ปลูกไผ่เป๊าะหวานอย่างไร ให้มีรายได้หลักแสนบาทต่อเดือน

ไผ่เป๊าะ เหมาะสำหรับนำมาประกอบอาหาร หรือขายหน่อสด จะไม่นิยมนำไปดอง เพราะไผ่เป๊าะจะไม่มีรสขม มีแต่รสหวาน ถ้านำมาดองจะเน่าง่าย จึงไม่นิยมนำมาดอง แปรรูปไผ่หกยักษ์ “ไผ่หกยักษ์ นิยมแปรรูปเป็นหน่อไม้ดอง ดองปีบส่งต่างประเทศ หน่อไม้ที่ขายดีที่สุดตอนนี้คือ หน่อไม้ดอง ทำจากไผ่หกยักษ์ ส่งไปที่ตลาด มีเท่าไหร่เขารับหมด” คุณเฉลิม กล่าว

สำหรับผู้ที่สนใจปลูก
ไผ่เป๊าะหวาน เป็นอาชีพ

คุณเฉลิม บอกว่า มีพื้นที่เพียง 1 ไร่ ก็สามารถทำเป็นอาชีพเสริมได้แล้ว และการปลูกไผ่ยังใช้เงินในการลงทุนน้อย กิ่งไผ่ตอน ราคาเพียง 40 บาท 1 ไร่ ปลูกได้ 30-36 ต้น ซึ่งคิดเป็นเงินเพียง 1,200-1,500 บาท เท่านั้น ถือว่าปลูกแล้วคุ้มในระยะยาว แต่หากท่านใดอยากปลูกไผ่เป็นอาชีพหลักสร้างรายได้ คุณเฉลิม แนะนำให้ปลูกในพื้นที่ ประมาณ 5 ไร่ และในระหว่างที่รอไผ่โต ช่วง 1-2 ปีแรก เราสามารถปลูกพืชแซมในสวนไผ่ได้อีกด้วย ส่วนพืชที่เหมาะในการปลูกเป็นพืชแซมสวนไผ่คือ มะละกอ ถั่ว หรือจะปลูกข้าวโพดแซมล่องกลางยังได้ ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างรายได้สองต่อ เลี้ยงครอบครัวได้สบายๆ และหากดูแลไผ่ดีๆ ปลูกบนพื้นที่ดีๆ ไผ่กอหนึ่งสามารถให้หน่อได้ถึง 10-20 กิโลกรัม เลยทีเดียว

“ไผ่เป๊าะ ราคาดีก็จริง แต่ต้องหมั่นดูแลเป็นพิเศษ เพราะถ้าดูแลไม่ดี ไผ่เป๊าะจะออกหน่อในช่วงฤดูฝน ซึ่งจะออกชนกับหน่อไม้ป่า จะทำให้ไผ่เป๊าะราคาตก” คุณเฉลิม กล่าว

เข้าร่วมโครงการสร้างป่า สร้างรายได้
ตามแนวพระราชดำริ
คุณเฉลิม ได้เข้าร่วมโครงการ สร้างป่า สร้างรายได้ ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีรายละเอียดอำเภอที่ร่วมโครงการดังนี้ คืออำเภอเฉลิมพระเกียรติ และอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย อำเภออุ้มผาง อำเภอท่าสองยาง อำเภอพบพระ และอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก อำเภอแม่แจ่ม และอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอสบเมย และอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

โดยโครงการได้มีการสนับสนุนกล้าไม้ป่า และมีพี่เลี้ยงแนะนำในเรื่องของการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ “ที่หมู่บ้านผมมีเป้าหมายคือ ให้ชาวบ้านปลูกไผ่ บุก ไว้เป็นพืชชั้นต่ำเพื่อคลุมดิน และในระหว่างที่รอไผ่โตยังสามารถปลูกถั่วมัน ถั่วแขก ขายได้ มีตลาดรับซื้ออยู่แล้ว เมื่อไผ่โตคลุมพื้นที่ เราสามารถปลูกกระชาย ขมิ้น ไพล เพื่อนำมาอบแห้งส่งขายทำเป็นเครื่องต้มยำได้อีกด้วย ซึ่งคิดว่าวิธีนี้จะสามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพอย่างยั่งยืนให้กับชาวบ้าน และยังสร้างจิตสำนึกให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเขตพื้นที่ป่าไม้ให้มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ป่าไม้ ไม่บุกรุกเพิ่มได้อีกด้วย” คุณเฉลิม กล่าว

สำหรับผู้ที่สนใจกิ่งพันธุ์ไผ่ หรืออยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมในการปลูกไผ่ สามารถติดต่อ คุณเฉลิม ยานะวงษ์ ได้ที่ บ้านเลขที่ 336 หมู่ที่ 9 ตำบลพะวอ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก หรือ โทร. (087) 849-8568 คุณเฉลิม ยินดีให้คำปรึกษา

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักและคิดถึงทุกท่าน ในวาระย่างเข้าสู่สิ้นปี 2562 และเดินหน้าเข้าสู่ปี 2563 ขอให้ทุกท่านมีความสุข ก้าวข้ามความทุกข์ใดๆ ทั้งปวงนะครับ ขึ้นศักราชใหม่แล้วขอให้มีแต่เรื่องราวดีๆ เกิดขึ้น ตลอดปีและตลอดไป

จะว่าไปแล้วในช่วงปี 2562 ทุกอย่างก็ไม่ได้เลวร้ายมากมายนัก บางเรื่องก็หนัก บางเรื่องก็เบา บางเรื่องก็สร้างความสุขให้ได้ไม่น้อย ดังคำพระท่านให้ปล่อยวางนั่นเอง ถือไว้ใจก็เป็นทุกข์ วางลงไปใจก็สุข ดีใจกับการได้สัมผัสอากาศที่หนาวเย็นในช่วงปลายปีกันอย่างมีความสุขครับ เสื้อกันหนาวถูกรื้อออกมาใช้งานเสียที หลังจากทำท่าจะใช้มาหลายปีแล้วไม่ได้ใช้ เมื่อฤดูกาลทำหน้าที่ของตัวเองดีแล้ว ก็หวังว่าในปี 2563 จากนี้ไป ฝนก็จะตกตามฤดูกาลด้วยเถิด อย่างน้อยพี่น้องเกษตรกรจะได้พอมีความหวัง

ในปีที่กำลังผ่านไป ผมได้รู้จักกับครอบครัวหนึ่ง (ก็ใช่นะ เพราะน้องชื่อหนึ่ง) เฝ้าดูพัฒนาการจากคนที่เปิดร้านให้บริการอินเตอร์เน็ต โดยมี ทร (สุนทร เจริญสุข) สามีที่เป็นช่างคอมพิวเตอร์เป็นผู้ดูแลร้าน และมี หนึ่ง (นิสากุล บัวศรี) เป็นผู้ช่วยคอยดูแลเด็กๆ ที่มาใช้อินเตอร์เน็ต และขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ไปด้วย กิจการก็ทำท่าจะเดินหน้าไปด้วยดี แต่แล้วเจ้าของก็ขอคืนบ้าน เนื่องจากมาเช่าบ้านเขาเปิดร้าน งานนี้ถึงกับเคว้งไปพักหนึ่ง

แต่ด้วยเป็นคนรุ่นใหม่ที่คิดและวางแผนไว้ล่วงหน้าบ้างแล้ว ทั้งสองคนเลือกเดินในเส้นทางใหม่ การเป็นเกษตรกรเต็มเวลาอาจช่วยให้ชีวิตเดินหน้าต่อไปได้ด้วยความสุข โดยในช่วงที่เปิดร้านอยู่นั้น หนึ่งก็ได้ปลูกผักหวานป่า และฝรั่งไทย ไว้บ้างแล้ว การทดลองขายกิ่งพันธุ์ที่มีในสวน และเริ่มมองเห็นความเป็นไปได้ พื้นที่ 9 ไร่ ที่มีจึงเป็นการเดินหน้าวางเดิมพันครั้งใหม่สำหรับครอบครัว

“หนึ่งเชื่อเรื่องการวางแผนบริหารจัดการที่ดีค่ะ การทำเกษตรหากเรามีแผนหนึ่ง สอง สาม สี่ วางไว้ให้เหมาะ ระยะสั้นควรทำอะไร ระยะกลาง ระยะยาว ทุกอย่างหากทำได้ตามแผนก็ไม่น่าผิดพลาด หรือหากบางอย่างไม่เป็นไปตามแผนเราก็มีแผนสำรองวางไว้อีกด้วย จากการที่เปิดร้านมาก่อน หนึ่งเชื่อว่าเมื่อเรามีสินค้าที่ตลาดต้องการ เราต้องขายได้ เราต้องมีรายได้ตรงนี้ค่ะ”

ทั้งสองเริ่มลงมือทำสวนอย่างจริงจังเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2560 นั่นคือวันแรกที่เริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยอาชีพเกษตรกรอย่างเต็มตัว ทั้งสองเข้าสวนทุกวันตั้งแต่รุ่งเช้าจนมืดค่ำ จากพื้นที่ว่างเปล่า 9 ไร่ ก็สรรหาต้นไม้หลากหลายลงปลูก โดยเลือกปลูกทุกอย่างที่ชอบกิน และเลือกสุดยอดผลไม้ในช่วงนั้นมาลงปลูก ส่วนมากเป็นผลไม้จากไต้หวัน เช่น ชมพู่ไถหนาน 3 น้อยหน่าสับปะรด พุทรากานเจอเจ่า (หวานน้ำอ้อย) ฝรั่งหงเป่าสือ ฝรั่งแตงโม ฝรั่งเจินจู ฝรั่งเฟินหงมี่ ฝรั่งสุ่ยมี่ และยังมีผักหวานป่า กับพริกไทยซีลอนเพิ่มเติมอีกทาง หนทางการทำเกษตรไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คาดหวัง ทุกอย่างต้องใช้เวลา กว่าต้นไม้จะเติบโตให้มีรายได้นั้น ทั้งเหนื่อย ทั้งท้อ แต่ทั้งสองคนก็ยังมั่นใจในการเป็นเกษตรกรนี้ว่าจะทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้นได้ แม้จะไม่รวยเงินทองก็ตาม แต่สามารถจะร่ำรวยความสุขได้อย่างมากมาย การได้กินสิ่งดีๆ ที่ปลูกและดูแลเองด้วยสองมือ ด้วยใจของคนสองคน ในช่วงเวลาของการรอการเติบโตของต้นไม้ ช่วงรอผลผลิต ก็ได้ขยายพันธุ์ไม้ทั้งปลูกเองและแบ่งขายไปด้วยเพื่อสร้างรายได้

“ถามอีกครั้ง หากเลือกได้จะไปเปิดร้านเหมือนเดิม หรือมาเป็นเกษตรกร” “เพราะอะไรครับ ไม่เหนื่อยยากกว่าการเปิดร้านหรือ”

“อาชีพนี้ทำให้เรารู้จักคำว่า ความสุขในครอบครัวอย่างแท้จริง ไม่มีอาชีพไหนที่จะได้อยู่กันพร้อมหน้า ทำกิจกรรมต่างๆ ไปด้วยกัน กินข้าว พักผ่อน ทุกอย่างเราได้เจอหน้ากันตลอด ที่สำคัญ เราได้กินพืชผัก ผลไม้ กระทั่งปลาที่เราดูแลมาเอง รู้ว่าอาหารของเราปลอดภัยแค่ไหน และเรายังมีรายได้เลี้ยงดูครอบครัวเราอย่างสุขใจ พูดได้เลยว่าเรารักอาชีพเกษตรค่ะ”

ที่บ้านคลองตะเคียนพัฒนา ตำบลคลองหินปูน อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว สวนปภังกร เกิดขึ้นและเจริญงอกงามด้วยความตั้งใจของสองคน ที่ตั้งมั่นจะเดินตามศาสตร์พระราชา ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ทรงเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสวนผสมผสาน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกทุกอย่างที่กินและกินในสิ่งที่ปลูก เหลือก็แจก แลก ขายต่อไป โดยมีผลผลิตหลักๆ ประจำสวน เช่น พริกไทยพันธุ์ซีลอน 200 หลัก ขายผลผลิตเป็นพริกไทยอ่อน และส่วนที่ไม่สวยก็เก็บไว้เป็นพริกไทยแห้ง (ดำ) ต่อไป ในช่วงที่พริกไทยไม่มีผลผลิตก็ตอนกิ่งจำหน่ายได้อีกทางหนึ่ง ผักหวานป่า 500 ต้น ไว้เป็นรายได้อีกทางหนึ่ง ทั้งเก็บยอดและตอนกิ่งขายต่อไป

ในส่วนของผลไม้ ฝรั่งสายพันธุ์ดีๆ จากไต้หวัน กว่า 400 ต้น ทั้งขายผลและตอนกิ่งขาย น้อยหน่าสับปะรด น้อยหน่ายักษ์ สายพันธุ์ไต้หวันเช่นกันอีก 150 ต้น ชมพู่ไถหนาน 3 จำนวน 50 ต้น พุทรากานเจอเจ่า 50 ต้น และยังมีมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง และมะม่วงแก้วพื้นบ้านอีกจำนวนหนึ่ง เรียกว่าเหนื่อยกันมาสองปีกว่าๆ ตอนนี้พื้นที่ 9 ไร่ ก็เริ่มเต็มไปด้วยไม้ผลที่หลากหลาย และเริ่มให้ผลผลิตกันบ้างแล้ว ไม่นับที่กันพื้นที่ส่วนหนึ่งขุดสระเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ ผลพลอยได้ก็คือมีปลาให้กินได้ทั้งปี

“ปัญหาตั้งแต่เริ่ม เคยทำให้ท้อไหม”

“โอ๊ย! พี่ จากคนที่ไม่เคยทำมาก่อนเนอะ พี่เชื่อไหม หนึ่งกับทรไปเรียนขยายพันธุ์พืชกับน้าอ้วนกันเลยนะ เพราะเราตั้งใจแล้วว่าเราจะเดินหน้าในทางนี้ เราต้องทำเองให้ได้ทุกอย่าง เคยท้อ เหนื่อย แต่พอนึกถึงพระพักตร์ในหลวงรัชกาลที่ 9 คราใดก็ทำให้เราต้องฮึดสู้ พระองค์ทรงเหนื่อยเพื่อประชาชนมามากแล้ว ทำไมเราจะเหนื่อยเพื่อครอบครัวเราไม่ได้”

“ทุกวันนี้เริ่มอยู่ตัวแล้วสิ” “ยังหรอกพี่ ยังต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับการทำอีกเยอะ เกษตรกรต้องอยู่กับแปลงค่ะ เราจะได้เห็นปัญหาและหาทางแก้ไข หากปล่อยไปนานอาจเสียหายทั้งสวน แต่ทุกอย่างก็เริ่มเข้าที่เข้าทางไปเยอะค่ะ เข้าสามปีที่เราเหนื่อยกันมา วันนี้ผลผลิตที่ได้ทำให้เราชื่นใจไม่น้อย ยิ่งดีใจมากที่เห็นลูกของเราเติบโตมากับอาหารที่ปลอดภัย”

“เอ้อ พี่กำลังอยากถาม หนึ่งกับทร ไม่มีส่วนไหนเป็นปภังกรเลย แล้วชื่อนี้มายังไง”

“นั่นแหละพี่ เขานั่นแหละ ตั้งชื่อนี้ให้เป็นสวนของลูกชาย จึงเอาชื่อเขามาตั้ง ให้เขาได้ซึมซาบการเป็นเกษตรกรเจ้าของสวนอย่างแท้จริง ให้เขาภูมิใจค่ะพี่”

“เปิดสวนให้ใครมาดูงานหรือยัง หากพี่แนะนำไปจะมีคนมาเยอะนะ”

“ยินดีค่ะพี่ สวนเรายังไม่เต็มที่นักแต่ก็พร้อมสำหรับคำแนะนำต่างๆ ค่ะ โทร.มานัดแนะได้ค่ะ (089) 938-1819 ยินดีต้อนรับทุกท่านค่ะ”

“มีอะไรจะแนะนำในตอนนี้ไหม”

“เต็มที่กับสิ่งที่ทำค่ะ อย่าท้อ ให้มีการวางแผนให้ดีแล้วเดินหน้า อย่ากลัวความผิดพลาด แต่จงเอามาแก้ไขปรับปรุง ที่สำคัญ ขอให้เชื่อมั่นในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หนึ่งรับรองว่าเราจะก้าวข้ามทุกเรื่องราวได้แน่นอน”

ผมอำลา หนึ่งกับทร เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว เรื่องราวในหนึ่งวันที่เราได้สนทนา รวมถึงได้เห็นพัฒนาการของสวนที่มีอายุเพียง 3 ปี ก็สามารถสร้างผลผลิตให้ได้อย่างแท้จริง ไม่รู้สิ ผมคิดว่าไม่เพียงหนึ่งกับทรเท่านั้นที่ทำได้ แต่ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านทุกท่านต้องทำได้แน่ๆ หากสนใจอยากไปศึกษา หรือเพื่อหาแนวทางให้ตัวเอง ก็ติดต่อไปได้ตามเลขหมายที่ให้ไว้นะครับ สวัสดีปีใหม่ครับ

ใครชอบทานเห็ดเชิญทางนี้…

“ไชโยฟาร์มเห็ด” สถานที่ผลิตเห็ดหลายชนิด แต่ที่แนะนำเป็นอย่างมากคือ เห็ดแครง ซึ่งหาทานได้ไม่ง่าย นิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลายในภาคใต้ของประเทศไทย มีประโยชน์ต่อสุขภาพ นำมาปรุงอาหารได้หลายเมนู แต่เพื่อให้สะดวกและง่ายต่อการบริโภค พกพาไปได้ทุกแห่ง ทางฟาร์มเห็ดไชโยจึงแปรรูปเห็ดแครงเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตามรสนิยม

ความพิถีพิถันใส่ใจทุกขั้นตอนการผลิตเพื่อให้ผู้บริโภคได้ทานเห็ดที่มีคุณภาพ ปลอดภัย จนนำมาสู่การสร้างมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสถาบันหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศ แล้วยังสร้างเครือข่ายดึงชาวบ้านเข้าร่วมเป็นกลุ่มผลิตเห็ดคุณภาพ พร้อมเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้อบรมวิธีเพาะ-เลี้ยง แปรรูปเห็ดให้ผู้สนใจเข้าร่วมสร้างอาชีพ

คุณปาริชาติ เทพเจริญ เจ้าของ “ไชโยฟาร์มเห็ด” ตั้งอยู่เลขที่ 46/22 ถนนจุลจอมเกล้า ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถือเป็นผู้บุกเบิกและต่อสู้การเพาะ-เลี้ยงเห็ดแครงเป็นอาชีพในจังหวัดนี้จนประสบความสำเร็จ

เดิมคุณปาริชาติ เป็นเกษตรกรทำฟาร์มเห็ดและส่งเห็ดสดขายไปยังสถานที่ต่างๆ แต่ต้องประสบปัญหาความไม่แน่นอนของราคาและตลาดรับซื้อ ทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาเห็ดที่ขายไม่หมดจนต้องรับภาระความขาดทุน จึงจำเป็นต้องหาทางออกด้วยการถนอมคุณค่าและรักษาคุณภาพเห็ดด้วยการแปรรูป จึงเลือกที่จะเข้าสู่ระบบ GAP ตั้งแต่พื้นที่การปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว และการจัดการหลังเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

เจ้าของไชโยฟาร์มเห็ดมองว่า ในบรรดาเห็ดที่ผลิตขายมีเห็ดแครงที่ตลาดสุขภาพให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นเห็ดประจำภาคใต้ที่หาทานยาก โดยเฉพาะคนเมือง จะพอมีทานบ้างก็อยู่ตามชนบท ซึ่งมักจะมีเฉพาะฤดู และมักพบเป็นปริมาณมากคือ บนท่อนไม้และกิ่งไม้ยางพารา ขณะเดียวกันมีงานวิจัยพบว่า เห็ดแครงมีคุณค่าทางโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนั้น ถ้าหากผลิตเห็ดแครงให้มีทานได้ตลอดทั้งปี คงขายได้ไม่ยาก อีกทั้งถ้าผลิตเห็ดแครงแบบคุณภาพตามมาตรฐานปลอดภัยด้วยแล้วคงเป็นที่สนใจของกลุ่มผู้รักสุขภาพ

ภายหลังที่ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจนเป็นความกังวลของคุณปาริชาติ ว่า จำนวนอาจไม่เพียงพอกับความต้องการ ขณะที่ฟาร์มเห็ดไชโยก็ไม่สามารถขยายกำลังการผลิตเพิ่มได้อีก จึงทำให้คุณปาริชาติตัดสินใจชวนชาวบ้านในพื้นที่เพื่อสร้างเครือข่ายปลูกเห็ดแครงในรูปแบบวิสาหกิจชุมชนขึ้นในปี 2557 โดยสมาชิกจะต้องใช้ก้อนเชื้อที่ฟาร์มเห็ดไชโยผลิตเท่านั้น เพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพให้มีมาตรฐาน พร้อมได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะ-เลี้ยงให้แก่สมาชิก แล้วรับซื้อผลผลิตกลับมาเพื่อนำมาแปรรูปส่งขายต่อไป

ขั้นตอนการผลิตก้อนเชื้อ

เริ่มต้นครั้งแรกนำเชื้อเห็ดแครงมาจากกรมวิชาการก่อน จากนั้นไปเรียนวิธีผลิตก้อนและผลิตเชื้อเอง โดยนำสายพันธุ์มาจากธรรมชาติในท้องถิ่น การเพาะเห็ดแครงเป็นอาชีพอาจไม่กว้างนัก เนื่องจากเห็ดแครงมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูงกว่าเห็ดอื่น แต่มีข้อดีคือรอบการเก็บผลผลิตเร็ว ทั้งนี้ หลังจากเปิดดอกใช้เวลา 6-7 วัน สามารถเก็บผลผลิตได้ แล้วจะเก็บดอกเห็ดได้เพียง 2 รอบ ก็จะต้องทิ้งก้อน จึงเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่จะต้องแข่งกับเวลาทั้งการตัดดอก แปรรูป และส่งขาย การมีข้อจำกัดทำให้เห็ดแครงไม่เป็นที่นิยมเพาะ-เลี้ยงกันมากนัก ถึงแม้จะขายได้ราคาดี

ระยะเวลาผลิตก้อนจนบ่มใช้เวลา 15 วัน จากนั้นเปิดดอกอีก 7 วัน รวม 22 วัน แล้วรอเก็บอีกรอบในเวลา 6 วัน ถัดมาจึงรวมเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 28 วัน โดยสูตรผลิตก้อนเชื้อ ใช้ขี้เลื่อย 100 กิโลกรัม รำ 50 กิโลกรัม ใส่น้ำ 60 เปอร์เซ็นต์ บรรจุในถุง ขนาด 6 คูณ 11 นิ้ว แต่ละถุงมีน้ำหนักเฉลี่ย 5-6 ขีด ใช้เวลานึ่ง 6 ชั่วโมง แล้วปล่อยไว้ทั้งคืนเพื่อให้เย็น แล้วนำมาใส่เชื้อ นำไปบ่มต่อ 15 วัน จึงสามารถเปิดดอกได้ ในแต่ละเดือนไชโยฟาร์มเห็ดจะต้องมีผลผลิตไม่ต่ำกว่า 2 พันกิโลกรัม ส่วนทางเครือข่ายมีจำนวนรวมประมาณ 1 พันกิโลกรัม ต่อเดือน ทั้งนี้ ก้อนเห็ดผลิตมีไว้ใช้เฉพาะในฟาร์ม ไม่ได้ขาย

เน้นแปรรูปแล้ว จับเมนูอาหารดังมาผลิต

คณะนักเรียนสนใจการผลิตก้อนเห็ด
จากประสบการณ์ที่คลุกคลีกับเห็ดมายาวนานทำให้คุณปาริชาติพบว่า การจำหน่ายเห็ดสดมักประสบปัญหาหลายอย่าง แล้วเสี่ยงต่อการขาดทุน ดังนั้น จึงมุ่งแปรรูปเห็ดในรูปแบบเมนูอาหารดัง เช่น เห็ดแครงอบแห้ง (สินค้าขายดี), คั่วกลิ้งเห็ดแครง, โปรตีนเห็ดแครง, นมเห็ดแครงอัดเม็ด

นอกจากนั้น แล้วยังแตกไลน์เอาใจสาวๆ ด้วยผลิตภัณฑ์ประทินผิว ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเซรั่ม และโลชั่นเห็ดแครง ที่ผลิตตามมาตรฐานจำหน่าย รวมทั้งยังเปิดฟาร์มของตัวเองเป็นศูนย์เรียนรู้เห็ดครบวงจร เพื่อให้บุคคลที่สนใจเกี่ยวกับการผลิตเห็ดได้เข้ามาเรียนรู้

ยังมีเห็ดอื่นๆ ให้เลือกทานตามความชอบ

ไชโยฟาร์มเห็ด ไม่ได้มีเฉพาะเห็ดแครงที่เป็นพระเอก แต่ยังมีเห็ดอื่นๆ ที่ผลิต รวมถึงมีการแปรรูปเป็นอาหาร หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปด้วย ไม่ว่าจะเป็นโปรตีนเห็ด เห็ดหลินจือ เห็ดถั่งเช่า หรือในกลุ่มอาหาร อย่าง เห็ดทอด, น้ำพริกเห็ดแครง, ตุ้มแหนมเห็ด และเห็ดสวรรค์ ที่ล้วนผลิตด้วยคุณภาพและใส่ใจเรื่องความปลอดภัย

ขนาด/ราคา และสถานที่จำหน่าย

เห็ดแครงอบแห้ง บรรจุขนาด 100 กรัม ขายราคา 200 บาท, 200 กรัม ขาย 400 บาท หรือขายเป็นกิโลกรัม ราคา 1,500 บาท ครึ่งกิโลกรัม ราคา 850 บาท คั่วกลิ้งเห็ดแครง ราคาขวดละ 95 บาท บรรจุในขวดแก้วปราศจากสารเคมีและวัตถุกันเสีย โปรตีนเห็ด ขนาดบรรจุ 90 กรัม ขายราคาขวดละ 240 บาท

สำหรับช่องทางการขายหลักคือ การนำไปจำหน่ายยังงานแสดงสินค้าสำคัญของประเทศทั้งในกรุงเทพฯ และหลายจังหวัด ซึ่งจะจัดเฉลี่ยเดือนละครั้ง โดยมีฐานลูกค้าในกรุงเทพฯ รวมถึงแฟนคลับมากกว่าที่อื่น ทั้งนี้ ได้รับความนิยมจากลูกค้าจากตลาดระดับกลางและบน โดยเฉพาะกลุ่มสายบุญและตลาดสมัยใหม่อย่างทางออนไลน์ที่มาแรงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้น ยังมีวางขายที่ตลาดอ.ต.ก. ร้านหมี่สะปำ ที่ภูเก็ต ร้อยเกาะเซนเตอร์ และในห้าง TOPS ในเซ็นทรัลเวิร์ลชั้น 7 รวมถึงที่ไชโยฟาร์มเห็ด ผู้สนใจเข้าชมผลิตภัณฑ์และติดต่อสั่งซื้อได้ง่าย ที่ FB: บ้านดิน กินเห็ด

เอกลักษณ์ของแบรนด์ เกิดจากศรัทธาของผู้ผลิต

จุดเด่นหรือจุดแข็งในเส้นทางอาชีพเกิดจากความน่าเชื่อถือของตัวคุณปาริชาติ ในฐานะผู้ที่ประสบความสำเร็จบนเส้นทางเห็ดแครงระดับประเทศ จนได้รับรองจากสถาบันและหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการได้รับมาตรฐานสินค้า (OTOP) ระดับ 4 ดาว ประเภทอาหาร ปี 2556, ได้รับรองมาตรฐาน GAP ของการผลิตเห็ด และเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ปี 2557 สิ่งการันตีเหล่านี้นำมาสู่ความเชื่อถือคุณภาพและมาตรฐานของ

ขณะเดียวกันในฐานะที่เป็นผู้อยู่ในวงการและทำธุรกิจเห็ดแครงมาเกือบ 10 ปี จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาศักยภาพของเห็ดแครงในการก้าวไปสู่ความเป็นสากล สร้างให้คนทั่วโลกรู้จักเห็ดแครงในบทบาทของสมุนไพรไทยแล้วได้มีโอกาสร่วมมือกับพันธมิตรหลายหน่วยงาน

อย่างไรก็ตาม ไชโยฟาร์มเห็ด ไม่เพียงเป็นแหล่งผลิตเห็ดคุณภาพส่งขายให้แก่ผู้บริโภคทั่วประเทศ แต่ยังเป็นสถานที่อบรมให้ความรู้ ตลอดจนการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ที่สนใจเพาะ-เลี้ยง และจำหน่ายเห็ดเป็นอาชีพ ส่งผ่านผู้สำเร็จไปสร้างรายได้มากมาย แม้จะมีพื้นที่เล็กๆ แต่ทว่ากลับอัดแน่นไปด้วยคุณภาพที่ได้สั่งสมมายาวนาน

“ความจริงเห็ดแครงมีดีมากกว่าความอร่อย สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลายเมนูแทนเนื้อสัตว์ อาจมีเห็ดแครงอบแห้งเป็นเมนูโปรตีนประจำตู้กับข้าว เมื่อต้องการทานเพียงแต่นำมาแช่น้ำแล้วรังสรรค์เป็นเมนูต่างๆ ได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นยำเห็ดแครงใส่ไข่ คั่วกลิ้งเห็ดแครง หรือง่ายที่สุดเพียงแค่ลวกและเหยาะซอสถั่วเหลืองก็อร่อยอย่าบอกใครเชียว” เจ้าของไชโยฟาร์มเห็ดกล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียด หรือสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เห็ดต่างๆ สมัคร GClub ของไชโยฟาร์มเห็ด ได้ที่โทรศัพท์ (081) 375-3819 line id:nina_angle หรือ FB: บ้านดิน กินเห็ด “สับปะรด” เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดราชบุรี มีพื้นที่ปลูกสับปะรดกระจายอยู่ในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ บ้านคา สวนผึ้ง จอมบึง และปากท่อ ปัจจุบันแหล่งปลูกสับปะรด เนื้อที่ 1,014 ไร่ ในพื้นที่หมู่บ้านหนองจอก ตำบลหนองพันจันทร์ อำเภอบ้านคา ถูกคัดเลือกเป็นแปลงใหญ่ต้นแบบสับปะรดปัตตาเวียบ้านคา ที่มีลักษณะพิเศษคือ รสชาติหวานฉ่ำ ไม่กัดลิ้น มีกลิ่นหอม เนื้อสีเหลืองสวย ละเอียด หนา นิ่ม มีตาค่อนข้างตื้น ปอกง่าย รับประทานได้ทั้งแกน สับปะรด เป็นสินค้าขายดีที่นิยมบริโภคกันทั่วไป

สับปะรดปัตตาเวียบ้านคา ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา และได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP เกษตรกรจึงสามารถกำหนดราคาผลสดได้เอง

ทั้งนี้ สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียส่วนใหญ่ เน้นขายผลสด และส่งเข้าโรงงานอุตสาหกรรมสับปะรด เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สับปะรดกระป๋อง สับปะรดแช่แข็ง น้ำผลไม้ และผลไม้แปรรูปป้อนตลาดส่งออก แต่บ่อยครั้งที่มีปัญหาสินค้าล้นตลาดในฤดูผลิต ขายสินค้าในราคาถูก ทำให้เกษตรกรขาดทุนกันทั่วหน้า

นอกจากนี้ การเพาะปลูก-เก็บเกี่ยวสับปะรดที่ไม่ถูกวิธี รวมทั้งผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่ต่อเนื่องยาวนาน มักทำให้ต้นสับปะรดขาดน้ำ ขนาดผล-น้ำหนักสับปะรดลดลง ทำให้ผลผลิตไม่สมบูรณ์ ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสับปะรดสำหรับโรงงาน และสับปะรดสำหรับบริโภคสด ส่งผลให้เกิดปัญหาสับปะรดเหลือทิ้งจำนวนมาก

ช่วงที่สับปะรดออกผลมากเกินไป มักเจอสับปะรดตกเกรดเป็นจำนวนมาก และขายไม่ได้ราคา เพราะผลมีขนาดเล็กเกินไป เนื้อด้านในมีจุดดำ (แกร็นดำ และแกร็นขาว) สับปะรดเนื้อฉ่ำมากเกินไป (สับปะรดที่สุกมากเกินไปจนน้ำเยิ้มฉ่ำ) และสับปะรดไส้แตก ทางโรงงานไม่สามารถนำไปแปรรูปต่อได้ จึงไม่เป็นที่ต้องการของตลาด แต่โรงงานบางแห่งยอมรับซื้อจากเกษตรกร แต่ซื้อผลผลิตในราคาที่ต่ำมาก เพียงแค่กิโลกรัมละ 50 สตางค์ ถึง 1.50 บาท เท่านั้น