ปลูก “ฟักแม้ว” ต้องใช้ “เมล็ด” หรือส่วนใดปลูก?เชื่อว่าหลายคน

ชอบรับประทาน“ฟักแม้ว” ทั้งยอดและผล นิยมนำมาผัดน้ำมันหอยได้รสชาติอร่อยมาก ทำให้หลายคนสนใจอยากปลูกฟักแม้วไว้เป็นพืชสวนครัวประจำบ้าน แต่ยังไม่แน่ใจว่า การปลูกฟักแม้ว ต้องใช้เมล็ด หรือส่วนใดปลูก หากใครใคร่รู้เรื่องนี้ หมอเกษตร ทองกวาว มีคำตอบมาให้สำหรับผู้สนใจ

ฟักแม้ว มะระแม้ว มะระหวาน หรือ ซาโยเต้ (Chayote) เป็นพืชจัดอยู่ในวงศ์เดียวกับฟัก แฟง แตงกวา มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศเม็กซิโก เชื่อว่าหมอสอนศาสนาคริสต์นำเข้ามาในประเทศไทย แต่เมื่อใดไม่มีข้อมูลที่สามารถอ้างอิงได้

ฟักแม้ว เป็นประเภทไม้เลื้อย มีอายุข้ามปีหรือมากกว่า 1 ฤดู เถายาว 3-5 เมตร ใบมี 3-5 เหลี่ยม ยาว 8-15 เซนติเมตร ผลเป็นประเภทผลเดี่ยว ดอกเพศผู้ เพศเมีย แยกกันอยู่คนละดอก แต่อยู่ในต้นเดียวกัน เถาเป็นรูปเหลี่ยม เนื้อผลพัฒนามาจากฐานรองดอก ขยายใหญ่ไปหุ้มเมล็ดไว้ คล้ายกับผลมะม่วง ผลฟักแม้ว มีทรงกลม ด้านยาวมากกว่าความกว้าง ผลขรุขระ สีเขียวอ่อน ยาว 7-20 เซนติเมตร และกว้าง 5-15 เซนติเมตร น้ำหนักผลเฉลี่ย 200-400 กรัม ต่อผล เนื้อมีรสหวาน

การปลูกดูแล
การปลูกหรือขยายพันธุ์ฟักแม้ว ต้องใช้ปลูกทั้งผล คัดเลือกผลที่สมบูรณ์ แก่เต็มที่ ไม่มีโรค แมลงติดมาด้วย วางส่วนก้นลงหลุมปลูก แล้วเกลี่ยดินกลับลงหลุม หรืออาจวางนอนก็ได้ แล้วกลบดินเพียงครึ่งผล เมื่อได้รับความชื้น รากจะงอกออกที่ก้นผลใกล้กับเมล็ด ต่อมาเถายาวขึ้นและแตกแขนงออก ตัดแต่งปีละ 3-4 ครั้ง ให้เหลือไว้เพียง 3-5 เถา

หลังปลูก
ต้นฟักแม้วอายุ 4-5 เดือน จะเริ่มให้ผล โดยเฉลี่ย 25-40 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี ใช้ระยะปลูก 2×2 เมตร ทำค้างให้เลื้อย จะได้ผลสวยงาม แหล่งปลูกสำคัญอยู่ที่จังหวัดตาก เพชรบูรณ์ และเลย

การดูแลรักษา
ปฏิบัติเช่นเดียวกับการปลูกแตงกวา หรือฟัก แฟง ภาคกลางอากาศร้อน ปลูกไม่ค่อยได้ผล มีที่จังหวัดกาญจนบุรีบางแห่งปลูกได้ แต่ปลูกบนที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 500-1,200 เมตร จะให้ผลดีที่สุดครับ

ผักชีฝรั่ง เป็นผักและสมุนไพรไทยที่นิยมนำมาปรุงอาหารในหลากหลายเมนู โดยเฉพาะอาหารอีสาน เนื่องจากใบมีรสชาติจืด แต่มีกลิ่นหอมแรง สามารถปรับปรุงกลิ่นอาหารให้ชวนรับประทานมากขึ้น

ผักชีฝรั่ง เป็นพืชอายุสั้น ใช้เวลาปลูกประมาณ 4 เดือน ก็สามารถเก็บผลผลิตได้แล้ว โดยเกษตรกรจะปลูกในโรงเรือนความสูงประมาณ 1.70-2.00 เมตร ด้านบนจะมุงตาข่ายพรางแสง ให้แสงส่องผ่านได้ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ โดยการปลูกผักชีฝรั่งจะใช้เมล็ด ปลูกระบบร่องน้ำจึงจะได้ผลผลิตดี โดยหน้าร่องควรกว้าง 6 เมตร หรือ 3 วา ร่องน้ำกว้าง 1 เมตร ลึก 1 เมตร ส่วนความยาวแล้วแต่พื้นที่

และหลังจากหว่านเมล็ดลงไปแล้ว 10- 15 วัน เมล็ดจะงอกเป็นต้นกล้า ซึ่งในช่วงนี้จะต้องดูแลกำจัดวัชพืช รดน้ำอย่าให้ขาด เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดิน และพอต้นกล้าอายุได้ 1 เดือน ก็จะเริ่มบำรุงปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์

ส่วนตลาดจะเป็นตลาดในประเทศ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยจำหน่าย กิโลกรัมละ 20 บาท ซึ่งแต่ละรอบจะเก็บผลผลิตได้ 3-4 ตัน ทำรายได้เฉลี่ย 60,000-80,000 บาท

อินทผลัม เป็นไม้ทะเลทราย มีน้ำอดน้ำทนสูง เมื่อนำมาปลูกในประเทศไทยก็ได้ผลดีน่าพอใจ โดยเฉพาะชนิดรับประทานผลสด ข้อมูลที่ได้จากการเสวนาอินทผลัมเมื่อปีก่อน จัดโดยนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ในเครือมติชน โดยผู้แทนจากห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน สรุปว่า เมื่อปี พ.ศ. 2557 มูลค่าการซื้อขายอินทผลัมที่ห้างสรรพสินค้า ที่นำเข้ามาจากตะวันออกกลาง และผลผลิตภายในประเทศ คิดเป็นเงิน 2.5 และ 2.8 ล้านบาท ตามลำดับ อีกทั้งตลาดมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น

กลับมาเรื่องการขยายพันธุ์อินทผลัมกันอีกครั้ง ปัจจุบัน การขยายพันธุ์อินทผลัมทำได้ 3 วิธี คือ การเพาะเมล็ด การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และการตอน หรือการแยกหน่อ ทั้งนี้ ผมขออธิบายเฉพาะวิธีตอนเท่านั้น เริ่มจากการเลือกหน่อที่มีขนาดพอเหมาะ ความยาวไม่เกิน 70 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางของหน่อ อยู่ระหว่าง 30-40 เซนติเมตร ทำความสะอาดบริเวณรอยเชื่อมต่อของหน่อกับต้นแม่ เรียบร้อยแล้ว โปะโคนหน่อด้วยขุยมะพร้าวแช่น้ำ บีบน้ำให้หมาด หุ้มด้วยพลาสติกสีดำ ผูกเป็นกระเปาะเช่นเดียวกับตอนกิ่งไม้ทั่วไป แต่กระเปาะตอนอินทผลัมมีขนาดใหญ่กว่าเท่านั้น ระวัง อย่าให้กระเปาะหมุน หรือขยับเขยื้อนได้

ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน หน่อจะสร้างรากออกมารอบทิศทาง ครบ 45-60 วัน ตัดให้ขาดด้วยเลื่อยคม และสะอาด แยกออกจากต้นแม่ แล้วทารอยแผลทั้งต้นแม่และหน่อด้วยปูนแดง หรือสีน้ำมัน อย่างใดอย่างหนึ่ง นำหน่อที่ตัดออกมาปลูกลงในถุงเพาะชำขนาดพอเหมาะกับหน่อ ที่มีวัสดุปลูกสะอาด และระบายน้ำได้ดี เก็บในเรือนเพาะชำ เมื่อตั้งตัวได้ดี และนำปลูกลงในแปลงได้ตามความต้องการ

ดอกกันจอง หรือ ตาลปัตรฤๅษี เป็นพืชผักพื้นบ้านที่เจริญงอกงามได้ดีในท้องนา จึงมักเก็บมาเป็นอาหารในครัวเรือน หรือขายเป็นรายได้ เป็นอีกหนึ่งพืชผักพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมในการบริโภคอย่างแพร่หลาย เป็นพืชที่ปลูกง่าย เจริญเติบโตไว ใช้ต้นทุนการผลิตต่ำ ให้ผลตอบแทนคุ้มทุน

เกษตรกรที่บ้านบางชัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี จึงได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนามาปลูกดอกกันจองในเชิงการค้า ทำให้มีรายได้เดือนละหมื่นกว่าบาท ดอกกันจองนับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของท้องถิ่น การปลูกจึงเป็นหนึ่งอาชีพทางเลือกที่น่าสนใจในการเสริมสร้างรายได้สู่วิถีชีวิตที่มั่นคง วันนี้จึงนำเรื่อง ดอกกันจอง…พืชผักพื้นบ้าน ผักปลอดภัย ปลูกขายรายได้ดี มาบอกเล่าสู่กัน

ป้าประภารัตน์ บุญเลิศ เกษตรกรปลูกดอกกันจอง พืชผักพื้นบ้าน เล่าให้ฟังว่า มีอาชีพหลักในการทำนา 29 ไร่ ทำนาปีละ 2 ครั้ง ปลูกข้าว พันธุ์ กข 31 ได้ผลผลิตข้าว 80 ถัง ต่อไร่ ขาย 7,000 บาท ต่อเกวียน และปลูกข้าว พันธุ์ กข 47 ได้ผลผลิต 70-80 ถัง ต่อไร่ ขาย 7,000 บาท ต่อเกวียน เมื่อครั้งมีการรับจำนำข้าว เคยมีรายได้ 2-3 แสนบาท ต่อฤดู

เมื่อเวลาเปลี่ยนไป สภาวะเศรษฐกิจไม่แน่นอน การทำนาต้องใช้น้ำปริมาณมาก และการมีรายได้ที่ไม่มั่นคง จึงมองหาอาชีพทางเลือกใหม่หรืออาชีพเสริม จุดเปลี่ยนเมื่อได้พบว่า ดอกกันจอง ที่เจริญเติบโตพร้อมกับต้นข้าวในท้องนาที่เก็บมาเป็นอาหารเครื่องเคียงกินกับน้ำพริกในครัวเรือนบ่อยๆ ประกอบกับพ่อค้าคนกลางที่เข้ามาซื้อผลผลิตทางการเกษตรในชุมชนได้แจ้งความประสงค์ว่าต้องการรับซื้อดอกกันจองเพื่อนำไปขาย จะปลูกและผลิตให้ได้หรือไม่ เมื่อพิจารณาข้อดี-ข้อด้อย และการมีตลาดรับซื้อที่แน่นอน เมื่อปี 2557 จึงได้ตัดสินใจปรับเปลี่ยนพื้นที่นา 1 ไร่ มาปลูกดอกกันจองขาย เพื่อเป็นพืชทางเลือกในการเสริมรายได้ถึงทุกวันนี้

พันธุ์ปลูก ได้คัดเลือกต้นพันธุ์ดอกกันจองที่สมบูรณ์ ปลอดโรค ที่มีอยู่ในแปลงนามาปลูก วิธีการเก็บต้นพันธุ์ ให้จับโคนต้น แล้วค่อยๆ ดึงขึ้นมาตรงๆ เพื่อไม่ให้ต้นพันธุ์ช้ำ นำมาแช่น้ำไว้ในภาชนะ เพื่อช่วยเก็บรักษาความสดของต้นพันธุ์ไว้ให้ได้นานก่อนนำไปปลูก

การปลูกดอกกันจอง เตรียมดินปลูกด้วยการตีเทือกเหมือนการทำนาทั่วไป แปลงนาจะเป็นดินตม ดินอ่อน และควรมีน้ำขังในแปลงนาด้วย วิธีการปลูก ใช้วิธีการปักดำ ระยะห่างระหว่างต้นและแถว 50×50 เซนติเมตร หรือ 1 ศอก

หลังจากปลูก 7 วัน ป้าประภารัตน์ บอกว่าจะเริ่มทยอยเก็บดอกกันจองไปขาย ดอกกันจองจะมีให้เก็บเกี่ยวได้เกือบทุกวัน แต่ละครั้งจะเก็บดอกกันจองได้ 250-270 ดอก นำดอกกันจองมาจัดเป็นกำ 1 กำ มี 12 ดอก แล้วจัดดอกกันจองใส่ถุงพลาสติกสะอาด 10 กำ ต่อถุง จะได้ 25-27 ถุง นำไปขายส่งให้กับพ่อค้าคนกลาง 15 บาท ต่อถุง ทำให้มีรายได้ 375-405 บาท ต่อวัน หรือมีรายได้โดยเฉลี่ย 11,250-12,150 บาท ต่อเดือน เป็นรายได้เสริมที่ทำให้วิถีครอบครัวมีความมั่นคง

คุณทองอุไร เอี่ยมลออ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ เล่าให้ฟังว่า ดอกกันจองเป็นพืชผักพื้นบ้านปลอดภัย ซึ่งในกระบวนการผลิต ไม่มีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ในด้านการพัฒนาคุณภาพผลผลิตดอกกันจอง ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตฮอร์โมนนมใช้ วัสดุที่ผลิตจะมี นมกล่องชนิดจืด ขนาดบรรจุ 250 มิลลิลิตร 3 กล่อง กากน้ำตาล 1 แก้วน้ำดื่ม เครื่องดื่มชูกำลัง 10 ช้อนแกง และผงปรุงรสอาหาร 1 ช้อนแกง นำวัสดุทั้งหมดใส่ภาชนะที่สะอาดคลุกเคล้าผสมให้เข้ากัน เทใส่ขวดสีชา ปิดฝา หมักไว้ 10 วัน ระหว่างนี้ต้องคอยเปิดฝาเพื่อช่วยระบายก๊าซในขวดออก เมื่อครบกำหนดจะได้หัวเชื้อฮอร์โมนนมคุณภาพ และสูตรนี้เมื่อนำไปผสมกับน้ำ ใช้ได้ประมาณ 20 ครั้ง

วิธีการใช้ เตรียมถังที่สะอาด ใส่น้ำลงไป 20 ลิตร นำหัวเชื้อฮอร์โมนนม 5 ช้อนแกง ใส่ลงไป ใช้ไม้คนให้เข้ากัน แล้วนำไปฉีดพ่นทุก 15 วัน ต่อครั้ง จะได้ดอกกันจองอวบ กรอบ และอร่อย การผลิตหัวเชื้อฮอร์โมนนมใช้เป็นหนึ่งทางเลือกในการลดต้นทุนการผลิตที่ทำให้ได้ผลตอบแทนคุ้มทุน และนำไปสู่การยกระดับรายได้เพื่อการมีวิถีที่มั่นคง

จากเรื่อง ดอกกันจอง…พืชผักพื้นบ้าน ผักปลอดภัย ปลูกขายรายได้ดี ได้กล่าวถึง การปลูกดอกกันจอง การผลิตหัวเชื้อฮอร์โมนนมใช้เป็นการลดต้นทุนการผลิตเพื่อเพิ่มรายได้ ทำให้มีวิถีชีวิตที่มั่นคง สอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่ ป้าประภารัตน์ บุญเลิศ เกษตรกรผู้ปลูกดอกกันจอง เลขที่ 171 หมู่ที่ 6 บ้านบางชัน ตำบลบ้านแป้ง อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี โทร. 087-669-0144 หรือที่ คุณทองอุไร เอี่ยมลออ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี โทร. 089-801-4214 ก็ได้นะครับ

สานฝันความชอบต่อยอดเป็นอาชีพ คุณอรพิน พิทักษากร หรือ พี่น้อย เจ้าของสวนมะม่วงทับทิมทอง ผลไม้แบรนด์สวนสระแก้ว ในพื้นที่ตำบลวังใหม่ อำเภอวังสมบูรณ์ จังหวัดสระแก้ว อดีตแอร์โฮสเตสสายการบิน Cathay Pacific ที่ผันตัวเป็นเกษตรกร รวบรวมเงินซื้อที่ดิน 1 แปลง หลังจากเกษียณ เพราะเห็นว่าศักยภาพของประเทศไทยมีความเหมาะสมที่จะทำเกษตรกรในทุกๆ ด้าน จึงหันมาทำเกษตรกรรมอย่างเต็มรูปแบบ

จุดเริ่มต้นของการปลูกมะม่วงทับทิมทองนั้น มาจากคำแนะนำของเพื่อนที่ประเทศไต้หวัน และเล็งเห็นว่าลักษณะของผล ผิวพรรณ และรสชาติของมะม่วงทับทิมทองนั้นมีศักยภาพ จึงมีความมั่นใจในระดับหนึ่ง จนในปี 2557 จึงนำต้นมะม่วงทับทิมทองจำนวน 2,000 ต้น มาปลูกในพื้นที่ไร่ของตนเองที่ซื้อไว้จำนวน 75 ไร่

คุณอรพิน เล่าว่า มะม่วงทับทิมทองนั้น ถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าจับตามอง เพราะยังไม่มีการปลูกที่แพร่หลายในประเทศไทย ลักษณะเหมือนกับมะม่วงทั่วไป ที่เกิดจากการผสมเกสรของมะม่วงชื่อดัง 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์เออร์วิน (Irwin) ของประเทศสหรัฐอเมริกา ลักษณะผลแดงสวย มีกลิ่นหอม และสายพันธุ์จินหวง (Jin Huang) ของประเทศไต้หวัน ที่มีลักษณะเนื้อที่หนา แน่น จนกลายเป็นมะม่วงทับทิมทอง หรือ Ruby Mango ของสวนสระแก้ว

“หลังจากปลูกมะม่วงทับทิมทองได้สักระยะหนึ่ง ต้องเจอกับปัญหาการขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้ช่วงเดือนมกราคมถึงช่วงเดือนมีนาคม เป็นช่วงที่มะม่วงออกดอก และต้องใช้น้ำในการรดต้นมะม่วงทับทิมทองเป็นพิเศษอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันดอกร่วง ส่งผลให้มีปัญหาแบบนี้เรื่อยมาในทุกๆ ปี พยายามลองหลายวิธีด้วยตนเอง แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้”

จนในที่สุดได้รับการช่วยเหลือจาก ผศ.ดีเซลล์ สวนบุรี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ผู้ร่วมวิจัยโครงการ “การจัดการน้ำด้านการเกษตรจากแหล่งน้ำใต้ดินด้วยเทคนิคการสำรวจประสิทธิภาพสูงเพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิตมะม่วงทับทิมทอง หลังจากได้รับการแก้ปัญหา ทางสวนสระแก้วได้ผลผลิตของมะม่วงทับทิมทองเพิ่มมากขึ้นจำนวนหลายเท่าตัว ผิวพรรณของมะม่วงเริ่มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน จนเป็นที่น่าพอใจสำหรับคุณอรพิน

ลักษณะเด่นของมะม่วงทับทิมทอง หรือ Ruby Mango นั้น อยู่ที่ผลที่มีลักษณะเป็นรูปกลมรียาวและอ้วนใหญ่ รสชาติขณะดิบหรือห่าม มัน กรอบ หวาน ไม่มีเปรี้ยวปน ผลสุกหวาน หอม ไม่มีเสี้ยน เนื้อไม่เละ เนื้อด้านในแน่น สีเหลืองเข้ม เนื้อเยอะ เมล็ดลีบ เปลือกหนา ทำให้ไม่ช้ำง่าย

วิธีการปลูกเหมือนมะม่วงทั่วไป ใช้เครื่องเจาะ ขุดหลุม กว้าง ยาว และลึก 50 เซนติเมตร เพื่อจะได้มีที่สำหรับรากที่เติบโต เตรียมดินปกติ ระยะห่างที่ปลูกคือ 5×7 เมตร

ส่วนการดูแลรักษาต้นมะม่วงทับทิมทองนั้น ไม่ได้ยากอย่างที่คิด คุณอรพิน บอกว่า การดูแลเหมือนกับมะม่วงทั่วไป พื้นที่ที่ปลูกจะต้องโปร่งและมีแสงแดดเข้าถึงตรงกลาง สิ่งสำคัญคือพยายามอย่าให้เป็นโรคหลักๆ ของมะม่วง เช่น เชื้อรา เพลี้ย เป็นต้น ต้องเริ่มระมัดระวังตั้งแต่การตัดต่อกิ่ง พยายามเก็บผลมะม่วงที่ร่วงหล่นบริเวณรอบต้นทุกครั้งที่พบเห็น หากปล่อยไว้ผลมะม่วงจะเน่าและย่อยสลาย เมื่อฝนตกจะไหลไปตามน้ำ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเกิดโรคต่างๆ ในต้นมะม่วงทับทิมทองได้

“อีกหนึ่งปัญหาที่พบเจอคือศัตรูพืชจำพวกด้วงกัดใบ ที่มักจะมาในช่วงต้นมะม่วงแตกใบอ่อน จะกัดกินใบมะม่วงจนเหลือแต่ก้าน เพราะใบของมะม่วงนั้น เปรียบเสมือนปากของต้นไม้ ถ้าใบมะม่วงสมบูรณ์แข็งแรง ก็เหมือนเรามีปาก มีฟันที่แข็งแรง เคี้ยวอาหารได้ดี ตัวเราก็จะสมบูรณ์”

วิธีการป้องกันจะมีการฉีดยาฆ่าแมลงบ้างเป็นครั้งคราว หรือนานๆ ครั้ง เพราะที่สวนสระแก้วนั้น เน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นหลัก อินทรียวัตถุสำคัญที่สุด เพราะจะมีส่วนช่วยในเรื่องของความหอมและรสชาติที่มีลักษณะที่แตกต่าง เมื่อที่สวนมีการตัดแต่งกิ่ง จะนำส่วนกิ่งที่ตัดออกนั้นมาปั่น ใส่ขี้วัว ขี้ไก่ หรือขี้หมู นำมาทำเป็นปุ๋ย รวมถึงใช้น้ำหมักที่หมักเองนั้น ผสมน้ำราดไปที่โคนต้นมะม่วงทับทิมทองอีกด้วย

ระยะเวลาการเติบโตของมะม่วงทับทิมทอง จะอยู่ที่ประมาณ 3 ปี ต้นมะม่วงทับทิมทองจะโตเต็มที่เมื่อเข้าสู่ช่วงปีที่ 4 จะเริ่มให้ผลผลิตเล็กน้อย เมื่อเข้าสู่ปีที่ 5 ถึงจะได้ผลผลิตที่เต็มที่ พร้อมขาย จึงจะทำการเก็บมะม่วงทับทิมทอง

“เมื่อเก็บมะม่วงทับทิมทองแล้ว จากนั้นจะทำความสะอาดผลทันที โดยการแช่น้ำเปล่าผสมคลอรีนเล็กน้อย แช่ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที เมื่อครบเวลาตามกำหนด จะนำผลมะม่วงทับทิมทองมาเช็ดทำความสะอาด โดยใช้ฟองน้ำ เพื่อลดความลายจากผิวมะม่วงทับทิมทองให้เบาลง ซึ่งวิธีนี้สามารถช่วยได้เยอะ หากไม่ทำความสะอาดทันที จะทำให้ผิวของมะม่วงทับทิมทองขึ้นเป็นจุดสีดำ ไม่น่าทานและเสียราคาได้”

น้ำหนักของมะม่วงทับทิมทองจะอยู่ที่ 800 กรัมต่อผล เป็นน้ำหนักที่พอดี ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป เหมาะแก่การส่งออกและบรรจุใส่กล่อง ด้านการตลาด ทางสวนสระแก้วเน้นส่งออกที่ตลาดฮ่องกง ส่วนตลาดเมืองไทยจะเป็นตลาดที่ลูกค้ารู้จัก ลูกค้าที่ทานประจำ ก็รอจะสั่งและรอทานทุกปี

ราคาของมะม่วงทับทิมทองจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับเกรดของมะม่วงทับทิมทองและบรรจุภัณฑ์ ดังนี้

Ruby Mango มะม่วงทับทิมทอง Export Standard เกรดส่งออกนอก กล่องของขวัญสวยงาม
– Large Gift Box 5 กิโลกรัม ราคา 1,190 บาท

– Medium Gift Box 3 กิโลกรัม ราคา 790 บาท

Farm Standard สำหรับทานเอง (ผิวสวย 65-70% – เนื้อใน 100%)
– Large Box 5 กิโลกรัม ราคา 500 บาท

– Medium Box 3 กิโลกรัม ราคา 350 บาท

– Wholesale 5 กิโลกรัม ราคา 400 บาท (เมื่อสั่ง 40 กิโลกรัมขึ้นไป)

Catering Standard เหมาะสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบหรือแปรรูป
– Wholesale 10 กิโลกรัม ราคา 300 บาท

หากท่านใดที่สนใจจะสั่งซื้อมะม่วงทับทิมทอง knifelesstechsystems.com สวนสระแก้ว สามารถสั่งซื้อออนไลน์ ได้ที่ Line : @sskfruit และ Instagram : thejuiceball หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อ คุณอรพิน พิทักษากร ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 081-444-5945

คอลัมน์ เก็บป่ามาฝากเมือง โดย กุมิสบ๊ะ รงโซะ ให้ข้อมูลว่า เมื่อพูดถึงต้นไมยราบ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงตอนสมัยเด็กๆ ที่เคยวิ่งเล่นซนแข่งกันเขี่ยต้นไมยราบให้ใบหุบ ใครทำได้เยอะคนนั้นชนะ ซึ่งบางครั้งก็อาจเผลอไปเหยียบต้นจนหนามตำเท้าก็มี พอโตขึ้นมาหน่อยฟันก็เริ่มผุ ปวดฟันก็บ่อย คนเป็นแม่ก็พลอยเหนื่อยในการหาหยูกยามารักษา แต่ยาที่แม่หามานั้น บ่อยครั้งมากที่เป็นต้นไมยราบ ท่านมักจะนำใบมาขยี้กับน้ำปูนใส บางครั้งก็นำใบหญ้าก้นบึ้งมาขยี้ผสมลงไปด้วย แล้วนำมาทาที่แก้มบริเวณที่มีอาการปวด

ส่วนรากของไมยราบนั้น ท่านจะนำไปต้มกับน้ำให้เดือดรอให้อุ่นแล้วนำมาอมประมาณ 3-5 นาที แล้วบ้วนทิ้ง ควรทำบ่อยๆ ประมาณ 4-5 ครั้งต่อวัน จนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ

นอกจากนี้ ผู้เขียนได้ไปเรียนรู้เรื่องยาสมุนไพรจาก แม่หมอแมะ (นางตีเมาะ รงโซะ) หมอตำแย บ้านบันนังบารู ตำบลเปาะเส้ง อำเภอเมืองยะลา ท่านเล่าว่า เมื่อครั้งที่ท่านอยู่ไฟ (ช่วงที่ท่านคลอดบุตร) ท่านมักจะดื่มน้ำต้มที่มีสีแดงจากรากของไมยราบแทนน้ำ บางครั้งท่านก็ใส่น้ำตาลลงไปด้วย ชงเหมือนเครื่องดื่มทั่วไป เพราะท่านชอบในสีสันสีแดงที่สวยงาม แล้วยังคงสรรพคุณที่ทำให้มดลูกกระชับเข้าอู่เร็ว แก้อาการปวดเมื่อย ช่วยให้หลับง่าย แล้วยังช่วยในการขับเลือดคั่งหลังคลอดได้ดีอีกด้วย

ส่วน พ่อหมอฮามิ มะแซ ท่านเล่าว่า ในสมัยก่อนทุ่งนา ลำคลอง หนอง บึง หรือแหล่งน้ำต่างๆ มีความอุดมสมบูรณ์ มีปลาเล็กปลาใหญ่แหวกว่ายเต็มไปหมด สร้างความอิ่มเอมใจให้กับชาวบ้านอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะนักจับปลา ดังนั้น ชาวบ้านจึงคิดค้นวิธีป้องกันตัวจากแผลพิษปลากัด โดยการใช้รากของไมยราบที่อยู่ในดิน นำมาม้วนทำเป็นแหวนสวมใส่ขณะจับปลา เพราะมีความเชื่อว่า สามารถป้องกันตัวจากการโดนปลากัดหรือเมื่อโดนกัดแล้วจะไม่รู้สึกเจ็บ ซึ่งสามารถแก้พิษไปได้ในตัวทันที