ปัจจุบันธนาคารผลผลิตเกษตรด้านประมงบ้านหนองซับสมบูรณ์

มีสมาชิก58 ราย 168 หุ้น เราเริ่มมีระบบบริหารจัดการที่ดีและเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ทางชุมชนได้มีการนำปัญหาอุปสรรคต่างๆ มาพูดคุยกันผ่านเวทีประชาคมกันเป็นประจำทุกเดือน เพื่อให้สมาชิกทุกคนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาธุรกิจในชุมชน นอกจากนี้ทางกลุ่มแม่บ้านของชุมชนได้มีการร่วมกันต่อยอดด้วยการสร้างมูลคาเพิ่มให้กับสัตว์น้ำด้วยการนำมาแปรรูปเป็นปลาแดดเดียว และปลาส้มอีกด้วย

ปัจจุบันทางชุมชนบ้านซับสมบูรณ์ได้เข้าร่วมโครงการธนาคารผลผลิตเกษตรด้านประมงในปี 2560 ซึ่งผลผลิตในปีแรกทางชุมชนมีรายได้จากขายปลาประมาณ 40,000 บาทและคาดว่าจะจากการพัฒนาและส่งเสริมผลผลิตในรูปแบบต่างๆ ในช่วงเดือนเมษายนนี้คาดว่าผลผลิตรอบที่1 จะสามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนไม่ต่ำกว่า 100,000 บาทด้านการปันผลทางโครงการฯ จะปันผลให้สมาชิก 25 % จาก 100% และส่วนที่เหลือจะถูกนำไปแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในกองทุน เช่น ค่าปุ๋ย ค่าลูกพันธุ์สัตว์น้ำ ค่ากองอาหารสัตว์น้ำ ค่าสาธารณะประโยชน์ เช่น ค่างานฌาปนกิจศพ ทุนการศึกษาเด็กและผู้สูงอายุ เป็นต้น

นายสนธิพันธ์ ฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ในปี 2561 กรมประมงมีนโยบายที่จะประกวดโครงการตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ โครงการเกษตรแปลงใหญ่ โครงการธนาคารผลผลิตเกษตรด้านการประมง โซนนิ่ง เกษตรอินทรีย์ ฯลฯ สำหรับโครงการธนาคารผลผลิตด้านเกษตรทั้ง 40 แห่งจะมีการตัดสินด้วยโดยจะตัดสินจากความเข้มแข็งสามัคคี การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน การบริหารจัดการเรื่องรายได้ การแบ่งปันผลประโยชน์ ความคิดต่อยอดและพัฒนาชุมชนสำหรับกลุ่มที่ได้รับรางวัลก็จะได้เข้าไปรับโล่กับทางอธิบดีกรมประมงในงานวันสถาปนากรมประมงปี 61 ต่อไป

CPF เตรียมแผนขึ้น 3 โรงเชือดหมูแห่งใหม่ ทุ่มทุนประเดิม “จ.ลำปาง-กำแพงเพชร” พร้อมทำสัญญาเช่าโรงชำแหละเทศบาลยาว 15-20 ปี วาดเป้าผงาดสู่ธุรกิจสุกรครบวงจร

นายสมควร ชูวรรธนะปกรณ์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายธุรกิจสุกร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทอยู่ระหว่างจัดทำแผนงานโครงการก่อสร้างโรงชำแหละสุกรแห่งใหม่ที่ได้มาตรฐานสุขอนามัย ประมาณ 2-3 แห่ง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือบริเวณจังหวัดลำปาง และกำแพงเพชร วงเงินลงทุนแห่งละประมาณ 100 ล้านบาท สามารถชำแหละสุกรได้ประมาณ 500-600 ตัวต่อวัน

ขณะเดียวกันมีแผนที่จะเช่าดำเนินการโรงชำแหละสุกรของเทศบาลในจังหวัดต่างๆ เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันมีเช่าอยู่ 10 แห่ง เช่น หนองคาย หนองบัวลำภู พัทลุง เป็นต้น ในลักษณะสัญญาเช่าระยะยาว 15-20 ปี แล้วนำมาปรับปรุงให้ได้มาตรฐานสุขอนามัย

“กลยุทธ์การทำตลาดในต่างจังหวัดของซีพีเอฟ คือ ต้องทำธุรกิจให้ครบวงจร บริษัทจึงมีแผนขยายการลงทุนในส่วนของธุรกิจสุกรให้ครอบคลุมในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เมื่อเราทำโรงชำแหละให้มีมาตรฐานสุขอนามัยมากขึ้น โดยหมูที่จะมาเข้าโรงชำแหละต้องมาจากฟาร์มเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน และเมื่อชำแหละเสร็จต้องขนส่งด้วยรถห้องเย็น และวางขายในตู้เย็น ทำให้ซากเย็นมีคุณภาพดี” นายสมควรกล่าว และว่า

ที่ผ่านมาซีพีเอฟไปสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการรายเล็กในต่างจังหวัด โดยมีโครงการตู้เย็นชุมชน ด้วยการนำตู้เย็นไปตั้งให้ร้านค้า ซึ่งจะมีโลโก้กรมปศุสัตว์รับรองว่า หมูที่นำมาขายมาจากฟาร์มและโรงฆ่ามาตรฐาน

สำหรับภาวะสุกรล้นตลาดเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องมากว่า 4 ปีแล้ว คิดว่าทิศทางราคาสุกรหน้าฟาร์มที่ลงมาระดับ 40 กว่าบาทต่อ กก.ในช่วงที่ผ่านมา น่าจะลงต่ำสุดแล้ว ขณะที่ทุนอยู่ระดับ 50 กว่าบาทต่อ กก. ส่งผลให้ผู้เลี้ยงขาดทุน 1,000 กว่าบาทต่อตัว ขณะที่ปริมาณแม่หมูในระบบประมาณ 8-9 แสนตัว ทั้งระบบมีการเชือดหมูประมาณ 16-17 ล้านตัวต่อวัน

ต่อกรณีที่มีผู้เสนอให้จัดทำกฎหมายเพื่อดูแลระบบและรักษาเสถียรภาพราคา และจะมีการเก็บเงินจากระบบเพื่อจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคานั้น นายสมควรกล่าวว่า คงเป็นเรื่องยาก เนื่องจากจำนวนคนเลี้ยงหมูนับ 10,000 ราย จึงควรเป็นไปตามกลไกตลาด

“การแข่งขันไม่ได้รุนแรงแต่ผู้เลี้ยงต้องรู้ตัวเองอยู่ในสินค้าคอมโมดิตี้ ที่ปรับราคาขึ้นและลงไปตามดีมานด์และซัพพลาย คนอยู่ในธุรกิจต้องรู้จักบริหารเงินให้เป็น เวลามีกำไรต้องเก็บไว้ส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ไปลงทุนขยายกิจการมากเกินไป เวลาสภาพคล่องติดขัดมีจะได้นำเงินเก็บมาหมุนเวียน” นายสมควรกล่าว

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้เทคโนโลยีการเลี้ยงหมูของไทยก้าวหน้าไม่ด้อยกว่าอเมริกา แต่ต้นทุนการเลี้ยงหมูของไทยสูงกว่าอเมริกา และหลายประเทศ เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์มีราคาแพง โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งอเมริกาสามารถปลูกข้าวโพดได้ 1,200-1,300 กก.ต่อไร่ แต่ไทยได้ 650 กก.ต่อไร่ ซึ่งการเลี้ยงหมู 1 ตัว มีต้นทุนเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ 65% แล้ว การที่นโยบายภาครัฐอุ้มชูคนปลูกข้าวโพด ทำให้ราคาของไทยแพงกว่าเวียดนาม มาเลเซียซึ่งนำเข้าอิสระ ทั้งนี้ เห็นว่า ทุกอย่างควรเป็นไปตามกลไกตลาด ภาครัฐควรส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชชนิดอื่นที่เกษตรกรไทยแข่งขันได้

“ภาครัฐอย่ามัวไปส่งเสริมในจุดที่เราสู้ไม่ได้ หรือบางพื้นที่เหมาะสมปลูกพืชอย่างอื่นมากกว่าข้าวโพด ตอนนี้ธุรกิจหลายอย่างล่มสลาย โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราต้องให้คนเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงแล้วอยู่รอดมันผิดวิสัย มันต้องแข่งขันกันหมด ซีพีเฟรชมาร์ทจะปิดอีกหลาย 10 สาขาในปีหน้า แบงก์เองยังต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไทยมีความสามารถแข่งขันอะไรก็มุ่งไปทำตรงนั้น ถ้าอันไหนสู้ไม่ได้ก็เลิกทำ เช่น มุ่งสู่การเป็นครัวของโลก ที่ผ่านมารัฐบาลเห็นตรงนี้ จึงมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย”

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา นายประยงค์ ภูดินทราย เกษตรจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมด้วยหัวหน้ากลุ่ม เกษตรอำเภอเมืองปราจีนบุรี เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดปราจีนบุรี ร่วมจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field day) และบริการการเกษตร เพื่อเริ่มต้นฤดูการผลิตใหม่ ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี โดยนายประยงค์ ภูดินทราย เกษตรจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวรายงาน และนายทิวา วัชรกาฬ รองผู้ว่าราชกจังหวัดปราจีนบุรี เป็นประธานเปิดงานดังกล่าว

นายประยงค์ กล่าวว่า “การดำเนินงานในวันนี้ เป็นการดำเนินงานซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อถ่ายทอดความรู้และให้บริการแก่เกษตรกรในชุมชนให้ได้รับความรู้ เข้าถึงปัจจัยการผลิต ลดความเสี่ยงในการบริหารจัดการ และให้เกิดความเข้มแข็ง โดยมีหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมให้บริการ”

โดยภายในงานประกอบด้วยสถานีเรียนรู้ 4 สถานี ได้แก่

สถานีที่ 1 การจัดการดินและปุ๋ย โดยสถานีพัฒนาที่ดินปราจีนบุรี บรรยายและแจกน้ำหมักชีวภาพและสารเร่ง พด.

สถานีที่ 2 การป้องกันกำจัดศัตรูพืชผสมผสาน การใช้สารชีวภัณฑ์ โดยกลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดปราจีนบุรี บรรยายเรื่องการกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน และเล่นเกมตอบคำถามความรู้เพื่อรับของรางวัล

สถานีที่ 3 การพัฒนาคุณภาพตามระบบ GAP โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรปราจีนบุรี บรรยายความรู้เรื่องการตรวจประเมิน GAP พืช

สถานีที่ 4 เศรษฐกิจพอเพียง โดยสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดปราจีนบุรี บรรยายการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ปราจีนบุรี สอนการทำบัญชีรายรับรายจ่าย และสำนักงานประมงจังหวัดปราจีนบุรี บรรยายและสาธิตการเลี้ยงกบและปลาดุก

นอกจากนี้ มีหน่วยงานอื่นๆ ได้แก่ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดปราจีนบุรี กรมฝนหลวงและการบินเกษตร บริษัท ฟูจิเทคโนโลยีแอนด์อินโนเวชันกรุ๊ปจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทด้านการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ และคิวแม็กซ์อะโกรเทค แนะนำปุ๋ย วัคซีนต้านทานโรคพืช เข้าร่วมงานนี้ด้วย

โดยงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีฯ ในครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน และเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 200 คน

ส.โรงสีข้าวฯชง นบข.คุมเข้มเครื่องวัดความชื้น “ข้าวสาร” เทียบเท่าข้าวเปลือก ลดต้นทุนแฝงโรงสี-สร้างมาตรฐานทั้งระบบอุตสาหกรรมข้าว

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 ตนพร้อมคณะผู้บริหารสมาคม ได้ประชุมร่วมกับผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำนายกรัฐมนตรี (นางจินตนา ชัยยวรรณาการ) เพื่อหารือถึงแนวทางกำหนดมาตรฐานอัตราและเครื่องวัดความชื้นข้าวเปลือกและข้าวสารทั้งระบบ สำหรับเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารและจัดการข้าว (นบข.) ในวันที่ 2 มี.ค.นี้

“ทั้งที่ประกาศกำหนดว่า การค้าข้าว หมายถึง ข้าวทุกชนิด ทั้งข้าวเปลือกและข้าวสาร แต่กลับบังคับให้เฉพาะโรงสีติดเครื่องวัดความชื้นข้าวเปลือกเท่านั้นจึงเสนอให้มีเครื่องวัดความชื้นข้าวสารด้วย เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ ขณะนี้โรงสีกำลังปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบการทำบัญชีเดียว การตัดลดค่าความชื้นเป็นต้นทุนแฝงทางบัญชีของโรงสี ทุก 1% เท่ากับค่าข้าว 15 กรัม นอกจากนี้ยังเสนอให้ปรับลดค่าความชื้นเฉลี่ยจากเดิมที่กำหนด 15% เหลือ 14% ให้เป็นระดับเดียวกันทั้งข้าวเปลือกและข้าวสาร เพื่อประโยชน์ต่อระบบห่วงโซ่การค้าข้าว” นายเกรียงศักดิ์กล่าว

สำหรับข้อเสนอของสมาคม ประกอบด้วย 3 เรื่อง คือ 1.เครื่องวัดความชื้นนั้น ไม่ว่าเครื่องชนิดบิดหรือเครื่องชนิดกระบอก โดยหลักการแล้วจะต้องวัดความชื้นได้เท่ากัน ทั้งนี้ กฎกระทรวงกำหนดเครื่องวัดในบังคับ พ.ร.บ.มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2542 ให้คำนิยาม “ข้าว” หมายถึง ข้าวเปลือก ข้าวสาร และข้าวกล้องด้วย

ประเด็นปัญหาที่นำเสนอ คือ ผู้ประกอบการโรงสีถูกกำหนดให้ใช้เครื่องวัดความชื้นทรงกระบอก (ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์) โดยตัดโปรแกรมอื่น ๆ ออกเพื่อให้วัดความชื้นของข้าวเปลือกได้อย่างเดียว โรงสีจึงไม่มีเครื่องมือวัดข้าวสารและข้าวกล้องที่เป็นมาตรฐานตามการรับรองของชั่ง ตวง วัด ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องใช้ สะท้อนว่ามาตรฐานในการวัดความชื้นยังแตกต่างกันอยู่มาก

อีกทั้งในกรณีที่โรงสีขายข้าวสารให้ผู้ส่งออกซึ่งใช้เครื่องวัดความชื้นชนิดบิดคนละแบบกันกับโรงสี โดยหลักการแล้วไม่ว่าเครื่องชนิดใด รูปแบบใด ต้องวัดค่าได้เท่ากันด้วย

2.ทางสมาคมจึงขอให้เพิ่มเติม ประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่อง การใช้เครื่องวัดความชื้นข้าวในการซื้อขายหรือจำหน่ายข้าวเปลือก ซึ่งออกมาตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. 2560 ให้ครอบคลุมถึงข้าวเปลือก ข้าวสาร และข้าวกล้อง ตามคำนิยาม “ข้าว” ตามกฎกระทรวง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในระบบการค้าข้าว

และ 3.เสนอให้ปรับมาตรฐานความชื้นทั้งข้าวเปลือกและข้าวสารให้อยู่ที่ 14% จากเดิมที่กำหนดให้ความชื้นข้าวเปลือกอยู่ที่ 15% และข้าวเหนียวที่ 12% เพื่อที่ได้ใกล้เคียงกับข้อเท็จจริง เพราะถ้าสูงกว่านั้นจะเก็บรักษายาก เสี่ยงต่อการเสียหาย เพื่อลดปัญหาต้นทุนแฝงจากค่าความชื้นซึ่งสูงมาก

ผึ้งโพรงไทย แหล่งรายได้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นอาชีพที่น่าสนใจไม่น้อย ปัจจุบันในจังหวัดพัทลุงมีผึ้งโพรงกว่า 3,000 รัง สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรสูงถึงปีละกว่า 9 ล้านบาท แต่ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการตลาด ต้องผลิตเพิ่มอีกปีละ 1,000 กิโลกรัม (กก.) ขณะเดียวกันก็แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายทำยอดขายกระฉูด ทั้งสบู่ก้อน โลชั่น ลิปสติก เครื่องดื่ม ฯลฯ

“วีรยา สมณะ” เลขานุการ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้งโพรงและชันโรงปันแต และนักวิชาการผึ้งโพรงไทย จังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมีเครือข่ายการเลี้ยงผึ้งโพรงรวมทั้งสิ้นกว่า 10,000 รัง ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ขณะที่ภาพรวมการเลี้ยงผึ้งโพรงไทยในจังหวัดพัทลุงยังมีอนาคตสดใส โดยมีผึ้งโพรงกว่า 3,000 รัง ให้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 18,000 ขวด/ปี หรือ 18,000 กก.

โดยราคาขายต้นทางอยู่ท่ี่ขวดละประมาณ 500 บาท โดย 1 ขวดมีน้ำหนักราว 1 กก. ขณะที่ราคาปลายทางในบางพื้นที่อยู่ที่ขวดละ 800 บาท ซึ่งรวมเบ็ดเสร็จแล้วจะมีเงินหมุนเวียนในธุรกิจนี้ไม่ต่ำกว่า 9 ล้านบาท/ปี

ทั้งนี้การเลี้ยงผึ้งโพรงมีทั้งรูปแบบทั่วไป และรูปแบบการเลี้ยงนวัตกรรมซึ่งการเลี้ยงผึ้งแบบนวัตกรรมแตกต่างจากการเลี้ยงแบบทั่วไปตรงที่การเก็บผลผลิตจะทำได้ง่ายกว่าการเลี้ยงแบบทั่วไป เพราะใช้การขึงรังผึ้งในลังไม้ที่สามารถดึงออกมาจากอุปกรณ์เก็บได้ง่าย ทำให้สามารถเก็บน้ำผึ้งได้โดยตัวรังไม่เสียหาย

“ถ้าเลี้ยงแบบนวัตกรรม จะได้ผลผลิตรังละประมาณ 20 ขวด หรือ 20 กก./ปี เก็บเกี่ยวทุก 15 วัน ทำให้มีรายได้รังละประมาณ 10,000 บาท/ปี แต่ถ้าเลี้ยงแบบทั่วไปจะเก็บเกี่ยว 1-2 ครั้ง/ปี และได้ผลผลิตรวม 6 ขวด หรือ 6 กก. หรือมีรายได้รังละประมาณ 3,000 บาท/ปี”

ปัจจุบันน้ำผึ้งโพรงไทยมีปริมาณความต้องการของตลาดสูงมาก ดีมานด์เกินกว่าผลผลิตที่ได้ในแต่ละไม่น้อยกว่า 1,000 กก. โดยกลุ่มลูกค้าหลักจะซื้อเพื่อการบริโภค และซื้อเป็นของฝาก ถือได้ว่าลูกค้าในตลาดแทบทุกจังหวัดทั่วประเทศต้องการบริโภค

“ข้อดีของการเลี้ยงผึ้งโพรงไทย เป็นรูปแบบปลอดสารพิษ และในการเลี้ยงก็ไม่ต้องพึ่งพาอาหาร ลงทุนแค่การผลิตรัง กับเสาสำหรับให้ผึ้งอยู่อาศัยที่สำคัญผึ้งโพรงไทยสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นสบู่ก้อน สบู่เหลว โลชั่น ฯลฯ สำหรับสบู่ก้อน ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ก้อนละ 100 บาท ไปจนถึง 250 บาท ขณะนี้้ผลิตได้เฉลี่ยเดือนละ 500 ก้อน

“วีระพล ห้วนแจ่ม” ประธานวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้งโพรงและชันโรงปันแต จังหวัดพัทลุง เผยว่า การเลี้ยงผึ้งโพรงไทยแบบนวัตกรรมเป็นการเลี้ยงโดยใช้กระบวนกา รส่งผลให้ได้น้ำผึ้งมากกว่าแบบเดิมถึง 3 เท่า และน้ำผึ้งที่ได้มีคุณภาพสูง จึงจำหน่ายได้ในราคาสูงขึ้นด้วย

“ในการเลี้ยงผึ้งโพรงไทย เกษตรกรจะมีต้นทุนการผลิตต่ำ เพราะผึ้งโพรงไทยมีอยู่แล้วในธรรมชาติ ไม่ต้องซื้อและหา ให้ผึ้ง ส่วนรังเลี้ยงไม่จำเป็นต้องลงทุนสูง เก็บน้ำผึ้งครั้งเดียวก็คุ้มทุน”

ในส่วนของอุปกรณ์การเลี้ยงจะใช้รังเลี้ยง และคอนผึ้งที่พัฒนาเพื่อใช้เลี้ยงผึ้งโพรงโดยเฉพาะ สามารถเก็บน้ำผึ้งได้ง่ายและได้น้ำผึ้งที่สะอาด โดยไม่สูญเสียประชากร ผึ้งและลูกอ่อนผึ้ง ทั้งยังสามารถเก็บน้ำผึ้งได้ทันทีไม่ต้องสร้างรังใหม่ ซึ่งถือเป็นการทำการเกษตรแบบเกษตรแปลงใหญ่ตามนโยบายของรัฐบาล

ขณะที่ “ไพรวัลณ์ ชูใหม่” นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ภาพรวมผึ้งโพรงไทยที่เลี้ยงในจังหวัดพัทลุง มีเกษตรกรเลี้ยงกว่า 30 กลุ่ม ประมาณ 3,000 รัง ใน 11 อำเภอ เป็นการทำการเกษตรที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะจะเลี้ยงผึ้งโพรงไทยได้นั้น พื้นที่ต้องปลอดสารเคมี เช่น ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง รวมไปถึงการเผาขยะ เนื่องจากผึ้งรับความรู้สึกไวต่อสิ่งแวดล้อมมาก

สำหรับพัทลุงแต่ละครัวเรือนมีผึ้งเพียงแค่ 2 รัง ก็จะมีรายได้เพียงพอในการจ่ายค่าไฟฟ้า ขณะนี้น้ำผึ้งโพรงยังผลิตได้ไม่พอต่อความต้องการตลาด ปัจจัยสำคัญมาจากความแปรปรวนทางสภาพภูมิอากาศ จึงเป็นอาชีพที่น่าสนใจและถือเป็นทางเลือกหนึ่งของเกษตรกร

เพราะผึ้งโพรงเป็นแนวทางทำการเกษตรที่นอกจากจะตอบโจทย์ในเรื่องการสร้างรายได้แล้ว ยังช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันด้วย “สมคิด” ย้ำรัฐบาลเร่งเปลี่ยนเศรษฐกิจของประเทศ ให้ขับเคลื่อนด้วยดิจิตอล ดันจีดีพีทะยาน ใน 3 ปีต้องเปลี่ยนผ่าน “กานต์” ชี้งบลงทุนวิจัยพัฒนาแตะแสนล้าน เพิ่มเป็น 1% ของจีดีพีเป็นครั้งแรก

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ Thailand’s development landscape forward ในงาน Digital Intelligent Nation 2018 ที่จัดโดยบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ว่า ต้องการเปลี่ยนเศรษฐกิจของประเทศให้ขับเคลื่อนด้วยดิจิตอล เปลี่ยนโครงสร้างทั้งหมดไปสู่ดิจิตอล เพราะโครงสร้างเก่าไม่สามารถแข่งขันได้ ปีนี้สภาพัฒน์คาดเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) โต 4.1% เชื่อว่าถ้าทำได้ตามแผนรัฐบาลลงทุนโครงการใหญ่ได้ตามเป้า การส่งออกขยายตัว จีดีพีทั้งปีนี้เชื่อว่า สูงกว่า 4.1% แน่นอน

“เศรษฐกิจทรุดผ่านพ้นไปแล้ว แต่ตัวเลขยังไม่ทะยานมากกว่านี้ จากเศรษฐกิจรากหญ้าที่ยังล้าสมัย 5-6 ปีโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วสู่ดิจิตอลแล้ว ประเทศไทยตื่นสาย เพิ่งตื่น 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลกำลังเร่งให้ดิจิตอลไปสู่ทุกคน โครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน เน็ตประชารัฐ เข้าถึงทุกพื้นที่ สามารถค้าขายได้ทั่วโลก 3 ปีนี้เป็นเวลาสำคัญ ทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน ทั้งเอกชนที่ตื่นตัวมาโดยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา และทุกคนในประเทศ เพื่อให้ได้ดิจิตอลสำหรับทุกคน หรือดิจิตอลฟอร์ออล โดยไทยต้องเปลี่ยนผ่านไปให้ได้ และต้องก้าวไปข้างหน้าให้ได้”

นายกานต์ ตระกูลฮุน หัวหน้าทีมภาคเอกชน การยกระดับนวัตกรรมและ Digitalization คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ และประธานคณะกรรมการเอไอเอส กล่าวว่า ศักยภาพด้านนวัตกรรม (อินโนเวชั่น) เป็นสิ่งที่อ่อนด้อยที่สุดของไทยมาโดยตลอด การลงทุนด้านวิจัยตั้งแต่ปี 2544 อยู่ที่ 0.2% ของจีดีพี ปี 2559 อยู่ที่ 0.78% รวมมูลค่าภาครัฐเอกชน 1.1 แสนล้านบาท ปีนี้คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1% เป็นครั้งแรก ส่วนบุคลากรด้านวิจัยและพัฒนา มีเป้าหมายว่าปี 2564 จะมีบุคลากรด้านนี้อยู่ที่ 25 คนต่อหมื่นประชากร ถือว่าไม่เลว คาดในปีนี้ไทยติดอันดับ 44 ที่มีการสำรวจดัชนีด้านอินโนเวชั่นทั่วโลก

“ช่วงที่เข้ามาอยู่เอไอเอส 2 ปีครึ่งได้ศึกษาอินโนเวชั่นเซ็นเตอร์ของบริษัทใหญ่ๆ เช่น หัวเว่ย บริษัทเดียวลงทุนวิจัย 8 พันล้านเหรียญ ในปี 2559 ปี 2560 อยู่ที่ 10-11 พันล้านเหรียญ ทำให้ยอดขายเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เห็นได้ชัดถึงความสำคัญของการลงทุนด้านวิจัย”

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ (พณ.) แถลงการส่งออกของไทยเดือน ม.ค. 2561 ว่า ขยายตัวสูงสุดในรอบ 62 เดือน หรือ 5 ปี ที่ 17.6% คิดเป็นมูลค่า 20,101 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยขยายตัวได้ดีในทุกตลาดสำคัญ โดยเฉพาะตลาดเอเชียใต้ ญี่ปุ่น และตลาด CLMV โดยกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 ขยายตัว 16.2% สินค้าส่งออกขยายตัวดี ได้แก่ ข้าว ขยายตัว 37.2% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัว 42.3% น้ำตาลทราย 42.2% ฯลฯ สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา หดตัว 20.7% ผลไม้กระป๋อง 7.3%

สำหรับแนวโน้มการส่งออกไทยในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นคาดว่าจะขยายตัวที่ 8% โดยสินค้าสำคัญที่คาดว่าจะมีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ คอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า รถยนต์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ ฯลฯ

“แม้จะวิตกว่าปัญหาเงินบาทแข็งค่าจะกระทบต่อการส่งออก แต่กลับพบว่าเดือนแรกของปี การส่งออกยังเป็นบวก แสดงว่าค่าเงินบาทไม่ได้มีผลด้านลบต่อการส่งออกไทย เงินบาทแข็งมาจากการที่สหรัฐทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า ส่งผลให้ประเทศอื่นในภูมิภาคแข็งค่าเป็นไปในทิศทางเดียวกับไทย”

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยเดือน ม.ค. 2561 อยู่ที่ระดับ 91.0 เพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค. 2560 อยู่ที่ระดับ 89.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ถือว่าสูงสุดในรอบ 36 เดือน ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2558 โดยดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ระดับ 101.1 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 102.8 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า ประมาณการผลิตรถยนต์ปีนี้ไว้ที่ 2 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาผลิตได้ 1.98 ล้านคัน ปีนี้คาดว่าผลิตเพื่อการส่งออก 1.1 ล้านคัน จำหน่ายในประเทศ 9 แสนคัน ยังปรับเป้ายอดผลิตรถจักรยานยนต์ที่ 2.12 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 3.15% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตต่อเนื่อง

ในส่วนของเดือน ม.ค. 2561 ยอดผลิตรถยนต์ทั้งหมดมี 166,196 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.15% จากการผลิตเพื่อ ส่งออก 98,152 คัน เพิ่มขึ้น 1.25%

นางอรนุช ศิรประภา ผู้ช่วย กก.ผจก.ใหญ่อาวุโส สายงานกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์รายย่อย ธนาคารกรุงไทย และนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผอ.ฝ่ายการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ร่วมเปิดตัวสินเชื่อ KTB-sSME ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนหรือเงินลงทุนให้กับผู้ประกอบการในโครงการร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ เตรียมวงเงินกู้ไว้จำนวน 2,000 ล้านบาท

ธนาคารกรุงไทยได้สนับสนุนร้านค้าธงฟ้าประชารัฐของรัฐบาล ในการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูกกว่าท้องตลาด เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย โดยติดตั้งเครื่อง EDC ให้กับร้านธงฟ้าทั่วประเทศในการนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการร้านค้าดังกล่าวดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ธนาคารจึงให้การสนับสนุนสินเชื่อครบวงจร ทั้งแบบวงเงินกู้แบบกำหนดระยะเวลา วงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี วงเงินกู้โดยตั๋วสัญญาใช้เงินและวงเงินหนังสือค้ำประกัน โดยให้กู้สูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย และมี บสย.ร่วมค้ำประกัน