ปลาทูทุกตัวที่นำขึ้นฝั่งมาแล้วเป็นปลาที่ตายแล้วทั้งสิ้น

เพราะหลังจากที่ชาวประมงจับปลาทูขึ้นมาได้ราว 5-10 นาที ปลาก็จะสิ้นชีพ ปลาทูที่ตายใหม่ๆ นี้ถ้ารีบนำไปประกอบอาหาร ไม่ว่าจะเป็นต้ม ผัด แกง ทอด เนื้อจะนุ่มหวานอร่อย กลิ่นหอม ถ้านำไปต้ม มันปลาทูสีเหลืองจะลอยฟ่องขึ้นหม้อ เห็นแค่นี้ก็รู้เลยว่าปลาสดจริงๆ ซึ่งโอกาสที่จะได้ปลาแบบนี้ต้องไปที่ท่าขึ้นปลาเท่านั้น

สำหรับปลาทูสดที่เห็นขายกันอยู่ตามตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นปลาที่ต้องผ่านหลายกระบวนการมากมายกว่าจะมาวางขายตามท้องตลาด ความสดของปลาลดลงเหลือ 60-80% เท่านั้น ยิ่งถ้าเป็นปลาทูที่ขายตามจังหวัดที่ห่างไกลทะเลแล้วให้หลีกเลี่ยงปลาทูสด กินปลาทูนึ่งไปเลยจะดีกว่า

ส่วนการทอดปลาทูให้อร่อยหนังไม่ติดกระทะ ถ้าเป็นปลาทูสดให้เอาปลาแช่น้ำเกลือก่อนค่อยทอด (ปลาทูนึ่งไม่ต้อง) ทอดปลาน้ำมันต้องเยอะ ห้ามขี้เหนียวน้ำมัน ข้อสำคัญน้ำมันห้ามร้อนจัด ใช้ไฟกลางใจเย็นๆ ทอดจนด้านข้างเหลืองแล้วค่อยๆ พลิก อย่าใจร้อนเดี๋ยวหนังจะลอกไม่สวย ทอดปลาต้องให้หัวมันกรอบ เพื่อเราจะได้กินหัวกินหางกินกลางตลอดตัว

ด้วยความที่ปลาทูแม่กลองเป็นราชาแห่งปลาทูและเป็นหนึ่งในของดีเมืองแม่กลองนี่เอง ทางจังหวัดสมุทรสงครามจึงได้จัดงาน “เทศกาลกินปลาทู” ขึ้นทุกปี ในช่วงเดือนธันวาคม เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ปลาทูแม่กลองเป็นที่รู้จักมากขึ้น บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม โดยไฮไลต์ของงานก็คงจะหนีไม่พ้นยอดปลาทูเมืองแม่กลองที่น่าลิ้มลองในรสชาติเป็นอย่างยิ่ง

แต่…ระวังสักหน่อยนะคะ

กินปลาทูนึ่งอย่ากินมาก เพราะกรรมวิธีทำปลาทูนึ่งตามที่ได้เล่าให้ฟังนั้น เขานำไปต้มในน้ำเกลือเข้มข้นพอสมควร ดังนั้น ความเค็มของเกลือก็จะซึมเข้าเนื้อปลาทู ยิ่งต้มนานยิ่งเค็มมาก

ใครที่ชอบกินปลาทูจะเห็นได้ว่าปลาทูนึ่งทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นปลาทูแม่กลองหรือที่ไหนก็ตามจะมีรสเค็มจัดขึ้นกว่าที่เคยกินมาก เพราะในการต้มนั้นยิ่งใส่เกลือมากยิ่งจะถนอมปลาทูไว้ได้นานมากขึ้น สะดวกต่อการส่งขายตามพื้นที่ห่างไกล

ดังนั้น จงอย่าได้แปลกใจเลยที่กรมอนามัยบอกตัวเลขปริมาณโซเดียมในปลาทูเอาไว้ว่า

ปลาทูทอด ครึ่งตัวขนาดประมาณ 100 กรัม มีโซเดียมหรือเกลือมากถึง 1,018มิลลิกรัม ในขณะที่ปริมาณโซเดียมในอาหารที่ควรบริโภคใน 1 วันนั้น ควรรับได้ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม

ปริมาณโซเดียมขนาด 2,000 มิลลิกรัม เท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา

เมื่อนึกถึงเรื่องนี้จึงต้องกินปลาทูให้เป็นด้วยจึงจะมีสุขภาพดี ไม่ใช่ว่าเห็นปลาทูมีโอเมก้า 3เยอะ ก็จัดหนักกันไปคราวละหลายตัวเลย

ที่บ้านมีวิธีจัดการปลาทูนึ่งด้วยการเอาไปต้มในน้ำเดือดจัด ละลายเกลือออกไปจากตัวปลาก่อน จากนั้นค่อยนำมาผึ่งสะเด็ดน้ำให้แห้งก่อนจะเอาไปทอด วิธีนี้จะช่วยลดความเค็มของปลาทูนึ่งลงไปได้ระดับหนึ่ง แม้จะไม่มากนัก แต่ก็ยังดีกว่าสวาปามเกลือเข้าไปมากๆ

อย่าลืมว่าในน้ำพริกที่เรากินแนมกับปลาทูทอดนั้น ยังมีโซเดียมปนอยู่ในกะปิ น้ำปลา ที่นำมาปรุงน้ำพริกอีกเยอะเลย สมาคมฯ นวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย ร่วมกับ กรมวิชาการเกษตร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดอบรมเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดวางแผนรับมือหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ในฤดูกาลปลูกข้าวโพดรอบต่อไปโดยเน้นจัดการแบบองค์รวมใช้ชีวภัณฑ์ สารเคมี ถูกชนิด ถูกเวลา ถูกวิธีเพื่อแก้ปัญหาให้ได้ผลและควบคุมได้

ดร.วรณิกา นาควัชระ บีดิงเฮาส์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมฯ นวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย กล่าวว่า “จากรายงานของกรมวิชาการเกษตรที่ประมาณการพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดในประเทศไทยไว้มากกว่า 6.87 ล้านไร่ คาดว่าจะมีผลผลิตกว่า 4.62 ล้านตันในปีนี้ หากไม่เร่งกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด อาจสูญเสียผลผลิตมากถึง 25 – 40% คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 4 – 8 พันล้านบาท ซึ่งประมาณการค่าใช้จ่ายในการกำจัดต่อไร่ อยู่ที่ 200 – 400 บาท ฉะนั้น ต้นทุนการผลิตโดยรวมของผลผลิตก็อาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 800 – 1,602 ล้านบาท ต่อปี ดังนั้น สมาคมจึงเร่งจัดการอบรม ติดอาวุธทางความรู้แบบยั่งยืนให้แก่เกษตรกร เพื่อป้องกันและลดการสูญเสียแก่เกษตรกรในการประกอบอาชีพ และแบ่งเบาภาระภาครัฐ ซึ่งเราตั้งเป้าเผยแพร่ความรู้แก่เกษตรกรโดยตรงและผ่านภาคีเครือข่ายการขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย กว่า 5,000 คน ภายในฤดูกาลนี้”

นับตั้งแต่ปลายปี 2561 ที่เกิดปัญหาการระบาดของหนอนกระทู้ลายจุดครั้งแรกในประเทศไทย ตลอดระยะเวลา 8 เดือน ที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายต่อผลผลิตข้าวโพดกว่า 80% ครอบคลุมพื้นที่ปลูกข้าวโพดกว่า 50 จังหวัด ในประเทศไทย ดังนั้น เพื่อป้องกัน และจัดการกับหนอนกระทู้ลายจุดอย่างยั่งยืน สมาคมฯ นวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย จึงต้องนำองค์ความรู้จากการศึกษาค้นคว้าและงานวิจัยต่างๆ มาเผยแพร่ และจัดการอบรม

“ทั้งนี้ พฤติกรรมเกษตรกรในบ้านเรา ส่วนใหญ่ใช้สารฆ่าแมลงชนิดไหนดีก็จะใช้ตลอด ใช้ซ้ำๆ อยู่ชนิดเดียว ด้วยความมั่นใจ ใช้แล้วได้ผลดี หรือขาดความรู้ เกี่ยวกับปัญหาการดื้อยาของแมลงศัตรูพืช ทำให้เกิดความล้มเหลวในการจัดปัญหาหนอนกระทู้ลายจุดโดยมีสาเหตุหลักคือ การจัดการที่ผิดวิธี ผิดที่ และผิดเวลา ทำให้หนอนดื้อยาเร็ว จึงต้องจัดการปัญหาหลายวิธีร่วมกัน สมาคมถูกจัดตั้งขึ้นด้วยปณิธานในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเกษตรก้าวหน้า มายกระดับเกษตรกรรมไทยให้ได้มาตรฐานสากล รวมทั้งสร้างองค์ความรู้ที่ก้าวล้ำและถูกต้องให้เกษตรกรไทยและผู้เกี่ยวข้อง จึงถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ต้องร่วมผนึกกำลังกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อจัดการปัญหาศัตรูพืชอย่างหนอนกระทู้ข้าวโพดอย่างยั่งยืน เพื่อให้ประเทศไทยรักษาแชมป์ส่งออกข้าวโพดหวานอันดับหนึ่งของโลกได้ต่อไป และส่งเสริมให้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทยในระยะยาว” ดร.วรณิกา สรุป

ด้าน นางทองสุก วงค์นารัตน์ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เนื้อที่ 100 ไร่ ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เป็นระยะเวลานานกว่า 30 ปี นางทองสุกกล่าวว่า ช่วงฤดูแล้งปีนี้ ประสบปัญหาหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดระบาด ทำให้มีรายได้ลดลง โดยขายผลผลิตได้เพียง 4.8 – 5.50 บาท ต่อ กก. จากเดิมที่เคยขายได้ราคาดีกว่า เฉลี่ย 8 – 10 บาท ต่อ กก.

แปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของนางทองสุกเจอปัญหาแพร่ระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดในฤดูเพาะปลูกรอบแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่เคยเจอมาก่อน ภายใน 2 – 3 วันแรกของการแพร่ระบาด หนอนทำลายข้าวโพดหมดทั้งแปลงเนื้อที่ 20 ไร่ เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เพียงแค่ 5 ตัน เท่านั้น แปลงปลูกอีกแห่งเนื้อที่ 20 ไร่ ไม่ได้รับผลกระทบมาก เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 30 ตัน

นางทองสุก จัดการหนอนทำลายข้าวโพด โดยใช้สารเคมี อีมาแมคตันเมน และลูเฟนนูรอนผสมในสัดส่วนเท่ากัน ฉีดพ่นช่วงเช้ามืดและเย็น ในช่วงที่แมลงออกมาหากินบนยอดใบ ซึ่งเป็นจังหวะที่เหมาะสม เพราะช่วงเวลากลางวัน หนอนมักหลบอยู่ใต้ใบซึ่งไม่ควรฉีดพ่นยา มีค่าใช้จ่ายในการจัดการ แบ่งเป็นค่าสารเคมีประมาณ 187 บาท ต่อไร่ ค่าแรงพ่น 100 บาท ต่อไร่ ในหนึ่งฤดูปลูก ควรฉีดพ่นยา 3 ครั้ง ไม่ควรพ่นยามากเพราะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย พ่นยาไม่ถูกที่ ไม่ถูกเวลาก็ไม่ได้ผล เฉลี่ยต้นทุนค่ากำจัดแมลงเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 661 บาท ต่อไร่

ปัญหาที่พบคือ หากแปลงข้างเคียงไม่พ่นสารกำจัดแมลง ก็จะไม่ได้ผลเช่นกัน ดังนั้น จึงควรพ่นยาในแปลงใกล้เคียงอีก 3 – 4 ร่อง เพื่อกันไม่ให้แมลงเข้ามาแปลงเรา หากต้องการควบคุมหนอนข้าวโพดให้ได้ผล ควรเลือกใช้ตัวยาสารเคมีที่ถูกต้อง มีความสำคัญ 50% ฉีดยาในช่วงเวลาที่เหมาะสม 10% และมีระบบการจัดการทีี่ถูกต้องอีก 40% การจัดการหมายถึง คนฉีดพ่น ความตั้งใจในการพ่น ความชำนาญ พ่นถูกจุด เครื่องมือที่กระจายยาได้ดี เข้าถึงจุดที่ต้องการ และเกษตรกรควรศึกษาพฤติกรรมแมลง เพราะแมลงเปลี่ยนพฤติกรรม ปรับตัวเข้ากับอากาศร้อน เมืองไทยร้อนมาก แมลงก็จะหลบอยู่ใต้ดิน กัดกินโคนต้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

สูตรประกันราคายางไม่ลงตัว การันตีไม่ต่ำกว่า 60 บาท/ก.ก.แน่ แต่ตีกลับข้อมูล กยท. คำนวณอีกรอบ หวั่นรัฐบาลอัดงบเกินจำเป็นกว่า 30,000 ล้านบาท ขีดเส้น 21 ส.ค. ไฟเขียวก่อนชง ครม.

นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังหารือโครงการประกันราคาเกษตรกรชาวสวนยาง ว่า ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปแนวทางดำเนินโครงการประกันราคายางพารา เพราะต้องการรับฟังความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหลักเกณฑ์และข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร และแหล่งเงินทุน โดยได้ให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สรุปแผนอีกครั้งเพื่อพิจารณาภายในวันที่ 21 ส.ค. ร่วมกับคณะกรรมการบอร์ดการยาง (บอร์ด กยท.)

สำหรับข้อตกลงรายละเอียดโครงการประกันราคาเกษตรกรสวนยาง ที่ประชุมสรุปเบื้องต้น เกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับการชดเชยรายได้จากการจำหน่ายยางพาราแผ่นรมควัน ชั้น 3 ไม่ต่ำกว่า กิโลกรัม (ก.ก.) ละ 60 บาท รายละไม่เกิน 25 ไร่ โดยมีพื้นที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ส่วนยางแผ่นดิบคุณภาพดี 58 บาท/ก.ก. น้ำยางสด 56.50 บาท/ก.ก. ซึ่งมาตรการประกันราคาดังกล่าวจะเป็นเพียงมาตรการเสริมเท่านั้น

ทั้งนี้ รมว. เกษตรฯ ได้สั่งการให้ กยท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหามาตรการอื่นๆ อีก เพื่อสร้างเสถียรภาพราคายางในระยะยาวได้ โดยใช้งบประมาณของรัฐบาลให้น้อยที่สุด ขอภาครัฐในการเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศ อาทิ กระทรวงคมนาคม มีการใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมของอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยอื่นๆ เช่น แผงกั้นจราจร (Barrier) ทำให้สามารถผลักดันยางพารา จำนวน 800,000 ตัน ออกตลาดได้ และกรมชลประทานจะนำผลผลิตยางพารามาพัฒนาโครงสร้างด้านแหล่งน้ำชลประทาน อาทิ บล็อกผักตบชวา ฝายยางพารา โดยจะมุ่งเน้นแปรรูปยางเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อใช้ในการระบายยางออกจากตลาดให้ได้มากที่สุด โดยตั้งเป้านำยางออกมาใช้ในภาครัฐ 1 ล้านตัน

“มาตรการที่ได้หารือวันนี้ ที่ชัดเจนจะมียางออกจากตลาดเกินกว่า 1 ล้านตัน และยางในประเทศจะขยับสูงขึ้นอย่างแน่นอน โดยคมนาคมใช้ 8 แสนตัน ซึ่งแนวทางเช่นนี้อาจไม่จำเป็นต้องนำมาตรการประกันรายได้มาเสริมอีก ส่วนประกันราคาเราตั้งเป้าที่ 60 บาท อยู่แล้ว เป็นมาตรการเร่งด่วนที่ทำแน่นอน แต่ต้องมีการประชุมอีกครั้งก่อน”

แหล่งข่าว กยท. ระบุว่า หากรัฐบาลจะอนุมัติมาตรการดังกล่าว จะต้องใช้งบถึง 3.7 หมื่นล้านบาท โดยก่อนหน้านี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว. เกษตรฯ ได้เน้นย้ำนโยบายประกันราคาสินค้าเกษตรไว้ 3 พืช ได้แก่ ข้าว ยาง ปาล์ม ประมาณ 1.69 หมื่นล้านบาท ดังนั้น การที่จะประกันราคายางที่ 60 บาท/ก.ก. รายละไม่เกิน 25 ไร่ อาจเป็นงบประมาณที่สูงเกินไป จึงให้ กยท. ไปคิดสูตรการชดเชยราคายางพารามาระหว่าง 10-25 ไร่/ราย ประกอบกับยังไม่สามารถระบุแหล่งเงินทุน และเเนวทางนำเงินการบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียมการส่งออกยางพาราออกนอกราชอาณาจักร (CESS) เพื่อนำมาประกันราคายางได้ หรือไม่ รวมทั้งต้องมีการตรวจสอบเอกสารสิทธิและข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร จึงยังต้องมีการสรุปอีกครั้ง โดยให้ กยท. รวบรวมแล้วนำมาเสนอบอร์ด กยท. โดยมี นายเฉลิมชัย เป็นประธาน ในวันพุธที่ 21 ส.ค. เเล้วจึงจะสามารถเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีเปิดงานเกษตรภาคใต้ ครั้งที่ 27 ณ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ว่า งานเกษตรภาคใต้เป็นงานที่คณะทรัพยากรธรรมชาติได้จัดเป็นประจำทุกปีเพื่อเผยแพร่ผลงานวิชาการ เป็นเวทีซื้อขายสินค้าและผลผลิตการเกษตร เป็นเวทีให้นักศึกษาพัฒนากระบวนการทำงานด้วยการปฏิบัติงานจริง และเป็นงานประจำปีที่สำคัญของจังหวัดสงขลาและภาคใต้ จากผลการประเมินงานในช่วงปีที่ผ่านมา มีผู้เข้าชมงานประมาณ 5 แสนคน มีเงินหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 400 ล้านบาท ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของภาคการเกษตรและชุมชน

โดยการจัดงานในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน และผู้ประกอบการร้านค้า ประมาณ 700 ราย ร่วมกันจัดงาน ในหัวข้อ “เกษตรประณีต เพื่อชีวิตที่ยั่งยืน” เพื่อนำเสนอการทำการเกษตรตามศาสตร์ของในหลวง รัชกาลที่ 9 โดยอาศัยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน ผสมผสานวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างสมดุล และสามารถสร้างมูลค่าแก่ภาคการผลิตทางการเกษตร ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย คืนความสุขให้แก่สังคมเกษตร ชุมชน และประชาชนทั่วไปได้อย่างยั่งยืน

สำหรับกิจกรรมในงาน ประกอบด้วย การฝึกอบรม ประชุม สัมมนาทางวิชาการ การแสดงนิทรรศการทางด้านการเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติ การประกวดแข่งขัน การสาธิต การให้บริการวิชาการ การแสดงและจำหน่ายสินค้าและผลผลิตเกษตรเครื่องจักรกลการเกษตรและสินค้าอื่นๆ รวมถึงการแสดงศิลปวัฒนธรรม

“อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร พื้นฐานหลักที่สำคัญของประเทศไทยยังคงหนีไม่พ้นภาคการเกษตร เพราะการเกษตรเป็นต้นน้ำที่สำคัญของภาคการผลิตอื่นๆ การที่คณะทรัพยากรธรรมชาติในฐานะสถาบันการศึกษาทางการเกษตรและทรัพยากรได้จัดงานเกษตรภาคใต้ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งให้การบริการชุมชน เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิจัย นักวิชาการ เกษตรกร และภาคเอกชน เป็นเวทีแห่งการฝึกฝนประสบการณ์การทำงานแก่นักศึกษา สร้างภาพลักษณ์ความมั่นคงให้แก่พื้นที่ กระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวภายในจังหวัดและภูมิภาคได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นสิ่งดีที่สามารถสร้างขึ้นท่ามกลางปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ จึงเห็นว่านี่เป็นส่วนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยได้บริการชุมชนในรูปแบบที่เป็นรูปธรรมและมีคุณค่าอย่างยิ่ง” นายเฉลิมชัย กล่าว

ภาคการเกษตรถือเป็นฐานรากที่สำคัญอย่างยิ่งของเศรษฐกิจไทย โดยเมื่อพิจารณาในมิติมหภาค ภาคเกษตรสร้างรายได้ต่อระบบเศรษฐกิจของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเป็นตัวเลขที่สูง ไทยจึงเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรอันดับต้นๆ หรือกล่าวได้ว่าเป็นครัวที่สร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับทั้งคนทั่วโลก อย่างไรก็ตามปัจจุบันภาคการเกษตรของไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้นจากประเทศต่างๆ ทำให้ต้องมีการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านการเกษตรโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญในอนาคต เพื่อสร้างความรู้เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีการเกษตรเข้ามาใช้ และสร้างความเข้าใจว่าเกษตรกรไม่ใช่อาชีพที่งานหนัก เหนื่อย และรายได้น้อยอีกต่อไป

จากความจำเป็นดังกล่าว บริษัท ยันม่าร์ เอส. พี. จำกัด หนึ่งในผู้นำด้านเครื่องจักรกลการเกษตรที่มีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น จึงได้ร่วมกับ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร ให้แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ถึง 4 ขึ้นที่ศูนย์วิจัย สาธิต และฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาการศึกษาด้านเกษตรกรรมอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

โครงการนี้จัดขึ้นโดยมีผู้เชี่ยวชาญจากยันม่าร์คอยเป็นพี่เลี้ยงและให้ความรู้แก่น้องๆ โดยแบ่ง นักศึกษาออกเป็น 4 กลุ่มเพื่อเข้าอบรมความรู้ในการจัดการแปลงพืชสวนในฐานต่างๆ ประกอบด้วย ในการผานบุกเบิก ผานพรวน การโรตารี และการโซนรถเกี่ยวนวดข้าว โดยใช้แทรกเตอร์รุ่น EF393 เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดต้นทุน สร้างรายได้เพิ่มด้วยผลผลิตที่สูงขึ้น และแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยน้องๆ จะได้รับทราบข้อมูล ชมการสาธิต และทดลองใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรด้วยตนเอง เพื่อเรียนรู้ว่าการบริหารจัดการด้านการเกษตรไม่ใช่เรื่องที่ยากลำบากอย่างที่คิด

นายชินจิ ซุเอนางะ ประธาน บริษัท ยันม่าร์ เอส.พี. จำกัด กล่าวว่า “ยันม่าร์ ไม่เพียงให้ความสำคัญกับการนำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรเท่านั้น แต่เรายังเล็งเห็นถึงการพัฒนาบุคลากรภาคการเกษตรของไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสานต่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก เราหวังว่าโครงการนี้จะช่วยให้เยาวชนได้เข้าใจถึงการนำเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรยุคใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อให้การทำเกษตรเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป”

กรมประมง ขับเคลื่อน “โครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่” ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มการผลิตและการบริหารจัดการร่วมกัน เปิดโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยได้รวมกลุ่มในการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างครบวงจร พร้อมเชื่อมโยงสู่การตลาดเพื่อสร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ

คุณวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ปัจจุบันการผลิตสินค้าประมงมีการแข่งขันสูงทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ อีกทั้งยังมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรต้องประสบปัญหาในการจัดการผลผลิตและช่องทางการจัดจำหน่าย รวมทั้งขาดโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลแหล่งทุนซึ่งเกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ยังดำเนินการผลิตสินค้าแบบต่างคนต่างผลิต ทำให้ยากต่อการจัดการผลผลิตให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องต่อความต้องการของตลาด และขาดอำนาจการต่อรอง ดังนั้น เพื่อเป็นการลดข้อจำกัดดังกล่าว

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้กำหนดแนวทางการพัฒนาของกระทรวง (Road map) โดยมีโครงการที่สำคัญคือ การปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตร ด้านสินค้าพืช ปศุสัตว์ และประมง โดยเน้นให้ความสำคัญในเรื่องการลดต้นทุนการผลิตด้วยการรวมแปลงเป็นแปลงใหญ่ เพื่อก่อให้เกิดกิจกรรมลดต้นทุนการผลิต สามารถวัดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ตอบโจทย์ในการเพิ่มศักยภาพและเปิดโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยได้รวมกลุ่มกันในการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างครบวงจร พร้อมเชื่อมโยงสู่การตลาดเพื่อสร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพได้

ในปัจจุบัน มีเกษตรกรที่เข้าร่วมกลุ่มแปลงใหญ่ด้านการประมง ทั้งด้านการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด และด้านการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง รวมจำนวน 111 แปลง มีเกษตรกรภายใต้โครงการ จำนวน 6,171 ราย พื้นที่ประมาณ 59,000 ไร่ ซึ่งมีชนิดสัตว์น้ำที่หลากหลายตามความเหมาะสมของพื้นที่และศักยภาพของเกษตรกร อาทิ ปลานิล ปลาตะเพียน ปลายี่สกเทศ ปลากะพงขาว ปลาดุก กบ ปลาหมอ ปลาแรด ปลาสลิด ปลาสวาย ปลาช่อน ปูทะเล กุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล เป็นต้น โดยจำแนกเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ ปี 2559 จำนวน 11 แปลง กลุ่มแปลงใหญ่ ปี 2560 จำนวน 16 แปลง กลุ่มแปลงใหญ่ ปี 2561 จำนวน 50 แปลง และกลุ่มแปลงใหญ่ ปี 2562 จำนวน 34 แปลง ซึ่งกรมประมงได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาแปลงใหญ่ด้านประมง ปี 2560-2564 ระยะเวลา 5 ปี มีเป้าหมายพัฒนาแปลงให้ได้จำนวน 300 แปลง

สำหรับการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ภายใต้การดำเนินโครงการของสำนักงานประมงจังหวัดกาฬสินธุ์และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดกาฬสินธุ์ ซึ่งเริ่มต้นโครงการในส่วนของปลานิลกระชัง ในปี 2559 ต่อมา ปี 2560 ได้ดำเนินการต่อในส่วนของกุ้งก้ามกราม โดยมีกิจกรรมประกอบด้วย การรวมกลุ่มเกษตรกรให้อยู่ในรูปวิสาหกิจชุมชนและพัฒนาเป็นสหกรณ์ ฝึกอบรมให้ความรู้ทั้งในด้านการเพาะเลี้ยงที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ การรวมกลุ่ม การแปรรูป การพัฒนาเข้าสู่มาตรฐานฟาร์ม GAP และการตลาด

ซึ่งจากผลการดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 มาจนถึงปัจจุบัน มีพื้นที่ดำเนินการทั้งหมด 4 แปลง ประกอบด้วย ปี 2559 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาในกระชัง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาในกระชังท่าเรือภูสิงห์ พื้นที่ 67 ไร่ เกษตรกร 230 ราย ปี 2560 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม ตำบลลำคลอง พื้นที่ 318 ไร่ เกษตรกร 30 ราย ปี 2561 วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงกุ้งก้ามกรามตำบลบัวบาน พื้นที่ 370 ไร่ เกษตรกร 50 ราย และ ปี 2561 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาในกระชัง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาในกระชังท่าเรือภูสิงห์ พื้นที่ 370 ไร่ เกษตรกร 155 ราย

ในส่วนของกุ้งก้ามกรามจังหวัดกาฬสินธุ์ มีการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามมาตั้งแต่ ปี 2520 และถือว่าเป็นแหล่งผลิตกุ้งก้ามกรามแห่งใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากมีต้นทุนแหล่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2560 กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้กำหนดให้สำนักงานประมงจังหวัดกาฬสินธุ์เสนอพื้นที่เพิ่มเติมในการส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามเข้าสู่ระบบแบบแปลงใหญ่โดยได้นำเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามตำบลลำคลอง อำเภอเมืองกาฬสินธุ์

เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ในปี 2560 เกษตรกรจำนวน 30 ราย และ ในปี 2561 ได้นำเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด เข้าร่วมโครงการ จำนวน 50 ราย ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการในระบบแปลงใหญ่ทั้ง 2 กลุ่ม รวม 80 ราย เนื้อที่รวม 688 ไร่ ผลการดำเนินการ ในปี 2561 ผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 187.55 กิโลกรัม ต่อไร่ เป็น 203.88 กิโลกรัม ต่อไร่ เพิ่มขึ้น 8.71% ในขณะที่ ต้นทุนการเลี้ยงต่อกิโลกรัมลดลงจาก 137.61 บาท เหลือเพียง 126.20 บาท ลดลง 8.29%

สำหรับตัวอย่างความสำเร็จของกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด เกษตรกรได้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อดำเนินกิจกรรมการเลี้ยงกุ้งและการขายกุ้ง รวมทั้งมีการจัดหาปัจจัยการผลิต เช่น พันธุ์กุ้ง อาหารกุ้ง จำหน่ายแก่สมาชิก รวมทั้งได้มีการเชื่อมโยงกับตลาดโดยตรง และจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์แปลงใหญ่ พ่อค้าที่เข้ามารับซื้อจะต้องติดต่อซื้อขายผ่านกลุ่มเท่านั้น โดยกลุ่มจะทำตารางการเลี้ยงกุ้งของสมาชิกแต่ละราย เพื่อไม่ให้ผลผลิตออกในช่วงเดียวกันมากเกินไป และจะมีการจัดเรียงลำดับการจับกุ้งหมุนเวียนกันไปในแต่ละฟาร์ม การบริหารจัดการด้วยวิธีนี้ พบว่า เกษตรกรได้ราคาหน้าฟาร์มสูงขึ้น ขายกุ้งคละไซซ์ได้ราคาเฉลี่ย กิโลกรัมละ 250 บาท ซึ่งจุดเด่นของกุ้งก้ามกรามกาฬสินธุ์คือ เนื้อแน่น รสหวาน ได้มาตรฐาน GAP หากใครอยากกินกุ้งก้ามกรามที่เนื้อแน่น รสหวาน ต้องมากินที่กาฬสินธุ์ เพราะจะมีทั้งปีในราคาที่จับต้องได้

ส่วนการส่งเสริมการเลี้ยงปลานิลในกระชังในเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างแห่งความสำเร็จจากการรวมกลุ่มกันของเกษตรกร ภายใต้โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ที่ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ ปี 2560 ครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอยางตลาด อำเภอสหัสขันธ์ อำเภอเมือง อำเภอห้วยเม็ก และอำเภอหนองกุงศรี โดยปัจจุบันมีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลในกระชังในเขื่อนลำปาว 522 ราย จำนวน 13,587 กระชัง ปริมาณการผลิต ปีละ 17,504 ตัน มูลค่าประมาณ 1,050 ล้านบาท ต่อปี โดยการเลี้ยงปลานิลในกระชังเขื่อนลำปาว ได้มีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ที่ใช้ในการเลี้ยงปลาในกระชังอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และกรมประมงยังได้ให้คำแนะนำและตรวจรับรองผลผลิตปลานิลให้เป็นไปตามมาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (GAP) อีกด้วย

ในปัจจุบัน เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลแปลงใหญ่ในกระชังเขื่อนลำปาว ยังได้ต่อยอดสร้างความเข้มแข็งด้วยการร่วมบริหารจัดการในรูปของสหกรณ์ เพื่อบริหารจัดการภายในกลุ่มแปลงใหญ่ตั้งแต่ต้นทางไปถึงปลายทาง ซึ่งใน 1 ปี เกษตรกรสามารถเลี้ยงปลาได้ 2 ครั้ง มีตลาดรองรับที่ชัดเจน เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยต่อปีกว่า 200,000 บาท ถือเป็นความสำเร็จของการรวมกลุ่มในรูปแบบแปลงใหญ่ที่ในอนาคตมีโอกาสพัฒนาไปสู่การผลิตปลานิลที่มีคุณภาพป้อนตลาดทั้งในและต่างประเทศ