ปลูกฟักทองผลอ่อน เพิ่มรายได้ก่อนพืชหลัก ไม่ต้องหาตลาด

มีพ่อค้ารับซื้อถึงสวน สวัสดีครับท่านผู้อ่าน แฟนนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ที่ติดตามอ่านบทความของลุงยศคนเกษตร ขอขอบคุณที่ติดตามอ่านสาระดีๆ ที่ได้จากประสบการณ์ตรงของเกษตรกร ในครั้งนี้ผู้เขียนได้เดินทางไปทำธุระที่จังหวัดสิงห์บุรี และได้ใช้เส้นทางสายอินทร์บุรี-ตากฟ้า-หนองบัว-บึงสามพัน (สี่แยกราหุล)-ภักดีชุมพล-หนองบัวระเหว-เทพสถิต-ซับใหญ่-ชัยภูมิ-ขอนแก่น เพื่อเดินทางกลับจังหวัดสกลนคร

การเดินทางสะดวก และมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ในระหว่างเส้นทางก็มีจุดสนใจมากมาย เช่น ทุ่งดอกกระเจียว ป่าหินงาม แต่สถานที่เหล่านี้ผู้เขียนได้เดินทางไปชมแล้วหลายครั้ง ในครั้งนี้ได้เพิ่มความตื่นตามากขึ้น เพราะตั้งใจที่จะเข้าชมทุ่งกังหันลมที่มีมากที่สุดในประเทศไทย และสามารถแทรกอยู่บนพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรได้อย่างลงตัว ลงตัวอย่างไรติดตามครับ

บ้านบุฉนวน ตำบลซับใหญ่ อำเภอซับใหญ่ จังหวัดชัยภูมิ ตั้งอยู่ห่างจากองค์การบริหารส่วนตำบลซับใหญ่ ประมาณ 5 กิโลเมตร การเดินทางสะดวกสบาย บนถนนไร้ฝุ่น ที่ทางบริษัทกังหันลมได้สร้างไว้บนเส้นทางที่ชาวบ้านใช้กันเป็นประจำ สภาพโดยทั่วไปเป็นพื้นที่การเกษตร ช่วงที่ผู้เขียนเดินทางไปคือหน้าฝนเดือนกรกฎาคม ดังนั้น ความเขียวชอุ่ม สดสวยของป่ามีความสวยงามมาก สายลมพัดอ่อนๆ พร้อมกับละอองฝนเล็กน้อย สลับแสงแดดอ่อนๆ เมฆเคลื่อนตัวไปในทิศทางของกระแสลม ที่ปะทะใบกังหันหมุนพร้อมกัน เป็นภาพที่สวยงามแปลกตา พื้นที่ดินของเกษตรกรอยู่ในเขต ส.ป.ก. กิจกรรมทางการเกษตรส่วนมากปลูกมันสำปะหลังและพืชไร่อื่นๆ ช่วงปลายพฤษภาคม-กรกฎาคม เกษตรกรจะปลูกฟักแฟง และฟักทอง ทั้ง 2 ชนิด ปลูกเพื่อเก็บผลอ่อนออกขายช่วงกลางฝน เพราะเป็นพืชที่ต้องการใช้น้ำเพื่อการเจริญเติบโต ราคาในท้องตลาดดีมาก

ผู้เขียนได้พบกับ คุณณัฐพนธ์ มักขุนทด อยู่บ้านเลขที่ 43 หมู่ที่ 6 บ้านบุฉนวน ตำบลซับใหญ่ อำเภอซับใหญ่ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นผู้นำส่งผลผลิตลูกฟักอ่อน และลูกฟักทองอ่อนเข้าสู่ตลาดในจังหวัดชัยภูมิและจังหวัดขอนแก่น ซึ่งในแต่ละปี คุณณัฐพนธ์จะเป็นผู้ที่รับส่งประจำ นำรายได้มาสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการใช้พาหนะขนส่งที่มีสภาพใหม่ทันสมัย

ในด้านการผลิตเจ้าของสวน คุณบัวลอย ภูมิธิ อยู่บ้านเลขที่ 170 หมู่ที่ 6 บ้านบุฉนวน ตำบลซับใหญ่ อำเภอซับใหญ่ จังหวัดชัยภูมิ โทร. (086) 252-1563 กล่าวว่า ปลูกฟักทองผลิตผลอ่อนมานานหลายปีแล้ว พื้นที่ก็เป็นเขต ส.ป.ก. ตั้งอยู่ใกล้กังหันลม อาศัยช่วงที่ขุดมันสำปะหลังออกใหม่ๆ เดือนพฤษภาคม ขณะรอที่จะลงมือปลูกมันสำปะหลังอีกรอบปลายเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ก็ปลูกฟักทอง ฟักแฟง เพื่อเพิ่มรายได้ก่อนพืชหลัก พื้นที่นี้ถ้าเป็นหน้าแล้งไม่มีแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร จะปลูกพืชอื่นก็เสี่ยง หลังจากปลูกมันสำปะหลังไปแล้วก็รอเวลา เดือนเมษายนถึงพฤษภาคมก็เก็บเกี่ยวผลผลิต ช่วงต้นฝนก็ปลูกพืชตระกูลฟักแฟงอีกเช่นเคย หมุนเวียนไปอย่างนี้ทุกปี ในปีนี้ประสบปัญหาอยู่ 2 อย่าง คือ 1. บริษัทที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ฟักทองใช้เมล็ดที่มีคุณภาพต่ำบรรจุขาย เมื่อนำไปปลูกเกิดความงอกน้อยกว่าที่เคยนำไปปลูกเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา 2. เกิดโรคราที่โคนต้นและใบ ผู้เขียนก็ถือโอกาสแนะนำให้ทดสอบความงอกก่อน ตามหลักวิชาการถ้างอกดีก็ซื้อ และให้ไปปรึกษาเกษตรอำเภอเรื่องใช้สารชีวภัณฑ์กำจัดเชื้อรา คุณบัวลอยขอบคุณ

การเก็บผลผลิตลูกฟักทองอ่อนต้องเก็บตอนสายๆ ประมาณ 09.00 น. เป็นต้นไป ให้ลูกฟักทองดูดน้ำเข้าผลอย่างเต็มที่ก่อนเพื่อจะไม่เหี่ยวง่าย หลังจากนั้น นำมาล้างดินทำความสะอาด ผึ่งให้หมาด บรรจุลงถุง ถุงละประมาณ 10 กิโลกรัม ขายส่งถุงละ 100-110 บาท มีพ่อค้ามารับถึงที่ในสวน ผู้เขียนได้สังเกตการณ์การล้าง จะใช้น้ำสะอาดผสมด้วยน้ำยาล้างจานที่เราใช้ในครัวเรือนในปริมาณเล็กน้อย ล้างผิวจะเป็นมันสวยวาว การบรรจุลงถุง ใช้ด้านขั้วผลที่ยาวลงไปก่อนแล้วใส่ลงทับลงไปทีละลูก ระวังไม่ให้ผิวช้ำ นำไปวางบนพื้นที่มีวัสดุปูรองอีกชั้นหนึ่ง รอเวลาการขนส่งเข้าสู่ตลาดต้นทาง

ครับเมื่อกล่าวถึงพลังงานสะอาด ผู้เขียนเองก็มีความสนใจมาก เพราะไม่ไปบุกรุกธรรมชาติ ปล่อยให้ธรรมชาติอยู่อย่างปลอดภัย ในพื้นที่นี้ก็เช่นกัน สังเกตว่าเกษตรกรให้ความสำคัญมาก และสามารถอยู่กันได้อย่างลงตัว กังหันลมแต่ละต้นใช้พื้นที่ประมาณ 2 งาน และพื้นที่วงรัศมีโดยรอบประมาณ 1 ไร่ ชื่นชมเทคโนโลยีการสร้างที่ลงตัวในพื้นที่เกษตรกรรมด้านการผลิตพืชไร่ เกษตรกรมีรายได้สม่ำเสมอตลอดปี และยังสร้างโอกาสทางการท่องเที่ยว สำหรับท่านที่สนใจเข้าเยี่ยมชม ก็สามารถเดินทางไปที่เขตพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลซับใหญ่ ทางเข้าจะมีใบกังหันลมวางอยู่ปากทาง สามารถขับรถเข้าไปชมได้ สอบถามพูดคุยกับเกษตรกรบริเวณนั้น ท่านก็จะได้รับความสะดวกยิ่งขึ้น

พลังงานสะอาดมีมากมายหลายเหตุผลที่ให้ท่านเลือก เช่น ไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ไฟฟ้าพลังน้ำ ไฟฟ้าพลังลม แต่ที่ไม่เปลืองพื้นที่ก็เห็นจะเป็นพลังงานลมนี่แหละ แต่ต้นทุนสูง ในทางกลับกันถ้าใช้กังหันลมตัวที่มีขนาดเล็กและต้องใช้หลายตัว ผู้เขียนว่าขนาดใหญ่จะเหมาะสมกว่าเพราะใช้พื้นที่น้อยกว่า กำลังไฟฟ้าได้มากกว่า (อันนี้ไม่มีความรู้ด้านการผลิตไฟฟ้าแต่ก็คาดเดาว่าน่าจะดีกว่าอย่างอื่นๆ) ทัศนียภาพสวยงามอีกต่างหาก กับภาพประทับใจที่ลงมาให้ชมนะครับ

สนใจสอบถามเส้นทางเข้าชมทุ่งกังหันลมและอุดหนุนผลผลิตการเกษตรชาวบ้านบุฉนวน ติดต่อ คุณณัฐพนธ์ มักขุนทด เบอร์โทร. (065) 046-8405 ฉบับนี้ขอลาไปก่อน พบกันใหม่ฉบับหน้านะครับ สวัสดี

สวนสมรม หรือเกษตรผสมผสาน ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่สอดคล้องกับการมีภูมิคุ้มกันที่ดี ในการประกอบอาชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งคนนครศรีธรรมราชได้นำมาใช้ในการประกอบอาชีพจนประสบผลสำเร็จในหลากหลายพื้นที่ ทั้งบนภูเขาสูง พื้นที่ราบ พื้นที่ลุ่ม และพรุ มีตัวแบบที่ดี มีตัวอย่างที่ดี สำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้หยิบยกมาจัดทำโครงการ เสวนา “สวนสมรม” ทางเลือกทางรอด และการสร้างความมั่นคงด้านอาหารของคนนครศรีธรรมราช โดยผนึกกำลังกับเกษตรกรเจ้าของภูมิปัญญา องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้แทนมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช กองทุน สสส. นักวิชาการอิสระ ในการระดมสมอง จัดเวทีถอดองค์ความรู้ โดยกำหนดจัด 3 เวที เพื่อหาองค์ความรู้ที่เหมาะสมกับแต่ละโซนพื้นที่ไปขยายผลต่อไป

คุณชลินทร์ ประพฤติตรง เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า ตามที่กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เสนอโครงการเพื่อจัดทำโครงการเสวนา “สวนสมรม” ทางเลือกทางรอด และการสร้างความมั่นคงด้านอาหารของคนนครศรีธรรมราช เพื่อระดมความคิดและประสบการณ์ของเกษตรกร และผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องสวนสมรม เพื่อค้นหาตัวแบบที่ดี ที่ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ และจัดทำเป็นหลักสูตรชุมชนในการขยายผลในอนาคตต่อไป

คุณนิพนธ์ สุขสะอาด หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราชผู้เสนอโครงการจัดเสวนาถอดบทเรียน “สวนสมรม” ทางเลือกทางรอด และการสร้างความมั่นคงด้านอาหารของคนนครศรีธรรมราช กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสกับเกษตรกรในทุกสาขาอาชีพทุกพื้นที่ พบว่า เกษตรกรที่ทำอาชีพเชิงเดี่ยว เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน นาข้าว พืชไร่ หรือพืชสวน มักจะเจอปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ รายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ภาวะหนี้สิน การอพยพละทิ้งถิ่นฐาน ฯลฯ ซึ่งแตกต่างจากเกษตรกรอีกกลุ่มอาชีพหนึ่งคือ การทำการเกษตรผสมผสาน ที่มักจะไม่เดือดร้อนกับเรื่องอาชีพและรายได้

“ตัวอย่างเช่น เกษตรกรจากในหลายพื้นที่ที่ทำสวนสมรมจะให้ข้อมูลตรงกันว่า แม้ราคายางพาราตกต่ำ แต่เขาก็ไม่ได้เดือดร้อนมาก เพราะยังมีรายได้จากพืชอื่นๆ เช่น มังคุด ลองกอง หมาก พลู ชะอม จำปาดะ พริกไทย สะตอ ลูกเนียง สะละ ผักกูด และอีกหลายชนิดพืชที่สร้างรายได้ผลัดเปลี่ยน หรือต่อเนื่องไปทั้งปี ซึ่งเป็นการพิสูจน์ชัดว่า การทำการเกษตรผสมผสาน การปลูกพืช ร่วมกัน ที่เกื้อกูลกัน เป็นทางออกที่ดีที่สุดของเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีที่ดินค่อนข้างจำกัด จะได้มีพืช สัตว์ หรือสัตว์น้ำ ไว้ขาย และได้บริโภคในครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตนเองได้ให้สโลแกน หรือแนวคิดในการขับเคลื่อนโครงการนี้ว่า “การเพิ่มพื้นที่ทำกินโดยไม่เพิ่มโฉนด” การทำการเกษตรเชิงประณีต ดูแลพื้นที่ที่มีจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด”

กิจกรรมการเสวนา “สวนสมรม” ทางเลือกทางรอด และการสร้างความมั่นคงด้านอาหารของคนนครศรีธรรมราช ได้เชิญปราชญ์เกษตรและเจ้าของภูมิปัญญาจากทุกอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจัดเสวนา 3 เวที เวทีละ 65 คน โดยการขับเคลื่อนเวทีที่ 1 เป็นการชี้แจงวัตถุประสงค์ การแนะนำตัวผู้เข้าร่วมเสวนา การแนะนำกิจกรรมอาชีพเด่นๆ ของแต่ละคน หลังจากนั้น ก็แบ่งกลุ่มเป็นโซนพื้นที่ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มภูเขา/เชิงเขา กลุ่มที่ราบ และกลุ่มนากลุ่มพรุ เพื่อทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียนหากิจกรรมเด่นหลัก/รอง/เสริม ของแต่ละกลุ่ม พร้อมเทคนิค เคล็ดลับ หรือภูมิปัญญา เตรียมพร้อมไว้แลกเปลี่ยนในเวทีต่อไป

เวทีที่ 2 ให้แต่ละกลุ่มทำองค์ความรู้ที่ได้แลกเปลี่ยน และตกผลึกแล้วนำมาเรียบเรียง นำเสนอในรูปนิทรรศการ และผลผลิตของจริงมาให้ชมให้ชิม โดยให้สมาชิกกลุ่มอื่นหมุนเวียนกันเข้าชม ตามรูปแบบ “World cafe” แล้วนำสิ่งที่ได้มาแลกเปลี่ยนกันในเวทีใหญ่ ค้นหาสิ่งที่ได้จากการเสวนา และมอบหมายภารกิจให้ไปทำต่อ เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนในเวทีที่ 3

เวทีที่ 3 ให้สมาชิกที่ได้รับมอบหมาย นำองค์ความรู้ที่ได้จากการค้นหา จากประสบการณ์จริงของแต่ละคน เพื่อนำเสนอรูปแบบของการพัฒนาสวนสมรม 5 รูปแบบ คือ 1. สวนสมรมกับยางพารา 2. สวนสมรมกับปาล์มน้ำมัน 3. สวนสมรมกับไม้ผล 4. สวนสมรมกับนาข้าว 5. สวนสมรมกับสวนป่าและวนเกษตร โดยให้มีการเสนอแต่ละรูปแบบ พร้อมเหตุผลสนับสนุนจากสมาชิกทุกคน หรือการซักถาม เพื่อให้เกิดความแตกฉานทั้ง 5 รูปแบบ

การเสวนาทั้ง 3 เวที เสร็จสิ้นไปเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการปรับแก้เพื่อให้ได้องค์ความรู้ในการทำเกษตรผสมผสาน การทำอาชีพเกษตรกรรมที่ยั่งยืนที่เหมาะกับการนำไปปรับใช้ในแต่ละพื้นที่ ได้หลักสูตรท้องถิ่นที่พร้อมจะนำไปขยายผลในพื้นที่โดยหน่วยงานต่างๆ ได้วิทยากรที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะทาง ในเรื่องการทำเกษตรผสมผสาน หรือสวนสมรม และจะได้ลดพื้นที่ทำการเกษตรเชิงเดี่ยวในจังหวัดนครศรีธรรมราชลงให้ได้ ลดปัญหาขาดแคลนพื้นที่ทำกิน และเป็นการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ภายใต้หลักคิด “เพิ่มพื้นที่ทำกิน โดยไม่เพิ่มโฉนด”

พลู เป็นพืชไม้เลื้อยที่นิยมนำมากินคู่กับหมาก ซึ่งในสมัยก่อนนั้นเมื่อมีแขกมาเยี่ยมเยือนถึงเรือนชาน ก็จะนำหมากพลูและของต่างๆ มาตอนรับขับสู้แขกผู้มาเยือนถึงบ้าน นอกจากพลูจะเป็นที่นิยมกินแล้ว ยังได้มีการนำมาใช้ในพิธีมงคล เช่น เป็นเครื่องเซ่นไหว้ หรือประกอบพิธีกรรมต่างๆ ที่สำคัญ จึงนับได้ว่าพลูเป็นพืชที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของสังคมไทยมาอย่างยาวนานเลยทีเดียว จึงทำให้พลูยังมีความต้องการของตลาดค่อนข้างมาก จนถึงเรียกได้ว่าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้ไม่น้อย

คุณสมควร แซ่โง้ว อยู่บ้านเลขที่ 123/8 หมู่ที่ 8 ตำบลหนองสองห้อง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เป็นเกษตรกรที่มองเห็นถึงความต้องการพลูของแม่ค้าที่รับซื้อ จึงใช้พื้นที่สวนมาปลูกพลูเพื่อเป็นงานสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ที่ทำมากว่า 3 ปีกันเลยทีเดียว

เปลี่ยนจากขายต้นไม้ มาเป็นเกษตรสวนพลูกินใบ

คุณสมควร เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนมีอาชีพเกี่ยวกับขายต้นพันธุ์ไม้ทั่วไป ต่อมาจึงได้เปลี่ยนจากอาชีพนั้นมาทำสวนฝรั่ง เมื่อปลูกไปได้ระยะเวลานาน การทำสวนฝรั่งไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เพราะมีปัญหาเรื่องยืนต้นตายทำให้อายุของไม้สั้น จึงได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่สวนมาปลูกพลูกินใบแทน

“ช่วงนั้นประมาณ ปี 2557 เราก็เริ่มมาปรับเปลี่ยนปลูกพลูกินใบเลย เพราะช่วงนั้นเรามองว่าต้นทุนการทำสวนพลูไม่น่าจะสูงมาก ใช้อุปกรณ์อื่นๆ ไม่มากเหมือนอย่างไม้อื่น และที่สำคัญไม่ต้องใช้ระยะเวลาที่นานในการเจริญเติบโต เรียกง่ายๆ ว่า ระยะเวลาให้ผลผลิตสั้น ส่วนเรื่องการตลาดก็ไม่น่าเป็นห่วง เพราะมีแม่ค้ามารับซื้อผลผลิตเราถึงที่สวน ทำให้สิ่งที่เราจะลงมือทำมันมีตลาดแน่นอน ก็เลยตัดสินใจทำอย่างจริงจังตั้งแต่นั้นมา” คุณสมควร เล่าถึงที่มา

เน้นใช้กิ่งตอน มาปลูกภายในสวน

เมื่อตกลงปลงใจที่จะทำสวนพลูเป็นงานสร้างอาชีพแล้ว คุณสมควร บอกว่า ก็ได้หาสายพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพมาจากญาติๆ ที่ปลูกกันอยู่เดิม ซึ่งในตอนนั้นญาติของคุณสมควรยังทำสวนพลูในปริมาณที่น้อย ทำให้มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ทำให้เขาเห็นช่องทางนี้ จึงได้มาปลูกให้มากขึ้น เพื่อให้มีกำลังส่งเพียงพอต่อความต้องการของตลาด

ก่อนที่จะนำต้นพลูมาปลูกเพื่อเก็บใบส่งขาย คุณสมควร บอกว่า จะต้องเตรียมพื้นที่ปลูกให้มีความพร้อมเสียก่อน โดยในขั้นตอนแรกจะทำโรงเรือนที่ด้านบนคลุมด้วยตาข่ายพรางแสง 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเรื่องน้ำที่อยู่ภายในร่องสวนเป็นของเดิมที่ทำสวนฝรั่งอยู่แล้ว จึงไม่มีปัญหาในเรื่องนี้

“พอเราพลิกหน้าดินเรียบร้อย ก็หาหลักเสาปูนมาปัก โดยให้หลักมีความสูงที่พอดี ไม่สูงมากจนเกินไป อาจจะเป็นเสาปูน หน้า 2 นิ้ว ขนาดสูง 2.20 หรือ 2.50 เมตร ก็ได้ เพราะถ้าสูงเกินไปเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตจะเสียเวลา พอเตรียมพื้นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะเตรียมต้นปลูกที่เป็นกิ่งตอน มาปลูกลงบริเวณหลุมรอบๆ เสาปูน ซึ่งก้นหลุมก็อาจจะใช้ปุ๋ยคอกช่วย เมื่อพลูเริ่มแตกใบอ่อนก็จะใส่ปุ๋ยเคมีเข้ามาช่วย ส่วนการให้น้ำ พลูชอบพื้นที่พอชื้น แต่อย่าแฉะมากเกินไป อาจทำให้ต้นตายได้” คุณสมควร บอกวิธีการปลูก

เมื่อพลูที่ปลูกมีอายุได้ประมาณ 5 เดือน ต้นก็จะเริ่มมีความสมบูรณ์ สามารถตัดใบขายได้ โดยจะตัดใบที่แก่มีสีเขียวเข้ม โดยเน้นเก็บให้ก้านใบยาวมากที่สุด ซึ่งพลูที่ปลูกในสวนจะตัดขายได้ทุก 25 วันครั้ง ต่อ 1 ต้น คือสามารถวางแผนให้เก็บผลผลิตมีขายได้ทุกวัน โดยต้นพลูที่ตัดใบขายจนหมดแล้ว คุณสมควร บอกว่า จะต้องมีการบำรุงต้นทุกครั้งด้วยการใส่ปุ๋ยเสริมเข้าไป อาจจะเป็นปุ๋ยคอกสลับกับปุ๋ยเคมี เดือนละ 1 ครั้ง

ในเรื่องของโรคที่เป็นปัญหาสำหรับการปลูกพลู เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนโรคที่น่าเป็นห่วง คือ โรคราดำ ที่จะเข้าไปทำลายกิ่งพันธุ์ จึงทำให้ต้นพลูไม่มีความแข็งแรงและอาจเสียหายได้ จะป้องกันด้วยการฉีดพ่นยากันเชื้อราก่อนที่ฤดูฝนจะมาถึง เพื่อให้ภายในสวนปราศจากเชื้อที่จะเข้ามาทำลายต้นพลูได้ โดยหาซื้อยาได้จากร้านเคมีทางการเกษตรทั่วไป

“ต้นพลู ถือว่าเป็นพืชที่อยู่ได้นาน ถ้าเราบำรุงต้นให้ถึง อย่างเช่น พอตัดใบขายแล้ว ต้องบำรุงต้นทันที ก็จะทำให้ต้นไม่ทรุดโทรม ไม่ต้องหาต้นใหม่ๆ มาปลูกซ่อม ก็จะทำให้ประหยัดต้นทุน และที่สำคัญการตัดแต่งกิ่งก็สำคัญ ไม่ใช่ว่าเราตัดใบขายแล้ว จะไม่ต้องตัดแต่งกิ่ง เราต้องหมั่นตัดแต่งกิ่งอยู่เสมอ หมั่นเอาใบฝอยใบเล็กออก กิ่งที่ไม่ดีก็เอาออก ก็จะทำให้กิ่งที่เราต้องการมีความสมบูรณ์ และสามารถมีใบไซซ์ขนาดมาตรฐานส่งขายได้” คุณสมควร บอกถึงวิธีการดูแล

แม่ค้ามารับซื้อใบพลูถึงสวน เพราะตลาดมีความต้องการ

ในเรื่องของการทำตลาด คุณสมควร บอกว่า ไม่เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับเขา เพราะก่อนที่จะลงมือปลูกพืชชนิดนี้ ได้ศึกษาเรื่องความต้องการของตลาดเป็นอย่างดีแล้ว จึงได้ตัดสินใจปลูก เรียกง่ายๆ ว่า เป็นการทำเกษตรแบบใช้ตลาดนำ ยึดความต้องการของตลาดเป็นหลักแล้วจึงลงมือทำ

พลูกินใบจะเน้นตัดขายแบบชั่งกิโลกรัม โดยราคาสามารถขึ้นลงได้ตามกลไกของตลาด ช่วงที่ราคาต่ำสุด ขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 45 บาท และราคาสูงสุดขึ้นไปถึงราคากิโลกรัมละ 120 บาท ซึ่งพลู 1 กิโลกรัม จะได้ใบพลูประมาณ 270-280 ใบ

“เวลาที่เราส่งขายก็ขึ้นอยู่ที่แรงงาน ว่าเก็บได้มากได้น้อย ซึ่งต่อคน ต่อวัน ก็ประมาณ 20 กว่ากิโล ซึ่งที่สวนใช้แรงงานช่วยกันประมาณ 3 คน ก็จะเก็บได้ต่อครั้ง ประมาณ 70 กิโลกรัม ต่อวัน ซึ่งที่สวนก็จะสลับกันเก็บ จึงทำให้สามารถเก็บขายได้ตลอด โดยที่ผลผลิตไม่ขาดตลาด มีป้อนให้แม่ค้าที่มารับซื้อได้อย่างไม่ขาดช่วง นี่ก็เป็นอีกเทคนิคทำการตลาดเรา” คุณสมควร บอกถึงเรื่องการตลาด

สำหรับผู้ที่สนใจอยากปลูกพลูกินใบเป็นอาชีพ คุณสมควร แนะนำว่า ให้ดูว่าในพื้นที่นั้นๆ มีความต้องการพลูมากน้อยเพียงไร เมื่อเห็นว่าตลาดที่จะส่งขายมีแน่นอนแล้ว ก็อาจจะเริ่มทำเป็นอาชีพเสริมเล็กๆ ก่อน เมื่อตลาดมีความต้องการมากขึ้น จึงค่อยๆ ขยายพื้นที่ปลูกให้มีจำนวนมากขึ้น ส่วนในเรื่องการปลูก ก็สามารถศึกษาวิธีการจากผู้ที่ประสบผลสำเร็จได้ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถปรึกษาวิธีการปลูกจากคุณสมควรได้ ยินดีให้คำแนะนำ

หนอนชอนใบ เป็นตัวอ่อนของผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็กชนิดหนึ่ง เมื่อขยายปีกออกเต็มที่วัดได้ 6.0-6.8 มิลลิเมตร ลำตัวสีนวล ปีกคู่หน้าเล็กกว่าปีคู่หลัง เมื่อผสมพันธุ์แล้ว เพศเมียจะวางไข่คราวละ 1 ฟอง มีขนาดเล็กมากเท่าหัวเข็มหมุดสีเหลืองอ่อนไว้ที่ใบอ่อน แล้วฟักออกเป็นตัวภายในเวลา 3 วัน ตัวหนอนเจาะเข้าระหว่างผิวใบไปดูดกินน้ำเลี้ยงภายใน ทิ้งซากเป็นรอยคดเคี้ยวไปมา มีระยะเป็นตัวหนอน 7-10 วัน จากนั้นจะเข้าดักแด้

วิธีป้องกันกำจัด ให้เด็ดใบที่มีหนอนชอนใบเข้าทำลายเผาทิ้งไป ถ้าปลูกใกล้บ้านน้อยต้นแนะนำให้ใช้น้ำยาฉุน เตรียมยาฉุน หรือยาเส้น มีขายตามร้านของชำทั่วไปครึ่งถุงแช่ในน้ำสะอาด 1 ลิตร ทิ้งไว้ 3 ชั่วโมง คั้นแล้วกรองเอาน้ำสีชา ใส่กระบอกฉีด เติมเหล้าขาว 40 ดีกรี อัตรา 1 ช้อนโต๊ะ เขย่าให้เข้ากัน ฉีดพ่นทั้งทรงพุ่ม ตั้งแต่มะนาวผลิใบตั้งแต่วันแรก แล้วฉีดตามอีก 2 ครั้ง ห่างกันทุก 3 วัน เมื่อใบมะนาวมีอายุครบ 9-10 วัน ใบมะนาวจะปลอดภัยจากการเข้าทำลายจากหนอนชอนใบ

กรณีที่ปลูกหลายต้น และห่างจากตัวบ้าน ให้ฉีดพ่นด้วยพลูเพนนอกซาซอน (แคสเคส) 5 เปอร์เซ็นต์ อี.ซี. อัตรา 6 ซีซี ต่อน้ำ 1 ปี๊บ หรือ 20 ลิตร ฉีดพ่นเมื่อมะนาวผลิใบอ่อน และต้องหยุดฉีดพ่น 14 วัน ก่อนเก็บผลผลิต หรือใช้อิมิดาโคลพริด (คอนฟิดอร์ 100 เอสแอล) อัตรา 8 ซีซี ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่นต้นมะนาวในวิธีเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การใช้สารเคมีต้องแต่งกายให้รัดกุม พร้อมใช้หน้ากากปิดปากปิดจมูกให้มิดชิด เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้สารเคมีเอง

“ต้นยางพาราหมดอายุ ราคายางพาราตกต่ำ” นายประสงค์ นิชลานนท์ อายุ 56 ปี เกษตรกรชาวสวนยางพารา หมู่ 4 บ้านห้วยขันธ์ ต.พะวง อ.เมือง จ.สงขลา ได้โค่นต้นยางพาราในพื้นที่ 4 ไร่ทิ้ง แปรสภาพทำสวนมะลิแทน โดยปลูกมะลิกว่า 3,000 ต้น ในเนื้อที่ 3 ไร่ มา 3 ปี ใช้เวลาปลูก 45-60 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ส่วนอีก 1 ไร่ปลูกพืชผักแบบผสมผสาน

ดอกมะลิสามารถเก็บขายได้ทุกวัน วันละ 2-3 กก. ราคา กก.ละ 300 บาท ในช่วงเทศกาลสำคัญโดยเฉพาะวันแม่แห่งชาติที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 12 ส.ค. ดอกมะลิเป็นดอกไม้ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์วันแม่ตลาดต้องการสูงมาก ต้องสั่งจองล่วงหน้า ลูกค้าได้สั่งเข้ามาเป็นจำนวนมาก จนเก็บส่งให้ลูกค้าไม่ทัน แต่ยังคงราคาเดิมที่ กก.ละ 300 บาท เนื่องจากมีข้อตกลงกับลูกค้าว่าไม่ว่าจะช่วงไหนจะถูกหรือแพงก็ยืนพื้นที่ กก.ละ 300 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ไม่ต้องเสี่ยงและอยู่ได้

นายประสงค์บอกว่า คิดแค่จะปลูกมะลิเป็นอาชีพเสริม แต่ปรากฏว่าหลังจากที่ราคายางพาราตกต่ำและน่าจะหมดยุคทองของยางพารา ตนจึงปลูกมะลิกลายเป็นรายได้หลักและเป็นอาชีพหลักเลี้ยงครอบครัวในปัจจุบัน มีรายได้ต่อเนื่องทุกวัน ต่างจากยางพาราที่ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและมีช่วงหยุดพัก

“การทำสวนมะลิจึงเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจมาก ที่สำคัญใช้เวลาปลูกแค่ 45-60 วัน ก็ออกดอกเก็บขายได้แล้ว” “ปลูกเอง ดูแลเอง ขายเอง นักเลงพอ”

เป็นประโยคสั้นๆ แต่กระตุ้นให้ผมต้องเดินทางมาที่สวนทุเรียนแห่งนี้ อยากเจอนักเลงผู้องอาจคนนี้ยิ่งนัก มีคำถามมากมายที่จะต้องพูดคุยกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องมีทุเรียนมาชิมแกล้มการสนทนาด้วยนะ

คุณศราวุฒิ โพธิ์เพชร แห่งสวน “หมอนทองอุดม ไร่แม่กัญญา” หมู่ที่ 3 ตำบลเขาตอก อำเภอเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชายหนุ่มอารมณ์ดีเปิดยิ้มพร้อมเล่าให้ฟังว่า

“ผมเป็นรุ่นลูกที่มาดูแลต่อจากพ่อแม่ครับ ตั้งใจว่าจะดูแลสวนให้ดีเหมือนกับที่พ่อแม่ได้ทำมาก่อนหน้านี้”

“พื้นที่กี่ไร่ครับ เดินเสียเหนื่อยเลย” “13 ไร่ครับ ปลูกทุเรียนทั้งหมด เน้นหมอนทอง ที่สวนเรามีจำนวน 220 ต้น ก้านยาว 20 ต้นและชะนีไข่ 10 ต้น”

“ปลูกมานานหรือยังครับ”

“17 ปีครับ กำลังเป็นสาวเต็มที่เลย ต้นสมบูรณ์ ผลก็สวยงามมาก” “เห็นมีแปลงต้นเล็กๆ ด้วย” “ครับ แปลงใหม่ปลูกได้ 2 ปีกับอีก 5 เดือนแล้ว แปลงนี้ผมจะรวบรวมสายพันธุ์ทุเรียนโบราณของไทยมาปลูกเพื่ออนุรักษ์ให้มากที่สุดครับ”

“โห! เยี่ยมเลย ยกตัวอย่างสักสองสามชื่อหน่อยครับ”

“พานพระศรี ก้านยาวนนท์ สาลิกา พวงมณี ทองตำตัว”

“แล้วจะจำหน่ายหรือให้ชิมครับ”

“ตั้งใจว่าจะให้สมาชิกมาชิมถึงสวนเลยครับ อยากชิมพันธุ์ไหน หากมาตรงช่วงสุกก็จัดการได้เลย”

“อีกนานไหมครับ”

“ขออีก 4-5 ปีครับพี่ รับรองว่าถูกใจคอทุเรียนแน่นอน”

“สนใจตั้งแต่ชื่อสวน มีที่มาที่ไปอย่างไรครับ”

“มาจากชื่อของพ่อและแม่ผมเองครับ พ่อผมชื่ออุดม แม่ชื่อกัญญา โพธิ์เพชร ก็เลยเป็นชื่อสวนที่รวมชื่อพ่อและแม่มาอยู่ด้วยกัน จึงเป็นที่มาของชื่อ หมอนทองอุดม ไร่แม่กัญญา”

ในสวนจะเห็นต้นทุเรียนยืนเรียงรายเป็นระเบียบ ความร่มครึ้มเนื่องจากต้นเริ่มโตเต็มที่ กิ่งก้านสาขาแตกออกทั่วต้น ทำให้แดดส่องลงมาถึงพื้นไม่มากนัก ส่งผลดีคือหญ้ามีไม่มาก ซึ่งคุณศราวุฒิบอกว่าจะไม่ตัด ปล่อยให้เขาได้อยู่ร่วมด้วยกันในสวน หากยาวเกินจึงจะตัดเอามาทำปุ๋ยหมักให้ทุเรียนต่อไป เชือกที่ผูกโยงผลระโยงระยาง นับคร่าวๆ แต่ละต้นมีไม่น้อยกว่า 100 ผล ทรงสวยๆ ทั้งนั้น

“เห็นมีป้ายผ้าแดงๆ เขียนบรรยายเอาไว้ สมัครเล่นพนันออนไลน์ อยากให้เล่าให้ฟังครับ” “อ๋อ ผมตั้งใจบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ครับ ว่าสวนของเรามีที่มาอย่างไร ผืนดินอันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้ ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาตอก อำเภอเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทำเกษตรกรรมหลากหลาย โดยการนำเอาเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพเกษตร บนเนื้อที่ 13 ไร่ หมอนทอง 220 ต้น ก้านยาว 20 ตัน ชะนีไข่ 10 ต้น เฝ้าสังเกตพฤติกรรม เอาใจใส่ในทุกช่วงจังหวะพืช ทุ่มเทแรงกายและหัวใจคนเกษตร เพื่อให้ได้มาซึ่งหมอนทองอุดม ที่สมบูรณ์ด้วยรูปทรง รสชาติ คุณภาพของเนื้อ ตลอดจนมุ่งเน้นถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ”

“เรียกว่าเป็นคำประกาศให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในคุณภาพผลผลิตจากสวนของเราว่างั้น”

“ครับ ที่สวนเราได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช หรือ GAP เมื่อปี 2558 เรียบร้อยแล้วครับพี่”

“เยี่ยมเลย ถามอีกหน่อย ที่สวนดูแลอย่างไร ให้ปุ๋ยอย่างไรครับ” “ที่สวนเราเคยผ่านวิกฤติมาไม่น้อย กว่าจะยืนได้เช่นทุกวันนี้ครับ และต้องขอบคุณวิกฤติที่ทำให้เรามีโอกาส ที่สวนให้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นหลัก จะมีเคมีเสริมอยู่บ้างเพียงเล็กน้อย เช่น ช่วงสะสมตาดอก ช่วงออกดอก แต่หลักๆ ของสวนเราก็คืออินทรีย์ครับ”

“ยากไหม”

“โอย ยากมากครับพี่ ความเสี่ยงชัดๆ ที่เราเจอมาอยู่ 3 ประการคือ 1. การทำให้ออกดอกช่วงนอกฤดูกาลปกติ ซึ่งทำยากและใช้ทุนสูง 2. ทำให้ติดดอกออกผลสมบูรณ์และจำนวนมาก สภาพอากาศต้องเหมาะ หากสภาพอากาศไม่เป็นใจก็เรียบร้อย 3. ราคารับซื้อจากพ่อค้าคนกลาง ซึ่งพยายามกดเกษตรกรอยู่เสมอ ซึ่งทั้ง 3 ข้อนี้เป็นปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมได้ยากมาก”