ปลูกโดยใช้วิธีการปลูกแบบสลับห้วงเวลา เพื่อให้ผลผลิตมีเก็บ

ใช้ระยะเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ลดหลั่นกันไปและสามารถเก็บได้แทบทุกวัน โดย คุณศรีทอน เล่าว่า ตนเองได้ปลูกข้าวโพดข้าวเหนียวดังกล่าวมาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี ซึ่งในแต่ละรุ่นก็จะใช้วิธีการปลูกสลับกันไป เพื่อให้ได้เก็บผลผลิตที่ลดหลั่นกันไป และสามารถเก็บออกจำหน่ายได้ทุกวัน ซึ่งในแต่ละรุ่นก็จะใช้ระยะเวลาในการปลูกจนสามารถเก็บผลผลิตได้ประมาณ 2 เดือนครึ่ง

ผลผลิตข้าวโพดข้าวเหนียวที่นี่จะเป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากจะใช้วิธีการปลูกแบบปลอดภัยจากสารพิษ ประกอบกับดินที่นี่จะดี สามารถปลูกพืชผักก็ให้ผลผลิตที่ดี และมีรสชาติหวาน โดยพื้นที่ ประมาณ 1 งาน ก็จะสามารถเก็บผลผลิตจำหน่ายได้นับหมื่นบาท โดยจะมีพ่อค้าแม่ค้าเดินทางมาซื้อกันถึงหมู่บ้าน และราคาจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4-5 บาท ต่อฝัก …การปลูกข้าวโพดข้าวเหนียวที่นี่สามารถสร้างรายได้ให้เป็นอย่างดี และทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่นี่เลี้ยงครอบครัวส่งลูกหลานเรียนหนังสือได้อย่างสบาย

ทุกวันนี้วิวัฒนาการเพาะเห็ดมีความหลากหลายมากขึ้น จากเห็ดพื้นบ้านที่ชาวบ้านเพาะเลี้ยงกันตามธรรมชาติ มาเป็นธุรกิจการเพาะเห็ดแบบอาชีพที่มีทั้งขนาดเล็กใหญ่ตามกำลังทรัพย์ ขณะที่ความรู้การเพาะ-เลี้ยงเห็ดก็แสวงหาจากแหล่งต่างๆ ได้ไม่ยาก อีกทั้งยังสามารถทำได้ตั้งแต่งานอดิเรกไปจนถึงอาชีพหลัก แต่ไม่ว่าจะทำในลักษณะใดก็ตามถ้าขาดการเอาใจใส่อย่างเต็มที่อาจเป็นการลงทุนที่สูญเปล่าทันที

อย่างราย คุณสิริณัฏฐ์ จารุชัยสิริ หรือ คุณตั้ม มีธุรกิจเพาะ-ขาย และแปรรูปเห็ดอยู่ที่วังน้ำเขียว เห็ดที่เขาเพาะ ได้แก่ ฮังการี นางนวล มิลค์กี้ และหลินจือ ซึ่งทั้งหมดล้วนเพาะ-เลี้ยงแบบอินทรีย์ ด้วยการสร้างมุ้งครอบโรงเห็ดเพื่อป้องกันแมลงมารบกวน แล้วยังต่อยอดด้วยการนำไปแปรรูปเป็นลูกชิ้นเห็ดและน้ำเห็ดเพื่อสุขภาพ หวังสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภค จึงเป็นที่รู้จักกันอย่างดีในชื่อ “ครอบครัวเห็ดมัชรูมแฟมิลี่ฟาร์ม วาณิช” หรือแบรนด์ JTM

คุณตั้ม ไม่ใช่เกษตรกรโดยกำเนิด ไม่เคยมีความรู้อะไรที่เกี่ยวกับเห็ดมาก่อน เขาเคยทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ นานถึง 10 ปี แต่ระยะหลังรู้สึกเบื่อหน่ายกับสภาพสังคมเมืองที่มีความวุ่นวาย การจราจรที่ติดขัดอย่างรุนแรง จนทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ขณะเดียวกัน ตัวเองมีโรคประจำตัวคือภูมิแพ้อากาศ

จึงตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเกิด แล้ววันหนึ่งมาเที่ยวหาคุณอา ซึ่งทำงานอยู่ที่วังน้ำเขียว มาพักอยู่ไม่กี่วัน เกิดความรู้สึกว่าร่างกายสดชื่น หายใจสะดวก แล้วเกิดถูกใจ จึงได้วางแผนชีวิตด้วยการหางานทำที่วังน้ำเขียว

ในตอนแรกยังไม่มีทิศทางเลยว่าจะยึดอะไรทำ แต่เมื่อลองตระเวนสำรวจโดยรอบทุกแหล่งชุมชนได้พบว่า ชาวบ้านที่วังน้ำเขียวนิยมยึดอาชีพการแปรรูปเห็ดเป็นของฝาก พร้อมกับเกิดอาชีพเพาะเห็ดขึ้นมากมาย ดังนั้น ความที่ตัวเราชอบเห็ดเป็นทุนอยู่แล้ว จึงแสวงหาความรู้เกี่ยวกับการเพาะ-เลี้ยงเห็ดในทุกสถานที่ชื่อดังชั้นแนวหน้าทุกแห่งทั่วไป

ภายหลังเติมเต็มความรู้เป็นอย่างดีจึงกลับมาที่วังน้ำเขียวเพื่อปักหลักทำเห็ดเป็นอาชีพด้วยการซื้อก้อนเชื้อเห็ดภูฏานมาเพาะ-เลี้ยง เพื่อนำดอกเห็ดไปขายที่ตลาดชุมชน แต่พอมาช่วงหนึ่งร้านที่เพาะก้อนเชื้อเลิกกิจการ จึงตัดสินใจลองทำก้อนเชื้อเองโดยอาศัยความรู้ที่เคยไปอบรม ทั้งนี้ ได้ใช้เวลานานถึง 3 ปีกว่าจะผสมเชื้อได้สูตรลงตัว

กางมุ้งครอบโรงเพาะเห็ด แก้ปัญหาแมลงศัตรู อาชีพเพาะเห็ดของคุณตั้มดูจะไม่ราบรื่น เนื่องจากเขาประสบปัญหาการรบกวนของฝูงแมลงนานาพันธุ์ เนื่องจากฟาร์มของเขาตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ติดต่อกับพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช (สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช) ซึ่งเป็นแหล่งที่ขึ้นชื่อว่าชุกชุมไปด้วยแมลง แล้วได้สร้างปัญหาหลายอย่างจนไม่อาจจะผลิตเห็ดได้อย่างมีคุณภาพ ได้ลองใช้วิธีทางชีวภาพทุกอย่างแล้วก็ไม่ได้ผล แม้จะมีหนทางออกด้วยการใช้สารเคมีแต่ไม่คิดทำ

ดังนั้น จึงลองหันมาใช้วิธีกางมุ้งครอบโรงเรือนเพาะเห็ด ผลปรากฏว่าสามารถแก้ปัญหาได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ แล้ววิธีนี้ยังถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีเมื่อลูกค้าเข้ามาพบเห็น ทำให้มีความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์

เปิดตลาดเห็ดนางรมฮังการี บนวังน้ำเขียวเป็นรายแรก

การแก้ไขปัญหาแมลงเข้ามารบกวนได้สำเร็จ ถือเป็นชัยชนะที่ทำให้คุณตั้มเกิดกำลังใจ แล้วผุดแนวคิดที่จะบุกตลาดเห็ดอย่างเต็มรูปแบบ และเป็นเวลาเดียวกันที่กระแสเห็ดนางรมฮังการีเริ่มดัง คุณตั้มมองว่าในอนาคตเห็ดสายพันธุ์นี้มีแนวโน้มดี ดังนั้น จึงได้ค่อยๆ ปรับจากเห็ดภูฏานมาเพาะเห็ดนางรมฮังการีสายพันธุ์ขนาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นรายแรกบนวังน้ำเขียวที่ได้นำเห็ดนางรมฮังการีมาเพาะ และเป็นของใหม่จนทำให้ชาวบ้านไม่กล้าซื้อมาแปรรูปหรือบริโภคเพราะความที่มีขนาดใหญ่จึงทำให้ยากลำบากในการฉีกเพื่อแปรรูป

เหตุนี้คุณตั้มจึงต้องใช้ยุทธวิธีลด แจก แถม จนเมื่อชาวบ้านเกิดความคุ้นเคยและยอมรับก็ยอมซื้อไปแปรรูปเพิ่มขึ้น แล้วปรากฏว่าเห็ดนางรมฮังการีเป็นพระเอกของฟาร์ม เพราะมีผลผลิตที่สร้างรายได้ให้ทั้งปี อีกทั้งขนาดของน้ำหนักดอกเห็ดประมาณ 1.5 ขีด ถึง 80 กรัม ที่เป็นผลมาจากส่วนผสมก้อนเชื้อเห็ด ได้แก่ กระถินป่น ส่าเหล้า ฟอสเฟต โดโลไมท์ รำข้าว น้ำตาลทราย และดีเกลือ ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด

โดยเฉพาะชาวบ้านที่นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ของฝากในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแหนมเห็ด เห็ดสามรส เห็ดทอดสมุนไพร เห็ดเปรี้ยวหวาน และเห็ดกรอบเค็ม แล้วกำหนดราคาขายเห็ดนางรมฮังการีหน้าฟาร์ม มารับเองกิโลกรัมละ 40 บาท

คุณตั้ม ชี้ว่า จุดเด่นของเห็ดนางรมฮังการีอยู่ตรงรสชาติที่มีความกลมกล่อม ยิ่งเมื่อนำไปแปรรูปเป็นลูกชิ้นเห็ดแล้วจะมีรสและเนื้อคล้ายกับลูกชิ้นปลา อีกทั้งยังมีส่วนผสมของบุกที่นำเข้ามาจากไต้หวันจึงเป็นที่นิยมของลูกค้าที่เลี่ยงรับประทานเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลเจจะขายดีมาก อย่างเทศกาลเจ ขายได้กว่า 100 กิโลกรัม

ทั้งนี้ ลูกชิ้นเห็ดบรรจุในถุงมีจำหน่าย 2 ขนาด คือครึ่งกิโล กับ 1 กิโลกรัม ราคาขายถุง 1 กิโลกรัม ถ้าขายปลีกถุงละ 145 บาท ถ้าราคาส่งถุงละ 115 บาท หากสั่งซื้อจำนวนมากอาจมีส่วนลดได้อีก

แตกแขนงเห็ดอีกหลายชนิด เอาใจตลาดผู้บริโภค

นางนวล เป็นพันธุ์เห็ดชนิดต่อมาที่คุณตั้มนำมาเพาะ เจ้าของฟาร์มเห็ดบอกว่า เห็ดนางนวลไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก ถึงแม้จะพบว่ามีสรรพคุณดีกว่าฮังการีและภูฏานเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น เมื่อเพาะแล้วจึงแปรรูปเอง โดยคิดว่าจะพยายามทำตลาดเห็ดนางนวลให้มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้นเพื่อผลักดันเข้าสู่ตลาด ทั้งนี้ เห็ดนางนวลขายกิโลกรัมละ 60 บาท สำหรับเห็ดนางนวลลูกค้านำไปแปรรูปเป็นเห็ดชุบแป้งทอดสมุนไพรแล้วใส่เครื่องแกง

“เห็ดมิลค์กี้ (Milky mushroom)” เป็นเห็ดอีกสายพันธุ์หนึ่งที่ปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย นอกจากนำไปประกอบอาหารได้แล้วยังสามารถนำไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าได้อีกด้วย เห็ดมิลค์กี้เป็นเห็ดตีนแรดสายพันธุ์หนึ่งที่นำเข้ามาจากประเทศฟิลิปปินส์ แล้วนำมาพัฒนาสายพันธุ์ให้ปลูกได้ในประเทศไทย ซึ่งมีอัตราการเกิดของดอกได้ง่าย เหมาะกับสภาพแวดล้อมอย่างไทย และดอกใหญ่ เนื้ออร่อย จึงเป็นที่นิยมของผู้บริโภค

คุณตั้ม บอกว่า ข้อดีของเห็ดมิลค์กี้คือสามารถเพาะเลี้ยงได้ในทุกภาชนะ แต่ที่ฟาร์มซื้อกระบะไม้เก่าราคาถูก มาใช้สำหรับเพาะเลี้ยงได้จำนวน 200 กว่าก้อน แล้วคุณตั้ม ชี้ว่า ยิ่งภาชนะเพาะเลี้ยงมีขนาดใหญ่ยิ่งทำให้ดอกใหญ่ เนื่องจากดอกเล็กจะรวมตัวกันเป็นดอกใหญ่ แล้วที่ผ่านมาพบว่ายังเคยเพาะได้ถึง 10 กิโลกรัม ต่อดอก

สำหรับส่วนผสมอาหารเห็ดมิลค์กี้จะใช้ส่วนผสมเดียวกันกับเห็ดชนิดอื่น เพียงแต่ปรับอัตราส่วนของรำลงเท่านั้น สำหรับเห็ดมิลค์กี้ไม่มีการแปรรูป แต่จำหน่ายเป็นเห็ดสดในราคากิโลกรัมละ 250 บาท เหตุที่มีราคาสูงเพราะผลิตยาก แล้วใช้เวลานานในแต่ละขั้นตอนกว่าจะได้ผลผลิตเพียงปีละครั้งเท่านั้น เห็ดชนิดนี้ลูกค้านิยมนำไปปรุงสดเป็นอาหาร

เห็ดต่อมาที่แปรรูปคือ หลินจือ เป็นสายพันธุ์เห็ด G2 พระราชทาน ที่เพาะ-เลี้ยงเอง เป็นพันธุ์ที่มีสรรพคุณทางยาหลายชนิด การจำหน่ายเห็ดหลินจือของฟาร์มแห่งนี้เป็นลักษณะการตากแห้ง กำหนดไว้ 3 เกรด ได้แก่เกรด A ขายกิโลกรัมละ 2,500 บาท เกรด B ขายกิโลกรัมละ 2,000 บาท และเกรด C ขายกิโลกรัมละ 1,500 บาท สำหรับเห็ดหลินจือนี้จะผลิตตามที่ลูกค้าสั่งมาเท่านั้น

นอกจากนั้น ยังได้นำเห็ดพันธุ์นี้มาแปรรูปเป็นน้ำเห็ดด้วยระบบสเตอริไลซ์ ขนาดขวด 180 ซีซี สามารถเก็บได้ในอุณหภูมิปกติได้นานถึง 2 ปี โดยไม่ได้ใส่สารกันบูด แล้วที่น่าสนใจตรงที่ได้นำอินทผลัมใส่ลงในน้ำเห็ดหลินจือ โดยใช้น้ำแร่จากจังหวัดลำปางเป็นส่วนประกอบ ซึ่งถือเป็นสูตรพิเศษ จึงทำให้มีรสชาติกลมกล่อม โดยกำหนดราคาขายถ้าเป็นสูตรน้ำแร่ ขายปลีกขวดละ 40 บาท ส่ง 28 บาท ถ้าสูตรใช้น้ำธรรมดา ขวดละ 35 ครับ ขายส่ง 25

สำหรับช่องทางการตลาดนั้น เจ้าของฟาร์มเห็ดระบุว่า ได้วางแผนการขายผ่านออนไลน์และอ๊อฟไลน์ มีทั้งเฟซบุ๊กและสื่อสิ่งพิมพ์หลายชนิด แต่ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือ การขายผ่านทางเฟซบุ๊ก

“ท่านที่สนใจการเพาะเลี้ยงเห็ดเป็นอาชีพ ควรศึกษาหาความรู้อย่างละเอียดให้ดีเสียก่อน เนื่องจากเห็ดมีข้อจำกัดหลายด้านที่อาจสร้างปัญหาได้ แต่เมื่อสามารถจับหลักได้แล้วคราวนี้คงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ทั้งนี้ ถ้าเป็นมือใหม่ควรทำจำนวนน้อยก่อน เพราะควรทำความรู้จักกับเห็ดให้ได้มากที่สุด พอได้สูตรการผลิตที่ลงตัวแล้วจึงค่อยๆ เพิ่มจำนวนต่อยอดไปเรื่อยๆ” คุณตั้ม กล่าว

คุณตั้ม ถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดกว้างไกล พร้อมไปกับการนำเทคโนโลยีการสื่อสารมาปรับใช้กับธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า จึงน่าจะเป็นตัวอย่างของเกษตรกรรุ่นใหม่ในอนาคตต่อไป

สภาพอากาศร้อนตลอดวัน และมีแดดแรงในระยะนี้ กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกพริกให้เฝ้าระวังการระบาดของเพลี้ยอ่อน และแมลงหวี่ขาว มักพบการเข้าทำลายในระยะเก็บเกี่ยวผลผลิตพริก สำหรับเพลี้ยอ่อน จะพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและยอด ทำให้ใบและยอดอ่อนหงิกงอ บิดเบี้ยวเป็นคลื่น ส่งผลทำให้ต้นพริกชะงักการเจริญเติบโต และยังเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคใบด่างในพริก ซึ่งจะระบาดในช่วงอากาศแห้งแล้ง

เกษตรกรควรใช้วิธีเขตกรรมในการกำจัดวัชพืชในแปลงไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก หากพบเพลี้ยอ่อนมีความหนาแน่น 10-20 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ใบทั้งต้นจากจำนวน 10 เปอร์เซ็นต์ของต้นทั้งหมด ให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลงอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดโนทีฟูแรน 10% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอีโทเฟนพร็อกซ์ 20% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และควรพ่นสารอย่างใดอย่างหนึ่ง

แมลงหวี่ขาว มักพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อน และยังเป็นพาหะนำโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ทำให้ใบพริกหงิกซีดด่าง หรือใบหงิกเหลือง ยอดไม่เจริญ และต้นพริกไม่สมบูรณ์ ผลพริกที่ได้ไม่มีคุณภาพ หากพบให้ใช้สารฆ่าแมลงใช้สารฆ่าแมลงอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยสามารถพ่นซ้ำ ได้ตามการระบาด

กรมวิชาการเกษตรโชว์งานวิจัยใหม่ “ผลิตชีวภัณฑ์ราเขียวเมตาไรเซียมแบบอัดเม็ด ” สะดวกพร้อมใช้ปราบด้วงแรดศัตรูร้ายทำลายมะพร้าว คุณภาพดีกว่าใช้เชื้อสด แถมสลายตัวได้ง่าย อายุเก็บรักษานานข้ามปี

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ราเขียวเมตาไรเซียมเป็นจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด ปัจจุบันสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ได้คัดเลือกราเขียวเมตาไรเซียมสายพันธุ์ DOA-M5 ที่มีความจำเพาะเจาะจงในการเข้าทำลายด้วงแรด ซึ่งเป็นศัตรูสำคัญในมะพร้าวและพืชตระกูลปาล์ม โดยราเขียวสามารถทำลายด้วงแรดได้ทั้งในระยะตัวหนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย โดยที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้ราเขียวเมตาไรเซียมในรูปแบบเชื้อสดที่เลี้ยงในธัญพืช ซึ่งสามารถเลี้ยงขยายได้ง่าย แต่มีข้อเสียเรื่องระยะเวลาในการเก็บรักษาซึ่งไม่สามารถเก็บเชื้อไว้ได้นาน และไม่สามารถควบคุมคุณภาพของเชื้อได้ เนื่องจากการเก็บรักษาเชื้อจำเป็นต้องเก็บในที่เย็นเพื่อรักษาประสิทธิภาพของเชื้อ

ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาและต่อยอดงานวิจัยดังกล่าว สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช จึงได้ศึกษาการผลิตชีวภัณฑ์เชื้อราเขียวเมตาไรเซียม โดยพัฒนาขบวนการผลิตเพื่อให้ได้เชื้อราบริสุทธิ์ในปริมาณมาก ที่สามารถควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพของเชื้อราให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์เพื่อนำไปผลิตในเชิงอุตสาหกรรมที่สะดวกต่อการนำไปใช้ในรูปแบบอัดเม็ด ซึ่งมีข้อดีกว่าเชื้อสด คือสามารถควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพของชีวภัณฑ์ราเขียวเมตาไรเซียมที่ผลิตขึ้นได้ ยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น สะดวกในการขนส่ง เกษตรกรนำไปใช้ได้ง่าย และผลิตภัณฑ์ยังมีการสลายตัวได้ง่ายเมื่อได้รับความชื้น โดยสามารถหว่านลงพื้นที่เพื่อลดการระบาดของด้วงแรดในแหล่งขยายพันธุ์ ซึ่งการใช้เชื้อรูปแบบอัดเม็ดสะดวกต่อการหว่านลงในพื้นที่แทนการโรยเชื้อผงลงดิน หรือการผสมน้ำพ่น

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ชีวภัณฑ์เมตาไรเซียมรูปแบบเชื้อสดอัดเม็ดสามารถเก็บรักษาได้นานเป็นปี โดยเก็บในถุงอลูมิเนียมฟอยด์ในระบบสุญญากาศ และเก็บภายใต้อุณหภูมิ 7-8 องศาเซลเซียส ยังคงคุณภาพและมีประสิทธิภาพในการควบคุมด้วงแรดได้เหมือนการใช้เชื้อสด ไม่เปลืองพื้นที่ในการเก็บรักษา สะดวกในการขนส่งและการนำไปใช้ ไม่ต้องระวังในเรื่องการเสื่อมคุณภาพและการฟุ้งกระจายเชื้อในระหว่างขนส่งและการนำไปใช้ และยังสามารถควบคุมคุณภาพเชื้อได้ ทราบปริมาณเชื้อที่ใช้ในพื้นที่ได้แน่นอน

ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ยื่นขอจดอนุสิทธิบัตร “ชีวภัณฑ์เชื้อราเขียวเมตาไรเซียมรูปแบบเชื้อสดอัดเม็ด” และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชีวภัณฑ์เชื้อราเขียวเมตาไรเซียมรูปแบบเชื้อสดอัดเม็ดให้ภาคเอกชนนำไปดำเนินการขยายผลผลิตภัณฑ์สู่เกษตรกรแล้ว ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร 0-2 579-7580 ต่อ 133, 134

พื้นที่ตำบลหนองเหียง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เป็นแหล่งใหญ่อีกแห่งในการปลูกขนุน ซึ่งชาวสวนที่นั่นได้รวมตัวกันทำขนุนแปลงใหญ่ ในนามวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ขนุน ตำบลหนองเหียง เน้นปลูกขนุนพันธุ์ทองประเสริฐ ที่มีลักษณะพิเศษสามารถนำผลเล็กๆ ไปแปรรูปได้

ผลผลิตส่วนใหญ่ของที่นี่ส่งออกต่างประเทศทั้งในรูปแบบผลสดและแบบแกะเนื้อแช่แข็ง ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังจีนและเวียดนาม ทั้งอยู่ระหว่างเตรียมการส่งไปยุโรป ส่วนลูกเล็ก-ผลสุกที่ไม่ได้คุณภาพนำมาแปรรูปทำเป็นขนุนลอยแก้ว ขนุนเชื่อมอบแห้ง และแยมขนุนซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างมาก เป็นขนุนที่ปลูกได้มาตรฐาน GAP

มีสมาชิก 74 ราย ในพื้นที่ 749 ไร่ มี คุณสมจิตร พรมมะเสน เป็นประธานกลุ่ม โดย คุณภูวเดช จินาเคียน เกษตรกร หมู่ที่ 7 ตำบลหนองเหียง เล่าว่า สมัครเป็นสมาชิกแปลงใหญ่ขนุนหนองเหียง ได้พัฒนาระบบน้ำเพื่อใช้การตรวจวัดความชื้นในแปลงปลูก มาเป็นตัวกำหนดจำนวนครั้งและปริมาณน้ำในการให้น้ำแปลงปลูกทั้ง 4 ไร่ จำนวน 160 ต้น ได้ผลผลิตประมาณ 5 ตัน ต่อไร่ ในปีที่ผ่านมาราคาขนุนดีอยู่ที่ 37 บาท ต่อกิโลกรัม

“การปลูกขนุนขุดหลุมลึก 50 เซนติเมตร กว้างประมาณ 30 เซนติเมตร ห่างกัน 5.5-6 เมตร ใช้พันธุ์ทองประเสริฐจากจังหวัดระยอง เดิมเป็นพันธุ์ที่ใช้ต่อกิ่ง แต่ช่วงหลังใช้แบบติดตาด้วย ก่อนปลูกใช้ปุ๋ยคอกขี้ไก่คลุกกับดินใส่ก้นหลุม จากนั้นใช้ปุ๋ยเคมีสลับกับปุ๋ยคอก 2 เดือน ต่อครั้ง ประมาณ 4-5 ครั้ง ต่อปี และใส่ปุ๋ยคอกรอบๆ นอกโคนหลุม ช่วงที่ใกล้เก็บผลผลิตประมาณ 3 เดือน จะไม่ฉีดสารเคมี ฉีดเฉพาะช่วงขนุนเริ่มออกดอก กันแมลง ฉีดพ่นฮอร์โมนเร่งแป้ง และบำรุงผิวให้ผิวดูสวย เป็นช่วงที่ขนุนอ่อนๆ ถึงประมาณ 3 เดือนแล้วจะเลิกฉีดสารเคมี”

คุณภูวเดช บอกด้วยว่า การปลูกขนุนใช้เวลาปลูก 2 ปีขนุนจะออกดอกออกผล แต่ไว้แค่ 1-2 ลูก ต่อต้น เพราะต้นอายุยังน้อยรับน้ำหนักไม่ได้ ถ้าอายุต้น 3 ปี เพิ่มลูกได้อีก 5 ลูก ต่อต้น ระยะการไว้ลูกให้ไว้กิ่งที่ห่างกัน ระยะ 80 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร เก็บไว้กิ่งละ 1 ลูก นอกนั้นตัดขายขนุนอ่อนส่งในประเทศ ขนุนอ่อนระยะ 1 เดือนกว่าๆ แล้วแต่ลูกจะโตเร็ว จะตัดที่ 1-3 กิโลกรัม ถ้าต้นสมบูรณ์ให้น้ำที่เพียงพอจะออกทั้งปี แต่ชาวสวนมักเร่งออกในช่วงที่ราคาดีราคาสูงตั้งแต่ธันวาคม-กุมภาพันธ์ ถ้าไปในช่วงเมษายน-พฤษภาคม จะไปเจอช่วงทุเรียนออก ราคาจะร่วงลงมา

สำหรับปัญหาของการปลูกขนุนคือ เชื้อราที่น่าจะเกิดจากมูลขี้ไก่ที่ไม่ได้นำมาพักไว้ก่อนใส่ อีกอย่างคือ ขั้วเน่าเกิดจากมีแมลงไปเจาะตรงก้านของขนุน แก้ปัญหาโดยใช้สารชีวภัณฑ์พ่นป้องกันไว้ ปัญหาอื่นๆ ก็มีเรื่องน้ำ ขนุนต้องการน้ำตลอดเพื่อให้ชุ่มชื้นตลอด แต่ไม่ต้องการแฉะ ไม่ใช่ให้น้ำจนขัง ในสวนของตนเองขุดบ่อไว้รองรับน้ำฝนช่วงหน้าฝน ใช้ระบบมินิสปริงเกลอร์เป็นน้ำหยด ถ้าไม่ได้ขุดบ่อบาดาลจะมีปัญหาช่วงเดือนเมษายน ถ้าขาดน้ำขนุนผิวจะแดง ไม่โต ผิวจะออกเป็นสีน้ำตาล

“ในการดูแลขนุน ต้องดูแลเรื่องผิวมีฮอร์โมนฉีดพ่นเพื่อไม่ให้มีแมลงรบกวนให้สีผิวเป็นสีมรกต แต่สวนของผมเป็นสวนที่มีเครื่องหมาย GAP ต้องเน้นสารชีวภัณฑ์ ลูกที่จะตัดส่งออก ต้นจะมีอายุประมาณ 4 ปี 1 ต้นต้องเก็บลูกไว้ 8 ลูกตามมาตรฐาน ลูกจะสมบูรณ์ รูปทรงสวย น้ำหนัก 12-15 กิโลกรัม ที่เกรดเอที่เราส่งนอก ถ้าน้ำหนักได้ 10 กิโลกรัม เป็นเกรดเอได้เลย ยิ่งใหญ่ยิ่งดี ถ้ารูปทรงได้ หัวไม่จุกเหมือนไส้ได้เกรดเอหมด”

สำหรับขนุนที่ส่งขายต่างประเทศ ต้องไม่มีการเจาะของแมลง ผิวเป็นสีเขียว เก็บประมาณ 80% ของความแก่ของขนุน ไม่แก่จัด เพราะต่างประเทศชอบรับประทานไม่งอมจัด ไม่หวาน แต่ถ้าตัดขายภายในประเทศต้องประมาณ 95%

กรมส่งเสริมการเกษตรแนะปลูกอัญชัน พืชใช้น้ำน้อย ร้อยสรรพคุณ ต้นทุนต่ำช่วงฤดูแล้ง ทดแทนการทำนาปรัง

อัญชันเป็นพืชที่กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำให้เกษตรกรปลูกในช่วงฤดูแล้ง ทดแทนการทำนาปรัง ใช้น้ำน้อย ดูแลรักษาง่าย ใช้พื้นที่น้อย การขยายพันธุ์และการดูแลรักษาที่ไม่ยุ่งยาก มากสรรพคุณ เพิ่มการไหลเวียนเลือด บำรุงรากผม

อัญชัน มีลักษณะเป็นไม้เลื้อย ดอกมีทั้งชนิดที่เป็นดอกชั้นเดียวซึ่งมีสีน้ำเงินคราม ออกดอกเกือบตลอดปี อัญชันที่ ถูกนำมาใช้ประโยชน์เป็นอัญชันดอกสีม่วง ซึ่งสามารถใช้ได้หลายส่วน ทั้งดอก เมล็ด และราก ในดอกอัญชันมีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งเป็นสารสีม่วง มีคุณสมบัติเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดเล็กๆ เช่น หลอดเลือดส่วนปลาย ทำให้เลือดไปเลี้ยงรากผมมากขึ้น ทำให้กลไกที่ทำงานเกี่ยวกับการมองเห็นแข็งแรงขึ้น

นอกจากนี้ดอกอัญชันยังนำไปคั้นเป็นเครื่องดื่มสมุนไพร ผสมในอาหารหรือขนมเพื่อให้สีสันสวยงาม ใช้เป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมการผลิตแชมพูสระผม เพื่อช่วยป้องกันและหยุดผมร่วง ช่วยให้ผมดกดำ เมล็ดอัญชันมีสรรพคุณเป็นยาระบายอ่อน ๆ รากอัญชันชนิดดอกขาวใช้เป็นยาขับปัสสาวะ และยาระบายได้อีกด้วย

ต้นทุนการผลิตอัญชัน 1 ไร่ อยู่ที่ 10,000-12,000 บาท เมื่อเทียบกับผลพลอยได้แล้ว ถือว่าคุ้มค่ามาก เนื่องด้วยว่าอัญชัน 1 ต้น สามารถเก็บดอกสดได้ 50-100 กรัมต่อวัน จะได้ผลผลิตสดวันละ 100 กิโลกรัม ขายสดกิโลกรัมละ 50-100 บาท ทำให้มีรายได้ 5,000-10,000 บาทต่อวัน แต่จะใช้แรงงานในเก็บเกี่ยวค่อนข้างมาก จึงนิยมทยอยเก็บวันละ 5-10 กิโลกรัม และนำไปตากแห้ง โดยดอกอัญชันสด 10 กิโลกรัมเมื่อตากแห้งแล้วจะได้ดอกแห้งเท่ากับ 1 กิโลกรัม ซึ่งดอกแห้งนี้ขายได้กิโลกรัมละ 350-500 บาท และวิธีนี้ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าและลดปัญหาเรื่องแรงงานในการเก็บเกี่ยวได้

ปลายปี 2562 ที่ผ่านมาศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร กรมวิชาการเกษตร ได้เปิดตัวอัญชันพันธุ์ใหม่ คือ อัญชันพันธุ์เทพรัตน์ไพลิน 63 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ปลูกทั่วไป และมีลักษณะเด่น คือ ให้ผลผลิตสูงประมาณ 2,122 กิโลกรัมต่อไร่ มีกลีบดอกใหญ่ 5 กลีบซ้อนเวียนสม่ำเสมอในต้นเดียวกัน มีปริมาณสารแอนโทไซยานินปริมาณสูงไม่น้อยกว่า 70 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักสด 100 กรัม เก็บเกี่ยวครั้งแรกเร็วกว่าพันธุ์ทั่วไป 6 วัน เหมาะสำหรับเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรได้

ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตร โดยกองขยายพันธุ์พืชจึงได้ประสานนำต้นพันธุ์อัญชันพันธุ์เทพรัตน์ไพลิน 63 จัดสรรเพื่อเป็นแม่พันธุ์ให้ศูนย์ขยายพันธุ์พืชทั้ง 10 ศูนย์ ได้ดำเนินการตามพันธกิจในการผลิตพืชพันธุ์ดีโดยกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพด้วยเทคโนโลยีและนวัฒกรรมที่เหมาะสมให้ได้คุณภาพและมาตรฐานตรงตามความต้องการของเกษตรกร

โดยเฉพาะที่ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพิษณุโลก มีการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชผักหลายชนิด เช่น มะเขือพวง กระเจี๊ยบเขียว ถั่วฝักยาวและอัญชันพันธุ์เทพรัตน์ไพลิน 63 เป็นต้น หากเกษตรกรหรือผู้สนใจเมล็ดพันธุ์อัญชันพันธุ์เทพรัตน์ไพลิน 63 สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพิษณุโลก เบอร์โทรศัพท์ 055-906220 หรือติดต่อผ่านเฟสบุ๊ก ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพิษณุโลก

ด้วยเทคโนโลยีการเกษตรที่พัฒนาไปอย่างก้าวไกล เกษตรกรทุกท่านจึงจำเป็นต้องพัฒนาตัวเองให้ก้าวทันยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง เพื่อรองรับกับสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายมากขึ้น แล้งนานกว่าที่เคยเป็นมาก็สามารถรับมือได้ด้วยการนำนวัตกรรมที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ตรวจสภาพดิน ฟ้า อากาศ เพื่อวางแผนการทำเกษตรได้ล่วงหน้า และเป็นเรื่องง่าย สะดวก รวดเร็ว ช่วยประหยัดตุ้นทุน ประหยัดเวลา ประหยัดแรงงานได้เกือบทั้งหมด

คุณเฉลิมพล ทัศมากร (คุณต่าย) GClub ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์จังหวัดตราด อยู่บ้านเลขที่ 49/2 หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะช้าง อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด เล่าว่า เรียนจบคณะการจัดการอุตสาหกรรม จากมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี หลังจากจบมา ก็ทำงานเป็นผู้จัดการแผนกคลังสินค้าและคลังพัสดุภัณฑ์ที่บริษัทแห่งหนึ่งนานกว่า 10 ปี แต่มีสาเหตุที่ต้องลาออกจากงาน เพราะคุณพ่อคุณแม่มีอายุมากขึ้น จึงต้องกลับมาช่วยสานต่ออาชีพเป็นเกษตรกรทำสวน ปลูกเงาะ มังคุด มีทุเรียนเป็นพืชหลักสร้างรายได้ บนพื้นที่กว่า 12 ไร่

ระบบจัดการสวน แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ
ตามความถนัดของแต่ละคน
คุณต่าย บอกว่า ระบบการจัดการสวน จะแบ่งหน้าที่ตามความถนัดของแต่ละคน คุณพ่อมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิต ก็ให้คุณพ่ออยู่ฝ่ายผลิต คุณแม่ขายของเก่งก็ให้เป็นฝ่ายการตลาด ส่วนตนเองถนัดด้านเทคโนโลยีก็เข้ามาทำหน้าที่ดูแลระบบการจัดการภายในสวน นำเทคโนโลยีจากที่เคยทำงานมาประยุกต์ใช้ และวางระบบภายในสวนใหม่ทั้งหมด

โดยเริ่มจากการจัดการระบบน้ำภายในสวน เนื่องจากตั้งแต่สมัยคุณปู่มาถึงรุ่นคุณพ่อค่อนข้างมีระบบจัดการน้ำภายในสวนที่ค่อนข้างลำบาก คุณพ่อต้องใช้วิธีต่อท่อตรงจากน้ำตกบนเขาเพื่อมาใช้รดน้ำในสวน แต่เมื่อถึงฤดูแล้งมักจะประสบปัญหาน้ำแห้งไม่พอใช้ ต้องลำบากปีนเขาขึ้นไปดูน้ำทุกวัน สิ่งนี้คือ ปัญหาที่มองเห็นและอยากแก้ไขมานานแล้วเมื่อมีโอกาสได้เข้ามาทำอย่างเต็มตัวจึงจัดการวางระบบน้ำในสวนใหม่ทั้งหมด ด้วยการขุดบ่อสต๊อกน้ำไว้ใช้ 1 บ่อ บรรจุน้ำได้ 1,300 ลูกบาศก์เมตร แล้วติดตั้งมิเตอร์น้ำไว้ที่บ่อ

ซึ่งไม่ว่าน้ำจะเข้าจะออกต้องไหลผ่านมิเตอร์ทั้งหมด และน้ำที่ใช้ในสวนทั้งหมดต้องผ่านบ่อสต๊อกเท่านั้น เพื่อจะได้เก็บข้อมูลปริมาณการใช้น้ำในแต่ละวัน แต่ละเดือน ทุกเดือนจะมีการจดบันทึกไว้ว่ามีปริมาณการใช้น้ำไปเท่าไร ประโยชน์คือ เมื่อถึงฤดูแล้ง มีนาคม-เมษายน เคยมีการจดบันทึกว่าใช้น้ำเท่าไร สต๊อกพอไหม และถ้าน้ำในสต๊อกไม่พอ จะสามารถใช้ได้อีกนานแค่ไหน สามารถบอกตัวเลขได้ทั้งหมดถึงฤดูแล้งมาก็จะสามารถคำนวณได้ว่า น้ำที่มีอยู่ในบ่อมีเท่าไร สามารถใช้ได้อีกกี่วันหรือกี่เดือน ถ้าน้ำในบ่อไม่พอ จะได้จัดการวางแผนดึงน้ำจากบ่อสำรองที่สวนมะพร้าวของคุณปู่มาใช้ทดแทน