ปลูก “คะน้าเด็ดยอด” เป็นผักสามัญประจำบ้านกันดีกว่า

หากใครยังมีพื้นที่ว่างในบ้าน อยากชวนปลูก “ผักคะน้าเด็ดยอด” ชื่อภาษาอังกฤษว่า petit kale หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “ผักปูเล่” ซึ่งเป็นผักกินใบชนิดหนึ่ง ที่มีคุณลักษณะเด่นคือ เป็นพืชผักตระกูลกะหลํ่า มีอายุการให้ผลผลิตยอดอ่อนต่อเนื่องยาวนานหลายปี โดยแตกยอดขนาดเล็กจํานวนมากคล้ายยอดอ่อนของผักคะน้า นําไปประกอบอาหารทั้งรับประทานสดและปรุงสุกแบบผักคะน้าได้ทุกเมนู

ลักษณะเด่นของ ผักคะน้าเด็ดยอด

-ยอดอ่อนมีเส้นใยน้อยกว่าผักคะน้า ทำให้เนื้อผักไม่เหนียวเมื่อนำไปบริโภค

-มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์หลายชนิด โดยเฉพาะสารเบต้าแคโรทีน ที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะการเกิดโรคมะเร็ง -เจริญเติบโตได้ดีทั้งการปลูกในแปลงและปลูกในภาชนะต่างๆ

-สามารถปลูกแบบผักอินทรีย์ โดยไม่ใช้สารเคมีป้องกันและสารเคมีกําจัดศัตรูพืช เนื่องจากศัตรูพืชที่พบสามารถป้องกันและกําจัดโดยใช้จุลินทรีย์ควบคุม หรือโดยการควบคุมสภาพแวดล้อมขณะปลูก

-คะน้าเด็ดยอด เน้นการขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เนื่องจากต้นพันธุ์ที่ผลิตได้จะมีความสม่ำเสมอ แข็งแรง และปลอดโรค ศูนย์ขยายพันธุ์พืชสยาม (เอกชน) สนใจและเห็นว่า ผักคะน้าเด็ดยอดนี้ เหมาะสมต่อการพัฒนาเป็นพืชผักประจําบ้าน หรือพัฒนาวิธีการปลูกเชิงธุรกิจ รวมทั้งยังได้คัดเลือกต้นพันธุ์ที่มีลักษณะดีเด่นและผลิตเป็นต้นพันธุ์ดีออกมา และยังได้ศึกษาวิธีการปลูกที่เหมาะสมสําหรับผู้บริโภคเพื่อใช้ปลูกในลักษณะผักปลอดภัยประจําบ้าน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ที่ปัจจุบันมีความเสี่ยงต่อการบริโภคผักที่มีสารเคมีกําจัดศัตรูพืชตกค้างเกินค่ามาตรฐาน

ผักคะน้าเด็ดยอด เจริญเติบโตได้ดีในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะดินร่วนระบายน้ำได้ดี แสงแดดส่องถึง นํ้าไม่ท่วมขัง การปลูกเป็นแปลง ผักจะเจริญเติบโตได้ดีกว่าการปลูกลงกระถาง เนื่องจากระบบรากสามารถเจริญเติบโตได้ดีกว่า

หลังการเด็ดยอดคะน้าไปบริโภคแล้ว จะเกิดยอดคะน้าใหม่ ประมาณ 2-3 ยอด ต่อการเด็ด 1 ยอด เมื่อยอดชุดใหม่อายุ 25-30 วัน ก็สามารถเด็ดไปบริโภคได้อีก เมื่อเด็ดยอดอ่อนไปบริโภคอย่างสม่ำเสมอ ยอดใหม่ก็จะทยอยเกิดตามไปเรื่อยๆ

ศัตรูพืชของคะน้าเด็ดยอด

แมลงศัตรูพืชที่สําคัญ ได้แก่ หนอนผีเสื้อ หากเจอน้อยให้เก็บตัวหนอนทำลายทิ้ง หากพบการระบาดมากให้ใช้สารจุลินทรีย์ บาซิลลัสทูริงเยนซีส ฉีดพ่น สามารถกําจัดหนอนได้ดีมาก แมลงอีกชนิดที่พบบ่อยคือ เพลี้ยอ่อน สามารถกําจัดโดยฉีดพ่นน้ำแรงๆ หรือใช้ใบยาสูบตากแห้ง (ที่มวนบุหรี่) แช่นํ้าแล้วฉีดพ่นเป็นละอองฝอยๆ

โรคพืชที่พบบ่อยคือ อาการโรคเน่า เมื่อเจอความชื้นมากเกินไป วิธีแก้ไขคือ ตกแต่งใบแก่ ใบแห้ง ให้แปลงปลูกโปร่ง ไม่แน่นทึบ อากาศถ่ายเทได้สะดวก ลดปริมาณนํ้าในแต่ละวันลง เพื่อให้ความชื้นในแปลงปลูกลดลง

การให้ปุ๋ย

แนะนำให้เสริมธาตุอาหาร ด้วยการใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 ระยะเวลาประมาณ 20 วัน ต่อครั้ง อัตรา 1 ช้อนชา ต่อนํ้า 10 ลิตร

การให้น้ำ

ฤดูฝน มีความชื้นสูง ผักอาจเหี่ยวและเน่าเสียหาย ไม่ต้องรดนํ้าทุกวัน ช่วงฤดูร้อน หากให้นํ้าน้อยไป ยอดคะน้าจะเหนียว จึงต้องหมั่นสังเกตการเติบโตของพืช และให้น้ำตามความเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา

แนวคิดการปลูกแบบธุรกิจ

ในอดีต ผักชนิดนี้ปลูกในพื้นที่อําเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นการปลูกภายใต้โรงเรือนหลังคาพลาสติก ตัวโรงเรือนทําจากไม้ไผ่ ไม่ใช้สารเคมีป้องกันและกําจัดศัตรูพืช ใช้แต่พวกเชื้อบาซิลลัสและกากยาสูบควบคุมแมลง พบว่า สามารถผลิตผักชนิดนี้ได้เดือนละหลายร้อยกิโลกรัม ผลผลิตส่งไปจําหน่ายที่ห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ

หากใครคิดจะปลูกผักชนิดนี้เชิงการค้า ขอฝากคำแนะนำสัก 2 ประการ

1.ผักชนิดนี้ไม่ชอบชื้นแฉะ ควรปลูกในโรงเรือนปลูกพืช หากปลูกกลางแจ้งในช่วงฤดูฝน ต้องมีหลังคาป้องกันฝน

2.ผักชนิดนี้ไม่จําเป็นต้องใช้สารเคมีป้องกันและกําจัดศัตรูพืชในการดูแลรักษา เหมาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งดีต่อสุขภาพของผู้ปลูกและผู้บริโภคอีกด้วย

“อ้อย” เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดกาญจนบุรี ที่สร้างอาชีพและรายได้ที่ดีให้แก่เกษตรกรจำนวนมาก ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสถาบันการศึกษา อาทิ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี ร่วมกันแบ่งปันความรู้เรื่องการปลูกดูแลอ้อยให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพตามความต้องการของโรงงาน การใช้นวัตกรรมเครื่องจักรกลทดแทนแรงงานคน เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ

เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้เรียนรู้กระบวนการผลิตอ้อยที่ถูกต้องเหมาะสม ตั้งแต่การเตรียมดิน การไถดิน การปลูกอ้อยโดยเครื่องปลูกอ้อย ชนิด 1 ร่อง 4 แถว ซึ่งเป็นการปลูกอ้อยระยะชิด และการปลูกระยะห่างแบบ 1 ร่อง 2 แถว ซึ่งทำให้การดูแลจัดการแปลงเป็นเรื่องง่าย เกษตรกรสามารถกำจัดวัชพืชด้วยรถไถระหว่างร่องและใส่ปุ๋ยในคราวเดียว ลดต้นทุนการใช้สารกำจัดวัชพืช

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการใช้รถตัดอ้อย ร่วมกับเครื่องอัดใบอ้อย ลดการเผาเศษใบอ้อยเพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกในรอบต่อไป สำหรับเกษตรกรที่ผ่านการอบรมและนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในแปลงเพาะปลูกของตัวเอง ก็ได้ผลผลิตอ้อยที่เพิ่มมากขึ้น และเกิดรายได้อย่างยั่งยืน

คุณเสถียร มาเจริญรุ่งเรือง นับเป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้าที่ประสบความสำเร็จด้านการประกอบอาชีพการเกษตร โดยคุณเสถียรช่วยครอบครัวทำไร่อ้อยตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ปัจจุบัน คุณเสถียรอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 378 บ้านด่านมะขามเตี้ย หมู่ที่ 1 อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี โทร 085-685-2399 คุณเสถียรมีที่ดินทำกินกว่าพันไร่ ประกอบด้วย อ้อย ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง มะขามหวาน ยูคาลิปตัส ยางพารา ไผ่หวาน สะเดา และอื่นๆ

คุณเสถียรได้คิดค้น พัฒนา และปรับปรุงการเพิ่มผลผลิตอ้อยมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ขั้นตอนการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน การคัดเลือกสายพันธุ์อ้อย กระบวนการเพิ่มผลผลิต ขณะเดียวกัน คุณเสถียรได้ส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่เป็นอ้อยแปลงใหญ่เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีและคุ้มทุนที่สุด

คุณเสถียรมีประสบการณ์ทำงานในโรงกลึงเหล็ก จึงคิดค้นและออกแบบ หางปลูกอ้อย แบบ All In One (6 in 1) สำหรับการปลูกแบบ 1 ร่อง 4 แถว โดยไม่นำไปจดลิขสิทธิ์เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยง่าย ซึ่งหางปลูกอ้อย All In One ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ถังเก็บน้ำ ที่ทำแทนหลังคาเพื่อหยอดน้ำขณะปลูกอ้อย เกษตรกรสามารถสั่งทำได้เองตามโรงกลึงเหล็กทั่วไป ส่วนที่ 2 หางปลูกอ้อยที่มีกระบวนการทำงานพร้อมกัน 6 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1. เปิดร่องอ้อย 2. ลำเลียงท่อนพันธุ์อ้อยลงร่องที่เปิดไว้ 3. ใส่ปุ๋ย 4. ใส่น้ำ 5. กลบหน้าดินปิดร่องอ้อย และ 6. ลูกกลิ้ง กลิ้งทับหน้าดิน

เทคนิคเพิ่มผลผลิตอ้อย 30 ตัน/ไร่

คุณเสถียรประสบความสำเร็จในการเพิ่มผลผลิตอ้อยให้ได้ 30 ตัน/ไร่ จากการทดลองปฏิบัติ โดยทำการปลูกแบบ 1 ร่อง 2 แถว และ 1 ร่อง 4 แถว พบว่าการปลูกแบบ 1 ร่อง 4 แถว ทำให้ได้ผลผลิตที่ดีและคุ้มทุนที่สุด

คุณเสถียรแนะนำให้เกษตรกรชาวไร่บริหารจัดการแปลงอ้อย โดยคำนึงถึง 4 ส่วน คือ ดิน น้ำ เขตกรรม และพันธุ์อ้อย เกษตรกรควรปรับปรุงดิน น้ำ อากาศ แสงแดด สภาพแวดล้อม ให้มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช และใส่ใจบำรุงพืชให้มีความสมบูรณ์อยู่เสมอ เพื่อให้พืชมีความแข็งแรง ทนทานต่อการเข้าทำลายของโรคและแมลงศัตรูพืช

คุณเสถียรได้ทำการทดสอบสายพันธุ์อ้อยจากสายพันธุ์ 10 สายพันธุ์ พบว่าสายพันธุ์ที่มีความเหมาะสมที่สุดสำหรับการปลูกแบบ 1 ร่อง 4 แถว คือ สายพันธุ์ k92-213 มีการปรับวิธีปลูกช่วงเดือนปลูก โดยใช้องค์ความรู้บนแห้ง ล่างชื้น ไม่ต้องกำจัดวัชพืชทำให้ลดต้นทุนการเพาะปลูก

ปลูกอ้อยข้ามแล้ง ด้วยระบบน้ำหยอด

นอกจากนี้ คุณเสถียรยังเป็นผู้คิดค้นความรู้การปลูกอ้อยข้ามแล้งด้วยระบบน้ำหยอด รวมถึงร่วมประสานงานกับหน่วยงานราชการทั้งในและนอกพื้นที่เพื่อสร้างแหล่งน้ำในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก โดยใช้อาคารทดน้ำแล้วปล่อยน้ำลงสู่ที่ต่ำด้านล่างเข้าพื้นที่ทำการเกษตรของเกษตรกร

เกษตรกรชาวไร่นิยมปลูกอ้อยข้ามแล้งในสภาพดินทราย โดยปรับปรุงบำรุงดินและใช้ไถระเบิดดินดานเพื่อเก็บกักน้ำไว้ในดินให้มากที่สุดก่อนหมดฤดูฝน หลังจากนั้นประมาณเดือนตุลาคมจึงทำการปลูกอ้อยโดยทยอยยกร่องและปลูกทันทีเพื่อรักษาความชื้นหลังยกร่องไว้ให้มากที่สุด

สำหรับไร่อ้อยที่ปลูกในสภาพดินเหนียว หากปลูกตามฤดูกาลปกติ มักเริ่มปลูกประมาณเดือนเมษายน หรือเดือนพฤษภาคม แต่เกษตรกรชาวไร่อ้อยในเขตภาคกลางหรือภาคตะวันตก ที่เป็นเขตดินเหนียว นิยมร่นระยะเวลาปลูกให้เร็วขึ้นมาอยู่ในช่วงเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ โดยใช้เทคนิคน้ำหยอดหรือน้ำราด เริ่มจากขั้นตอนการเตรียมดินให้ประณีตก่อนใช้รถปลูกบดอัดดินตามร่องปลูกให้แน่นเพื่อให้น้ำที่ราดลงไปตามร่องปลูกเก็บความชื้นได้นานที่สุด เพื่อให้อ้อยงอกขึ้นมาได้

คุณเสถียรได้ตัดแปลงหลังคารถแทรกเตอร์มาเป็นหลังคาที่ใช้เป็นที่บรรจุน้ำได้ถึง 1,500 ลิตร พร้อมทั้งพัฒนาเครื่องปลูกให้สามารถปลูกได้ครั้งละ 4 แถว โดยใช้แถวปลูกที่ระยะเท่ากับ 0-25-55-80 เซนติเมตร ตามลำดับ และมีอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันท่อนพันธุ์อ้อยไหลเข้าไปหากันในระหว่างชักร่องปลูกด้วยการประดิษฐ์หางปลูกอ้อยแบบ 1 ร่อง 4 แถว วิธีนี้ช่วยเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยสูงถึง 30 ตัน/ไร่ ถึงแม้ว่าจะต้องใช้ท่อนพันธุ์มากถึง 4 ตัน/ไร่ แต่ก็คุ้มค่าเมื่อเทียบกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น

ข้อได้เปรียบของการปลูกอ้อยโดยใช้น้ำหยอดคือ อ้อยงอกได้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ต้องเสียแรงงานในการปลูกซ่อมมากเหมือนวิธีการปลูกต้นฤดูฝนทั่วๆ ไป หากปลูกตั้งแต่เดือนธันวาคมหรือเดือนมกราคม อ้อยสามารถเติบโตคลุมดินได้ในช่วงต้นฤดูฝน ช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องสารกำจัดวัชพืชได้มาก ระหว่างที่อ้อยเติบโตในช่วงแรกจะไม่มีวัชพืชขึ้นมารบกวนเพราะหน้าดินแห้ง

หากฝนต้นฤดูตกล่าช้า สามารถใช้ไถระเบิดดินดานกรีดระหว่างร่องปลูกพร้อมหยอดน้ำลงไปอีก 1 ครั้ง ในอัตราไร่ละ ประมาณ 6,000 ลิตร สามารถช่วยให้อ้อยเจริญเติบโตข้ามช่วงแล้งได้อย่างสม่ำเสมอ หากมีวัชพืชขึ้นในช่วงที่อ้อยยังไม่โตคลุมดินก็ใช้รถกำจัดวัชพืชระหว่างแถวได้เช่นกัน การปลูกอ้อยข้ามแล้งโดยระบบน้ำหยอดให้ผลผลิตสูงถึง 30 ตัน/ไร่ เมื่อเทียบกับผลผลิตโดยเฉลี่ยทั้งประเทศ 10-13 ตัน/ไร่

จากผลงานโดดเด่นที่ผ่านมา ทำให้คุณเสถียรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ในฐานะปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ปี 2561 ทุกวันนี้ คุณเสถียรยังคงมุ่งมั่นทำงานเพื่อสังคมในตำแหน่งประธานสภาเกษตรกรจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอาชีพและยกระดับรายได้ของเกษตรกรชาวจังหวัดกาญจนบุรีให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตลอดไป

1. รศ.ดร.ประสิทธิ์ ใจศีล มหาวิทยาลัยขอนแก่น เอกสารประกอบการฝึกอบรมโครงการจัดทำต้นทุนผลผลิตและถ่ายทอดความรู้เพื่อลดต้นทุนการผลิตอ้อยของเกษตรกร ในปีเพาะปลูก 2557/58 สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล

2. ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ปี 2561 กองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืน สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คุณผกามาศ เพิ่มแสงสุวรรณ หรือ พี่นก อยู่บ้านเลขที่ 48/1 หมู่ที่ 5 ตำบลหนองโพธิ์ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ราชบุรี เนรมิตที่ดินมรดกของพ่อแม่เป็นแปลงเกษตรผสมผสาน ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ สร้างรายได้ไม่ขาดมือ ด้วยการวางแผนและการสร้างเครือข่ายที่ยั่งยืน

คุณผกามาศ เพิ่มแสงสุวรรณ หรือ พี่นก เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นเกษตรกรว่า เริ่มต้นจากการเป็นเกษตรกรวันหยุด ใช้เวลาว่างจากงานประจำวันเสาร์-อาทิตย์ กลับมาปลูกพืชผักไว้ที่บ้านอย่างละนิดอย่างละหน่อยสะสมประสบการณ์มาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดอิ่มตัวจากงานประจำ จึงตัดสินใจลาออก แล้วกลับมาเริ่มต้นชีวิตการเป็นเกษตรกรอย่างเต็มตัว โดยช่วงปีแรกเป็นช่วงของการเสาะแสวงหาความรู้อย่างเดียว ทั้งสมัครเข้ากลุ่มยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์เพื่อที่จะได้เข้าไปแลกเปลี่ยนความรู้จากเพื่อนๆ ในกลุ่ม เพราะแต่ละคนจะมีความรู้ความชำนาญในแต่ละเรื่องที่ไม่เหมือนกัน รวมถึงการเข้าอบรมด้านงานเกษตรต่างๆ ทุกครั้งที่มีโอกาส เพราะรู้ตัวเองว่าไม่ได้จบด้านเกษตรมา จึงต้องตั้งใจกว่าคนอื่น และนำสิ่งที่เรียนรู้มาประยุกต์ใช้กับวิถีชีวิตของตนเองจนเกิดเป็นความรู้ ความชำนาญ กลายเป็นเกษตรกรอย่างเต็มตัว

ผิดหวังจากพืชเชิงเดี่ยว หันเอาดีด้านเกษตรผสมผสาน
จนประสบความสำเร็จในอาชีพเกษตรกรรม
พี่นก เล่าว่า หลังจากที่มีโอกาสได้เข้าอบรมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำเกษตรต่างๆ จากเพื่อนๆ ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ตนก็ได้เริ่มต้นชีวิตการเป็นเกษตรกรเต็มขั้น ด้วยการลงมือปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปลูกตะไคร้กว่า 10 ไร่ ผลปรากฏออกมาคือเจ๊ง เนื่องจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวช่วงไหนราคาดีก็ดีมาก ได้เงินเป็นกอบเป็นกำ แต่พอถึงช่วงที่ราคาตก ก็ทำเอาขาดทุนได้ง่ายๆ จนต้องล้มเลิกความตั้งใจที่จะปลูกพืชเชิงเดี่ยว ตัดตะไคร้ทิ้ง แล้วกลับมาเริ่มต้นใหม่กับการปลูกพืชผสมผสานแบบอินทรีย์ ด้วยการยึดหลักทฤษฎีบันได 9 ขั้น เป็นแบบอย่าง และตั้งปณิธานว่า พืชผักทุกชนิดที่ปลูกจะปลูกดูแลให้เหมือนกับที่ปลูกให้กับคนในครอบครัวกิน เน้นให้ธรรมชาติดูแลธรรมชาติ ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ เมื่อถึงเวลาให้อาหารสัตว์ก็จะใช้เศษผักเศษหญ้าภายในสวนมาผสมเป็นอาหารให้ไก่กิน ซึ่งตรงนี้เป็นอาหารเสริมอีกชนิดหนึ่ง ไข่ที่ออกมาก็จะแตกต่างจากไข่ทั่วไป และประโยชน์ในอีกแง่ของมูลไก่ คือ สามารถนำมาทำปุ๋ยหมักปลูกต้นไม้ได้อีกด้วย หรือถ้าที่บ้านใครเลี้ยงวัวก็สามารถนำมูลวัวมาเลี้ยงไส้เดือนได้อีก พยายามใช้ประโยชน์ที่มีอยู่รอบตัวให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด เกษตรผสมผสานถือเป็นการสร้างสมดุลภายในไร่ในสวนให้เกิดขึ้น โดยที่ไม่ต้องพึ่งสารเคมีแม้แต่น้อย

โดยทำเกษตรผสมผสาน บนพื้นที่ 3 ไร่ ปลูกพืชผักหลากหลายชนิด ทั้งผักพื้นบ้าน ผักริมรั้ว เช่น แค ตำลึง มะนาว ถั่วฝักยาว มะระขี้นก มะเขือพวง เป็นต้น รวมถึงวอเตอร์เครส พืชชอบน้ำ เหมาะสำหรับคนรักสุขภาพ เนื่องจากผักวอเตอร์เครสเป็นผักที่มีคุณประโยชน์สูงมากๆ เป็นที่ต้องการของกลุ่มคนรักสุขภาพ แต่ยังมีคนปลูกน้อย สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย ทั้งต้ม ทอด แกง ผัด รวมถึงทำเป็นเครื่องดื่ม และยังเป็นผักที่ปลูกและดูแลง่ายมากๆ ปลูกครั้งเดียวเก็บผลผลิตได้นานถึง 6 เดือน กลายเป็นพืชสร้างรายได้ดีให้กับไร่ทรงสุวรรณในขณะนี้

“วอเตอร์เครส” ผักของคนรักสุขภาพ ปลูกง่าย
ต้นทุนต่ำ ราคาดี เป็นที่ต้องการของตลาด
เจ้าของเผยเทคนิคการปลูกวอเตอร์เครส พืชทำเงินอันดับต้นๆ ของที่ไร่ว่า วอเตอร์เครสเป็นพืชที่ชอบน้ำ แต่ไม่ชอบแดด เหมาะกับการปลูกในพื้นที่มีแดดรำไร ปลูกใต้ต้นไม้ หรือจะปลูกใต้ซาแรนพรางแสง 60 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปก็ได้ เพราะถ้าปลูกกลางแจ้งต้นจะไม่งามและแข็งเกินไป

ยกตัวอย่างลักษณะการจัดการแปลงปลูกของที่สวนจะไม่ได้ทำเป็นแปลงปลูกทีเดียวบนพื้นที่เยอะๆ แต่จะเลือกปลูกตามความสะดวก พื้นที่ตรงไหนมีที่ว่างใต้ต้นไม้ก็สามารถปลูกได้ ซึ่งเมื่อรวมพื้นที่การปลูก วอเตอร์เครสของที่สวนแล้วใช้พื้นที่เพียงคิด 4×10 เมตร จะเห็นได้ว่าใช้พื้นที่น้อยมาก แต่สร้างรายได้ดี เพราะวอเตอร์เครสเป็นพืชที่ตัดแล้วแตกใหม่ได้เรื่อยๆ ตามคอนเซ็ปต์ของสวนเน้นปลูกพืชที่ง่าย ปลูกครั้งเดียวเก็บเกี่ยวได้นาน

ขั้นตอนการปลูก
การเตรียมดิน ใช้ปุ๋ยหมักมูลสัตว์โรยผสมคลุกเคล้าพรวนดิน แล้วนำกิ่งวอเตอร์เครสที่มีความยาวประมาณ 3 ข้อ จิ้มลงปลูกไปในดิน ลึกประมาณ 1 ข้อ ระยะห่างระหว่างต้น อย่างน้อย 10 เซนติเมตร

จากนั้นหมั่นคอยดูแลรดน้ำทุกวัน วันละไม่ต่ำกว่า 10 นาที เพราะวอเตอร์เครสเป็นพืชที่ห้ามขาดน้ำ ระบบน้ำสามารถใช้ได้ทั้งระบบน้ำหยด และใช้สายยางเดินรดได้ ตามความเหมาะสมของพื้นที่

ปุ๋ย ใส่เดือนละครั้ง โดยปุ๋ยที่ใส่จะสลับกันใส่ระหว่างปุ๋ยมูลไส้เดือนกับปุ๋ยหมักที่ทำเอง เช่น เดือนที่หนึ่ง ใส่ปุ๋ยมูลไส้เดือน เดือนที่สองสลับใส่ปุ๋ยหมัก ใส่สลับไปแบบนี้ทุกเดือน และเสริมด้วยการฉีดฮอร์โมนนมสด เพื่อบำรุงใบด้วย

สามารถใช้นมที่ใกล้หมดอายุ หรือนมวัวที่ไม่ผ่านมาตรฐานส่งเข้าโรงงานมาทำได้ ในอัตราส่วน นม 4 ลิตร น้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม อีเอ็มหรือจุลินทรีย์ครึ่งลิตร แล้วหมักทิ้งไว้ 2 สัปดาห์

วิธีใช้ อัตราส่วนฮอร์โมนนมสด 100 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ใช้ฉีดพ่นผักใบ อย่างวอเตอร์เครส ช่วยบำรุงใบได้ดี ทำให้ใบหนา และอวบ

โรคแมลง เป็นแมลงกินใบ และเพลี้ย ป้องกันด้วยการฉีดน้ำหมักสมุนไพรที่มีส่วนผสมของกาแฟ และตะไคร้ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง มีแมลงหรือไม่มีก็จะฉีดป้องกันไว้ก่อนเสมอ

ระยะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว ถ้าปลูกครั้งแรกใช้เวลาปลูก 1-1 เดือนครึ่ง เก็บเกี่ยวผลผลิตได้รอบแรก และหลังจากนั้นสามารถเก็บผลผลิตได้ต่อไปอีกประมาณครึ่งปี โดยการตัดแต่งหรือทำให้แตกใบใหม่ สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการใช้เครื่องตัดหญ้าตัดได้เลย

ผลผลิต เก็บได้ทุกสัปดาห์ตามออเดอร์ โดยจะมีออเดอร์จากลูกค้าทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 10-20 กิโลกรัม ซึ่งที่สวนผลผลิตยังไม่พอต่อความต้องการ ก็จะแก้ปัญหาด้วยการแจกจ่ายออเดอร์ให้กับเครือข่าย

รายได้ เป็นผักที่มีราคาค่อนข้างดี จำหน่ายได้สูงถึงกิโลกรัมละ 140 บาท กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรักสุขภาพ แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักของชาวบ้านทั่วไปสักเท่าไร แต่ที่สวนจะปลูกเพื่อนำไปขายตลาดในกรุงเทพฯ หรือในพื้นที่ที่มีกลุ่มลูกค้าเป็นคนรักสุขภาพมาเดินจับจ่าย อย่างวอเตอร์เครสเมื่อไปอยู่ถูกที่ถูกเวลา ถูกกลุ่มเป้าหมายจะเป็นผักที่ขายดีมากๆ จนพื้นที่ปลูกไม่พอต่อความต้องการของผู้บริโภค

ต้นทุนการปลูก สำหรับท่านที่สนใจอยากทดลองปลูกไว้กินเอง มีเงินหลักสิบก็สามารถปลูกได้ เพราะที่สวนก็เริ่มจากการได้รับกิ่งพันธุ์มาจากเครือข่ายยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์และขยายพันธุ์เองมาเรื่อยๆ หรือท่านใดอยากทดลองปลูก แต่ไม่รู้จะไปหาต้นพันธุ์จากไหน สามารถติดต่อมาที่ไร่ทรงสุวรรณได้โดยตรง

เริ่มต้นการตลาด จากสื่อโซเชียล
ได้ผลดี โดยที่ไม่ต้องเสียเงินค่าโฆษณา
พี่นก บอกว่า ตนก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ไม่เก่งเรื่องการตลาด ไม่ถนัดที่จะเดินเข้าไปหาลูกค้าก่อน แต่โชคดีที่ตนสามารถประยุกต์ใช้สื่อโซเชียลที่มีอยู่ในมือให้เกิดประโยชน์ ด้วยการเริ่มต้นง่ายๆ คือ ที่สวนปลูกอะไร ก็พยายามโพสต์สินค้าที่มีอยู่ลงเฟซบุ๊ก ในช่วงแรกอาจจะยังไม่มีคนสนใจเท่าไร แต่ก็อย่าเพิ่งถอดใจ ให้ขยันโพสต์ไปเรื่อยๆ ผ่านไปสักระยะจะมีลูกค้าที่เห็นและสนใจติดต่อเข้ามาเองเรื่อยๆ หรือถ้าเกษตรกรท่านใด มีเทคนิคการเล่นโซเชียล การเพิ่มแฮชแท็ก ก็นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เข้ามาช่วยให้การค้นหาร้านค้าของคุณง่ายมากยิ่งขึ้น สามารถช่วยคัดกรองคนที่สนใจสินค้าได้อย่างเฉพาะเจาะจง วิธีนี้ถือว่าได้ผลดีมากๆ สามารถสร้างยอดขายให้เราได้ ดังนั้น สื่อโซเชียลถือเป็นการสร้างตลาดเบื้องต้นได้เป็นอย่างดี และหลังจากนั้นเมื่อเริ่มมีประสบการณ์การขายมากยิ่งขึ้น ทางสวนก็ได้มีการขยับขยายตลาดจากขายทาง เฟซบุ๊ก ก็มีการทำตลาดทั้งแบบค้าปลีกและค้าส่ง

ซึ่งตลาดค้าส่งจะเป็นรูปแบบของบริษัท ในรูปแบบของร้านค้าที่ซื้อเป็นกิโลกรัมแล้วนำไปแปรรูปต่อ และตลาดค้าปลีกจะเป็นในรูปแบบการแพ็กสินค้าเองแล้วนำไปขายในห้าง และร้านค้าของกลุ่มยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ที่ตลาด อ.ต.ก. ซึ่งการขายแบบปลีกและส่งก็จะมีข้อดีต่างกันไป ขายส่งก็จะขายได้จำนวนที่เยอะกว่า และการขายส่งจะได้รายได้ต่อปริมาณที่มากกว่า

ฝากถึงเกษตรกรให้ยืนด้วยสองขาของตัวเอง
“ในปัจจุบันโลกเราเปลี่ยนไปแล้ว เกษตรกรไม่สามารถที่จะปลูกผักเพื่อส่งอย่างเดียวได้ เพราะว่าความยั่งยืนมันจะไม่เหมือนเดิมแล้ว แต่จะทำอย่างไร ให้สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง คือการเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ จากเดิมเกษตรกรหลายท่านอาจจะมุ่งเน้นปลูกส่งตลาดกลาง หรือปลูกส่งพ่อค้าคนกลางเพียงอย่างเดียว แต่ให้เปลี่ยนวิธีการเป็นทั้งปลูกส่งด้วย และปลูกขายเองด้วย ไม่อยากให้ยึดติด เพราะถ้าปลูกส่งตลาดกลางอย่างเดียว เราจะไม่มีสิทธิ์กำหนดราคาได้เองเลย ถ้าพ่อค้าให้ 5 บาท เราก็ต้องรับ 5 บาท ทั้งที่จริงแล้วคุณภาพของสินค้าเราสามารถขายได้ราคาสูงกว่านี้ ยกตัวอย่างมะเขือพวง เราแพ็กส่งเองเท่ากับเราขายได้กิโลละ 60 บาท แต่ถ้าเอาไปส่งที่ตลาด มะเขือพวงเหลือราคากิโลกรัมละ 10-20 บาท เพราะฉะนั้นต้องข้ามผ่านการทำเกษตรแบบเดิมๆ มีอะไรที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ก็ให้รีบทำ ควรที่จะแสวงหาวิธีการขายโดยใช้โซเชียลเข้ามาด้วย เพราะคนเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเดินตลาดกันแล้ว แต่เขาจะเอาความง่ายเข้าว่า” พี่นก กล่าวทิ้งท้าย

คุณพุฒินันท์ พันธุ์เครือ shareitforpcfreedownloads.com หนึ่งในเกษตรกรคนเก่งที่พัฒนาเทคนิควิธีการเพาะเลี้ยงเห็ดตับเต่าจากประสบการณ์โดยตรง จนสามารถพัฒนาเชื้อเห็ดเพื่อการพาณิชย์ คุณพุฒินันท์ กล่าวว่า การเพาะเห็ดตับเต่า สามารถทำได้ไม่ยากเลย แค่จัดสร้างสภาพแวดล้อมง่ายๆ ด้วยการจัดให้มีพืชอาศัยของเห็ดแล้วใส่เชื้อเห็ดลงไปที่โคนต้น จากนั้นใส่ดินและสารอินทรีย์กลบเชื้อ คอยรดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ ในเวลาไม่นานเชื้อเห็ดก็จะเจริญงอกงามสร้างเส้นใยไปทั่วรากไม้ที่มันอิงอาศัยอยู่

เทคนิคสำคัญที่ทำให้เกิดดอกเห็ดคือ ต้องบำรุงพืชให้มีรากมาก เพื่อหาอาหารได้เยอะๆ ด้วยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเป็นอาหารของเห็ดและพืช พร้อมทั้งรดน้ำให้มีความชุ่มชื้นมากๆ ซึ่งเป็นลักษณะการสร้างสภาพแวดล้อมเทียมหลอกเห็ดให้เหมือนกับว่ามันกำลังเติบโตในธรรมชาตินั่นเอง

โดยธรรมชาตินั้น ช่วงเวลาที่สภาวะอากาศแห้งแล้ง เป็นระยะที่พืชสะสมอาหาร เมื่อเกิดฝนตกใหญ่หรือรดน้ำให้ผืนดินชุ่มชื้น เชื้อเห็ดจะเริ่มงอกงาม เกษตรกรเคยทดลองวิธีนี้ในสวนลำไย ที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ปรากฏว่า ประสบผลสำเร็จ ทำให้เกิดเห็ดตับเต่านอกฤดูมาแล้ว ส่วนที่จังหวัดปทุมธานีและสุพรรณบุรีก็สามารถเพาะเห็ดกับสวนมะกอกน้ำได้อย่างดี

คุณพุฒินันท์ แนะนำว่า หากสวนผลไม้ของใครมีต้นมะไฟมาก ก็มีโอกาสที่จะเพาะเชื้อเห็ดได้ง่ายเช่นกัน แม้ว่าไม้บางต้นยังไม่มีเห็ดมาก่อน เพราะไม่มีเชื้อเลย ก็สามารถพัฒนาให้เกิดเห็ดในอนาคตได้ โดยการนำเชื้อเห็ดใส่ลงไปที่โคนต้น โดยจะใช้เชื้อเห็ดต่อไร่ ประมาณ 50 บาท

ส่วนรายละเอียดของการเพาะเชื้อเห็ดนั้นมีหลายสูตรด้วยกัน ขออนุญาตนำสูตรของ คุณพุฒินันท์ พันธุ์เครือ มาเล่าพอสังเขป ดังนี้

1. การเพาะเชื้อจากดินสวนเก่า

ให้เก็บกวาดเอาดินผิวดิน ซึ่งจะได้เศษราก ปลายรากขนอ่อน ที่มีเชื้อราเห็ดตับเต่าติดอยู่แล้วหลุดติดมาด้วย เอาเชื้อเหล่านี้ใส่ลงไปในถุงเพาะต้นกล้า ทำให้พืชได้รับเชื้อตั้งแต่อยู่ในถุงเพาะ เมื่อเอามะกอกน้ำไปปลูกก็จะมีเชื้อติดอยู่กับรากนี้ไปตลอดชีวิตของต้นไม้

สำหรับท่านที่มีสวนอยู่แล้วแต่ไม่มีเชื้อเห็ด ให้เอาดินผิวดินจากสวนอื่นที่มีเชื้ออยู่มาใส่ในบริเวณรอบๆ โคนต้น หรือหว่านกระจายบริเวณใต้พุ่มแล้วหว่านทับด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ เศษพืช ใช้ใบไม้หญ้าแห้งต่างๆ คลุมทับแล้วรดน้ำให้ชุ่มชื้น เชื้อเห็ดจะเจริญไปกับรากพืชได้ ลักษณะของเชื้อเห็ดแบบนี้เป็นเชื้อที่มาอาศัยอยู่กับต้นไม้ตลอดไป

หากเพาะเมล็ดไปพร้อมกับดินเชื้อเห็ด ไมคอร์ไรซ่าจะเจริญเติบโตไปกับรากไม้อย่างรวดเร็ว เพราะการทำงานของเส้นใยเห็ดมีประโยชน์อย่างมาก โดยปล่อยน้ำย่อยไปละลายแร่ธาตุในดินให้พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย เพราะแร่ธาตุบางอย่างละลายยาก เท่ากับเชื้อราเห็ดได้เอื้อต่อการเจริญของต้นไม้และยังอุ้มไอน้ำในดินให้ชุ่มชื้น ส่งผลต่อการแผ่ขยายรากพืชด้วย ทำให้พืชทนแล้งได้ดียิ่งขึ้น

หากสวนใดมีเห็ดตับเต่าออกมาให้เก็บรับประทานแล้ว ควรเหลือดอกเห็ดบางส่วนเก็บเป็นเชื้อไว้ โดยปล่อยให้ดอกเห็ดบานเต็มที่ ช่วงนี้เห็ดจะปล่อยสปอร์ร่วงหล่นที่พื้นดินเป็นจำนวนมาก เมื่อนำเอาดินบริเวณผิวดินมาใช้ก็จะได้ทั้งเชื้อที่เติบโตมาจากรากเดิมและเชื้อจากสปอร์ด้วย วิธีนี้จะช่วยขยายพันธุ์เชื้อเห็ดได้ผลดียิ่งขึ้น

ด้วยวิธีนี้เชื้อไมคอร์ไรซ่าจะเจริญได้รวดเร็วขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่จำเป็นต้องใช้ปริมาณดินผิวดินมากนักก็ได้ อาจใช้เพียง 1 ช้อนชาต่อถุง เพาะเมล็ดพันธุ์พืช 1 ถุงก็พอ เมื่อรดน้ำให้ชุ่มชื้นแล้ว เชื้อเห็ดจะลงลึกไปถึงรากได้เอง