ปลูกดาหลา แต่ไม่ติดเมล็ดผมปลูกดาหลาไว้หลายกอในสวน

หลังบ้าน มีทั้งชนิดดอกสีชมพูและสีขาว ปลูกมาแล้วปลายปี ผมบำรุงต้นอย่างดี มีการให้ดอกสม่ำเสมอ แต่ทำไมไม่ยอมติดเมล็ด มีผู้รู้เล่าว่า หากปลูกไว้หลายพันธุ์ในบริเวณเดียวกัน เมล็ดที่ได้เมื่อนำไปปลูกต่อจะได้พันธุ์ใหม่ๆ แปลกจากต้นพ่อแม่ ผมควรทำอย่างไรจึงจะทำให้ต้นดาหลาที่ปลูกไว้สามารถติดเมล็ดได้ ขอขอบคุณมาในโอกาสนี้

ตอบ คุณวิโรจน์ อนันตรัตน์

ดาหลา (Torch Ginger) มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา และภาคใต้ของไทย ดาหลา จัดอยู่ในวงศ์ขิง ข่า ให้ดอกตลอดปี แต่จะมากที่สุดในระหว่างเดือนมีนาคมไปจนถึงพฤษภาคมในปีเดียวกัน ส่วนของลำต้นแท้อยู่ใต้ดิน เรียกว่า เหง้า ส่วนเหนือดินเรียกว่า ลำต้น หรือลำต้นเทียม สูง 1.5-2.0 เมตร รูปร่างของดอกมีกลีบซ้อนสวยงาม การขยายพันธุ์ทำได้ทั้งการแยกเหง้าและเพาะจากเมล็ด

การปลูกดาหลาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะไม่ติดเมล็ด ผมเองก็เคยทดลองมาแล้ว ที่กรุงเทพฯ เชื่อมต่อกับจังหวัดนนทบุรี แม้มีการบำรุงอย่างเต็มที่ก็ตาม เช่นเดียวกันจากที่ผมเคยเดินทางไปเยี่ยมเกษตรกรและศูนย์วิจัยพืชสวน ของกรมวิชาการเกษตรหลายแห่ง พบว่า ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปจนถึงจังหวัดยะลา ดาหลาออกดอกและติดเมล็ดได้ดี ดังนั้น กรมวิชาการเกษตร จึงทำการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ดาหลา ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง จังหวัดตรัง

ปัจจุบัน สามารถพัฒนาพันธุ์ใหม่ได้แล้ว 5 พันธุ์ แต่ละพันธุ์มีความสวยงามแปลกตา ดังนั้น จึงพอจะสรุปได้ว่า การปลูกดาหลาให้ติดเมล็ดได้ดีนั้น ต้องปลูกในบริเวณภาคใต้ ที่มีความชื้นในบรรยากาศสูง มีจำนวนวันฝนตกเฉลี่ยมากกว่าบริเวณภาคกลางของประเทศ ถ้าหากปลูกในร่มเงาของไม้ยืนต้นจะยิ่งติดเมล็ดดียิ่งขึ้น

ที่จังหวัดนนทบุรี ปัจจุบันสภาพแวดล้อมต่างไปจากอดีตมาก ความชื้นจึงไม่พอเพียงกับความต้องการของดาหลาเพื่อผลิตเมล็ด

หากต้องการพันธุ์ดาหลาใหม่ๆ ติดต่อสอบถามได้ที่ สถาบันพืชสวน กรมวิชาการเกษตร อยู่ในบริเวณเดียวกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ ในวัน และเวลาราชการ

การเก็บมะพร้าวกะทิมาใช้ประโยชน์ส่วนใหญ่นิยมนำเนื้อไปใส่น้ำแข็งไสผสมน้ำเชื่อมโดยใช้ช้อนคว้านเป็นชิ้นพอคำ หรือใช้ช้อนตัก กินเฉยๆ ก็ได้รสชาติหวานมันอร่อยด้วยเนื้อมะพร้าวที่หนา ฟู อ่อนนิ่ม ปัจจุบันนิยมคว้านใส่ไอศกรีม ทำบัวลอย “มะพร้าวกะทิ” ขายตามร้านอาหาร ภัตตาคาร

มีหลายคนมักเข้าใจว่า “มะพร้าวกะทิ” เป็นมะพร้าวพันธุ์หนึ่ง แต่ความจริงในธรรมชาติไม่มีต้นมะพร้าวกะทิพันธุ์แท้อยู่เลย แต่ผลมะพร้าวกะทิที่เห็นกันได้มาจากการเกิดร่วมกับผลมะพร้าวปกติที่อยู่รวมกันในต้นมะพร้าวธรรมดาทั่วไปบางต้นเท่านั้น

ที่ผ่านมาปัญหาที่เกิดจากการใช้มะพร้าวกะทิคือไม่สามารถแยกได้ว่าผลใดเป็นกะทิ ทำให้ต้องใช้วิธีปอกเปลือกดูเนื้อภายใน หรือชาวบ้านบางคนที่มีความชำนาญก็จะฟังดูว่าถ้าไม่มีเสียงน้ำในผลดังกระฉอกเลย หมายถึงมะพร้าวผลนั้นเป็น“มะพร้าวกะทิ” วิธีการดังกล่าวค่อนข้างจะยุ่งยากและเสียเวลาไม่ใช่น้อย

….แต่เหตุใดมะพร้าวจึงไม่เป็นกะทิทั้งหมด

เรื่องนี้คุณจิตติ รัตนเพียรชัย กูรูด้านการปรับปรุงพันธุ์พืช อธิบายว่าเหตุผลประการหนึ่งคือเป็นเรื่องของพันธุกรรม เพราะมะพร้าวกะทิถูกควบคุมโดยยีนเพียงคู่เดียว และเป็นลักษณะด้อยเสียด้วย แต่มีลักษณะของมะพร้าวธรรมดาเป็นยีนข่ม

“ฉะนั้นต้นมะพร้าวที่ให้ลูกเป็นกะทิจึงมีลักษณะพันธุ์ทาง แล้วเมื่อมะพร้าวธรรมดาไปผสมกับมะพร้าวพันธุ์ทาง จึงทำให้เกิดเป็นมะพร้าวธรรมดา 3 ส่วนและมะพร้าวกะทิเพียง 1 ส่วน ด้วยเหตุนี้ปริมาณมะพร้าวกะทิจึงมีน้อย และหายากมากในท้องตลาด อีกทั้งราคามะพร้าวกะทิมีราคาแพงกว่ามะพร้าวธรรมดาหลายเท่า”

คุณจิตติ เป็นผู้คร่ำหวอดในวงการกล้วยไม้มายาวนาน เขาเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน จากนั้นได้ชักชวนเจ้าของสวนกล้วยไม้หลายแห่งมารวมตัวกันเพื่อจัดตั้งเป็นบริษัทที่ชื่อ บางกอกฟลาวเวอร์เซ็นเตอร์ จำกัด ได้ดำเนินธุรกิจส่งออกดอกกล้วยไม้ไปยังตลาดต่างประเทศทั่วโลก ด้วยการศึกษาและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจได้ขยายขอบเขตครอบคลุมถึงดอกไม้เขตร้อนประเภทอื่นๆ

ไม่เพียงแค่การปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้ที่ประสบความสำเร็จ เขายังปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวเพื่อให้เป็นมะพร้าวกะทิร้อยเปอร์เซ็นต์ ด้วยการร่วมงานกับดร.อุทัย จารณศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงพันธุ์อีกท่านหนึ่ง แล้วเปิดตัว “อูติพันธุ์พืช” ขึ้นเพื่อมุ่งเน้นการผลิตเมล็ดพันธุ์ กล้าพันธุ์ปาล์มน้ำมัน รวมถึงมะพร้าวกะทิ และพันธุ์ไม้ชนิดอื่นอีกหลายอย่าง

ต้องแยกปลูกเท่านั้น

คุณจิตติบอกว่าโดยหลักวิชาการแล้ว การจะทำให้ผลมะพร้าวเป็นกะทิได้ทั้งต้นจะต้องมีการแยกต้นมะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงมาปลูกให้อยู่ในกลุ่มเดียวกันและอย่าให้มีต้นมะพร้าธรรมดาร่วมอยู่ อีกทั้งไม่ควรปลูกมะพร้าวต้นไม่เป็นกะทิใกล้กับต้นเป็นกะทิ เพื่อป้องกันการผสมข้ามสายพันธุ์

และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ “อูติพันธุ์พืช” จึงได้จัดพื้นที่ปลูกมะพร้าวกะทิบนเกาะเล็กๆแห่งหนึ่งในเขื่อนวชิราลงกรณ์ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี และเป็นพื้นที่ปลูกที่อยู่ห่างไกลจากมะพร้าวธรรมดาพันธุ์อื่นประมาณ 10 กิโลเมตร

“เหตุผลที่ต้องใช้พื้นที่บนเกาะเพราะต้องการให้ห่างไกลจากเกสรของมะพร้าวธรรมดา และต้องการให้มะพร้าวกะทิผสมกันเองล้วน ในช่วงนั้นความนิยมมะพร้าวกะทิมีพอสมควร แต่มะพร้าวกะทิตามธรรมชาติมีเพียงลูกครึ่ง ซึ่งถ้าผสมกันเองในกลุ่มมะพร้าวกะทิลูกครึ่งผลผลิตที่ได้ประมาณ 1 ใน 4 หรือ 25 เปอร์เซ็นต์ แต่ในความเป็นจริงอาจได้ไม่ถึง ต้นไหนเคยเป็นกะทิ ถ้าผสมตัวมันเองก็ได้เป็นกะทิเพียง 1 ใน 4 แต่หากผสมข้ามจะไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นใน 1 ต้น แต่ละทะลายอาจได้เป็นกะทิเพียง 1-2 ลูกเท่านั้น

สำหรับบนเกาะนี้จำนวนมะพร้าวกว่าสองพันต้นล้วนเป็นมะพร้าวกะทิทุกลูก จึงทำให้สามารถเก็บมะพร้าวกะทิได้ตามขนาดที่ต้องการของตลาด อย่างร้านทำขนมไม่ต้องการเนื้อฟูมาก แต่หากจะใช้บริโภคจะนิยมเนื้อฟู เพราะเวลาหั่นจะได้เป็นท่อนชิ้นสี่เหลี่ยมสำหรับไว้ใส่ในขนมหวาน เช่น ทับทิมกรอบ ดังนั้นเวลาเก็บจึงไม่ต้องให้แก่มากและเปลือกยังมีสีเขียว แต่มีรอยย่นเล็กน้อย” คุณจิตติอธิบาย

คุณจิตติ เผยถึงคราวที่เริ่มต้นปรับปรุงมะพร้าวให้เป็นกะทิล้วนว่าครั้งนั้นการหาพันธุ์ต้องไปหาซื้อลูกมะพร้าวตามที่ชาวบ้านเก็บ เช่นแถวทับสะแก พอซื้อมาแล้วจัดการผ่าออก นำไปเข้าห้องแล๊บ ดึงจาวออกมาแล้วนำไปเพาะด้วยอาหารวิทยาศาสตร์ในสภาพปลอดเชื้อ เป็นวิธีการเดียวกับการเพาะกล้วยไม้

“ได้นำเอาคัภพะ จากผลมะพร้าวกะทิมาเลี้ยงในอาหารวิทยาศาสตร์ภายในสภาพปลอดเชื้อ เป็นระยะเวลาประมาณ 8 – 9 เดือน แล้วจึงนำออกปลูกลงดินในถุงเพาะให้ต้นกล้ามีอายุประมาณ 18 เดือน จึงนำปลูกลงดินตามธรรมชาติ เนื่องจากต้นกล้ามะพร้าวกะทิพันธุ์แท้อยู่ในสภาพการงอกที่ผิดธรรมชาติ (งอกในอาหารวิทยาศาสตร์ ภายใต้สภาพปลอดเชื้อ) กล่าวคือไม่ได้งอกจากผลมะพร้าวที่มีกะลาและเปลือกมะพร้าวห่อหุ้มไว้ จึงทำให้ต้นกล้าถูกเชื้อจุลินทรีย์เข้าทำลายได้ง่าย โอกาสรอดตายจึงมีน้อย”

คุณจิตติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเพาะครั้งแรกมีปัญหาและความยุ่งยากมาก เพราะมะพร้าวเป็นพืชที่มีขนาดใหญ่ แตกต่างจากกล้วยไม้ที่เคยทำที่มีขนาดเล็ก เขาเล่าว่าการเพาะพันธุ์ในขวดแก้วเพียงแค่ต้นอ่อนที่ยังไม่ได้เวลาที่เหมาะสมยังใหญ่แน่นขวดกลม ครั้นพอนำออกมาจากขวดยิ่งลำบากและยุ่งยาก ทำให้เสียหายและตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งเหลือจำนวนรอดไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เปรียบว่าคล้ายกับเด็กที่คลอดก่อนกำหนด ส่วนต้นที่รอดนำไปขายราคาต้นละ1,500 บาทมีคนซื้อน้อย ในที่สุดขาดทุน และต่อมามีความพยายามหาวิธีทำใหม่ และได้ค่อยๆพัฒนาจนเพิ่มจำนวนต้นที่รอดมากขึ้น

โครงการนำมาแปรรูปเป็นไอศกรีมมะพร้าวกะทิปั่นใส่น้ำหวานขาย

นักปรับปรุงพันธุ์ กล่าวถึงเหตุผลที่มาทำธุรกิจขายมะพร้าวกะทินอกจากต้องการขายเป็นมะพร้าวลูกในประเทศแล้ว ยังเห็นว่าที่ประเทศฟิลิปปินส์ มีการปลูกมะพร้าวกะทิจำนวนมาก แล้วส่วนหนึ่งมีการนำไปแปรรูปเป็นไอศกรีมมะพร้าวกะทิขายที่สนามบิน ซึ่งเป็นไอศกรีมที่มีชื่อเสียงของฟิลิปปินส์ทำให้โด่งดัง ส่วนที่อินโดนีเซียยังใช้เนื้อมะพร้าวกะทิปั่นด้วยเครื่องให้ละเอียดแล้วนำมาใส่ในน้ำหวานสีสันต่างๆ ทำเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมในโรงแรมชื่อดังหลายแห่ง ด้วยเหตุนี้จึงเห็นช่องทางทำเป็นธุรกิจ

ดังนั้น แผนและโครงการที่ได้วางไว้คือการต่อยอดทางธุรกิจผลิตมะพร้าวด้วยการผลิตไอศกรีมมะพร้าวกะทิแบบที่ฟิลิปปินส์ โดยช่วงที่มีมะพร้าวจำนวนมากจะเก็บเนื้อมะพร้าวแช่แข็ง แล้วทยอยนำออกมาผลิตเป็นไอศกรีมทั้งปี ส่วนการขายผลมะพร้าวยังคงทำตามปกติ นอกจากนั้นยังเคยมีความคิดว่ามะพร้าวกะทิน่าจะแปรรูปเป็นขนมขบเคี้ยวได้ เพราะวัตถุดิบคือมะพร้าวที่ปลูกสามารถกำหนดช่วงเวลาหรือกำหนดอายุมะพร้าวว่าต้องการใช้แบบใดอ่อนหรือแก่

นอกจากโปรเจ็คมะพร้าวแล้ว คุณจิตติยังมีโครงการจะปลูกกล้วยไม้ป่าจำนวนหลายชนิดอีก ซึ่งขณะนี้กำลังรวบรวมพันธุ์จากหลายแหล่งไว้ที่วิทยาลัยเกษตรเพชรบุรี แยกขนาดได้ตามต้องการ

สำหรับปุ๋ยที่ใช้ใส่มะพร้าวกะทินั้นคุณจิตติบอกว่าเน้นเป็นแม่ปุ๋ยเช่นไนโตรเจนก็ใส่แอมโมเนียมซัลเฟต, ฟอสฟอรัสใส่ร็อคฟอสเฟตที่เป็นหินบด, โปรแทสเซียมใส่โปรแทสเซียมคลอไรน์,แมกนีเซียมใส่แมกนีเซียมซัลเฟต,และโบรอน โดยมีอัตราส่วนคือ 2.5-1-4 นอกจากนั้นแล้วยังใส่ปุ๋ยขี้วัว ขี้ไก่ทุกปี

คุณจิตติ บอกว่า เริ่มมาปลูกมะพร้าวกะทิบนเกาะเมื่อปี 2532 มีขนาดผล 3 ขนาดคือเล็ก กลาง และใหญ่ จำนวนต้นที่ปลูกครั้งแรก 2,150 ต้น อายุการเก็บผลผลิตครั้งแรกถ้าเป็นมะพร้าวเล็กเริ่มเก็บเมื่ออายุ 3 ปีครึ่ง แต่ถ้าเป็นมะพร้าวใหญ่เริ่มเก็บเมื่ออายุ 5-6 ปี นับตั้งแต่เริ่มปลูก

เขาบอกว่า ความจริงธรรมชาติมะพร้าวจะขึ้นได้ดีบริเวณชายทะเล หรือน้ำกร่อย ซึ่งมีความเค็มของโซเดียมคลอไรด์ ดังนั้นการปลูกมะพร้าวนอกเหนือจากพื้นที่ดังกล่าวจึงควรมีการใส่เกลือด้วยเพื่อช่วยในการให้ผลผลิตมีคุณภาพ คุณจิตติบอกว่ามะพร้าวกะทิที่เพาะเลี้ยงบนเกาะแห่งนี้จึงต้องใส่เกลือช่วย เกลือที่นำมาใส่มีปริมาณต้นละ 1 กิโลกรัมใส่ปีละครั้งในช่วงต้นฝน เคยทดลองไม่ใส่เกลือปรากฏว่าเนื้อมะพร้าวจะบางทันที

ควรบริหารจัดการภายในแหล่งปลูกให้ดี

สำหรับโรคแมลงที่พบได้แก่แมลงดำหนามอย่างเดียว แต่ไม่ค่อยพบบ่อย อาจเป็นเพราะมีการดูแลบริหารจัดการภายในพื้นที่อย่างดี โดยจะต้องให้พนักงานคอยตัดหญ้าและวัชพืชหลายอย่างให้หมดต้องให้พื้นที่โล่งเตียนไม่ปล่อยให้สกปรกรกรุงรังอันเป็นบ่อเกิดของสัตว์ต่างๆ เช่นหนู ที่มาคอยกัดกินผลมะพร้าวจนต้องห่อหุ้มพลาสติกหรือแผ่นสังกะสี เพื่อป้องกันไม่ให้หนูปีนขึ้นต้นมะพร้าว อย่างไรก็ตามการเอาใจใส่เช่นนี้ทำให้สวนมะพร้าวแห่งนี้ไม่ใช้สารเคมีใดเลย

พร้อมกับปลูกพืชหลายอย่างแซมคู่กับมะพร้าว ไม่ว่าจะเป็นกล้วย และไม้ผลอื่น ตลอดจนพืชผักสวนครัว ที่น่าสนใจคือปลูกโกโก้พ่อ-แม่พันธุ์ ที่ได้มาจากมาเลเซียไว้หลายต้นซึ่งมีผลออกมากมาย เขาบอกว่าทดลองปลูกดูเพราะได้มาเมื่อคราวเดินทางไปทำธุระที่มาเลเซีย

น้ำถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีส่วนทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น การให้น้ำกับมะพร้าวกะทิบนเกาะแห่งนี้ใช้ระบบมินิสปริงเกอร์มี 3 หัวพ่นและพ่นได้ระยะไกลกว่า 1 เมตร ติดตั้งไว้รอบต้นในตำแหน่งที่โคนต้น เหตุผลที่ใช้วิธีนี้เพื่อต้องการรักษาระดับความชื้นในดินให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอเหมาะ ซึ่งจะทำให้ต้นมะพร้าวงอกงามและได้ผลผลิตดี

นอกจากนั้นยังสามารถควบคุมการเกิดวัชพืชได้ เพราะการให้น้ำเฉพาะที่โคนต้น ทำให้พื้นที่ดินบริเวณอื่นไม่เปียก และวัชพืชจึงเกิดได้ยาก อีกทั้งยังช่วยให้ประหยัดค่าแรงงานด้วย สำหรับการปล่อยน้ำจะทำเพียงวันละครั้ง แต่ถ้าเป็นช่วงหน้าแล้งจะเปิดน้ำถี่ขึ้นกว่าเดิม

คุณจิตติ เปิดเผยถึงผลผลิตที่ได้ในช่วงระหว่างปีจะมีปริมาณไม่เท่ากัน ช่วงที่มีมากที่สุดคือฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน เป็นเวลา 4 เดือน ซึ่งจะให้ผลผลิตเฉลี่ยสัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 1,600 ลูกบางครั้งเกือบ 2,000 ลูก ถ้าเป็นช่วงที่ให้น้อยคือในช่วงหน้าฝนประมาณเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน เป็นเวลา 4 เดือนเช่นกัน

ใช้ทั้งคนและลิงช่วยเก็บส่งขายทุกสัปดาห์

สงสัยจริงว่า วิธีเก็บมะพร้าวที่มีจำนวนมากขนาดนี้ทำได้อย่างไร คุณจิตติเผยว่าถ้าต้นไม่สูงนักจะใช้คนเก็บโดยใช้ไม้สอยหรือปีน ส่วนต้นไหนที่สูงจะใช้ลิงกังเก็บ ซึ่งเป็นลิงที่เลี้ยงมานานมีอยู่หนึ่งตัว ผ่านการฝึกเก็บมะพร้าวมาอย่างชำนาญและสามารถเก็บมะพร้าวได้วันละหลายร้อยลูก และอีกไม่นานจะนำมาช่วยอีกหนึ่งตัวเป็นลิงช่วงวัยรุ่นที่กำลังมีความคล่องตัวเพื่อช่วยตัวเดิมที่มีอายุมากแล้ว

ด้านการตลาด คุณจิตติบอกว่าจะส่งให้กับพ่อค้าแถวตลาดดอนหวายเป็นหลักมีจำนวน 3-4 รายเพราะทำธุรกิจกันมานาน การขายเป็นลักษณะขายส่ง และต้องมีการนัดหมายจุดรับ-ส่งกันทุกครั้ง เพราะปริมาณที่ต้องการแตกต่างกัน บางครั้งทางนี้อาจเดินทางไปส่ง แต่บางครั้งลูกค้าอาจมารับเอง ดังนั้นวิธีนี้ถือเป็นการถ้อยที ถ้อยอาศัยกัน

“มะพร้าวกะทิส่วนมากร้านทำขนมจะสั่งมากกว่า แต่มีบางรายอาจนำไปขายที่ตลาดอตก. ที่ถือว่าเป็นแหล่งจำหน่ายดั้งเดิม”

และบอกถึงราคาจำหน่ายว่ามะพร้าวกะทิทั้งปีจะมีราคาแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณมะพร้าวที่มีอยู่ในช่วงเวลานั้น กล่าวคือถ้าช่วงที่มะพร้าวดกราคาลูกเล็กประมาณ 15 บาท ขนาดใหญ่ราคาประมาณ 30 บาท แต่ถ้าช่วงผลผลิตน้อยราคาลูกเล็กจะค่อยๆขยับมาจนถึงประมาณลูกละ 20 บาท ส่วนขนาดใหญ่จะค่อยปรับราคามาจนถึงเต็มที่ประมาณ 45 บาท แต่การนำไปขายปลีกจะมีราคาแพงมาก บางแห่งราคาลูกละเป็นร้อยบาท

ท้ายนี้มีวิธีรับประทานมะพร้าวกะทิแบบผ่ารับประทาน ตามแบบคนเฒ่าคนแก่บอกเคล็ดลับว่า ถ้าต้องการให้เนื้อในของ “มะพร้าวกะทิ” ฟู หรือเหนียวแน่น อร่อย ต้องนวดก่อน โดยเอาผลที่ปอกเปลือกแล้วกระแทกกับพื้นปูนเบาๆรอบๆผลให้ทั่ว กะเวลาจนแน่ใจว่าพอแล้วจึงนำผลไปผ่าครึ่ง จะพบว่าเนื้อในฟูเป็นสีขาวคล้ายปุยฝ้าย ใช้ช้อนตักรับประทานได้เลย รสชาติหวานมันหอมอร่อยมาก

สำหรับเกาะมะพร้าวพันธุ์กะทิของอูติพันธุ์พืช ถือเป็นแหล่งพันธุกรรมมะพร้าวกะทิที่มีประโยชน์ในด้านการปรับปรุงพันธุ์แห่งหนึ่งของประเทศ

สนใจสอบถามรายละเอียดเรื่องมะพร้าวกะทิได้ที่ คุณจิตติ รัตนเพียรชัย โทรศัพท์ 081-8513772 โรงเรียนดอนสีนวน เป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่เปิดสอนในระดับอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลหนองแซง อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ทางโรงเรียนได้เล็งเห็นแนวทางที่จะส่งเสริมให้เด็กๆ และเยาวชน และเด็กบางกลุ่มที่ผู้ปกครองมีปัญหาทางการเงิน ไม่สามารถส่งเสียบุตรหลานให้เรียนต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้นไปได้ ทางโรงเรียนจึงได้หาแนวทางที่จะส่งเสริมให้เด็กๆ เหล่านี้ได้มีอาชีพไว้หาเลี้ยงตัวเองได้ในอนาคต เพื่อที่เด็กๆ ส่วนนี้เมื่อจบการศึกษาไปแล้วจะนำความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพที่สุจริตจะได้ไม่เป็นภาระของสังคม และไม่ไปสร้างปัญหาให้กับสังคมในภายภาคหน้า

อาจารย์สุมิตร ทองแว่น ผอ. โรงเรียนดอนสีนวน กล่าวถึงการจัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรกรดังกล่าวว่า จากแนวคิดของโรงเรียนได้มองเห็นความสำคัญของการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ตามแนวพระราชดำริเกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากเป็นโรงเรียนที่นักเรียนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวเกษตรกร มีฐานะยากจน ซึ่งมีพื้นฐานการประกอบอาชีพเกษตรกรรม จึงได้ดำเนินการโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ และสมัครขึ้นทะเบียนเป็นกลุ่ม “ยุวเกษตรกรในโรงเรียนดอนสีนวน” เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2540 เริ่มแรก มีสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร 21 คน ชาย 11 คน หญิง 10 คน ในปี 2557 มีสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร 40 คน ทั้งนี้ การจัดตั้งเพื่อสร้างทัศนคติให้เห็นคุณค่าของการเกษตร ปลูกฝังให้นักเรียนทุกคนได้รับความรู้และเทคโนโลยีการเกษตร เคหกิจเกษตร ธุรกิจเกษตร การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อนำความรู้และทักษะดังกล่าวเชื่อมโยงสู่การประกอบอาชีพเกษตรกรรม

อาจารย์ลาวัลย์ ทิมเล็ก ครูชำนาญการพิเศษ ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนดอนสีนวน เปิดเผยว่า การเรียนรู้ของกลุ่ม “ยุวเกษตรกรในโรงเรียนดอนสีนวน” เรียนรู้การประกอบอาชีพอิสระเพื่อการมีรายได้ระหว่างเรียน ส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนมีความรู้ ทักษะและทัศนคติที่ดีต่อการประกอบอาชีพอิสระ สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการศึกษาต่อ หรือสร้างงานประกอบอาชีพอิสระส่วนตัวต่อไปในอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง และมีประสบการณ์มากขึ้น พร้อมทั้งมีรายได้ระหว่างเรียนจากการจัดกิจกรรมนั้นซึ่งประกอบด้วยความหลากหลายกิจกรรม สามารถสร้างสรรค์ผลงาน เช่น

งานรวม คืองานที่สมาชิกทุกคนในกลุ่มร่วมกันดำเนินการ ได้แก่ ทำปุ๋ยหมัก การปรับปรุงสภาพพื้นที่แปลงเกษตร
งานย่อย คืองานที่สมาชิกบางคนในกลุ่มร่วมกันดำเนินการ แบ่งเป็น 5 งาน คือ งานเพาะเห็ดนางฟ้าภูฏาน ได้แก่ การเขี่ยเชื้อ การดูแล การให้น้ำ การเกิดโรค การเก็บ การจำหน่าย การตลาด การทำบัญชี งานแปรรูปผลผลิต ได้แก่ การทำแหนมเห็ด การทำเห็ดสวรรค์ กล้วยฉาบ งานทำน้ำยาอเนกประสงค์ ได้แก่ น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาถูพื้น น้ำยาซักผ้า งานเพาะปลูกพืชผักสมุนไพรและผักสวนครัว ได้แก่ งานปลูกพืชผักสวนครัว การปลูกมะนาว และงานปลูกข้าว ได้แก่ ข้าว กข ข้าวเจ๊กเชย

งานส่วนบุคคล เป็นงานที่ให้สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรเลือกนำความรู้และทักษะไปปฏิบัติที่บ้านตนเองตามความสนใจ เช่น การปลูกพืชผักชนิดต่างๆ เช่น การปลูกส้มโอ การปลูกแก้วมังกร การปลูกมะปราง และพืชผักต่างๆ

เด็กชายวสันต์ สายแวว หรือชื่อที่เพื่อนๆ เรียกว่า “ก็อต” สมาชิกยุวเกษตรกรดีเด่นวัย 15 ปี อยู่บ้านเลขที่ 83 หมู่ที่ 5 ตำบลหนองแซง อำเภอหันคา เปิดเผยว่า ผลจากการเรียนรู้จากการเป็นสมาชิกยุวเกษตรกร นอกจากการฝึกเรียนรู้และปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่ออาชีพด้านการเกษตร ก็เพิ่มความสามารถในการบริหารและการจัดการสถาบัน ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ รู้จักการทำงานเป็นหมู่คณะ ส่งเสริมการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย โดยอาศัยข้อบังคับและวิธีการดำเนินงานยุวเกษตรเป็นแนวทางการฝึกหัด มีการวางแผนกิจกรรมต่างๆ

ทั้งงานของกลุ่มแบบส่วนรวม งานกลุ่มย่อย และงานส่วนบุคคล การกำหนดบทบาทหน้าที่ของกลุ่ม โดยการประชุมเลือกตั้งคณะกรรมการสภายุวเกษตรกรทุก 2 ปี เพื่อให้สมาชิกได้มีการเลือกผู้นำตามระบอบประชาธิปไตย บริหารงานและการจัดการในรูปของคณะกรรมการอย่างชัดเจน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสมาชิกปฏิบัติตามกฎกติกาของกลุ่ม การสร้างผู้นำและพัฒนาศักยภาพผู้นำกลุ่มยุวเกษตรกร เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาได้สร้างความเชื่อมั่นพัฒนาขึ้นตามลำดับ สมาชิกจะดำเนินกิจกรรมโดยแบ่งกิจกรรมตามกลุ่มย่อยที่มีความสนใจในแต่ละกิจกรรม บริหารกิจกรรมเพื่อไม่ให้เกิดความซับซ้อนในงานกลุ่มย่อยที่ต้องดำเนินการ รวมทั้งเป็นแกนกลางในการบริหารกิจกรรมการวางแผนการปฏิบัติของสมาชิกกลุ่มย่อย การดำเนินงานจะมีการสร้างข้อตกลงและระเบียบในการทำกิจกรรมของกลุ่ม ให้สมาชิกเข้าร่วมตามความสนใจและความถนัด

ผอ. สุมิตร กล่าวเสริมอีกว่า การประเมินผล เพื่อการสรุปผลการดำเนินงานตามแผนงาน โดยให้มีการประชุมเป็นประจำ จัดทำเอกสารและบัญชีรายรับ-รายจ่าย โดยสมาชิกในกลุ่มเป็นผู้จดบันทึกกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน วางแผนและแบ่งงานให้สมาชิกร่วมดำเนินการ มีสมุดบันทึกประจำกลุ่ม ประจำกลุ่มย่อย และสมุดบันทึกกิจกรรมของสมาชิกรายบุคคล เพื่อใช้สำหรับการวางแผนปฏิบัติงานในแต่ละวัน รวมทั้งการนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนและปรับปรุงกิจกรรม ควบคู่กับการประเมินผลงานของกลุ่ม ว่าผลการดำเนินงานสำเร็จตามวัตถุประสงค์

ทั้งการเรียนรู้ ความสามารถดำเนินกระบวนการในการประกอบธุรกิจที่ได้รับการฝึกประสบการณ์ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้รู้จักคิดและแก้ปัญหาด้วยตนเองได้ และรู้จักการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มเพื่อหารายได้ระหว่างเรียนตามสภาพ และความสามารถของตนเองอย่างมีความสุข มีนิสัยรักการทำงานและยังส่งเสริมให้ยุวเกษตรกรได้รู้จักคิดสร้างงานเพื่อเลี้ยงชีพและประกอบอาชีพสุจริตต่อไปในอนาคต มีความรับผิดชอบและมีระเบียบวินัยต่อตนเอง และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ได้รู้จักประหยัดและอดออมในการใช้ทรัพยากรในการปฏิบัติโครงการ อีกทั้งยังมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่เพื่อนร่วมงาน สามารถพึ่งตนเองได้จากการประกอบอาชีพในระหว่างที่ยังศึกษาอยู่ในโรงเรียน นำประสบการณ์ไปประกอบอาชีพเบื้องต้นเลี้ยงตนเองได้ เป็นผู้นำท้องถิ่นได้

จากการสังเกตพบว่า ยุวเกษตรกรมีความพึงพอใจในการดำเนินงานและผลประโยชน์ที่แต่ละโครงการจัดแบ่งให้ และยุวเกษตรกรยังได้เรียนรู้กลยุทธ์ในการจัดหาตลาด และจัดจำหน่ายผลผลิตของตนเอง และดีใจที่ทีมงานของสำนักงานเกษตรอำเภอหันคา นำโดย คุณชัด ขำเอี่ยม ได้นำทีมงานมาร่วมงานในการพัฒนายุวเกษตรกรดังกล่าว จนสามารถได้รับการคัดเลือกเป็นยุวเกษตรกรดีเด่น ระดับเขต 1 ในปี 2561 นี้

คุณอร่าม ทรงสวยรูป อดีตช่างภาพรางวัลพูลิตเซอร์ หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานมากว่าสิบปี ก็ได้หันมาทำเกษตร โดยเริ่มต้นจากลงทุนซื้อที่ดิน คุณอร่าม เล่าว่า ครอบครัวมีที่ดินอยู่อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ แต่พ่อแม่หวงที่ดินมาก ไม่อยากให้มาทำเกษตร ขุดบ่อ ตนจึงตัดสินใจเอาบ้านเข้าธนาคารเพื่อที่จะนำเงินมาซื้อที่ดิน ในการเลือกซื้อที่ดิน ก็จะดูทำเล มีแหล่งน้ำ เหมาะแก่การทำเกษตร จึงได้ที่ตำบลท่าเยี่ยม อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา จำนวนที่ดินทั้งหมด 9-10 ไร่ ราคาซื้อเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ไร่ละ 40,000 บาท

ในการทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสานของ คุณอร่าม ทรงสวยรูป จะแบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วน ที่อยู่อาศัย 20 เปอร์เซ็นต์ น้ำ 30 เปอร์เซ็นต์ เกษตร 30 เปอร์เซ็นต์ ป่า 20 เปอร์เซ็นต์ ใช้พื้นที่ทั้งหมดให้เกิดประโยชน์ ทำคันนาให้กว้าง เหลือพื้นที่ปลูกผัก มีการปลูกพืชแซมเพื่อให้พืชได้เอื้อผลประโยชน์กัน และที่สำคัญคือเกษตรอินทรีย์ ปราศจากสารเคมี เหมือนสโลแกนที่คุณอร่ามคิดไว้คือ “คนกินมีสุข คนปลูกมีกิน”

คุณอร่าม เล่าว่า ตนมีหลักการทำเกษตรอยู่ 4 การ การแรกคือ อุดมการณ์ ในการทำเกษตร ต้องสะอาด ปลอดภัย เพราะเราปลูกกินปลูกขายถ้าทำไม่สะอาด เราก็จะได้รับผลไปด้วย การที่สองคือ ประสบการณ์ จากการทำงานช่างภาพให้สำนักพิมพ์มติชน ได้อ่านนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน การที่สามคือ วิชาการ ความรู้ที่ทันสมัย การสร้างงาน การสุดท้าย การตลาด ความต้องการของผู้บริโภค จะตอบสนองความต้องการอย่างไร นี่ถือเป็นแนวความคิดที่สามารถนำไปใช้ได้กับหลายอาชีพ

ที่สวนของคุณอร่ามปลูกพืชหลายชนิด อย่างที่แนะนำคือ พันธุ์ข้าวอินทรีย์พื้นเมืองของจังหวัดสุรินทร์ ชื่อพันธุ์ปะกาอำปึล (แปลเป็นไทยคือ ดอกมะขาม) เป็นข้าว 2 แผ่นดิน ระหว่าง ไทย-เขมร คุณอร่ามปลูกเพื่อต้องการที่จะอนุรักษ์ไว้และนำไปให้เครือข่ายที่จังหวัดสุรินทร์ปลูกต่อ ถัดมาเป็นซุ้มทางเดินสารพัดผัก ที่คุณอร่ามเรียกว่าซุปเปอร์มาร์เก็ตในบ้าน ที่มีผักนานาชนิด ทั้งพริก หอมเป หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่าผักชีฝรั่ง ผักแพรว ถัดมาข้างๆ เป็นบ่อปลูกมะนาวที่ให้ผลผลิตตลอดทั้งปี มีหม่อนกินผล หรือมัลเบอร์รี่ ต้นโกโก้ กาแฟ ที่ทดลองปลูกและได้เก็บผลผลิตแล้ว ถัดมาเป็นหางไหล สมุนไพรใช้ไล่แมลง ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม เพราะที่สวนของคุณอร่ามเป็นเกษตรอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ การปลูกพืชผสมผสานของคุณอร่าม จะไม่ให้มีพื้นที่ว่าง อย่างคันนาก็จะทำให้มีขนาดกว้าง เพื่อที่จะปลูกพืชทั้ง 2 ฝั่ง

คุณอร่าม เล่าถึงการลงทุนในแบบฉบับของตน gfxtr.net แสนแรก แสนสาหัส แสนเหนื่อย แสนท้อ ตนอดทนผ่านพ้นตรงนี้ไปได้ ก็มาเจอแสนที่สอง แสนจะมีความสุข หลังจากเหน็ดเหนื่อยมาพอสมควร เริ่มเห็นผลที่มาจากน้ำพักน้ำแรงก็ยิ้มได้ แสนที่สาม แสนจะอิสระ เป็นการทำงานที่ไม่มีหัวหน้า ทำในสิ่งที่ชอบ มีความสุข คุ้มกับการลงทุนในครั้งนี้

เกษตรสมัยใหม่ในความคิดของคุณอร่ามคือ การปรับตัว ดูแนวทางในการปลูก ควรจะปลูกพืชที่สามารถอยู่ได้นาน พืชอาหาร อย่างการปลูกกล้วยที่สวนของคุณอร่าม จะปลูกแซมกับพืชอื่นๆ เพราะกล้วยมีคุณสมบัติดูดซึมน้ำ ทำให้พืชที่ปลูกแซมมีใบสวยได้รับน้ำเพียงพอ นอกจากพืชแซม ยังปลูกอินทผลัมกินผล เป็นพืชที่มีอายุยาวอยู่ได้ 40-50 ปี สามารถเก็บผลผลิตได้จนแก่ พันธุ์ที่ปลูกเป็นบาร์ฮี คุณอร่ามซื้อแบบเพาะเนื้อเยื่อมาปลูก ราคาต้นละ 1,200 บาท เพราะการเพาะเนื้อเยื่อทำให้รู้เพศของต้น ทำให้ลดเวลาในการปลูก

เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการทำเกษตร ไม่ใช่ว่าต้องทำแล้วรวย แต่ทำแล้วมีความสุข ถือเป็นความสำเร็จในชีวิตหนึ่งอย่าง ได้อิสระทางความคิด ทำให้เรามีอาหารที่ปลอดภัย ได้สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ได้เล่าสู่กันฟังว่าเกษตรแบบผสมผสานทำได้จริง ผลตอบแทนมาเรื่องรอง ปัจจุบัน มีอาชีพเกษตรเป็นอาชีพหลัก อาชีพเสริมก็ยังถ่ายภาพประชาสัมพันธ์รายการมวยในทีวีช่องหนึ่ง

มีอีกหนึ่งเรื่องเล่าจากคุณอร่าม เป็นเรื่องแปลกที่มีความขำปนอยู่ เรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อครั้งที่คุณอร่ามทำนาและไม่มีเวลาเลี้ยงลูก ด้วยวัยของเด็กกำลังซนจึงทำให้คุณอร่ามต้องเลี้ยงลูกในหลุม หมายถึงคุณอร่ามจะขุดหลุมที่แปลงนาช่วงเกี่ยวข้าว ขนาดเท่าตัวเด็ก สูงประมาณคอของเด็ก แล้วให้ลูกลงไปอยู่ในหลุมพร้อมกับของเล่น เพื่อที่จะไม่ให้มาวิ่งซนจนอาจเกิดอุบัติเหตุพลัดตกน้ำ หลังจากปล่อยลูกลงไปไว้ในหลุ่มแล้ว ตนก็จะทำนาต่อ แต่ก็จะมีแวะมาดูเป็นระยะ ว่าลูกยังอยู่ในหลุ่มหรือเปล่า นี่ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านของคนสมัยก่อนที่ไม่มีเทคโนโลยีมาหลอกล่อเหมือนเด็กยุคนี้ ถือเป็นวิธีที่น่าสนใจและนำมาใช้ได้ในปัจจุบัน