ปัจจุบันการเกษตรไทยพัฒนาก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ

มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้กับแนวคิดของคนรุ่นเก่า ท่ามกลางความท้าทายที่เกิดขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป บริษัท รักบ้านเกิด ในฐานะที่ยืนเคียงข้างเกษตรกรไทยมาอย่างยาวนาน พัฒนาเครื่องมือในการช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง เพื่อให้เกษตรกรไทยก้าวสู่การเป็น Smart Farmer อีกทั้งมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพเกษตรกรไทยด้วยการสร้างฐานข้อมูลด้านการเกษตร ผ่านเว็บไซต์ รักบ้านเกิดดอทคอม ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลเกษตรอย่างรอบด้าน ทั้งราคาสินค้าเกษตร องค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ เพื่อพัฒนาภาคการเกษตรไทยสู่ยุคดิจิตอล

“ฟาร์มแม่นยำ เป็นอีกหนึ่งฟังก์ชั่นในแอป Farmer Info ที่ช่วยให้เกษตรกรทราบถึงสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวันในพื้นที่ของตนเอง ตลอดจนการวิเคราะห์สภาพการเพาะปลูกในแปลง เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที ซึ่งเราเชื่อว่านวัตกรรมดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเสริมศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งของภาคเกษตรกรรมไทย” คุณบุญชัย กล่าว

ปลุกทุเรียน 60 ไร่ ดูแลด้วยแอปพลิเคชั่น ฟาร์มแม่นยำ สะดวก ประหยัดเวลา ลดต้นทุนการผลิต

คุณนิธิภัทธ์ ทองอ่อน (โอ๋) อยู่บ้านเลขที่ 117 หมู่ที่ 6 ตำบลวังจันทร์ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน เล่าว่า ตนเองเรียนจบคณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการ เมื่อเรียนจบได้ไปทำงานย่านนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ชลบุรี เมื่อทำงานได้ระยะหนึ่งก็เริ่มรู้สึกว่าชีวิตวุ่นวายเจอสภาพแวดล้อมที่คนเยอะ งานไม่หนักแต่กลับมาที่พักแล้วรู้สึกเหนื่อย หลังจากนั้นจึงมานั่งคิดทบทวนและได้คำตอบที่ว่าจะกลับไปพัฒนาสวนทุเรียนที่บ้าน งานสวนถึงจะหนัก แต่กลับมาบ้านแล้วสบายใจ สวนทุเรียนเป็นมรดกตั้งแต่รุ่นคุณปู่ ที่ทำมานานกว่า 40 ปี” คุณโอ๋ บอก

คุณโอ๋ช่วยที่บ้านทำสวนทุเรียนอย่างจริงจังมาเป็นระยะเวลา 6 ปี ถือเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่มีการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาทำสวนทุเรียน

“ผมเริ่มใช้แอปพลิเคชั่น ฟาร์มแม่นยำ มาเป็นระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งในระยะ 2 เดือนที่ใช้ก็สามารถทำให้เห็นข้อแตกต่างได้อย่างชัดเจน คือสังเกตง่ายๆ ว่าก่อนที่จะใช้บริการแอปพลิเคชั่นฟาร์มแม่นยำ ผมก็ทำสวนเหมือนเกษตรกรทั่วไป ต้องนั่งรอฟ้า รอฝน ต้องเสี่ยงดวงเอาเองว่าใส่ปุ๋ยไปแล้วฝนจะตกหรือเปล่า ถ้าไม่ตกก็รอดไป แต่ถ้าตกนั่นก็หมายความเราได้เสียต้นทุนเพิ่มไปแล้ว” คุณโอ๋ บอก

ด้วยความที่เป็นคนรุ่นใหม่ ส่วนตัวคือติดตามข่าวสารเกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นประจำ วันหนึ่งคุณโอ๋ได้ไปเห็นแอปพลิเคชั่นช่วยเกษตรกรพยากรณ์อากาศได้แล้ว จึงทดลองโหลดมาใช้ดู ผลปรากฏว่าเริ่มใช้ได้เพียงระยะเวลา 2 เดือน ก็สามารถเห็นข้อแตกต่างก่อนใช้กับหลังใช้ได้อย่างชัดเจน

“คือเมื่อเริ่มใช้แอป สามารถพยากรณ์อากาศได้อย่างแม่นยำ เพราะอากาศถือเป็นเรื่องสำคัญในการทำเกษตร ถ้าเราไม่ดูพยากรณ์อากาศ เช่น ตอนเช้าเราใส่ปุ๋ยไป แล้วตอนเย็นฝนตกหนัก อันนั้นคือเราเสียต้นทุนโดยเปล่าประโยชน์ แต่เมื่อมีแอป ฟาร์มแม่นยำขึ้นมา ทำให้เราทราบสภาพอากาศล่วงหน้าได้ว่า ฝนจะตกมากน้อยแค่ไหน ถ้าตกไม่มาก เราก็สามารถใส่ปุ๋ยได้ อันนี้ก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของปุ๋ยให้เข้าต้นทุเรียนได้ดี ไม่ทำให้ปุ๋ยสูญเสีย โดยทั่วไปทุเรียนจะออกดอกช่วงปลายเดือนตุลาคม และปีนี้ทุเรียนที่สวนผมดอกออกต้นเดือนตุลาคม

นั่นก็หมายความว่าผลผลิตที่สวนจะออกมาก่อนที่อื่นและขายได้ราคาดี อันนี้ถือเป็นประโยชน์ที่เห็นได้ชัด และนอกจากการรายงานสภาพอากาศที่แม่นยำแล้ว ยังมีฟีเจอร์ช่วยชี้จุดบกพร่องในแปลง เพื่อแก้ไขได้ทันที คือจะเป็นภาพถ่ายดาวเทียม ช่วยให้เกษตรกรลดความเสียหายของผลผลิต อย่างเช่น บริเวณไหนของสวนที่ดูแลไม่ทั่วถึง ขาดปุ๋ย ต้นไม่โต ภาพถ่ายดาวเทียมก็จะแจ้งผ่านแอป ให้เห็นชัดเจนเลยว่าพื้นที่ตรงนี้แล้งเกิดปัญหา เมื่อเกษตรกรได้เห็นปัญหาเร็ว ก็จะสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดและทันท่วงที” คุณโอ๋ เล่า

คุณโอ๋ บอกว่า แอปพลิเคชั่น ฟาร์มแม่นยำ เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันของเกษตรกรอย่างเขาให้ง่ายขึ้น มีเวลาเพิ่มขึ้น ทำงานสบายมากขึ้น จากเมื่อก่อนจะใส่ปุ๋ยทุเรียนตอน 10 โมง แต่ฝนตกเที่ยง ก็เสียหายสูญเสียค่าปุ๋ย ค่าฮอร์โมน แต่เมื่อมีแอป เข้ามาถือว่าช่วยควบคุมต้นทุนการผลิตของเราไปได้มาก และผลผลิตเสียหายน้อยลง แถมมีความแม่นยำถึง 70 เปอร์เซ็นต์ อีก 30 เปอร์เซ็นต์เป็นในเรื่องของความคาดเคลื่อนแต่ก็ไม่มาก คาดเคลื่อนเพียง 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น

ใช้งานง่าย สะดวก ประหยัดเวลา

แอปพลิเคชั่น ฟาร์มแม่นยำ ถือเป็นแอป ที่ใช้งานง่าย สะดวก และช่วยเกษตรกรประหยัดเวลา

สำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่ รุ่นเก่าก็สามารถทดลองโหลดแอปพลิเคชั่นความแม่นยำมาทดลองใช้ฟรีได้ 60 วัน

ขั้นตอนการโหลด และการใช้ไม่ยุ่งยาก ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 ค้นหา Farmer Info แอปพลิเคชั่นจาก App Store

ขั้นตอนที่ 2 กดดาวน์โหลด Farmer Info แอป

ขั้นตอนที่ 3 เลือกบริการ ฟาร์มแม่นยำ จาก Farmer Info แอป

ขั้นตอนที่ 4 เปิดตำแหน่ง (Location Service) ในโทรศัพท์

เพียงเท่านี้เกษตรกรทุกท่านก็จะสามารถใช้บริการแอปพลิเคชั่น ฟาร์มแม่นยำ ได้อย่างง่าย

ส่วนวิธีการสมัครสำหรับผู้ทดลองใช้ฟรี 60 วัน มีขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 เข้า ฟาร์มแม่นยำ แอป

ขั้นตอนที่ 2 ใส่หมายเลขโทรศัพท์ (ให้บริการเฉพาะดีแทคเท่านั้น)

ขั้นตอนที่ 3 รอรับรหัส OTP ผ่าน SMS จากหมายเลขโทรศัพท์ที่ลงทะเบียน

ขั้นตอนที่ 4 กรอกรหัส OTP ที่ได้รับ แอปฟาร์มแม่นยำ ให้บริการ 3 ฟีเจอร์สำคัญ ประกอบด้วย

พยากรณ์อากาศเฉพาะพื้นที่
แอปสามารถแสดงผลเจาะจงในพื้นที่ที่ต้องการรายชั่วโมง ทั้งอุณหภูมิ โอกาสในการเกิดฝน และปริมาณฝนในพื้นที่ที่ต้องการด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย นอกจากนี้ ยังสามารถพยากรณ์อากาศได้ล่วงหน้า 7 วัน โดยมีความแม่นยำระดับรายแปลงมากที่สุดในประเทศไทย เนื่องด้วยการใช้ข้อมูลแบบ Microclimate weather ร่วมกับข้อมูลสภาพอากาศจากสถานีฐานทั่วโลก เช่น GFS, Met Office, ECMWF และ Environment Canada และการใช้แบบจำลองสภาพด้วยซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ช่วยให้เกษตรกรสามารถตัดสินใจวางแผนเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ภาพถ่ายดาวเทียม
ภาพถ่ายดาวเทียม ช่วยให้เกษตรกรมองเห็นพื้นที่เพาะปลูกของตัวเองแบบภาพรวมจากอากาศ เพื่อช่วยหาความผิดปกติและปัญหาสุขภาพของพืชได้ โดยใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายจากดาวเทียม EU-Sentinel และ NASA-Landset ช่วยให้เกษตรกรสามารถแก้ไขปัญหาพืช

แอปฟาร์มแม่นยำ ยังให้ช่วยเกษตรกรวางแผนการเพาะปลูกในแต่ละรอบการเก็บเกี่ยว โดยนำเสนอในรูปแบบอินโฟกราฟิกที่เข้าใจง่าย ตามข้อมูลทางวิชาการจากอาจารย์คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้เกษตรกรเข้าใจและมีการวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบัน สามารถครอบคลุมพืชถึง 7 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และทุเรียน

หากเกษตรกรท่านใดสนใจสามารถทดลองโหลดแอปพลิเคชั่นฟาร์มแม่นยำได้ทั้งระบบ IOS และ Androidhttps://www.android.com/intl/th_th/ เชื่อว่าแอปนี้จะเป็นตัวช่วยที่ดีอีกหนึ่งให้กับพี่น้องเกษตรกรไทยลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มคุณภาพให้กับสินค้าได้ดียิ่งขึ้น

สำหรับท่านที่สนใจหรืออยากปรึกษาคุณโอ๋ในเรื่องของการจัดการสวนผ่านแอปพลิเคชั่นฟาร์มแม่นยำ ติดต่อได้ที่โทร. (063) 251-6563­­ หรือติดตามเรื่องราวของเกษตรกรที่ใช้บริการฟาร์มแม่นยำได้ที่ http://www.dtac.co.th/blog/newsroom/article-10.html โทร. (02) 016-5609

ส.ผู้ส่งออกข้าวฯเดินสายสำรวจข้าวหอมมะลินาปี ชี้พื้นที่ลดลง 2.21% ผลผลิตลดลง 8% ดันราคาข้าวเปลือกมะลิพุ่งตันละ 1.3 หมื่นบาท เตรียมหนุนเกษตรกรลุยปลูกข้าวขาวพื้นนุ่มลอตแรกออกสู่ตลาดต้นปี”62
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 25-27 ตุลาคม 2561 ทาง ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย นำคณะลงพื้นที่สำรวจแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิปี 2561/2562 ใน 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าพื้นที่เพาะปลูกข้าวในปีการผลิต 2561/62 มีประมาณ 37.4 ล้านไร่

ลดลง 2.21% จากปีการผลิต 2560/2561 นอกจากนี้ ในพื้นที่แต่ละพื้นที่ยังได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง โรค และแมลง เป็นต้น รวมประมาณ 1,938,798 ไร่ หรือคิดเป็น 25.07% เทียบปีการผลิต 2560/61 ที่มีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย 2,587,505 ไร่ ทำให้คาดว่าปริมาณผลผลิตที่ได้รับ 12,392,541 ตัน ลดลง 8.00% จากปีการผลิต 2560/61 ปริมาณ 13,470,676 ตัน โดยจะเป็นผลผลิตข้าวเจ้า 7,277,953 ตัน ลดลงจากปีก่อนที่ได้ 8,410,906 ตัน ส่วนข้าวเหนียวผลิตได้ 4,313,999 ตัน จากปีก่อนที่ผลิตได้ 5,059,770 ตัน

“จากตัวเลขพบว่า ปริมาณผลผลิตข้าวจะลดลงจากปีก่อน แต่อาจต้องรอผลผลิตที่แท้จริงที่กำลังเกี่ยวทยอยออกสู่ตลาดพร้อมกันในเดือนพฤศจิกายนนี้ ผู้ส่งออกแนะนำให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการชะลอขายนำข้าวขึ้นยุ้งฉาง เมื่อเวลาที่เหมาะสมก็ค่อยนำข้าวออกมาขาย เพื่อป้องกันขายข้าวไม่ได้ราคา ซึ่งขณะนี้ข้าวหอมมะลิอยู่ที่ 13,000-14,000 บาทต่อตัน”

ด้านตลาดส่งออกข้าวในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) 2562 ได้ 8.12 ล้านตัน ลดลง 1.8% และในส่วนการส่งออกข้าวหอมมะลิทำได้ 896,168 ล้านตัน ลดลงไป 25.1% โดยตลาดข้าวหอมมะลิที่สำคัญของโลกต่างนำเข้าลดลงทั้งหมด เช่น สหรัฐ ฮ่องกง แคนาดา สิงคโปร์ ดังนั้นไทยต้องปรับมาปลูกข้าวขาวพื้นนุ่มเพื่อไปแข่งขันแทนร.ต.ท.เจริญกล่าวว่า สมาคมฯทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับเกษตรกรใน 3 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี พิษณุโลก และพิจิตร ส่งเสริมให้เพาะปลูกข้าวพื้นนุ่ม สายพันธุ์ กข 21 กข 67 และพิษณุโลก 80 ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวดั้งเดิมของไทยอยู่แล้ว โดยสมาคมจะเพิ่มเงินรับซื้อข้าวดังกล่าวให้เกษตรกรตันละ 500 บาท จากระดับราคาตลาด

“ขณะนี้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปชอบข้าวขาวพื้นนุ่มมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีน ทำให้สัดส่วนการส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยไปจีนลดลง โดยเสียไปให้กับข้าวขาวเวียดนามที่เดิมส่งออกไม่กี่แสนตัน ปัจจุบันส่งออกได้เพิ่มขึ้น 2 ล้านตัน หากไม่ทำอะไรอาจจะเสียตลาดนี้ไปได้ การปลูกข้าวชนิดนี้เพื่อไปส่งออกจะได้ราคาสูงกว่าข้าวขาวทั่วไปตันละ 20-30 เหรียญสหรัฐ”

เบื้องต้นมีเกษตรกรสนใจเข้าร่วม 10,000 ไร่ คาดว่าจะได้ผลผลิตลอตแรก 3,000 ตันข้าวเปลือก ในช่วงต้นปี 2562 ซึ่งทางผู้ส่งออกจะนำข้าวดังกล่าวไปทดลองตลาด โดยเฉพาะตลาดจีน สิงคโปร์ และฮ่องกง

หลังจากสร้างการรับรู้ให้กับตลาดแล้วจะมาวางแผนขยายการเพาะปลูกต่อไป โดยสมาคมมีแผนจะส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์พื้นนุ่มสายพันธุ์ใหม่ 2 พันธุ์ คือ กข 77 และ กข 79 ที่อยู่ระหว่างการรับรองจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ

เรียน คุณหมอเกษตร ทองกวาว ที่นับถือ

ผมเป็นคนที่ชอบรับประทานขนุน แต่ทุกวันนี้ขนุนคุณภาพดีหายไปจากตลาดทั่วไป ไม่ทราบว่าหายไปไหน อาจมีบ้างที่มีวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าบางแห่ง แต่มีราคาค่อนข้างแพง ผมจึงขอเรียนถาม ปัจจุบันมีพันธุ์อะไรที่ยังมีการปลูกกันมาก หรือตลาดต้องการ แม้จะหาซื้อได้ยากขึ้นก็ตาม ผมขอเรียนถามเพียงเท่านี้ก่อน หากมีคำถามอื่นๆ ผมจะส่งคำถามมาใหม่อีก ผมถือโอกาสขอบคุณมาในโอกาสนี้

ขนุน (Jack Fruit) ปัจจุบัน ขนุนเป็นผลไม้ที่ตลาดต่างประเทศต้องการมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะขนุนแปรรูป ทั้งอบแห้ง ขนุนน้ำเชื่อม และขนุนแช่แข็ง ตลาดสำคัญอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ แต่สำหรับขนุนผลสด ประเทศจีนเป็นตลาดใหญ่ที่สุด สามารถดูดซับเอาขนุนคุณภาพของเราไปในแต่ละปีเป็นจำนวนไม่น้อย

ขนุน มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่อินเดีย และบริเวณใกล้เคียง ชาวอินเดียเรียกขนุนว่า กาตะหาร์ ขนุนในไทยแบ่งตามลักษณะเนื้อผลได้ 2 ชนิด คือ ขนุนละมุด เมื่อสุกแก่เนื้อยวงและซังมีลักษณะอ่อนนุ่ม เละ และแฉะ เนื้อหลังแกะแยกเมล็ดออก ยวงจะไม่คงรูปเดิม ความนิยมของผู้บริโภคจึงลดน้อยลง แต่ยังมีข้อดีที่มีกลิ่นหอมฉุน และสามารถปรับตัวได้ดี จึงนิยมมาใช้เป็นต้นตอพันธุ์ และอีกชนิดหนึ่ง ขนุนหนัง เป็นขนุนที่ตลาดต้องการ นอกจากนี้ ยังแบ่งเป็นกลุ่มย่อยได้อีก 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มแรก ขนุนฝ้าย มีเนื้อยวงสีขาว หรือสีครีม กลุ่มที่สอง ขนุนเหลือง

มีเนื้อยวงสีเหลืองอ่อนถึงเหลืองทอง เป็นที่นิยมของตลาดมากที่สุด และกลุ่มที่สาม ขนุนจำปา มีเนื้อยวงสีนาก สีครั่ง สีปูนแห้ง สีจำปา หรือเหลืองออกแดง ในกลุ่มนี้เป็นที่นิยมน้อยกว่าขนุนกลุ่มที่สอง แต่มากกว่ากลุ่มที่หนึ่ง ตามสถิติของกรมส่งเสริมการเกษตร รายงานว่า ปัจจุบัน มีพื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศ 249,000 ไร่ แหล่งปลูกสำคัญอยู่ที่ ชลบุรี ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา กาญจนบุรี และระยอง ปัจจุบัน พันธุ์ที่ตลาดต้องการมากที่สุดคือพันธุ์ทองประเสริฐ ซึ่งแซงหน้าพันธุ์ทองสุดใจ ที่เคยเป็นแชมป์มาในอดีต

มาดูลักษณะประจำพันธุ์ของขนุนพันธุ์ทองประเสริฐกัน เป็นพันธุ์ผลกลม ทรงต้นโปร่ง ติดผลดก ให้ผลทวาย อายุเก็บเกี่ยว 140-150 วัน เปลือกผลสีเขียวอมน้ำตาล หนามใหญ่ ฐานกว้างค่อนข้างเรียบ ขั้วผลสั้น น้ำหนักผลอยู่ระหว่าง 12-15 กิโลกรัม เนื้อผลสีขาวอมเหลือง เนื้อแน่น และหนา ความหวาน 20-20 องศาบริกซ์ ให้เปอร์เซ็นต์เนื้อสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เปรียบเทียบกันแล้วสูงกว่าพันธุ์อื่นๆ ลองมาเปรียบเทียบกับพันธุ์ทองสุดใจ มีทรงต้นรูปปิระมิด ติดผลดกมาก รูปทรงผลเรียวยาว สีเปลือกเหลืองอมน้ำตาล หนามสั้น ถี่ ฐานแคบ ปลายแหลม เปลือกบาง น้ำหนักผล 10-20 กิโลกรัม ขั้วผลขนาดกลาง เนื้อยวงสีเหลืองเข้ม มีซังน้อย ขนาดใหญ่และหนา รสชาติหวาน กรอบ ให้เนื้อ 35-40 เปอร์เซ็นต์

ดังนี้จะเห็นจุดเด่นของพันธุ์ทองประเสริฐ ที่เป็นพันธุ์อายุเบา ให้ผลภายในสองปี หากใช้ต้นพันธุ์ประเภทเสียบยอด ขนาดผลไม่เล็กและไม่ใหญ่เกินไป ความหวานไม่จัดจ้านเกินไป เนื้อยวงสีเหลืองสวย และเมล็ดไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป ด้วยปัจจัยดังกล่าว พันธุ์ทองประเสริฐจึงสามารถเบียดขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่เป็นที่น่าเสียดายของดีหนีไปจีนเสียส่วนใหญ่

“กันตรึม” หรือเพลงกันตรึม เป็นเอกลักษณ์การละเล่นเพลงของชาวไทยเชื้อสายเขมรในพื้นที่อีสานใต้ ชื่อเพลงมาจากเสียงกลองกันตรึม นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายในพื้นที่ จ.สุรินทร์ บุรีรัมย์ และ ศรีสะเกษ ปัจจุบัน ยังคงได้รับความนิยมร้องเล่นในงานประเพณีต่างๆ

ที่ จ.สุรินทร์ พบการประยุกต์นำเพลงกันตรึมมาใช้ในฟาร์มไก่ ด้วยความเชื่อว่าเพลงสนุกสนานตามสไตล์กันตรึม จะช่วยสร้างอารมณ์ดี คลายเครียดให้แม่ไก่ ช่วยกระตุ้นการออกไข่มากขึ้น กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในโครงการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง (ตำบลละ 5 ล้าน) ของชุมชนศรีบัวราย ต.ในเมือง อ.เมือง ซึ่งมี รุ่งรัตน์ มณีสด เป็นคณะกรรมการบริหารไข่ไก่ ชุมชนศรีบัวราย ที่ร่วมกับชาวชุมชนศรีบัวราย เลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ โดยตั้งชื่อว่า “ไข่ไก่กันตรึมร็อก ไข่ไก่เพื่อประชาชน” เป็นหนึ่งกิจกรรมที่ส่งเสริมรายได้ชุมชนที่ทางรัฐบาล คสช.

ให้การสนับสนุนงบประมาณ และชาวบ้านลงทุนรวมด้วยการซื้อหุ้น หุ้นละ 10 บาท กว่า 40,000 หุ้น ด้วยวิธีการเลี้ยงแปลกแหวกแนวกว่าที่อื่น โดยผู้เลี้ยงจะเปิดเสียงเพลงกันตรึม เพลงพื้นบ้านเขมรสุรินทร์ จากเครื่อง MP3 ขนาดเล็กๆ ภายในบรรจุเพลงกันตรึมกว่า 1,000 เพลง ซึ่งดัดแปลงต่อเข้ากับเครื่องขยายเสียงติดลำโพงเปิดให้แม่ไก่ฟังอย่างทั่วถึงทั้งโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ เปิดให้ฟังตลอดทั้งวัน ทั้งคืน หลังทดลองในช่วงแรกๆ พบว่าแม่ไก่มีสุขภาพจิตดี ออกไข่ดกต่อเนื่อง ซ้ำยังได้ไข่ขนาดฟองใหญ่ มีคุณภาพโปรตีนสูง และมีไข่แดงแฝดจำนวนมาก

คุณรุ่งรัตน์ มณีสด เล่าว่า สืบเนื่องจากโรงเรือนเลี้ยงไก้อยู่ติดรางรถไฟ เวลาขบวนรถไฟวิ่งผ่าน จะเกิดเสียงดังทำให้เหล่าบรรดาแม่ไก่พันธุ์ไข่ตื่นตกใจง่าย และเกิดอาการเครียดจนไม่ยอมออกไข่เลย คณะกรรมการชุมชนศรีบัวรายจึงลองผิดลองถูกหาแนวทางแก้ปัญหาสารพัดวิธี จนที่สุดเกิดไอเดียเปิดเพลงกันตรึมให้ไก่ฟังตลอด 24 ชั่วโมง จากการทดลองปรากฏว่าแม่ไก่พันธุ์ไข่กว่า 1,000 ตัว ที่เลี้ยงอยู่ในกรงเหล็กมีอาการผ่อนคลาย กินอาหารและน้ำได้ตามปกติ สามารถออกไข่ได้ดกชนิดแทบพากันเก็บไข่ไก่ไม่ทัน ที่สำคัญจะเก็บไข่แฝดได้วันละ 5-6 ฟอง

“โรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ เริ่มต้นจากโครงการ ตำบลละ 5 ล้าน ที่รัฐบาลให้เงินชุมชนในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ โดยมอบไก่พันธุ์ไข่และอาหารมาให้ชุมชนศรีบัวราย และคนในชุมชนร่วมหุ้นทำโรงเรือนขึ้นมา มูลค่า 225,000 บาท รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณอีก 400,000 บาท เลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ 939 ตัว ทั้งหมดเป็นไก่สาวพร้อมไข่ ตอนแรกๆ ก็เลี้ยงตามปกติปรากฏว่าแม่ไก่ตื่นเสียงขบวนรถไฟ เพราะอยู่ใกล้รางรถไฟ ไข่ได้เพียงวันละ 6-7 แผง พอปรับเปลี่ยนมาเปิดเพลง เพราะคิดว่าถ้าเทียบกับคนกำลังตั้งครรภ์ ยังต้องฟังเพลง เหมือนไก่ที่กำลังท้อง ชาวบ้านจึงคิดว่าน่าจะเปิดเพลงให้ฟัง และไปหาซื้อเพลงกันตรึมมาให้ฟัง สาเหตุที่เลือกเพลงกันตรึม เพราะเราเป็นคนสุรินทร์ ต้องการอนุรักษ์ศิลปะประเพณีพื้นบ้าน เด็กๆ ที่เข้ามาในเล้าไก่ เราจะได้ไข่อารมณ์ดี เหมือนกำลังตั้งท้อง ลูกเราออกมาก็จะอารมณ์ดี ไข่ไก่ถ้าแม่ไก่ได้ฟังเพลง ไก่จะอารมณ์ดี

ช่วงวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ ชาวบ้านจะพาลูก หลาน มาเรียนรู้การเลี้ยง และช่วยกันเก็บไข่ไก่ ถึงขนาดเต้นรำประกอบเสียงเพลงกันตรึมจังหวะร็อกสุดมัน อย่างสนุกสนาน ขณะที่ไข่ไก่สดที่เก็บได้ฟองใหญ่ จำหน่ายเพียงฟองละ 3 บาท เท่านั้น หรือแผงละ 90 บาท โดยตั้งชื่อ “ไข่ไก่กันตรึมร็อก ไข่ไก่เพื่อประชาชน” ปรากฏว่าเมื่อนำออกมาขายก็ขายได้ดี มีเท่าไรก็ไม่ทันขาย จะมีชาวบ้านในชุมชน และพื้นที่ใกล้เคียงพากันมาซื้อถึงที่ หากเหลือจะนำไปขายที่ตลาดสดเทศบาลเมืองสุรินทร์สร้างรายได้งาม เดือนละ 40,000 บาท สามารถแบ่งปันผลเฉลี่ยคืนสมาชิกภายในชุมชน สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังพบว่าชาวบ้านในชุมชนศรีบัวรายมีสุขภาพดีที่ได้บริโภคไข่ไก่คุณภาพดี มีโปรตีนสูง และปลอดสารพิษอีกด้วย” คุณรุ่งรัตน์ กล่าว

คุณสร้อย แหลมทอง ลูกค้าประจำ กล่าวว่า รู้สึกแปลกกับแนวทางของชาวบ้านที่เปิดเพลงกันตรึมให้ไก่ฟัง แต่ยอมรับว่าไข่ไก่มีรสชาติดี อร่อย ฟองใหญ่ ราคาไม่แพง

คุณชูจิต อินทรกำแหง กรรมการชุมชนหนองบัว กล่าวว่า ทิศทางการตลาดเน้นภายในชุมชน ราคาไม่แพง เพื่อให้คนในชุมชนได้รับประทานไข่ดีมีคุณภาพ และราคาถูกกว่าท้องตลาด ขนาดคนข้างนอกมาสั่งซื้อยังไม่พอ แต่เน้นให้คนในชุมชนได้บริโภคก่อน มีรายได้จากการขายไข่เดือนละกว่า 40,000 บาท นอกจากนี้ ชุมชนยังปลูกผักออร์แกนิก เลี้ยงปลาด้วย

หลายคนเมื่อได้ยินแล้วอดนึกขำ หัวเราะว่า นอนนาแก้จนได้อย่างไร

วันนี้มีโอกาส เดินทางไปตามคำบอกของชาวบ้านว่า มีผู้ทำโครงการนอนนาแก้จน มีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการและนำไปเป็นตัวอย่าง ที่บ้านบัว พบกับเจ้าของสวนและโครงการ หลังทักทายกันแล้ว ก็พาเที่ยวชม

ดร. พลังพงศ์ คำจวง กรรมการบริหาร ศูนย์อุตสาหกรรมบัวแก้วธานี อยู่บ้านเลขที่ 224 หมู่ที่ 5 บ้านบัว ตำบลสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เล่าถึงความเป็นมาของโครงการชวนนอนนาแก้จนว่า แต่เดิมก็ทำนา ทำสวน หลังจากเรียนหนังสือจบก็เคยคิดที่จะทำงานราชการ แต่ชีวิตก็ไปทำธุรกิจหลายอย่าง และสุดท้ายก็มาทำโรงงานตัดเสื้อผ้า และผลิตถุงกอล์ฟส่งประเทศญี่ปุ่น แต่จากปัญหาภาวะเศรษฐกิจจึงหยุดไปช่วงหนึ่ง แต่ยังคงผลิตเสื้อผ้าเช่นเดิม