอย่างเต็มที่ในการหยุดยั้งการบุกรุกให้ได้ และที่ผ่านมากรมป่าไม้ใช้เทคโนโลยีแจ้งเตือนการบุกรุกป่าผ่านแอปพลิเคชั่น ได้รับการร้องเรียนกว่า 1,200 กว่าราย ซึ่งกรมป่าไม้ดำเนินคดีได้กว่า 300 คดี

เมื่อถามอีกว่า ขณะนี้สถานการณ์เขาหัวโล้นดีขึ้นหรือไม่ นายอรรถพล กล่าวว่า เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่มีนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ชาวบ้านเริ่มจัดโซนนิ่งกันเอง และไม่ปลูกข้าวโพดอย่างเดียว มีการปลูกไม้ยืนต้นเพิ่มขึ้น เพราะอยากให้กรมป่าไม้รับรองสิทธิทำกินอย่างถูกต้อง ชาวบ้านจึงไม่ทำผิดกฎหมาย เชื่อว่าไม่เกิน 5 ปี ปัญหาเขาหัวโล้นจะค่อยๆ หมดไป และขณะนี้ได้จัดทำแบล็กลิสชุมชนที่บุกรุกป่า และก่อจุดความร้อน ที่เป็นต้นเหตุของการเกิดไฟป่าเพื่อดำเนินกฎหมายอย่างเด็ดขาด

อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า สำหรับจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าไม้บุกรุก 10 อันดับ ได้แก่ จ.แม่ฮ่องสอน ลดลง 40,671.59 ไร่ พบลดลงมากใน อ.แม่ลาน้อย จ.กาญจนบุรี 25,499.01 ไร่ พบลดลงมากใน อ.ไทรโยค และ อ.ทองผาภูมิ จ.เชียงราย 16,445.66 ไร่ พบลดลงมากใน อ.เชียงของ จ.อุบลราชธานี ลดลง 13,115.78 ไร่ ยโสธร 10,736.47 ไร่ อำนาจเจริญ 8,630.89 ไร่ เชียงใหม่ 8,406.10 ไร่ น่าน 4,799.53 ไร่ มุกดาหาร 4,390.87 ไร่ และจ.ยะลา 2,309.09 ไร่

อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อว่า สำหรับจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น 10 อันดับ ได้แก่ จ.เพชรบูรณ์ เพิ่ม 62,394.96 ไร่ ชัยภูมิ 56,100.06 ไร่ พังงา 35,045.66 ไร่ นครราชสีมา 30,096.33 ไร่ พิษณุโลก 26,600.28 ไร่ ประจวบคีรีขันธ์ 23,655.14 ไร่ กระบี่ 19,565.90 ไร่ ขอนแก่น 18,751.20 ไร่ ลำปาง 14,877.03 ไร่ และจ.ลำพูน 13,505.30 ไร่

อาจารย์ ดร.ถิรนันท์ ศรีกัญชัย คณบดี คณะอุตสาหกรรมเกษตร (AGI) สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) เปิดเผยว่า คณะ AGI จะจัดกิจกรรมค่าย Freshmen Admission Camp (FAC) ครั้งที่ 2 ปีการศึกษา 2562 ในระหว่าง วันที่ 25-27 มีนาคม 2562 ณ ศูนย์การเรียนรู้สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เพื่อคัดเลือกนักเรียนเข้ารับทุนการศึกษาของคณะฯ ในหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาการจัดการฟาร์ม และ/หรือ สาขาการจัดการเทคโนโลยีแปรรูปอาหาร (หลักสูตรภาษาอังกฤษ )

“ขอเชิญชวนนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สายวิทย์-คณิต ที่มีความสนใจศึกษาด้านฟาร์มเลี้ยงสัตว์เชิงอุตสาหกรรม หรือการแปรรูปอาหารเชิงอุตสาหกรรม เข้าร่วมค่ายดังกล่าว ซึ่งเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้เข้าร่วมคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาต่อในคณะอุตสาหกรรมเกษตร PIM ซึ่งเมื่อเรียนจบแล้ว จะได้รับโอกาสการพิจารณาเข้าทำงานในบริษัทในเครือ ซีพี และยังมีสิทธิ์ได้รับทุนการศึกษาในระดับสูงต่อไปด้วย” ดร.ถิรนันท์ กล่าว

นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 เปิดเผยว่า สำนักงานชลประทานที่ 1 สรุปสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำปิงตอนบน ในเขต สชป.1 (ชม.และ ลพ.) (4 มี.ค.62) ซึ่งพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำปิงตอนบนครอบคลุม 11 อำเภอ ใน จ.เชียงใหม่ และ 4 อำเภอ ใน จ.ลำพูน โดยเปรียบเทียบกับปี 2561 ซึ่งไม่มีปัญหาเรื่องภัยแล้ง สภาพน้ำท่าใกล้เคียงปี 2561

ทั้งนี้ความต้องการ (DEMAND) ในช่วงฤดูแล้ง-ปลายเดือนพฤษภาคม พื้นที่การเกษตร 161,901 ไร่ มีความต้องการใช้น้ำ 180 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) การอุปโภค-บริโภค (ประปา) มีความต้องการน้ำ 21 ล้าน ลบ.ม. และประเพณี-การท่องเที่ยว (สงกรานต์) มีความต้องการใช้น้ำ 1 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณความต้องการใช้น้ำทั้งสิ้น 202 ล้าน ลบ.ม. โดยจะใช้น้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล 110 ล้าน ลบ.ม. และ Base Flow 92 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับน้ำต้นทุน (SUPPLY) ในปัจจุบันพบว่า เขื่อนแม่งัดฯ มีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ที่ 230.15 ล้าน ลบ.ม. (86.85%) น้อยกว่าปี 2561 อยู่ที่ 0.34% ซึ่งการจัดสรรน้ำลงลำน้ำปิงในปี 2561 จัดสรรลง 95 ล้าน ลบ.ม. (แบบรอบเวรแบ่งเป็น 19 งวด) (ไม่มีปัญหาภัยแล้ง) ขณะที่แผนปี 2562 จะจัดสรรลงลำน้ำแม่ปิง 110 ล้าน ลบ.ม. (แบบรอบเวรแบ่งเป็น 25 งวด) (ประเมินแล้วจะไม่ประสบปัญหาวิกฤติภัยแล้ง) ปัจจุบันส่งน้ำแล้ว 8 งวด รวม 25 ล้าน ลบ.ม. เหลือน้ำที่ต้องจัดสรรอีก 85 ล้าน ลบ.ม.

อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ว่าสามารถบริหารจัดการน้ำจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2562 โดยเกิดจากที่กรมอุตุฯ พยากรณ์กลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งคาดว่าเขื่อนแม่งัดฯ จะมีน้ำเหลือประมาณ 45 ล้าน ลบ.ม. ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 สำหรับเตรียมแปลงตกกล้าฤดูฝน ปี 2562 ดังนั้น ฤดูแล้ง ปี 2562 คาดว่าไม่มีปัญหาภัยแล้งในลุ่มน้ำปิงตอนบน

นายจานุวัตร กล่าวต่อว่า สถานการณ์น้ำรายจังหวัด ขณะนี้ จ.เชียงใหม่ มีอ่างขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ 1.เขื่อนแม่งัดฯ มีน้ำต้นทุน 230.15 ล้าน ลบ.ม. (86.85%) น้อยกว่าปี 2561 อยู่ที่ 0.34% พื้นที่การเกษตร 62,489 ไร่ น้อยกว่าปี 2561 ราว 10% (ไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ) และ 2.เขื่อนแม่กวงฯ มี ปริมาณน้ำต้นทุน 116.63 ล้าน ลบ.ม. (44.35%) มากกว่าปี 2561 6.04% พื้นที่การเกษตร 71,846 ไร่ มากกว่าปี 2561 ราว 2% (ไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ)

ด้านฝายแม่แตง มีปริมาณน้ำไหลเข้า 5.41 ลบ.ม./วินาที มากกว่าปี 2561 พื้นที่การเกษตร 46,698 ไร่ มากกว่า ปี 2561 ราว 2% (ไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ) ขณะที่อ่างขนาดกลาง 12 แห่ง มีน้ำต้นทุน 50.77 ล้าน ลบ.ม. (58.58%) น้อยกว่าปี 2561 ราว 15.08% พื้นที่การเกษตร (ชป.กลาง) 73,661 ไร่ มากกว่า ปี 2561 2% อ่างขนาดเล็ก 117 แห่ง มีน้ำต้นทุน 40.25 ล้าน ลบ.ม. (61.80%) น้อยกว่า ปี 2561 ราว 3.82%

ในส่วน จ.ลำพูน มีอ่างขนาดกลาง 4 แห่ง มีน้ำต้นทุน 14.09 ล้าน ลบ.ม. (40.15%) น้อยกว่า ปี 2561 ราว 10.69% พื้นที่การเกษตร (ชป.กลาง) 59,629 ไร่ น้อยกว่า ปี 2561 ราว 22% อ่างขนาดเล็ก 47 แห่ง น้ำต้นทุน 10.25 ล้าน ลบ.ม. (41.59%) น้อยกว่า ปี 2561 ราว 8.79%

ด้าน จ.แม่ฮ่องสอน มีอ่างขนาดกลาง 2 แห่ง น้ำต้นทุน 1.13 ล้าน ลบ.ม. (89.01%) น้อยกว่า ปี 2561 อยู่ที่ 6.44% พื้นที่การเกษตร (ชป.กลาง) 11,152 ไร่ เท่ากับปีแล้ว และอ่างขนาดเล็ก 29 แห่ง น้ำต้นทุน 8.89 ล้าน ลบ.ม. (78.48%) น้อยกว่าปี 2561 ราว 1.46% ทั้งนี้ลักษณะโครงการขนาดกลาง/เล็กเป็นแหล่งน้ำเชิงเดี่ยว ซึ่งจะต้องบริหารจัดการเฉพาะแห่ง โดยกลุ่มผู้ใช้น้ำและเจ้าหน้าที่ชลประทาน จะกำหนดแผนการเพาะปลูกและบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำต้นทุนในช่วงต้นฤดูแล้ง

เสี่ยทุเรียน – จากกรณีที่ นายอานนท์ รถทอง อายุ 51 ปี เสี่ยเจ้าของกิจการทุเรียน ประกาศหาลูกเขยลงเฟซบุ๊ก พร้อมมอบเงินสด 10 ล้านบาท รถยนต์ 10 คัน บ้าน หากได้ลูกเขยที่ถูกใจ จนกลายเป็นกระแสโด่งดังในโซเชียลนั้น

น.ส.กาญจน์สิตา รถทอง อายุ 26 ปี ลูกสาว เผยว่า ตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา ทั้งตนและพ่อแทบไม่ได้นอนกันเลย มีทั้งคนแอดไลน์ คอมเมนต์ และโทรศัพท์ เข้ามาหาตลอดทั้งคืน เรียกว่าทุกวินาที เพื่อเดินทางมาสมัครเป็นลูกเขย ตามเงื่อนไขที่พ่อกำหนดไว้

ที่ผ่านมาตนทำงาน ไม่ค่อยได้สนใจผู้ชายมากนัก ก็เคยมีคนมาจีบอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เคยได้สนใจ ทุกวันนี้พ่อตนก็เป็นห่วง อยากให้ตนมีครอบครัว มีสามีที่ดี เพื่อจะมาสืบทอดธุรกิจที่กำลังไปด้วยดี ก็เข้าใจในเจตนาของพ่อ จึงไม่ได้คิดอะไรมาก หากเจอคนที่ใช่ก็ใช่ ถ้าไม่ใช่ก็ไม่ใช่

ส่วนที่มีหลายคน มองว่า สร้างกระแสให้กับล้งรับซื้อทุเรียนของตนนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะพ่อตน เปิดล้งรับซื้อทุเรียนมานานกว่า 30 ปี มีคนรู้จักทั่วประเทศ จึงไม่จำเป็นที่จะไปสร้างกระแสดังกล่าว

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าไหมบ้านหัวฝาย สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมี คุณบุญสิน ราษฎร์ รับหน้าที่เป็นประธานกลุ่ม ในคราวแรกได้รับเส้นไหมพระราชทานเพื่อนำมาทอส่งให้กับทางศูนย์ศิลปาชีพ ต่อมาในปี 2548 ได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนในชื่อกลุ่มสตรีสหกรณ์ทอผ้าไหมบ้านหัวฝาย ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากหน่วยงานราชการหลายแห่ง จวบจนปัจจุบันกลุ่มนี้ถือว่าผลิตผ้าไหมได้ดีเยี่ยม มีรางวัลผลิตภัณฑ์ระดับ 5 ดาว เป็นเครื่องการันตีคุณภาพ จนทำให้สินค้าผ้าไหมทุกชนิดได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ

เอกลักษณ์และจุดเด่นของผ้าไหมที่ผลิตจากกลุ่มทอผ้าไหมบ้านหัวฝาย เป็นผ้าไหมที่มีคุณภาพ มีสีสัน ลวดลาย สวยงาม ประณีต มีความหลากหลาย ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น (มผช.) มีการควบคุมคุณภาพการผลิต สีไม่ตก และมีการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ต้องการของตลาด และปรับลวดลายและสีสันให้ทันสมัยอยู่เสมอ และสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทุกเพศทุกวัย ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มทุกชิ้น ถักทอด้วยฝีมืออันละเอียด ประณีต สวยงาม

คุณเกษร เทพเรียน ตัวแทนสมาชิกกลุ่ม บอกว่า สำหรับอาชีพของชาวบ้านในกลุ่มสมาชิกมีหน้าที่ต่างๆ กันขึ้นอยู่กับความถนัดและพอใจ เนื่องจากกิจกรรมของกลุ่มมีอยู่ด้วยกันหลายอย่างได้แก่ กิจกรรมหลักคือการเลี้ยงไหมวัยอ่อน ทอผ้าไหม แปรรูป และจำหน่าย ผลิตจำหน่ายเส้นไหม การออมทรัพย์ กองทุนกู้ยืม ในส่วนกิจกรรมรองได้แก่ การเพาะเห็ด ปลูกผักปลอดสาร การทำสบู่ การผลิตพรมเช็ดเท้า

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะต้องการเลี้ยงไหม แล้วขายไหมบางรายทอผ้า หรือบางรายทำทุกอย่างโดยทำสืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ แต่พอมาถึงยุคนี้ต้องปรับแนวทางการผลิตผ้าไหมเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ และถือว่าผลิตผ้าไหมที่ใหญ่ที่สุดอีกกลุ่มในจังหวัด

คุณเกษร บอกว่า วัตถุประสงค์การตั้งกลุ่มเพื่อต้องการให้แม่บ้านเกษตรกรรวมตัวกันแสดงพลังความคิดในการต่อยอดสานภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษให้สืบต่อไปยาวนาน เพื่อต้องการให้สมาชิกได้เรียนรู้วิธีการทำงานเป็นกลุ่ม การช่วยเหลือระหว่างกัน การประสานงาน การแก้ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ตลอดจนสร้างทักษะการบริหารจัดการเพื่อต่อยอดนำไปสู่การเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ขายในอนาคต

ปัจจุบันชาวบ้านในชุมชนยึดอาชีพผ้าไหมเป็นรายได้หลัก แล้วทำเกษตรกรรมอย่างอื่นเป็นรายได้รอง ทั้งนี้ ระยะเวลาการเลี้ยงไหมและสาวไหมใช้เวลาประมาณเดือนเศษ แล้วจึงนำไปย้อมเป็นสีต่างๆ

ประเภทงานไหมที่กลุ่มทำกันมี 2 แบบ คือผ้าไหมมัดหมี่กับผ้าคลุมไหล่ ทั้งนี้ สมัยก่อนทอผ้าไหมกันหลายลาย หลายแบบ แต่พอทางจังหวัดได้กำหนดลายประจำคือลายแคนแก่นคูน จึงทำให้ได้รับความสนใจจากตลาดมาก สั่งทอกันได้คับคั่งจนขายไม่ทันต้องสั่งจอง จึงทำให้ลายทอแบบเดิมไม่ว่าจะเป็นลายแคน ดอกคูน ลายพานบายศรี ลายขอ ลายโคม ลายกง และบักจับหรือหมากจับ ต้องลดจำนวนลงไป แต่ยังไม่เลิกผลิต

“ลูกค้าที่ต้องการจะต้องโทรศัพท์มาสั่งจองไว้กับประธานกลุ่มหรือผู้รับผิดชอบ จากนั้นจะแจ้งไปยังสมาชิกเพื่อแบ่งงานกัน เมื่อสมาชิกทอเสร็จจึงนำมาส่งที่กลุ่ม”

การกำหนดราคาขายผ้าไหมขึ้นอยู่กับคุณภาพเนื้อผ้ากับลายที่ทอเป็นหลัก อย่างผ้าไหมมัดหมี่มีราคาขายเริ่มต้นที่หลักพันบาทไปจนถึงหลายหมื่นบาท หากคิดเป็นเมตรประมาณเมตรละ 4-5 พันบาท ขนาดผืนละ 2 เมตร ส่วนผ้าคลุมไหล่มีราคาเป็นหลักพันบาท สมาชิกที่ทอมาส่งในราคาผืนละประมาณ 700 บาท

กรรมวิธีการทอผ้าจะฟอกด่างออกโดยหากเปลี่ยนเป็นสีธรรมชาติต้องใช้น้ำขี้เถ้า แล้วนำเปลือกไม้จากธรรมชาติชนิดต่างๆ ตามสีที่ต้องการมาต้มย้อม อย่างประดู่ให้สีน้ำตาล ยูคาลิปตัส สะเดาเป็นสีน้ำตาลเข้ม ฝางเป็นสีชมพู หรือฝักคูนได้สีน้ำตาล

ลาย “แคนแก่นคูน” ถือเป็นลายประยุกต์ที่ทางจังหวัดกำหนดให้เป็นเอกลักษณ์ของผ้าไหมขอนแก่น เป็นลวดลายที่ซับซ้อน ใช้ความประณีต และพิถีพิถัน ดังนั้น จึงต้องใช้เวลาในการทอและมัดย้อมนานกว่า 2 สัปดาห์ จึงไม่แปลกว่าทำไมลายที่ออกมาจึงมีความสวยงามเป็นที่ต้องการของลูกค้าสั่งจองกันจนชาวบ้านทอไม่ทัน

ด้านการตลาด สมาชิกรายนี้ชี้ว่าแต่เดิมกลุ่มผลิตผ้าไหมส่งให้กับทางศูนย์ศิลปาชีพ ต่อมามีการพัฒนาและปรับลายผ้าไหมเพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดในลักษณะลายประยุกต์ อย่างที่ผลิตขายดีคือลายปาเต๊ะ ได้รับออเดอร์จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และการออกร้านจำหน่ายผ้าไหมตามงานแสดงต่างๆ ทั่วประเทศ

ทางด้านการบริหารกลุ่มนั้นสมาชิกแต่ละคนต้องเก็บออมเงินด้วยกันในทุกวันที่ 10 ของเดือน ทั้งนี้ สมาชิกรายใดที่ขัดสนปัญหาเรื่องเงินไม่ว่าเหตุผลใดสามารถมากู้จากกลุ่มตามเงื่อนไขได้ โดยทุกสิ้นปีจะมีการประชุมพร้อมกับแบ่งเงินปันผลกัน

นอกจากรายได้จากการทอผ้าแล้ว ทางกลุ่มมีกิจกรรมอื่นให้สมาชิกที่สนใจเลือกทำ ไม่ว่าจะเป็นการเพาะเลี้ยงเห็ดภูฏานส่งขายในหมู่บ้านกิโลกรัมละ 70 บาท หรือผลิตสบู่โปรตีนใยไหมที่นำรังไหมที่ผ่านการใช้งานแล้วมาต้มเพื่อใช้น้ำโปรตีนใยไหมมาผลิตสบู่ นอกจากนั้น ยังผลิตพรมเช็ดเท้า

“จุดเด่นผ้าไหมกลุ่มนี้คือคุณภาพเส้นไหมที่เกิดจากการเลี้ยงไหม การย้อมที่คัดเลือกวัตถุดิบจากธรรมชาติ การทอที่ใช้ความประณีต พิถีพิถัน ดังนั้น ผ้าไหมของ “กลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านหัวฝาย” จึงมีความสวยงาม ทนทาน คุ้มค่ากับราคา”

มักจะพบว่างานหัตถกรรมของแต่ละท้องถิ่นมักเคียงคู่ไปกับวัฒนธรรมประเพณีหรือความเชื่อทางโบราณเป็นส่วนใหญ่ แม้โลกจะเปลี่ยนไปแบบไหน เร็วเพียงใด แต่วัฒนธรรมความเชื่อยังฝังรากอยู่ในท้องถิ่น เช่นเดียวกับภูมิปัญญากลุ่มทอผ้าไหมบ้านหัวฝาย ตำบลปอแดง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น เป็นหมู่บ้านที่มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมครบวงจร เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการทอผ้าไหมของอำเภอชนบท และของจังหวัดขอนแก่น

จนเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2561 สภาหัตถกรรมโลกมอบใบประกาศรับรองให้จังหวัดขอนแก่น เป็นนครไหมมัดหมี่โลก จึงนับเป็นความภาคภูมิใจของชาวขอนแก่น รวมถึงคนไทยทั้งประเทศด้วย

กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวเฝ้าระวังด้วงแรดมะพร้าว สามารถพบได้ทั้งในระยะที่ต้นมะพร้าวยังไม่ให้ผลผลิตและให้ผลผลิตแล้ว ให้สังเกตการเข้าทำลายของด้วงแรดมะพร้าว จะพบตัวเต็มวัยบินขึ้นไปกัดเจาะโคนทางใบหรือยอดอ่อนของมะพร้าว โดยเจาะทำลายยอดอ่อนที่ใบยังไม่คลี่ ทำให้ใบใหม่ไม่สมบูรณ์ มีรอยขาดแหว่งเป็นริ้วๆ คล้ายหางปลาหรือรูปพัด กรณีถูกทำลายมาก ใบใหม่แคระแกร็น รอยแผลตรงบริเวณเนื้อเยื่ออ่อนที่ถูกด้วงแรดมะพร้าวกัดเป็นช่องทางให้ด้วงงวงมะพร้าวเข้ามาวางไข่ หรือเกิดยอดเน่าจนถึงต้นตายได้ในที่สุด

หากพบการเข้าทำลายของด้วงแรดมะพร้าว เกษตรกรควรใช้วิธีป้องกันกำจัดแบบผสมผสาน คือ วิธีเขตกรรม ชีววิธี และการใช้สารเคมี สำหรับวิธีเขตกรรมให้เกษตรกรหมั่นรักษาความสะอาดและกำจัดเศษวัสดุต้นมะพร้าวบริเวณสวนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกำจัดแหล่งขยายพันธุ์ กรณีมีกองปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก กองขยะ กองขี้เลื่อย กองแกลบ ควรกำจัดออกไปจากสวนมะพร้าว

กรณีต้นมะพร้าวที่ถูกตัดแล้วยังสดอยู่ ให้นำมาทำกับดักล่อให้ด้วงแรดมะพร้าวมาวางไข่ โดยให้ตัดทอนออกเป็นท่อนสั้นๆ นำมาวางเรียงรวมกันไว้ให้เปลือกมะพร้าวติดกับพื้นดิน เพราะด้วงแรดมะพร้าวจะวางไข่บริเวณที่ชุ่มชื้นสูงและผุเร็ว จากนั้นให้เกษตรกรเผาทำลายท่อนกับดักเพื่อกำจัดทั้งไข่ หนอน และดักแด้ของด้วงแรดมะพร้าว สำหรับตอมะพร้าวที่เหลือให้ใช้น้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วราดให้ทั่วตอ เพื่อป้องกันการวางไข่ได้

การใช้ชีววิธีในการกำจัด ให้เกษตรกรใช้เชื้อราเขียวเมตาไรเซียมใส่ตามกองขยะ กองปุ๋ยคอก หรือกับดักท่อนมะพร้าวที่มีหนอนด้วงแรดมะพร้าวอาศัยอยู่ และเกลี่ยเชื้อให้กระจายทั่วกอง เพื่อให้เชื้อมีโอกาสสัมผัสกับตัวหนอนให้มากที่สุด จากนั้นรดน้ำให้ความชื้นและหาวัสดุใบมะพร้าวมาคลุมกองไว้ เพื่อรักษาความชื้นและป้องกันแสงแดด ซึ่งเชื้อราเขียวเมตาไรเซียมจะเข้าทำลายในทุกระยะการเจริญเติบโตของด้วงแรดมะพร้าว ส่วนการใช้สารเคมีในต้นมะพร้าวอายุ 3-5 ปี ที่ยังไม่สูงมากนัก ให้ใช้ลูกเหม็นใส่บริเวณคอมะพร้าวที่โคนทางใบรอบๆ ยอดอ่อน ทางละ 2 ลูก ต้นละ 6-8 ลูก กลิ่นของลูกเหม็นจะไล่ไม่ให้ด้วงแรดมะพร้าวบินเข้าไปทำลายคอมะพร้าว กรณีระบาดมาก ให้ใช้สารฆ่าแมลงคลอร์ไพริฟอส 40% อีซี หรือสารไดอะซินอน 60% อีซี หรือสารคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี ชนิดใดชนิดหนึ่ง อัตรา 80 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ราดบริเวณคอมะพร้าวให้เปียกตั้งแต่โคนยอดอ่อนลงมา โดยใช้ปริมาณ 1-1.5 ลิตร ต่อต้น ทุก 15-20 วัน และควรใช้ 1-2 ครั้ง ในช่วงระบาด