ปลานิลเลี้ยงในบ่อดิน ปลาไม่มีกลิ่นโคลน เคล็ดลับการเลี้ยง

ของเกษตรกรสุรินทร์คุณไว สายกระสุน อยู่บ้านเลขที่ 28 หมู่ที่ 3 ตำบลเทนมีย์ อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เกษตรกรที่เลี้ยงปลานิลมามากกว่า 20 ปี โดยเรียนรู้จากการอ่านหนังสือ พร้อมทั้งลองผิดลองถูกด้วยตนเอง จนทำให้เขาประสบผลสำเร็จ ยึดการเลี้ยงปลานิลเป็นอาชีพหลัก เพราะสร้างรายได้ให้กับเขาได้เป็นอย่างดี

คุณไว เล่าให้ฟังว่า ชีวิตก่อนที่จะประสบผลสำเร็จเหมือนทุกวันนี้ ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมายหลายอย่าง ซึ่งปัญหาเหล่านั้นเป็นดังบททดสอบที่ทำให้เขาได้รับประสบการณ์

“สมัยก่อนนี้ผมทำมาหลายอย่าง ไร่นาสวนผสมบ้าง เลี้ยงปลาเล็กๆ น้อยๆ บางทีก็ปลูกผักตามหัวคันนา รายได้นี่ถือว่าได้ไหม ก็พอได้ แต่มันน้อยมาก ต่อมาเลี้ยงเป็ดเลี้ยงหมูคือทุกอย่างล้มเหลวหมด เลยคิดว่าถ้าเราจะอยากมีเงินเก็บเยอะๆ ก็คงยาก เลยตัดสินใจกับภรรยาว่าจะหาอย่างอื่นทำใหม่ ผมจึงตัดสินใจมาขุดบ่อเลี้ยงปลาเลยที่นี้” คุณไว เล่าถึงอุปสรรคที่เข้ามาในชีวิต

ประมาณปี 2526 คุณไว เล่าว่า เริ่มเลี้ยงปลาอย่างจริงจัง ซึ่งในช่วงนั้นมีบ้างที่ล้มลุกคลุกคลาน ช่วงแรกทดลองเลี้ยงปลาดุกเป็นอย่างแรก พอปี 2537 คนหันมากินปลานิลจึงเปลี่ยนมาเลี้ยงปลานิลอย่างเต็มตัว ด้วยความมุ่งมานะและความขยันของคุณไว ปลานิลที่เลี้ยงจึงสร้างรายได้ให้กับเขามากมายในช่วงปี 2540 แบบทวนกระแสเศรษฐกิจอย่างสุดๆ

“ช่วงที่เลี้ยงใหม่ๆ ผมชอบอ่านหนังสือ ก็จะหาหนังสือมาอ่านเพื่อศึกษาลองทำเองบ้าง ถือว่าประสบความสำเร็จดีมาก ช่วงนั้นประมาณปี 40 คือเศรษฐกิจไม่ดี แต่ปลานิลที่ผมเลี้ยงจำหน่ายได้แบบสวนทางเศรษฐกิจเลย ตอนนี้เพื่อนบ้านทั้งหมดก็เลยมาเลี้ยงเหมือนกันหมด เปลี่ยนจากทำนามาเลี้ยงปลาก็มี เพราะรายได้พอมาเปรียบเทียบกันมันต่างกันมาก” คุณไว กล่าว

คุณไว เล่าว่า ในช่วงแรกที่เลี้ยงปลานิลในบ่อดินพอขนาดใหญ่เริ่มจำหน่ายได้ แม่ค้าที่มารับซื้อถึงบ่อเลี้ยงไม่กล้าจับเพื่อไปจำหน่าย เพราะกลัวเหม็นกลิ่นโคลน หากรับซื้อไปไม่น่าจะมีคนซื้อ

“ที่เราต้องเลี้ยงในบ่อดิน เพราะเราไม่มีแหล่งน้ำที่จะเลี้ยงในกระชัง เพราะว่าเรื่องน้ำเรามีอย่างจำกัด ช่วงแรกนี่แม่ค้ามารับซื้อไม่อยากได้ ทั้งๆ ที่เขายังไม่ได้ลองกินเนื้อปลาเลย ผมก็เอ้า! ไม่ซื้อก็ไม่เป็นไรก็เอาไปจำหน่ายเอง ในตอนนี้คนในสุรินทร์ก็กินปลาในบ่อดินกันหมด เพราะมันไม่ได้มีกลิ่นอย่างที่เข้าใจ” คุณไว กล่าวอธิบาย

บ่อที่เหมาะสมสำหรับเลี้ยงปลานิล ขนาดประมาณ 1-2 ไร่ ความลึกประมาณ 1.20-2 เมตร เตรียมบ่อโดยโรยปูนขาว และที่สำคัญต้องกำจัดปลาที่เหลือออกให้หมด มิเช่นนั้นจะมากินลูกปลาเล็กจนหมดบ่อ

จากนั้นปล่อยลูกปลานิลไซซ์ใบมะขาม ประมาณ 3,200 ตัว ในระยะนี้ให้กินอาหารลูกอ๊อดที่มีโปรตีน 32 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเลี้ยงได้ประมาณ 1 เดือน จึงเปลี่ยนเป็นอาหารที่มีโปรตีน 30 เปอร์เซ็นต์ ให้กิน 2 เวลา คือ เช้าและเย็น จนกว่าจะจับจำหน่ายได้

ด้านการป้องกันโรค คุณไว บอกว่า ปลานิลที่เลี้ยงในบ่อดินไม่ค่อยเกิดปัญหามากนัก ซึ่งการเลี้ยงภายในบ่อไม่ค่อยมีโรคที่มากับน้ำเหมือนปลากระชังที่เลี้ยงในแม่น้ำ หากเจอโรคก็มีบางครั้งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

“เราเลี้ยงนี่เราจะรู้ว่าช่วงไหนที่ปลามีอาการแบบไหนบ้าง อย่างอากาศเปลี่ยนนี่ก็จะมีปลาตายบ้าง จะเตรียมพร้อมรับมือเพื่อป้องกัน เพราะเจออาการแบบนี้ต้องทำยังไง ประสบการณ์จะสอนเราเอง” คุณไว กล่าว

คุณไว บอกว่า ตั้งแต่เลี้ยงมาจนถึงปัจจุบัน ปลานิลก็ถือว่ายังเป็นที่ต้องการของตลาด มีการรวมตัวของเพื่อนบ้านรอบๆ เลี้ยงส่งจำหน่ายหมุนเวียนกันไปประมาณ 90 คน เพื่อให้มีปลานิลจำหน่ายได้ตลอดไม่ขาดช่วง

ปลานิลที่จำหน่ายใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 5-7 เดือน จะได้ไซซ์ขนาด 0.7-1.2 กิโลกรัม จำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 65 บาท

“ราคาก็จะยืนพื้นอยู่ประมาณนี้ ถ้าไซซ์เล็กลงมาหน่อยก็อยู่ที่ 60 บาท ตั้งแต่จำหน่ายมาก็ยังไม่มีเรื่องล้นตลาดจำหน่ายไม่ได้นะ เดี๋ยวนี้ก็จะมีแต่คนกินปลาฟาร์มตาไว เพราะรถที่ลูกฟาร์มจะติดสติ๊กเกอร์ชื่อเราไปเลย คนเห็นก็จะเชื่อมั่นในปลา บางคนก็รับซื้อไปจำหน่ายหลายแบบ ตามตลาดนัดบ้าง ย่างเป็นปลาเผาบ้าง ทำให้รู้ว่าคนยังนิยมกินปลานิลอยู่” คุณไว เล่าถึงสถานการณ์ทางด้านการตลาด

คุณไว บอกว่า จากความสำเร็จที่มีในวันนี้ต้องขอบคุณตัวเองที่มีความขยันหมั่นเพียร ไม่ย่อท้อต่อโชคชะตา ศึกษาหาความรู้ ลองผิดลองถูกจนเกิดความชำนาญในสัมมาอาชีพของตนเอง

“ตอนนี้เรามีทุกอย่างก็เพราะเรามาเลี้ยงปลานี่แหละ คนเราต้องมีความขยัน สู้ชีวิต อย่างผมนี่ก็คนไม่มีอะไรมากนัก ผู้ชายบ้านๆ ภรรยาเป็นครู สมัยก่อนเราอายเขานะ เพราะว่าอาชีพเราเหมือนมันไม่มั่นคง ทั้งโดนดูถูกสารพัด เราก็เอาสิ่งนั้นแหละมาสร้างกำลังใจ จนเรามีทุกอย่างที่เราต้องการ เท่านี้ก็ถือว่าเรามาไกล ความสำเร็จที่เกิดจากเรามานะมาตลอดในชีวิต” คุณไว กล่าว

สำหรับใครที่กำลังมองหาอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ หรือสนใจอยากเลี้ยงปลา คุณไว แนะนำว่า

“ปลานิลถ้าคิดจะเลี้ยง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ แหล่งน้ำ ตรงที่ผมเลี้ยงนี่ถึงจะเป็นแหล่งน้ำที่ไม่ใหญ่แต่ก็พอมีเลี้ยงได้ อย่างบางคนมีเงินทุนพอ อยากเลี้ยงมากแต่พื้นที่ไม่เหมาะสม ไม่มีน้ำเขาก็เลี้ยงไม่ได้ อาชีพเกษตรถ้ามีแหล่งน้ำ อย่างการเลี้ยงปลานี่สำหรับผมว่าดีนะ เพราะผมเองทำเกษตรด้านอื่นๆ มาก็เยอะ แต่เห็นว่าเลี้ยงปลานิลนี่แหละผลตอบแทนใช้ได้เลย ใช้เวลาแค่ 5-7 เดือน เท่านั้น อีกอย่างคนจะทำเกษตรนี่อยากให้อดทน มันต้องทนรอได้ เดี๋ยวทุกอย่างมันก็ประสบผลสำเร็จเอง ผมเขียนไว้ให้คนที่มาบ้านอ่านด้วยว่า “ลิขิตฟ้า หรือจะสู้มานะคน” ชีวิตคนเรานี่ไม่มีใครมาลิขิตหรอก ตัวเราเองนี่แหละที่ลิขิตชีวิตเราเอง”

จากความสำเร็จในการประกอบสัมมาอาชีพของคุณไว ทำให้เกิดแนวคิดและมองเห็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมชัดเจนว่า ไม่ว่าจะทำสิ่งใดก็แล้วแต่ ถึงแม้มีความล้มเหลวเกิดขึ้น หากใจยังคิดสู้ ไม่ย่อท้อยอมแพ้ต่ออุปสรรค คำว่าความสำเร็จคงอยู่ไม่ไกลเกินสองมือมนุษย์อย่างเราๆ แน่นอน

คุณวันเพ็ญ มานะกุล อาศัยอยู่ที่ตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี มีความชื่นชอบดอกเข้าพรรษา จึงหาพันธุ์และปล่อยให้ผสมพันธุ์เองตามธรรมชาติจนเกิดเป็นพันธุ์ใหม่ ที่มีดอกลักษณะสวยงามแตกต่างกันไปเป็นพันธุ์ที่มีดอกรูปแบบใหม่ๆ จนสามารถขยายพันธุ์ทำเป็นอาชีพเสริมเกิดรายได้ให้กับเธอได้เป็นอย่างดี

คุณวันเพ็ญ เล่าให้ฟังว่า เมื่อสมัยที่เธอยังเด็กอาศัยอยู่ที่อำเภอพระพุทธบาท ได้เห็นพื้นที่แถวนั้นมีการปลูกดอกเข้าพรรษาเป็นจำนวนมาก เรียกง่ายๆ ว่า เติบโตมากับการเห็นดอกเข้าพรรษาตลอดในช่วงวัยเด็ก จึงเกิดความชื่นชอบในดอกไม้ชนิดนี้เป็นชีวิตจิตใจ ทำให้มีการรวบรวมสายพันธุ์นำมาปลูกเพื่อความสวยงามไปพร้อมๆ กับเป็นการอนุรักษ์ไปด้วย

“สมัยที่เราเป็นเด็ก เราก็เห็นไม้ชนิดนี้เป็นประจำ ก็มีความหลงใหลและชอบตั้งแต่ได้พบเห็น ต่อมาเมื่อมีครอบครัวได้ย้ายมาอยู่ที่อำเภอวังม่วง เราก็ได้นำดอกเข้าพรรษาที่เราชอบตามมาปลูกที่นี่ด้วย เพราะสมัยหลังๆ มานี่ ดอกเข้าพรรษาที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เริ่มที่จะค่อยๆ หายไป ทีนี้เราก็มองว่าในเมื่อเราชื่นชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว น่าจะนำมาปลูกและพัฒนาพันธุ์ใหม่ๆ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ไปด้วยในตัว” คุณวันเพ็ญ เล่าถึงที่มา

เมื่อดอกเข้าพรรษาที่นำมาปลูกเจริญเติบโตขยายพันธุ์จนมีจำนวนมากแล้ว จากที่ปลูกเพื่อดูเล่นยามว่าง กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว แต่ยังสามารถส่งจำหน่ายแบบทำตลาดออนไลน์ทำเป็นรายได้เสริมให้กับเธอได้อีกด้วย

การปลูกดอกเข้าพรรษาให้ได้ดอกที่สวยมีให้เชยชมเพียงปีละ 1 ครั้งนั้น คุณวันเพ็ญ บอกว่า จะนำไม้มาปลูกบริเวณบ้านที่เป็นพื้นที่ร่มเงาแบบไม่มีแสงแดดร้อนจนเกินไป โดยการปลูกถ้าเป็นการให้ได้สายพันธุ์ใหม่ๆ จะนำเมล็ดที่แก่แล้วมาเพาะและดูแลให้เจริญเติบโตจนได้ดอกใหม่ที่สวย แต่ถ้าต้องการขยายพันธุ์ให้มีจำนวนมาก จะเน้นปลูกลงดินในบริเวณที่กว้างๆ เพื่อให้ไม้ขยายพันธุ์และแตกหน่อเองตามธรรมชาติ

“ถ้าไม้ที่ปลูกจากการเพาะเมล็ดจะใช้เวลาดูแลอย่างน้อยประมาณ 2 ปี ถึงจะออกดอกให้เราได้เห็น ส่วนต้นที่แยกหน่อหรือเหง้า ใช้เวลาประมาณ 1 ปี ก็เจริญเติบโตให้เห็นดอกได้ วัสดุที่ปลูกจะเน้นใช้แกลบดิบผสมกับขี้เถ้าแกลบและดิน ผสมทั้ง 3 อย่างนี้ ผสมกันในอัตราส่วนที่เท่ากัน จากนั้นเมื่อปลูกจนเห็นว่าไม้เจริญเติบโตเต็มที่ จะให้ปุ๋ยออสโมโค้ทสูตรเสมอ 15-15-15 เพื่อเป็นการบำรุงต้นให้สมบูรณ์ก่อนที่จะออกดอกให้เห็น” คุณวันเพ็ญ บอก

ในเรื่องของการดูแลให้น้ำ คุณวันเพ็ญ บอกว่า จะรดน้ำวันละ 1 ครั้ง โดยพื้นที่ที่ปลูกต้องไม่เป็นพื้นที่ที่มีน้ำขัง ซึ่งพื้นที่ปลูกสามารถมีความชื้นได้ แต่ต้องไม่อุ้มน้ำจนเกินไป เพราะจะทำให้เหง้าของไม้เน่าและตายได้

เมื่อดอกเข้าพรรษามีขนาดต้นที่สมบูรณ์แล้ว คุณวันเพ็ญ บอกว่า พอเข้าสู่เดือนพฤษภาคมไม้จะเริ่มเตรียมที่จะออกดอก จากนั้นช่วงที่ออกดอกมากที่สุดจะเป็นช่วงเดือนมิถุนายนไปจนถึงช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ก็จะมีดอกเข้าพรรษาจำนวนมากออกมาให้เชยชม เพื่อตัดดอกนำไปขายให้กับผู้มีจิตศรัทธานำไปบูชาพระหรือตักบาตรดอกไม้เป็นประจำทุกปี และเมื่อฤดูฝนกำลังจะหมดไปดอกเข้าพรรษาก็จะมีการพักตัวโดยทิ้งใบมีเพียงเหง้าเท่านั้นที่อยู่ใต้ดิน เมื่อฤดูฝนหน้ามาใหม่ก็จะแตกใบพร้อมกับออกดอกอีกครั้งหมุนเวียนแบบนี้ตลอดทุกปี

ในเรื่องของการทำตลาดเพื่อขายดอกเข้าพรรษา คุณวันเพ็ญ บอกว่า เนื่องจากเธอเองมีงานประจำที่ต้องทำอยู่ การเพาะพันธุ์ดอกเข้าพรรษาจึงทำเพื่อเป็นอาชีพเสริมรายได้เท่านั้น อีกอย่างไม้ชนิดนี้จะออกดอกเพียงปีละ 1 ครั้ง จึงไม่สามารถทำเป็นงานหลักได้ ดังนั้น จึงเน้นสร้างตลาดแบบขายออนไลน์เป็นหลักและส่งสินค้าทางไปรษณีย์

“ต้องบอกก่อนว่าปัจจุบันนี้ ในเรื่องของชีวิตประจำ เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมาก ดังนั้น เราก็จะนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ อย่างเช่น สื่อโซเชียลมีเดีย ที่สามารถถ่ายภาพสินค้าเราลงไปให้ลูกค้าเห็นได้เลย โดยที่ลูกค้าไม่ต้องเดินทางมาหาเราถึงที่จังหวัดสระบุรี พอเรามีลูกไม้ใหม่ๆ หรือพันธุ์ที่ขยายได้จำนวนมากๆ ก็ลงในกลุ่มลูกค้าที่ติดตามเราอยู่ เขาก็จะติดต่อขอซื้อเข้ามา เราก็รับออเดอร์และจัดส่งของให้ลูกค้าไป ก็ถือว่ามีความสะดวกและประหยัดเวลาได้ดี” คุณวันเพ็ญ บอกเรื่องหลักการทำตลาด

โดยราคาขายดอกเข้าพรรษามีให้ลูกค้าได้เลือกซื้อในราคาที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับขนาดของไม้และสีสันของดอกที่แปลกตา ราคาอยู่ที่ 100-300 บาท ต่อกระถาง เมื่อต้องส่งทางไปรษณีย์ก็จะทำการล้างรากให้สะอาดและห่อเป็นอย่างดีส่งให้กับลูกค้าถึงที่บ้าน

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบดอกเข้าพรรษาและต้องการปลูกเพื่อทำเป็นอาชีพเสริม คุณวันเพ็ญ แนะนำว่า สามารถนำมาปลูกทิ้งไว้บริเวณบ้านที่มีพื้นที่แบบร่มเงาไม่ร้อนเกินไป ปล่อยให้ไม้แตกหน่อขยายพันธุ์เองตามธรรมชาติ และเมื่อไม้มีจำนวนที่มากๆ ก็สามารถแยกหน่อใส่กระถางขายได้ แต่ถ้าเป็นช่วงที่ไม้ชนิดนี้ออกดอกมากๆ ก็ยังสามารถตัดดอกส่งขายให้กับร้านดอกไม้ เพื่อทำเป็นรายได้อีกหนึ่งช่องทาง

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีก และผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกของประเทศไทยมีการเติบโตเพิ่มมากขึ้นเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่อการบริโภคในประเทศและการส่งออก โดยมีมูลค่าการส่งออกเนื้อไก่ของไทยสูงเป็นอันดับ 5 ของโลกคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1แสนล้านบาท รองจากบราซิล สหรัฐอเมริกา โดยผู้นำเข้าที่สำคัญ 5 อันดับแรก คือ ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง เม็กซิโก สหภาพยุโรป และมีแนวโน้มการเปิดตลาดส่งออกไก่เนื้อ และผลิตภัณฑ์ของไทยที่เพิ่มขึ้นหลายประเทศอีกด้วย

เพื่อรองรับการแข่งขันในตลาดทั้งภายในและต่างประเทศและป้องกันมาตรการกีดกันทางการค้าด้านสวัสดิภาพสัตว์ที่มีแนวโน้มงัดมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น มกอช.จึงจัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการปฏิบัติที่ดีทางด้านสวัสดิภาพสัตว์: ระบบการผลิตไก่เนื้อขึ้น โดยปรับปรุงจากคางการศึกษาฯ และเป็นพื้นฐานหลักสวัสดิภาพสัตว์สำหรับระบบการเลี้ยงไก่เนื้อของ OIE ซึ่งร่างมาตรฐานฯ ฉบับนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการวิชาการพิจารณามาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีทางด้านสวัสดิภาพสัตว์ : ระบบการผลิตไก้เนื้อแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการกำหนดมาตรฐานต้องมีการรับฟังความเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เกี่ยวข้องเพื่อนำข้อคิดเห็นมาปรับปรุงร่างมาตรฐานดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์ และเป็นที่ยอมรับจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ก่อนที่จะประกาศเป็นมาตรฐานของประเทศไทยต่อไป

“ปัจจุบันประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยโดยเฉพาะสหภาพยุโรป มีความต้องการให้มีการพัฒนา สวัสดิภาพสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม เพื่อการบริโภค เพิ่มมากยิ่งขึ้น สัตว์จะต้องได้รับการฆ่าอย่างไม่ทารุณและได้รับการเลี้ยงดูอย่างถูกต้อง ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี ซึ่งประเด็นด้านสวัสดิภาพสัตว์นี้ก็ถูกนำมาใช้กับสินค้านำเข้าที่ต้องมีมาตรฐาน ด้านสวัสดิภาพที่ทัดเทียมกับสินค้าเนื้อสัตว์ ที่ผลิตได้ในประเทศกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรปด้วยเช่นกัน ดังนั้นการประยุกต์ใช้หลักสวัสดิภาพสัตว์ และข้อกำหนดในบริบทที่เหมาะสมกับประเทศไทย จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดประโยชน์ต่อระบบการผลิตปศุสัตว์ของไทย และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่สินค้าเกษตรปศุสัตว์ส่งออกในอนาคต ”เลขาธิการ มกอช. กล่าว

เลขาธิการ มกอช. กล่าวต่อด้วยว่า สำหรับประเทศไทย มกอช. ได้ส่งเสริมหลักการพัฒนาด้านสวัสดิการไก่เนื้อ โดยเพิ่มเนื้อหาเข้าไปในมาตรฐานฟาร์มไก่เนื้อ (มกษ. 6901-2552) ซึ่งสอดคล้องกับระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการคุ้มครองและดูแลสวัสดิภาพสัตว์ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม มาตรฐานและระเบียบของกรมปศุสัตว์ดังกล่าว ยังขาดเนื้อหาเกี่ยวกับหลักการและข้อแนะนำในการปฏิบัติต่อสัตว์ และการประเมินผลลัพธ์ของการจัดการ (outcome based-measurable) ที่วัดจากตัวสัตว์ตามหลักการสากลของ OLE พิจารณาแล้วเห็นว่าควรมีการยกร่างมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีทางด้านสวัสดิภาพสัตว์ : ระบบการผลิตไก่เนื้อ ให้มีข้อแนะนำการปฏิบัติให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

“สำหรับสถานการณ์ผลิตและการตลาดไก่เนื้อของไทย ปัจจุบันผลิตเพื่อบริโภคในประเทศ ประมาณ 1.620 ล้านตัน/ปีหรือคิดเป็น 70% และสำหรับส่งออกประมาณ 0.70 ล้านตัน/ปีหรือคิดเป็น 30% โดยแบ่งเป็นไก่แปรรูป 470,000 ตัน หรือคิดเป็น 67% และเนื้อไก่สด 230,000 ตัน/ปีหรือคิดเป็น 33% โดยคิดเป็นปริมาณส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์แต่ละปีประมาณ 8 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 1 แสนล้านบาท” นางสาวเสริมสุข กล่าว

คุณสมพรชัย องอาจ อยู่บ้านเลขที่ 280 หมู่ที่ 5 ตำบลบึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ เล่าให้ฟังว่า เป็นคนที่ชอบทำเกษตรมาตั้งแต่สมัยเด็ก ไม่ว่าจะเห็นอะไรก็จะทำเรื่อยๆ แบบทีละเล็กละน้อย ต่อมาเมื่อเข้าสู่ชีวิตคู่จึงได้ย้ายไปอยู่ที่จังหวัดนครปฐมกับภรรยา ก็จะประกอบอาชีพเพาะเห็ด เลี้ยงกบ และตลาดจนการปลูกไม้ผลต่างๆ ไปด้วย

“ช่วงนั้นก็ไปอยู่ที่นครปฐมก่อน เราก็จะไปปลูกพวกไม้ผลต่างๆ เอาไว้ ต่อมาก็ผลิตกิ่งพันธุ์ขาย ไม่ว่าจะเป็นมะม่วง ม่อนเบอรี่ หน่อกล้วยทำหมด คราวนี้พอช่วงที่บึงกาฬเริ่มมีการปลูกยางพารามากขึ้น ก็เลยย้ายมาอยู่ที่บ้านเกิด ซึ่งบริเวณรอบบ้านมันจะมีพื้นที่อยู่ประมาณ 1 ไร่ เราก็คิดว่า ต้องหาอะไรมาทำให้เกิดประโยชน์ และสร้างเงินให้เราให้ได้ ก็ทำแบบผสมผสานไปเลยน่าจะดี” คุณสมพรชัย กล่าว

เนื่องจากพื้นที่บ้านของเขาไม่สามารถที่จะทำบ่อสำหรับเลี้ยงปลาได้ เขาจึงได้เลือกเลี้ยงกบแทน โดยนำกบที่อยากเลี้ยงมาออกแบบให้อยู่ในกระชังบก ที่การเลี้ยงไม่มีอะไรยุ่งยากเพียงแค่ใส่น้ำนิดหน่อย และที่สำคัญกระชังบกยังประหยัดเนื้อที่ให้พอมีพื้นที่ว่างปลูกพื้นชนิดอื่นได้อีกด้วย

ซึ่งพืชที่ปลูกบริเวณบ้าน คุณสมพรชัย บอกว่า จะเลือกที่ให้ผลผลิตได้ไว ไม่ว่าจะเป็นมะเขือ พริก ถั่วฝักยาว มะม่วง มะนาว กล้วย และม่อนเบอรี่ โดยไม้ผลที่ปลูกไว้จะเป็นพันธุ์ดีที่ไปหาจากแหล่งต่างๆ แล้วนำมาปลูกให้มีอายุที่เหมาะสม จากนั้นก็จะทำการตอนกิ่งเพื่อขายกิ่งให้กับเกษตรกรที่สนใจซื้อไปปลูกต่อไป

“การเกษตรยิ่งทำยิ่งสนุก ยิ่งคิดยิ่งได้เงิน ผมไม่ได้หยุดอยู่แต่เพียงเท่านี้ ผมอยากเรียนรู้อะไรมากขึ้น อะไรที่เขามีอบรมผมก็ไปศึกษาเสมอ อยากจะบอกว่า ใครที่คิดว่ามีพื้นที่น้อย กลัวจะทำเกษตรไม่ได้ ผมต้องบอกว่าทำได้ หาสิ่งที่เหมาะสมกับพื้นที่เรา เพราะเกษตรมีมากมายหลายอย่างให้เราเลือก อย่างตอนนี้รอบบ้านผม พื้นที่ 1 ไร่ ก็ทำการเกษตรที่อัดแน่นไปหมด และที่สำคัญทำเงินได้จริง ตรงไหนที่ว่างก็ปลูกพื้นผักสวนครัว ไม้ผล และที่สำคัญกิ่งพันธุ์ไม้ผลที่นี่ขายดีมาก อย่างต้นไม้ไม่จำเป็นต้องปลูกเพื่อเอาผลผลิต แต่เราสามารถหากิ่งพันธุ์ดีมาตอนกิ่งขายได้” คุณสมพรชัย กล่าว

ซึ่งเวลานี้ คุณสมพรชัย บอกว่า มีความสุขมากที่ได้เลือกทำเกษตรแบบผสมผสาน เพราะสามารถทำเงินให้กับเขาได้หลายทาง เช่น การเลี้ยงกบ ก็สามารถขายได้ราคากิโลกรัมละ 100-130 บาท ส่วนกิ่งพันธุ์ไม้ผลที่ตอนขายก็ตกอยู่ที่กิ่งละ 100-150 บาท และส่วนพืชผักสวนครัวที่ปลูกไว้เพื่อกินเอง เมื่อผลผลิตมีมากพอก็สามารถนำไปขายทำเงินได้เช่นกัน โดยราคาก็จะได้ตามกลไกตลาด และที่สำคัญเป็นผักปลอดสารพิษอีกด้วย

“การเกษตรไม่มีอะไรที่ยาก เราอยากจะรองปลูกอะไร เราก็ปลูก แล้วศึกษาให้รู้จริงว่า สิ่งที่เราจะปลูกนั้นเขาชอบสภาพอากาศแบบไหน โดยเริ่มจากสิ่งเล็กน้อยๆ พอเราสนุกเรามีความชำนาญมากขึ้นก็ค่อยๆ เรียนรู้ทำชนิดอื่นไปเรื่อยๆ ที่ละความสำเร็จมันก็จะเกิด ต่อมาเรื่องของรายได้ พร้อมทั้งความสุข ผมบอกเลยว่ามีเกินร้อยเปอร์เซ็นต์แน่นอน”

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ผักหวานป่า เป็นไม้พื้นเมือง มีถิ่นกำเนิดอยู่ในไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ใบหนาสีเขียวเข้มเป็นมัน ก้านใบสั้นๆ เหนียวติดกะลำต้น เป็นใบเดี่ยว รูปร่างรีๆ เหมือนไข่ ปลายใบป้านกลมอาจมีรอยเว้าบ้าง มีหูใบเล็กๆ บริเวณก้านใบ ผล ก็จะเป็นพวงๆ มีสีเหลืองอมน้ำตาล ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร

ชอบขึ้นตามเชิงเขา หรือตามป่าเต็งรัง ที่เป็นหินปนดินดาน หรือปนทราย ในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ผักหวานป่าจะทิ้งใบจนแทบหมดต้น แล้วต่อมาเดือนกุมภาพันธ์พฤษภาคม ก็จะแตกยอดและใบอ่อนให้ได้กินกันทุกปี

ผักหวานป่า เป็นที่รู้จักบริโภคกันทุกภาค เนื่องจากรสชาติดี หากินยาก มีเฉพาะฤดูกาล ราคายังค่อนข้างสูง ปัจจุบัน ประมาณกิโลกรัมละ 100-200 บาท หน้าฝนก็อาจถูกลงมาบ้าง ตามหลักการของดีมานและซัพพลาย แต่ก็ยังถือว่าเป็นพืชทำรายได้ที่ดีแก่ชาวบ้านอย่างหนึ่งในขณะนี้ คนนิยมซื้อหาไปปรุงอาหาร และมีความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีการดัดแปลง สูตร เช่น ก๋วยเตี๋ยวเนื้อใส่ผักหวาน ผักหวานผัดน้ำมันหอย แกงจืดผักหวาน ฯลฯ ที่หลังโรบินสัน ศรีราชา มีร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อใส่ผักหวานอยู่เจ้าหนึ่ง ขอแนะนำให้ไปลองเปิบกัน ไม่มีค่าคอมมิสชั่นหรอกนะ แต่อยากให้ลองเฉยๆ

ระยะหลังมีการขยายพื้นที่ปลูกผักหวานป่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากที่เคยหาเก็บตามป่า ก็มีคนนำมาขยายพันธุ์ปลูกกันในบริเวณบ้าน ผักหวานป่าปลูกให้งามยาก ไม่เหมือนพืชทั่วๆ ไป ไม่ชอบดินแฉะ ชอบดินปนหินระบายน้ำดี มีเทคนิคอย่างหนึ่ง จะปลูกผักหวานป่าให้งาม โตไว ต้องมีพืชพี่เลี้ยง อย่าง แค หรือ ทองหลาง ก็ได้ ปลูกลงไปในหลุมเดียวกันเลย หรือห่างกันสัก 1 ฟุต ก็ได้ คอยดูแลรดน้ำใส่ปุ๋ยคอกไว้พร้อมๆ กัน ปล่อยให้เจริญเติบโตไปพร้อมๆ กัน หาก แค ออกดอกก่อน ก็ถือว่าเป็นผลพลอยได้ระหว่างรอผักหวานโต หรือทองหลาง ก็สามารถเก็บใบขายได้ก่อนอยู่แล้ว

สิ่งหนึ่งที่พึงระวังก็คือ การเข้าไปเก็บผักหวานในป่า ควรมีผู้ชำนาญไปด้วย เพราะมีไม้บางต้นที่มีลักษณะภายนอกคล้ายคลึงกับผักหวานป่ามาก แถมยังมีพิษ กินเข้าไปจะทำให้อาเจียน ผิดสำแดง มึน งง หมดสติ ถึงตายได้ เจ้านั่นคือ ต้นขี้หนอน (Scleropylum wallichianum) ครับ แต่ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าลำต้นและกิ่งของต้นขี้หนอนมักจะมีหนามแข็งอยู่ประปราย ซึ่งในผักหวานป่าจะไม่มี ธรรมชาติมีทั้งดี ทั้งร้าย ที่ยังต้องศึกษาค้นคว้าต่อไปอีกมากมายหลายประการ หากมีโอกาส ผู้เขียนจะค่อยๆ ทยอยเขียนออกมาเรื่อยๆ ครับ ถ้าไม่เบื่อหน้ากันไปเสียก่อน

ชื่ออื่นๆ เสลดพังพอนตัวเมีย ผักมันไก่ ผักลิ้นเขียด พญาปล้องดำ (เชียงใหม่) พญาปล้องทอง (ลำปาง) ลิ้นมังกร (ภาคกลาง) โพะโซ่จาง

หนูได้รับเกียรติอย่างยิ่ง ที่เขายกย่องให้เป็นถึง “พญา” หนูเลยถือโอกาสแต่งตั้งตัวเองเป็น “นางพญาปราบพิษสัตว์” ซะเลย อย่าหาว่าหนูหลงตัวเองนะคะ เพราะแม้แต่หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับลงวันที่ 25 ตุลาคม 2559 ในคอลัมน์ “อาทิตย์ละต้น” ยังลงข่าว ยกยอหนูและโยงใยสรรพคุณที่นำไปใช้ได้อย่างไม่ยุ่งยากว่ารากของ “พญายอ” มีสารที่สกัดออกมาใช้ช่วยระงับอาการอักเสบได้ รวมทั้งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ได้ผลิต “ครีมพญายอ” เพื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วยโรคงูสวัด ทำให้แผลตกสะเก็ดหายเร็ว ลดอาการปวดได้ดีไม่มีผลข้างเคียง จึงไม่ทำให้เกิดอาการแสบระคายเคือง และที่หนูภูมิใจมากคือ หนังสือพิมพ์ข่าวสดได้ลงภาพหนูช่วงปลายกิ่ง ที่มีดอกเป็นกระจุก กลีบสีแดงส้ม มีเกสรตัวผู้และตัวเมีย โผล่ออกมา หนูจึงนำภาพนี้มาอวดว่าดูแล้ว หนูสวยงามเหมือนนางพญาจริงๆ

ชื่อของหนูฟังดูไม่ค่อยน่ารัก ถ้าเรียกว่า “เสลดพังพอนตัวเมีย” ได้ยินแล้วคนจินตนาการว่า เป็นสัตว์ดุร้าย ห่างผู้คน โดยส่วนตัวหนูชอบชื่อพญาปล้องทองมาก แต่พอผู้คนรู้จักนิยมชมชื่น ยกย่องเยินยอ เขาจึงหยิบยื่นให้เป็น “พญายอ” หนูคิดว่าเขาไม่ได้ยัดเยียดให้ยุ่งยาก เพราะหนูเองก็ไม่มีนิสัยยอกย้อนโยกเยก แม้ว่าหนูจะยอมรับอย่างยากเย็น นี่ก็ไม่ได้ยียวนนะยะ

หนูเป็นพืชสมุนไพรสำหรับแก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย เหมาะสำหรับปลูกไว้ใกล้ตัวในบ้าน ใช้ถอนพิษ โดยใช้ใบแก่ 4-5 ใบ ล้างให้สะอาด เด็ดแกนกลางออก ฉีกเป็นชิ้นโขลก ตำ หรือขยี้พอแหลก ใช้พอกบริเวณที่ถูกกัด ถอนพิษได้เร็ว หรือพอกฝีที่จะช่วยดูดหนองลดการอักเสบ สำหรับต้นพญายอ ก็ใช้เป็นยาสมุนไพร แก้ท้องเสีย แก้โรคบิด โดยใช้ต้นล้างให้สะอาด ตัดเป็นท่อนสั้นทุบให้แตก ต้มกับน้ำเคี้ยวให้เหลือครึ่ง แล้วจึงกรองเป็นน้ำดื่มแก้อาการท้องเสีย อาการถ่ายท้องจากเชื้อบิด เป็นว่าทั้งใบทั้งต้นใช้ได้หมด หากจะตำ พอก โดยใช้แอลกอฮอล์หรือเหล้าขาวผสมได้ดี ส่วนที่เขาใช้สกัดสารจากใบพญายอ แปรรูปเป็นครีมทาแผล เป็นยาแผนปัจจุบันแล้ว

หนูเป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อย สูงได้ถึง 3 เมตร กิ่งก้านเป็นสีเขียว ดอกสวย สีแดงส้ม อยากจะขยายพันธุ์หนูก็เพียงเลือกกิ่งแก่ 1-2 คืบ ปักชำในดินผสมแกลบสัก 3 สัปดาห์ ก็มีรากงอกแล้ว และเริ่มผลิใบอ่อน หากจะย้ายลงแปลงหรือกระถางใหญ่ได้เลย

แม้ว่าหนูจะเป็น “นางพญา” ฆ่าถอนพิษสัตว์ได้ แต่เสียดาย…ไม่ใช้ “ถอนพิษรัก” ให้ใครได้เลย